Group Blog
 
All Blogs
 
ฤๅพระเจ้าติโลกจะไม่ได้สร้างพระเจ้าทองทิพย์ที่น่าน

ฤๅพระเจ้าติโลกจะไม่ได้สร้างพระเจ้าทองทิพย์ที่น่าน

สลุงเงิน





นันทบุรีศรีนครน่าน หรือจังหวัดน่านในปัจจุบัน ได้ขนานนามตนเองว่า “ล้านนาตะวันออก” อันเป็นแหล่งที่ตั้งของเมือง ที่อยู่ทางตะวันออกสุดของดินแดนล้านนา แม้กระนั้นบางท่านก็ยังไม่ค่อยจะยอมรับความเป็นล้านนาสักเท่าไร เพราะความเป็น “น่าน” ของตน
ด้วยในอดีตนั้น เมืองน่านเป็นนครรัฐ ที่อิสระรัฐหนึ่ง ซึ่งมีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน บางตำนานก็อ้างไปถึง สมัยของบุตรสามพี่น้องของ ลาวจง ปฐมกษัตริย์แห่ง ‘เวียงเหรัญญนครเงินยางเชียงแสน’ ตนเค้า ชื่อว่า “ลาวก่อ” ตนถัดมาชื่อว่า “ลาวเกือ” และ ตนซ้อยชื่อว่า “ลาวเกล้า” ที่พากันไปจับปูหลวงริมน้ำของ(โขง)แล้วทิ้ง ลาวเกล้า ไว้คนเดียวนั้น ซึ่งถัดจากเหตุการณ์ในครั้งนั้น ทำให้สามคนที่น้องเคืองกัน จนไม่สามารถที่จะอยู่ร่วมกันได้ ดังนั้นลวจังกราช ส่งสามพี่น้องไปกินเมืองต่าง ๆ โดยให้ ลาวเกล้าครองอยู่กับผู้เป็นพ่อ ลาวเกือ ให้ไปกินเมืองผาลาวผาพวง ส่วนลาวก่อนั้นส่งให้ไปอยู่บ้า’/นถ้ำ ถัดนั้นไม่นาน “ส่วนว่าลาวก่อผู้ไปอยู่ยังบ้านถ้ำนั้น พระญาเจ้าตนพ่อ ก็ซ้อหื้อย้ายไปกินแฅว้นกาว คือว่า เมืองน่านเสียหั้นแล” 1
แต่ในเอกสารพื้นเมืองน่านแล้ว จะเริ่มประวัติศาสตร์ของตนที่การตั้งเมืองพลัว(ปัว) ในช่วงปลายของพุทธศตวรรษที่ ๑๘ ซึ่งตั้งแต่แรกเริ่มของเมืองพลัวจวบจนถึงเมืองน่านนั้น ไม่ค่อยจะมีปฏิสัมพันธ์กันกับเชียงใหม่เท่าไรนัก มักจะเป็นคู่ศึกสงครามมากกว่า ดังในสมัยของพระญาแสนภู ที่เจ้าเมืองน่านต้องทำการรบกับพระญาคำฟู2 และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในสมัยของพระเจ้าติโลกราชอันเป็นที่มาของเรื่องที่จะเล่ากันนี้
สำหรับเมืองที่มีความสัมพันธ์อันดีกับเมืองน่าน ได้แก่ล้านช้างหลวงพระบาง และสุโขทัย
สำหรับเมืองล้านช้างนั้น มีความสัมพันธ์ในระบบเครือญาติมาตั้งแต่สมัยเริ่มตั้งเมืองพลัว ซึ่งจากตำนานจะให้ความสัมพันธ์ได้อย่างชัดเจน โดยให้บุตรบุญธรรมของพระญาภูคาสองคนพี่น้อง คือ ขุนนุ่น ที่ไปครองเมืองจันทบุรี (น่าจะเป็นเมืองเวียงจันทน์ บางท่านให้ความเห็นว่าเป็นเมืองหลวงพระบาง) และ ขุนฟอง ที่ครองเมืองพลัว เมืองกำเนิดของเมืองน่านในกาลต่อมา
ไม่เพียงแต่เท่านี้ ในสมัยของพระญาผากอง แห่งเมืองน่านนั้น เมืองน่านก็ได้เป็นที่ลี้ภัยและที่สวรรคตของเจ้าฟ้างุ้มแห่งล้านช้าง ในปี พ.ศ. ๑๙๑๘ แล้วพระญาผากอง “จึงสร้างวัดคร่อมอัฐิธาตุของพระองค์ไว้ในนครน่าน ใส่ชื่อว่า วัดเชียงงาม” 3 ซึ่งอาจารย์สมเจตน์ วิมลเกษม ได้สันนิษฐานว่า น่าจะเป็นวัดเมืองราม ต.นาเหลือง อ.เวียงสา
