ติดตาม twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด

น้ำมันถูก เงินเฟ้อลด เศรษฐกิจฟุบ โดย วีรพงษ์ รามางกูร




น้ำมันถูก เงินเฟ้อลด เศรษฐกิจฟุบ โดย วีรพงษ์ รามางกูร

ราคาน้ำมันดิบมีทีท่าว่าจะลดลงต่อไปอีก แม้ว่าขณะนี้จะได้ลดลงไปมากแล้ว จากที่เคยราคาสูงสุดคือ 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ตอนที่เขียนต้นฉบับนี้ก็ลดลงมาเหลือเพียง 64-65 เหรียญสหรัฐเท่านั้นเอง

ข่าวคราวต่างๆ ก็ล้วนแต่เป็นไปในทางที่จะทำให้ราคาน้ำมันลดลงไปอีก ทางด้านการผลิตก็เป็นที่ยอมรับกันโดยทั่วไปแล้วว่าปริมาณการผลิตจะคงยังสูงกว่าความต้องการของตลาดไปอีกนาน

การที่สหรัฐอเมริกาค้นพบเทคโนโลยีที่จะเจาะเอาก๊าซธรรมชาติและน้ำมันใต้พื้นพิภพรวมทั้งการค้นพบแหล่งพลังงานแห่งใหม่การใช้พลังงานทดแทนน้ำมัน เช่น ถ่านหิน ที่เทคโนโลยีสมัยใหม่สามารถขจัดมลพิษได้จนเกือบจะสิ้นเชิง รวมทั้งความหลากหลายของการใช้พลังงานทางเลือกที่ทดแทนการใช้น้ำมัน

เศรษฐกิจโลกที่ยังซบเซาซึมอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา ยุโรป ญี่ปุ่น หรือแม้แต่จีน ก็ยังอยู่ในช่วงขาลง ยังไม่มีประเทศใดที่สามารถกล่าวได้ว่าเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวอย่างแข็งแรง

สหรัฐอเมริกาที่มีข่าวว่าได้ผ่านช่วงเศรษฐกิจชะลออย่างถึงที่สุดแล้วและเริ่มฟื้นตัวเพราะสามารถผลิตพลังงานทดแทนการนำเข้าได้เพียงพอและอาจจะสามารถส่งออกได้รวมทั้งอุตสาหกรรมเคมีก็เริ่มฟื้นตัว แต่ก็ยังไม่แข็งแรงพอที่จะกล่าวได้ว่าจะทำให้ความต้องการใช้พลังงานของสหรัฐเพิ่ม ความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลกมีมากขึ้นจนทำให้ราคาพลังงานสูงขึ้นได้

ยุโรปและรัสเซียนั้นยังไม่ต้องพูดถึงเศรษฐกิจยังอยู่ในสภาพที่อ่อนแอและถดถอยอย่างรุนแรงไม่ว่าจะเป็นอิตาลี สเปน กรีซ และอื่นๆ จะเหลือก็แต่เยอรมนีที่จะเป็นหัวรถจักรให้กับสหภาพยุโรปได้แต่ก็ไม่เพียงพอ สำหรับฝรั่งเศสซึ่งเป็นประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่รองลงมาจากเยอรมนีก็อยู่ในฐานะทรงตัวอยู่กับที่ แม้จะไม่ถอยหลังอย่างประเทศยุโรปตะวันตก



ญี่ปุ่นเอง 2 ปีหลังจากนายกรัฐมนตรีอาเบะประกาศใช้นโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นนโยบายการเงินโดยการเพิ่มปริมาณเงินเข้าไปในระบบ นโยบายการคลังโดยเพิ่มการขาดดุลงบประมาณ เพิ่มหนี้สาธารณะจากที่เคยมีสัดส่วนถึง 230 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีขึ้นไปอีก รวมทั้งการกระจายอำนาจให้รัฐบาลท้องถิ่นมีอิสระในการลงทุนในการก่อสร้างสาธารณูปโภคขึ้นไปอีก แม้ในตอนแรกๆ เศรษฐกิจญี่ปุ่นทำท่าเหมือนจะเริ่มฟื้นตัว แต่หลังจาก 2 ปีผ่านไปเศรษฐกิจญี่ปุ่นก็กลับมาอยู่ที่เดิม

เหลือจีนที่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจยังอยู่ในระดับสูงแม้ว่าจะมีอัตราการขยายตัวที่ชะลอตัวลงจากตัวเลข2 หลักมาเหลือเพียงประมาณ 7 เปอร์เซ็นต์ต่อปี ซึ่งก็นับว่าเป็นอัตราการขยายตัวที่ยังสูงที่สุดในโลก แต่ก็มีแนวโน้มที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจจะลดลง และอาจจะไม่สามารถชดเชยการชะลอตัวลงของยุโรป

ปัจจัยทั้งในด้านการผลิตหรือ supply และปัจจัยทางด้านความต้องการใช้น้ำมันหรือ demand ไม่สมดุลกัน กล่าวคือ กำลังเกิดภาวะการผลิตล้นตลาด ที่ประชุมกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันหรือกลุ่มโอเปค โดยมีประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นหัวเรือใหญ่ เพราะเป็นประเทศที่มีโควต้าการผลิตน้ำมันดิบมากที่สุดในกลุ่มโอเปค ได้ประกาศว่าคราวนี้กลุ่มประเทศโอเปคจะไม่เป็นผู้เสียสละให้กับประเทศผู้ผลิตน้ำมันรายอื่นๆ ทั่วโลกโดยการลดปริมาณการผลิตอีกแล้ว

การประกาศของกลุ่มประเทศโอเปค ยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกลดลงไปอีก และมีแนวโน้มว่าราคาอาจจะต่ำกว่า 60 เหรียญต่อบาร์เรล ในเวลาอันใกล้นี้ก็ได้

