กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตอนที่ ๒ พระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อก่อนเสวยราชย์ พ.ศ. ๒๓๔๓ - ๒๓๙๔


พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ ฯ พระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว



..............................................................................................................................................................



พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็สมภพในรัชกาลที่ ๑ เมื่อปีชวด วันพฤหัสบดีที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ. ๒๓๔๗ ในวันนั้นสมเด็จพระบรมชนกนาถ(พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย)ยังทรงดำรงพระยศเป็น สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทร เสด็จประทับอยู่ ณ พระราชวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ด้วยกันกับสมเด็จ (พระศรีสุริเยนทร) บรมราชชนนี ซึ่งเป็นเจ้าฟ้าฝ่ายในด้วยเป็นพระธิดาสมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากรมพระศรีสุดารักษ์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระยศเป็นสมเด็จพระเจ้าหลานเธอมาตั้งแต่ประสูติจนสิ้นรัชกาลที่ ๑ เมื่อพระชันษาได้ ๖ ปี ในระหว่างนั้นได้เฝ้าและทรงจำพระบรมอัยกาธิราชพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกได้ ด้วยเหตุนี้เมื่อทรงสร้างพระมหาสถูปองค์ที่ ๔ ที่วัดพระเชตุพนฯ จึงมีพระราชดำรัสสั่งไว้ว่า พระเจ้าแผ่นดินภายหลังไม่ต้องทรงถือเป็นแบบอย่าง เพราะพระเจ้าแผ่นดิน ๔ พระองค์นั้นได้เคยทรงเห็นกันและกัน ดังนี้

ถึงรัชกาลที่ ๒ เสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวังประทับที่ตำหนักแดง(อยู่ตรงที่สร้างตำหนักสมเด็จกรมพระปิตุจฉาเจ้า สุขุมาลมารศรี) อันสมเด็จกรมพระศรีสุดารักษ์กับสมเด็จพระชนนีเคยเสด็จมาอยู่แต่ก่อน(๑) ทรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่ คนทั้งหลายเรียกกันว่า "ทูลกระหม่อมฟ้าองค์ใหญ่" แต่มักเรียกกันโดยสะดวกปากว่า "ทูลกระหม่อมใหญ่" มิฉะนั้นก็เรียกว่า "เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่" หรือ "เจ้าฟ้าใหญ่" เรียกกันอย่างนี้สืบมาจนเสวยราชย์(๒)

จะกล่าวถึงเรื่องพระราชทานพระนามแทรกลงตรงนี้สักหน่อย ด้วยมีผู้แต่งหนังสือเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามว่า "เจ้าฟ้ามงกุฎ" มาแต่แรกประสูติ ความจริงจะเป็นอย่างนั้นไม่ได้ ด้วยประเพณีการพระราชทานพระนามเจ้าฟ้ามีมาแต่โบราณ พระราชทานต่อเมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี (หรือมิฉะนั้นก็เมื่อโสกันต์) มีพิธีสำหรับการนั้นโดยเฉพาะ คำที่เรียกเมื่อก่อนได้พระราชทานพระนามเป็นแต่คนทั้งหลายเรียกกันโดยสมมต เช่นเรียกว่า เจ้าฟ้าพระองค์ใหญ่ และพระองค์น้อยเป็นต้น บางทีก็ใช้คำแปลกออกไปตามเหตุ ยกตัวอย่างในกรุงศรีอบุธยา เช่นเรียกว่า เจ้าฟ้าเพ็ชร เจ้าฟ้าพร เจ้าฟ้ากุ้ง และเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ(๓) เป็นต้น

ประเพณีพระราชทานพระนามเจ้าฟ้าในกรุงรัตนโกสินทร์นี้มีจดหมายเหตุปรากฏชัด เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทะยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จผ่านพิภพ มีพระราชโอรสธิดาเป็นเจ้าฟ้า ๔ พระองค์ ที่ทรงเจริญวัยแล้วพระราชทานพระนามเป็นกรมทีเดียว ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ากรมหลวงอิศรสุนทรพระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมขุนเสนานุรักษ์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้าหญิงกรมขุนสุนทรเทพพระองค์ ๑ เจ้าฟ้าพระราชธิดาองค์น้อยยังทรงพระเยาว์พระราชทานพระนาทว่าเจ้าฟ้าประภาวดี ภายหลังจึงสถาปนาเป็นเจ้าฟ้ากรมขุนเทพยวดี ต่อมาเมื่อเสวยราชย์แล้วมีเจ้าฟ้าพระราชธิดาอีกพระองค์ ๑ พระราชทานนามว่าเจ้าฟ้ากุณฑลทิพยวดีอีกพระองค์ ๑ เมื่อรัชกาลที่ ๒ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีพระราชโอรสเป็นเจ้าฟ้าเมื่อก่อนเสวยราชย์ ๒ พระองค์ และมีพระราชโอรสเมื่อเสวยราชย์แล้วเป็นเจ้าฟ้าอีก ๓ พระองค์ เจ้าฟ้า ๕ พระองค์นั้นเจริญพระชันษาทันรับพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๒

แต่ ๓ พระองค์ คือ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ(พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว)ได้รับพระราชทานพระนามเมื่อทำพิธีลงสรงพระองค์ ๑ ต่อนั้นมาพระราชทานนามเจ้าฟ้าจุฑามณี(พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว)พระองค์ ๑ กับเจ้าฟ้าอาภรณ์อีกพระองค์ ๑ แต่เจ้าฟ้าอีก ๒ พระองค์ยังทรงพระเยาว์ไม่ทันได้รับพระราชทานนามในรัชกาลที่ ๒ เรียกพระนามแต่ว่าเจ้าฟ้ากลาง(คือสมเด็จฯกรมพระยาบำราบปรปักษ์) กับเจ้าฟ้าปิ๋วๆสิ้นพระชนม์เสียในรัชกาลที่ ๓ เหลือแต่เจ้าฟ้ากลางมาจนถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงพระราชทานนามว่า เจ้าฟ้ามหามาลา

พิเคราะห์ตามเยี่ยงอย่างที่ปรากฏดังกล่าวมา เห็นได้ว่าการพระราชทานนามเจ้าฟ้าแต่เริกประสูตินั้น เมื่อรัชกาลที่ ๑ ยังหามีธรรมเนียมไม่ ที่จริงประเพณีพระราชทานพระนามเจ้าฟ้าแต่แรกเมื่อประสูติ(ได้เดือนหนึ่ง) เพิ่งมาเกิดขึ้นในรัชกาลที่ ๔ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดจะให้คนสมมตเรียกกันตามชอบใจ เช่นเจ้าฟ้ากุ้งและเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อ จึงพระราชทานนามแต่แรกประสูติ ถึงกระนั้นก็ยังไม่พ้นคนเรียกตามสมมต เช่นว่าทูลกระหม่อมใหญ่และทูลกระหม่อมเล็ก เป็นต้น ด้วยถือว่าเป็นการเคารพ

ที่ว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานพระนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ยังมีข้อค้านอีกข้อหนึ่ง ด้วยเจ้าฟ้าชายพระเชษฐาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมีพระองค์หนึ่ง พระองค์นั้นเป็น "หัวปี" ก็มิได้พระราชทานพระนาท และไม่มีพระนามปรากฏ เพราะสิ้นพระชนม์เสียแต่เมื่อยังทรงพระเยาว์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้เรียกพระนามว่า "เจ้าฟ้าราชกุมาร"

อธิบายที่กล่าวมาเป็นหลักฐานให้เห็น ว่าที่อ้างว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกพระราชทานนามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า เจ้าฟ้ามงกุฎฯ นั้นไม่มีมูล

ยังมีข้ออื่นอีกซึ่งกล่าวในหนังสือเฉลิมพระเกียรตินั้น ข้อหนึ่งว่าพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกโปรดฯให้เอาเศวตฉัตรไปแขวนตรงที่ประสูติ ข้อนี้ก็เกิดขึ้นด้วยคนแต่งเป็นไพร่ ไม่รู้คำอธิบายของคำที่พูดกันว่าเจ้านายประสูติ "ในเศวตฉัตร" หรือ "นอกเศวตฉัตร" อันที่จริงหมายความเพียงว่าประสูติเมื่อสมเด็จพระบรมชนกนาถเสวยราชย์แล้วหรือประสูติเมื่อก่อนเสวยราชย?เมท่านั้นเอง ประเพณีเอาเศวตฉัตรไปแขวนสำหรับให้เจ้านายประสูติใต่ร่มเงาหามีไม่

อีกข้อหนึ่งซึ่งว่าเมื่อสมเด็จพระศรีสุริเยนทรประชวรพระครรภ์ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกเสด็จไปประทับอยู่ที่ตำหนักแพ ให้ข้าหลวงคอยสืบพระอาการมากราบทูล ข้อนี้เห็นได้ว่าเป็นความเท็จไม่มีมูล ด้วยสมเด็จพระศรีสุริเยนทรเคยมีพระราชโอรสแล้ว หามีเหตุที่จะทรงพระวิตกไม่ แม้จะมีเหตุถึงต้องทรงพระวิตก ถ้าทรงพระวิตกมากก็คงเสด็จไปเยี่ยมถึงวัง ถ้าไม่ถึงเช่นนั้นก็คงเป็นแต่โปรดฯให้ข้าหลวงไปสืบพระอาการมากราบทูลที่ในพระราชวัง เหตุใดจึงจะเสด็จไปประทับให้สืบพระอาการอยู่ครึ่งทางที่ตำหนักแพ

ข้อความเหล่านี้เป็นของผู้ไม่รู้ราชประเพณี ประดิษฐ์ขึ้นในหนังสือที่ตนแต่ง หวังจะให้คนชมว่ารู้มาก แต่น่าอนาถใจที่มีบุคคลชั้นสูงอันควรจะรู้ว่าเป็นเท็จยอมเชื่อถึงคัดเอามาลงในหนังสือที่ตนแต่งพิมพ์ในภายหลัง ฉันได้เคยต่อว่าก็แก้แต่ว่า ถึงไม่จริงนักก็เป็นการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ฉันเห็นว่าแต่งหนังสือเฉลิมพระเกียรติ ควรกล่าวแต่ที่เป็นความจริง ถ้าเอาความเท็จมากล่าวหาเป็นพระเกียรติไม่ หนังสือเฉลิมพระเกียรติด้วยความเท็จที่ว่ามามีฉบับพิมพ์แพร่หลายอยู่ ดูเหมือนผู้ที่หลงเชื่อกันว่าจริงมีมาก ฉันจึงเห็นควรบอกไว้ให้ทราบ

การศึกษาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อยังทรงพระเยาว์ ได้เริ่มเรียนอักขรสมัยในสำนักสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ชุน) วัดโมฬีโลกฯ(๔) แต่ยังเสด็จอยู่ในพระราชวังเดิม ครั้นเสด็จเข้ามาอยู่ในพระบรมมหาราชวัง ก็ทรงศึกษาความรู้สำหรับพระราชกุมารต่อมา พึงสันนิษฐานได้ว่า วิชาความรู้อย่างใดที่นิยมกันในสมัยนั้นว่าสมควรแก่ขัตติยราชกุมารอันสูงศักดิ์ คงได้ศึกษาต่อผู้เชี่ยวชาญวิชาการนั้นๆทุกอย่าง ข้อนี้เห็นปรากฏในสมัยเมื่อเสวยราชย์ แม้ได้เสด็จไปทรงผนวชอยู่ถึง ๒๗ พรรษา ยังทรงม้าและยิงปืนไฟได้ไม่ลืม ถ้าว่าโดยย่อ วิชาความรู้อย่างใดซึ่งตามคติโบราณนิยมว่าพระราชกุมารอันสูงศักดิ์ควรทรงศึกษา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวคงได้ทรงศึกษาสมบูรณ์ทุกอย่าง เพราะมีโอกาสในรัชกาลที่ ๒ เป็นเวลาถึง ๑๖ ปี

ในเวลาเมื่อเสด็จดำรงพระยศเป็นสมเด็จพระราชโอรสนั้น สมเด็จพระบรมชนกนาถได้โปรดให้มีการพระราชพิธีเฉลิมพระเกียรติหลายครั้ง เป็นต้นแต่เมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี มีการพระราชพิธีลงสรง ซึ่งทำเป็นครั้งแรกในกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๕๔ พระราชทานพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า "สมเด็จพระเจ้าลูกเธอเจ้าฟ้ามงกุฏ สมมุติเทววงศ์ พงศ์อิศวรกษัตริย์ ขัตติยราชกุมาร"

ต่อการพิธีลงสรงมาถึงปีกุน พ.ศ. ๒๓๕๘ พวกมอญมณฑลเมาะตะมะเป็นขบถต่อพม่า แล้วพากันอพยพครอบครัวหนีมาขออาศัยอยู่ในประเทศสยาม เหมือนอย่างพวกพญาเจ่งเคยอพยพมาแต่ก่อน มอญอพยพมาคราวนี้ สมิงสอดเบา(ซึ่งได้เป็นที่พระยารัตนจักร)เป็นหัวหน้า มีจำนวนคนราว ๔๐,๐๐๐ อพยพมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ แขวงจังหวัดกาญจนบุรีทาง ๑ ทางด่านแม่สอด แขวงจังหวัดตากทาง ๑ ทางจังหวัดอุทัยธานีก็มาบ้าง แต่จำนวนไม่มากเหมือนทางจังหวัดกาญจนบุรีและจังหวัดตาก พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านถาลัยโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรสถานมงคลเสด็จไปทรงตั้งเมืองปทุมธานีเป็นที่อยู่ของมอญที่อพยพมาคราวนี้(๕) และโปรดฯให้เจ้าพระยาอภัยภูธร สมุหนายก คุมกำลังแลเสบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองตาก

ส่วนทางด่านพระเจดีย์สามองค์นั้นโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เวลานั้นพระชันษาได้เพียง ๑๒ ปี มีเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นพระอภิบาล เสด็จคุมกำลังและสะเบียงอาหารขึ้นไปรับครัวมอญที่เมืองกาญจนบุรี การที่ต้องมีคนสำคัญคุมกำลังลี้พลออกไปรับพวกชาวต่างประเทศที่อพยพมาพึ่งพระบรมโพธิสมภารนั้น มีความจำเป็นด้วยอาจจะมีกองทัพข้างฝ่ายโน้น ยกติดตามจับพวกครอบครัวล่วงเลยเข้ามาในพระราชอาณาเขต หรือมิฉะนั้นพวกครัวที่อพยพมานั้นเอง เพราะมากด้วยกันอาจจะกำเริบเบียดเบียนประชาชน จึงแต่งกำลังไปป้องกันเหตุร้ายทั้ง ๒ สถาน และมีสะเบียงอาหารไปแจกจ่ายแก่พวกครัวมิให้เดือดร้อน เหตุใดจึงโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเป็นนายกไปครั้งนั้น

พิเคราะห์ดูเหมือนจะมีพระราชประสงค์ให้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โอกาสทรงศึกษากระบวนทัพศึก ทำนองเดียวกับพระองค์เองได้เคยเริ่มทรงศึกษาด้วยตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถไปในการสงครามกับพม่ามาแต่ยังทรงพระเยาว์ อีกสถานหนึ่งจะให้ปรากฏถึงเมืองพม่า ว่าโปรดฯให้สมเด็จพระราชโอรสพระองค์ใหญ่เสด็จออกไปรับ ข้าศึกจะได้ครั่รคร้าม และพวกมอญที่เข้ามาสวามิภักดิ์ก็จะได้อุ่นใน ส่วนทางการนั้นให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีเป็นผู้บังคับบัญชา

ต่อมาอีกปีหนึ่งถึงปีชวด พ.ศ. ๒๓๕๙ พระชันษา ๑๓ ปี มีการพระราชพิธีโสกันต์ ทำเต็มตำราโสกันต์เจ้าฟ้า คือปลูกเขาไกรลาสและที่สรงสนานเป็นต้น แล้วทรงผนวชเป็นสามเณรในปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ ประทับอยู่วัดมหาธาตุฯ ๗ เดือนแล้วจึงลาผนวช กล่าวกันว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นสามเณรนั้น สมเด็จพระสังฆราช(มี)เป็นพระอุปัชฌาย์ สมเด็จพระญาณสังวร(สุข)เป็นพระอาจารย์ถวายศีล แต่พิเคราะห์ตามเหตุการณ์น่าจะกลับกันกับที่กล่าว คือสมเด็จพระญาณสังวรเป็นพระอุปัชฌาย์ และสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระอาจารย์ถวายศีล เพราะสมเด็จพระญาณสังวรเป็นผ้มีพรรษาอายุมากนั่งหน้าสมเด็จพระสังฆราช(มี) ทั้งเป็นที่เคารพนับถือของพระราชวงศ์มาแต่ในรัชกาลที่ ๑ แม้พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยและพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เป็นศิษย์ของสมเด็จพระญาณสังวรมาแต่ก่อน(๖) น่าจะได้เป็นพระอุปัชฌาย์ และยังมีหลักฐานประกอบอีกอย่างหนึ่ง ด้วยถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้สร้างเจดีย์ขึ้น ๒ องค์เป็นคู่กันอยู่ที่ลานหน้าวัดราชสิทธาราม(อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระญาณสังวร) องค์หนึ่งทรงขนานนามว่า "พระสิราสนเจดีย์" ทรงอุทิศในพระนามของพระบาทสมเด้จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว อีกองค์หนึ่งขนานนามว่า "พระสิราจุมภตเจดีย์" เป็นพระบรมราชูทิศในพระนามของพระองค์เองยังปรากฏอยู่ ตรัสว่าเพราะได้เคยเป็นศิษย์สมเด็จพระญาณสังวรมาด้วยกันทั้ง ๒ พระองค์

เมื่อลาผนวชสามเณรแล้ว เสด็จมาประทับในบริเวณวังข้างฝ่ายหน้า จะสร้างตำหนักขึ้นใหม่หรือจะใช้สถานอันใดที่มีอยู่แล้วจัดเป็นตำหนัก ข้อนี้หาทราบไม่ ปรากฏแต่ว่าเสด็จประทับอยู่ข้างด้านหน้าพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ใกล้ประตูสุวรรณภิบาล คงอยู่ตรงที่สร้างโรงกษาปณ์ใหม่ในรัชกาลที่ ๕ ซึ่งเรียกว่า "หอราชพิธีกรรม" ในบัดนี้ สมเด็จพระบรมนชกนาถโปรดฯให้ทรงบัญชาการกรมมหาดเล็ก ทั้งรับราชการอย่างอื่นอยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เป็นนิจ ทรฝึกสอนราชศาสตร์พระราชทานเอง และในตอนนี้คงทรงศึกษาวิชาวิสามัญต่างๆสำหรับพระราชกุมารด้วย เสด็จประทับอยู่ในพระบรมมหาราชวังจนถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๕ ครั้นเจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ จึงได้พระราชทานวังเดิมครั้งกรุงธนบุรี ให้เสด็ออกอยู่ต่างวังเมื่อพระชันษาได้ ๑๘ ปี แต่ให้ทรงครอบครองพระราชวังเดิมไม่ถึง ๓ ปี พอปีวอก พ.ศ. ๒๓๖๗ พระชันษาถึง ๒๑ ปี เสด็จออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี พอทรงผนวชได้ ๑๕ วัน ก็เผอิญเกิดวิบัติด้วยสมเด็จพระบรมชนกนาถเสด็จสวรรคต(๗)

พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย เริ่มประชวรเมื่อเดือน ๘ แรม ๔ ค่ำ ปีวอป พ.ศ. ๒๓๖๗ แต่รู้สึกพระองค์ว่าเมื่อยมึนไป เสวยพระโอสถข้างที่ไม่ถูกโรค เลยเกิดพระอาการเชื่อมซึมจนไม่สามารถจะตรัสได้แก้อย่างไรก็ไม่ฟื้น ประชวรอยู่ ๘ วัน ถึงวันพุธ เดือน ๘ แรม ๑๑ ค่ำ ก็เสด็จสวรรคตไม่ได้ดำรัสสั่งมอบเวนราชสมบัติพระราชทานแก่เจ้านายพระองค์ใดให้เป็นที่รัชทายาท พระราชวงศ์กับเสนาบดีหัวหน้าราชการทั้งปวงจึงต้องประชุมปรึกษากันตามธรรมเนียมโบราณ ว่าจะควรเชิญเจ้านายพระองค์ใดขึ้นเสวยราชย์ครอบครองบ้านเมือง ในเวลานั้นถ้าว่าตามนิตินับ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในฐานสมควรจะได้รับราชสมบัติ เพราะเป็นสมเด็จเจ้าฟ้าราชโอรสองค์ใหญ่อันเกิดด้วยพระอัครมเหสี

แต่เผอิญในเวลานั้นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร(คือพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว) ซึ่งเป็นพระเจ้าลูกยาเธอพระองค์ใหญ่ เจริญพระชันษากว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถึง ๑๗ ปี ได้ทรงบังคับราชการต่างพระเนตรพระกรรณเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๒ ผู้คนยำเกรงนับถืออยู่โดยมาก ที่ประชุมเห็นว่า ควรถวายราชสมบัติแก่กรมหมื่นเจษฎาบดินทรบ้านเมืองจึงจะเรียบร้อยเป็นปกติ จึงอาศัยเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชอยู่ ให้ไปทูลถามว่าจะทรงปรารถนาราชสมบัติหรือทรงผนวชต่อไป

ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบกิตติศัพท์อยู่แล้ว ว่าคิดกันจะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพิจารณาเห็นว่าถ้าพระองค์ปรารถนาราชสมบัติในเวลานั้น พระราชวงศ์คงแตกสามัคคีกัน อาจจะเลยเกิดเหตุร้ายขึ้นในบ้านเมือง ตรัสปรึกษาเจ้าฟ้ากรมขุนอิศรานุรักษ์ซึ่งเป็นพระเจ้าน้าองค์น้อย ทูลแนะนำว่าควรคิดเอาราชสมบัติตามที่มีสิทธิ์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงเห็นชอบด้วย ไปทูลปรึกษากรมหมื่นนุชิตชิโนรส พระปิตุลาซึ่งทรงผนวชอยู่ กับทั้งกรมหมื่นเดชอดิศร พระเชษฐาซึ่งทรงนับถือมาก ทั้งสองพระองค์ ตรัสว่าไม่ใช่เวลาควรจะปรารถนา อย่าหวงราชสมบัติดีกว่า เพราะฉะนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟังคำถาม จึงตรัสตอบว่ามีพระราชประสงค์จะทรงผนวชอยู่ต่อไป ก็เป็นอันสิ้นความลำบากในการที่จะถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

การที่ถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งนั้น เมื่อพิจารณาในเรื่องพงศาวดารไม่น่าพิศวงด้วยในรัชกาลที่ ๒ นั้น มีเจ้านายเป็นหลักราชการมาแต่แรก ๓ พระองค์ คือสมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้ากรมพระราชวังบวรมหาเสนานุรักษ์พระองค์ ๑ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรี พระอนุชาสมเด็จพระศรีสุริเยนพรมราชินีพระองค์ ๑ และพระองค์เจ้าทับ พระเจ้าลูกยาเธอองค์ใหญ่ซึ่งสถาปนาเป็นกรมหมื่นเจษฎาบดินทร์พระองค์ ๑ พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยโปรดฯให้กรมพระราชวังบวรฯทรงกำกับราชการแผ่นดินต่างพระเนตรพระกรรณทั่วไป โปรดฯให้เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีทรงกำกับกระทรวงมหาดไทยกับกระทรวงวัง และโปรดฯให้กรมหมื่นเจษฎาบดินทรทรงกำกับกระทรวงพระคลัง เป็นเช่นนั้นมา ๘ ปี ถึงปีฉลู พ.ศ. ๒๓๖๐ กรมพระราชวังบวรฯสวรรคต ต่อนั้นเจ้าฟ้ากรมหวงพิทักษ์มนตรีก็เป็นหัวหน้าในราชการ ต่อมาอีก ๕ ปี ถึงปีมะเมีย พ.ศ. ๒๓๖๔ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิทักษ์มนตรีสิ้นพระชนม์ เหลือแต่กรมหมื่นเจษฎาบดินทรก็ได้รับราชการต่างพระเนตรพระกรรณต่อมาถึง ๓ ปี ในเวลาเมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๒ กรมหมื่นเจษฎาบดินทรได้ทรงบังคับบัญชาราชการอยู่โดยมาก ถ้าถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เหมือนถอดถอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจากอำนาจที่มีอยู่แล้ว ถ้าไม่ทรงยอมจะทำอย่างไร พฤติการณ์เป็นเช่นนั้น จึงต้องถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

เรื่องนี้มีกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอีกอย่างหนึ่ง เคยตรัสปรารภว่า ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ได้ทรงรับราชสมบัติในครั้งนั้น ที่จริงกลับเป็นคุณแก่ประเทศสยาม เพราะในเวลานั้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงศึกษาวิชาความรู้แต่ตามแบบโบราณ การงานในบ้านเมืองก็ทรงทราบเพียงเท่ากับเจ้านายพระองค์อื่น ถ้าได้รับราชสมบัติในเวลานั้น พระบรมราโชบายในการปกครองบ้านเมือง ก็น่าจะเป็นทางเดียวกันกับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวนั่นเอง ที่ทรงผนวชอยู่ตลอดรัชกาลที่ ๓ ได้มีโอกาสเสด็จไปเที่ยวธุดงค์ ทอดพระเนตรเห็นภูมิประเทศและทรงทราบความสุขทุกข์ของราษฎรตามหัวเมืองต่างๆ ด้วยพระองค์เอง กับทั้งได้โอกาสทรงศึกษาวิชาความรู้และภาษาฝรั่ง พอทันเวลาที่ฝรั่งจะเริ่มแผ่อำนาจมาถึงประเทศสยาม พิเคราะห์ดูราวกับชาตาบ้านเมืองบันดาลให้เสด็จรอมาเป็นพระเจ้าแผ่นดิน ต่อเมื่อมีความสามารถจะอำนวยรัฏฐาภิปาลโนบายได้ตามความต้องการของบ้านเมือง กระแสพระราชปรารภที่ว่ามานี้ ถ้าพิจารณาในเรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๔ ดูเป็นอัศจรรย์จริง

จะเล่าเรื่องพระราชประวัติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเมื่อทรงผนวช จะต้องชี้แจงให้ผู้อ่านทราบลักษณะการที่เจ้านายอกทรงผนวชเสียก่อน ตามประเพณีมีสืบมาแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา ระเบียบการศึกษาของพระราชกุมาร เมื่อเรียนอักษรสมัยเบื้องต้นตลอดแล้ว พอพระชันษาถึง ๑๔ ปีต้องทรงผนวชสามเณรเพื่อศึกษาศีลธรรมครั้งหนึ่ง และเมื่อเจริญพระชันษาถึง ๒๑ ปีต้องทรงผนวชเป็นพระภิกษุเพื่อศึกษาพระศาสนาและวิชาชั้นสูง(ทำนองเดียวกับเข้ามหาวิทยาลัย)อีกครั้งหนึ่ง จึงนับว่าสำเร็จการศึกษาแต่นั้นไป เจ้านายที่ออกทรงผนวชนั้น บางพระองค์ทรงผนวชเป็นสามเณรแล้วเกิดนิยมการเล่าเรียนในสำนักสงฆ์ เลยผนวชอยู่จอุปสมบทเป็นพระภิกษุ แม้ที่สุดบางพระองค์เลยอยู่ในสมณเพศต่อไป จนตลอดพระชนมายุก็มี แต่โดยมากนั้นทรงผนวชเป็นสามเณรอยู่เพียงพรรษาหนึ่งหรือสองพรรษา แล้วก็ลาผนวชกลับมาศึกษาวิชาการทางฝ่ายฆราวาสจนพระชันษาถึง ๒๑ ปี จึงออกทรงผนวชเป็นพระภิกษุตามประเพณี แต่ทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียวแล้วก็ลาผนวชมารับราชการบ้านเมือง

