คิดดีทำดีเป็นสุดยอดแห่งคุณธรรม

ความดันโลหิตสูง

ตอน – แนวคิดในการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง 

การปรับยา และรับประทานอาหารของน.พ.เอกชัย

โดย น.พ.เอกชัย จุละจาริตต์

Free TextEditor
ปรับปรุงครั้งที่ ๑ (๖ มิย ๕๔)
เรื่องที่นำเสนอนี้เป็นประสบการณ์ส่วนตัว จึงเป็นเพียงเกล็ดความรู้สำหรับเป็นแนวทางให้เห็นความสำคัญของการวัดความดันโลหิตในชีวิตประจำวันด้วยตนเองสำหรับผู้ที่มีความดันโลหิตสูง และเป็นการป้องกันปัญหาจากความดันโลหิตที่สูงหรือต่ำเกินไปจนเกิดอันตรายต่อสุขภาพ.
โดยหลักการแล้ว การปรับยาลดความดันโลหิตให้มากขึ้น หรือน้อยลง หรืองดชั่วคราวนั้น ควรอยู่ภายใต้คำแนะนำของคุณหมอเจ้าของไข้.
ผู้ป่วยทุกคนก็มีสิทธิ์ที่จะเสนอความคิดเห็นเพื่อช่วยให้คุณหมอเจ้าของไข้ได้ปรับ เปลี่ยน หรืองดยาได้อย่างถูกต้อง ขณะเดียวกัน ผู้ป่วยก็ควรมีความรู้เรื่องการปรับ เปลี่ยน หรืองดยาด้วยตนเองด้วย เพื่อดูแลตัวเองได้ทันท่วงที และเป็นการพึ่งตนเองอย่างต่อเนื่อง.
ถึงอย่างไรก็ตาม บทความทั้งหมดนี้เป็นเพียงแนวคิดเพื่อเสริมความรู้เบื้องต้นสำหรับผู้ป่วยเท่านั้น ไม่ควรให้ความเชื่อถือในทันทีที่อ่าน แต่ควรตรวจสอบและพิสูจน์ด้วยตนเองว่า เป็นประโยชน์บ้างหรือไม่ ? ถ้าไม่เป็นประโยชน์ก็ไม่ควรใช้ข้อมูลนี้ต่อไป.
อนึ่ง ร่างกายของมนุษย์นั้น มีความแตกต่างกันไปในการตอบสนองต่อการรักษา ซึ่งมีเหตุปัจจัยหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง เพราะร่างกายไม่ใช่เครื่องจักรกล. ดังนั้น ทุกคนต้องศึกษาตนเองและปรับตัวเอง รวมทั้งปรับ เปลี่ยน หรืองดยา เพราะร่างกายมีการปรับตนเองอยู่เสมอ บางช่วงร่างกายก็อาจตอบสนองยาดี แต่บางช่วงก็อาจเกิดภาวะคุ้นกับยา ดื้อยา หรือต้านยาก็ได้.
เพื่อให้บทความกระชับจึงขอใช้คำว่า “ปรับยา” แทนข้อความ “ปรับ เปลี่ยน หรืองดยา”

ผู้ป่วยความดันโลหิตสูงควรมีความรู้และความสามารถในการดูแลความดันและดูแลสุขภาพของตนเองอย่างต่อเนื่อง
การดูแลผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงและดูแลสุขภาพของผู้ป่วยนั้น มีเรื่องสำคัญที่ขาดไม่ได้เลย คือ ต้องแนะนำให้ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงรู้จักการวัดความดันโลหิตด้วยตนเอง หรือมีคนในครอบครัว หรือผู้อยู่ข้างเคียงคอยวัดให้เป็นประจำ และควรมีความรู้ในเรื่องการปรับยาลดความดันโลหิตด้วยตนเองหรือโดยคนข้างเคียง ตามความเหมาะของแต่ละบุคคล เพื่อที่จะได้ควบคุมความดันโลหิตในชีวิตประจำวันให้พอดี คือ ไม่สูงหรือไม่ต่ำเกินไปอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลางวันและกลางคืน รวมทั้งมีสุขภาพกายและใจที่ดีด้วย.
คนที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรวัดความดันวันละ ๒ ครั้งเป็นประจำ ยกเว้นคนที่มีความดันโลหิตที่คงที่แล้ว ซึ่งเป็นคนส่วนน้อย.
การที่จะเดินทางไปวัดความดันที่โรงพยาบาลวันละ ๒ ครั้งตลอดชีวิตนั้น เป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ในแง่มุมต่าง ๆ. ดังนั้น การวัดความดันที่บ้านและที่ทำงานจะช่วยให้ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงสามารถปรับยาด้วยตนเองจนสามารถควบคุมความดันโลหิตให้พอดีได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องไม่ยากเลยที่จะทำความเข้าใจ.
ผู้สูงอายุมากและผู้ที่สมองเสื่อม อาจจำเป็นต้องอาศัยผู้ข้างเคียงช่วยวัดความดันและปรับยาให้ตามความเป็นไปได้.

