Group Blog
 
All Blogs
 

“สวัสดีปีใหม่”...ปีใหม่ของคุณ ของผม หรือของใคร?

“๕...๔...๓...๒...๑...สวัสดีปีใหม่คร้าบบบบ...”

พร้อมด้วยเสียงไชโยกึกก้องทั่วลานหน้าสถานีวิทยุชมชน วิทยุล้านนา ๙๗.๕ MHz. และคาดว่า หลาย ๆ ที่หลาย ๆ ทาง ก็คงจะมีลักษณะเดียวกัน คือสังสรรค์กันไป พร้อม ๆ กับเวลาของปีเก่าที่ถอยหลังไปเรื่อย ๆ และเวลาของปีใหม่ก็เดินหน้าเข้ามาประชิดทุกขณะ หากว่าใครได้เปิดวิทยุรับฟังทางคลื่นนี้ในวันนั้น คงจะได้ฟังบรรยากาศการถ่ายทอดการสังสรรค์ พร้อมกับการนับถอยหลังสู่ศักราชใหม่ไปพร้อม ๆ กัน



ผมอยู่ร่วมส่งท้ายปี ๒๐๐๕ และต้อนรับปี ๒๐๐๖ กับเหล่านักจัดรายการวิทยุชมชน ๙๗.๕ MHz. และกลุ่มมิตรแก้วสหายคำคนฟัง ทั้งร่วมสนุกแลกของขวัญ ปาร์ตี้ และจัดรายการไปด้วย นับว่าไม่แปลกอะไรกับภาพลักษณาการแบบนี้ ที่เรามักจะได้พบได้เห็นกันในโอกาสสำคัญต่าง ๆ ทั้งวันสำคัญของไทย ของจีน ของฝรั่ง ไม่ว่างานไหน ๆ เราก็รับมาและปรับให้เข้ากับวิถีทางของเราได้เสมอ (แต่จะมีพลังแค่ไหนนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่ง)

และเป็นไปในแบบแผนเดียวกันทั้งหมด คือ “สังสรรค์” กัน อันเป็นจุดสุดท้ายในแต่ละเทศกาลเสมอ ๆ ฉะนั้นไม่ว่าจะอยู่ที่ไหน ก็ร่วมสังสรรค์ได้เช่นกัน เพียงแต่ขณะนั้น ที่แห่งนั้นเราร่วมสังคมกับใครก็เท่านั้น

ทำให้หลาย ๆ คนมักจะถามผมว่า “ปีใหม่นี้ไปแอ่วที่ไหน?” หรือว่า “ไม่กลับบ้านหรือ?”

ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากวันหยุดยาวติดต่อกันถึง ๔ วันเลยทีเดียวสำหรับเทศกาลปีใหม่ของปีนี้ที่ผ่านมา ทำให้หลายคนเดินทางท่องเที่ยวกันตามสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ กันมากมาย ดังจะเห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์ ที่ว่านักท่องเที่ยวมากางเต็นท์กันที่ดอยอินทนนท์กันแน่นขนัด หรือว่าเกิดรถติดกันอย่างมโหฬารที่ถนนห้วยแก้วขาขึ้นดอยสุเทพ ด้วยผู้คนแห่แย่งกันที่จะไปเที่ยวดอยสุเทพกัน และที่สำคัญป้ายทะเบียนรถส่วนใหญ่เป็น “กรุงเทพมหานคร” แทบทั้งนั้น

หยุดยาวนี้คงจะเอื้อให้คนกรุง ที่ต้องเผชิญกับการแข่งขันกันทุกเศษเสี้ยววินาที ได้มีโอกาสที่จะแวะพักหายใจและเติมพลังกายพลังใจในการออกมาเที่ยวครั้งนี้ ....แต่แน่นอนก็ย่อมที่จะหลีกไม่พ้นการแก่งแย่งแข่งขันกันอีก คือการ แข่งกันกิน แย่งกันเที่ยว นั่นเอง .... ผมว่าเราพักผ่อนอยู่ที่บ้าน ทำวันหยุดให้เป็นวันหยุดจริง ๆ จัง ๆ ไม่ได้เชียวหรือ ถึงแม้ว่าเราจะไปเที่ยวตามสถานที่ต่าง ๆ ก็คงไม่เห็นความสวยงามของธรรมชาติเท่าไรนัก ด้วยว่ามองไปทางไหนก็มีแต่ “คน” กับ “คน” ฉะนั้นจึงทำให้ผมไม่ออกไปเที่ยวตามอย่างที่หลาย ๆ คนทำกัน

หากไม่เที่ยวกันในช่วงนี้ หลายคนก็จะกลับบ้านกัน แต่สำหรับผมนั้นไม่ได้กลับ... ไม่ใช่ว่าจะไม่เห็นความสำคัญของทางบ้าน แต่ที่ผมไม่ค่อยเห็นความสำคัญนั่นคือ วันขึ้นปีใหม่ วันที่ ๑ มกราคม นี่ต่างหาก

ทำไมผมจึงกล่าวเช่นนั้น ก่อนอื่นของเท้าความถึงความเป็นมาของ “วันขึ้นปีใหม่” กันเสียก่อน

ตอนแรกเริ่มเดิมทีนั้นไทยเราถือว่า วันแรม ๑ ค่ำ เดือนอ้าย เป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทย ซึ่งชื่อเดือนก็บ่งบอกอยู่แล้วว่า เป็นเดือนที่หนึ่งตามการนับเดือนทางจันทรคติของไทยแต่เดิม การเริ่มปีใหม่ในเดือนอ้ายนี้ ปัจจุบันก็แทบจะห่างหายไปจากสำนึกของคนไทยส่วนใหญ่ไปแล้ว แต่ประเพณีการเริ่มปีใหม่ในเดือนอ้ายนี้ถูกฟื้นฟูกันมาในกลุ่มไทยใหญ่ แต่ว่าการนับวันที่เริ่มปีใหม่จะต่างกันไป คือปีใหม่ของไทยใหญ่นั้นถือเอาวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือนเจ๋ง (หรือเดือนเจี๋ยง...ซึ่งก็คือเดือนอ้าย) นั่นเอง

ต่อมา วันขึ้นปีใหม่ของไทยก็เปลี่ยนอีกครั้ง คือเปลี่ยนมาเป็นวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ตามคติพราหมณ์ และต่อมาก็เลื่อนมาเป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายจากราศีมีน เข้าสู่ราศีเมษ หรือที่รู้จักกันดีคือวันตรุษสงกรานต์ อันเรารับมาจากอินเดียอีกต่อหนึ่งและถือเป็นวันเปลี่ยนศักราชในระบบ “จุลศักราช” ซึ่งเราได้ใช้กันมานาน ดังจะเห็นได้จากจารึก ตำนาน และพระราชพงศาวดารในอดีต ซึ่งอิทธิพลของวันสงกรานต์มีอยู่สูงมาก ทั้งคนไทย ล้านนา ลาว ตลอดไปถึงไทลื้อที่สิบสองปันนาด้วย ซึ่งจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า

