กาลครั้งหนึ่งนานมาแล้ว
 
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พระราชหัตถ์ซ้าย)

พระมหามงกุฎเป็นเครื่องหมายของราชาธิปไตย
พระมหามงกุฎสง่างามด้วยประดับเพชรนิลจินดาอันมีค่าฉันใด
ข้าราชการที่อุตส่าห์ช่วยกันทะนุบำรุงบ้านเมืองให้มีความเจริญสุข
ก็เปรียบเหมือนเพชรนิลเครื่องประดับพระมหามงกุฎฉันนั้น



พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว






สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ



....................................................................................................................................................

สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เจ้าจอมมารดาชุ่มเป็นพระมารดา ประสูติในพระบรมมหาราชวังหลวงเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๐๕ ที่ตำหนักใกล้ประตูอนงค์ลีลา เมื่อประสูติแล้วมีพระราชพิธีสมโภช ๓ วัน และสมโภชเดือนตามราชประเพณี พระบาทวสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จลงในงานพิธีและพระราชทานพระนามว่า ดิศวรกุมาร และพระราชทานกาน้ำทองคำใส่น้ำเสวย ๑ ใบ เป็นของพระราชทานสมโภชเดือน

พระองค์ทรงเล่าว่าได้ทรงตั้งต้นทรงพระอักษร ก.ข. กับคุณแสง ข้าราชการฝ่ายในแต่พระชันษาได้ ๓ ขวบ เวลาเช้ามีคนเชิญสมุดเรียนใส่พานเดินนำเสด็จไปยังเรือนคุณแสง ทรงเรียน ก.ข. และสระราว ๑-๒ ชั่วโมง แล้วเสด็จกลับมาแต่งพระองค์ขึ้นไปเฝ้าพระราชบิดากับเจ้าจอมมารดาในเวลาเสวย ถ้าเจ้าจอมมารดาเที่ยงเจ็บ คุณย่าผู้เป็นน้องสาวก็เป็นผู้ตั้งเครื่องแทน วันหนึ่งเสด็จพ่อทรงตามเข้าไปยืนเกาะโต๊ะเสวยซึ่งสูงขนาดพระเศียรในเวลานั้น พระราชบิดาทรงลูบพระเศียรแล้วตรัสกับคุณย่าว่า "ลูกคนนี้จะเป็นที่พึ่งของเองได้ต่อไป" คุณย่าเล่าว่า เมื่อเสด็จพ่อยังเสวยนมอยู่นั้น ทูลกระหม่อมปู่ทรงลองเอานิ้วพระหัตถ์ใส่ในพระโอษฐ์แทนนม แต่เสด็จพ่อไม่ทรงดูดกลับหยุดนิ่งเสียเฉยๆจึงตรัสว่า "ลูกคนนี้ฉลาด"

เมื่อทรงพระอักษรถึงผสมตัวได้แล้วก็ทรงย้ายครูไปเรียนกับคุณปาน ราชนิกุล บุนนาค และเรียนอ่านหนังสือเล่มๆมีเรื่อง รามเกียรติ์ อิเหนา เป็นต้น ในสมัยนั้นเรียกว่าขึ้นสมุด พระชันษา ๔-๕ ปีก็ได้ตามเสด็จออกอยู่เสมอ และได้ทรงเชิญพระแสงหนู(องค์เล็ก)ตามเสด็จด้วย เสด็จพ่อทรงเล่าว่าเวลานั้นรถม้ามีเข้ามาใหม่ๆ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดทรงขับรถชนิดที่เรียกว่า Dog Cart เองเสมอ และพระราชโอรสธิดาเล็กๆก็ตามเสด็จด้วย เสด็จพ่อประทับในระหว่างพระบาท ทรงจำได้ว่าสายบังเหียนถูกพระเศียรเรื่อยไป วันหนึ่งคานรถหัก ตกลงมาจากรถกันทุกพระองค์ ทูลกระหม่อมปู่ทรงเป็นห่วงตรัสแต่ว่า "ลูกๆเป็นยังไง เจ็บไหมลูก" อย่างเดียว เวลาทรงพระราชยานเสด็จพ่อประทับข้างพระบาทคู่กับเสด็จลุง กรมพระสมมตอมรพันธุ์

และครั้งหนึ่งเสด็จพระราชดำเนินไปในงานฉลองวัดหงษ์กลับมา เสด็จพ่อง่วงพระบรรทมตกลงมาจากพระราชยานหนหนึ่ง พวกข้าราชการอุ้มกลับขึ้นไปในระหว่างทาง ในเวลาเสด็นจออกที่พระที่นั่งอนันตสมาคม(ในสวนศิวาลัย)วันหนึ่ง พระราชบิดาทรงตรัสใช้ไปหยิบขวดหยกในเครื่องพระสำอางค์ที่ในห้องบรรทมมาถวาย เพราะจะพระราชทานให้พวกขุนนางดู เสด็จพ่อทรงเล่าว่า รู้สึกกลัวผีเป็นที่สุดที่จะต้องขึ้นไปบนพระที่นั่งที่ประทับพระองค์เดียว แต่แข็งพระทัยคลานขึ้นไปบนพระแท่นลดแล้วหยิบขวดนั้นมาถวายได้ถูก ได้รับการชมเชยจากผู้ใหญ่เป็นอันมากในคราวนี้ว่า ฉลาดใช้ได้เรื่องได้ราว ในตอนปลายรัชกาลที่ ๔ ก็ได้ตามเสด็จไปหว้ากอด้วย และกลับมาประชวรเป็นไข้ป่าพร้อมกับคุณย่าเหมือนกัน แต่หายทันขึ้นไปสรงน้ำพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระชันษาได้ ๖ เข้า ๗ ปี ทรงเล่าว่าทรงจำได้ดีว่าได้ขึ้นไปทรงพระกันแสง ที่เล่ามานี้เป็นเรื่องที่เสด็จพ่อทรงจำเรื่องราวในรัชกาลที่ ๔ ได้เพียงไร

เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จสวรรคตแล้ว สมเด็จเจ้าพระยาศรีสุริยวงศ์(ช่วง บุนนาค)เป็นผู้สำเร็จราชการ เพราะพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังมีพระชนมพรรษาเพียง ๑๖ ปีเท่านั้น พวกสมเด็จเจ้าพระยามีท่านเจ้าคุณฝ่ายในต่างๆเป็นผู้เข้าควบคุมดูแลงานในพระราชฐานในตำแหน่งเจ้าคุณพนักงาน พวกคุณย่าต่างๆเรียกว่าหมดบุญกลับไปอยู่เรือนกลับเจ้านายเล็กๆ ต่างคนต่างทำขนมขายบ้าง ทำการช่างต่างๆขายบ้างอยู่เงียบๆ ส่วนพระราชโอรสธิดา ทรงเล่าว่าเรียนหนังสือแล้วก็ขึ้นเฝ้าพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในเวลาเสวยทุกวัน เฝ้าแล้วก็เที่ยวเตร่ไปตามความพอใจ โดยมากก็ไปอยู่ในวัดพระแก้วดูเขาซ่อมแซมวัด จนสมเด็จเจ้าฟ้านริศรานุวัดติวงศ์ได้ทรงช่วยท่านอาจารย์แดง(พระภิกษุ)เขียนรูปรามเกียรติ์ตามพระระเบียงได้ เสด็จพ่อนั้นเมื่อทรงเรียนจนทรงอ่านภาษาไทยได้ดีแล้ว พระชันษา ๘ ปีก็เสด็จออกไปเรียนอักษรขอมกับพวกกรมพระอาลักษณ์ ที่เก๋งกรงนกอยู่ริมพระที่นั่งอมรินทร์วินิจฉัยบัดนี้

ส่วนเวลาว่างก็เที่ยวอยู่ตามรอบวังทอดพระเนตรวัดพระแก้ว ทอดพระเนตรพวกทหารอยู่กันอย่างไร มีพวกพระพี่เลี้ยงผู้ชายตามเสด็จดูแลจนถึงเวลาก็เสด็จกลับเข้าวัง เสด็จพ่อทรงเล่าว่า คุณย่าไม่เคยตามพระทัยเลย คำสั่งเด็ดขาดนั้นคือ ปดไม่ได้ ถ้าผิดต้องรับโดยดีว่าผิดมิฉะนั้นจะถูกตีมาก เสด็จไปไหนมาก็ต้องมาเล่าให้แม่ฟังว่าเห็นอะไร ทำอะไรบ้าง ทรงเล่าว่า วันหนึ่งตามเสด็จออกไปข้างหน้า พบด้ามปากกาแก้วใส่น้ำสีๆตกอยู่ตรงบันไดก็ทรงเก็บเอามา เพราะโปรดเหลือเกิน แต่พอถึงตำหนักคุณย่าก็ถามว่าเอามาจากไหน ท่านก็ทรงบอกตามจริง แต่คุณย่าออกคำสั่งว่า ให้เอากลับไปวางไว้ที่เดิมเดี๋ยวนั้น ทรงเล่าว่าเสียดายเป็นกำลัง แต่ก็ต้องเอากลับไป ส่วนการเสวยก็ดี บรรทมก็ดี คุณย่าเลี้ยงอย่างอุดมสมบูรณ์ไม่เคยอดอยาก เข้มงวดแต่ในเรื่องศีลธรรม และการงาน

ครั้นพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จกลับจาดเสด็จเยี่ยมประเทศอินเดียแล้ว ทรงจ้างครูภาษอังกฤษคนหนึ่งชื่อ Mr.Francis George Peterson ให้มาสอนภาษาอังกฤษแก่เจ้านายพระองค์ชาย โปรดฯให้ทุกพระองค์ทรงเลือกว่าจะเรียนภาษาไทยหรือภาษาอังกฤษ เสด็จพ่อทรงเลือกเรียนภาษาอังกฤษเมื่อพระชันษาได้ ๙ ปี หนังสือที่ทรงเรียนยังมีอยู่ในหอสมุดดำรงฯ ท่านทรงเก็บรักษาไว้เอง ทรงเล่าว่าทรงเป็นลูกศิษย์ที่ครูรัก ครูไปไหนก็ชอบพาไปด้วย จนเข้าพระทัยและตรัสภาษาอังกฤษได้ ก่อนที่จะทรงอ่านออก วันหนึ่งครูพาไปหาเพื่อนฝรั่งด้วยกันที่ห้างมากวนและเลยจะค้างอยู่ที่นั่น คุณย่าตกใจว่ายังไม่เสด็จกลับ ให้คนออกเที่ยวตามหาได้พระองค์มาจนเวลา ๒ ยามแล้ว เสด็จพ่อทรงเรียนภาษาอังกฤษอยู่ ๔ ปี ทรงถึงเล่ม ๔ Forth Reader ก็ต้องออกจากโรงเรียนที่อยู่ตรงข้างประตูพิมานไชยศรี เพราะถึงเวลาโสกันต์และทรงผนวชเณรตามพระราชประเพณี เพื่อศึกษาการพระพุทธศาสนา ทรงผนวชที่วัดพระแก้วแล้วเสด็จไปประทับอยู่ที่วัดบวรนิเวศ ๑ พรรษา ลาผนวชเณรเมื่อพระชันษาได้ ๑๔ ปีเป็นอันจบการศึกษาชั้นแรกเพียงเท่านี้ ต่อไปจากนี้ทรงศึกษาด้วยพระองค์เองโดยอ่านและเขียนอยู่เสมอ ในคราวหน้าจะได้เล่าถึงตอนทรงเข้ารับราชการต่อไปตอน


เสด็จเข้ารับราชการ

เนื่องแต่โรงเรียนอยู่ตรงข้ามกับสนามหน้าวัดพระแก้ว(ทางในพระบรมมหาราชวัง)อันเป็นที่หัดทหารทุกวัน เสด็จพ่อได้ทอดพระเนตรเห็นอยู่เป็นนิตย์จึงทำให้ทรงอยากเป็นทหาร เมื่อทรงขออนุญาตต่อคุณย่า ย่าขอให้ให้ทรงทำสัญญาก่อนว่า ๑.จะไม่เล่นผู้หญิงชั่ว ๒.จะไม่ดื่มสุราเลย เพราะทหารในเวลานั้นมีแต่คนเลวๆและเกะกะ เสด็จพ่อตรัสเสมอว่าสัญญา ๒ ข้อนี้ทำให้พ่อเป็นคนบริสุทธิ์สะอาดมาตลอดชีวิต เสด็จเข้ามารับราชการเป็นนักเรียนนายร้อยเมื่อพระชันษา ๑๔ ปี อยู่ประจำกองที่พระระเบียงวัดพระแก้วในบังคับบัญชานายร้อยเอกเจิม แสงชูโต คือเจ้าพระยาสุรศักดิ์มนตรี ได้รับเงินเดือนๆละ ๑๖ บาท ทรงเล่าว่าบางวันร้อนจัดก็ชวนเพื่อนทหารไปนอนหน้าพระอุโบสถวัดพระแก้ว แต่พอตื่นเช้าขึ้นก็เหลือแต่พระองค์กลิ้งอยู่กับพื้น ทั้งพระเขนยและผ้าคลุมบรรทมหายไปหมด ทรงโยนปืนอยู่ ๑ ปีก็ได้เลื่อนขึ้นเป็นนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวงได้เงินเดือนๆละ ๔๐ บาท ทรงเล่าถึงเรื่องพวกทหารแตรวงสนุกๆหลายเรื่อง มีคนเป่าแตรดีอยู่คนหนึ่ง(ข้าพเจ้าลืมชื่อ)แต่แกชอบเล่นการพนัน

วันหนึ่งมีงานหลวงจะต้องมีแตรบรรเลง เมื่อมากันครบแล้วยังขาดอยู่แต่พ่อคนแตรดีคนนั้น จึงให้เที่ยวตามตัวกันเอะอะ สักครู่จึงได้รับเศษกระดาษเขียนมาว่า ถ้าต้องการตัวให้เอากางเกงไปรับที่พระระเบียงวัดโพธิ์ เพราะเสียพนันเหลือแต่กางเกงในตัวเดียว อีกคนหนึ่งชื่ออยู่ ทรงเล่าว่าเป็นคนที่ไม่มีดนตรีอยู่ในหัวเลย ให้ทดลองเล่นเครื่องต่างๆไม่ได้เลยสักสิ่ง แม้ให้เป็นคนตีกลองก็ตีผิดจังหวะ ถึงต้องกอดกลองไว้ไม่ให้ดัง ข้าพเจ้าได้ทันรู้จักคนหนึ่งชื่อช่วงเป็นคนเป่าขลุ่ย เราไปดูหนังกันที่โรงหนังนางเลิ้ง ขากลับออกมาพบทหารคนหนึ่งกำลังเดินเซๆ พอหันมาเห็นเสด็จพ่อก็ยืนตัวตรงทำวันทยาหัตถ์ เสด็จพ่อทรงหันไปทักว่า "ช่วง เองเมาอีกแล้วซี" เขาตอบเสียงเด็ดขาดว่า "แน่นอน" ท่านก็ทรงพระสรวลแล้วผ่านไป ทำให้เรารู้สึกว่าความสัมพันธ์ในระหว่างนายกับพลทหารนั้น แม้ห่างกันไปถึงเวลา ๓๐ - ๔๐ ปีมาแล้ว เขายังรู้สึกผูกพันกันดี

เสด็จพ่อทรงว่าแตรวงอยู่ ๒ ปี ก็ย้ายไปเป็นว่าที่นายร้อยโทบังคับทหารม้าในกรมทหารมหาดเล็ก ได้เงินเดือน ๔๘ บาท ในปี พ.ศ. ๒๔๒๒ นี้ ได้ทรงเป็นนายร้อยเอกและราชองครักษ์ประจำพระองค์ และว่ากรมครัวเข้า(ข้าว)ต้นได้เงินเดือนถึงเดือนละ ๘๐ บาท พ.ศ. ๒๔๒๓ ได้ทรงเป็นนายพันตรีผู้รับพระราชโองการ และว่ากรมกองแก้วจินดา(ปืนใหญ่)เงินเดือนขึ้นเป็น ๑๒๐ บาท ต่อมาอีก ๔ ปีได้ทรงเป็นนายพันโทผู้บังคับการทหารมหาดเล้ก เงินเดือนขึ้น ๒๔๐ บาท พ.ศ. ๒๔๒๙ ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหมื่นดำรงราชานุภาพ เมื่อพระชันษา ๒๒ ปี พ.ศ. ๒๔๓๑ ได้ทรงเป็นนายพลตรี เงินเดือนขึ้นถึง ๕๐๐ บาท

เสด็จพ่อทรงตรัสอยู่เสมอว่าท่านทรงได้รับการรักษาระเบียบและรักษาความสะอาดมาจากการเป็นทหาร ทรงถือพระองค์ว่าทรงเติบโตขึ้นมาทางทหารตั้งแต่เป็นนักเรียนนายร้อยจนเป็นนายพล แต่ถูกย้ายไปรับราชการทางแผนกอื่นเท่านั้น เนื่องแต่ได้ทรงจัดให้พวกทหารมหาดเล็กเรียนหนังสือ และขอพระราชทานพระตำหนักสวนกุหลาบจัดเป็นโรงเรียนขึ้น จึงโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการและกำกับการธรรมการ มีตำแหน่งเท่าเสนาบดีแต่ยังไม่ได้ประกาศเป็นกระทรวง เป็นแต่มีตำแหน่งนั่งประชุมในเสนาบดีสภาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๓


ตอน ทรงว่าการศึกษาธิการและธรรมการ

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเอาพระทัยใส่ในการศึกษาเป็นอันมากแต่โดยปกติเมื่อได้ทรงดำรงตำแหน่งผู้จัดการโรงเรียนสวนกุหลาบแล้ว บางครั้งต้องทรงสองเองเพราะในเวลานั้นครก็หายากอยู่แล้ว ยังไม่มีใครเข้าใจคำว่าหลักสูตรอีกด้วย การสอบไล่ก็เพิ่งมีขึ้นในโรงเรียนนี้เป็นครั้งแรก สมเด็จกรมพระยาฯได้ทรงร่างข้อสอบ ทรงสอบ และจัดทำประกาศนียบัตรขึ้นเองทั้งนั้น หนังสือที่ทรงจัดให้เรียนยังทรงมัดไว้ดังมีอยู่ในหอสมุดดำรงฯ แล้วทรงเล่าว่าถ้าจะเอาเรื่องใดเข้าหลักสูตร จะต้องให้ทดลองสอนเด็กเสียก่อน ถ้าเป็นผลดีจึงจะเอาเข้าไปกระทรวง ฉะนั้นที่วังพระองค์ท่านจึงมีโรงเรียนเล็กๆห้องเดียวอยู่หลังหนึ่ง และพวกลูกๆตั้งแต่ของพระองค์ท่านและลูกคนในวัง ก็เป็นผู้สำหรับทรงทดลองทั้งนั้น

