Group Blog
 
All blogs
 
ข้ามขอบฟ้าไปยังภูฎาน ตอน 2

นิทานสี่สหาย (The Four Friends)

ภายในวัดมีรูปของนิทานสี่สหาย ซึ่งพบในทั่วไปในภูฎาน ไกด์เล่าให้ฟังว่าเป็นภาพเขียนที่เล่าเรื่องราวของการอยู่ร่วมกันของสัตว์ 4 ชนิด คือ ช้าง ลิง นกยูง และกระต่าย ซี่งต่างช่วยเหลือซึ่งกันและกัน นกยูงจะหาเมล็ดผลไม้มาปลูก ลิงเป็นผู้ให้ปุ๋ย ช้างจะดูแลต้นไม้ให้เติบโต และเมื่อต้นไม้ออกผลแล้ว เนื่องจากต้นไม้สูงเกินกว่าสัตว์สี่ตัวจะเอื้อมเก็บถึง พวกมันจึงช่วยเหลือกันโดยช้างจะยืนอยู่ด้านล่างสุด ตามด้วยลิง กระต่ายและนกยูง ต่อตัวกันจนสามารถเด็ดผลไม้ได้




งานฉลองวันเกิด Third King

ชาวภูฎานก็เหมือนคนไทยที่เรียกกษัตริย์เป็นรัชกาล โชคดีที่ฉันได้มีโอกาสเดินสัมผัสชาวภูฎานในงานฉลองอย่างใกล้ชิด เพราะช่วงเวลาที่เราไปน่าจะยังไม่ได้เปิดงาน มีซุ้มเกมส์ต่าง ๆ ที่สามารถไปซื้อคูปองมาเล่นเกมส์ได้เหมือนจัดงานอีเวนต์เมืองไทย บางซุ้มก็เป็นการประมูลราคาสินค้า ฉันเห็นภาพเขียนของประเทศไทยอยู่ที่ซุ้มนี้ด้วยล่ะ เดิมฉันเข้าใจว่าซุ้มนี้เป็นการขายของ แต่พอเงยหน้าจะเห็นป้าย “Auction” มีซุ้มของ Bank of Bhutan ซึ่งมีเจ้าหน้าที่หลายคนแต่งชุดประจำชาติด้านหน้ายืนต้อนรับ แอบมองไปเห็นป้ายอัตราดอกเบี้ยเงินกู้มากกว่า 10% แพงกว่าประเทศไทยขณะนี้เชียวล่ะ






ระหว่างนั้นฉันก็ถือโอกาสดูสินค้าพื้นเมืองที่เผื่อจะซื้อติดไม้ติดมือกลับมา ส่วนใหญ่ราคาแพงเหมือนที่ฉันเช็คข้อมูลก่อนออกเดินทางจากเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นสินค้าสาน ผ้าทอมือ



เข้าร้านขายของ Souvenir ร้านแรก

น้องฉันตั้งกระทู้ในพันธ์ทิพย์ว่า “ไปภูฎาน มีของอะไรที่น่าสนใจ” มีคนตอบกลับมาว่า “ภูฎานเป็นประเทศเดียวที่แม่ไปแล้วบ่นว่าไม่มีของให้ซื้อ” แต่เมื่อฉันมาอยู่ที่นี่จริง ๆ ฉันพบว่าของน่ะมีให้ซื้อ แต่แพงมากกว่า ฉันว่าน่าจะเป็นเพราะภูฎานไม่ได้ผลิตสินค้าอย่างเป็นอุตสาหกรรมจริงจัง ดังนั้นสินค้าจึงเสมือน Home made และใช้ระยะเวลานานกว่าจะผลิตได้ 1 ชิ้น เช่น กว่าจะทอผ้าลายสวย 1 ผืนใช้เวลาหลายเดือน ใครอาจมีคำถามต่อว่า “อ้าว ไหนว่าคนภูฎานจนไม่ใช่เหรอ ถ้าวัดจาก GDP ที่ทั่วโลกเขาใช้กัน ภูฎานจะติดอันดับท้าย ๆ แล้วคนภูฎานจะเอาตังค์ที่ไหนมาซื้อของ” อันนี้ฉันคิดเองตอบเองนะว่า เขาก็ทอเอง หรือทำเองน่ะซี ไม่เห็นจะต้องพึ่งพาใครเลย