ในปีพ.ศ. ๒๔๓๒ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ ๑ เมษายน ซึ่งใช้กันมาถึง พ.ศ. ๒๔๘๔ เพราะมีการประกาศลงไว้ วันที่ ๒๔ ธันวาคม ว่าหลังจากนี้ เปลี่ยนวันขึ้นปีใหม่มาเป็นวันที่ ๑ มกราคม ของทุกปี ให้เหมือนกันกับนานาประเทศ ในสมัยของจอมพล ป. พิบูลสงคราม ซึ่งใช้สืบเนื่องกันมาถึงปัจจุบัน

และวันขึ้นปีใหม่ในวันที่ ๑ มกราคม นี่เองที่ทำให้ผมไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมันเท่าไรนัก เพราะผมถือว่า “ไร้จิตวิญญาณ” ในตัวของมันเอง

ด้วยเรารับวัฒนธรรมการขึ้นปีใหม่มาจากตะวันตกมาหกสิบกว่าปีมานี่เอง จึงซึมเข้าไปสู่กระแสธารแห่งวัฒนธรรมที่ไหลล่องมาแต่อดีตอันยาวนานยังไม่ได้ เพราะอาจยังไม่มีรูปแบบของพิธีกรรมที่เข้มข้นเหมือนตอนสงกรานต์ ถึงแม้ว่าปัจจุบัน จะพยายามที่จะสร้างพิธีกรรมในช่วงปีใหม่สากลนี้ขึ้นมา เช่นว่า การทำบุญตักบาตรในเช้าวันที่ ๑ มกราคม การไปไหว้พระ (๙ วัด) เพื่อเป็นสิริมงคล หรืออย่างที่ผ่านมาที่เชียงใหม่ ก็มีการจัดงาน “ส่งท้ายปีเก่าวิถีไทย ขึ้นปีใหม่วิถีพุทธ” ขึ้นที่วัดพระธาตุดอยสุเทพ หรือที่วัดพระสิงห์ก็ตาม แต่ก็ไม่ค่อยมีพลังทางวัฒนธรรมเท่าไรนัก เพราะผู้คนส่วนใหญ่เน้นอยู่ที่ “การกิน” และ “การเที่ยว” อยู่สองประการ

เมื่อมองกลับไปดูวันขึ้นปีใหม่ในวันสงกรานต์นั้น มันล้วนเต็มไปด้วยพิธีกรรม ซึ่งทางไทยสยามนั้นอาจมองไม่ชัดเท่าวัฒนธรรมทางล้านนา ถึงแม้ว่าจะรับเอาวัฒนธรรมอันมีแบบแผนมาจากทางพราหมณ์ก็ตามที ดังเช่นเรื่องราวตำนานวันสงกรานต์จากเรื่องของธรรมบาลกุมาร และนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด และการทำนายทายทักต่าง ๆ จากหนังสือประกาศสงกรานต์

ส่วนทางวัฒนธรรมล้านนา ได้สร้างองค์ความรู้ขึ้นใหม่โดยไม่มีนางสงกรานต์ทั้งเจ็ด แต่มี “ขุนสังกรานต์” (หรือ ขุนสังขานต์) พร้อมทั้งมีการทำนายทายทักไปตามลักษณะขุนสังขาน ว่าผีเสื้ออยู่ที่ไหน อะไรเป็นพระญาแก่อะไร ซึ่งทั้งหมดล้วนแต่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิต เช่นเอาไม้ที่ขวัญข้าวสถิตอยู่ไปทำไม้คันแรกข้าวในนา เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีพิธีกรรมต่าง ๆ มากมายตั้งแต่วันสังขานต์ล่องหรือวันตรุษของไทยกลาง ที่จะต้องทำความสะอาดบ้านเรือนและตนเอง ซึ่งในหนังสือปีใหม่หรือหนังสือประกาศสงกรานต์บอกแม้กระทั่งว่า ให้สระผมหันหน้าไปทิศไหน ศรีอยู่ตำแหน่งไหน จัญไรอยู่ตำแหน่งไหนในร่างกาย จะได้เสริมและชำระได้ถูกเลยทีเดียว วันเน่าก็จะเป็นวันที่ระมัดระวังในเรื่องการกระทำ และวันพระญาวันหรือวันเถลิงศก อันถือว่าเป็นวันที่สำคัญที่สุด พิธีต่าง ๆ จะทำกันในวันนี้ โดยไปวัดทำบุญ ถวายเจดีย์ทราย ทานทุง ทานไม้ค้ำโพธิ์ ฯลฯ ถัดนั้นก็จะเป็นวันปากปี ซึ่งก็มีการทำบุญสะเดาะเคราะห์ ทั้งคนในครอบครัว และหมู่บ้าน เป็นต้น ทั้งนี้จะเห็นได้ว่าในวันสงกรานต์ประกอบไปด้วยความเชื่อและพิธีกรรมมากมาย มีความหมายในฐานของตัวปัจเจกเองด้วย และมีความหมายในฐานของคนทั้งสังคมอีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงพลังทางวัฒนธรรมที่ได้สั่งสมกันมาจนถึงปัจจุบัน วันสงกรานต์หรือปีใหม่ไทยหรือปีใหม่เมือง ก็แล้วแต่ จึงเป็นวันที่สำคัญที่สุดในรอบปี

เมื่อมีความหมายถึงผู้คนในสังคมแล้ว ในวันสงกรานต์นี้จึงทำให้คนส่วนใหญ่เดินทางกลับบ้าน ไปอยู่ร่วมกันกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายายที่บ้าน เพราะมีกิจกรรมที่ทำร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมข้าวของไปวัดไปวา การดำหัวผู้เฒ่าผู้แก่ ที่บางทีก็ไม่ได้หมายถึงเฉพาะเพียงญาติตนเองเท่านั้น แต่จะรวมถึงผู้หลักผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ฉะนั้นจึงเป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างผู้คนที่อยู่ในสังคมทั้งหมดให้เข้มแข็งไปในตัว สิ่งนี้เป็นสิ่งที่วันที่ ๑ มกราคมนั้นยังไม่สามารถที่จะเข้าไปถึงจุดนั้นได้เลย

ปีใหม่เมืองหรือสงกรานต์ จึงมีความหมายมากกว่าปีใหม่สากลอย่างที่เทียบกันไม่ติด และทำให้ปีใหม่ที่ผ่านมาจึงรู้สึกเพียงแค่ เป็นวันหยุดอีกวันหนึ่งที่เพิ่มขึ้นมาจากเสาร์ – อาทิตย์ เท่านั้นเอง ส่งผลทำให้ผมจึงสนุกสนานกับการสังสรรค์ไปตามฐานอันควรแก่วันหยุดทั่ว ๆ ไป ไม่มีกิจกรรมอะไรที่เป็นพิเศษไปจากวันหยุดประจำสัปดาห์เลยแม้แต่น้อย

๑ มกราคมที่ผ่านมาสำหรับผม คือวันแรกที่จะต้องเปลี่ยนเลข พุทธศักราช และคริสต์ศักราช เป็น ๒๕๔๙ และ ๒๐๐๖ ในเอกสารต่าง ๆ ก็เท่านั้นเอง

แล้วคุณล่ะ เห็นว่าอย่างไรกับคำว่า “ปีใหม่”? ๚๛




 

Create Date : 20 มกราคม 2549    
Last Update : 20 มกราคม 2549 1:38:22 น.
Counter : 788 Pageviews.  

