กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
สมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาคที่ ๓ ทรงแผ่อาณาเขต

(๑)

ตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเลิกทัพกลับไปจากกรุงศรีอยุธยาแล้ว ไทยว่างการสงครามกับพม่าอยู่ ๓ ปี ในระหว่างนั้นสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช พระชนมายุได้ ๗๕ ปี ประชวรสวรรคต เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๘ แรม ๑๓ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จขึ้นครองราชสมบัติ เป็นพระเจ้าแผ่นดินเมื่อพระชันษาได้ ๓๕ ปี ทรงสถาปนาสมเด็จพระอนุชาธิราช พระเอกาทศรถ ให้เป็นพระมหาอุปราช แต่ให้มีพระเกียรติยศสูงเสมออย่างพระเจ้าแผ่นดินอีกพระองค์ ๑ พอสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ได้ ๔ เดือน ก็เกิดศึกหงสาวดีมาตีเมืองไทยอีก

เหตุที่เกิดสงครามครั้งนี้ ในพงศาวดารพม่าว่าตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีต้องล่าทัพไปจากเมืองไทย พอข่าวแพร่หลาย พวกเมืองขึ้นต่างชาติต่างภาษาก็กระด้างกระเดื่อง จนถึงเจ้าฟ้าไทยใหญ่เมืองคังตั้งแข็งเมืองขึ้นอีก พระเจ้าหงสาวดีปรึกษาเสนาบดีถึงการที่จะปราบปราม

มีเสนาบดีคนหนึ่งชื่อ สิริชัยนรธา ทูลว่าที่เมืองคังกำเริบขึ้นก็เพราะเห็นว่าปราบไทยไม่ลง จึงตั้งแข็งเมืองเอาอย่างไทยบ้าง ถ้ายังปราบไทยไม่ลงอยู่ตราบใด ถึงปราบเมืองคังได้ ก็คงมีเมืองอื่นเอาอย่างไทยต่อไปอีก จำต้องปราบเมืองไทยอันเป็นต้นเหตุให้ราบคาบเสียให้ได้ เมืองอื่นจึงจะยำเกรงเป็นปกติต่อไป

พระเจ้าหงสาวดีเห็นชอบด้วย พอได้ข่าวว่ากรุงศรีอยุธยาเปลี่ยนพระเจ้าแผ่นดิน คาดว่าการภายในบ้านเมืองกำลังเปลี่ยนแปลงไม่ปกติ เป็นโอกาส พระเจ้าหงสาวดีจึงให้จัดกองทัพ ๒ ทัพ ให้ราชบุตรองค์ ๑ ซึ่งได้เป็นพระเจ้าแปรขึ้นมาใหม่ คุมกองทัพจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ คนยกไปตีเมืองคังทาง ๑ ให้เจ้าเมืองพสิมกับเจ้าเมืองพุกามเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นจอมพลคุมทัพหลวงจำนวนพลรวมกัน ๒๐๐,๐๐๐ คนยกมาตีเมืองไทยทาง ๑

พระมหาอุปราชายกออกจากเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๒ ค่ำ ปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ เดินกองทัพเข้ามาเมืองไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ หาเดินทางด่านแม่สอดเหมือนเมื่อพระเจ้าหงสาวดียกมาไม่

ความข้อนี้ทำให้เห็นว่ากองทัพหงสาวดียกมาครั้งนี้หมายจะจู่เข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา ไม่ให้ตระเตรียมป้องกันได้พรักพร้อม เพราะยกเข้ามาทางด่านแม่สอด ตั้งแต่เข้าแดนไทยแล้วยังต้องเดินทางอีกกว่าเดือน กองทัพจึงจะมาถึงพระนครศรีอยุธยา และยังต้องสั่งให้เตรียมเสบียงอาหารล่วงหน้า ใหไทยรู้ตัวมีเวลาตระเตรียมนาน ถ้ายกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ข้ามแดนมาอีก ๑๕ วันก็ถึงกรุงฯ ทางใกล้กว่ากัน สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นเพราะเหตุนี้ พระมหาอุปราชจึงยกมาทางด่านพระเจดีย์สามองค์

ฝ่ายข้างกรุงศรีอยุธยา ครั้งนี้รู้ตัวก็เห็นจะมีความลำบากอยู่ ด้วยจะต้องผู้คนพลเมืองเข้าพระนครดังคราวก่อนๆไม่ทัน แต่วิสัยสมเด็จพระนเรศวรว่องไวในเชิงศึก เมื่อเห็นว่าจะตั้งคอยต่อสู้อยู่ที่กรุงฯ จะไม่ได้เปรียบข้าศึกเหมือนหนหลัง ก็ทรงพระราชดำริกระบวนรบเป็นอย่างอื่น

รีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกไปในเดือนยี่ ครั้นเสด็จไปถึงเมืองสุพรรณบุรี ทรงทราบว่าข้าศึกยกล่วงเมืองกาญจนบุรีเข้ามาแล้ว จึงให้ซุ่มทัพหลวงไว้แต่กองทัพน้อย เป็นทำนองเหมือนกับจะไปรักษาเมืองกาญจนบุรียกไปล่อข้าศึก

ฝ่ายกองทัพพระมหาอุปราชาเข้ามาถึงเมืองกาญจนบุรีเห็นไม่มีผู้ใดต่อสู้ สำคัญว่าไทยจะตั้งมั่นคอยต่อสู้อยู่ที่พระนครศรีอยุธยาอย่างคราวก่อน ก็ยกเข้ามาด้วยความประมาท ครั้นมาพบพวกกองทัพล่อของสมเด็จพระนเรศวร เห็นเป็นทัพเล็กน้อย ทัพหน้าของพระมหาอุปราชาก็เข้ามารบพุ่ง กองทัพล่อต่อสู้อยู่หน่อยหนึ่งแล้วก็แกล้งถอยหนี

กองทัพหงสาวดีเห็นได้ทีก็ไล่ติดตามมา เข้าในที่ซุ่มของสมเด็จพระนเรศวร สมเด็จพระนเรศวรให้กองทัพออกระดมตี ได้รบพุ่งกันถึงตะลุมบอน กองทัพหงสาวดีเสียทีก็แตกพ่าย ถูกไทยฆ่าฟันตายเสียเป็นอันมาก พระยาพุกามนายทัพหน้าก็ตายในที่รบ รี้พลที่เหลือก็พากันแตกหนี กองทัพไทยไล่ติดตามไป จับพระยาพสิมนายทัพหน้าได้ที่บ้านจระเข้สามพันอีกคนหนึ่ง กองทัพหน้าของพระมหาอุปราชากำลังแตกหนีอลม่าน ไทยไล่ติดตามไปปะทะทัพหลวง ทัพหลวงก็เลยแตกด้วย

พงศาวดารพม่าว่าในครั้งนั้นไทยเกือบจะจับพระมหาอุปราชาได้ ด้วยกองทัพพม่าแตกยับเยินและเสียผู้คนช้างม้าเครื่องศัสตราวุธแก่ไทยเป็นอันมาก พระมหาอุปราชาหนีพ้นไปแล้ว ก็ให้รวบรวมรี้พลที่เหลืออยู่กลับไปถึงเมืองหงสาวดีเมื่อเดือน ๕ ปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๓๔ พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคือง ให้ลงพระราชอาญาแก่นายทัพนายกอง แต่พระมหาอุปราชานั้นภาคทัณฑ์ไว้ให้ทำการแก้ตัวใหม่


(๒)

ถึงปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้พระมหาอุปราชามาตีเมืองไทยอีกครั้งหนึ่ง เรื่องราวการสงครามครั้งปีมะโรงนี้ ในหนังสือพงศาวดารไทยกับพงศาวดารพม่าผิดกันแต่เพียงพลความ แต่เนื้อเรื่องประกอบกันตั้งแต่ต้นจนปลายว่า

พระมหาอุปราชามีความครั่นคร้าม ทูลพระเจ้าหงสาวดีว่าพระเคราะห์ยังร้ายนัก พระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคือง วันหนึ่งเวลาเสด็จออกท้องพระโรงตรัสตัดพ้อเจ้านายและขุนนางทั้งปวงว่า ช่างไม่มีใครช่วยเอาใจเจ็บร้อนด้วยเรื่องเมืองไทยบ้างเลย กรุงศรีอยุธยามีรี้พลเพียงสักหยิบมือเดียว ก็ไม่มีใครจะกล้าอาสาไปตี นี่เมืองหงสาวดีจะหมดสิ้นคนดีเสียแล้วหรืออย่างไร

ขณะนั้นขุนนางคนหนึ่งชื่อว่าพระยาลอ ทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า กรุงศรีอยุธยานั้นสำคัญอยู่ที่พระนเรศวรพระองค์เดียว เพราะกำลังหนุ่ม รบพุ่งเข้มแข็ง บังคับบัญชาผู้คนก็สิทธิ์ขาด รี้พลกลัวพระนเรศวรเสียยิ่งกว่าความตาย เจ้าให้รบพุ่งอย่างไร ก็ไม่คิดแก่ชีวิตด้วยกันทั้งนั้น คนน้อยจึงเหมือนคนมาก การที่จะตีเมืองไทย ถ้าเอาชนะพระองค์พระนเรศวรได้องค์เดียวเท่านั้น ก็จะได้บ้านเมืองโดยง่าย เห็นว่าเจ้านายในกรุงหงสาวดีรุ่นเดียวกับพระนเรศวร ที่รบพุ่งเข้มแข็งเคยชนะศึกเหมือนอย่างพระนเรศวรก็มีหลายองค์ ถ้าจัดกองทัพให้เจ้านายที่เข้มแข็งการศึกเป็นนายทัพสักสองสามองค์ ถ้าชนะพระนเรศวรแล้วก็ได้กรุงศรีอยุธยาไว้ในอำนาจเหมือนอย่างแต่ก่อน

พระเจ้าหงสาวดีได้ทรงฟังพระยาลอทูลแนะนำ ก็เห็นชอบด้วย แต่เกรงว่าถ้าไม่ให้พระมหาอุปราชาไปรบ คนทั้งหลายก็จะพากันดูหมิ่นรัชทายาทยิ่งขึ้น จึงแกล้งตรัสตอบว่า ที่พระยาลอว่านั้นก็ดีอยู่ แต่ตัวของข้าเป็นคนอาภัพ ไม่เหมือนพระมหาธรรมราชา นั่นเขามีลูกพ่อไม่ต้องพักใช้ให้รบพุ่ง มีแต่กลับจะต้องห้ามเสียอีก แต่ตัวข้ามิรู้ว่าจะใช้ใคร

พระมหาอุปราชาได้นยินพระราชบิดาตรัสบริภาษเช่นนั้น ก็อัปยศอดสู ต้องทูลขอรับอาสามีตีเมืองไทยแก้ตัวใหม่ พระเจ้าหงสาวดีจึงให้เกณฑ์กองทัพ ๓ เมือง คือ กองทัพเมืองหงสาวดี ให้เจ้าเมืองจาปะโรเป็นทัพหน้า พระมหาอุปราชาเป็นจอมพลคุมทัพหลวง ๑ กองทัพเมืองแปร ให้พระเจ้าแปรลูกเธอที่ไปตีเมืองคังได้เมื่อคราวหลังเป็นนายทัพทัพ ๑ กองทัพเมืองตองอู ให้พระสังกะทัตลูกพระเจ้าตองอู ผู้ที่ต้านทานกองทัพไทยไว้ได้เมื่อคราวพระเจ้าหงสาวดีล่าทัพไปเป็นนายทัพทัพ ๑ รวม ๓ ทัพ จำนวนพล ๒๔๐,๐๐๐ คน ยกมาตีกรุงศรีอยุธยาทางด่านพระเจดีย์สามองค์ด้วยกันทั้ง ๓ ทัพ และสั่งให้พระเจ้าเชียงใหม่คุมเสบียงอาหารลงมาทางเรือด้วยอีกทัพ ๑

กองทัพบกที่ยกมาครั้งนั้น กองทัพพระมหาอุปราชาคงยกมาหน้า กองทัพพระเจ้าแปรกับกองทัพพระสังกะทัตยกตามกันมาโดยลำดับ ได้รบกับไทยแต่กองทัพพระมหาอุปราชาทัพเดียว แล้วก็สิ้นสงคราม ในหนังสือพงศาวดารไทยจึงกล่าวแต่กองทัพพระมหาอุปราชาทัพเดียว ส่วนกองทัพเรือของพระเจ้าเชียงใหม่เป็นแต่กองลำเลียง ลงมาเพียงกลางทางรู้ว่าสิ้นสงครามแล้วก็เลิกทัพกลับไป

พระมหาอุปราชายกกองทัพออกจากเมืองหงสาวดี เมื่อวันพุธ เดือนอ้าน แรม ๗ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ เดินกองทัพเข้าแดนไทยทางด่านพระเจดีย์สามองค์ มาถึงเมืองกาญจนบุรีไม่เห็นมีใครต่อสู้ก็ยกเลยมาเมืองสุพรรณบุรี เมื่อวันมาถึงบ้านพนมทวน เวลาบ่ายเกิดลมเวรัมภาเวียนเป็นวงจักร พัดมาถูกเศวตฉัตรคชาธารบนหลังช้างหักทบลง พระมหาอุปราชาหวั่นพระหฤทัยให้โหรทำนาย โหรทูลว่าเหตุเช่นนั้น ถ้าเกิดเวลาเช้าเป็นนิมิตร้ายนัก แต่ถ้าเกิดเวลาเย็นกลับเป็นมงคล เห็นว่าคงจะมีชัยชนะข้าศึก ที่ฉัตรหักนั้นสังหรณ์ว่าพระราชบิดาจะมอบเวนราชสมบัติพระราชทานให้เจริญพระเกียรติยศได้ถึงราชาฉัตร พระมหาอุปราชาได้ทรงฟังคำทำนายก็ไม่คลายระแวงภัย ตรงนี้ในลิลิตตะเลงพ่าย กรมสมเด็จพระปรมานุชิตฯ ทรงแต่งโคลงเป็นคำพระมหาอุปราชาครวญถึงพระราชบิดาน่าสงสาร

ออกจากบ้านพนมทวนให้ยกพลมาตั้งประชุมทัพที่บ้านตระพังตรุ เดี๋ยวนี้ยังมีรอยค่ายเกลื่อนไปในแถวนั้น สังเกตดูรอยค่ายดูเหมือนจะให้ทัพหน้ามาตั้งที่ตำบลบ้านโค่ง แล้วให้นายทหารชื่อ สมิงจอคราน คน ๑ สมิงเป่อ คน ๑ สมิงซ่าม่วน คน ๑ คุมทหารม้าแยกย้ายกันไปสอดแนม ว่าจะมีกองทัพไทยออกไปคอยต่อสู้ที่ไหนบ้าง

ฝ่ายกรุงศรีอยุธยา เวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรพระชันษาได้ ๓๗ ปี เสวยราชย์ได้ ๓ ปี ทรงประมาณการตั้งแต่กองทัพพระมหาอุปราชาแตกไปเมื่อปีขาล ว่าคงจะว่างศึกหงสาวดีไปหลายปี เพราะข้าศึกเสียรี้พลพาหนะมาก คงจะต้องหากำลังเพิ่มเติมอยู่นานวัน

ในปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น หมายจะเสด็จไปตีเมืองละแวกราชธานีของประเทศกัมพูชา ตัดกำลังเขมรมิให้มาทำร้ายซ้ำเติมในเวลามีศึกหงสาวดีได้เหมือนแต่ก่อน จึงตรัสให้เกณฑ์คนเข้ากองทัพ จะยกไปในกลางเดือนยี่ แต่พอถึงเดือนอ้าย ได้รับใบบอกเมืองกาญจนบุรี สืบได้ข่าวว่าเมืองหงสาวดีเตรียมกองทัพจะยกมาอีกในในปีนั้น

สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสสั่งให้เร่งเรียกรี้พลพาหนะ และให้ย้ายที่ประชุมทัพจากบางขวดในชานพระนคร ไปตั้งที่ทุ่งป่าโมก แขวงเมืองวิเศษชัยชาญ อันอยู่ร่วมทางที่ข้าศึกจะยกมา ทั้งทางด่านพระเจดีย์สามองค์และทางเมืองเหนือ ตรัสสั่งให้หัวเมืองตามทางที่ข้าศึกจะยกมา เตรียมตัวให้ครอบครัวพลเมืองหลบไปอยู่เสียในป่า และให้พระยาราชบุรีจัดพลเป็นกองโจร แยกย้ายกันไปซุ่มคอยตีตัดลำเลียงเสบียงอาหาร และรื้อสะพานทำลายทางข้างหลังกองทัพข้าศึก และจัดกองทัพหน้าให้พระยาศรีไสยณรงค์เป็นนายทัพ พระยาราชฤทธานนท์เป็นยกกระบัตร ยกไปตั้งขัดตาทัพรับข้าศึกอยู่ที่ลำน้ำท่าคอย แขวงจังหวักสุพรรณบุรี

สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จออกจากพระนครเมื่อวันขึ้น ๙ ค่ำ เดือนยี่ ทรงเรือไปแวะทำพิธีตัดไม้ข่มนามที่ทุ่งลุมพลี แล้วเสด็จไปตั้งทัพชัย ณ ตำบลมะม่วงหวาน ใกล้ทุ่งป่าโมก พักจัดกระบวนทัพอยู่ ๓ วัน

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรประทับอยู่ที่พลับพลาตำบลมะม่วงหวานนั้น คืนหนึ่งทรงพระสุบินไปว่าน้ำท่วมมาแต่ทิศตะวันตก พระองค์ทรงลุยน้ำไปพบจระเข้ใหญ่ตัวหนึ่งได้ต่อสู้กัน ทรงประหารจระเข้นั้นตายด้วยฝีพระหัตถ์ พระโหราธิบดีทูลพยากรณ์ว่าพระสุบินเป็นมงคลนิมิตร เสด็จไปจะได้รบกับข้าศึกถึงตัวต่อตัว และพระองค์จะมีชัยชนะ ก็ทรงยินดี

ถึงเดือนยี่ขึ้น ๑๒ ค่ำ สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เสด็จยกกองทัพหลวงออกจากบ้านมะม่วงหวาน กองทัพไทยที่ยกไปครั้งนั้นมีจำนวนพล ๑๐๐,๐๐๐ เดินบกจากทุ่งป่าโมกไปยังเมืองสุพรรณบุรีทางบ้านสามโก้ ข้ามลำแม่น้ำสุพรรณที่ท่าท้าวอู่ทอง ไปถึงค่ายหลวงตำบลหนองสาหร่ายใกล้ลำน้ำท่าคอยเมื่อขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือนยี่นั้น เมื่อก่อนเสด็จไปถึง คงตรัสสั่งให้กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ซึ่งเป็นทัพหน้า รุกออกไปตั้งที่ตำบลดอนระฆัง รอยค่ายยังมีปรากฏอยู่ที่นั่น

ฝ่ายกองทหารม้าของพวกหงสาวดีที่เที่ยวเล็ดลอดสอดแนมเข้ามาได้จนถึงบางกระทิง ใกล้บ้านผักไห่ ในแขวงจังหวัดพระนคร สืบรู้ว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพหลวงออกไปยังเมืองสุพรรณบุรีมีจำนวนพลราวแสนเศษ ก็รีบกลับไปทูลพระมหาอุปราชาซึ่งตั้งค่ายอยู่ ณ ตำบลตระพังตรุ ห่างกับที่กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ตั้งอยู่ระยะทางเดินราววันหนึ่ง

พระมหาอุปราชาทราบว่าจำนวนพลของสมเด็จพระนเรศวรที่ยกไปน้อยกว่า ปรึกษากับแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่ เห็นว่าควรจะเอากำลังมากเข้าทุ่มเทตีเสียให้แตกฉาน แล้วรีบติดตามตีกระหน่ำเข้าไปอย่าให้มีเวลาตั้งตัวต่อสู้ ก็เห็นจะได้พระนครศรีอยุธยาโดยง่าย จึงให้ยกกองทัพออกจากตะพังตรุ เห็นจะราวในวันกลางเดือนยี่ ใกล้ๆกับวันที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงหนองสาหร่าย หมายจะมาตีกองทัพไทย

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรเมื่อเสด็จไปถึงหนองสาหร่าย ทรงทราบว่ามีพวกมหารข้าศึกมาสอดแนมอยู่ใกล้ๆ ก็ทรงคาดว่าคงได้รบกับข้าศึกในวันสองวันนั้น เพราะทัพทั้งสองฝ่ายอยู่ใกล้กันนักแล้ว จึงทรงจัดทัพเป็นกระบวนเบญจเสนา ๕ ทัพ ทัพที่ ๑ ซึ่งเป็นกองหน้าให้พระยาสีหราชเดโชชัยเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๒ กองเกียกกายให้พระยาเทพอรชุนเป็นนายทัพ พระยาพิชัยสงครามเป็นปีกขวา พระยารามกำแหงเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๓ กองหลวง สมเด็จพระนเรศวรทรงเป็นจอมพลพร้อมด้วยสมเด็จพระเอกาทศรถราชอนุชา เจ้าพระยาเสนาเป็นปีกขวา เจ้าพระยาจักรีเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๔ กองยกกระบัตรให้พระยาพระคลังเป็นนายทัพ พระราชสงครามเป็นปีกขวา พระรามรณภพเป็นปีกซ้าย ทัพที่ ๕ กองหลังให้พระยาท้ายน้ำเป็นนายทัพ หลวงหฤทัยเป็นปีกขวา หลวงอภัยสุรินทร์เป็นปีกซ้าย