ที่ร้านนี้มีภาพทังคา (Thangka) ซึ่งถือเป็นของที่ระลึกอย่างหนึ่งของภูฎาน ฉันถามราคา ภาพละประมาณ 3,000 บาท ภาพทังคาจะมีความหมายแตกต่างกันไป เช่น อายุยืน สุขภาพดี



ลักษณะเป็นผืนผ้าสี่เหลี่ยมไว้แขวนฝาผนังหรือตามแท่นบูชา เป็นรูปพระพุทธรูป พระอริยสงฆ์ พระโพธิสัตว์ เขาว่าถ้าเป็นทังคาที่คนภูฎานไว้บูชาจะผ่านพิธีปลุกเสก เขียนมนตราไว้ด้านหลังเพื่อความศักดิ์สิทธิ์ แต่ถ้าเป็นทังคาที่วางขายเป็นที่ระลึกสำหรับนักท่องเที่ยวจะไม่ผ่านพิธีนี้

จากหนังสือ “ภูฎาน มนต์เสน่ห์ในอ้อมกอดหิมาลัย” สารคดียอดเยี่ยมประจำปี 2543 ที่เขียนโดย พิสมัย จันทวิมล กล่าวว่าในประเทศไทยก็มี “ผ้าเขียนสี” ที่ช่างบรรจงเขียนถวายเป็นพุทธบูชาในลักษณะเดียวกับทังคา โดยไทยเรียกว่า “พระบฏ” มีเรื่องราวความเป็นมาตั้งแต่ครั้งกรุงสุโขทัย เท่าที่ค้นพบได้และถือว่าเก่าแก่ที่สุดใส่ไว้ในหม้อดินในกรุวัดดอกเงิน อ.ฮอด จ.เชียงใหม่

แต่ถ้าใครสนใจถ้ามีโอกาสแวะไปที่ จ. เพชรบุรี ที่วัดจันทราวาส มีพระบฏที่เขียนเป็นเรื่องพุทธประวัติตั้งแต่ประสูติถึงปรินิพพาน เดิมมี 9 ผืน แต่ถูกขโมยไป เหลือเพียง 3 ผืนในปัจจุบัน

Window shopping









สถูป 108 กับธงสะบัดลอยฟ้า

ระหว่างทางเดินทางจากเมืองพาโรไปเมืองพูนาคา เรามาถึงสถูป 108 ซึ่งไกด์เล่าว่าควีนมัม (ท่านย่าของจิ๊กมี่)เป็นผู้ดำริสร้าง ภายในสถูป (ไกด์จะเรียกว่า สตู-ปา หรือเป็นคำภาษาอังกฤษว่า Stupa) จะมีพวกพระธาตุ (ก็คงเหมือนบ้านเราน่ะ) บริเวณรอบข้างจะมีติดธงเต็มไปหมด เป็นธงหลายสี เรียกว่า Prayer Flag บนตัวธงจะมีคำจารึกมนตราต่าง ๆ (ฉันว่าเหมือนผ้ายันต์บ้านเรา) ชาวภูฎานจะเชื่อว่าเมื่อลมพัดผ่านธงมนตรานี้จะช่วยพัดพาสิ่งที่ดีมาสู่ผู้คนในแถบนั้น จึงไม่แปลกที่จะพบธงนี้ตามสถานที่ต่าง ๆ ของภูฎาน



ฉันถามไกด์ว่าที่นี่ระดับความสูงเท่าไหร่ ไกด์บอกว่า 3,100 เมตรจากระดับน้ำทะเล อากาศเริ่มหนาวเหมือนกัน ฝั่งตรงข้ามสถูป 108 กำลังก่อสร้างวัดอยู่ เป็นทางขึ้นบันไดสูงพอควร บริเวณแถบนี้มีดอกไม้สวยงามเต็มไปหมด มีดอกกุหลาบพันปี หรือที่เรียกว่าโรโดเดรนดอน (Rhododendron)



