กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
ตอนที่ ๕ เสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก พ.ศ. ๒๔๑๓ - ๒๔๑๗


พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร



..............................................................................................................................................................



เรื่องเสด็จไปต่างประเทศครั้งแรก

การที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศถึงเมืองสิงคโปร์ของอังกฤษและเมืองบะเตเวีย เมืองสมารังของฮอลันดา ที่เรียกกันภายหลังแต่โดยย่อว่า "เสด็จสิงคโปร์" เมื่อปลายปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ นั้น มูลเหตุมีมาแต่ในรัชกาลที่ ๔ จำเดิมแต่ทำหนังสือสัญญาเปิดบ้านเมืองให้ฝรั่งมาค้าขาย มีกงสุลและพวกฝรั่งต่างชาติเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯมากขึ้นทุกที พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริจะทะนุบำรุงพระนครมิให้พวกฝรั่งดูหมิ่น จึงให้เริ่มจัดการต่างๆ คือ ให้สร้างถนน(เจริญกรุง) สำหรับให้ใช้รถเป็นต้น ได้โปรดฯให้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ กับพระเจ้าลูกเธอ กรมหมื่นวิษณุนาถนิภาธร ไปดูลักษณะการที่อังกฤษบำรุงเมืองสิงคโปร์เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๔๐๔ ด้วยเมืองสิงคโปร์อยู่ใกล้ไปมาได้สะดวกกว่าที่อื่น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชปรารภจะเสด็จไปเองให้ถึงเมืองสิงคโปร์ ชะรอยจะใคร่ทรงสืบสวนถึงวิธีฝรั่งปกครองบ้านเมืองด้วย แต่พระองค์เป็นพระเจ้าแผ่นดิน จะเสด็จไปถึงต่างประเทศเป็นการใหญ่ จึงต้องรอหาโอกาสมาจนถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เมื่อเสด็จลงไปทอดพระเนตรสุริยอุปราคาที่หว้ากอ ครั้งนั้น เซอร์แฮรี ออด เจ้าเมืองสิงคโปร์ กับภรรยาขึ้นมาเฝ้า เพื่อจะดูสุริยอุปราคาหมดดวงด้วย เซอร์แฮรี ออด ทูลเชิญเสด็จไปประพาสเมืองสิงคโปร์ จึงตรัสว่าจะเสด็จไปเยี่ยมตอบ แล้วทรงปรึกษาเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ๆก็เห็นชอบด้วย แต่กราบบังคมทูลขอให้มีเวลาตระเตรียมก่อน(สันนิษฐานว่า คงกำหนดว่าจะเสด็จไปเมื่อสิ้นฤดูมรสุมในเดือนมีนาคม ปีมะโรงนั้น) แต่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจากหว้ากอ ก็มาประชวรเสด็จสู่สวรรคตเสีย การที่จะเสด็จไปสิงคโปร์จึงเป็นอันค้างอยู่

(ความที่จะกล่าวต่อไปนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวตรัสเล่าให้ฉันฟัง) ครั้นถึงรัชกาลที่ ๕ เมื่อเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์แรกได้เป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน พวกกงสุลต่างประเทศมี มิสเตอร์น็อกส์ กงสุลเยเนอราลอังกฤษเป็นต้น ถามท่านว่าจะคิดอ่านให้พระเจ้าแผ่นดินทรงศึกษาวิธีปกครองบ้านเมืองด้วยประการใด ท่าน (ระลึกถึงพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ยังค้างอยู่) ตอบว่า คิดจะให้เสด็จทอดพระเนตรวิธีปกครองบ้านเมืองของต่างประเทศที่เมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย พวกกงสุลก็พากันซ้องสาธุการและรับจะบอกไปถึงรัฐบาลของตน ให้รับเสด็จให้สมพระเกียรติยศ ฝ่ายพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อทรงทราบว่าจะได้เสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศก็ทรงยินดีเต็มพระราชหฤทัย ครั้นได้รับเชิญของรัฐบาลอังกฤษ กับรัฐบาลฮอลันดาก็ลงมือเตรียมการตั้งแต่ต้นปีมะเมียมา

ครั้งนั้น มีการต้องแก้ไขขนบธรรมเนียมเดิมให้สะดวกแก่ที่เสด็จไปต่างประเทศหลายอย่าง เป็นต้นว่า

(๑) เรือพระที่นั่งที่จะเสด็จไป จะใช้เรือพระที่นั่งอัครราชวรเดช ซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยทรง ก็ไม่ไว้ใจ ด้วยทางที่จะเสด็จไปต้องผ่านท้องทะเลใหญ่ เผอิญในเวลานั้นซื้อเรือรบอย่างคอเวตต่อด้วยเหล็กมาจากสก๊อตแลนด์เพิ่งมาถึงใหม่ลำ ๑ ขนานนามว่า "เรือพิทยัมรณยุทธ" จัดเรือรบลำนั้นให้เป็นเรือพระที่นั่งทรง ให้มีเรือรบซึ่งต่อในกรุงเทพฯเป็นเรือตามเสด็จลำ ๑ เป็นเรือล่วงหน้าลำ ๑ รวมเป็นเรือกระบวนเสด็จ ๓ ลำด้วยกัน

(๒) ราชบริพารที่ตามเสด็จ ซึ่งประเพณีเดิมเวลาเสด็จไปไหนในพระราชอาณาเขต ต้องมัพนักงานต่างๆจามเสด็จด้วยมากมาย ก็ให้ลดจำนวนคงแต่ ๒๗ คน ทั้งเจ้านายที่โปรดฯให้ไปตามเสด็จด้วย คือ สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์(สมเด็จพระราชปิตุลาฯ)พระองค์ ๑ พระเจ้าน้องยาเธอ พระองค์เจ้าสุขสวัสดิ์(กรมหลวงอดิศรอุดมเดช)เป็นนายร้อยมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรดฯให้เป็นราชองครักษ์พระองค์ ๑ ขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปตามเสด็จครั้งนั้นมีเจ้าพระยาสุรวงศ์วัยวัฒน์ อัครมหาเสนาบดีที่สมุหพระกลาโหม ๑ เจ้าพระยาภาณุวงศ์โกษาธิบดี เสนาบดีกระทรวงการต่างประเทศ ๑ พระยาสุรศักดิ์มนตรี(แสง ชูโต) จางวางมหาดเล็กได้บังคับทหารมหาดเล็กอยู่แล้ว โปรดฯให้เป็นราชองครักษ์ ๑ สมัยนั้นเครื่องแต่งตัวที่ใช้ในราชสำนักยังไม่ใช้ถุงเท้ารองเท้า และยังใส่เสื้อแพรหรือเสื้อกระบอกผ้าขาวเข้าเฝ้า จึงต้องคิดแบบเครื่องแต่งตัวสำหรับบรรดาผู้ที่จะตามเสด็จเข้าสมาคมและการพิธีต่างๆ ให้ใส่ถุงเท้ารองเท้า และแต่งเครื่องแบบทั้งฝ่ายทหารและพลเรือน ฝ่ายทหารมีเครื่องแบบทั้งเต็มยศและเวลาปกติ ฝ่ายพลเรือนมีเครื่องแบบแต่เต็มยศ เป็นเสื้อแพรสีกรมท่าปักทองที่คอและข้อมือ เวลาปกติใช้เสื้อคอเปิดผูกผ้าผูกคออย่างฝรั่ง แต่เครื่องแบบครั้งนั้นใช้นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่าไม่นุ่งกางเกง ทั้งทหารและพลเรือน ผ้าม่วงสีกรมท่าขึ้นใช้เป็นเครื่องแบบและนุ่งในเวลามีการงาน แต่ครั้งนั้นสืบมา

เนื่องแต่จัดระเบียบการแต่ตัวเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์คราวปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๓ นั้น เลยเกิดการเปลี่ยนแปลงประเพณีทั่วประเทศสยามอย่าง ๑ ซึ่งควรกล่าวไว้ด้วยในสมัยนั้นไทยยังไว้ผมตามประเพณีครั้งกรุงศรีอยุธยา เด็กไว้ผมจุกเหมือนกันทั้งชายหญิง ผู้ใหญ่ชายไว้ "ผมมหาดไทย" คือโกนผมรอบศรีษะไว้ผมยาวสัก ๕ เซ็นต์บนกลางกบาลหัว แล้วหวีแต่งเรือนผมนั้นตามเห็นงาม ส่วนผู้หญิงไว้ "ผมปีก" มีเรือนผมแต่บนกบาลหัวทำนองเดียวกับชาย รอบหัวเดิมไว้ผมยาวลงมาจนประบ่า ชั้นหลังเปลี่ยนเป็นตัดเกรียนรอบศรีษะ และไว้ผมเป็นพู่ที่ริมหูสำหรับเกี่ยวดอกไม้เครื่องประดับ เรียกว่า "ผมทัด" ทั้งสองข้าง ประเพณีไว้ผมเช่นว่ามา ไทยเราไว้อย่างเดียวกันทั้งบ้านทั้งเมืองจนเคยตามาหลายร้อยปี ก็เห็นงามตามวิสัยมนุษย์ อันสุดแต่ทำอะไรให้เหมือนกันมากๆก็(เกิดเป็นแฟชั่น)เห็นว่างามตามกันไป เป็นเช่นเดียวกันทุกชาติทุกภาษา ยกตัวอย่างเช่นพวกจีนเดิมไว้ผมยาว ครั้นพวกเม่งจูมาครอบครองบังคับไว้ผมเปีย นานเข้าก็นิยมว่าผมเปียสวยงาม หรือจะว่าข้างฝรั่ง ยกตัวอย่างดังเครื่องแต่งตัวผู้หญิงที่เปลี่ยนแปลงไม่รู้จักหยุด ก็เป็นเหตุเช่นเดียวกัน แต่การไว้ผมของไทยอย่างว่ามา เมื่อไปยังต่างประเทศ พวกชาวเมืองเห็นเป็นวิปริตแปลกตามักพากันยิ้มเยาะ เมื่อครั้งทูตไทยไปยุโรปในรัชกาลที่ ๔ จึงให้ไว้ผมทั้งศรีษะและตัดยาวอย่างฝรั่ง แต่เมื่อกลับมาถึงกรุงเทพฯก็กลับตัดผมมหาดไทยไปอย่างเดิม

เมื่อจะเสด็จสิงคโปร์คราวนี้ ก็โปรดฯให้ผู้ที่จะตามเสด็จเริ่มไว้ผมยาวตั้งแต่เวลาตระเตรียม เว้นแต่สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีฯให้ตามเสด็จทั้งไว้พระเกศาจุก ครั้นเมื่อเสด็จกลับคืนพระนครทรงปรารภกับท่านผู้ใหญ่ในราชการว่า การไปมาและคบหาสมาคมในระหว่างไทยกับฝรั่งจะมีมากขึ้นทุกที ประเพณีไว้ผมมหาดไทยชวยให้ชาวต่างประเทศดูหมิ่นควรจะเปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวทั้งศรีษะ ท่านผู้ใหญ่ในราชการก็เห็นชอบตามพระราชดำริ จึงดำรัสสั่งให้เลิกตักผมมหาดไทยในราชสำนักตั้งแต่ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔ เป็นต้นมา แต่มิได้บังคับถึงราษฎร ใครจะไว้อย่างไรก็ไว้ไปตามใจชอบ แต่เมื่อคนทั้งหลายเห็นบุคคลชั้นสูงไว้ผมยาว ก็พากันตามอย่างมากขึ้นโดยลำดับ หลายปีประเพณีไว้ผมมหาดไทยจึงหมดไป

ถึงกระนั้นเมื่อแรกเลิกตัดผมมหาดไทยนั้น คนชั้นผู้ใหญ่สูงอายุก็ยังไม่สิ้นนิยมผมมหาดไทย แม้เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์มักให้ช่างตัดผมรอบศรีษะให้สั้น และไว้ผมข้างบนยาวคล้ายกับเรือนผมมหาดไทย เรียกกันว่า "ผมรองทรง ทางฝ่ายผู้หญิงนั้นก็โปรดฯให้เลิกผมปีก เปลี่ยนเป็นไว้ผมตัดยาวแต่ในราชสำนักก่อน แล้วผู้หญิงพวกอื่นก็เอาอย่างต่อๆกันไปทั่วทั้งเมือง

นอกเรื่องตัดผม ยังมีการอื่นๆที่จัดเป็นอย่างใหม่ในกระบวนเสด็จอีกหลายอย่าง เช่นให้ยืนเฝ้าและถวายคำนับเป็นต้น แต่การรักษาพระนครในเวลาเสด็จไม่อยู่ ซึ่งเคยถือกันมาว่าเป็นการสำคัญ แม้เพียงเสด็จไปหัวเมืองในพระราชอาณาเขตเมื่อรัชกาลก่อนๆ แต่ครั้งนี้ไม่ลำบากด้วยพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ทรงว่าราชการแผ่นดิน มีผู้สำเร็จราชการแผ่นดินแทนพระองค์ประจำอยู่แล้ว

เสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันพฤหัสบดี เดือน ๔ แรม ๔ ค่ำ ปีมะเมีย ไปหยุดพักที่เมืองสงขลาทอดพระเนตรบ้านเมืองวัน ๑ แล้วแล่นเรือต่อไปจนถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อ เดือน ๔ แรม ๑๑ ค่ำ รัฐบาลและพวกอังกฤษชาวเมืองสิงคโปร์จัดการต้อนรับอย่างยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าเคยรับแขกเมืองมาแต่ก่อน ด้วยเป็นครั้งแรกที่พระเจ้าแผ่นดินเสด็จไปถึงเมืองสิงคโปร์ รับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ ผู้รั้งราชการเมืองสิงคโปร์กับข้าราชการทั้งปวงพร้อมกันมารับเสด็จที่ท่าเรือ เชิญเสด็จตรวจแถวทหารกองเกียรติยศ แล้วทรงรถแห่ไปยังศาลานคราทร ซึ่งพวกพ่อค้าพาณิชย์ทั้งปวงคอยเฝ้าอยู่พร้อมกัน เชิญเสด็จประทับราชอาสน์ แล้วผู้เป็นนายกสภาพาณิชย์เมืองสิงคโปร์อ่านคำถวายชัยมงคล กล่าวความท้าวถึงสมเด็จพระบรมชนกนาถ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าทรงปกครองพระราชอาณาจักรด้วยพระปรีชาญาณ ทรงทะนุบำรุงให้ประเทศสยามมีความเจริญรุ่งเรืองเป็นที่นับถือของนานาประเทศ และที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงประพฤติตามแบบอย่างต่อมาจนถึงทรงพระราชอุตสาหะเสด็จไปทอดพระเนตรเมืองต่างประเทศ ก็สมควรเป็นเยี่ยงอย่างแก่พระเจ้าแผ่นดินประเทศอื่นๆ พระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสตอบ และเสด็จกลับขึ้นทรงรถแห่ไปยังจวนเจ้าเมือง ซึ่งจัดถวายเป็นที่ประทับแรมตลอดเวลาเสด็จอยู่เมืองสิงคโปร์

