กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
อั้งยี่



ถนนเจริญกรุง


....................................................................................................................................................


เรื่อง อั้งยี่


(๑)

เมื่อฉันเป็นนายพลผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๐ จนถึง พ.ศ. ๒๔๓๒ ได้เคยมีหน้าที่ทำการปราบปรามพวกจีนอั้งยี่ในกรุงเทพฯครั้งหนึ่ง ต่อมาถึงสมัยฉันเป็นตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๓๕ จน พ.ศ. ๒๔๕๘ มีหน้าที่ต้องคอยระวังพวกอั้งยี่ตามหัวเมืองอยู่เสมอบางทีต้องปราบปรามบ้างแต่ไม่มีเหตุใหญ่โตเหมือนเมื่อครั้งฉันอยู่ในกรมยุทธนาธิการ ถึงกระนั้นก็ยังได้ความรู้เรื่องอั้งยี่มากขึ้น ครั้นเมื่อฉันออกจากกระทรวงมหาดไทยมาจัดการหอพระสมุดสำหรับพระนครมีกิจตรวจค้นโบราณคดี พบเรื่องอั้งยี่ที่มาในเมืองไทยแต่ก่อนๆในหนังสือพงศาวดารและจดหมายเหตุเก่าหลายแห่ง

เลยอยากรู้ตำนานของพวกอั้งยี่ จึงได้ไถ่ถามผู้ที่เคยเป็นหัวหน้าอั้งยี่ที่คุ้นเคยกัน คือ พระอนุวัติราชนิยม ซึ่งมักเรียกว่า "ยี่กอฮง" นั้นเป็นต้น เขาเล่าให้ฟังได้ความรู้เพิ่มขึ้นอีก จึงได้ลองเขียนบันทึกเรื่องอั้งยี่ไว้บ้างหลายปีมาแล้ว ครั้นออกมาอยู่เมืองปีนัง ฉันได้มาเห็นตำนานต้นเรื่องอั้งยี่ที่แรกเกิดขึ้นในเมืองจีน มิสเตอร์ ปิคเกอร์ริง (Mr. W.A. Pickering)แปลจากภาษาจีน ในตำราของพวกอั้งยี่ พิมพ์เป็นภาษาอังกฤษไว้ในหนังสือวารสารของสมาคมรอแยลอาเชียติก Journal of Royal Asiatic Society เมื่อ ค.ศ. ๑๘๗๘ (พ.ศ. ๒๔๒๑) เขาเล่าถึงพวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นของอังกฤษในแหลมมลายูเป็นอันใด เรื่องเบื้องต้นต่อกับเรื่องอั้งยี่ที่ฉันเคยรู้มาก่อนอีกตอนหนึ่ง จึงลองรวมเนื้อความเรื่องอั้งยี่เขียนนิทานเรื่องนี้


(๒)

เหตุที่เกิดอั้งยี่ในเมืองจีน

เมื่อพวกเม่งจูได้พวกจีนไว้ในอำนาจ ตั้งราชวงศ์ไต้เช็งครองเมืองจีนแล้ว ถึง พ.ศ. ๒๒๐๗ พระเจ้าคังฮีได้เสวยราชย์เป็นรัชกาลที่ ๒ ในรัชกาลนั้นมีพวกฮวนเฮงโน้วอยู่ทางทิศตะวันตกยกกองทัพมาตีเมืองจีน เจ้าเมืองกรมการที่รักษาหัวเมืองชายแดนจีนต่อสู้ข้าศึกไม่ไหว พระเจ้ากรุงจีนคังฮีจะแต่งกองทัพออกไปจากกรุงปักกิ่ง หาตัวแม่ทัพไม่ได้ จึงให้ออกประกาศว่า ถ้าใครอาสาปราบปรามพวกฮวนได้ จะประทานทองเป็นบำเหน็จ ๑๐,๐๐๐ ตำลึง และจะให้ปกครองผู้คน ๑๐,๐๐๐ ครัวเป็นบริวาร ครั้งนั้นที่วัดแห่งหนึ่งบนเขากุ้ยเลงแขวงเมืองเกี้ยนเล้งในแดนจีนฮกเกี้ยนมีหลวงจีนอยู่ด้วยกัน ๑๒๘ องค์ ได้ร่ำเรียนรู้วิชาอาคมมาก พากันเข้ามาอาสารบพวกฮวน

พระเจ้ากรุงจีนทรงยินดี แต่วิตกว่าหลวงจีนมีแต่ ๑๒๘ องค์ด้วยกัน พวกข้าศึกมากนัก จึงตรัสสั่งให้ขุนนางผู้ใหญ่คนหนึ่งชื่อ เต็งกุนตัด คุมกองทัพไปด้วยกันกับพวกหลวงจีน ไปรบข้าศึกที่ด่านท่งก๊วน พวกหลวงจีนกับพวกกองทัพกรุงปักกิ่งมาชัยชนะฆ่าฟันพวกฮวนล้มตายแตกหนีไปหมด พระเจ้ากรุงจีนจะประทานบำเหน็จรางวัลตามประกาศ พวกหลวงจีนไม่รับยศศักดิ์และบริวาร ขอกลับไปจำศีลภาวนาอยู่อย่างเดิม รับแต่ทอง ๑๐,๐๐๐ ตำลึงไปบำรุงวัด พระเจ้ากรุงจีนก็ต้องตามใจ ส่วนเต็งกุนตัดขุนนางผู้ใหญ่ที่ไปช่วยพวกหลวงจีนนั้นได้รับบำเหน็จเป็นแม่ทัพใหญ่ ณ เมืองโอ๊วก๊วง

เต็งกุนตัดกับพวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เคยชอบพอกันสนิทสนมมาตั้งแต่ไปรบพวกฮวน เมื่อจะออกจากเมืองปักกิ่งแยกกันไป เต็งกุนตัดจึงเชิญหลวงจีนทั้งหมดไปกินเลี้ยงด้วยกันวันหนึ่ง แล้วเลยกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันต่อไปในวันหน้า ก็ในเวลานั้นมีขุนนางกังฉิน ๒ คน เคยเป็นอริกับเต็งกุนตัดมาแต่ก่อน ทูลพระเจ้ากรุงจีนว่า เมื่อเต็งกุนตัดจะออกไปจากเมืองปักกิ่งได้ลอบกระทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ดูผิดสังเกต สงสัยว่าเต็งกุนตัดจะคิดมักใหญ่ใฝ่สูง จึงได้สาบานเป็นพี่น้องไว้กับพวกหลวงจีนที่มีฤทธิ์เดช โดยหมายจะเอาไว้ป็นกำลัง เวลาเต็งกุนตัดออกไปเป็นแม่ทัพบังคับบัญชารี้พลมาก ถ้าได้ช่องจะสมคบกับพวกหลวงจีนพากันยกกองทัพเข้ามาชิงราชสมบัติ น่ากลัวคนในเมืองหลวงจะไม่กล้าต่อสู้เพราะกลัวฤทธิ์เดชของพวกหลวงจีน พวกขุนนางกังฉินคอยหาเหตุทูลยุยงมาอย่างนั้น

จนพระเจ้ากรุงจีนคังฮีเห็นจริงด้วย จึงปรึกษากันคิดกลอุบายตั้งขุนนางกังฉิน ๒ คนนั้นเป็นข้าหลวง คนหนึ่งให้ไปยังเมืองโอ๊วก๊วง ทำเป็นทีว่าคุมของบำเหน็จไปพระราชทานเต็งกุนตัด อีกคนหนึ่งให้ไปยังวัดบนภูเขากุ้ยเล้ง ทำเป็นทีว่าคุมเครื่องราชพลี มีสุราบานและเสบียงอาหาร เป็นต้นไปพระราชทานแก่พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ เมื่อข้าหลวงไปถึงเมืองโอ๊วก๊วง เต็งกุนตัดออกไปรับข้าหลวงถึงนอกเมืองหลวงตามประเพณี ข้าหลวงก็อ่านท้องตราว่าเต็งกุนตัดคิดกบฏต้องโทษถึงประหารชีวิต แล้วจับตัวเต็งกุนตัดฆ่าเสีย

ฝ่ายข้าหลวงที่ไปยังภูเข้ากุ้ยเล้ง พวกหลวงจีนก็ต้อนรับโดยมีการเลี้ยงรับที่วัด ข้าหลวงเอายาพิษเจือสุราของประทานไปตั้งเลี้ยง แต่หลวงจีนเจ้าวัดได้กลิ่นผิดสุราสามัญ เอากระบี่กายสิทธิ์สำหรับวัดมาจุ่มลงชันสูตร เกิดเปลวไฟพลุ่งขึ้นรู้ว่าเป็นสุราเจือยาพิษ ก็เอากระบี่ฟันข้าหลวงตาย แต่ขณะนั้นพวกข้าหลวงที่ล้อมอยู่ข้างนอกพากันจุดไฟเผาวัดจนไหม้โทรมหมด พวกหลวงจีน ๑๒๘ องค์ตายอยู่ในไฟบ้าง พวกข้าหลวงฆ่าตายบ้าง หนีรอดไปได้แต่ ๕ องค์ ชื่อ ฉอองค์หนึ่ง บุงองค์หนึ่ง มะองค์หนึ่ง โอองค์หนึ่ง ลิองค์หนึ่ง พากันไปซ่อนตัวอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง ในแขวงเมืองโอ๊วก๊วง ที่เต็งกุนตัดเคยเป็นแม่ทัพอยู่แต่ก่อน

