Group Blog
 
All blogs
 

Udon อูด้ง ปาฏิหาริย์แห่งเส้นก๋วยเตี๋ยว - มีดีมากกว่าเส้น



Movie: Udon
Director: Katsuyuki Motohiro, Takafumi Hatano (Assist.)
Writer: Masashi Todayama
Release Date: August 26, 2006
Runtime: 134 Min.



Udon อูด้ง หนึ่งความหวังกับพลังปาฏิหารย์

คุณเคยดูหนังเรื่องนี้กันไหมคะ?
ถ้าคุณเป็นหนึ่งในคนที่เคยดู
คุณจะช่วยบอกหน่อยได้ไหม
ว่าคุณรู้สึกกับหนังเรื่องนี้อย่างไร

คุณจะรู้สึกเหมือนกันบ้างไหม
มัน 'แหล่ม' ดีนะเอย

คัตสึยูกิ โมโตะฮิโระ
ผู้กำกับท่านนี้มีผลงานเคยรับชม
Summer Time Machine Blues (2005) (เอย์ตะ /จูริ อุเอโนะ)
ที่จะว่าไปก็มีสไตล์เวอร์คล้ายคลึงกัน

เรื่องย่อ Udon (ที่มา //www.nungdee.com)

คุณต้องลอง...ถึงจะเชื่อ!!!
ฤดูร้อนปีนี้ จากผู้อำนวยการสร้าง และ ผู้กำกับเรื่อง Bayside Shakedown
มาถึงเรื่องราว “ก๋วยเตี๋ยวแบบตะวันออก” ที่เต็มไปด้วยเนื้อหา

เจาะลึกเข้าไปในประเทศญี่ปุ่น
บนเกาะชิโกกุ
ในเมืองชนบทอันห่างไกล
ชายคนหนึ่งเบื่อกับความหลักแหลมของตัวเอง

โคสุเกะวัย 31 ปี เบื่อบ้านเกิด... ชั่วอึดใจเดียว!!! เขาออกเดินทางไปยังนิวยอร์คด้วยความฝันอันยิ่งใหญ่ 6 ปีต่อมา เขากระเสือกกระสนกลับบ้าน... พ่ายแพ้ และ เต็มได้ด้วยหนี้สิน แต่คนที่รอคอยเขาได้แก่ เพื่อนเก่า, พี่สาว, พ่อที่รู้สึกไม่พอใจ และก๋วยเตี๋ยว Udon หนึ่งชาม ...เมืองนี้เป็นผู้ผลิต Udon และยังชีพด้วย Udon จนสร้างชื่อเสียงไปทั่วประเทศ เพราะ Udon ขณะที่ชื่อเมืองยังใช้ชื่อจากอูด้งชนิดพิเศษที่ชื่อ “ซานูกิ อูด้ง” อีกด้วย!!!

เป็นเพราะการที่เมืองมุ่งความสนใจอย่างก๋วยเตี๋ยว “อูด้ง” อย่างบ้าคลั่ง เป็นตัวช่วยขับดันให้โคสุเกะจากไป เขาได้เรียนรู้หลังเดินทางกลับมาอย่างไม่เป็นท่าว่า เขาและโลกอิสระที่เหลือ กำลังจะได้พบกับความน่าอัศจรรย์ของอาหารอันโอชะของท้องถิ่นแห่งนี้อีกครั้ง!!! และไม่น่าเชื่อว่า เรื่องราวของก๋วยเตี๋ยวหนึ่งชามที่ชื่อ “อูด้ง” จะทำให้ชีวิตเขาเปลี่ยนไปตลอดกาล...





หนังอะไรมันจะเว่อร์ได้ขนาดนั้น
แต่ในความเว่อร์ของมัน
เต็มไปด้วยเนื้อหาที่ไม่เว่อร์เลย

ชอบมาก

ทั้งที่ ต้องใช้ความพยายามถึง 3 ครั้งที่จะดูหนังเรื่องนี้จบ

ครั้งแรก เปิดเจอพระเอก ยูสุเกะ ซานต้ามาเรีย ไม่หล่อ - เลิก
ครั้งที่สอง เปิดไปยาวอีกหน่อย แต่ไม่เห็นมีอะไรน่าสนใจ - ปิด

แต่ ยังไม่เชื่อหรอกว่าหนังเรื่องนี้มันจะไม่สนุก ก็อ่านรีวิวตอนนั้น
ไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่าใครแสดง ยังอุตส่าห์หลงคารมเขาและเราซื้อมา

งั้นต้องลองอีกที ครั้งที่สาม ...

