คิดดีทำดีเป็นสุดยอดแห่งคุณธรรม

ปัญหาของพระพุทธศาสนาที่ต้องรีบแก้ไข





ปัญหาของพระพุทธศาสนา
ที่ต้องรีบแก้ไข

                                                                                           โดยนายแพทย์เอกชัย จุละจาริตต์

ปัญหาที่ยิ่งใหญ่ของชาวพุทธและพระพุทธศาสนาในยุคปัจจุบันนี้มีความรุนแรงมากจนถึงขั้นวิกฤต. คนไทยซึ่งประกอบด้วยข้าราชการ นักการเมือง ประชาชนและชาวพุทธเป็นจำนวนมากมายขาดคุณธรรมอย่างรุนแรงจนถึงขั้นคิดชั่ว พูดชั่วและทำชั่วกันทั่วประเทศ รวมทั้งมีการทุจริตคอรัปชั่น เบียดเบียนตนเอง ผู้อื่นสังคม ประเทศชาติ และมีการทำร้ายกันในรูปแบบต่าง ๆ เพื่อผลประโยชน์ของตนเองและหมู่คณะจนดูหมือนเป็นเรื่องปรกติทั้ง ๆ ที่ได้ชื่อว่าเป็นเมืองพุทธ มีคนส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและยังเป็นศูนย์กลางพระพุทธศาสนาของโลก.

ถึงเวลาแล้วที่คนไทยจะต้องช่วยกันกำจัดปัญหาที่ชั่วร้ายต่างๆ ดังกล่าวแล้วให้หมดไป ด้วยการค้นหาสาเหตุที่แท้จริงเพื่อป้องกันและกำจัดสาเหตุให้หมดไป.

การขาดคุณธรรมเป็นสาเหตุของการทำความชั่วทั้งปวง

ปัญหาวิกฤตทางคุณธรรมดังกล่าวแล้วเป็นต้นเหตุแห่งความชั่วร้ายต่างๆ ที่ยังไม่ถูกแก้ไขอย่างตรงประเด็น เพราะผู้บริหาร คณะสงฆ์ และผู้รับผิดชอบอาจจะยังวิเคราะห์ไม่ได้ว่าสาเหตุของความชั่วร้ายทั้งปวงมาจากการขาดความรู้และความสามารถทางคุณธรรมที่ถูกต้องในจิตใจของคนไทย.

เนื่องจากคนไทยส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธการจะแก้ปัญหาวิกฤติทางคุณธรรมจึงต้องแก้ด้วยการเพิ่มข้อมูลความรู้และความสามารถทางธรรมที่ถูกต้อง(บริสุทธิ์*)และครบถ้วนให้แก่ชาวพุทธเพื่อเป็นหลักธรรมอย่างจริงจังและต่อเนื่องเพื่อทำให้ชาวพุทธสามารถละชั่ว มุ่งทำแต่ความดี และทำจิตใจให้บริสุทธิ์หรือทำตามโอวาทปฏิโมกข์.

หมายเหตุ: * หมายถึงข้อความที่ผู้เขียนเติมเข้าไปเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้นหรือเป็นความคิดเห็นของผู้เขียน.

สาเหตุของวิกฤติทางคุณธรรมมีหลายสาเหตุและสาเหตุที่สำคัญและรุนแรงมากที่สุด คือหลักธรรมของพระพุทธศาสนาถูกเจือปนด้วยคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู จึงเป็นผลให้ชาวพุทธส่วนใหญ่ไม่มีความรู้ในเรื่องอริยสัจ๔ และไม่สามารถปฏิบัติธรรมตามมรรคมีองค์ ๘ อย่างถูกต้องและครบถ้วนตามความเป็นจริง ผลที่ได้รับคือชาวพุทธเป็นจำนวนมากมายคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่ว ขณะเดียวกันชาวพุทธกลับไปรู้เรื่องของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูพร้อมทั้งเชื่อและปฏิบัติตนตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูจนฟังแน่นในความจำ จึงทำให้ตนไม่สามารถปฏิบัติธรรมตามหลักธรรมบริสุทธิ์หรืออริยสัจ๔ บริสุทธิ์ในพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องและครบถ้วน เป็นผลให้ไม่สามารถพัฒนาจิตใจของตนเองให้บริสุทธิ์ตามหลักธรรมในอริยสัจ๔ บริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนา.

