ปฏิมากรรมของสังคม
วันเด็กมีปีละหนึ่งครั้งแต่ก็หวังให้เด็กเป็นยอดมนุษย์
บางคนอยู่มาหกสิบปีหาความดีมาอวดเด็กไม่เจอ
 เด็กคือปฏิมากรรมของสังคม สังคมเป็นอย่างไรเด็กก็จะสะท้อนออกมาแบบนั้น ซึ่งตรงไปตรงมา เนื่องจาก เด็กจะดูดซับ และสะสม ความคิดทัศนคติ พฤติกรรมต่างๆ จากผู้คนในสังคม รอวันแสดงออก เมื่อเวลา สถานการณ์ที่เอื้ออำนวย
 ดังนั้น กรุณาอย่าโทษเด็ก หากมีอะไรเกิดขึ้นในสังคม เพราะนั่นคือภาพสะท้อน ที่พวกเราทั้งหลายในสังคม ได้ขีดเส้น และหล่อหลอมให้เขาเป็น นั่นคือฝีมือของสังคมที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา



Create Date : 26 สิงหาคม 2557
Last Update : 26 สิงหาคม 2557 9:33:27 น.
Counter : 875 Pageviews.

0 comment
Goal Goal
ประเทศไทยส่งเสริมให้คนไทยเล่นกีฬา ภายใต้แนวคิด กีฬาสร้างคน คนสร้างชาติมานาน เป็นการส่งเสริมในลักษณะมุ่งเน้นการแพ้ชนะเป็นด้านหลัก ทุกคนจึงมุ่งที่ชัยชนะจนลืมจิตวิญญาณของกีฬาไป  ซึ่งไม่ใช่เรื่องบังเอิญอย่างแน่นอน เช่นเดียวกับการที่เราชื่นชอบทีมฟุตบอลอังกฤษ เพราะเราถูกยัดเยียดให้ดูบอลอังกฤษมาช้านาน คนส่วนหนึ่งจึงเชื่อว่าฟุตบอลอังกฤษสุดยอดเพราะเราไม่ได้ดู หรือดูบอลชาติอื่นน้อย ทั้งที่บอลลีกของอังกฤษผู้เล่นตัวหลักไม่ใช่คนอังกฤษ คือความจริงที่เรามองไม่เห็น มีทีมฟุตบอลสองทีมในโลกนี้ที่คนไทยส่วนหนึ่งหลงใหลอย่างไม่รู้เหตุผล ความจริงคนไทยหลงใหลต่างชาติทุกชาติอยู่แล้ว(ยกเว้นชาติตัวเอง) คือทีมบราซิล กับทีมอังกฤษ  อังกฤษคือทีมหวานใจ เป็นรักที่ไม่ต้องมีเหตุผลมันฝั่งแน่นในความรู้สึก บราซิล คือทีมในฝัน เป็นเทพแห่งฟุตบอลของคนไทยส่วนหนึ่งซึ่งก็หาเหตุผลไม่ได้เช่นเดียวกันถ้าถามว่า เราเล่นฟุตบอลเก่งไหม ตอบได้ว่าเก่ง แต่ถ้าถามว่าเรามีสปิริต มีจิตวิญญาณของกีฬาไหม เหตุการณ์ในสังคมไทยคงจะพอตอบได้ ถ้าเป็นชาติอื่นตอบ เขาก็จะถูกต่อว่าทันที แต่ถ้าเขาชมเราก็จะยิ้มแย้มแจ่มใส เพราะเราเล่นกีฬาแบบมุ่งเอาแพ้เอาชนะ คือการปลูกฝั่งความเห็นแก่ตัว เราจึงเลือกรับคำชมมากกว่า เหมือนพ่อขี้โกงแต่สอนให้ลูกเป็นคนดี จึงเป็นการพูดแต่ปาก เราจึงเห็นคนที่เป็นต้นเหตุของปัญหาได้รับการแต่งตั้งให้มาแก้ปัญหา ซึ่งก็แปลกดี เช่นเดียวกับที่เรารักประชาธิปไตยเหมือนรักฟุตบอล คือรักกีฬาโดยที่ไม่เข้าใจจิตวิญญาณของกีฬา เราก็ไม่มีวันเข้าใจประชาธิปไตยเพราะจิตวิญญาณเราไม่เป็นประชาธิปไตย

มีคนพูดว่าฟุตบอลโลกทุกวันนี้ การแพ้หรือชนะของเกมส์ขึ้นอยู่ที่การวางแผนของโค้ช เพราะฝีมือและทักษะของผู้เล่นไม่ได้แตกต่างกันมากนัก ที่สำคัญมีการพัฒนาทั้ง ฝีเท้า ทักษะ เทคนิคของเกมส์ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ หน้าที่ของโค้ชคือใช้ศักยภาพของนักกีฬาให้เกิดประโยชน์มากที่สุดเท่านั้น  อย่างไรก็ตามตลอดระยะเวลา เก้าสิบนาทีของเกมส์เราอาจสนุกสนานเร้าใจหลังเกมส์จบ สิ่งที่คงอยู่คืออารมณ์ กีฬาอาจจะแพ้ ขออย่าแพ้อารมณ์ตัวเองก็แล้วกัน




Create Date : 09 กรกฎาคม 2557
Last Update : 9 กรกฎาคม 2557 20:59:12 น.
Counter : 825 Pageviews.