ฟังลามะน้อยสวดมนต์ที่วัดวังดี

เข้าไปให้ห้องเรียนของลามะเด็ก ๆ และ วัยรุ่น (แต่เขาไม่อนุญาตให้ถ่ายรูป) เสียงสวดมนต์ดังกระหึ่มภายในห้อง แต่ฉันรู้สึกว่าไม่น่าจะใช่บทสวดบทเดียวกัน (แม้จะไม่รู้ภาษาของเขา) ด้านหน้าของลามะน้อยมีหนังสือธรรมะวาง มีเลขหน้ากำกับ ซึ่งตัวเลขหน้าของแต่ละเล่มที่ลามะกำลังสวดอยู่ไม่ใช่หน้าเดียวกัน ลามะบางองค์นั่งโยกตัวไปมาระหว่างสวดมนต์ (ฉันเดาว่าเป็นวิธีแก้ง่วงอย่างหนึ่ง) บ้างก็เงยหน้ามองพวกเรา คงจะคิดว่าเข้ามาทำไมก็ไม่รู้

ออกจากบริเวณห้องนี้ ฉันถามไกด์ว่าลามะไม่ได้สวดมนต์บทเดียวกันใช่มั้ย ไกด์ตอบว่า “They study different lesson” ซึ่งหมายถึงลามะแต่ละองค์ก็จะสวดบทสวดของตัวเองไป พวกเราสงสัยกันว่าแล้วไม่สับสนหรือเวลาได้ยินบทสวดของคนอื่น คำตอบคือถ้ามีสมาธิจดจ่ออยู่กับบทสวดของตัวเอง ก็จะไม่มีปัญหาหรอก ลามะน้อยจะมีตารางเรียนในแต่ละวัน แต่วันอาทิตย์จะเป็นวันหยุด ฉันฟังตารางเรียน เวลาพักแล้วก็เหนื่อยแทน รู้สึกเหมือนกับตารางปฎิบัติธรรมที่ฆราวาสไปฝึกสมาธิเลย

ลามะน้อยเหล่านี้พูดภาษาอังกฤษได้ไม่เลวเลย พวกเราพบลามะ 2 องค์อายุ 10 กับ 16 ปี ทักทายว่า “สวัสดีครับ” คงมีคนไทยส่วนหนึ่งแวะเวียนมาเที่ยวที่นี่อยู่บ่อย ๆ

ทัวร์ลีดเดอร์ของเราเล่าว่า ครอบครัวภูฎานจะส่งลูกชาย 1 คนมาบวชเป็นลามะ เมื่ออายุ 18 ปีจะมีสิทธิเลือกว่าจะบวชต่อหรือออกมาเป็นฆราวาส แต่ส่วนใหญ่แล้วจะบวชต่อเพราะการบวชเป็นลามะต่อจะมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีมากกว่าการสึกออกมา

พูนาคาซอง



อยู่ที่ภูฎาน พวกเราจะท่องเที่ยวกันอยู่แค่ 3 จังหวัดเท่านั้น คือ พาโร ทิมพู และพูนาคา พูนาคาจะเป็นเมืองที่อากาศอบอุ่นกว่าเมืองอื่น เป็นที่ประทับของพระสังฆราชในฤดูหนาว ลามะจากเมืองทิมพูและพาโรจะอพยพมาอยู่ที่นี่กัน

ไกด์จอดรถให้เราถ่ายรูปในระยะไกล และเป็นจุดที่แม่น้ำ 2 สี มาบรรจบกันคือแม่น้ำโม กับแม่น้ำโพ (แม่น้ำ ในภาษาภูฎาน เรียกว่า ชู่ Chhu น่าจะตั้งชื่อจากเสียงธรรมชาติของแม่น้ำ)