พอหนังดำเนินผ่านความเรื่อยเอื่อยของมันจากช่วงต้นไปยัง ณ จุดที่พระเอก
เข้าร้านหนังสือ และเกิดประกายความคิดหวังบางอย่างจากอาหารที่ชื่อ "อูด้ง"

นับจากนั้นกับปาฏิหารย์อันอัศจรรย์(เว่อร์)ของอูด้ง

ก็พาดูไปเรื่อยๆ ดูไปขำๆ แบบที่ทั้งเรื่องเต็มไปด้วยอูด้ง

ดินแดนแห่งอูด้ง ร้านอูด้ง โรงงานอูด้ง
นิตยาสารอูด้ง กัปตันอูด้ง ตำนานอูด้งเฟอร์รี่อูโกะ

อูด้ง อูด้ง และอูด้ง

แต่มันสนุกจัง!



หนังเรื่องนี้มีดีมากกว่าเส้น ..

ความฝัน ความไม่เข้าใจกันในครอบครัว สำนึกสามัญรักบัานเกิด

อูด้งอาจไม่ใช่อาหารเลิศเลอ มันก็แค่ก๋วยเตี๋ยว

แต่อย่างที่หนังได้บอก มันเป็นมากกว่าก๋วยเตี๋ยว

เพราะมันคือ "อาหารของจิตใจ"

ความหมายของคำนี้ ที่ทำให้ซึ้งน้ำตาไหลพรากในช่วงท้าย

ตอนที่ พระเอกของเรากินอูด้งจากฝีมือของพ่อที่เหลือไว้

และต้องขอมีน้ำตาอีกสักที ตอนพี่สาวของพระเอกกินอุด้งฝีมือน้องชาย



จากประสบการณ์ดราม่า

เวลาค่อนปีที่ผ่าน มีเรื่องราวเกิดขึ้นในครอบครัว
ความบาดหมาง ความไม่ลงรอย ความเสียใจ
ตอนกลับบ้านวันแม่ที่ผ่านมา
กินข้าวมื้อแรกทั้งน้ำตาร้องไห้
นั่นไม่ใช่เพราะรสชาดอาหาร
และไม่ใช่เพราะรสมือแม่
แต่มันคืออาหารที่เราได้กินที่ “บ้าน”
ที่กังวลอยู่ว่าอาจจะไม่เป็นบ้านอีกต่อไป
คงอย่างนี้ด้วยล่ะมั้ง อาหารของจิตใจ

อย่างที่หนังบอกไว้

ใครไม่เคยกิน ย่อมไม่เคยรู้


*****
ขอบคุณ AsianWiki , Nungdee.com




 

Create Date : 22 สิงหาคม 2555    
Last Update : 24 สิงหาคม 2555 12:02:40 น.
Counter : 6742 Pageviews.  

Oba , The Last Samurai ปาฏิหาริย์แห่งแปซิฟิก ผู้ถูกเรียกว่าสุนัขจิ้งจอก



Movie: Oba: The Last Samurai
Director: Hideyuki Hirayama
Writer: Don Jones, Takuya Nishioka, Gregory Marquette, Cellin Gluck
Cinematographer: Kozo Shibasaki, Garry Waller
Release Date: February 11, 2011
Runtime: 128 min.



太平洋の奇跡-フォックスと呼ばれた男-
Taiheiyo no kiseki - Fox to yobareta otoko
ปาฏิหาริย์แห่งแปซิฟิก ชายผู้ถูกเรียกว่าสุนัขจิ้งจอก

เห็นโปสเตอร์ก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก
แค่เป็น ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ เท่านั้นก็เพียงพอ

กับบทบาทนายทหาร "ร้อยเอกซามูไร" ผู้ได้รับการถูกเรียกขาน

"สุนัขจิ้งจอกแห่งกองทัพญี่ปุ่น"