เมื่อไม่มีความรู้และความสามารถตามหลักธรรม(อริยสัจ๔)บริสุทธิ์ของพระพุทธศาสนารวมทั้งมีความหลงเชื่อและงมงายในคติของศาสนาอื่นจึงทำให้ชาวพุทธจำนวนมากหลงทางจากอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ จนถึงขั้นคิดชั่ว(คิดโลภคิดโกรธ) เป็นผลให้พูดชั่วและทำชั่วอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง หรือมี โลภโกรธ หลง นั่นเอง. จิตใจในขณะคิดชั่วจึงสกปรก ขุ่นมัวและไม่สามรถเข้าถึงความดับทุกข์(นิโรธ)ตามเป้าหมายของพระพุทธศาสนาและก่อให้เกิดการเบียนเบียนตนเอง ผู้อื่น สังคม และ ประเทศชาติซึ่งเป็นสาเหตุของความทุกข์ของชาวไทย.

สาเหตุที่หลักธรรมในพระพุทธศาสนาถูกเจือปนด้วยคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

ขอให้ผู้อ่านสังเกตว่าคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูที่กำลังจะกล่าวถึงนั้นได้เจือปนเข้ามาในพระพุทธศาสนาจนชาวพุทธส่วนใหญ่คิดว่า เป็นคติของพระพุทธศาสนา. ที่จริงแล้วหลักธรรมของพระพุทธศาสนาหรือในอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์นั้น ไม่มีคติของศาสนาพราหมณ์อยู่เลยแม้แต่นิดเดียว.

เมื่อประมาณ ๓,๕๐๐ ปีกว่ามาแล้วหรือประมาณ๑,๐๐๐ ปีก่อนพุทธกาล ชาวอารยันได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในอินเดีย และชาวอารยันยกย่องธรรมชาติขึ้นเป็นเทพเช่น ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ ท้องฟ้า พายุ ฝน เป็นต้น. โดยคนในยุคนั้นเชื่อกันว่า ความเป็นไปของชีวิตมนุษย์ขึ้นอยู่กับอำนาจของเทวะ(เทวดาหรือเทพ*).

ถ้าปรารถนาจะให้หรือไม่ให้เทพแสดงฤทธิ์เดชก็ต้องอ้อนวอนให้เทพอำนวยสิ่งที่ตนปรารถนาจึงเกิดมีพิธีอ้อนวอน เซ่น ไหว้ บวงสรวง สังเวย บูชายันต์และมีบุคคลผู้ทำพิธีการดังกล่าวเรียกว่า พราหมณ์.

ชาวอารยันยังเชื่อว่าบรรพบุรุษที่ตายไปแล้วก็มีอำนาจเช่นเดียวกับเทพ คือ สามารถให้คุณและโทษแก่ลูกหลานจึงต้องสังเวยบวงสรวงเช่นเดียวกัน นอกจากนี้ยังเชื่อว่า พ่อแม่ที่ไม่มีบุตรจะตกนรกชื่อปุตระ ถ้าไม่มีลูกชายทำพิธีเซ่นสรวงบูชาดวงวิญญาณของตน. ดังนั้นลูกชายจึงเป็นที่ปรารถนาของชาวชมพูทวีป(ดินแดนที่เป็นประเทศอินเดีย ปากีสถาน เนปาลและบังกลาเทศในปัจจุบัน*)มาจนทุกวันนี้.

ให้สังเกตว่าในยุคแรกหรือยุคอารยันของศาสนาพราหมณ์ก็มีเรื่องเทพที่อยู่ในสวรรค์และมีเรื่องของนรกหรือมีเรื่องของภพชาติและดวงวิญญาณแล้ว. ชาวพุทธส่วนใหญ่เชื่อเช่นเดียวกับชาวอารยันว่า มีเทพเทพเจ้าหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ สวรรค์ นรก และวิญญาณแต่ไม่เรื่องของความเชื่อดังกล่าวแล้วอยู่ในอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์แต่ประการใด. อริยสัจ ๔ บริสุทธิ์มีแต่เรื่องของทุกข์ สมุทัยนิโรธ มรรค และเป็นเรื่องของการดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ณ ปัจจุบันขณะเท่านั้นเอง.

เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปว่าศาสนาพราหมณ์ได้ปรับเปลี่ยนคติหรือความเชื่อเพื่อความเหมาะสมกับสถานการณ์และกาลเวลาจึงเกิดการปรับปรุงคำสอนหรือคติในยุคต่อมา และในที่นี้จะกล่าวถึงยุคที่สำคัญเท่านั้น.

ยุคที่๒ คือ ยุคพระเวท เป็นยุคที่อยู่ในช่วงเวลาประมาณ ๙๕๗ - ๔๕๗ ปีก่อนพุทธกาล. ยุคพระเวทเกิดขึ้นเนื่องจากศาสนาพราหมณ์ในยุคอารยันได้เสื่อมลงตามลำดับ(เพราะเทพเจ้าทั้งหลายมีมนุษย์ตั้งขึ้นมาโดยชาวอารยันไม่สามารถแก้ปัญหาให้คนในยุคอารยันได้หรือเป็นเรื่องที่ไม่จริง*)จึงเป็นเหตุให้ต้องปรับปรุงคติเดิมให้เป็นคติใหม่.

ยุคพระเวทได้ปรับเปลี่ยนให้มีพระอินทร์เป็นเทพเจ้าสูงสุดเหนือเทพเจ้าทั้งหลายการปรับปรุงในครั้งนี้ ได้จัดแบ่งเทพเจ้าต่าง ๆ เป็น ๓ หมวดเรียงตามลำดับ คือพวกที่หนึ่งอยู่บนสวรรค์ ได้แก่ วรุณ(ฝน = ไทยเรียก พระพิรุณ)สูรย์(พระอาทิตย์) โสมะ(พระจันทร์) อุษา(แสงเงินแสงทอง) เป็นต้น. พวกที่สองอยู่บนฟ้า เป็นเทวดาประจำอากาศ ได้แก่ อินทระ(พระอินทร์ =พุทธบางคน* เรียกว่า ท้าวสักกะ เจ้าแห่งสวรรค์ชั้นดาวดึงส์) มารุต(ลม)เป็นต้น พวกที่สามอยู่บนพื้นโลกเป็นเทวดาประจำแผ่นดิน ได้แก่ อัคนี(ไฟ) ปฤถวี(แผ่นดิน) และยม(พระยมหรือเทพเจ้าแห่งนรกและความตาย) เป็นต้น. ในยุคพระเวทนี้นับถือพระอินทร์ว่าเป็นเทพเจ้าสูงสุด มีสายฟ้าเป็นอาวุธ สามารถทำลายศัตรูให้พินาศราบคาบลงได้ชั่วพริบตา”. เนื้อหาหลักในการจัดแบ่งเทพเจ้ามาจาก: //allknowledges.tripod.com/brahmin.html

ให้สังเกตว่า มีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเลยยังเชื่อเรื่องพระอินทร์พระยม และบางหน่วยงานเอาพระอินทร์มาเป็นสัญลักษณ์ทั้ง ๆ ที่เป็นคนละศาสนากัน.

ยุคที่๓ คือ ยุคพราหมณะ เป็นยุคที่เกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณก่อนพ.ศ. ๒๕๗ถึงพ.ศ. ๔๓. ยุคพราหมณะเกิดขึ้นเพราะศาสนาพราหมณ์ในยุคพระเวทเสื่อม(ด้วยเหตุผลเดิม*)จึงต้องปรับปรุงคัมภีร์พระเวทและเป็นผลให้เกิดคำสอนใหม่ซึ่งน่าจะถูกเขียนขึ้นโดยพราหมณ์โดยยกเลิกเรื่องพระอินทร์และเทพเจ้าทั้ง ๓ และปรับเปลี่ยนให้มีเทพเจ้าเพียงองค์เดียว คือ พระเป็นเจ้าหรือพระพรหมซึ่งเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในทุกเรื่องของโลกนี้ โลกหน้า เป็นผู้ที่สร้างโลกรวมทั้งเทพเจ้าทั้งหลายมนุษย์ และเป็นผู้ขีดชะตาชีวิตให้ เรียกว่าพรหมเนรมิต และพรหมลิขิต.