ส่วนทางด้านสุโขทัย มีความสัมพันธ์กับเมืองน่านตั้งแต่สมัยพ่อขุนรามคำแหง จากหลักศิลาจารึกหลักที่หนึ่ง แต่ความโดดเด่นมีอยู่สี่ช่วง ได้แก่
ช่วงแรก ในสมัยของพระญาครานเมือง ที่ลงไปช่วยพระมหาธรรมราชาลิไทยสร้างวัดหลวงอภัย (เรียกตามพื้นเมืองน่าน) ซึ่งมีการสันนิษฐานกันว่าน่าจะหมายถึงวัดป่ามะม่วง เพียงแต่ศักราชในพื้นเมืองน่านและจารึกคลาดเคลื่อนกันไปเล็กน้อย4 ซึ่งนับว่าเป็นจุดแรกเริ่มของการสถาปนาพุทธศาสนาแบบสุโขทัยในดินแดนของเมืองน่าน ด้วยในคราวนั้นพระญาครานเมืองได้รับพระราชทานพระบรมสารีริกธาตุกลับมาด้วย และได้บรรจุไว้ที่พระธาตุแช่แห้งจวบจนปัจจุบัน
ในช่วงที่สอง เป็นสมัยของพระญาผากอง ที่ไปช่วยสุโขทัยรบกับพระบรมราชาธิราช ที่ ๑ หรือขุนหลวงพงั่ว แห่งกรุงศรีอยุธยาในปี พ.ศ. ๑๙๑๙ ดังที่ว่า “...ศักราช ๗๓๘ (พ.ศ. ๑๙๑๙) เสด็จไปเอาเมืองชากังราวเล่า ครั้งนั้น พญาคำแหงแลท้าวผ่าคอง คิดด้วยกันว่าจะยอทัพหลวง...” 5
ในช่วงที่สาม ในสมัยของพระเจ้าไสลือไทยที่ทำจารึกสัญญากับเจ้าคำตันแห่งเมืองน่าน ในปีพ.ศ. ๑๙๓๕ อันได้แก่จารึกปู่ขุนจิดขุนจอด และ จารึกคำปู่สบถ6 ที่ว่า “...กังวลอนตรายอันใดมีในเรา และท่านช่อยปลดช่อยมล้างด้วยรี้ด้วยพลแห่งท่าน ผิบ่มีกังวลก็ดี ผิจักมีหิญริพยานใดว่าเรามักมากท่านให้มาก เรามักน้อยท่านให้น้อย อนึ่ง บ้านเมืองเราทั้งหลาย และเมืองแพร่เมืองงาว เมืองน่านเมืองพลั่ว ปู่พระญาดูดังเดียวอันตรายมีในราชสีมาเรา ปู่พระยาเป็นเจ้าเห็นว่ามีในราชสีมาท่านแล…”7
ในช่วงที่สี่ ในสมัยท้าวหุง ที่มีพระญาเถรและพระญาออนโมง จากเมืองแพร่มาชิงเมือง และในสมัยของพระญาอินทแก่นท้าว ที่ถูกท้าวแพงและท้าวเหาะผู้น้องชิงเมือง ทั้งสอง ต่างหนีไปพึ่งพระญาเชลียง
ฉะนั้นเมืองน่านกับเมืองสุโขทัยจึงมีความสำพันธ์กันอย่างแน่นแฟ้น จึงไม่แปลกเลยที่เมืองน่านจะมีอะไรที่เหมือน ๆ กันกับสุโขทัย
สถาปัตยกรรมหลายแห่งของเมืองน่านก็ได้รับอิทธิพลของสุโขทัย ไม่ว่าจะเป็นวัดหลวงกลางเวียงหรือวัดช้างค้ำ และวัดสวนตาล สำหรับที่วัดช้างค้ำนั้น ร่องรอยที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ฐานของพระธาตุเจดีย์ประธาน ที่มีฐานสี่เหลี่ยม และมีช้างรองรับเจดีย์อยู่โดยรอบจำนวน ๒๔ เชือก ซึ่งเหมือน ๆ กับที่สุโขทัย และกำแพงเพชร8 ส่วนพระธาตุเจดีย์ที่วัดสวนตาลนั้น จากภาพถ่ายในอดีตก่อนที่จะมีการบูรณะในสมัยของพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช ในปี พ.ศ. ๒๔๕๗ 9 นั้นจะเป็นธาตุเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ แบบสุโขทัยดังเช่นที่วัดมหาธาตุ กรุงสุโขทัยเป็นต้น