0 comment
วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย
   ความลังเลสงสัย หรือวิจิกิจฉา เป็น ธรรม ข้อ ๕ในนิวรณ์ ๕ อันกั้นจิตไม่ให้บรรลุความดี ข้อ ๒ ในสังโยชน์ ๑๐ ในพระอภิธรรม (โอรัมภาคิยสังโยชน์)และเป็นธรรม ข้อ ๔ ในอนุสัย ๗ การลังเลสงสัยจะทำให้ขาดความเชื่อมั่นและทุ่มเท นั่นคือจะขาดศรัทธา อาจารย์ท่านหนึ่งได้สอนผู้เขียนไว้ประโยคหนึ่ง ยังจำได้ดี "คุณ...(ชื่อผู้เขียน )..คุณต้องมีศรัทธานะ เมื่อนำคำสอนของอาจารย์มาพิจารณาไตร่ตรอง ก็เห็นจริง การไม่มีศรัทธา ทำให้ขาดความมุ่งมั่นทุ่มเท มีหลายคนที่ประสบผลสำเร็จในชีวิตอย่างมหาศาล จากคำสอนเพียงประโยคเดียว
   ครั้งหนึ่งในวงสนทนากับเพื่อนสนิทคนหนึ่ง ผมถามเพื่อนว่า ถ้าเราจะสอนลูกให้เป็นคนดี และยกตัวอย่างคนที่เป็นคนดี ในสังคม ในหน่วยงาน ฯลฯ จะยกตัวอย่างใครให้ลูกเอาเป็นเยี่ยงอย่าง สามสิบปีผ่านไป เพื่อนผมคนนี้ไปทำมาหากินต่างประเทศยังไม่กลับมา และเขาก็ยังไม่ได้ตอบคำถามของผม แต่มอบแผ่นคำสอนของท่านพุทธทาสให้ผมแผ่นหนึ่ง กระดาษแผ่นนั้น ด้านบนเป็นรูปวาดท่านพุทธทาส ด้านล่างเป็นหนังสือตัวเขียน ขึ้นต้นว่า มองแต่แง่ดีเถิด สามสิบปีแล้วเช่นกันที่ผมติดไว้ที่ฝาบ้านหลังหิ้งพระ สียังสดใสน่าอ่านอยู่เสมอ
   ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในวัยเรียน โรงเรียนของเรา(ของผมกับเพื่อน)มีผู้หลักผู้ใหญ่ท่านหนึ่งให้เกียรติมาเยี่ยม ครู นักเรียน ต่างดีใจกันมาก ตื่นเต้นนอนไม่หลับ จนถึงกำหนดวันนั้นมาถึง พวกเรานั่งเป็นระเบียบเรียบร้อย(ให้สมกับที่เป็นเด็กดี) ท่านยืนอยู่ข้างหน้าบนเวที ดูมีอำนาจน่าเกรงขาม น้ำเสียงพูดน่าเชื่อถือ ท่านได้เมตตาสั่งสอนให้พวกเด็กๆ เป็นคนดีของสังคม เป็นพลเมืองที่ดีของประเทศ เคารพกฎหมาย เสียสละเพื่อประเทศชาติ
      หลังจากรับการชื่นชม ขอบคุณ จากครูใหญ่แล้วท่านก็กล่าวคำอำลา พวกเรามองตามรถของท่านที่วิ่งฝ่าไฟแดงออกไปอย่าง งงๆๆ



Create Date : 11 มิถุนายน 2557
Last Update : 11 มิถุนายน 2557 11:26:02 น.
Counter : 952 Pageviews.

0 comment
คนหนีเงา
หากคิดตามแนวทางของชาวพุทธ ก็จะมองได้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ตั้งอยู่ และสิ่งที่ดับไป ทุกอย่างล้วนมีเหตุ มีปัจจัยไม่ได้เกิดขึ้นเองลอยๆ ระดับประเทศเองก็เช่นเดียวกันเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นทั้งในอดีต หรือปัจจุบัน ก็ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นเองโดยปราศจากเหตุปัจจัยที่ทำให้มันต้องเกิดขึ้นอาจจะโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจก็ตามที หรืออาจจะโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตามแต่กรรมคือการกระทำของเราเอง มีส่วนทำให้มันเกิดขึ้น ความคิด และจิตที่เราส่งออกไปเป็นพลังทำให้มันเกิดขึ้น ดังเช่นผู้รู้หลายท่านได้กล่าวไว้ว่า โลกภายในเป็นเช่นไรโลกภายนอกก็เป็นเช่นนั้น เราคิดอย่างไร ชีวิตก็เป็นอย่างนั้นเสมือนบิดามารดาเลี้ยงดูบุตรย่อมถ่ายทอดความคิดพฤติกรรมไปสู่บุตรอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ บิดามารดาเป็นเช่นไรบุตรย่อมเป็นเช่นนั้น ตามภาษทางกฎหมายเรียกว่า ผู้สืบสันดานซึ่งชัดเจนไม่ต้องตีความกันอีก