พูนาคาซองสร้างเสร็จมาประมาณเกือบ 400 ปี




ที่พูนาคาซองจะมีต้นศรีตรัง ซึ่งไกด์บอกว่าสีของดอกศรีตรังจะเปลี่ยนไปตามฤดู ปีที่แล้วที่ทัวร์ลีดเดอร์มาบอกว่ายังเป็นสีเขียวทั้งต้นอยู่เลย ยังพูดจาแซวไกด์ว่า “ขอบคุณที่ช่วย decorate ดอกไม้ให้เป็นสีม่วง ให้พวกเรามาเห็น” รถจอดให้เราเดินข้ามสะพานไม้ ไม่ใช่สะพานจริงที่กำลังมีการซ่อมแซมในบริเวณแถบนั้น แต่ละคนตื่นตาตื่นใจกับความงดงามของซองและดอกศรีตรัง เรียกว่ากระหน่ำยิงรูปกันแทบไม่ทันเลยทีเดียว





ฉันขี้นบันไดที่มีความสูงหลายขั้นเพื่อเข้าไปในวัด ก่อนเข้าวัดจะมีกงล้อภาวนาอันใหญ่เช่นเคย เข้าไปไหว้พระ แล้วสังเกตว่าพระพุทธรูปองค์ใหญ่หลายองค์จะขมวดคิ้ว จึงถามไกด์ว่า “ทำไมพระที่นี่ต้องขมวดคิ้ว มีความหมายอะไรซ่อนอยู่” ไกด์ตอบว่า เพราะก่อนหน้านั้นที่จะมีการรวบรวมประเทศภูฎาน พระก็เปรียบเสมือนนักรบ เป็นผู้นำของประเทศ ดังนั้นจึงต้องมีบุคลิกที่จริงจัง ให้ผู้คนเชื่อถือ น่าเกรงขาม (ขณะฟังอยู่ฉันคิดถึงเรื่องผู้นำเรื่องสามก๊กขึ้นมาทันที) ฉันเห็นรูปปั้นด้านข้างพระประธานองค์กลาง ลักษณะแต่งกายคล้ายพระ ในมือถืออาวุธสมัยก่อน การจะรวบรวมประเทศไม่ใช่เรื่องง่ายทีเดียว ด้านหน้ามีบัลลังก์สำหรับกษัตริย์นั่ง ซึ่งปัจจุบันที่พวกเรารู้จักคือ จิ๊กมี่ เกเซอร์ เป็นกษัตริย์องค์ปัจจุบัน ก็จะต้องมาที่นี่ทุกปี สถานะกษัตริย์กับศาสนาพุทธที่นี่ถือว่าอยู่ในระดับที่มีความสำคัญไม่แพ้กันทีเดียว

วัด Chimi Lhakhang 15 นาทีแม้ว สวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเซีย

รถพาพวกเรามาจอดที่บริเวณจุดหนึ่ง ไกด์บอกว่าพวกเราต้องใช้เวลาเดินไปวัดต่ออีกประมาณ 15 นาที แต่จริง ๆ แล้วฉันว่าเราใช้เวลากันมากกว่าครึ่งชั่วโมง สำหรับชาวภูฎานแล้ว 15 นาทีคงไม่ใช่เรื่องยาก แต่สำหรับบ้านนอก (ภูฎาน) อย่างฉันมันเป็น 15 นาทีแม้วมากกว่า (เหมือนที่ชาวเขาในภาคเหนือของเรา เรื่องเดินขึ้นเขาคือเรื่องธรรมดา)

แต่ด้วยบรรยากาศรอบข้างก็ยังพอเป็นใจให้ชมวิวทิวทัศน์ไปพลาง ๆ ดูการปลูกข้าวบาร์เลย์ ดูชาวบ้านมัดข้าวบาร์เลย์รวมกันแล้วเอาเข้าเครื่องสีข้าว ฉันว่าถ้าเป็นหน้าหนาวบริเวณแถบนี้คงสวยงาม เป็นสวิสเซอร์แลนด์แห่งเอเชียได้เลย