อยู่มาวันหนึ่ง หลวงจีน ๕ องค์นั้งลงไปที่ริมลำธาร แลเห็นกระถางธูปสามเขามีหูสองข้างใบหนึ่ง ลอยมาในน้ำกำลังมีควันธูปในอากาศ นึกหลากใจจึงลงไปยกขึ้นมาบนบกพิจารณาดู เห็นมีตัวอักษาอยู่ที่ใต้กระถางธูปนั้น ๔ ตัว ว่า หวน เชง หก เหม็ง แปลว่ากำจัดเชงเสีย กลับยกเหม็งขึ้น นึกสงสัยว่าเทวดาฟ้าและดินจะสั่งให้ทำอย่างนั้นหรืออย่างไร ลองเสี่ยงทายดูหลายครั้งก็ปรากฏว่าให้ทำเช่นนั้นทุกครั้ง หลวงจีนทั้ง ๕ ประจักษ์แจ้งแก่ใจดังนั้น จึงเอาหญ้าปักต่างธูปที่ในกระถางจุดบูชา แล้วกระทำสัตย์กันตามแบบที่เล่าปี่ กวนอู เตียวหุยสัญญากันแต่ก่อน ว่าจะช่วยกันทำนุบำรุงแผ่นดิน และจะกำจัดราชวงศ์ไต้เช็งเอาบ้านเมืองคืนให้แก่ราชวงศ์ไต้เหม็งตามเดิม เมื่อปฏิญาณกันแล้ว เห็นสมุดตำราพยากรณ์มีอยู่ในก้นกระถางด้วยก็พากันยินดี แต่ในขณะนั้นเองพวกข้าหลวงที่เที่ยวติดตามก็ไปถึงจะเข้าล้อมจับ พวกหลวงจีนจึงอุ้มกระถางธูปวิ่งหนีไป

เผอิญวันนั้นนางกู้ส่วยเองเมียงเต็งกุนตัดที่ถูกฆ่าตาย พาลูกและญาติพี่น้องออกไปเซ่น ณ ที่ฝังศพเต็งกุนตัด ในเวลากำลังเซ่นอยู่ได้ยินเหมืองเสียงคน แลไปดูเห็นกระบี่เล่มหนึ่งโพล่ขึ้นมาจากแผ่นดิน เอามาพิจารณาดูเห็นมีตัวอักษรจารึกที่กั่นกระบี่ว่า น่อ เล้ง โต๊ว แปลว่ามังกรสองตัวชิงดวงมักดากัน และที่ในตัวกระบี่ก็มีอักษรจารึกว่า หวน เช็ง หก เหม็ง แปลว่าให้กำจัดราชวงศ์ไต้เช็งคืนแผ่นดินให้ราชวงศ์เหม็ง ในเวลาที่กำลังพิจารณาตัวอักษรอยู่นั้นได้ยินเสียงคนร้องให้ช่วย นางกู้ส่วยเองก็ถือกระบี่ที่ได้ใหม่มาพาพวกพ้องออกไปดูเห็นข้าหลวงกำลังไล่หลวงจีนทั้ง ๕ องค์มา พวกนางกู้ส่วยเองเข้าป้องกันหลวงจีน เอากระบี่ฟันถูกข้าหลวงตาย พรรคพวกก็หนีไปหมด นางกู้ส่วยเองกับพวกหลวงจียไถ่ถามและเล่าเรื่องฝ่ายของตนให้กันฟัง ก็รู้ว่าเป็นพวกเดียวกันมาแต่เดิม และได้ถูกเนรคุณอย่างเดียวกัน นางจึงให้พวกหลวงจีนอาศัยอยู่ที่บ้าน จนเห็นการสืบจับสงบเงียบ แล้วจึงให้หลวงจีนทั้ง ๕ กลับไปอยู่วัดตามเดิม หลวงจีนทั้ง ๕ นี้ได้นามว่า โหวง โจ๊ว แปลว่า บุรุษทั้ง ๕ ของอั้งยี่ต่อมา

ถึงตอนนี้หลวงจีนทั้ง ๕ แน่ใจว่าเทวดาฟ้าดิน ให้คิดอ่านกูบ้านเมืองด้วยกำจัดราชวงศ์ไต้เช็ง ก็ตั้งหน้าเกลี้ยกล่อมผู้คนให้ร่วมคิดได้พรรคพวกมากขึ้น แต่กิติศัพท์รู้ไปถึงเจ้าเมืองกรมการก็ให้ออกไปจับ หลวงจีนทั้ง ๕ จึงต้องหนีออกจากเมืองโอ๊วก๊วงต่อไป ไปพบนายโจรพวกทหารเสือ ๕ คน เมื่อได้พูดสนทนากัน พวกนายโจรก็เลื่อมใส รับจะพาโจรบริวาลของตนมาเข้าพวกด้วย แล้วพาหลวงจีนไปสำนักอยู่ภูเขาเหล็งโฮ้ว แปลว่า มังกรเสือ ในเวลานั้นมีหลวงจีนองค์หนึ่งชื่อตั้งกิ๋มน้ำ เคยเรียนรู้หนังสือมากจนได้เป็นขุนนางรับราชการอยู่ในกรุงปักกิ่ง อยู่มาสังเกตว่าราชวงศ์ไต้เช็งปกครองบ้านเมืองไม่เป็นยุติธรรม เกิดท้อใจจึงลาออกจากราชการไปบวชเป็นหลวงจีนจำศีลศึกษาวิชาอาคมของลัทธิศาสนาเต๋าอยู่ ณ ถ้ำแป๊ะเฮาตั้ง แปลว่า นกกระสาเผือก จนมีผู้คนนักถือมาก

วันหนึ่งลูกศิษย์ ๔ คนไปบอกข่าวว่า หลวงจีน ๕ องค์ได้ของวิเศษ คิดอ่านจะกำจัดราชวงศ์ไต้เช็งกู้บ้านเมือง หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำก็ยินดีพาศิษย์ ๔ คนตามไปยังสำนักของหลวงจีน ๕ องค์ ณ ภูเขามังกรเสือ ขอสมัครเป็นพวกร่วมคิดช่วยกู้บ้านเมืองด้วย ในพวกที่ไปสมัครนั้นยังมีคนสำคัญอีก ๒ คน คนหนึ่งเป็นชายหนุ่มชื่อ จูฮุ่งชัก เป็นราชนัดดาของพระเช่งจง ในราชวงศ์ไต้เหม็ง อีกคนรหนึ่งเป็นหลวงจีนชื่อ บั้งลุ้ง รูปร่างใหญ่มีกำลังวังชากล้าหาญมาก เมื่อรวบรวมพรรพวกได้มากแล้ว พวกคิดการกำจัดราชวงศ์ไต้เช็งจึงประชุมกันทำสัตย์สาบานเป็นพี่น้องกันทั้งหมด แล้วยก เจ้าจูฮุ่งชัก ขึ้นเป็นรัชทายาทราชวงศ์ไต้เหม็ง ตั้งหลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำซึ่งเป็นผู้มีความรู้มากเป็นอาจารย์(จีนแส) และตั้งหลวงจีนบั้งลุ้งเป็น "ตั้วเฮีย" แปลว่าพี่ชายใหญ่ และเป็นตำแหน่งจอมพล ตัวนายนอกจากนั้นก็ให้มีตำแหน่งและคุมหมวดกองต่างๆ แล้วพากันยกรี้พลไปตั้งอยู่ที่ภูเขาฮ่งฮวง แปลว่า ภูเขาหงส์ (จะเป็นแขวงเมืองไหนไม่ปรากฏ) หวังจะตีเอาบ้านเมืองคืน ได้รบกับกองทัพประจำเมืองนั้น