ในเวลาเสด็จประทับอยู่ที่เมืองสิงคโปร์ ๗ วันนั้น มีการสโมสรต่างๆที่จัดขึ้นรับเสด็จ และเชิญเสด็จไปทอดพระเนตรกิจการและสถานที่ต่างๆ สำหรับบ้านเมืองมากมายหลายอย่างทุกๆวัน ตามรายการในจดหมายเหตุดูเกือบไม่มีเวลาที่จะได้เสด็จพัก การสโมสรนั้น นายทหารบกมีประชุมเต้นรำ(Ball)ที่โรงทหารคืน ๑ พวกฝรั่งชาวเมืองสิงคโปร์มีการประชุมแต่งตัวต่างๆเต้นรำ(Fancy Dress Ball)ที่ศาลานคราทรคืน ๑ ต่อมามีละครสมัครเล่นถวายทอดพระเนตรที่ศาลานคราทรคืน ๑ ผู้รั้งราชการเมืองมีการเลี้ยงอย่างเต็มยศ(Banquet)คืน ๑ พวกชาวสิงคโปร์มีการประกวดต้นไม้ดอกไม้ถวายทอดพระเนตรที่สวนสำหรับเมืองคืน ๑ ส่วนกิจการและสถานที่ๆเชิญเสด็จทอดพระเนตรนั้น คือ โรงทหารบก เรือรบ อู่เรือ ศาลชำระความ เรือนจำโรงพยาบาล โรงเรียน อาคารไปรษณีย์ สถานีโทรเลข สถานนีเครื่องดับไฟ โรงกลั่นไอประทีป(Gas-work) ห้างและตลาดขายของ ทั้งทรงรถเที่ยวทอดพระเนตรถนนหนทางที่บำรุงบ้านเมืองด้วย เสด็จประทับอยู่ในเมืองสิงคโปร์จนเดือน ๕ ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม เสด็จกลับลงเรือพระที่นั่งมีการส่งเสด็จอย่างเต็มยศเหมืองเมื่อเสด็จไปถึง ออกเรือในค่ำวันนั้น

ไปถึงท่าเมืองบะเตเวียที่เกาะชวา ณ วันอาทิตย์เดือน ๕ ขึ้น ๖ ค่ำ รัฐบาลฮอลันดาก็จัดการต่างๆรับเสด็จเป็นอย่างใหญ่ ทำนองเดียวกับอังกฤษรับเสด็จที่เมืองสิงคโปร์ มีรายการแปลกออกไปแต่มีการสวนสนามทหารบกอย่าง ๑ พวกมาลายูกับพวกจีนมีการแห่ประทีบอย่าง ๑ และพวกฝรั่งมีการจุดดอกไม้ไฟถวายทอดพระเนตร มีแปลกที่ทอดพระเนตรโรงทำปืนอย่าง ๑ กับทอดพระเนตรพิพิธภัณฑสถานอีกอย่าง ๑ ซึ่งในเมืองสิงคโปร์ยังไม่มีในสมัยนั้นเสด็จประทับอยู่เมืองบะเตเวีย ๗ วัน ถึงวันเสาร์ เดือน ๕ ขึ้น ๑๒ ค่ำ เสด็จลงเรือพระที่นั่งแล้วออกเรือในเช้าวันนั้น

รุ่งขึ้นก็ถึงเมืองสมารัง แต่เสด็จไปถึงต่อในเวลาบ่าย จึงประทับแรมอยู่ในเรือพระที่นั่งคืน ๑ ถึงวันขึ้น ๑๔ ค่ำ เวลาเช้าเรสิเดนต์(สมุหเทศาภิบาล)หัวหน้ารัฐบาลเมืองสมารังลงมารับเสด็จขึ้นเมืองเป็นการเต็มยศ และมีพิธีรับเสด็จคล้ายกับที่เมืองบะเตเวีย มีสิ่งซึ่งได้ทอดพระเนตร ณ เมืองสมารังครั้งนั้นแปลกจากที่อื่นคือทรงรถไฟ ซึ่งกำลังสร้างไปจนถึงสุกปลายรางอย่าง ๑ ทอดพระเนตรโรงทำดินปืนอย่าง ๑ กับเจ้ามังกุนคโรเมืองโสโลพาละครชวามาเล่นถวายทอดพระเนตรอย่าง ๑ เสด็จประทับอยู่เมืองสมารัง ๓ วัน ถึงวันแรม ๒ ค่ำ เดือน ๕ ก็เสด็จลงเรือพระที่นั่งออกเรือในวันนั้นกลับมาถึงเมืองสิงคโปร์เมื่อแรม ๕ ค่ำ มีพระราชดำรัสขออย่าให้มีการรับรองอย่างยศศักดิ์ให้ซ้ำซากลำบากแก่เขาอีก ผู้รั้งราชการลงมารับเสด็จเป็นการไปรเวตเชิญเสด็จประทับร้อนที่จวนเจ้าเมือง เชิญเสด็จเสวยกลางวันแล้วเสด็จประพาสตามพระราชอัธยาศัย ครั้นเวลาค่ำเชิญเสด็จเสวยอีกเวลา ๑ และเสด็จทอดพระเนตรละครม้าแล้วจึงเสด็จกลับลงเรือพระที่นั่ง รุ่งขึ้นวันอังคาร เดือน ๕ แรม ๗ ค่ำ ออกเรือพระที่นั่งจากเมืองสิงคโปร์ เสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ เมื่อวันเสาร์ เดือน ๕ แรม ๑๑ ค่ำ รวมเวลาที่เสด็จไปครั้งนั้น ๓๗ วัน เมื่อเสด็จกลับมาถึงแล้วมีงานรื่นเริงเฉลิมพระเกียรติ และแต่งประทีปทั่วทั้งพระนคร ๕ วัน

พิเคราะห์ราบการที่เสด็จประพาสเมืองสิงคโปร์เมืองบะเตเวียและเมืองสมารัง เห็นได้ว่าสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ทอดพระเนตรขนบธรมเนียมฝรั่งมาก ทั้งในส่วนการสมาคมและกิจการต่างๆ ซึ่งเนื่องในการปกครองทะนุบำรุงบ้านเมือง การที่เสด็จไปต่างประเทศครั้งนั้น ความเข้าใจของคนทั้งหลายทั้งไทยและฝรั่งเป็นอย่างเดียวกันว่า เสด็จไปทรงศึกษาหาแบบอย่าง มาจัดการทะนุบำรุงประเทศสยาม หากว่าเสด็จกลับมาไม่ทำอะไรเลย ก็คงถูกติเตียนว่าเสด็จไปเที่ยวเล่นให้สิ้นเปลืองเวลาเปล่าๆ หรือถึงหมิ่นพระปัญญาว่าไร้ความสามารถ ก็แต่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังมิได้ว่าราชการบ้านเมือง จึงเริ่มทรงจัดการแก้ขนบธรรมเนียมแต่ในราชสำนัก ด้วยความเห็นชอบของผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน

ในเวลานั้นอายุฉันได้ ๑๐ ขวบและอยู่ในราชสำนัก ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่จัด เมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์จำได้อยู่หลายอย่าง เป็นต้นว่าโปรดฯให้กั้นฉากในพระที่นั่งไพศาลทักษิณเป็น ๑ ห้อง ห้องทางตะวันตกตั้งโต๊ะเก้าอี้เป็นห้องรับแขก ห้องตอนกลางคงเป็นทางเสด็จออกท้องพระโรงหน้า ห้องทางตะวันออกจัดเป็นห้องเสวยตั้งโต๊ะเก้าอี้เลี้ยงแขกได้ราว ๒๐ คน เวลาเช้าเสด็จออกท้องพระโรง เจ้านายขุนนางยังหมอบเฝ้าและคงแต่งตัวเหมือนอย่างเดิม แต่ตอนกลางวันเมื่อเสด็จขึ้นจากท้องพระโรงหรือตอนตอนบ่ายและตอนค่ำก่อนเสวยเย็น เสด็จประทับที่ห้องรับแขกในพระที่นั่งไพศาลทักษิณ ให้ผู้ที่เข้าเฝ้าแต่งตัวสวมถุงเท้ารองเท้า ใส่เสื้อเปิดคอแบบฝรั่ง นุ่งผ้าม่วงสีกรมท่า ยืนเฝ้าอย่างฝรั่ง ถึงเวลาเสวยเย็นโปรดฯให้เจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่ในราชสำนักนั่งโต๊ะเสวยด้วย ต้องแต่ตัวใส่เสื้อแย้กเก๊ตขาวเปิดคอ เวลาบ่ายๆถ้าเสด็จทรงเที่ยวประพาสก็แต่งตัวใส่ถุงเท้ารองเท้า เสื้อปิดคอและยืนเฝ้าเหมือนกัน การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวมา ถ้าว่าตามความเห็นในสมัยนี้ก็ดูเป็นการเล็กน้อย แต่คนในสมัยนั้นเห็นแปลกประหลาด ถึงจมื่นเก่งศิลปคน ๑ เขียนลงเป็นจดหมายเหตุใน "ปูม" เมื่อวันเสาร์ เดือน ๗ ขึ้น ๒ ค่ำ (ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๔๑๔) ว่า "ในข้างขึ้นเดือนนี้ข้าราชการแต่งคอเสื้อผ้าผูกคอ ด้วยธรรมเนียมฝรั่งธรรมเนียมนอก" ดังนี้ พอเป็นเค้าให้เห็นได้ว่าคนในสมัยนั้นเห็นเป็นการสำคัญเพียงใด

มีการอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งทรงพระราชดำริเมื่อเสด็จกลับจากเมืองสิงคโปร์ คือจะจัดการศึกษาของลูกผู้ดีซึ่งได้โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนภาษาไทยขึ้นแต่ก่อนเสด็จไปสิงคโปร์แล้ว เมื่อเสด็จกลับมีพระราชประสงค์จะให้มีโรงเรียนภาษาอังกฤษด้วย แต่ขัดข้องด้วยหาครูไม่ได้ เพราะมิชชันนารีที่สอนภาษาอังกฤษแก่ไทยในเวลานั้น สอนแต่สำหรับชักชวนคนให้เข้ารีตเป็นข้อรังเกียจอยู่ จึงโปรดฯให้เลือกหม่อมเจ้าหม่อมราชวงศ์ที่ยังเยาว์วัยส่งไปเรียนที่โรงเรียนแรฟเฟล ณ เมืองสิงคโปร์ในปีมะแมนั้นประมาณ ๒๐ คน นักเรียนที่ส่งไปครั้งนั้นยังมีตัวอยู่ในเวลาเมื่อแต่งหนังสือนี้แต่ ๓ คน คือ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าปฤษฎางค์พระองค์ ๑ หม่อมเจ้าเพิ่ม ลดาวัลย์ องค์ ๑ เดี๋ยวนี้ทรงพระชราแล้วทุกพระองค์ แต่นักเรียนชุดนี้ไปเรียนอยู่ที่เมืองสิงคโปร์เพียงปีเศษถึงปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียหาครูอังกฤษได้ โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษขึ้นแล้ว ก็โปรดฯให้กลับมาเรียนในกรุงเทพฯเว้นแต่พระองค์เจ้าปฤษฎางค์ หม่อมเจ้าเจ๊ก นพวงศ์ กับพระยาชัยสุรินทร(ม.ร.ว.เทวหนึ่ง สิริวงศ์) ทั้ง ๓ นี้เรียนรู้มากถึงชั้นสูงกว่าเพื่อน จึงโปรดฯให้ส่งไปเรียนที่ประเทศอังกฤษต่อไป เป็นแรกที่ส่งนักเรียนหลวงไปเรียนถึงยุโรป

กรมที่ทรงจัดมากเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น คือทหารมหาดเล็ก ถึงตอนนี้ทรงจัดแก้ไขเพิ่มเติมขยายการออกไปหลายอย่าง คือให้ชักชวนพวกเชื้อสายราชสกุลและลูกมหาดเล็กเข้าเป็นทหาร เพิ่มจำนวนคนขึ้น จัดเป็น ๖ กองร้อย ให้สร้างตึกแถว ๒ ชั้นขึ้น ๒ ข้างประตูพิมานชัยศรีเป็นที่อยู่ของทหารมหาดเล็ก และสร้างตึก ๒ ชั้นขึ้นอีกหลัง ๑ ที่ริมกำแพงด้านหน้าพระราชวัง สำหรับเป็นที่อยู่ของนายทหารมหาดเล็ก ตามแบบ ตังลินบาแร้ก ณ เมืองสิงคโปร์ แต่ตึกหลังนี้เมื่อกำลังสร้างอยู่ประจวบเวลาเริ่มแก้ไขการพระคลังมหาสมบัติ(ซึ่งจะเล่าเรื่องต่อไปข้างหน้า)ไม่มีสถานที่จะทำการพระคลังฯจึงโปรดฯให้โอนไปเป็นสถานที่ทำการพระคลังฯขนานนามว่า "หอรัษฎากรพิพัฒน" (แต่ตัวตึกเดี๋ยวนี้แก้ไขต่อเติมผิดกับขอเดิมเสียมากแล้ว) และในครั้งนั้นให้สร้างตึกใหญ่สำหรับเป็นที่สโมสรของทหารมหาดเล็กตามแบบสโมสรคองคอเดียที่เมืองบะเตเวียอีกหลัง ๑ (ซึ่งแก้ไขเป็นศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้) เรียกชื่อภาษาฝรั่งว่า "หอคองคอเดีย"

