คิดดีทำดีเป็นสุดยอดแห่งคุณธรรม

ปัญหาของพระพุทธศาสนาที่ต้องรีบแก้ไข





ปัญหาของพระพุทธศาสนา
ที่ต้องรีบแก้ไข

                                                                                           โดยนายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธและพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันนี้มีความรุนแรงมากจนถึงขั้นวิกฤต. คนไทยซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ นักการเมือง ประชาชนและชาวพุทธเป็นจำนวนมากมายขาดคุณธรรมอย่างรุนแรงจนถึงขั้นคิดชั่ว พูดชั่วและทำชั่วกันทั่วประเทศ รวมทั้งมีการทุจริตคอรัปชั่น เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่นสังคม ประเทศชาติ และมีการทำร้ายกันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและหมู่คณะจนดูหมือนเป็นเรื่องปรกติทั้ง ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ มีคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและยังเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก.

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องช่วยกันกำจัดปัญหาที่ชั่วร้ายต่างๆ ดังกล่าวแล้วให้หมดไป ด้วยการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อป้องกันและกำจัดสาเหตุให้หมดไป.

การขาดคุณธรรมเป็นสาเหตุของการทำความชั่วทั้งปวง

ปัญหาวิกฤตทางคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายต่างๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างตรงประเด็น เพราะผู้บริหาร คณะสงฆ์ และผู้รับผิดชอบอาจจะยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าสาเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวงมาจากการขาดความรู้และความสามารถทางคุณธรรมที่ถูกต้องในจิตใจของคนไทย.

เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธการจะแก้ปัญหาวิกฤติทางคุณธรรมจึงต้องแก้ด้วยการเพิ่มข้อมูลความรู้และความสามารถทางธรรมที่ถูกต้อง(บริสุทธิ์*)และครบถ้วนให้แก่ชาวพุทธเพื่อเป็นหลักธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อทำให้ชาวพุทธสามารถละชั่ว มุ่งทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์หรือทำตามโอวาทปฏิโมกข์.

หมายเหตุ: * หมายถึงข้อความที่ผู้เขียนเติมเข้าไปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นหรือเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน.

สาเหตุของวิกฤติทางคุณธรรมมีหลายสาเหตุและสาเหตุที่สำคัญและรุนแรงมากที่สุด คือหลักธรรมของพระพุทธศาสนาถูกเจือปนด้วยคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงเป็นผลให้ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องอริยสัจ๔ และไม่สามารถปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามความเป็นจริง ผลที่ได้รับคือชาวพุทธเป็นจำนวนมากมายคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว ขณะเดียวกันชาวพุทธกลับไปรู้เรื่องของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพร้อมทั้งเชื่อและปฏิบัติตนตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจนฟังแน่นในความจำ จึงทำให้ตนไม่สามารถปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมบริสุทธิ์หรืออริยสัจ๔ บริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน เป็นผลให้ไม่สามารถพัฒนาจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ตามหลักธรรมในอริยสัจ๔ บริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนา.

เมื่อไม่มีความรู้และความสามารถตามหลักธรรม(อริยสัจ๔)บริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนารวมทั้งมีความหลงเชื่อและงมงายในคติของศาสนาอื่นจึงทำให้ชาวพุทธจำนวนมากหลงทางจากอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ จนถึงขั้นคิดชั่ว(คิดโลภคิดโกรธ) เป็นผลให้พูดชั่วและทำชั่วอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หรือมี โลภโกรธ หลง นั่นเอง. จิตใจในขณะคิดชั่วจึงสกปรก ขุ่นมัวและไม่สามรถเข้าถึงความดับทุกข์(นิโรธ)ตามเป้าหมายของพระพุทธศาสนาและก่อให้เกิดการเบียนเบียนตนเอง ผู้อื่น สังคม และ ประเทศชาติซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ของชาวไทย.

สาเหตุที่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาถูกเจือปนด้วยคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ขอให้ผู้อ่านสังเกตว่าคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่กำลังจะกล่าวถึงนั้นได้เจือปนเข้ามาในพระพุทธศาสนาจนชาวพุทธส่วนใหญ่คิดว่า เป็นคติของพระพุทธศาสนา. ที่จริงแล้วหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือในอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์นั้น ไม่มีคติของศาสนาพราหมณ์อยู่เลยแม้แต่นิดเดียว.

เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปีกว่ามาแล้วหรือประมาณ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยันได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย และชาวอารยันยกย่องธรรมชาติขึ้นเป็นเทพเช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ท้องฟ้า พายุ ฝน เป็นต้น. โดยคนในยุคนั้นเชื่อกันว่า ความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับอำนาจของเทวะ(เทวดาหรือเทพ*).

ถ้าปรารถนาจะให้หรือไม่ให้เทพแสดงฤทธิ์เดชก็ต้องอ้อนวอนให้เทพอำนวยสิ่งที่ตนปรารถนาจึงเกิดมีพิธีอ้อนวอน เซ่น ไหว้ บวงสรวง สังเวย บูชายันต์และมีบุคคลผู้ทำพิธีการดังกล่าวเรียกว่า พราหมณ์.

ชาวอารยันยังเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วก็มีอำนาจเช่นเดียวกับเทพ คือ สามารถให้คุณและโทษแก่ลูกหลานจึงต้องสังเวยบวงสรวงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พ่อแม่ที่ไม่มีบุตรจะตกนรกชื่อปุตระ ถ้าไม่มีลูกชายทำพิธีเซ่นสรวงบูชาดวงวิญญาณของตน. ดังนั้นลูกชายจึงเป็นที่ปรารถนาของชาวชมพูทวีป(ดินแดนที่เป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาลและบังกลาเทศในปัจจุบัน*)มาจนทุกวันนี้.

ให้สังเกตว่าในยุคแรกหรือยุคอารยันของศาสนาพราหมณ์ก็มีเรื่องเทพที่อยู่ในสวรรค์และมีเรื่องของนรกหรือมีเรื่องของภพชาติและดวงวิญญาณแล้ว. ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อเช่นเดียวกับชาวอารยันว่า มีเทพเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สวรรค์ นรก และวิญญาณแต่ไม่เรื่องของความเชื่อดังกล่าวแล้วอยู่ในอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์แต่ประการใด. อริยสัจ ๔ บริสุทธิ์มีแต่เรื่องของทุกข์ สมุทัยนิโรธ มรรค และเป็นเรื่องของการดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ณ ปัจจุบันขณะเท่านั้นเอง.

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าศาสนาพราหมณ์ได้ปรับเปลี่ยนคติหรือความเชื่อเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์และกาลเวลาจึงเกิดการปรับปรุงคำสอนหรือคติในยุคต่อมา และในที่นี้จะกล่าวถึงยุคที่สำคัญเท่านั้น.

ยุคที่๒ คือ ยุคพระเวท เป็นยุคที่อยู่ในช่วงเวลาประมาณ ๙๕๗ - ๔๕๗ ปีก่อนพุทธกาล. ยุคพระเวทเกิดขึ้นเนื่องจากศาสนาพราหมณ์ในยุคอารยันได้เสื่อมลงตามลำดับ(เพราะเทพเจ้าทั้งหลายมีมนุษย์ตั้งขึ้นมาโดยชาวอารยันไม่สามารถแก้ปัญหาให้คนในยุคอารยันได้หรือเป็นเรื่องที่ไม่จริง*)จึงเป็นเหตุให้ต้องปรับปรุงคติเดิมให้เป็นคติใหม่.

ยุคพระเวทได้ปรับเปลี่ยนให้มีพระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุดเหนือเทพเจ้าทั้งหลายการปรับปรุงในครั้งนี้ ได้จัดแบ่งเทพเจ้าต่าง ๆ เป็น ๓ หมวดเรียงตามลำดับ คือพวกที่หนึ่งอยู่บนสวรรค์ ได้แก่ วรุณ(ฝน = ไทยเรียก พระพิรุณ)สูรย์(พระอาทิตย์) โสมะ(พระจันทร์) อุษา(แสงเงินแสงทอง) เป็นต้น. พวกที่สองอยู่บนฟ้า เป็นเทวดาประจำอากาศ ได้แก่ อินทระ(พระอินทร์ =พุทธบางคน* เรียกว่า ท้าวสักกะ เจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์) มารุต(ลม)เป็นต้น พวกที่สามอยู่บนพื้นโลกเป็นเทวดาประจำแผ่นดิน ได้แก่ อัคนี(ไฟ) ปฤถวี(แผ่นดิน) และยม(พระยมหรือเทพเจ้าแห่งนรกและความตาย) เป็นต้น. ในยุคพระเวทนี้นับถือพระอินทร์ว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด มีสายฟ้าเป็นอาวุธ สามารถทำลายศัตรูให้พินาศราบคาบลงได้ชั่วพริบตา”. เนื้อหาหลักในการจัดแบ่งเทพเจ้ามาจาก: //allknowledges.tripod.com/brahmin.html

ให้สังเกตว่า มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเลยยังเชื่อเรื่องพระอินทร์พระยม และบางหน่วยงานเอาพระอินทร์มาเป็นสัญลักษณ์ทั้ง ๆ ที่เป็นคนละศาสนากัน.

