ชมวิวทิวทัศน์ เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
เดินเที่ยววัดโพธิ์....ข้ามฟากไป....วัดแจ้ง Part 1 (ย้อนรอย...ศิลาจีน)

ข้อมูลอ้างอิง : หนังสือสารคดี ชุด โบราณวัตถุสำคัญในประเทศไทย แต่ชื่อเรื่อง "รูปศิลาจีน สมัยรัตนโกสินทร์" เขียนโดย "มานพ ถนอมศรี"ขอขอบพระคุณ มา ณ ที่นี้ด้วย

รูปศิลาจีนเหล่านี้ นับเป็นการผสมผสานระหว่าง 2 วัฒนธรรม (ไทย-จีน) ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน




พอดีผมไปได้หนังสือ เป็นหนังสือสารคดี ชุด โบราณวัตถุสำคัญในประเทศไทย แต่ชื่อเรื่อง "รูปศิลาจีน สมัยรัตนโกสินทร์" (ตามรูปด้านล่าง) เขียนโดย "มานพ ถนอมศรี" น่าจะพิมพ์มาร่วม 10 ปีได้มั้งครับ อ่านดูข้างในก็น่าสนใจดีครับ ลอง SEARCH ใน GOOGLE ดู ก็ยังมีคนเขียนข้อมูลเรื่องนี้ไม่มาก แต่รูปภาพมีมากครับในอินเตอร์เน็ต ก็เลยลองกลับมาดู STOCK รูปภาพที่เคยถ่ายเอาไว้ช่วงที่ไปเดินสัญจร และช่วงที่ผ่านไปแถวนั้นครับ ส่วนใหญ่ก็ถ่าย รูปศิลาจีนมาบ้าง อาทิตย์ก่อนตั้งใจจะเขียนเรื่องนี้ ก็เลยเจาะจงเน้นไปที่ "ศิลาจีน" และรูปหล่อ ฤาษีดัดตน" เลยครับ



รูปศิลาจีนเหล่านี้ นับเป็นการผสมผสานระหว่าง 2 วัฒนธรรม (ไทย-จีน) ที่เป็นหนึ่งเดียวกัน แสดงถึงสื่อสัมพันธ์ของคนไทยและคนจีน ที่มีมานับหลายร้อยปีล่วงมาแล้ว ตั้งแต่สมัยสุโขทัย มาอยุธยา ธนบุรี และปัจจุบัน รัตนโกสินทร์





และเนื่องจากสมัยรัตนโกสินทร์นี่เอง ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดศิลปกรรมแบบจีน ตามศาลเจ้าต่างๆ ที่คนจีนในเมืองสยามสร้างขึ้น จึงทรงนำมา”ดัดแปลง” ให้เข้าสถาปัตยกรรมไทยได้อย่างงดงาม น่าดูไปอีกแบบหนึ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่า วัดทุกวัดที่สร้างบูรณะ และปฎิสังขรณ์ขึ้นในรัชสมัยของพระองค์ ที่ลักษณะที่มีอิทธิพลของสถาปัตยกรรมจีนแทบทั้งสิ้น
สิ่งหนึ่งที่มีอยู่ในวัดเหล่านี้ อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนหน้านี้คือ การประดับตกแต่งอาคารและบริเวณวัดด้วยประติมากรรม ที่คนไทยเรียกกันจนติดปากว่า "ตุ๊กตาจีน" และศิลปะวัตถุแบบจีนต่างๆ เช่น แท่นบูชา เรือสำเภาจำลอง หรือที่เรียกว่า งานก่ออิฐถือปูน รวมไปถึงถะ เกี้ยว และเขามอ