ให้สังเกตว่า ในยุคปัจจุบันมีชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเลยที่เคารพพระพรหมและขอความช่วยเหลือจากพระพรหม. มีบ้าน อาคาร สถานที่ราชการตั้งศาลพระพรหมเอาไว้เพื่อเคารพสักการะและขอความช่วยเหลือซึ่งไม่ใช่เรื่องของพระพุทธศาสนาแม้แต่นิดเดียว.

ยุคที่ ๔คือ ยุคฮินดูเป็นยุคที่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาและพระพุทธศาสนาถูกครอบงำด้วยคติของศาสนาฮินดูหรือพราหมณ์-ฮินดูอย่างรุนแรงที่สุด.

ในยุคฮินดูได้มีการปรับเปลี่ยนคติจากยุคพราหมณะ คือ ให้มีเทพเจ้าสูงสุดเพียงองค์เดียวแต่ได้อวตารแยกร่างออกมาเป็น ๓ องค์คือ พระพรหมเป็นพระผู้สร้างโลก พระศิวะเป็นผู้ทำลาย และพระวิษณุเป็นผู้ปกป้องและรักษาโลกเมื่อเทพเจ้าทั้ง ๓ องค์รวมกันแล้วเรียกว่า "ตรีมูรติ" จากการปรับเปลี่ยนคติของศาสนาพราหมณ์มาเป็นฮินดู จึงเรียกรวมกันว่าศาสนาพราหมณ์-ฮินดู.

ในยุคนี้ศาสนาพราหมณ์-ฮินดูได้ปรับเปลี่ยนคติที่มีผลต่อความมั่นคงของพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากโดยประกาศว่าพระพุทธเจ้าเป็นองค์ตาลของพระวิษณุ และพระพุทธศาสนาเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาพราหมณ์ซึ่งเป็นการบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาอย่างรุนแรงที่สุดจากการถูกครอบงำด้วยคติดังกล่าว.

ชาวพุทธจำนวนไม่น้อยเลยที่เชื่อเรื่องของพระพรหมพระศิวะ พระวิษณุ เชื่อเรื่องพญานาคซึ่งเป็นที่บรรทมของพระวิษณุจนเอาพญานาคมาเป็นร่มและที่ประทับนั่งของพระพุทธเจ้าอีกทั้งยังประดับไว้ที่หลังคา บันไดในวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ. การเชื่อว่า พญา ครุฑ ซึ่งเป็นพาหนะของพระวิษณุจนเอารูปครุฑมาเป็นตราประทับของทางราชการทั้ง ๆ ที่เป็นคติของศาสนาพราหมณ์ก็เป็นเรื่องที่น่าคิด.

ในพิธีกรรมใหญ่และสำคัญชาวไทยมักจะเอาพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์เข้ามาร่วมด้วยทั้งๆ ที่ผู้จัดงานเป็นชาวพุทธและคนที่เข้าร่วมพิธีกรรมก็ล้วนเป็นชาวพุทธด้วย. คติและพิธีกรรมดังกล่าวแล้วไม่มีอยู่ในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาแต่ประการใดแต่ชาวพุทธก็ยังหลงเชื่อกัน และไม่เห็นมีใครคิดที่จะลงมือชี้แจงให้ชาวพุทธด้วยกันได้รับทราบข้อเท็จจริงและแก้ไขเพื่อความถูกต้อง.

พิธีกรรมที่ไม่มีอยู่ในข้อปฏิบัติหรือในมรรคมีองค์๘ รวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ ที่เจือปนเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาอย่างมากมายแล้วยังไม่ได้รับการแก้ไขให้ถูกต้องตามความเป็นจริงก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้มีการบ่อนทำลายพระธรรมหรืออริยสัจ ๔ บริสุทธิ์อย่างต่อเนื่องและรุนแรงมากยิ่งขึ้น.

การเชื่อในเรื่องที่ไม่สามรถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและหรือโดยสาธารณะเรียกว่าความหลงเชื่อ และการปฏิบัติตนตามที่ตนได้หลงเชื่อเรียกว่า ความงมงาย. ความหลงเชื่อและงมงายเป็นเรื่องที่ตรงกันข้ามกับความจริงอันประเสริฐ(อริยสัจ๔ บริสุทธิ์).

