Once upon a time ...
Group Blog
 
All blogs
 
ถกเรื่องเขาพระวิหาร ที่หว้ากอ

เขาถกประเด็นนี้กันที่นั่น กว่าจะอ่านจบก็ใช้เวลานานเหลือเกิน ข้ามวัน ข้ามคืน รอๆดูแล้วไม่คิดว่ากระทู้จะถูกอุ้ม เลยมาทำ link เก็บไว้หน่อย

//topicstock.pantip.com/wahkor/topicstock/2010/08/X9560596/X9560596.html

MOU แต่ละปีเป็นยังไง บางความเห็นได้วิเคราะห์ วิจารณ์ไว้แล้ว ใครที่ฟังตามๆกันมาแล้วด่วนสรุปเชื่อตามไปแล้ว กรุณาศึกษารายละเอียดก่อนทำการประนามใครออกอากาศก็แล้วกัน

แต่...จริงเหรอที่มีคนบอกว่า เขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา แต่พื้นที่ข้างใต้นั้นเป็นของไทย ??

ขอบคุณชาวหว้ากอที่ให้ความรู้ด้วยค่ะ

......................

ชอบความเห็นช่วง 90 กว่าๆ ที่ยกมาจากนิตยสาร “สารคดี” โดยเฉพาะความเห็นที่ 95 – 96 ที่ดร.ปรีดี เสนอให้จอมพล ป. นำเรื่องพิพาทขึ้นสู่ศาลระหว่างประเทศหรือศาลโลก และสิ่งที่ท่านกล่าวเตือนนักศึกษาสมัยนั้นว่า


"ท่าน ผู้ประศาสน์การ (ดร. ปรีดี พนมยงค์) ได้มากล่าวต่อหน้านักศึกษาเกี่ยวกับการเดินขบวนเรียกร้องดินแดน ตอนหนึ่งใจความว่า '...ที่มานี่ ไม่ได้มาห้ามไม่ให้เดิน การเดินหรือไม่เดินเป็นเรื่องที่พวกคุณจะวินิจฉัย แต่ขอให้คิดให้ดี เวลานี้ฝรั่งเศสกำลังทรุดหนัก เยอรมันบุกฝรั่งเศสอย่างหนัก การที่เราจะไปซ้ำเติมคนที่กำลังแพ้ ไม่ใช่วิสัยที่ดี การเรียกร้องดินแดนนี้ผมเชื่อว่าได้คืนแน่เพราะฝรั่งเศสกำลังแย่ แต่ผมขอพูดไว้ล่วงหน้าว่า ดินแดนที่ได้คืนมาจะต้องกลับคืนไป ในชีวิตของผมอาจจะไม่ได้เห็น (การกลับคืนไป) แต่ในชีวิตของพวกคุณจะต้องได้เห็นอย่างแน่นอน' "



ต่อด้วยความเห็นที่ 113 ที่เอาประวัติศาสตร์ที่อ.ชาญวิทย์เล่ามาให้อ่านกัน

กรณีศึกษา ปราสาทเขาพระวิหาร ประวัติศาสตร์การเมืองกับลัทธิชาตินิยม (ก่อนสุโขทัย ถึง พ.ศ. 2505)
วิชาประวัติศาสตร์เอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ชาญวิทย์ เกษตรศิริ


เนื้อหาโดยรวม

ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นส่วนหนึ่งของ ประวัติศาสตร์แผลเก่า ระหว่างประเทศไทยกับประเทศกัมพูชา ระหว่างลัทธิชาตินิยมไทย กับลัทธิชาตินิยมกัมพูชา ที่แม้จะเกิดมานานกว่า 50 ปี ก็ยังพร้อมจะปะทุขึ้นมาอีก และถูกนำมาใช้ทางการเมืองเมื่อไรก็ได้

