คิดดีทำดีเป็นสุดยอดแห่งคุณธรรม

พรปีใหม่

วิธีให้พรปีใหม่แก่ตนเองและหรือผู้อื่นตามแนวพุทธ.

ในวันขึ้นปีใหม่ มีคนจำนวนไม่น้อยที่ขอพรจากบุคคลอื่นและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเชื่อถือ.

การขอพรและการได้รับพรนั้น เป็นประเพณีและวัฒนธรรมของชาติที่ดีงาม ควรทำต่อไป.  การที่จะให้เป็นไปตามที่ตนขอพร(ปรารถนา) หรือตามที่ผู้ให้พรปรารถนาได้นั้น ต้องใช้สติปัญญาของตนเองที่จะคิด พิจารณา ลงมือทำเพื่อให้เป็นตามที่ปรารถนา เป็นเรื่องของการพึ่งตนเอง.

ผู้ที่หวังผลจากการได้พรโดยไม่ทำกิจต่าง ๆ ที่พึงทำ ย่อมไม่เป็นไปตามพรที่ไปขอและได้รับ ถึงแม้จะได้รับพรมากมายเพียงใดก็ตาม.

ตามแนวพุทธนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนให้พึ่งสติปัญญาของคนเอง เพื่อให้เป็นไปตามที่ตนปรารถนา.

สติปัญญามี ๒ องค์ประกอบหลัก คือ 

๑. สติปัญญาทางโลก คือ สติปัญญาทางด้านวิชาการสำหรับใช้ในการทำกิจต่าง ๆ ให้มีความเจริญงอกงาม เพื่อการแก้ปัญหา รวมทั้งเพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สิน.

๒. สติปัญญาทางธรรม ตือ สติปัญญาทางด้านธรรมะเพื่อการดูแลจิตใจ คำพูด และการกระทำของตนเองให้ละชั่ว มุ่งทำแต่ความดี เพื่อทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่อง หลักปฏิบัติเช่นนี้เป็นหลักปฏิบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอรหันต์ทั้งหลายในวันมาฆะบูชาที่เรียกว่าโอวาทปาฏิโมกข์.  โอวาทปาฏิโมกข์จึงเป็นหลักธรรมของพระอรหันต์อย่างย่อ ๆ ที่ทุกคนสามารถนำมาเป็นข้อปฏิบัติทางธรรมในชีวิตประจำวัน.

ใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสเกิดจากการไม่คิดอกุศล(ไม่คิดชั่ว) คือ ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นผลให้พ้นจากความชั่วและความทุกข์ทั้งปวงทางกาย วาจา ใจที่เกิดจากความชั่ว รวมทั้งเป็นบุคคลที่ประเสริฐ(อริยบุคคล)ในพระพุทธศาสนาอีกด้วย.

การคิดแต่กุศล คือ คิดในเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อตนเองและหรือผู้อื่น จึงเป็นผลให้จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส.

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระราชทานพรให้แก่ปวงชนชาวไทยหลายครั้งด้วยการเชิญชวนให้ คิดดี ทำดี หรือคิดแต่กุศล เพื่อที่จะพูดและทำแต่กุศลนั้นเอง.

คนที่จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใสย่อมทำกิจต่าง ๆ โดยไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น ขณะเดียวกัน ยังทำประโยชน์ต่อตนเองและหรือผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส.  ภาวะที่จิตใจบริสุทธิ์ผ่องใส คือ ภาวะนิพพานหรือนิโรธนั่นเอง.

ทุกคนก็สามารถทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสได้เช่นกัน โดยการมีสติคิดแต่กุศลอย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต.

การที่จะทำกิจต่าง ๆ หรือการดำเนินชีวิตอย่างถูกต้องได้นั้น ต้องอาศัยสติปัญญาทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป การจะทำเช่นนี้ได้นั้น ต้องพัฒนาความรู้และความสามารถ(สติปัญญา)ทั้งทางโลกและทางธรรม รวมทั้งพยายามใช้สติปัญญาดังกล่าวอย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต.

ในปีใหม่นี้ การให้พรตนเองด้วยการสั่งตัวเองเป็นประจำว่า "ต่อจากนี้ไป เราจะมีความเพียรที่จะพัฒนาและใช้สติปัญญาทั้ง ๒ ด้าน ในการทำกิจต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ มีคุณค่า บริสุทธิ์ และยุติธรรม เพื่อประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อยู่ข้างเคียง สังคม และประเทศชาติ" เมื่อสั่งตนเองแล้ว ก็ต้องพยายามทำตามที่ตนสั่ง.  

เมื่อใดที่มีสติรู้ตัวว่า กำลังคิด หรือพูด หรือทำอกุศลก็ให้ระงับทันที ซึ่งจะเป็นผลให้จิตใจมีความบริสุทธิ์ผ่องใสเข้าถึงภาวะนิโรธหรือนิพพานได้ต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น.

การให้พรผู้อื่นควรให้ความรู้ในทำนองนี้ด้วย เพื่อจะได้เป็นไปตามคำอวยพร ซึ่งเป็นรูปแบบที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระราชทานพรในวันขึ้นปีใหม่นั่นเอง.

ปีใหม่นี้และตลอดไป ขอเชิญทุกท่านมีความเพียรพัฒนาหรือเพิ่มพูนและใช้สติปัญญาทางโลกและทางธรรมในชีวิตประจำวันจนเป็นนิสัยอย่างต่อเนื่อง.

เพื่อให้ท่านเข้าใจในเนื้อหาของสติปัญญาทางธรรมมากขึ้น จึงขอเชิญทุกท่านแวะไปอ่าน ฟัง และดูวิดีโอฟรี ในเรื่องของสติปัญญาทางธรรม ที่เว็บไซต์หลักของผม คือ //www.thai60.com  ซึ่งในตอนนี้มีหนังสือเรื่องใหม่ให้ท่านได้ศึกษา คือ เรื่อง วิธีเข้าถึงนิพพานในชาตินี้. 

ปล. อย่าลืมให้พรตนเองทุกวันและลงมือทำจนเป็นนิสัย เพื่อความเจริญ มั่นคง และผาสุกชั่วชีวิต.





Free TextEditor




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2554   
Last Update : 2 มกราคม 2555 13:58:18 น.   
Counter : 764 Pageviews.  

อาสาฬหบูชา ...มีเรื่องอะไรที่สำคัญมากที่สุด ?


โดย น.พ. เอกชัย จุละจาริตต์
อาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญวันหนึ่งของพระพุทธศาสนา ที่ชาวพุทธทุกคนควรบูชาและระลึกถึงเรื่องต่าง ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในวันดังกล่าวในสมัยพุทธกาล ดังต่อไปนี้ :-
๑. การตรัสสอนครั้งแรกของพระพุทธเจ้า.
๒. มีพระโสดาบันเกิดขี้นเป็นคนแรก.
๓. มีพระภิกษุเกิดขึ้นเป็นรูปแรก.
การระลึกถึงทั้ง ๓ เรื่องดังกล่าวแล้วนั้น เป็นเรื่องที่ดี.
การไปวัด บูชาพระ ทำบุญ รักษาศีล ฟังธรรม ศึกษาและปฏิบัติธรรมในวันเช่นนี้ก็เป็นเรื่องดีมาก.
ถ้าจะให้ดีมากที่สุดต้องพิจารณาค้นหาเรื่องที่สำคัญมากที่สุดและเป็นประโยชน์สูงสุดต่อตนเองและคนทั่วไปด้วยสติปัญญาของตนเอง.
เป้าหมายของการนำเสนอในครั้งนี้ ก็เพื่อให้เห็นความสำคัญของการมีความรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง เพื่อความเป็นชาวพุทธแท้ และเพื่อความดับทุกข์(นิพพาน)ในปัจจุบันชาติ(ชาตินี้)เช่นเดียวกันกับที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายในสมัยพุทธกาลต่างก็เข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)ในปัจจุบันชาติของแต่ละองค์.
เพื่อให้เห็นประเด็นสำคัญได้โดยง่าย จึงขอเกริ่นนำว่า พระพุทธเจ้าตรัสรู้อริยสัจ ๔ จึงเป็นพระพุทธเจ้าได้.
อริยสัจ ๔ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดของพระพุทธศาสนาและชาวพุทธ เพราะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของพระพุทธเจ้าหรือเป็นพระสติปัญญาของพระพุทธเจ้า อีกทั้งยังเป็นคุณสมบัติของพระพุทธศาสนาและของชาวพุทธแท้ด้วย.
พระพุทธเจ้าทรงแสดงถึงความสำคัญมากที่สุดของอริยสัจ ๔ ที่ได้ตรัสสอนไว้ ถึงกับตรัสสอนพระอานนท์ว่า เมื่อพระองค์ท่านดับขันธ์ปรินิพพานไปแล้ว พระธรรมวินัย(อริยสัจ ๔)ที่ตรัสสอนจะเป็นศาสดาแทนพระองค์ท่าน.
หลายคนในยุคปัจจุบันนี้เข้าใจว่า พระพุทธรูปเป็นตัวแทนของพระพุทธเจ้ามากกว่าอริยสัจ ๔ จึงไม่ให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ เท่าที่ควร เป็นผลให้ไม่สามารถเข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)ได้อย่างตรงประเด็น.
เพื่อให้เห็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของแต่ละข้อ จึงขอวิเคราะห์และวิจารณ์ประเด็นสำคัญมากที่สุดของแต่ละข้อ ดังต่อไปนี้ :-
๑. การตรัสสอนครั้งแรกของพระพุทธเจ้า. อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องที่พระองค์ท่านตรัสรู้ พระองค์ท่านจึงตรัสสอนเรื่องเรื่องอริยสัจ ๔ ที่พระองค์ท่านตรัสรู้.
การตรัสสอนครั้งแรกของพระองค์ท่านเป็นการตรัสสอนปัญจวัคคีย์ ซึ่งเป็นการตรัสสอนเรื่องอริยสัจ ๔ นั่นเอง.
หลังจากนั้นพระองค์ท่านตรัสสอนเรื่องอริยสัจ ๔ เป็นหลักจนเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน.
การที่ทรงตรัสสอนเรื่องอริยสัจ ๔ ก็เพื่อให้ผู้ฟังได้เข้าใจเรื่องของจิตใจตามที่พระองค์ท่านตรัสรู้ และเพื่อให้ผู้ฟังนำไปปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะเป็นผลให้เข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)ในปัจจุบันชาติของแต่ละคนโดยไม่ต้องรอชาติหน้า.
คนที่ไม่มีความรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔ และไม่มีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ ย่อมไม่สามารถเข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)ในอริยสัจ ๔ และยังไม่เป็นชาวพุทธแท้อีกด้วย.
อริยสัจ ๔ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดของการตรัสสอน.
๒. มีพระโสดาบันเกิดขึ้นเป็นคนแรก. หลังการตรัสสอนอริยสัจ ๔ ครั้งแรกของพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นการตรัสสอนปัญจวัคคีย์ พบว่า มีเพียงคนเดียวเท่านั้น คือ ท่านโกณฑัญญะ ที่เริ่มมีความรู้และความสามารถทางธรรมตามที่ตรัสสอน.
การเริ่มมีความรู้และความสามารถทางธรรมตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามสมควร พร้อมทั้งประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธ คือ คุณสมบัติของผู้มีดวงตาเห็นธรรมในอริยสัจ ๔ หรือเป็นโสดาบัน หรือเป็นผู้เริ่มเข้าสู่กระแสของความดับทุกข์(นิพพาน) หรือเริ่มเป็นชาวพุทธแท้ หรือเริ่มเป็นอริยบุคคลนั่นเอง.
ดังนั้น อริยสัจ ๔ จึงเป็นเรื่องที่สำคัญมากที่สุดของการที่จะเป็นชาวพุทธแท้.
๓. มีพระภิกษุเกิดขึ้นเป็นรูปแรก. ครั้นท่านโกณฑัญญะฟังธรรมจบ แล้วมีศรัทธาในหลักธรรมของอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอน จึงประกาศตนขอเป็นชาวพุทธ และบวชเป็นพระภิกษุตามอย่างพระพุทธเจ้า จึงมีพระภิกษุเกิดขึ้นเป็นรูปแรกในธรรมวินัยที่ทรงตรัสสอนหรือในพระพุทธศาสนา.
จะเห็นว่า ในสมัยพุทธกาลนั้น การจะบวชเป็นภิกษุ การจะปฏิบัติตามธรรมและวินัย การจะได้รับผลของการปฏิบัติธรรม และการจะเผยแผ่เรื่องอริยสัจ ๔ ได้นั้น ต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ อย่างแจ้งชัดตามความเป็นจริงเสียก่อน.
สำหรับเรื่องทางสายกลางนั้น เป็นเรื่องของหลักการในการดำเนินชีวิตที่ไม่ก่อให้เกิดการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น ซึ่งเกิดขึ้นจากการปฏิบัติธรรมตามมรรคในอริยสัจ ๔ นั่นเอง.
ดังนั้น อริยสัจ ๔ จึงเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดของการที่จะเป็นพระแท้ ซึ่งจะทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคง และไม่นำพาผู้อื่นให้หลงทาง.
ข้อคิดของผู้นำเสนอในครั้งนี้ มีดังต่อไปนี้ :-
เรื่องที่สำคัญมากที่สุดของวันอาสาฬหบูชา ซึ่งจะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อคนไทยและคนทั้งโลกนี้ก็คือ เรื่องอริยสัจ ๔.
ดังนั้น วันสำคัญเช่นนี้ ควรที่จะเป็นวันของการเผยแผ่ความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องและครบถ้วนแก่คนทั่วไปในประเทศไทยและเผยแผ่ความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ ออกไปในโลกกว้างเพื่อประโยชน์สุขของคนในโลกนี้ จึงขอเสนอให้ทำดังต่อไปนี้ :-
๑. รณรงค์ให้คนทั่วไปไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด ได้เห็นประโยชน์ของอริยสัจ ๔ เพื่อที่จะได้ศึกษาและนำไปปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวัน โดยการละชั่ว มุ่งทำแต่ความดี และทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ซึ่งจะเป็นผลให้ผู้ปฏิบัติธรรมเป็นคนดีและมีจิตใจที่ประเสริฐ มีความเจริญ มั่นคง ผาสุก และไม่ทุกข์จากความชั่วทั้งปวง.
๒. เผยแผ่ความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ ในรูปแบบและมุมมองต่าง ๆ ที่ง่ายต่อการเข้าใจให้กับคนไทยและคนทั่วไปในโลกนี้ เพื่อให้เกิดสันติสุขอย่างกว้างขวาง.
๓. คนที่มีความรู้และความสามารถในเรื่องอริยสัจ ๔ อยู่แล้ว ก็ควรหมั่นพิจารณาทบทวนเรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อคงไว้หรือเพิ่มพูนความรู้และความสามารถทางธรรมไปเรื่อย ๆ ชั่วชีวิต.
๔. รณรงค์ให้คนทั่วไปปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมของอริยสัจ ๔ ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องจนเป็นนิสัย เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)จากความชั่วทั้งปวงในชาตินี้ได้อย่างต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น.
๕. คนที่จะบวชเป็นพระ เณร ชี และรักษาศีลทุกคน ควรมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ อย่างถูกต้องตามความเป็นจริงเสียก่อน เพื่อเป็นชาวพุทธแท้ แล้วจึงค่อยบวชและรักษาศีล เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)ในชาตินี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเป็นผู้นำทางจิตใจของประชาชนอย่างถูกต้องต่อไป.
การประเมินความรู้และความสามารถตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ ก่อนการบวชพระ จะช่วยป้องกันคนที่ยังไม่ได้เป็นชาวพุทธแท้เข้ามาทำลายพระศาสนา.
ขณะเป็นพระก็ควรประเมินผลว่า เป็นพระแท้หรือไม่ ? ถ้าไม่ใช่ก็ควรหาทางทำให้เป็นพระแท้ หรือให้ลาสิกขาตามความเหมาะสม เพื่อรักษาพระศาสนาให้คงอยู่อย่างมั่นคง.
การจะทำตามข้อเสนอนี้ได้นั้น ต้องอาศัยผู้บริหารทุกระดับ ทั้งในวงการสงฆ์ การเมือง ราชการ เอกชน และทุกคนที่เห็นประโยชน์ มาร่วมกันเผยแผ่เรื่องที่สำคัญมากที่สุดของพระพุทธศาสนาหรืออริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นศาสดาแทนพระพุทธเจ้า ให้เข้าไปในจิตใจของคนทั่วไป ในทุกชาติและศาสนาเท่าที่จะทำได้.
การจะเริ่มงานการเผยแผ่เรื่องอริยสัจ ๔ ควรเริ่มที่ตนเองตามกำลังความรู้และความสามารถของแต่ละคน โดยไม่จำเป็นต้องรอผู้อื่น ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการทำความดีเป็นที่สุดแล้ว ส่วนความสำเร็จจะมากน้อยเพียงใดก็เป็นเรื่องของเหตุปัจจัยในขณะนั้น.
ขอถือโอกาสนี้ เชิญชวนทุกคนให้ทำเรื่องที่สำคัญมากที่สุดในวันอาสาฬหะบูชาและในพระพุทธศาสนา โดยการศึกษาอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่องชั่วชีวิต เพื่อเข้าถึงความดับทุกข์(นิพพาน)อย่างต่อเนื่องมากที่สุดในชาตินี้.
เมื่อได้รับประโยขน์บ้างแล้ว ก็ควรช่วยกันเผยแผ่เรื่องอริยสัจ ๔ ให้คนอื่นได้รับประโยชน์เช่นกัน.
การจะศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ ได้อย่างถูกต้องนั้น ต้องใช้วิธีตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองโดยไม่หลงเชื่อผู้ใดเลย.
ผู้นำเสนอขอเชิญทุกท่านแวะไปที่เว็บไซต์ของผู้นำเสนอที่ //www.thai60.com เพื่อเป็นแนวทางให้ท่านเข้าถึงข้อเท็จจริงด้วยตนเอง.