ยุคที่๓ คือ ยุคพราหมณะ เป็นยุคที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณก่อนพ.ศ. ๒๕๗ถึงพ.ศ. ๔๓. ยุคพราหมณะเกิดขึ้นเพราะศาสนาพราหมณ์ในยุคพระเวทเสื่อม(ด้วยเหตุผลเดิม*)จึงต้องปรับปรุงคัมภีร์พระเวทและเป็นผลให้เกิดคำสอนใหม่ซึ่งน่าจะถูกเขียนขึ้นโดยพราหมณ์โดยยกเลิกเรื่องพระอินทร์และเทพเจ้าทั้ง ๓ และปรับเปลี่ยนให้มีเทพเจ้าเพียงองค์เดียว คือ พระเป็นเจ้าหรือพระพรหมซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในทุกเรื่องของโลกนี้ โลกหน้า เป็นผู้ที่สร้างโลกรวมทั้งเทพเจ้าทั้งหลายมนุษย์ และเป็นผู้ขีดชะตาชีวิตให้ เรียกว่าพรหมเนรมิต และพรหมลิขิต.

ให้สังเกตว่า ในยุคปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเลยที่เคารพพระพรหมและขอความช่วยเหลือจากพระพรหม. มีบ้าน อาคาร สถานที่ราชการตั้งศาลพระพรหมเอาไว้เพื่อเคารพสักการะและขอความช่วยเหลือซึ่งไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนาแม้แต่นิดเดียว.

ยุคที่ ๔คือ ยุคฮินดูเป็นยุคที่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาและพระพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยคติของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์-ฮินดูอย่างรุนแรงที่สุด.

ในยุคฮินดูได้มีการปรับเปลี่ยนคติจากยุคพราหมณะ คือ ให้มีเทพเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียวแต่ได้อวตารแยกร่างออกมาเป็น ๓ องค์คือ พระพรหมเป็นพระผู้สร้างโลก พระศิวะเป็นผู้ทำลาย และพระวิษณุเป็นผู้ปกป้องและรักษาโลกเมื่อเทพเจ้าทั้ง ๓ องค์รวมกันแล้วเรียกว่า "ตรีมูรติ" จากการปรับเปลี่ยนคติของศาสนาพราหมณ์มาเป็นฮินดู จึงเรียกรวมกันว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู.

ในยุคนี้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้ปรับเปลี่ยนคติที่มีผลต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากโดยประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์ตาลของพระวิษณุ และพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงที่สุดจากการถูกครอบงำด้วยคติดังกล่าว.

ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเลยที่เชื่อเรื่องของพระพรหมพระศิวะ พระวิษณุ เชื่อเรื่องพญานาคซึ่งเป็นที่บรรทมของพระวิษณุจนเอาพญานาคมาเป็นร่มและที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้าอีกทั้งยังประดับไว้ที่หลังคา บันไดในวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ. การเชื่อว่า พญา ครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระวิษณุจนเอารูปครุฑมาเป็นตราประทับของทางราชการทั้ง ๆ ที่เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด.

ในพิธีกรรมใหญ่และสำคัญชาวไทยมักจะเอาพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์เข้ามาร่วมด้วยทั้งๆ ที่ผู้จัดงานเป็นชาวพุทธและคนที่เข้าร่วมพิธีกรรมก็ล้วนเป็นชาวพุทธด้วย. คติและพิธีกรรมดังกล่าวแล้วไม่มีอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแต่ประการใดแต่ชาวพุทธก็ยังหลงเชื่อกัน และไม่เห็นมีใครคิดที่จะลงมือชี้แจงให้ชาวพุทธด้วยกันได้รับทราบข้อเท็จจริงและแก้ไขเพื่อความถูกต้อง.

พิธีกรรมที่ไม่มีอยู่ในข้อปฏิบัติหรือในมรรคมีองค์๘ รวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ ที่เจือปนเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างมากมายแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้มีการบ่อนทำลายพระธรรมหรืออริยสัจ ๔ บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากยิ่งขึ้น.

การเชื่อในเรื่องที่ไม่สามรถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและหรือโดยสาธารณะเรียกว่าความหลงเชื่อ และการปฏิบัติตนตามที่ตนได้หลงเชื่อเรียกว่า ความงมงาย. ความหลงเชื่อและงมงายเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความจริงอันประเสริฐ(อริยสัจ๔ บริสุทธิ์).

ชาวพุทธที่ยังทำพิธีกรรมต่าง ๆที่ไม่เป็นไปตามมรรคมีองค์ ๘ รวมทั้งยังหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆจึงเป็นชาวพุทธเทียมที่ไม่สามารถเข้าถึงความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ณ ปัจจุบันขณะและยังมีส่วนในการบ่อนทำลายพระธรรมบริสุทธิ์และพระพุทธศาสนาอีกด้วย.

การแตกแยกทางความคิดของชาวพุทธ

พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อราวพ.ศ. ๖๐๐ - ๗๐๐ โดยคณะสงฆ์ที่มีความเห็นต่างจากนิกายเดิม คือนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายที่ยึดถือพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นหลัก. คณะสงฆ์ที่แยกออกมาเป็นนิกายใหม่เรียกกลุ่มของตัวเองว่ามหายาน เป็นนามซึ่งตั้งขึ้นเพื่อแสดงว่า นิกายมหายานสามารถช่วยให้สัตว์ข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้มาก(วัฏฏสงสารหรือการเวียนว่ายตายเกิดจากผลแห่งกรรมซึ่งเป็นคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูส่วนพระพุทธศาสนามีแต่เรื่องของทุกข์และความดับทุกข์ ณปัจจุบันขณะของชาติปัจจุบันเท่านั้น*). (ข้อมูลจาก: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมหายาน ของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลโดยปรับภาษาเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น.)

นิกายมหายาน คำว่า “มหายาน” แปลว่า ยานใหญ่. คำว่า “นิกายมหายาน” แปลว่า “นิกายที่เป็นเหมือนยานขนาดใหญ่ที่ขนคนไปถึงความดับทุกข์(พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู*)ทีละมากๆ”

นิกายเถรวาท คือนิกายที่พยายามรักษาพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาลไว้.

นิกายมหายานได้ปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัยขึ้นมาใหม่โดยเน้นเรื่องของกรรมและการข้ามภพข้ามชาติตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเช่น นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิดจากผลแห่งกรรม พระโพธิสัตว์ การสร้างและสะสมบารมีเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้ามีหลายพระองค์ หลังการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่ในโลกนี้แล้วก็ทรงดำรงอยู่ตลอดไปหรือไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ แดนนิพพาน เป็นต้น.

ปัจจุบันมีชาวพุทธซึ่งหมายรวมถึงภิกษุจำนวนไม่น้อยเลยที่มีความเชื่อของทั้ง๒ นิกายโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้ว่านิกายใดที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะไม่เคยตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและหรือโดยสาธารณะซึ่งก็มีส่วนในการบ่อนทำลายพระธรรมและพระพุทธศาสนาเช่นกัน.

นิกายเถราวาทเป็นนิกายของคณะภิกษุไทย ศรีลังกา พม่า ลาวเขมร เป็นต้น และนิกายมหายานเป็นนิกายของคณะภิกษุธิเบตมงโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น ใต้หวัน ฮ่องกง จีนเป็นต้น. ชาวพุทธส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน.

คติของชาวพุทธถูกเปลี่ยนไปเป็นความหลงเชื่อและงมงาย

ในสมัยพุทธกาลพระเทวทัตพยายามจะปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าถึงขั้นแยกตัวออกจากพระพุทธเจ้าเพราะมีอวิชชา(หลง)ครอบงำจิตใจซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ในสมัยพุทธกาลภิกษุก็ยังมีการแตกแยกทางความคิดเพราะมีความหลง(อวิชชา)ครอบงำจิตใจ.