ทรงเล่าว่าครูก็มีต่างๆ บางคนสอนอย่างนั้นดี บางคนสอนอย่างนี้ดี มีขุนบัญญัติฯคนหนึ่งสอน ก.ข. ดีนัก แม้เด็กจะเกเรอย่างไรครูก็มีวิธีสอนจนอ่านได้ดีและเร็วด้วย เมื่อเสด็จพ่อทรงผนวชเป็นพระภิษุ ได้เสด็จไปจำพรรษาอยู่ที่วัดนิเวศธรรมประวัติ บางปะอิน เพราะเมื่อกำลังสร้างวัดนั้น เสด็จพ่อทรงเป็นราชองครักษ์ตามเสด็จพระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงไปทอดพระเนตรการก่อสร้างทุกวัน สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสว่าวัดนี้เงียบสบาย เจ้านายทรงผนวชก็อยู่ได้ เสด็จพ่อจึงทูลว่าถ้าถึงปีทรงผนวชจะเสด็จมาอยู่ จึงโปรดเกล้าฯให้ปลูกตำหนักถวายหลังหนึ่ง ซึ่งเป็นหอสมุดในวัดนั้นบัดนี้

ในเวลาเสด็จอยู่ในวัดนั้น ได้ทอดพระเนตรเห็นเด็กชาวนามาเรียนหนังสือที่วัดด้วยหนังสือมูลบทบรรพกิจ และอ่านไม่ได้นอกจากท่องชี้ไปตามเรื่องว่า ก.ก่.ก้.ก๊.ก๋. ข.ข่.ข้.ข๊.ข๋. ฯลฯ แต่ชี้ก็ไม่ถูกตัว จึงตรัสถามพระผู้เป็นครูสอน ท่านอธิบายว่าเด็กมีเวลาเรียนเพียงปีละ ๓ เดือน ถึงหน้าทำนาก็ต้องกลับไปช่วยพ่อแม่ กลับมาเรียนใหม่ก็ลืมหมดต้องตั้งต้นกันไปใหม่ เป็นเหตุให้ท่านทรงคิดแบบเรียนเร็วขึ้นเพื่อจะให้อ่านได้ภายใน ๓ เดือน และเอาของที่จำได้ง่ายเช่น ก.ไก่ ข.ไข่ ซึ่งเด็กเห็นอยู่เสอมๆช่วยความจำให้เร็จขึ้น ส่วนในเนื้อเรื่องก็ทรงเลือเอาแต่ที่จะจับใจเด็กเป็นประมาณ เพราะธรรมชาติของเด็กไม่สามารถจะเข้าใจคติธรรมได้ นอกจากชอบการตื่นเต้น จึงผูกเรื่องเช่น ตาโป๋ขาเป๋ ตาหวังหลังโกง เป็นต้น เพื่อให้เด้กเห็นว่าแม้คนพิการก็ยังทำอะไรๆได้ แต่ท่านก็ได้ตรัสอยู่เสมอว่าถึงเวลาควรจะแก้ไขให้เหมาะแก่เวลายิ่งขึ้นแล้ว

ส่วนการศึกษาของชาตินั้น ทรงพระดำริว่าต้องดูความต้องการของประเทศว่าเรายังขาดคนชนิดใด ถ้ากระทรวงศึกษาธิการทำคนให้แก่ประเทศได้ถูกต้องตามเวลาแล้ว บ้านเมืองจะเจริญเร็ว และคนจะมีงานทำโดยทั่วถึงกัน เสด็จพ่อได้ทรงส่งหลานปู่คนใหญ่ไปหักเป็นพ่อค้าในยุโรปราว ๓๐ ปีมาแล้ว เผอิญเด็กไม่ค่อยชอบ และซ้ำกลับมาตายเอาด้วย ก็เป็นอันเราไม่มีพ่อค้าในครอบครัว และคนโดยมากก็ยังสนุกในการเป็นข้าราชการอยู่นั่นเอง ถ้าพวกไทยเราเอาใจใส่ในการเพาะปลูก และการเป็นพ่อค้าให้ถูกต้องตามควรแล้ว การเศรษฐกิจของเราจะเป็นผลดีแก่ประเทศสักเพียงไร ในสมัยเริ่มจัดการปกครองแบบใหม่ใน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น การอ่านเขียนได้ยังไม่ค่อยมีเพราะไม่มีเหตุจำเป็น จะเขียนใบบอกราชการกันสักทีก็ต้องไปเขียนที่วัดเพราะพวกพระท่านต้องรู้หนังสือเพื่อแปลบาลีออกเป็นไทย ฉะนั้นในเวลาเจ้าพระยาพระเสด็จ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล) ท่านเป็นเสนาบดี ท่านจึงจัดผู้อ่านเขียนได้ส่งให้หมาดไทยไปได้ทั่วประเทศ คนจึงมีงานทำกันทั่วถึง

ถึง พ.ศ. ๒๔๓๔ พระเจ้านิโคลาซที่ ๒ เสด็จมาประพาสเมืองไทย(๑) ถึงวันเสด็จกลับจากบางปะอิน พระบาทสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงตรัสเรียกเสด็จพ่อเข้าไปที่พระองค์ แล้วตบพระขนองเสด็จพ่อตรัสแก่พระเจ้าซาร์ว่า "หม่อมฉันจะให้ดำรงไปเฝ้าเยี่ยมตอบแทนตัว" เสด็จพ่อทรงเล่าว่า พ่อเองก็ตกใจ เพราะไม่รู้ตัว" เวลานั้นพระชันษา ๒๙ เท่านั้น โปรดเกล้าฯให้เสด็จพ่อทรงเลือกคณะผู้ตามเสด็จเอง ซึ่งในสมัยนั้นต้องอยู่ในข่ายพระราชพิจารณาว่า ต้องมีรูปร่างงาม มารยาทเรียบร้อย ไม่ให้เสียชื่อสัญชาติไทย และต้อมมีสมองพอจะจำของดีๆกลับมาให้คุ้มค่าเสียเงินไปด้วย เสด็จพ่อเสด็จออกจากกรุงเทพฯเมื่อวันที่ ๑๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๓๔ นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์ไทยไปถวายยังราชสำนักต่างๆในยุโรป และทอดพระเนตรการศึกษาต่างๆเมืองมาด้วย

ครั้นพอเสด็จกลับมาถึงกรุงเทพฯ ภายใน ๗ วันก็ถูกพระราชประกาศย้ายไปเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาไทย โดยมิได้มีพระราชดำรัสถามก่อน ทรงเล่าว่า ทั้งตกใจและเสียใจที่จะต้องทิ้งการศึกษาซึ่งทำแปลนมาในใจไว้เรียบร้อยแล้ว จึงรีบเข้าไปกราบทูลว่า กลัวจะเสียชื่อเพราะทำงานมหาดไทยไม่สำเร็จ แต่มีพระราชดำรัสว่า กรมดำรง ฉันเชื่อว่าเธอจะทำการศึกษาได้สำเร็จ แต่บัดนีบ้านเมืองอยู่ในอันตราย(ร.ศ. ๑๑๒) ถ้าเราตกไปเป็นข้าของเขาอื่น การศึกษาที่เธอรักจะอยู่ที่ไหน ใครเขาเป็นนายเขาก็จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามพอใจเขา เรามาช่วยกันรักษาชีวิตของประเทศไว้จะไม่ดีกว่าหรือ ถ้าเธอติดขัดอย่างไรก็มาปรึกษาฉันได้ ด้วยเหตุนี้สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพจึงได้ทรงจากการศึกษามาแต่วันที่ ๑ เมษายน พ.ศ. ๒๔๓๕


ตอน ทรงว่ากระทรวงมหาดไทย

การปกครองในสมัยก่อน พ.ศ. ๒๔๓๕ นั้น ยังปกครองตามแบบกรุงศรีอยุธยาคือแบบจตุสดมภ์ มี ๔ เสนาบดี เวียง วัง คลัง นา แยกกันปกครองคนละทิศ แต่เมื่อเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงไปทางตะวันตกประเทศแล้ว จึงจำต้องจัดการปกครองอย่างใหม่ขึ้นให้ทันเวลา ดังทรงมีพระราชดำรัสกับสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเมื่อโปรดเกล้าฯให้ย้ายมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยนั้น

เสด็จพ่อทรงเล่าว่า ท่านเสด็จมากระทรวงมหาดไทยแต่พระองค์เดียวกับพระมนตรีพจนกิจ(ม.ร.ว.เปีย มาลากุล)ผู้เป็นเลขานุการส่วนพระองค์อยู่ในกระทรวงศึกษาธิการ ด้วยทรงตั้งพระทัยแน่วแน่ว่าจะไม่มีพวก จะเลือกเอาแต่ผู้สามารถทำงานได้จริง ในเวลาแรกเสด็จไปไม่ได้ทรงแก้ไขอะไรเลย ไปประทับทอดพระเนตรการงานที่เขาทำกันอยู่ทุกแผนก และประทับอยู่ในห้องเจ้าคุณราชวรานุกูล(อ่วม)ผู้เป็นปลัดทูลฉลองโดยมาก จนกระทั่งทรงทราบการงานที่ทำอยู่โดยละเอียดแล้วจึงทรงคิดแก้ไขโดยกราบบังคมทูลขอตั้งมณฑลและจังหวัด อำเภอ ขึ้นตามท้องที่ ด้วยเอาแผนที่สยามซึ่งพระองค์ท่านเองได้ทรงควบคุมเจ้าหน้าที่ทั้งฝรั่งและไทย จัดตั้งกรมแผนที่ขึ้นเมื่อ พ.ศ. ๒๔๒๘ ในเวลาทรงอยู่ในราชการทหาร

ตรัสเล่าว่าเอาแผนที่ปูขึ้นบนโต๊ะ มีพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและพระองค์ท่าน ๒ พระองค์เท่านั้น ยืนคิดตามแผนที่ว่าจะเอาภูเขาและทางน้ำเป็นขอบเขตมณฑลและจังหวัดต่อไป แล้วจึงลงมือออกตรวจท้องที่แลเลือกคนทำงาน ทรงเล่าถึงเหตุการณ์ในตอนนั้นสนุกนัก เพราะเมืองต่างๆไม่มีอยู่บนพื้นดินโดยมากอยู่ตามท้องน้ำ มีเรือนแพหรือแพอยู่ทั่วไป จวนเจ้าเมืองเป็นที่ว่าการ เป็นศาล เป็นคุก เสร็จไปในตัว เจ้าเมืองเองก็ได้เพียงค่าตอกตราใบละ ๑ ตำลึงคือ ๔ บาท พระองค์ท่านและสมเด็จฯ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เป็นเสนาบดีคู่แรกที่ได้รับพระราชทานเงินเดือนๆละ ๑,๐๐๐ บาทเป็นปฐม

มณฑลพิษณุโลกเป็นมณฑลแรกที่จัดตั้งขึ้น เพราะทรงพบเจ้าพระยาสุรสีห์วิสิษฐ์ศักดิ์(เชย กัลยาณมิตร)เข้า จึงแน่พระทัยว่าจะทำได้ เสด็จพ่อทรงถือว่าการเลือกคนให้ถูกที่ เป็นสิ่งสำคัญยิ่งกว่าสิ่งใดๆ ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านตรัสกับพวกข้าราชการมีเทศาฯเป็นต้น อยู่เสมอว่า "การเลือกคนใช้ให้เหมาะแก่ตำแหน่งเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้เป็นนายคน การที่จะรู้ว่าถูกหรือผิดนั้นจะต้องขยันเอาใจใส่ดูอยู่เสมอว่า ผลงานที่เขาทำนั้นเป็นอย่างไร ถ้าเขาทำได้ดีต้องยอมให้ว่าเป็นความดีของเขาเอง เราจะรับเอาได้เพียงแต่ว่าเลือกคนถูก ถ้าเขาทำผิดเราต้องรับเสียเองว่าเพราะเราเลือกเขาๆจึงมีโอกาสทำผิด ทั้งนี้เพราะอำนาจอยู่ที่ไหนความรับผิดชอบต้องอยู่ที่นั่นด้วย"

เมื่อมีผู้ใดโดยเฉพาะพวกฝรั่งทูลถามว่า "เอาเกณฑ์อะไรเลือกคน จึงทรงเลือกได้ถูกเสมอ" เช่น เจ้าพระยาสุรสีห์ฯไปเป็นข้าหลวงประจำเชียงใหม่ พูดอังกฤษก็ไม่ได้สักคำเดียว แต่กงสุลอังกฤษเกรงใจและเชื่อทุกอย่าง จนกระทั่งกระทรวงต่างประเทศถามว่าทำอย่างไรกัน กงสุลคนนั้นซึ่งเก่งกาจไม่น้อย จึงกลับตามเจ้าพระยาสุรสีห์ฯไปได้ทุกอย่าง กลางคืนว่ากลางวัน กงสุลก็เห็นด้วย โดยมาท่านตอบด้วยทรงพระสรวลหรือมิฉะนั้นก็ว่า มันฟลุกซ์ แต่กับพวกเราๆท่านทรงอธิบายว่า "ถ้าเรียกผู้ใดมาสั่งงานจะให้ไปรับตำแหน่งใหม่ ผู้นั้นตอบรับว่าได้โดยเร็วและอ้ายนั่นก็ทำได้ อ้ายนี่ก็ง่าน ละก็เตรียมหาคนใหม่ไว้ได้ทันที ถ้าคนใดหนักใจ ซักถามถี่ถ้วนเห็นความลำบากละก็ เรานอนหลับตาได้"

การเสด็จออกอตรวจราชการก็มีอยู่เสมอ ทั้งๆทีรถไฟก็มีอยู่เพียงอยุธยาและโคราช รถยนต์ก็ยังไม่มี จึงมีแต่ม้า ช้าง เกวียน และเรือ เสด็จพ่อได้เสด็จตรววจราชการทั่วทุกเมือง เว้นแต่เมือเลยเมืองเดียวเท่านั้นที่ไม่ได้เสด็จ ทางเสด็จจะเห็นได้ในหนังสือนิทานโบราณคดีแล้ว ท่านได้ทรงชี้ที่ปลูกศาลากลางแทบจะทุกเมือง ถึงเวลามีงาวันประสูติพิเศษ จึงทรงทำนาฬิกาตั้งส่งไปประทานทุกศาลากลางเพื่อเป็นที่ระลึก แต่มีคำสั่งเด็ดขาดว่าไม่ให้ติดรูปพระองค์ท่านหรือให้ชื่ออะไรว่า ดำรง เจ้าคุณรัษฎาฯ(ซิมบี๊ ณ ระนอง)เคยซื้อสวนยางในพระนามท่าน ก็ถูกต่อว่าและขออย่าให้ทำ เจ้าคุณทูลตอบว่าที่ทำเช่นนั้นเพราะจะล่อให้ราษฎรเชื่อว่าสวนยางดี จะได้ตามไปทำบ้างเท่านั้น

ส่วนการตั้งเมืองท่านทรงเล่าว่า โบราณเขาเอาที่มีน้ำและที่ราบทำนาได้เป็นหลักและระยะเมืองก็เอาเกณฑ์ตีนเดินแต่เช้ามืดถึงเย็นเป็นที่หยุกพัก ระยะทางจึงอยู่ในระยะ ๖๐ กิโลเสมอ ดังเช่นนครปฐม ราชบุรี เพชรบุรี เป็นต้น ในสมัยของพระองค์ท่านเอาความสะดวกของราษฎรเป็นหลัก เช่นถ้าทางน้ำเปลี่ยนใหม่ไม่สะดวกแก่การคมนาคม ราษฎรมักจะย้ายไปมน้ำ ถ้าเลือกที่ได้ถูกต้องมั่นคงก็ย้ายเมืองตามไป ถ้าไม่ถูกต้องก็แก้ไขชี้แจงให้เข้าใจกัน เมืองสมัยนั้นคือศาลากลางอยู่ที่ไหนที่นั่นคือเมือง สมัยนี้เห็นแต่เขาเรียกตลาดว่าเมืองกัน เหตุนี้ดอกกระมังจึงจำต้องมี หลักเมือง

การเสด็จตรวจราชการของเสด็จพ่อนั้น ตอนเช้าราว ๙ โมงเสด็จไปยังศาลากลาง (ซึ่งงานเต็มมือ เพราะกระทรวงอื่นๆ ยังไม่มีเงินมีคนพอจะออกไปตามหัวเมืองได้ จึงต้องฝากงานไว้กับมหาดไทยโดยมาก มีกรมแร่ธาตุ กรมป่าไม้ อัยการ เป็นต้น) ศาล โรงตำรวจภูฌธร คุก แล้วแวะเยี่ยมตามวัดและพ่อค้าในตลาด เสด็จกลับมาเสวยกลางวันที่ที่พัก พร้อมกับผู้ตามเสด็จ ตั้งแต่เมศาฯ เจ้าเมือง ลงไปถึงผู้ใหญ่บ้าน ถ้าที่มีพอทุกคนก็นั่งโต๊ะด้วย พวกเราผู้หญิงมีหน้าที่ทำกับข้าว จัดโต๊ะรับแขก แต่ได้นั่งกินด้วย ตอนนี้แหละข้าพเจ้ามักได้ยินท่านสั่งงาน และคุยกับคนทั่วๆไปอยู่เสมอ เสวยแล้วทรงพักบรรทม ๑ ชั่วโมง โดยมากเวลาบ่าย ๑๕ น. แม้ไม่บรรทมหลับก็ทรงพระอักษร เพราะตรัสว่าร่างกายมันมีเครื่องจักรเหมือนกัน ต้องให้มันพักบ้าง ๑๖ น.ตรง เสด็จลุกขึ้นแต่งพระองค์ ตอนนี้พวกเราได้ตามเสด็จด้วย เพราะเสด็จไปตามโบราณสถานทำการขุดค้นไต่ถามพวกพื้นเมือง กว่าจะกลับก็ราวค่ำมืด ถึงเวลาสรงน้ำและเสวยเย็นพร้อมกับเมศาฯ เจ้าเมือง จนราว ๒๑ น. จึงจะทรงพักทรงพระอักษร และเขาบรรทมราว ๒๒ น.