ชาวพุทธที่ยังทำพิธีกรรมต่าง ๆที่ไม่เป็นไปตามมรรคมีองค์ ๘ รวมทั้งยังหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆจึงเป็นชาวพุทธเทียมที่ไม่สามารถเข้าถึงความดับทุกข์ในอริยสัจ ๔ ณ ปัจจุบันขณะและยังมีส่วนในการบ่อนทำลายพระธรรมบริสุทธิ์และพระพุทธศาสนาอีกด้วย.

การแตกแยกทางความคิดของชาวพุทธ

พระพุทธศาสนานิกายมหายานเริ่มก่อตัวขึ้นเมื่อราวพ.ศ. ๖๐๐ - ๗๐๐ โดยคณะสงฆ์ที่มีความเห็นต่างจากนิกายเดิม คือนิกายเถรวาท ซึ่งเป็นนิกายที่ยึดถือพระธรรมวินัยบริสุทธิ์ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนเป็นหลัก. คณะสงฆ์ที่แยกออกมาเป็นนิกายใหม่เรียกกลุ่มของตัวเองว่ามหายาน เป็นนามซึ่งตั้งขึ้นเพื่อแสดงว่า นิกายมหายานสามารถช่วยให้สัตว์ข้ามพ้นวัฏฏสงสารได้มาก(วัฏฏสงสารหรือการเวียนว่ายตายเกิดจากผลแห่งกรรมซึ่งเป็นคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูส่วนพระพุทธศาสนามีแต่เรื่องของทุกข์และความดับทุกข์ ณปัจจุบันขณะของชาติปัจจุบันเท่านั้น*). (ข้อมูลจาก: ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมหายาน ของวิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดลโดยปรับภาษาเล็กน้อยเพื่อให้เข้าใจง่ายขึ้น.)

นิกายมหายาน คำว่า “มหายาน” แปลว่า ยานใหญ่. คำว่า “นิกายมหายาน” แปลว่า “นิกายที่เป็นเหมือนยานขนาดใหญ่ที่ขนคนไปถึงความดับทุกข์(พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดซึ่งเป็นเรื่องของกฎแห่งกรรมตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู*)ทีละมากๆ”

นิกายเถรวาท คือนิกายที่พยายามรักษาพระธรรมวินัยในสมัยพุทธกาลไว้.

นิกายมหายานได้ปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัยขึ้นมาใหม่โดยเน้นเรื่องของกรรมและการข้ามภพข้ามชาติตามคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเช่น นรก สวรรค์ การเวียนว่ายตายเกิดจากผลแห่งกรรม พระโพธิสัตว์ การสร้างและสะสมบารมีเพื่อเป็นพระโพธิสัตว์และตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าพระพุทธเจ้ามีหลายพระองค์ หลังการดับขันธปรินิพพานของพระพุทธเจ้าที่ในโลกนี้แล้วก็ทรงดำรงอยู่ตลอดไปหรือไม่ดับสูญแต่ไปประทับ ณ แดนนิพพาน เป็นต้น.

ปัจจุบันมีชาวพุทธซึ่งหมายรวมถึงภิกษุจำนวนไม่น้อยเลยที่มีความเชื่อของทั้ง๒ นิกายโดยไม่รู้ตัวและไม่รู้ว่านิกายใดที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะไม่เคยตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและหรือโดยสาธารณะซึ่งก็มีส่วนในการบ่อนทำลายพระธรรมและพระพุทธศาสนาเช่นกัน.

นิกายเถราวาทเป็นนิกายของคณะภิกษุไทย ศรีลังกา พม่า ลาวเขมร เป็นต้น และนิกายมหายานเป็นนิกายของคณะภิกษุธิเบตมงโกเลีย เกาหลี ญี่ปุ่น ใต้หวัน ฮ่องกง จีนเป็นต้น. ชาวพุทธส่วนใหญ่นับถือพระพุทธศาสนานิกายมหายาน.