หนังสือปีใหม่เมือง ประจำปีรวายเส็ด จุลศักราช ๑๓๖๘ ตัว



หนังสือปีใหม่เมือง ประจำปีรวายเส็ด จุลศักราช ๑๓๖๘ ตัว


หนังสือปีใหม่เมืองล้านนา ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๔๙ – ๒๕๕๐ จุลศักราช ๑๓๖๘ ตัว ปีรวายเส็ด ฤๅว่าปีจอ อัฐศก ปีนี้ สังขานต์ล่อง เดือน ๗ เหนือ แรม ๑ ค่ำ พร่ำว่าได้วันศุกร์ที่ ๑๔ เมษายน ๒๕๔๙ วันไทก่าเร้า วันเน่า คือหากได้วันเสาร์ ๑๕ เมษายน วันไทวันกาบเส็ด วันอาทิตย์ที่ ๑๖ เมษายน วันไทดับไค้ เป็นวันพระญาวัน ในวันสังขานต์ล่องนั้น หื้อไปสู่สระน้ำใหญ่หนทางไคว่สี่เส้น ฤๅต้นไม้ใหญ่ กระทำการสระเกล้าดำหัวเป็นสิริมังคละ สระเกล้าดำหัวหื้อเบ่นหน้าเฉพาะหนวันออก แล้วหื้อนุ่งผ้าผืนใหม่ เหน็บดอกกาสะลองอันเป็นพระญาดอกประจำปี จักวุฒิจำเริญแล สังขานต์ไปวันศุกร์ ขุนสังขานต์ทรงเครื่องอันขาว เสด็จนั่งมาบนหลังควาย มีแก้ววิทูรย์เป็นเครื่องประดับ สุบกระโจม ต่างกระจอนหู มีมือสี่มือ มือขวาบนถือแว่น มือขวาลุ่มถือหมากนับ มือซ้ายบนถือผาลา มือซ้ายลุ่มพาดตักไว้ เสด็จลีลาจากหนอาคเนย์ไปสู่หนพายัพ นางเทวดาชื่อลิตา ถือดอกกาสะลองอันเป็นดอกไม้นามปี มานั่งอยู่ถ้ารับเอาขุนสังกรานต์

ปีนี้นาคหื้อน้ำ ๓ ตัว ฝนตก ๒๐๐ ห่า ตกในมหาสมุทร ๑๐๑ ห่า ตกในป่าหิมพานต์ ๖๓ ห่า แลในปีนี้ หนูรักษาปี จามรีรักษาป่า มังกรรักษาน้ำ อาฬวกยักษ์รักษาอากาศ จัณฑาลเป็นใหญ่แก่คนทังหลาย นกเคล้าเป็นใหญ่แก่สัตว์สองตีน หนูเป็นใหญ่แก่สัตว์สี่ตีน ไม้ถบถาบเป็นใหญ่แก่ไม้จริง ไม้ซางเป็นใหญ่แก่ไม้กลวง แขมเป็นใหญ่แก่หญ้าทังหลาย ผีเสื้ออยู่ไม้กระเชาะ อย่าได้สับ ฟัน บั่น ตัด จักเป็นอุบาทว์ ขวัญเข้าอยู่ไม้บ่าทัน หื้อเอาไม้บ่าทันเป็นคันข้าวแรก ไม้เดื่อเกลี้ยงเป็นพระญาไม้ หื้อเอากิ่งแลใบเดื่อเกลี้ยงมาผูกมัดติดเสาเอก เสานาง เสาบ้าน เสาเรือน จักวุฒิจำเริญดี ปีนี้ข้าวปีปานกลาง ลูกไม้แลผักสมบูรณ์ดี คนทังหลายอยู่ดีมีสุข หาทุกข์บ่ได้ แลปีนี้กระทำการใดจักสัมฤทธิ์แล ศาสนาพระเจ้าล่วงไปแล้ว ๒๕๔๘ พระวัสสา อนาคตะยังอยู่แถม ๒๔๕๒ พระวัสสา จักบัวรมวล ปริโยสานสมัตตา

สนั่น ธรรมธิ
พยากรณ์




 

Create Date : 11 มกราคม 2549    
Last Update : 11 มกราคม 2549 23:40:26 น.
Counter : 2057 Pageviews.  

เก็บของเก่า มาเล่าใหม่ : ไหว้สาพระธาตุ ด้วยเบื้องบาทไต่เทียว

วันนี้นับได้ว่าเป็นวันดีอีกวันหนึ่งที่ตั้งใจจะเดินขึ้นดอย....ครับ เดินขึ้นดอย ดอยสุเทพนี่แหละ ความจริงกะจะขึ้นตั้งแต่วันอาทิตย์แล้วล่ะครับ แต่เจอโรคเลื่อน ....อิอิ เพราะว่า ไม่มีใครไปด้วย วันนี้ น้องในมอสอบเสร็จ ก็เลยถือโอกาสอันดีนั้น ขอร้องแกมบังคับให้ขึ้นดอยด้วยเลย

เช้านี้ กว่าจะได้ขึ้นดอย ก็ปาเข้ายามแตรสู่เที่ยง (9 โมงเกือบครึ่ง) ก็เลยเดินลัดเลาะขึ้นไปตามวัดฝายหิน ขึ้นไปตามทางที่ไป สถานีทวนสัญญาณช่องเจ็ด ผ่านประตูด้านหลังของสวนสัตว์ขึ้นไป เมื่อใกล้จะถึงสถานีทวนสัญญาณนั้น จะมีทางแยกเล็ก ๆ ตรงมุมโค้งพอดี เป็นทางเดินศึกษาธรรมชาติผาลาด

มุ่งเข้าไปยังตรงทางแยกนั้น ลัดเลาะป่าไม้พงหญ้าเข้าไป ทางเดินก็ไม่ได้รกอะไรมาก เพราะเป็นเส้นทางเดินอยู่แล้ว อย่างเห็นได้ชัด ป่าโปร่งโล่ง แดดร้อน ทำเอาเหงื่อไหลไคลย้อย จึงต้องเอาผ้ามาพันหัวเพื่อกันเหงื่อที่จะไหลลงมา...