ทำไมควรวัดความดันโลหิตเอง
พบว่า คนที่เป็นความดันโลหิตสูงจำนวนไม่น้อย มักจะมีความดันสูงขึ้นในตอนใกล้สว่างและเช้ามืด ซึ่งไม่ใช่เวลาที่จะเดินทางไปวัดความดันที่โรงพยาบาล.
การปล่อยให้ความดันโลหิตสูงเกินไป จึงอาจเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น เส้นเลือดแดงในสมองแตก. ขณะเดียวกัน การปล่อยให้ความดันโลหิตสูง จะทำให้หลอดเลือดเสียหายในระยะยาว เป็นเหตุให้หลอดเลือดแดงเกิดการตีบมากขึ้นและอาจเป็นมากถึงขั้นหลอดเลือดแดงอุดตันได้. ผลที่เกิดขึ้นบ่อย คือ ถ้าหลอดเลือดสมองอุดตันก็จะเป็นอัมพาต และหลอดเลือดหัวใจตีบตันก็จะทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง.
ผู้ป่วยบางคน อาจมีความดันต่ำลงมากในตอนบ่าย เพราะมักเป็นช่วงเวลาที่ยาลดความดันออกฤทธิ์เต็มที่ จนเป็นเหตุให้หน้ามืดและหรือวิงเวียนโดยไม่รู้ตัวว่าความดันกำลังต่ำกว่าปรกติ เนื่องจากไม่เคยมีความรู้และความสามารถในการปรับยาด้วยตนเองมาก่อน.
ช่วงเวลาที่ไปตรวจความดันที่โรงพยาบาลมักจะเป็นช่วงเช้าหน่อย ซึ่งความดันของบางคนยังอาจสูงอยู่ เนื่องจากยาลดความดันบางชนิดยังออกฤทธิ์ไม่เต็มที่. ด้วยเหตุนี้เอง คุณหมอจึงอาจเพิ่มยาให้มากหรือแรงขึ้น เพื่อรักษาความดันที่คุณหมอวัดได้ในช่วงนั้น.
ถ้าผู้ป่วยไปวัดความดันที่โรงพยาบาลในช่วงบ่าย ความดันอาจต่ำลงในช่วงนั้น คุณหมอก็อาจลดยาลดความดันลง เพื่อรักษาความดันที่คุณหมอวัดได้ในช่วงบ่ายเท่านั้น.
การคุมความดันด้วยการวัดความดันเพียงครั้งเดียวในทุก ๑ - ๒
เดือนนั้น ไม่เพียงพอสำหรับการปรับยา อาหาร และเรื่องอื่น ๆ เพื่อควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปรกติทั้งวัน.
ในผู้สูงอายุนั้น มักจะพบว่า เวลาไปหาคุณหมอก็มักจะตื่นเต้น จึงเป็นเหตุให้ความดันสูง คุณหมอจึงอาจจะเพิ่มยาให้แรงมากขึ้นก็ได้. ครั้นกลับมาถึงบ้าน พอหมดความตื่นเต้น ความดันเลยกลับมาเป็นปรกติ แต่คุณหมอเพิ่มยามาเรียบร้อยแล้ว. ครั้นรับประทานยาที่แรงขึ้น ความดันก็จะต่ำลงไปมากกว่าปรกติ จึงเป็นเหตุให้วิงเวียน หน้ามืด อ่อนแรงซึ่งอาจเกิดจากเลือดไปเลี้ยงสมองน้อยลง หรือเกิดการอุดตันของหลอดเลือดแดงก็ได้.
พบว่า คนที่รับประทานยาความดันมากเกินไป ความดันอาจจะต่ำลงกว่าปรกติ และมักจะต่ำในช่วงที่กำลังนอนหลับสนิทมาก.
คนที่มีความดันต่ำและอ่อนเพลียมาก จะเป็นผลให้การนอนหลับลึกมาก ความดันก็มักจะต่ำลงไปอีกในช่วงนั้นด้วย จึงเป็นผลให้การไหลเวียนของเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ลดลง. ยิ่งอ่อนเพลียมากและขาดน้ำมาก เลือดก็มักจะเข้มข้น หรือหนืดมากขึ้น ประกอบกับความดันที่ต่ำลง จึงมีโอกาสที่จะเกิดเส้นเลือดแดงอุดตันจากการแข็งตัวเป็นลิ่มของเลือดได้มากขึ้นในขณะที่กำลังหลับสนิท
เส้นเลือดที่ไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ที่อยู่ในช่องหูจะมีขนาดเล็ก และยังต้องเดินทางผ่านรูเล็ก ๆ ของกระโหลกศีรษะ จึงมีโอกาสที่จะทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงอวัยวะในช่องหูลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คือ ที่อวัยวะเกี่ยวกับการทรงตัว. เมื่อเลือดไปเลี้ยงน้อย จึงเป็นผลให้เกิดการเวียนศรีษะ ซึ่งมักจะเป็นอาการเบื้องต้นของคนที่เลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ.
คนที่รับประทานยาความดันแล้วมีอาการเวียนศรีษะ อ่อนเพลีย ให้นึกถึงภาวะความดันต่ำเกินไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลาของกลางดึกหรือกำลังหลับสนิท. คนที่เวียนหัวมักจะรู้ว่า ตัวเองมีอาการเวียนศีรษะก็ตอนที่ตื่นนอน ซึ่งอาจเป็นเครื่องบอกเหตุเบื้องต้นว่า การไหลเวียนของเลือดในสมองอาจเริ่มไม่สู้จะดีก็ได้.
การไม่ดื่มน้ำตอนค่ำหรือก่อนเข้านอนเพราะขี้เกียจลุกขึ้นปัสสาวะเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ เพราะการดื่มน้ำน้อยอาจทำให้เลือดมีความหนืดมากขึ้น เนื่องจากมีสัดส่วนของน้ำในหลอดเลือดน้อยเกินไป ขณะเดียวกัน จะทำให้ปัสสาวะเข็มข้นมาก ปัสสาวะที่เข้มข้นมากอาจทำให้เยื่อบุในทางเดินปัสสาวะระคายเคือง และอาจติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะง่ายขึ้น.
ไม่ควรดื่มน้ำมากเกินไป ควรดื่มให้มากพอที่จะทำให้รู้สึกปวดปัสสาวะจนต้องลุกขึ้นปัสสาวะอย่างน้อย ๑ ครั้งในการหลับ ๗ - ๘ ชั่วโมง.
ความดันที่ลดลง ย่อมทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองลดลงไปตามสัดส่วนด้วย. การที่มีความดันต่ำกว่าปรกติเป็นเวลาหลายชั่วโมงในขณะหลับสนิท ย่อมทำให้สมองมีเลือดไปหล่อเลี้ยงน้อยเป็นเวลานาน. ดังนั้น เมื่อตื่นขึ้นมา จึงมักเวียนศีรษะ อ่อนเพลีย จิตใจไม่ผ่องใส และอาจเป็นหลายวันด้วย. ยิ่งมีอาการเวียนหัวมากและเป็นหลายวัน ก็แสดงว่า มีผลเสียต่อสมองมากขึ้นตามสัดส่วนด้วย.
การปล่อยให้ความดันในขณะนอนหลับต่ำเป็นเวลานาน อาจทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลง สมองขาดทั้งอาหาร วิตามิน แร่ธาตุ และอ็อกซิเจน จึงทำให้สมองขาดการซ่อมบำรุงอย่างเพียงพอ เป็นผลให้สมองเสื่อมลงเร็วก่อนวัยอันควร.
คนที่ดื่มน้ำน้อยเกินไปและแถมด้วยการหลับสนิท ก็จะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลง เพราะการไหลเวียนของเลือดช้าลง. ประกอบกับคนที่มีความดันโลหิตสูงนั้น มักจะมีผิวเยื่อบุภายในหลอดเลือดที่ขลุขละจากการพอกตัวของไขมันในหลอดเลือด ย่อมมีโอกาสที่จะทำให้เลือดแข็งตัวเป็นลิ่มเลือดได้ง่ายขึ้น จึงอาจเป็นเหตุให้เกิดการอุดตันของหลอดเลือดสมอง จนกลายเป็นอัมพาตได้.
คนที่ความดันต่ำแล้วนอนหมอนสูงมากเกินไปก็อาจทำให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองน้อยลงได้ด้วย เพราะศีรษะที่อยู่ในระดับสูงต้องมีความดันสูงพอที่จะทำให้เลือดไหลเวียนในสมองได้เต็มที่และทั่วถึง.
การวัดความดันและปรับยาด้วยตนเองจึงเป็นเรื่องที่คนยุคใหม่ควรมีส่วนในการรับผิดชอบตนเองมากขึ้น. แพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขควรสนับสนุนเป็นอย่างดี โดยการให้ความรู้และฝึกผู้ป่วยหรือผู้ข้างเคียงให้สามารถพึ่งตนเองในเรื่องนี้อย่างจริงจัง อีกทั้งยังเป็นการลดภาระของบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขลงได้อีกด้วย.
เนื่องจากเหตุปัจจัยของความดันโลหิตในแต่ละบุคคลจะไม่เหมือนกัน. ดังนั้น ทุกคนที่เป็นความดันและผู้ข้างเคียงควรหาประสบการณ์ตรงด้วยตนเองพร้อมทั้งปรึกษาหาลือกับคุณหมอเจ้าของไข้ พยาบาล หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและหาความรู้ใหม่ ๆ เพิ่มเติมจากแหล่งต่าง ๆ ไปชั่วชีวิต.
เพื่อประโยชน์อย่างจริงจัง ควรวัดความดันในช่วงเวลาต่าง ๆ เพื่อเป็นฐานข้อมูลของตนเอง พร้อมทั้งรายงานคุณหมอหรือขออนุญาตให้ปรับยาได้เองตามสมควร ก็จะเป็นประโยชน์สูงสุดต่อผู้ป่วย และลดความถี่ในการไปหาคุณหมอด้วย.

ควรควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปรกติอย่างต่อเนื่อง
หลอดเลือดส่วนใหญ่ของร่างกายเป็นหลอดเลือดขนาดเล็ก ครั้นตีบตันแล้ว จะแก้ไขไม่ได้ ยกเว้นหลอดเลือดขนาดใหญ่ที่พอจะผ่าตัดได้. ดังนั้น การป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแข็งตัว หรือตีบ หรือตันจึงเป็นเรื่องสำคัญมาก.
ในผู้ที่มีความดันโลหิตสูงมานานแล้ว อาจเป็นผลให้หลอดเลือดหัวใจตีบหรือตันและเป็นสาเหตุของกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดหรือกล้ามเนื้อหัวใจบางส่วนตายไปก็ได้.
สาเหตุของการแข็งตัวของหลอดเลือดแดง จะได้กล่าวถึงในเรื่องโคเลสเตอรอลและอนุมูลอิสระ.
โดยหลักการแล้ว ในขณะที่ความดันโลหิตกำลังสูง แรงดันของโลหิตในหลอดเลือดย่อมสูงตามไปด้วย. ทุกครั้งที่หัวใจบีบตัวแรง หลอดเลือดจะถูกแรงดันเลือดในหลอดเลือดดันออกอย่างแรงไปด้วย จึงทำให้เยื่อบุภายในหลอดเลือดและผนังของหลอดเลือดแดงเกิดการชำรุดเสียหายได้เร็วขึ้นหรือก่อนเวลาอันควร.
เพราะการชำรุดของผนังที่บุในหลอดเลือดนี่เอง จึงเป็นผลให้ไขมันในเลือดมาเกาะตัวที่ผนังหลอดเลือดมากยิ่งขึ้น ทำให้หลอดเลือดแดงยิ่งตีบลง ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดก็ลดลง และอาจถึงขั้นอุดตันในที่สุด. เพื่อป้องกันปัญหานี้ จึงจำเป็นต้องควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปรกติอย่างต่อเนื่องมากที่สุด จึงจะได้รับผลดีที่สุด.


การรับประทานยาลดความดันน้อยหรือมากเกินไป จะเกิดปัญหาอะไรบ้าง ?
ผู้สูงอายุเป็นจำนวนมากมักจะมีความดันโลหิตสูงด้วย โดยมีสาเหตุส่วนใหญ่มาจากหลอดเลือดแดงที่แข็งตัวหรือไม่ยืดหยุ่น.
การรับประทานยาลดความดันน้อยเกินไป ก็อาจทำให้ความดันโลหิตสูง. ความดันโลหิตสูงอาจทำให้เส้นเลือดในสมองแตก ก็จะเป็นผลให้เป็นอัมพาต หรืออาจถึงขั้นตายได้. ขณะเดียวกัน ความดันโลหิตที่สูงอยู่นาน ๆ ยังทำให้เกิดความเสียหายต่อผนังหลอดเลือดแดงมากขึ้นเรื่อย ๆ เป็นผลให้เส้นเลือดแดงมีความยืดหยุ่นลดลง จึงทำให้ความดันสูงขึ้นอีก เพื่อให้เลือดไหลเวียนไปหล่อเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ อย่างเพียงพอ.
การรับประทานยาลดความดันมากเกินไปจะทำให้ความดันโลหิตต่ำลง การไหลเวียนของเลือดย่อมลดลง ทำให้อวัยวะต่าง ๆ ขาดเลือดไปหล่อเลี้ยง. ขณะที่การไหลเวียนของเลือดช้าลงจากความดันที่ต่ำเกินไป ประกอบกับหลอดเลือดตีบลงด้วย จึงอาจทำให้เกิดการแข็งตัวของเลือดกลายเป็นลิ่มเลือดไปอุดตันหลอดเลือดของอวัยวะต่าง ๆ เช่น ที่เส้นเลือดสมอง หัวใจ ปอด และไต เป็นต้น.
ดังนั้น เมื่อเป็นความดันสูงแล้ว ก็ควรควบคุมให้ความดันอยู่ในระดับที่พอดี คือไม่สูงและไม่ต่ำเกินไปสำหรับแต่ละบุคคล ซึ่งอาจจะต้องใช้ยา ควบคุมอาหาร ออกกำลังกาย และควบคุมอารมณ์อย่างต่อเนื่องชั่วชีวิต.