ก็เล่าเรียนสำหรับผู้ที่บวชเป็นพระภิกษุนั้นมีเป็น ๒ อย่าง เรียกว่า "คันธุระ" คือเรียนคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ด้วยพยายามอ่านพระไตรปิฎกให้รอบรู้พระธรรมวินัยอย่างหนึ่ง เรียกว่า "วิปัสสนาธุระ" คือเรียนวิธีทีจะพยายามชำระใจของตนให้บริสุทธิ์หลุดพ้นกิเลสอย่างหนึ่ง การเรียนคันธุระต้องเรียนหลายปีเพราะต้องเรียนภาษามคธก่อน เจ้านายที่ทรงผนวชแต่พรรษาเดียวไม่มีเวลาพอจะเรียนคันธุระ จึงมักเรียนวิปัสสนาธุระอันเป็นการภาวนา อาจเรียนได้ด้วยไม่ต้องรู้ภาษามคธ และถือกันอีกอย่างหนึ่งว่า ถ้าเรียนวิปัสสนาธุระชำนาญแล้ว อาจจะทรงคุณวิเศษในทางวิทยาคม เป็นประโยชน์อย่างอื่นตลอดจนวิชาพิชัยสงคราม เพราะฉะนั้นเจ้านายซึ่งทรงผนวชแต่พรรษาเดียว จึงมักทรงศึกษาวิปัสสนาธุระมาแต่ครั้งกรุงศีอยุธยา

ถึงกรุงรัตนโกสินทร์นี้เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย และพระสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชในรัชกาลที่ ๑ ก็ทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ เพราะฉะนั้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวทรงผนวช พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงโปรดฯให้ทำตามเยี่ยงอย่างครั้งพระองค์ทรงผนวช ทรงรับอุปสมบทที่วัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วเสด็จไปประทับ ณ ตำหนักวัดมหาธาตุฯ ทำอุปัชฌายวัตร ๓ วัน แล้วเสด็จไปจำพรรษาทรงศึกษาวิปัสสนาธุระ ณ วัดสมอราย (ซึ่งพระราชทานนามว่า วัดราชาธิวาส เมื่อรัชกาลที่ ๔)

เมื่อแรกผนวช พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็เห็นจะจำนงทรงศึกษาวิปัสสนาธุระเหมือนเช่นเจ้านายทรงผนวชเคยศึกษากันมาแต่ก่อน หรืออย่างว่า "พอเป็นกิริยาบุญ" เพราะจะทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียว แต่เมื่อเกิดเหตุวิบัติด้วยสมเด็จพระบรมชนนกนาถสวรรคต และพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัได้ราชสมบัติ ส่วนพระองค์จะต้องทรงเพศเป็นสมณะต่อไปไม่มีกำหนด ทรงพระดำริเห็นว่า ฐานะของพระองค์ไม่ควรจะเกี่ยวข้องกับการเมือง จึงเปลี่ยนเจตนาไปจำนงจะทรงศึกษาพระพุทธศาสนาให้รอบรู้ตามสมควรแก่หน้าที่ของพระภิกษุ

ก็ในเวลานั้นได้เริ่มทรงศึกษาวิปัสสนาธุระมาแล้วแต่แรกทรงผนวช จึงตั้งพระหฤทัยขะมักเขม้นจะเรียนให้ได้ความรู้วิปัสสนาอย่างถ่องแท้ ไม่ช้าเท่าใด ก็ทรงทราบสิ้นตำราที่ทรงสงสัย ตรัสถามพระอาจารย์ก็ไม่สามารถชี้แจงถวายให้สิ้นสงสัยได้ ทูลแต่ว่าครูบาอาจารย์เคยสอนมาเพียงเท่านั้น ก็เกิดท้อพระหฤทัยในการที่ทรงศึกษาวิปีสสนาธุระ พอออกพรรษาจึงเสด็จกลับลงมาประทับ ณ วัดมหาธาตุฯตั้งต้นเรียนคันธุระ หมายจะให้สามารถอ่านพระไตรปิฎกศึกษาหาความรู้ได้โดยลำพังพระองค์ ได้ยินว่าพระวิเชียรปรีชา(ภู่)เจ้ากรมราชบัณฑิตย์ ซึ่งมีความรู้เชี่ยวชาญอย่างยิ่งในสมัยนั้น เป็นอาจารย์สอนภาษามคธถวาย ทรงขะมักเขม้นเรียนอยู่ ๓ ปี ก็รอบรู้ภาษามคธผิดกับผู้อื่นเป็นอย่างอัศจรรย์ จนกิตติศัพท์เลื่องลือ ทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว วันหนึ่งมีพระราชดำรัสถามพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าจะแปลพระปริยัติธรรมถวายทรงฟังได้หรือไม่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถวายพระพรรับว่าจะสนองพระเดชพระคุณตามพระราชประสงค์

ก็ประเพณีการสอบความรู้พระปริยัติธรรมในสมัยนั้น กำหนดหลักสูตรเป็น ๙ ประโยค(๘) ผู้ที่เข้าสอบความรู้ต้องสอบได้ตั้งแต่ ๓ ประโยคขึ้นไปจึงนับว่าเป็นเปรียญ ถ้าได้เพียง ๓ ประโยคเทียบชั้นเปรียญตรี ถ้าได้ตั้งแต่ ๔ ถึง ๖ ประโยคเทียบชั้นเปรียญโท ถ้าได้ตั้งแต่ ๗ ประโยคขึ้นไปเทียบชั้นเปรียญเอก แต่เจ้านายที่ทรงผนวชแม้ทรงผนวชอยู่นานและได้เรียนคันธุระเช่นกรมหมื่นนุชิตชิโนรสเป็นต้น แต่ก่อนมาหาเคยมีพระองค์หนึ่งพระองค์ใด ได้เข้าสอบความรู้พระปริยัติธรรมในสนามไม่ ถ้าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ตรัสชวน พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็คงไม่เข้าสอบ

เหตุใดพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงมีพระราชประสงค์จะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเข้าสอบความรู้เป็นเปรียญพระปริยัติธรรม ข้อนี้เมื่อคิดดูเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวคงทรงพระราชดำริว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวใฝ่พระหฤทัยศึกษาพระศาสนานั้นเป็นความดี อันสมควรจะทรงอุดหนุนจะได้เป็นกำลังช่วยทำนุบำรุงทางฝ่ายพุทธจักร และเป็นพระเกียรติยศแก่พระราชวงศ์ โดยไม่ขัดขวางทางการฝ่ายอาณาจักร ด้วยเหตุนี้จึงตรัสชวนให้เข้าสอบความรู้ เพื่อจะได้ปรากฏพระปรีชาสามารถให้สังฆมณฑลนับถือ ฝ่ายข้างพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงดำริเป็นทำนองเดียวกัน จึงรับเข้าแปลพระปริยัติธรรม

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเข้าแปลพระปริยัติธรรมนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้ประชุมคณะพระมหาเถระผู้สอบในพระที่นั่งอมรินวินิจฉัย(๙) และเสด็จออกฟังแปลทุกวัน วันแรกแปลคัมภีร์ธรรมบท ซึ่งเป็นหลักสูตรสำหรับสอบความรู้ชั้นประโยค ๑ ประโยค ๒ และประโยค ๓ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงแปลพักเดียวได้ตลอดประโยค ไม่มีพลาดพลั้งให้พระมหาเถระต้องทักท้วงเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงยินดีดำรัสว่า เห็นความรู้เชี่ยวชาญคัมภีร์ธรรมบทแล้ว ไม่ต้องแปลคัมภีร์ธรรมบทส่วนประโยค ๒ และประโยค ๓ ต่อไปก็ได้ ให้แปลคัมภีร์มงคลทีปนีสำหรับประโยค ๔ ทีเดียวเถิด วันที่ ๒ เสด็จเข้าแปลประโยค ๔ และวันที่ ๓ แปลคัมภีร์บาลีมุตสำหรับประโยค ๕ นั้น เมื่อเสร็จการแปลแล้ว ปรากฏว่ากรมหมื่นรักษ์รณเรศ(๙) ซึ่งเป็นผู้กำกับกรมธรรมการ ถามพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ อันเป็นผู้มีชื่อเสียงว่าเชี่ยวชาญพระปริยัติธรรมและได้นั่งเป็นผู้สอบอยู่ด้วย ว่า "นี่จะปล่อยกันไปถึงไหน" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบก็น้อยพระหฤทัย ให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันนั้น ว่าที่เข้าแปลพระปริยัติธรรม ทรงเจตนาแต่จะสนองพระเดชพระคุณ หาได้ปรารถนายศศักดิ์ลาภสักการอย่างใดไม่ ได้แปลถวายทรงฟัง ๓ วันเห็นพอเฉลิมพระราชศรัทธาแล้ว ขออย่าให้ต้องแปลต่อไปเลย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงทราบความขุ่นหมองที่เกิดขึ้น ก็ทรงบัญชาตามพระหฤทัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระราชทานพัดยศสำหรับเปรียญเอก ๙ ประโยค ให้ทรงถือเป็นสมณศักดิ์ต่อมา

เหตุที่หม่อมไกรสรเข้าไปเกียจกันครั้งนั้น เนื่องมาจากเรื่องเปลี่ยนรัชกาล ด้วยหม่อมไกรสรอยู่ในพวกเจ้านายที่ประสงค์จะให้ราชสมบัติพลัดจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ไปได้แก่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อการเป็นได้ดังประสงค์แล้ว เจ้านายพระองค์อื่นก็กลับสมัครสมานอย่างเดิม แม้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ไม่ทรงรังเกียจกินแหนงในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงอุดหนุนให้เจริญพระเกียรติในฝ่ายพุทธจักรดังกล่าวมา แต่หม่อมไกรสรยังมีทิษฐิ ถือว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวอาจจะเป็นศัตรูราชสมบัติ คอยแกล้งรังเกียจกันด้วยอุบายต่างๆเพื่อจะมิให้ผู้คนนิยมนับถือ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงถูกหม่อมไกรสรเป็นตัวมารคอยใส่ร้ายต่างๆต่อมาในรัชกาลที่ ๓ จนผลกรรมบันดาลให้ตัวเองต้องราชภัยเป็นอันตรายไปเอง

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาคันธุระผิดกับผู้อื่น ด้วยตั้งพระหฤทัยจำนงแต่จะเรียนพระพุทธศาสนาให้รอบรู้อย่างถ่องแท้ มิได้หมายจะมีตำแหน่งฐานันดรอย่างใดในสังฆมณฑล เพราะฉะนั้นเมื่อทรงทราบภาษามคธถึงสมารถจะอ่านพระไตรปิฎกเข้าพระหฤทัยได้โดยลำพังพระองค์ ก็ทรงพยายามพิจารณาหลักฐานพระพุทธศาสนาต่อมา เมื่อทรงพิจารณาถึงพระวินัยปิฎก ปรากฏแก่พระญาณว่าวัตรปฏิบัติเช่นที่พระสงฆ์ไทยประพฤติกัน เป็นแบบแผนผิดพระวินัยที่พระพุทธองค์ทรงบัญญัติอยู่มาก

ยิ่งทรงพิจารณาไปก็ยิ่งเห็นวิปลาสคลาดเคลื่อนมาช้านานแล้ว ก็เกิดวิตกในพระราชหฤทัยว่า หรือสมณวงศ์ที่สืบเนื่องมาจากพระอริยสาวกของพระพุทธเจ้าจะสูญเสียแล้ว แต่อย่างไรก็ดีการที่พระองค์ทรงผนวช ได้สมาทานว่าจะประพฤติตามพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ถ้าทรงประพฤติวัตรปฏิบัติต่อไปในทางที่ผิดพระพุทธบัญญัติ เห็นว่าลาผนวชออกเป็นอุบาสกจะดีกว่า ในขณะเมื่อกำลังทรงพระวิตกดังว่ามา และยังไม่เห็นทางที่จะแก้ไข ได้กิตติศัพท์ทรงถึงพระกรรณว่ามีพระเถระมอญองค์ ๑ (ชื่อ ซาย นามฉายาว่า พุทธวงศ์) บวชมาแต่เมืองมอญ มาอยู่วัดบวรมงคลได้เป็นพระราชาคณะที่พระสุเมธมุนี เป็นผู้ชำนาญพระวินัยปิฎกและประพฤติวัตรปฏิบัติอย่างเคร่งครัด จึงเสด็จไปทรงทำวิสาสะสนทนากับพระสุเมธมุนี พระสุเมธมุนีทูลอธิบายวัตรปฏิบัติของพระมอญคณะกัลยาณีที่ท่านอุปสมบทให้ทรงทราบโดยพิศดาร

