ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เที่ยวย้อนยุค "เดินตรอกท่องย่านกะดีจีน" มรดกล้ำค่าทางวัฒนธรรม ริมน้ำเจ้าพระยา

เที่ยวย้อนยุค ย่านถิ่น “กะดีจีน” ริมเจ้าพระยา มรดกวัฒนธรรม สามศาสนา สี่ความเชื่อ


เสาร์ที่ผ่านมา 4 มิถุนายน 2554 มีโอกาสได้ไปร่วมทริป รายการศึกษาสัญจรของสยามสมาคมในพระบรมราชูปถัมภ์ ใช้ชื่อรายการศึกษาสัญจรครั้งนี้ว่า “เดินตรอกท่องย่านกะดีจีน” นำโดย คุณสุดารา สุจฉายา และ คุณธีระนันท์ ช่วงพิชิต ขอขอบพระคุณที่ถ่ายทอดความรู้ ความเข้าใจ เข้าถึง ท้องถิ่น และวัฒนธรรมท้องถิ่นต่างๆ มา ณ ที่นี้ด้วย

อย่างไรก็แล้วแต่ครับ ก่อนจะเริ่มเขียนทริปสัญจรนี้ ผมขอให้เรามาลองดูทางด้านกายภาพ Landscape ทั่วไปแถวริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณใกล้เคียงย่านกะดีจีนนี้ก่อนครับ เผื่อบางคนอาจจะนึกไม่ออกว่าอยู่ตรงไหน ใกล้กับสถานที่ใดบ้าง



ผมยังมีภาพถ่ายทางอากาศ จากหนังสือ”สมุดภาพแห่งกรุงเทพมหานคร 220 ปี” ซึ่งภายในหนังสือจะมีภาพเก่า-ใหม่ เปรียบเทียบในบริเวณ และมุมมองใกล้เคียงกันครับ



ภาพเก่า ถ่ายทางอากาศ เป็นช่วงซ่อมแซมสะพานพุทธ




ภาพถ่าย ทางอากาศ ถ่ายประมาณ ปี พ.ศ. 2544-2545




ภาพถ่ายเก่าทางอากาศ บริเวณช่วงวัดกัลยณมิตร เลยไปเป็นแยกปากแม่น้ำบางหลวง(บางกอกใหญ่) และมองเลยปากแม่น้ำไปเป็นวัดอรุณ




ภาพถ่าย ทางอากาศ บริเวณเดียวกัน ถ่ายประมาณ ปี พ.ศ. 2544-2545




ภาพถ่าย(เก่า) ทางอากาศ บริเวณวัดกัลยาณมิตร ริมแม่น้ำเจ้าพระยา




ภาพถ่าย ทางอากาศ(วัดกัลยา) บริเวณเดียวกัน ถ่ายประมาณ ปี พ.ศ. 2544-2545


เอาพอสังเขป ครับ คงนึกภาพออกประมาณหนึ่งได้มั้งครับ
ส่วนข้อมูลย่อๆ เกี่ยวกับ กะดีจีน (ซึ่งผู้เขียนได้รับจากสมาคม เป็น email ) มีดังนี้ครับ