ควรวัดความดันโลหิตเมื่อใด ?
ผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงควรมีเครื่องวัดความดันไว้กับตัวตลอดเวลา เพราะต้องวัดความดันของตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ปรับยาและอาหารได้อย่างถูกต้อง.
โดยหลักการแล้ว ในช่วงแรกหรือเริ่มต้นใช้เครื่องวัดความดัน ควรวัดความดันทุก ๒ ช.ม. เพื่อดูว่า ความดันมักขึ้นหรือลงในช่วงใดบ้างของชีวิตประจำวัน มีความสัมพันธ์กับยาลดความดัน อาหาร ออกกำลังกาย และอารมณ์อย่างไรบ้าง.
เมื่อวัดความดันได้แล้ว ก็ควรบันทึกข้อมูลของความดันโลหิต ความเร็วของชีพจร ยาที่รับประทานทั้งชนิด ขนาด จำนวนครั้ง รวมทั้งบันทึกย่อในเรื่องของอาหารและกิจกรรมต่าง ๆ ในช่วงเวลานั้น ๆ ไว้ด้วย.
หลังจากได้ข้อมูลพื้นฐานแล้ว จะทราบได้ด้วยตนเองว่า ยาออกฤทธิ์เมื่อใด มาก น้อย หรือนานเพียงใด สมควรที่จะต้องปรับยาหรือไม่ ? รวมทั้งมีผลข้างเคียงของยาอย่างไรบ้าง ?
เมื่อมีข้อมูลพื้นฐานของตนเองตามสมควรแล้ว ก็ควรวัดความดันวันละ ๒ - ๓ ครั้ง คือ ครั้งที่ ๑ ช่วงเช้า เมื่อตื่นนอนตอนเช้าก็วัดเลย ซึ่งเป็นช่วงที่ยามักจะหมดฤทธิ์แล้ว และความดันก็มักจะขึ้นสูงในช่วงเวลานี้. ครั้งที่ ๒ ช่วงบ่าย ประมาณบ่าย ๒ - ๔ โมง เป็นช่วงที่ความดันมักจะต่ำ เพราะยาลดความดันมักจะออกฤทธิ์เต็มที่ในช่วงเวลานี้. ครั้งที่ ๓ ช่วงค่ำ ประมาณ ๒ ทุ่ม ซึ่งมักจะเป็นช่วงเวลาที่ยาเริ่มออกฤทธิ์ลดลง.
ในยุคปัจจุบัน เรามักชอบที่จะใช้ยาแบบรับประทานวันละ ๑ เม็ด ตอนเช้า เพราะเป็นยาืี่ออกฤทธิ์ ๒๔ ชั่วโมง. ข้อดีของยาแบบนี้ คือ รับประทานวันละ ๑ ครั้ง แต่ข้อเสีย คือ มักจะควบคุมความดันได้ดีในช่วงบ่าย เพราะเป็นช่วงที่ยาออกฤทธิ์เต็มที่. ดังนั้น ผู้ที่รับประทานยาแบบนี้แล้วพบว่า ความดันในช่วงเช้ามืดยังสูงเกินไป ก็ควรรายงานคุณหมอเจ้าของไข้ เพื่อพิจารณาปรับยาหรือเพิ่มยาในช่วงค่ำ จะได้ทำให้สามารถควบคุมความดันตอนใกล้สว่างและเช้ามืด.
ยาลดความดันที่รับประทานตอนเช้าแล้วทำให้ความดันช่วงบ่ายพอดี ก็ถือว่า ยามื้อเช้ากำลังพอเหมาะสำหรับการควบคุมความดันตอนบ่าย.
ถ้าพบว่า ความดันในช่วงบ่ายยังสูงเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น มีความแรงน้อยเกินไป สมควรพิจารณาเพิ่มยาหรือเสริมยาในมื้อเช้าของวันถัดไป.
ถ้าพบว่า ความดันในช่วงบ่ายต่ำมากเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น มีความแรงมากเกินไป สมควรพิจารณาลดยาในมื้อเช้าของวันถัดไป.
ถ้าพบว่า ความดันในช่วงค่ำสูงเกินไป ก็แสดงว่า ยาลดความดันในมื้อเช้านั้น หมดฤทธิ์ อาจจะเป็นผลให้ตอนกลางดึกและตอนเช้ามืดมีความดันสูง.
โดยทั่วไปแล้ว ความดันมักชอบขึ้นตอนใกล้สว่างและเช้ามืด เพราะเป็นช่วงเวลาที่ยาหมดฤทธิ์ ซึ่งยาส่วนใหญ่ที่รับประทานตั้งแต่เช้านั้น มักจะเริ่มหมดฤทธิ์ตั้งแต่ตอนค่ำแล้ว จึงเป็นผลให้บางคนมีปัญหาจากเส้นเลือดในสมองแตกตอนใกล้สว่างเนื่องจากความดันที่สูงเกินไป. ดังนั้น คนที่รับประทานยาความดันชนิดวันละครั้งหรือชนิดออกฤทธิ์ ๒๔ ชั่วโมง และรับประทานในช่วงเช้าแล้วมีความดันสูงเกินไปในช่วงค่ำเช่นนี้ สมควรพิจารณารับประทานยาเสริมตัวอื่นในช่วงค่ำหรือใช้ยาตัวเดิมแต่รับประทานทานเสริมอีกครั้งในช่วงค่ำ เพื่อจะได้ควบคุมความดันไว้ได้ทั้งคืนไปจนถึงเช้ามืด. การเสริมยาในช่วงค่ำเช่นนี้ เป็นการเสริมฤทธิ์ยาที่รับประทานในช่วงเช้า. ดังนั้น จึงต้องค่อย ๆ เสริมหรือเพิ่มยาที่ละน้อย ๆ. การรับประทานยาที่แรงหรือมากเกินไปอาจทำให้ความดันลดลงทั้งคืน ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง เป็นอันตราย เพราะอาจทำให้สมองขาดเลือด หรือเส้นเลือดในสมองเกิดการอุดตันได้. การจะเสริมยาลดความดันนั้น ควรปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้เสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในรายที่คุณหมอไม่ได้สั่งไว้ก่อน.
ในช่วงค่ำ ถ้าพบว่า ความดันต่ำกว่าปรกติ ก็ควรลดหรืองดรับประทานยามื้อค่ำ่หรือก่อนนอน เพื่อป้องกันปัญหาดังที่ได้กล่าวถึงแล้ว. ดังนั้น คนที่เป็นความดันสูงจึงควรวัดความดันในช่วงค่ำและเช้ามืดทุกวัน จนกว่าความดันจะเสถียรหรือคงที่อยู่ในระดับปรกติตามสมควร แล้วจึงค่อยวัดความดันทุก ๑ ถึง ๒ วันก็พอได้.
ผู้ที่เริ่มรับประทานยามื้อค่ำหรือก่อนนอน ควรวัดความดันช่วงกลางดึกโดยเฉพาะอย่างยิ่งในตอนที่มีการปรับหรือเสริมยา. กล่าวคือ ควรความวัดความดันในช่วงตี ๓ - ๕ ไว้บ้าง เพื่อจะได้รู้ว่า ความดันกลางดึกนั้น สูง ต่ำ หรือพอดี. ถ้าพอดีก็ไม่ต้องปรับยาอีก ถ้าไม่พอดีก็ควรปรับยามื้อค่ำตามหลักการที่ได้กล่าวถึงแล้ว. เมื่อปรับยาและความดันคงที่ตามสมควรแล้ว ก็ให้วัดความดันในช่วงเช้ามืดหรือตอนตื่นนอนก็ได้.
ควรระลึกไว้เสมอว่า หลังจากรับประทานยาลดความดันไประยะเวลาหนึ่งแล้ว ร่างกายอาจจะตอบสนองต่อฤทธิ์ของยามากหรือน้อยเกินไปก็ได้. ดังนั้น เพื่อความไม่ประมาท จึงควรวัดความดันในช่วงใกล้สว่างไว้บ้าง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดโรคต่าง ๆ จากหลอดเลือดแดงในสมองตันหรือแตก.
ทุกครั้งที่มีอาการผิดปรกติทางร่างกาย เช่น ปวดหัว วิงเวียน หน้ามืด ใจสั่น แน่นอก เจ็บอก อ่อนแรง หรือเจ็บป่วยด้วยเรื่องอะไรก็ตาม รวมทั้งทางจิตใจมีความกังวลหรือเครียด ควรวัดความดันในขณะนั้นทันที เพื่อจะได้ควบคุมความด้นให้พอดีอยู่เสมอ.

