veritas lux mea = Truth enlightens me
Group Blog
 
All blogs
 
#O007#บทสุดท้ายในนวนิยาย ก็องดิด (Candide)

All is for the best in the best of all possible worlds.


สมมติฐานของเราในเวลานี้อาจจะถูกก็ได้หรือผิดก็ได้ คือไม่มีและจะไม่มีสิ่งใดอีกแล้วที่ส่งผลกระทบ สร้างความเปลี่ยนแปลง ต่อแนวคิดและการกระทำของเราเท่านวนิยายเรื่องนี้อีกแล้ว

" เป็นธรรมดาที่จะต้องนึกเห็นต่อไปว่า หลังจากที่ได้ประจญทุกข์ภัยมามากมายแล้วฆานฑิตก็แต่งงานกับนางคุณิกองและอยู่ด้วยกันกับปรัชญาเมธีปางโกลศ ปรัชญาเมธีมารทิน ฆฆัมโพคนช่างรู้ และหญิงชรา, "


" พูดสั้น ๆ คือว่าอย่างไหนจัดว่าร้ายกว่า คือต้องทนทุกข์ทรมานอย่างที่พวกเราได้โดนกันมานั้น หรือว่าอยู่นี่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร "


" "โดยที่มีสังสารวัฏฏแห่งเหตุการณ์ในโลกนี้อันดีที่สุดแห่งโลกทั้งหลายนั้นเอง เพราะหากท่านไม่ถูกถีบออกจากปราสาทวิเศษ เนื่องจากทำความรักนางคุณิกอง หากท่านไม่ได้ถูกพระวินัยธรสอบสวน หากท่านไม่ได้ข้ามไปอเมริกา หากท่านไม่ได้แทงบารอน หากท่านไม่ศูนย์เสียแกะที่เอามาจากเมืองวิเศษอัลโฑรโฑ ท่านก็จะไม่ได้มานั่งกินมะงั่วแช่อิ่มกับลูกพิศทาชโยอยู่ที่นี่"
ฆานฑิต "ที่ว่ามาทั้งนั้นก็ดีแท้ แต่ทว่าไปทำสวนกันดีกว่า" "

====================
๓๐

บทส่งท้าย

งานกสิกรรมนี้แหละช่วยข้าพเจ้าและลูก ๆ ให้พ้นจากอกุศลทั้งสาม
คือกระทำชั่ว ความอยากและความหน่ายรำคาญ




ใน ก้นบึ้งหัวใจฆานฑิตนั้น ไม่มีความปรารถนาจะแต่งงานกับนางคุณิกองเลย แต่ความหยิ่งยะโสอันเหลือแสนของบารอน ทำให้ฆานฑิตตั้งใจจะจัดการสู่สมให้สำเร็จจนได้ นางคุณิกองก็เร่งเร้าอย่างแข็งแรง จนฆานฑิตไม่สามรถจะสลัดคำมั่นสัญญาลง จึงปรึกษากับปางโกลศ, มารทินและฆฆัมโพคนซื่อ ปางโกลศลงมติดีวิเศษโดยพิสูจน์ว่าบารอนไม่มีสิทธิ์เหนือพี่นาง
ว่าโดยกฏหมายแห่งจักรภพแล้วนางย่อมจะสมรสกับฆานฑิตได้ด้วยมือเบื้องซ้าย ส่วนมารทินนั้นลงมติว่าให้จับบารอนโยนลงทะเล ฆฆัมโพตัดสินว่าเอาไปส่งคืนเรือทาสให้นายร้อยดีกว่า
ในที่สุดก็ตกลงกันว่าจะส่งตัวกลับไปกรุงโรมไปยังพระราชาคณะใหญ่โดยเรือลำแรก ข้อตกลงนี้เห็นชอบพร้อมกัน หญิงชราก็เห็นด้วย ไม่มีใครพูดอะไรให้นางคุณิกองรู้ และการนี้ก็ใช้เงินเพียงเล็กน้อย แล้วยังเป็นที่พอใจสองชั้นอีกด้วย คือส่งพระเจสุตไปเข้ากรุงได้ ๑ กับลงทัณฑ์อติมานะบารอนเยอรมันได้ ๑