รบกันครั้งแรก พวกกบฏมีชัยชนะตีกองทหารหลวงแตกหนีเข้าเมือง แต่รบครั้งหลังเกิดเหตุอัปมงคลขึ้นอย่างประหลาด ด้วยในเวลาหลวงจีนบั้งลุ้งตั้วเฮีย ขี่ม้าขับพลเข้ารบ ม้าล้มลงจอมพลตกม้าตาย พวกกบฏก็แตกพ่ายพากันหนีกลับไปยังเขามังกรเสือ หลวงจีนตั้งกิ๋มน้ำผู้เป็นอาจารย์เห็นว่าเกิดเหตอันมิบังควรผิดสังเกต ตรวจตำราดูก็รู้ว่าเป็นเพราะพระราชวงศ์ไต้เช็งยังรุ่งเรืองในตำราว่า ศัตรูไม่สามารถจะทำร้ายได้ จึงชี้แจงแก่พวกกบฏว่า ถ้าจะรบพุ่งต่อไปในเวลานั้นก็ไม่สำเร็จได้ดังประสงค์ ต้องเปลี่ยนอุบายเป็นอย่างอื่น แนะให้พวกที่ทำสัตย์สาบานกันแล้วแยกย้ายกระจายกันไปอยู่โดยลำพังตัวตามหัวเมืองต่างๆ และทุกๆคนไปคิดตั้งสมาคมลับขึ้นในตำบลที่ตนไปอยู่ หาพี่น้องน้ำสบถร่วมความคิดกันให้แพร่หลาย พอถึงเวลาชะตาราชวงศ์ไต้เช็งตก ก็ให้พร้อมมือกันเข้าตีเมือง จึงจะกำจัดราชวงศ์ไต้เช็งได้

พวกกบฏเห็นชอบด้วย จึงตั้งสมาคมลับให้เรียกชื่อว่า "เทียนตี้หวย" แปลว่า ฟ้าดินมนุษย์ หรือเรียกโดยย่ออีกอย่าง "ซาฮะ" แปลว่า องค์สาม คือฟ้าดินมนุษย์ และตั้งแบบแผนสมาคม ทั้งวิธีสบถสาบานรับสมาชิกและข้อบังคับสำหรับสมาชิก กับทั้งกิริยาอาการที่จะแสดงความลับกันในระหว่างสมาชิกให้รู้ว่าเป็นพวกเดียวกัน จึงเกิดสมาคมลับที่ไทยเราเรียกว่า "อั้งยี่" ขึ้นในเมืองจีนด้วยประการฉะนี้ รัฐบาลจีนรู้ว่าใครเป็นพวกอั้งยี่ก็จับฆ่า ถึงอย่างนั้นพวกสมาคม "เทียนตี้หวย" หรือ "ซาฮะ" ก็ยังมีอยู่ในเมืองจีนสืบมา รัฐบาลทำลายล้างไม่หมดได้


(๓)

อั้งยี่ในแหลมมลายู

ในหนังสือฝรั่งแต่ง เขาว่าพวกจีนที่ทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทศ ล้วนแต่เป็นชาวเมืองชายทะเลภาคใต้ และอยู่ในพวกที่เป็นคนขัดสนทั้งนั้น จีนชาวเมืองดอนหรือที่มีทรัพย์สินสมบูรณ์หามีใครทิ้งบ้านเมืองไปเที่ยวทำมาหากินตามต่างประเทศไม่ และว่าพวกจีนที่ทำมาหากินต่างประเทศนั้น จีนต่างภาษามักไปประเทศที่ต่างกัน พวกจีนจิ๋วมักชอบไปเมืองไทย พวกจีนฮกเกี้ยนมักชอบไปเมืองชวามลายู พวกจีนกวางตุ้งมักชอบไปอเมริกา เมื่ออังกฤษตั้งเมืองสิงคโปร์(ตรงกับตอนปลายรัชกาลที่ ๒ กรุงรัตนโกสินทร์) มีพวกจีนอยู่ในแหลมมลายูเป็นอันมากมาแต่ก่อนแล้ว ที่มาได้ผลประโยชน์จนมีกำลังเลยตั้งตัวเป็นหลักเป็นแหล่งก็มี

ในสมัยนั้นจีนที่มาเที่ยวหากินในเมืองไทยและเมืองชวามลายู มาแต่ผู้ชาย จีนที่มาตั้งตัวเป็นหลักแหล่งมาได้ผู้หญิงชาวเมืองเป็นเมีย มีลูกเกิดด้วยสมพงศ์เช่นนั้นมลายูเรียกผู้ชายว่า "บาบ๋า" เรียกผู้หญิงว่า "ยอหยา" ทางเมืองชวามลายู จีนผู้เป็นพ่อไม่พอใจจะให้ลูกถือศาสนาอิสลามตามแม่ จึงฝึกหัดอบรมให้ลูกทั้งชายหญิงเป็นจีนสืบตระกูลต่อมาทุกชั่ว เพราะฉะนั้นจีนในเมืองชวามลายูจึงต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ "จีนนอก" ที่มาจากเมืองจีนอย่าง ๑ "จีนบาบ๋า" ที่เกิดขึ้นในท้องที่อย่าง ๑ อยู่เสมอ ผิดกับเมืองไทน เพราะเหตุที่ไทยถือพระพุทธศาสนาร่วมกับจีน ลูกจีนที่เกิดในเมืองไทย ถ้าเป็นผู้ชายคงเป็นจีนตามอย่างพ่ออยู่เพียงชั่วหนึ่งหรือสองชั่วก็กลายเป็นไทย แต่ลูกผู้หญิงกลายเป็นไทยตามแม่ตั้งแต่ชั่วแรก ในเมืองไทยจึงมีแต่จีนนอกกับไทยที่เป็นเชื้อจีน หามีจีนบาบ๋าเป็นจีนประจำอยู่พวกหนึ่งต่างหากไม่

ในสมัยเมื่ออังกฤษแรกตั้งเมืองสิงคโปร์นั้น พวกจีนก็เริ่มตั้งอั้งยี่คือสมาคมลับที่เรียกว่า "เทียนตี้หวย" หรือ "ซาฮะ" ขึ้นในเมืองมลายูบ้างแล้ว อังกฤษรู้อยู่ว่าวัตถุที่ประสงค์ของพวกอั้งยี่จะกำจัดราชวงศ์ไต้เช็ง อันเป็นการในเมืองจีน ไม่เห็นว่ามีมูลอันใดจะมาตั้งอั้งยี่ในเมืองต่างประเทศ สืบถามได้ความว่าพวกจีนมาตั้งอั้งยี่ในมลายูไม่เกี่ยวข้องกับเรื่องกำจัดราชวงศ์ไต้เช็ง เป็นแต่เอาแบบแผนสมาคม "เทียนตี้หวย" ในเมืองจีนมาตั้งข้น เพื่อจะสงเคราะห์พวกจีนที่จะมาทำมาหากินทางเมืองมลายู มิให้ต้องตกยากหรือได้รับความเดือดร้อนเพราะถูกพวกมลายูกดชี่ข่มเหงเท่านั้น อีกประการหนึ่งปรากฏว่าพวกอั้งยี่มีแต่ในพวกจีนนอก แต่จีนที่มาตั้งตัวเป็นหลักแหลบ่งและจีนบาบ๋าที่เกิดในแหลมมลายูหาเกี่ยวข้องกับพวกอั้งยี่ไม่ อังกฤษเห็นว่าเป็นแต่สมาคมสงเคราะห์กันและกัน ก็ปล่อยให้มีอั้งยี่อยู่ไม่ห้ามปราม

ครั้นจำเนียรกาลนานมา(ถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ กรุงรัตนโกสินทร์)เมื่อเศรษฐกิจในแหลมมลายูเจริญขึ้น พวกพ่อค้าที่ขุดแร่ดีบุกและทำเรือกสวนต้องการแรงงานมากขึ้น ต่างก็เรียกหาว่าจ้างจีนในเมืองจีนมาเป็นกรรมกรมากขึ้นโดยลำดับ จำนวนจีนที่เป็นอั้งยี่ก็มีมากขึ้นและจัดแยกกันเป็นหลายเหล่า จนเหลือกำลังผู้ที่เป็น "ตั้วเฮีย" หัวหน้าจะว่ากล่าวปกครองได้ ไม่มีใครสมัครเป็นตั้วเฮีย พวกอั้งยี่ก็แยกกันเป็นหลายกงสีเรียกชื่อต่างกัน ต่างมีแต่ "ยี่เฮีย" (แปลว่าพี่ที่สอง) เป็นหัวหน้า เป็นอิสระแก่กัน และอั้งยี่ต่างกงสีมักเกิดวิวาทตีรันฟันแทงกันจนรัฐบาลรำคาญ แต่จะบังคับให้เลิกอั้งยี่ก็เกรงจะเกิดลำบากด้วยอาจเป็นเหตุให้พวกจีนในเมืองจีนหวาดหวั่น ไม่มารับจ้างเป็นกรรมกรพอต้องการเหมือนแต่ก่อนอย่างหนึ่ง และพวกจีนกรรมกรมีมากกว่าแต่ก่อนมาก ถ้าพวกอั้งยี่ขัดขืนก็ต้องใช้กำลังปราบปรามกลายเป็นการใหญ่โตขึ้นกว่าเหตุ