ถ้าเป็นเวลาเดินป่าโดยขบวนม้า เสด็จออกแต่เช้ามืด ถ้าทางไกลมากก็ออกแต่มืดๆเอาแสงพระจันทร์เป็นแสงสว่าง มีตำรวจภูธรชั้นนายสิบเป็นผู้นำทางคนเดียว ต่อมาก็ถึงหญิงเหลือและข้าพเจ้า บางทีก็มีชายดิศด้วย แล้วถึงเทศาฯ ข้าราชการและมหาดเล็ก ทุกคนมีข้าวหลามแนบอานม้าไปคนละกระบอก ไข่ไก่ต้มคนละใบกับห่อเกลือพริกไทยใส่ไปในกระเป๋าเสื้อ แรกๆออกเดินทางท่านคุยกับผู้นำไปเรื่อยๆจนราวๆ ๑๐ - ๒๐ นาที ท่านตรัสว่า ต้องให้ม้ามันรู้จักใจเราเสียก่อนถึงค่อยใช้มัน แล้วหันมาตรัสถามเราว่า "พร้อมหรือยัง" พอทูลว่า "พร้อมแล้ว" ท่านก็บอกผู้นำว่า "ไป" คำเดียว แล้วก็ออกวิ่งกันสนุก วิ่งไปสัก ๑๐ นาที แล้วก็หยุดเดินเตาะแตะไปใหม่ ท่านว่าถ้าเราเหนื่อยม้ามันก็เหนื่อยเหมือนกัน วิ่งๆหยุดๆไปอย่างนี้จนเที่ยงก็หยุดกินกลางวัน บางที่ก็ที่วัด ที่หมู่บ้าน ที่ใต้ต้นไม้ เอาผ้าเอากระดาษปูนั่ง ถ้าลมเย็นๆกินแล้วหลับไปพักใหญ่กันก็มี แต่เด็จพ่อท่านไม่เคยหลับเลยอย่างดีก็พิงหลับพระเนตรครู่เดียว แล้วก็ออกสำรวจและคุยกับผู้คนมีพระภิกษุเป็นต้น พอราวบ่าย ๑๔ น. ก็เริ่มเดินทางตอนบ่ายโดยมากไม่มีวิ่งเลย นอกจากทางยังไกลมาก ถึงที่พักแรมก็เกือบๆค่ำ พอมีเวลาทำกับข้าวเลี้ยงกันเพราะกองเกวียนเขามักจะมาถึงที่พักแรมก่อนหรือมิฉะนั้นก็หลังเรานิดหน่อย พอกินเย็นพร้อมๆกันแล้วก็หลับเป็นตายไปทุกคน วันแรกๆยังมีเสียงครางสัก ๒ คืน เพราะพลิกตัวทีก็ปวดไปหมด พอ ๒ วันแล้วก็เคยไปเอง ข้าพเจ้ายังนึกสนุกไม่หายเลย

อีกประการหนึ่งที่พักแรมหรือที่เรียกกันว่าพลับพลาป่านั้นเป็นเรือนไม้ไผ่มุงด้วยใบพลวง พื้นเป็นฟาก ไม่มีตะปูสักตัวเพราะเขาใช้ตอกมัด ตามเสาตามฝาเขาเอากระบอกไม้ไผ่ใส่เฟิร์นบ้าง กล้วยไม้บ้าง ตกแต่ติดห้อยเป็นระยะๆสวยงาม ส่วยแคร่ไม่ไผ่ใต้ต้นไม้ก็แสนจะร่มเย็นเป็นสุข น่าเสียดายที่เด็กรุ่นใหม่จะไม่ได้เห็นของเช่นนั้นอีกแล้ว เสด็จพ่อกราบทูลให้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสหัวเมืองโดยไม่มีโปรแกรม และให้ราษฎรถวายฎีกาฟ้องร้องได้ตั้งแต่เสนาบดีลงไป ส่วนพระราชหัตถเลขาถึงเทศาฯนั้น ท่านก็ขอพระราชทานว่าไม่ต้องผ่านทางพระองค์ท่านก่อน พ.ศ. ๒๔๔๒ ได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมหลวงเมื่อพระชันษา ๓๗ ปี

การเสด็จไปกระทรวงมหาดไทยเป็นประจำวันนั้น ท่านเสด็จขึ้นทางบันไดหลังบ้าง ข้างหน้าบ้าง เพื่อจะทอดพระเนตรให้ทั่วถึง ท่านตรสว่า การรักษาความสะอาดและหาคนดีใช้นั้นต้องทนเหนื่อยเอา แม้เสด็จมาอยู่หอพระสมุดและมิวเซียมแล้วก็ยังทรงทำอยู่เช่นนั้น คืดทรงพระดำเนินเป็นรอบๆทั่วไป และมักจะหยุดทอดพระเนตรคนทำงานตามโต๊ะ บางทีทรงเห็นคนลายมือดีก็สั่งให้ย้ายไปอยู่ทางขีดเขียนคัดลอก ถ้าคนใดอ่านหนังสือท่านก็หยุดดูว่าอ่านเรื่องอะไร วันหนึ่งกลับมาแล้วท่านตรัสกับพวกเราว่า "ทั้งๆดูอยู่เองด้วยไม่ย่อมอยู่ในอำนาจการเพ็ดทูล ก็ยังถูกหลอก เจ้าคนนั้นมันอ่านหนังสืออยู่หน้าเดียว ๓ -๔ วันแล้ว คงนึกว่าพ่อไม่สังเกต" แล้วท่านก็ทรงพระสรวล ครั้งหนึ่งที่กระทรวงมหาดไทย มีห้องเสวยกลางวันอยู่ข้างห้องเสนาบดี เป็นโต๊ะกลมราว ๖ -๗ คน และมีบ๋อยอยู่ประจำ ๑ คน พวกเราเด็กๆจะออกมาวังกับเสด็จพ่อก็ออกไปนั่งคอยอยู่ในห้องนี้ เพราะบ๋อยให้กินขนมปังทาเนยโรยน้ำตาล และนั่งดูช้างเผือกอยู่บนขอบหน้าต่างกระทรวง

วันหนึ่งพี่ชายข้าพเจ้าซึ่งทำงานอยู่สรรพากรกับมิสเตอร์ไจล์ เพราะเพิ่งกลับมาจากยุโรป ซื้อข้างแกงเข้าไปนั่งกินที่โต๊ะในห้องนั้น เผอิญเสด็จพ่อจะเสวยน้ำท่านก็เปิดประตูเข้าไปเรียกบ๋อย พอเจอะพี่ชายข้าพเจ้าเข้าเท่านั้น พระพักตร์ก็บึ้งไปทันที ตรัสถามว่า "เจ้าชาย พวกเธอเขากินกันที่ไหน" พี่ชายข้าพเจ้าทูลว่า "ข้างล่าง" ท่านตรัสว่า "เธอก็ลงไปกินกับเขา ที่นี่ห้องเสนาบดีไม่มีพ่อลูก" ข้าพเจ้ามองดูพี่แล้วสงสาร เพราะลุกขึ้นถือจานข้าวนั้นออกไปทันที ทั้งๆทีกำลังกินอยู่อย่างหิวโหย แต่ถ้าเวลาไรเราเห็นพระพักตร์ท่านตึงเช่นนั้นแล้ว พวกเราจะไม่มีใครดื้อสู้หรือเถียงเลย เพราะรู้ว่าท่านเอาจริงเช่นเดียวกับตำรวจภูธรคนหนึ่งเขาจะไปจับผู้ร้าย อธิบายว่าจะต้องให้ได้ตัวเพราะกลัวในกรมเสนาบดีท่าน ข้าพเจ้าเถียงว่า "กลัวทำไม เด็จพ่อไม่เห็นน่ากลัวเลย" เขาร้องว่า "อ้าวฝ่าบาทไม่รู้จัก เสด็จพ่อท่านเป็นคนจริงนะซี เราถึงกลัว" แต่สำหรับข้าราชการอื่นๆตั้งแต่เทศาฯ เจ้าเมือง ลงมาไม่เห็นมีใครกลัว ข้าพเจ้ารู้สึกว่าทั้งข้าราชการและเสนาบดีดูจะรักกันมากกว่ากลัวกัน

ท่านตรัสสั่งให้ข้าพเจ้าเรียกท่านผู้ใหญ่ว่า คุณตา คุณลุง คุณอา คุณพี่ จนเรานึกว่าเป็นญาติกันจริงๆ เจ้านายต่างเมืองก็ให้เรียก เจ้าลุก เจ้าอา เจ้าพี่อยู่เสมอ ข้าพเจ้าเคยทูลถามว่า "เด็จพ่อเอาลูกเล็กๆไปตรวจราชการด้วยทำไม ดูยุ่มย่ามจริงๆ" ท่านตรัสว่า "อ้าวเธอช่วยพ่อทำราชการยังไม่รู้ตัว ไปถึงไหนคนก็มาหา มาดีก็มี มาฟ้องร้องกันก็มี ถ้ารายไหนจะเจอะกันไม่ได้ พ่อก็บอกให้เขาไปเล่นกับลูกฉันก่อน ให้เขาพูดกันคนละที เราก็รู้ความจริง" ท่านตรัสเสมอว่า อย่ามีพวก เพราะถ้ามีพวกเรา จะต้องมีพวกเขาเกิดขึ้น และมากกว่าเสมอด้วย

ครั้งหนึ่งเทศาฯคนหนึ่งมาทูลลาจะไปรับตำแหน่งใหม่ ท่านตรัสบอกว่า "เจ้าคุณ อำนาจอยู่ที่ราษฎรเชื่อถือ ไม่ใช่อยู่ที่พระแสงราชศัสตรา จะไปอยู่ที่ไหนก็ตาม ถ้าเจ้าคุณทำให้ราษฎรเชื่อถือด้วยศรัทธาแล้ว ไม่มีใครมาถอดเจ้าคุณได้แม้ในหลวง เพราะท่านก็ทรงปรารถนาให้ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขเช่นเดียวกัน" อีกข้อหนึ่งท่านตรัสว่า "อำเภอดีเป็นเจ้าเมืองได้ทุกคน แต่เจ้าเมืองดีเป็นเทศาฯไม่ได้ทุกคน" ด้วยทรงอธิบายว่าเพราะเทศาฯต้องใช้ความคิดให้กว้างขวางด้วย มีเจ้าเมืองเก่าๆบางคนท่านตรัสบอกตรงๆว่า "เจ้าคุณอย่าเป็นเทศาฯเลยนะ เพราะเหตุการณ์มันเปลี่ยนแปลงไปมาก ฉันรู้ว่าเจ้าคุณทำไม่ได้ ถ้าส่งเข้าไปทั้งรู้ก็แปลว่าส่งเข้าไปให้เสียชื่อ เท่ากัยฉันฆ่าเจ้าคุณเปล่าๆ เอาบำนาญเป็นสุขเมื่อแก่ดีกว่า" เจ้าคุณพวกนั้นหลายคนก็มิได้โกรธเคือง กลับตามมาทำงานให้หอพระสมุดเปล่าๆอีกด้วย เสด็จพ่อไม่ทรงกริ้วใครต่อหน้าคน ถ้าใครผิดก็เรียกเข้าห้องเสนาบดีพูดชี้แจงขอกันตรงๆ เพราะท่านตรัสว่าความผิดกับความชั่วไม่เหมือนกัน ถ้าผิดต้องให้โอกาส แต่ถ้าชั่วจนช่วยไม่ได้แล้วต้องตัดไปเลย เรื่องศัตรูเหมือนกันถ้าเราหนีพ้นก็หนีให้สุดไกล แต่ถ้าหนีไม่พ้นจงเข้าใหกล้จนรู้เสมอว่าเขาทำอะไรและเราทำอะไร ข้าพเจ้าไม่เคยได้ยินคำหยาบจากเด็จพ่อเลยตั้งแต่เกิดมา ถ้ากริ้วใครผิดไปท่านก็กลับไปขอโทษ แม้จนพวกมหาดเล็ก

เสด็จพ่อทรงมีความจำแม่นอย่างประหลาด แม้ในเวลาทรงพระชราแล้ว ถ้าเราอ่านข่าวเรื่องพบของโบราณที่อำเภออะไรในหนังสือพิมพ์ ยังไม่ทันออกชื่อเมือง ท่านจะทรงบอดต่อได้ทันทีว่า อำเภอนั้นอยู่ต่ออำเภอนั้น เวลาไปทางเรือก็จะตรัสบอกได้ทุกแห่งว่าตรงไหนมีเรื่องราวเกี่ยวข้องกับในทางพงศาวดารหรือเรื่องนิทานอะไร เพียงแลเห็นเขาเป็นเงาๆเท่านั้น ท่านจะทรงบอกได้ทันทีว่า เขาอะไรอยู่ที่ไหน เข้าใจว่าแผนที่สยามอยู่ในพระเนตรท่านตลอดเวลา ถ้าไปทางเรือในแม่น้ำ ถึงคลองบางแมว เมืองอ่างทอง ท่านจะทรงชี้ให้ดูทุกทีว่า "ตรงนี้เถรขวาดกระโดดลงน้ำเป็นจระเข้" ตรัสว่าเสภาขุนช้างขุนแผนนั้นแผนที่ดีนัก ได้เคยให้สำรวจท้องที่เป็นถูกทุกหมู่บ้านและอำเภอ ด้วยเหตุนี้อย่างหนึ่งที่ทรงเห็นว่าไม่ควรจะเปลี่ยนชื่อท้องที่ เพราะทำให้เสียความรู้ในทางพงศาวดารว่าแห่งหนตำบลใดแน่ ถ้าเป็นเสด็จทางเรือทะเล คือ เรือไฟชื่อ นครศรีธรรมราช ไปตรวจหัวเมืองปักษ์ใต้ก็ลงเรือนั้นไปจากกรุงเทพฯ แล้วจอดขึ้นเรือเล็กไปตามสถานที่ต่างๆ ได้เดินบกโดยกระบวนช้าง

ครั้งหนึ่งเมื่อเสด็จไปกรุยทางรถไฟสายใต้ ในฐานะเจ้าของท้องที่ ต้องตื่นแต่มืด พอตี ๕ ก็ออกเดินกระบวนช้างเป็นแถว ข้าพเจ้ายังเล็กมีพี่เลี้ยงแม่นมไปด้วยคนละช้าง วันแรกๆเมาช้างร้องไห้ไปตลอดทาง หรือจะเป็นเพราะกลัวช้างด้วยก็ได้ รู้สึกว่ากลัวตั้งแต่ขึ้นเกยไปแล้ว เพราจะต้องเหยียบคอมันโดดเข้าไปในกูบซึ่งพี่เลี้ยงเขาขึ้นไปคอยรับอยู่ก่อน เดินทางไปจนถึงเที่ยงก็ได้หยุดพักกินกลางวัน พอบ่าย ๑๔ น. ก็ออกเดินใหม่ ถึงบ่าย ๑๗ น. จึงจะถึงที่พัก เมื่อต้องขี่ช้างแต่เช้า ๕ น.เช้า จนถึง ๕ น.เย็นทุกวันเข้าก็เลยหายเมาไปเอง แต่มีเจ้าคุณรัษฎาฯซิมบี๊ท่านคอยเลี้ยง พอหยุดพักกลางวันเป็นแอบมากวักมือเรียกไปกินทุเรียนกับท่าน เพราะเด็จพ่อท่านทรงเกลียด พอเห็นก็ไล่ทุกทีว่า "ไปๆ ไปกินให้พ้น" เราเด็กๆชอบ ยังจำท่าทางเจ้าคุณรัษฎาฯท่านนั่งขัดสมาธิจิ้มทุเรียนใส่ปากทีละเม็ดได้ดี อีกเรื่องหนึ่งคือเรื่องดินฟ้าอากาศ เสด็จพ่อท่านทรงกะไม่ผิดเลยว่าฤดูนั้นจะต้องไปทางไหน

การตรงเวลาอย่างหนึ่ง ท่านทรงถือมาก ว่าผู้ใดไม่ถือเวลาเป็นสำคัญ ผู้นั้นเป็นคนไม่มีหลัก เชื่อถือไม่ได้เพราะโลเล เวลาของท่านต้องเป๋งทุกที เช่น จะไปรถไฟ พอขึ้นรถๆก็ออกพอดี ในเวลาเสด็จไปยุโรปใน พ.ศ.๒๔๗๓ พอถึงโฮเต็ลวันแรก ท่านก็ตรัสบอกพวกตามเสด็จทุกคนรวมทั้งพวกเราด้วยว่า "ฉันกินกลางวันบ่ายโมง(๑๓ น.) กินเย็น ๒ ทุ่ม(๒๐ น.)" แล้วไม่ตรัสซ้ำอีก พออีก ๑๐ นาทีจะถึงเวลา ท่านเป็นลงไปห้องรับแขกแล้วทอดพระเนตรรูปบ้าง หนังสือนำเที่ยวและของขายบ้าง พอถึงบ่ายโมงเป็นเสด็จเข้าประทับโต๊ะ แม้จะเป็นพระองค์เดียว บ๋อยประจำโต๊ะก็เริ่มเสริฟอาหาร ฉะนั้นถ้าใครเข้าไปทีหลังก็ได้กินอาหารน้อยสิ่งเพราะผ่านไปเสียแล้ว

อย่างไรก็ตามเสด็จพ่อได้ทรงทำงานที่สำคัญที่สุดในพระชนมชีพของพระองค์ท่าน คือจัดการปกครองแบบใหม่อยู่ถึง ๒๓ ปี ทรงตั้งมณฑล ๑๘ มณฑล จังหวัด ๗๑ จังหวัด โดยไม่มีลูกของพระองค์เท่านเป็นเจ้าบ้านผ่านเมืองเลยสักคนเดียว การเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านกำนันก็ตั้งแบบไว้เพื่อฝึกหัดจะให้เป็นประชาธิปไตย เมื่อเลือกกันได้แล้ว ก็ตรัสสั่งไปยังเจ้าเมืองนายอำเภอว่าให้เรียกกำนันผู้ใหญ่บ้านมาประชุมด้วยทุกครั้ง และไต่ถามแกว่าจะต้องการสะพาน ถนนตรงไหนๆและมีอะไรอีกบ้างที่จะต้องการ คำตอบโดยมากก็มีแต่ว่า "ขอรับ แล้วแต่ใต้เท้าจะเห็นควร" เท่านั้น ประชาธิปไตยจึงคงเป็นไปได้เพียงเลือกกำนันผู้ใหญ่บ้านได้เองตลอดมา ส่วนการตำรวจภูธรนั้นโปรดให้พระยาวาสุเทพ(ครูเชาว์ ชาวเดนมาร์ก)เป็นผู้บังคับการ เจ้าคุณผู้นี้ตรวจงานโดยไม่มีกำหนด บางทีเวลา ๒๔ น. ก็ขอติดรถไฟสินค้าไปและหยุดตามสถานีตำรวจต่างๆและค้างคืนที่นั่น งานตำรวจภูธรจึงเรียบร้อยและเร็วเหมือนกันทุกแห่ง จนในหลวงตรัสว่า "ฉันเบื่อโรงตำรวจของกรมดำรงฯ" เพราะเหมือนๆกันหมดทุกแห่ง

ส่วนการสืบเสาะค้นคว้าในทางพงศาวดารและโบราณคดีเป็นผลพลอยได้จากการมหาดไทย เพราะเผอิญให้ท่านทรงโปรดในทางนั้นอยู่ด้วย เราจึงได้ความรู้กันอย่างสนุกสนาน และยอมรับว่าท่านเป็น พระบิดาแห่งประวัติศาตร์แต่อย่างเดียว บางคนก็ยังมีข้อกังขาว่า สมเด็จฯกรมพระยาฯท่านรู้ได้อย่างไร ข้าพเจ้าจึงบอกไว้เสียในที่นี้ด้วยว่า เสด็จพ่อทรงเรียนโบราณคดีจากพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวและสมเด็จฯ กรมพระยาบำราบปรปักษ์ พระราชโอรสในรัชกาลที่ ๒ ทั้ง ๒ พระองค์นี้ท่านทรงเรียนมาจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวประสูติในรัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๑ ทรงมีพระชันษาถึง ๓๐ ปีเศษแล้วเมื่อกรุงเก่าแตก ฉะนั้นจึงไม่ได้รู้ด้วยการเล่าลือ หรือฝันขึ้นเองเลย