เจอคำเท่ๆ อย่างนี้เข้าไป เป็นไปไม่ได้เลยที่จะพลาด

เรื่องย่อจากปก DVD

ร้อยเอกโอบะ ซากาเอะ หัวหน้าหน่วยทหารเดินเท้า ได้รวบรวมทหารที่รอดชีวิตจากการต่อสู้กับอเมริกา หลบหนีขึ้นไปบนภูเขาทะโพเจา และได้บัญชาการรบบนภูเขาลูกนี้ นอกเหนือจากทหารแล้ว ยังมีชาวบ้านร่วมสองร้อยคนอาศัยอยู่ด้วย ร้อยเอกโอบะได้ใช้ความฉลาดแหลมคม หลอกให้ทหารอเมริกาติดกับ จนต้องแตกพ่ายไปหลายครั้ง ร้อยเอกหลุยซ์ผู้ได้รับมอบหมายให้จัดการกับทหารญี่ปุ่นที่อยู่บนภูเขาทะโพเจา ยอมรับในความสามารถของร้อยเอกโอบะ จึงให้สมญานามว่าฟอกซ์ (หมาจิ้งจอก) ร้อยเอกโอบะ จะนำพาชาวบ้านและทหารที่รอดชีวิตพ้นจากทหารอเมริกาได้อย่างไร



ก่อนอื่นขอเอ่ยถึงปก DVD สักหน่อย ก็ไม่ได้จะว่าอะไรหรอกนะคะ แต่พอเห็นแล้วมันสะดุดตาทันใดเพราะภาพของโปสเตอร์หนังต้นฉบับมันเข้ากันกับเนื้อหาดราม่าสงครามของหนังอยู่แล้ว แต่ถ้าดูจากปก DVD มันจะเป็นคนละอารมณ์กัน จึงอยากจะเตือนไว้ก่อนถ้าใครจะซื้อหรือจะเช่าหนังมาดูโดยคาดหวังภาพสงครามการรบระห่ำ เพราะมันไม่ใช่ ถึงจะมีฉากรบกัน มันก็ยังไม่ถึงขั้นจะเรียกว่าได้ว่าเป็นแอคชั่นสงคราม



หนังเรื่องนี้ดัดแปลงมาจากหนังสือ Oba , the last samurai : Saipan 1944-1945 เขียนโดย ดอน โจนส์ ครูสอนภูมิศาสตร์ชาวสหรัฐอเมริกาที่ถูกเรียกตัวไปเป็นทหารรับใช้ชาติในสงครามครั้งนั้น (บางข้อมูลระบุว่าเป็นทหารของกองทัพเรือ) ซึ่งได้ปฏิบัติหน้าที่อยู่ที่เกาะไซปันในช่วงเวลาดังกล่าว และหน่วยทหารของเขาก็ถูกกองทหารของร้อยเอกโอบะ โจมตีอยู่หลายครั้ง

หนังให้เครดิตเอาไว้ว่า Base on a true story ดังนั้น ถ้าอ้างอิงตามหนัง กองกำลังทหารของร้อยเอกโอบะ ได้ยืนหยัดอยู่ในสมรภูมิป่าทึบที่เกาะไซปันในมหาสมุทรแปซิฟิก กินเวลาถึง 512 วัน (ปีครึ่ง) แม้วันที่ 14 สิงหาคม 1945 รัฐบาลญี่ปุ่นโดยจักรพรรดิฮิโรฮิโต ได้ประกาศกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2 แล้ว แต่สงครามบนเกาะไซปันยังคงยืดเยื้อต่อมาอีก 3 เดือน ก่อนจะสิ้นสุดลง ในวันที่ 1 ธันวาคม 1945 ว่ากันว่านี่เป็นจุดสิ้นสุดของญี่ปุ่นในสงครามโลกครั้งที่ 2 อย่างแท้จริง





เซอิจิ โอคุดะ ผู้อำนวยการสร้างหนังเรื่องนี้บอกว่าเขาได้อ่านหนังสือ Oba, the last samurai เมื่อ 30 ปีก่อน และมีความตั้งใจจะนำมาดัดแปลงเป็นภาพยนต์อยู่นานแล้ว แต่เนื่องจากที่ผ่านมาหนังสือขาดตลาดและไม่มีการตีพิมพ์มานาน จึงติดปัญหาการตามหาผู้ถือลิขสิทธิ์ที่แท้จริง