พิเคราะห์ตามที่ปรากฏในหนังสือพงศาวดาร ดูเหมือนการรบครั้งนี้ แต่แรกสมเด็จพระนเรศวรตั้งพระราชหฤทัยจะตั้งรับให้ข้าศึกตีก่อน เพราะทรงทราบว่าข้าศึกมีกำลังมากกว่ากองทัพไทยที่ยกไป ครั้นวันแรมค่ำ ๑ เดือนยี่ พระยาศรีไสยณรงค์บอกมากราบทูลว่าให้ไปสอดแนม เห็นข้าศึกยกกองทัพทั้งปวงเตรียมตัวรบในวันรุ่งขึ้น แรม ๒ ค่ำ เดือนยี่ แล้วสั่งไปยังพระยาศรีไสบณรงค์ว่าให้ลาดตระเวนดู พอรู้ว่ากระบวนข้าศึกยกมาอย่างไรแล้วให้ถอยมา

ถึงจันทร์ เดือนยี่ แรม ๒ ค่ำ กองทัพทั้งปวงเตรียมพร้อมแต่เวลาเช้า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถต่างแต่งพระองค์ทรงเครื่องพิชัยยุทธ ให้ผูกช้างชนะงาชื่อ พลายภูเขาทอง อันขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาไชยานุภาพ เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระนเรศวร เจ้ารามราฆพเป็นกลางช้าง นายมหานุภาพเป็นควาญ อีกช้างหนึ่งชื่อ พลายบุญเรือง ขึ้นระวางเป็น เจ้าพระยาปราบไตรจักร เป็นช้างพระที่นั่งของสมเด็จพระเอกาทศรถ หมื่นภักดีศวรเป็นกลางช้าง ขุนศรีคชคงเป็นควาญ พร้อมด้วยนายแวงจตุลังคบาท พวกทหารคู่พระราชหฤทัยสำหรับรักษาพระองค์ และกระบวนช้างดั้งกันทั้งปวงเตรียมอยู่พร้อม

พอสมเด็จพระนเรศวรทรงเครื่องแล้วก็ได้ยินเสียงปืนลั่นทางหน้าทัพ ดำรัสสั่งให้จมื่นทิพเสนา ปลัดกรมตำรวจ เอาม้าเร็วรีบไปสืบดูว่าเป็นอย่างไร จมื่นทิพเสนาได้ตัวขุนหมื่นพระยาศรีไสยณรงค์มากราบทูลรายงาน ว่าพระยาศรีไสยณรงค์ยกไปรบข้าศึกที่ตำบลดอนเผาข้าว เมื่อเวลารุ่งเช้าวันแรม ๒ ค่ำนั้น ข้าศึกมากนักต้านทานไม่ไหวจึงแตกมา

สมเด็จพระนเรศวรตรัสปรึกษานายทัพผู้ใหญ่ว่า กองทัพพระยาศรีไสยณรงค์แตกมาอย่างนี้จะทำอย่างไรดี พวกนายทัพเห็นกันโดยมากว่า ควรจะให้มีกองทัพหนุนออกไปช่วยพระยาศรีไสยณรงค์ต้านทานข้าศึกไว้ให้อยู่เสียก่อน แล้วจึงยกกองทัพหลวงออกตีต่อภายหลัง

สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเห็นชอบด้วย ตรัสว่ากองทัพแตกฉานมาอย่างนี้ แล้วให้กองทัพไปหนุน ไหนจะรับไว้อยู่ มาปะทะกันเข้าก็จะพากันแตกลงมาด้วยกัน ทรงพระราชดำริเปลี่ยนกระบวนรบใหม่ในขณะนั้น จะเข้าตีโอบข้างข้าศึกในเวลาเมื่อไล่กองทัพไทยมา

จึงตรัสสั่งให้จมื่นทิพเสนา จมื่นราชามาตย์ขึ้นม้าเร็วรีบไปประกาศแก่พวกกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ ว่าอย่าให้รั้งรอรับข้าศึกเลย ให้เปิดหนีไปเถิด และให้ไปบอกตามกองทัพที่เตรียมไว้ให้เตรียมตัวออกรบรุกข้าศึก ฝ่ายพวกกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์ได้ทราบกระแสรับสั่ง ต่างก็รีบหนีเอาตัวรอดแตกกระจายไปไม่เป็นหมวดเป็นกอง ข้าศึกเห็นกองทัพไทยแตกฉานได้ทีก็รีบติดตามมาไม่หยุดยั้ง

สมเด็จพระนเรศวรสงบทัพหลวงรออยู่จนเวลาเช้า ๑๑ นาฬิกา เห็นข้าศึกไล่ตามมาไม่เป็นกระบวนสมคะเน ก็ตรัสสั่งให้บอกสัญญากองทัพทั้งปวงให้ยกออกตีโอบข้าศึก และในขณะนั้นส่วนพระองค์ก็เสด็จขึ้นทรงช้างชนะงาเหมือนกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ นำกองทัพหลวงเข้าตีโอบกองทัพหน้าข้าศึกในทันที

แต่ส่วนกองทัพท้าวพระยาเปลี่ยนกระบวนตามรับสั่งช้าบ้างเร็วบ้าง ยกไปไม่ทันเสด็จโดยมาก มีแต่กองทัพพระยาศรีหราชเดโชชัยกับกองทัพเจ้าพระยามหาเสนาซึ่งเป็นปีกขวาตามกองทัพหลวงเข้าจู่โจมตีข้าศึก

กองหน้าข้าศึกกำลังระเริงไล่มาโดยประมาท หมายแต่จะจับเอาช้างม้าเครื่องศัสตราวุธของไทย มิได้ระแวงว่าจะมีกองทัพไทยไปตีโอบ ก็เสียทีป่วนปั่นแล้วเลยแตกหนีเป็นอลม่าน

ขณะนั้นช้างพระที่นั่งที่สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงไป เป็นช้างชนะงากำลังตกมันทั้งสองช้าง ครั้นเห็นช้างข้าศึกกลับหน้าพากันหนีก็ออกแล่นไล่ไปโดยเมาน้ำมัน พาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถเข้าไปในกลางหมู่ข้าศึก มีแต่จตุลังคบาทกับทหารรักษาพระองค์ตามติดไป รี้พลที่รบไล่ข้าศึกตามช้างพระที่นั่งไม่ทัน เพราะในเวลานั้นกำลังรบพุ่งกันโกลาหนฝุ่นฟุ้งตลบจนมืดมัวไปทั่วทิศ พวกนายทัพนายกองไม่เห็นว่าช้างพระที่นั่งไปถึงไหน พวกข้าศึกก้ไม่เห็นพระองค์ถนัด แม้พระองค์สมเด็จพระนเรศวรเองก็ไม่ทรงทราบว่าไล่ข้าศึกไปถึงไหน

จนเวลาฝุ่นจางทอดพระเนตรไปเห็นพระมหาอุปราชาทรงพระคชาธารยืนพักช้างอยู่ในร่มไม้ กับช้างท้าวพระยาอีกหลายตัว จึงทรงทราบว่าช้างพระที่นั่งพาไล่เข้าไปจนถึงในกองทัพหลวงของข้าศึกซึ่งมิได้แตกฉาน

แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงมีพระสติมั่นไม่หวั่นหวาด คิดเห็นในทันทีว่าทางที่จะเอาชัยชนะได้ยังมีอยู่อย่างเดียว ก็ขับช้างพระที่นั่งตรงไปยังหน้าช้างพระมหาอุปราช แล้วร้องตรัสไปโดยฐานที่คุ้นเคยกันมาอย่างแต่ก่อนว่า "เจ้าพี่ จะยืนช้างอยู่ในร่มไม้ทำไม เชิญเสด็จมาทำยุทธหัตถีกันให้เป็นเกียรติยศเถิด กษัตริย์ภายหน้าที่จะชนช้างได้อย่างเราจะไม่มีแล้ว"

ขณะที่สมเด็จพระนเรศวรทรงท้าชนช้างนั้น ที่จริงเสด็จอยู่ท่ามกลางหมู่ข้าศึก มีแต่ช้างพระที่นั่งสองช้างกับพวกทหารรักษาพระองค์ไม่กี่คน ถ้าพระมหาอุปราชาไม่รับชนช้าง สั่งให้พวกกองทัพรุมรบพุ่งก็น่าจะไม่พ้นอันตราย แต่พระมหาอุปราชาพระหฤทัยก็เป็นวิสัยกษัตริย์เหมือนกัน เมื่อได้ฟังสมเด็จพระนเรศวรท้าชนช้างจะไม่รับก็ละอาย จึงทรงช้างพลายพัทธกอซึ่งเป็นช้างชนะงา ขับตรงออกมาชนกับเจ้าพระยาไชยานุภาพ ช้างทรงของสมเด็จพระนเรศวร

ฝ่ายเจ้าพระยาไชยานุภาพกำลังคลั่งน้ำมัน เห็นช้างข้าศึกตรงออกมาก็เข้าโถมแทงทันทีไม่ยับยั้ง เสียที พลายพัทธกอได้ล่างแบกรุนเอาเจ้าพระยาไชยานุภาพเบนจะขวางตัว พระมหาอุปราชาได้ทีก็ฟันด้วยพระแสงของ้าว

แต่สมเด็จพระนเรศวรเบี่ยงพระองค์หลบทัน ถูกแต่ชายพระมาลาหนังซึ่งทรงในวันนั้นบิ่นไป พอเจ้าพระยาไชยานุภาพสะบัดหลุดแล้วกลับชนได้ล่างแบกถนัด รุนเอาพลายพัทธกอหันเบนไป สมเด็จพระนเรศวารก็จ้วงฟันด้วยพระแสงของ้าวถูกพระมหาอุปราชาที่ไหล่ขวาขาด ซบสิ้นพระชนม์อยู่บนคอช้าง

ส่วนสมเด็จพระเอกาทศรถก็ได้ชนช้างกับเจ้าเมืองจาปะโร ฟันเจ้าเมืองจาปะโรตายเหมือนกัน

ท้าวพระยาเมืองหงสาวดีเห็นพระมหาอุปราชาเสียทีถูกฟัน ต่างก็กรูกันเข้ามาช่วยแก้ไข เอาปืนระดมยิงถูกพระหัตถ์ถึงบาดเจ็บ และถูกนายมหานุภาพควาญช้างพระที่นั่งกับหมื่นภักดีศวรกลางช้างสมเด็จพระเอกาทศรถตายทั้งสองคน

ขณะนั้น พอรี้พลกองทัพหลวงและกองทัพเจ้าพระยามหาเสนา พระยาสีหราชเดโชชัย ตามไปถึงทันเข้าก็เข้ารบพุ่ง แก้กันเอาสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถถอยออกมาพ้นจากกองทัพข้าศึกได้

ขณะนั้นการรบพุ่งคงหยุดลงเอง เพราะพวกเมืองหงสาวดีกำลังตกใจด้วยจอมพลสิ้นพระชนม์ ไม่มีใครจะบัญชาการศึก ก็คิดแต่จะพาพระศพกลับไป ข้างฝ่ายพวกกรุงศรีอยุธยาก็กำลังตกใจด้วยสมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาทศรถถูกล้อมรบจวนเป็นอันตราย เพิ่งแก้เอาออกมาได้ ก็หมายแต่จะพามาให้พ้นภัย ทั้งกองทัพที่ตามไปก็ไม่พรักพร้อมกัน จึงพากันทูลขอให้เสด็จกลับมาค่ายหลวง เห็นจะต้องมาจัดกองทัพเสียเวลาอยู่สักวันหนึ่งหรือสองวัน จึงได้ยกไปตามข้าศึก

แต่ข้าศึกรีบล่าถอยไปเสียก่อนมากแล้ว ทันแต่กองทัพที่รั้งหลัง ณ เมืองกาญจนบุรีก็ตีแตกพ่ายไป ได้ช้างม้าเครื่องศัสตราวุธ และจับตัวเจ้าเมืองมะลวน ซึ่งเป็นควาญช้างทรงของพระมหาอุปราชามาได้ด้วย ไทยเห็นจะรู้รายการทัพทางฝ่ายหงสาวดีจากคำให้การของเจ้าเมืองมะลวน แล้วสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ปล่อยตัวไป ให้ไปทูลพรรณนาถวายพระเจ้าหงสาวดีถึงที่พระมหาอุปราชามาทำยุทธหัตถีนั้น

แม้สมเด็จพระนเรศวรเคยมีชัยชนะมาหลายครั้งแล้ว แต่ชนะครั้งอื่นไม่สำคัญเหมือนชนะยุทธหัตถีครั้งนี้ เพราะในชมพูทวีปถือกันเป็นคติมาแต่ดึกดำบรรพ์ว่า การชนช้างเป็นยอดความสามารถของนักรบด้วยเป็นการต่อสู้กันตัวต่อตัว แพ้ชนะกันแต่ด้วยความคล่องแคล่วกล้ากับชำนิชำนาญการขับขี่ช้างชน มิได้อาศัยกำลังรี้พลหรือกลอุบายอย่างใด เพราะฉะนั้นถ้ากษัตริย์พระองค์ใดทำยุทธหัตถีมีชัยชนะ ก็นับถือว่ามีพระเกียรติยศอย่างสูงสุด ถึงผู้แพ้ก็ยกย่องว่าเป็นนักรบแท้ มิได้ติเตียนเลย คติที่กล่าวมานี้ก็เป็นความนิยมของไทยเหมือนกับชาติอื่น

พระเกียรติยศของสมเด็จพระนเรศวรจึงถึงที่เป็นวีรกษัตริย์ สมบูรณ์เมื่อมีชัยชนะครั้งนี้ แม้เครื่องทรงเมื่อทำยุทธหัตถีคือ พระมาลา ก็ได้นามว่า "พระมาลาเบี่ยง" พระแสงที่ฟันพระมหาอุปราชาก็ได้นามว่า "พระแสงของ้าวเจ้าพระยาแสนพลพ่าย" นับในเครื่องราชูปโภคศักดิ์สิทธิ์ด้วยกันกับ "พระแสงปืนข้ามแม่น้ำสะโตง" และ "พระแสงดาบคาบค่าย" ซึ่งกล่าวมาแล้วสืบต่อมาในเมืองไทยทุกรัชกาล

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับถึงพระนคร ยังทรงโทมนัสที่ไม่สามารถจะตีกองทัพข้าศึกให้แตกยับเยินไปได้หมดเหมือนครั้งก่อน เพราะเหตุที่กองทัพท้าวพระยาไม่ตามเสด็จไปให้ทันรบพุ่งพร้อมกันตามรับสั่ง จึงให้ลูกขุนพิจารณาพิพากษาโทษแม่ทัพนายกองตามอัยการศึก

ลูกขุนปรึกษาวางบทว่า พระยาศรีไสยณรงค์มีความผิดฐานบังอาจฝ่าฝืนพระราชโองการไปรบพุ่งข้าศึกโดยพลการจนเสียทีทัพแตกมา และเจ้าพระยาจักรี พระยาพระคลัง พระยาเทพอรชุน พระยาพิชัยสงคราม พระยารามคำแหง มีความผิดฐานละเลยไม่ตามเสด็จให้ทันตามรับสั่ง โทษถึงประหารชีวิตทั้ง ๖ คน ดำรัสสั่งให้เอาตัวไปจำตรุไว้ พอพ้นวันพระแล้วให้เอาไปประหารชีวิตเสียตามคำลูกขุนพิพากษา

แต่เมื่อมหาสังฆนายกวันแรม ๑๔ ค่ำ เดือนยี่ ก่อนวันพระ สมเด็จพระวันรัตนวัดป่าแก้วกับพระราชาคณะรวม ๒๕ รูป เข้าไปถามข่าวถึงการที่เสด็จสงครามตามประเพณี สมเด็จพระนเรศวรตรัสเล่าแถลงการทั้งปวง ตั้งแต่ต้นจนได้ทำยุทธหัตถีมีชัยชนะพระมหาอุปราชา ให้พระราชาคณะทั้งปวงฟัง (ต่อไปนี้คัดสำนวนในหนังสือพระราชพงศาวดารมาลงบางแห่ง ตามที่หมายสำคัญไว้)

สมเด็จพระวันรัตน ถวายพระพรถามว่า "สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารเจ้ามีชัยแก่ข้าศึก เหตุไฉนข้าราชการทั้งปวงจึงต้องราชทัณฑ์เล่า"

สมเด็จพระนเรศวรตรัสตอบว่า " นายทัพนายกองเหล่านี้มันกลัวข้าศึกมากกว่ากลัวโยม ละให้แต่โยมสองคนพี่น้องฝ่าเข้าไปในท่ามกลางศึก จนได้ทำยุทธหัตถีกับพระมหาอุปราชา ต่อมีชัยชนะกลับมาจึงได้เห็นหน้ามัน นี่หากว่าโยมยังไม่ถึงที่ตาย หาไม่แผ่นดินก็จะเป็นของชาวหงสาวดีเสียแล้ว เพราะเหตุนี้โยมจึงให้ลงโทษมันตามอาญาศึก"

สมเด็จพระวันรัตนจึงถวายพระพร "อาตมาภาพพิเคราะห์ดูข้าราชการเหล่านี้ ที่จะไม่กลัวพระราชสมภารเจ้านั้นหามิได้ เหตุทั้งนี้เห็นจะเผอิญเป็น เพื่อจะให้พระเกียรติยศพระราชสมภารเจ้าเป็นมหัศจรรย์ดอก เหมือนสมเด็จพระสรรเพ็ชญ์พุทธเจ้าเมื่อ (วันจะตรัสรู้พระโพธิญาณ) พระองค์เสด็จเหนืออปราชิตบัลลังก์ใต้ควงไม้พระมหาโพธิ ณ เพลาสายัณห์ครั้งนั้น เทพเจ้าก็มาเฝ้าพร้อมอยู่ทั้งหมื่นจักรวาล พระยาวัสวดีมารยกพลเสนามาผจญ ถ้าพระพุทธองค์ได้เทพเจ้าเป็นบริวารมีชัยแก่พระยามาร ก็จะหาสู้เป็นมหัศจรรย์นักไม่ นี่เผอิญให้หมู่อมรอินทร์พรหมทั้งปวงปลาศนาการหนีไปสิ้น ยังแต่พระองค์เดียว อาจสามารถผจญพระยามาราธิราชกับพลเสนามารให้ปราชัยพ่ายแพ้ได้ สมเด็จพระบรมโลกนาถเจ้าจึงได้พระนามว่า พระพิชิตมารโมลีศรีสรรเพชดาญาณ เป็นมหามหัศจรรย์บันดาลไปทั่วอนันตโลกธาตุ เบื้องบนตราบเท่าถึงภวัคพรหม เบื้องต่ำตลอดถึงอโธภาคอเวจีเป็นที่สุด พิเคราะห์ดูก็เหมือนพระราชสมถารเจ้าทั้งสองพระองค์ครั้งนี้ ถ้าเสด็จพร้อมด้วยเสนางคนิกรโยธาทวยหาญมาก และมีชัยแก่พระมหาอุปราชา ก็จะหาสู้เป็นมหัศจรรย์แก่พระเกียรติยศ ให้ปรากฏไปในนานาประเทศธานีใหญ่น้อยทั้งปวงไม่ พระราชสมภารเจ้าอย่าทรงพระปิริวิตกน้อยพระทัยเลย อันเหตุที่เป็นทั้งนี้ เพื่อเทพยเจ้าทั้งปวงอันรักษาพระองค์จักสำแดงพระเกียรติยศ ดุจอาตมาภาพถวายพระพรเป็นแท้"

สมเด็จพระนเรศวรเป็นเจ้าได้ทรงฟังสมเด็จพระวันรัตนถวายวิสัชนากว้างขวาง ออกพระนามสมเด็จพระบรมอัครโมลีโลกครั้งนั้น ระลึกถึงพระคุณนามอันยิ่ง ก็ทรงพระปีติโสมนัสตื้นเต็มพระกมลหฤทัยปราโมทย์ ยกพระกรประณมเหนือพระอุตตมางคศิโรตม์นมัสการ แย้มพระโอษฐ์ว่า "สาธุ สาธุ พระผู้เป็นเจ้าว่านี้ควรหนักหนา"

สมเด็จพระวันรัตนเห็นว่าพระมหากษัตริย์คลายพระพิโรธแล้ว จึงถวายพระพรว่า "อาตมาภาพพระราชาคณะทั้งปวง เห็นว่าข้าราชการซึ่งเป็นโทษเหล่านี้ก็ผิดหนักหนาอยู่แล้ว แต่ทว่าได้ทำราชการมาแต่ครั้งสมเด็จพระบรมอัยกาธิราช และสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง ทั้งทำราชการในใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทของพระราชสมภารเจ้าแต่เดิมมา ดุจพุทธบรษัทของสมเด็จบรมครูก็เหมือนกัน อาตภาพทั้งปวงขอพระราชทานโทษคนเหล่านี้ไว้สักครั้งหนึ่งเถิด จะได้ทำราชการฉลองพระเดชพระคุณสืบไป"

สมเด็จพระนเรศแวรตรัสตอบว่า "พระผู้เป็นเจ้าขอแล้ว โยมก็จะถวาย แต่ทว่าจะต้องให้ไปตีเอาเมืองตะนาวศรี เมืองทะวาย แก้ตัวก่อน"

สมเด็จพระวันรัตนถวายพระพรว่า "การซึ่งจะใช้ไปตีบ้านเมืองนั้น ก็สุดแต่พระราชสมภารเจ้าจะสงเคราะห์ มิใช่กิจของอาตมาภาพทั้งปวงอันเป็นสมณะ"

ยังมีของโบราณปรากฏอยู่บางสิ่ง ซึ่งชวนให้เห็นว่าเมื่อสมเด็จพระวันรัตนทูลขอโทษข้าราชการแล้ว ได้ทูลแนะนำสมเด็จพระนเรศวรให้เฉลิมพระเกียรติที่มีชัยครั้งนั้นด้วยทรงบำเพ็ญกุศลกรรม และคงยกเรื่องประวัติพระเจ้าทุษฐคามนีมหาราช อันมีในคัมภีร์มหาวงศ์พงศาวดารลังกาทวีปมาทูลถวายเป็นตัวอย่าง