ควรวัดความดันโลหิตคราวละกี่ครั้ง ?
ความดันโลหิตอาจไม่เท่ากันในการวัดแต่ละครั้ง ที่เป็นเช่นนี้เพราะ หลอดเลือดแข็งตัวหรือมีความยืดหยุ่นลดลง จึงทำให้ความดันขึ้นลงได้โดยง่าย.
คนที่มีหลอดเลือดแดงแข็งตัวหรือไม่ยืดหยุ่น มักจะทำให้ความดันขึ้นและลง หรือไม่ค่อยจะคงที่ในขณะที่ตื่นเต้น กังวล เครียด หรือไม่สบายใจ.
คนที่ชีพจรเต้นผิดจังหวะ ความดันที่วัดได้มักจะแกว่งตัวมากหรือไม่ค่อยจะแน่นอน เพราะหัวใจบีบตัวไม่คงที่.
ดังนั้น จึงควรวัดความดัน ๒ ครั้งห่างกันประมาณ ๑ - ๕ นาทีเป็นอย่างน้อย เพื่อให้ความตื่นเต้นหรือความตื่นตัวของระบบประสาทลดลงเสียก่อน.
การวัดครั้งแรกของคนที่เป็นความดัน ควรวัดหลังจากพักจากกิจกรรมต่าง ๆ มาแล้วอย่างน้อย ๕ นาที ความดันครั้งแรกที่วัดได้นั้น มักจะสูงกว่าครั้งที่ ๒ เพราะธรรมชาติของหลอดเลือดที่แข็งตัวหรือไม่ยืดหยุ่นเป็นเช่นนั้นเอง.
เมื่อวัดครั้งที่ ๒ แล้วพบว่า ความดันที่วัดได้ทั้ง ๒ ครั้งต่างกันไม่เกิน ๕ มม.ปรอท ก็ถือว่าใช้ได้ โดยการเฉลี่ย ๒ ครั้ง แต่ถ้าเกิน ๕ ให้วัดใหม่ ซึ่งโดยทั่วไปมักจะต่ำกว่าเดิมหรือใกล้เคียงกับครั้งที่ ๒ ถ้าความดันต่างกันไม่เกิน ๕ ก็ถือว่าใช้ได้. ให้เอาค่าเฉลี่ยที่ไม่เกิน ๕ มาเป็นค่าที่แท้จริง.
ถ้าวัดความดัน ๒ ครั้งแล้วความดันต่างกันเกิน ๕ มม.ปรอท ให้วัดใหม่อีก เป็นการวัดความดันครั้งที่ ๓ แต่ควรเว้นช่วง ๑ - ๕ นาทีเป็นอย่างน้อยเช่นกัน. ถ้าวัดแล้วความดันครั้งที่ ๒ และ ๓ หรือต่างกันไม่เกิน ๕ มม.ปรอท ก็ให้ถือว่าใช้ได้ โดยการเอาค่าเฉลี่ยของความดันครั้งที่ ๒ และ ๓ มาเป็นความดันจริง หรือจับคู่ความดันที่ห่างกันไม่เกิน ๕ แล้วเอาความดันที่จับคู่นี้มาเฉลี่ยกันก็ได้เช่นกัน.
ถ้าวัดความดันครั้งที่ ๓ แล้วยังห่างกันเกินกว่า ๕ มม.ปรอท ให้วัดครั้งที่ ๔ หรือเปลี่ยนไปเริ่มต้นวัดความดันที่แขนอีกข้างหนึ่ง.
บางครั้งการพันอุปการณ์วัดความดันรอบแขนไม่ถูกต้อง เอียงไปมา หรือไม่ถูกระดับ ก็อาจทำให้ ความดันไม่ถูกต้อง. ซึ่งจะได้กล่าวถึงในเรื่องวิธีใช้เครื่องวัดความดัน.
บางคนชีพจรที่เต้นไม่เป็นจังหวะ ความดันโลหิตจึงเหวี่ยงขึ้นและลงได้โดยง่าย. ความดันในแต่ละครั้งที่วัดได้นั้น จึงอาจแตกต่างกันไปมาก. ดังนั้น เมื่อมีปัญหาเช่นนี้ ก็ควรวัดความดันหลายครั้งหรือ ๓ - ๔ ครั้งก็ได้ แล้วนำมาหาค่าเฉลี่ยในกลุ่มของความดันที่ใกล้เคียงกัน โดยไม่ต้องตกใจกลัว เพราะการบีบตัวของหัวใจในขณะเต้นผิดจังหวะมักจะไม่เท่ากันเหมือนคนที่หัวใจเต้นสม่ำเสมอ จึงทำให้ความดันเปลี่ยนไปด้วย.