เป็นธรรมดาที่จะต้องนึกเห็นต่อไปว่า หลังจากที่ได้ประจญทุกข์ภัยมามากมายแล้วฆานฑิตก็แต่งงานกับนางคุณิกองและอยู่ด้วยกันกับปรัชญาเมธีปางโกลศ ปรัชญาเมธีมารทิน ฆฆัมโพคนช่างรู้ และหญิงชรา,
ทั้ง ๆ ที่ได้เพ็ชรมากหลายมาจากเมืองอินฆัสโบราณ (Ancient Incas), น่าจะอยู่ดีสุขด้วยกันต่อไป แต่พวกยิวรีดนาทาเน้นจนกระทั่งเหลืออยู่แต่นาผืนน้อยเท่านั้น เมียฆานฑิตก็น่าเกลียดลงทุกวันเอาใจยาก เลี้ยงแทบไม่ไหว, หญิงชราก็ง่อนแง่นจู้จี้ยิ่งกว่านางคุณิกองเสียอีก ฆฆัมโพทำสวนเอาผักไปขายที่กรุงกันสตันติโนปลฺ งานหนักเหนื่อยล้าด่าแช่งโชคชาตาตน ปางโกลศก็หมดกำลังใจที่ไม่ได้ฉายแสงเป็นอาจารย์อยู่ตามมหาวิทยาลัยในเมืองเยอรมัน ส่วนมารทินนั้นมีใจมั่น รู้ตัวอยู่ว่าจะอยู่นี่หรืออยู่ไหนก็ไม่ดีไปกว่านี้ จึงอดทนต่อสิ่งต่าง ๆ ด้วยขันติธรรม

บางทีฆานฑิต, มารทิน ปางโกลศทุ่มเถียงกันถึงศีลธรรมปรัชญา, มองหน้าต่างเห็นอยู่เสมอ ๆ ว่ามีเรือบรรทุกพวกนักปราชญ์ตุรกีคือเอฟเฟนดี (effendis) เจ้านายคือปาชา ผู้พิพากษาคือฆาดี ต้องถูกเนรเทศไปเมืองเลนโนสมิติยลีน หรือเอร์เสรุม แล้วก็เห็นฆาดี ปาชา เอฟเฟนดี คนใหม่ไปแทนคนเก่าที่ถูกเนรเทศนั้น แล้วพวกใหม่ก็ถูกเนรเทศไปอีก เปลี่ยนไปเปลี่ยนมาดังนี้ บางทีก็เห็นหัวคนเสียบไม้อย่างดีจะนำไปถวายพระเจ้ากรุงตุรกี
ภาพดังกล่าวนี้เพิ่มการสนทนาโต้เถียงกัน ถ้าไม่ได้เถียงกันกาลเวลาก็ถ่วงชีวิตหนักอึ้งอยู่ จนวันหนึ่งหญิงชราเอ่ยขึ้นว่า
"ข้าพเจ้าอยากจะรู้ว่าอย่างไหนที่จัดว่าร้ายกว่าเพื่อ คือ ถูกโจรสลัดนิโกรข่มขืนร้อยหน หรือว่าถูกตัดเนื้อก้นออก หรือว่าเดินไปในหว่างแถวทหารบุลการ์ให้เขาโบย หรือถูกเฆี่ยนแล้วแขวนคอที่บูชายัญญ หรือว่าถูกชำแหละ หรือว่าเป็นทาสตีกรรเชียง พูดสั้น ๆ คือว่าอย่างไหนจัดว่าร้ายกว่า คือต้องทนทุกข์ทรมานอย่างที่พวกเราได้โดนกันมานั้น หรือว่าอยู่นี่เฉย ๆ ไม่ทำอะไร"
ฆานฑิต "ปัญหานี้ใหญ่มาก"
การสนทนาครั้งนี้ทำให้เกิดความคิดสว่างขึ้นหลายอย่าง มารทินลงมติเป็นพิเศษว่าคนเราเกิดมานั้นถ้าไม่อยู่ในภาวะไร้สงบว่อกแวกแล้ว ก็ต้องอยู่ในที่สงัดแสนรำคาญ ฆานฑิตยังไม่สู้เห็นด้วยกับข้อนี้ และไม่ตอบรับว่ากะไร ปางโกลศยอมรับว่าตนได้ทนทุกข์ทรมานสาหัสอยู่ตลอดมา แต่เมื่อได้เคยลงเนื้อเห็นเสียแล้วว่า ทุกสิ่งทุกอย่างย่อมเป็นไปด้วยดี ก็คงจะต้องกล่าวเช่นนั้นต่อไป ถึงแม้จะเลิกเชื่อแล้วก็ตาม