ทั้งนี้จากตำนานของพระธาตุก็สอดคล้องกับรูปแบบสถาปัตยกรรมที่ปรากฏ ว่าสร้างโดยนางปทุมมาเทวี มเหสีฝ่ายซ้ายของพระญาพูเข็ง (ครองเมืองระหว่างปี พ.ศ. ๑๙๕๐ – ๑๙๖๐) ที่มีใจใสศรัทธาจักสร้างพระธาตุยังบริเวณบ้านเกิดของพระนาง จึงขอกับพระญาพูเข็ง พระองค์จึงประทานอนุญาตให้สร้างวัดสวนตาลขึ้น10
และที่เป็นประเด็นหลักของเรื่องนี้ก็คือ “พระเจ้าทองทิพย์” ที่วัดสวนตาล ที่สอดคล้องกันกับพระธาตุเจดีย์แบบพุ่มข้าวบิณฑ์ของสุโขทัย ที่ว่า “เป็นพระพุทธรูปสำริด สูง ๔๑๗ ซม. ศิลปะแบบสุโขทัย หมวดใหญ่ ปางมารวิชัย รัศมีเป็นเปลว เม็ดพระศกใหญ่ พระพักตร์รูปไข่ พระวรกายออกจะอวบอ้วนมากกว่าพระพุทธรูปศิลปะสุโขทัยทั่ว ๆ ไปสักเล็กน้อย พระหัตถ์คล้ายมือมนุษย์ ชายจีวรเป็นเขี้ยวตะขาบ มีเส้นคาดต่อไปที่พระหัตถ์จนถึงพระชงค์ขวา” 11 ซึ่งทั้งรูปแบบของเจดีย์และพระเจ้าทองทิพย์นี้ ทำให้คุณปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์กล่าวว่า “ดังนั้นจึงไม่มีเหตุผลว่า พระเจ้าติโลกราชจะมาสร้างเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์และพระพุทธรูปแบบสุโขทัยขึ้นที่เมืองน่าน เพื่อแสดงแสนยานุภาพหรือชัยชนะเหนือเมืองน่าน” 12