ในเรื่องนั้นว่า เมื่อ พ.ศ. ๓๓๘ พวกทมิฬมิจฉาทิฏฐิยกกองทัพข้ามจากชมพูทวีปมาตีได้เกาะลังกา แล้วครอบครองบ้านเมืองอยู่หลายปี ทุษฐคามนีกุมารราชโอรสของพระเจ้ากากะวรรดิศ ซึ่งเป็นกษัตริย์สิงหลถือพระพุทธศาสนา หนีไปอยู่บนเขา พยายามรวบรวมรี้พลยกไปตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบพระยาเอฬาระทมิฬซึ่งครองเมืองลังกาถึงชนช้างกันตัวต่อตัวที่ชานเมืองอนุราธบุรีราชธานี ทุษฐคามนีกุมารมีชัยชนะฆ่าพระยาเอฬาระทมิฬตายกับคอช้าง ได้เมืองลังกาคืนจากพวกมิจฉาทิฏฐิ มีพระเกียรติเป็นมหาราชสืบมาในพงศาวดาร

และเมื่อพระเจ้าทุษฐคามนีทำยุทธหัตถีมีชัยครั้งนั้น โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้นไว้เป็นอนุสรณ์ตรงที่ชนช้างกับพระยาเอฬาระทมิฬองค์หนึ่ง แล้วให้สร้างพระมหาสถูปอันมีนามว่า มริจิวัตรเจดีย์ ขึ้นในเมืองราธบุรีอีกองค์หนึ่ง เฉลิมพระเกียรติปรากฏสืบมากว่าพันปี

สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริเห็นชอบด้วย จึงโปรดให้สร้างพระสถูปเป็นอนุสรณ์ไว้ในทุ่งหนองสาหร่าย ตรงที่ทำยุธทหัตถีกับพระมหาอุปราชาองค์หนึ่ง และทรงสร้างพระมหาสถูปขึ้นที่วัดป่าแก้วขนานนามว่า ชัยมงคลเจดีย์ อีกองค์หนึ่ง (คือพระเจดีย์องค์ใหญ่ที่อยู่ทางฝ่ายตะวันออกทางรถไฟ แลเห็นเมื่อก่อนเข้าเขตพระนครศรีอยุธยา)

นอกจากนั้นปรากฏในหนังสือพระราชพงศาวดาร และในกฏหมายลักษณะกบฏศึก ว่าพระราชทานบำเหน็จแก่ข้าราชการที่ได้ตามเสด็จไปรบครั้งนั้นตามความชอบทั่วกัน ตลอดจนถึงพวกไพร่พลที่ได้รบพุ่งครั้งนั้น โปรดให้ยกส่วยและอากรที่ติดค้างพระราชทาน ผู้ไปตายในที่รบก็โปรดให้เอาลูกและพี่น้องมาเลี้ยง ถ้ามีหนี้หลวงติดค้างก็ยกพระราชทานมิให้เรียกจากครอบครัว แม้จนผู้ที่ถวายลูกหลานให้ไปรบพุ่ง ถ้าเป็นหนี้หลวงก็ยกพระราชทานเหมือนกัน คงจะมีอย่างอื่นอีก ทั้งการพระราชกุศลที่ทรงบำเพ็ญ และบำเหน็จที่ทรงพระราชทานครั้งนั้น แม้เจ้าพระยาไชยานุภาพช้างพระที่นั่งที่ชนชนะ ก็โปรดให้เปลี่ยนนามเพิ่มเกียรติเป็น เจ้าพระยาปราบหงสาวดี ตามประเพณีโบราณ ให้สมกับเป็นมงคลหัตถีในการสงครามครั้งนั้น

ในปลายปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ นั้น สมเด็จพระนเรศวรดำรัสสั่งให้เจ้าพระยาจักรีเป็นแม่ทัพคุมพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองตะนาวศรีทัพ ๑ ให้พระยาพระคลังเป็นแม่ทัพคุมพล ๕๐,๐๐๐ ไปตีเมืองทะวายทัพ ๑ แก้ตัวที่ได้มีความผิด พวกข้าราชการที่มีความผิดครั้งเดียวกันก็ให้เข้ากองทัพไปด้วยทั้ง ๒ ทาง

เมืองตะนาวศรีและเมืองทะวายนั้น เคยเป็นเมืองขึ้นของไทยมาแต่ครั้งกรุงสุโขทัย พม่าชิงเอาไปเมื่อพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองตีได้กรุงศรีอยุธยา ด้วยเหตุนั้นพอมีโอกาส สมเด็จพระนเรศวรจึงให้ไปตีเอากลับคืน

แต่เมืองทั้งสองนี้การปกครองผิดกัน เมืองทะวายอยู่ต่อแดนเมืองมอญข้างเหนือเมืองตะนาวศรี ไพร่บ้านพลเมืองเป็นทะวายชาติหนึ่งต่างหาก การปกครองเคยตั้งทะวายเป็นเจ้าเมืองกรมการทั้งหมด จึงเป็นแต่ขึ้นกรุงฯเหมือนอย่างเป็นประเทศราชอันหนึ่ง ไม่สนิทนัก

ส่วนเมืองตะนาวศรีซึ่งอยู่ใต้เมืองทะวายลงมาต่อกับเมืองชุมพรนั้น ไพร่บ้านพลเมืองมีทั้งพวกเมงและไทยปะปนกัน และมีเหตุอีกอย่างหนึ่งด้วยเมืองตะนาวศรีมีเมืองมะริดเป็นเมืองขึ้น ตั้งอยู่ที่ริมทะเล เป็นเมืองท่าสำหรับเรือกำปั่นแขกฝรั่งไปมาค้าขายและขนส่งสินค้ามาทางบกถึงกรุงศรีอยุธยาได้สะดวก เพราะฉะนั้นจึงตั้งข้าราชการไทยออกไปเป็นเจ้าเมืองตะนาวศรีอย่างเมืองพระยามหานครแต่โบราณ

เมื่อพม่าชิงเอาเมืองทะวายเมืองตะนาวศรีไปก็เอาแบบอย่างไทยไปปกครอง คือให้พวกทะวายปกครองกันเอง และให้ข้าราชการพม่าลงมาครองเมืองตระนาวศรีกับเมืองมะริด

เมื่อพม่าเจ้าเมืองมะริดได้ข่าวว่ากองทัพไทยจะยกไปตีเมืองก็รีบบอกขึ้นไปยังเมืองหงสาวดี เวลานั้นพระเจ้าหงสาวดีก็กำลังกริ้วพวกท้าวพระยาที่มาในกองทัพพระมหาอุปราชา ว่าปล่อยให้พระราชโอรสเป็นอันตราย จึงตรัสสั่งให้ท้าวพระยาเหล่านั้นคุมกองทัพลงมารักษาเมืองทะวาย เมืองตะนาวศรี เพื่อรบกับไทยแก้ตัวใหม่

แต่เมื่อขณะกำลังเกณฑ์ทัพอยู่ที่เมืองหงสาวดีนั้น เจ้าพระยาจักรียกไปถึงเมืองตะนาวศรีก่อน ให้กองทัพล้อมเมืองไว้ พม่าเจ้าเมืองตะนาวศรีต่อสู้อยู่ได้ ๑๕ วัน ก็เสียเมืองแก่เจ้าพระยาจักรี ส่วนกองทัพพระยาพระคลังซึ่งยกไปตีเมืองทะวาย ได้รบพุ่งกับข้าศึกที่ด้านเชิงเขาบรรทัด บ้านหวุ่นโพะ กองทัพไทยเห็นพม่ายกถลำเข้ามาในที่ซุ่ม ก็ออกระดมตีทั้ง ๒ ทัพ ข้าศึกไม่รู้ตัวก็แตกฉานยับเยิน เสียช้างม้าผู้คนและเครื่องศัสตราวุธแก่ไทยเป็นอันมาก ไทยจับได้นายทัพนายกอง ๑๑ คน ไพร่พลกว่า ๔๐๐ คน เป็นเสร็จการรบได้เมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีกลับคืนมาเป็นของไทยดังแต่ก่อน

ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์เมื่อปีขาล พ.ศ. ๒๑๓๓ ยังเสด็จประทับอยู่ที่วังจันทร์ต่อมาอีก ๒ ปี จนตีได้เมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีแล้ว จึงทำพิธีเฉลิมพระราชมนเทียร เสด็จไปประทับในราชวังหลวงเมื่อเดือน ๑๐ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖ แล้วโปรดให้กลับตั้งหัวเมืองเหนือซึ่งได้ทิ้งให้ร้างอยู่ ๘ ปีขึ้นอย่างเดิม และทรงตั้งข้าราชการที่มีความชอบเป็นเจ้าเมือง คือให้พระยาชัยบุรี(น่าจะเป็นคนเดียวกับพระชัยบุรี หทารเอกที่เป็นข้าหลวงเดิม เคยรบพุ่งมาแต่แรก)เป็นเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ เจ้าเมืองพิษณุโลก ให้พระยาศรีไสยณรงค์(ดูก็น่าจะเป็นคนเดียวกับพระศรีถมอรัตน ทหารเอกที่เคยเป็นคู่กับพระชัยบุรี)เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี ให้พระศรีเสาวราชเป็นเจ้าเมืองสุโขทัย ให้พระองค์ทองราชนิกุลเป็นเจ้าเมืองพิชัย และให้หลวงจ่า(แสนย์)เป็นเจ้าเมืองสวรรคโลก ส่วนพวกที่ไปรบพุ่งแก้ตัวจนได้เมืองทะวายเมืองตะนาวศรี มีเจ้าพระยาจักรีและพระยาพระคลังเป็นต้น ก็คงได้รับบำเหน็จตามสมควรแก่ความชอบทั่วกัน


(๓)

พอเสร็จสงครามตีเมืองทะวายเมืองตะนาวศรีแล้ว สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมร ในปลายปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖ นั้น ตามที่มุ่งหมายมาช้านาน ด้วยเมืองเขมรเดิมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอุธยาอยู่แต่ก่อน ครั้นเมืองไทยถึงยุคเข็ญเมื่อรบแพ้พระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง พระบรมราชาเจ้ากรุงกัมพูชาก็เป็นกบฏ บังอาจเข้ามาตีเมืองไทยซ้ำเติมในเวลาเมื่อกำลังปลกเปลี้ยเป็นหลายครั้งดังกล่าวมาแล้ว

ครั้นสมเด็จพระนเรศวรทรงสามารถกลับตั้งเมืองไทยเป็นอิสระขึ้นได้ นักพระสัฏฐาซึ่งได้ครองกรุงกัมพูชาต่อพระบรมราชา เกรงว่าไทยจะออกไปตีเมืองเขมรแก้แค้น จึงแต่งทูตให้เข้ามาขอเป็นทางไมตรีดีกับไทย แต่เป็นอย่างประเทศเสมอกัน เวลานั้นไทยกำลังเตรียมจะต่อสู้ศึกหงสาวดี สมเด็จพระมหาธรรมราชาฯไม่อยากจะให้เขมรเป็นข้าศึกอยู่อีกฝ่ายหนึ่ง ก็ทรงรับทางไมตรีของเขมร ด้วยเหตุนั้นนักพระสัฏฐาจึงให้พระศรีสุพรรณมาธิราช ซึ่งเป็นอนุชาเข้ามาเจริญทางพระราชไมตรีและยังอยู่ในกรุงศรีอยุธยา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรรบชนะพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ พระสณีสุพรรณมาธิราชเห็นจะตามเสด็จสมเด็จพระมหาธรรมราชาฯขึ้นไปรับสมเด็จพระนเรศวรด้วย แต่เมื่อเรือลำทรงของสมเด็จพระนเรศวรผ่านมา พระศรีสุพรรณมาธิราชนั่งดูอย่างวางตัวตีเสมอ ก็ทำให้สมเด็จพระนเรศวรทรงขัดเคืองอีกครั้งหนึ่ง

แต่มาทรงขัดเคืองถึงที่สุดเมื่อครั้งพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงยกกองทัพใหญ่มาล้อมพระนคร พอนักพระสัฏฐาเจ้ากรุงกัมพูชารู้ว่ากรุงศรีอยุธยาตกอยู่ในที่ยาก คาดว่าไทยคงเสียบ้านเมืองอีก ก็ทิ้งทางไมตรี แต่งกองทัพเข้ามาเที่ยวปล้นทรัพย์จับคนในเมืองไทย ทางแขวงเมืองปราจีนฯไปเป็นเชลย เหมือนเช่นเคยทำมาก่อน

สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงแค้นถึงตรัสปฏิญาณว่า จะตีเมืองเขมรจับนักพระสัฏฐาฆ่าเสียให้จงได้ พอเสร็จศึกคราวพระมหาอุปราชาครั้งแรก ก็ตรัสเตรียมทัพหมายจะเสด็จไปตีเมืองเขมรเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๓๕ แต่มีศึกพระมหาอุปราชายกเข้ามาอีกในปีมะโรงนั้น จึงต้องรอการตีเมืองเขมรมาจนปลายปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๓๖

กระบวนที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองเขมรครั้งนี้ ดำรัสสั่งให้เกณฑ์พลเมืองนครนายก เมืองปราจีน เมืองฉะเชิงเทราและเมืองสระบุรี เข้าเป็นกองทัพ ให้พระยานครนายกเป็นนายพล ไปด้วยกันกับเจ้าเมืองอีก ๓ เมืองนั้น ยกไปตั้งค่ายปลูกยุ้งฉางรวบรวมเสบียงอาหารเตรียมไว้ ณ ตำบลทำนบในหนทางที่กองทัพใหญ่จะยกไปเมืองเขมร (จะอยู่ในเขตเมืองไหนไม่รู้แน่ แต่คงใกล้กับแดนเขมร)ทัพ ๑ ให้เกณฑ์พลเมืองปักษ์ใต้ตั้งแต่เมืองสงขลาขึ้นมาจนเมืองเพชรบุรีเป็นกองทัพเรือ ให้พระยาเพชรบุรีเป็นนายพลคุมเรือลำเลียงเสบียงอาหารไปขึ้นที่เมืองป่าสัก ในแดนเขมรทัพ ๑ ให้พระยาราชวังสันเป็นนายพล คุมทัพเรือพวกอาสาลงไปตีเมืองบันทายมาศขึ้นมาทางใต้ทัพ ๑ กองทัพบกนั้นให้เจ้าพระยานครราชศรีมา เกณฑ์พลในเมืองนั้นเข้ากองทัพยกลงไปทางเมืองเสียมราฐทาง ๑ ส่วนกองทัพหลวงตั้งประชุมพลที่ทุ่งหันตราชานพระนคร โปรดให้พระยาราชมนู (ทหารเอก เห็นจะเป็นพระยามาแต่ครั้งรบที่บ้านสระเกศ ดังกล่าวมาแล้ว)คุมทัพหน้า สมเด็จพระนเรศวรกับสมเด็จพระเอกาเสด็จเป็นกองหลวง กำหนดนัดกองทัพทังปวงให้ไปประจบกันที่เมืองละแวก ราชธานีของกัมพูชา

สมเด็จพระนเรศวรออกจากพระนคร เมื่อวันเสาร์ เดือนอ้าย ขึ้น ๒ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘ ยกกองทัพหลวงไปทางเมืองปราจีน เมื่อถึงค่ายตำบลทำนบ ตรัสสั่งให้กองทัพพระยานครนายกเข้าสมทบในกองทัพหลวงยกต่อไป

ทางฝ่ายเขมรครั้งนั้นก็เตรียมต่อสู้แข็งแรง ปรากฏว่าในหนทางที่กองทัพหลวงจะยกเข้าไปในแดนเขมรนั้น มีกองทัพพระยามโนไมตรีตั้งรับอยู่ที่เมืองพระตะบองแห่ง ๑ ต่อเข้าไปมีกองทัพพระสวรรคโลกตั้งรับอยู่ที่เมืองโพธิสัตว์อีกแห่ง ๑ และที่สุดก่อนจะถึงเมืองละแวก มีกองทัพใหญ่ของพระศรีสุพรรณมาธิราชตั้งรับอยู่ที่เมืองบริบูรณ์อีกแห่ง ๑ ทางอื่นก็มีกองทัพพระยาจีนจันตุ (จะเป็นคนเดียวกับที่เคยหนีไปจากเมืองไทยหรือมิใช่ สงสัยอยู่) ตั้งรักษาเมืองบันทายมาศแห่ง ๑ กองทัพพระยาวงศาธิราชตั้งรกษาเมืองป่าสักแห่ง ๑ กองทัพพระยาภิมุขวงศาตั้งอยู่ที่เมืองพนมเปญ เป็นเขื่อนของเมืองละแวกอีกแห่ง ๑

กองทัพไทยยกลงไปถึงเมืองพระตะบอง เห็นเขมรเป็นแต่ตั้งมั่นรักษาเมืองอยู่ พระยาราชมนูก็เข้าตีเมืองพระตะบองได้โดยง่าย และจับตัวพระยามโนไมตรีได้ด้วย

เมื่อไปถึงเมืองโพธิสัตว์ พระยาสวรรคโลกยกกองทัพออกต่อสู้นอกเมือง ได้รบกันถึงตะลุมบอน พระยาราชมนูรบชนะตีได้เมืองโพธิสัตว์อีกเมือง ๑

แต่ที่เมืองบริบูรณ์กองทัพพระศรีสุพรรณมาธิราช ที่ตั้งรักษาเมืองบริบูรณ์เป็นกองทัพใหญ่ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริว่า กำลังกองทัพพระยาราชมนูจะตีให้แตกไม่ได้ จึงเสด็จยกกองทัพหลวงติดตามไป พวกข้าศึกออกตั้งสู้นอกเมืองแห่งหนึ่ง กองทัพไทยตีแตกหนีไป แต่นั้นพระศรีสุพรรณมาธิราชเป็นแต่ตั้งมั่นอยู่ในเมือง สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้ล้อมเมือง แล้วตีหักเข้าไปทุกด้านพร้อมกันในวันเดียวก็ได้เมืองบริบูรณ์ แต่ตัวพระศรีสุพรรณมาธิราชหนีไปเมืองละแวกได้

ฝ่ายกองทัพไทยที่ยกไปทางอื่น กองทัพพระยาราชวังสันไปถึงเมืองบันทายมาศ ได้รบกับพระยาจีนจันตุ พระยาจีนจันตุตายในที่รบ ก็ได้เมืองนั้น

ฝ่ายกองทัพพระยาเพชรบุรียกไปถึงเมืองป่าสัก ได้รบกับกองทัพเรือของพระยาวงศาธิราช พระยาวงศาธิราชถูกปืนใหญ่ตายในที่รบก้ได้เมืองป่าสัก แล้วรวบรวมเรือยกต่อขึ้นไปถึงเมืองปากกะสัง กำลังพระยาราชวังสันกับพระยาภิมุขวงศารบติดพันกันอยู่ พระยาเพชรบุรีก็เข้าช่วยตีกระหนาบ ข้าศึกก็แตกหนีไป พระยาทั้งสองจึงสมทบกันขึ้นไปยังเมืองละแวกทางข้างใต้

ฝ่ายกองทัพเจ้าพระยานครราชสีมาซึ่งยกไปทางเมืองเสียมราฐนั้น ไม่ปรากฏว่ามีข้าศึกต่อสู้ก็ไปถึงเมืองละแวกทางด้านตะวันออกได้โดยง่าย

เวลากองทัพไทยยกลงไปครั้งนั้น พวกไทยที่ถูกเขมรจับเอาไปเป็นเชลยแต่ก่อน คงพากันมาหากองทัพ เห็นจะได้รี้พลเพิ่มขึ้นอีกไม่น้อย พอกองทัพไทยไปถึงเมืองละแวกพร้อมกันแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสสั่งให้เข้าตั้งประชิดติดไว้ทุกด้าน และให้เตรียมตีหักเอาด้วยกำลัง

ครั้นถึงเดือน ๕ ๒ ค่ำ ปีมะเมีย พ.ศ. ๒๑๓๗ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระคชาธารออกบัญชาการรบเอง พอดึกเวลา ๔ นาฬิกาก็ให้สัญญากองทัพให้ตีเมืองพร้อมกันทุกด้าน ข้าศึกต่อสู้ต้องรบพุ่งกันเป็นสามารถ แต่พอรุ่งสว่างกองทัพไทยก็เข้าเมืองได้ และจับได้ทั้งนักพระสัฏฐาเจ้ากรุงกัมพูชา และพระศรีสุพรรณมาธิราช

เมื่อได้เมืองละแวกแล้ว สมเด็จพระนเรศวรตรัสสั่งให้ทำพิธีปฐมกรรมและเอาตัวนักพระสัฏฐาไปประหารชีวิตเสียตามที่ได้ทรงปฏิญาณไว้ แล้วให้ริบทรัพย์จับผู้คนเอามาเป็นเชลยศึกตามประเพณีสงครามสมัยนั้น โดยตีเมืองได้โดยต้องรบ แต่พระศรีสุพรรณมาธิราชโปรดให้เอาตัวมาไว้ในกรุงศรีอยุธยา

ในพงศาวดารเขมรว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงตีเมืองเขมรได้แล้ว โปรดให้พระมหามนตรีอยู่รักษากัมพูชา ถ้าเช่นนั้นก็เป็นชั่วคราว ในเวลาบ้านเมืองกำลังเป็นจลาจล ด้วยปรากฏต่อมาว่า ไม่ช้าก็โปรดให้ราชบุตรนักพระสัฏฐาทรงพระนามว่า พระศรีสุธรรมราชา ครองกรุงกัมพูชา แต่นั้นเมืองเขมรก็กลับเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาเหมือนแต่ก่อนมา