เขามอ หมายถึง สวนหย่อม เป็นสวนหินปลูกไม้ประดับที่รัชกาลที่ ๓ โปรดเกล้าฯ ให้รื้อขนก้อนศิลาใหญ่ และเล็กซึ่งก่อเป็นภูเขาในสวนขวาในพระบรมมหาราชวัง แต่ครั้งรัชกาลที่ ๒ มาก่อนเป็นภูเขาเป็นสวนประดับรอบวัด ปลูกต้นไม้ไว้ตามเชิงเขาและบนเขา มีทั้งสถูปและเสาโคมแบบจีน รูปตุ๊กตาจีนและรูปสัตว์จัตุบาท (สัตว์สี่เท้า) ต่างๆ เรียงรายอยู่ทั่วไปทั้งบนเขา และเชิงเขา เขามอมีทั้งหมด ๒๔ ลูก เช่น เขาประดู่ เขาสะเดา เขาอโศก เขาสมอ เขาฤษีดัดตน เขาศิวลึงค์ เป็นต้น พรรณไม้ที่ปลูกประดับส่วนใหญ่ตายลงทางวัดได้ปรับปรุงเป็นสวนหิน ประดับด้วยไม้ดอกไม้ใบนับเป็นมุมนั่งพักผ่อนที่เพลิดเพลินตาเย็นกายสบายใจ



ขามอ


ตุ๊กตาจีน หรือ รูปจำหลักหินแบบต่างๆ
การประดับตกแต่งอาคาร และบริเวณด้วยตุ๊กตาจีน หรือรูปสลักหินต่างๆ เพิ่งจะริเริ่มทำขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เนื่องด้วยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทำการค้ากับประเทศจีน และมีการนำรูปสลักหินแบบต่างๆ จากเมืองจีนเข้ามาในประเทศสยามเป็นครั้งแรก และนำเข้าเรื่อยมาจนสิ้นรัชกาล
การเข้ามาของรูปสลักหิน จากเมืองจีนมีสาเหตุที่พอจะสันนิษฐานได้ 3 ประการคือ

1.มาในฐานะ"เครื่องอับเฉา" เพราะการค้าขายกับจีนสมัยนั้น ทำโดยการบรรทุกสินค้าใส่ลงในเรือสำเภา ขาไปมีสินค้าจำพวกเหล็ก ดีบุก ไม้สัก งาช้าง หนังสัตว์ บรรทุกไปเต็มลำเรือ แต่พอขากลับจากเมืองจีน ถึงแม้จะมีการซื้อสินค้าจากจีนกลับมาด้วยก็ตาม แต่สินค้าเหล่านั้นก็มีน้ำหนักน้อย เพราะเป็นจำพวก ไหม แพร ใบชา และถ้วยชาม ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องหาของ "ที่มีน้ำหนักมาก" มาเป็น"เครื่องอับเฉา" ถ่วงเรือไม่ให้โคลง จึงต้องใช้รูปจำหลักหินที่ช่างจีนทำไว้มาถ่วง เมื่อมาถึงเมืองไทย ก็นำเอารูปจำหลักเหล่านั้น ไปประดับตกแต่งอาคาร และบริเวณวัดต่างๆ ที่กำลังก่อสร้างขึ้นอย่างมากมาย
2.พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงโปรดสั่งรูปจำหลักเหล่านี้จากเมืองจีน ด้วยความพอพระทัยในความงดงาม น่าทึ่งและความแปลกของรูปจำหลักเหล่านั้น จึงทรงนำเข้ามาเพื่อประดับวัดวาอารามต่างๆ ที่ทรงสร้างและปฎิสังขรณ์
3.พ่อค้าจีนนำตุ๊กตาหินจีน มาทูลเกล้าถวาย ด้วยเห็นว่าพระองค์ทรงโปรด เพื่อความดีความชอบและความภาคภูมิใจในศิลปกรรมของชาติตน โดยนำติดมากับเรือสำเภาบรรทุกสินค้าของตนที่นำสินค้ามาขายในประเทสสยาม
ประเภทของรูปจำหลักหิน รูปจำหลักหินที่นำมาจากเมืองจีน และประดับประดาอยู่ตามวัดวาอารามต่างๆ ในประเทศไทยมีอยู่หลายแบบหลายขนาด สามารถแบ่งออกไปเป็นประเภทต่างๆดังนี้
-ลั่นถัน
-ตุ๊กตาฝรั่ง
-สัตว์ในจินตนาการ และตำนานต่างๆ
-สัตว์ต่างๆ
-สิ่งของเครื่องใช้ ที่ถูกจำลองออกมาเป็นรูปจำหลักหิน
-รูปจำลองหินแบบไทย