การที่ราคาน้ำมันดิบลดลงอย่างรวดเร็วและอย่างมากนั้นย่อมจะมีผลกระทบทางเศรษฐกิจหลายอย่างทั้งในระยะสั้นระยะปานกลาง และระยะยาว

ใน ระยะสั้นๆ ที่เห็นได้ชัดก็คือ ราคาสินค้าประเภทโภคภัณฑ์เกือบทั้งหมด ทั้งที่เป็นแร่ธาตุหรือสินค้าจากภาคเกษตรกรรมที่เป็นอาหารหรือวัตถุดิบ เช่น ข้าว ข้าวโพด อ้อย น้ำตาล รวมทั้งยางพารา ราคาสินค้าเหล่านี้พากันตกหมดแทบจะไม่มียกเว้น

อัตราเงินเฟ้อของโลกลดลงอย่างรวดเร็ว เพราะความต้องการสินค้าชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นสินค้าขั้นปฐมหรือสินค้าเพื่ออุปโภคหรือบริโภคลดลงเกือบทุกภูมิภาค ระดับการผลิตต่ำกว่าระดับศักยภาพของระบบเศรษฐกิจแทบทั้งสิ้น การที่รัฐบาลจีนประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงก็เท่ากับเป็นการยอมรับว่าเศรษฐกิจของจีนกำลังชะลอตัวลงเช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ

อัตราเงินเฟ้อหรือการเพิ่มขึ้นของระดับราคาโดยทั่วไปเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับระบบเศรษฐกิจแบบตลาดหรือระบบเศรษฐกิจทุนนิยมเพราะจะเป็นแรงกดดันให้เกิดความต้องการซื้อกระตุ้นให้เกิดความต้องการลงทุน แต่ในทางกลับกัน ถ้าหากระดับราคาโดยทั่วไปที่ควรเพิ่มขึ้น แต่กลับลดลงหรืออัตราเงินเฟ้อเป็นศูนย์หรือติดลบ

ถ้าหากระดับราคาที่ควรจะเพิ่มกลับไม่เพิ่มเลยหรือลดลงจะทำให้ผู้ประกอบการทุกคนขาดทุนเพราะต้นทุนหลายอย่างลดราคาลงไม่ได้ เป็นต้นว่า ค่าจ้างแรงงาน เงินเดือน ค่าเช่า ค่าลิขสิทธิ์ และอื่นๆ ภาวะราคาอยู่คงที่หรือภาวะราคาลดลงจึงเป็นภาวะที่ไม่สู้จะเป็นที่พึงปรารถนาสำหรับเศรษฐกิจแบบเสรี



สําหรับในระยะเวลาปานกลางเมื่อมีการปรับตัวได้จากการขายสินค้าลดราคา เพื่อลดปริมาณสินค้าคงคลัง ลดการผลิตลง ลดการลงทุนลง อาจจะต้องลดการจ้างงานลงด้วย สำหรับประเทศที่มีการจ้างงานเต็มที่จนต้องใช้แรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศไทยเราขณะนี้ การจ้างงานแรงงานต่างด้าวจะลดลง แรงงานต่างด้าวจากประเทศเพื่อนบ้านอาจจะต้องอพยพกลับถิ่นเดิม ในขณะเดียวกันแรงงานไทยที่เคยทำงานล่วงเวลาและได้ค่าจ้างล่วงเวลาก็อาจจะต้องลดการทำงานล่วงเวลาลง

การปรับตัวของตลาดแรงงานในระยะข้างหน้าจะเป็นอย่างไรเป็นสิ่งที่น่าติดตามจะเป็นปัญหาสังคมที่เป็นภาระของประเทศหรือไม่ ทั้งอุตสาหกรรมโรงงานและการก่อสร้าง หากต้องลดปริมาณการจ้างงานลง

ใน ระยะยาว ถ้าหากราคาน้ำมันดิบยังคงยืนอยู่ที่ระดับ 60-65 เหรียญต่อบาร์เรล หรือต่ำกว่านี้ลงไปอีก ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เป็นไปได้ บรรดาผู้ผลิตที่ต้นทุนสูงในภูมิภาคต่างๆ อาจจะต้องหยุดการผลิตลง บรรดาพลังงานทางเลือกไม่ว่าจะเป็นพลังงานจากแสงอาทิตย์ก็ดี จากลมก็ดี การลงทุนหรืองานวิจัยก็คงจะต้องชะลอตัวลง จนกว่าเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวขึ้นตามวัฏจักร ซึ่งน่าจะกินเวลาอย่างน้อยก็อีก 4-5 ปี

การปรับตัวทางการเงินก็จะเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ต้องระมัดระวัง ในระยะสั้นข้างหน้าถึงระยะปานกลาง ผู้ที่จะต้องรับภาระก็คือสถาบันการเงิน ไม่ว่าจะเป็นธนาคารพาณิชย์หรือสถาบันการเงินอื่นๆ การควบคุมระมัดระวังและการเตรียมพร้อมไว้ก็คงเป็นเรื่องจำเป็น

การเตรียมพร้อมคราวนี้น่าจะดีกว่าคราวก่อนๆ


(ที่มา:มติชนรายวัน 4 ธันวาคม 2557)








Create Date : 07 ธันวาคม 2557
Last Update : 7 ธันวาคม 2557 18:30:03 น. 0 comments
Counter : 1272 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

sitcomthai
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 53 คน [?]










ติดตามข้อมูลของเว็บทาง twitter ได้ที่ @karnoi กด
ติดตามข้อมูลเว็บทาง FaceBook กด







Online Users


New Comments
[Add sitcomthai's blog to your web]