เช่นเดียวกับพฤติกรรมของตัวแทนของปวงประชาชนที่เสียสละเวลาไปกาบัตรลงคะแนน ย่อมสะท้อนความคิดและพฤติกรรมของปวงประชาชนเช่นกันอันที่จริง การขัดแย้ง การแก่งแย่งชิงดีชิงเด่น แบ่งพรรค แบ่งพวก อิจฉา ริษยาเป็นสิ่งที่มีอยู่แล้วในตัวของมนุษย์ทุกคนเพียงแต่คนที่ควบคุมมันได้เขาเรียกว่าผู้มีการศึกษา ผู้มีปัญญาหรือบัณฑิตซึ่งจะได้รับการยอมรับนับถืออย่างสนิทใจจากประชาชนสิ่งที่คนประเภทนี้ได้รับการยอมรับนับถือไม่ใช่เป็นเพราะเขาเป็นผู้มีการศึกษาหรือว่าบัณฑิตหรอกนะหากเป็นเพราะเขาอยู่ในฐานะที่จะไม่มาแก่งแย่งชิงดี กอบโกยทรัพยากรของประชาชนต่างหาก บุคคลประเภทนี้จึงเป็นตัวอย่างที่ดี ซึ่งหาได้น้อยมากในปัจจุบันเราจึงมีแต่พวก สอนคนอื่นให้เป็นคนดี แต่ตัวเองทำอย่างไรก็ได้ จะบกพร่องโดยสุจริตจะโกหกสีขาว หรือจะพูดอย่างไรก็ได้แล้วมาแก้ตัวเอาทีหลังว่าพูดเพื่อหาเสียงเท่านั้น โบราณจัดว่า เป็นพวกมือถือสากปากถือศีล บ้านเมืองจึงสับสนวุ่นวาย ไม่หยุดหย่อนเพราะเรามีแต่คนต้องการให้คนอื่นเป็นคนดี แต่ตัวเองกลับทำอย่างไรก็ได้ บางทีพฤติกรรมอาจเทียบไม่ได้กับคนที่ตัวเองสอนด้วยซ้ำไปอะไรทำให้คนขาดความละอาย และเกรงกลัวต่อบาปขนาดนั้น




Create Date : 14 ธันวาคม 2556
Last Update : 14 ธันวาคม 2556 14:22:11 น.
Counter : 933 Pageviews.

0 comment
ดุลยพินิจ
ดุลยพินิจ (Discretion) หมายถึง การพิจารณาอย่างละเอียด หรือการวินิจฉัยที่เห็นสมควร ดุลยพินิจแบ่งออกได้ 2 ประเภท ได้แก่ ดุลยพินิจวินิจฉัย และ ดุลยพินิจตัดสินใจ ซึ่งดุลยพินิจตัดสินใจมีสองแบบคือ ดุลยพินิจตัดสินใจดำเนินการหรือไม่ดำเนินการและดุลยพินิจเลือกวิธีดำเนินการ สิ่งหนึ่งที่เป็นรากเหง้าแห่งปัญหาของสังคมไทยคือ ความยุติธรรม ซึ่งเกิดจากการใช้ดุลยพินิจ ของเจ้าหน้าที่
ดุลยพินิจ ในความเข้าใจของผู้เขียน ประกอบด้วยสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่เป็นหลักการ วิชาการ ข้อระเบียบ กฎเกณฑ์ต่างๆที่เป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนที่สองคือ อุปนิสัยส่วนตัว ที่ถูกหล่อหลอมด้วยสิ่งแวดล้อม การอบรมสั่งสอนจากครอบครัว ครูอาจารย์ จนกลายเป็น อนุสัยของตนเอง การใช้ดุลยพินิจจึงเป็นการผสมผสานระหว่าง สองส่วนอย่างพอเหมาะ และสอดคล้องตามแนวทางแห่งความยุติธรรมมากที่สุด เมื่อใดที่มีการใช้ดุลยพินิจจากส่วนที่เป็นอุปนิสัยส่วนตัวมากกว่าปกติ โอกาสที่จะเกิดอคติ สี่ประการจึงมีโอกาสเกิดขึ้นสูง ไม่ว่าจะเป็น ฉันทาคติ ความลำเอียงเพราะรักใคร่กัน โทสาคติ ลำเอียงเพราะไม่ชอบกัน โมหาคติ ลำเอียงเพราะเขลา และภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว ดังนั้นคนที่ใช้ดุลยพินิจจึงควรเป็นบุคคลที่มีระดับคุณธรรมจริยธรรมสูงกว่าคนทั่วไป ไม่อย่างนั้นจะกลายเป็นการบ่มเพาะเชื้อไฟแห่งความไม่พอใจ สะสมขึ้นเพื่อรอวันปะทุเท่านั้นเอง




Create Date : 08 ธันวาคม 2556
Last Update : 8 ธันวาคม 2556 22:12:33 น.
Counter : 1538 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

puangin41
Location :
พะเยา  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]