ทรงพิจารณาเห็นไม่ห่างไกลจากพระพุทธบัญญัติเหมือนอย่างวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์สยามก็ทรงยินดี ด้วยตระหนักพระหฤทัยว่าสมณวงศ์ไม่สูญเสียแล้ว เหมือนอย่างทรงพระวิตกอยู่แต่ก่อน ก็ทรงเลื่อมใสใคร่จะประพฤติวัตรปฏิบัติตามแบบพระมอญ แต่มีข้อขัดข้องด้วยเสด็จประทับอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯ อันเป็นที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช จะทรงประพฤติให้ผิดกับระเบียบแบบแผนของพระสงฆ์ในวัดนั้นก็จะเป็นการละเมิด และคนทั้งหลายอาจจะเกิดความเข้าใจผิดต่อไป จึงเสด็จย้ายไปประทับ ณ วัดสมอราย เมื่อปีฉลู พ.ศ. ๒๓๗๒ เหมือนอย่างเคยเสด็จประทับพรรษาแรกทรงผนวช เวลานั้นมีพระภิกษุหนุ่มเป็นเจ้าบ้าง เป็นลูกผู้ดีบ้างที่ได้ถวายตัวเป็นสานุศิษย์ศึกษาอยู่ในสำนักและเลื่อมใสในพระดำริอีกราว ๖ รูป ตามเสด็จอยู่วัดสมอรายก็มี อยู่วัดอื่นแต่ไปประชุม ณ วัดสมอรายก็มี จึงเริ่มเกิดเป็นคณะสงฆ์ ซึ่งแสวงหาสัมมาปฏิบัติ อันได้นามในภายหลังว่า "ธรรมยุติกา" แต่นั้นเป็นต้นมา(๑๑)

ตรงนี้จะกล่าวถึงเรื่องวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยในสมัยนั้นแทรกลงสักหน่อย มีเรื่องตำนานเล่ากันมาแต่โบราณ(จะเป็นตำนานเกิดขึ้นในเมืองมอญ หรือในเมืองไทยหาทราบไม่) ว่าเมื่อพระสงฆ์ลังกาวงศ์เชิญพระไตรปิฎกมาจากลังกาทวีปนั้น เรือมาถูกพายุพัดพลัดกันไป เรือลำที่ทรงพระวินัยปิฎกพลัดไปเมืองมอญ และเรือที่ทรงพระสุตตันตปิฎกพลัดมาเมืองไทย ตำนานนี้อาจจะเป็นอุปมาไม่มีมูลทางพงศาวดาร แต่มีความจริงประหลาดอยู่ที่พระสงฆ์ในเมืองมอญถือพระวินัยปิฎกเป็นสำคัญ ฝ่ายพระสงฆ์ทางเมืองไทยถือพระสุตตันตปิฎกเป็นสำคัญ เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ไทยชำนาญการแสดงธรรม แต่มิใคร่เอาใจใส่ในการปฏิบัติพระวินัยเคร่งครัดนัก เป็นเช่นนั้นมาแต่โบราณ ใช่ว่าพระสงฆ์จะเป็นอลัชชีหรือไม่มีความรู้นั้นหามิได้ แต่มามีเสียอยู่อย่างหนึ่งที่พระสงฆ์ไทยเชื่อถือคติปัญจอันตรธานในบริเฉทท้ายคัมภีร์ปฐมสมโพธิ์เกินไป

ในบริเวทนั้นอ้างว่าพระพุทธเจ้าได้ทรงพยากรณ์ไว้ว่าเมื่อถึงกลียุค(คือยุคปัจจุบันนี้) พระพุทธศาสนาจะเสื่อมลงเรื่อยไป สติปัญญาและความศรัทธาอุตสาหะของคนทั้งหลายก็จะเลวลงทุกที จนไม่สามารถรักษาพระธรรมวินัยไว้ได้ ที่สุดเมื่อพุทธศักราชใกล้จะถึงห้าพันปี แม้พระสงฆ์ก็จะมีแต่ผ้าเหลืองคล้องคอหรือผูกข้อมือไว้พอรู้ว่าเป็นพระเท่านั้น คติตามคัมภีร์นี้เป็นเหตุให้เชื่อกันว่าพระพุทธศาสนาที่เราถือกันมีแต่จะเสื่อมไปเป็นธรรมดา พ้นวิสัยที่จะคิดแก้ไขให้คืนดีได้ เมื่อเช่นนั้นก็พยายามรักษาพระธรรมวินัยมาแต่เพียงเท่าที่สามารถ จนเกิดคำพูดว่า "ทำพอเป็นกิริยาบุญ" ด้วยเชื่อคติที่กล่าวมานี้(๑๒)

แม้ปรากฏในเรื่องพงศาวดารว่าได้มีการ "ฟื้นพระศาสนา" มาเป็นครั้งคราว เช่นทำสังคายนาพระไตรปิฎกเมื่อรัชกาลที่ ๑ นั้นก็ดี การฟื้นพระศาสนาที่ทำมานั้นเป็นแต่ฟื้นหาความรู้ หาได้ฟื้นถึงการปฏิบัติไม่ ที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งระเบียบวัตรปฏิบัติอย่างธรรมยุติกา จึงเป็นการฟื้นพระศาสนาส่วนที่บกพร่องของพระสงฆ์สยามมาแต่โบราณ หรืออีกนัยหนึ่งก็คือ ทรงแก้ไขวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ไทยให้สมบูรณ์ทั้งพระธรรมและพระวินัย เพราะฉะนั้นคติธรรมยุติกาที่ทรงตั้งขึ้นจึงจะดีกว่าเดิมทั้งที่พระมอญและพระไทยถือกันมาแต่ก่อน

เมื่อพระบาทสมเด็จพรีจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับไปอยู่วัดราชาธิวาสนั้น พระสงฆซึ่งถือวัตรปฏิบัติอย่างธรรมยุติกามีจำนวนเพียงสัก ๒๐ รูป ตามเสด็จไปอยู่วัดราชาธิวาสบ้าง คงอยู่ ณ วัดมหาธาตุฯหรืออยู่วัดอื่นบ้าง แต่เมื่อพระเกียรติคุณที่ทรงเชี่ยวชาญพระไตรปิฎก และพระปฏิภาณในการแสดงพระธรรมเทศนาเลื่องลือแพร่หลายก็มีพระภิกษุสามเณรมหานิกายพากันถวายตัวเป็นศิษย์ แล้วเลยบวชเป็นธรรมยุติกามากขึ้น และมีพวกคฤหัสพากันเลื่อมใสไปถือศีลฟังธรรมมากขึ้นโดยลำดับ จนที่วัดราชาธิวาสเกิดเป็นสำนักคณาจารย์อันหนึ่ง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงตั้งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชาคณะ(๑๓)

ถึงกระนั้นที่ทรงทำความเจริญให้เกิดขึ้น ณ วัดราชาธิวาสก็เป็นเหตุให้พวกศัตรูมีจิตริษยายิ่งขึ้น ถึงกล่าวแสดงความสงสัยว่าที่คนพอใจไปวัดราชาธิวาสกันมากขึ้น เพราะประสงค์จะยกย่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในทางการเมือง ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ไม่ทรงระแวงสงสัยในส่วนพระองค์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่รำคาญพระราชหฤทัยที่เกิดกล่าวกันเช่นนั้นแพร่หลาย จึงตรัสปรึกษาสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เมื่อยังเป็นที่พระยาศรีพิพัฒน์ ๆ กราทูลความเห็นว่า ถ้าโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาอยู่เสียใกล้ๆ ความสงสัยนั้นก็จะระงับไปเอง พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย

เผอิญมีกรณีเหมาะแก่พระราชประสงค์ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นพระราชาคณะแต่ยังไม่ได้ครองวัด และเวลานั้นพระราชาคณะตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศฯ ซึ่งกรมพระราชวังบวรมหาศักดิ์พลเสพทรงสร้างใหม่ที่ในพระนครว่างอยู่ จึงโปรดฯให้เลื่อนสมณศักดิ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสมอเจ้าคณะรอง(๑๔) แล้วเชิญเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๓๗๙ เวลานั้นพระชันษาได้ ๓๒ ปี ทรงผนวชได้ ๑๒ พรรษา(๑๕)

ก่อนจะเล่าเรื่องพระราชประวัติตอนเสด็จอยู่วัดบวรนิเวศฯ จะย้อนไปกล่าวถึงเรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเที่ยวธุดงค์ ในสมัยเมื่อยังประทับอยู่วัดราชาธิวาสเสียก่อน เพราะการเสด็จเที่ยวธุดงค์มามีผลเป็นคุณแก่บ้านเมืองหลายสถาน คือในสมัยเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวชนั้น ประเพณีที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จประพาสหัวเมืองห่างจากกรุงเทพฯถึงต้องประทับแรม แม้เพียงเสด็จไปทรงบูชาพระพุทธบาทหรือไปทรงทอดกฐินหลวงถึงพระนครศรีอยุธยาเป็นต้น หยุดมาตั้งแต่รัชกาลที่ ๒ นับเวลากว่า ๓๐ ปี

เมื่อไม่มีการเสด็จพระราชดำเนิน เจ้านายและขุนนางผู้ใหญ่ก็ไม่มีใครเสด็จออกไปเที่ยวหัวเมืองไกล นอกจากจำเป็นต้องไปในเวลามีราชการ เพราะเห็นเป็นการฝ่าฝืนพระราชปฏิบัติเกรงจะระแวงผิดทางการเมือง จึงอยู่กันแต่ในกรุงเทพฯเป็นพื้น

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงฟื้นพระศาสนา ใคร่จะศึกษาธุดงควัตรให้บริบูรณ์ ทรงพระราชดำริว่าพระองค์ทรงเพศเป็นสมณะ ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง จึงถวายพระพรลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไปบูชามหาเจดียสถานตามที่ต่างๆ ก็โปรดฯพระราชทานอนุญาตไม่ขัดขวาง จึงได้เสด็จไปตามหัวเมืองมณฑลนครชัยศรี มณฑลราชบุรี มณฑลอยุธยา และมณฑลนครสวรรค์ ตลอดขึ้นไปจนถึงมณฑลพิษณุโลกทางฝ่ายเหนือ ได้ทอดพระเนตรเห็นภูมิลำเนา และทรงทราบความทุกข์สุขของราษฎรในรหัวเมืองเหล่านั้นด้วยพระองค์เอง เป็นเหตุให้ทรงทราบตระหนักมาแต่เมื่อเสด็จธุดงค์นั้น ว่ารัฐบาลในกรุงเทพฯมิใคร่ทราบความเป็นไปในบ้านเมืองตามที่เป็นจริง อีกสถานหนึ่งได้ทรงทราบอัชฌาศัยใจคอของราษฎรชาวเมืองที่เสด็จไป และคนเหล่านั้นเมื่อรู้จัดพระองค์ก็พากันชอบพระอัธยาศัย เกิดนิยมนับถือแพร่หลายในเหล่าประชาชนมาแต่ชั้นนั้น

ยังอีกสถานหนึ่งซึ่งเป็นประโยชน์สำคัญเกิดขึ้นด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปธุดงค์ คือ ได้ไปทอดพระเนตรเห็นโบราณวัตถุเช่นศิลาจารึกเป็นต้น กับทั้งโบราณสถานที่มีแบบอย่างต่างๆกันตาสมั ก็เกิดใฝ่พระหฤทัยการศึกษาโบราณคดีของประเทศสยามโดยทางวิทยาศาสตร์ เหมือนอย่างทรงนำทางให้ผู้อื่นทั้งไทยและฝรั่งนิยมศึกษาตามเสด็จต่อมา ความรู้โบราณคดีของประเทศสยามจึงได้เจริญแพร่หลาย แม้จนทุกวันนี้ใครจะศึกษาโบราณคดีของประเทศสยาม ก็ยังได้อาศัยพระบรมราชาธิบายของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงพระราชนิพนธ์ไว้แทบทุกคน

เวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเข้ามาอยู่วัดบวรนิเวศฯนั้น ดูทรงระวังมากที่จะมิให้โทมนัสน้อยพระหฤทัย เป็นต้นว่า เมื่อแห่เสด็จมาจากวัดราชาธิวาสตามประเพณีแห่พระราชคณะไปครองวัดนั้น โปรดฯให้จัดกระบวนเหมือนอย่างแห่เสด็จพระมหาอุปราช แล้วโปรดฯให้สร้างตำหนัก(หลังที่เรียกว่า "พระปันยา") กับท้องพระโรงให้เสด็จอยู่เป็นผาสุก และทรงทำนุบำรุงด้วยประการอย่างอื่นอีกเป็นอันมาก(๑๖) ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงพอพระหฤทัย

ที่ได้เสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศฯด้วยเหตุหลายสถาน เพราะเมื่อเสด็จประทับอยู่ที่วัดราชาธิวาส วัดนั้นมีพระราชาคณะและพระสงฆ์มหานิกายปกครองมาแต่เดิม ทรงจัดวางระเบียบธรรมยุติกาได้สะดวกเพียงวัตรปฏิบัติส่วนตัวพระภิกษุ แต่จะจัดต่อขึ้นไปถึงระเบียบสงฆ์เช่นทำสังฆกรรมเป็นต้นยังขัดข้อง เพราะอยู่ปะปนกับพระสงฆ์ต่างสังวาสกัน ที่สุดพระธรรมยุติกาที่มีขึ้นก็ยังต้องแยกกัยอาศัยอยู่ตามวัดต่างๆ เพราะเสนาสนะไม่พอจะอยู่ที่วัดราชาธิวาสได้หมด เสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศฯได้ทรงครองวัด สามารถรับพระสงฆ์ธรรมยุติกามาอยู่ในวัดเดียวกัน ทั้งพระบวชใหม่ก็บวชเป็นธรรมยุติกาทั้งนั้น ในไม่ช้าพระสงฆ์วัดบวรนิเวศฯก็เป็นธรรมยุติกาทั้งหมด จึงทรงจัดวางระเบียบการคณะสงฆ์และการปกครองวัด ตลอดจนการสั่งสอนสัปบุรุษให้บริบูรณ์ตามคติธรรมยุติกาได้ดังพระราชประสงค์