ลั่นถัน หมายถึงรูปจำหลักหินที่เป็นรูปคนต่างๆ ทั้งที่เป็นขุนนางฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋น ซึ่งเรียกกันว่า "ตัวงิ้ว" ขนาดเล็กและขนาดใหญ่ โดยมักนำมาวางไว้ตรงช่องทางเข้าออกและประตูอาคารสถาปัตยกรรม





ขุนนางฝ่ายบู๊ (ในวัดโพธิ์)




ขุนนางฝ่ายบู๊ (ในวัดแจ้ง)




ขุนนางฝ่ายบู๊ (ในวัดแจ้ง)




ขุนนางฝ่ายบู๊ (ในวัดแจ้ง)




ขุนนางฝ่ายบุ๋น (ในวัดโพธิ์)




ขุนนางฝ่ายบุ๋น (ในวัดแจ้ง)




ขุนนางฝ่ายบุ๋น (ในวัดแจ้ง)


สำหรับตัวงิ้ว หรือลั่นถันนี้ ในประเทศจีนมักนำไปตั้งตามสุสาน เพื่อรับใช้ร่างที่ฝังอยู่ในสุสานนั้น ทั้งยังปกป้องไม่ให้สิ่งเลวร้ายมารบกวนดวงวิญญาณคนตายด้วย
ลั่นถันที่พบเรียงรายคลอดทางเข้าสุสาน เป็นรูปจำหลักหินขุนนางฝ่ายบู๊และฝ่ายบุ๋นเช่นเดียวกับที่ประดับอยู่ตามวัดวาอารามในเมืองไทย เช่นสุสานราชวงศ์หมิงกรุงเป่ยจิง และสุสานราชวงศ์ถังที่เมืองซีอาน

ตุ๊กตาฝรั่ง ชาวยุโรปเดินทางสู่ประเทศจีน ในสมัยราชวงศ์ชิง ซึ่งเป็นสมัยเดียวกับที่สยามทำการติดต่อค้าขายกับประเทศจีน ช่างสลักหินชาวจีน ได้สร้างรูปจำลองของตนเป็นลักษณะชาวต่างชาติรูปร่างสูงใหญ่ แต่งกายแบบตะวันตก แต่มีใบหน้าถมึงทึงน่ากลัวเป็นส่วนใหญ่ รูปจำหลักหินฝรั่งเหล่านี้ ถูกนำมาพร้อมกับลั่นถัน และตุ๊กตาจีนอื่นๆด้วย



ตุ๊กตาฝรั่ง (วัดโพธิ์) ได้ยินมัคคุเทศน์พากย์ให้นักท่องเที่ยวว่าชื่อ “มาร์โคโปโล”


สัตว์ในจินตนการ และตำนานต่างๆ ได้แก่ สิงโต มังกร กิเลน ซึ่งมีขนาดและแบบอย่างต่างๆกัน สัตว์ในเทพนิยายเหล่านี้จัดเป็นของสูง จึงมักประดับตกแต่งอยู่ในส่วนสำคัญ เช่น เชิงบันได ทางเข้า-ออก



กิเลน อยู่ในวัดโพธิ์




มังกร อยู่ในวัดแจ้ง


สัตว์ต่างๆ ได้แก่ ม้า โค กระบือ กวาง ลิง เสือ ฯลฯ ทั้งที่มีคนขี่และไม่มี สัตว์เหล่านี้จะถูกนำไปตกแต่งไว้ตามเขามอ ซึ่งทำขึ้นตามส่วนต่างๆ ของบริเวณวัด โดยจัดวางอยู่กับพื้น หรือบนเขามอ ตามความเหมาะสม



สัตว์ประเภทต่างๆ




ตุ๊กตาหินจำนวนมาก นำมาประดับรอบอุโบสถวัดแจ้ง


สิ่งของเครื่องใช้ ที่ถูกจำลองออกมาเป็นรูปจำหลักหิน อันได้แก่แท่นบูชา เสาโคม ซุ้มโขลนทวาร กล่องหิน และแท่นหิน รวมไปถึงกระถางหินที่สามารถใช้ปลูกบัวได้