ในฝั่งของประเทศไทย ปราสาทเขาพระวิหารเป็นส่วนหนึ่งของ การเมือง และ ลัทธิชาตินิยม ในสกุลของ อำมาตยาเสนาธิปไตย ที่ถูกปลุกระดมและเคยเฟื่องฟูในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ภายใต้รัฐบาล จอมพล ป พิบูลสงคราม และถูกตอกย้ำในสมัย สงครามเย็น ต่อต้านคอมมิวนิสต์ในสมัยรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ และก็ถูกสืบทอดต่อๆ มาโดยจอมพลถนอม กิตติขจร และ บรรดานายพลและอำมาตยาธิปไตยรุ่นต่อๆ มา
ปราสาทเขาพระวิหาร เป็นมรดกทางวัฒนาธรรม ของ บรรพชนของขะแมร์กัมพูชา (ขอม) แต่โบราณ ที่อาศัยอยู่ในทั้งกัมพูชาและอีสานของไทย ขะแมร์กัมพูชาเป็นชนชาติที่มีความสามารถในการสร้างปราสาทด้วยหินทรายและศิลาแลง ต่างกับไทย มอญ และพม่า ที่ใช้ไม้และอิฐ ขะแมร์กัมพูชาก่อสร้างปราสาทบนเขาพระวิหารกว่า 300 ปี ตั้งแต่ กษัตริย์ ยโสวรมันที่ 1 จนถึง ชัยวรมันที่ 7 (ก่อนสุโขไทย 300 ปี ราว พ.ศ. 1400-1700) ปราสาทเขาพระวิหารตั้งอยู่บนเทือกเขาพนมดงรัก จังหวัดเปรียะวิเฮียร ของประเทศกัมพูชา ในปัจจุบัน

ปราสาทเขาพระวิหาร น่าจะถูกทิ้งร้าง ราวหลังปี พ.ศ. 1974 คือ สมัยที่กัมพูชาเสียกรุงศรียโสธรปุระให้แก่กองทัพของกรุงศรีอยุธยา จากนั้น ไทยและกัมพูชา ทิ้งร้างปราสาทเขาพระวิหารไปราว 500 ปี จนกระทั่งฝรั่งเศส ได้เข้ามาล่าเมืองขึ้นในภูมิภาคนี้ และได้ทั้ง ลาว เวียดนาม และกัมพูชาเป็นอาณานิคม และพยายามเขมือบดินแดนสยาม ในสมัย ร.ศ. 112 ถึงขนาดใช้กำลังทหารเข้ายึดเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้ายไว้เป็นเครื่องต่อรองกว่า 10 ปี

จนเมื่อปี พ.ศ. 2450 ที่รัชกาลที่ 5 ได้เสด็จยุโรปเป็นครั้งที่ 2 จึงได้ลงนามสัตยาบันในสัญญากับประธานาธิบดีฝรั่งเศสและแลกเปลี่ยนดินแดนเสียมเรียบ (ที่ตั้งนครวัดนครธม หรือ กรุงศรียโสธรปุระ ) พระตะบอง และศรีโสภณ โดยแลกเมืองจันทบุรี เมืองตราด และเมืองด่านซ้าย กลับมา ถึงตอนนี้ ก็คือเส้นเขตแดนไทยติดกับกัมพูชาและลาวในปัจจุบัน โดยตัวปราสาทได้ถูกขีดเส้นให้อยู่ในฝั่งกัมพูชา กล่าวโดยย่อ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ที่มีสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เป็นเสนาบดีมหาดไทย ฝ่ายรัฐบาลราชาธิปไตยสยาม ได้ยอมรับเส้นเขตแดนที่ถือว่า ปราสาทเขาพระวิหารขึ้นอยู่กับฝรั่งเศสไปเรียบร้อยแล้ว เพื่อที่จะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ และเป็นหลักประกันในการรักษาเอกราชและอธิปไตย ส่วนใหญ่ของสยามประเทศเอาไว้ ดังนั้น เมื่อกัมพูชาได้รับเอกราชจากฝรั่งเศส จึงอ้างสิทธิในการครอบครองปราสาทเขาพระวิหาร

และดังนั้น ในสมัยรัขกาลที่ 7 เมื่อกรมสมเด็จพระยาดำรงฯ ได้เสด็จไปทอดพระเนตร ปราสาทเขาพนมรุ้งและปราสาทเขาพระวิหาร จึงต้องทรงขออนุญาตจากฝรั่งเศสอย่างเป็นทางการ และนี่ก็คือหลักฐานอย่างดีที่ทำให้ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช และ ม.จ.วงษ์มหิป ชยางกูร ทนายและผู้แทนของฝ่ายรัฐบาล จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่อ่อนแอข้อมูลและหลักฐานจดหมายเหตุ ต้องแพ้คดีปราสาทเขาพระวิหารเมื่อ 15 มิ.ย. 2505