แต่ความเดือดร้อนรำคาญก็เกิดขึ้นหลายอย่าง เพราะเสด็จเข้ามาอยู่ใกล้ หม่อมไกรสรพยายามทำร้ายหนักขึ้น จนถึงสาเหตุให้สึกพระสุเมธมุนีที่เป็นพระอุปัชฌาย์ของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และเบียดเบียนด้วยประกาต่างๆ แม้จนแกล้งใส่บาตรพระธรรมยุติกาด้วยข้าวต้มให้ร้อนมือที่อุ้มบาตร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวต้องทรงรับความเจ็บช้ำระกำพระราชหฤทัยมาตลอดอายุของหม่อมไกรสร แต่ก็ไม่ทรงยอมหย่อนพระอุตสาหะในการฟื้นพระศาสนา ด้วยทรงเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระบรมราชูปถัมภ์อยู่ จึงสามารถแสดงวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุติกาได้โดยเปิดเผย

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครองวัดบวรนิเวศฯ พอทรงวางระเบียบนิกายธรรมยุติกาสำเร็จแล้ว ก็ทรงพยายามฟื้นการศึกษาพระปริยัติธรรมต่อมาทรงพระราชดำริแก้ไขวิธีเรียน ซึ่งแบบเดิมใช้เรียนภาษามคธกับพระธรรมวินัยไปด้วยกันตามคัมภีร์ที่ใช้เป็นหลักสูตรสำหรับสอนเป็นลำดับขึ้นไป ทรงเปลี่ยนเป็นให้เรียนเป็น ๒ ชั้น ต้นเรียนแต่ไวยกรณ์ขึ้นไปจนจบคัมภีร์มงคลทีปนี กวดขันให้รู้ภาษามคธไปจนแตกฉานเสียก่อน แล้วจึงให้ศึกษาหาความรู้พระธรรมวินัยด้วยอ่านคัมภีร์อื่นๆต่อไปเป็นชั้นหลัง ด้วยวิธีนี้นักเรียนสำนักวัดบวรนิเวศฯจึงรู้ภาษามคธเชี่ยวชาญถึงสามารถพูดภาษานั้น(๑๗) และใช้หนังสืออรรถเทศน์ได้โดยสะดวก เมื่อเข้าแปลพระปริยัติธรรมก็ได้เป็นเปรียญประโยคสูงมากกว่าสำนักอื่นๆ เล่ากันมาว่าพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปพระราชทานกฐิน ทอดพระเนตรเห็นพระสงฆ์วัดบวรฯเป็นเปรียญมาก ตรัสปราศรัยแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวว่า "ถ้าวัดของชีต้นเป็นเปรียญทั้งวัดก็จะดีทีเดียว"

เพราะเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสามารถจัดบำรุงการเล่าเรียนได้รุ่งเรืองเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดฯให้มาตำแหน่งในคณะมหาเถระผู้สอบปริยัติธรรมในสนามหลวง แต่เผอิญไปเกิดโต้แย้งกับพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม) วัดโมฬีโลกฯ(องค์ที่ออกนามมาในตอนที่ทรงแปลพระปริยัติธรม) ซึ่งเป็นผู้ใหญ่อยู่แต่ก่อน เรื่องที่เกิดโต้แย้งนั้นเล่ากันมาว่า พระมหาผ่อง(ภายหลังได้เป็นพระราชาคณะที่พระธรรมภาณพิลาศ อยู่วัดประยูรวงศ์) แปลความแห่งหนึ่งว่า "ตุมฺเห อันว่าท่านทั้งหลาย นิสีทถ จงนั่ง อาสเน ในอาสนะ" พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่โปรดที่แปลศัพท์ อาสเน ว่า "ในอาสนะ" พระมหาผ่องแปลใหม่ว่า อาสเน "เหนืออาสนะ" พระบาทสมเด็จพระเจ้าเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรด แต่พระพุทธโฆษาจารย์ติว่าไม่ถูก พระมหาผ่องก็ไม่รู้ที่จะแปลว่ากระไร พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเกรงว่า พระมหาผ่องจะตกจึงตรัสขึ้นว่า "นั่งในอาสนะนั้นนั่งอย่างไร จะฉีกอาสนะออกแล้วเข้าไปนั่งในช่องที่ฉีก หรือจะเอาอาสนะขึ้นคลุมตัวไว้ในนั้น" พระพุทธโฆษาจารย์โกรธบังอาจกล่าวคำหยาบช้าต่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ความทราบถึงพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็กริ้ว ตรัสสั่งห้ามมิให้นิมนต์พระพุทธโฆษาจารย์เข้าราชการอีก และทรงมอบการสอบพระปริยัติธรรมเป็นสิทธิ์ขาดแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวแต่นั้นมาจนตลอดรัชกาล(๑๘)

แต่เรื่องเนื่องด้วยพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม)ยังไม่หมดเพียงนั้น เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จเสวยราชย์ พระพุทธโฆษาจารย์เกรงว่าจะถูกถอดจากราชาคณะ ด้วยทรงอาฆาต ถึงเตรียมตัวจะกลับไปอยู่เมืองเพชรบุรีถิ่นเดิม แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวกลับทรงพระกรุณาโปรดฯให้พ้นโทษ ตรัสยกย่องว่าพระพุทธโฆษาจารย์ชำนาญพระปริยัติธรรมมาก ให้เลื่อนฐานันดรขึ้นเป็นสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ตำแหน่งเจ้าคณะกลางมาครองวัดมหาธาตุฯ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์(ฉิม)ก็เกิดเลื่อมใสในพระคุณธรรมที่ไม่ทรงพยาบาทว่าพระองค์ทรงเป็นบัณฑิตย์โดยแท้ จึงแต่งคาถาถวายพรอันขึ้นด้วยบทว่า "ยํ ยํ เทวมนุสฺสานํ มงฺคลตฺถายภสิตํ" ถวายสนองพระเดชพระคุณ(๑๙) พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวชอบพระราชหฤทัยจึงโปรดฯให้พระสงฆ์สวดคาถานั้นข้างท้ายพระปริต ยังสวดมาจนทุกวันนี้

ความเจริญที่เกิดขึ้นในสำนักวัดบวรนิเวศฯครั้งนั้นกิตติศัพท์ระบือไปถึงลังกาทวีป ว่าพระวชิรญาณ(๒๐) มหาเถระอันเป็นพระอนุชาของสมเด็จพระธรรมิกราชพระเจ้าแผ่นดินได้ฟื้นพระธรรมวินัยให้รุ่งเรืองขึ้นในประเทศสยาม ถึงคณะสงฆ์ในลังกาแต่งสมณทูตให้เข้ามาสืบข่าวพระศาสนา(๒๑) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงทรงมอบการรับสมณทูตลังกาครั้งนั้นให้เป็นธุระของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

อาศัยเหตุที่ทรงวิสาสะกับพระสงฆ์ลังกาที่เข้ามาครั้งนั้น ทรงทราบเบาะแสซึ่งจะหาคัมภีร์พระไตรปิฎกอันขาดฉบับอยู่เมื่อครั้งทำสังคายนาในรัชกาลที่ ๑ จึงทูลความแด่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดฯให้ทรงจัดสมณทูต มีพระปลัดสังข์ วัดบวร(ซึ่งมีนามฉายาว่า สุภูติ) กับพระปลัดเกิด วัดบรมนิวาส(ซึ่งมีนามฉายาว่า อมโร)(๒๒) อันเป็นเปรียญธรรมยุติกา ๙ ประโยคทั้ง ๒ องค์เป็นหัวหน้า ออกไปยังลังกาทวีปเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๕ เป็นการไปเยี่ยมตอบและไปเสาะหาคัมภีร์พระไตรปิฎกครั้งหนึ่ง ต่อมาให้พระปลัดสังข์ออกไปหาพระไตรปิฎกเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๗ อีกครั้งหนึ่ง ได้คัมภีร์พระไตรปิฎกซึ่งยังขาดฉบับมาเพิ่มเติมอีกเป็นอันมาก พระไตรปิฎกในประเทศสยามจึงมีบริบูรณ์แต่นั้นมา

ตั้งแต่มีสมณทูตเข้ามาแล้ว ต่อมาก็มีชาวลังกาทั้งพระสงฆ์และคฤหัสถ์ไปมทาติดต่อกับสำนักบวรนิเวศฯมิใคร่ขาด จนที่สุดเมื่อถึงรัชกาลที่ ๔ ชาวลังกาทูลขอให้ส่งคณะสงฆ์ออกไปอุปสมบทตั้งวงศ์ธรรมยุติกาที่ในลังกาทวีป พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้พระอโนมมุนี(ศรี ซึ่งภายหลังได้เป็นที่สมเด็จพระพุฒาจารย์ อยู่วัดประทุมคงคา) นำคณะสงฆ์ออกไปลังกาทวีปอีกครั้งหนึ่งเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๔ แต่การที่จะตั้งวงศ์ธรรมยุติกาหาสำเร็จตามประสงค์ไม่ เพราะพระสงฆ์ลังกาเกิดเกี่ยงแย่งกันเอง ด้วยพวกนิการอุบาลีวงศ์ (เรียกในลังกาอีกอย่างหนึ่งว่า สยามวงศ์) อ้างว่าเป็นของพระสงฆ์ไทยอยู่แล้ว ฝ่ายพวกนิกายพม่าซึ่งเรียกว่า มรัมวงศ์ ก็อ้างว่าพรสงฆ์ธรรมยุติการับอุปสมบทจากนิกายรามัญร่วมสมณวงศ์กับตนอยู่แล้ว ทั้งสองฝ่ายไม่ปองดองกัน การที่จะตั้งคณะสงฆ์ธรรมยุติกาในลังกาทวีปจึงไม่สำเร็จ(๒๓)

เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาฝรั่ง ปรากฎว่าเริ่มทรงศึกษาภาษาละตินก่อน ด้วยเมื่อเสด็จประทับอยู่วัดราชธิวาส เขตวัดติดต่อกับวัดคอนเซปชั่น Immaculate Conceptiovn Church ของพวกโรมันคาทอลิก และเวลานั้นสังฆราชปาลกัวต์ยังเป็นบาทหลวงอธิการของวัดนั้นชอบไปเฝ้าทูลถามภาษาและขบนธรรมเนียมไทยเนืองๆจนทรงคุ้นเคย จึงโปรดฯให้สอนภาษาละตินถวายเป็นทำนองแลกเปลี่ยนความรู้กั จะได้ทรงศึกษาอยู่ตลอดเวลาสักเท่าใดและถึงเพียงไหนก็ไม่ปรากฎ แต่สังเกตในลายพระราชหัตถเลขาเมื่อเสวยราชย์แล้ว มักทรงใช้ศัพท์ภาษาละตินเนืองๆ เห็นได้ว่าทรงทราบไวยกรณ์ของภาษานั้น แต่การที่ทรงศึกษาภาษาละตินคงหยุดเมื่อเสด็จย้ายจากวัดราชาธิวาส แต่ภาษาอังกฤษยนั้นเสด็จกลับมาอยู่วัดบวรนิเวศฯแล้วหลายปี จึงได้เริ่มทรงศึกษาต่อมิชชั่นนารีอเมริกัน


..............................................................................................................................................................



Create Date : 30 มีนาคม 2550
Last Update : 30 มีนาคม 2550 14:32:46 น. 2 comments
Counter : 2597 Pageviews.  
 
 
 
 
..............................................................................................................................................................


(ต่อ)


พวกมิชชั่นนารีอเมริกันกับพวกบาทหลวงฝรั่งเศส แม้เจตนามาสอนคริตศาสนาอันเดียวกันก็ดี ถือคติต่างกันเป็นข้อสำคัญหลายอย่าง พวกบาทหลวงถือคติลัทธิโรมันคาทอลิกวางตัวเป็น "พระ" พยายามบำรุงศาสนาด้วยตั้งบริษัท และอุปถัมภ์บำรุงฝึกสอนคนที่เข้ารีตเป็นสำคัญ ฝ่ายพวกมิชชั่นนารีอเมริกันถือลัทธิโปรเตสตันส์ (ซึ่งแตกไปจากโรมันคาทอลิก) วางตัวเป็น "ครู" นำทั้งศาสนาและอารยธรรม Civlization มาสอนชาวต่างประเทศนี้ทั่วไปไม่เลือกหน้า ชอบใช้วิธีทำให้เกิดประโยชน์ต่างๆเช่นรักษาโรคและสอนวิชาความรู้เป็นต้น ให้คนทั้งหลายเลื่อมใสเป็นปัจจัยต่อไปถึงการสอนศาสนา เพราะฉะนั้นพวกมิชชั่นนารีอเมริกันจึงเข้ากับไทยได้ ผิดกับพวกบาทหลวง

ในครั้งนั้นมีไทยที่สูงศักดิ์เป็นชั้นหนุ่ม (เช่นเรียกกันในปัจจุบันนี้ว่า "คนสมัยใหม่") ปรารถนาจะศึกษาวิชาอย่างฝรั่งหลายคน จะกล่าวแต่ผู้ที่มาปรากฎเกียรติคุณในชั้นหลัง คือ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อยังเป็นสมเด็จเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ใคร่จะทรงศึกษาวิชาทหารพระองค์ ๑ กรมหลวงวงศาธิราชสนิท เมื่อยังเป็นกรมหมื่น ใคร่จะทรงศึกษาวิชาแพทย์อย่างฝรั่งพระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นหลวงนายสิทธิ ใคร่จะศึกษาวิชาต่อเรือกำปั่นคน ๑ ได้ศึกษาวิชาเหล่านั้นต่อพวกมิชชั่นนารีอเมริกัน แต่ว่าสอนกันด้วยภาษาไทย ส่วนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอย่หัวก็ได้ทรงคุ้นเคยกับพวกมิชันนารีอเมริกันตั้งแต่เสด็จอยู่วัดราชาธิวาส แต่หาปรากฎว่าได้ทรงศึกษาวิชาอันใดจากพวกมิชชันนารีอเมริกันในชั้นนั้นไม่

เหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาอังกฤษ พิเคราะห์ในเรื่องพงศาวดารส่อให้เห็นว่าน่าจะเป็นเพราะทรงปรารภถึงการบ้านเมืองตั้งแต่จีนรบแพ้อังกฤษ ต้องทำหนังสือวัญญายอมให้อังกฤษกับฝรั่งต่างชาติเข้าไปมีอำนาจในเมืองจีนเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เวลานั้นไทยโดยมากยังเชื่อตามคำพวกจีนกล่าวว่า แพ้สงครามด้วยไม่ทันเตรียมตัว รัฐบาลจึงต้องทำหนังสือสัญญาพอให้มีเวลาตระเตรียมรบพุ่งต่อไป แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระดำริเห็นว่าถึงคราวโลกยวิสัยจะเกิดการเปลี่ยนแปลง ด้วยฝรั่งมามีอำนาจขึ้นทางตะวันออกนี้ และประเทศสยาม อาจจะมีการเกี่ยวข้องกับฝรั่งยิ่งขึ้นในวันหน้า จึงทรงเริ่มศึกษาภาษาอังกฤษ มิสเตอรแคสเวล มิชชันนารีอเมริกัน(๒๔) เป็นผู้สอนถวาย เล่ากันมาว่ามิสเตอรแคสเวลไม่ยอมรับค่าจ้าง ทูลขอโอกาสให้สอนคริสตศาสนาได้ที่วัดบวรนิเวศฯ พระบาทสมเด็จพระจอม้เกดล้าเจ้าอยู่หัวก็กล้าประทานอนุญาตให้สอนที่ศาลาหน้าวัดหลัง ๑ มประสงค์ เป็นทำนองเหมือนท้าพิสูจน์ความศรัทธาของพุทธบริษัทวัดบวรนิเวศฯ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาอังกฤษกับมิสเตอรแคสเวล จนสามารถจะอ่านเขียนและตรัสภาษาอังกฤาได้สะดวกดียิ่งกว่าใครๆ ที่เป็นไทยด้วยกันในสมัยนั้นทั้งสิ้น ข้อนี้มีหลักฐานปรากฎเมื่อรัฐบาลอังกฤษให้เซอรเจอมสบรุ๊คเป็นทูตเข้ามาเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ หนังสือที่มีไปมากับไทยใช้ภาษาอังกฤษเป็นคราวแรก เวลานั้นข้างฝ่ายไทยไม่มีผู้ชำนาญภาษาอังกฤษ ต้องใช้มิชชันนารีอเมริกันชื่อ มิสเตอร์โจน (เรียกกันว่า "Dr.ยอนส์") คน ๑ กับฝรั่งครึ่งชาติชื่อเจมสเฮส์(เรียกกันว่า "เสมียนยิ้ม") อีกคน ๑ ซึ่งไม่ชำนาญภาษาไทย เป็นผู้แปลและแต่งภาษาอังกฤษ แล้วส่งไปถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียกในจดหมายเหตุว่า "ทูลกระหม่อมพระ") ทรงตรวจทุกฉบับ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงศึกษาภาษาอังกฤษในสมัยนั้นอีกพระองค์ ๑ แต่คงเป็นเพราะไม่ทรงทราบอย่างลึกซึ้งถึงพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงไม่ปรากฎว่ามีหน้าที่ช่วยตรวจหนังสือที่มีไปมากับเซอรเจมสบรุ๊ค

มิสเตอรแคสเวลถึงแก่กรรมเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๒ ถ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาภาษาอังกฤษเมื่อ พ.ศ.๒๓๘๖ ก็มีเวลาสอนอยู่ ๖ ปี แต่สันนิษฐานว่าเห็นจะทรงศึกษาต่อมิสเตอรแคสเวลไม่นานถึง ๖ ปี พอทรงสามารถอ่านภาษาอังกฤษเข้าพระหฤทัยได้ความโดยสะดวกแล้ว ก็ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองต่อมา วิธีเรียนอย่างว่านี้ยังใช้กันมาจนในรัชกาลที่ ๕ เช่นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ดี สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส และกรมพระยาเทววงศ์วโรปการก็ดี ตลอดมาจนตัวผู้แต่งหนังสือนี้เอง ก็เรียนต่อครูเพียง ๓ ปี แล้วเรียนเอาเองต่อมาทั้งนั้น แต่กรมหลวงพิชิตปรีชากรเป็นประหลาดกว่าเพื่อนด้วยไม่มีครู ทรงพากเพียรเรียนแต่โดยลำพังพระองค์ ทรงทราบทั้งภาษาอังกฤษและภาษาฝรั่งเศส อาจอ่านหนังสือ ๒ ภาษานั้นเข้าพระหฤทัยได้สะดวก เป็นแต่ตรัสและเขียนไม่ได้

ตั้งแต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาทราบภาษาอังกฤษ พระเกียรติคุณก็แพร่หลายไปถึงนานาประเทศ ด้วยพวกมิชชันนารีและฝรั่งที่เข้ามาถึงกรุงเทพฯบอกเล่าต่อๆไป จนมีนักเรียนชาวต่างประเทศอื่นทั้งที่ใกล้เคียงและห่างไกลไปจนยุโรปและอเมริกา เขียนหนังสือมาถวายทูลถามหาความรู้ต่างๆอันเกี่ยวกับประเทศสยาม ก็มีพระราชหัตถเลขาตอบตามประสงค์ ลายพระราชหัตถเลขาครั้งนั้นยังปรากฎอยู่มาก(๒๕) มักทรงแต่งตามโวหารภาษาไทย ข้อนี้เมื่อเซอรจอน เบาริง เป็นราชทูตเข้ามาเวลาเสด็จเสวยราชย์แล้ว ยกเหตุที่ประเทศอื่นๆทางตะวันออกนี้ ไม่มีเจ้านายประเทศใดได้เรียนรู้ภาษาอังกฤษ ทูลแนะนำให้มีพระราชหัตถเลขาไปถวายสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภความขัดข้อง ว่าไม่สามารถจะทรงแต่งสำนวนใหเหมือนคนอังกฤษได้ เซอรจอน เบาริง ทูลว่า ถึงพระราชนิพนธ์ไม่เหมือนคนอังกฤษแต่ง ใครอ่านก็เข้าใจความตามพระราชประสงค์ได้ชัดเจน อย่าให้ทรงพระวิตกเลย จึงมีพระราชหัตถเลขาไปถวายสมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย

วิชาความรู้ต่างๆที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงศึกษาจากตำราภาษาอังกฤษจะมีอย่างใดบ้าง ข้อนี้มีหลักฐานปรากฏว่าได้ทรงศึกษาวิชาคนาวิธีอย่าง ๑ วิชาโหราศาสตร์อย่าง ๑ ประวัติศาสตร์อย่าง ๑ กับการเมืองด้วยอีกอย่าง ๑ การที่ได้ทรงศึกษาวิชาคณนาวิธีและโหราศาสตร์ ปรากฏในเรื่องสุริยอุปราคาที่กล่าวมาแล้วในตอนก่อน การที่ทรงศึกษาประวัติศาสตร์ มีเรื่องเป็นอุทาหรณ์ปรากฏอยู่ในหนังสือ เซอรจอน เบาริ่ง แต่งว่า เมื่อจะเป็นอัครราชทูตเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีใน พ.ศ. ๒๓๙๘ นั้น เกรงไทยจะรับรองไม่สมศักดิ์ ด้วยทูตอังกฤษมที่เคยเข้ามากรุงเทพฯแต่ก่อน เป็นแต่ทูตของอุปราชในอินเดีย หรือทูตของรัฐบาลอังกฤษ แต่เซอรจอน เบาริ่ง เป็นอัครราชทูตเชิญพระราชสาส์นมาแต่งพระองค์สมเด็จพระราชินีวิคตอเรีย จะต้องให้รับผิดกัน เซอรจอน เบาริ่ง ค้นหาแบบอย่างที่ไทยเคยรับาชทูตของพระเจ้าแผ่นดิน พบในหนังสือเก่าเล่าเรื่องสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับ เชวเลีย เดอ โชมอง ราชูตของพระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๒๘ เอารายการในหนังสือนั้นมาเปรียบเทียบ ข้างฝ่ายไทยในเวลานั้นไม่มีใครรู้แบบแผน เพราะตำราสูญเสียแต่ครั้งกรุงศรีอยุธยา มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบพระองค์เดียว เพราะได้หนังสือพงศาวดารการเกี่ยวข้องในระหว่างไทยกับฝรั่ง ที่ฝรั่งแต่งไว้แต่โบราณ ทรงคาดใจเซอร จอน เบาริ่ง ว่าคงปรารถนาจะให้รับรองผิดกับทูตอังกฤษที่มาแล้วแต่ก่อน จึงโปรดฯให้เอาแบบอย่างครั้งสมเด็จพระนารายณ์มหาราชรับราชทูตฝรั่งเศสมาใช้เป็นระเบียบ ก็ถูกใจ เซอรจอน เบาริ่ง ไม่มีทางที่เกี่ยงงอนได้

เรื่องทรงศึกษาการเมืองที่เกี่ยวกับต่างประเทศนั้น พึงสันนิษฐานได้ว่าคงทรงหนังสือข่าวที่ฝรั่งพิมพ์ในเมืองจีนและสิงคโปร์ ปีนัง เป็นต้น กับทั้งที่ได้ทรงสนทนาสมาคกับฝรั่ง ทรงทราบประวัติการณ์ที่ฝรั่งมาทำทางตะวันออกนี้ และความเห็นของฝรั่งอยู่เสมอ เมื่อครั้งทรงตรวจหนังสือที่ไทยโต้ตอบกับ เซอรเจม บรุ๊ค คงตระหนักแน่พระหฤทัยตามที่ทรงคาดไว้แต่ก่อน ว่าอังกฤษคงจะมาเกี่ยวถึงเมืองไทย เหตุการณ์ที่ปรากฎในชั้นหลังส่อให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงพระดำริเห็นมาแล้วแต่ยังทรงผนวช ว่าไทยคงต้องทำหนังสือสัญญากับอังกฤษด้วยจำเป็น

ข้อนี้พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็อาจจะทรงพระราชดำริเช่นนั้นเหมือนกัน แต่เห็นว่าถ้าทำหนังสือสัญญาตามข้อความที่อังกฤษปรารถนาจะเกิดความฉิบหายในบ้านเมือง และบางทีจะยังเชื่อคำพวกจีนว่าอังกฤษมีกำลังมากแต่ในท้องทะเล ถ้ารักษาปากน้ำให้มั่นคงอย่าให้เรือรบขึ้นมาถึงพระนครได้ก็จะปลอดภัย จึงไม่ยอมทำหนังสือสัญญากับ เซอรเจมส บรุ๊ค ว่าตามหลักฐานที่ปรากฎครั้งนั้น มีพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระองค์เดียวทรงพระดำริเห็นว่าประเทศสยามจะปลอดภัยในอนาคตได้แต่ด้วยทำให้ฝรั่งนับถือ แต่ในเวลานั้นทรงผนวช ไม่มีกิจเกี่ยวข้องในราชการบ้านเมือง ก็นิ่งอยู่

เรื่องพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงรับราชสมบัตินั้น พิเคราะห์ความามเรื่องพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ดูเหมือน เมื่อตอนแรกพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นเสวยราชย์ จะยังมิได้ทรงพระราชดำริถึงเรื่องรัชทายาท ด้วยยังไม่แน่พระราชหฤทัยว่าราชการบ้านเมืองจะเรียบร้อยหรือจะเป็นอย่างไร เพราะผู้ที่เห็นว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวสมควรได้รับราชสมบัติก็มีมาก จึงทรงสถาปนาพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหมื่นศักดิพลเสพ ซึ่งมีกำลังมากเพราะได้กำกับราชการกระทรวงกลาโหม และเป็นที่ไว้วางพระราชหฤทัยยิ่งกว่าเจ้านายพระองค์อื่น เป็นพระมหาอุปราช ถ้าหากพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตในตอนนั้น กรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพก็คงจะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน พฤติการณ์เป็นเช่นนั้นมาจนกรมพระราชวังบวรมหาศักดิพลเสพสวรรคตเมื่อ พ.ศ. ๒๓๗๕

จึงทรงมีเงื่อนไขว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรารภถึงเรื่องรัชทายาท ด้วยครั้งนั้นพวกข้าเจ้าต่างกรมหลายพระองค์ คาดกันว่าเจ้านายของพวกตนจะได้เป็นพระมหาอุปราชเหมือนอย่างกรมหมื่นศักดิพลเสพ พากันเตรียมตัวจะเป็นขุนนางวังหน้า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเจตนาจะไม่ตั้งพระมหาอุปราช จึงตรัสปรึกษาเสนาบดีบางคน สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติเมื่อยังเป็นที่พระยาศรีพิพัฒนฯกราบทูล ว่าถ้าโปรดฯให้เลื่อนกรมเจ้านายเหล่านั้นขึ้นเสียสักชั้นหนึ่ง ให้ปรากฏว่าทรงเจตนาจะให้มีพระยศแต่เพียงเท่านั้น พวกข้าในกรมเจ้านายก็คงจะไม่ทะเยอทะยานต่อไป พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงโปรดฯให้เลื่อนกรมเจ้านายขึ้นเป็นกรมหลวง กรมขุน หลายพระองค์(๒๖) พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ได้ทรงรับกรมเป็น "กรมขุนอิศเรศรังสรรค์" ในครั้งนั้นด้วย