ภายนอกพระราชวังก็มีการก่อสร้างซึ่งเกิดขึ้นเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์ครั้งนั้นอีกหลายอย่าง ว่าแต่ตามที่ฉันจำได้ คือทำถนนริมกำแพงรอบพระนครอย่าง ๑ สร้างสวนสราญรมย์อย่าง ๑ แต่งคลองตลาดตอนระหว่างสะพานช้างโรงสีกับสะพานมอญ ทำเขื่อนอิฐมีถนนรถ(ซึ่งภายหลังขนานนามว่า ถนนราชินี และ ถนนอัษฎางค์)ทั้ง ๒ ฟาก และมีสะพานหกสำหรับรถข้ามคลอง เหมือนอย่างเมืองบะเตเวียด้วย นอกจากที่พรรณนามามีการอื่นๆที่เกิดขึ้นแต่สมัยนั้นก็หลายอย่าง เป็นต้นว่าหารถมาใช้ในกรุงเทพฯแพร่หลายมาแต่นั้น ซื้อมาจากเมืองสิงคโปร์บ้าง เมืองบะเตเวียบ้าง แต่ในไม่ช้าก็มีช่างตั้งโรงรับสร้างและซ่อมแซมรถขึ้นในกรุงเทพฯ เช่นเดียวกับการที่แต่งตัวใส่เสื้ออย่างฝรั่งและใช้เกือกถุงตีน ในไม่ช้าก็มีโรงรับจ้างตัดเสื้อและขายสิ่งของที่ต้องการใช้ หาได้ในกรุงเทพฯนี้เองไม่ต้องลำบาก หรือว่าโดยย่อ การที่เสด็จสิงคโปร์ครั้งนั้นนอกจากเจริญการสมาคมในระหว่างไทยกับชาวต่างประเทศเป็นปัจจัยให้ชาวต่างประเทศนิยมเข้ามาค้าขายในประเทศนี้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อนเป็นอันมาก

พอเสด็จกลับจากสิงคโปร์แล้วไม่ช้า ในปีมะเเมนั้นเองก็เริ่มเตรียมการที่จะเสด็จไปอินเดีย เหตุที่จะเสด็จไปอินเดียนั้น เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเคยเล่าให้ฉันฟัง ว่าทรงพระราชปรารภแก่ตัวท่านตั้งแต่แรกเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ว่าที่เสด็จไปเมืองสิงคโปร์และเมืองบะเตเวีย เมืองสมารัง ได้ทอดพระเนตรเห็นแต่เพียงเมืองขึ้นที่ฝรั่งปกครองคนต่างชาติต่างภาษา ได้ประโยชน์น้อย ใคร่จะเสด็จไปถึงยุโรปให้ได้เห็นขนบธรรมเนียมราชสำนักและประเพณีบ้านเมืองของฝรั่งเอง

(ตรงนี้จะแทรกวินิจฉัยของฉันลงสักหน่อย ที่มีพระราชประสงค์เช่นนั้นเป็นธรรมดา แต่เหตุเสด็จไปโดยด่วนไม่รั้งรอ ข้อนี้ฉันสันนิษฐานว่าคงเป็นเพราะทรงพระราชดำริเห็นว่าเวลาที่ยังไม่ต้องทรงว่าราชการแผ่นดินมีอยู่เพียงอีก ๒ ปี ถ้ารอไปจนถึงเวลาทรงว่าราชการเองแล้วคงยากที่จะหาโอกาสได้ เพราะฉะนั้นจึงจะรีบเสด็จไปยุโรปในเมื่อโอกาสยังมีอยู่)

เจ้าพระยาภานุวงศ์ฯเห็นชอบด้วยตามพระราชดำริ รับจะไปพูดกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ผู้สำเร็จราชการแผ่นดิน แต่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ไม่เห็นชอบด้วย อ้างว่ายุโรปทางก็ไกล เรือที่จะทรงก็ไม่มี เป็นการเสี่ยงภัยมากนัก ไม่สะดวกเหมือนกับไปสิงคโปร์และเมืองชวา เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯไม่อยากให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงโทมนัส จึงคิดขึ้นว่าอินเดียก็รุ่งเรืองคล้ายกับยุโรป ผู้ปกครองมียศเป็นไวสรอยต่างพระองค์คล้ายกับราชสำนัก และหนทางที่จะไปก็ไม่ไกลนัก ส่วนเรือพระที่นั่งที่จะทรงไปนั้น ในเวลานั้นห้างนะกุดาอิสไมส์ที่วัดเกาะสั่งเรือสำหรับส่งคนโดยสารระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองสิงคโปร์เข้ามาใหม่ลำ ๑ ใหญ่โตมีห้องพอจะรับกระบวนเสด็จไปอินเดียได้ คิดจะขอซื้อ(คือเช่า)มาเป็นเรือหลวงชั่วคราวแล้วขายกลับคืนให้เจ้าของ ก็จะไม่สิ้นเปลืองนัก ท่านได้ลองพูดกับเจ้าของก็ยอมตามความคิดไม่ขัดข้อง ยังติดแต่ที่เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ ท่านนำความขึ้นกราบบังคมทูลตามความคิด สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสว่าถ้าจะไปถึงยุโรปยังไม่ได้ ไปเพียงอินเดียก็ยังดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯจึงไปกระซิบปรึกษากับนายน๊อกส์กงสุลเยเนอราลอังกฤษ นายน๊อกเห็นชอบด้วย รับจะช่วยว่ากล่าวกับเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ และที่สุดตัวเองรับจะไปตามเสด็จด้วย การที่จะเสด็จอินเดียก็เป็นอันพ้นความขัดข้อง

ส่วนเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ เมื่อปลงใจให้เสด็จไปอินเดียแล้วก็ช่วยกะการต่อไปให้เสด็จทอดพระเนตรหัวเมืองสำคัญในพระราชอาณาเขตทางฝ่ายทะเลตะวันตก คือ เมืองภูเก็ต เมืองพังงา และเมืองไทรบุรีด้วย การตระเตรียมกระบวนรเสด็จไปอินเดียไม่ยากเหมือนเมื่อครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ เพราะได้เคยเห็นขนบธรรมเนียมฝรั่งอยู่มากแล้ว เครื่องแต่งตัวก็แก้ไขเป็นแบบฝรั่งที่เดียว เว้นแต่ยังนุ่งผ้าไม่ใช้กางเกงเท่านั้น ส่วนราชบริพารที่ตามเสด็จครั้งนี้เพิ่มจำนวนมากขึ้น ผู้ที่เคยไปครั้งก่อนได้ไปอีกแทบทั้งนั้น ที่เพิ่มขึ้นใหม่คือพระเจ้าน้องยาเธอ สมเด็จเจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี(กรมพระจักรพรรดิพงศ์)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ากฤษฎาภินิหาร(กรมพระนเรศวรฤทธิ์)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรชัย เป็นนายทหารทหาดเล็กพระองค์ ๑ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์(สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศวโรปการ เพิ่งลาผนวชสามเณร)พระองค์ ๑ ขุนนางก็ล้วนชั้นหนุ่ม เลือกคัดแต่ที่มีแววฉลาด ดูเหมือนวิธีเลือกสรรคนตามเสด็จครั้งก่อนจะเอาแต่ที่ต้องทรงใช้สอย ครั้งหลังเลือกด้วยหมายจะให้ไปได้ความรู้เห็นมาสำหรับราชการภายหน้าเป็นสำคัญ

เสด็จทรงเรือบางกอก ออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๘ ธันวาคม ปีมะแม พ.ศ. ๒๔๑๔ ไปแวะที่เมืองสิงคโปร์ เมืองปีนัง เมืองร่างกุ้ง แล้วไปยังเมืองกาลกัตตาอันเป็นเมืองหลวงของอินเดียในสมัยนั้น ลอร์ดเมโยผู้เป็นไวสรอยที่อุปราชกับรัฐบาลอินเดียรับเสด็จในทางราชการ เชิญเสด็จประทับที่จวนไวสรอยและมีพิธีรับเสด็จเฉลิมพระเกียรติด้วยประการต่างๆ (เสียดายนักที่หาจดหมายเหตุมีรายการพิศดารอย่างครั้งเสด็จไปสิงคโปร์ไม่พบ) ทราบแต่พอเป็นเค้าว่าได้เสด็จไปถึงเมืองพาราณสี เมืองอาครา เมืองลักเนา เมืองเดลี และเมืองบอมเบ แต่เมื่อเสด็จกำลังประพาสอยู่นั้น ลอร์ดเมโยไวสรอย ไปตรวจที่ขังคนโทษหนัก ณ เกาะอันดมันถูกผู้ร้ายฆ่าตาย ขาเสด็จกลับจึงดำรัสขอให้งดการรับเสด็จทางราชการด้วยเป็นเวลารัฐบาลอินเดียไว้ทุกข์ เสด็จอย่างไปรเวตมาลงเรือพระที่นั่งกลับจากอินเดีย มาแวะทอดพระเนตรเมืองภูเก็ตและเมืองพังงา แล้วเสด็จมาขึ้นบกเมืองไทรบุรี

ครั้งนั้นเจ้าพระยาไทรบุรี(อหะมัต)สร้างวังขึ้นรับเสด็จที่เขาน้อย เรียกว่าอนักบุเกต(เดี๋ยวนี้รื้อสร้างใหม่ แต่ยังใช้เป็นที่รับแขกเมืองมีบรรดาศักดิ์สูงอยู่) และให้ทำทางให้รถจากเมืองไทรมาจนต่อแดนจังหวัดสงขลา ข้างสงขลาเจ้าพระยาวิเชียรคีรีผู้สำเร็จราชการจังหวัด ก็ให้ทำถนนรถแต่ปลายแดนมาจนถึงท่าลงเรือที่ตำบลหาดใหญ่(เป็นแรกที่จะมีถนนข้ามแหลมมลายู) จึงทรงรถจากเมืองไทรบุรีมาประทับแรมที่ตำบลจังโลนแขวงเมืองไทรบุรีคืน ๑ ที่ตำบลสะเดาแขวงสงขลาคืน ๑ นับเป็นเวลาเดินทาง ๓ วัน วันที่ ๓ ถึงหาดใหญ่ เสด็จลงเรือพายออกทะเลสาบ มาถึงเมืองสงขลา เจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ให้เรือจักรข้างชื่อ " ไรลิงสัน" ที่ท่านต่อไปรับเสด็จกลับกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ ๑ มีนาคม เข้าปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ รวมเวลาที่เสด็จไปอินเดียครั้งนั้น ๔ เดือน

ผลของการเสด็จอินเดีย เกิดความคิดอันเป็นส่วนปกครองบ้านเมืองมาหลายอย่าง(ซึ่งจะเล่าในตอนท้ายต่อไป) แต่ยังไม่ประจักษ์แก่ตาคนทั้งหลายในเวลานั้น เพราะสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวยังไม่ได้ว่าราชการ จึงไม่ปรากฏว่าเมื่อเสด็จกลับจากอินเดียทรงจัดการเปลี่ยนแปลงประหลาดเหมือนเมื่อเสด็จไปสิงคโปร์ เป็นแต่แก้ไขขนบธรรมเนียมที่ได้เริ่มจัดให้ดีขึ้นเป็นพื้น แต่ทางต่างประเทศเมื่อความปรากฏแพร่หลายว่าพระเจ้าแผ่นดินสยามพอพระราชหฤทัยเสด็จไปทอดพระเนตรต่างประเทศ เพื่อจะแสวงหาขนบธรรมเนียมที่ดีของฝรั่งมาใช้ในพระราชอาณาเขต ก็เป็นเหตุให้มีชาวต่างประเทศเกิดความนิยม และประสงค์จะไปมาค้าขายกับประเทศสยามมากขึ้น จะยกพอเป็นตัวอย่างดังเช่น ห้างแรมเซเว็กฟิลด์ ซึ่งเป็นห้างทำเครื่องแต่งตัวตั้งอยู่ ณ เมืองกาลกัตตา พอเสด็จกลับก็ตามเข้ามาตั้งที่ถนนบำรุงเมือง ซึ่งสร้างใหม่ตรงวงเวียนสี่แยก รับทำเครื่องแต่งตัวอย่างฝรั่ง(คือเดิมของห้างแบดแมนในบัดนี้) และมีชาวต่างประเทศที่เข้ามาตั้งทำการอย่างอื่นอีกหลายอย่าง แม้เรือไฟไปมารับส่งสินค้าและคนโดยสารในระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองฮ่องกงก็เกิดขึ้นในสมัยนั้น

มีการที่เกิดขึ้นในปีวอก พ.ศ. ๒๔๑๕ เมื่อเสด็จกลับจากอินเดียอย่าง ๑ ซึ่งภายหลังมาเป็นประโยชน์แก่บ้านเมืองและเป็นคุณแก่ตัวฉันเองมาก คือเรื่องตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษแก่ลูกผู้ดี เรื่องนี้ได้ทรงพระราชดำริมานานแล้วแต่ยังหาครูไม่ได้ จึงต้องรอมาเมื่อเสด็จกลับจากอินเดีย เผอิญมีครูอังกฤษคน ๑ ชื่อ ฟรานซิส จอร์ช แปตเตอร์สัน เข้ามาเยี่ยม หลวงรัถยาภิบาลบัญชา(กัปตันเอม)ผู้บังคับการพลตระเวนในกรุงเทพฯซึ่งเป็นน้าชาย ได้ทรงทราบก็โปรดฯให้ว่าจ้างไว้เป็นครู และโปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสอนภาษาอังกฤษขึ้นในกรมทหารมหาดเล็กอีกโรง ๑ เป็นคู่กับโรงเรียนภาษาไทยที่ได้ตั้งมาแต่ก่อน ที่ตั้งโรงเรียนนั้นโปรดฯให้โอนตึก ๒ ชั้นที่สร้างสำหรับทหารมหาดเล็ก หลังข้างตะวันออกประตูพิมานชัยศรี(ซึ่งเป็นสำนักงานพระคลังข้างที่อยู่บัดนี้)ใช้เป็นโรงเรียน ห้องตอนต่อประตูพิมานชัยศรีให้เป็นที่อยู่ของครู ห้องตอนเลี้ยวไปข่างเหนือ(ข้างหลังศาลาสหทัยสมาคมบัดนี้)จัดเป็นห้องเรียน