กะดีจีน หรือที่ปัจจุบันเรียกขานกันว่า “กุฎีจีน” เป็นย่านเก่าแก่ของกรุงเทพฯ ตั้งอยู่ติดริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ฝั่งตะวันตกด้านหนึ่ง อีกด้านประชิดฝั่งซ้าย ของปากคลองบางกอกใหญ่ หรือคลองบางหลวง อันอยู่ตอนใต้ของพระราชวังเดิม ผืนดินบริเวณนี้เป็น “บ้าน”ของชาวไทยหลากชาติพันธุ์หลากศาสนา มาตั้งแต่สมัยอยุธยา อันได้แก่ ชาวจีนฮกเกี้ยน ชาวมุสลิม ชาวโปรตุเกส และชาวไทย รวม 6 ชุมชน 3 ศาสนา แม้ย่านกะดีจีน จะมีผู้คนหลายชาติพันธุ์ หลายศาสนา อพยพมาตั้งถิ่นฐาน ในพื้นที่เดียวกัน ก็หาเป็นอุปสรรค ในการอยู่ร่วมกัน ย่านเก่าแก่แห่งนี้ จึงสามารถสะท้อนให้เห็นความเป็นสังคมพหุลักษณ์ของไทยได้อย่างดียิ่ง ความงดงามทางศิลปะวัฒนธรรม ประเพณี รวมถึงประวัติศาสตร์อันยาวนาน ของย่านกะดีจีน คือ “เสน่ห์” แท้จริงที่ดึงดูดให้ผู้คนเข้ามาสัมผัสถึงคุณค่าของย่านเก่าแก่แห่งนี้


รายละเอียดการเดินทริปสัญจรศึกษา ตามรายการด้านล่างครับ





ผู้ร่วมทริปเดินทางมาจุดนัดหมาย ที่ท่าเรือด่วนราชินี (แถวปากคลองตลาด)


วิทยากร คุณสุดารา เกริ่นนำ ถ่ายทอดรายละเอียดต่างๆ เกี่ยวกับสถานที่ว่าอดีต มีความเป็นมาอย่างไร



ถ่ายจากท่าเรือราชินี ภาพนี้ เป็นภาพมุมกว้างอีกด้านของเจ้าพระยา จะเห็นฝั่งตรงข้าม ที่เราจะไปสัญจรกันครับ
ภาพมุมกว้างแบบนี้ ถ้าเราเข้าไปดูใน google earth เราจะเห็นภาพลักษณะนี้ที่นักท่องเที่ยวไปโพสต์กันครับ




ภาพด้านล่างนี้ถ่ายระหว่างเรือกำลังข้ามฟาก จากท่าเรือราชินี มาท่าเรือ วัดกัลยา ครับ วิวทิวทัศน์ ไม่เบาเลยครับ





อาคารสุนันทาลัย โรงเรียนราชินี




ป้อมวิไชยประสิทธิ์


ข้ามฟากมาที่ท่าเรือวัดกัลยา ที่แรกที่จะไปดูอย่างใกล้ชิด ก็คือ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ ต้องเดินเข้าทางตรอกครับ
รับฟังท่านวิทยากร บรรยายว่า ป้อมวิไชยประสิทธิ์ มีมาแต่สมัยอยุธยาแล้ว เดิมชื่อ ป้อมบางกอก หรือป้อมวิไชยเยนทร์

เดินทางเท้าต่อครับ ตามสโลแกน “เดินตรอก”



มาถึงอีกจุดครับ เป็นมุมมองที่สวยมากครับ แต่ต้องขึ้นบันไดไปดูวิว ในมุมสูง หลัง”ประตูน้ำ” ด้านที่อยู่ปากคลองบางกอกใหญ่ (คลองบางหลวง)



มองออกไป นอกจากจะเห็นวิว ปากคลองบางหลวงแล้ว เลยออกไปอีกฝากหนึ่ง จะเห็น”วังจักรพงษ์” ตั้งตระหง่านอยู่ครับ (ซึ่งในสมัยก่อน บริเวณวังจักรพงษ์นี้ เป็นบริเวณที่ตั้งของอีกป้อมปราการหนึ่งที่สร้างคู่กันมาแต่เดิมกับ ป้อมวิไชยประสิทธิ์ แต่ป้อมดังกล่าวนี้ได้รื้อไปแล้วครับ)

ตรงบริเวณที่ชมวิวตรงนี้ ก็น่าจะเป็นอีกประตูน้ำ อีกตัวหนึ่ง (ใหญ่กว่าตัวหน้าปากคลอง แต่ผมไม่แน่ใจ)
ผู้ร่วมทริปใช้บันไดเหล็กวน ตัวนี้(แต่ไม่ได้ขึ้นไปสูงแบบที่เห็น ขึ้นไปแค่ชั้นที่ 2 (ตามรูป) เพื่อข้ามคลองบางกอกใหญ่ เพื่อดินทางออกไปสู่วัดท้ายตลาด (วัดโมฬีโลกยาราม)