บ้างก็ไต่ขึ้นสูง บ้างก็ไต่ลานหินขึ้นไป...ทางไหนโล่ง ๆ ไม่มีหญ้าเราก็ไปทางนั้นบางครั้งเมื่อมองเหลือบไปทางขวาเมือก็จะเห็น มช. อยู่โดดเด่น เห็นอ่างเกษตรสะท้อนสีฟ้าของท้องฟ้าอยู่เบื้องล่าง

เดินไปเรื่อย ๆ จนเจอะทางแยก ซ้าย กับ ขวา ...เป็นสองทาง

เอาสิ...จะซ้าย รึจะขวา .... ในทึ่สุดก็เดินทางซ้ายมือ

จากป่าที่โล่ง ก็เรื่องทึบด้วยต้นไม้หนาตาขึ้น เป็นต้นพลวง ต้นเต็ง เสียมากต่อมาก ..ต้นหญ่าเรียงรายอยุ่สองข้างทาง เว้นทางเดินไว้ตรงกลาง โรยด้วยก้อนกรวดเล็ก ๆ บางแห่งก็เป็นทางน้ำที่กัดเซาะยามเมื่อฝนลงมา

เมื่อเดินผ่านไปช่วยหนึ่งมีทางแยกเล็ก ๆ ซ้ายมือ มองเข้าไป ก้เห็นร่มไผ่ไม้ครึ้ม .... พอเลยทางแยกไป ไม่เกินห้าก้าว เหมือนมีอะไรสะกิดใจ เพราะมันดุเหมือนจะเป็นเนินเล็ก ๆ ที่เป็นระเบียบอยู่สักหน่อย จึงหันหลังกลับ เดินเข้าไปตามทางแยก.....

สิ่งที่ปรากฏอยู่เบื้องหน้า คือแลง...ศิลาแลง ที่เรียงซ้อนกันขึ้นไปสูงประมาณ 1 เมตรได้ เมื่อกวาดสายตามองไป เป็นแนวที่เรียงไว้อย่างเป็นระเบียบ โดยรอบ 4 ด้าน ข้างบนเป็นลานดิน ที่ตอนนี้มีต้นไม้ ต้นหญ้าขึ้นเต็มไปหมด ตอนนั้นด้วยความรู้สึกว่า "ใช่แน่แล้ว... ต้องเป็นวัดที่ตามหาแน่ ๆ...วัดโสดาบัน"

เมื่อเดินเลาะบริเวณที่คิดว่าเป็นส่วนฐานของอาคาร อ้อมไปด้านหน้า...จะเห็นเป็นบันไดเตี้ย ๆ ชั้นล่าง ๆ จะก่อเสริมด้วยดินกี่...อิฐ เรียงไว้ ส่วนขั้นข้างบนเป็นแลง วางไว้เป็นขั้น ข้าง ๆ เป็นปูนคล้ายราวบันไต ที่วางตัวทอดตามแนวบันได บางส่วนก็หัก นอนอยู่ไม่ไกลกัน



เมื่อยกมือบอกกล่าวเจ้าที่เจ้าทางแล้ว ก็เดินขึ้นบันไดไปข้างบน เป็นลานที่กว้างขวางพอสมควร หากมีเสาค้ายันมีหลังคาครอบไว้ คงจะยิ่งใหญ่ไม่แพ้วัดที่อยู่ในเวียงเลย เมื่อฝ่าพงหญ้าที่สูงเกือบขาเข้าไป ... บางช่วงก็เป็นคล้ายที่มีคนมาทำกิจกรรมเหมือนแคมป์ไฟ เนื่องจากมีแลง มาวางไว้เป็นวงกลม คาดว่าน่าจะเอามารองนั้ง ตรงกลางวง เห็นเป็นเศษเถ้าอยู่เล็กน้อย มีแลงวางก่ายกันไว้สองสามก้อน และมีผางประทีษ...ผางประทีป วางไว้หลายสิบชิ้น

เมื่อผละจากตรงนี้ ก็หันเหความสนใจไปที่ใต้พุ่มไผ่ ที่นั่นเป็นกองแลง ที่กองสุมกันไว้ เหมือนมีใครเก็บมากองไว้ ข้าง ๆ กองนั้นมีหลุมคล้ายรอยคนขุดหาอะไรสักอย่าง และใกล้ ๆ กันนั้น มีกองเศษหินปูนที่ใช้ก่อสร้าง กองไว้กองหนึ่ง ไม่ทราบว่ามีใครจะเตรียมทำอะไรกับพื้นที่ตรงนี้ ถัดไป ก็เห็นเป็นเศษปูนที่หัก วางอยู่ สามสี่ชิ้น บนชิ้นปูนนั้นมีริ้วรอยขีดเหมือนลวดลาย เมื่อวางต่อกัน ก็มองคล้ายกับจะเป็นรูปกลีบบัวก็ถ่ายรูปเก็บไว้สองสามรูป ก็เดินสำรวจไปเรื่อย ๆ บนเนินนั้น

เมื่อหนำใจแล้วก็เดินลงบันได ไปบริเวณหน้าวิหาร เป็นลานโล่ง มามองดูข้างวิหาร ตรงมุมด้านตะวันออกเฉียงใต้ ก็เห็นผ้าเหลืองผ่านไปแว๊บ ๆ แต่ก็ไม่ได้สนใจอะไรนัก จึงหันไปมองทางอื่นต่อไกลออกไปไม่กี่ก้าว ก็เป็นหลุม...ไม่สิ เหมือนร่องน้ำมากกว่า หากแต่ไม่คล้ายกับร่องน้ำธรรมชาติ ต้องเป็นฝีมือคนขุดแน่นอน

หลังจากที่พิจารณาถ้วนถี่ดีแล้ว (หรือเปล่าก็ไม่รู้) ก็เดินออกมาทางเดิม เดินลัดต่อไปตามทาง

เสียงจักจั่นร้องระงม ผสานเสียงน้ำตกที่ดังมาจากด้านขวามือ ยิ่งเดินเข้าไป อากาศเริ่มชื้นขึ้น เพราะใกล้กับธารน้ำ ต้นไม้เขียวขจีโบกใบอยู่ไหว ๆ จากที่เหงื่อไหลใคลย้อยเมื่อครู่ ก็เริ่มเย็นสบาย แต่ยังไม่หายเหนื่อย เพราะต้องเดินต่อไป

ทุเจ้าสองตน โผล่ออกมาตามข้างทางพอดี ตนหนึ่งถือคล้ายหลุมกะบะเพาะกล้า อีกตนหนึ่งถือไท่...กระสอบ ตามติด

"ไหว้สาครับผม"

"ใครน่ะ" ท่านถามมาเป็นภาษาไทย

"นักศึกษาใน มช.นี้ครับผม"

"แล้วมาทำไม"

"มาเดินเที่ยวครับผม...แล้วท่านลอครับมาปลูกเค้าไม้กาครับ"

“อ้อ...มาเก็บสมุนไพร”



ว่าแล้วทุเจ้าทั้งสองตนก็เดินนำหน้าไปตามทางที่ทอดยาวไป บางแห่งเบื้องซ้ายก็ร่องน้ำ เบื้องขวาเป็นทางลาดชันลงไปยังน้ำตกเบื้องล่าง ที่ตอนนี้ได้ยินเสียงน้ำตกกระทบผาดังตลอดทาง ความเย็นชื้นของบรรยากาศทำให้รู้สึกสบายตัวอย่างมาก...มัวเดินชมไม้ใบหญ้าตามรายทาง เมื่อมองอีกที อ้าว!! ทุเจ้าหายไปแล้ว

แวะพักกันอยู่ที่จุดพัก เบื้องหลังมีธารน้ำตกเล็ก ๆ นั่งมองสายน้ำตกไปพลาง แต่หูได้ยินเสียงน้ำตกอีกฟากหนึ่ง ผสานกับเสียงจักจั่นที่ร้องระงมป่า...

