Group Blog
 
All Blogs
 
ตามรอยบูรพกษัตริย์ ณ “วัดเชียงยืน”



ตามรอยบูรพกษัตริย์ ณ “วัดเชียงยืน”

สลุงเงิน





หากเราลัดเลาะมาตามถนนมณีนพรัตน์ หรือถนนเลียบคูเมืองด้านนอกทางทิศเหนือ จากแจ่งหัวลิน ผ่านประตูช้างเผือก มาได้ไม่นานนัก ก็จะเจอทางเข้าภายใต้ซุ้มประตูที่ทำด้วยไม้ มีป้ายบอกไว้อย่างชัดเจน ซึ่งเป็นหนึ่งในวัดมงคลนาม หลาย ๆ วัดในเชียงใหม่ วัดที่มีความสำคัญและโดดเด่นในด้านความเชื่อและประวัติศาสตร์ของเมืองเชียงใหม่อย่างยิ่งวัดหนึ่งนั้น ก็คือ “วัดเชียงยืน”
“วัดเชียงยืน” หรือในเอกสารโบราณเช่นพงศาวดารโยนกอาจเรียกว่า “วัดฑีฆชีวะวัสสาราม” หรือในตำนานชินกาลมาลีปกรณ์เรียกว่า “วัดฑีฆายวิสาราม” หรือ “ฑีฆาชีวิตสาราม” ซึ่งล้วนแล้วแต่หมายถึงชีวิตที่ยืนยาวทั้งสิ้น เฉกเช่นชื่อวัดที่เรียกกันโดยทั่วไปนั่นเอง ทำให้หลาย ๆ คนต่างมุ่งที่จะได้ไปไหว้ไปสาที่วัดแห่งนี้ในวันสำคัญ ๆ ไม่ว่าจะเป็นวันปีใหม่สากล วันปีใหม่ไทย เป็นต้น
ความเป็นมาของวัด ยังไม่แน่ชัด แต่ก็มีข้อสันนิษฐานเกี่ยวกับที่มาเอาไว้ตามเอกสารของทางวัดว่าไว้ว่า น่าจะสร้างในสมัยพระญามังราย ด้วยสร้างไว้ให้เป็นคู่กันกับวัดเชียงหมั้น(เชียงมั่น) ที่เป็นวัดแรกในเวียงเชียงใหม่ ส่วนวัดเชียงยืนเป็นวัดที่สอง สร้างไว้นอกเวียงทางด้านหัวเวียง เพื่อให้มีความหมายว่า “มั่นคง” และ “ยั่งยืน” นอกจากนี้ ยังสร้างไว้ให้เป็นที่สำหรับประกอบพิธีกรรมทางศาสนา สำหรับศรัทธาข้าเมืองทั้งหลายที่อยู่รอบนอกกำแพงเมือง ยามเมื่อประตูเมืองปิดลง
การกล่าวถึงวัดเชียงยืนครั้งแรกนั้น ได้ปรากฏอยู่ในเอกสารที่ชื่อว่า ชินกาลมาลีปกรณ์ ที่รจนาโดยพระรัตนปัญญาเถระ ผู้เป็นปราชญ์แห่งล้านนาท่านหนึ่ง ซึ่งกล่าวไว้ว่า
เมื่อปีเถาะ จุลศักราช ๘๘๑ (พ.ศ. ๒๐๖๒) พระเมืองแก้วและมหาเทวีพระมารดา “ได้กระทำการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุในพระสถูปใหญ่ที่วัดทีฆาชีวิตสาราม เมื่อวันพุธ ขึ้น ๕ ค่ำ เดือน ๓” ส่วนในปีถัดมา “ปีมะโรง จุลศักราช ๘๘๒ (พ.