ประหลาดอยู่ที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเว้น พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัไว้ ไม่โปรดฯให้ทรงรับกรม จะเป็นเพราะเหตุใด จะว่าขัดข้องเพราะทรงผนวชเป็นพระภิกษุก็มิใช่ ด้วยเมื่อกรมหมื่นนุชิตชิโนรสทรงรับกรมก็เป็นพระภิกษุ มีตัวอย่างอยู่ ข้อนี้น่าสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริว่าตำแหน่งพระมหาอุปราชเป็นรัชทายาท ไม่สมควรแก่เจ้านายพระองค์อื่น นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ทรงผนวชอยู่ จะทรงตั้งเป็นพระมหาอุปราชก็ขัดข้องทางฝ่ายพระศาสนา จะให้ทรงรับกรมก็ไม่เข้ากับเหตุที่เลื่อนกรมเจ้านายครั้งนั้น จึงได้งดเสีย

ต่อมามีกรณีหลายอย่างที่ส่อให้เห็นว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวจำนงพระราชหฤทัยจะให้พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นรัชทายาท เช่นโปรดฯให้แห่เสด็จอย่างพระมหาอุปราชเมื่อย้ายมาประทับ ณ วัดบวรนิเวศนฯดังกล่าวมาแล้ว ต่อมาอีกครั้งหนึ่งเมื่อจะยกยอดพระปรางค์วัดอรุณฯ เดิมทำเป็นยอดนภศูลตามแบบพระปรางค์โบราณ ครั้งใกล้จะถึงวันฤกษ์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวดำรัสสั่งให้ยืมมงกุฎที่หล่อสำหรับพระพุทธรูปทรงเครื่อง ที่จะเป็นพระประธานวัดนางนอง มาติดบนยอดนภศูล (ดังปรากฎอยู่บัดนี้) จะเป็นด้วยพระราชดำริอย่างไรจึงทำเช่นนั้น หาได้ตรัสให้ใครทราบไม่ และการที่เอามงกุฎขึ้นต่อบนยอดนภศูลก็ไม่เคยมีแบบอย่างที่ไหนมาก่อน คนในสมัยนั้นจึงพากันสันนิษฐานว่ามีพระราชประสงค์จะให้คนทั้งหลายเห็นเป็นนิมิตร ว่าสมเด็จเจ้าฟ้า "มงกุฎ" จะเป็นยอดของบ้านเมืองต่อไป แม้เรื่องสำเร็จโทษหม่อมไกรสรนั้น เมื่อคิดดูก็เห็นเหมือนหนึ่งจะทรงป้องกันอันตรายมิให้มีแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เพราะความผิดข้อใหญ่ของหม่อมไกรสรอยู่ที่มาดหมายจะเอาราชสมบัติ(๒๗)เมื่อสิ้นรัชกาลที่ ๓

แต่เมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรในปีจอ พ.ศ. ๒๓๙๓ ก่อนจะเสด็จสวรรคต โปรดฯให้เขียนกระแสรับสั่งไปยังเสนาบดีเมื่อวันที่ ๙ กุมภาพันธ์ ว่าผู้ที่จะปกครองแผ่นดินต่อไปนี้ จะทรงมอบเวนราชสมบัติแก่พระราชวงศ์พระองค์ใดตามชอบพระราชอัธยาสัย ถ้าไม่ชอบใจผู้อื่นโดยมากก็จะเสียสมัคคีรสเกิดร้าวฉาน อาจจะเลยเป็นอุปัทวันตรายเดือดร้อนแก่บ้านเมือง เพราะฉะนั้นให้เสนาบดีกับข้าราชการทั้งปวงปรึกษากัน ถ้าเห็นว่าพระราชวงศ์พระองค์ใดสมควรจะปกครองแผ่นดินให้อยู่เย็นเป็นสุขได้ก็ให้ถวายราชสมบัติแก่พระองค์นั้นเถิด ในจดหมายเหตุปรากฎว่า ในวันต่อมาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวมีรับสั่งให้หาพระยาศรีสุริยวงศ์ จางวางมหาดเล็ก ผู้เป็นบุตรและที่ปรึกษาของเจ้าพระยาพระคลังหัวหน้าเสนาบดีเข้าไปเฝ้า ดำรัสถามว่าที่มีกระแสรับสั่งไปเมื่อวันก่อนนั้น เสนาบดีทำอย่างไร พระยาศรีสุริยวงศ์กราบทูลว่า เสนาบดีเห็นว่าพระอาการประชวรไม่ถึงตัดรอน ยังไม่ควรจะปรึกษาถึงเรื่องผู้รับราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า ผู้ซึ่งจะรับราชสมบัตินั้น ทรงพระราชดำริเห็นสมควรแต่ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่มีข้อที่ทรงรังเกียจอยูทั้ง ๒ พระองค์ ด้วยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว "ถืออย่างมอญ ถ้าไดเป็นพระเจ้าแผ่นดินขึ้น ก็จะให้พระสงฆ์ห่มผ้าเป็นมอญหมดทั้งแผ่นดินดอกกระมัง" ส่วนพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นก็ทรงรังเกียจที่ "ไม่พอใจทำราชการ รักแต่การเล่นสนุกเท่านั้น เพราะฉะนั้นจึงมิได้ทรงอนุญาต กลัวเจ้านายข้าราชการเขาจะไม่ชอบใจ"(๒๘)

แต่คงตระหนักพระราชหฤทัยว่า เสนาบดีคงปรึกษากันถวายราชสมบัติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นแน่ ต่อมาอีกวันหนึ่งจึงโปรดฯให้เขียนพระราชปรารภให้กรมขุนเดชอดิศรนำความไปทูลกรมหมื่นนุชิตชิโนรส ซึ่งเป็นเจ้าคณะสงฆ์ เพราะทรงทราบว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเคารพนับถือมากทั้ง ๒ พระองค์ ว่าทรงรำคาญพระราชหฤทัยอยู่ที่มีพระสงฆ์ไทยพากันไปเลื่อมใสห่มผ้าตามพระมอญ ดูเสียเกียรติยศของบ้านเมือง ถ้าหากสมเด็จพระบรมชนกยังเสด็จอยู่ เห็นจะไม่พอพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง ขอให้ท่านทั้ง ๒ ช่วยปลดเปลื้องความรำคาญพระราชหฤทัยด้วย


..............................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 30 มีนาคม 2550 เวลา:11:11:25 น.  

 
 
 
..............................................................................................................................................................

(ต่อ)

ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยลงสักหน่อย ตามเรื่องตำนานการที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงตั้งนิกายสงฆ์ธรรมยุติกา ชั้นเดิมเมื่อทรงผนวชแปลงเป็นรามัญนิกาย ทรงร่วมสังวาสแต่เฉพาะกับพระมอญในคณะของพระสุเมธมุนี มิได้ทรงร่วมสังวาสกับพระมอญทั้งปวงทั่วไป เป็นแต่ทรงครองแหวกอย่างพระมอญ ครั้นต่อมาเมื่อทรงตั้งระเบียบวัตรปฏิบัติสำหรับพระสงฆ์ธรรมยุติกา ทรงถือพระวินัยตามพระไตรปิฎกเป็นหลักวัตรปิบัติ อย่างใดที่พระสงฆ์สยาม (มหา) นิกายหรือพระสงฆ์รามัญนิกายประพฤติ ถ้าทรงสอบสวนเห็นว่าถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติก็คงไว้ ถ้าเห็นว่าผิดก็เลิกหรือทรงแก้ไขไปตามทางที่ทรงดำริว่าถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติด้วยเหตุนั้น จึงเป็นนิกายธรรมยุติกา เพราะวัตรปฏิบัติกับพระมหานิกายและพระรามัญนิกาย เป็นแต่ห่มผ้าเหมือนพระมอญ

การที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงจัดระเบียบพระสงฆ์ธรรมยุติกาอย่างไร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบ ไม่ได้ทรงรังเกียจ "ในทางธรรม" คือวัตรปฏิบัติของพระสงฆ์ธรรมยุติกา ข้อนี้พึงเห็นได้ด้วยทรงตั้งพระสงฆ์ธรรมยุติกาเป็นพระราชาคณะมาแต่ก่อนก็หลายรูป ในกระแสรับสั่งทรงอ้าวข้อรังเกียจแต่ "ในทางโลก" คือที่ห่มผ้าเป็นพระมอญ แต่ข้อใหญ่ใจความที่ทรงพระราชวิตกนั้นเห็นจะเป็นด้วยทรงเกรงว่า เมื่อพระบาทสมเด็จพรีจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เสวยราชย์ จะใช้พระราชานุภาพให้แปลงพระสงฆ์มหานิกายเป็นธรรมยุติกาทั้งบ้านเมือง จึงร้อนพระราชหฤทัย

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงทราบก็เข้าพระหฤทัยในพระราชวิตก จึงทรงเขียนคำสารภาพถวายว่าที่ทรงจัดการต่างๆมา มีพระประสงค์จะประพฤติพระธรรมวินัยให้ถูกต้องตามพระพุทธบัญญัติ โดยทรงเห็นว่าไม่เกี่ยวข้องกับราชการบ้านเมือง เมื่อทราบว่ามีการบางอย่างที่ไม่ชอบพระราชอัธยาศัยก็จะไม่ฝ่าฝืน แล้วตรัสสั่งให้พระสงฆ์ธรรมยุติกากลับห่มคลุมอย่างมหานิกายตามเดิม พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวก็พอพระราชหฤทัย มิได้แสดงความรังเกียจต่อไป

เมื่อเวลาพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวประชวรอยู่นั้น มีเรื่องเนื่องกับเหตุที่จะเปลี่ยนรัชกาลที่เกิดขึ้นหลายเรื่อง ด้วยเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวไม่ทรงตั้งเสนาบดี ปล่อยให้ตำแหน่งว่างอยู่หลายกระทรวง ตรัสว่า พระเจ้าแผ่นดินต่อไปจะได้ตั้งตามพระราชหฤทัย ทางฝ่ายเจ้านายในตอนนี้ ตั้งแต่สำเร็จโทษหม่อมไกรสรแล้ว ก็ไม่มีต่างกรมพระองค์ใดมีกำลังและอำนาจมาก ทั้งพากันหวาดหวั่นเกรงจะต้องหาว่ามักใหญ่ใฝ่สูงอยู่แทบทั้งนั้น อำนาจในราชการบ้านเมืองตอนปลายรัชกาลที่ ๓ จึงตกอยู่ในเจ้าพระยาพระคลัง(๒๙) ซึ่งเป็นอัครมหาเสนาบดีว่าการกระทรวงกลาโหม และกระทรวงพระคลังคน ๑ กับพระยาศรีพิพัฒนฯ(๓๐)

เมื่อตอนพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแรกประชวร แม้รู้กันอยู่ว่าจะไม่กลับคืนดีได้ ท่านทั้ง ๒ ก็ยังไม่ปรารภถึงกรณีที่จะเปลี่ยนรัชกาลเพราะเกรงพระราชอาญา ด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังว่าราชการแผ่นดินอยู่ แต่การที่ท่านผู้ใหญ่ทั้ง ๒ นิ่งเฉยอยู่นั้น ต่อมาเป็นเหตุให้เกิดระแวงหวาดหวั่นกันไปต่างๆ ถึงกรมขุนพิพิธภูเบนทร์เรียกระดมพวกข้าในกรมเข้ามารักษาพระองค์ ด้วยเกรงจะถูกจับเหมือนหม่อมไกรสร เจ้าพระยาพระคลังทราบความจึงปรึกษากับพระยาศรีสุริยวงศ์(๓๑) ซึ่งเป็นบุตรคนใหญ่และเป็นผู้เฉียบแหลมในราชการยิ่งกว่าผู้อื่นในเวลานั้น พระยาศรีสุริยวงศ์รับจัดการแก้ไข ให้ไปเอาทหารบรรทุกเรือขึ้นมาจากปากน้ำ แล้วไปทูลกรมขุนพิพิธภูเบนทร์ให้ปล่อยข้าในกรมไปเสียให้หมด กรมขุนพิพิธภูเบนทร์ก็ต้องทำตาม

เล่ากันมาว่า พระยาศรีสุริยวงศ์ กับ จมื่นราชามาตร(๓๒)บุตรของเจ้าพระยาพระคลังอีกคน ๑ ซึ่งเฉียบแหลม เป็นผู้ตักเตือนบิดาให้ดำริเตรียมการเรื่องเปลี่ยนรัชกาล พอเจ้าพระยาพระคลังได้กระแสรับสั่งพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวแสดงพระราชปรารภให้ทราบว่าจะเสด็จสวรรคต และพระราชทานอนุญาตให้พระราชวงศ์กับเสนาบดีเลือกรัชทายาทดังกล่าวมาแล้ว ก็ไปเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กราบทูลให้ทรงทราบว่าเสนาบดีปรึกษากันจะเชิญเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้เคยทรงศึกษาโหราศาสตร์ ทรงเชื่อตำราพยากรณ์อยู่มาก ตรัสว่าถ้าจะถวายราชสมบัติแก่พระองค์ ขอให้ถวายแก่เจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ด้วย เพราะสมเด็จพระอนุชาดวงพระชะตาดีวิเศษถึงฐานที่จะได้เป็นพระเจ้าแผ่นดิน ถ้าถวายราชสมบัติแก่พระองค์เกรงจะเสด็จอยู่ไม่ได้เท่าไร เจ้าพระยาพระคลังก็ลงเรือไปเฝ้าเจ้าฟ้า กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ที่พระราชวังเดิม ทูลความตามที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงปรารภนั้นให้ทรงทราบ(๓๓)

ความที่กล่าวมานี้ เป็นมูลเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงสถาปนาพระมหาอุปราชให้ทรงศักดิ์พิเศษ เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่สอง Second King ทรงพระนามว่า "พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว" เทียบเยี่ยงอย่างสมเด็จพระเอกาทศรถ ครั้งรัชกาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช แต่เมื่อคนทั้งหลายทราบว่า พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจะได้ทรงรับราชสมบัติ ก็พากันยินดี ระงับความหวาดหวั่นสงบได้ในทันที

ครั้นถึงวันที่ ๓ เมษายน พ.ศ. ๒๓๙๔ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคต พระราชวงศ์และเสนาบดีจึงประชุมกัน พร้อมด้วยพระราชาคณะผู้ใหญ่ในสังฆมณฑล ปรึกษาเห็นพร้อมกันว่าควรถวายราชสมบัติแก่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ เจ้าฟ้ามงกุฎฯ กับ เจ้าฟ้าจุฑามณี กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ทั้ง ๒ พระองค์

วันรุ่งขึ้นจึงเชิญเสด็จพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจากวัดบวรนิเวศนฯแห่เสด็จโดยขบวนเรือมาขึ้นที่ท่าตำหนักแพ(๓๔) (ซึ่งขนานนามใหม่ในรัชกาลที่ ๔ ว่า "ท่าราชวรดิษฐ์") รับเสด็จทรงพระราชยานแห่เข้าพระราชวังหลวง(๓๕) เสด็จขึ้นไปยังพระมหามณเฑียร ถวายน้ำสรงพระบรมศพสมเด็จพระเชษฐาธิราชแล้ว ไปประทับที่ในพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม เจ้านายและเสนาบดีเข้าเฝ้ากราบทูลเชิญเสด็จผ่านพิภพ จึงลาผนวช เมื่อวันที่ ๖ เวลา ๑ นาฬิกา นับเวลาทรงผนวชอยู่ ๒๗ พรรษา เมื่อลาผนวชแล้วเสด็จประทับอยู่ในพระอุโบสถนั้นคืน ๑ แล้วเสด็จไปประทับพลับพลาซึ่งสร้างขึ้นในบริเวณโรงแสงต้น จนถึงฤกษ์ทำพระราชพิธีบรมราชาภิเษกและเฉลิมพระราชมณเฑียร บรรยายพระราชประวัติเมื่อก่อนเสด็จเสวยราชย์หมดความเพียงนี้.