สำหรับองค์พระเจ้าทองทิพย์นั้น ไม่ได้มีแต่ที่วัดสวนตาลที่เดียว ยังมีอีกหลายองค์ หลายลักษณะ ในหลายพื้นที่ด้วยกัน เพียงแต่ชื่อเหมือนกัน การที่ได้ชื่อว่าพระเจ้าทองทิพย์นั้นเป็นด้วยเหตุที่เนื้อโลหะที่หล่อเป็นองค์พระไม่กลมกลืนกันดีนัก13 และตำนานที่กล่าวถึงพระเจ้าทองทิพย์ที่สวนตาลนี้ ได้กล่าวถึงการหล่อพระเจ้าทองทิพย์ไว้ว่าดังนี้
หลังจากที่พระเจ้าติโลกราชต้องการเกลือบ่อมางไปค้ำส่วยเชียงใหม่ จึงยกทัพมารบกับพระญาอินทแก่นท้าว อยู่ถึง ๖ ปีด้วยกัน จึงได้เมืองน่านเป็นส่วนหนึ่งของล้านนาเชียงใหม่14 ด้วยตั้งทัพอยู่บริเวณสวนตาลหลวงแล้วยิงปืนใหญ่เข้าเมือง พระญาอินทแก่นท้าวจึงพาครอบครัวหนีไปพึ่งพระยาเชลียง พระเจ้าติโลกราชจึงได้เมืองโดยไม่เสียเลือดเนื้อ จึงรำพึงว่า “พระองค์เราได้เมืองน่านนี้ก็บ่ได้ฆ่าฟันบั่นเนื้อกันเลย เป็นดั่งเทพทิพย์มาค้ำชู สมควรเราจักทำสักขีพยานไว้แล” 15 จึงตัดสินใจหล่อพระพุทธรูป แต่ว่าทองทั้งหลายที่จะมาหล่อยังไม่มี เลยตั้งสัจจะอธิษฐานลองบารมี จากนั้น ๗ วันจึงมีผู้คนนำทองหลายชนิดมารวมกันได้ ๑๒ ตื้อเศษ จึงทำการหล่อพระเจ้าทองทิพย์ขึ้นมา และว่ากันว่าทองนั้นเหลือ จึงนำไปหล่อเป็นพระเจ้าทองทิพย์น้อยไว้ที่วัดบุปผาราม (ต.ฝายแก้ว กิ่งอำเภอภูเพียงในปัจจุบัน) อีกองค์หนึ่ง
จากการที่สร้างพระเจ้าทองทิพย์เพื่อเป็นสักขีพยานในการได้เมืองน่าน แต่รูปแบบพระเจ้าที่ออกมากลับเป็นแบบอย่างของสุโขทัยโดยมาก ทำให้คิดว่าพระเจ้าทองทิพย์ ไม่ได้สร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าติโลกราชแห่งเชียงใหม่ แต่น่าจะสร้างในช่วงสมัยของเจ้าคำตัน (พ.ศ. ๑๙๓๕) ถึงพระญาสารผาสุม (พ.ศ. ๑๙๗๔) 16
แต่หากพิจารณาใหม่อีกครั้ง ก็มีลักษณะที่แตกต่างจากพระพุทธรูปสุโขทัยอยู่เล็กน้อย เป็นต้นว่า พระวรกายอวบอ้วน พระนาสิกใหญ่ สันพระนาสิกหนา พระหนุเป็นต่อมกลมนูนออกมาทางด้านหน้า ซึ่งลักษณะเหล่านี้เป็นลักษณะพุทธศิลป์แบบล้านนา เข้ามาผสมกับพุทธศิลป์แบบสุโขทัยโดยใช้พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดเจดีย์ อ.เมืองน่าน เป็นแม่แบบ17 ซึ่งลักษณาการผสมผสานเช่นนี้ไม่ได้มีเฉพาะพระเจ้าทองทิพย์แห่งวัดสวนตาลองค์เดียว แต่หากยังมีอีกหลายองค์ เช่น พระพุทธรูปปางมารวิชัย ที่วัดหัวข่วง, พระพุทธรูปปางมารวิชัย วัดพระธาตุช้างค้ำฯ และพระพุทธรูปลีลา วัดนาปัง เป็นต้น
การมองในลักษณะการผสมผสานแบบนี้ ทำให้เห็นถึงความเป็นไปได้ที่พระเจ้าติโลกราช จะสร้างพระพุทธรูปเพื่อเป็นสักขีพยานในการที่มีชัยเหนือเมืองน่าน
ด้วยพระองค์ไม่ได้หักหาญเอาเลยทีเดียว ใช้วิธีประนีประนอม เรียกว่าเป็นการซื้อใจกันก็ว่าได้ แม้นว่าจะครุบชิงเอาเมืองได้ แต่ก็ยังให้เวลาสำหรับที่จะปรับตัวและค่อย ๆ ซึมซับความเป็นล้านนาทีละน้อย โดยการผสมผสานเข้าด้วยกันในยุคนี้