********




 

Create Date : 15 กรกฎาคม 2554   
Last Update : 15 กรกฎาคม 2554 23:01:46 น.   
Counter : 722 Pageviews.  

วิสาขบูชา

วิสาขบูชา


สำคัญตรงไหน ?
ตามความเห็นของน.พ.เอกชัย


โดย น.พ.เอกชัย จุละจาริตต์
วิสาขบูชามีความหมายตามพจนานุกรมพุทธศาสน์ของท่านเจ้าคุณป.อ.ปยุตฺโต ว่า การบูชาในวันเพ็ญเดือน ๖ ซึ่งเป็นวันประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพานของพระพุทธเจ้า.
การบูชาในวันวิสาขบูชาเป็นการแสดงความเคารพเทิดทูนซึ่งมี ๒ แบบ คือ แบบที่ ๑. อามิสบูชา แบบที่ ๒.ปฏิบัติบูชา.
คนไทยส่วนใหญ่มักจะบูชาในวันวิสาขบูชาด้วยวิธีการตามแบบที่ ๑. อามิสบูชา ซึ่งประกอบด้วยการบูชาโดยใช้สิ่งของต่าง ๆ เช่น บูชาด้วยดอกไม้ ธูป เทียน เป็นต้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีงามและควรคงไว้ในชาวพุทธตลอดไป.
ขอเชิญท่านผู้อ่านได้โปรดพิจารณาด้วยเหตุผลหรือตามข้อเท็จจริง เพื่อให้เกิดปัญญาอันยิ่งด้วยตนเองโดยไม่ต้องหลงเชื่อ ตามหัวข้อดังต่อไปนี้ :-
๑. เราจะได้อะไรจากการบูชาด้วยอามิสบูชาแต่เพียงอย่างเดียว ?
ท่านผู้อ่านคงจะตอบได้ทันทีว่า การบูชาพระพุทธเจ้าในวันนี้ จะทำให้มีโอกาสระลึกถึงพระมหากรุณาธิคุณของพระพุทธเจ้าที่ทรงเป็นที่พึ่งทางจิตใจ. ครั้นได้บูชาเสร็จแล้ว ก็มักจะรู้สึกอิ่มใจที่ได้ทำสิ่งที่ดีงาม จึงทำให้เป็นสุข.
๒. วิสาขบูชาประกอบด้วยการบูชาเรื่องของการประสูติ ตรัสรู้ และปรินิพพาน.
ขอให้ท่านพิจารณาดูว่า เรื่องไหนที่สำคัญที่สุด ณ ปัจจุบันนี้ เพื่อที่จะช่วยให้ท่านเข้าถึงภาวะนิโรธหรือนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุดในพระพุทธศาสนา ?
คำตอบคือ เรื่องตรัสรู้น่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด.
เรื่องที่ตรัสรู้ คือ เรื่องอะไร ? ท่านคงตอบได้ทันทีว่า เรื่องอริยสัจ ๔.
อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องของความจริงอันประเสริฐ ที่ทำให้คนที่ศึกษาและนำไปปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเป็นคนดี มีคุณธรรม หรือเป็นคนที่ละชั่ว มุ่งทำแต่ความดี และทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์ผ่องใส ตรงกับโอวาทปาฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอรหันต์ในวันมาฆบูชา.
พระพุทธเจ้าทรงสละทุกอย่างที่เคยสะดวกสบายเพื่อแสวงหาเรื่องอริยสัจ ๔ ด้วยความยากลำบากเป็นเวลานานถึง ๖ ปี จึงได้ตรัสรู้อริยสัจ ๔.
ครั้นตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ๔ แล้ว จึงทรงตรัสสอนเรื่องอริยสัจ ๔ เป็นหลัก เพื่อให้ชาวโลกได้ศึกษาและปฏิบัติ อันจะเป็นผลให้เกิดการพัฒนาจิตใจของตนเองให้มีคุณธรรมตามโอวาทปาฏิโมกข์.
พระพุทธเจ้าทรงเน้นความสำคัญของอริยสัจ ๔ โดยตรัสสอนพระอานนท์ก่อนที่จะปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์! ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงแล้ว บัญญัติแล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลาย เมื่อเราล่วงลับไป”
ในที่นี้ คำว่า ธรรม คือ เรื่องทุกข์ สมุทัย นิโรธ.
วินัย คือ เรื่องมรรคหรือข้อปฏิบัติ.
อริยสัจ ๔ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดหรือเป็นแก่นแท้ในพระพุทธศาสนา ผู้ใดที่ยังไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และไม่มีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่องได้ตามสมควร ก็ยังไม่ได้ชื่อว่า เป็นชาวพุทธแท้.
๓. วันวิสาขบูชาจึงควรเป็นวันสำคัญในการชี้แจงให้คนไทยและชาวโลกสนใจเรื่องอริยสัจ ๔ และได้ปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่องในชีวิตประจำวัน เพื่อที่จะสามารถเข้าถึงภาวะนิโรธและนิพพานในจิตใจ ณ ปัจจุบันขณะ ในชาติปัจจุบันนี้เอง.
พระุพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายเข้าถึงนิโรธและนิพพานในชาติปัจจุบันของทุกท่าน. ดังนั้น เราชาวพุทธทุกคนควรเอาอย่างพระอรหันต์ทั้งหลาย.
ถ้าชาตินี้เราเข้าถึงนิโรธและนิพพานได้ เราก็จะเป็นอริยบุคคลหรือบุคคลที่ประเสริฐ หรือผู้ปฏิบัติตนตามโอวาทปาฏิโมกข์.
ทุกวินาทีของการปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามอริยสัจ ๔ จิตใจก็จะบริสุทธิ์ผ่องใสหรือเป็นไปตามโอวาทปฏิโมกข์ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอรหันต์ ซึ่งเป็นการทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสเช่นเดียวกับพระอรหันต์.
การศึกษาอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมตามอริยสัจ ๔ ในชีวิตประจำวันเป็นประจำ จะทำให้เกิดความเชี่ยวชาญในด้านนี้ และกลายเป็นนิสัยที่ดี.
ถึงแม้ว่า วันนี้เราจะทำได้ไม่ต่อเนื่องก็ไม่เป็นไร แต่เราก็จะพยายามศึกษาและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันไปชั่วชีวิต.
๔. ปัญหาของชาวพุทธในประเทศไทยนั้น คือ ชาวพุทธส่วนใหญ่ยังไม่ใช่ชาวพุทธแท้.
ในสมัยพุทธกาล ชาวพุทธแท้ต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่องตามสมควรเสียก่อน. เมื่อได้รับผลดีแล้วจึงเกิดศรัทธาประกาศตนว่า เป็นชาวพุทธแท้.
บ้านเมืองเราที่วุ่นวายก็เพราะนักการเมือง ผู้บริหาร และคนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เป็นพุทธแท้. แม้แต่พระเองก็อาจมีจำนวนไม่น้อยที่ยังไม่เป็นพุทธแท้.
ดังนั้น ในวันวิสาขบูชาจึงเป็นวันที่ชาวพุทธทุกคนไม่ควรบูชาด้วยอามิสบูชาเพียงอย่างเดียว เราควรปฏิบัติบูชาด้วย.
๕. การปฏิบัติบูชา คือ การปฏิบัติธรรมตามมมรรคมีองค์ ๘.
มรรคข้อแรกที่ควรปฏิบัติ คือ มรรคข้อที่ ๑ ซึ่งเป็นเรื่องของการทำความเห็นชอบให้เกิดขึ้น.
การจะทำความเห็นชอบให้เกิดขึ้นได้นั้น ต้องศึกษาเรื่อง อริยสัจ ๔ และต้องปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ ให้ถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่องตามสมควรชั่วชีวิต อันจะเป็นผลให้เกิดความเห็นชอบ หรือความเห็นที่ถูกต้อง ในการที่จะละชั่ว มุ่งทำแต่ความดี และทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์และผ่องใสอย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต (ส่วนมรรคข้อที่ ๒ – ๘ เป็นการขยายความ ซึ่งจะไม่กล่าวถึงในตอนนี้).
๖. องค์การสหประชาชาติได้กรุณาให้โอกาสเป็นอย่างมาก โดยการให้ความสำคัญของวันวิสาขบูชาว่า เป็นวันสำคัญสำหรับนานาชาติ.
ประเทศไทยโชคดีมากที่ได้เป็นเจ้าภาพหรือเป็นศูนย์กลางในการจัดงานวิสาขบูชามาหลายปีแล้ว.
ผู้จัดทำบล็อกนี้มีความเห็นส่วนตัวว่า เป็นเรื่องที่น่าเสียดายโอกาสที่ดีเช่นนี้เป็นอย่างมาก ที่องค์กรสำคัญของประเทศไทย เช่น มหาเถรสมาคม สำนักงานพระพุทธศาสนาฯ กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงทรัพยากรมนุษย์ กระทรวงการต่างประเทศ วงการสงฆ์ วงการเมือง ผู้บริหาร และผู้รู้ ยังไม่ได้ร่วมด้วยช่วยกันชี้ประเด็นสำคัญที่สุดในวันวิสาขบูชาให้คนไทยและชาวโลกตื่นตัวที่จะศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ เพื่อพัฒนาจิตใจให้มีคุณธรรม ณ ปัจจุบันขณะ ในปัจจุบันชาตินี้เอง.
๗. หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะได้เห็นความสำคัญของการปฏิบัติบูชา ด้วยการศึกษาอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต และช่วยกันเผยแผ่อริยสัจ ๔ เพื่อให้คนไทยและคนทั้งโลกมีสุขภาพจิตที่ดี มีคุณธรรมประจำใจอย่างกว้างขวาง ซึ่งจะเป็นผลให้เกิดความเจริญ มั่นคง และผาสุกของมวลมนุษยชาติสืบต่อไป ตามกำลังความรู้และสามารถของแต่ละท่านชั่วชีวิต.
๘. ท่านที่สนใจศึกษาอริยสัจ ๔ ในรูปแบบต่าง ๆ อย่างง่าย สั้น ตรงประเด็น และเป็นปัจจุบันธรรม รวมทั้งเรื่องพุทธแท้ ที่ท่านสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองโดยไม่ต้องหลงเชื่อได้ที่เว็บไซต์ “ อริยสัจ ๔ ” ซึ่งมีข้อมูลต่าง ๆ ในลักษณะของหนังสือ MP3 VDO clips เพื่อช่วยให้ท่านสามารถเข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ ทั้งภาคทฤษฎี ปฏิบัติและประเมินผลได้โดยง่ายด้วยเวลาอันสั้น และสามารถเข้าถึงภาวะนิโรธและนิพพานในชาติปัจจุบันนี้ได้ดีตามสมควรกับเหตุปัจจัย ที่ //www.thai60.com
ขอขอบพระคุณครับ.