ส่วนนักเรียนนั้นมีรับสั่งให้สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอกับพระเจ้าน้องยาเธอเข้าเป็นนักเรียน เว้นแต่บางพระองค์ที่มีตำแหน่งรับราชการแล้ว หรือที่เป็นนักเรียนอยู่แล้วในโรงเรียนภาษาไทย พวกนายร้อยทหารมหาดเล็กก็โปรดฯให้มาเรียนภาษาอังกฤษด้วย เจ้านายเรียนตอนเช้า พวกทหารมหาดเล็กเรียนตอนบ่าย เมื่อแรกตั้งโรงเรียนดูเหมือนจะมีนักเรียนสัก ๕๐ คน แต่ต่อมาจำนวนลดลง เพราะเจ้านายชั้นผู้ใหญ่ออกไปรับราชการ ที่เป็นชั้นกลางก็ถึงเวลาไปทรงผนวชเป็นสามเณร พวกหม่อมเจ้าก็พากันไปทำการงาน พวกทหารมหาดเล็กต้องเรียนวิชาอื่นอีกมากก็มาเรียนภาษาอังกฤษน้อยลงทุกที ถึงปีระกาเหลือนักเรียนอยู่ไม่ถึงครึ่งจำนวนเดิม และยังลดจำนวนลงเรื่อยมา นักเรียนที่เข้าใหม่ก็ไม่มี ถึงปีจอเหลือแต่เจ้านายที่รักเรียนจริงๆยังทรงพยายามเรียนอยู่สัก ๕ พระองค์ จึงย้ายไปเรียน ณ หอนิเพธพิทยา อันเป็นที่ประทับของสมเด็จเจ้าฟ้าภานุรังษีสว่างวงศ์ อยู่ริมประตูศรีสุนทร(แต่เดี๋ยวนี้รื้อเสียแล้ว) ครูไปสอนในเวลาเช้าทุกวัน จนถึงกลางปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ ครบ ๓ ปี พอสิ้นสัญญาครูก็ลากลับไปเมืองนอก โรงเรียนนั้นก็เป็นอันเลิก แต่นั้นเจ้านายที่รักเรียนก็พยายามเรียนต่อมาโดยลำพังพระองค์ด้วยอาศัยอ่านหนังสือบ้าง ให้ผู้อื่นสอนบ้าง จนมีความรู้สามารถใช้ภาษาอังกฤษรับราชการได้โดยไม่ต้องไปเมืองนอกหลายพระองค์ ในเจ้านายนักเรียนชั้นนั้นควรยกย่อง สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ว่าเป็นยอดเยี่ยมยิ่งกว่าพระองค์อื่นๆ

ในปีระกานี้ เกิดอหิวาตกโรคเป็นระบาดเมื่อเดือน ๗ คนตื่นตกใจกันมาก เพราะแต่ก่อนเคยมีอหิวาตกโรคเป็นระบาดเกิดขึ้น ผู้คนล้มตายมากในปีมะโรง พ.ศ. ๒๓๖๓ ในรัชกาลที่ ๒ และมาเกิดอีกครั้ง ๑ ในรัชกาลที่ ๓ เมื่อปีระกา พ.ศ. ๒๓๙๒ คนชั้นผู้ใหญ่ที่เคยเห็นยังมีมากจึงพากันตกใจ ผู้ที่ไม่เคยเห็นได้ฟังเล่าก็ตกใจไปตามกันด้วย แต่วิธีที่จัดระงับโรคอหิวาห์คราวนี้ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้จัดเป็นการรักษาพยาบาลแทนทำพิธีในทางศาสนาเช่นเคยทำมาแต่ก่อน พระองค์เจ้าสายสนิทวงศ์อธิบดีกรมหมอคิดปรุงยารักษาโรคเป็นอย่างฝรั่งขึ้นใหม่ ๒ ขนาน คือเอายาวิสัมพญาใหญ่ตามตำราไทยกับด้วยกอฮอล์ทำเป็นยาหยดในน้ำขนาน ๑ เอาการบูรทำเป็นยาหยดเช่นนั้นเรียกว่าน้ำการบูรขนาน ๑ สำหรับรักษาอหิวาตกโรคและแนะนำให้ใช้การบูรโรยเสื้อผ้าเป็นเครื่องป้องกันเชื้อโรคอีกอย่าง ๑ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีพระราชดำรัสขอแรงเจ้านายและข้าราชการผู้ใหญ่รับยาหลวงไปตั้งเป็นทำนองโอสถศาลาขึ้นตามวังและบ้านหรือตามที่ประชุมชนรักษาราษฎรทั่วทั้งพระนคร แต่โรคอหิวาห์ที่เกิดขึ้นครั้งนั้นมีอยู่สักเดือนหนึ่งก็สงบ เมื่อสงบแล้วโปรดฯให้สร้างเหรียญทำด้วยทองสัมฤทธิ์ ด้าน ๑ รูปเทวดาถือพวงมาลัย อีกด้าน ๑ เป็นตัวอักษรทรงขอบใจ พระราชทานเป็นบำเหน็จแก่ บรรดาผู้ที่ได้รับตั้งโอสถศาลาทั้งนั้นทั่วกัน ของฉันยังอยู่จนทุกวันนี้


แต่นี้ไปจนปลายตอนที่ ๕ จะเล่าเรื่องประวัติของตัวฉันในระหว่างปีมะเเม พ.ศ. ๒๔๑๓ ไปจนถึงปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ให้สิ้นเรืองเมื่อเป็นเด็กเสียชั้นหนึ่ง เพราะในตอนที่ ๖ และที่ ๗ จะเล่าเรื่องในราชการบ้านเมืองเป็นสำคัญ

สมัยเมื่อแก้ไขประเพณีในราชสำนักเมื่อเสด็จกลับจากสิงคโปร์นั้น เจ้านายเด็กๆพวกฉันยังตามเสด็จอยู่เสมอ เวลาเสด็จประทับยห้องรับแขก ถ้าไม่ถูกในเวลามีเข้าเฝ้าแหนก็ได้นั่งเก้าอี้เส่นสนุกดี เวลาเสด็จทรงรถเที่ยวประพาสในตอนบ่าย ก็ดอดขึ้นรถที่นั่งรองไปตามเสด็จ ถึงเวลาค่ำเมื่อเสวย ถ้าวันไหนคนนั่งโต๊ะขาดจำนวนก็โปรดฯให้มาเรียกเจ้านายเด็กๆไปนั่งเก้าอี้ที่ว่าง ก็ได้ "กินโต๊ะ" และได้กินไอศกริมก็ชอบ ไอศกริมเป็นของวิเศษในเวลานั้น เพราะเพิ่งได้เครื่องทำน้ำแข็งอย่างเล็กๆที่สำหรับเขาทำกันตามเมืองนอกเข้ามาถึงเมืองไทย ทำบางวันน้ำก็แข็งบางวันก็ไม่แข็ง มีไอศกริมตั้งเครื่องแต่บางวัน จึงเห็นเป็นของวิเศษ เจ้านายเด็กๆพวกฉันไม่ถูกบังคับให้ใช้เครื่องแต่งตัวอย่างใหม่ ถึงกระนั้นเห็นผู้ใหญ่เขาแต่ง ก็อยากใส่ถุงน่องรองเท้าเป็นกำลัง ฉันไปอ้อนวอนแม่ แม่เห็นว่าตามเสด็จอยู่เสมอก็ซื้อเกือกถุงตีนให้ ดีใจนี่กระไร แต่เมื่อใส่ในวันแรก เกิดเสียใจด้วยเกือกนั้นเงียบไปไม่มีเสียง เพราะเคยได้ยินเขาว่าต้องดัง "อ๊อด อ๊อด" จึงเป็นเกือกอย่างดี ไปถามพวกนายทหารมหาดเล็กว่า ทำอย่างไรเกือกจึงจะดัง เขาแนะให้เอาน้ำมันมะพร้าวหยอดที่พื้นเกือก ก็จำมาพยายามทำ มีเสียง "อิ๊ด อิ๊ด" ก็ชอบใจ

ถึงสมัยเมื่อตั้งโรงเรียนหลวงสอนภาษาอังกฤษ ตัวฉันอยู่ในพวกเจ้านายที่ถูกส่งเข้าโรงเรียนภาษาอังกฤษแต่แรกตั้ง แต่ว่าน้ำใจรักจะเรียนภาษาอังกฤษผิดกับเมื่อเรียนภาษามคธ ถึงกระนั้นก็ไม่พ้นความลำบากด้วยไม่รู้ว่าครูจะใช้วินัยสำหรับโรงเรียนอย่างกวดขัน เมื่อไปเรียนได้สักสองสามวัน ฉันไปซุกซนรังแกเพื่อนนักเรียนเมื่อกำลังเรียนอยู่ด้วยกัน ครูจับได้แล้วลงโทษอย่างฝรั่ง เอาตัวขึ้นยืนบนเก้าอี้ตั้งประจานไว้ที่มุมห้องเรียนสัก ๑๕ นาที(บางทีจะเป็นครั้งแรกที่เด็กไทยโดนลงโทษเช่นนั้น) พวกเพื่อนนักเรียนเห็นแปลกก็พากันจ้องดูเป็นตาเดียวกัน บางคนยิ้มเยาะ ฉันรู้สึกละอายจนเหงื่อตกโทรมตัว ตั้งแต่นั้นก็เข็ดหลาบไม่ซุกซนในห้องเรียน แต่ยังรู้สึกอัปยศอยู่หลายวัน มาจนวันหนึ่งเห็นเพื่อนถูกครูเอาไม้บรรทัดตีฝ่ามือลงโทษ เจ็บจนหน้านิ่ว ๒ คน ดูร้ายยิ่งกว่าฉันถูกยืนบนเก้าอี้เลยหายละอาย

เมื่อตอนแรกตั้งโรงเรียนนั้น ลำบากที่ครูยังพูดภาษาไทยไม่ได้ ลูกศิษย์ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่เป็น มีแต่พระองค์เจ้ากฤษฏาภินิหาร(กรมพระนเรศวรฤทธิ์)พระองค์เดียวที่ทรงทราบบ้างเล็กน้อย และท่านเป็นเจ้าพี่ชั้นใหญ่ได้เคยเรียนภาษาอังกฤษต่อแหม่มลิโอโนเวนส์ เมื่อในรัชกาล ๔ พอเป็นล่ามแปลคำง่ายๆได้บ้าง ถ้าเป็นคำยากเกินความรู้ของกรมนเรศวณ์ฯ ครูต้องเปิดหนังสืออภิธานภาษาอังกฤษให้นักเรียนดูคำภาษาไทยในนั้น หนังสืออภิธานที่ใช้มี ๒ เล่ม เล่มหนึ่งสำหรับลูกศิษย์ใช้ เรียกว่า "สัพพะจะนะภาษาไทย" ซึ่งสังฆราชปาลกัวแต่ง เอาศัพท์ภาษาไทยตั้งแปลเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศสและภาษาละติน ๓ ภาษา เล่มใหญ่โตมาก อีกเล่มหนึ่งสำหรับครูใช้ จะเรียกว่ากะไรฉันลืมเสียแล้ว แต่หมอแม๊กฟาแลนด์(บิดาพระอาจวิทยาคม)เป็นผู้แต่งแปลแต่ศัพท์อังกฤษแปลเป็นภาษาไทยให้พวกศิษย์ แต่ลำบากไม่ช้าอยู่เท่าใด ครูค่อยรู้ภาษาไทยศิษย์ก็ค่อยเข้าใจคำครูสั่งสอนเป็นภาษาอังกฤษ ด้วยไม่จำต้องใช้ถ้อยคำมากหรือยากเท่าใดนัก นานๆจึงต้องเปิดอภิธาน

ในการที่พวกฉันใช้หนังสืออภิธานครั้งนั้นมีผลสืบมาจนบัดนี้ประหลาดอยู่เรื่อง ๑ ในบทเรียนบท ๑ มีคำว่า ไบ(By) ดูเหมือนจะเป็นเช่นประโยคว่า He went by boat หรืออะไรทำนองนี้ ครูจะให้แปลเป็นภาษาไทย นักเรียนพวกฉันไม่เข้าใจคำ By ครูจึงเปิดอภิธานให้ดู ในหนังสือนั้นแปลคำ By ว่า "โดย" พวกนักเรียนก็แปลว่า "เขาไปโดยเรือ" แต่นั้นมาเมื่อแปลคำ By ก็แปลว่า โดย เสมอมา เช่น Written by แปลว่า "แต่งโดย" แล้วพวกฉันเลยใช้คำนี้ต่อมาในเวลาเมื่อออกจากโรงเรียนแล้ว มีในหนังสือค๊อดเป็นต้น จึงเลยเป็นมรดกตกมาถึงคนชั้นหลัง ที่จริงไม่ถูกตามภาษาไทย เพราะคำ "โดย" เป็นศัพท์ภาษาเขมรแปลว่า "ตาม" แต่โดย ก. ความแสดงว่า ข. แต่งตามคำบอกของ ก. แต่มารู้ว่าผิดเมื่อใช้กันแพร่หลายเสียแล้ว

ในบรรดาศิษย์ที่เรียนกันครั้งนั้น เมื่อเรียนมาได้สัก ๖ เดือน มีที่เป็นศิษย์ครูชอบมาก Favourite Pupils ๔ พระองค์ เรียงลำดับพระชันษา คือ พระองค์เจ้าเทวัญอุทัยวงศ์(สมเด็จ กรมพระยาเทวะวงศวโรปการ)พระองค์ ๑ สมเด็จเจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์(สมเเด็จพระราชปิตุลาฯ)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้ามนุษยนาคมานพ(สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณวโรรส)พระองค์ ๑ กับตัวฉันอีกคน ๑ เห็นจะเป็นด้วยเห็นว่าเขม้นขะมักรักเรียน ครูก็สอนให้มากกว่าคนอื่น แต่เมื่อได้สักปี ๑ สมเด็จกรมพระยาเทวะวงศฯ กับสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ต้องไปทำราชการมีเวลามาเรียนน้อยลง คงมีแต่สมเด็จกรมพระยาวชิรญาณฯกับตัวฉัน(สมเด็จกรมพระวชิรญาณฯได้ทรงแสดงความข้อนี้ไว้ในหนังสือ "พระประวัติตรัสเล่า" ที่ท่านทรงแต่งเมื่อเป็นสมเด็จพระมหาสมณะ) ถึงปีระกา สมเด็จกรมพระวชิรญาณฯไปทรงผนวชเป็นสามเณร