นโยบายการปกครองในตอนแรกของการผนวกดินแดนเมืองแพร่เมืองน่านเข้ากับล้านนาเชียงใหม่นั้น ก็ให้เจ้าเมืองเดิมปกครองต่อไปก่อน ดังเช่นเมื่อที่มหาเทวี...พระราชมารดาของพระเจ้าติโลกราชตีเมืองแพร่นั้น เมื่อตีเมืองแพร่ได้ “มหาเทวีค็หื้อท้าวแม่นคุนกินเมืองแพล่ดั่งเกล่า หั้นแล” 18 ส่วนทางด้านเมืองน่านนั้น เมื่อพระเจ้าติโลกตีเมืองน่านได้สำเร็จ “ก็ปลูกลูกท้าวแพงชื่อว่า ผาแสง กินเมืองปีกัดใส้ หั้นแล” 19 แต่พอสิ้นพระญาผาแสงแล้ว ก็สิ้นสุดพระญาน่านแห่งเชื้อกาวไทยเมืองน่านลง และมีการแต่งตั้งเจ้าเมืองจากส่วนกลางมาปกครองต่อ
การไม่หักเชื้อเครือเมืองในคราวแรกนี้ นับว่าเป็นผลดีไม่น้อย ที่ทำให้ชาวเมืองยอมรับพระองค์ไปในตัวด้วย หากแต่งตั้งผู้ปกครองจากส่วนกลางแล้ว ผู้คนอาจจะไม่ยอมรับและอาจจะลุกฮือ และเป็นปัญหาในการจัดการอีก เพราะหลังจากที่ได้เมืองแพร่เมืองน่านแล้วสองปี เป้าหมายของพระองค์คือการไปตีเมืองเชลียงต่อไป หากเมืองน่านเกิดปัญหา การรบกับอยุธยาก็ย่อมมีปัญหาตามไปด้วย เพราะจะกลายเป็นศึกสองด้าน
และที่สำคัญ ปัญหานั้นอาจจะมีผลกระทบต่อส่วยเกลือ อันเป็นทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของเมืองน่าน ด้วยสมัยก่อน เกลือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในทุกครัวเรือน แทนที่จะได้ส่วยเกลือมาในระบบการค้าเพื่อสร้างความมั่งคั่งแก่เชียงใหม่ กลับจะต้องสูญเสียผลประโยชน์ที่พึงจะได้
จึงไม่แปลก ถ้าพระเจ้าติโลกราช จะสร้างพระพุทธรูปโดยใช้รูปแบบของท้องถิ่นเป็นหลัก ด้วยในสมัยนั้น อิทธิพลสุโขทัยในเมืองน่านมีอยู่สูงมาก และก็ได้รับความนิยมกันทั่วไป เป็นการหลอมหล่อให้ผู้คนยอมรับพระองค์อย่างจริงจัง และไม่กระด้างกระเดื่อง ดังสะท้อนออกมาในเรื่องราวแบบปาฏิหาริย์ถึงบารมีของพระองค์ ที่สามารถรวบรวมโลหะมาหล่อพระเจ้าทองทิพย์ในครั้งนั้นของผู้คนอย่างล้นหลาม เพื่อตัดปัญหาที่จะเกิดมีดังที่กล่าวไปแล้วนั้น แต่ก็ยังใช้พุทธศิลป์แบบล้านนาเข้าไปปะปน โดยไปทิ้งรูปแบบพุทธศิลป์แบบสุโขทัยของเมืองน่านเอาไว้ พระเจ้าทองทิพย์จึงเป็นการผสมผสานกันอย่างที่เห็นอยู่ทุกวันนี้
ถึงอย่างไรก็ตามถึงแม้เมืองน่านในระยะแรกจะมีความสัมพันธ์กับสุโขทัยอย่างแน่นแฟ้น แต่เมื่อสุโขทัยถูกผนวกเข้ากับอยุธยา และเมืองน่านถูกผนวกเข้ากับล้านนา อิทธิพลของสุโขทัยก็อ่อนลง โดยมีอิทธิพลจากล้านนาเชียงใหม่เข้ามาผสมกลมกลืนจนแทบจะกลายเป็นเนื้อเดียวกัน โดยใช้สื่อเดียวกันกับสุโขทัยและได้ผลอย่างมากที่สุดคือการใช้พระพุทธศาสนา โดยใช้เชียงใหม่เป็นศูนย์กลาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังการทำสังคายนาพระไตรปิฏกที่วัดเจ็ดยอดในรัชสมัยของพระเจ้าติโลกราช ก็ยิ่งทำให้อิทธิพลของเชียงใหม่แผ่ออกไปมากขึ้น โดยใช้สถาบันสงฆ์เป็นกลไกสำคัญ และเป็นมรดกตกทอดมาจนถึงปัจจุบัน
และนี่ก็เป็นอีกความคิดหนึ่งที่อาจจะเห็นต่างกันออกไป เกี่ยวกับพระเจ้าทองทิพย์ที่วัดสวนตาล อันเป็นสัญลักษณ์แห่งจุดเปลี่ยนทางประวัติศาสตร์อันสำคัญจุดหนึ่งของเมืองน่าน๚๛