 

Create Date : 08 พฤษภาคม 2554   
Last Update : 11 พฤษภาคม 2554 14:27:38 น.   
Counter : 688 Pageviews.  

ความดันโลหิตสูง

ตอน – แนวคิดในการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง 

การปรับยา และรับประทานอาหารของน.พ.เอกชัย

โดย น.พ.เอกชัย จุละจาริตต์

Free TextEditor
ปรับปรุงครั้งที่ ๑ (๖ มิย ๕๔)
เรื่องที่นำเสนอนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว จึงเป็นเพียงเกล็ดความรู้สำหรับเป็นแนวทางให้เห็นความสำคัญของการวัดความดันโลหิตในชีวิตประจำวันด้วยตนเองสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และเป็นการป้องกันปัญหาจากความดันโลหิตที่สูงหรือต่ำเกินไปจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ.
โดยหลักการแล้ว การปรับยาลดความดันโลหิตให้มากขึ้น หรือน้อยลง หรืองดชั่วคราวนั้น ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอเจ้าของไข้.
ผู้ป่วยทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอความคิดเห็นเพื่อช่วยให้คุณหมอเจ้าของไข้ได้ปรับ เปลี่ยน หรืองดยาได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ควรมีความรู้เรื่องการปรับ เปลี่ยน หรืองดยาด้วยตนเองด้วย เพื่อดูแลตัวเองได้ทันท่วงที และเป็นการพึ่งตนเองอย่างต่อเนื่อง.
ถึงอย่างไรก็ตาม บทความทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเพื่อเสริมความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ควรให้ความเชื่อถือในทันทีที่อ่าน แต่ควรตรวจสอบและพิสูจน์ด้วยตนเองว่า เป็นประโยชน์บ้างหรือไม่ ? ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ควรใช้ข้อมูลนี้ต่อไป.
อนึ่ง ร่างกายของมนุษย์นั้น มีความแตกต่างกันไปในการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งมีเหตุปัจจัยหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพราะร่างกายไม่ใช่เครื่องจักรกล. ดังนั้น ทุกคนต้องศึกษาตนเองและปรับตัวเอง รวมทั้งปรับ เปลี่ยน หรืองดยา เพราะร่างกายมีการปรับตนเองอยู่เสมอ บางช่วงร่างกายก็อาจตอบสนองยาดี แต่บางช่วงก็อาจเกิดภาวะคุ้นกับยา ดื้อยา หรือต้านยาก็ได้.
เพื่อให้บทความกระชับจึงขอใช้คำว่า “ปรับยา” แทนข้อความ “ปรับ เปลี่ยน หรืองดยา”

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีความรู้และความสามารถในการดูแลความดันและดูแลสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
การดูแลผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงและดูแลสุขภาพของผู้ป่วยนั้น มีเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ต้องแนะนำให้ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงรู้จักการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง หรือมีคนในครอบครัว หรือผู้อยู่ข้างเคียงคอยวัดให้เป็นประจำ และควรมีความรู้ในเรื่องการปรับยาลดความดันโลหิตด้วยตนเองหรือโดยคนข้างเคียง ตามความเหมาะของแต่ละบุคคล เพื่อที่จะได้ควบคุมความดันโลหิตในชีวิตประจำวันให้พอดี คือ ไม่สูงหรือไม่ต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย.
คนที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันวันละ ๒ ครั้งเป็นประจำ ยกเว้นคนที่มีความดันโลหิตที่คงที่แล้ว ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย.
การที่จะเดินทางไปวัดความดันที่โรงพยาบาลวันละ ๒ ครั้งตลอดชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในแง่มุมต่าง ๆ. ดังนั้น การวัดความดันที่บ้านและที่ทำงานจะช่วยให้ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงสามารถปรับยาด้วยตนเองจนสามารถควบคุมความดันโลหิตให้พอดีได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยากเลยที่จะทำความเข้าใจ.
ผู้สูงอายุมากและผู้ที่สมองเสื่อม อาจจำเป็นต้องอาศัยผู้ข้างเคียงช่วยวัดความดันและปรับยาให้ตามความเป็นไปได้.

ทำไมควรวัดความดันโลหิตเอง
พบว่า คนที่เป็นความดันโลหิตสูงจำนวนไม่น้อย มักจะมีความดันสูงขึ้นในตอนใกล้สว่างและเช้ามืด ซึ่งไม่ใช่เวลาที่จะเดินทางไปวัดความดันที่โรงพยาบาล.
การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเกินไป จึงอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น เส้นเลือดแดงในสมองแตก. ขณะเดียวกัน การปล่อยให้ความดันโลหิตสูง จะทำให้หลอดเลือดเสียหายในระยะยาว เป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงเกิดการตีบมากขึ้นและอาจเป็นมากถึงขั้นหลอดเลือดแดงอุดตันได้. ผลที่เกิดขึ้นบ่อย คือ ถ้าหลอดเลือดสมองอุดตันก็จะเป็นอัมพาต และหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง.
ผู้ป่วยบางคน อาจมีความดันต่ำลงมากในตอนบ่าย เพราะมักเป็นช่วงเวลาที่ยาลดความดันออกฤทธิ์เต็มที่ จนเป็นเหตุให้หน้ามืดและหรือวิงเวียนโดยไม่รู้ตัวว่าความดันกำลังต่ำกว่าปรกติ เนื่องจากไม่เคยมีความรู้และความสามารถในการปรับยาด้วยตนเองมาก่อน.
ช่วงเวลาที่ไปตรวจความดันที่โรงพยาบาลมักจะเป็นช่วงเช้าหน่อย ซึ่งความดันของบางคนยังอาจสูงอยู่ เนื่องจากยาลดความดันบางชนิดยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่. ด้วยเหตุนี้เอง คุณหมอจึงอาจเพิ่มยาให้มากหรือแรงขึ้น เพื่อรักษาความดันที่คุณหมอวัดได้ในช่วงนั้น.
ถ้าผู้ป่วยไปวัดความดันที่โรงพยาบาลในช่วงบ่าย ความดันอาจต่ำลงในช่วงนั้น คุณหมอก็อาจลดยาลดความดันลง เพื่อรักษาความดันที่คุณหมอวัดได้ในช่วงบ่ายเท่านั้น.
การคุมความดันด้วยการวัดความดันเพียงครั้งเดียวในทุก ๑ - ๒
เดือนนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการปรับยา อาหาร และเรื่องอื่น ๆ เพื่อควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปรกติทั้งวัน.
ในผู้สูงอายุนั้น มักจะพบว่า เวลาไปหาคุณหมอก็มักจะตื่นเต้น จึงเป็นเหตุให้ความดันสูง คุณหมอจึงอาจจะเพิ่มยาให้แรงมากขึ้นก็ได้. ครั้นกลับมาถึงบ้าน พอหมดความตื่นเต้น ความดันเลยกลับมาเป็นปรกติ แต่คุณหมอเพิ่มยามาเรียบร้อยแล้ว. ครั้นรับประทานยาที่แรงขึ้น ความดันก็จะต่ำลงไปมากกว่าปรกติ จึงเป็นเหตุให้วิงเวียน หน้ามืด อ่อนแรงซึ่งอาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง หรือเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงก็ได้.
พบว่า คนที่รับประทานยาความดันมากเกินไป ความดันอาจจะต่ำลงกว่าปรกติ และมักจะต่ำในช่วงที่กำลังนอนหลับสนิทมาก.
คนที่มีความดันต่ำและอ่อนเพลียมาก จะเป็นผลให้การนอนหลับลึกมาก ความดันก็มักจะต่ำลงไปอีกในช่วงนั้นด้วย จึงเป็นผลให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง. ยิ่งอ่อนเพลียมากและขาดน้ำมาก เลือดก็มักจะเข้มข้น หรือหนืดมากขึ้น ประกอบกับความดันที่ต่ำลง จึงมีโอกาสที่จะเกิดเส้นเลือดแดงอุดตันจากการแข็งตัวเป็นลิ่มของเลือดได้มากขึ้นในขณะที่กำลังหลับสนิท
เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องหูจะมีขนาดเล็ก และยังต้องเดินทางผ่านรูเล็ก ๆ ของกระโหลกศีรษะ จึงมีโอกาสที่จะทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในช่องหูลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ที่อวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัว. เมื่อเลือดไปเลี้ยงน้อย จึงเป็นผลให้เกิดการเวียนศรีษะ ซึ่งมักจะเป็นอาการเบื้องต้นของคนที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ.
คนที่รับประทานยาความดันแล้วมีอาการเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย ให้นึกถึงภาวะความดันต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของกลางดึกหรือกำลังหลับสนิท. คนที่เวียนหัวมักจะรู้ว่า ตัวเองมีอาการเวียนศีรษะก็ตอนที่ตื่นนอน ซึ่งอาจเป็นเครื่องบอกเหตุเบื้องต้นว่า การไหลเวียนของเลือดในสมองอาจเริ่มไม่สู้จะดีก็ได้.
การไม่ดื่มน้ำตอนค่ำหรือก่อนเข้านอนเพราะขี้เกียจลุกขึ้นปัสสาวะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะการดื่มน้ำน้อยอาจทำให้เลือดมีความหนืดมากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนของน้ำในหลอดเลือดน้อยเกินไป ขณะเดียวกัน จะทำให้ปัสสาวะเข็มข้นมาก ปัสสาวะที่เข้มข้นมากอาจทำให้เยื่อบุในทางเดินปัสสาวะระคายเคือง และอาจติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น.
ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ควรดื่มให้มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะจนต้องลุกขึ้นปัสสาวะอย่างน้อย ๑ ครั้งในการหลับ ๗ - ๘ ชั่วโมง.
ความดันที่ลดลง ย่อมทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองลดลงไปตามสัดส่วนด้วย. การที่มีความดันต่ำกว่าปรกติเป็นเวลาหลายชั่วโมงในขณะหลับสนิท ย่อมทำให้สมองมีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยเป็นเวลานาน. ดังนั้น เมื่อตื่นขึ้นมา จึงมักเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย จิตใจไม่ผ่องใส และอาจเป็นหลายวันด้วย. ยิ่งมีอาการเวียนหัวมากและเป็นหลายวัน ก็แสดงว่า มีผลเสียต่อสมองมากขึ้นตามสัดส่วนด้วย.
การปล่อยให้ความดันในขณะนอนหลับต่ำเป็นเวลานาน อาจทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลง สมองขาดทั้งอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และอ็อกซิเจน จึงทำให้สมองขาดการซ่อมบำรุงอย่างเพียงพอ เป็นผลให้สมองเสื่อมลงเร็วก่อนวัยอันควร.
คนที่ดื่มน้ำน้อยเกินไปและแถมด้วยการหลับสนิท ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เพราะการไหลเวียนของเลือดช้าลง. ประกอบกับคนที่มีความดันโลหิตสูงนั้น มักจะมีผิวเยื่อบุภายในหลอดเลือดที่ขลุขละจากการพอกตัวของไขมันในหลอดเลือด ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมอง จนกลายเป็นอัมพาตได้.
คนที่ความดันต่ำแล้วนอนหมอนสูงมากเกินไปก็อาจทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลงได้ด้วย เพราะศีรษะที่อยู่ในระดับสูงต้องมีความดันสูงพอที่จะทำให้เลือดไหลเวียนในสมองได้เต็มที่และทั่วถึง.
การวัดความดันและปรับยาด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องที่คนยุคใหม่ควรมีส่วนในการรับผิดชอบตนเองมากขึ้น. แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยการให้ความรู้และฝึกผู้ป่วยหรือผู้ข้างเคียงให้สามารถพึ่งตนเองในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขลงได้อีกด้วย.
เนื่องจากเหตุปัจจัยของความดันโลหิตในแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน. ดังนั้น ทุกคนที่เป็นความดันและผู้ข้างเคียงควรหาประสบการณ์ตรงด้วยตนเองพร้อมทั้งปรึกษาหาลือกับคุณหมอเจ้าของไข้ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ ไปชั่วชีวิต.
เพื่อประโยชน์อย่างจริงจัง ควรวัดความดันในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของตนเอง พร้อมทั้งรายงานคุณหมอหรือขออนุญาตให้ปรับยาได้เองตามสมควร ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และลดความถี่ในการไปหาคุณหมอด้วย.

ควรควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปรกติอย่างต่อเนื่อง
หลอดเลือดส่วนใหญ่ของร่างกายเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก ครั้นตีบตันแล้ว จะแก้ไขไม่ได้ ยกเว้นหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่พอจะผ่าตัดได้. ดังนั้น การป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือตีบ หรือตันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก.
ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมานานแล้ว อาจเป็นผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันและเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตายไปก็ได้.
สาเหตุของการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง จะได้กล่าวถึงในเรื่องโคเลสเตอรอลและอนุมูลอิสระ.
โดยหลักการแล้ว ในขณะที่ความดันโลหิตกำลังสูง แรงดันของโลหิตในหลอดเลือดย่อมสูงตามไปด้วย. ทุกครั้งที่หัวใจบีบตัวแรง หลอดเลือดจะถูกแรงดันเลือดในหลอดเลือดดันออกอย่างแรงไปด้วย จึงทำให้เยื่อบุภายในหลอดเลือดและผนังของหลอดเลือดแดงเกิดการชำรุดเสียหายได้เร็วขึ้นหรือก่อนเวลาอันควร.
เพราะการชำรุดของผนังที่บุในหลอดเลือดนี่เอง จึงเป็นผลให้ไขมันในเลือดมาเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือดมากยิ่งขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงยิ่งตีบลง ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็ลดลง และอาจถึงขั้นอุดตันในที่สุด. เพื่อป้องกันปัญหานี้ จึงจำเป็นต้องควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปรกติอย่างต่อเนื่องมากที่สุด จึงจะได้รับผลดีที่สุด.


การรับประทานยาลดความดันน้อยหรือมากเกินไป จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง ?
ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากมักจะมีความดันโลหิตสูงด้วย โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากหลอดเลือดแดงที่แข็งตัวหรือไม่ยืดหยุ่น.
การรับประทานยาลดความดันน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ความดันโลหิตสูง. ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ก็จะเป็นผลให้เป็นอัมพาต หรืออาจถึงขั้นตายได้. ขณะเดียวกัน ความดันโลหิตที่สูงอยู่นาน ๆ ยังทำให้เกิดความเสียหายต่อผนังหลอดเลือดแดงมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลให้เส้นเลือดแดงมีความยืดหยุ่นลดลง จึงทำให้ความดันสูงขึ้นอีก เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ อย่างเพียงพอ.
การรับประทานยาลดความดันมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง การไหลเวียนของเลือดย่อมลดลง ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง. ขณะที่การไหลเวียนของเลือดช้าลงจากความดันที่ต่ำเกินไป ประกอบกับหลอดเลือดตีบลงด้วย จึงอาจทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดกลายเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ที่เส้นเลือดสมอง หัวใจ ปอด และไต เป็นต้น.
ดังนั้น เมื่อเป็นความดันสูงแล้ว ก็ควรควบคุมให้ความดันอยู่ในระดับที่พอดี คือไม่สูงและไม่ต่ำเกินไปสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะต้องใช้ยา ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมอารมณ์อย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต.

ควรวัดความดันโลหิตเมื่อใด ?
ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องวัดความดันไว้กับตัวตลอดเวลา เพราะต้องวัดความดันของตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ปรับยาและอาหารได้อย่างถูกต้อง.
โดยหลักการแล้ว ในช่วงแรกหรือเริ่มต้นใช้เครื่องวัดความดัน ควรวัดความดันทุก ๒ ช.ม. เพื่อดูว่า ความดันมักขึ้นหรือลงในช่วงใดบ้างของชีวิตประจำวัน มีความสัมพันธ์กับยาลดความดัน อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์อย่างไรบ้าง.
เมื่อวัดความดันได้แล้ว ก็ควรบันทึกข้อมูลของความดันโลหิต ความเร็วของชีพจร ยาที่รับประทานทั้งชนิด ขนาด จำนวนครั้ง รวมทั้งบันทึกย่อในเรื่องของอาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น ๆ ไว้ด้วย.
หลังจากได้ข้อมูลพื้นฐานแล้ว จะทราบได้ด้วยตนเองว่า ยาออกฤทธิ์เมื่อใด มาก น้อย หรือนานเพียงใด สมควรที่จะต้องปรับยาหรือไม่ ? รวมทั้งมีผลข้างเคียงของยาอย่างไรบ้าง ?
เมื่อมีข้อมูลพื้นฐานของตนเองตามสมควรแล้ว ก็ควรวัดความดันวันละ ๒ - ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ช่วงเช้า เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก็วัดเลย ซึ่งเป็นช่วงที่ยามักจะหมดฤทธิ์แล้ว และความดันก็มักจะขึ้นสูงในช่วงเวลานี้. ครั้งที่ ๒ ช่วงบ่าย ประมาณบ่าย ๒ - ๔ โมง เป็นช่วงที่ความดันมักจะต่ำ เพราะยาลดความดันมักจะออกฤทธิ์เต็มที่ในช่วงเวลานี้. ครั้งที่ ๓ ช่วงค่ำ ประมาณ ๒ ทุ่ม ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ลดลง.
ในยุคปัจจุบัน เรามักชอบที่จะใช้ยาแบบรับประทานวันละ ๑ เม็ด ตอนเช้า เพราะเป็นยาืี่ออกฤทธิ์ ๒๔ ชั่วโมง. ข้อดีของยาแบบนี้ คือ รับประทานวันละ ๑ ครั้ง แต่ข้อเสีย คือ มักจะควบคุมความดันได้ดีในช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงที่ยาออกฤทธิ์เต็มที่. ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยาแบบนี้แล้วพบว่า ความดันในช่วงเช้ามืดยังสูงเกินไป ก็ควรรายงานคุณหมอเจ้าของไข้ เพื่อพิจารณาปรับยาหรือเพิ่มยาในช่วงค่ำ จะได้ทำให้สามารถควบคุมความดันตอนใกล้สว่างและเช้ามืด.
ยาลดความดันที่รับประทานตอนเช้าแล้วทำให้ความดันช่วงบ่ายพอดี ก็ถือว่า ยามื้อเช้ากำลังพอเหมาะสำหรับการควบคุมความดันตอนบ่าย.
ถ้าพบว่า ความดันในช่วงบ่ายยังสูงเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น มีความแรงน้อยเกินไป สมควรพิจารณาเพิ่มยาหรือเสริมยาในมื้อเช้าของวันถัดไป.
ถ้าพบว่า ความดันในช่วงบ่ายต่ำมากเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น มีความแรงมากเกินไป สมควรพิจารณาลดยาในมื้อเช้าของวันถัดไป.
ถ้าพบว่า ความดันในช่วงค่ำสูงเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น หมดฤทธิ์ อาจจะเป็นผลให้ตอนกลางดึกและตอนเช้ามืดมีความดันสูง.
โดยทั่วไปแล้ว ความดันมักชอบขึ้นตอนใกล้สว่างและเช้ามืด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยาหมดฤทธิ์ ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่รับประทานตั้งแต่เช้านั้น มักจะเริ่มหมดฤทธิ์ตั้งแต่ตอนค่ำแล้ว จึงเป็นผลให้บางคนมีปัญหาจากเส้นเลือดในสมองแตกตอนใกล้สว่างเนื่องจากความดันที่สูงเกินไป. ดังนั้น คนที่รับประทานยาความดันชนิดวันละครั้งหรือชนิดออกฤทธิ์ ๒๔ ชั่วโมง และรับประทานในช่วงเช้าแล้วมีความดันสูงเกินไปในช่วงค่ำเช่นนี้ สมควรพิจารณารับประทานยาเสริมตัวอื่นในช่วงค่ำหรือใช้ยาตัวเดิมแต่รับประทานทานเสริมอีกครั้งในช่วงค่ำ เพื่อจะได้ควบคุมความดันไว้ได้ทั้งคืนไปจนถึงเช้ามืด. การเสริมยาในช่วงค่ำเช่นนี้ เป็นการเสริมฤทธิ์ยาที่รับประทานในช่วงเช้า. ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ เสริมหรือเพิ่มยาที่ละน้อย ๆ. การรับประทานยาที่แรงหรือมากเกินไปอาจทำให้ความดันลดลงทั้งคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตราย เพราะอาจทำให้สมองขาดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองเกิดการอุดตันได้. การจะเสริมยาลดความดันนั้น ควรปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่คุณหมอไม่ได้สั่งไว้ก่อน.
ในช่วงค่ำ ถ้าพบว่า ความดันต่ำกว่าปรกติ ก็ควรลดหรืองดรับประทานยามื้อค่ำ่หรือก่อนนอน เพื่อป้องกันปัญหาดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว. ดังนั้น คนที่เป็นความดันสูงจึงควรวัดความดันในช่วงค่ำและเช้ามืดทุกวัน จนกว่าความดันจะเสถียรหรือคงที่อยู่ในระดับปรกติตามสมควร แล้วจึงค่อยวัดความดันทุก ๑ ถึง ๒ วันก็พอได้.
ผู้ที่เริ่มรับประทานยามื้อค่ำหรือก่อนนอน ควรวัดความดันช่วงกลางดึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่มีการปรับหรือเสริมยา. กล่าวคือ ควรความวัดความดันในช่วงตี ๓ - ๕ ไว้บ้าง เพื่อจะได้รู้ว่า ความดันกลางดึกนั้น สูง ต่ำ หรือพอดี. ถ้าพอดีก็ไม่ต้องปรับยาอีก ถ้าไม่พอดีก็ควรปรับยามื้อค่ำตามหลักการที่ได้กล่าวถึงแล้ว. เมื่อปรับยาและความดันคงที่ตามสมควรแล้ว ก็ให้วัดความดันในช่วงเช้ามืดหรือตอนตื่นนอนก็ได้.
ควรระลึกไว้เสมอว่า หลังจากรับประทานยาลดความดันไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ร่างกายอาจจะตอบสนองต่อฤทธิ์ของยามากหรือน้อยเกินไปก็ได้. ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท จึงควรวัดความดันในช่วงใกล้สว่างไว้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ จากหลอดเลือดแดงในสมองตันหรือแตก.
ทุกครั้งที่มีอาการผิดปรกติทางร่างกาย เช่น ปวดหัว วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น แน่นอก เจ็บอก อ่อนแรง หรือเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไรก็ตาม รวมทั้งทางจิตใจมีความกังวลหรือเครียด ควรวัดความดันในขณะนั้นทันที เพื่อจะได้ควบคุมความด้นให้พอดีอยู่เสมอ.