แต่นั้นฉันจึงได้เป็นศิษย์ติดตัวครูอยู่แต่คนเดียว เวลานักเรียนอื่นกลับแล้วครูให้ฉันอยู่กินกลางวันด้วย แล้วสอนให้ในตอนบ่ายอีก เมื่อเรียนแล้ววันไหนครูขึ้นรถไปเที่ยวก็มักชวนฉันไปด้วย เพราะเหตุที่อยู่กับครูมาก และได้พบปะพูดจากับพวกฝรั่งเพื่อนฝูงของครูบ่อยๆ เมื่อยังเป็นเด็กฉันจึงพูดภาษาอังกฤษได้คล่องเกินความรู้ที่เรียนหนังสือทั้งได้เริ่มคุ้นเคยกับฝรั่งแต่นั้นมา การที่ได้เป็นศิษย์ติดตัวครู มาเป็นคุณแก่ตัวฉันในภายหลังอีกอย่าง ๑ ด้วยเมื่อสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จย้ายไปประทับ ณ พระที่นั่งใหม่ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ มีพระราชประสงค์จะทรงศึกษาภาษาอังกฤษต่อไปถึงวิธีแต่งหนังสือ โปรดฯให้ครูแปตเตอร์สันเข้าสอนถวายในเวลาค่ำเมื่อทรงว่างราชการ ดูเหมือนจะเป็นสัปดาห์ละ ๒ ครั้ง ทรงทราบว่าฉันเป็นศิษย์ติดตัวครู จึงมีรับสั่งให้ฉันเป็นพนักงานนำครูเข้าไปเวลาทรงพระอักษร ฉันได้อยู่ด้วยทุกคืน ตรัสถามครูถึงการเรียนของฉันบ้าง ตรัสถามอะไรๆเป็นภาษาอังกฤษให้ฉันเพ็ดพูดบ้างเนื่องๆ เห็นได้ว่าทรงพระกรุณายิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่การที่ทรงศึกษาภาษาอังกฤษครั้งนั้น ทรงอยู่ได้ไม่นานก็ต้องเลิก ด้วยพระราชธุระอื่นมีมากขึ้นทุกทีไม่มีเวลาว่างมากเหมือนแต่ก่อน

ตรงนี้จะเล่าเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันต่อไปอีกสักหน่อย เพราะยังมีการเกี่ยวข้องกับตัวฉันอีกภายหลังและเป็นเรื่องน่าจะเล่าด้วย เมื่อครูแปตเตอร์สันไปจากประเทศนี้แล้ว ไปได้ตำแหน่งรับราชการอังกฤษเป็นครูประจำโรงเรียนของรัฐบาลที่เกาะมอรีสเซียส ในตอนนี้ดูเหมือนจะไม่มีศิษย์คนใดได้รับจดหมายจากครูเลย เพราะเกาะมอรีสเซียสอยู่ห่างไกลมหาสมุทรอินเดีย การส่งจดหมายไปมาในระหว่างประเทศสยามกับต่างประเทศในสมัยนั้นลำบาก ด้วยยังไม่มีกรมไปรษณีย์ ใครๆจะมีจดหมายกับประเทศอื่นก็ต้องอาศัยกงสุลอังกฤษ เพราะมีเรือกลไฟในบังคับอังกฤษเดินในระหว่างกรุงเทพฯกับเมืองสิงคโปร์และเมืองฮ่องกง กงสุลอังกฤษที่ศาลาท่าน้ำของสถานกงสุลอเป็นออฟฟิศไปรษณีย์ห้อง ๑ และเอาตั๋วตราไปรษณีย์เมืองสิงคโปร์พิมพ์อักษร B (เป็นเครื่องหมายว่า บางกอก )เพิ่มลงเป็นเครื่องหมาย ใครจะส่งหนังสือไปต่างประเทศก็ไปซื้อตั๋วตรานั้นปิดตามอัตราไปรษณีย์อังกฤษ แล้วมอบไว้ที่สถานกงสุล เมื่อเรือจะออกกงสุลอังกฤษให้รวบรวมหนังสือนั้นใส่ถุง ฝากส่งกรมไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์หรือเมืองฮ่องกงไปส่งอีกชั้น ๑ แต่หนังสือของรัฐบาลนั้นกรมท่ามอบกับนายเรือให้ไปส่งกับกงสุลสยาม ทิ้งไปรษณีย์ที่เมืองสิงคโปร์ หาได้ส่งทางไปรษณีย์ที่สถานกงสุลไม่ เมื่อเรือเข้ามาถึง ผู้ใดคาดว่าจะได้รับหนังสือจากต่างประเทศ ก็ไปสืบที่สถานกงสุลอังกฤษ ถ้ามีก็รับเอามาหรือถ้าพบหนังสือถึงผู้อื่นก็ไปบอกกันให้ไปรับ เป็นเช่นกล่าวนี้มาจนตั้งกรมไปรษณีย์เมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๖ การส่งหนังสือจึงสะดวกแต่นั้นมา

ครูแปตเตอรสันรับราชการอยูที่เกาะมอริเซียสจนชราจึงออกมารับเบี้ยบำนาญกลับไปอยู่ประเทศอังกฤษ แต่ก็ไม่ปรากฏว่าเขียนหนังสือมาถึงใครในประเทศนี้ จนถึงในรัชกาลที่ ๖ เมื่อฉันเป็นกรมพระ และย้ายมาอยู่วังวรดิสแล้ว วันหนึ่งได้รับจดหมายของครูแปตเตอร์สันส่งมาจากประเทศอังกฤษ สลักหลังซองถึง "พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร" เผอิญมีใครในพนักงานไปรษณีย์เขารู้ว่าเป็นชื่อเดิมของฉันจึงส่งมาให้ ได้ทราบเรื่องประวัติของครูแปตเตอร์สันในฉบับนั้นว่า ตั้งแต่ออกจากราชการที่เมืองมอรีสเซียสแล้วกลับไปอยู่ในประเทศอังกฤษ ต้องทิ้งบ้านเดิมที่เกาะเจอสี เพราะต้องขายแบ่งมรดกกันเมื่อบิดาตาย ครูไปแต่งงานอยู่กับเมียในอิงแลนด์เป็นสุขสบายหลายปี ครั้งเมียตายเหลือแต่ตัวคนเดียวมีความลำบากด้วยแก่ชรา หลานคน ๑ ซึ่งบวชพรตเขาสงสารรับเอาไปไว้ด้วยที่เมืองคลอยสเตอร์ แกรำลึกขึ้นมาถึงศิษย์เดิมที่ในประเทศสยาม คือ เจ้าฟ้าภาณุรังษี พระองค์เทวัญ พระองค์มนุษย์ และตัวฉัน อยากทราบว่าอยู่ดีด้วยกันหรืออย่างไร จึงมีจดหมายมาถามขอให้บอกไปให้ทราบ

เวลานั้นสมเด็จกรมพระยาเทวะวงศ์ฯกับสมเด็จพระมหาสมณฯสิ้นพระชนม์เสียแล้ว เหลือแต่สมเด็จพระราชปิตุลาฯ ฉันนำจดหมายครูไปถวายทอดพระเนตรก็ทรงยินดี มีลายพระหัตถ์และส่งพระรูปกับเงินไปประทาน ส่วนฉันก็ทำเช่นเดียวกัน ได้บอกไปให้ครูทราบพระประวัติของเจ้านายที่แกถามถึง ส่วนตัวฉันเองบอกว่าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เลื่อนยศสูงขึ้น เป็นเหตุให้ใช้นามใหม่ว่า "ดำรง" ซึ่งคนทั้งหลายเรียกกันในเวลานี้ ครูมีจดหมายตอบมาว่าเสียดายจริงๆที่เพิ่งรู้ ด้วยเมื่อตัวฉันไปยุโรป(ครั้งแรก)ใน พ.ศ. ๒๔๓๔ นั้นประจวบเวลาครูกลับไปเยี่ยมบ้านอยู่ในประเทศอังกฤษ ได้ยินเขาโจษกันว่ามีเจ้าไทยองค์ ๑ เรียกว่า "ปรินซ์ดำรง" ไปเฝ้าสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียที่สก๊อตแลนด์ และมีคนถามแกว่ารู้จักปรินซ์ดำรงหรือไม่ แกตอบว่าไม่รู้จัก เมื่อเวลาอยู่ในเมืองไทยก็ไม่เคยได้ยินชื่ปรินซ์ดำรง ไม่รู้เลยว่าคือศิษย์รัก(Favourite Pupil)ของแกนั่นเอง ถ้ารู้จักรีบมาหา ถึงกระนั้นเมื่อรู้ก็ยินดีอย่างยิ่ง ที่ฉันได้มีชื่อเสียงเกียรติยศถึงเพียงนี้

แต่นั้นครูกับฉันก็มีจดหมายถึงกันมาเนื่องๆ ครั้นเมื่อฉันไปยุโรป(คราวหลัง)ใน พ.ศ. ๒๔๗๓ ตั้งใจว่าจะไปพบครูแปตเตอร์สันให้จงได้ ทราบว่าเวลานั้นอายุได้ถึง ๘๕ ปี และยังอยู่ที่เมืองคลอยสเตอร์เหมือนบอกมาแต่ก่อน หมายว่าไปพบครูเมื่อไรจะชวนถ่ายรูปฉายาลักษณ์ด้วยกันเหมือนเช่นเคยถ่ายเมื่อยังเป็นเด็ก เอามาให้ลูกหลานดู พอฉันไปถึงกรุงลอนดอนมีพวกหนังสือพิมพ์มาขอสนทนาด้วยหลายคน ทุกคนถามฉันว่าเรียนภาษาอังกฤษที่ไหน ฉันตอบว่าเรียนในบ้านเมืองของฉันเอง เขาพากันประหลาดใจถามว่าใครสอนให้ ฉันบอกว่าครูของฉันเป็นอังกฤษชื่อ มิสเตอร์ ฟรานซิส ยอร์ช แปตเตอร์สัน ตัวยังอยู่อายุได้ ๘๕ ปีแล้ว ฉันพยายาม Making a pilgrimage ไปหาให้ถึงเมืองคลอยสเตอร์ที่ครูอยู่ หนังสือพิมพก็พากันขึ้นชื่อสรรเสริญครูแปตเตอร์สันแพร่หลาย

ครั้นเมื่อฉันสิ้นกิจอื่นในลอนดอนถึงเวลาที่จะไปหาครู ฉันขอให้อุปทูตบอกไปถึงนักพรตผู้เป็นหลานว่า ฉันประสงค์จะไปเยี่ยมครู ในวันใดจะสะดวกแก่เขา ได้รับคำตอบมาว่าครูกำลังป่วยเป็นโรคชราอาการเพียบอยู่ ตั้งแต่เขาได้ยินข่าวทางวิทยุกระจายเสียงว่าฉันไปถึงลอนดอน เขาก็อยากจะบอกให้ครูรู้ด้วยเขาทราบอยู่ว่าครูรักฉันมาก แต่เห็นว่าอาการป่วยเพียบจึงปรึกษาหมอๆห้ามมิให้บอกครู เพราะเกรงว่าความยินดีที่จู่โจมขึ้นแก่ครู Sudden Excitement อาจจะเป็นเหตุให้เกิดอันตรายก็ไม่กล้าบอก เมื่อฉันทราบความดังนั้นก็จนใจ ได้แต่ส่งเงินไปช่วยในการรักษาพยาบาล เมื่อฉันออกจากลอนดอนในไม่ช้า ก็ได้รับจดหมายของนักพรตบอกว่าครูถึงแก่กรรม รู้สึกเสียใจและเสียดายยิ่งนักที่มิได้พบครูแปตเตอร์สันดังประสงค์

เมื่อฉันกำลังเรียนภาษาอังกฤษอยู่ในปีระกา พ.ศ. ๒๔๑๖ สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงผนวชเป็นพระภิกษุ เสด็จไปประทับอยู่ ณ พระที่นั่งทรงผนวชที่พระพุทธรัตนสถาน ๑๕ วัน เจ้านายพวกฉันเรียนหนังสือแล้วก็พากันไปอยู่ ณ ที่เสด็จประทับทุกวัน คล้ายกับเป็นลูกศิษย์วัด ส่วนตัวฉันเองไปนึกอยากรู้จักพระ จึงมักไปเฝ้าสมเด็จกรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(เวลานั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมหมื่นบวรรังษีสุริยพันธุ์) กับสมเด็จพระสังฆราช(ปุสฺสเทว สา เมื่อยังเป็นที่พระสาสนโสถณ)เนืองๆ สมเด็จกรมพระยาปวเรศฯโปรดทรงสั่งสอนและตรัสเล่าอะไรให้ฟัง ส่วนสมเด็จพระสังฆราชก็ประทานหนังสือพิมพ์ ซึ่งพิมพ์สอนพระพุทธศาสนาให้อ่าน วันถ่ายรูปหมู่พวกตามเสด็จไปเป็นลูกศิษย์วัด เผอิญฉันถือสมุดนั้นติดมือไปด้วย สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตรัสสั่งให้ฉันยืนเปิดสมุดเหมือนอย่างอ่านหนังสือ เป็นเหตุให้ช่างถ่ายรูปเขาจัดให้ยืนกลางเพื่อน รูปยังปรากฏอยู่

เมื่อเสด็จลาผนวชมีงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษกอีกครั้ง ๑ (ซึ่งจะพรรณาในที่อื่นต่อไปข้างหน้า)แล้วเสด็จประทับอยู่พระที่นั่งใหม่ ตอนนี้เวลาบ่ายๆมักเสด็จออกทรงรถเที่ยวประพาส และทรงโครเกต์(Corquet)ที่สนามหน้าพระที่นั่งใหม่(ยังมีรูปฉายาลักษณ์ปรากฏอยู่) แต่ตัวฉันยังเป็นเด็กไม่ได้เข้าเล่นด้วย แต่ในปีระกานั้นเองโปรดฯให้ฉันเป็นผู้พาครูเข้าไปสอนภาษาอังกฤษดังกล่าวมาแล้ว เป็นมูลเหตุที่เริ่มทรงพระเมตตาเฉพาะตัวฉันมาแต่นั้น ครั้นถึงปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ เมื่อเลิกโรงเรียนภาษาอังกฤษ จึงมีพระราชดำรัสสั่งให้ฉันเข้าไปรับใช้ประจำพระองค์ มีหน้าที่ตามเสด็จและอยู่คอยรับใช้ในเวลาค่ำเมื่อทรงพระสำราญพระราชอิริยาบถเวลาเสร็จราชกิจประจำวันแล้ว ได้อยู่ใกล้ชิดติดพระองค์เสมอ เป็นเหตุให้ฉันได้รับพระบรมราโชวาทและได้ฟังพระราชดำริ ได้รู้เรื่องต่างๆที่ตรัสเล่า ทั้งมีโอกาสทูลสนองหรือทูลถามได้ด้วยทรงพระกรุณา แต่ข้อสำคัญที่มาประจักษ์แก่ใจฉันต่อภายหลังนั้น คือที่ได้รู้พระราชอัธยาศัย และสมเด้จพระเจ้าอยู่หัวก็ทรงทราบนิสัยของฉันแต่นั้นมา