ควรควยคุมความดันโลหิตอย่างไร จึงจะพอดี
โดยหลักการแล้ว ในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง ควรรักษาระดับความดันให้สูงอย่างพอเพียง หรือพอดี หรือเป็นทางสายกลาง ไม่มากเกินไป และไม่น้อยเกินไป.
ความดันมี ๒ ค่า คือ ความดันบนและความดันล่าง. ในผู้ที่กำลังรักษาความดันโลหิตสูงอยู่นั้น เราจะเน้นที่ความดันบนเป็นหลัก เพราะวัดได้ง่าย เห็นการขึ้นลงของความดันได้ชัดเจน.
คนที่หลอดเลือดแข็งตัวมากหรือตีบมากแล้ว ไม่ควรลดความดันมากเกินไปจนเป็นความดันระดับของคนหนุ่มสาว เช่น ลดความดันบนลงมาจนถึง ๑๐๐ - ๑๑๐ มม.ปรอท เพราะความดันในระดับนี้ อาจทำให้เลือดไหลเวียนไม่เพียงพอ และเกิดปัญหาการขาดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่าง ๆ ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ที่สมอง หัวใจ และไต. ดังนั้น จึงควรปรึกษาคุณหมอเจ้าของไข้ว่า ควรควบคุมความดันไว้ที่ระดับใดจึงจะพอเหมาะสำหรับตน.
โดยหลักการกว้าง ๆ แล้ว ควรให้ความดันบนให้อยู่ระหว่าง ๑๑๐-๑๓๐ มม.ปรอท. ควรสังเกตด้วยตนเองว่า ความดันที่ระดับไหนทำให้รู้สึกสมองโปร่ง เบาสบาย และควรสังเกตว่า มีอาการอะไรบ้างที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจเมื่อความดันโลหิตขึ้นสูงหรือลงต่ำเกินไป เพื่อแก้ปัญหาความดันสูงและต่ำได้ทันท่วงที.
เส้นโลหิตจะมีโอกาสแตกก็เพราะความดันบนสูงมาก และเส้นโลหิตจะตันเมื่อความดันโลหิตบนต่ำเกินไป. ขณะเดียวกัน อวัยวะต่าง ๆ ก็อาจเสียหายจากการขาดเลือด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่ทั้งนั้น.
เพื่อให้ง่ายต่อการควบคุมความดันสำหรับคนทั่วไป จึงควรเอาความดันบนเป็นหลัก เพราะเป็นความดันที่วัดได้ชัดเจน ง่ายต่อการแปลผล และเป็นความดันที่มีผลต่อการเสื่อมของหลอดเลือด หัวใจวาย เส้นเลือดสมอง ตีบ ตัน หรือแตก เส้นเลือดหัวใจตีบหรือตัน เป็นต้น.
ส่วนความดันล่างนั้น ให้เป็นหน้าที่ของคุณหมอที่จะต้องคอยดูแล. สำหรับคนทั่วไปนั้น ควรรู้ว่า ความดันบนหรือล่างอย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้าสูงเกินค่าปรกติก็คือการเป็นความดัน รู้เพียงแค่นี้ก็พอแล้ว. แต่ผู้ที่ความดันล่างต่ำผิดปรกติ ก็ต้องให้คุณหมอตรวจอย่างละเอียดเพื่อหาสาเหตุ และแก้ปัญหาต่อไป.
วิธีคิด คือ โดยทั่วไปแล้ว ความดันบนตอนเช้ามืดของคนที่รับประทานยาลดความดันอยู่ควรมีความดันระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ มม.ปรอทโดยประมาณ ก็ถือว่า สามารถควบคุมความดันได้ดี.
๑. ในกลุ่มผู้ป่วยที่รับประทานยาลดความดันวันละครั้งในตอนเช้า ถ้าความดันตอนเช้าสูงเกิน ๑๓๐ ก็แสดงว่า รับประทานยาน้อยเกินไป ยิ่งเกินมากก็ยิ่งแสดงว่า ยาน้อยไปมาก จึงสมควรที่จะปรับเพิ่มยา.
ถ้าความดันบนต่ำกว่า ๑๒๐ ก็แสดงว่า รับประทานยาลดความดันมากเกินไป จึงสมควรที่จะปรับยาเช่นกันหรืองดยาในเช้าวันนั้น เพราะมักจะพบว่า พอตอนสายและบ่าย ความดันมักจะต่ำลงกว่าตอนเช้ามืด ขณะเดียว จะต้องไม่ทานอาหารเค็มด้วย เพราะการรับประทานอาหารเค็มจะทำให้ความดันสูงขึ้นได้โดยง่าย.
ถ้าความดันบนตอนเช้ามืดสูงกว่า ๑๓๐ แล้วรับประทานยาลดความดันในตอนเช้าวันนั้น อาจทำให้ความดันในช่วงบ่ายลดลงมาเป็นปรกติก็ได้ เช่น ความดันช่วงบ่ายอยู่ระหว่าง ๑๑๐ - ๑๓๐ ก็นับว่า ได้ผลดีแล้ว. แต่ถ้าความดันลงมาต่ำกว่า ๑๑๐ ก็แสดงว่า รับประทานยาลดความดันมากเกินไป.
เมื่อพบว่า ปัญหาความดันต่ำเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องมา ๒ - ๓ วันแล้ว ก็เป็นเครื่องบ่งชี้ว่า ถึงเวลาที่ควรปรับยาให้น้อยลง. อย่าลืมฝึกสังเกตุอาการต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นกับร่างกายและจิตใจด้วย.
เมื่อชำนาญแล้ว อาจปรับยาทุกวันก็ได้ เพื่อปรับความดันให้พอดีทั้งวัน.
การนับชีพจรจะช่วยบอกเรื่องความดันได้ตามสมควร เช่น เวลาความดันขึ้น ชีพจรมักจะช้าลง เพราะจังหวะในการบีบตัวของหัวใจจะนานขึ้น. ในทางตรงกันข้าม เวลาความดันลดลง ชีพจรมักจะเร็วขึ้น เพราะจังหวะในการบีบตัวของหัวใจลดลง. คนที่กำลังความดันต่ำมาก หรือกำลังช๊อก ชีพจรจะเร็วมาก.
บางครั้งความดันในช่วงบ่ายลดลง อาจสืบเนื่องมาจากการดื่มน้ำน้อยมาก เสียเหงื่อมาก ขาดเกลือมาก ท้องเสีย อ่อนเพลียมาก ถ้าเป็นเช่นนี้ ก็ถือว่า วันรุ่งขึ้นยังรับประทานยาขนาดเดิมได้ แต่ต้องแก้สาเหตุที่เสริมให้ความดันลดต่ำลงด้วย ถ้ายังแก้ไม่ได้ก็ควรลดหรืองดยาตามความเหมาะสม.
ในกรณีย์ที่ลดหรืองดยามื้อเช้าเพราะความดันในตอนเช้ามืดดี ก็ควรวัดความดันในช่วงสาย ๆ ประมาณ ๑๑ - ๑๕ น. เพื่อดูว่า ความดันยังคงอยู่ในระดับเป้าหมาย(๑๑๐ - ๑๓๐)หรือไม่ ถ้ายังคงอยู่ในระดับนี้ ก็ไม่ต้องรับประทานยา แต่ถ้าสูงไปกว่านี้ ก็ควรพิจารณาว่าจะรับประทานยาดีหรือไม่ ? ถ้าเกิน ๑๔๐ ก็ควรรับประทานยาได้แล้ว. เพราะถ้าไม่รับประทานยา ความดันอาจสูงในตอนเย็น กลางคืน และเช้ามืดก็ได้.
ทุกครั้งที่รับประทานยาในช่วงเช้า ก็ควรวัดความดันในช่วงประมาณ ๑๕ น. เพราะเป็นช่วงที่ความดันต่ำเนื่องจากยามักจะออกฤทธิ์เต็มที่ในช่วงนี้. ความดันในช่วงนี้ก็ควรอยู่ระหว่าง ๑๑๐ - ๑๓๐ ถ้าต่ำกว่านี้ก็ต้องระวังว่า เลือดจะไปเลี้ยงสมอง หัวใจ และอวัยวะต่าง ๆ ลดลง. ถ้ามีอาการวิงเวียนเหมือนขาดเลือดไปเลี้ยงสมองหรือความดันต่ำลงไปมาก ก็ควรดื่มน้ำ ๑ แก้วหรือมากกว่าเล็กน้อย เพื่อช่วยให้ความดันเพิ่มขึ้น. ขณะนอนในช่วงความดันกำลังต่ำอยู่นั้น ควรใช้หมอนเตี้ย ไม่ควรใช้หมอนสูง เพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยงสมองอย่างเพียงพอ.
เช้ามืดหรือก่อน ๘ น.ของวันต่อมา ถ้าพบว่า ความดันตอนเช้าต่ำกว่า ๑๓๐ ก็ลดหรืองดยาลดความดันในเช้าวันนั้น เพราะถ้ารับประทานยามากเกินไป ความดันอาจต่ำเกินไปจนทำให้การไหลเวียนของเลือดในสมอง หัวใจ และไตลดลงได้.
มักจะพบว่า ในช่วงสายและบ่าย ความดันมักจะต่ำกว่าความดันตอนเช้ามืด.
ถ้าพบว่าความดันต่ำกว่า ๑๓๐ ในช่วงเช้าและไม่ได้รับประทานยา ต่อมาในช่วงบ่ายความดันไม่สูง ก็แสดงว่า ความดันเป็นปรกติในช่วงนั้น ซึ่งจะเป็นแนวทางในการรับประทานยาหรืองดรับประทานยาในวันต่อไป.
แต่ถ้าเป็นยาที่ไม่แรงนักและความดันตอนเช้ามืดอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ก็อาจทดลองรับประทานดู ถ้ารับประทานแล้วความดันในช่วงบ่ายไม่ต่ำกว่า ๑๑๐ ก็ถือว่า ใช้ได้ ถ้าต่ำกว่า ๑๑๐ ก็แสดงว่า ยาแรงหรือมากเกินไป
สำหรับคนที่ความดันไม่สูงมาก และความดันในช่วงเช้ามืดอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ก็ควรทดลองลดหรืองดยามื้อเช้าหรือมื้อเย็นดู และวัดความดันเป็นช่วง ๆ เพื่อประเมินผลและเฝ้าระวังต่อไป.
ช่วงเวลาหลัง ๒๐ น.หรือช่วงดึก เป็นช่วงเวลาที่ความดันเริ่มสูงขึ้น เพราะยาเริ่มมีฤทธิ์ลดลง จึงควรวัดความดันอีกครั้ง. ถ้าความดันในช่วงนี้เกิน ๑๒๐ ก็ควรพิจารณาปรับหรือเสริมยา ถ้าเกิน ๑๓๐ ก็ควรเสริมยาลดความดันในช่วงนี้ ควรใช้ยาในจำนวนน้อยก่อน เพื่อจะได้ควบคุมความดันในช่วงกลางดึก ใกล้สว่าง หรือเช้ามืดสูง.
การปรับยาโดยผู้ป่วยเอง ควรปรับขนาดยาทีละน้อยเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ยาแรงหรืออ่อนเกินไป. การปรับยาอย่างรุนแรงควรให้เป็นหน้าที่ของแพทย์.
ส่วนผู้ป่วยที่ความดันหลัง ๒๐ น. หรือช่วงดึกที่มีความดันที่วัดได้ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ขณะเดียวกันไม่ได้ปรับหรือเสริมยาในช่วงนี้ และตอนเช้ามืดของวันรุ่งขึ้นความดันอยู่ในระดับปรกติ ก็ถือว่า ไม่จำเป็นต้องปรับหรือเสริมยา เพราะร่างกายยังตอบสนองยาที่รับประทานได้ดีอยู่แล้ว.
ถ้าความดันในช่วงดึกสูงเกิน ๑๓๐ ก็ควรระมัดระวังความดันในช่วงตี ๓ - ๕ และตอนเช้ามืดที่อาจเพิ่มขึ้นและเกิดอันตรายได้ เนื่องจากยาหมดฤทธิ์นั่นเอง.
การวัดความดันตอนใกล้สว่างหรือเช้ามืดจะช่วยให้ได้แนวทางในการตัดสินใจปรับหรือเสริมยาเพื่อควบคุมความดันได้ทั้งคืนจนถึงเช้ามืด.
คนที่รับประทานยาลดความดันในตอนเช้าเพียงวันละครั้งเดียว มักจะเป็นยาชนิดออกฤทธิ์นาน ๒๔ ชั่วโมง. ยาชนิดนี้ จะสามารถควบคุมความดันในช่วงบ่ายได้ดี แต่ในช่วงดึก ใกล้สว่าง หรือเช้ามืด ความดันมักจะสูงขึ้นเพราะยาหมดฤทธิ์. ดังนั้น จึงอาจจะต้องพิจารณาเพิ่มยาลดความดันในช่วงห้วค่ำ เพื่อควบคุมความดัน ๒๔ ชั่วโมงหรืออย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ควรปรึกษาแพทย์.
ดังนั้น การวัดความดันวันละ ๒ - ๓ ครั้ง จะช่วยให้เราสามารถเฝ้าระวังความดันให้อยู่ในระดับปรกติอย่างต่อเนื่องทั้งกลางวันและกลางคืนได้ตามสมควร. เมื่อควบคุมความดันได้ดีตามสมควรแล้ว ก็ควรเว้นห่างออกไปตามความเหมาะสม แต่อย่างน้อยสุด ควรวัดความดันอาทิตย์ละ ๒ - ๓ ครั้ง.
คนที่ต้องออกไปทำกิจกรรมนอกบ้าน ถึงแม้ความดันบนตอนเช้ามืดจะอยู่ระหว่าง ๑๒๐ - ๑๓๐ ก็อาจรับประทานยามื้อเช้าได้ เพราะระหว่างการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่ตื่นเต้น เหนื่อย หรือเครียด ความดันก็มักจะเพิ่มขึ้นได้ และถ้าเพิ่มมากเกินไป อาจเกิดปัญหาต่อสุขภาพได้. ทั้งนี้ ควรที่จะศึกษาความดันของตนเองขณะทำกิจกรรมต่าง ๆ ด้วย เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการปรับยาในชีวิตประจำวันเฉพาะตน. การไปทำกิจกรรมต่าง ๆ นั้น ถ้าไม่มั่นใจว่า ความดันจะสูงเกินไปหรือไม่ ก็ควรเอาเครื่องวัดความดันไปด้วย เพราะเราต้องรับผิดชอบกับสุขภาพของตนเองเสมอ.
ในข้อ ๑ นี้ สามารถประยุกต์ไปใช้กับผู้ที่รับประทานยาลดความดันวันละ ๒ ครั้งก็ได้.
ผู้ป่วยที่ความดันไม่สูงมากนักเมื่อปรับเพิ่มยาแล้ว ความดันก็ยังไม่ค่อยจะลง ก็ควรพิจารณาทดลองรับประทานยาขับปัสสาวะอย่างอ่อนหรือเพียงครึ่งเม็ด เพียงครั้งเดียว เพื่อช่วบขับน้ำที่คั่งค้างในเนื้อเยื่อต่าง ๆ ของร่างกายออกทางปัสสาวะ. การจะทำเช่นนี้ได้นั้น ต้องปรึกษาแพทย์เจ้าของไข้ก่อน. คนที่เป็นความดันสูงบางคน อาจมีการคั่งของน้ำในร่างกายเนื่องจากการที่ไตไม่สามารถขับเกลือออกได้ดี. ครั้นไปรับประทานอาหารที่มีเกลือเข้าไปไม่มากนัก ก็อาจจะสะสมเกลือไว้ในร่างกายจนทำให้เกลืออุ้มน้ำไว้ในร่างกายมากเกินไปหรือน้ำคั่ง เป็นผลให้ผนังหลอดเลือดและเนื้อเยื่อต่าง ๆ อุ้มน้ำมากขึ้นด้วย จึงทำให้ห้วใจต้องบีบตัวแรงขึ้นหรือความดันเพิ่มขึ้น เพื่อให้เลือดไปหล่อเลี้ยงร่างกายได้อย่างเพียงพอ. การใช้ยาในกรณีย์เช่นนี้ อาจช่วยให้ความดันลดลงหรือไม่ขึ้นมาค้างเติ่งในบางราย.
๒. ผู้ป่วยที่มีความดันไม่สูงมากนัก เมื่องดรับประทานยาลดความดันมา เกิน ๑ วัน แล้วพบว่า ในตอนเช้ามืดวัดความดันได้ต่ำกว่า ๑๔๐ ก็อาจพิจารณางดยา เพราะในตอนสายและบ่าย ความดันก็มักจะลงมาเป็นปรกติ.
ควรวัดความดันเป็นช่วง ๆ ต่อไปอีก. ถ้าพบว่า ความดันหลังจากช่วงเช้าลดลงทั้งวัน คือ ต่ำกว่า ๑๓๐ ก็จัดว่า เป็นความดันที่ดี. ขณะเดียวกัน ควรพยายามเต็มที่ ที่จะงดอาหารที่ใส่เกลือ ผงชูรส ผงฟู และอาหารที่เพิ่มโคเลสเตอรอลด้วย.
เมื่อใดที่ความดันในช่วงเช้ามืดสูงเกิน ๑๔๐ ก็น่าจะพิจารณากลับมารับประทานยาลดความดันอีก.