ครั้นพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วและเวลาได้ผ่านไปนานมากขึ้นเรื่อย ๆ การแตกแยกทางความคิดย่อมเกิดมากขึ้นตามสัดส่วนด้วยจึงไม่แปลกอะไรเลยที่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาจะถูกเจือปนด้วยคติของศาสนาอื่นพิธีกรรม รวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นตามลำดับ เพราะมีการต่อยอดของความหลง(อวิชชา)ในชาวพุทธมากขึ้น.

เมื่อชาวพุทธไปยึดเอาคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาเป็นคติของศาสนาพุทธด้วยความหลงเชื่อและงมงายรวมทั้งนำเอาไปปฏิบัติด้วย จึงทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิด จนมีการแยกตัวออกมาจากชาวพุทธดั้งเดิม(นิกายเถรวาท)ที่มีอริยสัจ๔ บริสุทธิ์เป็นหลักธรรมและข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์.

กลุ่มที่แยกตัวออกมาตั้งตัวเป็นนิกายมหายานที่มีคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเจือปนอยู่เป็นจำนวนมากมาย เช่น การเวียนว่ายตายเกิดกฎแห่งกรรม นรกสวรรค์ ความเป็นอมตะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพ เทพเจ้า ไสยศาสตร์ พิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น.

บุคคลที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจือปนด้วยความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ น่าจะเป็นภิกษุในอดีตและปัจจุบันที่มีอวิชชาครอบงำหรือยังหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ รวมทั้งต้องการผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จึงแยกตัวออกมาจากนิกายเถรวาทหรือไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยบริสุทธิ์(พระธรรมคืออริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ พระวินัยคือศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์ของภิกษุ.)

ทุกวันนี้ภิกษุที่กำลังอยู่ในสังกัดของนิกายเถรวาทที่ยังมีความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ อยู่ ก็มักจะสอดแทรกความหลงเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ของตนงมงายเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาด้วยอวิชชาหรือความหลงที่ครอบงำความคิดอยู่หรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและหมู่คณะจนนิกายเถรวาทถูกปรับเปลี่ยนเป็นนิกายที่มีความหลงเชื่อในเรื่องต่างๆ เจือปนเข้ามาอย่างมากมาย.

ปัจจุบันส่วนใหญ่ของชาวพุทธมากกว่าร้อยละ๙๐ หลงทาง* เพราะมีอวิชชา(หลง)จึงเกิดการคิดโลภ โกรธ ตัณหา และอุปาทานเป็นผลให้เกิดการพูดและการทำความชั่วต่าง ๆ นา นา ถึงขั้นมีวิกฤตทางคุณธรรม.

วิธีแก้ปัญหาวิกฤตทางคุณธรรม

คณะสงฆ์ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาและคุณธรรมรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมของคนทั้งชาติให้ฝังใจว่าจะดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาโดยไม่หลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ ตลอดไปพร้อมทั้งฝึกให้คนทั้งชาติรู้จักการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองรวมทั้งโดยสาธารณะจนเป็นนิสัยเพื่อป้องกันและกำจัดความหลงเชื่อและงมงายของชาวไทยให้ลดลงหรือหมดไป.

ครู อาจารย์ ผู้บริหารและผู้ที่รับผิดชอบโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนคุณธรรมทุกแห่งควรรับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ แล้วพยายามสั่งสอนและฝึกอบรมให้นักเรียนรู้จักใช้สติปัญญาในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและโดยหมู่คณะเพื่อป้องกันและกำจัดความหลงเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ให้หมดไป.

ศาสนิกชนของทุกศาสนาในประเทศไทยควรได้รับการฝึกอบรมให้สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและโดยสาธารณะในทุกเรื่องเพื่อคัดกรองเอาแต่หลักธรรมบริสุทธิ์หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆออกมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม และประเทศชาติและเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวโลกด้วย.

ในเรื่องหลักธรรมหรือคำสอนของศาสนาและลัทธิต่างๆ ที่ได้รับรู้มา เราจะต้องไม่หลงเชื่อโดยเด็ดขาด เพราะทุกวันนี้ความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ ที่เจือปนในหลักธรรมของศาสนาต่าง ๆ เป็นต้นเหตุของการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วจนถึงขั้นทำลายล้างกันอย่างไม่จบสิ้นจนเกิดวิกฤติทางคุณธรรมระดับโลกบางศาสนาสอนให้คนหลงเชื่อและงมงายอย่างรุนแรงจนถึงฆ่ากันเองถึงแม้จะนับถือศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกาย.

ชาวโลกจึงควรเลิกการหลงเชื่อและงมงายพร้อมทั้งมีสติปัญญาหรือมีความรู้และความสามารถในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและหรือโดยสาธารณะ. วิธีนี้จะทำให้สามารถคัดกรองหลักธรรมที่เป็นความจริงและบริสุทธิ์ออกมาเป็นประโยชน์และเป็นการแก้ปัญหาวิกฤติทางคุณธรรมของประเทศไทยและชาวโลกอย่างตรงประเด็น.

ยิ่งทำให้ชาวไทยและชาวโลกสามารถใช้สติปัญญาโดยไม่หลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ มากขึ้นเท่าใด จิตใจก็จะบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่นพ้นจากความชั่วและความทุกข์ได้มากขึ้นตามสัดส่วนด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้ชาวไทยและโลกสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสุขสงบมีความเจริญ และมั่นคง.

**********

กรุณาอ่านรายละเอียดได้ www.thai60.com ในเรื่องอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ ตอน “ความหลงเชื่อและงมงายต่าง ๆ ที่เจือปนเข้าในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา” และมีข้อมูลทางธรรมที่ผู้เขียนได้คัดกรองออกมาจนบริสุทธิ์ตามสมควรสำหรับ ให้ท่านได้ศึกษาในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย.




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 21:02:39 น.   
Counter : 1118 Pageviews.  

พุทฑแท้ พุทธเทียม







พุทธแท้ พุทธเทียม

                                                               โดย นายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์

หลังการตรัสรู้เรื่องอริยสัจ ๔ของท่านสมณโคดมแล้ว พระองค์ถูกขนานพระนามหรือถูกเรียกโดยชาวอินเดียว่า “พุทธะหรือพุทธ”  ซึ่งมักจะแปลกันว่า “ผู้ตรัสรู้ ผู้ตื่นแล้ว ผู้เบิกบานแล้ว”.  คนไทยนิยมเรียกพระองค์ท่านว่า “พระพุทธเจ้า”. คำว่า “พระพุทธเจ้า” แปลว่า (พระ*)ผู้ตรัสรู้(อริยสัจ ๔*)แล้ว. ส่วนคำว่า “ผู้ตื่น” ผู้เขียนคิดว่าน่าจะเป็นคำที่ขยายความคำว่า “พุทธะ” คือพระองค์ท่านมีพระสติปัญญาในการป้องกันและกำจัดรากเหง้าของกิเลสหรืออกุศลอย่างต่อเนื่อง  ส่วนคำว่า “เบิกบาน”น่าจะเป็นคำที่ขยายความต่อไปว่า ทรงมีพระทัยเบิกบานทางธรรม คือทรงไม่เป็นทุกข์จากรากเหง้าของกิเลสหรืออกุศลทั้งปวงนั่นเอง.  คำว่า “ผู้รู้, ผู้ตื่น,ผู้เบิกบาน” จึงเป็นคุณสมบัติของพระอรหันต์ทั้งหลายที่มีจิตใจที่บริสุทธิ์เป็นบุคคลที่ประเสริฐสุด และเข้าถึงความดับทุกข์ ณ ปัจจุบันขณะตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในอริยสัจ ๔*.

หมายเหตุ :  *หมายถึงข้อความที่ผู้เขียนเติมเข้าไปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นหรือเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน.

ในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า“ภิกษุในธรรมวินัย” และยังไม่มีคำว่า “พระพุทธศาสนา”.  ภายหลังพุทธกาลมีคำว่า “พระพุทธศาสนา” เกิดขึ้น ซึ่งแปลว่า ศาสนาของพระผู้ตรัสรู้เรื่องอริยสัจ๔* หรือศาสนาของพระพุทธเจ้า*. 

หลังการตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วทรงตรัสสอนเรื่องที่พระองค์ท่านตรัสรู้ คือ เรื่องอริยสัจ ๔ เป็นหลัก เพื่อจะได้ไม่ทรงเสียเวลาไปกับการตรัสสอนเรื่องอื่นๆ ที่ไม่ใช่เพื่อความดับทุกข์.  ประเด็นสำคัญ คือ อริยสัจ ๔ที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนในสมัยพุทธกาลเป็นอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ เพราะไม่เจือปนด้วยความหลงเชื่อและงมงายแต่ประการใด.

การศึกษาเรื่องอื่น ๆ ที่ไม่ใช่อริยสัจ ๔บริสุทธิ์ จึงเป็นสาเหตุให้เสียเวลา ค่าใช้จ่าย และอาจหลงทางตลอดชีวิตได้โดยง่าย.   ในทางตรงกันข้าม การศึกษาอริยสัจ ๔บริสุทธิ์และปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่องย่อมสามารถเข้าถึงความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ได้อย่างตรงประเด็นและโดยง่ายเช่นเดียวกับสาวกของพระพุทธเจ้าในสมัยพุทธกาลซึ่งเป็นเรื่องของการมีและใช้สติปัญญาทางธรรมในเรื่องอรินสัจ ๔ บริสุทธิ์  ไม่เกี่ยวกับพิธีกรรม การหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ แต่ประการใด. ในอริยสัจ ๔ มีข้อปฏิบัติเพียง ๘ข้อเท่านั้นเอง คือ มรรคมีองค์ ๘ และไม่มีเรื่องของพิธีกรรมแต่ประการใด.

การจะเป็นชาวพุทธในสมัยพุทธกาลได้นั้นต้องได้ฟังธรรมเรื่องอริยสัจ ๔ จนมีพื้นฐานความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ และรู้วิธีฝึกปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมในอริยสัจ๔ หรือตามมรรคมีองค์ ๘ ได้ตามสมควรเสียก่อน. ครั้นมีศรัทธาที่จะศึกษาอริยสัจ ๔และปฏิบัติธรรมต่อไปเพื่อเข้าถึงความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔  จึงประกาศตนว่า เป็นชาวพุทธหรือเป็นชาวพุทธแท้.

ชาวพุทธแท้ คือผู้ที่มีความรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔บริสุทธิ์อย่างเพียงพอที่จะปฏิบัติธรรมและประเมินผลของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง.  ในชีวิตประจำวัน ชาวพุทธแท้ต้องศึกษาอริยสัจ ๔และปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ เป็นประจำ.

อริยสัจ ๔ที่พระอรหันต์ท่านสอนนั้นเป็นอริยสัจ ๔บริสุทธิ์เพราะไม่เจือปนด้วยคำสอนของศาสนาอื่น นิกายอื่น พิธีกรรมรวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ แต่ประการใดจึงทำให้ชาวพุทธในสมัยพุทธกาลที่ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายสามารถพัฒนาจิตใจของตนเองให้เป็นชาวพุทธแท้หรือชาวพุทธที่ประเสริฐ หรืออริยบุคคล ที่สามารถเข้าถึงความดับทุกข์ได้ทันทีในขณะที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน.

ขอให้กำลังใจว่าชาวพุทธในยุคปัจจุบันที่เป็นชาวพุทธแท้ทุกคนย่อมสามารถเข้าถึงความดับทุกข์ ณปัจจุบันขณะได้เช่นเดียวกันกับชาวพุทธแท้ในสมัยพุทธกาล. หนังสือทุกเล่มของผู้เขียนได้มุ่งตรงไปในเรื่องของอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ก็เพื่อให้ผู้อ่านได้แนวทางในการเป็นชาวพุทธแท้นั่นเอง.

อริยสัจ ประกอบด้วย อริย+สัจ.  อริย-, อริยะ แปลว่า ประเสริฐ.  สัจ แปลว่า ความจริง. อริยสัจ แปลว่าความจริงอย่าง(ที่*)ประเสริฐ.

อริยสัจ ๔หรือความจริงที่ประเสริฐ ๔ ที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้และตรัสสอนนั้น มี ๔อย่าง(องค์ธรรมหรือองค์ประกอบหลัก) คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค เท่านั้นเอง.

อริยสัจ ๔ที่กำลังนำเสนออยู่นี้เป็นความจริงที่คนทั่วไป(คนปรกติ)สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องหลงเชื่อผู้อื่น.  ผู้เขียนพยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาเจือปนด้วยเนื้อหาของศาสนาอื่นนิกายอื่น พิธีกรรม รวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ แม้แต่นิดเดียว.  การนำเสนอเรื่องอริยสัจ ๔บริสุทธิ์ของผู้เขียนอาจผิพลาดไปบ้างเพราะผู้เขียนไม่ได้เป็นพระอรหันต์.

ชาวพุทธเทียม คือ ผู้ที่ไม่มีความรู้ในเรื่องอริยสัจ๔ บริสุทธิ์ หรือมีความรู้ที่ไม่ถูกต้อง ไม่ครบถ้วน และไม่เพียงพอที่จะสามารถปฏิบัติธรรมรวมทั้งประเมินผลของการปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง.  ผู้เขียนคาดว่า มากกว่าร้อยละ ๙๐ ของชาวพุทธไทยยังเป็นชาวพุทธเทียมอยู่.

ในชีวิตประจำวัน ชาวพุทธแท้ต้องศึกษาอริยสัจ ๔บริสุทธิ์ และปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ เป็นประจำครั้นหยุดเมื่อใดก็ขาดจากความเป็นชาวพุทธแท้ ถ้าหยุดนานเท่าใดก็จะขาดจากความเป็นพุทธแท้หรือกลายเป็นชาวพุทธเทียมนานเท่านั้น.  ครั้นชาวพุทธเทียมกลับมาศึกษาและปฏิบัติธรรมอย่างถูกต้องตามหลักธรรมในอริยสัจ๔ บริสุทธิ์ด้วยความตั้งใจ ชาวพุทธเทียมคนนั้นก็จะกลับมาเป็นชาวพุทธแท้เช่นเดิม.

ปัญหาสำคัญที่สุดของพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันซึ่งห่างไกลจากสมัยพุทธกาลมานานกว่า๒,๕๐๐ ปีมาแล้ว คือ การที่มีคำสอนของศาสนาอื่น ของนิกายอื่น พิธีกรรมรวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆเจือปนเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างมากมายและมากขึ้นตามลำดับจนทำให้เกิดความเสียหายแก่ชาวพุทธ ชาวโลก(มนุษยชาติ)และบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากการกระทำของชาวพุทธที่มีความหลง(อวิชชา)ครอบงำความคิดนี่เอง. ปัญหาต่าง ๆ ดังกล่าวแล้วทำให้หลักธรรมของพระพุทธศาสนาไม่บริสุทธิ์มากขึ้นเรื่อง ๆ จึงทำให้จำนวนชาวพุทธแท้ลดลงและชาวพุทธเทียมเพิ่มจำนวนมากขึ้นตามลำดับ.

ชาวพุทธมากกว่าร้อยละ ๙๐*มีความหลงเชื่อและงมงายไปตามเนื้อหาต่าง ๆที่เจือปนเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาด้วยความศรัทธาจึงอาจทำให้ชาวพุทธส่วนมากเสียโอกาสที่จะเข้าถึงความจริงที่ประเสริฐ(อริยสัจ ๔บริสุทธิ์) เป็นผลให้ไม่สามารถป้องกันและดับทุกข์ตามหลักธรรมในอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์รวมทั้งยังเป็นการบ่อนทำลายความมั่นคงของพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องอีกด้วย.

การจะทำให้ชาวพุทธเทียมกลับมาเป็นชาวพุทธแท้ได้นั้นชาวพุทธทุกคนต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวข้องกับเรื่องของปัญหาต่าง ๆ  ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาทั้งในอดีตและปัจจุบันรวมทั้งต้องมีความสามรถในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเองโดยไม่หลงเชื่อผู้อื่นโดยเด็ดขาด.  จึงขอถือโอกาสนี้เชิญชวนท่านผู้อ่านได้โปรดศึกษาเรื่องความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ ที่เจือปนเข้าในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาใน มีหนังสือเรื่องพุทธแท้ และอีกหลายเล่มที่ผู้เขียนจัดทำขึ้น ซึ่งมีเนื้อหาที่เป็นอริยสัจ ๔บริสุทธิ์ให้ท่านได้ทดลองศึกษาดู.