คติของชาวพุทธถูกเปลี่ยนไปเป็นความหลงเชื่อและงมงาย

ในสมัยพุทธกาลพระเทวทัตพยายามจะปรับเปลี่ยนพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าถึงขั้นแยกตัวออกจากพระพุทธเจ้าเพราะมีอวิชชา(หลง)ครอบงำจิตใจซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า แม้แต่ในสมัยพุทธกาลภิกษุก็ยังมีการแตกแยกทางความคิดเพราะมีความหลง(อวิชชา)ครอบงำจิตใจ.

ครั้นพระพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพานไปแล้วและเวลาได้ผ่านไปนานมากขึ้นเรื่อย ๆ การแตกแยกทางความคิดย่อมเกิดมากขึ้นตามสัดส่วนด้วยจึงไม่แปลกอะไรเลยที่หลักธรรมของพระพุทธศาสนาจะถูกเจือปนด้วยคติของศาสนาอื่นพิธีกรรม รวมทั้งความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ มากขึ้นตามลำดับ เพราะมีการต่อยอดของความหลง(อวิชชา)ในชาวพุทธมากขึ้น.

เมื่อชาวพุทธไปยึดเอาคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมาเป็นคติของศาสนาพุทธด้วยความหลงเชื่อและงมงายรวมทั้งนำเอาไปปฏิบัติด้วย จึงทำให้เกิดการแตกแยกทางความคิด จนมีการแยกตัวออกมาจากชาวพุทธดั้งเดิม(นิกายเถรวาท)ที่มีอริยสัจ๔ บริสุทธิ์เป็นหลักธรรมและข้อปฏิบัติที่บริสุทธิ์.

กลุ่มที่แยกตัวออกมาตั้งตัวเป็นนิกายมหายานที่มีคติของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเจือปนอยู่เป็นจำนวนมากมาย เช่น การเวียนว่ายตายเกิดกฎแห่งกรรม นรกสวรรค์ ความเป็นอมตะ สิ่งศักดิ์สิทธิ์ เทพ เทพเจ้า ไสยศาสตร์ พิธีกรรมต่างๆ เป็นต้น.

บุคคลที่ทำให้พระพุทธศาสนาเจือปนด้วยความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ น่าจะเป็นภิกษุในอดีตและปัจจุบันที่มีอวิชชาครอบงำหรือยังหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ รวมทั้งต้องการผลประโยชน์ในรูปแบบต่างๆ จึงแยกตัวออกมาจากนิกายเถรวาทหรือไม่ปฏิบัติตามพระธรรมวินัยบริสุทธิ์(พระธรรมคืออริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ พระวินัยคือศีล ๒๒๗ บริสุทธิ์ของภิกษุ.)

ทุกวันนี้ภิกษุที่กำลังอยู่ในสังกัดของนิกายเถรวาทที่ยังมีความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ อยู่ ก็มักจะสอดแทรกความหลงเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ของตนงมงายเข้ามาในหลักธรรมของพระพุทธศาสนาด้วยอวิชชาหรือความหลงที่ครอบงำความคิดอยู่หรือเพื่อผลประโยชน์ของตนเองและหมู่คณะจนนิกายเถรวาทถูกปรับเปลี่ยนเป็นนิกายที่มีความหลงเชื่อในเรื่องต่างๆ เจือปนเข้ามาอย่างมากมาย.

ปัจจุบันส่วนใหญ่ของชาวพุทธมากกว่าร้อยละ๙๐ หลงทาง* เพราะมีอวิชชา(หลง)จึงเกิดการคิดโลภ โกรธ ตัณหา และอุปาทานเป็นผลให้เกิดการพูดและการทำความชั่วต่าง ๆ นา นา ถึงขั้นมีวิกฤตทางคุณธรรม.

วิธีแก้ปัญหาวิกฤตทางคุณธรรม

คณะสงฆ์ผู้รับผิดชอบด้านการศึกษาและคุณธรรมรวมทั้งผู้บริหารบ้านเมืองจะต้องจัดระบบการศึกษาและฝึกอบรมของคนทั้งชาติให้ฝังใจว่าจะดำเนินชีวิตด้วยสติปัญญาโดยไม่หลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ ตลอดไปพร้อมทั้งฝึกให้คนทั้งชาติรู้จักการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองรวมทั้งโดยสาธารณะจนเป็นนิสัยเพื่อป้องกันและกำจัดความหลงเชื่อและงมงายของชาวไทยให้ลดลงหรือหมดไป.