อีกประการหนึ่งคนแต่ก่อนความจำท่านแม่นยำ และท่านมักจะเล่ากันต่อๆมาให้ลูกหลานฟัง เช่นตัวข้าพเจ้าก็ได้รู้เรื่องต่างๆจากผู้หลักผู้ใหญ่มาเป็นชั้นๆ และเกิดในรัชกาลที่ ๕ ก็ยังจำเหตุการณ์และพบผู้รู้เห็นในรัชกาลนั้นมาตลอดจึงจำได้ไม่ลืมเลือน ผลของการเหนื่อยยากของเสด็จพ่อที่ได้รับเป็นส่วนพระองค์ นอกจากได้รับพระราชทานที่วังถนนหลานหลวงเป็นรางวัลในการจัดตั้งมณฑลได้สำเร็จแล้ว ก็คือพระนามว่าเป็นบิดาประวัติศาสตร์ และได้เลื่อนพระอิสริยยศเป็นกรมพระเมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๔ พระชันษา ๔๙ ปี

เสด็จพ่อประชวรต้องทรงพักราชการใน พ.ศ. ๒๔๕๗ แล้วหมอถวายความเห็นว่าทำงานหนักไม่ได้ต่อไป จึงกราบถวายบังคมลาออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เมื่อวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๕๘


ตอน ทรงว่าการหอพระสมุดสำหรับพระนคร

โปรดเกล้าฯให้ทรงเป็นเสนาบดีที่ปรึกษาด้วย รับเงินเดือนเต็ม คือ ๓,๒๐๐ บาท และทีพระราชดำรัวในวันถวายตราตำแหน่งคืนว่า "กรมดำรง อย่าทรงทิ้งหอพระสมุดนะ" เสด็จพ่อทรงรับพระราชโองการว่าไม่ทิ้ง แล้วก็ทรงตั้งต้นเรื่องหอพระสมุดเริ่มทรงพระอักษรที่มีอยู่ในหอเรื่อยไป จนทรงทราบตามสำนวนโวหารได้ว้าเป็นหนังสือชนิดใด แล้วประกาศรับซื้อหนังสือเก่าว่าจะให้ราคาตามค่าของหนังสือนั้นๆ อีกประการหนึ่งท่านทรงใช้ข้าราชการเก่าๆที่ติดตามมาทำงานในหอพระสมุดโดยมีแต่เบี้ยบำนาญบ้าง เสมียนพนักงานบ้าง ให้ช่วยกันสืบเสาะหาหนังสือเก่ามารวบรวม ถึงวันเสาร์วันอาทิตย์ก็เสด็จไปเที่ยวตามลำน้ำ จัดอาหารกลางวันไปในเรือยนต์ ถ้าวัดอยู่ในคลองเล็กก็ลงเรือจ้างเข้าไปจนถึงวัด แล้วขึ้นไปคุยกับท่านสมภารขอชมของเก่าๆที่ท่านมี บางองค์ท่านก็ให้ดู แต่บางองค์ท่านก็ปิดโดยนิ่งเฉยเสีย ถ้านักสืบของเราเขารู้ ท่านก็เจาะจงขอดู ในเวลานั้นหอพระสมุดมีตู้ทองลายรดน้ำยู่ ๔ - ๕ ใบ ท่านทรงพบมีอยู่ตามวัดงามๆท่านจึงอธิบายแก่ท่านพระเจ้าของว่า "ถ้าทิ้งไว้อย่างนี้ก็ไม่มีใครรู้ว่าท่านมีของดีๆ ถ้าท่านให้ผมยืมไปตั้งไว้ยังหอพระสมุดในชื่อท่าน ใครๆมาเห็นก็จะรู้จักท่านและรู้จักวัดไปพร้อมกัน ถ้าท่านคิดถึงก็ไปดูที่หอพระสมุดได้เสมอ" ท่านสมภารก็ถวายมาทั้งๆที่จริงท่านก็ไม่ค่อยจะเห็นด้วยนัก

เมื่อมาถึงหอแล้วท่านก็ตั้งไว้กลางห้องเขียนป้ายติดไว้ว่าเป็นของใคร อยู่ที่ไหน ครั้นได้มา ๒ -๓ ใบแล้ว ท่านก็ทรงจัดการเชิญพระสงฆ์ให้มาชมหอพระสมุดโดยส่งคนไปนิมนต์พระในเวลาที่ถวายพุ่มเข้าพรษาที่วัดพระแก้ว เสร็จแล้วก็เลยมาหอพระสมุด ท่านทรงคอยรับและอธิบายเองและทูลขอเจ้านายฝ่ายในให้ทรงจัดหมากพลูบุหรี่ น้าร้อน น้ำเย็นมาเลี้ยงพระในวันนั้น ทรงพิมพ์หนังสือเล่มเล็กๆแจกเป็นที่ระลึก ทรงทำอยู่ ๒ วันติดๆกันเพียงปีเดียว พระที่ดูแล้วเกิดศรัทธาส่งตู้ทองมาให้หอพระสมุดเรื่อยๆจมีใส่หนังสือได้เต็มหอวชิรญาณ ดังที่เราเห็นอยู่ทุกวันนี้ ด้วยได้มาโดยมิเสียสตางค์เลย

เมื่อมีตู้หนังสือดีๆแล้ว ปัญหาการพิมพ์หนังสือก็เกิดขึ้นเพราะทุนของหอพระสมุดนั้นเรียกได้ว่าไม่มีเลย แลครามสำคัญของหอพระสมุดก็ไม่มีใครเอาใจใส่ นอกจากผู้รักหนังสือซึ่งมีอยู่ในเวลานั้นราวๆ ๒๐- ๓๐ คน เสด็จพ่อจึงทรงคิดทูลเจ้านายพี่น้องและขุนนางผู้ใหญ่ ให้ทรงพิมพ์หนังสือแจกเป็นวิทยาทานในงานต่างๆที่จะทำกัน เช่นงานพระศพหรืองานวันประสูติเป็นต้น เสด็จพ่อจะทรงรับจัดพิมพ์ถวายเสร็จ ขอแต่ให้ประทานแก่หอ ๒๐% เล่มเท่านั้น การพิมพ์หนังสือเป็นของแจกในงานจึงเริ่มต้นขึ้นด้วยประการฉะนี้ ส่วนหนังสือร้อยละ ๒๐ เล่มที่หอได้มานั้น ก็ทรงเปิดห้องขายหนังสือขึ้น จำหน่ายในราคาย่อมเยา เพื่อให้นักเรียนซื้อได้ ยังคงมีอยู่จนบัดนี้ เมื่อเวลาเสด็จพ่อเสด็จออกจากหอพระสมุดมีเงินค่าขายหนังสือเหล่านี้อยู่ที่หิรัญญิกถึง ๓๐,๐๐๐ บาท การรับคนทำงานนั้นทรงถือหลักว่าต้องมีงานที่ทำแล้วให้กรรมการดูว่าจะรับหรือไม่

เมื่อเสด็จอยู่มหาดไทยมีคนมาถวายตัวเสมอ ท่านทรงรับไว้ฝึกหัดเอง จนเห็นว่ามีความสามารถทำงานได้จึงส่งออกไปทดลองตามหัวเมือง แล้วขึ้นมาตามลำดับชั้น ครั้นเสด็จออกจากมหาดไทยแล้วก็ยังมีคนมาถวายตัวขอทำงานด้วย ท่านตรัสว่า "เวลานี้แก่เสียแล้ว ให้ดีอะไรใครไม่ได้ ไปหาที่พึ่งเอาใหม่เถิด แต่จะแนะนำให้ว่าอย่าไปดูภายนอกของเขา จงดูที่หัวใจว่าเขามีนรก-สวรรค์อยู่ในใจพอที่จะเป็นที่พึ่งของเราได้หรือไม่" ถ้ากับคนที่ทำงานอยู่แล้ว ท่านตรัสว่า "ไม่ต้องมาประจบฉันดอก ไปประจบงานเขามากๆก็ดีไปเอง" การเสด็จตรวจโบราณสถานนั้นมีเสมอ ใกล้บ้างไกลบ้าง อย่างน้อยๆก็เสด็จกรุงเก่าและประทับอยู่ในพระราชวังโบราณกับเจ้าคุณโบราณราชธานินทร์ สมุหเทศาภิบาล อยู่ได้ตั้งสองสามชั่วโมง ถ้าเป็นเมืองไกลทรงสั่งเจ้าเมืองนายอำเภอไว้ให้บอกพวกนายพรานเดินป่าว่า ถ้าผู้ใดพบสถานโบราณวัตถุที่ใด ให้มารายงานจะได้รับรางวัลตามค่าของสถานที่นั้นๆ

บางครั้งกำลังวิ่งม้าไปในป่า ถ้าเจอะแผ่นหินเป็นรอยเกลี้ยงเกลาต้องหยุดม้าลงแงะงัดขึ้นมาดูว่ามีตัวอักษรหรือไม่ เราได้พบศิลาจารึกหลายแผ่น ถ้าพบแล้วต้องวยกขึ้นล้างถูด้วยแปรงจนดินที่อุดอยู่ในรอยต่างๆนั้นออกหมด แล้วเอากระดาษว่าวปะลงไปบนรอยจารึก เอาน้ำตบกระดาษแรงๆแล้วซ้อนกระดาษลงไปราว ๓ แผ่น พอรอยเด่นขึ้นมาแล้วก็ทิ้งตากแดดไว้ให้แห้ง แห้งสนิทแล้วเอาหมึกเจ๊กทาบนหน้ากระดาษเบาให้ทั่วแผ่น พอหมึกแห้งก็กระเทาะเอากระดาษออกจากหิน พื้นก็เป็นสีดำและตัวอักษรเป็นสีขาวเพราะกระดาษลงไปอยู่ในรอยจารึกไม่ถูกหมึก สิ่งแรกที่ตรัสถามโปรเฟสเซอร์เซเดส์ก็คือหลักศิลานั้นอายุเท่าไร ภาษอะไร เรื่องอะไร เพราะโปรเฟสเซอร์ผู้นี้ แก่อ่านภาษาขอม มอญ บาลี สังสกฤต ไทยได้ดี ถ้าไม่เป็นเรื่องที่จะค้นต่อก็ม้วนใส่กลักสังกะสี เอากลับมาแปลในกรุงเทพฯ ข้าพเจ้าเคยช่วยเขาล้างเช็ดหลักศิลามาหลายอัน เวลาไปเห็นอยู่ในพิพิธภัณฑ์จึงรู้สึกรักและคุ้นเคยกันมานาน บางคราวพอยกหินขึ้นจากดิน งูสามเหลี่ยม สี่เหลี่ยมก็วิ่งปรูดปราดออกมา ทำเอาเรากระโดดกันไปพักหนึ่ง หมอบอกข้าพเจ้าว่า "ฝ่าบาทหัดฉีดยาเสียหน่อยไม่ดีรึ" ข้าพเจ้าตอบว่า "เอฉันท่ามันจะแทงเนื้อใครไม่ลง เอาหมอเอายาไปด้วยดีกว่า" ก็เป็นอันตกลงกัน

หอพระสมุดในสมัยเสด็จพ่อทรงเป็นสภานายกนั้น มีหนังสือใหม่ๆออกพิมพ์เสมอ เพราะไม่มีใครได้อยู่เปล่าๆทุกคนต้องค้นต้องทำอย่างหนึ่งอย่างใดอยู่เสมอ และมีผู้เชี่ยวชาญอยู่ถึง ๕ คนคือ โปรเฟสเซอร์ เซเดส์ ค้นคว้าในทางตะวันตกประเทศ พราหมณ์ กุปตสวามี และพราหมณ์ ป. สาสตรี ค้นทางอินเดีย พระเจนจีนอักษร(สุดใจ) ค้นทางเมืองจีน มหาฉ่ำ ค้นทางเมืองเขมรในเรื่องที่เกี่ยวแก่เมืองไทย ทรงบอกไปยังหอสมุดต่างๆในโลกว่าถ้าใครพบเรื่องเกี่ยวกับไทยแล้ว ขอให้ส่งมาให้หอพระสมุดจะยินดีสมณาคุตามสมควร ด้วยเหตุฉะนี้จึงพบเรื่องใหม่ๆอยู่เสมอ

เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕ เสด็จพ่อได้ทรงพระดำริทดลองจัดตั้งสมาคมวรรณคดีขึ้น โดยทรงเชิญผู้ที่มีงานทำให้เกิดประโยชน์แล้วมาเป็นกรรมการ มีนักปราชญ์ราชบัณฑิตย์ของเรา และเชิญคนนอกมีหลวงพ่อฮีแลร์ ของร.ร.อัสสัมชัญและท่านอาจารย์พิจิตรจิราภา เทวกุล เป็นต้น มาประชุมไต่ถามกันและกันตามปรารถนา เช่น หลวงพ่อฮีแลร์ ท่านบอกว่า "ขนมปังนั้นมาจากคำว่า Pain ของฝรั่งเศส" เป็นต้น ข้าพเจ้าก็พลอยได้พึ่งหนังสือ-ศาสนาคุณ ที่ได้รับพระราชทานรางวัลเข้าไปเป็นกรรมการด้วย แต่ท่านตรัสบอกไว้ว่าตอนนี้เป็นชั้นทดลอง "ถ้าตั้งติดได้เช่น French Academy ของเมืองปารีสแล้ว(๒) จะมีกรรมการจริงๆเพียง ๕๐ คน และจะต้องคัดเอาพระภิกษุกับผู้หญิงออกเป็นกรรมการพิเศษ ถเทได้อย่างนี้คำว่าราชบัณฑิยสภาก็จะอยู่ตลอดไป แม้พ่อตายแล้วงานก็ไม่สูญไปด้วย" เผอิญยังไม่ทันได้ตั้งเป็นทางการเพียงออกหนังสือรายปักษ์ได้ ๘ เล่ม ก็มีการเปลี่ยนแปลงปกครอง ราชบัณฑิตยสภาก็พลอยสูญไปโดยปริยาย ยังมีของอีก ๒ สิ่งที่เสด็จพ่อทรงค้างไว้ คือ ๑. หอรูป Picture Gallery ๒. หอจดหมายเหตุ National Archive

๑. หอรูป ได้ทรงจัดไว้เป็นแผนกๆคือรูปคน รูปสถานที่ รูปเหตุการณ์ และให้ไปขอร้านถ่ายรูปมาอย่างลบะ ๒ แผ่น ส่วนทางกระจกถ่ายรูปของหลวงในรัชกาลที่ ๕ และ ๖ รวมทั้งของพระองค์ท่านเองก็เอาไปรวมไว้ในแผนกห้องรูปนี้ทั้งหมด ครั้นยุบร้านถ่ายรูปหลวงฉายาลักษณ์ท่านก็ให้ไปขอรับกระจกทั้งหมดมาไว้แห่งเดียวกัน ในเวลานี้ก็ยังมีอยู่ในพิพิธภัณฑ์และได้พิมพ์จำหน่ายไปเรื่อยๆ ท่านได้ตรัสกับข้าพเจ้าว่า "นี่พ่อตั้งหอรูปไว้ให้นะ แต่อายุพ่อไม่สำเร็จต้องช่วยกันทำต่อไป" ข่าพเจ้าได้ร้องเรียนต่อท่านผู้ใหญ่หลายครั้ง เผอิญท่านไม่เห็นความสำคัญของหอรูป การณ์จึงคงมีอยู่เท่าที่เป็นอยู่นี้ เมื่อเสด็จพ่อสิ้นพระชนม์ไปใหม่ๆ เจ้าคุณอนุมานราชธน ได้มาวานให้ข้าพเจ้าและหญิงเหลือไปช่วยดูกระจกรูปที่หอรูปมีอยู่เพื่อจะจดลงไว้ว่าเป็นรูปใครและรูปอะไร เพราะถ้าหมดคนรู้จักแล้ว แม้พิมพ์ออกมาก็จะเป็นเพียงกระดาษเปล่าไม่มีค่าอะไรได้แต่เดา ข้าพเจ้าไปดูแล้วเห็นมีมากมายและขาวเป็นดำมำให้วิงเวียน จึงขอให้พิมพ์ลงในกระดาษเยก่อนแล้วจะจดชื่อลงไว้ข้างหลัง และทำบัญชีให้หยิบง่าย แต่ทำไปได้เพียง ๔๐ รูปก็หมดทุนซื้อกระดาจึงต้องหยุดทำแต่นั้นมา รู้สึกว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่น่าเสียดายนัก เพราะถ้าเรามีหอรูปดีๆแวจะเป็นประโยชน์ในทางทรรศนศักษาได้เป็นอย่างดี

๒. เรื่องหอจดหมายเหตุ ท่านตรัสว่า "เราหาหนังสือ หลักฐานทางราชการในสมัยก่อนๆลำบากอยู่แล้ว ฉะนั้นถ้าเริ่มต้นเสียแต่บัดนี้ ในเวลาอีก ๑๐๐ - ๒๐๐ ปี เด็กๆจะแต่งหนังสือเรื่องอะไรก็จะหาหลักฐานได้จากหอนี้ ไม่ต้องลำบากเหมือนคนชั้นพ่อ" ข้าพเจ้าทูลถามว่า "จะเอาหนังสือมาจากไหน" ท่านตอบว่า "สั่งไปตามกระทรวงว่าหนังสืออะไรที่พ้น ๒๕ ปีแล้วให้ส่งเข้าหอนี้ เราจ้างเด็กผู้หญิง(เพราะรายจ่ายต่ำด้วยไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว) ด้วยเงินเดือนน้อยมาเป็นผู้เลือกปีเลือกเรื่อง เข้าแฟ้มเรื่อยไปในไม่ช้าเราก็จะได้เรื่องติดต่อกันมาเป็นหลักฐาน แต่ก็เป็นเรื่องเช่นเดียวกับหอรูป คือยังไม่มีใครเห็นความสำคัญ หนังสือเก่าที่มีอยู่ก็อยู่ไปเรื่อยๆรอวันให้ปลวกฉลองพระเดชพระคุณชาติต่อไป