---------------------------------

เชิงอรรถ

1 สรัสวดี อ๋องสกุล : ปริวรรต ตรวจสอบ และวิเคราะห์. พื้นเมืองเชียงแสน. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์, ๒๕๔๖) น. ๓๑
2 รัตนปัญญาเถระ แปลโดย แสง มนวิทูร. ชินกาลมาลีปกรณ์. ([ม.ป.ท.]: มิตรนราการพิมพ์, ๒๕๑๐) น. ๑๐๗
3 มหาสิลา วีระวงส์ เรียบเรียง, สมหมาย เปรมจิตต์ แปล. พงศาวดารลาว. (เชียงใหม่ : คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, ๒๕๓๒) น. ๕๓
4 สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. ล้านช้าง : ล้านนา. (กรุงเทพฯ : ม.ป.พ., ๒๕๔๖) น. ๑๐๘
5 พระราชพงศาวดารกรุงเก่าฉบับหลวงประเสริฐ ใน ประชุมพงศาวดารฉบับกาญจนาภิเษก เล่ม ๑. (กรุงเทพฯ:กองวรรณกรรมและประวัติศาสตร์ กรมศิลปากร, ๒๕๔๒) น. ๒๑๒
6 ทั้งสองชื่อ เรียกตาม ประชุมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย
7 จารึกคำปู่สบถ ใน ประชมจารึก ภาคที่ ๘ จารึกสุโขทัย. (กรุงเทพฯ: กรมศิลปากร, ๒๕๔๘) น. ๑๖๕ – ๑๖๖
8 จากเอกสารประกอบการบรรยายเรื่อง “วัดสวนตาล พระเจ้าติโลกราช สร้างเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะเหนือเมืองน่านจริงหรือ?” โดย นายปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ ผู้อำนวยการสำนักงานศิลปากร ที่ ๗ น่าน เมื่อวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๕๔๙ อาคารเอนกประสงค์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติน่าน
9 ประชุมพงษาวดาร ภาคที่ ๑๐ เรื่องราชวงษปกรณ์ พงษาวดารเมืองน่าน : ฉบับพระเจ้าสุริยพงษ์ผริตเดช พระเจ้านครน่านให้แต่งไว้สำหรับบ้านเมือง. (พิมพ์ครั้งแรก) (กรุงเทพฯ:โรงพิมพ์โสภณพิพรรฒธนากร, ๒๔๖๑) น. (๑๙)
10 โปรดดู ตำนานพระธาตุแช่แห้ง ใน สงวน โชติสุขรัตน์. ประชุมตำนานลานนาไทย (เล่ม ๑).(กรุงเทพฯ : โอเดียนสโตร์, ๒๕๑๕) น.๕๘๓
11 ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ , อ้างแล้ว
12 เรื่องเดียวกัน
13 อุดม รุ่งเรืองศรี. พระเจ้าทองทิพย์ ใน สารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคเหนือ. (กรุงเทพฯ:มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์, ๒๕๔๒) น. ๔๓๐๙
14 ดูใน คณะอนุกรรมการตรวจสอบและชำระตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่,ปริวรรตและตรวจสอบชำระต้นฉบับ.ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. (เชียงใหม่ : ศูนย์วัฒนธรรมจังหวัดเชียงใหม่ สถาบันราชภัฏเชียงใหม่, ๒๕๓๘) น. ๖๕
15 สงวน โชติสุขรัตน์, อ้างแล้ว. น. ๕๘๘
16 ปฏิพัฒน์ พุ่มพงษ์แพทย์ , อ้างแล้ว
17 สุรศักดิ์ ศรีสำอาง. อ้างแล้ว, น. ๑๒๕
18 ตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่ ฉบับเชียงใหม่ ๗๐๐ ปี. อ้างแล้ว
19 สรัสวดี อ่องสกุล ผู้ปริวรรตและจัดทำ ; นิธิ เอียวศรีวงศ์ บรรณาธิการ. พื้นเมืองน่าน ฉบับวัดพระเกิด. (กรุงเทพฯ : อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์พับลิชชิ่ง, ๒๕๓๙) น. ๑๕



Create Date : 13 สิงหาคม 2550
Last Update : 13 สิงหาคม 2550 17:39:26 น. 4 comments
Counter : 1653 Pageviews.

 
สวัสดีครับพี่ศศิศ..วันนี้ได้ความรู้ดีๆ จากพี่อีกแล้ว
ขอบคุณมากๆครับ

ป.ล ครับ พระเจ้าทองทิพย์ที่เชีบงใหม่ก็มีครับ อย่ที่วัดพระสิงห์( รู้สึกจะเป็นการจำลององค์พระพุทธสิหิงค์ ) คิดว่าน่าจะสร้างในสมัยพระเจ้าติโลกราชเหมือนกัน


โดย: ตั้ม(eik_q128@hotmail.com) IP: 202.28.27.6 วันที่: 13 สิงหาคม 2550 เวลา:19:27:56 น.  

 
ชอบครับ...สำนึกรักบ้านเกิด..จะมาหมั่นๆครับ ว่างๆไปกินส้ากัน


โดย: เอ (ac.account ) วันที่: 11 กันยายน 2550 เวลา:15:34:19 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:0:10:56 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.122.247.144 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:0:13:48 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.