ข้อนั้นมาปรากฏเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย จัดตั้งมณฑลเทศาภิบาลแล้วให้มีการประชุมสมุหเทศาภิบาลในกรุงเทพฯปีละครั้ง เวลาเสด็จคราวประชุม สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดฯให้มีการเลี้ยงพระราชทานเป็นเกียรติยศแก่เทศาภิบาลทุกปี และในการเลี้ยงมักมีพระราชดำรัสพระราชทานพระบรมราโชวาท และสรรเสริญความอุตสาหะของสมุหเทศาภิบาลด้วย ในปีหนึ่งตรัสเกี่ยวกับตัวฉันว่า ได้ทรงสังเกตเห็นตั้งแต่เป็นเด็ก ว่าเติบโตขึ้นคงจะได้เป็นคนสำคัญในราชการบ้านเมืองคน ๑ ดังนี้ แต่การที่มีพระราชดำรัสทรงยกย่อง บางทีก็เกิดรำคาญแก่ตัวฉัน เช่นต่อมาอีกปีหนึ่งมีพระราชดำรัสว่า พระมหามงกุฏเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย พระมหามงกุฏสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด ข้าราชการที่อุตส่าห์พยายามช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฏฉันนั้น พระราชดำรัสนี้ที่จริงทรงอุปมาด้วยข้าราชการทั่วไปไม่เฉพาะผู้หนึ่งผู้ใด แต่เผอิญตรัสเมื่อเลี้ยงเทศาภิบาล พอรุ่งขึ้นก็มีคน(ที่ไม่ชอบ)แกล้งเรียกใส่หน้าให้ฉันได้ยินว่า "นั่นแหละ เพชรประดับพระมหามงกุฏ" ดูก็ขันดี

ในปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ นั้น อายุฉันถึงปีโกนจุกในสมัยนั้นพระเจ้าลูกเธอยังเยาว์วัยทั้งนั้น เจ้านายโสกันต์มีแต่ชั้นพระเจ้าน้องเธอ ปีใดพระเจ้าน้องเธอที่ทรงพระกรุณามากโสกันต์ ก็โปรดฯให้มีการแห่ทางในพระราชวัง ถ้าเป็นสามัญก็โสกันต์ในพิธีตรุษจามแบบอย่าง ครั้งรัชกาลที่ ๓ ในปีจอนั้นมีเจ้านายที่ทรงพระกรุณามากหลายพระองค์ ตัวฉันแก่กว่าเพื่อน ตรัสถามฉันว่าอยากให้แห่หรือไม่ ฉันกราบทูลว่าอยาก จึงดำรัสสั่งให้มีการโสกันต์ในปีนั้น แต่เกือบไม่ได้แห่ เพราะเกิดเรื่องกรมพระราชวังบวรฯหนีไปอยู่กับอังกฤษ(ซึ่งจะเล่าเรื่องในตอนอื่นต่อไปข้างหน้า)แทรกเข้ามา เป็นเหตุให้สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงเดือดร้อนรำคาญพระราชหฤทัยอยู่นาน ตรัสว่าถ้าเรื่องวังหน้ายังไม่เรียบร้อนก็จะแห่ให้ไม่ได้ รอมาจนพ้นฤกษ์เมื่อเดือนยี่ พวกฉันก็ยิ่งพากันโกรธวังหน้า จนถึงเดือน ๔ เรื่องวังหน้าเป็นอันเรียบร้อย จึงมีการแห่โสกันต์เมื่อก่อนพิธีตรุษไม่กี่วัน เจ้านายโสกันต์ด้วยกันในปีนั้น ๕ พระองค์ มีตัวฉันคน ๑ พระองค์เจ้าศรีเสาภางค์(ซึ่งภายหลังได้เป็นราชเลขาธิการ และเป็นผูจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช แต่สิ้นพระชนม์เสียก่อนรับกรม)พระองค์ ๑ พระองค์เจ้าหญิงสว่างวัฒนา(คือสมเด็จพระพันวัสสามาตุจฉาเจ้าฯ)พระองค์ ๑ ทั้ง ๓ นี้พระชันษา ๑๓ ปี พระองค์เจ้าหญิงนภาพรประภา(กรมหลวงทิพยรัตนกิริฏกุลินี)พระองค์ ๑ และพระองค์เจ้าหญิงประสานศรีใสพระองค์ ๑ ทั้ง ๒ นี้พระชันษา ๑๑ ปี

เมื่อโกนจุกแล้วฉันยังรับราชการประจำพระองค์ต่อมา ในตอนที่รับราชการประจำพระองค์นี้ต้องอยู่ในวังไม่มีโอกาสไปเที่ยวค้างคืนที่อื่นเหมือนแต่ก่อน ถึงกระนั้นตอนเช้าว่างก็มักไปเฝ้าสมเด็จพระราชปิตุลาฯ ณ หอนิเพธพิทยาบ้าง ไปเล่นกับพวกนายทหารมหาดเล็กที่โรงทหารบ้าง ด้วยคุ้นเคยกันมาแต่ยังเป็นนักเรียน เพราะโรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ติดต่อกับโรงทหาร จึงเริ่มอยากเป็นทหารมาแต่ตอนนี้


Create Date : 02 เมษายน 2550
Last Update : 2 เมษายน 2550 15:01:11 น. 1 comments
Counter : 2464 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


ถึงเดือน ๘ ปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ อายุครบบวชเป็นสามเณร แล้วจะต้องออกไปอยู่นอกพระราชวังตามประเพณีก็ออกจากราชการประจำพระองค์ ในปีนั้นมีเจ้านายทรงผนวชด้วยกันหลายพระองค์ เป็นพระภิกษุบ้าง เป็นสามเณรบ้าง ส่วนตัวฉันเมื่อบวชที่วัดพระศรีรัตนศาสดารามแล้ว ไปอยู่วัดบวรนิเวศฯกับเจ้านายพี่น้องก็ไม่เดือดร้อนอันใดในการที่บวช ถ้าจะว่าประสาใจเด็กอายุเพียงเท่านั้น กลับจะออกสนุกดีด้วยเพราะในสมัยนั้นประเพณีที่กวดขันในการศึกษาของพระเณรบวชใหม่ยังไม่ได้เกิดขึ้น หนังสือฉบับพิมพ์สำหรับศึกษาพระธรรมวินัยก็ยังไม่มี ได้อาศัยศึกษาแต่ด้วยฟังเทศนาและคำสั่งสอนของพระอุปัชฌาย์อาจารย์

ข้อบังคับสำหรับเจ้านายที่ทรงผนวชอยู่วัดบวรนิเวศฯ ตอนแรกทรงผนวช ตอนรุ่งเช้าต้องจัดน้ำบ้วนพระโอษฐ์กับไม้สีพระทนต์ไปถวายพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาปวเรศวริยาลงกรณ์(สมัยนั้นยังดำรงพระยศเป็นกรมพระ) เรียกกันว่า "สมเด็จพระอุปัชฌาย์" หรือเรียกกันในวัดตามสะดวกแต่โดยย่อว่า "เสด็จ" ทุกวันตามเสขิยวัตร และถึงตอนค่ำเวลา ๑๙ นาฬิกาต้องขึ้นไปเฝ้าฟังทรงสั่งสอนพระธรรมวินัยอีกครั้งหนึ่ง ถ้าจะออกบิณฑบาตในวันรุ่งขึ้นก็ต้องทูลลาในเวลาค่ำนั้น แต่การทั้ง ๓ อย่างนี้เมื่อทำได้สัก ๗ วันก็โปรดประทานอนุญาตมิให้ต้องทำต่อไป เว้นแต่จะไปธุระอื่นจึงต้องขึ้นไปทูลลาทุกครั้ง เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านทรงประพฤติวัตรปฏิบัติตรงตามเวลาแน่นอนผิดกับผู้อื่นโดยมาก บรรทมตื่นแต่ก่อน ๗ นาฬิกา พอเสวยเช้าแล้วใครจะทูลลาไปไหนก็ขึ้นเฝ้าตอนนี้ ถึง ๙ นาฬิกาเสด็จลงทรงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรที่ในพระอุโบสถ เสด็จกลับขึ้นตำหนักราว ๑๐ นาฬิกาประทับรับแขกที่ไปเฝ้าจนเพล เสวยเพลแล้วพอเที่ยงวันเสด็จขึ้นตำหนักชั้นบน ทรงสำราญพระอิริยาบถและบรรทมจนบ่าย ๑๕ นาฬิกาเสด็จลงที่ห้องรับแขก ใครจะเฝ้าในตอนนี้อีกก็ได้ พอแดดอ่อนมักเสด็จลงทรงพระดำเนินประพาสในลายวัดจนเวลาพลบค่ำ ถึงตอนนี้ราว ๑๙ นาฬิกาเจ้านายที่ทรงผนวชใหม่ขึ้นเฝ้าฟังคำสั่งสอนที่ประทานตามอุปัชฌายวัตรไปจน ๒๐ นาฬิกา เสด็จลงเป็นประธานพระสงฆ์ทำวัตรค่ำอีกเวลาหนึ่ง(๑) เมื่อทำวัตรแล้วถ้าในพรรษาโปรดให้ฐานานุกรมผู้ใหญ่ขึ้นนั่งธรรมมาสน์อ่านบุรพสิกขาสอนข้อปฏิบัติแก่พระบวชใหม่ วันละตอนแล้วซ้อมสวดมนต์ต่อไปจนจวน ๒๓ นาฬิกาจึงเสร็จการประชุมสงฆ์เสด็จขึ้นเข้าที่บรรทม

ว่าเฉพาะการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่เช่นตัวฉัน มีข้อสำคัญก็ต้องท่องสวดทำวัตรเช้าและเย็น กับคำสวดสิกขาบทของสามเณรเรียกว่า "อนุญญาสิโข" ซึ่งสามเณรต้องจำได้และเข้าใจความ ทั้งต้องสวดในโบสถ์เมื่อทำวัตรเช้าเสร็จแล้วทุกวัน ฉันเคยได้รับสรรเสริญของเสด็จพระอุปัชฌาย์วันหนึ่ง ด้วยในวันนั้นไม่มีสามเณรอื่นลงโบสถ์ ฉันกล้าสวดอนุญญาสิโขแต่คนเดียว ตรัสชมว่าจำได้แม่นยำดี

เขาเล่าว่า เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเคยตรัสว่า เมื่อแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกนั้นถ้าใครเข้มแข็งในการศึกก็เป็นคนโปรด ถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยใครแต่งกาพย์กลอนก็เป็นคนโปรด ในแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวใครสร้างวัดวาก็เป็นคนโปรด ครั้นมาถึงแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวถ้าใครรู้ภาษาฝรั่งก็เป็นคนโปรด เห็นจะมีใครไปทูลว่าฉันรู้ภาษาฝรั่ง

วันหนึ่งประทานหนังสือตำราดาราศาสตร์ฝรั่ง ซึ่งหมอบรัดเลแปลพิมพ์เป็นภาษาไทยให้ฉันดู ในนั้นมีดาวฤกษ์ ๒ ดวงซึ่งผู้แปลหาชื่อในภาษาไทยไม่ได้ จึงใช้อักษรโรมันพิมพ์ชื่อว่า Nepture กับ Uranus ตรัสถามฉันว่าเรียกอย่างไร ฉันก็อ่านถวายตามสำเนียงตัวอักษร ดูเหมือนท่านจะเข้าพระหฤทัยว่าฉันได้เรียนดาราศาสตร์ฝรั่งด้วย ตรัสถามต่อไปว่ามันตรงกับดาวดวงนั้นของเรา ฉันก็สิ้นความรู้ทูลว่าไม่ทราบ แต่ก็ทรงพระเมตตาไต่ถามถึงเรื่องที่ฉันเรียนภาษาฝรั่งบ่อยๆ ข้างฉันก็พอใจขึ้นไปเฝ้า เพราะได้ฟังท่านตรัสเล่าเรื่องโบราณต่างๆให้ทราบเนืองๆ ในเวลานั้นเสด็จพระอุปัชฌาย์ยังไม่ทรงชรานัก แต่วิธีท่านตรัสเล่าผิดกับผู้อื่น เมื่อทรงบรรยายไปจนตลอดเรื่องแล้ว มักกลับเล่าแต่เนื้อความซ้ำอีกครั้งหนึ่ง คนที่ฟังตรัสเล่าย่อมเข้าใจและจำความได้ไม่ผิด ฉันชอบเอาวิธีนั้นมาใช้เมื่อเป็นผู้ใหญ่ เคยถูกนินทาว่าเล่าอย่างคนแก่แต่ยังเห็นดีอยู่นั่นเอง ด้วยเห็นว่าการที่เล่าอะไรเพื่อให้ความรู้หรือสอนวิชาให้แก่ผู้อื่น ผิดกับพูดเล่นเจรจากัน เพราะประโยชน์ข้อสำคัญอยู่ที่ต้องให้ผู้ฟังรู้และเข้าใจจริงๆ เสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านก็ทรงพระดำริเช่นนั้น เมื่อตรัสเล่าอะไรประทานแก่สานุศิษย์มักเล่าซ้ำดังว่ามา

เมื่อฉันบวชเป็นสามเณร ทำเวลาให้ล่วงไปด้วยประการอย่างใดยังจำได้อยู่ ดูน่าจะเล่าด้วยมีคติอยู่บ้าง ตื่นเช้ามักออกบิณฑบาต ไปด้วยกันกับพระเณรที่คุ้นเคยกันบ้าง ไปตามลำพังตัวบ้าง การที่ออกบิณฑบาตที่จริงเป็นโอกาสที่จะไปเที่ยวเตร่ เพราะถ้าจะไปเวลาอื่นต้องทูลลาเสด็จอุปัชฌาย์ ถ้าไปบิณฑบาตประทานอนุญาตไว้ไม่ต้องทูลลา ออกบิณฑบาตเสียแห่งหนึ่งสองแห่งแล้วก็ขึ้นรถหรือลงเรือไปที่ไหนๆ บางทีไปกินเพลกลางทางกลับวัดจนบ่ายก็มี เมื่อเจ้าพระยาภูธราภัยและเจ้าพระยามหินทรศักดิ์ธำรงยกกองทัพไปปราบฮ่อ ฉันก็ไปดูวิธียกทัพอย่างโบราณด้วย เริ่มไปบิณฑบาตดังว่ามานี้ ฬครพบเข้าก็ไม่รู้ว่าเลี่ยงไป แต่นานจึงเลี่ยงไปเที่ยวครั้ง ๑ โดยปกติมักกลับวัดทันสวดอนุญญาสิโขเวลาลงโบสถ์เช้า เพราะเสด็จพระอุปัชฌาย์ท่านเสด็จลงเสมอ เกรงจะติโทษว่าเกียจคร้าน