ควรวัดความดันโลหิตคราวละกี่ครั้ง ?
ความดันโลหิตอาจไม่เท่ากันในการวัดแต่ละครั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ หลอดเลือดแข็งตัวหรือมีความยืดหยุ่นลดลง จึงทำให้ความดันขึ้นลงได้โดยง่าย.
คนที่มีหลอดเลือดแดงแข็งตัวหรือไม่ยืดหยุ่น มักจะทำให้ความดันขึ้นและลง หรือไม่ค่อยจะคงที่ในขณะที่ตื่นเต้น กังวล เครียด หรือไม่สบายใจ.
คนที่ชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันที่วัดได้มักจะแกว่งตัวมากหรือไม่ค่อยจะแน่นอน เพราะหัวใจบีบตัวไม่คงที่.
ดังนั้น จึงควรวัดความดัน ๒ ครั้งห่างกันประมาณ ๑ - ๕ นาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ความตื่นเต้นหรือความตื่นตัวของระบบประสาทลดลงเสียก่อน.
การวัดครั้งแรกของคนที่เป็นความดัน ควรวัดหลังจากพักจากกิจกรรมต่าง ๆ มาแล้วอย่างน้อย ๕ นาที ความดันครั้งแรกที่วัดได้นั้น มักจะสูงกว่าครั้งที่ ๒ เพราะธรรมชาติของหลอดเลือดที่แข็งตัวหรือไม่ยืดหยุ่นเป็นเช่นนั้นเอง.
เมื่อวัดครั้งที่ ๒ แล้วพบว่า ความดันที่วัดได้ทั้ง ๒ ครั้งต่างกันไม่เกิน ๕ มม.ปรอท ก็ถือว่าใช้ได้ โดยการเฉลี่ย ๒ ครั้ง แต่ถ้าเกิน ๕ ให้วัดใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะต่ำกว่าเดิมหรือใกล้เคียงกับครั้งที่ ๒ ถ้าความดันต่างกันไม่เกิน ๕ ก็ถือว่าใช้ได้. ให้เอาค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน ๕ มาเป็นค่าที่แท้จริง.
ถ้าวัดความดัน ๒ ครั้งแล้วความดันต่างกันเกิน ๕ มม.ปรอท ให้วัดใหม่อีก เป็นการวัดความดันครั้งที่ ๓ แต่ควรเว้นช่วง ๑ - ๕ นาทีเป็นอย่างน้อยเช่นกัน. ถ้าวัดแล้วความดันครั้งที่ ๒ และ ๓ หรือต่างกันไม่เกิน ๕ มม.ปรอท ก็ให้ถือว่าใช้ได้ โดยการเอาค่าเฉลี่ยของความดันครั้งที่ ๒ และ ๓ มาเป็นความดันจริง หรือจับคู่ความดันที่ห่างกันไม่เกิน ๕ แล้วเอาความดันที่จับคู่นี้มาเฉลี่ยกันก็ได้เช่นกัน.
ถ้าวัดความดันครั้งที่ ๓ แล้วยังห่างกันเกินกว่า ๕ มม.ปรอท ให้วัดครั้งที่ ๔ หรือเปลี่ยนไปเริ่มต้นวัดความดันที่แขนอีกข้างหนึ่ง.
บางครั้งการพันอุปการณ์วัดความดันรอบแขนไม่ถูกต้อง เอียงไปมา หรือไม่ถูกระดับ ก็อาจทำให้ ความดันไม่ถูกต้อง. ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเรื่องวิธีใช้เครื่องวัดความดัน.
บางคนชีพจรที่เต้นไม่เป็นจังหวะ ความดันโลหิตจึงเหวี่ยงขึ้นและลงได้โดยง่าย. ความดันในแต่ละครั้งที่วัดได้นั้น จึงอาจแตกต่างกันไปมาก. ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ ก็ควรวัดความดันหลายครั้งหรือ ๓ - ๔ ครั้งก็ได้ แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยในกลุ่มของความดันที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่ต้องตกใจกลัว เพราะการบีบตัวของหัวใจในขณะเต้นผิดจังหวะมักจะไม่เท่ากันเหมือนคนที่หัวใจเต้นสม่ำเสมอ จึงทำให้ความดันเปลี่ยนไปด้วย.

ควรควยคุมความดันโลหิตอย่างไร จึงจะพอดี
โดยหลักการแล้ว ในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรรักษาระดับความดันให้สูงอย่างพอเพียง หรือพอดี หรือเป็นทางสายกลาง ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป.
ความดันมี ๒ ค่า คือ ความดันบนและความดันล่าง. ในผู้ที่กำลังรักษาความดันโลหิตสูงอยู่นั้น เราจะเน้นที่ความดันบนเป็นหลัก เพราะวัดได้ง่าย เห็นการขึ้นลงของความดันได้ชัดเจน.
คนที่หลอดเลือดแข็งตัวมากหรือตีบมากแล้ว ไม่ควรลดความดันมากเกินไปจนเป็นความดันระดับของคนหนุ่มสาว เช่น ลดความดันบนลงมาจนถึง ๑๐๐ - ๑๑๐ มม.ปรอท เพราะความดันในระดับนี้ อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ และเกิดปัญหาการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สมอง หัวใจ และไต. ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ว่า ควรควบคุมความดันไว้ที่ระดับใดจึงจะพอเหมาะสำหรับตน.
โดยหลักการกว้าง ๆ แล้ว ควรให้ความดันบนให้อยู่ระหว่าง ๑๑๐-๑๓๐ มม.ปรอท. ควรสังเกตด้วยตนเองว่า ความดันที่ระดับไหนทำให้รู้สึกสมองโปร่ง เบาสบาย และควรสังเกตว่า มีอาการอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจเมื่อความดันโลหิตขึ้นสูงหรือลงต่ำเกินไป เพื่อแก้ปัญหาความดันสูงและต่ำได้ทันท่วงที.
เส้นโลหิตจะมีโอกาสแตกก็เพราะความดันบนสูงมาก และเส้นโลหิตจะตันเมื่อความดันโลหิตบนต่ำเกินไป. ขณะเดียวกัน อวัยวะต่าง ๆ ก็อาจเสียหายจากการขาดเลือด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น.
เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมความดันสำหรับคนทั่วไป จึงควรเอาความดันบนเป็นหลัก เพราะเป็นความดันที่วัดได้ชัดเจน ง่ายต่อการแปลผล และเป็นความดันที่มีผลต่อการเสื่อมของหลอดเลือด หัวใจวาย เส้นเลือดสมอง ตีบ ตัน หรือแตก เส้นเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น.
ส่วนความดันล่างนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอที่จะต้องคอยดูแล. สำหรับคนทั่วไปนั้น ควรรู้ว่า ความดันบนหรือล่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าสูงเกินค่าปรกติก็คือการเป็นความดัน รู้เพียงแค่นี้ก็พอแล้ว. แต่ผู้ที่ความดันล่างต่ำผิดปรกติ ก็ต้องให้คุณหมอตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ และแก้ปัญหาต่อไป.
วิธีคิด คือ โดยทั่วไปแล้ว ความดันบนตอนเช้ามืดของคนที่รับประทานยาลดความดันอยู่ควรมีความดันระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ มม.ปรอทโดยประมาณ ก็ถือว่า สามารถควบคุมความดันได้ดี.
๑. ในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันวันละครั้งในตอนเช้า ถ้าความดันตอนเช้าสูงเกิน ๑๓๐ ก็แสดงว่า รับประทานยาน้อยเกินไป ยิ่งเกินมากก็ยิ่งแสดงว่า ยาน้อยไปมาก จึงสมควรที่จะปรับเพิ่มยา.
ถ้าความดันบนต่ำกว่า ๑๒๐ ก็แสดงว่า รับประทานยาลดความดันมากเกินไป จึงสมควรที่จะปรับยาเช่นกันหรืองดยาในเช้าวันนั้น เพราะมักจะพบว่า พอตอนสายและบ่าย ความดันมักจะต่ำลงกว่าตอนเช้ามืด ขณะเดียว จะต้องไม่ทานอาหารเค็มด้วย เพราะการรับประทานอาหารเค็มจะทำให้ความดันสูงขึ้นได้โดยง่าย.
ถ้าความดันบนตอนเช้ามืดสูงกว่า ๑๓๐ แล้วรับประทานยาลดความดันในตอนเช้าวันนั้น อาจทำให้ความดันในช่วงบ่ายลดลงมาเป็นปรกติก็ได้ เช่น ความดันช่วงบ่ายอยู่ระหว่าง ๑๑๐ - ๑๓๐ ก็นับว่า ได้ผลดีแล้ว. แต่ถ้าความดันลงมาต่ำกว่า ๑๑๐ ก็แสดงว่า รับประทานยาลดความดันมากเกินไป.
เมื่อพบว่า ปัญหาความดันต่ำเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา ๒ - ๓ วันแล้ว ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ถึงเวลาที่ควรปรับยาให้น้อยลง. อย่าลืมฝึกสังเกตุอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจด้วย.
เมื่อชำนาญแล้ว อาจปรับยาทุกวันก็ได้ เพื่อปรับความดันให้พอดีทั้งวัน.
การนับชีพจรจะช่วยบอกเรื่องความดันได้ตามสมควร เช่น เวลาความดันขึ้น ชีพจรมักจะช้าลง เพราะจังหวะในการบีบตัวของหัวใจจะนานขึ้น. ในทางตรงกันข้าม เวลาความดันลดลง ชีพจรมักจะเร็วขึ้น เพราะจังหวะในการบีบตัวของหัวใจลดลง. คนที่กำลังความดันต่ำมาก หรือกำลังช๊อก ชีพจรจะเร็วมาก.
บางครั้งความดันในช่วงบ่ายลดลง อาจสืบเนื่องมาจากการดื่มน้ำน้อยมาก เสียเหงื่อมาก ขาดเกลือมาก ท้องเสีย อ่อนเพลียมาก ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่า วันรุ่งขึ้นยังรับประทานยาขนาดเดิมได้ แต่ต้องแก้สาเหตุที่เสริมให้ความดันลดต่ำลงด้วย ถ้ายังแก้ไม่ได้ก็ควรลดหรืองดยาตามความเหมาะสม.
ในกรณีย์ที่ลดหรืองดยามื้อเช้าเพราะความดันในตอนเช้ามืดดี ก็ควรวัดความดันในช่วงสาย ๆ ประมาณ ๑๑ - ๑๕ น. เพื่อดูว่า ความดันยังคงอยู่ในระดับเป้าหมาย(๑๑๐ - ๑๓๐)หรือไม่ ถ้ายังคงอยู่ในระดับนี้ ก็ไม่ต้องรับประทานยา แต่ถ้าสูงไปกว่านี้ ก็ควรพิจารณาว่าจะรับประทานยาดีหรือไม่ ? ถ้าเกิน ๑๔๐ ก็ควรรับประทานยาได้แล้ว. เพราะถ้าไม่รับประทานยา ความดันอาจสูงในตอนเย็น กลางคืน และเช้ามืดก็ได้.
ทุกครั้งที่รับประทานยาในช่วงเช้า ก็ควรวัดความดันในช่วงประมาณ ๑๕ น. เพราะเป็นช่วงที่ความดันต่ำเนื่องจากยามักจะออกฤทธิ์เต็มที่ในช่วงนี้. ความดันในช่วงนี้ก็ควรอยู่ระหว่าง ๑๑๐ - ๑๓๐ ถ้าต่ำกว่านี้ก็ต้องระวังว่า เลือดจะไปเลี้ยงสมอง หัวใจ และอวัยวะต่าง ๆ ลดลง. ถ้ามีอาการวิงเวียนเหมือนขาดเลือดไปเลี้ยงสมองหรือความดันต่ำลงไปมาก ก็ควรดื่มน้ำ ๑ แก้วหรือมากกว่าเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ความดันเพิ่มขึ้น. ขณะนอนในช่วงความดันกำลังต่ำอยู่นั้น ควรใช้หมอนเตี้ย ไม่ควรใช้หมอนสูง เพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ.
เช้ามืดหรือก่อน ๘ น.ของวันต่อมา ถ้าพบว่า ความดันตอนเช้าต่ำกว่า ๑๓๐ ก็ลดหรืองดยาลดความดันในเช้าวันนั้น เพราะถ้ารับประทานยามากเกินไป ความดันอาจต่ำเกินไปจนทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมอง หัวใจ และไตลดลงได้.
มักจะพบว่า ในช่วงสายและบ่าย ความดันมักจะต่ำกว่าความดันตอนเช้ามืด.
ถ้าพบว่าความดันต่ำกว่า ๑๓๐ ในช่วงเช้าและไม่ได้รับประทานยา ต่อมาในช่วงบ่ายความดันไม่สูง ก็แสดงว่า ความดันเป็นปรกติในช่วงนั้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการรับประทานยาหรืองดรับประทานยาในวันต่อไป.
แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่แรงนักและความดันตอนเช้ามืดอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ก็อาจทดลองรับประทานดู ถ้ารับประทานแล้วความดันในช่วงบ่ายไม่ต่ำกว่า ๑๑๐ ก็ถือว่า ใช้ได้ ถ้าต่ำกว่า ๑๑๐ ก็แสดงว่า ยาแรงหรือมากเกินไป
สำหรับคนที่ความดันไม่สูงมาก และความดันในช่วงเช้ามืดอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ก็ควรทดลองลดหรืองดยามื้อเช้าหรือมื้อเย็นดู และวัดความดันเป็นช่วง ๆ เพื่อประเมินผลและเฝ้าระวังต่อไป.
ช่วงเวลาหลัง ๒๐ น.หรือช่วงดึก เป็นช่วงเวลาที่ความดันเริ่มสูงขึ้น เพราะยาเริ่มมีฤทธิ์ลดลง จึงควรวัดความดันอีกครั้ง. ถ้าความดันในช่วงนี้เกิน ๑๒๐ ก็ควรพิจารณาปรับหรือเสริมยา ถ้าเกิน ๑๓๐ ก็ควรเสริมยาลดความดันในช่วงนี้ ควรใช้ยาในจำนวนน้อยก่อน เพื่อจะได้ควบคุมความดันในช่วงกลางดึก ใกล้สว่าง หรือเช้ามืดสูง.
การปรับยาโดยผู้ป่วยเอง ควรปรับขนาดยาทีละน้อยเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาแรงหรืออ่อนเกินไป. การปรับยาอย่างรุนแรงควรให้เป็นหน้าที่ของแพทย์.
ส่วนผู้ป่วยที่ความดันหลัง ๒๐ น. หรือช่วงดึกที่มีความดันที่วัดได้ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ขณะเดียวกันไม่ได้ปรับหรือเสริมยาในช่วงนี้ และตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นความดันอยู่ในระดับปรกติ ก็ถือว่า ไม่จำเป็นต้องปรับหรือเสริมยา เพราะร่างกายยังตอบสนองยาที่รับประทานได้ดีอยู่แล้ว.
ถ้าความดันในช่วงดึกสูงเกิน ๑๓๐ ก็ควรระมัดระวังความดันในช่วงตี ๓ - ๕ และตอนเช้ามืดที่อาจเพิ่มขึ้นและเกิดอันตรายได้ เนื่องจากยาหมดฤทธิ์นั่นเอง.
การวัดความดันตอนใกล้สว่างหรือเช้ามืดจะช่วยให้ได้แนวทางในการตัดสินใจปรับหรือเสริมยาเพื่อควบคุมความดันได้ทั้งคืนจนถึงเช้ามืด.
คนที่รับประทานยาลดความดันในตอนเช้าเพียงวันละครั้งเดียว มักจะเป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน ๒๔ ชั่วโมง. ยาชนิดนี้ จะสามารถควบคุมความดันในช่วงบ่ายได้ดี แต่ในช่วงดึก ใกล้สว่าง หรือเช้ามืด ความดันมักจะสูงขึ้นเพราะยาหมดฤทธิ์. ดังนั้น จึงอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มยาลดความดันในช่วงห้วค่ำ เพื่อควบคุมความดัน ๒๔ ชั่วโมงหรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรึกษาแพทย์.
ดังนั้น การวัดความดันวันละ ๒ - ๓ ครั้ง จะช่วยให้เราสามารถเฝ้าระวังความดันให้อยู่ในระดับปรกติอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนได้ตามสมควร. เมื่อควบคุมความดันได้ดีตามสมควรแล้ว ก็ควรเว้นห่างออกไปตามความเหมาะสม แต่อย่างน้อยสุด ควรวัดความดันอาทิตย์ละ ๒ - ๓ ครั้ง.
คนที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ถึงแม้ความดันบนตอนเช้ามืดจะอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ก็อาจรับประทานยามื้อเช้าได้ เพราะระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตื่นเต้น เหนื่อย หรือเครียด ความดันก็มักจะเพิ่มขึ้นได้ และถ้าเพิ่มมากเกินไป อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพได้. ทั้งนี้ ควรที่จะศึกษาความดันของตนเองขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับยาในชีวิตประจำวันเฉพาะตน. การไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่มั่นใจว่า ความดันจะสูงเกินไปหรือไม่ ก็ควรเอาเครื่องวัดความดันไปด้วย เพราะเราต้องรับผิดชอบกับสุขภาพของตนเองเสมอ.
ในข้อ ๑ นี้ สามารถประยุกต์ไปใช้กับผู้ที่รับประทานยาลดความดันวันละ ๒ ครั้งก็ได้.
ผู้ป่วยที่ความดันไม่สูงมากนักเมื่อปรับเพิ่มยาแล้ว ความดันก็ยังไม่ค่อยจะลง ก็ควรพิจารณาทดลองรับประทานยาขับปัสสาวะอย่างอ่อนหรือเพียงครึ่งเม็ด เพียงครั้งเดียว เพื่อช่วบขับน้ำที่คั่งค้างในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายออกทางปัสสาวะ. การจะทำเช่นนี้ได้นั้น ต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน. คนที่เป็นความดันสูงบางคน อาจมีการคั่งของน้ำในร่างกายเนื่องจากการที่ไตไม่สามารถขับเกลือออกได้ดี. ครั้นไปรับประทานอาหารที่มีเกลือเข้าไปไม่มากนัก ก็อาจจะสะสมเกลือไว้ในร่างกายจนทำให้เกลืออุ้มน้ำไว้ในร่างกายมากเกินไปหรือน้ำคั่ง เป็นผลให้ผนังหลอดเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ อุ้มน้ำมากขึ้นด้วย จึงทำให้ห้วใจต้องบีบตัวแรงขึ้นหรือความดันเพิ่มขึ้น เพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ. การใช้ยาในกรณีย์เช่นนี้ อาจช่วยให้ความดันลดลงหรือไม่ขึ้นมาค้างเติ่งในบางราย.
๒. ผู้ป่วยที่มีความดันไม่สูงมากนัก เมื่องดรับประทานยาลดความดันมา เกิน ๑ วัน แล้วพบว่า ในตอนเช้ามืดวัดความดันได้ต่ำกว่า ๑๔๐ ก็อาจพิจารณางดยา เพราะในตอนสายและบ่าย ความดันก็มักจะลงมาเป็นปรกติ.
ควรวัดความดันเป็นช่วง ๆ ต่อไปอีก. ถ้าพบว่า ความดันหลังจากช่วงเช้าลดลงทั้งวัน คือ ต่ำกว่า ๑๓๐ ก็จัดว่า เป็นความดันที่ดี. ขณะเดียวกัน ควรพยายามเต็มที่ ที่จะงดอาหารที่ใส่เกลือ ผงชูรส ผงฟู และอาหารที่เพิ่มโคเลสเตอรอลด้วย.
เมื่อใดที่ความดันในช่วงเช้ามืดสูงเกิน ๑๔๐ ก็น่าจะพิจารณากลับมารับประทานยาลดความดันอีก.