ศ. ๒๐๖๓) ฝ่ายพระราชากับพระราชมารดาได้โปรดให้จัดงานยกฉัตรมหาเจดีย์วัดทีฆาชีวิตสาราม เมื่อวันอาทิตย์ ขึ้น ๓ ค่ำ เดือน ๘ ยามเที่ยง” ทำให้เชื่อกันว่า เจดีย์วัดเชียงยืนแห่งนี้สร้างในสมัยพระเมืองแก้ว และได้มีการบูรณะกันเรื่อยมา จนถึงปัจจุบัน องค์เจดีย์เป็นเจดีย์ทรงกลม ฐานเหลี่ยมสูง ย่อเก็จ มีรูปปั้นสิงห์ตัวใหญ่ ๑ ตัว เล็ก ๒ ตัวประดับมุมฐานเจดีย์ทั้ง ๔ ทิศ กอปรกับตัวองค์เจดีย์นั้นได้มีการประดับด้วยดอกไม้สีทองอยู่ทั่วไปอีกด้วย
จนเมื่อวันจันทร์ ที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๔๒ ได้มีการบวงสรวงอัญเชิญยอดฉัตรเจดีย์ลงเพื่อทำการบูรณะใหม่ ปรากฏว่ามีการพบองค์พระธาตุซึ่งประดิษฐานอยู่บริเวณข้างในดอกบัวตูมยอดฉัตร จำนวน ๗ องค์ และได้อัญเชิญนำไปประดิษฐานไว้ในวิหารพระสัพพัญญูเจ้า เพื่อรอการอัญเชิญนำขึ้นประดิษฐานที่เดิม ยามที่ทำการบูรณะเสร็จสิ้นแล้ว
ส่วนจุดที่ทำให้วัดเชียงยืนกลายเป็นหนึ่งในสถานที่ ที่ผู้จักครองเมืองเชียงใหม่จะต้องมาทำการสักการะพระสัพพัญญู พระประธานในวิหารวัดเชียงยืนเสียก่อนทุกคราไปนั้น มาจากสมัยของพระไชยเชษฐาธิราช หรือในตำนานพื้นเมืองเชียงใหม่เรียกว่า พระญาอุปปโย ในคราวที่มาครองเมืองเชียงใหม่ต่อจากมหาเทวีจิรประภาผู้เป็นยาย
หลังจากที่พระญาอุปปโยเดินทางจากล้านช้าง มาพักอยู่ที่เชียงแสน เชียงรายตามลำดับ จนมาถึงเหมืองแก้ว ที่นั้นเหล่าบรรดาเสนาอามาตย์ได้นำเครื่องเทียมยศมาแห่ต้อนรับเอาพระญาอุปปโยเข้าไปยังเวียงเชียงใหม่ เดินทางมาจนถึงวัดเชียงยืน ซึ่งในตำนานกล่าวไว้ว่า “อังคาสราธนาเข้ามาเถิงปะตูโขงวัดเชียงยืน พระเปนเจ้าถอดเครื่องประดับไว้ ทรงผ้าเสื้อขาว ทือขันเข้าตอกดอกไม้เทียนเงินเทียนคำ เข้าไพปูชาไหว้นบพระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืน” จากนั้นจึงทำการเข้าสู่เวียงทางประตูช้างเผือก อันถือเป็นด้านหัวเวียง ไปสู่ราชมณเฑียรหอคำแท่นแก้ว
จารีตนี้ได้สืบทอดต่อกันมา แม้นว่าช่วงหนึ่งที่ล้านนาตกเป็นเมืองขึ้นของพม่านานถึงสองร้อยกว่าปี ตราบจนฟื้นม่านสำเร็จ เจ้ากาวิละแห่งตระกูลเจ้าเจ็ดตน เมื่อจักครองเมืองเชียงใหม่ ก็ยังคงได้กระทำดังเช่นบูรพกษัตราธิราชได้กระทำมาแต่ก่อนนั้น ดังนี้