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองเขมรได้แล้ว ต่อมาในไม่ถึงปีพระยาศรีไสยณรงค์เจ้าเมืองตะนาวศรีก็เป็นกบฏ ดูเป็นการใหญ่โต ถึงสมเด็จพระเอกาทศรถต้องเสด็จยกกองทัพลงไปปราบปราม พิเคราะห์ดูน่าพิศวง ด้วยพระยาศรีไสยณรงค์เป็นข้าหลวงเดิมของสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงชุบเลี้ยงและเคยรบศัตรูเป็นคู่พระราชหฤทัยมาแต่แรก ไฉนจึงมาคิดทรยศเป็นกบฏต่อเจ้านายของตนเอง

อีกประการหนึ่งพระยาศรีไสยณรงค์เป็นแต่เจ้าเมืองๆหนึ่ง จะเอากำลังที่ไหนมาต่อสู้กองทัพในกรุงกับหัวเมืองอื่นที่จะยกไปปราบปราม จะหมายพึ่งต่างประเทศ เมืองตะนาวศรีก็มิได้อยู่ติดต่อกับประเทศไหน ที่ตั้งแข็งเมืองเป็นกบฏก็เหมือนวางบทโทษประหารชีวิตตนเอง แม้พระยาศรีไสยณรงค์สิ้นความจงรักภักดีต่อสมเด็จพระนเรศวร ก็ต้องคิดถึงความปลอดภัยของตนเองก่อน

ที่ว่าเป็นกบฏลอยๆจึงน่าสงสัยจะไม่ตรงกับความจริง พิจารณาดูเรื่องประวัติของพระยาศรีไสยณรงค์ที่ปรากฏในพงศาวดาร ประกอบกับรายการที่ปรากฏเมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จลงไปตีเมืองตะนาวศรีครั้งนั้น ความยุติต้องกัน เห็นว่าเรื่องที่จริงน่าจะเป็นดังต่อไปนี้

พระยาศรีไสยณรงค์เป็นทหารรุ่นแรกของสมเด็จพระนเรศวร คู่กันกับพระยาชัยบูรณ์มาแต่ยังทรงครองพิษณุโลก เมื่อพระยาชัยบูรณ์เป็นที่พระชัยบุรี และพระยาศรีไสยณรงค์เป็นที่พระศรีถมอรัตน ได้ไปรบชนะเขมรที่เมืองนครราชสีมาด้วยกันทั้ง ๒ คนครั้งหนึ่ง

ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรทรงประกาศอิสรภาพของเมืองไทยแล้ว โปรดให้คุมพลไปขับไล่กองทัพพม่าไปจากเมืองกำแพงเพชรด้วยกันทั้ง ๒ คน ได้รบกับข้าศึกถึงชนช้างมีชัยชนะอีกครั้งหนึ่ง

คงเป็นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสวยราชย์ โปรดให้เลื่อนยศพระชัยบุรีขึ้นเป็นพระยาชัยบูรณ์ และเลื่อนยศพระศรีถมอรัตนเป็นพระยาศรีไสยณรงค์ ต่อมาถึงครั้งสมเด็จพระนเรศวรรบพระเจ้าเชียงใหม่ที่บ้านสระเกศ มีชื่อทหารเอกปรากฏขึ้นอีกคนหนึ่ง พระราชมนูซึ่งคุมกองทัพหน้าในครั้งนั้นเห็นจะเป็นคนรุ่นหลัง และบางทีจะได้เคยเป็นตัวรองอยู่ในบังคับบัญชาของพระยาศรีไสยณรงค์มาแต่ก่อน ทหารเอกของสมเด็จพระนเรศวรที่ถึงขึ้นชื่อในพงศาวดารจึงมี ๓ คนด้วยกัน

เมื่อครั้งพระมหาอุปราชาหงสาวดีมาตีเมืองไทยคราวชนช้าง พอได้ข่าวว่าข้าศึกยกเข้าแดนเมืองกาญจนบุรี สมเด็จพระนเรศวรก็โปรดให้พระยาศรีไสยณรงค์ยกกองทัพหน้ารุกออกไปตั้งสกัดข้าศึกที่ตำบลดอนระฆัง ตรัสสั่งพระยาศรีไสยณรงค์ไปว่า ให้สืบกำลังข้าศึกและกระบวนทัพที่ข้าศึกยกมา บอกกราบทูลเป็นสำคัญ ถ้าเห็นข้าศึกยกมามาก ให้พระยาศรีไสยณรงค์ถอยมาหาทัพหลวงอย่าให้รบ แต่พระยาศรีไสยณรงค์จะเข้าใจกระแสรับสั่งผิด หรืออุกอาจโดยนิสัยของตนอย่างใดอย่างหนึ่ง

พอกองทัพหน้าของข้าศึกยกมาใกล้ก็สั่งให้เข้าระดมตี ไม่ล่าถอยตามรับสั่ง ข้าศึกมีกำลังมากกว่าก็ตีกองทัพพระยาศรีไสยณรงค์แตกพ่าย เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรต้องทรงเปลี่ยนกระบวนรบในปัจจุบันทันด่วนจนโกลาหลอลหม่าน พระยาศรีไสยณรงค์อยู่ในพวกนายทัพนายกองที่ทำความผิดต้องระวางโทษถึงตาย แต่สมเด็จพระวันรัตนทูลขอชีวิตไว้ได้ด้วยกันทั้งหมด

เมื่อโปรดให้ข้าราชการที่มีความผิดครั้งนั้นไปตีเมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีแก้ตัว พระยาศรีไสยณรงค์ไปในกองทัพเจ้าพระยาจักรีซึ่งไปตีเมืองตะนาวศรี แต่ก็ไม่ปรากฏว่ามีตำแหน่งหน้าที่อย่างใดในกองทัพสมกับคุณวิเศษซึ่งเคยมีมาแต่ก่อน จนเมื่อเจ้าพระยาจักรีตีได้เมืองตะนาวศรีแล้ว จะยกกองทัพไปช่วยพระยาพระคลังที่เมืองทะวาย จึงให้พระยาศรีไสยณรงค์อยู่รักษาเมืองตะนาวศรี

ครั้งเสร็จสงคราม สมเด็จพระนเรศวรก็เลยทรงตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตะนาวศรี เพราะได้รักษาเมืองอยู่ก่อนแล้ว ไม่ใช่ยกความชอบอย่างใด พระยาศรีไสยณรงค์คงจะเสียใจ แต่ยังพอคิดเห็นว่าเป็นเพราะตัวมีความผิดติดอยู่เมื่อแต่ก่อน

แต่ต่อมาถึงคราวพูนบำเหน็จเมื่อเสร็จศึกเขมร สมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งพระราชมนูเป็นเจ้าพระยาอัครมหาเสนาบดีที่สมุหกลาโหม คราวนี้พระยาศรีไสยณรงค์เห็นจะเสียใจมาก ถึงเกิดโทมนัสแรงกล้าสาหัส ด้วยรู้สึกว่าคนรุ่นหลังได้เลื่อนยศข้ามหัวขึ้นไปเป็นใหญ่กว่าตน อันได้ทำความชอบความดัมาก่อนช้านาน

แต่ก็คงมิได้คิดจะเป็นกบฏ น่าจะเป็นแต่แสดงความโทมนัสออกนอกหน้าตามประสาคนมุทะลุ เช่นพูดว่า "เห็นจะไม่ทรงชุบเลี้ยงแล้ว ไปอยู่กับพม่าเสียได้จะดีกว่า" ดังนี้เป็นต้น คนคงได้ยินกันมากก็มีกรมการที่ไม่ชอบพระยาศรีไสยณรงค์หรือที่ตกใจจริงๆ ลอบเข้ามาบอกเจ้าเมืองกุย เจ้าเมืองกุยจึงมีใบบอกเข้ามากราบทูล สมเด็จพระนเรศวรไม่ทรงเชื่อ ก็เป็นธรรมดาเพพราะพระยาศรีไสยณรงค์เป็นข้าหลวงเดิม ทรงชุบเลี้ยงอย่างสนิทสนมมาแต่ก่อน ไม่เห็นว่าจะเป็นกบฏได้ แต่เมื่อถูกฟ้องต้องหาเช่นนั้นก็จำต้องไต่ถาม จึงตรัสสั่งให้มีท้องตราให้หาตัวเข้ามาแก้คดี

ข้างฝ่ายพระยาศรีไสยณรงค์ไม่ได้คาดว่าคำที่ตัวพูดโดยกำลังโทสะจะรู้เข้าไปถึงพระกรรณสมเด็จพระนเรศวร ได้เห็นท้องตราก็ตกใจเพราะได้พูดเช่นนั้นจริง จะเข้ามาเฝ้าสมเด็จพระนเรศวรก็เกรงถูกประหารชีวิต จึงมีใบบอกบิดพลิ้วเช่นว่ายังป่วยเป็นต้น โดยหมายว่าจะรอพอให้คลายพิโรธแล้วจึงจะเข้ามาเฝ้า

แต่ทำเช่นนั้นกลับเป็นอาการขัดรับสั่งสมข้อหาว่าเป็นกบฏ สมเด็จพระนเรศวรจึงทรงพระพิโรธตรัสสั่งให้ยกกองทัพออกไปปราบพระยาศรีไสยณรงค์

คิดดูถึงกองทัพที่จะยกไปครั้งนั้น แม้แต่กองทัพขุนนางเช่นเมื่อเจ้าพระยาจักรีไปตีเมืองตะนาวศรี ก็คงจะพอปราบพระยาศรีไสยณรงค์ได้ ไฉนจึงถึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จเป็นจอมพลลงไปเอง ข้อนี้ส่อให้เห็นเหตุว่าคงเป็นเพราะสมเด็จพระเอกาทศรถก็ไม่ทรงเชื่อว่าพระยาศรีไสยณรงค์เป็นกบฏ ด้วยได้ทรงทราบอุปนิสัยของพระยาศรีไสยณรงค์มาแต่ก่อนว่าเป็นคนมุทะลุดุร้าย ถ้าผู้อื่นยกกองทัพลงไปอาจจะถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกัน จึงทูลรับอาสาเสด็จไปเอง เพื่อจะไปว่ากล่าวในพระยาศรีไสยณรงค์สารภาพรับผิดโดยดี

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวรในเวลานั้น ก็ยังไม่สิ้นพระกรุณาพระยาศรีไสยณรงค์ จึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปตามประสงค์

แต่เมื่อพระยาศรีไสยณรงค์รู้ว่าสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จยกกองทัพลงไป ก็กลับหวาดหวั่นหนักขึ้น เกรงจะไม่รอดชีวิต มิรู้ที่จะทำอย่างไรก็สั่งให้ปิดประตูเมืองตะนาวศรี เกณฑ์คนขึ้นรักษาหน้าที่เชิงเทินตามประสาเข้าตาจน พระยาศรีไสยณรงค์จึงกลายเป็นกบฏจริงๆในตอนนี้

ความคิดเห็นเช่นว่ามานี้สมกับที่กล่าวในหนังสือพงศาวดารว่า เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถให้ล้อมแล้ว มีหนังสือรับสั่งเข้าไปถึงพระยาศรีไสยณรงค์ว่ายังทรงระลึกถึงความชอบความดีที่ได้มาแต่หนหลัง ให้ออกมาสารภาพผิดเสียโดยดี จะทูลขอโทษให้ แต่พระยาศรีไสยณรงค์นิ่งเสียไม่ออกมาเฝ้าตามรับสั่ง จึงโปรดให้กองอาสาเข้าปล้นเมืองในเวลาดึก ก็ได้เมืองตะนาวศรีโดยง่าย เพราะพวกชาวเมืองไม่ต่อสู้ พอรุ่งเช้าก็จับได้ตัวพระยาศรีไสยณรงค์มาถวาย สมเด็จพระเอกาทศรถตรัสสั่งให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยน ๓๐ ทีแล้วจำไว้

แม้ในตอนนี้คิดดูก็เห็นว่า สมเด็จพระเอกาทศรถยังทรงหวังจะช่วยพระยาศรีไสยณรงค์ จึงไม่ตรัสสั่งให้ประหารชีวิตเสีย ถ้าหากมีพระประสงค์จะเอาตัวพระยาศรีไสยณรงค์มาถวายให้สมเด็จพระนเรศวรลงพระราชอาญา ก็คงเป็นแต่ให้จำไว้ ที่ลงพระราชอาญาเฆี่ยนพระยาศรีไสยณรงค์นั้น ชวนให้เห็นว่าเพื่อจะลงโทษในข้อที่ไม่ออกมาเฝ้าโดยดีให้เสร็จสิ้นเรื่องเสียแต่เพียงนั้น เมื่อเสด็จกลับจะได้ทูลขอชีวิตพระยาศรีไสยณรงค์ไว้

แต่สมเด็จพระนเรศวร ทรงสิ้นเยื่อใยในข่ายพระกรุณาพระยาศรีไสยณรงค์เสีย แต่เมื่อทรงทราบว่าตั้งแข็งเมืองเอาสมเด็จพระเอกาทศรถแล้ว จึงตรัสสั่งออกไปให้ประหารชีวิตพระยาศรีไสยณรงค์เสียที่เมืองตะนาวศรี อย่าให้พาตัวเข้าในกรุงฯ เพื่อมิให้มีโอกาสที่สมเด็จพระเอกาทศรถจะทูลขอให้ลดหย่อนโทษ พระยาศรีไสยณรงค์จึงต้องถูกประหารชีวิต เรื่องที่จริงจะเป็นดังกล่าวมานี้


....................................................................................................................................................



Create Date : 16 มีนาคม 2550
Last Update : 19 มีนาคม 2550 15:41:54 น. 5 comments
Counter : 3317 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)

ตั้งแต่เสียเมืองทะวายและเมืองตะนาวศรีแก่ไทย ก็เกิดเหตุหายนะต่างๆ ในราชอาณาเขตของพระเจ้าหงสาวดีติดต่อกันมา เริ่มต้นแต่เหตุที่เกิดขึ้นเพราะเกณฑ์พวกมอญเข้ากองทัพลงมารบกับไทยที่เมืองทะวายและเมืองตะนาวศรี ครั้งนั้นเพราะพวกมอญต้องอยู่ในบังคับพม่าด้วยความจำใจ อยากพ้นจากอำนาจพม่าอยู่เสมอ เมื่อยังไม่พ้นได้ก็ต้องยอมให้พม่าใช้มารบกับไทยทุกครั้ง พากันล้มตายได้ความลำบากมากเข้า ก็อยากพ้นอำนาจยิ่งขึ้น

ครั้นเห็นกองทัพพระเจ้าหงสาวดีมาแพ้ไทยติดๆกันไปหลายครั้ง ที่สุดถึงไทยอาจบุกรุกเข้าไปตีเมืองทะวายเมืองตะนาวศรี ซึ่งอยู่ติดต่อกับเมืองมอญ พวกมอญก็พากันกระด้างกระเดื่องไม่กลัวเกรงพม่าเหมือนแต่ก่อน ทำให้เกิดลำบากตั้งแต่พม่าเกณฑ์เข้ากองทัพที่จะมารักษาเมืองทะวายเมืองตะนาวศรี และเมื่อถึงเวลารบก็ย่อหย่อนไม่รบพุ่งโดยเต็มกำลัง จึงพ่ายแพ้ไทย

ในพงศาวดารพม่าว่าพระเจ้าหงสาวดีทรงขัดเคืองพวกมอญ ว่าเอาใจมาเข้ากับไทยจะเป็นกบฏ จึงให้ข้าหลวงคุมกำลังลงมาชำระลงโทษพวกมอญที่มีความผิดในครั้งนั้น เห็นจะลงโทษถึงประหารชีวิตบ้าง จึงเป็นเหตุให้พวกพลเมืองมอญตื่น ถึงพากันอพยพหลบหนีไปยังเมืองยักไข่บ้าง ไปเมืองเชียงใหม่บ้าง แต่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยมากกว่าที่อื่น การสมัครสมานในระหว่างเมืองไทยกับเมืองมอญก็เกิดขึ้น ด้วยพวกมอญนั้นชักชวนพวกของตนที่ยังอยู่ในเมืองมอญให้เข้ามาพึ่งไทย

พระเจ้าหงสาวดีจึงตั้งขุนนางผู้ใหญ่คน ๑ ชื่อพระยาลาว ให้ลงมาปกครองควบคุมหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ อย่างเช่นอุปราชอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ มาสืบสาวเอาตัวพวกมอญที่มาเข้ากับไทย สงสัยพระยาพะโรเจ้าเมืองเมาะลำเลิง อันอยู่ริมแม่น้ำสาละวินทางฝั่งใต้ตรงกันข้ามกับเมืองเมาะตะมะ ว่าเป็นหัวหน้าพวกมอญที่เอาใจออกห่าง เรียกตัวจะเอาไปชำระ

พระยาพะโรมีพรรคพวกมากก็ตั้งแข็งเมือง แล้วให้สมิงอุบากองถือหนังสือเขามายังพระยากาญจนบุรี ว่าขอสามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา และขอกำลังไทยออกไปช่วยรักษาเมืองเมาะลำเลิงด้วย

สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบก็โปรดให้พระยาศรีไสลคุมพล ๓๐๐๐ คน ออกไปยังเมืองเมาะลำเลิง พอกิตติศัพท์ปรากฏว่ามีกองทัพไทยออกไปช่วยพระยาพะโร เป็นกบฏออกนอกหน้าเตรียมจะตีเมืองเมาะตะมะ พระยาลาวข้าหลวงพม่าเห็นเหลือกำลังจะต่อสู้ก็ทิ้งเมืองเมาะตะมะ หนีกลับไปเมืองหงสาวดี

พวกมอญเมืองอื่นทางฝ่ายใต้ที่ยังไม่ได้เข้ากับพระยาพะโรอยู่แต่ก่อน รู้ว่าพระยาพะโรได้กำลังไทยออกไปช่วย ก็พากันมาเข้าพระยาพะโรมากขึ้น พระเจ้าหงสาวดีเห็นว่าพวกมอญจะเป็นกบฏ จึงให้พระเจ้าตองอูยกกองทัพออกมาปราบปราม

ชะรอยพระเจ้าตองอูจะยกลงมาโดยประมาท คาดว่าจะไม่เป็นการใหญ่โตเพียงใดนัก แต่พวกมอญเมืองเมาะลำเลิงได้กำลังไทยและมอญด้วยกันเองเพิ่มขึ้น สามารถช่วยกันตีกองทัพพระเจ้าตองอูแตกหนีกลับไป พวกมอญทางฝ่ายพระยาพะโรเมื่อเป็นกบฏออกนอกหน้าแล้ว เกรงพระเจ้าหงสาวดีจะยกกองทัพใหญ่ลงมาปราบปราม ก็ขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แต่นั้นมาบรรดาเมืองมอญตั้งแต่ต่อแดนเมืองไทย ไปจนถึงเมืองเมาะตะมะก็มาเป็นเมืองขึ้นของไทย

สมเด็จพระนเรศวรได้ทีก็เสด็จยกกองทัพหลวงออกจากพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันอาทิตย์ เดือนอ้าย ขึ้น ๓ ค่ำ ปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘ ไปยังเมืองมอญทางด่านพระเจดีย์สามองค์ เห็นจะมีกองทัพเมืองเหนือยกไปทางด่านแม่สอดด้วยอีกทัพ ๑ ไปสมทบกันที่เมืองเมาะลำเลิง

พิเคราะห์ดูเห็นว่าสมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพไปครั้งนี้เสด็จไปโดยด่วน เพราะเสด็จกลับจากเมืองเขมรได้สักสามสี่เดือน ก็ยกทัพไปเมืองมอญอีกในปีเดียวกันนั้น คงมีเหตุให้ทรงพระราชดำริเห็นว่า จำเป็นจะต้องรีบยกไป และเหตุนั้นก็ดูเหมือนจะพอคิดเห็นได้ ด้วยเวลานั้นหัวเมืองมอญยังคงหวาดหวั่นเกรงอานุภาพพระเจ้าหงสาวดีอยู่ ถ้าไม่ให้วางใจในความป้องกันของไทยได้จนหายกลัว อาจจะกลับไปอ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดี

อีกประการหนึ่งหัวเมืองมอญฝ่ายใต้ที่มาขอยอมขึ้นต่อไทยแล้ว เพียงแต่เมืองเมาะตะมะลงมา มีเมืองอื่นที่อยู่เหนือขึ้นไปจนเมืองสะโตงยังไม่กล้ามาเข้ากับไทย เพราะอยู่ใกล้พม่า ถ้าเสด็จยกกองทัพออกไปคงจะรวมหัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นของไทยได้หมด

อีกประการหนึ่ง เมืองเมาะตะมะเป็นฐานทัพที่สำคัญอย่างยิ่ง พม่าอาจจะมาตีเมืองไทยก็เพราะได้อาศัยเมืองเมาะตะมะเป็นที่ประชุมทัพทุกครั้ง ถ้าเมืองเมาะตะมะเปลี่ยนมือมาเป็นของไทยๆ อาจจะใช้เป็นที่ประชุมทัพสำหรับจะตีเมืองพม่าได้เช่นเดียวกัน

ว่าโดยย่อวัตถุที่ประสงค์ของสมเด็จพระนเรศวรที่เสด็จยกกองทัพไปครั้งนั้น เดิมน่าจะมีแต่ ๒ อย่าง คือจะเอาหัวเมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นของไทยให้หมดอย่าง ๑ กับจะจัดการตั้งฐานทัพของไทยที่เมืองเมาะตะมะ สำหรับทำสงครามตีเมืองหงสาวดีต่อไปในภายหน้าอย่าง ๑