การปรับหรือเปลี่ยนยาควรรายงานให้คุณหมอเจ้าของไข้ทราบ
โดยหลักการแล้ว ควรรายงานผลของความดันโลหิตโดยบันทึกไว้ในสมุดเล่มเล็ก ๆ เพื่อสะดวกในการพกพาไปให้คุณหมอดู พร้อมทั้งจดบันทึกการปรับยาในมื้อต่าง ๆ ไว้ด้วย.
สำหรับการปรับเปลี่ยนยาในทุกครั้งนั้น ควรให้คุณหมอเจ้าของไข้เป็นผู้พิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันอันตราย เพราะยาลดความดันมีหลายกลุ่มมาก มีฤทธิ์ ความแรง ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ การตอบสนองของยาในแต่ละบุคคล อันตรายของยา อันตรายจากการรับประทานยาอื่นร่วมด้วย มีข้อห้ามและข้อที่ต้องพึงระมัดระวังต่าง ๆ มากมาย. บางครั้งคุณหมออาจให้ยาต่างกลุ่มในมื้อเดียวกัน เพื่อผลการรักษา บางครั้งให้ยาลดความดันที่ออกฤทธิ์ช่วงสั้น บางครั้งก็ให้ยาลดความดันชนิดออกฤทธิ์นาน ๒๔ ชั่วโมงซึ่งมักนิยมให้กันในยุคนี้ หรือผสมผสานกันตามความเหมาะสม.
มีข้อคิดอยู่ว่า ยาลดความดันทั้งวันอาจเหมาะสำหรับลดความดันในช่วงบ่ายและเย็น แต่ตอนใกล้สว่างและเช้ามืด ฤทธิ์ยาอาจลดลงจนเป็นเหตุให้ความดันขึ้นสูงก็ได้. ดังนั้น บางคนจึงอาจจำเป็นต้องปรับหรือเสริมยาลดความดันในช่วงค่ำ เพื่อให้สามารถควบคุมความดันได้ตลอดคืนจนถึงเช้ามืด.
การค่อย ๆ พูดคุยกับคุณหมอเจ้าของไข้จะมีส่วนช่วยให้การแก้ปัญหาความดันสูงในช่วงกลางดึก ใกล้สว่าง เช้ามืด ทั้งกลางวันและกลางคืนได้สำเร็จ. คุณหมอบางคน(ส่วนน้อยมาก)ที่ไม่ค่อยจะยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วยเลย ผู้ป่วยก็มีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนหมอเจ้าของไข้ได้เช่นกัน เมื่อมีความจำเป็นถึงขั้นอาจจะเป็นอันตรายขึ้นมาแล้ว.

ปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ความดันขึ้นหรือลงมีอะไรบ้าง ?
คนที่ความดันไม่สูงมากนัก ก็มักจะสามารถควบคุมความดันโดยไม่ต้องใช้ยาก็ได้ และในคนที่มีความดันสูงมาก ก็ยังสามารถลดยาลงหรืองดยาได้ ถ้ารู้ว่า เหตุปัจจัยมาจากอะไรและสามารถกำจัดเหตุปัจจัยที่ทำให้ความดันสูงได้.
เหตุปัจจัยที่พบได้บ่อยมาก ๆ คือ จำนวนโซเดียม เช่น เกลือแกง ผงชูรส ผงฟู ที่รับประทานในแต่ละวัน.
ธรรมชาติของหลอดเลือดแดงในคนที่เป็นความดันโลหิตสูงมักจะมีการตีบหรือแคบลง. เกลือจะทำให้ผนังหลอดเลือดอิ่มน้ำมากขึ้น จึงทำให้หนาตัว หรือบวมมากขึ้น ถึงแม้ผนังหลอดเลือดจะบวมขึ้นเพียงนิดเดียว แต่ก็ทำให้การไหลเวียนทั้งระบบลดลง เพราะหลอดเลือดมีช่องให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลงทั้งระบบ จึงเป็นเหตุให้หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลเวียนอย่างเพียงพอ เป็นผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น.
ปัญหาของเกลือทำให้ความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง. ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องควบคุมการรับประทานเกลือในชีวิตประจำวัน.
นอกจากปัญหาของเกลือแล้ว ปัญหาทางอารมณ์ การไม่ออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ การมีไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารไม่ถูกหลัก และการมีน้ำหนักมากเกินไป จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง.

การดื่มน้ำกับความดันโลหิตสูง
ในบางคนที่มีความดันโลหิตสูง การดื่มน้ำที่มีปริมาณมากเกินไป ก็จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เพราะน้ำจะคั่งในร่างกายมากขึ้น. ผู้สูงอายุบางคนไม่สามารถขับเกลือและน้ำทางระบบปัสสาวะได้รวดเร็วอย่างคนปรกติ. ดังนั้น ควรดื่มน้ำแบบเฉลี่ยไปทั้งวันในปริมาณที่พอเหมาะ.
บางคนเข้าใจผิด ตื่นขึ้นมาก็ดื่มน้ำรวดเดียว ๔ – ๕ แก้ว ซึ่งเป็นผลเสียสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคความดันสูง โรคไต โรคหัวใจ เพราะน้ำดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น และความดันก็อาจจะสูงขึ้นด้วย. ขณะเดียวกันผู้สูงอายุและผู้ป่วยในโรคที่กล่าวถึงแล้ว มักจะขับน้ำออกจากร่างกายได้ช้า.
ให้สังเกตว่า การให้ยาลดความดันในรายที่เพิ่งเริ่มเป็น คุณหมอมักจะให้ยาขับปัสสาวะ. บางครั้งเมื่อผู้ป่วยดื่มน้ำเข้าไปมากหรือรับประทานอาหารเค็ม ความดันก็มักจะขึ้นมาค้างอยู่ คุณหมอก็อาจให้ยาขับปัสสาวะเสริมเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ได้ผลดี. คุณหมอบางคนอาจให้ยาขับปัสสาวะอย่างต่อเนื่องก็ได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย.
หลายคนคงเคยได้ยินว่า มีการซ่อมหรือทำโทษนักเรียนเตรียมนายร้อยคนหนึ่งด้วยการให้ดื่มน้ำอย่างรวดเร็วจำนวน ๑ ถัง เป็นผลให้นักเรียนคนนั้นตายก่อนดื่มน้ำหมด.
โดยหลักการแล้ว คนทั่วไปควรดื่มน้ำประมาณ ๗ – ๘ แก้วต่อวัน. ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรดื่มน้ำมากขึ้น เพราะเสียน้ำไปทางเหงื่อมาก. ในวันที่อากาศเย็น มีการเสียเหงื่อน้อยลง ก็ควรดื่มน้ำน้อยลง.
ควรสังเกตว่า ในแต่ละวัน เราควรปัสสาวะหลังตื่นนอน ตอน ๑๐ น. หลังอาหารเที่ยง บ่าย ๓โมง หลังอาหารเย็นช่วง ๖ โมงเย็น ตอนค่ำหรือก่อนนอน ในช่วงที่นอนหลับควรตื่นขึ้นมาปัสสาวะอย่างน้อย ๑ ครั้ง. ทุกครั้งที่ปัสสาวะ ควรมีปัสสาวะประมาณ ครึ่งถึง ๑ แก้วเป็นอย่างน้อย และมีลักษณะใส. ถ้าน้อยกว่านี้ ก็แสดงว่า ควรเพิ่มปริมาณน้ำหรือเพิ่มความถี่ในการดื่มน้ำในช่วงเย็นและก่อนเข้านอน. เมื่อต้องตื่นขึ้นมาป้สสาวะ ก็ควรถือโอกาสบ้วนปากเพื่อรักษาสุขภาพภายในช่องปากไปด้วย.
ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต คุณหมอมักจะควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่มเพื่อป้องกันการคั่งของน้ำในร่างกาย.
การดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้เลือดเข้มข้นขึ้น เป็นผลให้เลือดมีความหนืดมากขึ้น. โดยธรรมชาติ การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงที่ตีบย่อมช้าลง จึงอาจเป็นผลให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด เป็นเหตุให้เกิดการอุดตันเส้นเลือดแดงขึ้นมาได้.
การดื่มน้ำที่มีปริมาณพอเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังจนเป็นนิสัย.
ปริมาณน้ำดื่มควรปรับให้เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำำหนักตัว หน้าที่การงาน อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ปริมาณน้ำในอาหาร อายุ และโรคประจำตัวอื่น ๆ.
ทางสายกลาง คือ ไม่ดื่มมากหรือน้อยเกินไป เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ และแต่ละคนมีทางสายกลางเป็นของตนเอง. จะรู้ได้คร่าว ๆ ด้วยการวัดความดัน การบวมของขาหรือเท้า ปริมาณน้ำที่ดื่มและปัสสาวะ เป็นต้น.