การปรับหรือเปลี่ยนยาควรรายงานให้คุณหมอเจ้าของไข้ทราบ
โดยหลักการแล้ว ควรรายงานผลของความดันโลหิตโดยบันทึกไว้ในสมุดเล่มเล็ก ๆ เพื่อสะดวกในการพกพาไปให้คุณหมอดู พร้อมทั้งจดบันทึกการปรับยาในมื้อต่าง ๆ ไว้ด้วย.
สำหรับการปรับเปลี่ยนยาในทุกครั้งนั้น ควรให้คุณหมอเจ้าของไข้เป็นผู้พิจารณาปรับเปลี่ยนเพื่อป้องกันอันตราย เพราะยาลดความดันมีหลายกลุ่มมาก มีฤทธิ์ ความแรง ระยะเวลาของการออกฤทธิ์ การตอบสนองของยาในแต่ละบุคคล อันตรายของยา อันตรายจากการรับประทานยาอื่นร่วมด้วย มีข้อห้ามและข้อที่ต้องพึงระมัดระวังต่าง ๆ มากมาย. บางครั้งคุณหมออาจให้ยาต่างกลุ่มในมื้อเดียวกัน เพื่อผลการรักษา บางครั้งให้ยาลดความดันที่ออกฤทธิ์ช่วงสั้น บางครั้งก็ให้ยาลดความดันชนิดออกฤทธิ์นาน ๒๔ ชั่วโมงซึ่งมักนิยมให้กันในยุคนี้ หรือผสมผสานกันตามความเหมาะสม.
มีข้อคิดอยู่ว่า ยาลดความดันทั้งวันอาจเหมาะสำหรับลดความดันในช่วงบ่ายและเย็น แต่ตอนใกล้สว่างและเช้ามืด ฤทธิ์ยาอาจลดลงจนเป็นเหตุให้ความดันขึ้นสูงก็ได้. ดังนั้น บางคนจึงอาจจำเป็นต้องปรับหรือเสริมยาลดความดันในช่วงค่ำ เพื่อให้สามารถควบคุมความดันได้ตลอดคืนจนถึงเช้ามืด.
การค่อย ๆ พูดคุยกับคุณหมอเจ้าของไข้จะมีส่วนช่วยให้การแก้ปัญหาความดันสูงในช่วงกลางดึก ใกล้สว่าง เช้ามืด ทั้งกลางวันและกลางคืนได้สำเร็จ. คุณหมอบางคน(ส่วนน้อยมาก)ที่ไม่ค่อยจะยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้ป่วยเลย ผู้ป่วยก็มีสิทธิ์ที่จะปรับเปลี่ยนหมอเจ้าของไข้ได้เช่นกัน เมื่อมีความจำเป็นถึงขั้นอาจจะเป็นอันตรายขึ้นมาแล้ว.

ปัจจัยสำคัญมากที่ทำให้ความดันขึ้นหรือลงมีอะไรบ้าง ?
คนที่ความดันไม่สูงมากนัก ก็มักจะสามารถควบคุมความดันโดยไม่ต้องใช้ยาก็ได้ และในคนที่มีความดันสูงมาก ก็ยังสามารถลดยาลงหรืองดยาได้ ถ้ารู้ว่า เหตุปัจจัยมาจากอะไรและสามารถกำจัดเหตุปัจจัยที่ทำให้ความดันสูงได้.
เหตุปัจจัยที่พบได้บ่อยมาก ๆ คือ จำนวนโซเดียม เช่น เกลือแกง ผงชูรส ผงฟู ที่รับประทานในแต่ละวัน.
ธรรมชาติของหลอดเลือดแดงในคนที่เป็นความดันโลหิตสูงมักจะมีการตีบหรือแคบลง. เกลือจะทำให้ผนังหลอดเลือดอิ่มน้ำมากขึ้น จึงทำให้หนาตัว หรือบวมมากขึ้น ถึงแม้ผนังหลอดเลือดจะบวมขึ้นเพียงนิดเดียว แต่ก็ทำให้การไหลเวียนทั้งระบบลดลง เพราะหลอดเลือดมีช่องให้เลือดไหลผ่านได้น้อยลงทั้งระบบ จึงเป็นเหตุให้หัวใจต้องบีบตัวแรงขึ้น เพื่อให้เลือดไหลเวียนอย่างเพียงพอ เป็นผลให้ความดันโลหิตสูงขึ้น.
ปัญหาของเกลือทำให้ความดันโลหิตสูงเป็นปัญหาที่พบบ่อยที่สุดในผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูง. ดังนั้น เราจึงจำเป็นต้องควบคุมการรับประทานเกลือในชีวิตประจำวัน.
นอกจากปัญหาของเกลือแล้ว ปัญหาทางอารมณ์ การไม่ออกกำลังกาย การพักผ่อนไม่เพียงพอ การมีไขมันในเลือดสูง การรับประทานอาหารไม่ถูกหลัก และการมีน้ำหนักมากเกินไป จำเป็นต้องแก้ไขอย่างจริงจังและต่อเนื่อง.