มีเรื่องเกิดใหม่ช่วยให้มารทินฝังแน่นในหลักการความทุกข์รำคาญ แต่กลับทำให้ฆานฑิตโอนเอียง และฉงนสนเทห์ในหลักการของปางโกลศมากขึ้น เรื่องนั้นคือ วันหนึ่งนางปะแก็ตกับพระจิโรเฟฺลมาที่ที่นา ตกทุกข์แสนเข็ญอย่างที่สุด เงินสามพันปิยัสตร์ที่ฆานฑิตให้นั้นใช้ทิ้ง ๆ ขว้าง ๆ ไม่กี่วันก็หมด ทิ้งกัน คืนดีกัน ทะเลาะกัน ติดคุก หนีคุก พระจิโรเฟฺลแปลงชาติเป็นตุรกี ส่วนนางปะแก็ตคงหากินทางโสเภณีทั่วไปทุกแห่งแต่ไม่ได้รับผลอะไร

มารทินพูดกับฆานฑิตว่า "ข้าพเจ้ารู้ล่วงหน้าแล้วว่าเงินกำนัลของท่านนั้นจะต้องหายละลายไปในไม่ช้า แล้วจะกลับจะทำให้สองคนนี้ทุกข์ยากมากกว่าเดิมเสียอีก ท่านเองกับฆฆัมโพก็เหมือนกัน ได้เงินมานับเป็นล้าน ๆ แต่กระนั้นก็ยังไม่มีความสุขกว่าพระจิโรเฟฺลกับนางปะแก็ตเลย"

ปางโกลศพูดกับนางปะแก็ตว่า "ฮะ, พระเจ้าทรงชักจูงเจ้ากลับมาหาพวกเราอีกครั้งหนึ่ง อีหนูเอ๋ย เจ้ารู้ไหมว่าเจ้าเป็นตัวการให้ข้าเสียปลายจมูก ตาข้างหนึ่งกับหูข้างหนึ่งดังที่เห็นอยู่นี้ นี่โลกอะไรกันหนอ?"

การประสพพบกันใหม่นี้ ก่อต้นการพิจารณาทางปรัชญากันใหม่ยิ่งใหญ่กว่าเช่นเคย
ในแถวนนั้นมีพระในศาสนามหหมัด (เทรวิษ-dervish) องค์หนึ่งเป็นผู้มีชื่อเสียงเป็นที่เลื่อมใสว่าเป็นปรัชญาเมธี ไม่มีใครสู้ทั้งเมืองตุรกี หมู่ฆานฑิตพากันไปขอปรึกษาหาทางปฏิบัติ ปางโกลศเป็นผู้พูดว่า
"ท่านอาจารย์เจ้าข้า พวกข้าพเจ้ามาขอให้ท่านอธิบายว่า เหตุใดสัตว์ประหลาดคือมนุษย์เรานี้จึงถูกสร้างมา?"
พระปรัชญาว่า "สูเจ้าจะไปยุ่งอะไรด้วย ธุระปะปังอะไรของเจ้าหรือ?"
ฆานฑิต "ก็แต่ว่า ท่านอาจารย์, ในโลกนี้มีแต่ความชั่วที่น่าเกลียดกลัวนัก"
พระปรัชญา "สำคัญอะไรที่ว่าชั่วว่าดี เมื่อพระเจ้าประทานเรือมาเมืองอิยิปต์ พระองค์ทรงดำริให้ปวดเศียรเมือ่ไรว่าไอ้พวกหนูที่อยู่เรือนั้นมันจะสบายหรือไม่สบาย"
ปางโกลศ "ก็เช่นนั้นจะทำอย่างไรเล่าเจ้าข้า"
พระปรัชญา "สงบปากเสีย"
ปางโกลศ "ข้าพเจ้าหวังว่าจะมาหาเหตุผลกับท่านอาจารย์สักเล็กน้อย เกี่ยวกับผลและเหตุเกี่ยวกับโลกซึ่งดีที่สุด ต้นเหตุบาปอกุศล ธรรมชาติ วิญญาณ และความประสานกลมเกลียวอันมีมาแต่เดิม"
กล่าวได้เพียงเท่านี้ พระท่านก็เข้าห้องปิดประตูใส่หน้าพวกนั้น