ทำอย่างไรจึงจะลดจำนวนเกลือในร่างกายลงได้ ?
ตามปรกติ อาหารที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว นม เนื้อสัตว์ ไข่ จะมีเกลืออยู่แล้ว และเพียงพอสำหรับสุขภาพที่ดี.
ผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะ จะขับเกลือและโปแตสเซียมออกจากร่างกายอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติ.
การควบคุมปริมาณเกลือจากการดื่มหรือรับประทานเป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนที่เป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความเพียร จริงจัง และจริงใจในการควบคุมตนเองชั่วชีวิต.
การจะลดเกลือในร่างกายลงได้นั้น ต้องอย่ารับประทานอาหารที่ปรุงรสแต่งด้วยโซเดียมหรือเกลือโดยทำดังนี้ :-
1. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีเกลือในการปรุงแต่งรส และงดรับประทานอาหารที่ใส่เกลือ เช่น ปลาเค็ม หมูเค็ม เนื้อเค็ม ส้มตำ เป็นต้น รวมทั้งไม่โรยเกลือลงในอาหาร.
2. งดรับประทานน้ำพริกทุกชนิด รวมทั้งพล่า ยำต่าง ๆ ด้วย.
3. งดรับประทานผงชูรสหรือซุบก้อนทุกชนิด.
4. งดรับประทานอาหารที่ปรุงอาหารโดยใส่ซีอิ้วหรือน้ำปลา.
5. ถ้าจะรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่มักจะใส่ซีอิ้ว น้ำปลา เกลือ ผงชูรส และผงฟู.
6. ถ้าจะรับประทานแกง อย่ารับประทานน้ำแกง รวมทั้งแกงจืดที่ใส่ซีอิ่วหรือน้ำปลา และน้ำก๊วยเตี๋ยวทุกชนิด เพราะจะปรุงแต่งรสด้วยเกลือและผงชูรสเป็นจำนวนมาก.
7. อาหารที่มีรสเค็มทุกชนิด ดังนั้นก่อนรับประทานกับข้าวใด ๆ ต้องชิมกับข้าวนั้น ๆ เสียก่อนโดยไม่ผสมกับข้าว เพื่อตรวจสอบว่า เค็มหรือไม่ ถ้าเค็มก็พยายามหลีกเลี่ยง.
หลังจากรับประทานอาหารตามแนวนี้อย่างจริงจัง จะสามารถพิสูจน์ด้วยตนเองว่า ความดันจะลดลง และทำให้สามารถลดขนาดยาหรืองดยาได้.
ดังนั้น คนที่เป็นความดันโลหิสูง ควรรับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นเองในบ้าน โดยพยายามไม่ปรุงแต่งอาหารด้วยเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว เพื่อให้คุ้นเคยกับอาหารที่จืด ๆ จนเป็นนิสัย. สำหรับคนอื่นในครอบครัวก็ควรเติมรสให้เข้มข้นตามความต้องการในจานอาหารของตนเอง.

ควรป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแดงเสียหายมากขึ้น
วิธีป้องกันไม่ให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเลื่อมลงก่อนเวลาอันควร ต้องควบคุมที่ความดันโลหิต อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และอารมณ์.
อาหารและเครื่องดื่มบางอย่างเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญมากในเรื่องการทำให้ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นผลให้หลอดเลือดมีไขมันหรือโคเลสเตอรอลไปพอกตัว จนทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดงลดลง และอาจรุนแรงถึงขั้นตีบหรือตันได้ในที่สุด.
งดอาหารที่มีอนุมูลอิสระเพราะอนุมูลอิสระจะทำลายผนังหลอดเลือดและก่อมะเร็ง. ควรรับประทานอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระทุกมื้อ.
เรื่องวิธีใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ในเรื่องของอนุมูลอิสระ อาหารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร วิตามิน สมุนไพร เครื่องดื่ม การออกกำลังกายที่ป้องกันความเสียหายของหลอดเลือดและลดความดันเป็นเรื่องค่อนข้างยาว. ผู้นำเสนอจะได้พยายามแบ่งเวลามานำเสนอให้ทราบตามโอกาสอันควร. เพื่อไม่ให้เสียโอกาศ จึงควรค้นหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอ.
สำหรับเรื่องของการควบคุมอารมณ์นั้น ขอเชิญแวะไปที่เว็บไซต์ของผู้นำเสนออีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะมีวิธีการง่าย ๆ ให้ท่านได้ฝึกบริหารอารมณ์ในชีวิตประจำวัน เป็นบริการฟรี โดยคลิกที่ //www.thai60.com

สรุป
คนที่เป็นความดันโลหิตสูงทุกคน ควรมีความรู้และความสามารถขั้นพื้นฐานในการวัดความดันและการควบคุมความดันของตนเองในชีวิตประจำวันให้มีความดันที่พอเหมาะ.
การพึ่งสติปัญญาของตนเองดังกล่าวแล้ว จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการป้องกันความรุนแรงของความดัน ความเสื่อมของร่างกาย โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการตีบ แตก ตันของหลอดเลือดแดง และประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ไม่มากก็น้อย.
การใช้ยาอย่างเดียวยังไม่พอเพียง ต้องควบคุมอาหาร การพักผ่อนอย่างเพียงพอ อารมณ์ และการออกกำลังกายเป็นประจำ.
ความสำเร็จในเรื่องนี้นั้น จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความเพียรในการเพิ่มความรู้และความสามารถของตนเอง อย่าไปรอคอย ความช่วยเหลือจากคนอื่น.

***********
Ref: com1




 

Create Date : 27 เมษายน 2554   
Last Update : 8 มิถุนายน 2554 10:30:20 น.   
Counter : 15278 Pageviews.  

วิธีต้มถั่วและงาของน.พ.เอกชัย

วิธีต้มถั่วและงาของน.พ.เอกชัย
โดย น.พ. เอกชัย จุละจาริตต์

ถั่วและงาเป็นอาหารชั้น ๑ ที่ทุกคนควรรับประทานทุกวันเพื่อสร้างเสริมสุขภาพ เพราะถั่วและงามีอาหารครบ ๕ หมู่ เช่น มีไขมันไม่อิ่มตัวหรือไขมันดี มีโปรตีน คาร์โบไฮเดรต วิตามิน แร่ธาตุ ที่ร่างกายนำไปใช้ในการซ่อมสร้างอวัยวะต่าง ๆ และไม่มีโคเลสเตอรอล.
ในยุคปัจจุบัน มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีไขมันในเลือดชนิดไม่ดีสูง เช่น มีโคเลสเตอรอล(LDL)และไตรกลีเซอไรด์ ซึ่งเป็นผลให้หลอดเลือดแดงตีบตันจากการมีไขมันไม่ดีไปจับตัวที่ผนังของหลอดเลือดแดง เป็นผลให้หลอดเลือดแดงตีบลง จึงทำให้การไหลเวียนของเลือดไม่ดี ทำให้หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อให้เลือดไหลผ่านหลอดเลือดที่ตีบตันอย่างเพียงพอที่จะไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ จนเป็นเหตุให้กลายเป็นโรคความดันโลหิตสูง และมีโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้นอย่างมากมาย เช่น เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจและสมองตีบตัน เป็นต้น. ครั้นเส้นเลือดตีบตันมากขึ้น ความเสื่อมโทรมของร่างกายก็จะมากขึ้นตามสัดส่วนและเวลาด้วย เพราะเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ลดลง.
การรับประทานถั่วและงาในสัดส่วนและปริมาณที่เหมาะสมจะช่วยป้องกันและลดปัญหาของไขมันในเลือดสูง จึงทำให้มีสุขภาพดี และมีอายุยืนยาว.

ความเป็นมาและวัตถุประสงค์
หลักการในการดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ คือ จะต้องตระหนักถึงความสำคัญของการระมัดระวังเรื่องของน้ำตาลและไขมันในเลือด เพราะในทางการแพทย์ เราถือว่า ผู้สูงอายุส่วนใหญ่เป็นเบาหวานและไขมันในเลือดสูงด้วยกันโดยถ้วนทั่ว. ผู้เขียนได้สังเกตเห็นความเปลี่ยนแปลงของผู้สูงอายุได้อย่างชัดเจนว่า ส่วนใหญ่ของผู้สูงอายุจะมีน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง ยิ่งอายุมาก ยิ่งมีโอกาสมาก และผู้ที่เป็นเช่นนี้ก็มักจะมีปัญหาทางด้านสุขภาพในรูปแบบต่างๆ ตามมาด้วย.
อาหารเป็นองค์ประกอบสำคัญมากของการสร้างเสริมสุขภาพ ขณะเดียวกัน ก็เป็นต้นเหตุของความเจ็บป่วยด้วย. ดังมีคำพูดอยู่ประโยคหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของสุขภาพกายว่า “ You are what you eat.“ โดยมีการประมาณการไว้ว่า ๙๐% ของความเจ็บป่วยมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ถูกต้อง.
ด้วยเหตุที่อาหารเป็นเรื่องที่สำคัญมาก จึงได้พยายามศึกษาเรื่องของอาหาร และการรับประทานอาหารเพื่อป้องกันและลดภาวะน้ำตาลและไขมันในเลือด โดยนำเอาความรู้มาทดลองปฏิบัติในชีวิตประจำวันเพื่อการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเอง.
การทดลองรับประทานถั่วและงาขาวด้วยตนเองเพียงลำพังคงจะไม่สนุกและไม่มีโอกาสศึกษาผลของผู้อื่น ขณะเดียวกัน คงจะทำได้ไม่นานนักเพราะอายุมากแล้ว. จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านทั้งหลาย มาทดลองศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง และแบ่งปันประสบการณ์ให้กันและกัน โดยไม่ต้องหลงเชื่อผู้อื่น.
ควรสบายใจขึ้นที่วงการอาหารและสุขภาพของประเทศไทยและนานาชาติยอมรับและแนะนำให้รับประทานถั่วและงาเป็นประจำ เพราะเป็นประโยชน์ต่อสุขภาพโดยตรง.