รูปจำลองหินแบบไทย

ในรัชสมัยพระบามสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว มีชาวจีนเดินทางมาในกรุงสยาม เป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะช่างจีนในสาขาต่างๆ ซึ่งโปรดให้เข้ามาเพื่อดำเนินงานก่อสร้างวัดที่สร้างและปฎิสังขรณ์ในรัชสมัยของพระองค์ ในจำนวนช่างเหล่านั้น มีช่างแกะสลักหินร่วมเดินทางเข้ามาด้วย ช่างสลักหินชาวจีนเหล่านี้ นอกจากจะรับหน้าที่แกะสลักตุ๊กตาจีนเพื่อประดับตกแต่งตามบริเวณต่างๆแล้ว ในตอนกลางรัชสมัยก็ได้แกะสลักตุ๊กตาหินแบบไทยขึ้นมาด้วย



ตุ๊กตาหินแบบไทย (วัดแจ้ง) ช่างจีนแกะสลัก ใบหน้าและท่าทางละม้ายไปทางจีนอยู่มาก


สันนิษฐานว่า นายจ้างผู้ควบคุมการก่อสร้าง ได้ออกแบบภาพไทยให้ช่างชาวจีนเป็นผู้แกะสลัก แต่ความชำนาญและความคุ้นเคยแต่กับการแกะสลักภาพแบบจีน จึงทำให้ช่างเหล่านั้นไม่สามารถทำใบหน้าและท่าทางอย่างที่คนไทยแท้จริงเป็นได้ ดังนั้นจึงปรากฎออกมาว่า แม้จะเป็นรูปแกะสลักหินแบบไทย แต่ก็ยังมีใบหน้า และท่าทางละม้ายไปทางจีนอยู่มาก เช่น มีนัยน์ตาชั้นเดียว รูปหน้าก็เป็นรูปหน้าของคนจีน เป็นต้น

รูปจำหลักหินแบบไทย ฝีมือช่างจีนนี้ มีทั้งที่เป็นคนและสัตว์ในหิมพานต์ จำพวกครุฑ กินรี ซึ่งไม่ว่าจะเป็นสิ่งใด ก็ยังเห็น “จิตรวิญญาณของช่างจีนอยู่ในงานแกะสลักเหล่านั้นได้อย่างชัดเจน”

ปัจจุบันรูปแกะสลักแบบไทยฝีมือช่างจีนเหล่านี้ ตั้งประกอบอยู่ตามวัดต่างๆ ที่สร้างและปฎิสังขรณ์ขึ้นในรัชสมัยรัชกาลที่ 3 เช่นวัดพระศรีรัตนศาสดาราม วัดอรุณราชวราราม วัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
นอกเหนือจากรูปจำหลักหินแบบไทย ที่ช่างแกะสลักหินชาวจีนที่เดินทางเข้ามาทำงานอยู่ในประเทศสยามสร้างขึ้นจากคำบัญชาของนายช่างใหญ่ฝ่ายไทยแล้ว ยังอาจมีรูปจำหลักหินที่ช่างจีนแกะสลักขึ้นเองตามความสนุกวิสัยช่างด้วย เช่นรูปชาวตะวันตกที่เดินทางเข้ามาในประเทศไทยสมัยนั้น ซึ่งจะมีความแตกต่างจากรูปชาวตะวันตกที่นำเข้ามาจากประเทศจีน นับตั้งแต่การแต่งกาย ไปจนถึงบุคคลิกท่าทางที่ออกไปในทางสนุกสนานและค่อนข้างจะเหมือนกับคนจริง อาจจะเป็นด้วยว่า ไม่สามารถหาหินแท่งใหญ่ๆ ได้รูปจำหลักชาวตะวันตกที่สร้างขึ้นในกรุงสยาม จึงมีขนาดย่อมลงมาจากที่ขนมาจากเมืองจีนมาก และฝีมือก็ห่างกันไกลมาก