อีกประการหนึ่งเห็นว่าพวกอั้งยี่เป็นแต่มักวิวาทกันเอง หาได้ทำร้ายต่อรัฐบาลอย่างใดไม่ อังกฤษตั้งข้อบังคับควบคุมพวกอั้งยี่เป็นสายกลาง คือ ภ้าจีนตั้งสมาคมอั้งยี่หรือสาขาของสมาคมที่ไหน ต้องมาขออนุญาตต่อรัฐบาล บอกชื่อผู้เป็นหัวหน้าและพนักงานของสมาคมก่อน ต่อได้รับอนุญาตจึงตั้งได้ ถ้ารัฐบาลมีกิจเกี่ยวข้องแก่พวกอั้งยี่สมาคมไหน ก็จะว่ากล่าวเอาความรับผิดชอบแก่หัวหน้าและพนักงานแก่สมาคมนั้น แต่นั้นมาพวกอั้งยี่สมาคมต่างๆก็ตั้งกงสีของสมาคม ณ ที่ต่างๆแพร่หลาย โดยวิธี "รัฐบาลเลี้ยงอั้งยี่" เป็นประเพณีสืบมา

ที่เอาเรื่องอั้งยี่ในหัวเมืองขึ้นอังกฤษมาเล่าเพราะมามีเรื่องเกี่ยวข้องกับในเมืองไทยเมื่อภายหลัง ดังจะปรากฏต่อไปข้างหน้า


(๔)

อั้งยี่แรกมีในเมืองไทย

ในจดหมายเหตุของไทยใช้คำเรียกอั้งยี่ต่างกันตามสมัยแต่ความไม่ตรงกับที่จริงทั้งนั้น จึงจะแทรกคำอธิบายเรียกต่างๆลงตรงนี้ก่อน ชื่อของสมาคมที่ตั้งในเมืองจีนแต่เดิมเรียกว่า "เทียนตี้หวย" แปลว่า "ฟ้า ดิน มนุษย์" หรือเรียกโดยย่ออีกอย่างหนึ่งตามภาษาจีนฮกเกี้ยนว่า "ซาฮะ" แปลว่า องค์สาม เป็นนามของอั้งยี่ทุกพวก ครั้นอั้งยี่แยกกันเป็นหลายกงสี จึงมีชื่อกงสีเรียกต่างกัน เช่น งี่หิน ปูนเถ้าก๋ง งี่ฮก ตั้งกงสี ชิวลิกือ เป็นต้น คำว่าอั้งยี่ แปลว่า "หนังสือแดง" ก็เป็นแต่ชื่อกงสีอันหนึ่งเท่านั้น

ยังมีชื่อเรียกสำหรับตัวนายอีกส่วนหนึ่ง ผู้ที่เป็นหัวหน้าอั้งยี่ในถิ่นอันหนึ่งรวมกันทุกกงสี เรียกตามภาษาฮกเกี้ยนว่า "ตั้วกอ" ตามภาษาแต้จิ๋วเรียกว่า "ตั้วเฮีย" แปลว่าพี่ใหญ่ ผู้เป็นหัวหน้ากงสีเรียกว่า "ยี่กอ" หรือ "ยี่เฮีย" แปลว่าพี่ที่สอง ตัวนายรองลงมาเรียกว่า "ซากอ" หรือ "ซาเฮีย" แปลว่าพี่ที่สาม ในจดหมายเหตุของไทยเดิมเรียกพวกที่เข้าสมาคมเทียนตี้หวยทั้งหมดว่า "ตั้วเฮีย" มาจนรัชกาลที่ ๕ เปลี่ยนคำว่า "ตั้วเฮีย" เรียก "อั้งยี่" ในนิทานนี้ฉันเรียกอั้งยี่มาแต่ต้นเพื่อให้สะดวกแก่ท่านผู้อ่าน

อั้งยี่แรกขึ้นมีในเมืองไทยเมื่อรัชกาลที่ ๓ มูลเหตุที่จะเกิดอั้งยี่นั้น เนื่องมาแต่อังกฤษเอาฝิ่นอินเดียเข้าไปขายในเมืองจีนมากขึ้น พวกจีนตามเมืองชายทะเลพากันสูบฝิ่นติดแพร่หลาย จีนเข้ามาหากินในเมืองไทย ที่เป็นคนสูบฝิ่นก็เอาฝิ่นเข้ามาสูบกันแพร่หลายกว่าแต่ก่อน เลยเป็นปัจจัยให้มีไทยสูบฝิ่นมากขึ้น แม้จนผู้ดีที่เป็นเจ้าและขุนนางพากันสูบฝิ่นติดก็มี ก็ในเมืองไทยมากฎหมายห้ามมาแต่ก่อนแล้วมิให้ใครสูบฝิ่ หรือซื้อฝิ่นขายฝิ่น เมื่อปรากฏว่ามีคนสูบฝิ่นขึ้นแพร่หลายเช่นนั้น พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงดำรัสสั่งให้ตรวจจับฝิ่นตามกฎหมายอย่างกวดขัน แต่พวกจีนและไทยที่สูบฝิ่นมีมากก็จำต้องลอบหาซื้อฝิ่นสูบ

เป็นเหตุให้คนลอบขายฝิ่นขึ้นราคาขายได้กำไรงาม จึงมีพวกค้าฝิ่นด้วยตั้งอั้งยี่วางสมัครพรรคพวกไว้ตามหัวเมืองชายทะเลที่ไม่มีการตรวจตรา คอยรับฝิ่นจากเรือที่มาจากเมืองจีนแล้วเอาปลอมปนกับสินค้าอื่นส่งเข้ามายังกงสีใหญ่ ซึ่งตั้งขึ้นตามที่ลี้ลับในหัวเมืองใกล้ๆกรุงเทพฯ ลอบขายฝิ่นเป็นรายย่อยเข้ามายังพระนคร ข้าหลวงสืบรู้ก็ออกไปจับ ถ้าซ่องไหนมีพรรคพวกมากก็ต่อสู้จนถึงเกิดเหตุรบพุ่งกันหลายครั้ง มีปรากฎในหนังสือพงศาวดารว่า

เมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๕ เกิดอั้งยี่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และจังหวัดสมุทรสาคร แต่ปราบปรามได้โดยไม่ต้องรบพุ่งครั้งหนึ่ง

ต่อนั้มา ๒ ปี ถึง พ.ศ. ๒๓๘๗ พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นที่ในป่าแสมริมชายทะเล ณ ตำบลแสมดำ ในระหว่างปากน้ำบางปะกงกับแขวงจังหวัดสมุทรปราการต่อสูเจ้าพนักงานจับฝิ่น ต้องให้กรมทหารปากน้ำไปปราบ ยิงพวกอั้งยี่ตายหลายคน และจับหัวหน้าได้ อั้งยี่ก็สงบลงอีกครั้งหนึ่ง

ต่ามาอีก ๓ ปี ถึง พ.ศ. ๒๓๙๐พวกอั้งยี่ตั้งซ่องขายฝิ่นขึ้นอีกที่ตำบลลัดกรุด แขวงเมืองสมุทรสาคร ครั้งนี้พวกอั้งยี่มีพรรคพวกมากว่าแต่ก่อน พระยาพลเทพ(ปาน)ซึ่งเป็นหัวหน้าพนักงานจับฝิ่น ออกไปจับเองถูกพวกอั้งยี่ยิงตาย จึงโปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาพระคลังคุมกำลังไปปราบ ฆ่าพวกอั้งยี่ตายประมาณ ๔๐๐ คน และจับหัวหน้าได้จึงสงบ

ปราบพวกอั้งยี่ที่ลัดกรุดได้ไม่ถึงเดือน พอเดือน ๕ พ.ศ. ๒๓๙๑ พวกอั้งยี่ก็กำเริบขึ้นที่เมืองฉะเชิงเทรา คราวนี้ถึงเป็นกบฎ ฆ่าพระยาวิเศษลือชัย ผู้ว่าราชการจังหวัดตาย แล้วพวกอั้งยี่เข้ายึดป้อมเมืองฉะเชิงเทราไว้เป็นที่มั่น โปรดฯให้สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาประยูรวงศ์ยกพลจากเมืองสมุทรสาครไปปราบ พวกอั้งยี่ที่เมืองฉะเชิงเทราต่อสู่พ่ายแพ้ พวกจีนถูกฆ่าตายกว่า ๓,๐๐๐ คน อั้งยี่เมืองฉะเชิงเทราจึงสงบ ต่อมาอีก ๒ ปีก็สิ้นรัชกาลที่ ๓


(๕)