วังจักรพงษ์




ฟังผู้บรรยายเล่าถึงวัดท้ายตลาด (วัดโมฬีโลกยาราม) ซึ่งเป็นวัดเก่าแก่ตั้งแต่สมัยอยุธยา จนมาถึงกรุงธนบุรี


เดินไปอีกหน่อยก็ไปถึงสถานที่อีกแห่งครับ คือ มัสยิดต้นสน (เปลี่ยนโปรแกรมจากมัสยิดบางหลวง) ซึ่งเป็นมัสยิดที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานคร คือมีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา



บรรยากาศและสิ่งปลูกสร้างในมัสยิด




ออกจากมัสยิดต้นสนแล้วเดินเท้าต่อครับ ภาพนี้ถ่ายบนสะพาน ข้ามคลองบางกอกใหญ่ วัดที่เห็นอยู่ไกลๆ ในภาพ ก็คือวัดกัลยาณมิตร ครับ
สถานที่ที่เราจะไปเยี่ยมชมที่ต่อไป ก็คือ “บ้านพาทยโกศล” บ้านครูดนตรีไทยสำนักสายฝั่งธนฯ อันเลื่องชื่อ ซึ่งแน่นอนครับตาม Concept ต้อง “เดินตรอก” เช่นเคยครับ



เดินตรอก เข้ามาอีกไม่ไกลจากสะพานข้ามคลองบางกอกใหญ่จะเห็นประตูทางเข้า”บ้านพาทยโกศล”
รับฟังเรื่องราวจากวิทยากร เกี่ยวกับประวัติความเป็นมาของบ้านพาทยโกศล



บรรยากาศภายในบ้านพาทยโกศล


เดินทะลุตรอกซอกซอยเพื่อไปสู่วัดกัลยาณมิตรครับ



นั่งพักผ่อน รับฟังเรื่องราวเกี่ยวกับวัดกัลยาณมิตร และหลวงพ่อโต (หลวงพ่อซำปอกง) ว่ามีที่มาอย่างไรจากวิทยากร จากนั้นวิทยากรนำชมจิตรกรรมฝาผนัง ในวิหารน้อย (ปกติจะไม่ค่อยเปิด) ซึ่งจิตรกรรมฝาผนังนี้ จิตรกรช่างวาดได้สะท้อนเรื่องราวของชุมชนริมแม่น้ำเจ้าพระยา เช่นมีการวาดเรื่องราวเกี่ยวกับมัสยิดต้นสน (ตามรูป) ซึ่งรูปแบบปัจจุบันของมัสยิดเดิม (ในจิตรกรรมฝาผนัง) มีความแตกต่างกับปัจจุบัน เพราะมัสยิดเพิ่งมีการบูรณะ



มัสยิดในปัจจุบัน(บูรณะใหม่) จะมีความแตกต่างกับแบบเดิมอยู่บ้าง (ลองดูภาพที่วิทยากรชี้ครับ)


เดินทางต่อครับ “เดินตรอก” ไปศาลเจ้าเกียนอันเกง (ศาลเจ้าแม่กวนอิม) ศาลเจ้าเก่าแก่อันเป็นที่มาของชื่อ กุฎีจีน หรือ กะดีจีน



มาถึงศาลเจ้าเกียนอันเกง ผู้ดูแลศาลเจ้าเป็นตระกูลสิมะเสถียร มาหลายชั่วอายุคน ซึ่งตกทอดมาถึงในปัจจุบัน ศาลเจ้าแห่งนี้ได้รางวัลเกี่ยวกับการอนุรักษ์ดีเด่น จากสถาปนิกสยาม