“ดือน ๖ ออก ๑๒ ฅ่ำ วัน ๕ ยามตูดเช้า ท้าวค็เสด็จเข้ายั้งอยู่วัดปุพพาราม ตามปุพพะทำนองโปราณะแห่งท้าวพระญาทังหลายฝูงอันเปนแล้วมาแต่ก่อน บ่ห่อนละเสียยังปเวณี ค็ปทักขิณวัฏฏ์กระหวัดไพทิสสะหนใต้ ลำดับไพด้วยด้านวันตกไพเถิงวัดเชียงยืนด้านเหนือ พระเปนเจ้าเข้าไพสักการบูชาไหว้พระเจ้าวัดเชียงยืนแล้ว เถิงเพลายามแตรจักใกล้เที่ยง ท้าวค็ยกเอาหมู่ยัสสปริวารเข้าเวียงหลวง ด้วยปะตูช้างเผือกทิสสะหนเหนือ หื้อลวะจูงหมา พาแชกนำเข้าก่อน”
เหล่านี้เป็นธรรมเนียมเกี่ยวกับกษัตริย์ผู้ครองล้านนาเชียงใหม่ ตกทอดสืบถึงรุ่นหลัง แต่ชาวบ้านทั่วไปก็เคารพนับถือพระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืนเป็นอย่างยิ่ง กอปรกับชื่อวัดอันเป็นมงคลมักนิยมที่จะมาทำการสืบชะตาที่วัดเชียงยืนนี้ เพื่อหวังให้มีอายุที่ยืนยาว ดังจะเห็นเมื่อครั้งยามที่พระเจ้าอินทวิชชยานนท์ หลังจากที่กลับมาจากกรุงเทพฯ โดยขึ้นที่ท่าน้ำวัดไชยมงคล ก็จำไปทำการลอยเคราะห์ที่วัดลอยเคราะห์และดับภัย ที่วัดดับภัย แล้วจึงมาทำการ สืบชะตาที่วัดเชียงยืนแห่งนี้
ศาสนาสถานอีกแห่งหนึ่งของวัดนี้ ที่มีความงดงามโดดเด่นไม่แพ้พระธาตุเจดีย์ หรือตัววิหารอันเก่าแก่แล้ว ยังมีอุโบสถทรง ๘ เหลี่ยม แตกแต่งตามสถาปัตยกรรมแบบพม่า ที่งดงามและสมควรที่จะอนุรํกษ์ไว้เป็นอย่างยิ่ง
นับเป็นอารามที่อยู่คู่เมืองเชียงใหม่มายาวนาน และฝังรากลึกถึงความเคารพและศรัทธาของสาธุชนคนทั่วไปที่มีต่อวัดเชียงยืน และองค์พระสัพพัญญูเจ้าวัดเชียงยืน อย่างแน่นแฟ้น ดังจะเห็นว่าชุมชนที่เป็นศรัทธาวัดเชียงยืนมาจากหลายชุมชน ไม่ว่าจะเป็นชุมชนเชียงยืน ชุมชนอุ่นอารีย์ ชุมชนสามัคคีพัฒนา และชุมชนป่าเป้า จะร่วมมือกันดูแลอุปปัฏฐากวัดนี้ไม่เคยขาด โดยจะมีงานประจำปีคือประเพณีการสรงน้ำพระบรมธาตุวัดเชียงยืนในช่วงต้นเดือนเมษายน เป็นลำดับถัดจากวัดเชียงหมั้นเสมอ
ฉะนั้นหากมาเชียงใหม่ ลองเข้าไปไหว้สาพระสัพพัญญูเจ้าที่วัดเชียงยืนสักครั้ง จะได้รู้ว่าเหตุใด วัดแห่งนี้จึงมีความสำคัญต่อเมืองเชียงใหม่ และชาวเชียงใหม่สืบจากอดีตถึงปัจจุบัน๚๛