ขณะที่สนทนากันนี้ มีข่าวเล่าสะพัดมาว่าพระวินัยธรมหมัด กับเสนาบดีสองคนถูกรัดคอตายที่กรุงกันสตันโนปลฺและพรรคพวกอีกหลายคนถูกหลาวเสียบตาย ข่าวมหาภัยนี้ก่อให้เกิดอึงคะนึงอยู่หลายชั่วโมง

ปางโกลศ, ฆานฑิต มารทินก็พากันกลับไปนา เห็นตาแก่คนหนึ่งนั่งรับอากาศสดชื่นอยู่ที่ประตูบ้านใต้กิ่งส้ม ปางโกลศชอบซักไซ้พอ ๆ กับชอบโต้เถียงเข้าไปถามตาแก่ว่า พระวินัยธรผู้ถูกรัดคอตายนั้นชื่อไร
ตาแก่วุฒิชนว่า "ข้าไม่รู้ ข้าไม่เคยรู้จักชื่อพระวินัยธรหรือเสนาบดีคนไหนเลย เรื่องราวที่เจ้าเล่ามานั้นข้าก็ไม่มีความรู้แม้แต่นิดเดียว ข้าได้แต่กะการณ์ทั่ว ๆ ไปว่า คนใดไปเที่ยวยุ่งกับการจัดงานสาธารณกิจแล้ว ย่อมจะต้องตายอย่างน่าทุเรศ สมน้ำหน้ามัน ข้าไม่เคยเอามาคิดให้เสียหัวเลย ว่าเขาจะทำอะไรกันที่ในกรุงกันสตันติโนปลฺ ข้าพอใจอยู่แต่จะส่งผลไม้ที่ข้าปลูกในสวนนี้ไปขายที่ในกรุงนั้นได้ก็พอแล้ว"

เมื่อได้กล่าวเช่นนี้แล้ว ก็เชิญแขกเข้าไปในบ้าน ลูกชายสองคนลูกสาวสองคนยกน้ำผลไม้หลายชนิดมาเลี้ยง น้ำผลไม้นี้ทำเองทั้งนั้น ทำจากไคมัค (caymac) ปรุงกลิ่นรสด้วย เปลือกมะงั่ว (citrons)แช่อิ่มก็มี ทำจากส้มก็มี มะนาวก็มี สับปะรดก็มี ลูกพิศตาชิโยก็มีกาแฟโมคคา(pistachio nuts, and Mocha coffee) อย่างไม่ปลอมปนกับกาแฟปัตตาเวียหรือกาแฟอเมริกันเลว ๆ ก็มี เมื่อดื่มกันแล้ว ลูกสาวตาแก่มุสลิมคนนั้นก็เอาน้ำหอมมาประพรมเคราให้แขก
ฆานฑิตพูดกับตาแก่ว่า "ท่านจะต้องมีที่ดินกว้างใหญ่ไพศาล ดีวิเศษเป็นแน่ทีเดียว"
ตาแก่ตอบว่า "ข้าพเจ้ามีเพียง ๖๐๐ ไร่เท่านั้น ข้าพเจ้ากับลูก ๆ ช่วยกันเพาะปลูก งานกสิกรรมนี้แหละช่วยข้าพเจ้าและลูก ๆ ให้พ้นจากอกุศลทั้งสาม คือกระทำชั่ว ความอยากและความหน่ายรำคาญ"