ครู อาจารย์ ผู้บริหารและผู้ที่รับผิดชอบโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนคุณธรรมแนวพุทธทุกแห่งควรพยายามสั่งสอนและฝึกอบรมให้นักเรียนรู้จักใช้สติปัญญาในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและโดยหมู่คณะเพื่อป้องกันและกำจัดความหลงเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ให้หมดไปจะได้สามารถคัดกรองเอาหลักธรรมที่บริสุทธิ์ออกมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น ชาวโลกและทำให้พระพุทธศาสนามีความมั่นคงสืบต่อไป.

ก่อนที่จะศึกษาเรื่องอริยสัจ๔ บริสุทธิ์ก็ควรที่จะรู้จักกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับพระพุทธศาสนาในยุคต่าง ๆเพื่อจะได้ใช้เป็นข้อมูลสำหรับการคัดกรองอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ออกจากความหลงเขื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ ที่เจือปนอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา ซึ่งมี ๓ ตอน คือ ตอนที่ ๑หลักการในการศึกษาธรรมและหลักธรรมขั้นพื้นฐานของอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์.  ตอนที่ ๒ คติของศาสนาอื่น นิกายอื่น พิธีกรรมรวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆที่เจือปนเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา. ตอนที่ ๓ ปัญหาในเรื่องต่าง ๆในวงการพระพุทธศาสนาที่ต้องการแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง. ทั้ง ๓ตอนนี้มีรายละเอียดอยู่ในหนังสือเรื่อง อริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ ตอน “ความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆที่เจือปนเข้าในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา “ ซึ่งอยู่ในเว็บไฃต์ของผู้เขียน.

     ***********

กรุณาอ่านรายละเอียดในเรื่องอริยสัจ๔ บริสุทธิ์ ตอน “ความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆที่เจือปนเข้าในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา”และมีข้อมูลทางธรรมที่ผู้เขียนได้คัดกรองออกมาจนบริสุทธิ์ตามสมควรสำหรับให้ท่านได้ศึกษาในรูปแบบต่างๆ ได้ที่ www.thai60.com




 

Create Date : 12 กรกฎาคม 2560   
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 20:52:28 น.   
Counter : 726 Pageviews.  

คิดดี ทำดี ตามพระราชดำรัส เป็นวิธีปรองดองอย่างตรงประเด็นที่สุด


ปัญหาที่รุนแรงและเลวร้ายเป็นอย่างมากของประเทศไทยในขณะนี้ คือ การแตกความสามัคคีของคนในชาติอย่างรุนแรงและกว้างขวาง ตั้งแต่ระดับนักการเมืองผู้บริหารประเทศจนถึงระดับรากหญ้า ซึ่งเป็นอันตรายต่อความเจริญ ความมั่นคง ความผาสุกของประชาชนและประเทศชาติ.
การแตกความสามัคคีอย่างเลวร้ายเช่นทุกวันนี้ ไม่ควรที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะประเทศไทยได้ชื่อว่า เป็นเมืองยิ้ม เมืองพุทธ และยังเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาในโลกนี้ด้วย. 
การจะแก้ปัญหาได้นั้น จะต้องแก้ที่สาเหตุอย่างตรงประเด็น.  สาเหตุที่สำคัญและตรงประเด็นที่สุด คือ การขาดคุณธรรมอย่างรุนแรงของคนไทยเป็นจำนวนมากนั่นเอง ซึ่งเกิดจากการคิดไม่ดี หรือคิดชั่ว หรือคิดอกุศล หรือคิดเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.
วิธีแก้อย่างตรงประเด็นที่สุดและตรงตามตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและตามหลักธรรมของพระพุทธเจ้า คือ การมีสติไม่คิดชั่ว ไม่พูดชั่ว ไม่ทำชั่ว และให้มีสติคิดดี พูดดี ทำดี เพื่อทำจิตใจของตนให้บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่องชั่วชีวิตนั่นเอง (โอวาทปาฏิโมกข์). 
การจะทำให้คนไทยคิดดี พูดดี และทำำดีได้นั้น ต้องรณรงค์และทุ่มเทการฝึกอบรมให้คนทั้งชาติ โดยเฉพาะนักการเมืองและนักปลุกระดมหลายคนที่เป็นหัวหน้าใหญ่ที่ปลุกระดมให้คนในชาติมุ่งคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดีต่อกัน ให้เลิกละความชั่วทั้งปวงด้วยการฝึกมีสติคิดดี เพื่อที่จะพูดดี ทำดี.  ถ้าทำได้มากเท่าใด ความปรองดองในชาติก็จะเกิดขึ้นมากเท่านั้น.  ถ้าไม่แก้ที่คุณธรรม โอกาสที่จะปรองดองก็จะกลายเป็นเรื่องยากมาก ๆ หรือเป็นไปไม่ได้ หรืออาจเลวร้ายเป็นช่วง ๆ  ดังที่ได้เคยเกิดขึ้นแล้ว.
ผมได้พยายามมีส่วนในการแก้ปัญหาดังกล่าวตามแนวที่ถนัด ด้วยการเขียนหนังสือเพื่อเสนอแนวความคิดให้สาธารณชน และได้แจกจ่ายไปในวงการต่าง ๆ ตั้งแต่ ปี พ.ศ.๒๕๔๗  ด้วยการตีพิมพ์หนังสือ ๔ เรื่องตามลำดับ ซึ่งทุกเรื่องจะมีทั้งภาคทฤษฎี ปฎิบัติ และประเมินผล ได้แก่เรื่อง :-
๑. เรื่อง วิธีบริหารความคิดให้ คิดดี ทำดี ตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ก็เพื่อให้คนไทยมีสติคิดดี ทำดีด้วยกาย วาจา ใจ หรือคิดแต่กุศลเพื่อทำแต่กุศล อันจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อตนเอง ผู้อื่น และประเทศชาติ.  ๒. เรื่อง ความฉลาดทางอารมณ์แนวภูมิปัญญาไทย ก็เพื่อขยายความเรื่องคิดดีทำดีเข้าสู่วงการศึกษา ครู อาจารย์ และเยาวชน ซึ่งเป็นเรื่องต้องทำระยะยาวและต่อเนื่อง. ๓. เรื่อง อ๋อ พุทธแท้ เป็นเช่นนี้เอง !  ก็เพื่อแก้ปัญหาวิกฤติทางคุณธรรมจากชาวพุทธเทียมที่คิดไม่ดี ทำไม่ดี กลับมาเป็นชาวพุทธแท้ เพื่อเลิกลาการคิดไม่ดี พูดไม่ดี และทำไม่ดี มาเป็นคิดดี พูดดี ทำดี และมีจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส.  ๔. เรื่อง หยุดทำร้ายประเทศไทยด้วยการคิดดี ทำดี ก็เพื่อทำให้รู้จักวิธีฝึกมีสติในการคิดดี ทำดีฯ มีจิตใจที่บริสุทธิ์ และทำความดีให้กับตนเองและหรือผู้อื่น ต่อสังคม และประเทศชาติ และช่วยกันยับยั้งการทำร้ายประเทศไทยโดยการเริ่มต้นที่ตนเองก่อน.
ขอความกรุณให้ท่านสมาชิกได้โปรดลองอ่านหนังสือทั้ง ๔ เล่มได้ฟรีที่  //www.thai60.com ถ้าเห็นว่า เป็นเรื่องที่จะประโยชน์ต่อการปรองดองของคนในชาติ ก็ขอได้โปรดช่วยกันบอกต่อ หรือเผยแผ่ หรือสำเนาไปเก็บไว้ที่เว็บไซต์ของท่านเองและช่วยกันกระตุ้นให้ทุกรัฐบาลดำเนินการด้านการพัฒนาจิตใจหรือคุณธรรมของคนทั้งชาติเพื่อแก้ปัญหาความแตกแยกได้อย่างรวดเร็วและตรงประเด็นที่สุด
ขอบคุณครับ.




 

Create Date : 27 มิถุนายน 2555   
Last Update : 27 มิถุนายน 2555 18:47:11 น.   
Counter : 1934 Pageviews.  

พุทธชยันตี และ วันวิสาขบูชา: เราควรรู้และทำอะไรในชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ?

พุทธชยันตี และ วันวิสาขบูชา: เราควรรู้และทำอะไรในชีวิตที่ยังเหลืออยู่ ?

โดยน.พ.เอกชัย จุละจาริตต์

ชาวพุทธส่วนใหญ่ดีใจที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนธรรมะมานานถึง๒๖๐๐ ปีมาแล้ว.

หลักธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนคือ เรื่องอริยสัจ ๔ ซึ่งเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในพระพุทธศาสนา เพราะถ้าไม่ตรัสรู้และตรัสสอนเรื่องอริยสัจ ๔ พระพุทธศาสนาย่อมไม่เกิดขึ้น รวมทั้งคงไม่มีพุทธชยันตีและวันวิสาขบูชาสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้.

พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระอานนท์ก่อนที่จะดับขันธ์ปรินิพพานว่า “ดูก่อนอานนท์ ! ธรรมและวินัยอันใดที่เราแสดงไว้แล้วบัญญัติไว้แล้วแก่ท่านทั้งหลาย ธรรมและวินัยนั้น จักเป็นศาสดาของท่านทั้งหลายเมื่อเราล่วงลับไป”.

ดังนั้นหลังการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแล้ว กิจที่สำคัญที่สุดของชาวพุทธแท้ทุกคน คือการเข้าถึง “ธรรมวินัย”ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนเพื่อเข้าถึงพระศาสดาที่แท้จริงและได้รับประโยชน์สูงสุดทางจิตใจคือ พ้นทุกข์จากอกุศลทั้งปวง.

“ธรรมวินัย” ประกอบด้วย ธรรม+วินัย. ธรรม คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ. วินัย คือ ข้อปฏิบัติหรือมรรค. “ธรรมวินัย” ก็คือเรื่องทุกข์สมุทัย นิโรธ มรรค หรืออริยสัจ ๔ นั่นเอง.

ในสมัยพุทธกาลการที่จะเป็นชาวพุทธได้นั้น ต้องมีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุด คือ “ต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และต้องสามารถปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ ได้อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่องได้ตามสมควรเสียก่อน แล้วจึงมีศรัทธาประกาศตนว่าเป็นชาวพุทธ” ซึ่งแตกต่างกับยุคปัจจุบันโดยสิ้นเชิง เพราะในปัจจุบันนั้นผู้ปกครองจะเป็นคนแต่งตั้งให้บุตรหลานเป็นชาวพุทธ ทั้ง ๆที่บุตรหลานยังไม่มีคุณสมบัติที่สำคัญที่สุดของความเป็นชาวพุทธดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว.

ประเทศไทยได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ ซึ่งก็เป็นเรื่องจริงในแง่ของวัฒนธรรม ประเพณี พิธีการ วัตถุธรรม ซึ่งมีอย่างมากมายและเป็นเรื่องที่ดีงาม สมควรมีต่อไป แต่ก็ยังไม่เป็นเมืองพุทธที่สมบูรณ์แบบ เพราะมีคนไทยเป็นจำนวนมากที่ยังไม่ได้เป็นชาวพุทธแท้!!!!

โดยหลักการแล้วชาวพุทธแท้จำเป็นต้องมีความรู้และความสามารถในธรรมวินัย(หรืออริยสัจ) ๔ ที่ทรงตรัสรู้และตรัสสอนกล่าวคือ ต้องมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และมีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่องตามสมควรเสียก่อน.

เหตุที่คนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นชาวพุทธเทียมก็เพราะไม่มีความรู้ในเรื่องอริยสัจ ๔ และไม่สามารถปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่องตามสมควร. ส่วนใหญ่เรามักจะรู้เพียงแค่ ๔ คำ คือ ทุกข์สมุทัย นิโรธ มรรค และมักคุ้นเคยกับการทำบุญทำทานโดยมุ่งหวังว่า จะเป็นผลให้มีความสุขทางโลกในชาตินี้และชาติหน้าเพื่อการอุทิศส่วนกุศล รวมทั้งมุ่งหวังที่จะเข้าถึงนิพพานหรือความดับทุกข์ทางธรรมในชาติหน้า.

แท้ที่จริงแล้วพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายต่างก็เข้าถึงนิพพานหรือความดับทุกข์ทางธรรม(ทุกข์ในอริยสัจ ๔) ในชาติปัจจุบันของแต่ละท่าน. จึงขอตั้งคำถามให้ท่านผู้อ่านได้ทดลองพิจารณาว่าเราชาวพุทธควรเข้าถึงความดับทุกข์ในชาตินี้เช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลายใช่หรือไม่ ?

คำตอบน่าจะเหมือนกันคือ ใช่แล้ว.

การจะเข้าถึงความดับทุกข์ในชาตินี้ได้ต้องเริ่มต้นด้วยการมีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และมีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วนและต่อเนื่องตามสมควร รวมทั้งสามารถประเมินผลว่า ตนสามารถเข้าถึงความดับทุกข์ในชีวิตประจำวันได้อย่างต่อเนื่องมากหรือน้อยเพียงใด?

เป็นที่น่าเสียดายมากๆ ที่คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่เป็นชาวพุทธแท้ เพราะไม่มีความรู้เรื่องอริยสัจ ๔ และไม่มีความสามารถในการปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้อง ครบถ้วน และต่อเนื่อง เช่น เมื่อถามว่าทุกข์ในอริยสัจ ๔ ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนมีอะไรบ้าง ? ส่วนใหญ่ก็มักจะตอบไม่ได้. ดังนั้น จึงเป็นเรื่องที่น่าเสียดายมาก ๆที่คนไทยส่วนใหญ่ที่อ้างตนว่า เป็นชาวพุทธนั้นมักจะไม่รู้จักความหมายของทุกข์ในอริยสัจ ๔ เมื่อยังไม่รู้จักความหมายของทุกข์ที่ตรัสสอนก็ย่อมดับทุกข์ไม่ได้ และส่วนใหญ่ก็มักไม่รู้จักสมุทัย นิโรธ และมรรคทั้ง ๆที่เป็นเรื่องง่าย ๆ ซึ่งในสมัยพุทธกาลพระพุทธเจ้าตรัสสอนเรื่องนี้จบลงบนถนนที่ใต้ต้นไม้ และริมทาง.

ในความเป็นชาวพุทธแท้นั้นเป็นเรื่องของจิตใจ. เมื่อใดที่ชาวพุทธแท้หยุดการศึกษาและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันความเป็นชาวพุทธแท้ก็หมดไป แต่ก็ยังเป็นชาวพุทธตามทะเบียนบ้านต่อไป.

ในทุกวันเวลาเราควรเน้นให้ชาวพุทธเข้าถึงพระพุทธเจ้าหรือพระศาสดาด้วยการรู้ชัดแจ้งตามความเป็นจริงโดยการศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ และประเมินผลอย่างถูกต้องครบถ้วน และต่อต่อเนื่องในชีวิตประจำวันและชั่วชีวิต โดยไม่ต้องรอวันสำคัญใดๆ เพื่อปรับเปลี่ยนจากความเป็นชาวพุทธเทียมมาเป็นชาวพุทธแท้ซึ่งจะเป็นประโยชน์สุขต่อตนเอง โดยผู้อื่น ครอบครัว สังคม สิ่งแวดล้อมและประเทศชาติ.

การแตกแยกทางความคิด การแตกความสามัคคีของคนไทยอย่างรุนแรงชนิดที่ไม่เคยพบเห็นมาก่อนเลยเกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ก็เพราะคนไทยส่วนใหญ่ยังเป็นชาวพุทธเทียมนั่นเอง. วิธีแก้ไขอย่างตรงประเด็นที่สุด คือต้องทำให้คนไทยและนักการเมืองส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธแท้หรือมีคุณธรรมก็จะทำให้เกิดการคิดแต่กุศลหรือคิดดีทำดี เป็นบ่อเกิดแห่งความรัก สามัคคีและปรองดองด้วยความจริงใจ.

สรุปแล้วปัจจุบันนี้ อริยสัจ ๔ จึงเป็นศาสดาของชาวพุทธแทนพระพุทธเจ้า.  ดังนั้น ชาวพุทธทุกคนพึงศึกษาและปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมในเรื่องอริยสัจ ๔ ชั่วชีวิตโดยไม่รอวัน เวลา สถานที่ เพื่อความพ้นทุกข์ในชีวิตประจำวันอย่างต่อเนื่อง. ทุกวินาทีที่ปฏิบัติธรรมได้อย่างถูกต้องครบถ้วน ก็จะเข้าถึงความดับทุกข์ได้ทันทีโดยต้องไปรอชาติหน้าอีกไป. หากชาติหน้ามี ก็ย่อมไปสู่สุคติโลกสวรรค์และถ้าไม่มีก็ไม่เป็นไร เพราะได้รับประโยชน์สูงสุดในชาตินี้แล้ว.

ขอถือโอกาสนำเสนออริยสัจ ๔ อย่างย่อที่สุด ดังนี้ :-

ทุกข์ในอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ใจและทุกข์กายที่มีสาเหตุมาจากการคิด พูดและทำอกุศลหรือที่ไม่ดี (อกุศล คือ การเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น).

