Ram J.'s Photography Blog

เจ้านกเอี้ยงสาริกาแสนเชื่องแห่งศาลาอ่างแก้ว

ช่วงเวลานี้หากใครได้มีโอกาสแวะไปเดินเล่นตอนเย็นๆซัก 4-5 โมงเย็น ณ บริเวณศาลาอ่างแก้ว ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ก็จะมีโอกาสได้พบกับเจ้านกเอี่้ยงสาริกาตัวหนึ่ง ที่ทำให้ทุกคนประหลาดใจครับ เพราะมันสุดแสนจะเชื่อง อีกทั้งยังพยายามเข้ามาทักทายแหย่เล่นกับผู้คนที่มาเดินเล่นพักผ่อน หรือวิ่งออกกำลังกายยามเย็น ยิ่งไปกว่านั้น มันยังมาโพสท่าให้นักศึกษาที่มาถ่ายภาพเล่นในบริเวณนั้น ได้ตื่นเต้นกับการถ่ายภาพนกในระยะเผาขนอีกด้วย
ผมพบเห็นเจ้านกตัวนี้มาสองสามวันแล้วขณะวิ่งออกกำลังกายอยู่ โดยสังเกตเห็นว่า เจ้านกเอี้ยงตัวนี้ จะมาป้วนเปี้ยนอยู่ในที่เดิมในเวลาเดิมของทุกวัน ดังนััน วันนี้ผมจึงพกพาเอากล้อง Nikon D40X พร้อมกับเลนส์ AF-S VR Zoom-Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED ไปทำงานด้วย ตั้งใจว่า เย็นวันนี้จะต้องบันทึกภาพเจ้านกตัวนี้ให้จงได้ ซึ่งก็ปรากฏว่า เจ้าเอี้ยงสาริกามาตรงเวลาครับ ที่เดิมเวลาเดิม ด้วยความตื่นเต้น ผมจึงกดชัตเตอร์แบบไม่ยั้งมือ เดิมทีคิดว่าจะถ่ายได้ง่ายๆ แต่เอาเข้าจริงไม่ง่ายเลยครับ เพราะสภาพแสงบริเวณสนามหญ้าข้างศาลาอ่างแก้ว มีลักษณะร่มครึ้ม จึงจำเป็นต้องเพิ่ม ISO ขึ้นไปถึง 800 อีกทั้งการใช้เลนส์ Telephoto ทำให้ภาพสั่นไหวได้ง่ายกว่าปกติ จึงจำเป็นต้องพึ่งพาระบบ VR ของเลนส์ค่อนข้างมาก ยิ่งไปกว่านั้น เจ้าเอี้ยงตัวนี้ก็อยู่นิ่งซะเมื่อไร เคลื่อนไหวกระโดดไปกระโดดมาตลอดเวลา ลองมาชมภาพเจ้านกตัวนี้ในอริยาบทต่างๆกันครับ













ดูเอาเถอะครับ กลัวคนเค้าซะที่ไหน...





นกเอี้ยงสาริกา (Common Myna) เป็นนกประจำถิ่นที่สามารถพบได้ทั่วไปและทุกภาคของประเทศไทย มักจะอาศัยและหากินอยู่ตามไร่ตามสวน ไร่นา ทุ่งหญ้า หรือในเขตชุมชนเมือง นกประเภทนี้ชอบเดินหากินอยู่บนพื้นดิน และสามารถกินอาหารได้หลายประเภท ที่สังเกตดูขณะบันทึกภาพพบว่า มันพยายามกินแมลงหรือมดที่เกาะอยู่ตามพื้นดิน นอกจากนี้ เจ้าเอี้ยงสาริกาตัวนี้ยังมีพฤติกรรมประหลาดอีกอย่างหนึ่งคือ มันพยายาม "พูด" กับคนครับ ผมก็เลยสันนิษฐานว่า อาจจะเป็นนกเลี้ยงที่หลุดออกมา หวังว่าคงจะไม่เชื่องจนมีคนใจร้ายไปทำร้ายมันนะครับ...

ข้อมูลเกี่ยวกับนก :
Boonsong Lekagul, Philip D. Round ; foreword by Ben King ; illustrated by Mongkol Wongkalasin, Kamol Komolphalin A Guide to the birds of Thailand Bangkok : Saha Karn Bhaet, 1991.




 

Create Date : 26 ตุลาคม 2550   
Last Update : 26 ตุลาคม 2550 21:06:29 น.   
Counter : 3780 Pageviews.  