การดื่มน้ำกับความดันโลหิตสูง
ในบางคนที่มีความดันโลหิตสูง การดื่มน้ำที่มีปริมาณมากเกินไป ก็จะทำให้ความดันโลหิตสูงขึ้นได้ เพราะน้ำจะคั่งในร่างกายมากขึ้น. ผู้สูงอายุบางคนไม่สามารถขับเกลือและน้ำทางระบบปัสสาวะได้รวดเร็วอย่างคนปรกติ. ดังนั้น ควรดื่มน้ำแบบเฉลี่ยไปทั้งวันในปริมาณที่พอเหมาะ.
บางคนเข้าใจผิด ตื่นขึ้นมาก็ดื่มน้ำรวดเดียว ๔ – ๕ แก้ว ซึ่งเป็นผลเสียสำหรับผู้สูงอายุ ผู้ที่เป็นโรคความดันสูง โรคไต โรคหัวใจ เพราะน้ำดูดซึมเข้าสู่กระแสโลหิตได้อย่างรวดเร็ว จึงทำให้ปริมาณน้ำในหลอดเลือดเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว หัวใจจึงต้องทำงานหนักขึ้น และความดันก็อาจจะสูงขึ้นด้วย. ขณะเดียวกันผู้สูงอายุและผู้ป่วยในโรคที่กล่าวถึงแล้ว มักจะขับน้ำออกจากร่างกายได้ช้า.
ให้สังเกตว่า การให้ยาลดความดันในรายที่เพิ่งเริ่มเป็น คุณหมอมักจะให้ยาขับปัสสาวะ. บางครั้งเมื่อผู้ป่วยดื่มน้ำเข้าไปมากหรือรับประทานอาหารเค็ม ความดันก็มักจะขึ้นมาค้างอยู่ คุณหมอก็อาจให้ยาขับปัสสาวะเสริมเป็นช่วงสั้น ๆ ก็ได้ผลดี. คุณหมอบางคนอาจให้ยาขับปัสสาวะอย่างต่อเนื่องก็ได้ โดยเฉพาะในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจร่วมด้วย.
หลายคนคงเคยได้ยินว่า มีการซ่อมหรือทำโทษนักเรียนเตรียมนายร้อยคนหนึ่งด้วยการให้ดื่มน้ำอย่างรวดเร็วจำนวน ๑ ถัง เป็นผลให้นักเรียนคนนั้นตายก่อนดื่มน้ำหมด.
โดยหลักการแล้ว คนทั่วไปควรดื่มน้ำประมาณ ๗ – ๘ แก้วต่อวัน. ในวันที่อากาศร้อนมาก ควรดื่มน้ำมากขึ้น เพราะเสียน้ำไปทางเหงื่อมาก. ในวันที่อากาศเย็น มีการเสียเหงื่อน้อยลง ก็ควรดื่มน้ำน้อยลง.
ควรสังเกตว่า ในแต่ละวัน เราควรปัสสาวะหลังตื่นนอน ตอน ๑๐ น. หลังอาหารเที่ยง บ่าย ๓โมง หลังอาหารเย็นช่วง ๖ โมงเย็น ตอนค่ำหรือก่อนนอน ในช่วงที่นอนหลับควรตื่นขึ้นมาปัสสาวะอย่างน้อย ๑ ครั้ง. ทุกครั้งที่ปัสสาวะ ควรมีปัสสาวะประมาณ ครึ่งถึง ๑ แก้วเป็นอย่างน้อย และมีลักษณะใส. ถ้าน้อยกว่านี้ ก็แสดงว่า ควรเพิ่มปริมาณน้ำหรือเพิ่มความถี่ในการดื่มน้ำในช่วงเย็นและก่อนเข้านอน. เมื่อต้องตื่นขึ้นมาป้สสาวะ ก็ควรถือโอกาสบ้วนปากเพื่อรักษาสุขภาพภายในช่องปากไปด้วย.
ในผู้ป่วยโรคหัวใจ โรคไต คุณหมอมักจะควบคุมปริมาณน้ำที่ดื่มเพื่อป้องกันการคั่งของน้ำในร่างกาย.
การดื่มน้ำน้อยเกินไปจะทำให้เลือดเข้มข้นขึ้น เป็นผลให้เลือดมีความหนืดมากขึ้น. โดยธรรมชาติ การไหลเวียนของเลือดในหลอดเลือดแดงที่ตีบย่อมช้าลง จึงอาจเป็นผลให้เกิดการแข็งตัวของเลือดในหลอดเลือด เป็นเหตุให้เกิดการอุดตันเส้นเลือดแดงขึ้นมาได้.
การดื่มน้ำที่มีปริมาณพอเหมาะสำหรับผู้ที่เป็นความดันโลหิตสูงเป็นเรื่องที่ต้องระมัดระวังจนเป็นนิสัย.
ปริมาณน้ำดื่มควรปรับให้เหมาะสม ซึ่งขึ้นอยู่กับน้ำำหนักตัว หน้าที่การงาน อุณหภูมิของสิ่งแวดล้อม ปริมาณน้ำในอาหาร อายุ และโรคประจำตัวอื่น ๆ.
ทางสายกลาง คือ ไม่ดื่มมากหรือน้อยเกินไป เป็นเรื่องที่ควรปฏิบัติ และแต่ละคนมีทางสายกลางเป็นของตนเอง. จะรู้ได้คร่าว ๆ ด้วยการวัดความดัน การบวมของขาหรือเท้า ปริมาณน้ำที่ดื่มและปัสสาวะ เป็นต้น.

ทำอย่างไรจึงจะลดจำนวนเกลือในร่างกายลงได้ ?
ตามปรกติ อาหารที่เป็นพืช ผัก ผลไม้ ถั่ว นม เนื้อสัตว์ ไข่ จะมีเกลืออยู่แล้ว และเพียงพอสำหรับสุขภาพที่ดี.
ผู้ที่รับประทานยาขับปัสสาวะ จะขับเกลือและโปแตสเซียมออกจากร่างกายอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่วิธีธรรมชาติ.
การควบคุมปริมาณเกลือจากการดื่มหรือรับประทานเป็นเรื่องสำคัญขั้นพื้นฐานสำหรับทุกคนที่เป็นความดันโลหิตสูง ซึ่งเป็นเรื่องที่ต้องมีความเพียร จริงจัง และจริงใจในการควบคุมตนเองชั่วชีวิต.
การจะลดเกลือในร่างกายลงได้นั้น ต้องอย่ารับประทานอาหารที่ปรุงรสแต่งด้วยโซเดียมหรือเกลือโดยทำดังนี้ :-
1. งดดื่มเครื่องดื่มที่มีเกลือในการปรุงแต่งรส และงดรับประทานอาหารที่ใส่เกลือ เช่น ปลาเค็ม หมูเค็ม เนื้อเค็ม ส้มตำ เป็นต้น รวมทั้งไม่โรยเกลือลงในอาหาร.
2. งดรับประทานน้ำพริกทุกชนิด รวมทั้งพล่า ยำต่าง ๆ ด้วย.
3. งดรับประทานผงชูรสหรือซุบก้อนทุกชนิด.
4. งดรับประทานอาหารที่ปรุงอาหารโดยใส่ซีอิ้วหรือน้ำปลา.
5. ถ้าจะรับประทานอาหารนอกบ้าน ควรหลีกเลี่ยงอาหารรสจัดที่มักจะใส่ซีอิ้ว น้ำปลา เกลือ ผงชูรส และผงฟู.
6. ถ้าจะรับประทานแกง อย่ารับประทานน้ำแกง รวมทั้งแกงจืดที่ใส่ซีอิ่วหรือน้ำปลา และน้ำก๊วยเตี๋ยวทุกชนิด เพราะจะปรุงแต่งรสด้วยเกลือและผงชูรสเป็นจำนวนมาก.
7. อาหารที่มีรสเค็มทุกชนิด ดังนั้นก่อนรับประทานกับข้าวใด ๆ ต้องชิมกับข้าวนั้น ๆ เสียก่อนโดยไม่ผสมกับข้าว เพื่อตรวจสอบว่า เค็มหรือไม่ ถ้าเค็มก็พยายามหลีกเลี่ยง.
หลังจากรับประทานอาหารตามแนวนี้อย่างจริงจัง จะสามารถพิสูจน์ด้วยตนเองว่า ความดันจะลดลง และทำให้สามารถลดขนาดยาหรืองดยาได้.
ดังนั้น คนที่เป็นความดันโลหิสูง ควรรับประทานอาหารที่ปรุงขึ้นเองในบ้าน โดยพยายามไม่ปรุงแต่งอาหารด้วยเกลือ น้ำปลา ซีอิ้ว เพื่อให้คุ้นเคยกับอาหารที่จืด ๆ จนเป็นนิสัย. สำหรับคนอื่นในครอบครัวก็ควรเติมรสให้เข้มข้นตามความต้องการในจานอาหารของตนเอง.