สมุทัยในอริยสัจ ๔ คือ สาเหตุของความทุกข์ซึ่งมีรากเหง้า ของกิเลสหรือความชั่ว คือ โลภ โกรธหลง. แต่ทุกวันนี้คนส่วนใหญ่ยังไม่ค่อยรู้จักความหมายของโลภ โกรธ หลงในอริยสัจ ๔อย่างถูกต้อง.

นิโรธ(หรือนิพพาน)ในอริยสัจ ๔ คือ ความดับทุกข์ ซึ่งเกิดขึ้นจากการไม่โลภ ไม่โกรธ และไม่หลง เท่านั้นเอง.

มรรคในอริยสัจ ๔ คือ ข้อปฏิบัติเพื่อความดับทุกข์และความชั่วทั้งปวง นั่นคือ มรรคมีองค์ ๘. เมื่อย่อมรรคมีองค์ ๘ ลงมาจะเหลือเพียงแค่การเจริญสติและสมาธิสลับกันไปในชีวิตประจำวันเท่านั้นเอง. การเจริญสติประกอบด้วยการมีสติศึกษาและปฏิบัติธรรมในชีวิตประจำวันเพื่อทำให้จิตใจของตนมีความบริสุทธิ์ผ่องใสโดยการคิดแต่อกุศล หรือให้คิดดีทำดีตามพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอย่างต่อเนื่องและชั่วชีวิต. ขณะที่ไม่คิดอกุศลหรือคิดแต่กุศล หรือคิดดีทำดีอยู่นั้นจิตใจก็จะบริสุทธิ์ผ่องใสเช่นเดียวกับจิตใจของพระอรหันต์นั่นเอง.

การเฉลิมฉลองพุทธชยันตี และวันสำคัญต่าง ๆ ในพระพุทธศาสนานั้น จึงควรเป็นวันที่ประชาชนควรมีโอกาสได้รับความรู้หรือทบทวนเรื่องอริยสัจ ๔ และปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามสมควร เพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใส ปราศจากทุกข์จากอกุศลทั้งปวงอย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต.

ผู้นำเสนอเรื่องนี้ขอยืนยันว่า เรื่องอริยสัจ ๔ เป็นเรื่องง่ายที่ทุกคนสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงได้ด้วยตนเองโดยไม่ต้องหลงเชื่อผู้อื่นใดทั้งสิ้น.

เพื่อให้ท่านผู้อ่านได้ศึกษาอริยสัจ๔ อย่างง่าย จึงเรียนเชิญให้ไปศึกษาที่เว็บไซต์อริยสัจ ๔ ซึ่งผู้นำเสนอได้จัดทำขึ้นได้ที่//www.thai60.comและแนะนำให้อ่าน ฟัง หรือดูเรื่อง “พุทธแท้” หรืออริยสัจ ๔ อย่างย่อ หรืออ่านเรื่องใดก็ได้ เพราะทุกเรื่องในเว็บไซต์นี้คือ เรื่องอริยสัจ ๔ ทั้งนั้น. สำหรับเรื่องแก่นธรรมนั้น เป็นเรื่องอริยสัจ ๔ อย่างเต็มรูปแบบ จึงควรอ่านฟัง หรือดูเมื่อเข้าใจเรื่องอริยสัจ ๔ อย่างย่อได้ดีตามสมควรแล้ว.

หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ท่านผู้อ่านจะได้แนวทางของการเป็นชาวพุทธแท้ และสามารถเป็นชาวพุทธแม้ที่เข้าถึงความดับทุกข์(นิโรธหรือนิพพาน)ในชาตินี้โดยทั่วกัน โดยไม่ต้องรอวัน เวลา สถานที่ และรอชาติหน้าอีกต่อไป.

ขอขอบพระคุณและสวัสดีครับ.




 

Create Date : 04 มิถุนายน 2555   
Last Update : 4 มิถุนายน 2555 21:23:21 น.   
Counter : 1190 Pageviews.  

ของขวัญวันปีใหม่

วิธีให้ของขวัญปีใหม่กับตนเองและหรือผู้อื่นตามแนวพุทธ.

 ความปรารถนาดีด้วยการมอบของขวัญให้ผู้ใดก็ตาม โดยไม่หวังผลตอบแทนแต่อย่างใดหรือด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์ผ่องใสเป็นเรื่องที่ดีงามเพราะเป็นการทำความดีและเป็นกุศล.


 การจะให้ของขวัญแก่ผู้ใดก็ตาม ควรที่จะต้องให้ตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด.


 การให้ของขวัญที่ไม่เหมาะสมอาจเป็นผลให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพกายและใจของผู้รับก็ได้ การให้ของขวัญที่ไม่ถูกต้องจึงเป็นอกุศล.

 ความสำเร็จของการให้ของขวัญ คือ ของขวัญที่ให้นั้นควรเป็นประโยชน์แก่ผู้รับ ยิ่งเป็นประโยชน์มากเท่าใด ความสำเร็จของการให้ของขวัญก็จะมากขึ้นเช่นกัน.

 ของขวัญมี ๒ ประเภท ดังนี้ :-

 ๑. ของขวัญทางวัตถุ(ทางโลก) เป็นของขวัญที่ต้องกินและใช้.

 การให้ดอกไม้ก็จะได้รับประโยชน์น้อย เพราะจะเห็นความสวยงามเพียงระยะสั้น ๆ เท่านั้นเอง ซึ่งเป็นเรื่องของความนิยม.

 การให้วัตถุหรือสิ่งของต่าง ๆ ก็ต้องพิจารณาว่า ของขวัญที่ให้นั้น สามารถเอาไปใช้ประโยชน์ได้ในชีวิตประจำวัน และต้องไม่เป็นภาระให้แก่ผู้รับด้วย. บางคนเอาสัตว์เลี้ยงไปให้ จึงเป็นภาระแก่ผู้รับ เพราะสัตว์เลี้ยงบางชนิดอายุยืน ผู้รับจึงต้องรับภาระในการดูแลเป็นเวลานาน.

 การให้ของขวัญประเภทอาหาร เช่น ข้าว ปลา ผัก ผลไม้ อาหารกระป๋อง ของแห้ง ของหมักดอง ชา กาแฟ ก็จะให้ประโยชน์และโทษได้ด้วย ถ้าไม่มีความรู้ในเรื่องอาหาร.

 อาหารมีความสำคัญต่อสุขภาพ.  มีคำพูดที่ว่า "คุณเป็นอย่างที่คุณกิน" เป็นเรื่องจริงที่ทุกคนสามารถตรวจสอบและพิสูจน์ได้ด้วยตนเอง เช่น กินอาหารมากก็มักจะเป็นโรคอ้วน กินหวานมากก็จะเป็นเบาหวาน รวมทั้งกินไขมันมากก็จะทำให้ไขมันในเลือดสูงทำให้เป็นโรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อัมพาต กินอาหารสกปรกก็จะติดเชื้อ กินอาหารไม่ถูกสัดส่วนและไม่ครบทั้ง ๕ หมู่ก็อาจจะเสียสุขภาพ กินอาหารที่มีอนุมูลอิสระมาก ก็จะเป็นมะเร็ง กินอาหารไม่เพียงพอก็จะทำให้ร่างกายไม่แข็งแรง ไม่กินอาหารเช้าหรือกินอาหารไม่ครบถ้วนทั้ง ๕ หมู่ และกินอาหารน้อยเกินไป ก็อาจจะเป็นอัลไซม์เมอร์ในบั้นปลายของชีวิต.

 บางคนกินอาหารผิดพลาดจนเกิดความเสียหายต่อร่างกายด้วยการเจ็บป่วย ย่อมเป็นการยากที่จะแก้ไข เพราะร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงไปมากแล้ว.

 ดังนั้น การจะให้ของขวัญแก่ตนเองและหรือผู้อื่นนั้น ต้องมีความรู้ในเรื่องอาหารตามสมควร.

 การให้อาหารเป็นของขวัญแก่ผู้ที่มีโรคประจำตัว ก็ต้องศึกษาให้รู้ชัดว่า ควรให้อาหารประเภทใดจึงจะไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และควรกินอาหารประเภทใดที่ก่อให้เกิดประโยชน์.

 การให้อาหารเป็นของขวัญแก่ผู้สูงอายุ ไม่ควรให้อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงรวมทั้งไขมันแปรรูปด้วย แต่ก็ควรให้อาหารไขมันไม่อิ่มตัวอย่างเพียงพอแต่ไม่มากเกินไปและไม่น้อยเกินไป.  การขาดอาหารไขมันจะทำให้ร่างกายทรุดโทรม ความต้านทานต่ำทำให้เจ็บป่วยได้โดยง่าย.

 โปรตีนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโต และการซ่อมบำรุงสุขภาพของร่างกาย.  การให้อาหารเป็นของขวัญก็ต้องคิดถึงโปรตีนด้วย.  โปรตีนที่ดีที่สุดมาจากถั่วและปลา เพราะจะไม่ทำให้ไขมันเลือดสูง ย่อยช้า แต่ต้องไม่กินมากหรือน้อยเกินไป.

 กินอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวมากเกินไปเป็นประจำ จะทำให้ไขมันในเลือดสูง เส้นเลือดแดงทั้งร่างกายก็อาจจะตีบลง ทำให้การไหลเวียนเลือดลดลง จึงเป็นผลให้ร่างกายเสื่อมลงเร็วกว่าปรกติและเจ็บป่วยได้โดยง่าย.

 การให้ของขวัญเป็นอาหารประเภทคาร์โบไฮเดรต ก็ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่ผ่านกระบวนการในการผลิต เช่น อาหารที่ผลิตจากการบดหรือทำให้เป็นผงหรือเป็นแป้งผง ได้แก่ขนมต่าง ๆ  ที่ทำจากแป้งบด น้ำตาล เป็นต้น.

 สำหรับขนม เช่น เค็กและพายนั้น มีส่วนประกอบที่เป็นแป้งบด ไขมันไม่ดี และมีน้ำตาลจำนวนมาก จึงเป็นอาหารที่อาจทำให้น้ำตาลและไขมันในเลือดสูงมากขึ้นก็ได้.

 การให้ผลไม้เป็นของดีมาก มีประโยชน์ แต่ต้องไม่หวานมาก.   ผลไม้ที่ไม่หวานมากจะถูกย่อยช้า ๆ จึงไม่เกิดปัญหาน้ำตาลและไขมันในเลือดสูง.

 ลำใย องุ่น มีน้ำตาลฟรุ๊กโตสมาก จึงย่อยง่ายไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่เป็นเบาหวานหรือผู้สูงอายุ แต่ถ้าจะให้ต้องเตือนว่าให้กินจำนวนเล็กน้อยหลังอาหาร เพื่อให้ย่อยช้า ๆ.

 ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ถือว่า เป็นบุคคลที่มีไขมันและน้ำตาลในเลือดสูง จึงต้องระวังเป็นพิเศษ และคนอ้วนก็เช่นกัน.

 น้ำผลไม้และน้ำผึ้งดูว่าเป็นของดี แต่โดยหลักการแล้ว น้ำผลไม้มีน้ำตาลฟรุ๊กโตสจำนวนมาก และย่อยได้เร็วเท่ากับกลูโคส จึงเป็นอันตรายต่อผู้ที่เป็นเบาหวานและผู้สูงอายุ เพราะจะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงและไขมัน(ไตรกลีเซอไรด์)สูงขึ้นด้วย.  ดังนั้น ถ้าจะให้อาหารประเภทนี้ ต้องเตือนให้ดื่มหรือกินครั้งละน้อยหลังอาหาร หรือให้เป็นผลไม้จะดีกว่ามาก.

 อาหารเสริมเป็นอาหารแปรรูปมักจะมีราคาแพง มีประโยชน์น้อยเมื่อเทียบกับราคา.  ถ้ายังกินอาหารตามปรกติได้ ก็ไม่มีความจำเป็นต้องกินอาหารเสริม.

 วิตามินและแร่ธาตุเป็นสิ่งที่ผู้สูงอายุต้องการมาก เพราะส่วนใหญ่กินอาหารและย่อยได้น้อย จึงมักจะขาดวิตามินและแร่ธาตุ.

 การให้ของขวัญเป็นเครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัยที่ทำให้เกิดประโยชน์แก่ผู้รับย่อมเป็นเรื่องที่ดีงามและเป็นกุศล แต่ต้องไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่น.

 การให้ การให้ยืม การบริจาค การทำบุญและทำทานก็ควรใช้หลักการเช่นเดียวกัน.

 บทความสั้น ๆ ที่นำเสนอนี้ เป็นการให้แนวคิดในการให้ของขวัญในวันปีใหม่ รวมทั้งการให้ของฝากในโอกาสต่าง ๆ ด้วย.

 สำหรับเรื่องอาหาร เป็นเรื่องใหญ่สำหรับทุกคน เพราะสุขภาพจะดีหรือเลวก็เพราะอาหารเป็นปัจจัยสำคัญที่สุด.  ถ้ามีเวลาว่าง กรุณาแวะเวียนไปที่เว็บไซต์ //www.thai60.com เพื่อดู PowerPoint ในเรื่องอาหาร เพื่อเป็นแนวทางในการไปศึกษาเพิ่มเติม.

 หวังว่าปีใหม่และตลอดไปท่านจะให้ความสนใจในเรื่องอาหารเพื่อสุขภาพอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อจะได้ให้ของขวัญที่มีค่าต่อตนเองและหรือผู้อื่นต่อไป.

 นอกจากเรื่องอาหารแล้ว การออกกำลังกายและการนอนหลับพักผ่อนอย่างเพียงพอในชีวิตประจำวันเป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการทำให้มีสุขภาพดี.  ทุกคนจึงควรให้เวลาในการออกกำลังกายทุกวันอย่างน้อยวันละ ๔๕ นาที และนอนหลับอย่างน้อยวันละ ๗-๘ ชั่วโมง เพื่อเป็นของขวัญสำหรับตนเอง.  ๒. ของขวัญทางธรรม(ทางจิตใจ) เป็นของขวัญที่มีคุณค่าสูงสุดสำหรับการนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใส เป็นอริยบุคคลที่ประเสริฐหรือเป็นชาวพุทธที่แท้จริง.

 ในวันปีใหม่หรือโอกาสอันควร ก็ควรให้ของขวัญทางธรรมแก่ตนเองและหรือผู้อื่น.  ของขวัญนั้น คือ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนนั่นเอง.

 ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้และตรัสสอนมีอยู่เพียงเรื่องเดียว คือ เรื่องอริยสัจ ๔.

 ก่อนจะให้ของขวัญทางธรรมแก่ผู้ใด ต้องตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงของเนื้อหาในอริยสัจ ๔ ด้วยตนเองเสียก่อน แล้วจึงค่อยมอบของขวัญทางธรรมให้ผู้อื่น เพราะถ้าให้ของขวัญทางธรรมที่ไม่ผ่านการตรวจสอบและพิสูจน์ด้วยตนเอง ย่อมอาจให้ของขวัญที่ไม่ถูกต้องก็ได้.

 เพื่อให้เกิดความมั่นใจในเรื่องอริยสัจ ๔ จึงขอเชิญชวนให้มาศึกษาเรื่องอริยสัจ ๔ ที่ เว็บไซต์ //www.thai60.com เพื่อเป็นแนวทางในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงในอริยสัจ ๔ และมั่นใจว่า อริยสัจ ๔ เป็นเรื่องสั้น ๆ ไม่ยากเลย. เมื่อได้รับผลดีตามสมควรแล้วก็เริ่มให้ของขวัญทางธรรมได้เลย.

 สรุปแล้ว การให้ของขวัญในวันปีใหม่และในโอกาสต่าง ๆ หรือการให้สิ่งของใด ๆ ก็ตาม ในแนวพุทธนั้น ต้องใช้สติปัญญาทางโลกและทางธรรมควบคู่กันไป เพื่อป้องกันการเบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่นนั่นเอง และให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและหรือผู้อื่นด้วยจิตใจที่บริสุทธิ์.   ครั้นให้แล้วก็ปล่อยวาง คือ ไม่คิดด้วยความยึดมั่นถือมั่นว่า ต้องเป็นไปตามความคิดของตนหรือตามที่ตนปรารถนา เพื่อทำจิตใจให้บริสุทธิ์ผ่องใสอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกับพระอรหันต์ทั้งหลาย.







Free TextEditor




 

Create Date : 02 มกราคม 2555   
Last Update : 2 มกราคม 2555 14:18:16 น.   
Counter : 821 Pageviews.  

1  2  3  

satipanya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




เกิด พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นข้าราชการบำนาญ สนใจธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันพยายามศึกษาธรรมะและเผยแพร่ธรรมะเบื่องต้นอย่างง่ายๆ ในรูปแบบต่างๆ.
[Add satipanya's blog to your web]