อั้งยี่ในเมืองไทย เมื่อรัชกาลที่ ๔

ถึงรัชกาลที่ ๔ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ตรัสปรึกษาเสนาบดีเห็นพร้อมกันว่า การจับฝิ่นเมื่อรัชกาลที่ ๓ แม้จับกุมอย่างกวดขันมาหลายปี ฝิ่นก็ยังเข้ามาได้เสมอ คนสูบฝิ่นก็ยังมีมากไม่หมดไป ซ้ำเป็นเหตุให้เกิดอั้ยี่ถึงต้องรบพุ่งฆ่าฟันกันหลายครั้ง จะใช้วิธีจับฝิ่นอย่างนั้นต่อไปเห็นจะไม่เป็นประโยชน์อันใด จึงเปลี่ยนนโยบายเป็นตั้งภาษีฝิ่นผูกขาด คือ เฉพาะแต่รัฐบาลซื้อฝิ่นเข้ามาต้มขายเอากำไร ให้จีนซื้อฝิ่นสูบได้ตามชอบใจ คงห้ามแต่ไทยมิให้สูบฝิ่น

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระราชดำริอีกอย่างหนึ่งว่า ที่อั้งยี่หาพรรคพวกได้มาก เป็นเพราะพวกจีนที่ไปทำเรือกสวนหรือค้าขายอยู่ตามหัวเมืองมักถูกพวกจีนเจ้าภาษีเบียดเบียนในการเก็บภาษีและถูกคนในพื้นเมืองรังแก ทรงแก้ไขข้อนี้ด้วยเลือกหาจีนที่ตั้งตัวได้เป็นหลักแหล่งแล้ว และเป็นคนซื่อตรงมีคนนับถือมากตั้งเป็นตำแหน่งปลัดจีนขึ้นในกรมการตามหัวเมืองที่มีจีนมาก สำหรับช่วยเป็นธุระและรับทุกข์ร้อนของพวกจีนขึ้นเสนอต่อรัฐบาล เมื่อทรงแก้ไขด้วยอุบาย ๒ อย่างนั้น เหตุการณ์เรื่องอั้งยี่ก็สงบมาได้หลายปี

แต่ถึงตอนปลายรัชกาลที่ ๓ มีอั้งยี่เกิดขึ้นด้วยเหตุอย่างอื่น เหตุที่เกิดอั้งยี่ตอนนี้เนื่องจากประเพณีจีนเข้าเมือง ด้วยจีนที่ทิ้งถิ่นไปทำมาหากินในต่างประเทศล้วนเป็นคนยากจนมักไปแต่ตัว แม้เงินค่าโดยสารเรือก็ไม่มีจะเสีย เมื่อเรือไปถึงเมืองไหน เช่น เมืองสิงคโปร์ก็ดี หรือมาถึงกรุงเทพฯก็ดี มีจีนในเมืองนั้นที่เป็นญาติหรือเป็นเถ้าเก๋หาลูกจ้าง ไปรับเสียเงินค่าโดยสารและรองเงินล่วงหน้าให้จีนที่เข้ามาใหม่ ไทยเรียก "จีนใหม่" ทางเมืองสิงคโปร์เรียกว่า "sing Keh" แล้วทำสัญญากันว่าเถ้าเก๋จะรับเลี้ยงให้กินอยู่ ข้างฝ่ายจีนใหม่จะทำงานให้เปล่าไม่เอาค่าจ้างปีหนึ่ง งานที่ทำนั้นเถ้าเก๋จะใช้เอง หรือจะให้ไปทำงานให้คนอื่น เถ้าเก๋เป็นผู้รับค่าจ้าง หรือแม้เถ้าเก๋จะโอนสิทธิ์ในสัญญาให้ผู้อื่นก็ได้ เมื่อครบหนึ่งปีแล้วสิ้นเขตที่เป็นจีนใหม่พ้นหนี้สิน จะรับจ้างเถ้าเก๋ทำงานต่อไป หรือไปทำมาหากินที่อื่นโดยลำพังตนก็ได้ มีประเพณีอย่างนี้มาแต่เดิม

ถึงรัชกาลที่ ๔ ตั้งแต่ไทยทำหนังสือสัญญาค้าขายกับฝรั่งต่างชาติ เมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ การค้าขายในเมืองไทยเจริญขึ้นรวดเร็ว มีโรงจักรสีข้าว เลื่อยไม้ และมีการขนลำเลียงสินค้า อันต้องการแรงงานมากขึ้น ทั้งในเวลานั้นการคมนาคมกับเมืองจีนสะดวกขึ้นด้วยมีเรือกำปั่นไปมาบ่อยๆ พวกจีนใหม่ที่เข้ามาหากินก็มากขึ้น จึงเป็นเหตุให้จีนในกรุงเทพฯคิดหาผลประโยชน์ด้วยการเป็นเถ้าเก๋รับจีนใหม่เข้าเมืองโดยวิธีดังกล่าวมาแล้วมากขึ้น และการนั้นได้กำไรงาน ก็เกิดแข่งขันเกลี้ยกล่อมจีนใหม่ พวกเถ้าเก๋ก็เลยอาศัยจีนใหม่ของตนให้ช่วยกันเกลี้ยกล่อมจีนเข้ามาใหม่ ตลอดจนไปชิงกันหางานให้พวกจีนใหม่ของตนทำ ก้เลยตั้งพวกเป็นอั้งยี่ด้วยประการฉะนี้ แต่ผิดกับอั้งยี่ในรัชกาลที่ ๓ ด้วยไม่คิดร้ายต่อรัฐบาลและมีแต่พวกละน้อยๆหลายพวกด้วยกัน

แต่เมื่อปีเถาะ พ.ศ. ๒๔๑๐ ก่อนจะสิ้นรัชกาลที่ ๔ มีพวกอั้งยี่กำเริบขึ้นที่เมืองภูเก็ต แต่มิได้เกี่ยวข้องกับจีนในกรุงเทพฯ ด้วยพวกอั้งยี่ที่เมื่อภูเก็ตขยายมาจากเมืองขึ้นของอังกฤษ ซึ่งรัฐบาลใช้นโยบาย "เลี้ยงอั้งยี่" ดังกล่าวมาแล้ว พวกจีนในแดนอังกฤษไปมาค้าขายกับหัวเมืองไทยทางตะวันตกอยู่เป็นนิจ พวกอั้งยี่จึงมาเกลี้ยกล่อมจีนที่เมืองภูเก็ตให้ตั้งอั้งยี่เพื่อสงเคราะห์ซึ่งกันและกัน เป็นสาขาของกงสี "งี่หิน" พวกหนึ่งมีประมาณ ๓,๕๐๐ คน ของกงสี "ปูนเถ้าก๋ง" พวกหนึ่งประมาณ ๔,๐๐๐ คน อยู่มามีนายอั้งยี่ทั้งสองพวกนั้นวิวาทกันด้วยชิงสายน้ำที่ทำเหมืองแร่ดีบุก ต่างเรียกพวกอั้งยี่ของตนมารบกันที่กลางเมือง ผู้ว่าราชการเมืองภูเก็ตห้ามก็ไม่ฟัง จะปราบปรามก็ไม่มีกำลังพอการ

จึงโปรดฯให้เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯเมื่อยังเป็นที่พระยาเทพประชุนปลัดทูลฉลองกระทรวงกลาโหมเป็นข้าหลวงออกไปยังเมืองภูเก็ต ให้ไปพิจารณาว่ากล่าวเรื่องอั้งยี่วิวาทกัน ถ้าพวกอั้งยี่ไม่ฟังคำบังคับบัญชาให้เรียกระดมพลตามหัวเมืองปราบปรามด้วยกำลัง แต่เมื่องเจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯออกไปถึง หัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองพวกอ่อนน้อมโดยดี เจ้าพระยาภาณุวงศ์ฯว่ากล่าวระงับเหตุวิวาทเรียบร้อยแล้ว พาตัวหัวหน้าอั้งยี่ทั้งสองกงสีรวม ๙ คนมาสารภาพผิดในกรุงเทพฯ จึงโปรดให้ถือน้ำกระทำสัตย์สาบานว่าจะไม่คิดร้ายต่อแผ่นดิน แล้วปล่อยตัวกลับไปทำมาหากินอย่างเดิม

การระงับอั้งยี่วิวาทกันที่เมืองภูเก็ตครั้งนั้น เป็นเหตุที่ไทยจะเอาวิธี "เลี้ยงอั้งยี่" อย่างที่อังกฤษจัดตามหัวเมืองในแหลมมลายูมาใช้ที่เมืองภูเก็ตก่อน แล้วเลยเอาเข้ามาใช้ในกรุงเทพฯ เมื่อภายหลัง แต่อนุโลมให้เข้ากับประเพณีไทยมิให้ขัดกัน เป็นต้นว่าที่เมืองภูเก็ตนั้นเลือกจีนที่มีพรรคพวกนับถือมากมาตั้งเป็น "หัวหน้าต้นแซ่" สำหรับนำกิจทุกข์สุขของพวกของตนเสนอต่อรัฐบาล และควบคุมว่ากล่าวของตนตามประสงค์ของรัฐบาล คล้ายๆกับกรรมกรจีน ที่เป็นคนมีหลักฐานมั่นคงถึงให้มีบรรดาศักดิ์เป็นขุนเป็นหลวงก็มี แต่พวกหัวหน้าต้นแซ่นั้นก็เป็นอั้งยี่พวกงี่หินหรือปูนเถ้าก๋งทุกคน การที่จัดขึ้นเป็นแต่อย่างควบคุมอั้งยี่และให้มีพวกหัวหน้าต้นแซ่สำหรับรัฐบาลใช้ไปว่ากล่าวพวกอั้งยี่ และคอยห้ามปรามพวกอั้งยี่ต่างพวกวิวาทกัน แต่ยังยอมให้พวกจีนตั้งอั้งยี่ได้ตามใจไม่ห้ามปราม