เอาล่ะ...หลังจากที่หายเหนื่อยแล้วก็เดินทางต่อได้ เมื่อไต่บันไดหินขึ้นไปสักครู่ ก็เห็นหน้าผาที่ลาดลงไปเบื้องล่าง มีสายน้ำที่ไหล่หลั่งลงไปเป็นสาย เบื้องหน้ามองเห็นเจดีย์และวิหารหลังใหม่...ใช่ครับ ตอนนี้มาถึงวัดผาลาด...วัดสกิทาคา

ทางเดินเลียบหน้าผาที่เงื้อมง้ำอยู่ข้างบน ขึ้นไปอีกหน่อยจะเป็นทางเก่า ที่ตอนนี้เหลือเพียงช่วงเดียว คล้ายกับเป็นส่วนหนึ่งของสะพาน เพราะพื้นเรียบ ไม่เป็นขั้นและมีราวสะพานให้จับ ช่วงนี้นับว่าสมบูรณ์ที่สุด ก็เลยเดินผ่านเข้าไป ข้างหน้ายังมีพื้นสะพานเดิม ที่ถูกน้ำพัดตัดขาดมานานมาแล้ว เพราะมีทั้งสองฟาก ฟากที่เป็นเพิงผานี้มีพระพุทธรูปศิลปะม่าน...พม่า อยู่เรียงรายอยู่หลายองค์ ตรงฐานพระ มีรูปสลักมองเห็นเป็นรูปคน และรูปสิงห์

เมื่อข้ามลำน้ำไปแล้วจะเห็นซุ้มที่ก่ออิฐถือปูน และมีลวดลายปูนปั้นบางส่วน แต่รูปทรงแล้ว ค่อนไปทางศิลปะทางอังกฤษ ซึ่งอาจจะเข้ามาในช่วงที่อังกฤษครอบครองพม่าแล้วก็เป็นได้ เมื่อเข้าไปดู เห็นว่า ข้างในเป็นบ่อน้ำทิพย์

จากนั้นก็ขึ้นไปที่วิหารวัดผาลาด (สกิทาคา) เป็นวิหารสร้างใหม่ เล็ก ๆ กะทัดรัด ดูสงบร่มเย็นเหมือนกับธรรมชาติที่อยู่รอบด้าน



ด้านหลังวิหาร เป็นเจดีย์รูปทรงพม่า มีสิงห์ ๔ ตัว อยู่กันตัวละมุม ด้านใต้ขององค์เจดีย์ มีโขงพระเจ้าอยู่ และมี “มอม” มอบราบอยู่ตรงฐานทางขึ้น

เมื่อมองขึ้นไป ทั้งสี่มุม จะมีรูปปูนปั้นของ “นรสิงห์” ที่มีกายเป็นสิงห์ แต่ตัวและหัว เป็นคน เฝ้าองค์เจดีย์อยู่ จึงได้กราบลาองค์เจดีย์มา

เมื่อเหลือเห็นโรง...กุฏิหลังน้อยที่อยู่ข้าง ๆ วิหาร ก็เจอทุเจ้า ๓ ตนอยู่ที่นั่น และ ๒ ใน ๓ นั้น เป็นตนเดียวกับที่เจอในป่า

ก็เลยเข้าไปไหว้สา ซักถามข้อสังกาสักเล็กน้อย

ด้วยความสังกาตั้งแต่เมื่อครู่ จึงเข้าไปสอบถามจากสวาธุเจ้า ว่า กองแลงเมื่อครู่นั้นใช่วัดโสดาบันจริงหรือเปล่า...คำตอบที่ได้ ทำเอายิ้มออกได้ ว่าที่นั่นเป็นวัดโสดาบันจริงๆ หรือมีอีกชื่อว่าวัดสามยอบ เพราะช้างเผือกที่อัญเชิญพระธาตุขึ้นไปนั้น ทำการยอบพักตรงนั้น ๓ ที ส่วนร่องน้ำที่เห็นนั้น เป็นสระน้ำเดิม

จากนั้นช้างเผือกก็กระทำกริยานั้นอยู่ ๒ ที่ แล้วไปสิ้นใจตายบนบริเวณพระธาตุดอยสุเทพปัจจุบัน

ที่ที่ ๒ นั้นก็คือ บริเวณวัดผาลาดแห่งนี้

เมื่อดูเวลา ก็ได้เวลาที่ท่านต้องฉันเพลแล้ว ก็จึงต้องกราบลาเดินทางต่อไป... ตามสายน้ำตก ขึ้นไป...ขึ้นไป

ทางเดินออกจากผาลาดนั้น ต้องไต่ตามน้ำตกขึ้นไป เสียงเสนาะของลำน้ำ ชวนให้เพลิดเพลิน พาใจออกห่างหายจากความเหนื่อยเมื่อยล้าได้มากโข... สายน้ำสีขาวที่พราวพร่างทอดลงจากหน้าผานั้น ดูสวย สง่า จึงต้องหยุดแวะดึ่มด่ำกับความงามก่อนเดินทางต่อ

เส้นทางต่อไปลาดชัน แต่ก็มีทางที่ทำเอาไว้เป็นขั้นบันได ค่อย ๆ ก้าว ค่อย ๆ ไต่ ขึ้นไป บางแห่งยังเห็นเป็นเศษเชือกที่มัดไว้กับต้นไม้เพื่อใช้โหนตัวขึ้นไป บางแห่งยังเห็นเป็นแท่งเหล็กที่ปักกับดิน ราวกับใช้ยึดอะไรสักอย่างหนึ่ง เพื่อโหนตัวขึ้นไปข้างบน... เสียงเครื่องยนต์ครางกระหึ่มอยู่เบื้องหน้า สลับกับเสียงแตรรถที่กดดังมาเป็นระยะ ๆ

เมื่อขึ้นไปสุดทาง ก็ไปโผล่ตรงถนนลาดยางขึ้นดอยสุเทพ... ต้องเดินทางถนนลาดยางอีกประมาณ ๓๐ เมตร ก็จะถึงโค้งที่เป็นแหล่งพัก ริมน้ำตกเล็ก ๆ ริมทาง ก็เดินเข้าไปทางน้ำตกเป็นระยะทางร้อยกว่าเมตร ก็เห็นเป็นเศษสะพานเดิม แต่ทางข้างหน้ารก มองไม่เห็นทางเดินแล้ว ก็ต้องวกกลับออกมาตรงถนน แล้วลัดเลาะขึ้นไปตามทางที่สร้างไว้ใหม่ข้าง ๆ นั้น