ถึง พ.ศ. ๒๔๗๐ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานวังหน้าให้เป็นพิพิธภัณฑ์ และโปรดฯให้เสด็จพ่อทรงจัด วันที่ไปรับสถานที่จากทหารซึ่งอยู่ในตอนหลังพระที่นั่งนั้น ในบางห้องปิดไว้ไม่ได้ใช้ เต็มไปด้วยขี้ค้างคาวกลิ่นตลบอบอวลไปหมด ทางระเบียงพระที่นั่งก็หักพังหลังคาห้อยเป็นแห่งๆ เสด็จพ่อทรงพระดำเนินตรวจทั่วแล้วตรัสว่า จะไปขอเงินคลังก็ไม่ได้เพราะเขาจะต้องให้รอเพราะราชการด่วนยังมี แต่อายุพ่อมันไม่รอด้วย ต้องคิดหาสตางค์เอาเอง" ต่อมาวันหนึ่งท่านตรัสว่า "ลูกพูน พรุ่งนี้ทำน้ำชาไปมิวเซียมให้พ่อ ๒๐ คน พ่อจะเลี้ยงเพื่อนๆแล้วให้เธอไปรินน้ำชา" ถึงเวลาข้าพเจ้าก็ไปจัดโต๊ะที่สนามด้านเหนือของพระที่นั่งอิศราวินิจฉัย เพราะแดดร่มตรงนั้น สักครู่ก็มีพวกพ่อค้าทั้งฝรั่ง แขก จีนเดินเข้ามาเป็นแถว ท่านก็ทรงเชิญไปนั่งโต๊ะกินน้ำชาจนอิ่มแล้ว ก็ตรัสกับเขาว่า "ในหลวงประทานที่วังหน้านี้ให้ฉันจัดเป็นพิพิธภัณฑ์ของชาติ จะไปขอเงินคลังเขาก็คงไม่ให้ ฉันก็แก่ลงทุกที กลัวจะไม่ได้ทำ แล้วก็นึกถึงพวกท่านว่า ท่านอยู่ในเมืองไทยมาช้านาน คงจะยินดีที่จะช่วยที่จะเห็นความเจริญของเมืองไทย จึงได้เชิญมาช่วยกันดูสถานที่ในวันนี้ ว่าเราจะต้องซ่อมแซมอะไรอย่างไรบ้าง และขอให้ช่วยเท่าที่ท่านจะช่วยได้เถิด" ทุกคนอมยิ้ม แต่มิสเตอร์ แมลคั่ม Malcom นายห้างบอร์เนียวพูดว่า เพิ่งได้พบผู้เชี่ยวชาญทางขอทานวันนี้เอง ทุกคนก็หัวเราะ แล้ว Mr. Malcom พูดอีกว่า "ขอตอนกินแล้วเสียด้วย เราจะไม่ให้ก็ไม่ได้" แล้วก็ทรงนำพวกแขกเดินดูทั่วๆไป แล้วต่างคนก็ต่างกลับด้วยความเบิกบาน ไม่ได้พูดอะไรกันอีก พอรุ่งเช้ารถยนต์ก็ขนไม้ ขนตะปู ซีเมนต์ กระเบื้องมุงหลังคาและปูพื้น ฯลฯ เข้ามากองไว้ในพิพิธภัณฑ์สถานอย่างเพียงพอ ท่านทรงพระสรวลแล้วเรียกนายอี๋ด หัวหน้าช่างไม้ในพิพิธภํณฑ์มาเป็นผู้ทำ ทรงกำชับว่าให้ใช้คนไทยทั้งหมดเพื่อให้รู้จักทำเป็น พิพิธภัณฑ์ของชาติจึงกลับบริบูรณ์ขึ้นได้โดยรัฐบาลมิได้ออกสตางค์ช่วยเหลือเลย

ภายหลังทรงขอคลังมาทำโรงเก็บราชรถได้ ๒๐,๐๐๐ บาท ด้วยทรงยื่นคำขาดว่าถ้าไม่ให้จะลาออก เพราะตั้งพระทัยจะจัดเรื่องรถอย่างเมืองโปรตุเกส เมื่อสถานที่สมบูรณ์ดีแล้วก็เริ่มลงมือจัด ของเก่าที่มีอยู่โดยมาก คือนกสตั้ฟขนร่วงๆ และของที่โยนๆไว้ด้วยไม่มีใครเอาใจใส่เท่าใดนัก เสด็จพ่อทรงเห็นว่าคนไทยกำลังต่องการความรู้ในเรื่องตัวเองจึงทรงจัดไปทางช่วยการศึกษา มีห้องราชพิธีบนพุทไธสวรรย์ ห้องรูปทองแดงจัดเป็นสมัยๆในอิศราวินิจฉัย ฯลฯ ดังเห็นอยู่บัดนี้เป็นต้น ท่านทรงพระดำเนินบอกให้จัดให้จดเรื่องราวเองทุกๆเช้าจนถึงเวลาเสวยกลางวันจึงกลับวัง ถ้าขาดตู้ขาดโต๊ะท่านทรงเรี่ยไรจากเจ้าพี่เจ้าน้อง ถ้าเป็นเรื่องศาสนาท่านทรงขอพระสงฆ์ จนสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทร์ ท่านว่า "มีแต่เรี่ยไรคฤหัสถ์ นี่กลับตรงกันข้าม" แต่พระมหาเระท่านก็ช่วยให้ของและชี้แจงถวายแทบทุกองค์ เพราะท่านรู้ประโยชน์ส่วนรวมดี ส่วนของอื่นๆสิ่งไรไม่มีท่านก็ขนไปจากวังจนเกือบๆจะหมด แล้วท่านก็ทรงเล่นอย่างอื่น เช่นเก็บของปลอมไว้เป็นบทเรียนเป็นต้น มีเพื่อนฝูงพากันทักว่าของจากวังนั้นจะให้เลยได้แน่หรือ ถ้าพระองค์เองออกแล้วผู้ใดจะมาแทน ท่านจนต่อข้อทักท้วงจึงโปรดให้จดไว้ว่า ประทานยืม จนบัดนี้


Create Date : 20 มีนาคม 2550
Last Update : 20 มีนาคม 2550 10:10:57 น. 3 comments
Counter : 5525 Pageviews.  
 
 
 
 
(ต่อ)


คราวนี้ถึงคนทำงาน ทรงฝึกสอนหลวงบริบาลบุรีภัณฑ์ด้วยพระองค์เองทุกเช้า จนเป็นที่พอพระทัยมาก วันหนึ่งหลวงบริบาลฯเกิดป่วยหนักเป็นโรคปอดบวมจนหอบนอนไม่ลง แล้วแม่เสริมภรรยาวิ่งมาทูลเสด็จพ่อในเวลาเกือบ ๒๑ น. พอทรงทราบก็ตรัสใช้หญิงพิลัยกับหญิงเหลือว่า "เอารถไปเดี๋ยวนี้ จะทำอย่างไรก็ตามต้องไปจัดการไม่ให้หลวงบริบาลฯตายให้จงได้" รถออกไปแล้วจึงตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า "ยังไม่มีตัวแทน ถ้าตายงานกำลังเดินก็เสียหมด" เกือบ ๒๔ น. หญิงเหลือจึงได้กลับมา ทูลว่าไปเล่าอาการให้หลวงสุริยพงษ์แพทย์พิสุทธิ์(กระจ่าง บุนนาค)ฟัง แล้วเอาหมอไปด้วยถึงบ้าน เปิดมุ้งเข้าไปดูเห็นหลวงบริบาลฯมีผ้าพันคอพันหัวราวกับชาวอาหรับนั่งพิงหอบอยู่ หมอฟังอาการรู้แล้วว่าเป็นโรคนิวโมเนีย จึงเอายาไปเสร็จ พอถึงตรวจแน่แล้วก็ฉีดยาทันที แล้วพาคนเจ็บไปส่งโรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์แต่ในค่ำวันนั้น เสด็จพ่อจึงได้เข้าบรรทม

ส่วนพวกพนักงานตามห้องพิพิธภัณฑ์นั้น ตรัสสั่งให้หลวงบริบาลฯหาผู้หญิงที่มีพ่อแม่เลี้ยงให้มาทำงาน เพราะเราจะให้ได้เพียงเงินใช้ส่วนตัวเล็กน้อย(คือ Pocket money) พิพิธภัณฑ์ไม่มีทุนพอจะให้ถึงเลี้ยงครอบครัวได้ แรกทำงานทางความสะอาดห้องละ ๒ คน ถ้าเล่าเรื่องห้องของตัวจนเป็นผู้นำเที่ยวได้ และซ่อมแซมสิ่งหักขาดได้ด้วย จะขึ้นเงินเดือนให้ ถ้าเวลามีแขกเมืองมาพวกข้าพเจ้าจะต้องฝึกหัดแม่พนักงานเหล่านี้ให้รู้จักทำความเคารพและเลี้ยงดูอย่างไร วันหนึ่งเสด็จไปถึงห้องรูปทองแดงบป้ายอันหนึ่งจดว่า พระสดุ้งมาร ท่านหยุดถามหลวงบริบาลฯว่าใครเขียน หลวงบริบาลฯทูลตอบว่า "ข้าพระพุทธเจ้า" ตรัสถามว่า "มีเงินในกระเป๋าไหม" ทูลตอบว่า "มี" ตรัสว่า "เอามา ๑ บาท ปรับค่าหลอกประชาชน" แล้วเอาไปใส่ในหีบเงินบำรุงพิพิธภัณฑ์นั่น

แล้วตรัสต่อไปว่า "จะเล่าให้ฟังเรื่องเป็นอย่างนี้ เมื่อมีการประกวดพระพุทธรูปที่วัดเบญจมบพิตร มีพระมารวิชัยองค์หนึ่ง พระพักตร์บูดเบี้ยวน่าเกลียด พระองค์เจ้าพระอรุณนิภาคุณากร วัดราชบพิธ ท่านจะตรัสติพระพุทธรูปก็ไม่ดี ท่านจึงตรัสขึ้นว่า พระองค์นี้ถ้าจะกำลังสะดุ้งเมื่อเห็นมาร คนที่เข้าใจก็พากันอมยิ้ม และแต่นั้นมาใครอยากจะติพระพุทธรูปก็ใช้คำว่า "สะดุ้งมาร" เลยเป็นศัพท์เอาเป็นจริงเป็นจังเพราะคนไม่รู้ต้นเหตุ" แต่จนบัดนี้ข้าพเจ้ายังได้ยินคนดีๆที่มีความรู้ยังคงเรียกว่า พระสะดุ้งมาร อยู่ จึงนำเรื่องนี้มาลงไว้ในนี้ด้วย

ครั้นจัดการเรื่องพิพิธภัณฑ์ชาติเสร็จแล้วและเสด็จพระราชดำเนินเปิดเป็นทางการแล้ว ก็ไม่มีคนดู เสด็จพ่อทรงมีใบบอกไปยังกระทรวงศึกษาว่าทรงจัดช่วยการศึกษาด้วย ฉะนั้นขอให้สั่งให้นักเรียนมาดูเล่าเรียนได้ ครั้นนักเรียนหญิงและนักเรียนชายมาเจอะกันเข้าก็กลายเป็นเล่ยซ่อนหากันไป ถ้าไต่ถามเข้าก็ได้รับคำตอบว่า ไม่มีผู้อธิบายให้เข้าใจ จึงไม่ได้ประโยชน์ เสด็จพ่อทรงลงทุนประทานเล็กเชอร์แก่พวกครูเองที่พระที่นั่งอิศราวินิจฉัย แต่ครูในเวลานั้นไม่เห็นประโยชน์เสียแล้วถามขึ้นว่า เล็กเชอร์อย่างนี้ ๑๕ นาทีได้ไหม ท่านก็ทรงหมดศรัทธา และประจวบกับเวลากำลังจะเปลี่ยนการปกครองด้วย เสด็จพ่อทรงคิดหาทางที่จะให้ประชาชนไปดูให้ได้

วันหนึ่งจึงรับสั่งกับข้าพเจ้าว่า "ลูกพูนทำอาหารว่างไปขายที่พิพิธภัณฑ์อาทิตย์ละครั้งหน่อเถอะ เพราะถ้ารู้ว่าอาหารท่านหญิงทำก็เป็นประกันว่ากินได้ไม่สกปรก ฝรั่งที่อยากกินของไทยๆจะได้มา เมื่อฝรั่งมา คนไทยก็จะมา" ข้าพเจ้าทูลว่า "ถ้าอย่างนั้นพวกนักเรียนจะได้ประโยชน์อะไร" ท่านตรัสว่า "เอาเถอะ เดินผ่านไปผ่านมาก็คงอยากรู้อยากเห็นขึ้นมาบ้างเพียงคนสองคนก็ยังดี" แล้วโปรดให้ปลูกร้านขึ้นข้างหลังพระที่นั่งเป็นที่พักครึ่งรอบพิพิธภัณฑ์ มีอาหารว่าง snack และน้ำต่างๆขายก่อน แล้วให้รับของที่ไทยทำแม้จากหัวเมืองต่างๆจะฝากขายได้ เพราะเมื่อเวลาพวกนักท่องเที่ยวมาก็ไปดูพิพิธภัณฑ์ทุกครั้ง ได้ผลคือคนมาดูมากขึ้นจริงๆ แต่ทางส่วนตัวถูกหาว่าเอาลูกเข้าไปหากินในพิพิธภัณฑ์ และพวกข้าพเจ้าก็ได้เงินเดือนๆละ ๑๐๐ บาท ซึ่งไม่เคยได้อะไรเลย นอกจากเสียค่าทำของกินไปขายทุกอาทิตย์ด้วยทุนของตัวเอง เป็นเหตุให้ร้านขายของนั้นถูกล้มไปเมื่อเปลี่ยนแปลงการปกครองแล้ว

วันหนึ่งเจ้าพระยามหิธรฯ ราชเลขาธิการมาเฝ้าเสด็จพ่อที่วังทูลว่า "มีพระบรมราชโองการให้มาทูลว่า พระยามโนปกรณ์ฯต้องการตำแหน่งนายกราชบัณฑิตยสภาให้แก่เพื่อน จึงทูลขอให้ทรงใบ้ให้เสด็จพ่อลาออกเสีย" เสด็จพ่อทรงตอบว่า ทรงยินดีที่จะลาออก แต่เป็นตำแหน่งที่ไม่ได้รับเงินเดือน ถ้าท่านลาออกก็จะเป็นโกรธเคืองเรื่องส่วนตัวที่ถูกจับเข้าไปขัง ชาวต่างประเทศจะดูถูกได้ว่าเอาเรื่องส่วนตัวมาปนกับการงานของประเทศ ถ้าจะให้ท่านออกก็ขอให้ประกาศปลดเถอะ ทางการก็ประกาศปลด พอส่งงานแล้วก็ออกไปประทับที่หัวหินตามหมอสั่ง เป็นอันขาดจากราชการโดยเด็ดขาด เมื่อได้ทรงทำราชการมา ๕๖ ปี


ตอน ทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร

ถึง พ.ศ. ๒๔๖๖ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาเทววงศ์วโรปการ เสนาบดีกระทรวงต่างประเทศสิ้นพระชนม์ พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯให้เจ้าพระยามหิธรฯ ราชเลขาธิการลงมาจากนครปฐม ซึ่งเสด็จประทับอยู่ในเวลานั้น ให้มาทูลเชิญเสด็จพ่อให้กลับเข้ารับราชการในคณะเสนาบดี เพราะทรงว้าเหว่พระราชหฤทัยที่ไม่มีเจ้านายผู้ใหญ่อยู่ในราชการ เสด็จพ่อกราบบังคมทูลไปว่า "ชีวิตอยู่ใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาทแล้วแต่จะทรงพระมหากรุณา" เจ้าคุณมหิธรฯเล่าว่า พระเจ้าอยู่หัวทรงตบพระเพลาว่า "นี่แหละท่านเป็นเจ้านายผู้ใหญ่แท้" คราวนี้ข่าวว่าเสด็จพ่อจะเสด็จกลับเข้าทำงานใหม่ เพราะไม่มีสมเด็จกรมพระยาเทววงศ์ฯก็เลื่องลืออื้อฉาว ทุกคนเข้าใจว่าต้องไปเป็นกระทรวงต่างประเทศแทนสมเด็จกรมพระยาพระองค์นั้น เราต้องรับแขกพวกสถานทูตอยู่หลายวัน แต้องบอกอยู่จนเบื่อว่ายังไม่รู้ว่าตำแหน่งอะไร จนกว่าจะมีประกาศ พอประกาศออกว่าทรงเป็นเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร การตื่นเต้นวุ่นวายของพวกชาวต่างประเทศจึงสงบไป

กระทรวงมุรธาธรอยู่ในพระบรมมหาราชวังตรงหน้าพระมหาปราสาท งานในกระทรวงคือรักษาเครื่องราชอิสริยาภรณ์และสัญญาบัตร แต่ต้องประทับในที่ประชุมเสนาบดีสภาด้วย เสด็จพ่อเสด็จไปกระทรวงทุกวัน แม้ไม่มีงานมากมายก็ทรงคิดให้ทำประวัติข้าราชการขึ้นในครั้งนั้น ทรงเป็นเสนาบดีมุรธาธรอยู่ได้ ๒ ปี พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวก็เสด็จสวรรคต

พอเปลี่ยนรัชกาลใหม่ก็เจอะมรสุมเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก เสนาบดีสภาเห็นว่ามีทางทำได้เพียง ๒ อย่าง คือ ๑. ขึ้นภาษี ๒.ตัดงบประมาณลงให้ได้ เสด็จพ่อทรงให้ความเห็นว่าการขึ้นภาษีนั้นคนทั่วไปต้องเดือดร้อน ถ้าตัดงบประมาณคนจำพวกเดียวเดือดร้อน แต่เราจะต้องลงทุนเป็นตัวอย่างจากตัวเราเป็นต้นไป ฉะนั้นจึงทรงแนะนำรัฐบาลให้ล้มกระทรวงมุรธาธรที่ทรงว่าอยู่เสีย เพราะไม่มีงานสำคัญถึงจะต้องเป็นกระทรวง แล้ให้ตัดเงินเดือนกันลงไปตั้งแต่พระองค์พระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้นำ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวได้อยู่ปีละ ๑๑ ล้านรวมทั้งเลี้ยงดูพระราชวงศ์ ข้าราชการรักษาพระราชวังต่างๆ การพิธีและการรับรองเลี้ยงดูแขกต่างประเทศด้วย แม้เช่นนั้นพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวก็ทรงยอม ให้บ้านเมืองตัดกลับเป็นปีละ ๖ ล้านเหมือนสมเด็จพระบรมชนก เพื่อช่วยเศรษฐกิจซึ่งกำลังทรุดโทรม กำลังจะตัดเงินเดือนอภิรัฐซึ่งได้เงินเดือนอยู่เดือนละ ๓,๖๐๐ บาทโดยไม่มีเบี้ยรับรองเลี้ยงดูเบี้ยประชุมเบี้ยเดินทางสักอย่างเดียวในเวลานั้น ก็พอดีเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง จึงเป็นอันหมดกิจการงานทั้งปวง เมื่อรัชกาลที่ ๗ เสวยราชย์ได้เลื่อนอิสริยยศเป็นสมเด็จฯกรมพระยา ในพ.ศ. ๒๔๗๒ พระชันษา ๖๗ ปี


การงานประจำวัน

เนื่องแต่เสด็จพ่อทรงเขียนหนังสือไว้มาก ถ้านับเท่าที่ค้นพบเวลานี้ คือ

๑. พงศาวดาร...............................๑๓๔ เรื่อง
๒. โคลงกลอน............................. ๙๒ เรื่อง
๓. ศาสนา................................... ๗๖ เรื่อง
๔. อธิบายแทรก........................... ๑๙ เรื่อง
๕. ประวัติ....................................๑๖๐ เรื่อง
๖. ตำนาน....................................๑๐๓ เรื่อง
๗. ในนิตยสารสยามสมาคม............. ๑๐ เรื่อง

จึงมีผู้สงสัยว่า ท่านหาเวลาทรงเขียนได้อย่างไร ข้าพเจ้าจึงเห็นว่าควรเล่าถึงงานประจำวันของพระองค์ท่านไว้ด้วย