(๖)

อั้งยี่ในเมืองไทย เมื่อต้นรัชกาลที่ ๕

พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสวยราชย์ เมื่อเดือนตุลาคม ปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ เวลานั้นยังทรงพระเยาว์วัย พระชันษาเพียง ๑๖ ปี จึงต้องมีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ และสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ เมื่อยังเป็นเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์ สมุหพระกลาโหม ได้เป็นผู้สำเร็จราชการอยู่ ๕ ปี

เวลาเมื่อเปลี่ยนรัชกาลครั้งนั้น มีเหตุต่างๆที่ทำให้รัฐบาลลำบากหลายเรื่อง เรื่องอื่นยกไว้จะเล่าแต่เรื่องกับพวกอั้งยี่ เมื่อกำลังจะเปลี่ยนรัฐบาลมีอั้งยี่พวกหนึ่งในกรุงเทพฯต่อสู้เจ้าภาษีฝิ่นในโรงกงก๊วน ที่ริมวัดสัมพันธวงศ์ ถึงศู้รบกันขึ้นในสำเพ็ง พอเปลี่ยนรัชกาล อั้งยี่พวกหนึ่งก็คุมกันเที่ยวปล้นราษฎรที่ในแขวงจังหวัดนครชัยศรี และท่าทางจะกำเริบขึ้นที่อื่นอีกทั้งในกรุงเทพฯและหัวเมือง สมเด็จเจ้าพระยาฯระงับด้วยอุบายหลายอย่าง พิเคราะห์ดูก็น่าพิศวง

อย่างที่หนึ่งใช้ปราบด้วยอาญา ดังเช่นปราบอั้งยี่ที่กำเริบขึ้นในแขวงจังหวัดนครชัยศรี เมื่อจับได้ให้ส่งเข้ามาในกรุงเทพ เอาตัวหัวหน้าประหารชีวิตและเอาสมัครพรคพวกทั้งหมดจำคุกให้ปรากฏแก่คนทั้งหลาย

อีกอย่างใช้อุบายขู่ให้พวกอั้งยี่กลัว ด้วยจัดการซ้อมรบที่สนามชัน ถวายพระเจ้าอยู่หัวทอดพระเนตรบนพระที่นั่งพุทไธสวรรค์ทุกสัปดาห์ ฉันยังเป็นเด็กไว้จุกเคยตาม้สด็จไปดูหลายครั้ง การซ้อมรบนั้นบางวันก็ให้ทหารปืนใหญ่ปืนเล็กยิงปืนติดดินดำ เสียงดังสนั่นครั่นครื้น บางวันก็ให้ทำเป็นโครงค่ายมีหุ่นรูปคนอยู่ประจำ เอาช้างรบออกซ้อมแทงหุ่นทำลายค่าย เวลานั้นมีช้างรบอยู่ในกรุงเทพฯสักสามสี่เชือก ตัวหยึ่งชื่อพลายแก้ว เจ้าพระยายมราช(แก้ว)หัดที่เมืองนครราชศรีมา กล้าหาญนัก พอเห็นยิงปืนออกมาจากค่ายก็สวนควันเข้าไปรื้อค้าย แทงรูปหุ่นมี่รักษาทำลายลง พวกชาวพระนครไม่เคยเห็นการซ้อมรบอย่างนั้น พากันมาดูมากกว่ามาก เกิดกิตติศัพท์ระบือไปถึงพวกอั้งยี่ ก็กลัวไม่ก่อเหตุอันใดได้จริง

อุบายของสมเด็จเจ้าพระยาฯอีกอย่างหนึ่งนั้น ขยายการบำรุงจีนอนุโลมตามกระแสพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวซึ่งทรงตั้งปลัดจีนตามหัวเมืองดังกล่าวมาแล้ว และเวลานั้นมีความลำบากเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่งด้วย เพราะเมื่อตอนปลายรัชกาลที่ ๔ มีพวกชาวจีนชาวเมืองขึ้นอังกฤษ ฝรั่งเศส ฮอลันดา และโปรตุเกส เข้ามาหากินในกรุงเทพฯมากขึ้น ก็ตามหนังสือสัญญายอมให้จีนเหล่านั้นอยู่ในความป้องกันของกงสุลชาตินั้นๆ จึงเรียกกันว่า "พวกร่มธง" หมายความว่า "อยู่ในร่มธงของต่างประเทศ" หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "สับเย๊ก" (Subject) หมายความว่าเป็นคนของชาตินั้นๆ ไม่ต้องอยู่ในอำนาจโรงศาลหรือในบังคับของรัฐบาลของบ้านเมือง

แม้กงสุลต่างประเทศช่วยห้ามมิให้จีนในร่มธงเป็นอั้งยี่ก็ดี สมเด็จเจ้าพระยาฯก็ยังวิตก เกรงว่าพวกจีนชั้นพลเมืองจะพากันอยากเข้าร่มธงฝรั่ง เพราะฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนรัชกาลได้ ๓ สัปดาห์ก็ประกาศตั้งศาลคดีจีนขึ้นในกรมท่าซ้าย ให้พระยาโชฎีกราชเศรษฐี(จ๋อง แล้วเปลี่ยนเป็นพระยาโชฎึกฯ พุก)คนหนึ่ง หลวงพิพิธภัณฑ์วิจารณ์(ฟัก ภายหลังได้เป็นพระยาโชฎึกฯ)คนหนึ่ง กับหลวงพิชัยวารี(มลิ)คนหนึ่ง (เป็นชั้นลูกจีนทั้งสามคน)เป็นผู้พิพากษา สำหรับชำระตัดสินคดีคู่ความเป็นจีนทั้งสองฝ่าย ด้วยใช้ภาษาจีนและประเพณีจีนในการพิจารณา แต่ห้ามมิให้รับคดีคู่ความเป็นจีนแต่ฝ่ายเดียว หรือคดีที่เป็นความอาญาว่ากล่าวในศาลนั้น นอกจากตั้งศาล ให้แบ่งเขตท้องมี่อันมีจีนอยู่มาก เช่น ในสำเพ็ง เป็นหลายอำเภอ ตั้งนายอำเภอจีนประจำสำหรับอุปการะจีนในถิ่นนั้นทุกอำเภอ ตามหัวเมืองก็ให้ปลัดจีนมีอำนาจว่ากล่าวคดีจีน อำเภอที่มีจีนอยู่มากก็ตั้งหัวหน้าให้เป็นตำแหน่ง "กงสุลจีนในบังคับสยาม" สำหรับเป็นผู้อุปการะจีนอยู่ในอำเภอนั้นๆ

ส่วนมากการควบคุมพวกอั้งยี่นี้น สมเด็จเจ้าพระยาฯก็อนุโลมเอาแบบอย่างอังกฤษ "เลี้ยงอั้งยี่" ในแหลมมลายูมาใช้ ปรากฏว่าให้สืบเอาตัวจีนเถ้าเก๋ที่เป๋นหัวหน้าอั้งยี่ได้ ๑๔ คน แล้วตั้งข้าหลวง ๓ คน คือ เจ้าพระยาภาณุวงศ์ เมื่อยังเป็นพระยาเทพประชุน(ซึ่งเคยปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ต)คนหนึ่ง พระยาโชฎึกราชเศรษฐีคนหนึ่ง พระยาอินทราธิบดีสีหราชรองเมือง(เนียม)ซึ่งเป็นผู้บังคับการกองตระเวน(โปลิศ)ในกรุงเทพฯคนหนึ่ง พร้อมด้วยขุนนางเจ้าภาษีอีกบางคน พาพวกหัวหน้าอั้งยี่ ๑๔ คนนั้นไปทำพิถือน้ำกระทำสัตย์ในวิหารหลวงพ่อโต ณ วัดกัลยาณมิตรซึ่งจีนนับถือมาก รับสัญญาว่าจะไม่คิดประทุษร้ายต่อพระเจ้าอยู่หัว และจะคอยระวังพวกอั้งยี่ของตนมิให้คิดร้ายด้วย แล้วปล่อยตัวไปทั้ง ๑๔ คน แต่นั้นสมเด็จเจ้าพระยาฯก็เอาพวกหัวหน้าอั้งยี่เหล่านั้นเป็นคนรับใช้สอยของท่านให้ตรวจตราว่ากล่าวมิให้พวกอั้งยี่กำเริบ ก็สำเร็จประโยชน์ได้อย่างประสงค์ พวกอั้งยี่ก็เรียบร้อยเพราะใช้วิธี "เลี้ยงอั้งยี่" มาตลอดเวลาสมเด็จเจ้าพระยาฯมีอำนาจในราชกาลแผ่นดิน