แต่เมื่อเสด็จออกไปถึงเมืองมอญ พวกมอญพากันมาเข้าด้วยรับจะช่วยรบพม่า ในพงศาวดารว่ามีจำนวนพลได้ถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน สมเด็จพระนเรศวรเห็นได้ทีก็เลยยกกองทัพไทยมอญสมทบกันขึ้นไปล้อมเมืองหงสาวดีไว้ แต่รายการเรื่องสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดีครั้งนี้ มีในพงศาวดารไทยแต่ว่าล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ ๓ เดือน ได้เข้าปล้นเมืองเมื่อวันจันทร์ เดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ครั้ง ๑ แต่เข้าเมืองไม่ได้ ถึงเดือน ๕ ปีวอก พ.ศ. ๒๑๓๙ ก็เลิกทัพกลับมา

ในพงศาวดารพม่ามีแปลกออกไปว่า สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่า มีกองทัพพระเจ้าตองอูกับกองทัพพระเจ้าอังวะและกองทัพพระเจ้าแปรยกมาช่วยเมืองหงสาวดี ก็เลิกล้อมเมืองหงสาวดีล่าทัพกลับมา ดูก็น่าจะจริงเช่นนั้น

ด้วยสมเด็จพระนเรศวรรบศึกเคยทรงถือท่วงทีเป็นสำคัญเสมอ ถ้าได้ท่วงทีเป็นทำทันทีไม่ทิ้งโอกาส ถ้าไม่เป็นทีก็ไม่ทำ หรือถ้าเห็นจะเสียทีก็ชิงถอยมิให้ข้าศึกเอาชัยได้ เห็นเป็นเช่นนี้มาแต่แรกทรงทำสงคราม ครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน เสด็จออกไปถึงเมืองมอญเห็นได้ทีก็จู่ไปตีเมืองหงสาวดี ในเวลาข้าศึกยังไม่ทันรวมกำลังได้พรักพร้อม แต่เผอิญกำลังที่มีไปไม่พอจะตีเมืองหงสาวดีได้ พอทรงทราบว่าข้าศึกจะมีกำลังมากกว่าก็ชิงถอยทัพกลับมายังเมืองมอญ เห็นจะมาตั้งมั่นอยู่ที่เมืองเมาะตะมะ เพราะฉะนั้นข้าศึกจึงไม่กล้าติดตามมา

แต่พระราชประสงค์เดิมที่เสด็จยกกองทัพไปครั้งนี้สำเร็จ ทั้งทีได้เมืองมอญฝ่ายใต้มาเป็นของไทยหมด และได้เมืองเมาะตะมะมาเป็นฐานทัพของไทยสืบมาแต่ครั้งนั้น จนตลอดรัชกาลของสมเด็จพระนเรศวร

แต่การที่สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีครั้งนั้น มีผลอีกอย่างนึ่งซึ่งสำคัญอย่างยิ่ง ที่เป็นมูลเหตุให้เกิดแตกร้าวกันขึ้นในราชวงศ์หงสาวดี แล้วเลยเป็นหายนะแก่บ้านเมืองต่อไป จนอาณาเขตของพระเจ้าหงสาวดีแตกฉานมิได้เป็นราชาธิราชอย่างแต่ก่อน

ในพงศาวดารพม่าว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีนั้น พระเจ้าหงสาวดีสั่งให้พระเจ้าตองอูผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าอา กับพระเจ้าแปรและพระเจ้าอังวะอันเป็นราชบุตรของพระองค์เอง ยกกองทัพมาช่วยทั้ง ๓ เมือง

กองทัพพระเจ้าตองอูกับพระเจ้าอังวะมาถึงเมืองหงสาวดีก่อน แต่กองทัพพระเจ้าแปรแฉะช้ามายังไม่ถึง พระเจ้าหงสาวดียกย่องพระเจ้าตองอูและพระเจ้าอังวะ ว่าแม้มาถึงไม่ทันรบกับไทย ก็เป็นเหตุให้สมเด็จพระนเรศวรต้องล่าทัพกลับไป มีความชอบ แล้วชะรอยจะทรงปรารภต่อไปว่า เพราะพระองค์ทรงชราภาพ ไม่สามารถจะออกรบพุ่งได้เองดังแต่ก่อน พระมหาอุปราชาซึ่งจะอำนวยการศึกต่างพระองค์ก็ไม่มีตัว สมเด็จพระนเรศวรจึงอุกอาจถึงเข้าไปตีถึงเมืองหงสาวดี

พระเจ้าตองอูคงจะทูลสนองว่า ควรทรงตั้งพระมหาอุปราชาขึ้นเสียอย่าให้ที่ว่างอยู่ พระเจ้าหงสาวดีกำลังขัดเคืองพระเจ้าแปร ด้วยยกกองทัพมาช้าไม่ทันการ จึงทรงตั้งลูกเธอองค์ที่เป็นพระเจ้าอังวะ เป็นพระมหาอุปราชา เวลานั้นพระเจ้าแปรยกกองทัพมากลางทาง รู้ว่าพระเจ้าหงสาวดีตั้งพระเจ้าอังวะอันเห็นจะอ่อนกว่า ขึ้นเป็นพระมหาอุปราชาก็เกิดโทมนัส โทษว่าพระเจ้าตองอูเป็นผู้ทูลส่งเสริม จึงให้ยกกองทัพเปลี่ยนทางไปตีเมืองตองอู ด้วยสำคัญว่าผู้คนผู้คนพลเมืองตองอูคงจะติดอยู่ที่เมืองหงสาวดี

แต่พระสังกะทัตราชบุตรของพระเจ้าตองอู (คนเดียวกับที่ไปตีเมืองคังด้วยกันกับสมเด็จพระนเรศวร) เข้มแข็งในการรบพุ่งรักษาเมืองตองอูไว้ได้ พระเจ้าแปรไม่สมประสงค์ก็เลิกทัพกลับไปเมืองแปร แล้วเลยตั้งแข็งเมืองไม่อ่อนน้อมต่อพระเจ้าหงสาวดีเหมือนแต่ก่อน

พระเจ้าหงสาวดีก็ไม่อาจจะไปปราบปราม เพราะเกรงว่าถ้าเกิดรบพุ่งกันขึ้นเอง สมเด็จพระนเรศวรจะกลับมาซ้ำเติม แต่ในเวลานั้นสมเด็จพระนเรศวรกำลังทรงจัดการปกครองหัวเมืองมอญ เหตุการณ์ทางเมืองหงสาวดีก็สงบมาทอดหนึ่ง แต่ไม่นานนัก

เมื่อข่าวแพร่หลายไปถึงเมืองลานช้างว่า สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปตีเมืองหงสาวดี พระเจ้าหน่อแก้วผู้เป็นราชบุตรของพระเจ้าไชยเชษฐา เห็นว่าพระเจ้าหงสาวดีไม่มีอานุภาพเหมือนแต่ก่อนแล้ว ก็กลับตั้งแข็งเมืองลานช้างเป็นอิสระ

พระเจ้าหงสาวดีทรงพระวิตก เกรงว่าเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองใหญ่แห่งอื่น จะแข็งเมืองเอาอย่างกันมากขึ้น จึงตักเตือนให้ส่งลูกชายไปฝึกหัดราชการในราชสำนักตามประเพณีเดิม คือเป็นตัวจำนำเหมือนอย่างสมเด็จพระนเรศวรเคยต้องเสด็จไปอยู่เมืองหงสาวดีเมื่อครั้งพระเจ้าบุเรงนอง เจ้าเมืองที่ยังนับถือหรือกลัวเกรงพระเจ้าหงสาวดี ก็ส่งลูกชายเข้าไปถวายตามรับสั่ง แต่พระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายักไข่และพระเจ้าเชียงใหม่ ต่างนิ่งเสียไม่ส่งลูกชายเข้าไปทั้ง ๓ พระองค์ พระเจ้าหงสาวดีก็มิรู้ที่จะทำอย่างไร

ฝ่ายพระเจ้าหน่อแก้วเมืองลานช้าง เมื่อตั้งแข็งเมืองแล้วก็แต่งให้ท้าวพระยา แยกย้ายกันไปเที่ยวติดตามพวกชาวลานช้าง ที่ถูกกองทัพเมืองหงสาวดีกวาดต้อนเป็นเชลยเอาไปไว้ ณ ที่ต่างๆ บอกให้กลับคืนไปยังบ้านเมืองเดิม พวกเชลยชาวลานช้างที่ถูกกวาดต้อนไปนั้น ไปตกอยู่ที่เมืองเชียงใหม่มีมาก ถูกพระเจ้าเชียงใหม่กดขี่กีดกันด้วยประการต่างๆมิให้กลับบ้านเมืองได้ ในเวลาพระเจ้าหงสาวดียังมีอำนาจ

พระเจ้าหน่อแก้วไม่กล้าตั้งวิวาทกับเมืองเชียงใหม่โดยเปิดเผย ก็ยุยงพวกเจ้าเมืองลานนามีเมืองน่านเป็นต้น อันอยู่ต่อแดนลานช้างให้ขัดแข็งต่อพระเจ้าเชียงใหม่เป็นอริกันอยู่แล้ว

ครั้นพระเจ้าหน่อแก้วตั้งตัวเป็นอิสระ ก็ประสงค์จะเอาพวกชาวลานช้างที่เป็นเชลยอยู่ในแขวงเมืองเชียงใหม่ และจะให้พวกเชลยที่ไปตกอยู่ในเมืองพม่าเดินผ่านแดนเมืองเชียงใหม่กลับมาได้โดนสะดวก จึงแต่งกองทัพให้ไปตั้งติดแดนเมืองเชียงใหม่ อ้างว่าถ้าพระเจ้าเชียงใหม่ไม่ปล่อยให้พวกเชลยลานช้างมา ก็จะตีเมืองเชียงใหม่

ฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ก็ร้อนตัว ด้วยสังเกตเห็นว่าตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีเสื่อมอานุภาพลง หัวเมืองในอาณาเขตลานนาไม่เกรงเหมือนแต่ก่อน ทั้งตัวเองก็มามีเหตุกินแหนงกับพระเจ้าหงสาวดี ด้วยเรื่องไม่ส่งลูกชายไปเป็นตัวจำนำ คิดเกรงว่าพระเจ้าหน่อแก้วจะขอกำลังไทยขึ้นไปช่วยตีเมืองเชียงใหม่ สิ้นคิดมิรู้ที่จะทำอย่างไร จึงแต่งทูตให้เชิญเครื่องบรรณาการลงมาถวายสมเด็จพระนเรศวร ยอมสามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยา ขอพระราชทานกำลังขึ้นไปช่วยรบเมืองลานช้าง

สมเด็จพระนเรศวรก็ตรัสรับจะช่วยป้องกันมิให้มีภัยแก่เมืองเชียงใหม่ แล้วโปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์เจ้าเมืองพิษณุโลก เป็นข้าหลวงคุมพล ๓,๐๐๐ คนเชิญศุภอักษรขึ้นไปยังเมืองเชียงแสน ห้ามปราบกองทัพทั้ง ๒ ฝ่ายมิให้รบพุ่งกันต่อไป

พิเคราะห์ความตรงนี้ ข้อที่เจ้าพระยาสุรสีห์ฯมีกำลังไปด้วยแต่เพียง ๓,๐๐๐ คน ส่อว่าคงเป็นเพราะเชื่อใจว่าจะไม่ต้องรบกับกองทัพเมืองลานช้าง จึงเห็นว่าทางฝ่ายพระเจ้าหน่อแก้วก็กลัวสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองลานช้าง คงจะขอให้ไทยช่วยข้างต้นเหมือนกัน สมเด็จพระนเรศวรเห็นทางที่จะให้เลิกรบกันได้ ด้วยเปรียบเทียบให้เมืองลานช้างเลิกทัพกลับไป และให้เมืองเชียงใหม่ปล่อยพวกเชลยชาวลานช้างกลับไปบ้านเมืองได้โดยสะดวก

ความสันนิษฐานนี้ก็สมกับเรื่องที่เป็นจริง เจ้าพระยาสุรสีห์ฯไปถึงเมืองเชียงใหม่ ว่ากล่าวกับพระเจ้าเชียงใหม่ แล้วก็ขึ้นไปเมืองเชียงแสน เมื่อไปถึงพวกลานช้างกับเมืองเชียงใหม่รบกันอยู่ที่ชายแดนแล้ว เจ้าพระยาสุรสีห์ฯจึงห้ามให้หยุดรบ แล้วเรียกนายทัพทั้งสองฝ่ายมาประชุมที่เมืองเชียงแสน บอกให้ทราบพระราชวินิจฉัยของสมเด็จพระนเรศวร ทั้งสองฝ่ายก็ยอมทำตามกระแสรับสั่ง

แต่นั้นพระเจ้าลานช้างกับพระเจ้าเชียงใหม่ก็เลิกรบพุ่งกัน เมืองเชียงใหม่ตลอดทั้งอาณาเขตลานนา ก็มาขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยาแต่นั้นมา แต่ส่วนเมืองลานช้าง ในหนังสือพงศาวดารหากล่าวถึงไม่ ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรได้เมืองเชียงใหม่ ก็เลื่องลือพระเดชานุภาพขึ้นไปถึงเมืองไทยใหญ่ ต่อมาไม่ช้าเมืองแสนหวีซึ่งอยู่ปลายอาณาเขตของเจ้าหงสาวดีต่อแดนจีน ก็มาสวามิภักดิ์ขอขึ้นกรุงศรีอยุธยา

เหตุที่เมืองแสนหวีจะมาสวามิภักดิ์นั้น เดิมเจ้าเมืองแสนหวีพิราลัย บุตร ๒ คนชิงกันครองเมือง พระเจ้าหงสาวดีให้เอาตัวบุตรคน ๑ ซึ่งเป็นคู่วิวาทชื่อ เจ้าคำไข่น้อย ลงไปกักไว้ ณ เมืองหงสาวดี ครั้นไทยไปได้เมืองเมาะลำเลิง เจ้าคำไข่น้อยก็หนีจากเมืองหงสาวดีลงมาขอพึ่งไทย สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงพระกรุณาโปรดรับชุบเลี้ยงไว้

ครั้นเมื่อสมเด็จพระนเรศวรได้เมืองเชียงใหม่มาเป็นของไทย พวกเมืองไทยใหญ่อยู่ข้างเหนือพากันหวั่นหวาด เกรงสมเด็จพระนเรศวรจะตีเมืองไทยใหญ่ ขยายพระราชอาณาเขตต่อไป ในเวลานั้นเผอิญเจ้าเมืองคนหลังถึงพิราลัยลง พวกท้าวพระยาเมืองแสนหวีรู้ว่าเจ้าคำไข่น้อยมาพึ่งพระบารมีสมเด็จพระนเรศวรอยู่ จึงพร้อมใจกันแต่งทูตให้ถือศุภอักษรกับเครื่องราชบรรณาการลงมายังกรุงศรีอยุธยาอ่อน้อมยอมเป็นเมืองขึ้น ทูลขอเจ้าคำไข่น้อยขึ้นไปครองเมืองแสนหวี ขอเป็นข้าขัณฑสีมาต่อไป

สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงยินดี จึงโปรดให้ข้าหลวงคุมกองทัพพาเจ้าคำไข่น้อยขึ้นไปส่ง ณ เมืองแสนหวี กองทัพไทยเดินผ่านทางเมืองไหน พวกไทยใหญ่เมืองนั้นๆก็อ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์โดยดี ตลอดทางจนถึงเมืองแสนหวี แต่นั้นบรรดาเมืองไทยใหญ่ทางฝ่ายตะวันออกแมน้ำสาละวิน ที่เคยขึ้นแก่กรุงหงสาวดี ก็มาอ่อนน้อมยอมสวามิภักดิ์เป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาทั้งหมด ราชอาณาเขตของสมเด็จพระนเรศวรก็แผ่ไพศาลขึ้นไปทางด้านเหนือ จนกระทั่งถึงแดนจีนในครั้งนั้น



(๔)

ลักษณะสมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามผิดกับพระเจ้าหงสาวดี ข้อนี้พึงเห็นได้ตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวรกลับมาตั้งไทยเป็นอิสระ กองทัพหงสางวดีมาจีกรุงศรีอยุธยาไม่ได้ครั้งหนึ่งแล้ว รุ่งปีก็มาอีกติดต่อกันมาถึง ๕ ครั้ง จนกระทั่งพระมหาอุปราชาขาดคอช้าง ก็ไม่ตีเมืองไทยแต่นั้นมา เมื่ออานุภาพเปลี่ยนมาอยู่ข้างไทย สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จไปตีกรุงหงสาวดี ครั้งแรกเมื่อปีมะแม พ.ศ. ๒๑๓๘ ตีไม่ได้ก็หยุดมาถึง ๓ ปี คงเป็นด้วยทรงเห็นว่าถึงจะไปตีซ้ำอีกก็คงตีไม่ได้ เพราะข้าศึกยังมีกำลังมากนัก

ในระหว่างนั้นจึงทรงจัดการปกครองหัวเมืองมอญ เพื่อจะตั้งฐานทัพทำทางสะสมเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ และสังเกตเหตุการณ์ที่จะเป็นโอกาสก่อน เพราะฉะนั้นจนปีกุน พ.ศ. ๒๑๔๒ จึงเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีอีกครั้งหนึ่ง

พิเคราะห์ตามรายการที่ปรากฏครั้งนี้ สมเด็จพระนเรศวรตั้งพระราชหฤทัยจะตีเอาเมืองหงสาวดีให้จงได้ ไม่ใช่แต่ลองกำลังเหมือนอย่างครั้งแรก พอเดือน ๖ ปีใหม่ ก็โปรดให้เจ้าพระยาจักรีคุมกองทัพจำนวนพล ๑๕,๐๐๐ คน ไปตั้งที่เมืองเมาะลำเลิง เกณฑ์พวกมอญให้ทำนาหาเสบียงอาหารเตรียมไว้ และให้เกณฑ์คนเมืองทะวาย ๕,๐๐๐ ไว้ตั้งต่อเรือสำหรับกองทัพที่เกาะพะรอก แขวงเมืองวังวาว (ชื่ออังกฤษตั้งชื่อว่าเมืองแอมเฮิสต์เมื่อภายหลัง)อีกแห่ง ๑ โดยกำหนดว่าพอถึงฤดูแล้งปลายปีกุนนั้น จะเสด็จไปตีเมืองหงสาวดี

เมื่อเจ้าพระยาจักรีออกไปเมืองเมาะลำเลิง จะรับสั่งสมเด็จพระนเรศวรให้ไปเกลี้ยกล่อมหัวเมืองขึ้นหงสาวดีด้วยหรือไม่อย่างไรไม่กล่าวในหนังสือพงศาวดาร แต่ปรากฏว่าพระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายักไข่ให้ทูตลอบมาหาเจ้าพระยาจักรี ขอให้ส่งเครื่องราชบรรณาการกับศุภอักษรเข้ามาถวายสมเด็จพระนเรศวร ทูลรับจะเข้ากับไทย ถ้าเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีเมื่อใด จะยกกองทัพมาช่วยทั้ง ๒ เมือง

เหตุที่พระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายักไข่มาเข้ากับไทยครั้งนั้น ความจริงปรากฏในเรื่องพงศาวดารต่อมาภายหลัง ว่าพระเจ้าตองอูคิดเห็นว่าไทยคงตีได้เมืองหงสาวดี เมื่อกำจัดพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสียแล้ว สมเด็จพระนเรศวรจะต้องหาใครครองเมืองหงสาวดี ถ้ามาเข้ากับไทยให้มีความชอบต่อสมเด็จพระนเรศวร คงจะได้เป็นพระเจ้าหงสาวดี เป็นใหญ่ในประเทศพม่าต่อไป

ฝ่ายพระเจ้ายักไข่ก็อยากได้หัวเมืองขึ้นของหงสาวดี ที่ต่อแดนยักไข่ทางทะเลลงมาจนปากน้ำเอราวดี หวังจะได้หัวเมืองเหล่านั้นเป็นบำเหน็จเหมือนกัน บางทีจะรู้เห็นเป็นใจกันกับพระเจ้าตองอูจึงมาขอเข้ากับไทยในคราวเดียวกัน สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงรับความสวามิภักดิ์ทั้ง ๒ เมือง

ในหนังสือพงศาวดารว่า ครั้งนั้นมีพระภิกษุที่เมืองตองอูองค์หนึ่ง ชื่อว่าพระมหาเถรเสียมเพรียม เห็นจะเป็นชีต้นอาจารย์ของพระเจ้าตองอู เป็นคนฉลาดในเล่อุบาย รู้ว่าพระเจ้าตองอูให้มาอ่อนน้อมต่อไทย ก็เข้าไปทัดทานพระเจ้าตองอู ว่าที่หมายจะเป็นโดยไปพึ่งต่อไทย เห็นจะไม่สมคิด เพราะกรุงหงสาวดีกับกรุงศรีอยุธยารบพุ่งขับเคี่ยวแข่งอำนาจกันมาช้านาน ถ้าสมเด็จพระนเรศวรปราบเมืองหงสาวดีได้แล้ว ไหนจะยอมให้ใครมีอำนาจขึ้นไปเป็นคู่แข่งอีก คงจะคิดตัดรอนทอนกำลังเมืองหงสาวดี มิให้มีโอกาสที่จะกลับเป็นอิสระได้อีก อย่างดีก็จะได้เป็นเพียงประเทศราชขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา เหมือนอย่างเคยขึ้นต่อพระเจ้าหงสาวดีมาแต่ก่อนเท่านั้น เห็นว่าทางที่จะคิดเป็นใหญ่ได้โดยลำพัง ไม่ต้องเป็นเมืองขึ้นของไทยยังมีอยู่ แล้วพระมหาเถรเสียมเพรียมก็บอกกลอุบายให้พระเจ้าตองอู พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วย