ทางใหม่ที่สร้างนี้ เหมือนกับว่าจะขึ้นง่าย เพราะทำเป็นขั้นบันไดไว้ตลอด แต่ยิ่งขึ้น ก็ยิ่งชัน ไต่ขึ้นไปเรื่อย ๆ ไม่มีหยุดพัก

ดินลูกรังที่ถากเป็นขั้นบันได้นั้น แห้งแต่ไม่เปื่อยยุ่ย เพราะน้ำฝนในช่วงที่ผ่านมาทำให้เนื้อดินยังจับตัวกันแน่น บางแห่งเป็นทางน้ำไหลกัดเซาะเป็นร่อง บางแห่งกัดกร่อนจนเป็นหลุมลึกลงไป... ยิ่งไต่ขึ้นสูง ต้นไม้เป็นพวกไม้เ?ยง...พลวง เป็นส่วนไม้ ดอกเ?ยงร่วงโรยหล่นลงตามทาง ผสมกับป่าหญ้าที่ขึ้นระหว่างช่องว่างของต้นไม้ใหญ่

ทางเดินนั้น มองเห็นไส้เดือนตัวเล็กตัวน้อยค่อย ๆ คืบ ตัวไปข้างหน้าอย่างช้า ๆ แล้วยังมีอีกหลายตัวที่นอนตายกันในหลุมร่องน้ำนั้น

“ข้างบนนี้คงจะเย็นมากแล้วรึนี่...ไส้เดือนถึงออกจากดินมาตายกันมากเพียงนี้ ทั้งที่ข้างล่างยังไม่เห็นออกมาตายอย่างนี้เลย”

ซึ่งเป็นปกติของไส้เดือน ที่พออากาศเย็นลงเมื่อไหร่ ก็จะพากันออกจากดิน มาคืบคลานอยู่เหนือดิน แล้วตายในที่สุด ข้างบนนี้คงจะหนาวเย็นมากพอดี เพราะแค่ตอนกลางคืนตรงตีนดอย ยังเย็นเยือก

พอดีเหลือบไปเห็นไม้ไผ่ขนาดพอเหมาะที่จะเป็นไม้เท้าได้สบาย พิงกับต้นไม้อยู่ ก็เลยหยิบเอามาช่วยพยุงตัวเองเสียหน่อย เพราะตอนนี้ขาเริ่มจะไม่มีแรงยกแล้ว

ตะวันเคลื่อนมาตรงศีรษะทุกขณะ ตอนแรกกะจะพักกินข้าวที่น้ำตก แต่ก็ติดขัดบางประการ จึงต้องเดินเพื่อไปกินเอาข้างหน้า บางช่วงต้องใช้ไม้พยุงขึ้นไปเพราะขาเริ่มล้าแล้ว และต้องหยุดยั้งพักเป็นระยะ ๆ จากป่าแห้งหญ้าหนา ก็เริ่มร่มครึ้มด้วยไม้ใหญ่ กิ่งก้านแผ่ปกคลุมกว้างขึ้น จากดินที่เป็นดินลูกรังก็เริ่มดำ มีเศษใบไม้ปะปน เพิ่มความอุดมสมบูรณ์ขึ้นอีกมาก



แม้ทางจะชัน แต่ก็มีขั้นบันได้ให้ก้าวเดินขึ้นอย่างสะดวก บางช่วงมีไม้ล้มพาดขวางทาง แต่ก็ปีนป่ายข้ามไปได้อย่างไม่มีปัญหา บางช่วงมีลำไม้ไผที่มัดเป็นราวบันได้ให้จับขึ้น ... เสียงแตรรถดังอยู่เบื้องบน เป็นเสียงรถทัวร์คันใหญ่ และที่สำคัญต้องเป็นทางโค้ง ถึงต้องกดแตรกันตลอดอย่างนี้

เมื่อโหนตัวไต่ไปตามทาง ในที่สุดก็ขึ้นมาถึงข้างบน ตรงมุมโค้งขุนกันชนะนนท์ พอดิบพอดี

เป็นอันว่า วัดอนาคา ไม่เจอจนได้....เฮ้อ...

รถราที่วิ่งขวักไขว่ บ้างขึ้น บ้างลง ทำเอาน้องที่ไปด้วยนั้น งง อยู่พักใหญ่... ว่าขึ้นมาถึงตรงนี้เลยหรือ...

โค้งนี้ เด็ก มช. มักจะเรียกกันว่า โค้ง spirit เพราะเป็นโค้งที่ต้องวิ่งขึ้นทุกครั้ง ในตอนรับน้องขึ้นดอย ที่ทำเอาหลายต่อหลายคนเป็นลมพับไป

ก็เดินตามทางขึ้นไป แล้วหยุดพักเหนื่อยที่สวนตรงทางขึ้นพระธาตุฯ นั่นเอง ร่มไม้ครึ้ม ลมพัดเย็นสบาย พรมอ่อนนุ่มสีเขียว ช่วยทำให้หายเหนื่อยได้ดี ก็นั่งพักดื่มน้ำ และที่สำคัญ หยิบห่อข้าวที่เตรียมมาด้วย นั่งแกะกินกันตรงนั้น เพราะเวลาก็บ่ายโมงเข้าไปแล้ว

๓ ชั่วโมงกว่า ๆ ไม่ถือว่าช้า เพราะเล่นแวะตามทางเป็นนานสองนาน หากเดินกันจริง ๆ ก็ใช้เวลา ๒ ชั่วโมงก็ถึงได้ ไวกว่าเดินขึ้นทางลาดยางเสียอีก

เมื่อกินข้าวเที่ยงเสร็จแล้ว ก็เดินขึ้นไปบนพระธาตุ เมื่อมองขั้นบันไดที่ทอดขึ้นไปข้างบนนั้น ต้องพักเอาแรงข้างล่างอีกหลายอึดใจ ก่อนที่จะถ่อสังขารขึ้นไปทีละขั้น ๆ

สองเท้าก้าวขึ้นไป ส่วนอีกสองมือต้องสาวราวบันไดขึ้นไป เพราะลำพังสองขาตอนนี้ จะหมดแรงเอาดื้อ ๆ บางช่วงก็ต้องหยุดพัก หอบหายใจ... แต่อย่างไร ก็ต้องถึงข้างบนให้ได้สิ... สองเท้าจึงเก้าขึ้นบันไดทีละก้าว ๆ จึงถึงขนดอย ...

เมื่อถึงข้างบน ก็ถอดรองเท้า ขึ้นไปยังองค์พระธาตุ เข้าไปไหว้สารที่วิหารหลวงแล้วก็เข้าไปเวียนเทียนรอบองค์ธาตุ ซึ่งขณะนี้กำลังเข้าเฝือกบูรณะซ่อมแซมอยู่ จึงพนมมือขึ้นแล้วเวียนผัดตาสิน...ประทักษิณ รอบองค์ธาตุ สามรอบ...นอกลำเวียง เห็นลำเวียงที่เป็นรั้วสีแดงที่กั้นรอบองค์ธาตุ ชวนให้คิดถึง คุณระเบียบรัตน์เสียจริง ๆ ...