วัดนี้เป็นวัดที่ชาวภูฎานเชื่อว่าจะขอลูกได้ เข้าไปในวัด จะมีถาดที่วางไว้สำหรับทำบุญ กับมีกล่องที่ใส่เงินทำบุญ พวกเราสงสัยว่าแล้วเงินทำบุญของ 2 จุดนี้ต่างกันอย่างไร ไกด์บอกว่า สำหรับในถาดเหมือนเราถวายพระประธานโดยตรง (พระพุทธรูปองค์ใหญ่ในวัด) ส่วนในกล่องหมายถึงสำหรับการใช้จ่ายทั่วไปภายในวัด รวมถึงค่าอาหารลามะ

วัดซิมมี่ เป็นวัดที่สร้างขึ้นในศตวรรษที่ 15 โดยท่านลามะดรุกปา คุนเล ซึ่งเป็นเทพที่มีชื่อเสียงเช่นกันของภูฎาน

ขี่ม้าขึ้นเขาที่วัดทักซัง

วัดทักซัง ซึ่งอยู่บนเขาสูงจากระดับน้ำทะเล 3,100 เมตร ไกด์ถามความเห็นว่าจะใช้บริการขี่ม้าขึ้นเขากันหรือไม่ ถ้าไม่ใช้ก็ต้องเดินขึ้นเขาอย่างเดียว แต่ก็ใช้เวลานานพอดู และพวกเราก็คงเหนื่อยกันมาก ค่าบริการขี่ม้าจะแบ่งเป็น 2 อัตรา ถ้าจะไปแค่จุดที่ 1 (จากนั้นก็เดินต่อไปเอง) จะอยู่ที่ราคาประมาณ 300 บาท ต่อไปอีกจุดที่ 2 ที่ม้าไปต่อไม่ได้แล้ว จะต้องเดินเองเท่านั้นอีก 200 บาท สรุปพวกเราตกลงกันว่างั้นเลือก 500 บาทไปเลย

จุดแวะจุดที่ 1 ยังอีกไกลโพ้น



เมื่อถึงจุดสุดท้ายที่ม้าไปต่อไม่ได้แล้ว ฉันลงจากหลังม้าพร้อมกับลูบหัวมันที่พาฉันมาอย่างปลอดภัย ใช้เวลาเดินต่ออีกประมาณ 1 ชั่วโมง มีทั้งเป็นทางลงเขา และขึ้นเขา เดินไปเรื่อย ๆ เหนื่อยก็พัก (แต่รู้สึกจะพักบ่อย) เห็นเขาว่าเดินอีก 620 ขั้น

ฉันมาถึงจุดสูงสุดจนได้ ซึ่งมันเกินความคาดหวังของฉันอย่างมากเลย มาถึงตรงนี้แล้วเหรอ บริเวณด้านในมีเสียงสวดภาวนา พระพรมน้ำมนต์จากกาน้ำลงบนมือเรา ทัวร์ลีดเดอร์ของเราบอกว่า “ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ นะที่จะขึ้นมาได้ขนาดนี้ ดังนั้นควรอธิษฐานตั้งจิตอุทิศบุญกุศลของความยากลำบากในการเดินทางครั้งอุทิศให้เจ้ากรรมนายเวร หรือจะอธิษฐานขอให้สามารถนั่งสมาธิได้ ถ้าใครมีปัญหาในการปฎิบัติ” พระที่นี่ศักดิ์สิทธิ์มาก เป็นพระชื่อ รินโปเช ซึ่งตามตำนานเล่าว่าเป็นพระองค์แรกที่มาปฏิบัติธรรม นั่งสมาธิที่วัดนี้ และเผยแพร่พุทธศาสนาที่ภูฎาน

ระยะที่เราใช้เวลาขึ้นมา อย่างน้อยก็ 2 ชั่วโมง ดังนั้นฉันจึงอยากอยู่ในนี้นานหน่อย และอยากนั่งสมาธิที่จุดนี้ มีผู้เห็นด้วยกับฉันอยู่หลายคน เราจึงนั่งสมาธิกันสักครู่ แต่อยู่ได้ไม่นานหรอก มีคนแตะตัวฉันบอกว่าเขาไม่ให้อยู่นาน เพราะก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาอยู่เรื่อย ๆ