Create Date : 05 พฤษภาคม 2550
Last Update : 5 พฤษภาคม 2550 0:05:48 น. 12 comments
Counter : 1473 Pageviews.

 
ภูมิใจที่ประเทศไทยพระในโบสถ์สวยมาก ๆ


โดย: PIWAT วันที่: 5 พฤษภาคม 2550 เวลา:0:31:40 น.  

 
แวะมาเยี่ยมตอนดึกคับ


โดย: frank3119 วันที่: 5 พฤษภาคม 2550 เวลา:2:01:09 น.  

 
สิ่งดีๆๆๆๆๆๆๆๆน่าอนุรักษ์ฮั๋กษา สรียินดีครับ


โดย: หมอนข้าง IP: 58.9.135.42 วันที่: 5 พฤษภาคม 2550 เวลา:8:44:58 น.  

 
ไปบ่อยครับวัดนี้ ที่สำคัญวัดนี้เป็นหนึ่งในเก้าวัดทักษาเมื่องของเชียงใหม่ อยู่ในฐานะเดชเมืองเชื่องใหม่ ตามความเชื่อหากมีฐานะเป็นเดชแล้วใครไปไหว้จะได้มีวาสนา มีบารมี มีอำนาจ ต่อคนโดยทั่วไป ทุกวันนี้นักปกครองไม่ว่าจะเป็นผู้ว่า หรือนายอำเภอ ก่อนที่จะเข้ารับตำแหน่งต้งมาที่วัดนี้ก่อน แล้วจึงเข้าประตูช้างเผือก

แลกเปลื่ยนความรู้กันได้นะครับ


โดย: Eik_Q( Eik_q128@hotmail.com ) IP: 203.130.145.68 วันที่: 16 พฤษภาคม 2550 เวลา:13:00:52 น.  

 
ความจริงแล้ว ผมเลี่ยงที่จะไม่กล่าวถึง "วัดในทักษาเมือง" แล้วนะครับผม

แต่พอดีมาการกล่าวมา ขอชี้แจงเสียหน่อย ก่อนที่จะเข้าใจผิดกันไปมากกว่านี้ ว่า "ไม่มีวัดในทักษาเมือง" นะครับผม ซึ่งรายละเอียดอ่านกันได้จากหนังสือ "ไม่มีวัดในทักษาเมืองเชียงใหม่ บทพิสูจน์ความจริงโดยนักวิชาการท้องถิ่น" ดูนะครับผม

ระบบทักษา ไม่เกี่ยวกับวัดนะครับ แต่อยู่ที่ประตู ทั้งสี่ทิศ และมุมเมืองทั้งสี่ เพราะว่ามันเป็นคนละระบบครับ ไม่เกี่ยวข้องกัน


โดย: ศศิศ วันที่: 25 พฤษภาคม 2550 เวลา:20:45:24 น.  

 
ดีใจค่ะที่หนูได้อยู่โรงเรียนเทศบาลวัดเชียงยืนและได้อยู่ใกล้วัดสามารถไปสักการะบูชาได้ด้วยอ่านะ


โดย: อย่างที่รู้ๆกานอยู่ IP: 124.157.161.91 วันที่: 20 ธันวาคม 2550 เวลา:19:14:40 น.  

 
วัดเชียงยืนเป็นวัดที่อยู่กับชาวเชียงใหม่เคยไปมาแล้ว


โดย: Nui IP: 118.172.32.200 วันที่: 26 เมษายน 2551 เวลา:13:59:19 น.  

 
วัดเชียงยืน ที่เชียงตุงก็มี เป็นที่ประทับของสมเด็จพระสังฆราชเชียงตุง


โดย: นุ่น IP: 58.9.203.97 วันที่: 12 พฤศจิกายน 2551 เวลา:21:08:14 น.  

 
โดยความจริงแล้วบ่าเกยมี วัดในทักษาในเวียเจียงใหม่เน่อคับ แม้ว่าตำนานจะบอกไว้อย่างนั้น แต่เปิ้นก่อบ่าได้เอามาเป็นแบบแผนคับ แต่พอดีมาเถิงสมัยบ่าเดี่ยวที่การเท่องเที่ยวนิยมนำไปไหว้พระ เก้าวัด เลยเอากั๋นไปใหญ่คับ


โดย: แบงค์กี้ IP: 58.8.120.229 วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:14:50:59 น.  

 
ผมเกิดที่เชียงยืนครับพี่น้องอยากรู้อะไรถามผมได้เลยคร้าบพี่น้อง


โดย: จอมยุทธ ออ่น กาดฟ้า IP: 124.121.144.69 วันที่: 15 มีนาคม 2552 เวลา:11:37:03 น.  

 
whenever you felt that your heart is going to breakdown
feel it with the love of God ask for his and then you will
find out what is the truth love in Your life as he does for me!

GOD always forgive your mistake
the one that you cant even forget,
he always does it and always being with us
to help and blesss us for us whose heart is full of him


โดย: da IP: 124.120.15.123 วันที่: 19 เมษายน 2553 เวลา:2:08:12 น.  

 
เป็นวัดที่สวยค่ะ เคยอยู่โรงเรียนเชียงยืนมาก่อน เลยได้ไปกราบไหว้บ่อยค่ะ


โดย: ไม่บอก IP: 118.172.26.106 วันที่: 4 มิถุนายน 2553 เวลา:16:15:00 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

ศศิศ
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add ศศิศ's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.