หลังจากเวียนเทียนแล้ว ก็ไปไหว้พระในวิหารด้านทิศเหนือ แล้วก็เดินชมรอบ ๆ พระธาตุ พร้อมกับสอดสายตาหาสิ่งหนึ่งอยู่

เมื่อเดินมาด้านตะวันออก...เห็นแล้ว นั่นไง อยู่นั่น สองตัว

แพะไม้แกะสลัก ๒ ตัว หมอบราบเฝ้าองค์ธาตุไว้ แพะนี้ เป็นตัวเพิ่ง หรือ?ประจำปีเม็ด หรือทางไทย – เขมร ว่าปีนักษัตรมะแม ด้วยพระธาตุดอยสุเทพนี้ เป็นพระธาตุประจำปีเกิดของผู้ที่เกิดปีเม็ด หรือปีมะแม หากคนที่เกิดปีนั้น ได้มาไหว้สาพระธาตุปีเกิดสักครั้งในชีวิต จะเกิดความสิริมังคละแก่ชีวิต...

รูปแพะนี้ ก็เหมือนรูปปั้นวัวที่วัดพระธาตุลำปางหลัง รูปเสือที่วัดพระธาตุช่อแร(แฮ) รูปกระต่ายที่วัดพราตุแช่แห้ง นั่นแล

จากนั้นก็มาเดินเที่ยวรอบเบื้องล่าง ซึ่งขณะนี้ มีผู้คนมากหน้าหลายมามาเที่ยววัดพระธาตุ ทั้งคนเมือง คนไทย และชาวกุลวาขาว เดินขวักไขว่สวนทางกันไปมา เมื่อเที่ยวชมข้าบนเสร็จแล้ว ก็เดินลงบันไดเหมือนเดิม แต่ครานี้ เดินลงได้โดยสะดวก ไม่เหนื่อยเหมือนตอนขาขึ้น ก้าวฉับ ๆ ลงบันได้ด้วยความเอมอิ่มอย่างยิ่ง

เมื่อเสร็จสิ้นแล้ว ก็จับมอเตอร์ไซด์ลงมา

ครานี้ ต้องแวะทีละแห่ง แห่งแรกคือบริเวณหอดูดาวสิรินธร ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

เมื่อขึ้นไปหอดูดาว ก็ไม่พบเห็นร่องรอยอะไรเลย แต่เมื่อสอบถามพี่ที่พักอยู่หอดูดาวนั้น บอกว่า ต้องข้ามถนนไปอีกฝั่ง ที่นั่นมีอิฐเก่าอยู่มาก เป็นวัดที่ครูบาสร้างเอาไว้ ทีนี้ ก็ต้องขี่รถลงไป แล้วจอดไว้ที่ศาลาริมทาง แล้วพาสองเท้าก้าวข้ามถนน ขึ้นไปบนเนินเล็ก ๆ นั้น เมื่อเดินขึ้นไปสักพัก ก็จะเป็นลาน ที่หันหน้าไปยังเมืองเชียงใหม่

ตอนแรกแทบจะหมดหวัง แต่เมื่อหันกลับไป ก็เกิดสะกิดใจที่พุ่มไม้พุ่มหญ้าที่อยู่บนลาน เหมือนกับว่าเป็นเนินเล็ก ๆ กอปรกับคล้ายเป็นหอเจ้าที่วางอยู่ ก็เลยเอะใจ คิดว่าน่าจะใช่แล้วล่ะ วัดอนาคา สมัยที่ครูบาสร้างถนน เมื่อเลียบไปด้านข้าง คล้ายกับเป็นแนวของพื้นวิหาร แต่หลังเล็กกว่าวัดโสดาบัน มาก เมื่อเข้าไปข้างใน จะเห็นเศษก้อนอิฐวางระเกะระกะไปทั่ว บางแห่งเป็นหลุมเหมือนจะเป็นร่องรอยการขุดหาอะไรสักอย่าง มีเศษอิฐเป็นชึ้น ๆ ไม่รู้ว่าตรงนั้นเป็นอะไร อาจจะเป็นบริเวณแท่นแก้ว...ฐานชุกชี ก็ได้

เมื่อพิจารณาถ้วนถี่แล้ว ก็ต้องยกมือไหว้สา ขอขมาเจ้าที่เจ้าแดน อารักษ์ที่รักษา เพราะเราไม่รู้ว่าการที่เราบุกรุกเข้าไปนั้น เจ้าที่เจ้าทางจะว่าอะไรหรือเปล่า เพื่อความสบายใจก็บอกกล่าวขมาลาโทษเสียหน่อย ที่ได้ข้ามที่ต่ำ ได้ย่ำที่สูง ไปแล้วนั้น

เมื่อลงมาจากบริเวณหอดูดาว ที่เรียกกันว่า ม่อนพระญาหงส์ ก็ขับเคี้ยวเลี้ยวมาตามทาง จนมาถึง ด่านป้องกันไฟป่า จึงขับมอเตอร์ไซด์หักเลี้ยวเข้าไป

เมื่อเข้าไป ถึงตัวสำนักงาน จะเห็นเด่นชัดมากว่า ตัวอาคารสำนักงานนั้น ตั้งอยู่บนเดินดินที่สูงประมาณเกือบสองเมตร บน,ฐานสี่เหลี่ยม มีหญ้าปกคลุมทั่วไป แต่เมื่อเข้าไปมองใกล้ๆ นั้น จะเห็นเศษอิฐเรียงซ้อนกัน

ใช่แล้วล่ะ ตรงนี้น่าจะเป็นวัดมาก่อน ... พอดีมีพี่เจ้าหน้าที่คนหนึ่งผ่านมา ก็เลยสอบถามว่า ตรงนี้ใช่เคยเป็นวัดร้างมาก่อนหรือเปล่า พี่เขาก็ใจดี อุตส่าห์ตอบคำถามให้ พี่เอาบอกว่า ตรงนี้เคยเป็นวัดร้างมาตั้งแต่สมัยสงครามโลกพู้นแล้ว แต่ไม่มีใครทราบประวัติที่แท้จริง

ถึงอย่างไร ตอนนี้ก็ปักใจว่า ตรงนี้น่าจะเป็นวัดสกิทาคา สมัยครูบาศรีวิชัยแน่นอน

แต่พี่เขาก็ยังบอกอีกว่า ตรงข้ามที่นี่ ที่เห็นเป็นเนินขึ้นไปนั้น ตรงนั้นว่ากันว่ามีวัดเก่าอยู่ เหมือนกัน มีเศษอิฐกองอยู่เต็ม... เมื่อได้ยินดัวนั้นก็ตาลุกวาวด้วยความดีใจ จึงพากันก้าวข้ามถนนตรงมุมโค้งหน้าด่านไฟป่า ค่อยก่าวขึ้นไปเพราะรอยที่สับไว้พอวางเท้าลงไปได้เท่านั้น ก็ต้องเหนี่ยวตัวกับต้นไม้ขึ้นไป ตอนนั้นแดดราแสงลงเต็มทีแล้ว ยิ่งเข้าไปต้นไม้ก็หนาทึบ และเย็นชื้น ใบไม้แห่งหล่นร่วงทับถม และหนาทึบ ก็ต้องฝ่าเข้าไป จนถึงที่หมาย