จึงแต่งพวกคนสนิทให้ลอบลงมายุยงพวกราษฎรที่ถูกไทยเกณฑ์มาทำนา ประสงค์จะให้มอญเป็นอริขึ้นกับไทย จนเกิดเหตุการณ์กีดกันมิให้สมเด็จพระนเรศวรยกขึ้นไปตีเมืองหงสาวดีได้โดยสะดวก

แล้วแต่งทูตไปยังพระเจ้ายักไข่ซึ่งยกกองทัพเรือลงมาตั้งอยู่ ณ เมืองสิเรียม ชวนให้ร่วมใจในกลอุบายที่คิดไว้ นัดให้พระเจ้ายัดไข่ยกกองทัพขึ้นไปทางเรือ เหมือนหนึ่งว่าจะช่วยสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดี ส่วนพระเจ้าตองอูจะยกทัพบกลงมายังเมืองหงสาวดี เหมือนอย่างว่าจะมาช่วยพระเจ้าหงสาวดีต่อสู้สมเด็จพระนเรศวร พอได้อำนาจในเมืองหงสาวดีแล้วจะให้หย่าทัพกับพระเจ้ายักไข่ ยอมให้หัวเมืองทางชายทะเลแก่พระเจ้ายักไข่ตามแต่จะต้องการ

พระเจ้ายักไข่เห็นว่าเข้ากับพระเจ้าตองอูจะได้กำไร มากกว่ารอช่วยสมเด็จพระนเรศวรตีเมืองหงสาวดี ก็รับเข้าร่วมมือกับพระเจ้าตองอู แล้วยกกองทัพขึ้นไปตั้งติดเมืองหงสาวดี

ฝ่ายพระเจ้าตองอูก็ยกกองทัพบกลงมาในราวเดือน ๑๒ ปีกุน พ.ศ. ๒๑๔๒ นั้น ว่าจะมาช่วยพระเจ้าหงสาวดีต่อสู้ข้าศึก

แต่พระเจ้าหงสาวดีไม่ไว้พระทัยพระเจ้าตองอู เพราะเคยกระด้างกระเดื่องมาแต่ก่อน ไม่ยอมให้กองทัพพระเจ้าตองอูเข้าไปในหงสาวดี พระเจ้าตองอูก็ตั้งกองทัพติดเมืองอยู่ข้างฝ่ายเหนือ เหมือนอย่างกองทัพพระเจ้ายักไข่ตั้งติดเมืองอยู่ข้างใต้ ล้อมเมืองหงสาวดีไว้

ฝ่ายคนสนิทของพระเจ้าตองอู เมื่อลงมาถึงเมืองเมาะตะมะ ก็แยกย้ายกันไปปะปนอยู่ในพวกพลเมือง เที่ยวหลอกลวงพวกมอญว่าไทยเกณฑ์มาทำนา พอเสร็จแล้วจะกวาดต้อนเอาไปไว้ใช้ในกรุงศรีอยุธยา พวกราษฎรก็เกิดหวาดหวั่น บางพวกก็หลบหนี ไม่ทำการงานเป็นปกติเหมือนดังแต่ก่อน

ครั้นพวกไทยที่เป็นพนักงานตรวจตราเห็นมอญหลบหนีก็สั่งจับกุม พวกมอญเลยเข้าใจกันไปว่าจะจับส่งไปเมืองไทย ก็ยิ่งตื่นเต้นมากขึ้น บางทีถึงต่อสู้ไม่ยอมให้จับกุม แล้วเลยสมคบกันเป็นพวกๆ ถ้าเห็นไทยติดตามไปน้อยตัวก็รุมทำร้ายเกิดการฆ่าฟันกันขึ้นเนืองๆ

เจ้าพระยาจักรีเห็นพลเมืองมอญกระด้างกระเดื่องขึ้นดังนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะพวกมอญที่เป็นมูลนายไม่กำราบปราบปราม ให้เอาตัวพวกมอญมูลนายมาจองจำทำโทษ พวกมอญที่เป็นชั้นมูลนายก็พากันหลบหนีไปเข้ากับพวกราษฎร เลยเป็นกบฏที่เมืองเมาะตะมะ

สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบ ก็รีบเสด็จยกกองทัพหลวงออกจากพระนครศรีอยุธยาเมื่อเดือน ๑๑ ขึ้น ๑๑ ค่ำ ปีกุน เสด็จไปทางด่านพระเจดีย์สามองค์ด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถ เจ้าพระยาสุรสีห์ฯคุมกองทัพเมืองเหนือไปทางด่านแม่สอดอีกทางหนึ่ง และมีกองทัพเมืองเชียงใหม่มาช่วยด้วยอีกกองหนึ่ง รวมจำนวนพลกองทัพไทย ๑๐๐,๐๐๐ ไปประชุมกันที่เมืองเมาะลำเลิง

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึง ต้องหยุดประทับยับยั้งจัดการปราบปรามพวกกบฏในเมืองมอญอยู่ถึง ๓ เดือนจึงราบคาบ และได้เสบียงอาหารบริบูรณ์ตามเกณฑ์

ฝ่ายข้างเมืองหงสาวดี ตั้งแต่ถูกกองทัพเมืองตองอูกับเมืองยักไข่มาล้อมอยู่ พวกชาวเมืองกำลังกลัวจะต้องตกเป็นเชลยของไทย บางพวกก็เชื่อว่าพระเจ้าตองอูจะมาช่วยเหมือนปากว่า แต่พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสงสัยว่า พระเจ้าตองอูคิดจะเอาเมืองหงสาวดีเอง เป็นแต่ทำอุบายว่าจะมาช่วย จึงไม่อนุญาตให้กองทัพพระเจ้าตองอูเข้าไปในพระนคร

แต่เมื่อเมืองหงสาวดีถูกพวกเมืองตองอูกับเมืองยักไข่ล้อมอยู่เช่นนั้น ที่ในเมืองก็เกิดอดอยากขาดแคลนลง พอได้ข่าวว่าสมเด็จพระนเรศวรเสด็จไปถึงเมืองมอญ พวกชาวหงสาวดีที่เชื่อถือพระเจ้าตองอู ก็พากันลอบหนีออกไปหากองทัพเมืองตองอูมากขึ้นทุกที จนถึงมีพวกข้าราชการและที่สุดถึงพระมหาอุปราชาก็ทิ้งพระเจ้าหงสาวดีออกไปเข้ากับพระเจ้าตองอู โดยเห็นว่าแม้จะต้องเป็นเชลย ก็เป็นเชลยพวกพม่าด้วยกันเองอยู่ในเมืองพม่า ยังดีกว่าถูกไทยกวาดต้อนเอาไปเป็นเชลยในเมืองไทย

พระเจ้าหงสาวดีถูกราชบุตรและข้าราชบริพารทิ้งเสียโดยมากเช่นนั้น มิรู้ที่จะทำอย่างไร ก็ต้องอนุญาตให้กองทัพเมืองตองอูเข้าไปในพระนคร แล้วมอบอำนาจให้พระเจ้าตองอูได้ว่าราชการบ้านเมือง ก็ให้ไปขอหย่าทัพกับพระเจ้ายักไข่ ด้วยยอมให้หัวเมืองชายทะเลที่ปรารถนา และทูลขอพระราชธิดาของพระเจ้าหงสาวดีองค์หนึ่ง กับช้างเผือกตัวหนึ่งให้พระเจ้ายักไข่ด้วย

แม้รูปสัตว์ทองสัมฤทธิ์ซึ่งไทยได้มาจากเมืองเขมร แล้วพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองเอาไปจากเมืองไทยนั้น พระเจ้ายักไอยากได้ก็ยอมให้ขนเอาไปเมืองยักไข่ในคราวนี้

ฝ่ายพระเจ้ายักไข่ก็รับว่าจะแต่งกองโจรไว้คอยตีตัดลำเลียงเสบียงอาหารกองทัพไทยให้อดอยาก จะต้องถอยมัพกลับไปจากเมืองหงสาวดี ตกลงกันอย่างนั้นแล้วพระเจ้ายักไข่ก็เลิกทัพเรือกลับไปยังเมืองสิเรียมที่พระเจ้าหงสาวดียกให้นั้น

เมื่อหย่าทัพกับเมืองยักไข่แล้ว พระเจ้าตองอูจึงทูลพระเจ้าหงสาวดีว่า สืบได้ความว่ากองทัพสมเด็จพระนเรศวรยกไปมีกำลังมากนัก จะต่อสู้ที่เมืองหงสาวดีเห็นจะสู้ไม่ไหว ขอเชิญเสด็จไปยังเมืองตองอู ตั้งต่อสู้ที่นั่นจึงจะพ้นมือข้าศึกได้

พระเจ้าหงสาวดีมิรู้ที่จะทำอย่างไรก็ต้องยอม พระเจ้าตองอูจึงให้เก็บรวบรวมทรัพย์สมบัติ และกวาดต้อนผู้คนพลเมืองหงสาวดีผ่อนส่งไปยังเมืองตองอูเป็นลำดับมา

ในพงศาวดารพม่าว่า พระมหาอุปราชาอยู่ในพวกที่ไปก่อนเพื่อน ไปถึงเมืองตองอู พระสังกะทัตราชบุตรพระเจ้าตองอูก็ลอบปลงพระชนม์เสีย แต่ปกปิดมิให้รู้ไปถึงเมืองหงสาวดี

ฝ่ายสมเด็จพระนเรศวร ได้ทรงทราบแต่แรกเสด็จไปถึงเมืองเมาะลำเลิง ว่ากองทัพเมืองตองอูกับเมืองยักไข่ไปล้อมเมืองหงสาวดีอยู่ ก็แคลงพระทัย ด้วยพระเจ้าตองอูกับพระเจ้ายักไข่ได้ทูลมาในศุภอักษรว่า ถ้ากองทัพหลวงไปเมื่อใดจะยกมาช่วยตีเมืองหงสาวดีทั้ง ๒ เมือง เหตุไฉนจึงด่วนไปล้อมเมืองหงสาวดีเสียก่อนกองทัพหลวงไปถึง แต่กำลังติดทรงปราบปรามพวกกบฏที่เมืองเมาะตะมะก็นิ่งอยู่

พอปราบกบฎเรียบร้อยแล้วก็เสด็จยกกองทัพหลวงจากเมืองเมาะลำเลิง ขึ้นไปยังเมืองหงสาวดีในเดือน ๓ พระเจ้าตองอูได้ยินว่า สมเด็จพระนเรศวรยกกองทัพออกจากเมืองเมาะลำเลิง ก็พาพระเจ้าหงสาวดีออกจากพระนครหนีไปเมืองตองอู เมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๒ ค่ำ

แต่พอเมืองหงสาวดีร้างไม่มีผู้คน พวกกองโจรชาวยักไข่ก็พากันเผาเมืองหงสาวดีเสียหมดทั้งเมือง แม้จนปราสาทราชมนเทียรก็ถูกไฟไหม้หมด ไม่มีอะไรเหลือ

เรื่องเผาเมืองหงสาวดีครั้งนั้น ในหนังสือพงศาวดารบางฉบับว่า พระเจ้าตองอูสั่งให้เผา บางฉบับว่าพวกยักไข่เข้าไปเที่ยวค้นหาทรัพย์สินซึ่งยังเหลืออยู่ เช่นสุมไฟลอกทองพระเป็นต้น เลยเกิดเพลิงไหม้เมืองหงสาวดี

พิเคราะห์ดูน่าจะเป็นได้ด้วยเหตุทั้ง ๒ อย่าง เพราะการเผาเมืองหงสาวดีเป็นประโยชน์แก่พระเจ้าตองอู ที่อาจจะให้พระเจ้าหงสาวดีต้องอยู่ ณ เมืองตองอู แต่ไม่กล้าสั่งออกหน้า จึงตกลงกันเป็นความลับกับพระเจ้ายักไข่ให้พวกยักไข่เป็นผู้เผา ฝ่ายพวกยักไข่ที่เป็นกองโจรอยากได้ทรัพย์สินซึ่งชาวเมืองหงสาวดีมิได้ขนเอาไป เช่นทองที่หุ้มหรือปิดพระพุทธรูปเป็นต้น เอาไฟสุมให้ทองละลายเอาเนื้อทอง อย่างเช่นพม่าเผาวัดวาเมื่อตีได้พระนครศรีอยุธยาภายหลังมาช้านานนั้น ไฟก็เลยไหม้วัดแล้วเลยลุกลามไปตลอดทั้งเมือง จะเป็นเพราะพระเจ้าตองอูสั่งหรือไม่ได้สั่ง ก็เป็นไปได้ทั้ง ๒ สถาน

พระเจ้าตองอูพาพระเจ้าหงสาวดีไปได้ ๘ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จไปถึงเมืองหงสาวดีเมื่อ เดือน ๔ ขึ้น ๑๐ ค่ำ ได้เมืองหงสาวดีแต่ซากซึ่งไฟกำลังไหม้ยังไม่ดับหมด ก็ขัดแค้นพระราชหฤทัย เห็นเข้าเค้าพระสุบินเมื่อเสด็จไปกลางทางว่า ทอดพระเนตรเห็นหมาในตัวน้อยคาบเอาช้างหนีไป พระยาโหราฯได้ทูลทำนายว่าจะได้เมืองหงสาวดี แต่จะมีผู้พาพระเจ้าหงสาวดีหนีไปได้

ก็ตรัสสั่งให้หยุดกองทัพอยู่ ณ เมืองหงสาวดี ตั้งพลับพลาที่ประทับในสวนหลวงใกล้กับพระมหาธาตุมุเตา แล้วให้ข้าหลวงถือศุภอักษรไปยังพระเจ้าตองอู ว่าเดิมได้มารับอาสาว่าถ้าเสด็จไปตีเมืองหงสาวดีเมื่อใดจะมาช่วย เหตุไฉนพระเจ้าตองอูจึงมาชิงตีเมืองหงสาวดีกวาดต้อนเอาผู้คนพลเมือง และพาพระเจ้าหงสาวดีไปเมืองตองอูเสียก่อนเสด็จไปถึง จะเป็นศัตรูหรืออย่างไร ถ้าซื่อตรงคงสัตย์อยู่ตามสัญญาก็ให้พระเจ้าตองอูมาเฝ้า และพาพระเจ้าหงสาวดีมาถวายตามประเพณี ถ้าไม่ทำเช่นนั้นจะถือว่าพระเจ้าตองอูเป็นข้าศึก

พระเจ้าตองอูให้มังรัดอ่องเป็นทูตเชิญพระธำมะรงค์เพชร ๓ ยอด อันเป็นเครื่องราชูปโภคของพระเจ้าหงสาวดีกับศุภอักษรมาถวาย ทูลว่าพระเจ้าตองอูหาได้คิดทุจริตอย่างใดไม่ ที่ไม่รอกองทัพหลวงนั้น เพราะมีข้าศึกเมืองยักไข่มาตีเมืองหงสาวดี พระเจ้าตองอูเกรงว่าจะเสียเมืองหงสาวดีแก่พวกยักไข่ จึงได้รีบไปรับพระเจ้าหงสาวดีไปยังเมืองตองอู หมายว่าเสด็จขึ้นไปถึงเมืองหงสาวดีเมื่อใด ก็จะพาพระเจ้าหงสาวดีมาเฝ้า พร้อมกับถวายช้างม้าพาหนะที่เอาไปจากเมืองหงสาวดีด้วยกัน แต่เดี๋ยวนี้พระเจ้าหงสาวดีกำลังประชวรอยู่ เพราะฉะนั้นขอเชิญเสด็จประทับอยู่ที่เมืองหงสาวดี พอพระเจ้าหงสาวดีหายประชวร พระเจ้าตองอูจะลงมาเฝ้า และพาพระเจ้าหงสาวดีมาถวายตามพระประสงค์

สมเด็จพระนเรศวรได้ทรงทราบก็รู้เท่าว่าพระเจ้าตองอูคิดคด จะต้องตีเมืองตองอูต่อไป จึงมีรับสั่งให้หาแม่ทัพนายกองผู้ใหญ่มาปรึกษา พิเคราะห์ดูข้อที่ต้องปรึกษากันนั้นน่าจะเป็นเพราะกองทัพที่ยกไปครั้งนั้น ได้กะการไว้เพียงจะไปตีเมืองหงสาวดี ถ้าจะไปตีเมืองตองอู เมืองนั้นอยู่ห่างไปทางข้างเหนือราว ๗,๐๐๐ เส้น (ขนาดเมืองนครราชสีมากับกรุงเทพฯ) และมีเทือกภูเขาขวางหน้า อาจจะต้องตีด่านทางของข้าศึกรบพุ่งกันไปจนตลอดถึงเมืองตองอู อันกองทัพไทยยังไม่คุ้นเคยกับภูมิลำเนาเหมือนอย่างเช่นเมืองหงสาวดี จะเอาชนะไม่ได้โดยเร็ว ก็จะต้องรบพุ่งอยู่นานวัน อาจจะเกิดลำบากด้วยเสบียงอาหาร แต่ไม่ยกไปตีเมืองตองอูก็เหมือนถูกพระเจ้าตองอูล่อลวงให้รอคอยอยู่จนสิ้นเสบียงอาหาร แล้วก็ต้องเลิกทัพกลับไปเอง

ปรึกษากันเห็นว่ามีกำลังพอจะตีเมืองตองอูได้ แต่จะต้องรีบยกไป อย่าให้ทันพระเจ้าตองอูมีเวลาเตรียมป้องกันบ้านเมืองได้มั่นคง สมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้เตรียมกระบวนทัพที่จะยกไปเมืองตองอู ขณะนั้นทูตของพระเจ้ายักไข่ก็ไปถึงเมืองหงสาวดี ทูลสมเด็จพระนเรศวรว่า พระเจ้ายักไข่ได้จัดทัพบกทัพเรือรวมจำนวนพล ๕,๐๐๐ ให้ยกมาช่วยตามที่ได้ทูลรับไว้ แล้วแต่จะโปรดให้เข้าสมทบกับกองทัพหลวงทัพไหนก็จะทำตามพระราชประสงค์

แต่สมเด็จพระนเรศวรทรงระแวงพระราชหฤทัยว่า พระเจ้ายักไข่จะเป็นพวกร่วมคิดกับพระเจ้าตองอู แต่ไม่อยากให้เกิดรบพุ่งขึ้นอีกทางหนึ่ง จึงโปรดให้ตอบขอบใจพระเจ้ายักไข่ที่หมายจะช่วย แต่ว่ารี้พลในกองทัพหลวงมีพอแก่การแล้ว ให้พวกยักไข่เลิกทัพกลับไปเถิด

เมื่อจัดกระบวนทัพพร้อมเสร็จ สมเด็จพระนเรศวรตรัสสั่งให้กองทัพพระยาจันทบุรีอยู่รักษาเมืองหงสาวดี แล้วเสด็จยกกองทัพหลวงไปยังเมืองตองอู

เวลานั้นฝ่ายข้างเมืองตองอูก็กำลังสาละวนเตรียมต่อสู้ที่เมืองตองอู ไม่ได้แต่งกองทัพให้มากักด่านทางที่ช่องภูเขา กองทัพไทยก็เดินขึ้นไปได้โดยสะดวกจนถึงเมืองตองอู

สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้ตั้งกองทัพรายล้อมเมืองไว้ทั้ง ๔ ด้าน และครั้งนั้นพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อให้กองทัพไปช่วย จึงโปรดให้กองทัพพระยาแสนหลวง กับพระยานคร(ลำปาง) ตั้งทางด้านใต้ ด้วยกันกับกองทัพพระยาศรีสุธรรม พระยาท้ายน้ำ และหลวงจ่าแสนขุนราชนิกุล กองทัพหลวงก็ตั้งอยู่ด้านนั้น ด้านตะวันออกให้กองทัพพระยาเพ็ชรบุรี พระยาสุพรรณบุรี และหลวงมหาอำมาตย์ไปตั้งด้านเหนือ ให้กองทัพเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ กับพระยากำแพงเพ็ชรไปตั้งด้านตะวันตก ให้กองทัพพระยานครราชสีมา พระสิงคบุรี พระอินทราภิบาล กับแสนภูมิโลกาเพ็ชร(เกรี่ยง)ไปตั้ง โปรดให้เจ้าพระยาสุรสีห์ฯเป็น(เสนาธิการ)ผู้ตรวจตราหน้าที่ทั้งปวงทั่วไป

แต่เมืองตองอูเคยเป็นเมืองกษัตริย์มีป้อมปราการมั่นคง คูเมืองก็กว้างและลึกมาก ยากที่ข้าศึกจะข้ามคูเข้ามาถึงกำแพงเมืองได้

เมื่อล้อมเมืองแล้วสมเด็จพระนเรศวรจึงตรัสสั่งให้ขุดเหมืองไขน้ำในคูให้ไหลไปลงแม่น้ำสะโตง เหมืองนั้นยืดยาว พวกชาวเมืองตองอูเรียกว่า เหมืองอโยธยา ปรากฏอยู่ต่อมาหลายร้อยปี เดี๋ยวนี้ชื่อก็ยังไม่สูญ ครั้นไขน้ำออกหมดคูแล้วก็ให้กองทัพเข้าปล้นเมือง

ครั้นไขน้ำออกหมดคูแล้วก็ให้กองทัพเข้าปล้นเมือง พวกชาวเมืองตองอูกับชาวเมืองหงสาวดีสมทบกันต่อสู้ป้องกันเมืองเป็นสามารถ ไทยเข้าเมืองไม่ได้ก็ต้องถอยกลับออกมา แต่พยายามปล้นเมืองมาหลายครั้งก็ยังเข้าเมืองไม่ได้ ครั้นนานวันก็เกิดอัตคัดอาหารในกองทัพ ด้วยเดิมได้เตรียมเสบียงเพียงจะตีเมืองหงสาวดี

ครั้นขึ้นไปถึงเมืองตองอู ต้องขนเสบียงอาหารส่งตามกองทัพหลวงขึ้นไปโดยปัจจุบันทันด่วน หนทางก็ไกลทั้งต้องขนข้ามภูเขาใช้พาหนะไม่ได้ทุกอย่าง แลฃะถูกพวกกองโจรชาวยักไข่คอยลอบตีตัดลำเลียงเนืองๆ เสบียงอาหารที่ส่งขึ้นไปก็ไม่พอใช้ในกองทัพ ต้องแยกคนให้ออกเที่ยวลาดหาอาหารในพม่าขึ้นไปจนถึงแดนเมืองอังวะ ได้ช้างพลายพังของพระเจ้าหงสาวดี ซึ่งเอาไปเที่ยวซุ่มซ่อนเลี้ยงไว้ตามป่ามาเป็นอันมาก แต่ได้อาหารก็ไม่พอเลี้ยงกัน ผู้คนในกองทัพก็อ่อนกำลังลง

สมเด็จพระนเรศวรล้อมเมืองตองอูอยู่ ๒ เดือน ทรงสังเกตเห็นรี้พลอดอยากจนซูบผอม และทรงทราบว่าถึงป่วยเจ็บล้มตายเพราะอดอาหารก็มี ก็ตรัสสั่งให้เลิกทัพจากเมืองตองอูเมื่อเดือน ๖ แรม ๖ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๑๔๓

ฝ่ายพระเจ้าตองอูก็ไม่สามารถจะยกออกติดตาม เพราะข้างในเมืองรี้พลก็อดอยากอิดโรยอยู่คล้ายกัน ครั้งนั้นจึงเหมือนกับหย่าทัพถอยมาโดยสะดวก

เสด็จกลับมาทางตรอกหม้อ เมื่อมาถึงตำบลคับแค โปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกกองทัพ แยกไปทางเมืองเชียงใหม่เพื่อระงับวิวาทระหว่างพระเจ้าเชียงใหม่กับพวกเจ้าเมืองในลานนา ส่วนกองทัพหลวงยกลงมายังเมืองเมาะลำเลิง ทรงจัดการปกครองหัวเมืองมอญเป็นระเบียบเรียบร้อยแล้ว จึงเสด็จกลับคืนพระนคร


..................................................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:9:05:30 น.  