ในขณะเดินกลับบ้าน ฆานฑิตตรึกตรองคำพูดของคนแก่อย่างลึกซึ้ง แล้วพูดกับปางโกลศกับมารทินว่า
"ตาแก่ตุรกี คนซื่อผู้นี้คงจะอยู่ในฐานะอันพึงใจยิ่งกว่ากษัตริย์ทั้งหกที่เรามีเกียรติได้ร่วมเสวยนั้นมากมาย"
ปางโกลศ "ความภูมิฐานย่อมเป็นอันตรายใหญ่หลวง กล่าวตามหลักฐานปรัชญาว่าดังนี้กล่าวสั้น ๆ โดยที่ เอคลอน, กษัตริย์โมอับถูกเอหุดสังหาร ๑, อับสลัมถูกโยงกับมวยผมแล้วยิงตายด้วยธนูสามดอก ๑, ราชานาทับ โอรสพระเจ้าเชโรโบอัมถูกพาสาฆ่าตาย ๑, ราชาเอลาถูกสิมรีฆ่าตาย ๑, อหสิอาถูกเชหูฆ่าตาย ๑, อธลิอาถูกเชโหยาดาฆ่าตาย ๑, ราชาเชโหยากิม เชโฆนิยาห์ เสเดกิอาห์ถูกจำจอง ๑, และท่านก็ย่อมรู้ว่าฆรีสุส, อัสติยาเคส, ทาริยุส, ดิออนนิสิยุสแห่งสิรคูส, ปิยรุสเปรสิยุส, ฮันนิบัล, ชูกูรธา, อริโอวิศตุส, ศีศาร์, ปอมเปย์, โนโร, โอโฮ, วิเตลลิยุส, โทมิติยัน พระเจ้าริชาดที่สองของกรุงอังกฤษ, พระเจ้าเอดเวิดที่สอง, พระเจ้าเฮนรี่ที่หก, พระเจ้าริชาดที่สาม, พระนางมารีสจ๊วด พระเจ้าชาลส์ที่หนึ่ง พระเจ้าอังรีทั้งสามของกรุงฝรั่งเศส สมเด็จจักรพรรดิเฮนรีที่สี่ท่านก็ย่อมรู้ว่า-----"
ฆานฑิต "ข้าพเจ้ารู้ด้วยว่า เราต้องเพาะปลูกในสวนของเรา"
ปางโกลศ "ท่านถูกแล้ว โดยเหตุที่ว่าเมื่อพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นทีแรกก็ให้อยู่ในสวนเอเดน พระองค์ให้มนุษย์อยู่ที่นั่นก็เพื่อ กรณียํ กาตัพพํ คือจะได้ทำการเพาะปลูก ซึ่งแสดงว่าคนเราเกิดมาจะขี้คร้านไม่ได้"
มารทิน "ทำงานกันเถิด ไม่ต้องโต้เถียงกันเป็นทางเดียวเท่านั้นที่จะทำให้ทนมีชีวิตอยู่ได้"


สมาชิกสังสรรค์น้อย ๆ นั้นทุกคนพากันปฏิบัติตามข้อคิดอันพึงชมนี้ ต่างทำตามความสามารถของตัวต่าง ๆ กัน ที่ดินผืนน้อยก็ผลิตผลดกสะพรั่ง นางคุณิกองนั้นขี้ริ้วน่าเกลียดมากจริงแต่นางกลับเป็นแม่ครัวทำขนมดี นางปะแก็ตทำงานเย็บปักถักร้อย หญิงชราซักฟอก ทุกคนแม้พระจิโรเฟฺลก็ไม่เว้น ต่างช่วยกันทำงานเพื่อกันและกัน พระเป็นผู้ติดต่อสัมพันธ์ดี และเป็นคนซื่อ

บางทีปางโกลศพูดกับฆานฑิตว่า
"โดยที่มีสังสารวัฏฏแห่งเหตุการณ์ในโลกนี้อันดีที่สุดแห่งโลกทั้งหลายนั้นเอง เพราะหากท่านไม่ถูกถีบออกจากปราสาทวิเศษ เนื่องจากทำความรักนางคุณิกอง หากท่านไม่ได้ถูกพระวินัยธรสอบสวน หากท่านไม่ได้ข้ามไปอเมริกา หากท่านไม่ได้แทงบารอน หากท่านไม่ศูนย์เสียแกะที่เอามาจากเมืองวิเศษอัลโฑรโฑ ท่านก็จะไม่ได้มานั่งกินมะงั่วแช่อิ่มกับลูกพิศทาชโยอยู่ที่นี่"
ฆานฑิต "ที่ว่ามาทั้งนั้นก็ดีแท้ แต่ทว่าไปทำสวนกันดีกว่า"



Create Date : 16 ธันวาคม 2556
Last Update : 16 ธันวาคม 2556 21:23:10 น. 0 comments
Counter : 1330 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

Mr.Feynman
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 17 คน [?]




Friends' blogs
[Add Mr.Feynman's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.