อั้งยี่กำเริบที่เมืองระนองและภูเก็ต

ถึงปีชวด พ.ศ.๒๔๑๙ เป็นปีที่ ๙ ในรัชกาลที่ ๕ เกิดลำบากด้วยพวกจีนอั้งยี่ที่เป็นกรรมกรที่ทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนอง และเมืองภูเก็ตกำเริบคล้ายกับเป็นกบฏต้องปราบปรามเป็นการใหญ่โต แต่ว่าพวกอั้งยี่ทางหัวเมืองในแหลมมลายูเป็นสาขาขอพวกอั้งยี่กงสี "งี่หิน" และกงสี "ปูนเถ้าก๋ง" ในแดนอังกฤษมาตั้งขึ้นในเมืองไทยไม่ได้ติดต่อกับพวกอั้งยี่ในกรุงเทพฯดังกล่าวมาแล้ว ในเรื่องปราบอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตเมื่อปีมะโรง พ.ศ. ๒๔๑๑ นั้นแล้ว แต่ครั้งนั้นมาการทำเหมืองแร่ดีบุกที่เมืองระนองกับเมืองภูเก็ตเจริญขึ้น มีพวกจีนกรรมกรเข้ามารับจ้างขุดขนดีบุกมากขึ้นเป็นลำดับมา

จนที่เมืองระนองมีจำนวนจีนกรรมกรกว่า ๓,๐๐๐ คน และที่เมืองภูเก็ตมีจำนวนจีนกรรมกรหลายหมื่น มากกว่าจำนวนราษฎรไทยที่อยู่ในตัวเมืองทั้งสองแห่ง ตามบ้านนอกพวกจีนกรรมกรไปรวมกันรับจ้างขุดแร่อยู่ที่ไหน ทั้งพวกงี่หินและพวกปูนเถ้าก๋งตั้งก็ไปตั้งกงสีอั้งยี่พวกของตนขึ้นที่นั่น มีนายรองปกครองขึ้นต่อผู้ที่รัฐบาลตั้งเป็นหัวหน้าต้นแซ่ ซึ่งเป็นผู้มีถิ่นฐานอยู่ในเมือง จึงมีกงสีอั้งยี่อยู่ตามเหมืองแร่แถบทุกแห่ง พวกหัวหน้าต้นแซ่ก็ช่วยรัฐบาลรักษาความสงบเงียบเรียบร้อยตลอดมา แต่เมื่อปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ นั้น เผอิญดีบุกตกราคา พวกนายเหมืองขายดีบุกได้เงินไม่พอให้ค่าจ้างกรรมกร จึงเกิดเหตุขึ้นที่เมืองระนองก่อน

ปรากฏว่าเมื่อเดือน ๓ แรม ๑๔ ค่ำ ถึงตรุษจีนพวกกรรมกรที่เป็นอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งพวกหนึ่ง ไปทวงเงินต่อนายเหมือง ขอให้ชำระหนี้สินให้สิ้นเชิงตามประเพณีจีน นายเหมืองไม่มีเงินพอจะให้ขอผ่อนผัด พวกกรรมกรจะเอาเงินให้จงได้ก็เกิดทุ่มเถียง จนเลยวิวาทกันขึ้น พวกกรรมกรฆ่านายเหมืองตาย ชะรอยผู้ตายจะเป็นตัวนายคนหนึ่ง พวกกรรมกรตกใจเกรงว่าจะถูกจับกุมเอาไปลงโทษ ก็พากันถือเครื่องศาสตราวุธหนีออกจากเมืองระนอง หมายว่าจะเดินบกข้ามภูเขาบรรทัดไปหาที่ซ่อนตัวอยู่ที่เหมืองแร่ในแขวงเมืองหลังสวน เมื่อไปถึงด่าน พวกชาวด่านเห็นกิริยาอาการผิดปกติ สงสัยว่าจะเป็นโจรผู้ร้าย จะเอาตัวมาให้ไตร่สวนที่ในเมืองก็เกิดวิวาทกันขึ้น คราวนี้ถึงยิงกันตายทั้งสองข้าง พวกชาวด่านจับจีนได้ ๘ คุมตัวเข้ามายังเมืองระนอง ถึงกลางทางพวกจีนกรรมกรเป็นอันมาก พากันมากรุ้มรุมแทงฟันพวกชาวด่าน ชิงเอาพวกจีนที่ถูกจับไปได้หมด แล้วพวกจีนกรรมกรก็เลยเป็นกบฏ รวบรวมกันประมาณ ๕๐๐-๖๐๐ คน ออกจากเหมืองแร่เข้ามาเที่ยวไล่ฆ่าคน และเผาบ้านเรือนในเมืองระนอง

พระยาระนองไม่มีกำลังพอจะปราบปรามก็ได้แต่รักษาบริเวณศาลากลางอันเป็นสำนักรัฐบาลไว้ พวกจีนกบฏจะตีเอาเงินในคลังไม่ได้ก็พากันเที่ยวเก็บเรือทะเลบรรดามีที่เมืองระนอง และไปปล้นฉางเอาข้าวบรรทุกลงในเรือ แล้วพากันลงเรือแล่นแล่นหนีไปทางทะเลประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน ที่ไปทางเรือไม่ได้ก็พากันไปทางบก หนีไปยังเหมืองแร่ในแขวงหลังสวนประมาณ ๓๐๐-๔๐๐ คน พอประจวบกับเวลาเรือรบไปถึงเมืองระนอง เหตุที่อั้งยี่เมืองระนองเป็นกบฏก็สงบลง ไม่ต้องรบพุ่งปราบปราม เพราะเป็นกบฏแต่พวกปูนเถ้าก๋งหนีไปหมดแล้ว พวกงี่หินที่ยังอยู่ก็หาได้เป็นกบฏไม่

แต่ที่เมืองภูเก็ตมีจีนกรรมกรหลายหมื่น จำนวนมากกว่าเมืองระนองหลายเท่า และพวกจีนก็มีเหตุเดือดร้อนด้วยดีบุกตกราคาเช่นเดียวกันกับเมืองระนอง ทั้งยังมีเหตุอื่นนอกจากนั้นด้วยพวกอั้งยี่ปูนเถ้าก๋งสงสัยว่าเจ้าเมืองลำเอียงเข้าข้างพวกงี่หิน มีความแค้นเคืองอยู่บ้างแล้ว พอพวกอั้งยี่ที่หนีมาจากเมืองระนองมาถึงเมืองภูเก็ต แยกย้ายกันไปเที่ยวอาศัยอยู่ตามโรงกงสีอั้งยี่พวกของตนตามตำบลจ่างๆ ไปเล่าว่าเกือบจะตีเมืองระนองได้ หากเครื่องยุทธภัณฑ์ไม่มีพอมือจึงต้องหนีมา ก็มีพวกหัวโจกตามกงสีต่างๆชักชวนพวกอั้งยี่ในกงสีของตนให้รวมกันตีเมืองภูเก็ตบ้าง แต่ปกปิดมิให้พวกหัวหน้าต้นแซ่รู้ ก็รวมได้แต่บางกงสีไม่พรักพร้อมกัน

ในเวลานั้นพระยามนตรีสุริยวงศ์(ชื่น บุนนาค) เมื่อยังเป็นเจ้าหมื่นเสมอใจราชหัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงประจำหัวเมืองฝ่ายตะวันตกทั้งปวงอยู่ ณ เมืองภูเก็ต มีเรือรบ ๒ ลำ กับโปลิศสำหรับรักษาสำนักรัฐบาลประมาณ ๑๐๐ คนเป็นกำลัง ส่วนการปกครองเมืองภูเก็ตนั้น พระยาวิชิตสงคราม(ทัด)ซึ่งเป็นพระยาภูเก็ตอยู่จนแก่ชราจึงเลื่อนขึ้นเป็นจางวาง แต่ก็ยังว่าราชการและผูกภาษีผลประโยชน์เมื่อภูเก็ตอยู่อย่างแต่ก่อน เป็นผู้ที่พวกจีนกรรมกรเกลียดชังว่าเก็บภาษีให้เดือดร้อน แต่หามีใครคาดว่าพวกจีนกรรมกรจะกำเริบไม่