พ้นเวลาลงโบสถ์แล้วก็ว่างตลอดวัน จะศึกษาหรือทำอะไรก็ได้ ในการศึกษาสำหรับสามเณรที่บวชใหม่นั้น เมื่อท่องทำวัตรกับอนุญญาสิโขจำได้และศึกษาธรรบางอย่างมีอภิหณปัจจเวกขณ์เป็นต้นเข้าใจแล้ว จะศึกษาอะไรก็เลือกได้ตามชอบใจ เจ้านายที่ท่านทรงผนวชอยู่หลายพรรษาย่อมทรงศึกษาคันธุระคือเรียนภาษามคธ แต่ที่จะทรงผนวชอยู่เพียงพรรษาเดียว มักทรงศึกษาวิชาอย่างอื่นที่ง่ายกว่า

ส่วนตัวฉันจะเป็นใครแนะนำก็จำไม่ได้เสียแล้ว เกิดอยากเรียนวิชาอาคม คือ วิชาที่ทำให้อยู่คงกะพันชาตรีด้วยเวทมนต์และเครื่องรางต่างๆ มีผู้พาอาจารย์มาให้รู้จักหลายคน ที่เป็นตัวสำคัญนั้นคือนักองค์วัตถาน้องสมเด็จพระนโรดมเจ้ากรุงกัมพูชา เพราะเธออยู่ที่วังเจ้าเขมรริมคลองตรงข้ามกับบ้านคุณตา และคุ้นกับคุณตามาแต่ก่อน เป็นมูลเหตุให้ฉันได้คุ้นเคยกับเจ้าเขมร และมีผลได้อุปการะทั้งนักองค์ดิศวงศ์ลูกนักองค์วัตถาและนักสราคำลูกนักองค์ดิศวงศ์ต่อมาในเวลาเมื่อฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

การศึกษาวิชาอาคมในเวลานั้นเชื่อถือเป็นการจับใจมาก โดยเฉพาะสำหรับเด็กรุ่นหนุ่มเช่นตัวฉัน ด้วยได้ฟังเขาเล่าเรื่องและบางทีทดลองให้เห็นอิทธิฤทธิ์ กับทั้งได้สะสมมีเครื่องรางแปลกประหลาดที่ไม่เคยเห็นเป็นต้นแต่พระธาตุ(ฉันได้รู้จักพระธาตุที่นิยมกันมาแต่ครั้งนั้น) และพระพุทธรูปกับพระควัมที่ทำเป็นเครื่องราง ทั้งของประหลาดแปลกธรรมชาติต่างๆเช่น พด และเขี้ยวงาที่งอกได้ ตลอดจนผ้าประเจียดและลูกแร่ปรอท หลอมเล่นของเหล่านี้จนเพลินเลยละหนังสือไปคราวหนึ่ง

เครื่องรางที่ฉันมีในเวลานั้น เป็นของสำคัญในทางโบราณคดีสิ่ง ๑ และมีเรื่องต่อมาอีกในภายหลัง จะเล่าไว้ในหนังสือนี้ด้วยคือ "พระกริ่ง" องค์ ๑ คุณตาให้แต่เมื่อฉันยังไว้ผมจุก เป็นพระพุทธรูปนั่งถือหม้อน้ำมนต์ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ขนาดเล็ก หน้าตักไม่ถึง ๒ เซ็นต์ ถ้ายกขึ้นเขย่าเกิดเสียงดังกริ่งอยู่ในองค์พระ จึงเรียกกันว่า พระกริ่ง เป็นของหายากด้วยมีแต่เมืองเขมร เชื่อกันว่าพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์สร้างด้วยอิทธิฤทธิ์ จึงนับถือเป็นเครื่องรางสำหรับป้องกันอันตราย พระกริ่งของคุณตามี ๒ องค์ ได้ยินว่าพระอมรโมลี(นพ อมาตยกุล)วัดบุปผารามไปได้มาจากเมืองอุดงมีชัยในรัชกาลที่ ๔ เมื่อครั้งไปส่งพระมหาปานที่ไปเป็นสมเด็จพระสุคนธฯสังฆราชฝ่ายธรรมยุติกาในกรุงกัมพูชา แล้วเอามาให้คุณตาเป็นของฝากด้วยชอบกันมาก

ครั้งหนึ่งคุณตารับฉันไปค้างที่บ้านแล้วท่านให้พระกริ่งนั้นแก่ฉันองค์ ๑ บอกว่าให้เอาไว้สำหรับตัวเมื่อเติบใหญ่ แต่แรกฉันไม่รู้ว่าเป็นของวิเศษอย่างไร จนเมื่อบวชเป็นสามเณรสะสมเครื่องราง เห็นจะเป็นนักองค์วัตถาบอกว่าพระกริ่งเขมรเป็นเครื่องรางอย่างสำคัญนัก ฉันจึงเชิญไปไว้ที่กุฏิ ในไม่ช้าความทราบถึงพระกรรณเสด็จพระอุปัชฌาย์ว่าฉันมีพระกริ่ง ก็ตรัสสั่งให้ฉันเชิญไปถวายทอดพระเนตร ท่านเชิญพระกริ่งของท่านมาเทียบก็เหมือนกัน จึงตรัสบอกให้เข้าใจว่าพระกริ่งที่เป็นของแท้นั้นมี ๒ อย่าง สีทองคล้ามเรียกกันว่า "พระกริ่งดำ" อย่าง ๑ กับสีทองอ่อนเรียกกันว่า "พระกริ่งเหลือง" อย่าง ๑ รูปทรงอย่างเดียวกัน ถ้าแปลกไปอย่างอื่นเป็นของปลอมทั้งนั้น พระกริ่งของฉันเป็นของแท้อย่างที่เรียกกันว่า "พระกริ่งดำ" ให้รักษาไว้ให้ดี ตรัสเพียงเท่านั้นหาได้ประทานอธิบายอย่างอื่นไม่

ต่อมาเมื่อเสด็จพระอุปัชฌาย์สิ้นพระชนม์แล้วช้านานเวลาฉันเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย พระครูเจ้าคณะสงฆ์เมืองสุรินทร์ ซึ่งอยู่ต่อแดนประเทศกัมพูชาเข้ามาในกรุงเทพฯได้พระกริ่งมาให้ฉันอีกองค์ ๑ เทียบกับองค์ที่คุณตาให้เห็นเหมือนกันหมดทุกอย่างก็รู้ว่าเป็นของแท้ แต่ถึงชั้นนี้ฉันไม่เชื่อเรื่องคงกะพันชาตรีเสียแล้ว ถึงกระนั้นก็เห็นว่าพระกริ่งเป็นของสำคัญอย่างหนึ่งในทางโบราณคดี ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ ฉันมีโอกาสได้ออกไปเที่ยวเมืองเขมรเมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อไปพักอยู่ที่กรุงพนมเพ็ญนึกขึ้นถึงเรื่องพระกริ่งอยากรู้ว่าพวกเขมรนับถือกันอย่างไร จึงถามพระราชาคณะกับทั้งเจ้านายและขุนนางกรุงกัมพูชาบรรดาที่ได้พบทั้งหลาย มีคนเดียวที่เป็นชั้นสูงอายุบอกว่าได้เคยเห็นและโดยมากที่เป็นคนชั้นหนุ่มไม่มีใครรู้ว่ามีพระกริ่งทีเดียว ออกประหลาดใจ

ครั้นเมื่อไปถึงนครวัดไปถามมองสิเออร์มาซาลผู้เป็นหัวหน้าอำนวยการรักษาโบราณสถานอีกคน ๑ ว่าได้เคยเห็นพระกริ่งบ้างหรือไม่ เขาบอกว่าเมื่อก่อนฉันไปถึงไม่ช้านัก เขาพบกรุที่บนยอดเขาพนมปาเกงซึ่งอยู่ริมเมืองนครธมได้พระพุทธรูปองค์เล็กๆลักษณะเป็นเช่นพรรณนาหลายองค์ แล้วส่งตัวอย่างมาให้ดูมี ๒ ขนาด ขนาดใหญ่เท่ากันและเหมือนกันกับพระกริ่งของคุณตา ขนาดเล็กรูปสัณฐานก็อย่างเดียวกันเป็นแต่ย่อมลงไปหน่อยหนึ่ง สันนิษฐานว่าจะเป็นอย่างที่เสด็จพระอุปัชฌาย์ตรัสเรียกว่าพระกริ่งเหลืองนั่นเอง แต่ประหลาดอยู่พระพุทธรูปที่พบบนเขาปาเกงไม่ปิดฐานทำเป็นกริ่ง จะเป็นด้วยเหตุใดรู้ไม่ได้ เห็นได้เป็นแน่แท้แต่ว่าคงมีพิมพ์สำหรับทำหุ่นขี้ผึ้งแล้วหล่อพระพุทธรูปชนิดนี้คราวละมากๆ รูปสันฐานจึงเหมือนกันทั้งหมด สังเกตเห็นเค้าเงื่อนขึ้นใหม่อีกอย่าง ๑ ที่พระเศียรและดวงพระพักตร์พระกริ่งเป็นแบบจีนผิดกับพระพุทธรูปแบบขอม ทั้งฐานก็ทำเป็นรูปบัวหงายบัวคว่ำเป็นอย่าง "บัวหลังเบี้ย" ตามแบบพระพุทธรูปจีน

จึงสันนิษฐานว่าพระกริ่งเห็นจะเป็นของหล่อในเมืองจีน แล้วส่งมายังกรุงกัมพูชาในสมัยเมื่อกำลังรุ่งเรือง คือที่เขมรเรียกกันว่า "ครั้งพระเจ้าปทุมสุริยวงศ์" ความที่ว่านี้ต่อมาได้พบหลักฐานประกอบที่สถานทูตเดนมาร์กในกรุงเทพฯ ด้วยท่านเครเมอราชทูตเคยอยู่ที่เมืองปักกิ่งเมื่อก่อนมากรุงเทพฯ รวบรวมพระพุทธรูปและรูปพระโพธิสัตว์ของจีนแต่โบราณไว้หลายองค์ เอาออกมาตั้งเรียงไว้ในห้องรับแขก วันหนึ่งฉันได้รับเชิญไปกินเลี้ยง แล้วพาไปดูของเหล่านั้น ฉันเห็นพระพุทธรูปองค์ ๑ เหมือนพระกริ่ง แต่กาไหล่ทองและต่างพิมพ์กับพระกริ่งที่มาจากเมืองเขมร บอกราชทูตว่าพระพุทธรูปชนิดนั้นถ้าเอาขึ้นสั่นมักจะมีเสียงกริ่งอยู่ข้างใน แกลองเอาขึ้นสั่นก็มีเสียงจริงดังว่า เลยประหลาดใจบอกว่าได้พระองค์นั้นไว้หลายปีแล้วเพิ่งมารู้ว่าเป็นพระกริ่งเพราะฉันบอก ต่อมาเมื่อจะกลับไปบ้านเมืองเลยให้ฉันไว้เป็นที่ระลึก มองสิเออร์มาซาลที่นครวัดก็มีแก่ใจแบ่งพระที่พบในกรุบนยอดเขาพนมปาเกงให้มาเป็นที่ระลึกเช่นเดียวกัน เดี๋ยวนี้ยังอยู่ที่พิพิธภัณฑ์สถานในกรุงเทพฯ

ฉันเพิ่งมารู้เรื่องตำนานของพระกริ่งตามทางโบราณคดีเมื่อเป็นนายกราชบัณฑิตยสภา ค้นหามูลเหตุที่สร้างพระพุทธรูปปางต่างๆในอินเดียได้ความว่าเดิมมีแต่ ๘ ปาง คือแบบอย่างอนุโลมตามเรื่องพุทธบริโภคเจดีย์ทั้ง ๘แห่ง ครั้นต่อมาเมื่อเกิดลัทธิมหายานขึ้นในพระพุทธศาสนา พวกถือลัทธิมหายานคิดทำพระพุทธรีปขึ้นอีกปาง ๑ เป็นพระนั่งพระหัตถ์ถือหม้อน้ำมนต์หรือวชิร หรือผลไม้ที่เป็นโอสถเช่นลูกสมอเป็นต้น เรียกว่า "ไภสัชชคุรุ" สำหรับโสรจสรงทำน้ำมนต์รักษาโรค บำบัดภัย เมื่อได้ความตามตำราดังนี้ก็เข้าใจตลอดไปถึงเหตุที่พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงประดิษฐานพระกริ่งตรึงไว้ในขันครอบซึ่งโปรดฯให้พระมหาเถระดับเทียนทำน้ำมนต์ในมงคลราชพิธีเช่นงานเฉลิมพระชันษาเป็นต้น อันยังเป็นประเพณีสืบมาจนทุกวันนี้ พระกริ่งที่ได้มาถึงเมืองไทย ก็คงเป็นด้วยพบกรุอย่างเช่นมองสิเออร์มาซาลว่าในกาลก่อน แต่พวกเขมรไม่นิยมพระกริ่งเหมือนกับไทย นานเข้าพระกริ่งจึงมามีแต่ในประเทศสยาม

ครั้งฉันเลื่อมใสเครื่องรางในสมัยเมื่อบวชเป็นสามเณรนั้น ได้เคยเห็นฤทธิ์เครื่องรางประจักษ์แก่ตัวเอง ครั้งหนึ่งเมื่อต้องไปเทศน์มหาชาติในวังหน้า พระมหาราชครูมหิธร(ชู)ผู้เป็นอาจารย์วิตกเกรงฉันจะไปประหม่าเทศน์ไม่เพราะ มีใครบอกว่าอาจารย์วิทยาคมคนหนึ่งทำเครื่องรางกันประหม่าได้ให้ไปขอ ได้มาเป็นก้อนขี้ผึ้งแข็งปั้นกลมๆขนาดสักเท่าเมล็ดมะกล่ำตาช้าง บอกว่าเมื่อจะขึ้นธรรมาสน์ให้อมไว้ใต้ลิ้นจะไม่ประหม่าเลย ฉันกระทำตามก็จริงดังสัญญา มิได้รู้สึกครั่นคร้ามตกประหม่าเลยแต่สักนิดเดียว จนพระมหาราชครูผู้เป็นอาจารย์ประหลาดใจ ก็เลยลงเนื้อเชื่อถือว่าเพราะเครื่องรางนั้นป้องกัน ต่อมาหวลคิดเมื่อเป็นผู้ใหญ่จึงเข้าใจว่าความเชื่อมั่นของเราในเครื่องรางนั่นเองป้องกันมิให้ตกประหม่าทำนองเดียวกับรดน้ำมนต์แก้โรคต่างๆ