ทางผู้ดูแลศาลเจ้า มาให้ความรู้เกี่ยวกับที่มาของชื่อ กุฎีจีน ว่ามาจากศาลเจ้าแห่งนี้ ทางเข้าศาลเจ้าจะมีไม้แกะสลักเก่า เป็นรูปดอกบัว



นอกจากนั้น ยังมีไม้แกะสลักตรงหน้าต่างทั้ง 2 รูปแบบ คือ แบบกลม และแบบเหลี่ยม แต่ที่แปลกกว่าไม้แกะอื่นๆ ก็ตรงช่างที่แกะสมัยก่อน แฝงสัญญลักษณ์ความเชื่อไว้ในไม้แกะบานหน้าต่าง ทั้ง 2 รูปแบบ ลองดู ตรงรูประบายสีครับ จะเห็นว่า เป็นทั้งตัวมังกร ตวัดหางขึ้น และเป็นทั้ง ภาชนะที่เป็นที่บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์



ปรัชญาและความเชื่อของชาวจีนแฝงอยู่ในลายไม้แกะโบราณ




เจ้าแม่กวนอิม ปางสมาธิ ประทับอยู่ในศาลเกียนอันเกง
ศาลเจ้านี้จึงมีอีกชื่อ คือ "ศาลเจ้าแม่กวนอิม"


ข้อมูลเพิ่มเติมพร้อมคลิปภาพเคลื่อนไหวดูได้ที่ลิงกนี้เลยครับ https://www.youtube.com/watch?v=kPlelKFoj-o

หลังจากไหว้ศาลเจ้าแม่กวนอิม (เกียนอันเกง) แล้ว เดินทางออกมาจากศาลเจ้า ก็จะเป็นทางเดินเลาะริมแม่น้ำที่สวยงาม สามารถสัญจรโดยการเดิน หรือ สัญจรโดยจักรยาน มีนักท่องเที่ยว ชอบใช้จักรยานทริปสัญจรบริเวณนี้มาก เพราะวิวทิวทัศน์สวยงามมาก



เดินเลาะทางริมน้ำเจ้าพระยาเพื่อเดินทางต่อไปโบสถ์ซางตาครูซ ระหว่างทางเราจะเห็นบ้านเก่า หลังใหญ่ ซึ่งมีลวดลายสวยงามมาก แต่ก็ยังดูทรุดโทรมอยู่มาก บ้านหลังดังกล่าวมีประวัติเคยเป็นบ้านของหลุยส์วินเซอร์



2 อารมณ์
บ้านซ้ายมือเป็นบ้านเก่า






โบสถ์ซางตาครูซ สถาปนิกชาวอิตาลีเป็นออกแบบ เป็นคนเดียวกับที่ออกแบบเพราะที่นั่งอนันตสมาคม และสถานีรถไฟหัวลำโพง


รับฟังเรื่องราวของชุมชนรอบโบสถ์ซางตาครูซ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่พระเจ้ากรุงธนบุรี พระราชทานให้ชาวโปรตุเกสที่อพยพมาตั้งบ้านเรือนถัดจากศาลเจ้ากะดีจีนลงไป เป็นเหตุให้ผู้คนนิยมเรียกชาวโปรตุเกสเหล่านี้ว่า “ฝรั่งกะดีจีน” ชาวไทยเชื้อสายโปรตุเกส ในชุมชนเคยได้รับการยกย่อง ว่ามีความสามารถในทางเป็น “ล่าม” เพราะนับแต่สมัยอยุธยา การติดต่อกับชาติตะวันตก อาศัยภาษาโปรตุเกสเป็นภาษากลาง เพิ่งมาเปลี่ยนเป็นภาษาอังกฤษใน รัชกาลที่ 4 นี้เอง