แต่แรกเกิดเหตุเมื่อเดือน ๔ ขึ้น ๑๓ ค่ำ ปีชวด พ.ศ. ๒๔๑๙ เวลาบ่ายวันนั้น กลาสีเรือรบพวกหนึ่งขึ้นไปบนบกไปเมาสุรา เกิดทะเลาะกับพวกจีนที่ในตลาดเมืองภูเก็ตแต่ไม่ทันถึงทุบตีกัน มูลนายเรียกกลาสีพวกนั้นกับไปลงเรือเสียก่อน ครั้นเวลาค่ำมีกลาสีพวกอื่น ๒ คนขึ้นไปบนบก พอพวกจีนเห็นก็กลุ้มรุมทุบตีแทบปางตาย โปลิศไประงับวิวาทจับได้จีนที่ตีกลาสี ๒ คนเอาตัวเข้าไปส่งข้าหลวง ในไม่ช้าก็มีจีนพวกใหญ่ประมาณ ๓๐๐ คนซึ่งรวมกันอยู่ในตลาด ถือเครื่องศัสตราวุธพากันไปรื้อโรงโปลิศ แล้วเที่ยวปล้นบ้านเผาวัดและเรือนไทยที่ในเมือง พบไทยที่ไหนก็ไล่ฆ่าฟัน พวกไทยอยู่ในเมืองมีน้อยกว่าจีนก็ได้แต่พากันหนีเอาตัวรอด ฝ่ายพวกจีนได้ทีก็เรียกกันเพิ่มเติมเข้ามาจนจำนวนกว่า ๒,๐๐๐ คน แล้วยังตามกันยกเข้ามาหมายจะปล้นสำนักงานรัฐบาล และบ้านพระยาวิชิตสงคราม เป็นการกบฏออกหน้า พระยาวิชิตสงครามอพยพครอบครัวหนีเอาตัวรอดไปได้

แต่พระยามนตรีฯไม่หนี ตั้งต่อสู้อยู่ในบริเวณสำนักรัฐบาลและรักษาบ้านพระยาวิชิตสงครามซึ่งอยู่ติดต่อกันไว้ด้วย ให้เรียกไทยบรรดามีในบริเวณศาลารัฐบาล และถอดคนโทษมี่ในเรือนจำออกมาสมทบกับโปลิศซึ่งมีอยู่ ๑๐๐ คน แล้วได้พาทหารเรือในเรือรบขึ้นมาช่วยอีก ๑๐๐ คน รวมกันรักษาทางที่พวกจีนจะเข้ามาได้ และเอาปืนใหญ่ตั้งจุกช่องไว้ทุกทาง แล้วให้ไปเรียกจีนพวกหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งอยู่ในเมืองเข้ามาประชุมกันที่ศาลารัฐบาลในค่ำวันนั้น และรีบเขียนจดหมายถึงหัวเมืองอื่นๆที่ใกล้เคียงให้ส่งกำลังมาช่วย และมรีหนังสือส่งไปตีโทรเลขที่เมืองปีนังบอกข่าวเข้ามายังกรุงเทพฯ และมีจดหมายบอกอังกฤษเจ้าเมืองปีนังให้กักเครื่องอาวุธยุทธภัณฑ์ อย่าให้พวกจีนส่งมายังเมืองภูเก็ต ให้คนถือหนังสือลงเรือเมล์และเรือใบไปยังเมืองปีนัง และที่อื่นๆที่สามารถจะไปได้

ในค่ำวันนั้นพวกจีนหัวหน้าต้นแซ่พากันเข้ามายังศาลารัฐบาลตามคำสั่งโดยมาก และรับจะช่วยรัฐบาลตามแต่พระยามนตรีฯจะสั่งให้ทพประการใด พระยามนตรีฯจึงสั่งให้พวกหัวหน้าเขียน "ตั๋ว" ออกไปถึงพวกแซ่ของต้นที่มากับพวกผู้ร้าย สั่งให้กลับไปที่อยู่ของตนเสียตามเดิม มีทุกข์ร้อนอย่างไรพวกหัวหน้าต้นแซ่จะช่วยแก้ไขให้โดยดี ก็มีพวกกรรมกรเชื่อฟังพากันกลับไปเสียมาก พวกที่ยังเป็นกบฏอยู่น้อยตัวลง ก็ไม่กล้าเข้าตีศาลารัฐบาล พระยามนตรีฯจึงจัดให้จีนหัวหน้าต้นแซ่คุมจีนพวกของตัวตั้งเป็นกองตระเวนคอยห้ามปรามอยู่เป็นแห่งๆที่ในเมืองก็สงบไป แต่พวกจีนกบฏที่มีหัวโจกชักนำไม่เชื่อฟังหัวหน้าต้นแซ่

เมื่อเห็นว่าจะตีศาลารัฐบาลไม่ได้ก็คุมกันเป็นพวกๆแยกกันไปเที่ยวปล้นทรัพย์เผาเรือนพวกชาวเมืองต่อออกไปถึงตามบ้านนอก ราษฎรน้อนกว่าก็ได้แต่หนีเอาตัวรอด ก็เกิดเป็นจลาจนทั่วไปทั้งเมืองภูเก็ต มีแต่ที่บ้านฉลองแห่งเดียว ชาวบ้านได้สมภารวัดฉลองเป็นหัวหน้า อาจต่อสู้ชนะพวกจีน(ดังได้เล่ามาในนิทานที่ ๒) แม้พระยามนตรีก็มีกำลังเพียงจะรักษาศาลารัฐบาล ยังไม่สามารถจะปราบพวกจีนกบฎตามบ้านนอกได้

เมื่อรัฐบาลในกรุงเทพฯได้รับโทรเลขว่าเกิดกบฏที่เมืองภูเก็ต จึงโปรดฯให้พระยาประภากรวงศ์(ชาย บุนนาค)เมื่อยังเป็นเจ้าหมื่นไวยวรนาถหัวหมื่นมหาดเล็ก เป็นข้าหลวงใหญ่มีอำนาจบังคับบัญชาการปราบอั้งยี่ได้สิทธิขาด (เพราะพระยามนตรีฯเป็นลูกเขยพระยาวิชิตสงคราม เกรงจะบังคับการไม่ได้เด็ดขาด ต่อภายหลังจึงทราบว่าพระยามนตรีฯต่อสู้จึงไม่เสียเมืองภูเก็ต) คุมเรือรบกับทหารและเครื่องสัสตราวุธยุทธภัณฑ์เพิ่มเติมออกไป พระยาประภาฯไปถึงเมืองภูเก็ตก็ไปร่วมมือกับพระยามนตรีฯ ช่วยกันรวบรวมรี้พลทั้งไทยและมลายูที่ไปจากหัวเมืองปักษ์ใต้ไปเข้าเป็นกองทัพ และเรียกพวกเจ้าเมืองที่ใกล้เคียงไปประชุมปรึกษากัน ให้ประกาศว่าจะเอาโทษแต่พวกที่ฆ่าคนและปล้นสะดม พวกกรรมกรที่ไม่ได้ประพฤติร้ายเช่นนั้น ถ้ามาลุแก่โทษต่อหัวหน้าต้นแซ่และกลับไปทำการเสียโดยดีจะไม่เอาโทษ พวกจีนที่เป็นแต่ชั้นสมพลก็พากันเข้ามาลุแก่โทษโดยมาก จับได้ตัวหัวโจกและที่ประพฤติร้ายบ้าง แต่โดยมากพากันหลบหนีจากเมืองภูเก็ตไปตามเมืองในแดนอังกฤษ การจลาจลที่เมืองภูเก็ตก็สงบ

ในครั้งนั้นทรงพระกรุณาโปรดฯปูนบำเหน็จให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช(ชาย บุนนาค)เลื่อนขึ้นเป็นพระยาประภากรวงศ์ ให้เจ้าหมื่นเสมอใจราช(ชื่น บุนนาค)เลื่อนขึ้นเป็นพระยามนตรีสุริยวงศ์ ตำแหน่งจางวางมหาดเล็กและได้รับพระราชทานพานทองเสมอกันทั้ง ๒ คน พวกกรมการที่ได้ช่วยรักษาเมืองภูเก็ตนั้น พระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์บ้าง เลื่อนบรรดาศักดิ์บ้าง ตามควรแก่ความชอบ ที่เป็นหัวหน้าต้นแซ่ซึ่งได้ช่วยราชการครั้งนั้น โปรดฯให้สร้างเหรียญตืดอกเป็นเครื่องหมายความชอบ(วึ่งมาเปลี่ยนเป็นเหรียญดุษฎีมาลาภายหลัง)พระราชทานเป็นบำเหน็จความชอบทุกคน แต่นั้นพวกอั้งยี่ที่เมืองภูเก็ตก็ราบคาบ.



นิทานโบราณคดี พระนิพนธ์ในสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
เรื่องอังยี่


Create Date : 20 มีนาคม 2550
Last Update : 20 มีนาคม 2550 13:28:08 น. 0 comments
Counter : 3937 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com