ในที่สุด ความตั้งใจก็กลายเป็นจริง หนังถูกสร้างขึ้นมาได้สำเร็จ ประหนึ่งชีวิตสู้เพื่อฝันในละครญี่ปุ่นเลยนะเนี่ย



เนื้อหาก็เป็นไปตามคาด หนังได้สื่อถึงความรักเกียรติศักดิ์ศรี ความศรัทธาในวิถีบูชิโด ผ่านตัวละครชาวบ้านไปจนถึงนายทหารชาติซามูไร แม้จะพยายามลดทอนการชื่นชม "ความเป็นคนญี่ปุ่น" โดยทำให้ดูเหมือนเป็นการบอกเล่าผ่านสายตาอเมริกัน แต่มันก็ยังคงเป็นหนังที่ยกย่องวิถีแห่งตน(คนญี่ปุ่น)อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งก็ไม่ว่ากัน เพราะมันเป็นเรื่องธรรมดา ดูอย่างอเมริกาก็เป็นชาติพระเอก 99 % ในหนังสงครามฮอลลีวู้ดทั้งหมด อเมริกาคือพระเอกขี่ม้าขาว ปรามปรามประเทศฝ่ายอธรรมและเป็นผู้นำของโลกใบนี้



เหลียวมาดูหนังละครที่มีสงครามย้อนยุคของบ้านเรา พม่าก็จะตกอยู่ในฐานะศัตรูผู้รุกรานตลอดกาล ซึ่งความจริงมันก็ก่อความรู้สึกนึกคิด (พ่วงจินตนาการส่วนตนอีกต่างหาก) ฝังหัวมานานตั้งแต่ในหนังสือเรียนประวัติศาสตร์แล้วล่ะ ยิ่งถ้าเป็นยุคสมัยสมเด็จพระนเรศวรและสมเด็จพระเจ้าตากสิน ยิ่งรู้สึกเกลียดพม่าเป็นพิเศษ เจอละครเรื่อง 'สายโลหิต' พม่ามันเผาเอาพระพุทธรูป ลอกทองคำของเราไป... ยิ่งสุดแค้น อยากจะร้องตะโกนบอกฟ้าข้ามชายแดนพม่าไป (ตอนไปซึ้อของปลอดภาษีที่แม่สอดและแม่สาย)

ชเวดากอง...เอาทองของประเทศฉันคืนมา



หนังสือถูกเขียนโดยทหารอเมริกัน หนังก็ใช้เสียงบรรยายเหตุการณ์เป็นภาษาอังกฤษ เข้าใจว่าคงอยากจะให้สอดคล้องกันและทำให้ดูเหมือนว่า นี่เป็นการเล่าจากมุมมองของอเมริกันจริงๆ นะ (แต่ฉันไม่เชื่อหรอก)

ต่อไปนี้มีสปอยล์เนื้อหาบางส่วน
ถ้ายังไม่ดู.. ก็ข้ามไปเลยนะคะ


ชอบหนังเรื่องนี้ตรงไหน ?

* ไม่ป้ายสีอเมริกา
ความโกรธแค้นของผู้คนต่อการสูญเสียนั้นมีแน่ มุมมองว่าอเมริกาเป็นชาติศัตรูที่ต้องต่อสู้และเอาชนะเป็นของธรรมดาย่อมต้องมีให้เห็นในฐานะคู่สงคราม แต่หนังไม่ได้ไปแตะประเด็นสาเหตุ หรือวิจารณ์การใช้ระเบิดปรมานูที่ฮิโรชิม่าและนางาซากิ ไม่ได้สร้างภาพทหารฆ่าข่มขืนประเภทนั้นให้เห็น เพราะก็คงไม่มีช่องจะไปว่าใครได้ ไม่ว่าจะในแง่สงครามที่ญี่ปุ่นเองก็เป็นประเทศก้าวร้าวตัวดี และในแง่พฤติกรรมทหารก็เป็นอย่างที่ประเทศเพื่อนบ้านเขาเกลียดกัน อย่างที่มีข่าวประธานาธิบดีเกาหลีใต้เรียกร้องให้ญี่ปุ่นแสดงความรับผิดชอบต่อกรณี "ทาสกามารมณ์" ในช่วงสงคราม เมื่องานวันฉลองอิสรภาพของเกาหลี 15 สิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นวันที่ญี่ปุ่นก็จัดงานเหมือนกัน งานรำลึกครอบรอบ 67 ปี การประกาศยอมแพ้ในสงครามโลกครั้งที่ 2