ท่านบรรทมตื่นเวลา ๗ น.เช้า สรงพระพักตร์ทรงผ้าจีบ(ทรงโจงกระเบนเอง) และฉลองพระองค์ผ้าบางปิดคอกระดุม ๕ เม็ดเรียบร้อยแล้ว เสด็จเข้าบูชาพระและพระบรมอัฐิในห้องพระ แล้วเสด็จออกมาเสวยเครื่องเช้า มีนม ๑ ถ้วยแก้วใหญ่ กาแฟนิดหน่อย ไข่ และขนมปังกับเนย ผลไม้ ที่เฉลียงบนตำหนัก ตอนนี้เลขาฯถวายงานที่ทรงค้างไว้แต่วานนี้ และทูลธุรกิจในวันนี้ให้ทรงทราบว่ามีกำหนดอะไรบ้าง ถ้าเป็นการร้อนก็ทรงต่อในเวลาเสวย ลูกหลานเล็กๆมักจะเฝ้าในตอนนี้ พอเสวยเสร็จก็ทรงหยิบกระดาษดินสอติดพระหัตถ์เข้าไปในห้องเล็กด้วย แล้วกลับออกมาทรงต่อที่โต๊ะทรงพระอักษร บางครั้งก็ทรงเขียนเอง บางครั้งก็ทรงบอกให้เลขานุการเขียน

พวกกระทรวงมหาดไทยในสมัยนั้นเล่าว่า บางคราวท่านทรงบอกให้เจ้าหน้าที่เขียนพร้อมกัน ๔ คนๆละเรื่อง จนเขาผู้เขียนนั้นนึกว่าจะบอกสับเรื่องกันเป็นแน่ แต่ก็ไม่เห็นผิดสักที ทรงแต่งหนังสือไปจนถึงเวลาราว๑๐ น.ครึ่ง เสด็จลงจากตำหนักไปหาคุณย่า ไปถึงก็หมอบกราบและถามว่า "แม่สบายดีรึจ๊ะ" บางครั้งก็ไปบอกข่าวคราวต่างๆบ้าง แต่อย่างไรก็ต้องไปกราบทุกเวลาเช้า แล้วเสด็จกลับมาตรวจวัง จะสกปรกที่ไหนสักนิดก็ไม่ได้ ตรัสว่าการลงมาดูบ้านตอนนี้เพื่อให้โอกาสแก่คนที่มาเฝ้าจะได้ไม่ต้องคอยนาน ถ้าวันใดไม่มีใครมาเฝ้าก็เสด็จกลับขึ้นไปเขียนหนังสือต่อ จนถึงเวลา ๑๑ น. จึงแต่งพระองค์เสด็จไปหอพระสมุดและพิพธภัณฑสถาน ทรงตรวจงานอยู่จนถึงบ่าย ๑๓ น. จึงเสด็จกลับมาวัง สรงน้ำและเสวยกลางวัน แล้วเสด็จขึ้นไปบรรทมพัก ๑ ชั่วโมง จะหลับหรือไม่หลับก็บรรทมหลับพระเนตร บ่าย ๑๖ น.บรรทมตื่นเสวยน้ำหวานๆเช่นน้ำมะนาวหรือน้ำขิง ๑ ถ้วแก้ว แล้วแต่งพระองค์ไปในงาน มีตั้งแต่ประชุมต่างๆและงานพิธี ถ้าวันใดว่างก็เสด็จไปทรงกอล์ฟ โดยมากกับหญิงเหลือเพราะมือซ้ายด้วยกัน กลับถึงวังราว ๑๙ น. พักครู่หนึ่งแล้วสรงน้ำลงมาเสวยเย็นเวลา ๒๐ น. เสด็จกลับขึ้นไปทรงอ่านหนังสือในมุ้งลวดที่เฉลียงตรัสว่า "เช้าเขียนเป็นวิทยาทาน ค่ำต้องหาความรู้ต่อมิฉะนั้นมันจะหมด คนที่นึกว่าตัวรู้พอแล้วนั้น เป็นคนตายแล้วเป็นๆ เพราะโลกยังหมุนอยู่ทุกนาที เราต้องเรียตามมันไปจึงจะอยู่กับโลกโดยไม่โง่ได้" จนถึงเวลา ๒๓ น.จึงจะเข้าบรรทม เสด็จพ่อใช้เวลาของพระองค์อย่างนี้ทุกวันโดยไม่เปลี่ยนแปลงเลย และทรงตรงต่อเวลาเป็นอย่างยิ่ง ตรัสว่าสะดวกแก่ผู้ทำงานกับเรา พวกผู้ใหญ่เล่าว่าในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกือบไม่มีเวลาเสด็จอยู่วังเลย เสด็จกลับมาวังก็เวลาดึกๆ บรรทมตื่นราว ๑๒ น. แล้วก็เสด็จกระทรวงมหาดไทย เสร็จงานที่กระทรวงแล้วเลยเข้าไปเฝ้าอยู่จนถึงเวลาเสด็จขึ้น ซึ่งบางทีก็ดีก มีน้อยวันนักที่จะได้เสด็จกลับมาเสวยเย็นที่วัง ฉะนั้นการแต่งหนังสือในตอนนั้นเห็นจะทรงเขียนที่กระทรวงเป็นส่วนมาก เคยได้ยินแต่ทรงเล่าว่า ในอาทิตย์ก็ต้องไปกระทรวงเพราะมันเคย


ทรงเลี้ยงลูกอย่างไร

ธรรมดาพ่อแม่ที่มีธุระมาก ลูกๆมักจะตกอยู่แต่กับพี่เลี้ยงนางนม เพราะไม่มีเวลามาดูแลลูกได้ ยิ่งคนที่มีลูกมากตั้ง ๒๐คน ก็จะเลี้ยงดูให้ได้เหมือนกันหมดทุกคนไม่ได้เป็นธรรมดา ข้าพเจ้าจะเป็นผู้ทีบุญหรือเวรกรรมอย่างไรก็ตาม ตั้งแต่แม่ตายแต่ข้าพเจ้าได้ ๗ ขวบแล้ว ข้าพเจ้าก็เป็นโรคติดพ่อเพราะความรักแม่ไปรวมอยู่ที่พ่อด้วย ในสมัยนั้นเด็กผู้หญิงเข้าไปรับการฝึกหัดจากสำนักต่างๆในพระบรมมหาราชวัง เด็กผู้ชายไปโรงเรียนและไปต่างประเทศเพื่อศึกษาวิทยาการอย่างมากมาย ฉะนั้นพี่น้องข้าพเจ้าจึงต่างแยกกันไปคนละทิศละทาง กลับมารวมกันเมื่อหมดเวลาศึกษาแล้ว ส่วนตัวข้าพเจ้าเองแม้จะถูกส่งตัวเข้าไปในวังตามธรรมเนียมก็ดี แต่ข้าพเจ้าก็ทูลลาพระวิมาดาเธอออกมาเฝ้าเสด็จพ่อได้เสมอ ถ้าไม่มาวังก็ไปเฝ้าที่กระทรวงซึ่งอยู่ตรงข้ามวัดพระแก้วในประตูวิเศษชัยศรี เวลาเสด็จไปตรวจการหัวเมือง เสด็จพ่อก็โปรดให้ไปรับออกมาจากวังเพื่อเอาไปด้วยทุกครั้ง หญิงเหลือติดข้าพเจ้าไปในวังด้วยตั้งแต่ข้าพเจ้า ๗ ขวบ หญิงเหลือ ๖ ขวบ จึงเลยตืดกันมาเรื่อยจนบัดนี้ พอมีอายุได้ ๑๔ - ๑๕ ปีก็ออกมาอยู่กับเสด็จพ่อทั้ง ๒ คน การอยู่กับท่านนั้น คืออยู่อย่างเป็นผู้ปฏิบัติรับใช้ตลอดมาจนสิ้นพระชนม์

มีหลายคนที่เห็นว่าข้าเจ้าจะเอาตัวไม่รอดเพราะเสด็จพ่อทรงตามใจ แต่ก็มีหลายคนที่ได้มาคุ้นเคยแล้วร้องว่า ท่านเลี้ยงกวดขันจริง เสด็จพ่อทรงทำอย่างไรก็ตาม แต่ท่านทำให้เราทั้งรักบูชาและกลัวเกรงด้วย กลัวว่าท่านจะเสียพระทัยท่านจะกริ้วไม่ใช่กลัวอย่างกลัวถูกเฆี่ยนถูกตี เริ่มต้นแต่เช้า ถ้าเรายังนอนอืดอยู่ในมุ้งละก็ พอท่านเดินผ่านมาเป็นปลดมุ้งหมดเลย ร้องดังๆว่า "ไม่ใช่เวลานอน โมงหนึ่งแล้ว" ตื่นแล้วจะนั่งเฉยเมยไม่ทำอะไรไม่ได้ ต้องไปรวมกันทำขนมขาย หรือเรียนดนตรีไทย บางทีก็ให้ช่วยท่านรับแขก เรือนที่เราอยู่ท่านก็มาตรวจเสมอว่าสกปรกหรือไม่ เพียงวางของไม่ตรงที่ก็เรียกให้กลับมาวางใหม่ ท่านตรัสว่ารำคาญตา เช้าต่างคนต่างทำงานแล้ว กลางวันก็มากินโต๊ะกลมกับท่าน กลางคืนก็กับท่าน

และในโต๊ะเสวยนี่แหละคือโรงเรียนของเรา ใครจะเล่าอะไรทูลถามอะไรก็ได้ และบางทีท่านตอบสนุกๆ ตอนเสด็จงานโดยมากเราก็ไปด้วย กลับมาท่านมักจะถามว่าเห็นอะไรบ้าง ได้ยินอะไรบ้าง ใครนั่งที่ไหน ใครทำอะไร ถ้าไม่ได้เสด็จด้วยท่านยิ่งถามมากขึ้น ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าถูกถามว่า พระเทศน์ว่าอย่างไรวันนี้ ข้าพเจ้าตอบไม่ได้เพราะเวลานั้นพอเราเจอะกันเข้าก็มั่วแต่คุยกันเสียไม่ได้ฟัง ท่านก็บ่นว่าเสียเวลา ไปไม่ได้เรื่องได้ราวอะไรเลย เพิ่งเข้าใจเมื่อภายหลังว่าท่านสอนให้มีการสังเกตเป็น เมื่อข้าพเจ้ายังมีหัวจุก ท่านเสด็จไปอยุธยาและประทับคุยกับเจ้าคุณโบราณฯอยู่ราวๆ ๒ - ๓ ชั่วโมงนั้น พวกเราเด็กๆโดยมากก็อยู่บนต้นพุทรา ท่านก็ไม่ว่าอะไร จนโกนจุกแล้วท่านก็ไม่ปล่อยให้ไปขึ้นต้นพุทราอย่างเคย ท่านเรียกมานั่งใกล้ๆแล้วโยนอิฐ ๒ แผ่นให้ดูว่า "ดูถี ว่ามันผิดกันอย่างไร" มันมีหนังสือแผ่นหนึ่งไม่มีแผ่นหนึ่ง ต่อมาเราก็ค่อยๆเข้าใจและสนุกในการขุดค้นไปด้วย พออายุ ๑๓ ม่านทรงสอนให้หุงข้าว และให้แม่นมสอนทำกับข้าวง่ายๆ เช่น แกงฟัก ไข่เจียว เป็นต้น ท่านตรัสว่า "เกิดเป็นผู้หญิง ก็ต้องทำหน้าที่ของตัวให้ครบถ้วน ส่วนจะชอบทำอะไรพิเศษก็เป็นเรื่องของเล่น hobby ถาทำกับข้าวไม่เป็นแล้วเกิดอยากกินแกงเลียงขึ้นมา สั่งให้บ่าวทำ ถ้าบ่าวมันย้อนถามว่าใส่อะไรบ้างจะไม่อายมันรึ" ท่านตรัสว่า จะเป็นนายคนต้องหัดเป็นบ่าวมาก่อน จึงจะรู้ใจบ่าว ทรงสั่งข้าพเจ้ามาแต่เด็กๆว่า ถ้าทำอะไรผิดก็อย่าปด ต้องย่อมรับและเสียใจเสีย เพราะคนทุกคนต้องทำผิดบ้าง ผิดกับชั่วไม่เหมือนกัน อีกข้อหนึ่งนั้นท่านว่าเป็นภาษาอังกฤษว่า Be frank and fair. Be kind and natural. ไม่รู้จะแปลว่าอย่างไร

เรื่องสีหน้าอย่างหนึ่งท่านทรงกวดขันมาก เตือเสมอว่า "อย่าทำหน้าปวดท้องอย่างนั้นซีลูก จะพูดกับใครควรจะยิ้มเสียก่อน เขาว่ามีสิริหน้า" ถ้าข้าพเจ้าโกรธใครจนทำหน้างอ ท่านมักตรัสว่า "ไปส่องกระจกดูทีว่าหน้าตาสวยไหมเวลานี้ แล้วจับชีพจรดูด้วยว่ามันปกติหรือเปล่า คนทีเขาทำให้โกรธเขาก็ดีใจไปว่าเขาทำให้เราเดือดร้อนสำเร็จ"

ครั้งหนึ่งข้าพเจ้าโกรธว่ามีคนด่าว่าเสด็จพ่อ ข้าพเจ้าทูลว่า "เสด็จพ่อนิ่งเสียอย่างนี้ เขาก็ได้ใจว่าเราทำผิดจริงจึงต้องยอมแพ้" ท่านตรัสถามว่า "เธอเห็นว่าพ่อควรทำอย่างไร" ข้าพเจ้าทูลตอบว่า "ถวายฎีกาในหลวงให้ท่านตัดสินว่าใครผิดใครถูก" ท่านตอบว่า "เธอนี่บ้า พ่อนั่งของพ่ออยู่ดีๆ มีคนเดินเข้ามาแก้ผ้าให้ดู ทำไมพ่อจะต้องลุกขึ้นยืนแก้ผ้าตอบ เขาอายหรือไม่อายก็เป็นเรื่องของเขาเอง พ่อไม่รับรู้ด้วย"

บางครั้งท่านก็ตรัสเป็นเชิงปรารภว่า "พ่ออุตส่าห์ทำถนนไว้ให้ลูกเดินตาม ที่ไหนมีหนามก็ปัดทิ้ง ที่ไหนมีรูงูเงี้ยวพ่อก็ถมดินให้เสีย เธอก็เดินจามพ่อมาดีๆ แต่พอหมามันเห่าข้างถนน เธอก็ทูลลากลับไปกัดกับหมา" ข้าพเจ้าทูลว่า "ก็มันไม่ใช่หมาขี้เรื้อนกลางถนน หม่อมฉันก็ต้องสู้" ท่านก็เลยทรงพระสรวล วันหนึ่งนั่งกินอาหารเย็นกันอยู่เต็มโต๊ะ จิ้งจกเกิดตกแป๊ะลงมาตรงพระพักตร์เสด็จพ่อ พวกเราแทนที่จะอยู่ช่วยท่านกลับลุกหนีหมดโต๊ะ ท่านประทับอยู่พระองค์เดียวหัวโต๊ะ จิ้งจกก็ไต่ขึ้นบนพระกรซ้ายของท่านๆก็เฉยให้มันไต่ขึ้นจนเกือถึงพระพาหา(ไหล่)ของท่าน แล้วก็กระโดดลงพื้นไป เราไปแอบดูอยู่ข้างประตู พอเห็นมันไปแล้วก็ค่อยๆทยอยกลับมายังที่นั่งด้วยรู้สึกอายๆ ท่านตรัสถามว่า "กลัวอะไร" ข้าพเจ้าทูลตอบว่า "ไม่ได้กลัวแต่เกลียด ท่านว่า "เกลียดอะไร" ข้าพเจ้าว่า "เกลียดว่าหางมันหลุดแล้วยังกระดิกได้" ท่านตรัสว่า "พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า หอมหรือเหม็นก็เพราะเราเรียกมันเอง เขาจะเอาน้ำเน่าหรือน้ำหอมมาทาแขนเราทั้งแขน มันดูก็เหมือนกัน เราเองเรียกมันเองว่าเหม็นหรือหอมใช่คนอื่น" พวกเรานิ่งฟัง แต่ดูเหมือนยังไม่สู้เข้าใจนักในเวลานั้น บางทีก็ตรัสว่า "การพูดนั้นน่ะสำคัญที่รู้จักพูด ถ้าจะขอบุหรี่สูบสักตัว จะขอให้เขาเตะเอา หรือให้เขาให้ทั้งซองก็ได้"

เสด็จพ่อไม่ทรงบังคับเราเลยสักอย่างเดียว ถ้าจะโปรดให้ทำอะไรก็ทรงอธิบายจนเราหมดสงสัยแล้วก็ทำได้ดี เมื่อตอนทรงกลับเข้ารับราชการใน พ.ศ. ๒๔๖๖ ตรัสแก่ข้าพเจ้าว่า "นี่แน่ะ พ่อจะต้องรับแขกฝรั่งอีกแล้ว เพราะถ้าทำราชการก็หนีไม่พ้น และถ้าผู้ชายเขามา เขาก็ต้องมีเมียมีลูกมาด้วย เราจึงต้องมีผู้หญิงรับ เพราะพ่อจะพาผู้หญิงไปในห้องแต่งตัวม่ได้ แต่พ่ออายว่ามีลูกไม่ดีพอจะรับแขก เธอจะรับทำหน้าที่นี้ให้พ่อได้ไหมล่ะ ถ้าได้พ่อจะครูมาสอนให้เต็มที่เท่าที่ผู้หญิงเราควรจะมีจะเป็น ไม่ต้องอายผู้หญิงฝรั่ง" ข้าพเจ้าทูลรับว่าได้ ท่านจึงตรัสว่า "ถ้าเช่นนั้นขออะไรตอบแทนบ้างได้ไหม" ข้าพเจ้าทูลถามว่า "หม่อมฉันมีอะไรถวายเด็จพ่อด้วยรึเพคะ" ท่านตอบว่า "มีซี" แล้วก็ทรงนับนิ้วพระหัตถ์ว่า ๑.ไม่สูบบุหรี่ ๒. ไม่เต้นรำ ๓. ไม่ขับรถ และทรงอธิบายว่า "การสูบบุหรี่นั้นไม่เห็นมันสวยตรงไหน มือก็เหลือง ปากก็เขียว พ่อเสียสตางค์ค่าบุหรี่มากแล้วเธอไม่ต้องช่วยอีก" และเมื่อไปรับพระราชทานกลางวันที่พระราชวังบัคกิงแฮม ควีนแมรี่พระราชทานบุหรี่ให้ข้าพเจ้าสูบ ข้าพเจ้ามองดูเด็จพ่อเท่านั้น ควีนก็ทรงพระสรวลตรัสว่า "ดีแล้วละ ฉันเองก็ไม่สูบ แต่ต้องสูบเพื่อเป็นเพื่อนแขกเท่านั้นเดอง" แล้วก็ทรงวางถาดบุหรี่นั้นลงอย่างเก่า และเมื่อแรกได้รับเชิญให้ไปเฝ้าข้าพเจ้าวิตกมาก เพราะไม่เคยเข้าราชสำนักยุโรป จึงทูลปรารภกับเสด็จพ่อ ท่านทรงแนะนำว่า "อย่าพยายามทำเป็นฝรั่ง เพราะเธอไม่ใช่ฝรั่ง ถ้าทำขึ้นแล้วมันก็เป็นของเก๊ เก็บเอากิริยาดีของแม่ไว้เถิด เพราะคนดีเหมือนกันหมดทั่วโลก ไม่ต้องตกใจ" แล้วก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ

๒. การเต้นรำ ท่านทรงอธิบายว่า "เมืองไทยมันร้อน ยังไม่ต้องกระโดดโลดเต้น และไม่เห็นมันมีศิลปตรงไหน ถ้าเขาเต้น Lancer ลานเซอร์ หรือ Waltz วอลซ์ กันเมื่อไรพ่อจะอนุญาต อีกประการหนึ่งวงเลือกของเธอมันก็อยู่ในพวกสถานทูต ถ้าเต้นกับคนหนึ่งไม่เต้นกับคนหนึ่ง มันก็จะกลายเป็นการเมืองว่าโปรนั่นโปรนี่ สู้เต้นไม่เป็นเสียเลยดีกว่า แต่ต้องรักษาคำพูดนะ ต้องเต้นไม่เป็นจริงๆ" และข้าพเจ้าก็เต้นไม่เป็นจนบัดนี้ ครั้งหนึ่งเคยทูลวิงวอนว่า ขอประทานเต้นสักครั้งหนึ่งเถิด เพราะดนตรีมันเพราะจริงๆ ท่านกลับตอบว่า "อ้าวอยู่ดีๆมาสารภาพว่าเป็น Weakling (ผู้อ่อนแอ) บังคับตัวเองไม่ได้ คนที่บังคับตัวเองไม่ได้แล้วจะไปบังคับใครได้"

๓. ขับรถ ท่านว่า "ไม่มีอะไรนอกจากความรักของพ่อที่มีต่อลูก พ่อเชื่อว่าผู้หญิงไม่ได้ทำมาเพื่อสำหรับเครื่องยนต์กลไก ฉะนั้นถ้าพ่อรู้ว่าเธอกำลังถือพวกมาลัยอยู่คราวไร ก็รู้สึกทุกทีว่ากำลังจะไปตาย ฉะนั้นให้ความสบายใจแก่พ่อนิดเดียวไม่ได้หรือ" ก็เป็นอันจนและรับได้ทั้ง ๓ อย่าง

สิ่งที่ทรงสอนมีอีกข้อหนึ่งว่า "เห็นอะไรดีก็ให้ถามว่า ทำไมถึงดีอย่างนั้น ถ้าเห็นอะไรชั่วเลวก็ให้นึกถามว่า ทำไมจึงชั่วเลวถึงเพียงนั้น คำว่าทำไมคำเดียวจะช่วยให้เรามีปัญญา แต่จะต้องหาคำตอบที่เป็นคึวามจริงให้ได้ อย่าลำเอียงด้วยอคติ" อีกข้อหนึ่งนั้น จะติอะไรให้นึกเสียก่อนว่าเป็นเราจะทำอย่างไร ในเรื่องศาสนานั้นท่านทรงพาไปดูศาสนาต่างๆ เช่น พิธีในศาสนาคริสต์ ในศาสนาอิสลาม จนเราเกิดอยากรู้อยากเข้าใจในเรื่องของเราเอง ทื่นจึงสอนให้อ่านพระธรรม และอยากจะทูลถามท่านอย่างไรก็ได้ ข้าพเจ้าทูลถามจนท่านตรัสว่า "ถ้าเป็นผู้ชายจะเตะเดี๋ยวนี้" ข้าพเจ้าหัวเราะทูลว่า "เอาดีเพราะอยากรู้ เพราะไม่รู้ก็ทำไม่ถูก" ถ้าเห็นเราอ่านหนังสือท่านถามทุกทีว่าอ่านเรื่องอะไร แล้วทรงแนะนำให้ว่าควรอ่านแต่ที่ให้ความรู้ เช่นชีวิตคนต่างๆและหนังสือที่มีชื่อเยงว่าดี เพราะเรื่องอ่านเล่นนั้นอ่านแล้วก็ลืม ดูหนังสนุกกว่า ตรัสว่าหนังสือเป็นเพื่อนที่ดีและอยู่ในอำนาจเรา ไม่ชอบก็เก็บเข้าตู้ไว้ ไม่เหมือนคุยกับคน ไม่ถูกใจก็ต้องทนเพราะไล่เขาไม่ได้

ในเรื่องการแต่งงานนั้น ไม่ได้ทรงหวงแหนประการใด ท่านตรัสว่าเป็นเรื่องชีวิตของตัวเอง ทุกข์หรือสุขก็เป็นของตัวคนเดียวไปตลอดชีวิต พ่อเป็นแต่จะต้องอายว่ามีลูกโง่ แต่พ่อก็มีลูกคนอื่นๆที่พอจะแก้หน้าได้ บางทีก็ตรัสว่า เกิดเป็นผู้หญิงนั้นเสียเปรียบมาแต่เกิด แล้วยังจะมานั่งท้าวแขนให้ผู้ชายเขาเลือกอีกหรือ ทำไมเราไม่เป็นผู้เลือก ท่านทรงอนุญาตให้เรามีแขกมาหาได้ที่บ้าน แต่ไม่โปรดให้ไปบ้านคนอื่น เพราะตรัสว่า คนดีเขาไม่รังเกียจที่จะมาพบผู้ใหญ่ด้วยที่บ้าน ถ้าคนไม่ดีจึงจะชักชวนไปให้พ้นผู้ใหญ่ พ่อขออย่างเดียวแต่อยู่พบเล่นหัวกันมากๆ อย่าอยู่ลำพังสองต่อสอง จะได้เป็นพยานกัน ทรงอธิบายว่าแต่ก่อนเมื่อในยุโรปผู้หญิงสาวจะไปไหนก็มีผู้ใหญ่ไปด้วยเรียกว่า Chaperon แชฟเปรอน ไม่ได้แปลว่าผู้คุม แต่เขาไปเป็นเพื่อนเป็นพยานไม่ให้ใครรังเกียจว่าเป็นผู้หญิงเที่ยว ฉะนั้นเราไม่ควรจะรังเกียจแชฟเปรอน แต่ลงท้ายก็ทรงอนุญาตให้ไปกับพี่ๆน้องๆได้

สำหรับข้าพเจ้าและหญิงเหลือที่จะพบอยู่กับม่านนั้น จะไปไหนต้องทูลลา ถ้าหายไปโดยไม่บอกกล่าวกลับมาท่านก็ไม่พูดด้วย ซึ่งทำให้เรากลัวเสียยิ่งกว่ากริ้วออกมาเสียดีกว่า ถ้าเราแต่งตัวฟุ๊ดฟิ๊ดตามสมัยเกินไป เช่นผูกริบบิ้นรอบหัวหรือใส่ดอกไม้ใกล้หู พอท่านลงมาเจอก่อนขึ้นรถ ท่านก็บอกว่า "พ่อไปด้วยไม่ได้ พ่ออาย" ทำเอาเราอายหยักขึ้นไปอีก ต้องรีบถอดทิ้งทันที พูดถึงเรื่องความรัก ท่านอธิบายว่า "รัก มันมี ๒ หน หนแรกมันตื่นเต้น เรียกว่า Passion คือหลง อยู่ด้วยกันไปมันก็ค่อยๆหายตื่น จางลงไปทุกที ตอนนี้แหละจะอยู่กันยืดหรือไม่ยืดก็ตอนนี้ ถ้ากลับรู้ใจกันเป็นเพื่อนสนิทกันได้แล้ว ความรักจริงจึงจะเกิดและไม่มีแตกกันจนตาย พ่อบอกให้อย่างใจผู้ชาย เธอจะเชื่อหรือไม่ก็ตามใจ พ่อไม่ต้องทุกข์สุขกับเธอๆรับไปคนเดียวยิ่งกว่าใครๆ" ข้าพเจ้าเคยได้ยินท่านตรัสเมื่อเวลาพี่สาวน้องสาวจะแต่งงานว่า "หมั้นแล้วก็แต่งเลย พ่อไม่ชอบให้เอาลูกสาวพ่อไปเที่ยวฟัดไปฟัดมา และทรงสั่งสอนว่า "ผู้ชายนั้นไม่เหมือนกันทุกคน เพราะฉะนั้นจะสอนอย่างไรก็ไม่ได้ ได้แต่ต้องไปเรียนเขาเอาเอง แล้วทำอย่างไรก็ตาม ต้องให้เขารู้ว่าเขาได้เธอมาอยู่ด้วยนั้นดีกว่าเขาอยู่คนเดียว"


................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:10:16:29 น.  

 
 
 
(ต่อ)


ในเรื่องเสรีภาพที่ชอบพูดถึงกันนั้น ท่านทรงอธิบายว่า "อยู่ที่ตัวเราเอง คือ ๑. ไม่ทำความชั่ว เพราะจะต้องเก็บเป็นความลับ ๒. ไม่เขียนจดหมายลับ ๓. ไม่มีหนี้ เพราะสิ่งเหล่านี้ทำให้เราตกอยู่ในอำนาจผู้อื่นได้ แล้วเวลานอนสวดมนต์จบแล้ว ให้ตรวจดูตัวเองว่าตั้งแต่เช้ามาจนวางหัวลงนอนนี้ เราได้ทำอะไรบ้าง และมีอะไรผิดบ้าง ในวันนี้ให้ถือเป็นบทเรียนและสัญญาใจว่าจะไม่ทำผิดอีกให้ทำทุกคืน"

ข้าพเจ้ายังจำเรื่องแต่งตัวไม่เรียบร้อยได้ดี วันหนึ่งหญิงบรรดาลฯน้องสาวข้าพเจ้าชวนให้ข้าพเจ้าและหญิงเหลือไปซื้อผ้าตัดเสื้อที่ห้างไวท์อาเวย์ ถนนเจริญกรุง ทางไปรษณีย์กลางด้วยกันกับเธอ เราตอบว่าไม่ไปล่ะขี้เกียจแต่งตัว เพราะเสด็จพ่อท่าทรงทรงไว้ว่าจะไปไหนให้แต่งตัวให้เรียบร้อย อย่าให้ฝรั่งดูถูกได้ว่าพ่อเลี้ยงลูกเป็นไพร่ ไม่มีระเบียบ หญิงบรรดาลฯบอกว่า ก็อย่าลงจากรถก็แล้วกัน เธอจะลงไปเลือกแล้วเอามาให้ดูที่รถแต่คนเดียว เราก็ไปทั้งแต่งตัวอยู่กับบ้านใส่เกือกแตะไปนั่งในรถ เผอิญคนขายของไม่ยอมให้เอาผ้ามาดูที่รถ หญิงบรรดาลฯก็มาฉุดเรา ๒ คนลงไปดูจนได้ ว่าไม่มีใครเห็นดอก พอกลับมาถึงวังก็พอดีเสด็จพ่อทรงยืนอยู่ที่จอดรถพอดี แรกท่านก็ยิ้มแย้มถามว่า ไปไหนมาลูก เราหน้าเสียทูลว่า ไปซื้อผ้าตัดเสื้อที่ไวท์อาเวย์ แล้วค่อยๆเปิดประตูลงรถไป พอท่านเห็นว่าเราไม่ได้แต่งตัวเท่านั้น พระพักตร์ก็บึ้งไปทันทีตรัสว่า "ไปแต่งตัวเสียให้เรียบร้อย แล้วมาไปกับพ่อ" แล้วท่านก็ไปแต่งพระองค์ เราก็ไปแต่งตัวด้วยหน้างอแต่ไม่กล้าเถียง ท่านไม่ตรัสอะไรอีกเลยจนขึ้นนั่งบนรถกันเรียบร้อยแล้ว ท่านก็ตรัสกับคนขับรถคำเดียวว่า "ไปห้างไวท์อเวย์" เรามองดูตากันพูดไม่ออก รู้สึกอายคนขายของแทบเดินไม่ไหว

เสด็จพ่อจะทรงเข้มงวดกวดขันกับเราอย่างไรก็ตาม แต่ท่านประทานความสุขให้เราทุกอย่างที่เด็กพึงจะมีพึงจะได้ บางวันเสด็จลงมาเสวยเย็นมองดูกับข้าวไม่อร่อยก็ตรัสว่า "ไปกินร้านเจ๊กกันเถอะ" ไปถึงแล้วใครอยากกินอะไรก็สั่งเอง อิ่มแล้วเลยพาไปดูหนัง ถ้าหนังดีก็ทรงชวน บางทีเราก็ชวนท่าน เรามีแบดมินตัน มีโกรเก มีการเลี้ยงเพื่อนฝูงได้เสมอ เวลาวันประสูติท่านหรือวันเกิดเราก็เลี้ยงดูกันสนุกสนานและมีการเล่นแปลกๆที่ทรงคิดให้เล่นกันอยู่เสมอ บางทีก็เอาหนังเล็กมาดูที่บ้าน และจับสลากกันเป็นต้น เราไม่เคยรู้เบื่อหน่ายที่อยู่กับพระองค์ท่านเลยแม้แต่น้อย ฉะนั้นถ้ายังมีชาติภพสำหรับเราอยู่ในโลกใดก็ดี ขอให้เราได้ไปเกิดเป็นลูกเสด็จพ่ออีกทุกๆชาติไป แม้จะทรงเป็นเพียง นายดิศ และจนแสนจน


...ยามเยาว์เห็นโลกล้วน..............แสนสนุก
เป็นหนุ่มสาวก็หลงสุข.....................ค่ำเช้า
กลางคนเริ่มเห็นทุกข์......................สุขคู่ กันนอ
ตกแก่จึ่งรู้เค้า................................ว่าล้วนอนิจจัง



คติธรรมในเวลามีทุกข์

มนุษย์ที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่มีผู้ใดจะหนีทุกข์สุขพ้นได้ฉันใดก็ดี เสด็จพ่อผู้ซึ่งข้าพเจ้าไม่เคยเห็นบาปของพระองค์ท่านเลย ก็ยังต้องทรงอยู่ในอำนาจโลกธรรมคือหนีไม่พ้น ฉะนั้นข้าพเจ้าจึงคิดว่าเป็นเรื่องหนึ่งที่น่ารู้ว่าท่านทรงรับทุกข์อย่างไรเพื่อผู้ที่จะต้องประสบทุกข์บ้าง บางเวลาจะได้ดูเป็นเยี่ยงอย่างไม่ได้เจตนาเขียนขึ้นเพื่อเจ็บใจหรือคุมแค้นอย่างหนึ่งอย่างใดเลย

เนื่องแต่มีการเปลี่ยนแปลงปกครองในวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เหตุการณืในชีวิตเราก็ต้องเปลี่ยนไปด้วยเป็นธรรมดา เมื่อเสด็จพ่อทรงได้รับการปล่อยออกมาจากที่คุมขังแล้วได้ ๓ วัน ก็ได้รับแจ้งจากทางการให้ไปรับเบี้ยบำนาญซึ่งถูกตัดลงทันทีจาก ๓,๖๐๐ เป็น ๑,๕๐๐ บาท เราทุกคนต่างลืมตาโตไม่รู้จะทำอย่างไร มีเสด็จพ่อพระองค์เดียวที่สั่งได้ทันทีว่า "ตัดภายในลงให้มากจนพอกับเงิน" เราก็เอาหัวชนกันคิดตัดทอนเสียแทบตาย เพราะเสด็จพ่อทรงมีเงินแต่เงินเดือนและเงินปีที่พระราชทานในฐานะเป็นพระราชวงศ์ผู้ใหญ่และได้ทำการงานมามากปีละ ๑๐,๐๐๐ บาทเท่านั้นจริงๆ

ถ้าจะพูดกันให้รู้เรื่องจะต้องอธิบายถึงเรื่องการมั่งมีของเจ้านายให้รู้ความจริงเสียก่อน เจ้านายที่เรียกกันว่ามั่งมีนั้น คือ พระองค์ที่ได้รับมรดกตกทอดกันมาจากพระองค์หญิงที่ไม่ได้ทรงสมรส และการที่ไม่มีเจ้าผู้หญิงสมรสนั้นก็ไม่มีกฎหมายบังคับอย่างหนึ่งอย่างใด เป็นแต่เพียงไม่ใช่พระราชนิยมของพระผู้ทรงเป็นหัวหน้าราชตระกูลเท่านั้น เพราะทรงเข็ดเรื่องสืบสันตติวงศ์ เช่น เรื่องเจ้าฟ้าเหม็นเป็นต้น คราวนี้ในพระมารดาใดที่มีพระองค์หญิงมาก มรดกก็ตกลงมามากตามจพำนวน พระองค์ที่อยู่หลังก็เรียกว่ามั่งมี บางพระองค์ท่านรับจำนำหลุดเกิดเป็นผลประโยชน์มากขึ้นเพราะเวลาก็มี แต่รัฐบาลมิได้เคยเลี้ยงดูเจ้าเช่นในประเทศพม่า นอกจากถวายแต่พระเจ้าแผ่นดิน พระมเหสี และเจ้าฟ้า ๒-๓ พระองค์เท่านั้น ส่วนเสด็จพ่อนั้นทรงเป็นลูกองค์เดียวของคุณย่า ไม่มีมรดกอันใดตกทอด นอกจากวังเก่าที่สามยอด ซึ่งเป็นบ้านคุณชวดบิดาคุณย่าถวายเป็นมรดก และวังหลานหลวงนี้ คุณย่ารับจำนำหลุดแต่เมื่อยังเป็นสนามควาย และพระพุทธเจ้าหลวงพระราชทานที่ล้อมรอบเป็นรางวัลที่ได้จัดมณฑลสำเร็จ เสด็จพ่อจึงทรงสั่งพวกเราไว้ว่าอย่าขายใคร ให้เก็บไว้ดูเป็นตัวอย่างว่าพ่อได้มาเพราะเหงื่อ ส่วนตัวตำหนักและเรือนต่างๆนั้น สมเด็จพระพันปีหลวง ร.๖ และพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทาน พระองค์ละครึ่ง และพวกลูกศิษย์ของเสด็จพ่อช่วยกันทำถวายคนละอย่างสองย่าง เราจึงแลดูเหมือนคนมั่งมีกับเขาด้วย

เมื่อพูดถึงรายได้แล้วก็ต้องพูดถึงรายจ่ายด้วยจึงจะได้ความจริงและยุติธรรม เงินเดือนและรายได้ประจำปีของพ่อไม่ได้อยู่ที่วังเพราะเสด็จพ่อทรงให้หลวงอนุรักษ์ฯ(จุล) กองบัญชีของกระทรวงมหาดไทยเป็นผู้เก็บ ตรัสว่าเขาจะได้รู้ว่าเสนาบดีมีอะไรบ้าง ทางกระทรวงส่งมาให้เป็นค่าเสวย และเงินเดือนคนในวังรวมทั้งค่าเล่าเรียนเด็กๆในวังด้วยเดือนละ ๒,๔๐๐ บาท ค่าใช้จ่ายเบ็ดเตร็จรวมทั้งการเลี้ยงดูแขกและซื้อของช่วยการงานและทำบุญ เดือนละ ๘๐๐ บาท ในสมัยนั้นไม่มีเบี้ยรับรอง เบี้ยประชุม และรถประจำตำแหน่ง เวลามีแขกเมืองใหญ่โตมา กระทรวงต่างประเทศก็ส่งกระดาษเปล่ามาให้จดว่าจะทรงเลี้ยงดูรับรองอย่างไรบ้าง ตามธรรมดาการเลี้ยงส่งเลี้ยงรับเพียงราชทูตทุกสถานทูตก็มิได้เว้นแต่ละอาทิตย์ ผลที่ได้คือพวกเราต้องทำงานเก่งทุกคน เสด็จพ่อทรงกะงานให้รับผิดชอบกันคนละแผนกเสมอ เมื่อตรัสบอกพระประสงค์แล้ว ท่านจะไม่มารบกวนอีกเลย เป็นแต่ถึงเวลาจวนแขกจะมาท่านลงมาเดินดูเสีย ๑ รอบแล้วขึ้นรถไปอื่น จนถึงเวลากลับมาสรงน้ำแต่งพระองค์ ข้าพเจ้าคิดว่าคงจะให้เวลาเราที่ไม่ต้องรื้อถอนใหม่