รูปจำหลักหินที่ช่างจีนแกะสลักขึ้นเองตามความสนุกวิสัยช่าง

รูปจำหลักหินที่ช่างจีนแกะสลักขึ้นเองตามความสนุกวิสัยช่าง
รูปจำหลักหินชาวตะวันตกเหล่านี้มักตั้งประดับอยู่ตามวัดที่สร้างและปฎิสังขรณ์ขึ้นในรัชกาลที่ 3 เช่นกัน แต่พบเป็นส่วนใหญ่อยู่ที่วัดสุทัศน์เทพวราราม และวัดอรุณราชวราราม

วัดที่มีรูปจำหลักหินประดับตกแต่ง
กล่าวโดยรวมได้ว่า วัดที่สร้างขึ้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้แก่ วัดเฉลิมพระเกียรติ วัดเทพธิดาราม และวัดราชนัดดา รวมถึงวัดที่ทรงปฎิสังขรณ์ ซึ่งได้แก่ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
วัดสุทัศน์เทพวราราม (วัดพระโต) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ (วัดสลัก) วัดชนะสงคราม (วัดตองปุ) วัดราษฏร์ชบูรณะ (วัดเลี๊ยบ) วัดสระเกศ(วัดสะแก หรือภูเขาทอง) วัดบพิตรพิมุข(วัดเชิงเลน) วัดยานนาวา (วัดคอกกระบือ) วัดราชาธิวาส(วัดสมอราย) วักสัมพันธวงศาราม (วัดเกาะแก้วลังการาม) วัดสังเวชวิศยาราม (วัดบางลำพู) วัดราชโอสาราม (วัดจอมทอง) วัดนางนอง วัดอัปสรสวรรค์(วัดหมู) วัดทองธรรมชาติ (วัดทองบน) วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) วัดโมฬีโลกยาราม (วัดท้ายตลาด) วัดหงส์รัตนาราม(วัดเจ้าสัวหง) วัดราชสิทธาราม (วัดพลับ) วัดสังข์กระจาย วัดปากน้ำภาษีเจริญ วัดอัมรินทาราม (วัดบางหว้าน้อย) วัดสุวรรณาราม (วัดทอง) วัดเครือวัลย์วรวิหาร วัดระฆังโฆสิตาราม (วัดบางหว้าใหญ่) วัดพระยาทำ วัดนาคกลาง (วัดกลาง) วัดรัชฎาธิฐาน (วัดเงิน) วัดกาญจนสิงหหาสน์ (วัดทอง) วัดภคินีนาถ วัดดุสิดาราม (วัดเสาประโคน) วัดบวรมงคล (วัดลิงขบ) วัดหนัง วัดคฤหบดี วัดอัมพวันเจติยาราม วัดสุวรรณดาราราม วัดศาลาปูน วัดกลาง วัดคงคาราม และวัดพระพุทธบาท
วัดเหล่านี้เป็นวัดที่เคยมีรูปจำหลักหินจากประเทศจีนและจากช่างชาวจีน ประดับตกแต่งอยู่มากบ้าง น้อยบ้าง ตามความเหมาะสมและการตกแต่ง รวมไปถึงความสำคัญของวัดแต่ละวัดด้วย
วัดใดอยู่ในเขตพระบรมมหาราชวังและใกล้เคียง ก็จะมีรูปจำหลักหินประดับตกแต่งมาก ที่ไม่สู้สำคัญและห่างไกลออกไป ก็มีรูปจำหลักหิน ประดับตกแต่งเพียงเล็กน้อย เช่นมีเพียงรูปสิงโตคู่ตัวเล็กๆ ตั้งอยู่ตรงบันได ทางเข้าโบสถ์เท่านั้น
วัดที่มีรูปจำหลักหินตกแต่งมากที่สุด ได้แก่ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง) มีทั้งสิ้น 304 ตัว รองลงมาก็คือ วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์) และวัดสุทัศน์
วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็เป็นอีกวัดหนึ่งที่มีรูปจำหลักหินประดับตกแต่งอยู่เป็นจำนวนมาก หากแต่รูปจำหลักหินที่วัดพระแก้วนี้ มีลักษณะค่อนข้างแตกต่างไปกว่าวัดอื่นๆ นั่นคือ มักเป็นรูปสลักหินในแบบอย่างไทย เช่น กินรี และหญิงไทย ซึ่งมีฝีมือดีและมีสภาพสมบูรณืที่สุด