ครู อาจารย์ ผู้บริหารและผู้ที่รับผิดชอบโรงเรียนวิถีพุทธและโรงเรียนคุณธรรมทุกแห่งควรรับทราบปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่าง ๆ แล้วพยายามสั่งสอนและฝึกอบรมให้นักเรียนรู้จักใช้สติปัญญาในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและโดยหมู่คณะเพื่อป้องกันและกำจัดความหลงเชื่อในเรื่องต่าง ๆ ให้หมดไป.

ศาสนิกชนของทุกศาสนาในประเทศไทยควรได้รับการฝึกอบรมให้สามารถตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและโดยสาธารณะในทุกเรื่องเพื่อคัดกรองเอาแต่หลักธรรมบริสุทธิ์หรือข้อเท็จจริงต่าง ๆออกมาเป็นประโยชน์ต่อตนเอง ผู้อื่น สังคม และประเทศชาติและเป็นตัวอย่างให้แก่ชาวโลกด้วย.

ในเรื่องหลักธรรมหรือคำสอนของศาสนาและลัทธิต่างๆ ที่ได้รับรู้มา เราจะต้องไม่หลงเชื่อโดยเด็ดขาด เพราะทุกวันนี้ความหลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ ที่เจือปนในหลักธรรมของศาสนาต่าง ๆ เป็นต้นเหตุของการคิดชั่ว พูดชั่ว และทำชั่วจนถึงขั้นทำลายล้างกันอย่างไม่จบสิ้นจนเกิดวิกฤติทางคุณธรรมระดับโลกบางศาสนาสอนให้คนหลงเชื่อและงมงายอย่างรุนแรงจนถึงฆ่ากันเองถึงแม้จะนับถือศาสนาเดียวกันแต่ต่างนิกาย.

ชาวโลกจึงควรเลิกการหลงเชื่อและงมงายพร้อมทั้งมีสติปัญญาหรือมีความรู้และความสามารถในการตรวจสอบและพิสูจน์ข้อเท็จจริงด้วยตนเองและหรือโดยสาธารณะ. วิธีนี้จะทำให้สามารถคัดกรองหลักธรรมที่เป็นความจริงและบริสุทธิ์ออกมาเป็นประโยชน์และเป็นการแก้ปัญหาวิกฤติทางคุณธรรมของประเทศไทยและชาวโลกอย่างตรงประเด็น.

ยิ่งทำให้ชาวไทยและชาวโลกสามารถใช้สติปัญญาโดยไม่หลงเชื่อและงมงายในเรื่องต่างๆ มากขึ้นเท่าใด จิตใจก็จะบริสุทธิ์ ไม่เบียดเบียนตนเองและหรือผู้อื่นพ้นจากความชั่วและความทุกข์ได้มากขึ้นตามสัดส่วนด้วย ซึ่งจะเป็นผลให้ชาวไทยและโลกสามารถอยู่ร่วมกันด้วยความสุขสงบมีความเจริญ และมั่นคง.

**********

กรุณาอ่านรายละเอียดได้ www.thai60.com ในเรื่องอริยสัจ ๔ บริสุทธิ์ ตอน “ความหลงเชื่อและงมงายต่าง ๆ ที่เจือปนเข้าในหลักธรรมของพระพุทธศาสนา” และมีข้อมูลทางธรรมที่ผู้เขียนได้คัดกรองออกมาจนบริสุทธิ์ตามสมควรสำหรับ ให้ท่านได้ศึกษาในรูปแบบต่างๆ อีกด้วย.




Create Date : 12 กรกฎาคม 2560
Last Update : 12 กรกฎาคม 2560 21:02:39 น. 0 comments
Counter : 1118 Pageviews.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิกช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

satipanya
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 7 คน [?]




เกิด พ.ศ.๒๔๘๑ เป็นข้าราชการบำนาญ สนใจธรรมะมาตั้งแต่เด็ก ปัจจุบันพยายามศึกษาธรรมะและเผยแพร่ธรรมะเบื่องต้นอย่างง่ายๆ ในรูปแบบต่างๆ.
[Add satipanya's blog to your web]