 
 
 
(ต่อ)

แต่นั้นบรรดาเมืองมอญทางฝั่งตะวันออกแม่น้ำเอราวดี ตั้งแต่เมืองหงสาวดีลงมาจนสุดแดนมอญ ก็มาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยา สมเด็จพระนเรศวรทรงตั้งขุนนางมอญคนหนึ่งชื่อว่า พระยาทะละ ซึ่งได้มาสวามิภักดิ์ และทรงไว้วางพระราชหฤทัยให้เป็นอย่างอุปราชปกครองหัวเมืองมอญทั้งปวงอยู่ ณ เมืองเมาะตะมะ เมืองมอญก็อยู่ในบังคับบัญชากรุงศรีอยุธยาโดยเรียบร้อยจนตลอดรัชกาลสมเด็จพระนเรศวร

เหตุที่สมเด็จพระนเรศวรโปรดให้ สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปเชียงใหม่ครั้งนั้น มีมูลมาแต่เมื่อเจ้าพระยาสุรสีห์ฯเป็นข้าหลวงขึ้นไปห้ามมิให้เมืองลานช้างรบกับเมืองเชียงใหม่ แล้วก็โปรดให้พระยารามเดโชเป็นข้าหลวงอยู่ที่เมืองเชียงแสน คอยระวังดูให้คู่วิวาททั้งสองฝ่ายทำตามสัญญาต่อกัน

พระยารามเดโชนั้นคงเป็นชาวลานนาและบางทีจะได้เคยเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองในแถวนั้นมาแต่ก่อน แต่ไม่อยากอยู่กับพม่า ลงมาสวามิภักดิ์ต่อไทย ทำราชการอยู่ในกรุงฯช้านาน สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริเห็นว่าเป็นผู้รู้การงานในท้องที่ จึงโปรดให้ไปช่วยเจ้าพระยาสุรสีห์ฯ แล้วให้อยู่ดูแลรักษาความสงบต่อมา

แต่อยู่มาชาวเมืองพากันนับถือพระยารามเดโช พวกไหนที่รู้สึกว่าถูกกดขี่หรือที่เคยไม่พอใจในการปกครองของพระเจ้าเชียงใหม่ เช่น เจ้าเมืองฝางและเจ้าเมืองน่านเป็นต้น ก็มาขออารักขาต่อพระยารามเดโช ชาวลานนาจึงเลยแตกเป็น ๒ พวก พวกหัวเมืองทางฝ่ายเหนือและทางตะวันออกถือพระยารามเดโชเป็นหัวหน้า ฟังบังคับบัญชาพระเจ้าเชียงใหม่โดยเรียร้อยแต่หัวเมืองทางข้างใต้และทางตะวันตก

เมื่อสมเด็จพระนเรศวรจะเสด็จไปตีเมืองหงสาวดี ชะรอยมีพระราชประสงค์จะลองใจพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อ จึงสั่งพระเจ้าเชียงใหม่ให้ยกกองทัพไปช่วย พระเจ้าเชียงใหม่ก็ให้พระยาแสนหลวงกับพระยานครลำปางคุมกองทัพไปช่วยตามรับสั่ง และให้พระยาทุลองราชบุตรไปด้วย ไปทูลสมเด็จพระนเรศวรว่าพระเจ้าเชียงใหม่จะไปเองไม่ได้ ด้วยพระยารามเดโช กับเจ้าเมืองฝางกำเริบขึ้นทางข้างเหนือ เกรงจะมาตีเมืองเชียงใหม่ เมื่อเสร็จสงครามแล้วขอให้ช่วยทรงปราบปรามพระยารามเดโชกับพวกที่ตั้งแข็งเมืองด้วย

สมเด็จพระนเรศวรทรงเห็นว่าพระเจ้าเชียงใหม่มังนรธาช่อซื่อตรง จึงโปรดให้สมเด็จพระเอกาทศรถไปช่วยระงับการวิวาทนั้น

สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จไปถึงท่าหวดปลายแดนอาณาเขตลานนา ก็โปรดให้ข้าหลวงถือหนังสือรับสั่งไปยังเมืองต่างๆ ที่กระด้างกระเดื่องต่อพระเจ้าเชียงใหม่ คือพระยารามเดโช เจ้าเมืองน่าน เจ้าเมืองฝาง เจ้าเมืองพลศึกซ้าย เจ้าเมืองสาด เจ้าเมืองแพร่ เจ้าเมืองลอ(๒) เจ้าเมืองชะเรียง เจ้าเมืองเชียงทอง เจ้าเมืองพะเยา เจ้าเมืองพะยาก และเจ้าเมืองยอง ว่าสมเด็จพระนเรศวรโปรดให้พระองค์เสด็จขึ้นไประงับการที่เกิดเกี่ยงแย่งกันในอาณาเขตลานนา ให้เจ้าเมืองเหล่านั้นมาเฝ้าทูลชี้แจงเหตุที่วิวาทให้ทรงทราบ พวกเจ้าเมืองทั้งปวงนั้นพากันเกรงพระเดชานุภาพ ก็รีบส่งเครื่องราชบรรณาการมาถวายและรับว่าจะมาเฝ้าตามรับสั่ง

ข้างฝ่ายพระเจ้าเชียงใหม่ก็แต่งท้าวพระยาให้คุมเครื่องราชบรรณาการมาถวาย ขอให้ช่วยทรงปราบปรามพวกกระด้างกระเดื่องให้ราบคาบ สมเด็จพระเอกาทศรถโปรดให้ตอบไปยังพระเจ้าเชียงใหม่ ว่าพวกเมืองเหล่านั้นได้มาอ่อนน้อมหมด แล้วทรงจำนงจะว่ากล่าวให้ปองดองกันโดยดี เมื่อเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน จะเรียกตัวเจ้าเมืองเหล่านั้นมาให้พร้อมกันที่นั่น ให้พระเจ้าเชียงใหม่ลงมายังเมืองเถิน จะได้ทรงว่ากล่าวให้ปรองดองกัน

ครั้นเสด็จขึ้นไปถึงเมืองเถิน พวกเจ้าเมืองต่างๆมาพร้อมกันหมด แต่พระเจ้าเชียงใหม่เป็นแต่แต่งท้าวพระยาผู้ใหญ่ลงมาต่างตัว หาลงมาเองไม่

สมเด็จพระเอกาทศรถทรงตระหนักพระหฤทัยว่า คงเป็นเพราะพระเจ้าเชียงใหม่ยังมีทิฏฐิถือตัวว่าเป็นราชบุตรของพระเจ้าบุเรงนอง ถ้ามาเฝ้าจะต้องถวายบังคมอย่างเจ้าประเทศราช ละอายใจ จึงยังบิดพลิ้วอยู่ จึงให้ผู้แทนกลับไปบอกพระเจ้าเชียงใหม่ว่า จะเสด็จขึ้นไปว่ากล่าวปรองดองกันที่เมืองลำพูน ให้พระเจ้าเชียงใหม่ออกมาเฝ้าเอง มิฉะนั้นก็จะเสด็จกลับพระนครไม่ช่วยว่ากล่าวต่อไป

พระเจ้าเชียงใหม่สิ้นคิดที่จะบิดพลิ้วก็รับกระทำตามรับสั่ง ให้เตรียมปลูกพลับพลาที่ประทับรับเสด็จที่เมืองลำพูน

ครั้นสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จขึ้นไปถึง ก็ออกมาเฝ้าถวายบังคมตามประเพณีที่เป็นประเทศราช สมเด็จพระเอกาทศรถจึงทรงเปรียบเทียบให้ปรองดองกันอย่างเดิม ทั้งสองฝ่ายก็รับกระทำตาม จึงตรัสสั่งให้ทำการพิธีที่ในพระวิหารหลวง หน้าพระธาตุหริภุญชัยต่อหน้าพระที่นั่ง ให้พระเจ้าเชียงใหม่ถือน้ำกระทำสัตย์ต่อกรุงศรีอยุธยาก่อน แล้วให้พวกเจ้าเมืองที่ได้กระด้างกระเดื่องถือน้ำกระทำสัตย์ ยอมอยู่ในบังคับบัญชาพระเจ้าเชียงใหม่โดยสุจริตต่อไป การที่วิวาทบาดหมางกันมาก็สงบทั่วทั้งอาณาเขตลานนา

เมื่อสมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จกลับ พระเจ้าเชียงใหม่ถวายพระทุลองราชบุตรองค์ใหญ่ ที่ไม่ยอมถวายพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ให้ลงมาทำราชการเป็นตัวจำนำอยู่ในพระนครศรีอยุธยา ในพงศาวดารพม่าว่าถวายราชธิดาด้วยอีกองค์หนึ่ง

แต่นั้นเมืองเชียงใหม่ก็เป็นก็เป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาอย่างสนิทสนมสืบมา และการที่สมเด็จพระนเรศวรทรงช่วยระงับดับเข็ญที่เมืองเชียงใหม่ ๒ ครั้งนั้น เลยเป็นปัจจัยให้ได้เมืองไทยใหญ่ของพม่า บรรดาอยู่ทางฝ่ายตะวันออกแม่น้ำสาละวิน มาสามิภักดิ์ต่อกรุงศรีอยุธยา ขยายอาณาเขตขึนไปจนต่อแดนประเทศจีนดังกล่าวมาแล้ว


(๕)

เรื่องนี้ จะต้องกล่าวถึงพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรง ซึ่งพระเจ้าตองอูพาหนีสมเด็จพระนเรศวรไปยังเมืองตองอู เมื่อสมเด็จพระนเรศวรเลิกทัพกลับมาแล้ว จะกลับคืนมายังเมืองหงสาวดีก็ไม่ได้ ด้วยพระเจ้าตองอูประสงค์จะคุมพระองค์ไว้ในเงื้อมมือ เพื่อจะได้เป็นผู้รับสั่งบังคับบัญชาการบ้านเมืองทั่วพระราชอาณาเขตที่ยังเหลือ และที่สุดหมายจะรับรัชทายาทเป็นพระเจ้าหงสาวดีต่อไปข้างหน้า เพราะเวลานั้นตำแหน่งพระมหาอุปราชาก็ว่างไม่มีใครกีดขวางแล้ว จึงอ้างเหตุที่เมืองหงสาวดีไฟไหม้หมดไม่มีที่ประทับ กับที่เกรงว่าสมเด็จพระนเรศวรจะยกทัพกลับไปอีก ทูลขอให้พระเจ้าหงสาวดีประทับอยู่ที่เมืองตองอูต่อไป พระเจ้าหงสาวดีก็ต้องยอม

พระเจ้าตองอูทำหนังสือรับสั่งพระเจ้าหงสาวดี ประกาศไปตามหัวเมืองทั้งปวงว่า ที่เกิดเหตุภัยต่างๆเป็นเพราะชะตาบ้านเมืองหงสาวดีถึงคราวเสื่อม พระเจ้าหงสาวดีจึงแปรสถานเสด็จไปอยู่ที่เมืองตองอู จะเอาเมืองตองอูเป็นราชธานีที่ประทับไปอีก ๗ ปี ให้เมืองหงสาวดีพ้นเขตเคราะห์ร้ายแล้ว ก็จะเสด็จกลับไปครองเมืองหงสาวดีอย่างเดิม หัวเมืองทั้งหลายเคยทำราชการอย่างไร ก็ให้ทำไปตามเคย เป็นแต่ให้บอกราชการไปกราบทูลที่เมืองตองอู และฟังรับสั่งจากเมืองตองอูแทนเมืองหงสาวดีเท่านั้น

เจ้าเมืองทั้งปวงเห็นหมายประกาศที่เชื่อก็มี แต่ที่สงสัยว่าพระเจ้าตองอูคิดกลอุบายเอาพระเจ้าหงสาวดีไปคุมไว้ในเงื้อมมือเพื่อจะเอาราชสมบัติก็มี มีเจ้าเมืองที่ไม่ไว้ใจพระเจ้าตองอูหลายคน ชวนกันยกกองทัพไปยังเมืองตองอูโดยปรารถนาจะเชิญเสด็จพระเจ้าหงสาวดีให้ไปประทับที่เมืองอื่นเป็นอิสระพ้นจากอำนาจพระเจ้าตองอู

แต่พระเจ้าตองอูทูลยุยงพระเจ้าหงสาวดีว่า เจ้าเมืองเหล่านั้นไปเข้ากับไทย ทำกลอุบายมาเชิญเสด็จไปจากเมืองตองอู ด้วยหมายจะรับพระองค์ไปส่งแก่สมเด็จพระนเรศวร

พระเจ้าหงสาวดีเชื่อก็ทำหนังสือพระราชโองการ ตั้งกระทู้ถามเจ้าเมืองต่างๆที่ยกกองทัพไปนั้น ว่าประเพณีแต่ก่อนต้องมีท้องตราสั่ง หัวเมืองจึงยกกองทัพเข้ามายังราชธานีได้ ที่บังอาจยกกองทัพเข้ามาตามอำเภอใจอย่างนั้น จะเป็นกบฏหรือ

พวกเจ้าเมืองต่างๆเห็นหนังสือราชโองการ มีพระราชลัญจกรประทับเป็นสำคัญ ก็ไม่อาจฝ่าฝืน ต้องพากลับเลิกทัพกลับไป แต่เมื่อไปถึงเมืองตองอู ได้รู้แน่ว่าพระเจ้าหงสาวดีถูกควบคุมอยู่ในอำนาจของพระเจ้าตองอู แต่นั้นเจ้าเมืองต่างๆก็ไม่ฟังบังคับบัญชาท้องตราที่มีสั่งไปจากเมืองตองอู บางเมืองที่มาอ่อนน้อมต่อพระยาทะละขอเป็นเมืองขึ้นไทยก็มี

ครั้นข่าวระบือไปถึงเมืองไทยใหญ่ พวกเจ้าฟ้าไทยใหญ่ที่ยังขึ้นอยู่กับพม่าก็พากันแข็งเมืองขึ้นด้วย พระเจ้าตองอูมิรู้ที่จะทำอย่างไร ก็ได้แต่รักษาตัวนิ่งอยู่

แต่พระสังกะทัต(นัดจินหน่อง)ราชบุตรซึ่งเป็นทายาทของพระเจ้าตองอู คิดขึ้นโดยลำพังตนว่า แต่ก่อนมาเมืองตองอูก็อยู่เย็นเป็นสุขมาเกิดเป็นยุคเข็ญขึ้น เพราะพระบิดารับพระเจ้าหงสาวดีมาไว้ จึงเป็นเหตุให้พระนเรศวรยกไปตีเมืองตองอู เกือบจะเสียบ้านเสียเมืองมาครั้งหนึ่ง หากข้าศึกขาดเสบียงอาหารจึงรอดตัวมาได้ในครั้งนั้น ต่อมาไม่ช้าพวกเจ้าเมืองต่างๆก็ยกกองทัพมา หมายจะชิงเอาพระเจ้าหงสาวดีไป เกือบจะถูกตีเมืองอีกครั้งหนึ่ง หากพระเจ้าหงสาวดีทรงเชื่อถือพระเจ้าตองอู มีพระกระทู้ถาม เจ้าเมืองเหล่านั้นเกรงกลัวจึงพ้นภัยมาได้อีกครั้งหนึ่ง

แต่ก็คงไม่พ้นความลำบากไปได้ช้านาน สมเด็จพระนเรศวรยังไม่ได้พระองค์พระเจ้าหงสาวดีอยู่ตราบใดก็คงกลับมาตีเมืองตองอูอีก หรือมิฉะนั้นถ้ามีใครกราบทูลยุยงพระเจ้าหงสาวดีให้กล่าวโทษพระเจ้าตองอูว่าเอาพระองค์มากักขังไว้ ประกาศไปยังหัวเมืองต่างๆ พวกเจ้าเมืองที่ยังซื่อตรงต่อพระเจ้าหงสาวดีก็คงพากันมาตีเมืองตองอู

พระสังกะทัตเห็นว่าความลำบากต่างๆของเมืองตองอูอยู่ที่พระเจ้าหงสาวดีพระองค์เดียว ถ้าไม่มีพระเจ้าหงสาวดีก็จะหามีความลำบากไม่ คิดเห็นเช่นนั้นแล้วจึงลอบวางยาพิษปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงเสียเมื่อเดือน ๑๒ แรม ๑๐ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๑๔๓ เวลานั้นเสด็จอยู่เมืองตองอูได้ ๘ เดือน

พระเจ้าตองอูรู้ก็ตกใจ ปรึกษากับพระมหาเถรเสียมเพรียม เห็นว่าที่คิดจะตั้งตัวเป็นใหญ่น่าจะไม่สำเร็จเสียแล้ว แต่ก็จำต้องทำไปตามเลย จึงประกาศบอกข่าวว่าพระเจ้าหงสาวดีประชวรสิ้นพระชนม์ และว่าเมื่อก่อนจะสิ้นพระชนม์ได้มอบเวนราชสมบัติแก่พระเจ้าตองอูให้เป็นพระเจ้าหงสาวดีต่อไป

แต่พวกหัวเมืองต่างๆพากันสงสัยว่า พระเจ้าตองอูปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดีชิงเอาราชสมบัติ ก็ไม่มีเมืองไหนยอมอ่อนน้อมต่อพระเจ้าตองอูตามประกาศ ราชอาณาเขตหงสาวดีที่ยังเหลืออยู่ก็แตกกระจายกันไปหมดทั้งประเทศ

พระเจ้าตองอูเห็นหัวเมืองกระด้างกระเดื่องดังนั้น เกรงว่าจะพากันมาตีเมืองตองอู ปรึกษาพระมหาเถรเสียมเพรียมว่าจะทำอย่างไรดี พระมหาเถรเสียมเพรียมเห็นว่ามีทางที่จะคุ้มภัยได้อย่างเดียว แต่อ่อนน้อมยอมเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยา ถ้าเช่นนั้นก็จะได้กำลังเมืองมอญซึ่งตกเป็นของไทยช่วยป้องกัน มิให้เมืองอื่นกล้ามาทำร้าย

ในพงศาวดารไทยว่า พระเจ้าตองอูเห็นชอบด้วยก็มาสามิภักดิ์ต่อสมเด็จพระนเรศวร แต่ในพงศาวดารพม่ามีเรื่องเมืองตองอูเป็นอย่างอื่นคั่นอยู่ในตอนนี้เป็นเวลาสัก ๒ ปี จนพระเจ้าตองอูถึงพิราลัยแล้ว เมื่อพระสังกะทัตได้ครองเมืองตองอู กลัวพระเจ้าอังวะจะมาตีเมือง จึงมาขอสามิภักดิ์ขอขึ้นตอกรุงศรีอยุธยา ประจวบกับเวลาสมเด็จพระนเรศวรสวรรคต ความจริงเห็นจะเป็นอย่างที่กล่าวในพงศาวดารพม่า

ว่าเมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสิ้นพระชนม์นั้น ในเมืองพม่ามีเจ้านายตั้งเป็นประเทศราชเป็นอิสระแก่กันอยู่ ๒ พระองค์ คือพระเจ้าตองอูเป็นราชภาคิไนย โดยเป็นราชบุตรพระเจ้าตองอูผู้เป็นอนุชาของพระเจ้านันทบุเรงองค์ ๑ พระเจ้าแปร ราชบุตรของพระเจ้านันทบุเรง ซึ่งตั้งเมืองเมื่อพระเจ้าหงสาวดีตั้งพระมหาอุปราชานั้นองค์ ๑

