Group Blog
 
All Blogs
 
ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน (ตอนที่ ๑)

ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน*


สลุงเงิน

“ชนใดไม่มีดนตรีการ ในสันดานเป็นคนชอบกลนัก
อีกใครฟังดนตรีไม่เห็นเพราะ เขานั้นเหมาะคิดขบถอัปลักษณ์”

จากบทพระราชนิพนธ์ของพระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่อัญเชิญขึ้นต้นนี้นั้น เป็นบทพระราชนิพนธ์ที่ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการดนตรี ที่นับว่าเป็นสิ่งหนึ่งอันเป็นอารยะ ที่ยกพื้นจิตใจของชาวเมืองให้ละเมียดละไม และรังสรรสิ่งดีงาม รวมถึงภูมิปัญญาให้เป็นที่ประจักษ์แก่บ้านเมืองได้อย่างเสมอเทียมเทียบนานาประเทศในโลกนี้ได้อย่างภาคภูมิ
สำหรับดินแดนล้านนานั้น เป็นบ้านเป็นเมืองที่มีการพัฒนามายาวนาน ในประวัติศาสตร์ ด้วยมีชุมชนหลากหลายและผลัดเวียนเปลี่ยนกันมีอำนาจ และต่างฝ่ายต่างก็ได้จรรโลง เสกสร้างสิ่งที่เป็นความรื่นรมย์ให้กับบ้านเมืองไว้อยู่ตลอดในสายกาลเวลา
สัพพสัททเสียงที่ดังกึกก้องในโลกนี้ ล้วนแต่ขับกล่อมโลกให้เป็นดินแดนสวรรค์ แต่บางครั้ง สัททเสียงสำเนียงบางอย่าง ก็ทำให้โลกนี้โกลาหลได้ แต่มนุษย์ก็รู้จักรับรู้สัททเสียงอันรื่นรมย์ นำมาเรียบเรียงสอดประสานเป็นท่วงทำนองให้จิตใจฟูเฟื่อง
เสียงลมพัดไหว น้ำไหลเลียบเลาะ เสียงนกกู่ก้องออเซาะกัน และเสียงอีกเป็นพันเป็นหมื่น ที่ก่อให้เกิดการจำลองออกมาด้วยเครื่องมือสุดวิเศษที่มนุษย์จักรู้จักใช้แต่แรกเริ่มนั่นก็คือ กายของมนุษย์นั่นเอง โดยการเปล่งเสียงออกมาตามท่วงทำนองที่ได้ยิน บางทีอาจจะมีการเพิ่มเติมเสริมแต่งด้วยอวัยวะส่วนต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นมือ หรือเพิ่มสิ่งของเข้ามาประกอบ เช่น การตีเกราะเคราะไม้ เป่าใบไม้โดยลมปาก อย่างง่าย ๆ จวบจนประดิษฐ์คิดค้นเครื่องกำเนิดเสียงดนตรี อันไพเราะต่าง ๆ อย่างซับซ้อนมากขึ้นได้
ในล้านนาบ้านเรานั้น ท่ามกลางขุนเขาที่สลับซับซ้อนโอบอุ้มอยู่ได้ ก็ได้มีพัฒนาการในด้านเครื่องดนตรีและเสียงสำเนียงเพลงให้กู่ก้องกังวานในขุนเขาแห่งชีวิต เพลงในล้านนานั้น สามารถแบ่งออกได้หลายประเภท โดยทรงศักดิ์ ปรางค์วัฒนากุล ได้จัดแบ่งไว้อยู่ได้ ๓ ประเภทด้วยกัน คือ เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลง, เพลงที่มีเนื้อร้องโดยไม่มีดนตรีประกอบ และ เพลงผสม คือมีทั้งเนื้อร้องและดนตรีประกอบ
ประการแรก คือ เพลงที่ไม่มีเนื้อร้องหรือเพลงบรรเลงนั้น เป็นเพลงที่ใช้เครื่องดนตรีทั้งหมด ไม่มีการร้องสอดประสาน โดยมีทั้งที่บรรเลงชิ้นเดียวและหลายชิ้นประสมวง ด้วยเครื่องดนตรีหลากหลายประเภท ไม่ว่า