จนถึงสมัยสิ้นสุดระบอบ ราชาธิปไตย หลังการปฏิวัติ 2475 ปราสาทเขาพระวิหาร ได้ถูกขุดคุ้ยมาเป็นประเด็นคุกรุ่นทางการเมืองมาแล้วสองครั้ง
ครั้งแรก สมัย จอมพล ป พิบูลสงคราม หลังจากปฏิวัติประชาธิปไตย 24 มิ.ย. 2475 เมื่อคณะราษฎร ยึดอำนาจได้ ก็ประสบปัญหาในการบริหารปกครองเป็นอย่างมาก เพราะ 1 ปีต่อมาก็เกิดกบฏบวรเดช ที่นำโดย อดีตเสนาบดีกลาโหมของรัชกาลที่ 7 และ พระยาศรีสิทธิสงคราม (ตาของพลเอกสุรยุทธ์ จลานนท์) เกิดเป็นสงครามการเมือง ส่งผลให้รัชกาลที่ 7 สละราชสมบัติในปี พ.ศ. 2477 และประทับอยู่อังกฤษจนสิ้นพระชนม์

ท่ามกลางความวุ่นวายรัชบาลจอมพล ป หันไปพึ่ง อำมาตยาเสนาชาตินิยม ปลุกระดมวาทกรรม การเสียดินแดน 13 ครั้ง ในเกิดความรักชาติด้วยมาตรการต่างๆ รัฐบาลปลุกระดมเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส (ดินแดนส่วนที่แลกกันไปในสมัย รัชกาลที่ 5) ในเกิดการเดินขบวนของนิสิตนักศึกษา จนในที่สุด เกิดเป็นสงครามชายแดน เปิดโอกาสให้ญี่ปุ่น มหามิตรใหม่เข้ามาไกล่เกลี่ย บีบให้ฝรั่งเศสจำต้องยอมคืนดินแดนให้ (ตอนนั้นฝรั่งเศสพึ่งถูกเยอรมันตีแตก)

นี่เป็นที่มาให้รัฐบาลจอมพล ป ได้ดินแดน เสียมเรียบ พระตะบอง ศรีโสภณ จำปาศักดิ์ ตลอดจนถึง ไชยะบูลี ซึ่งตอนนี้เอง ที่ปราสาทเขาพระวิหารได้กลับมาสู่ความรับรู้ความสนใจของคนไทย และได้ขึ้นทะเบียนปราสาทเขาพระวิหารเป็นโบราณสถานของไทย โดยประกาศไว้ในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 11 ต.ค. 2483 และได้ประกาศให้คนไทยรับรู้

และแล้วสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของญี่ปุ่น และรัฐบาลจอมพล ป ก็ล้ม ซึ่งหมายความว่า ไทยจะต้องถูกปรับเป็นประเทศแพ้สงครามด้วย ฝรั่งเศสและอังกฤษที่เสียที่ดินและผลประโยชน์ให้กับไทย ก็ต้องการปรับ และ เอาคืน โชคดีที่ไทย ที่มีทั้งมหาอำนาจใหม่คือ สหรัฐอเมริกาช่วยสนับสนุน และยังมี ขบวนการเสรีไทย ภายใต้การนำของ ฯพณฯ ปรีดี พนมยงค์ ที่กู้สถานการณ์เจรจาต่อรอง ไม่ต้องถูกปรับมากมายหรือยึดเป็นเมืองขึ้นอย่าง ญี่ปุ่น หรือ เยอรมนี

แต่รัฐบาลใหม่ที่เป็น ฝ่ายเสรีประชาธิปไตย ก็ต้องคืนดินแดนที่ไปยึดครองมาทั้งหมดที่กล่าวมาข้างต้น รวมถึงดินแดนของอังกฤษคือ เมืองเชียงตุง เมืองพาน และ 4 รัฐมลายู ตอนนี้เอง ที่ปราสาทเขาพระวิหาร ได้กลายเป็นปัญหาที่เริ่มก่อขึ้นมาเงียบๆ เพราะตัวปราสาทหาได้ถูกคืนไปด้วยไม่

ไม่นานต่อมา พ.ศ. 2490 รัฐบาลอำมาตยาเสนาธิปไตยของจอมพล ป ก็กลับมาอีกครั้ง ด้วยการรัฐประหาร ภายใต้การนำของ พล.ท. ผิน ชุณหะวัณ กับ นายควง อภัยวงศ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และได้ส่งกองทหารไปตั้งมั่นอยู่บนเขาพระวิหารในปี พ.ศ. 2497 ในขณะนั้น ฝรั่งเศสยังต้องวุ่นวายอยู่กับการรบกับขบวนการกู้ชาติของเวียดนาม กัมพูชา และลาว จึงไม่ได้มาสนใจ