อ่านต่อ Part 2 เดินเที่ยววัดโพธิ์....โผล่...วัดแจ้ง Part 2 (อิ่มเอมบรรยากาศวัดโพธิ์ ฟากฝั่งเจ้าพระยาซีกกรุงเทพฯ) ได้ที่ลิงก์นี้เลยครับ//www.bloggang.com/mainblog.php?id=rattanakosin&month=09-06-2011&group=1&gblog=4

หมายเหตุ : ทริปนี้ เป็นการเก็บข้อมูล โดยเริ่มจากหนังสือ และสิ่งทีเคยไปเห็นตอนสัญจรท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในหลายๆครั้งที่ผ่านมา

ท่านใดสนใจ ข่าวเกี่ยวกับการสัญจรท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม เชิงศิลปกรรม และวัฒนธรรมไทย ตลอดจนวิถีชีวิตคนไทยในแง่มุมต่างๆ หรืออยากร่วมกิจกรรมสัญจรดังกล่าวข้างต้น อย่างแรกเลยครับ ต้องติดต่อเครือข่าย ชมรมท่องเที่ยวสัญจรก่อนครับ (ไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ) ส่วนตัวผมก็เป็นสมาชิกกลุ่มเครือข่ายท่องเที่ยวสัญจรเชิงวัฒนธรรม โดยทราบข่าวสารทางอินเตอร์เน็ตเช่นกัน
วิธีสมัครเพื่อทราบข่าว วิธีเดียวครับ คือ ส่ง email address ไปร่วมเป็นสมาชิกครับ (สะดวกที่สุด)
ที่ เครือข่ายท่องเที่ยวสัญจร
กลุ่มชมรมสยามทัศน์ (คุณป้อม) email address: prapop1040@yahoo.co.th

หรือ กลุ่ม Smile Trip

//www.facebook.com/pages/Smiletrip/112567902128950

email address: smiletripgroup@gmail.com





Create Date : 08 มิถุนายน 2554
Last Update : 14 กันยายน 2554 7:37:42 น. 3 comments
Counter : 3118 Pageviews.

 
มาเยี่ยมชม ครับ


โดย: Kavanich96 วันที่: 9 มิถุนายน 2554 เวลา:7:28:35 น.  

 
แวะมาอ่านอีกที...อ่านที่ OKNation แล้วเมนท์ไม่ได้

รวบรวมเรื่องได้น่าสนใจจังคะ ..เราเดินผ่านไปผ่านมา ไม่เคยสนใจดูให้ละเอียดๆ แบบนี้เลย
ครั้งหน้าต้องปรับตัวเวลาไปเที่ยว...เก็บเกี่ยวมาให้หมด จะได้ไม่เสียเที่ยว


โดย: นัทธ์ วันที่: 9 มิถุนายน 2554 เวลา:7:38:28 น.  

 
@นัทธ์ ผมอ่านจากหนังสือที่มีรูปภาพประกอบครับ อ่านหลายรอบครับ ถึงกำหนดว่าจะเขียนบล็อคอย่างไร ส่วนรูปภาพที่มี ผมก็ไปถ่ายหลายรอบ แล้วเอามาดู ถ้ารู้สึกว่ายังขาดรูปอะไรอยู่ ก็ไปถ่ายอีกครั้ง อาศัยว่าไปเดินแถวนั้นบ่อยๆ


โดย: ชมวิวทิวทัศน์ (เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์ ) วันที่: 9 มิถุนายน 2554 เวลา:8:52:51 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 11 คน [?]




ภาพอดีต ภาพปัจจุบัน และอนาคต และความเป็นไปของเกาะรัตนโกสินทร์
เล่าเรื่องทริป ที่สุดแสนจะธรรมด๊า ธรรมดา แต่หลายคนอาจมองข้ามไป แต่ในสายตาของนักท่องเที่ยวทั่วโลกแล้ว มัน อเมซิ่ง มากมาย
Group Blog
 
All Blogs
 
Friends' blogs
[Add เที่ยวรอบเกาะรัตนโกสินทร์'s blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.