..............................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) เมื่อสร้างพระอภิเนาวนิเวศน์ โปรดฯให้รื้อตำหนักหลังที่เสด็จประทับไป สร้างตึกบริเวณนั้น พระราชทานนามว่า พระที่นั่งมูลมนเฑียร เดี๋ยวนี้ย้ายไปปลูกเป็นโรงเรียนอยู่หน้าวัดเขมาภิรตาราม

(๒) พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตรัสเรียกว่า "ท่านฟ้าใหญ่" ฝรั่งเรียกว่า Chow fa yai

(๓) สันนิษฐานว่า เจ้าฟ้าเพ็ชร(คือพระเจ้าท้ายสระ) และเจ้าฟ้าพร(คือพระเจ้าบรมโกศ) เห็นจะเรียกตามพระนามเดิมเมื่อก่อนเป็นเจ้า เจ้าฟ้ากุ้งนั้นอาจจะมาแต่นิมิตในปีที่ประสูติ เช่นกุ้งชุมผิดปกติ เหมือนอย่างเจ้าฟ้าดอกมะเดื่อมาแต่นิมิตด้วยประสบเวลาต้นมะเดื่อออกดอก อันเป็นของประหลาด

(๔) รวมอาจารย์กับพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๕) เรียกกันว่า มอญใหม่ เรียกพวกมอญที่อพยพมากับพระยาเจ่ง(คชเสนี)เมื่อครั้งกรุงธนบุรีว่า "มอญเก่า"

(๖) ที่สมเด็จพระญาณสังวร ไม่ได้เป็นสมเด็จพระสังฆราชมาแต่ก่อนเพราะท่านทรงคุณทางวิปัสสนาธุระ ไม่ได้เป็นเปรียญ แต่เมื่อสมเด็จพระสังฆราช(มี)สิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด้จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ทรงตั้งสมเด็จพระญารณสังวรเป็นสมเด็จพระสังฆราช เฉลิมพระราชศรัทธาเมื่ออายุท่านถึง ๙๐ ปี เรียกกันว่า "สังฆราชไก่เถื่อน" เพราะท่านเชี่ยวชาญวิปัสสนาธุระ นัยว่าอาจให้ไก่เถื่อนเชื่องได้ด้วยอำนาจพรหมวิหารของท่าน รูปหล่อสมเด็จพระสังฆราชพระองค์นี้กับฐานจำหลักลายเป็นรูปไก่เถื่อนมีอยู่ในวัดมหาธาตุฯ

(๗) มีหลายท่านหนังสือหลายเล่มกล่าวว่า เพราะพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยเสด็จสวรรคตพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงเสด็จไปทรงผนวชเพื่อหนีราชภัย ความจริงพระองค์ท่านเสด็จทรงผนวชตามราชประเพณีก่อนสมเด็จพระราชบิดาจะทรงประชวรด้วยซ้ำ และเมื่อทรงพระประชวรนั้นก็ไม่มีใครจะคิดว่าจะเสด็จสวรรคตเพราะทรงประชวรอยู่เพียง ๘ วันเท่านั้น

(๘) ประเพณีเดิมกำหนดแต่ว่าถ้าแปลพระสุตตันตปิฎกได้เป็นเปรียญตรี ถ้าแปลพระวินัยได้ด้วยได้เป็นเปรียญโท ถ้าแปลได้ทั้งพระสุตตันตปิฎก พระวินัย และพระปรมัตถ์ ได้เป็นเปรียญเอก ถึงรัชกาลที่ ๒ แก้วิธีสอบพระปริยัติธรรมเป็น ๙ ประโยค สันนิษฐานว่าพระสังฆราช(มี)เป็นผู้จัดระเบียบใหม่ ด้วยปรารภว่าวิธีเดิมหละหลวม ผู้มีความรู้ต่ำสามารถจะเป็นเปรียญได้ จึงจัดหลักสูตรให้กวดขันขึ้น

(๙) การแปลพระปริยัติตามปกติ แปล ณ วัดที่สถิตของสมเด็จพระสังฆราช

(๑๐) ที่เรียกกันภายหลังว่า "หม่อมไกรสร"

(๑๑) ตามพระราชวิจารณ์ของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในหนังสือเรื่อง "วัดสมอราย"

(๑๒) ข้าพเจ้า(สมเด็จในกรมฯ)ได้เคยสนทนากับพระมหาเถระที่เชื่อถือคติปัญจอันตรธานอย่างว่าหลายองค์

(๑๓) ทรงตั้งเมื่อใดไม่ทราบแน่ สมเด็จพระสังฆราช(สา) วักราชประดิษฐ์ท่านเล่าว่า วันหนึ่งเสด็จเข้าไปถวายเทศน์ พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสว่า "ชีต้นบวชมานานแล้ว ควรเป็นราชาคณะได้" แล้วพระราชทานพัดแฉกพื้นตาดให้ทรงถือเป็นยศต่อมา

(๑๔) เข้าใจว่าเสมอกันกับกรมหมื่นนุชิตชิโนรส คือฐานานุกรม ๗ รูป และลำดับยศอยู่ต่อพระพิมลธรรม

(๑๕) ถ้านับตั้งแต่ทรงผนวชแปลงได้ ๑๑ พรรษา จึงทรงเป็นอุปัชฌาย์ได้ตั้งแต่เสด็จมาอยู่วัดบวรนิเวศฯ

(๑๖) กล่าวกันว่า พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชนามวัดบวรนิเวศฯในครั้งนั้นด้วย เพื่อให้เป็นเกียรติแก่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ข้าพเจ้า(เสด็จในกรมฯ)เห็นว่าจะพระราชทานมาก่อนแล้ว เพราะเป็นวัดที่สถิตย์ของพระราชาคณะผู้ใหญ่แต่ก่อนพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จมาครอง

น่าจะได้ชื่อนั้นตั้งแต่แรกที่กรมพระราชวังบวรฯทรงสร้าง ในสาส์นสมเด็จกล่าวว่าที่ตรงนี้ก็เป็นเขตวังหน้า ทรงสร้างวัดขึ้นในที่ทรงพระราชทานเพลิงศพพระชนนีของพระราชชายา (กัมม์)

(๑๗) ในจดหมายรายงานหม่อมราโชทัยเรื่องทูตไทยไปยุโรปเมื่อปีมะเส็ง พ.ศ.๒๔๐๐ ว่าเมื่อไปถึงเมืองลังกามีพระสงฆ์มาปราศัยเป็นภาษามคธ เจ้าหมื่นสรรเพธภักดีเป็นผู้พูดตอบ เจ้าหมื่นสรรเพธนั้น(ภายหลังเป็นเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรง)เคยเป็นแต่มหาดเล็กข้าหลวงเดิมอยู่ที่วัดบวรนิเวศฯ เพียงนั้นยังพอพูดภาษามคธได้บ้าง ส่อให้เห็นว่าคงจะพูดภาษามคธกันได้แพร่หลายในวัดบวรนิเวศฯเมื่อครั้งนั้น

(๑๘) เรื่องที่พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสปราศรัยกับเรื่องที่กล่าวนี้ พระสารสาสน์พลขันธ์(สมบุญ)ซึ่งเมื่อบวชเป็นพระครูสมุหฐานานุกรมของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเล่าให้ฟัง

(๑๙) การที่แต่งถวายนั้น พิเคราะห์ดูเหมือนจะแต่งถวายพรท้ายเทศน์ เพราะมีคำในคาถาแห่งหนึ่งว่า อิมินา ธมฺนทาเนน เป็นอธิษฐานอ้างอานิสงฆ์ธรรมทานที่แสดง

(๒๐) เป็นพระนามฉายาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว

(๒๑) เมื่อรัชกาลที่ ๒ เคยแต่งสมณทูตไทยไปสืบข่าวพระศาสนาในลังกาทวีป ครั้งนี้กลับกัน ฝ่ายลังกามาสืบ

(๒๒) พระปลัดสังข์ ภายหลังเป็นพระพรหมมุนี พระอมโรเป็นที่พระอมราภิรักขิต ราชาคณะทั้ง ๒ องค์

(๒๓) ถึงรัชกาลที่ ๕ มีพระสงฆ์ลังกามรัมวงศ์ พระเถระที่เป็นหัวหน้าชื่อ สิริสุมนติสสะ รูป ๑ ชื่อ ปัญญาเสขร รูป ๑ เข้ามาขอบวชแปลงเป็นธรรมยุติกาที่ในกรุงเทพฯ ได้แปลงตามปรารถนา สมเด็จพระสมณะเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์ทรงเป็นอุปัชฌาย์ แต่ดูเหมือนจะกลับไปตั้งคณะธรรมยุติกาไม่สำเร็จอีก

(๒๔) เจ้าพระยาทิพากรวงศ์เรียกในหนังสือแสดงกิจจานุกิจว่า "หมอหัศกัน" เข้ามาถึงกรุงเทพฯเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๒

(๒๕) มี Mr. and Ms. Eddy จากอเมริกา เขียนหนังสือมาทูล เจ้าฟ้าพระ ขอให้ทรงเปลี่ยนมาเป็นคริสเตียน ทรงตอบปฏิเสธได้อย่างนุ่มนวล พระสำนวนน่าฟังมาก หาอ่านได้จากพระราชหัตถเลขา พิมพ์ในงานฉลองรบ ๘๔ ปี มหามงกุฏราชวิทยาลัย พิมพ์ที่โรงพิมพ์มหามงกุฎราชวิทยาลัยนะครับ

(๒๖) เลยเป็นประเพณีสืบมา เมื่อพระมหาอุปราชสวรรคต คงมีการเลื่อนกรมเจ้านายแม้ไม่มีเหตุเหมือนรัชกาลที่ ๓

(๒๗) "คิดอยู่ว่าถ้าสิ้นแผ่นดินไป ก็ไม่ยอมเป็นข้าใคร" พงศาวดารกรุงรัตนโกสินทร์ รัชกาลที่ ๓ เจ้าพระยาทิพากรวงศ์

(๒๘) ตามคำในจดหมายเหตุ ซึ่งมีอยู่ในพงศาวดารรัชกาลที่ ๓ ของเจ้าพระยาทิพากรวงศ์

(๒๙) คือ สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ เรียกกันว่า "สมเด็จองค์ใหญ่" ในรัชกาลที่ ๔

(๓๐) ถึงรัชกาลที่ ๔ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาพิชัยญาติ เรียกกันว่า "สมเด็จองค์น้อย"

(๓๑) ในรัชกาลที่ ๔ เป็น เจ้าพระยาฯที่สมุหกลาโหม ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์

(๓๒) เป็นเจ้าพระยาทิพากรวงศ์ เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศในรัชกาลที่๔

(๓๓) เรื่องนี้ เจ้าพระยาภานุวงศ์ผู้เล่าให้ฟัง ได้ยินเจ้าพระยาพระคลังบิดาของท่านทูลเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์

(๓๔) ที่เรียก "ตำหนักแพ" เพราะเดิมตำหนักที่ริมท่าเสด็จลงเรือ ทำเป็นอย่างเรือนแพ คือปักเสาลอยที่ชายเลนแล้วตั้งตำหนักบนนั้น

(๓๕) ในรัชกาลที่ ๔ โปรดฯให้เรียกว่า "พระบรมมหาราชวัง" เป็นคู่กับ "พระบวรราชวัง" อันเป็นที่ประทับของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่เมื่อล่วงรัชกาลที่ ๔ แล้ว เลิกชื่อ พระบวรราชวัง กลับเรียกว่า "พระราชวังบวรสถานมงคล" อย่างเดิม

ในสมัยกรุงศรีอยุธยาเดิม เรียกแต่ "พระราชวังบวร" สมเด็จพระนารายณ์เมื่อประทับอยู่เอาชัยได้ ขึ้นเสวยราชย์ จึงอาศัยนิมิตรนั้นเปลี่ยนชื่อเป็น "พระราชวังบวรสถานมงคล" ความพิศดารอยู่ใน ตำนานวังหน้า (กัมม์)


..............................................................................................................................................................

ความทรงจำ ตอนที่ ๓
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 30 มีนาคม 2550 เวลา:11:16:14 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com