หลังจากที่กัมพูชาได้รับเอกราชในปี พ.ศ. 2496 ไป 6 ปี พระเจ้านโรดม สีหนุ กษัตริย์และพระบิดาแห่งเอกราช นักราชาชาตินิยมแห่งกัมพูชา ก็ได้ยื่นฟ้องต่อศาลโลก (International Court of Justice) เมื่อวันที่ 6 ต.ค. 2502

ในตอนนั้นรัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ซึ่งรัฐประหารยึดอำนาจมาจาก รัฐบาลจอมพล ป ก็ได้แต่งตั้ง ม.ร.ว.เสนีย์ปราโมช (อดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์) เป็นทนายสู้ความ รัฐบาลจอมพลสฤษดิ์ปลุกระดมให้ประชาชนรักชาติ บริจาคเงินคนละ 1 บาทเพื่อสู้คดี (3 บาท = ก๋วยเตี๋ยว 1 ชาม)

ศาลโลกที่กรุงเฮก เนเธอร์แลนด์ ใช้เวลา 3 ปีและลงมติเมื่อ 15 มิ.ย. 2505 ด้วยคะแนน 9 ต่อ 3 ให้ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของกัมพูชา และให้รัฐบาลไทยถอนทหารและเจ้าหน้าที่ทั้งหมดออกจากพื้นที่ คำพิพากษายึดจากสนธิสัญญาและแผนที่ที่ทำขึ้นหลายครั้งในสมัยรัฐกาลที่ 5 นั่นเอง แผนที่เหล่านั้นขีดให้ตัวปราสาทอยู่ในเขตอาณานิคมฝรั่งเศส ซึ่งไม่ได้ใช้หลักภูมิศาสตร์ หรือ สันปันน้ำ หรือทางขึ้นปราสาทที่อยู่ในไทยไม่ ในตอนนั้น รัฐบาลสยาม สมเด็จกรมพระยาดำรงฯ มิได้ท้วงติงแต่อย่างใด ดังนั้น ผู้พิพากษาศาลโลกจึงยึดหลักสากลว่า การนิ่งเฉยหมายถึงการยอมรับโดยปริยาย ทำให้ไทยต้องแพ้คดีนั่นเอง



ปราสาทเขาพระวิหาร ตกเป็นของกัมพูชาทั้งจากทางด้านประวัติศาสตร์ และ นิติศาสตร์ ข้ออ้างทางไทยทางภูมิศาสตร์ หาได้รับการรับรองจากศาลโลกไม่ เรื่องนี้จึงกระทบต่อจิตวิทยาของคนไทยที่ถูกปลุกระดมด้วยวาทกรรมของรัฐบาลอำมาตรยาเสนาชาตินิยมเป็นอย่างมาก

วาทกรรมแบบอำมาตรยาเสนาชาตินิยม และการเสียดินแดน ถูกนำมาใช้ซ้ำๆ กันกว่าครึ่งศตวรรษ เริ่มด้วยกระบวนการสร้างจิตสำนึกใหม่ว่า ปราสาทเขาพระวิหารเป็นของไทย ตีความให้คนรู้สึกว่า ไทยมีความชอบธรรมมากในการเป็นเจ้าของเช่น มีการเสนอความคิดประเภทว่า ขะแมร์กัมพูชา (ขอม) มิใช่บรรพบุรษของกัมพูชาจึงไม่ควรมีสิทธิ์ครอบครอง เป็นต้น ความคิดในแนวนี้ จะปรากฏอยู่มากมายในงานเขียนในยุคนั้น และถูกถ่ายทอดมาในวงการการศึกษาประวิติศาสตร์โบราณคดีของหลายสถาบัน การปลูกฝังเรื่องนี้ฝังลึก จนสามารถในมาใช้ในเรื่องการเมืองได้ง่าย แบบที่ประชาชนไม่ฟังเหตุผล ใช้แต่อารมณ์มาหลายยุคหลายสมัยทั้งในประเทศไทย และประเทศกัมพูชา แม้ที่จริง เรื่องตัวปราสาทมันจบไปนานแล้ว เหลือแต่เพียงพื้นที่ทับซ้อนที่ยังรอการตัดสินการปักปันเขตแดน





Create Date : 23 สิงหาคม 2553
Last Update : 9 กุมภาพันธ์ 2554 20:34:24 น. 0 comments
Counter : 809 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

saifan
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]




Friends' blogs
[Add saifan's blog to your web]
Links
 

MY VIP Friends


 
 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.