เวลานั้นเมืองอังวะเป็นแต่ขุนนางรั้งราชการ มาตั้งแต่พระเจ้าหงสาวดีตั้งพระเจ้าอังวะราชบุตรเป็นพระมหาอุปราชา ที่พระเจ้าอังวะว่างอยู่ เมื่อพระเจ้าหงสาวดีหนีสมเด็จพระนเรศวรไปอยู่เมืองตองอูนั้น น้องยาเธอองค์หนึ่งทรงนามว่า นะยองราม หนีจากเมืองหงสาวดีขึ้นไปอยู่ในแขวงเมืองภุกามใกล้กับเมืองอังวะ พอปรากฏว่าพระเจ้าหงสาวดีนัทบุเรงสิ้นพระชนม์ พวกชาวเมืองอังวะก็เชิญเจ้านะยองรามขึ้นครองเมืองอังวะ ด้วยนับถือว่าเป็นราชบุตรของพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนอง จึงมีพระเจ้าอังวะพระเจ้าอังวะขึ้นอีกองค์ ๑

ใน ๓ องค์นั้น พระเจ้าแปรกับพระเจ้าตองอูคนมิใคร่นับถือ เพราะพระเจ้าแปรบังอาจตั้งแข็งเมืองต่อพระราชบิดา คนทั้งหลายเห็นว่าไม่มีความกตัญญู ส่วนพระเจ้าตองอูก็ถูกสังสัยว่าปลงพระชนม์พระเจ้าหงสาวดี พวกพม่าโดยมากจึงอยากให้พระเจ้าอังวะเป็นพระเจ้าหงสาวดี

พระเจ้าตองอูรู้ว่าคนนิยมพระเจ้าอังวะมากเช่นนั้น เห็นว่าถ้าพระเจ้าอังวะมีกำลังมากขึ้นคงมาตีเมืองแปรเมืองตองอูขยายอาณาเขตลงไปยังเมืองหงสาวดี จึงชวนพระเจ้าแปรให้ช่วยกันกำจัดพระเจ้าอังวะเสียอย่าให้ทันมีกำลังมาก นัดพระเจ้าแปรยกกองทัพเรือขึ้นไปตีเมืองอังวะ ส่วนพระเจ้าตองอูก็จะยกกองทัพบกขึ้นไประดมตีเมืองอังวะพร้อมกัน

พระเจ้าแปรก็เห็นชอบด้วย แต่เมื่อเตรียมกองทัพพร้อมแล้ว พระเจ้าแปรไปลงเรือ เกิดกบฏขึ้น พระเจ้าแปรหนีพวกกบฏไปลงเรือ เลยตกน้ำพิราลัยในแม่น้ำเอราวดี หัวหน้ากบฏซึ่งเห็นจะเป็นเจ้านายในราชวงศ์เดียวกัน ก็ได้ครองเมืองแปร ก็ไม่ได้ไปตีเมืองอังวะ

พระเจ้าตองอูขัดเคืองจึงยกกองทัพบกที่ได้เตรียมไว้ไปตีเมืองแปร แต่ตีไม่ได้ดังประสงค์ ก็ต้องเลิกทัพกลับมาอยู่เมืองตองอูอย่างเดิม

แต่นั้นก็ไม่มีใครจะไปย่ำยีเมืองอังวะ พระเจ้าอังวะได้โอกาสที่จะตั้งตัวเป็นใหญ่ จึงทำพิธีราชาภิเษกเป็นพระเจ้าแผ่นดินทรงนามว่า พระเจ้าสีหสุธรรมราชา แล้วคิดขยายอาณาเขตต่อไป ก็เมืองอังวะนั้น ตั้งอยู่ในแดนพม่าข้างฝ่ายเหนือติดต่อกับแดนไทยใหญ่ พระเจ้าอังวะจำจะต้องได้พวกไทยใหญ่เป็นกำลังจึงจะสามารถขยายอาณาเขตลงมาถึงเมืองพม่าได้

ในเวลานั้นเมืองไทยใหญ่ ๑๙ เจ้าฟ้า ซึ่งเคยขึ้นต่อพม่ามาแต่ครั้งพระเจ้าหงสาวดีบุเรงนองนั้น เหล่าเมืองที่อยู่ฟากตะวันออกของแม่น้ำสาละวิน สมเด็จพระนเรศวรได้มาเป็นเมืองขึ้นของกรุงศรีอยุธยาหมด ยังขึ้นพม่าอยู่แต่เหล่าเมืองไทยใหญ่ที่อยู่ทางฟากตะวันตกแม่น้ำสาละวิน

แต่เมื่อพระเจ้าหงสาวดีนันทบุเรงสิ้นพระชนม์ ก็พากันตั้งตัวเป็นอิสระหมด พอพระเจ้าอังวะรวมรี้พลพม่าได้พอเป็นกำลังแล้วก็เริ่มขยายอาณาเขตออกไปทางเมืองไทยใหญ่ ที่อยู่ต่อแดนพม่าทางฝ่ายตะวันตกของแม่น้ำสาละวิน

เหตุการณ์ที่กล่าวมานี้ เกิดขึ้นในเมืองพม่าไม่เกี่ยวข้องถึงเมืองไทย เพราะฉะนั้นในระหว่างปีชวด พ.ศ. ๒๑๔๓ จนปีขาล พ.ศ. ๒๑๔๔ สมเด็จพระนเรศวรก็กำลังบำรุงรี้พลพาหนะ เมืองไทยจึงว่างสงครามอยู่ ๓ ปี

ตรงนี้มีวินิจฉัยซึ่งน่าคิดอยู่อย่างหนึ่งว่า ที่เกิดเหตุการณ์ต่างในเมืองพม่าดังกล่าวมาแล้ว สมเด็จพระนเรศวรก็ทรงทราบ ถ้าเสด็จไปตีเมืองพม่า เมื่อเวลากำลังแตกกันเป็นก๊กเป็นเหล่าเช่นนั้นก็คงตีได้โดยง่าย เหตุไฉนจึงนิ่งอยู่ถึง ๓ ปี ข้อนี้พิจารณาดูตามเรื่องพงศาวดารตั้งแต่สมเด็จพระนเรศวร ทรงประกาศอิสรภาพของเมืองไทย เมื่อปีวอก พ.ศ. ๒๑๒๗ ไทยต้องทำสงครามติดต่อกันมาถึง ๑๕ ปี ธรรมดาการทำสงครามถึงจะเป็นฝ่ายชนะ รี้พลและช้างม้าพาหนะก็ย่อมล้มตายมากบ้างน้อยบ้างเสมอทุกครั้ง ยิ่งรบกันนานวันก็ยิ่งสิ้นผู้คนและพาหนะมากขึ้น

ใช่แต่เท่านั้น คนที่ถูกเกณฑ์เข้ากองทัพไปทำสงครามย่อมต้องละการทำไร่นา การสงครามมีบ่อยๆหรือทำสงครามนานวัน คนทำนาน้อยลง พืชผลที่เป็นเสบียงอาหารสำหรับกองทัพก็เกิดน้อยลง เป็นเหตุให้เสบียงอาหารขาดแคลนขึ้นด้วย

สันนิษฐานว่าเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จกลับมาจากตีเมืองหงสาวดีครั้งที่ ๒ รี้พลพาหนะเห็นจะร่อยหรออิดโรยจนตระหนักพระราชหฤทัยว่า กำลังของไทยที่จะทำสงครามถดถอยลงมากนัก ควรจะหยุดรบพุ่งบำรุงรี้พลเสียสักคราวหนึ่ง จึงปรากฏในพงศาวดาร ว่าเมื่อเสด็จกลับมาครั้งนั้นมิใคร่ประทับในพระนคร มักเสด็จไปอยู่ตามหัวเมืองเช่นเมืองสุพรรณบุรี และเมืองราชบุรีเป็นต้น สมเด็จพระเอกาทศรถก็เสด็จขึ้นไปเมืองเหนือจนถึงเมืองพิษณุโลก

ที่ว่าเสด็จไปอยู่ตามหัวเมืองคงเนื่องในการบำรุงรี้พล เช่นเที่ยวเลือกหาที่ให้พวกรี้พลตั้งบ้านเรือนทำไร่นาเป็นต้นเป็นมูลเหตุ และเสด็จประพาสสำราญพระอิริยาบถไปด้วยกัน ดังปรากฏว่าครั้งหนึ่งเสด็จทรงเรือไปประพาสทางทะเลปักษ์ใต้ด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถจนถึงเขาสามร้อยยอด แล้วกลับมาตั้งพลับพลาประทับที่ชายทะเล ณ ตำบลโตนดหลวง (อยู่ใกล้กับหาดเจ้าสำราญ) แขวงเมืองเพชรบุรี และประพาสเมืองเพชรบุรีด้วย เป็นครั้งแรกที่ปรากฏว่าเมืองเพชรบุรีเป็นที่ประพาสของพระเจ้าแผ่นดินสมัยกรุงศรีอยุธยา สืบมาแต่ครั้งนั้น

ถึงปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๔๖ สมเด็จพระนเรศวรทรงทราบว่าพระเจ้าอังวะ ตั้งตัวเป็นใหญ่ในเมืองพม่าเหนือ ยกกองทัพไปเอาเมืองไทยใหญ่ที่ตั้งเป็นอิสระได้แล้ว เลยบุกรุกเข้ามาตีเมืองนายและเมืองแสนหวีไทยใหญ่ซึ่งมาขึ้นอยู่แก่ไทย

เวลานั้นการบำรุงรี้พลพอสำเร็จ สมเด็จพระนเรศวรคงทรงพระราชดำริเห็นว่าพระเจ้าตองอูสิ้นกำลังแล้ว การที่จะตีเมืองตองอูดูไม่สำคัญอันใด แต่ทางเมืองไทยใหญ่สำคัญอยู่ด้วยพระเจ้าอังวะบังอาจเข้ามาบุกรุกเมืองไทยใหญ่ที่ขึ้นแก่ไทย นอกจากนั้นถ้าพระเจ้าอังวะได้เมืองไทยใหญ่หมดแล้ว อาจจะมีกำลังถึงสามารถรวมอาณาเขตพม่าใต้กลับตั้งประเทศหงสาวดีขึ้นอีก ควรจะปราบพระเจ้าอังวะเสียแต่ยังไม่ทันมีกำลังมาก

แต่จะไปตีเมืองอังวะนั้นหนทางไกล เพราะเมืองอังวะตั้งอยู่ในแผ่นดินพม่าข้างฝ่ายเหนือ มีทางที่กองทัพไทยจะยกไปเป็น ๒ ทาง ทาง ๑ ยกขึ้นไปจากเมืองมอญ จะต้องรบพุ่งปราบปรามเมืองพม่าทางฝ่ายใต้ เช่นเมืองตองอูและเมืองแปรเป็นต้น ขึ้นไปจนถึงเมืองอังวะ อีกทาง ๑ ยกไปจากเมืองเชียงใหม่ทางเมืองไทยใหญ่ซึ่งขึ้นอยู่กับไทยแล้วโดยมาก ที่ยังตั้งเป็นอิสระอยู่ก็ครั่นคร้ามไทยอยู่แล้วคงไม่ต่อสู้ อาจจะยกกองทัพไปได้โดยสะดวก มิต้องรบพุ่งจนกระทั่งถึงแดนอังวะ คงเป็นด้วยทรงพระราชดำริเช่นว่ามานี้ จึงจตรัสสั่งให้ยกกองทัพไปทางเมืองเชียงใหม่

สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกกองทัพหลวงออกจากพระนครศรีอยุธยาเมื่อวันพฤหัสบดี เดือนยี่ แรม ๖ ค่ำ ปีมะโรง พ.ศ. ๒๑๔๗ เสด็จไปด้วยกันกับสมเด็จพระเอกาทศรถจน ถึงเมืองเชียงใหม่อันเป็นที่ประชุมพลรวมจำนวน ๒๐๐,๐๐๐ คน แล้วยกต่อไปเป็น ๒ กระบวนทัพ ให้สมเด็จพระเอกาทศรถยกไปทางเมืองฝางทัพ ๑ สมเด็จพระนเรศวรเสด็จยกไปทางเมืองหางทัพ ๑ ก็ยกไปได้โดยสะดวกทั้ง ๒ ทาง

แต่เมื่อกองทัพหลวงยกไปถึงเมืองหาง (ในพงศาวดารบางฉบับเรียกว่าเมืองห้างหลวง) อันเป็นเมืองอยู่ชานพระราชอาณาเขตในสมัยนั้น เมื่อปลายเดือน ๕ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๔๘ เวลาสมเด็จพระนเรศวรเสด็จประทับแรมอยู่ ณ ตำบลทุ่งแก้ว เกิดประชวรเป็นหัวระลอกขึ้น (บ้างว่าถูกตัวสัตว์พวกแมลงมีพิษต่อย) ที่พระพักตร์ แล้วเลยเป็นบาดพิษจนพระอาการหนัก จึงตรัสสั่งให้ข้าหลวงรีบไปเชิญเสด็จสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้า สมเด็จพระเอกาทศรถเสด็จมาถึงทันทรงพยาบาลสมเด็จพระเชษฐาธิราชอยู่ ๓ วัน สมเด็จพระนเรศวรก็เสด็จสวรรคตที่เมืองหาง เมื่อวันจันทร์ เดือน ๖ ขึ้น ๘ ค่ำ ปีมะเส็ง พ.ศ. ๒๑๔๘ พระชันษาได้ ๕๐ ปี เสวยราชสมบัติได้ ๑๕ ปี

ตรงนี้มีวินิจฉัยน่าคิดว่า ที่สมเด็จพระนเรศวรมีรับสั่งให้หาสมเด็จพระเอกาทศรถมาเฝ้าเมื่อประชวรหนักนั้น คงมีพระราชประสงค์จะทรงสั่งการสงครามให้ทำอย่างไรต่อไป เมื่อพระองค์สวรรคตแล้ว แต่กระแสรับสั่งจะว่าอย่างไรไม่มีในหนังสือพระราชพงศาวดาร กล่าวแต่ว่า เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว ท้าวพระยาข้าราชการก็พร้อมกันเชิญเสด็จ สมเด็จพระเอกาทศรถ ผ่านพิภพ จึงโปรดให้เลิกการสงครามที่หมายว่าจะไปตีเมืองอังวะครั้งนั้น

น่าสันนิษฐานว่าสมเด็จพระนเรศวรคงรับสั่งสมเด็จพระเอกาทศรถให้ทำสงครามต่อไปจนตีเมืองอังวะได้ อย่างให้ถือเอาเหตุที่พระองค์สวรรคตเป็นข้อขัดข้องแก่การบ้านเมือง เพราะกองทัพไทยที่ยกไปครั้งนั้นมีกำลังมาสกพอจะทำการให้สำเร็จได้ และได้เปรียบข้าศึกที่พวกไทยใหญ่ยังไม่ยอมอยู่ในอำนาจพระเจ้าอังวะทั้งหมด พวกไทยใหญ่คงไม่ช่วยพม่ารบไทยเท่าใดนัก ที่สุดจนในเมืองพม่าเองก็ยังแตกกันเป็นหลายก๊ก กองทัพไทยคงจะตีได้เมืองอังวะเป็นแน่

แต่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงเห็นว่ากำลังของไทยอยู่ที่พระองค์ของสมเด็จพระนเรศวรเป็นสำคัญ ที่ทำให้รี้พลมีใจรบพุ่งกล้าแข็งและมำให้ข้าศึกครั่นคร้าม เมื่อสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตแล้ว ฝ่ายไทยกำลังมีความโศกศัลย์คงท้อใจในการรบพุ่ง ฝ่ายข้าศึกรู้ว่าสิ้นสมเด็จพระนเรศวรแล้วก็ทะนงใจขึ้น เห็นจะเอาชัยชนะข้าศึกไม่ได้โดยง่ายดังคาด

ถึงตีได้เมืองอังวะก็ไม่เสร็จสิ้นสงครามเพียงนั้น เพราะยังมีหัวเมืองพม่าข้างใต้ที่จะต้องตีต่อลงไปอีกจนถึงเมืองมอญ จึงจะได้เมืองพม่าทั้งหมด จะต้องรบพุ่งต่อไปอีกช้านาน ทรงพระวิตกเกรงว่ากำลังไทยที่สมเด็จพระนเรศวรทรงฟื้นขึ้นจะกลับทรุดโทรมลงไปอีก ถ้ากำลังรี้พลอ่อนแอลง ก็คงรักษาอาณาเขตที่ขยายออกไปไว้ไม่ได้ หรือว่าอีกอย่างหนึ่งโดยย่อ สมเด็จพระนเรศวรทรงพระราชดำริอย่างนักรบ แต่สมเด็จพระเอกาทศรถทรงพระราชดำริอย่างรัฐบุรุษ จึงเลิกทัพกลับมา

ข้างฝ่ายพม่าเมื่อกองทัพไทยกลับมาแล้ว พระเจ้าอังวะก็รวมเมืองไทยใหญ่ได้ดังปรารถนา แต่เมื่อกลับจากเมืองไทยใหญ่พระเจ้าอังวะนะยองรามก็ถึงพิราลัยในกลางทาง ยังไม่ทันถึงเมืองอังวะ พวกท้าวพระยาข้าราชการพม่าจึงยกราชบุตรองค์ใหญ่ขึ้นเป็นพระเจ้าอังวะ พระเจ้าอังวะองค์นี้มีปรีชาสามารถคิดการขยายอาณาเขตตามรอยพระราชบิดาต่อมา

ถึงตอนนี้พระเจ้าตองอูถึงพิราลัย พระสังกะทัตราชบุตรได้ครองเมืองตองอู กลัวพระเจ้าอังวะจะมาตีเมืองตองอูจึงมาขอเป็นประเทศราชขึ้นกรุงศรีอยุธยาตามที่พระมหาเถรเสียมเพรียมได้แนะนำไว้แก่บิดา แต่ต่อมาเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตแล้ว ถึงเมืองสิเรียม ซึ่งพระเจ้ายักไข่ได้ไปเมื่อหย่าทัพกับพระเจ้าตองอู ก็มีเรื่องทำนองเดียวกัน ด้วยเมืองสิเรียมนั้นเป็นเมืองท่า มีเรือกำปั่นไปมาค้าขายบริบูรณ์ด้วยโภคทรัพย์ พระเจ้ายักไข่เห็นจะเกรงว่าพระยาทะละอุปราชของไทยที่เมืองเมาะตะมะจะไปตีเมืองสิเรียม จึงให้ฝรั่งโปรตุเกสคน ๑ ชื่อฟิลิป เดอ บริโต คุมกำปั่นรบ ๓ ลำ กับไพร่พลบ ๓,๐๐๐ อยู่รักษาเมือง

อยู่มา เดอ บริโต ได้พวกโปรตุเกสมาเป็นกำลังตั้งแข็งเมือง พระเจ้ายักไข่ให้พระมหาอุปราชาราชบุตรยกกองทัพลงมาตีเมืองสิเรียม แต่มารบแพ้ เดอ บริโตจับพระมหาอุปราชาได้ พระเจ้ายักไข่ก็ต้องไถ่พระมหาอุปราชาด้วยทัพสัญญายอมให้เมืองสิเรียมแก่ เดอ บริโต เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๑๔๖ เดอ บริโต เกรงพระเจ้ายักไข่จะหาเหตุมาแก้แค้นเมื่อภายหลัง จึงมาขอขึ้นต่อกรุงศรีอยุธยา แต่จะเป็นเมื่อก่อนหรือภายหลังสมเด็จพระนเรศวรสวรรคตไม่ทราบแน่ เมืองมอญทั้งปักษ์ใต้และฝ่ายเหนือก็มาเป็นเมืองขึ้นกรุงศรีอยุธยาทั้งหมดในครั้งนั้น

การที่สมเด็จพระนเรศวรทรงทำสงครามจึงได้ผลในที่สุด ทั้งสามารถทำลายอานุภาพเมืองหงสาวดีมิให้เป็นมหาประเทศ ปละกู้เมืองไทยให้คืนเป็นอิสระ แล้วได้เป็นมหาประเทศมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาลยิ่งกว่าเคยมีมาแต่ก่อน หรือในภายหลังต่อมา

เมื่อสมเด็จเอกาทศรถเสด็จกลับมาถึงพระนคร ทำพระราชพิธีราชาภิเษกแล้ว ให้สร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด็จพระนเรศวร ในหนังสือพระราชพงศาวดารว่าเป็นงานใหญ่อย่างมโหฬารยิ่งกว่างานพระบรมศพที่เคยมีมาแต่ก่อน และมีเจ้าประเทศราชและเจ้าเมืองต่างๆซึ่งเป็นข้าขอบขัณฑสีมามาถวายบังคมพระบรมศพมากกว่ามาก ความที่ว่านี้พึงเห็นได้ว่าเป็นความจริง เพราะเมื่อสมเด็จพระนเรศวรเสด็จสวรรคตทรงเป็นพระเกียรติเป็น พระเจ้าราชาธิราช บริบูรณ์ทุกสถาน.


คลิกที่นี่ สนุกกว่าครับ


..................................................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 16 มีนาคม 2550 เวลา:9:06:26 น.  

 
 
 
ยังจำลิลิตตะเลงพ่ายติดตา ตอนที่พระเจ้านันทบุเรง กล่าวบริภาษพระมหาอุปราว่า หากเจ้าคร้ามเคราะห์กาจ จงอย่ายาตรยุทธนา เอาพัตราสตรี สวมอินทรีย์สร่างเคราะห์ ช่างเหน็บแนมจริง
 
 

โดย: fon IP: 137.205.127.60 วันที่: 9 กรกฎาคม 2550 เวลา:0:51:14 น.  

 
 
 
ยินดีต้อนรับครับ คุณ ฝน
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 10 กรกฎาคม 2550 เวลา:9:19:47 น.  

 
 
 
ยอดเยี่ยมมากครับ ได้ความรู้เพิ่มเติมขึ้นอีกเยอะทีเดียว
 
 

โดย: Kross_ISC วันที่: 15 สิงหาคม 2554 เวลา:22:49:59 น.  

Name
Opinion
*ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com