ซุ่มถ่ายภาพนกปรอดในวันหยุดที่ไร้สีสรร

ช่วงเวลาของการเปลี่ยนฤดูกาลจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาวในจังหวัดเชียงใหม่นี่ เอาแน่เอานอนไม่ได้เลยครับ บางวันก็แดดดี สีสรรสดสวยเหมาะแก่การถ่ายภาพ (แต่ส่วนใหญ่มักจะเป็นวันทำงาน) ในขณะที่บางวันฟ้าปิด แทบไม่มีแสงแดดให้เห็นเลย อย่างเช่นวันหยุดวันนี้เป็นต้น ท้องฟ้าปิด ขาวโพลนไปหมด สภาพแสงเป็นแบบ overcast ทั้งวัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าวันแบบนี้จะเป็นวันที่น่าเบื่อเสมอไป สภาพอากาศเย็นๆไม่มีแดดแบบนี้ ปรากฏว่า บรรดาเจ้านกทั้งหลาย ออกมาหากินส่งเสียงเจื้อยแจ้วตลอดทั้งวัน จนผมอดใจไม่ไหว ต้องรื้อกล้องออกมาจากกล่องกันชื้น เพื่อบันทึกภาพโดยพลัน
ยังไงก็ตาม บรรดาเจ้านกทั้งหลายเหล่านี้ ก็ใช่ว่าจะยอมให้ถ่ายภาพได้ง่ายๆครับ ดูไปแล้วมีเพียงนกปรอดเพียงชนิดเดียวที่ยอมเป็นแบบให้ ดังนั้น วันนี้ผมก็เลยขอประมวลภาพถ่ายปรอดที่หากินอยู่รอบบ้านมาให้ชมกันครับ

สองภาพแรกนี้เป็นภาพนกปรอดหัวสีเขม่า (Sooty-head Bulbul) ที่กำลังย่องเข้ามากินกล้วยน้ำว้าที่ผมเอาไปวางล่อไว้ริมรั้วครับ ขณะที่กำลังถ่ายภาพนี้ โชคดีครับที่มีแดดส่องลงมาเล็กน้อยพอช่วยให้สีสรรสดใสมากขึ้นนิดหน่อย
บันทึกด้วย Nikon D40X, เลนส์ AF-S VR Zoom-Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED ปรับ Image Optimizer ให้เป็น Vivid




สามภาพข้างล่างนี้ เช่นกันครับ นกปรอดหัวสีเขม่า ที่ออกมาเกาะกิ่งไม้ให้ถ่ายภาพในระยะเผาขน
บันทึกด้วย Nikon D40X, เลนส์ AF-S VR Zoom-Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED ปรับ Image Optimizer ให้เป็น Vivid






ส่วนภาพนี้เป็น นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) ที่แอบย่องมากินกล้วยในช่วงตอนเย็นมากแล้ว เจ้าปรอดหัวโขนนี่ เป็นนกที่ชอบอยู่ใกล้บ้านคนครับ โดยเฉพาะในภาคเหนือที่ชอบอาศัยอยู่ในหมู่บ้านและตัวเมือง คนในภาคเหนือมักจะเรียกว่า นกพิซลิว จากเสียงร้อง "จี๊บจะลิ่ว" ของมันครับ เจ้าตัวนี้แหละครับ ที่จะต้องมาร้องส่งเสียงแต่เช้าทุกวัน ทำให้เราต้องรีบตื่นขึ้นมาสูดอากาศยามเช้า ที่กำลังเริ่มเย็นลงเรื่อยๆ
บันทึกด้วย Nikon D40X, เลนส์ AF-S VR Zoom-Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED


ข้อมูลเกี่ยวกับนกที่ปรากฏอยู่นี้ หากผิดพลาดไปต้องขออภัยและขอความกรุณาช่วยแก้ไขด้วยนะครับ ผมเองดูนกแบบไม่ได้จริงจังมาก แต่ก็สนใจในข้อมูลต่างๆเกี่ยวกับนก เพราะเชื่อว่า หากเราไปถ่ายภาพเขามาแล้ว ก็น่าจะทำความรู้จักเขาด้วยครับ

หนังสืออ้างอิง
Boonsong Lekagul, Philip D. Round ; foreword by Ben King ; illustrated by Mongkol Wongkalasin, Kamol Komolphalin A Guide to the birds of Thailand Bangkok : Saha Karn Bhaet, 1991.

สุธี ศุภรัฐวิกร ชีวิตนก จากบันทึกและความทรงจำ Bird life from records & remembrance กรุงเทพฯ : Photo & Life, 2540.




 

Create Date : 20 ตุลาคม 2550   
Last Update : 20 ตุลาคม 2550 20:58:46 น.   
Counter : 3287 Pageviews.  

ประมวลภาพถ่ายนกด้วย Telephoto Lens

หลังจากเพิ่งได้ Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED ซึ่งเมื่อสวมเข้ากับ D-SLR แล้วจะได้ทางยาวเลนส์ถึง 105-450mm. ทำให้เกิดความรู้สึกอยากถ่ายภาพนกขึ้นมา ก็เลยลองกลับไปสำรวจคลังภาพถ่ายของตัวเองตั้งแต่สมัยยังถ่ายด้วย 35mm. Film เพื่อค้นหาภาพถ่ายนกชนิดต่างๆด้วยเลนส์ Telephoto หรือ Telezoom ต่างกรรมต่างวาระ ต่างแบรนด์ต่างท้องถิ่นครับ