ควรป้องกันไม่ให้หลอดเลือดแดงเสียหายมากขึ้น
วิธีป้องกันไม่ให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดเลื่อมลงก่อนเวลาอันควร ต้องควบคุมที่ความดันโลหิต อาหาร การออกกำลังกาย การพักผ่อน และอารมณ์.
อาหารและเครื่องดื่มบางอย่างเป็นเหตุปัจจัยที่สำคัญมากในเรื่องการทำให้ไขมันในเลือดสูง ซึ่งเป็นผลให้หลอดเลือดมีไขมันหรือโคเลสเตอรอลไปพอกตัว จนทำให้ความยืดหยุ่นของหลอดเลือดแดงลดลง และอาจรุนแรงถึงขั้นตีบหรือตันได้ในที่สุด.
งดอาหารที่มีอนุมูลอิสระเพราะอนุมูลอิสระจะทำลายผนังหลอดเลือดและก่อมะเร็ง. ควรรับประทานอาหารที่ต้านอนุมูลอิสระทุกมื้อ.
เรื่องวิธีใช้เครื่องวัดความดันโลหิตแบบต่าง ๆ รวมทั้งความรู้ในเรื่องของอนุมูลอิสระ อาหารต้านอนุมูลอิสระ ใยอาหาร วิตามิน สมุนไพร เครื่องดื่ม การออกกำลังกายที่ป้องกันความเสียหายของหลอดเลือดและลดความดันเป็นเรื่องค่อนข้างยาว. ผู้นำเสนอจะได้พยายามแบ่งเวลามานำเสนอให้ทราบตามโอกาสอันควร. เพื่อไม่ให้เสียโอกาศ จึงควรค้นหาความรู้จากแหล่งต่าง ๆ โดยไม่ต้องรอ.
สำหรับเรื่องของการควบคุมอารมณ์นั้น ขอเชิญแวะไปที่เว็บไซต์ของผู้นำเสนออีกแห่งหนึ่ง ซึ่งจะมีวิธีการง่าย ๆ ให้ท่านได้ฝึกบริหารอารมณ์ในชีวิตประจำวัน เป็นบริการฟรี โดยคลิกที่ //www.thai60.com

สรุป
คนที่เป็นความดันโลหิตสูงทุกคน ควรมีความรู้และความสามารถขั้นพื้นฐานในการวัดความดันและการควบคุมความดันของตนเองในชีวิตประจำวันให้มีความดันที่พอเหมาะ.
การพึ่งสติปัญญาของตนเองดังกล่าวแล้ว จะมีส่วนเป็นอย่างมากในการป้องกันความรุนแรงของความดัน ความเสื่อมของร่างกาย โรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการตีบ แตก ตันของหลอดเลือดแดง และประหยัดค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องได้ไม่มากก็น้อย.
การใช้ยาอย่างเดียวยังไม่พอเพียง ต้องควบคุมอาหาร การพักผ่อนอย่างเพียงพอ อารมณ์ และการออกกำลังกายเป็นประจำ.
ความสำเร็จในเรื่องนี้นั้น จะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความเพียรในการเพิ่มความรู้และความสามารถของตนเอง อย่าไปรอคอย ความช่วยเหลือจากคนอื่น.

***********
Ref: com1



Create Date : 27 เมษายน 2554
Last Update : 8 มิถุนายน 2554 10:30:20 น. 19 comments
Counter : 15276 Pageviews.  

 
: D


โดย: ตะวันเจ้าเอย วันที่: 27 เมษายน 2554 เวลา:16:13:41 น.  

 
ได้รับความรู้มากเลยนะครับ


โดย: กัปตัน (chaichoti ) วันที่: 27 เมษายน 2554 เวลา:18:14:50 น.  

 
ดีมากเลยครับ
เพราะบทความแบบนี้ หาไม่ได้ง่าย ๆ ผมพยายามหามานานแล้ว
เกือบทั้งหมด จะลอก ๆ กันมา แค่หลัก ๆ
แต่รายละเอียดปลีกย่อยเนี่ย หาไม่ได้เลย
ยกตัวอย่าง ทำไมตอนเช้าความดันที่สูง..อะไรแบบนี้น่ะ
ไปคลิกดูเถอะ ไม่มีใครเขียน หมอก็ไม่เขียน..



โดย: เฒ่าน้อย วันที่: 18 สิงหาคม 2554 เวลา:11:19:15 น.  

 
ได้ความรู้มากเลยครับ


โดย: Daile IP: 171.7.222.12 วันที่: 21 มกราคม 2555 เวลา:20:40:02 น.  

 
ขอบคุณความรู้ดีๆๆแบบนี้ อายุ 58 ปีแล้วพึ่งจะได้อ่าน


ตอนนี้ความดันโลหิตสูง(140-100) เกร็ดเลือดต่ำ ไปบริจาคเลือด.. ปรากฎเลือดลอย หมอตรวจได้แค่ 10 ผู้ชายปรกติ14 ผู้หญิงปรกติ 12 คุณหมอให้ยามากินก่อนอาหารเช้าและก่อนนอน อีก25 วันค่อยมาตรวจกันอีกครั้ง


โดย: ko-kim IP: 171.7.239.102 วันที่: 26 กุมภาพันธ์ 2555 เวลา:7:26:43 น.  

 
ขอบคุณมากค่ะ


โดย: วี (viee ) วันที่: 14 มีนาคม 2555 เวลา:16:11:18 น.  

 
อ.ครับ อยากให้อ.แก้ไขตัวสะกด ต้นพารากราฟที่ว่าด้วย "ควรควบคุมความดันโลหิตอย่างไร จึงจะพอดี"ตัวสะกดผิดครับ ขอบพระคุณยิ่งในความรู้ ที่อ.นำมาถ่ายทอดครับ


โดย: ด.ช.อภิชัย ลีลากุศลวงศ์ IP: 125.24.47.30 วันที่: 17 มีนาคม 2555 เวลา:9:51:37 น.  

 
เป็นความรู้ดีมาก ขอบคุณครับ


โดย: ชวลิต IP: 110.169.210.183 วันที่: 29 มิถุนายน 2555 เวลา:11:18:49 น.  

 
ขอบคุณมากเรยค่ะ สำหรับคำแนะนำดีๆ ค่ะ


โดย: ืืืnung IP: 110.169.186.77 วันที่: 24 กันยายน 2555 เวลา:15:25:19 น.  

 
สุดยอดมากครับละเอียดครบถ้วนจิงๆ ได้ความรุ้ความเข้าใจดีจริงๆ ขอบคุนครับ


โดย: pon ppd IP: 110.49.232.108 วันที่: 24 ตุลาคม 2555 เวลา:2:18:25 น.  

 
เป็นข้อมูลความรู้ที่มีประโยชน์มาก เพราะคนส่วนใหญ่ไม่รู้ว่าเราจะต้องดูแลตัวเองอย่างไร สังเกตุุอย่างไร
ขอบพระคุณมากครับ


โดย: สุทธิวุฒิ IP: 124.122.94.212 วันที่: 1 มิถุนายน 2556 เวลา:21:52:29 น.  

 
ขอบคุณอย่างยิ่งเลยค่ะ ความสงสัยเกี่ยวกับโรคของตนเองกระจ่างขึ้นจากที่ไม่ค่อยรู้อะไรเลย ขอให้คุณหมอสุขภาพแข็งแรงไม่เจ็บไม่ป่วยนะคะ


โดย: รัตติมารัตติกาล IP: 110.171.170.251 วันที่: 6 มิถุนายน 2556 เวลา:16:12:45 น.  

 
มีประโยชน์มากอย่างยิ่งเลยค่ะ

ขอบคุณค่ะ


โดย: ญาดา IP: 58.11.71.117 วันที่: 29 กันยายน 2556 เวลา:17:11:51 น.  

 
ยาวไปหน่อยค่ะ หาความดันต่ำไม่เจออะ แต่ได้ประโยชน์เยอะเลยค่ะ


โดย: ary_rtn 030 IP: 27.55.18.66 วันที่: 5 ตุลาคม 2556 เวลา:11:27:44 น.  

 
ขอบคุณมากครับสำหรับความรู้เพราะกำลังเป็นอยู่


โดย: พีระ IP: 171.101.91.57 วันที่: 29 กรกฎาคม 2559 เวลา:0:14:55 น.  

 
ขอบคุณความรู้ดีๆๆมากๆค่ะ


โดย: บุษบา IP: 101.108.255.120 วันที่: 26 ธันวาคม 2559 เวลา:20:33:42 น.  

 
ขอบคุณความรู้ดีๆๆมากๆค่ะ


โดย: บุษบา IP: 101.108.255.120 วันที่: 26 ธันวาคม 2559 เวลา:20:34:18 น.  

 
ถูกต้องเลยค่ะเราอย่าหวังพึ่งหมออย่างเดียวเพราะคนใกล้ตัวความดันตอนพบหมอดีตลอด แต่เช้ามืดสูงมาก ไม่เคยมีหมอคนไหนมาบอกหรือให้ความรู้เรื่องการคอยวัดความดันตอนเช้าเลย ไม่เคยจริงฯ หมออาจจะรู้แต่ไม่ได้ให้ความสนใจ หรืออาจไม่รู้ เคยถามตนเอง


โดย: ทิวา IP: 171.4.233.154 วันที่: 16 พฤษภาคม 2560 เวลา:5:54:46 น.  

 
บทความเพิ่มเติม เกี่ยวกับ ชีววัฏจักรความดันโลหิต ครับ

www.thaihypertension.org/files/93.p.29-31%20back_a.bunharn%20vol.13_3.pdf


โดย: ชีววัฏจักรความดันโลหิต IP: 171.101.233.74 วันที่: 18 ธันวาคม 2560 เวลา:6:47:38 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

satipanya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




เกิด พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นข้าราชการบำนาญ สนใจธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันพยายามศึกษาธรรมะและเผยแพร่ธรรมะเบื่องต้นอย่างง่ายๆ ในรูปแบบต่างๆ.
[Add satipanya's blog to your web]