ชนิดของถั่วและงาที่แนะนำให้รับประทาน
ถั่วเหลืองเป็นถั่วที่ยอมรับกันทั่วโลกว่า เป็นอาหารที่ดี มีคุณค่าสูง มีองค์ประกอบของอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ และมีสัดส่วนใกล้เคียงกับเนื้อสัตว์มาก. ที่สำคัญมาก คือ ไขมันในถั่วเหลืองเป็นไขมันดี คือ ไขมันไม่อิ่มตัวเป็นส่วนใหญ่ และมีปริมาณหรือสัดส่วนของโปรตีนสูงเหมือนกับเนื้อสัตว์.
แต่การรับประทานถั่วเหลืองมากเกินไปก็อาจมีโทษ เพราะถั่วเหลืองมีพิวรีน ซึ่งเป็นสารเริ่มต้นที่จะไปเป็นกรดยูริก. คนที่เป็นเกาต์ไม่ควรรับประทาน แต่คนทั่วไปย่อมรับประทานได้.
หลายคนไม่เข้าใจเรื่องนี้ จึงไปคิดเอาเองว่า การรับประทานถั่วเหลืองจะทำให้เป็นเกาต์. ที่จริงแล้วถั่วเหลืองไม่ทำให้เป็นเกาต์ แต่ทำให้ผู้ที่เป็นเกาต์มีอาการของเกาต์รุนแรงขึ้น และผู้ที่มียูริคในเลือดสูงก็อาจจะมีโอกาสเป็นเกาต์ได้ ถ้ารับประทานมากและนาน. รวมความแล้ว คนที่ยังไม่เป็นเกาต์รับประทานถั่วเหลืองได้ แต่ไม่ควรรับประทานมากเกินไปเป็นเวลานาน.
ในถั่วเหลืองจะมีออกซาเลต. ดังนั้น การกินถั่วเหลืองมากเกินไปจะทำให้ปัสสาวะมี่ออกซาเลตออกมามากด้วย. ออกซาเลตที่ออกมาในปัสสาวะจำนวนมากจะจับกับแคลเซี่ยมในทางเดินปัสสาวะ ก็จะกลายเป็นตะกอนซึ่งเป็นสาเหตุของการเกิดนิ่วในทางเดินปัสสาวะได้. ดังนั้น การรับประทานถั่วเหลืองจำนวนมาก ควรรับประทานหลังอาหารทันทีเพื่อให้ออกซาเลตจับตัวกับแคลเซี่ยมในอาหารต่าง ๆ และตกตะกอนในทางเดินอาหาร ซึ่งจะไม่ถูกดูดซึม จึงถูกขับออกทางอุจจาระโดยไม่ไปตกตะกอนในทางเดินปัสสาวะ ซึ่งอาจเป็นสาเหตุของการเิกิดนิ่วก็ได้.
การรับประทานถั่วเหลืองหรือน้ำถั่วเหลืองจำนวนไม่มากเกินไป ก็สามารถรับประทานเมื่อใดก็ได้.
เพื่อป้องกันปัญหาต่าง ๆ เราจึงไม่ควรรับประทานถั่วเหลืองเพียงอย่างเดียว จึงขอแนะนำให้รับประทานถั่วเขียว ถั่วแดง และถั่วดำ หรือรับประทานถั่ว 4 สี เพื่อให้ได้อาหารและแร่ธาตุที่หลากหลาย รวมทั้งป้องกันสารพิษจากถั่วด้วย.
ในการรับประทานถั่วดังกล่าว ควรทำให้สุกเสียก่อน เพราะการรับประทานถั่วดิบจะได้รับสารพิษมากเกินไป.
เนื่องจากถั่วทั้ง 4 สีนั้น มีถั่วที่มีไขมันมากคือถั่วเหลือง ซึ่งเมื่อนำมารับประทานร่วมกับถั่วอื่นแล้ว ก็จะทำให้จำนวนไขมันที่รับประทานมีมากขึ้น.
ไขมันที่ดีมีประโยชน์ต่อร่างกายมาก เพราะทุกเซ็ลของร่างกายต้องการไขมันเพื่อการซ่อมสร้างและใช้งาน. เพื่อป้องกันปัญหาของการขาดไขมันจึงขอแนะนำให้ใช้งาขาวตราไร่ทิพย์ ซึ่งเข้าใจว่า ผลิตจากการนำเอางาดำมาขัดเอาเปลือกออก.
งาดำที่ขัดเอาเปลือกออกแล้วจนเป็นงาขาวนั้น เมื่อนำมาต้มจะย่อยง่ายกว่าที่ยังไม่ได้ขัดเอาเปลือกออก.
งาดำที่เอามาคั่วจนหอมนั้น เป็นการใช้ความร้อนสูง น้ำมันในงาดำก็จะเป็นไอระเหยและแปรรูปเป็นไขมันแปรรูป ซึ่งเป็นอันตรายต่อหลอดเลือด. ขณะเดียวกัน โปรตีน คาร์โบไฮเดรต(แป้ง) ไขมันและงาบางส่วนที่ถูกคั่วก็จะไหม้เกรียมจนเป็นกลิ่นหอม และมีอนุมูลอิสระเกิดขึ้น ครั้นรับประทานเข้าไป ก็จะเป็นสาเหตุให้เยื่อบุหลอดเลือดแดงเสียหายจนมีคราบไขมันมาเกาะ และยังเป็นสารก่อมะเร็งอีกด้วย.

สัดส่วนของถั่วที่นำมาต้ม
เมื่อศึกษาส่วนประกอบของถั่วต่าง ๆ และงาที่พิมพ์ไว้หลังถุงที่บรรจุนั้น จะพบว่า ส่วนประกอบในด้านไขมันและโปรตีนในถั่วอื่น ๆ ที่ไม่ใช่ถั่วเหลืองนั้น มีจำนวนน้อยกว่าถั่วเหลือง เพราะส่วนประกอบของถั่วแต่ละชนิดมีจำนวนไม่เท่ากัน.
ดังนั้น จึงควรศึกษาส่วนประกอบที่พิมพ์ไว้ที่ถุงใส่ถั่วให้เข้าใจเสียก่อน.
สัดส่วนในขั้นต้น คือ ให้ตวงถั่วและงาเท่ากันหมด คือ อย่างละ 1 ส่วน แล้วจึงเติมงาและถั่วเหลืองลงไปอีกอย่างละครึ่งส่วนเพิ่มขึ้นมาอีก เพื่อจะได้โปรตีนและไขมันอย่างเพียงพอ.
ล้างถั่วและงา 3 ครั้งแล้วแช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 4 ชั่วโมงเพื่อให้ถั่วพองน้ำ จะได้นุ่มและสุกง่ายขึ้นในเวลาต้ม.
การแยกงาออกมาล้างต่างหากทำให้การล้างง่ายขึ้น โดยการเอางามาใส่ในตาข่ายโลหะ(กระชอน) และปล่อยให้น้ำลาดหรือลดลงบนงา. ถ้าไม่แยกล้าง ก็ให้ล้างรวมกันแล้วเทเอาน้ำออกโดยเทผ่านตาข่ายดังกล่าวแ้ล้วก็ได้.
เมล็ดถั่วที่ลอยน้ำให้คัดทิ้ง เพราะอาจสกปรกหรือติดเชื้อรา.
นำถั่วมาต้มหรือหุงแบบข้าวก็ได้. ควรต้มจนน้ำเดือดแล้วหรี่ไฟให้ร้อนพอที่จะทำให้น้ำเดือดเบา ๆ 20 – 30 นาที หรือนานกว่านั้นถ้าต้องการความนิ่ม.
เมื่อต้มเสร็จแล้วไม่ต้องเทน้ำออก ให้รับประทานได้เลย ทำให้ไม่ฝืดคอ. เมื่อถั่วและงาเย็นแล้ว ให้เก็บไว้ในตู้เย็น.
ในการต้มถั่วและงาแต่ละครั้ง ควรเพียงพอสำหรับการรับประทานได้ 4 วัน. ถ้า 4 วันแล้วยังไม่หมด ก็ควรต้มซ้ำเพื่อฆ่าเชื้อโรค.

วิธีรับประทานถั่วและงา
โดยหลักการแล้ว เราต้องรับประทานอาหารครบทั้ง ๕ หมู่ในทุกมื้อ. เนื่องจากมื้อเช้ามีความสำคัญต่อสุขภาพมาก เพราะร่างกายขาดอาหารมาทั้งคืน ดังนั้นจึงควรรับประทานถั่วและงาเป็นอาหารเช้า ประมาณ 4-5 ช้อนโต๊ะแทนข้าว. ขณะเดียวกัน เป็นการลดภาระการหุงหาอาหารในตอนเช้า เราจึงใช้วิธีทานถั่วและงาจนเป็นนิสัย.
อาหารที่รับประทานคู่กับถั่วและ คือ นม เพื่อที่จะได้โปรตีนจากนมนั่นเอง. ถึงแม้ถั่วจะเป็นอาหารชั้น 1 แต่ถั่วไม่มีโปรตีนครบถ้วน จึงต้องการโปรตีนจากสัตว์จึงจะครบถ้วน. สำหรับผู้มี่มีไขมันในเลือดสูง ควรรับประทานนมไขมัน 0 เพื่อป้องกันไขมันในเลือดสูง.
แต่เนื่องจากร่างกายต้องการโปรตีน 1 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน จึงควรรับทานไข่ขาวต้มอีก 2 ฟองใหญ่. สำหรับผู้ที่มีไขมันในเลือดสูง ไม่ควรรับประทานไข่แดง และในไข่ขาวก็ไม่มีโคเลสเตอรอล.
อย่าลืมว่า ต้องเหลือกระเพาะไว้รับประทานผลไม้ด้วย สำหรับผักนั้น ให้ทานแนมไปกับถั่วและงาได้เลย.
สำหรับผู้ที่มีน้ำตาลในเลือดสูง อาจรับประทานผลไม้และผักก่อนรับทานข้าวจะช่วยให้การดูดซึมน้ำตาลในทางเดินอาหารช้าลง เป็นผลให้น้ำตาลไม่สูงอย่างรวดเร็ว.
ผู้ที่เป็นไขมันในเลือดสูงและเป็นเบาหวาน ไม่ควรดื่มน้ำผลไม้เพราะน้ำผลไม้เป็นน้ำตาลฟรุกโตสที่ย่อยได้ง่ายและรวดเร็ว จึงทำให้น้ำตาลในเลือดและไขมันในเลือดสูงขึ้น.

ทางเลือกในการรับประทานถั่ว
บางครั้งทานถั่ว งา และไข่ต้มมาหลายวันเข้า ก็มักจะเบื่อ จึงอาจหันมารับประทานข้าวโอ๊ตและข้าวซ้อมมือแทนเป็นครั้งคราวก็ได้ แต่คุณค่าทางอาหารนั้นต่างกับถั่วและงาอย่างมากมาย. บางครั้งอาจรับประทานไข่ดาวแทนไข่ต้มก็ได้ หรือเปลี่ยนจากไข่ต้มมาเป็นปลาซาดีน หรือปลาทูน่าบ้างก็ดี.
การโรยผงขมิ้นชันและผงโกโก้ลงไปด้วยจะช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ และได้รับประโยชน์อื่น ๆ จากขมิ้นชันและโกโก้ด้วย. การเติมน้ำมันมะกอกบริสุทธิ์มาก(extra virgin)ที่กลั่นเย็น 1 ช้อนโ๊ต๊ะลงไปด้วย จะช่วยให้ร่่างกายได้รับไขมันดีหรือไขมันไม่อิ่มตัวมากขึ้น.
ถ้ามื้อไหนที่อาหารมีโปรตีนและไขมันไม่เพียงพอ ก็ควรรับประทานถั่วและงาเสริมเข้าไปด้วย.
ในผู้สูงอายุ หรือผู้ที่รับประทานอาหารเย็นเร็ว ควรรับประทานถั่ว งา ประมาณ 2-3 ช้อนโต๊ะพูน และไข่ขาวต้มและหรือนมไขมัน 0 อีกครั้งตอนก่อนนอน เพื่อที่จะได้อาหารที่มีส่วนประกอบครบถ้วนไปหล่อเลี้ยงสมอง และซ่อมแซมร่างกายทั้งคืน.
ถั่วลิสงมีคุณค่าและมีไขมันชั้นดีเป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากเชื้อราขึ้นได้โดยง่าย จึงเกิดสารพิษที่ก่อให้เกิดมะเร็ง. ดังนั้น ถ้าอยากจะรับประทานถั่วลิสง ก็ควรต้มถั่วลิสงที่ปอกเปลือกแล้ว แนะนำว่า ควรรับประทานตราไร่่ทิพย์ เพราะเป็นบริษัทใหญ่ ที่สามารถประชาสัมพันธ์ในโทรทัศน์หลักได้. ไม่ควรรับประทานถั่วลิสงมาก และต่อเนื่อง.

ซื้อถั่วและงาได้ที่ไหน
ถั่วและงาขาวมีขายตามร้านของชำในตลาดสดและที่ซูปเปอมาร์เก็ต. การซื้อที่ตลาดสดมักจะมีครบ.
ควรซื้อตราไร่ทิพย์เพราะน่าไว้วางใจ แต่ถ้าไม่มีก็ซื้อของบริษัทอื่นได้.
ควรซื้อถั่วเหลืองและถั่วเขียวที่ยังมีเปลือกหุ้มอยู่ และถั่วอื่นก็เช่นกัน. เปลือกชั้นในของถั่วจะช่วยป้องกันเชื้อรา.
เวลาซื้อควรตรวจวันที่ผลิตและหมดอายุ โดยเฉพาะถั่วลิสงจะติดเชื้อราได้โดยง่าย ต้องให้ความระมัดระวังเป็นพิเศษ..
ไม่ควรซื้อถั่วลิสงที่อยู่ในถุงขนาดใหญ่ เพราะอาจจะมีเชื้อรากระจายไปทั่ว. ควรซื้อที่อยู่ในถุงหรือซองพลาสติกที่ปิดแน่น ลมไม่เข้า. ถั่วลิสงที่มีสีขาวเกินไปน่าจะเป็นถั่วที่ผ่านการฟอกสีและอาจเคลือบด้วยสารเคมีที่ป้องกันเชื้อรา ซึ่งอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพ.

***********
Ref: com1




 

Create Date : 21 เมษายน 2554   
Last Update : 24 เมษายน 2554 20:01:03 น.   
Counter : 14635 Pageviews.  

1  2  3  

satipanya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




เกิด พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นข้าราชการบำนาญ สนใจธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันพยายามศึกษาธรรมะและเผยแพร่ธรรมะเบื่องต้นอย่างง่ายๆ ในรูปแบบต่างๆ.
[Add satipanya's blog to your web]