เครื่องดีด เช่น ซึง (บางพื้นที่เช่นเมืองน่าน เรียกเครื่องดนตรีชนิดนี้ว่า “ปิน” และในวรรณกรรมเก่า ๆ และในหัวเมืองไทยใหญ่ ก็มีเครื่องดนตรีใกล้ ๆ กันนี้เรียกว่า “ติ่ง”), เพียะ(อ่าน – เปี๊ยะ) และ จักเข้ ซึ่ง อ.สนั่น ธรรมธิ ได้เสนอว่า ล้านนาน่าจะมีเครื่องดนตรีชนิดนี้ด้วย ดังที่พบในเอกสารโบราณที่กล่าวถึง
เครื่องสี เช่น สะล้อ ซึ่งมีชื่อเรียกหลายชื่อ และอาจจะมีที่มาเช่นเดียวกับคำว่า ซอ ของภาคกลาง โดยคาดว่ามาจากภาษาขอม ที่เรียกว่า “ทรอ” โดยการกลายเสียงมา ดังที่อ.สนั่น ธรรมธิกล่าวถึงการแยกเสียงไว้ดังนี้ “ทรอ – ทะรอ – ทะลอ – ธะลอ – ธะล้อ – สะล้อ” สำหรับบางพื้นที่เช่นจังหวัดน่าน สะล้อจะมีลักษณะพิเศษ คือลูก (หรือนม หรือ ก๊อบ) ไว้บังคับเสียงเหมือนซึงอีกด้วย
เครื่องตี เช่น กลองปูชา เป็นกลองสองหน้า มีลูกใหญ่หนึ่งลูก และลุกเล็กอีกสามลูก ใช้ตีเป็นพุทธบูชาเป็นหลัก, กลองสะบัดชัย เป็นการแสดงที่รู้จักกันดีทั่วประเทศ มักได้พบเห็นในงานโอกาสต่างๆ แต่ก่อนใช้ตีในการศึก ป่าวข่าวในชุมชน มหรสพ ฉลองชัยชนะ หรือเพื่อความสนุกสนาน, กลองมองเซิง เป็นกลางที่ได้มาจากอิทธิพลไทยใหญ่ เป็นกลองสองหน้า มีสายโยง คล้ายตะโพนมอญแต่ไม่มีขาตั้ง, กลองเต่งถิ้ง เป็นกลองสองหน้า คล้ายตะโพนมอญ มีขาตั้ง โดยใช้ตีควบคู่กับกลองอีกชนิดหนึ่งคือ กลองโป่งโป้ง ซึ่งคล้ายกลองเต่งถิ้งแต่ขนาดเล็กกว่า, กลองตะหลดปด กลองสองหน้าทรงกระบอกแต่สอบเล็กน้อย, กลองหลวง กลองหน้าเดียวขนาดใหญ่ ใช้ตีในงานบุญขนาดใหญ่ และรู้จักกันดีและนิยมกันอย่างแพร่หลายในเขตจังหวัดลำพูน, กลองอืด คล้ายกลองหลวงแต่ขนาดเล็ก มักใช้ตีในเขตจังหวัดแพร่และน่าน, กลองแอว คล้ายกลองหลวงแต่มีขนาดเล็กกว่าประมาณ ๑ ใน ๔ , กลองก้นยาว หรือกลองปู่เจ่ ลักษณะก็คล้ายกลองแอว แต่ว่าก้นกลองจะยาวกว่ามาก , กลองสิ้งหม้อง มีลักษณะคล้ายกลองยาวของภาคกลาง, ฆ้อง หรือ ค้อง ทำด้วยโลหะ ลักษณะกลมมน มีขอบงองุ้มรอบตัวและมีปุ่มตรงกลาง หากไม่มีกลุ่มตรงกลาง จะเรียกว่า พาน หรือ พาง
เครื่องเป่า เช่น ขลุ่ย ที่นิยมมาเล่นบรรเลงร่วมกับซึงและสะล้อ, ปี่ เป็นเครื่องดนตรีที่แพร่หลายในกลุ่มตระกูลไท เช่น ไทลื้อ ไทดำ ไทใหญ่ ก็มักใช้ปี่ในการบรรเลงประกอบลำนำต่างๆ ทำจากไม้ไผ่และมีลิ้นเป็นโลหะ หากใช้หลายขนาดประสมกันก็จะเรียกว่า ปี่จุม, แน คำนี้ ยุทธพร นาคสุขกล่าวว่า มาจากภาษาพม่า เป็นเครื่องประเภทลมไม้ตระกูลสรไน ใช้ในวงปี่พาทย์และวงกลอง มักมีสองขนาดคือแนหลวงและแนหน้อย