มุมมอง ณ จุดด้านบนสุด





ออกมาด้านนอก ไกด์พาไปอีกมุมหนึ่ง มีประตูปิดแต่ให้เราไปยืนดูได้ทีละคน ในห้องนั้นเป็นห้องปฎิบัติกรรมฐานของพระรินโปเช (Guru Rinpoche) ท่านเป็นผู้มาเผยแพร่พุทธศาสนาในดินแดนแถบนี้ในศตวรรษที่ 8 ซึ่งไกด์บอกว่าบริเวณจะมีความศักดิ์สิทธิ์ ความขลัง ของพลังบทสวด สมาธิ

จากประสบการณ์ขี่ม้า กับเดินทรหด บวกความเป็นมาของผู้เผยแพร่ศาสนาพุทธในดินแดนแถบนี้ ความศรัทธาของผู้สร้างวัด จึงทำให้เส้นทางการเดินทางมายังวัดทักซังกลายเป็นสถานที่ที่ฉันประทับใจมากที่สุดในการมาเที่ยวครั้งนี้



Create Date : 29 กันยายน 2551
Last Update : 29 กันยายน 2551 16:04:52 น. 4 comments
Counter : 1944 Pageviews.

 
เขียนเรื่องให้อ่านได้เพลินดีค่ะ .........รูป ก็สดสวย ........ช่วยแนะนำ วิธีทำดอกไม้ โปรย ในเวบ ให้หน่อยได้ไหมคะ อยากเอาไป โปรยที่ บ้านแม่ซานเดอร์มั่ง ..........ขอขอบคุณล่วงหน้าค่ะ


โดย: แม่ซานเดอร์ วันที่: 29 กันยายน 2551 เวลา:17:42:22 น.  

 
ไปที่ blog ของป้ามด https://www.bloggang.com/viewdiary.php?id=auntymod&group=22

ป้ามดจะมีมุมที่สอนเรื่องการทำ blog ค่ะ (จำไม่ได้ว่าอยู่หมวดไหนแล้ว) เอา code ที่ได้มา copy ใน script area ค่ะ ตอนจัดการ blog ค่ะ


โดย: รัชชี่ (รัชชี่ ) วันที่: 29 กันยายน 2551 เวลา:17:50:57 น.  

 
น่าไปจังค่ะ
ของจริงคงสวยมากๆ



โดย: None of it วันที่: 30 กันยายน 2551 เวลา:21:21:41 น.  

 
เกษ กำลังจะจัดทัวร์ไปเที่ยวภูฎานค่ะ แล้วก้อเลยต้องหาข้อมูลเยอะ ๆ เปิดเข้ามาดูได้ความรู้และความสุขด้วยค่ะ ที่มีคนไปเที่ยวภูฎานและมีความสุข


โดย: เกษค่ะ IP: 125.27.55.24 วันที่: 23 กุมภาพันธ์ 2552 เวลา:20:58:54 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

รัชชี่
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 16 คน [?]




พี่มานิต ประภาษานนท์ เป็นผู้ชักชวนเข้าสู่วงการการเขียนบล็อก ด้วยประโยคว่า
“จ๊ะเขียนบล็อกซี"

เริ่มเขียนบล็อก : 24 ก.ย. 51




สงวนลิขสิทธิ์ตาม พรบ.ลิขสิทธิ์
พ.ศ.2539 ห้ามละเมิดไม่ว่าการลอกเลียน นำรูป ข้อความที่เขียนไว้หรือส่วนหนึ่งส่วนใดในบล็อกแห่งนี้ ไปเผยแพร่อ้างอิง โดยไม่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของบล็อก






Setting program for counting visitors since 7 Nov. 2009
free counters
New Comments
Friends' blogs
[Add รัชชี่'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.