แทบจะบอกไม่ได้เลยว่าเป็นวัด มีแต่เศษอิฐกระจายอยู่ทั่วไป เมื่อเข้าไปอีกหน่อย จะเห็นร่องรอยแนวอิฐที่วางเรียงกันเป็นรูปสี่เหลี่ยม เล็ก ๆ กว้างยาวประมาณ ๔ เมตรได้ ซึ่งอาจจะเป็นซากของฐานเจดีย์เก่าก็เป็นได้

เมื่อพบแล้วก็ลัดเลาะกลับออกมาทางเดิม จนถึงเบื้องล่าง

จากนั้นก็จับรถต่อไป จุดมุ่งหมายก็คือวัดศรีโสดา นั่นเอง แต่ก่อนที่จะลงไปก็แวะสถานท่องเที่ยวตามรายทาง นั่นก็คือ ผาเงิบ ที่เป็นหน้าผาที่เงื้อมง้ำออกมา และมีธารน้ำตกที่ไหล เป็นธารห้วยแก้วที่ไหลเลาะลงมาจากดอยนั่นเอง เมื่อไหลเลาะจากผาเงิบลงไปก็จะไปเจอกับ วังบัวบาน อันเป็นตำนานรักอันเป็นที่รับรู้ของคนทั่วไป ซึ่งขณะนี้ มีผู้คนท่องเที่ยวมาเป็นกลุ่ม มาเป็นครอบครัวบ้าง หมู่คณะบ้าง สนุกสนานเฮฮา และรื่นรมย์ด้วยธรรมชาติอันงดงาม

จากนั้นก็มาแวะเที่ยวที่วัดศรีโสดา อันเป็นวัดโสดาบัน สมัยครูบาสร้างทางขึ้นดอยสุเทพ วัดนี้ เป็นวัดที่มีพระจำพรรษาอยู่มาก กอปรกับเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมด้วย มีเณรมาศึกษากันหลากหลาย ตอนนั้นเป็นตอนเย็นมากแล้ว โรงเรียนเลิก จึงเห็นพระ...เณร มานั่งรอรถกลับวัดอยู่กันสลอน



เมื่อเยี่ยมชมวัดศรีโสดาเรียบร้อยแล้ว ก็จับรถลงมาแวะไหว้สาครูบาท่านเสียก่อน บริเวณทางขึ้นดอยสุเทพ ที่ครูบาท่านได้สร้างขึ้นไปให้ผู้คนได้ไหว้สา

วันนี้แม้นว่าจะไม่ได้เห็นวัดอนาคา สมัยแรกเริ่ม แต่ก็ดีใจ ที่ได้พบได้เห็นอะไรต่าง ๆ มากมาย แม้นว่าทางจะยากลำบากและเหน็ดเหนื่อยเพียงไร หากว่ามีโอกาส ก็จะเดินขึ้นอีกครั้งแน่นอน

เดินขึ้นด้วยกันไหมครับ ....ครั้งหน้า

(จบ)




 

Create Date : 14 ธันวาคม 2548    
Last Update : 3 มีนาคม 2563 11:26:38 น.
Counter : 1308 Pageviews.  

แหล่งพำนักสุดท้ายของผู้สร้างนครเชียงใหม่



“ “เห็นหอมังราชเจ้า
สูงศักดิ์
ยังบ่ลืมอารักษ์ ราชไหว้
อังเชิญช่วยพิทักษ์เทียมที่ คะนึงรา
ยามม่อนมัวแกมใกล้ร่วมเร้าไชยบาล”


หอมังราชเจ้าที่ปรากฏในโคลงนิราศหริภุญชัยนี้ เป็นสถานที่แห่งเดียวกับหอพระญามังราย ที่กลางเวียงเชียงใหม่ อันเป็นอนุสรณ์สถานแห่งองค์ปฐมกษัตริย์แห่งนครพิงค์เชียงใหม่ ในคราที่พระญามังราย ชมตลาด ณ กลางเวียงเชียงใหม่ และได้ต้องอสนีบาตสวรรคต และ ณ สถานที่แห่งนั้นเอง พระญาไชยสงคราม หรือ มังครามราชบุตร ได้สร้างหอ และ กู่เล็ก ๆ ไว้เป็นที่บูชา
แต่กาลเวลาล่วงเลย มาได้ เกือบ ๗๐๐ ปี หอพระญามังราชผู้ยิ่งใหญ่ ณ บัดนี้ใม่มีแม้ที่ทางให้ผู้ไปกราบไหว้สักการะ ด้วยซุกซ่อนอยู่ในที่ของเอกชน หอดูหมองเหงา เงียบงัน แม้แต่คนเชียงใหม่เองก็ยังไม่ทราบว่า หอพระญามังรายมีอยู่ ส่วน “กู่” ที่พระญาไชยสงครามได้สร้างไว้นั้น ถูกรื้อร้างถางหักไปนานแล้ว ไม่เหลือร่องรอย
และเรา ในฐานะ ผู้ที่อาศัยเมืองนพบุรีศรีนครพิงค์เชียงใหม่แห่งนี้ จักปล่อยไว้อย่างนี้กระนั้นหรือ?




 

Create Date : 03 สิงหาคม 2548    
Last Update : 3 สิงหาคม 2548 19:02:56 น.
Counter : 783 Pageviews.  

ได้ฤกษ์ขึ้นบ้านใหม่แล้ว

กว่าจะเข้ามาได้เขียนได้ ทำเอาเหงื่อตกไปหลายแหมะ... ก็หาทางเข้ามาในแต่ละขั้นแต่ละตอนนี่แหละ โอยย....จะเปนลมเสียให้ได้

แต่ก็เข้ามาเขียนได้แล้วล่ะ วันนี้คงไม่มีอะไรมากมากนักที่จะมาเขียนสาธยายอะไรหลาย ๆ อย่าง (แต่ไม่ถึงกับ "แฉ" ไปตามกระแสหรอกนะ 555) เพราะช่วงนี้เหตุการณ์ไม่ค่อยเป็นปกติเท่าไรนัก เพราะอยู่ในช่วงขึ้นเขียง เอ๊ย เข้าสู่สนามประลองยุทธ ในเทศกาล (แอด)มิดเทอม นี้ไงล่ะครับผม

วันนี้ก็เพิ่งไปตบตีกันมา ก็แทบจะเป็นลมล้มคว่ำ

แต่เอานะ สู้ ๆ

เอากันให้ตายกันไปข้างหนึ่งละกัน

ไว้มีเวลาว่างๆ จะมาสังขยาอ่านนับ เล่าสู่กันฟังใหม่




 

Create Date : 31 กรกฎาคม 2548    
Last Update : 31 กรกฎาคม 2548 16:51:33 น.
Counter : 647 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.