ผมเองไม่ค่อยชำนาญเรื่องดูนกซักเท่าไรครับ แม้จะมีอุปกรณ์พร้อมทั้งคู่มือ กล้องส่องทางไกล เลนส์ถ่ายภาพระยะไกล แต่ก็ไม่เคยจริงจังกับการดูนกซะที แต่ปีนี้ (2550) ผมได้ตั้งปณิธานไว้ว่าจะต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญการถ่ายภาพนกและนักดูนกให้จงได้ครับ อย่างไรหากชื่อนกที่ปรากฏอยู่นี้ผิดพลาดไป รบกวนผู้รู้ช่วยแก้ไขด้วยนะครับ

ภาพแรกนี้เพิ่งถ่ายเมื่อช่วงต้นปีพ.ศ.2550 นี้เองครับ นกปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) ถ่ายได้บริเวณหน้าบ้านในจังหวัดเชียงใหม่ ถ่ายด้วยกล้อง FujiFilm FinePix S2 Pro, เลนส์ Micro-Nikkor 70-180mm f/4.5-5.6D ED

DSCF0066

ปรอดหัวโขน (Red-whiskered Bulbul) เจ้าเดิมครับ ชอบมาเกาะที่รั้วหน้าบ้านเป็นประจำ ถ่ายด้วยกล้อง FujiFilm FinePix S2 Pro, เลนส์ Micro-Nikkor 70-180mm f/4.5-5.6D ED

DSCF1017

นกเขาใหญ่ (Spotted Dove) กำลังดูแลลูกน้อยในรังบนต้นไม้ในบริเวณบ้าน ผมถ่ายภาพนี้จากหน้าต่างห้องนอนชั้น 2 ของบ้านครับ ถ่ายภาพด้วย FujiFilm FinePix S2 Pro, เลนส์ Micro-Nikkor 70-180mm f/4.5-5.6D ED

DSCF1031

ส่วนตัวนี้ น่าจะเป็นนกตระกูลปรอด (Bulbuls) ที่ยังโตไม่เต็มวัย ถ่ายได้ที่บริเวณพื้นที่ร้างหญ้าขึ้นรกในหมู่บ้าน ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D40x เลนส์, AF-S VR Zoom-Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED



ตัวนี้น่าจะอยู่ในตระกูลนกปลีกกล้วย (Spiderhunters), ถ่ายด้วยกล้อง Nikon D40x เลนส์, AF-S VR Zoom-Nikkor 70-300mm f/4.5-5.6G IF-ED



ย้อนกลับไปดูภาพถ่ายนกยุคฟิล์ม 35mm. บ้างครับ

นกนางนวลธรรมดา (Brown-headed Gull) ขณะกำลังโผเข้าช้อนอาหารเข้าปาก ถ่ายที่สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ กล้อง Canon EOS 1N, เลนส์ Canon EF 300mm. f/4 L



นกนางนวลธรรมดา (Brown-headed Gull) เช่นกันครับ ถ่ายที่สถานตากอากาศบางปู จังหวัดสมุทรปราการ แต่ต่างเวลากับภาพแรก ถ่ายด้วยกล้อง Canon EOS 5, เลนส์ Sigma APO 70-200mm f/2.8



ตัวนี้ผมไม่แน่ใจครับว่าเป็นสายพันธ์ใด แต่สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นพวกตระกูล Sunbird นกกินปลี ถ่ายได้ที่บริเวณพุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม ถ่ายด้วยกล้อง Nikon F90, เลนส์ Nikkor AF 80-200mm. f/2.8 ED-D



นกกาน้ำใหญ่ (Great Cormorant) ถ่ายที่วัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ด้วยกล้อง Nikon F90 ,เลนส์ Sigma 400mm f/5.6 APO



ตัวนี้ผมเข้าใจว่าจะเป็นนกแขวก (Black-crowned Night-Heron) นะครับ ถ่ายได้ที่บริเวณวัดอโศการาม จังหวัดสมุทรปราการ ถ่ายด้วยกล้อง Canon EOS 5, เลนส์ Canon EF 75-300mm. f/4-5.6 USM




 

Create Date : 19 กันยายน 2550   
Last Update : 23 กันยายน 2550 21:33:16 น.   
Counter : 2264 Pageviews.  


Ram J.
Location :
เชียงใหม่ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




อาวุธประจำกาย
Digital Camera : FujiFilm FinePix S2 Pro, Nikon D40x, Nikon Coolpix P1, Olympus E20P, Olympus C5060 Wide-Zoom, Nokia N93

Film Camera: Nikon F4s, Contax NX, Holga 120 GN

Speedlights : Nikon SB 80DX, Olympus FL40, Contax TLA 280

Digital Video : 3 CCD Panasonic NV-MX500, LEICA Dicomar Lens
www.flickr.com
This is a Flickr badge showing public photos from Ram J.. Make your own badge here.
www.flickr.com
photos in Chiang Mai University More photos in Chiang Mai University
[Add Ram J.'s blog to your web]