รถยนต์นั้นมี ๕ คัน รถตราจักร ร.๕ พระราชทาน รถเนเปียร์ ร.๖ พระราชทาน รถเล็ก Wanderer สมเด็จพระพันปีหลวง ร.๖ พระราชทาน รถราชสีห์พระเจ้าเชียงใหม่ซื้อฝากไว้ให้ทรงใช้ ถ้าท่านลงมากรุงเทพฯท่านจึงจะใช้ มีรถเฟียตอีกคันหนึ่งมี่ซื้อเองโดยผ่อนส่ง ที่ทรงใช้จริงเป็นประจำ มีรถตราจักรคันเดียว นอกจากนั้นก็เก็บไว้ในโรงโดยมาก ส่วนรถเนเปียร์ลงท้านก็ถวายคืนไป เพราะทนค่ายางค่าน้ำมันไม่ไหว แรกๆทรงว่ามหาดไทย ใครๆก็พากันว่าๆคราวนี้รวยตาย เขาว่ากันเพียงภาคเดียวเขายังรวย นี่รวมหมดทุกทิศต้องรวยแน่ๆ แต่เสด็จพ่อตรัสกับพวกเราว่า "เธอคงจะโกรธว่าพ่อทำให้จน แต่พ่อคิดว่าเงินมันไม่อยู่ ชื่อเสียงมันอยู่ ถ้าพ่อหากิน คนอื่นคือเทศา เจ้าเมือง นายอำเภอเขาก็ทำได้ งานมันก็เสีย พ่อจึงคิดว่าเอาชื่อเสียงไว้ให้เขากรุณาลูกดีกว่า" ข้าพเจ้าคิดว่าพระกุศลอันนี้เองที่ทำให้ชาวต่างประเทศนับถือ และพวกเราลูกๆก็ยังไม่ถึงต้องคุกเข่าลงขอทานใครกินแม้จะมีกันอยู่หลายคน เมื่อแรกเปลี่ยนแปลงใหม่ๆพวกใส่ความเจ้าเพื่อโปรปะกันดาของเขา กล่าว่าเจ้านายมีเงินกันเป็นล้านๆ เสด็จพ่อมี ๑๑ ล้านเป็นจนกว่าทุกพระองค์ เราได้ขอร้องให้ตั้งศาลชำระ และยอมให้เปิดแบงก์ทั่วโลกดูด้วย ขออย่างเดียวแต่ว่าถ้าพบหนี้ต้องใช้ให้ ถ้าเป็นเงินหรือของแล้วให้ริบไป แต่ก็ไม่มีใครฟังจึงยังด่ากันเล่นสบาย ตามที่จริงแล้วเสด็จพ่อเพิ่งทรงขายนาใช้หนี้ ๒๐,๐๐๐ บาท เมื่อก่อนสิ้นพระชนม์ได้สองเดือนเท่านั้น

ต่อจากได้รับการปลดปล่อยจากราชการแล้ว หมอแนะนำให้ไปอยู่เสียชายทะเล คือ หัวหิน เราเห็นด้วยเพราะกลัวต้องรับฝรั่งโดยไม่มีเงิน จึงไปอยู่หัวหินเลี้ยงไก้เป็ด และพยายามปลูกผักกิน

อยู่ได้ ๑ ปีในหลวงเสด็จยุโรป เสด็จพ่อจึงกราบถวายบังคมลาไว้ว่า จะไปอยู่ปีนัง เพราะต้องการความสงบและจะออกให้พ้นการเมือง ท่านตรัสกับเราว่า "พ่อยังมาลูกศิษย์และเพื่อนฝูงมากทั่วพระราชอาณาจักร เขาไม่มาหาก็ดูเป็นอกตัญญู ถ้ามาก็จะถูกหาว่าเป็นพวกเจ้า เราให้สุขเขาไม่ได้ก็อย่าให้ทุกข์เขา ไปเสียให้พ้นดีกว่า เราก็สบายเขาก็สบาย" เราจึงได้สู้สละบ้านเมืองไปอยู่ที่เงียบ แต่ผลที่ได้เริ่มต้นด้วยน้องชายที่กระทรวงมหาดไทยขอไปเป็นนักเรียนของกระทรวง ถูกเรียกกลับจากอังกฤษเพราะเกิดเป็นเจ้า เธอแวะไปเฝ้าเสด็จพ่อที่ปีนัง ท่านตรัสว่า "เธอต้องเข้าไปรายงานตัวแก่กระทรวง ถ้าเขาเอาไว้ในราชการก็ต้องอยู่ เพราะเราเกิดมาเป็นเจ้า ต้องให้ชีวิตแก่บ้านเมืองก่อน ถ้าบ้านเมืองไม่จต้องการก็อย่าคุกเข่าลงของาน จงไปขุดดินกินหญ้า" เราอยู่ในปีนังต่อไปด้วยความสงบสุข ใช้ชีวิตในการอ่านเขียนและเที่ยวหาความรู้ในที่ต่างๆด้วยเงินปีซึ่งถูกตัดเมื่อรัชกาลที่ ๗ เศรษฐกิจตกต่ำเป็นปีละ ๖,๐๐๐ บาท แต่วันหนึ่งเรากำลังลงเรือข้ามทะเลจากปีนังมาเมืองไทร เพราะตนกูมะหะหมุดเชิญไปกินกลางวัน ได้พบกับคุณมังกร สามเสน ในเรือข้ามฟาก เธอทูลเสด็จพ่อว่า "ข้าพระพุทธเจ้าอยากเชิญเสด็จกลับกรุงเทพฯ เพราะมีคนแนะนำสภาว่า ให้ตัดเงินเจ้านายที่ไปอยู่ต่างประเทศ เว้นแต่กรมพระนครสวรรค์ เพราะเขาให้ท่านไป ข้าพระพุทธเจ้ารู้ดีว่าฝ่าพระบาทไม่ใช่เจ้านายที่ทรงมั่งมี จึงไม่อยากเห็นทรงลำบากในเวลาทรงพระชราแล้ว" เวลานั้นพระชันษาเสด็จพ่อ ๗๘ ปี ท่านพระพักตร์แดงยืดพระองค์ตรงแล้วตรัสว่า "ขอบใจคุณมาก แต่กรมดำรงซื้อไม่ได้ด้วยเงิน ถ้าจะให้คุกเข่าลงเพื่อเงินเป็นอันไม่กลับ"

ทรงหันมาตบขาข้าพเจ้าตรัสถามว่า "อดตายกับพ่อไหมลูก" ข้าพเจ้าทูลตอบว่า "ตกลง" แล้วทรงปราศรัยกับคุณมังกรต่อไปว่า "ฉันมีมากก็ใช้มาก มีน้อยก็ใช้น้อย อายุก็ถึงปานนี้แล้ว เหตุใดจะเอาวันเหลือข้างหน้าอีก ๒-๓ วัน มาลบวันข้างหลังที่ได้ทำมาแล้วเสียเล่า" ต่อมาไม่ช้าพวกเราทุกคนก็ถูกตัดเงินหมดเลย แม้เงินเบี้ยหวัดที่ในหลวงประทานเพียงปีละ ๘๐ บาท เสด็จพ่อคงเหลือแต่เบี้ยบำนาญเดือนละ ๙๖๐ บาท อย่างเดียวจริงๆ เราก็ลงมือปลูกผักปลูกดอกไม้ขายต่อไปและลดค่าใช้จ่ายลงอีกเท่าที่จะอยู่ได้ ถ้าจะเล่าถึงการใช้จ่ายเวลานั้นก็เห็นจะต้องแต่งเรื่องเศรษฐกิจได้เล่มหนึ่ง อย่างไรก็ตามความจนไม่เอาชนะน้ำใจอันมั่นคงของเราได้ เราทุกคนเป็นสุขใจอย่างประหลาดที่อยู่ได้เช่นนั้น

วันหนึ่งเสด็จพ่อเสด็จไปพบหนังสือขายที่ร้านขายหนังสือเล่มหนึ่งราคา ๘ เหรียญ ท่านอยากทรงแต่เห็นว่าแพงเกินกำลัง ก็ยืนเปิดๆทอดพระเนตร แขกผู้ขายเข้าใจทูลว่า "เอาไปก่อนเถิด จะใช้เงินเมื่อไรก็ได้" ท่านก็เอามาตรัสบอกหญิงเหลือผู้เก็บเงินว่า "แขกมันเชื่อพ่อ เธอเอาไปใช้มันเสียทีนะ" เวลานั้นกำลังจะสิ้นเดือน หญิงเหลือก้หัวเสียบ่นออกไปว่า "ดี ไม่กินละข้าว กินหนังสือแทน" ท่านทำไม่ได้ยินแล้วเสด็จออกไปจากห้อง สักครู่ใหญ่ๆเสด็จกลับเข้ามาตรัสว่า "จะเอายังไงกับพ่อ สุรา นารี พาชี กีฬาบัตร ซึ่งผู้ชายน้อยนักจะรอดพ้นมาได้ พ่อก็ไม่มีเลย มีแต่หนังสือเท่านั้นที่เป็นความสุข จะเอาอย่างไรเล่า" เรานิ่งท่านก็ออกไปเขียนหนังสือต่อ หญิงเหลือเขาลุกขึ้นค้นเงินในลิ้นชักได้อีก ๑๒ เหรียญ เขาก็เอาออกไปส่งถวายว่ายังซื้อได้อีกเล่มหนึ่ง ท่านก็ทรงพระสรวลไม่ว่าอะไร ตามธรรมดาไม่ทรงเก็บเงินเอง ขอมีติดกระเป๋าเพียง ๑ เหรียญเผื่อรถเสียจะได้กลับบ้านได้เท่านั้น

เคราะห์กรรมของเรายังไม่หมด เกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ และญี่ปุ่นได้ครองปีนังอยู่กับเรา ๑๐ เดือน วันหนึ่งเขาเรียกให้ส่งหลักทรัพย์สมบัติที่เกี่ยวข้องกับศัตรู เราก็ส่งใบรับขอที่ฝากไว้กับแบงก์ฮอลันดา ๒ - ๓ หีบ ขออายัดไว้ว่าเรายังไม่ต้องการ ญี่ปุ่นแทงท้านใบรับมาว่า "ริบโดยกองทัพญี่ปุ่น" เรากลับมานอนแผ่ไปหลายวัน นึกถึงตุ้มหู แหวน และเครื่องแต่งตัวของแม่ ทำให้ใจเศร้า ข้าพเจ้าบ่นว่า "แม่จะนึกอย่างไร เสียแรงอุตส่าห์เก็บไว้ดูมาแต่เล็กแต่น้อย" ท่านตอบว่า "เอายังไง มันอยู่กับเรามาเป็นเวลานาน นึกว่าปล่อยให้มันไปเที่ยวบ้างก็แล้วกัน" และมันก็ยังไปเที่ยวอยู่จนบัดนี้ ถึงเดือนตุลาคม พ.ศ. ๒๔๘๕ เราได้กลับมาบ้านได้ เพราะญี่ปุ่นไปรับมาด้วยเสด็จพ่อประชวรโรคพระหทัยพิการ และหมอดีๆติดคุกหมด เผอิญชายพิศิษฐฯทำงานติดต่อกับญี่ปุ่นอยู่ใน Laison Office หน้าที่ราชการเธอจึงขอให้ไปรับพ่อเธอกลับมา นายทหารญี่ปุ่นคนนั้นคือ นายร้อยโทซูดา เข้มงวดกวดขันจนเกือบจะไม่ได้กลับมา

ครั้นมาถึงแดนไทยเข้าจริง กลับพบนายตำรวจภูธรของเราเองกวดขันเรายิ่งขึ้นไปอีก ข้าวของถูกค้นกระจุยกระจายที่สะเดา พอถึงทางแยกไปหาดใหญ่ก็พบรถนายตำรวจเต็มรถจอดคอยอยู่ คนหนึ่งรูปร่างใหญ่ขาวตาโตๆออกมายืนท้าวสะเอวตะโกนว่า "ผู้บังคับการให้กรมพระยาดำรงไปรายงานตัวที่จังหวัดเดี๋ยวนี้" นายซูดาก็ไม่ไปจะส่งโทรเลขที่หาดใหญ่ก่อน ยุ่งกันอยู่นานลงท้ายรถนายตำรวจเขาก็วิ่งนำหน้าไปสงขลา ถึงสงขลาค่ำพอดี เราตรงไปบ้านผู้บังคับการตำรวจตามคำสั่งแต่ไม่มีใครลงมาพบ นายซูดาไปเจรจากันข้างบน ๒ -๓ คำ แล้วก็พาเรามาลงเรือวลัยกลับกรุงเทพฯ

รุ่งขึ้นในเรือวลัยเสด็จพ่อทรงเบิกบานที่ได้บรรทมพักในเรือที่คุ้นเคยมาแล้ว แม้จะมีคนสะกดรอยตาม ออกมาเสวยเช้าบนดาดฟ้าและตรัสกับเราว่า "เสียดายจริงๆ ที่ตำรวจภูธรซึ่งพ่อตั้งมาเอง ไม่เอาเข้ากรงเมื่อคืนนี้ ถ้าเขาเปิดประตูกรงพ่อจะคลานเข้าไปโดยภาคภูมิใจ เพราะนี่แหละคือรางวัลสูงสุดที่พ่อได้รับ ไม่ใช่ยศใช่ตรา ดูซี พี่น้องพ่อมีเป็นหลายองค์ ทำไมเขาไม่ถูกจับลงโทษ ก็เพราะเขาไม่ได้ทำอะไรให้บ้านเมือง เมื่อบ้านเมืองมีภัยพ่อจะเป็นสุขได้อย่างไรเล่า แม้โรคพระหทัยพิการซึ่งไม่เคยทรงเป็นมาแต่ก่อนเลย เพิ่งจะเป็นเมื่อญี่ปุ่นขึ้นเมืองไทยนั่นเอง เสด็จพ่อตรัสเสมอว่า "รางวัลสูงสุดคือค้นความชั่วไม่พบในตัวเอง การติการชมเป็นเรื่องของคนอื่น เขารู้จริงบ้าง ไม่จริงบ้าง จะไปยุ่งด้วยทำไม บาปบุญเป็นของเขาเอง"

ครั้นกลับมาถึงบ้านทรงเบิกบานสบายเป็นอันมาก จนวันหนึ่งพายเรือเมื่อน้ำท้วมเข้าไปวัดพระแก้ว เกิดทอดพระเนตรเห็นทหารญี่ปุ่นยืนอยู่ ๒ คนที่หน้าร้านหยาดฟ้า ท่านหันมาถามข้าพเจ้าว่า "นั่นใครเอาหมวกญี่ปุ่นมาใส่" ข้าพเจ้าก็จำต้องทูลว่า "ก็ญี่ปุ่นเอง" เท่านั้นท่านรู้สึกขึ้นมาทันทีว่ามีญี่ปุ่นอยู่ในบ้านในเมืองแล้ว ก็เลยฉุนกริ้วคนโน้นคนนี้ไปตลอดทาง แต่วันนั้นมาก็ทรงบ่นแต่ว่าอยากตายไม่มีอะไรดีจะคอยดูแล้ว ไม่ค่อยเอาพระทัยใส่แก่การรักษาพระองค์ ไม่มีเตือนว่าจะต้องทำอะไรเวลาไรอย่างแต่ก่อน ถึงวันที่ ๑ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๖ ก็บรรทมหลับไม่ตื่นจริงๆ

หมอกอชลิคบอกว่าพระหทัยหยุดเฉยๆและพระสติปัญญาขนาดคนอายุ ๖๐ แต่พระชันษาท่าน ๘๑ ปี กายกับจิตแก่กว่ากันถึง ๒๐ ปี จึงไม่อ่อนไปตามกัน เสด็จพ่อยังทรงจำอะไรได้แม่นยำ ไม่หลงเลือนเลยสักอย่างเดียว เคยทรงเล่าว่า ในเวลาท่านทรงเป็นนายทหารประจำอยู่ในพระราชวังหลวงนั้น เจ้าพี่เจ้าน้องรุ่นเดียวกันจะมาประทับคุยอยู่ใกล้ๆประตูวัง เห็นคนเข้าออกเนืองแน่นอยู่เสมอ จึงทรงคิดกันว่าจะลองความรู้คนดูสักที แล้วทรงจดชื่อคน ๔ คน คือ

๑. ท่านขรัวโต(สมเด็จพระพุทธาจารย์)
๒. พระพุทธยอดฟ้า
๓. จำไม่ได้ว่าใคร
๔. อีนากพระโขนง

ให้คนคอยถามทุกคนเข้าออกประตูว่าใน ๔ คนนี้รู้จักใครบ้าง อีนากพระโขนงชนะ ทำให้คิดว่าอีก ๑๐๐ ปีข้างหน้าใครจะอยู่ในเมืองไทยในฐานะเช่นไร ส่วนเสด็จพ่อของข้าพเจ้านั้นอย่างน้อยก็คงจะได้เสด็จอยู่ในพระนามว่า พระบิดาประวัติศาสตร์ ดอกกระมัง

สัตว์ทั้งหลายเอ๋ย ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น จงเป็นสุขๆเถิด อย่าได้มีเวรกรรมซึ่งกันและกันเลย...สาธุ



....................................................................................................................................................

(๑) ขณะนั้นยังทรงดำรงพระอิสรยยศเป็น แกรนดยุ๊กซาร์เรวิช รัชทายาทประเทศรุสเซีย

(๒) ทรงดำรงตำแหน่งสมาชิกกิตติมศักดิ์ของพระประเทศฝรั่งเศสใน ๒ สมาคม
๑. Honorary Member-Asiatic Socyeti of paris. เมื่อวันที่ ๑๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๗๑
๒. Honorary Member-Ecole Francaise d' Extreme-Orient. เมื่อวันที่ ๑๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๑

และทรงเป็น Honorary Member อีกหลายสมาคมในหลายประเทศ มีอังกฤษ เยอรมัน อิตาลี ฮอแลนด์ เมืองบาเตเวีย ชวา อินเดีย เป็นต้น



พระประวัติลูกเล่า หม่อมเจ้าหญิงพูนพิศมัย ดิศกุล
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ


......................................................................................................................................................
 
 

โดย: กัมม์ วันที่: 20 มีนาคม 2550 เวลา:10:18:10 น.  

 
 
 
อ่านตาแฉะเลยค่ะ เหมือนเข้าไปนั่งในหน้าประวัติศาสตร์นั้น ๆ ด้วย
 
 

โดย: biebie999 วันที่: 28 มีนาคม 2550 เวลา:14:32:00 น.  

Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

กัมม์
 
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 41 คน [?]




วิชา ความรู้จะมีค่าเมื่อถูกถ่ายทอด
[Add กัมม์'s blog to your web]

MY VIP Friend

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com