เรื่องเล่นวิทยาคมที่เล่ามา เป็นการเล่นของฉันในตอนเช้าก่อนเพล เมื่อเพลแล้วเป็นประเพณีพระเณรย่อมนอนกลางวัน ถึงตอนบ่ายมักไปเที่ยวกับพวก(มหาดเล็ก)เด็กหนุ่มที่ไปอยู่ด้วย ไปเล่นที่ลานรอบวิหารพระศาสดาเป็นพื้น บางวันก็ช่วยกันทำดอกไม้ไฟจุดเล่น บางวันก็เล่านิทานสู่กันฟัง ไม่มีอะไรเป็นสาระนอกจากไม่ทำความชั่วเท่านั้น ครั้นเวลาเย็นพระเณรที่ชอบอัธยาศัยอยู่ในคณะเดียวกัน มักไปประชุมกันที่กุฏิองค์ใดองค์หนึ่ง ตรงนี้ควรชมประเพณีการบวชในพระพุทธศาสนาที่ถือว่าเสมอกันหมดไม่ต้องยำเกรงด้วยยศศักดิ์ นั่งสนทนาปราศรัยกันตามชอบใจ ในเวลาประชุมกันตอนเย็นนี้โดยเฉพาะผู้บวชใหม่เริ่มจะเกิดหิว จึงมักช่วยกันเคี่ยวน้ำตาลน้ำผึ้งสำหรับบริโภคกับน้ำชาในเวลาค่ำ การเคี่ยวน้ำตาลกับน้ำผึ้งที่ว่านี้ ค่าที่พระตามวัดเคยทำสืบต่อกันมาช้านาน อาจจะผสมส่วนทำได้แปลกๆน่ากินหลายอย่าง สนทนากันและกินน้ำชากับน้ำตาลน้ำผึ้งเป็นที่บันเทิงใจ จนเวลาค่ำกลับขึ้นกุฏิ การท่องสวดมนต์มักท่องเวลานี้กับเวลาแรกรุ่งเช้าก่อนบิณฑบาตอีกเวลาหนึ่ง ครั้นถึงเวลา ๒๐ นาฬิกาได้ยินเสียงระฆังสัญญาณก็พากันลงโบสถ์เวลาค่ำ เสร็จแล้วก็เป็นสิ้นกิจประจำวัน

ตามความที่เล่ามาจะเห็นได้ว่าการที่บวชเป็นสามเณรนั้น โดยเฉพาะเจ้านาย ถ้าบวชแต่พรรษาเดียวดูไม่สู้จะเป็นประโยชน์เท่าใดนัก เพราะยังเป็นเด็กเห็นแต่แก่จะสนุกสนาน ฟังสั่งสอนศีลธรรมก็ยังมิใคร่เข้าใจ ได้ประโยชน์เป็นข้อสำคัญแต่ความคุ้นเคยอยู่ในข้อบังคับบัญชา และสมาคมกับเพื่อนพรหมจรรย์โดยฐานเป็นคนเสมอกัน เป็นนิสัยปัจจัยต่อไปข้างหน้า แต่จะว่าการที่บวชเณรไม่เป็นประเพณดีก็ว่าไม่ได้ ถ้าคิดถึงชั้นบุคคลพลเมืองสามัญในสมัยเมื่อรัฐบาลยังมิได้ตั้งโรงเรียน ที่เรียนหนังสือและเรียนศีลธรรมมีแต่ในวัด พ่อแม่ส่งลูกไปอยู่วัดก็คือว่าให้ไปเข้าโรงเรียนนั่นเอง ชั้นแรกเป็นแต่ลูกศิษย์วัดตรงกับเรียนวิชาชั้นปฐมศึกษา เมื่อได้ความรู้เบื้องต้นและคุ้นกับวัดจนเกิดเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา จึงให้บวชเป็นสามเณรเสมือนขึ้นชั้นมัธยม มีเวลาเล่าเรียนมากขึ้นและได้รับความเคารพอุดหนุนของชาวบ้านยิ่งกว่าเป็นลูกศิษย์วัด แต่ต้องบวชเป็นสามเณรอยู่นานจนถึงอุปสมบทเป็นพระภิกษุ หรือมิฉะนั้นก็ต้องบวชหลายพรรษาจึงจะได้ความรู้ที่เป็นประโยชน์ติดตัวในเวลาเมื่อสึกไปเป็นฆราวาส เมื่อสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรสเป็นประธานสงฆ์ ทรงดำริความตามที่กล่าวมานี้ จึงจัดตั้งวิธีสอนและสอบความรู้พระเณรที่เป็น "นวก" บวชพรรษาเดียว ซึ่งใช้เป็นแบบอยู่ทั่วไป ณ บัดนี้ โดยพระประสงค์จะปลูกน้ำใจผู้บวชใหม่ให้นิยมพยายามศึกษาประกวดกันและกัน ตั้งแต่แรกบวชไปจนสมหมายเมื่อสิ้นพรรษา และได้ความรู้ศีลธรรมติดตัวไปเป็นประโยชน์เมื่อเวลาเป็นฆราวาส การที่บวชพรรษาเดียวเดี๋ยวนี้ จึงนับว่าดีกว่าสมัยเมื่อฉันบวชเณรมาก แต่ถ้าบวชอยู่ตั้ง ๑ พรรษาขึ้นไป ถึงในสมัยก่อนก็เป็นประโยชน์ เพราะสมัครเป็นบรรชิตด้วยเห็นทางที่จะแสวงหาคุณวิเศษอย่างไรต่อไปแล้วจึงบวชอยู่ พอล่วงพรรษาแรกก็ตั้งหน้าพยายามตามจำนง เป็นต้นว่าเรียนภาษามคธหรือฝึกหัดศิลปศาสตร์ในสำนักอาจารย์ในวัดนั้นต่อไปจนสำเร็จ พระเถระที่รอบรู้พระธรรมวินัยและช่างที่มีชื่อเสียงมาแต่ก่อน ล้วนเริ่มเรียนวิชาแต่เวลายังบวชเป็นสามเณรแทบทั้งนั้น

ว่าถึงตัวฉันเองเมื่อออกพรรษาปีกุน พ.ศ. ๒๔๑๘ ได้พระราชทานกฐินหลวงให้ไปทอดที่วัดคงคาราม ได้ไปเมืองเพชรบุรีเป็นครั้งแรก ทอดกฐินแล้วกลับมาสึกในเดือน ๑๒ นั้น ก่อนจะสึกต้องถวายดอกไม้ธูปเทียนทูลลาสมเด็จพระอุปัชฌาย์ แล้วต้องเข้าเฝ้าทูลลาสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวด้วยแต่ไม่มีความลำบากอันใด ด้วยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทราบมาแต่แรกแล้วว่า ฉันจะบวชแต่พรรษาเดียวแล้วสึกออกมารับราชการ ก็พระราชทานพระบรมราชานุญาตโดยง่าย

เมื่อสึกแล้วฉันไปอยู่บ้านคุณตาที่ฉันได้รับมรดก แม่ก็ออกไปอยู่ด้วย เหตุที่ฉันจะได้บ้านคุณตาเป็นมรดกนั้น แม่เล่าให้ฟังว่าเมื่อฉันยังเล็ก คุณตาซื้อบ้านจงผึ้งที่ริมคลองวัดสุทัศน์ฯไว้ แล้วบอกแก่แม่ว่าฉันโตขึ้นจะให้เป็นที่ทำวังของฉัน จะได้อยู่ใกล้ๆกับกรมหมื่นราชศักดิ์สโมสร ครั้นสิ้นรัชกาลที่ ๔ คุณป้าเที่ยงสิ้นวาสนาจะออกไปอยู่นอกวังกับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯแต่ท่านอยากมีบ้านของท่านเองต่างหาก คุณตาสงสารจึงโอนที่บ้านจงผึ้งไปให้แก่คุณป้าเที่ยง เพราะบ้านนั้นอยู่ใกล้กับกรมหมื่นราชศักดิ์ฯดังกล่าวมาแล้ว

ท่านจึงบอกแก่แม่ว่าจะให้บ้านของท่านเองแทนบ้านจงผึ้ง แล้วแสดงให้ปรากฏในวงญาติว่าจะให้บ้านเป็นมรดกแก่ฉันเพราะตัวท่านก็ชราแล้ว กว่าฉันจะเติบใหญ่ถึงต้องมีรั้ววังก็เห็นจะพอสิ้นอายุของท่าน หรือมิฉะนั้นถ้าท่านยังอยู่ก็จะให้ไปอยู่กับท่านไปพลาง น่าจะเป็นเพราะท่านเจตนาเช่นนั้น คุณตาจึงมักรับฉันไปนอนค้างที่บ้านบ่อยๆดังเล่ามาแล้ว ผิดกับเจ้านายพระองค์อื่นๆที่เป็นหลานด้วยกัน เผอิญการก็เป็นอย่างคุณตาว่า พอถึงปีฉันโกนจุกคุณตาก็ถึงอนิจกรรม บ้านคุณตาจึงตกเป็นของฉันแต่นั้นมา เรือนชานในบ้านคุณตาสร้างด้วยเครื่องไม้ทั้งนั้น มีตึกหลังเดียวเรียกว่า "หอสูง" ที่ท่านอยู่และฉันอยู่ต่อมาในตอนก่อนสร้างเป็นวัง

มีของแปลกประหลาดอย่างหนึ่ง คือเสาสำหรับชักธงเหมือนอย่างที่มีตามกงสุลปักไว้ข้างหน้าบ้าน ฉันมาทราบในภายหลังว่าการทำเสาธงนั้นเกี่ยวกับการเมืองเป็นของสำคัญ ควรจะเล่าไว้ให้ปรากฏ คือในเมืองไทยแต่ก่อนมาการตั้งเสาชักธงมีแต่ในเรือกำปั่น บนบกหามีประเพณีเช่นนั้นไม่ มีคำเล่ากันมาว่าเมื่อในรัชกาลที่ ๓ พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดขนบธรรมเนียมฝรั่งให้ทำเสาธงขึ้น ณ พระราชวังเดิม(ที่เป็นโรงเรียนนายเรือบัดนี้)อันเป็นที่เสด็จประทับ และชักธงบริวารเป็นเครื่องบูชาในเวลาเมื่อพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทอดพระเนตรเห็น ตรัสถามผู้ที่อยู่ใกล้พระองค์ว่า "นั่นท่านฟ้าน้อยเอาผ้าขี้ริ้วขึ้นตากทำไม" พิเคราะห์เห็นว่ามิใช่เพราะไม่ทรงทราบว่าทำโดยความเคารพตามธรรมเนียมฝรั่ง ที่มีพระราชดำรัสเช่นนั้นเพราะไม่โปรดที่ไปเอาอย่างฝรั่งมาตั้งเสาชักธงเท่านั้นเอง

ครั้นถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำรัสสั่งให้ทำเสาธงขึ้นทั้งในวังหลวงวังหน้า เสาธงวังหลวงให้ชักธงตราพระมหามงกุฎ และเสาธงวังหน้าให้ชักธงจุฑามณี(ปิ่น) คนทั้งหลายก็เข้าใจกันว่า เสาชักธงนั้นเป็นเครื่องหมายพระเกียรติยศของพระเจ้าแผ่นดิน ครั้นเมื่อทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีกับรัฐบาลฝรั่งต่างประเทศแล้ว มีกงสุลนานาประเทศเข้ามาอยู่ในกรุงเทพฯ มาตั้งเสาชักธงชาติของตนขึ้นตามสถานกงสุล เหมือนอย่างสถานกงสุลที่เมืองจีน คนทั้งหลายไม่รู้ประเพณีฝรั่งก็พากันตกใจโจษกันว่าพวกกงสุลจะเข้ามาตั้งแข่งพระราชานุภาพ ความทราบถึงพระกรรณของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงรำคาญพระราชหฤทัย จึงทรงพระราชดำริหาอุบายแก้ไขด้วยดำรัสสั่งเจ้านายต่างกรมกับทั้งขุนนางผู้ใหญ่ให้ทำเสาธงช้างขึ้นตามวังและที่บ้าน เมื่อมีเสาธงชักขึ้นมากคนทั้งหลายก็หายตกใจ เรื่องนี้ฉันเคยเล่าให้พวกราชทูตต่างประเทศฟัง หลายคนพากันชอบใจชมพระสติปัญญาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ว่าช่างทรงพระราชดำริแก้ไขดีนัก แต่เมื่อฉันได้ไปบ้านคุณตา ปัญหาเรื่องเสาธงระงับมาช้านานแล้ว เสาธงของคุณตาก็ผุยังแต่จะหักโค่น จึงสั่งให้เอาลงเสีย

เรื่องที่จะเล่าในตอนต่อไปนี้ จะว่าด้วยราชการบ้านเมืองที่ฉันได้ทันเห็นเมื่อเป็นเด็กอยู่ในปีระกา พ.ศ. ๒๓๑๖ และปีจอ พ.ศ. ๒๔๑๗ แต่มารู้ความตระหนักเมื่อเป็นผู้ใหญ่เป็นการสำคัญมีหลายเรื่อง


..............................................................................................................................................................


เชิงอรรถ

(๑) ประเพณีโบราณ พระสงฆ์ลงประชุมในโบสถ์แต่วันสวดปาฏิโมกข์ จึงเรียกกันว่า "ลงโบสถ์" โดยปกติเวลาเย็นคณะไหนก็ไหว้พระสวดมนต์ ณ หอสวดมนต์คณะนั้น การประชุมสงฆ์ลงไหว้พระสวดมนต์ในโบสถ์วันละ ๒ ครั้ง เป็นประเพณีตั้งขึ้นเมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงผนวช


..............................................................................................................................................................


ความทรงจำ ตอนที่ ๕
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 2 เมษายน 2550 เวลา:14:58:45 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com