แวะมาที่สุดท้ายในทริปแล้วครับ เป็น”ร้านธนูสิงห์’ ร้านขนมฝรั่งกุฎีจีน รุ่นที่ 5 สืบทอดมานานกว่า 200 ปี รุ่นต่อรุ่น ที่นี่เค้ายังรักษาสูตรดั้งเดิมอยู่เลย รับฟังจากทางร้านธนูสิงห์ สูตรดั้งเดิมเค้า มีส่วนผสมอยู่ 3 อย่าง คือ แป้งสาลี(ในอดีตใช้แป้งข้าวเจ้า) น้ำตาล ไข่เป็ด ผมลองจินตนาการภาพดูครับ (จากคำบอกเล่าต่างๆ) ทหารโปรตุเกสที่เดินทางโดยเรือไปภูมิภาคอื่นสมัยโบราณ เค้าก็ต้องใช้แป้ง เป็นส่วนผสมในการทำขนม หรืออาหาร จนกระทั่งตกทอดมาถึงเมืองไทย โดยผ่านทางชาวไทยที่มีเชื้อสายโปรตุเกสมานานนับร้อยปีแล้ว และวิทยากรยังกล่าวเสริมครับว่านอกจากขนมฝรั่งกุฎีจีนแล้ว ยังมี “กุดสลัง และ ขนมกวยตั๊ด” นอกจากนี้ ยังมี ขนมทองหยิบ ทองหยอด ฝอยทอง ที่ทำมาจากไข่ก็ล้วนมาจากฝรั่งโปรตุเกส จนวันนี้กลายเป็นขนมของไทยไปอย่างสมบูรณ์

ซื้อขนมจากร้านธนูสิงห์ กลับบ้านมาหลายแพ็ค เอาไว้ทานรองท้อง ตอนเล่นคอมพิวเตอร์ครับ จบทริป ผู้ร่วมเดินทริปสัญจร เดินทางกลับโดยสวัสดิภาพ ส่วนตัวผม เดินทางกลับมารอเรือที่ท่าเรือวัดกัลยา เพื่อข้ามฟากกลับสู่ท่าเรือราชินี





สามทุ่มเดินทางกลับถึงบ้าน รับประทาน ขนมฝรั่งกุฎีจีน กับชาร้อน ด้วยความรู้สึกประทับใจในเรื่องราว ของวัฒนธรรม และชุมชนหลากชาติพันธุ์ ที่อยู่ร่วมกันด้วยความสงบสุขมานับร้อยๆ ปี นับเป็นชุมชนที่น่าเข้ามาสัมผัสมากมายครับ





ท่านใดสนใจ ข่าวเกี่ยวกับการสัญจรท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงศิลปกรรม และวัฒนธรรมไทย ตลอดจนวิถีชีวิตคนไทยในแง่มุมต่างๆ หรืออยากร่วมกิจกรรมสัญจรดังกล่าวข้างต้น อย่างแรกเลยครับ ต้องติดต่อเครือข่าย ชมรมท่องเที่ยวสัญจรก่อนครับ (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ) ส่วนตัวผมก็เป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายท่องเที่ยวสัญจรเชิงวัฒนธรรม ทริปนี้ผมก็ทราบข่าวทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน

วิธีสมัครเพื่อทราบข่าว วิธีเดียวครับ คือ ส่ง email address ไปร่วมเป็นสมาชิกครับ (สะดวกที่สุด)
ที่ เครือข่ายท่องเที่ยวสัญจร
กลุ่มชมรมสยามทัศน์ (คุณป้อม) email address: prapop1040@yahoo.co.th

หรือ กลุ่ม Smile Trip //www.facebook.com/pages/Smiletrip/112567902128950
email address: smiletripgroup@gmail.com

ข้อมูลเพิ่มเติม ชุมชน "กะดีจีน" ดูได้ที่ลิงก์นี้เลยครับ







Create Date : 11 มิถุนายน 2554
Last Update : 14 กันยายน 2554 7:36:37 น. 1 comments
Counter : 6215 Pageviews.

 
มาเยี่ยมชม ครับ


โดย: Kavanich96 วันที่: 12 มิถุนายน 2554 เวลา:8:34:01 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.