โดยเครื่องดนตรีแต่ละประเภทนำมาประสมวงกัน มักจะผสมวงกันเป็นวง สะล้อ-ซึง วงปี่จุม วงกลองต่างๆ เป็นต้น สำหรับวงกลองนั้นมักมีจังหวะไปตามแต่ละท้องถิ่นและมักจะตายตัวมากกว่า วงปี่จุม และวงสะล้อ-ซึง
และวงสะล้อ-ซึงนี้เองที่ก่อให้เกิดความหลากหลายทางด้านเสียงเพลงมาก ขอยกตัวอย่างเพลงเก่า ๆ อันเป็นเพลงประจำเมืองต่าง ๆ เช่น
เพลงแม่หม้ายตีอก, เพลงแม่หม้ายก้อม, เพลงแม่หม้ายเครือ, กินทุ่มกินแหบ เป็นเพลงประจำเมืองแพร่ – น่าน
เพลงกินข้าม, เพลงสิงแดง ที่เป็นทำนองเดียวกับเพลงลาวจ้อย หรือสร้อยแสงแดง อันเป็นเพลงประจำเมืองน่าน
เพลงกินโต๊ะ หรือที่ทางเชียงใหม่เรียกว่าเพลงปุมเป้ง หรือปุมเหม้น เป็นเพลงประจำเมืองแพร่
เพลงสะเพาหลงท่า เป็นเพลงประจำเมืองลำปาง
เพลงนกแลข้ามกิ่ว, เพลงม่านส้อยหรือพะม่าปลิ้น, เพลงสิงข้าม เป็นเพลงประจำเมืองเชียงราย
นอกจากเพลงประจำเมืองต่าง ๆ แล้ว ยังมีเพลงอื่น ๆ อีกมากอันเป็นที่นิยมสืบสายกันมาถึงปัจจุบัน เช่นเพลงปราสาทไหว เพลงฤๅษีหลงถ้ำ เพลงอื่อ เพลงขึ้นเชียงใหม่ เพลงชาวปุ เพลงละม้ายเชียงแสน เพลงกุหลาบเชียงใหม่ เพลงกล่อมนางนอน เพลงขงเบ้งเป็นต้น และเพลงบรรเลงนี้ ก็เป็นอีกสายพัฒนาการสายหนึ่งที่สืบเนื่องและปรับปรุงเปลี่ยนแปลงมาถึงปัจจุบัน ทำให้มีเพลงที่แต่งขึ้นใหม่อีกก็หลายเพลงเช่น เพลงหริภุญชัย, เพลงกาสะลอง, เพลงไตอ่างขาง, เพลงพร้าวไกวใบ, เพลงหมอกมุงเมือง ฯลฯ และเพลงบรรเลงเหล่านี้ก็ยังนิยมและรับใช้สังคมกันอยู่ เพียงไม่กี่ปีที่ผ่านมามีกระแสของการการสืบทอดศิลปวัฒนธรรมกันมากขึ้น ทำให้มีเยาวชนส่วนมากหันมาเล่นเครื่องดนตรีพื้นเมืองกันเพิ่มมากขึ้น นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดีที่จะมีการสืบสานกันต่อไป
นอกจะมีการเล่นดนตรีแบบเดิมแล้ว ยังมีการผสมผสานในแนวใหม่ด้วย ดังเช่นวงช้างสโตน ที่ได้พัฒนารูปแบบการเล่นและเครื่องดนตรีที่ฉีกแนวออกไปเพื่อเป็นการก้าวข้ามพรมแดนทางดนตรี ไปสู่สากลมากขึ้น จนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ถือว่าน้อยคนนักจะทำได้

จบตอนที่ ๑

* จาก

สลุงเงิน. ล้านนาคีตา ลีลาขับขาน. สูจิบัตรงาน "สานทอ ต่อฝัน ตอน รอยจรัลกับฝันของฝันนี้" ๓ กันยายน ๒๕๕๑ ณ ศูนย์เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมล้านนาเวียงเจ็ดลิน



Create Date : 13 กันยายน 2552
Last Update : 13 กันยายน 2552 20:36:07 น. 0 comments
Counter : 840 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.