* เหมือนดูหนังฮอลลีวู้ด
เพราะมีฝรั่งแสดงเป็นทหารอเมริกันอยู่ครึ่งหนึ่ง มันรู้สึกจับต้องได้ในความเป็นทหารญี่ปุ่น VS ทหารอเมริกา เพราะหนังแนวดราม่าสงครามบางเรื่องนั้น มันเหมือนมีทหารอเมริกาอยู่ฝ่ายเดียว ยิงๆ วิ่งๆ เดินๆ หลบพุ่งไปมาอยู่ในป่า แต่ว่าศัตรูนั้นอยู่ไหนกันบ้างไม่ค่อยได้เห็น มีแต่ลูกปืนและลูกระเบิดที่สวนสู้มาให้พระเอกได้แสดงความเป็นฮีโร่

ภาพฉากฐานทัพอเมริกา ค่ายเชลย ฉากแอคชั่นสู้รบที่พอมีหอมปากหอมคอ ตลอดจนซากสงครามบิ๊วอารมณ์ก็ทำได้ดี ซึ่งถ้าทำกิ๊กก๊อกในส่วนนี้ มันก็จะไม่ช่วยเอื้ออารมณ์ให้แก่หนังได้ดีพอ



* การแบ่งปันบทบาท
หนังไม่ได้ยัดเยียดความเป็นพระเอกฮีโร่ให้กับร้อยเอกโอบะอย่างที่คิดว่าน่าจะเป็น ไม่แสดงฉากท่านผู้กองแสดงความปราดเปรื่องนั่งคิดกลยุทธ์วางกับดักศัตรู ไม่แสดงความเก่งกาจการสู้รบด้วยแอคชั่นเท่ๆ เพียงแต่แสดงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากยุทธวิธีอันสื่อไปถึงความเป็นผู้นำนักรบที่มีไหวพริบสติปัญญา ทหารอเมริกาโดนเข้าหลายครั้งก็ชักเสียขวัญและพากันเรียกเขาว่าฟอกซ์ (Fox เปรียบเป็นหมาป่าเจ้าเล่ห์) พากันร่ำลือกระทั่งว่าผู้นำทหารญี่ปุ่นคนนั้นเจ๋งถึงขั้นรู้เวลาของม่านหมอกในภูเขา



ชื่อเรื่องก็บอกอยู่แล้วว่าเป็นเรื่องของร้อยเอกโอบะ แต่น้ำหนักของเรื่องก็ไม่ได้อยู่ที่ฝ่ายทหารญี่ปุ่นด้านเดียว มันถ่ายเทมาที่ฝ่ายทหารอเมริกาค่อนข้างมากจนเกือบจะครึ่งต่อครึ่งก็ว่าได้ บทบาทของผู้นำทหารทั้งสองฝ่ายต่างก็ก็โดดเด่น บรรยากาศมันเคร่งเครียดทางฝ่ายทหารญี่ปุ่น แต่มันจะผ่อนคลายเมื่อเปลี่ยนบรรยากาศมาที่ฝ่ายทหารอเมริกา บางจังหวะมันก็มีขำเล็กๆ ด้วย (ถ้าเส้นตื้น)




ฝ่ายทหารญี่ปุ่นมี ร้อยเอกโอบะ ซากาเอะ (ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ)
ฝ่ายทหารอเมริกา ก็มีร้อยเอกเฮอร์แมน หลุยซ์ (Sean McGowan)

ถ้าเข้าใจไม่ผิด เสียงบรรยายเล่าเรื่องเป็นเสียงของ McGowan ซึ่งเป็นการบอกเล่าถึงร้อยเอกโอบะผ่านการรับรู้เรื่องราวของร้อยเอกเฮอร์แมนผู้รู้สึกยอมรับนับถือในตัวผู้นำทหารฝ่ายตรงข้ามตั้งแต่ยังไม่รู้ชื่อและไม่เคยได้เห็นตัว



* ภาพลักษณ์นายทหาร
ชอบลักษณะของ "ผู้กองโอบะ" และ "ผู้กองหลุยซ์" ทั้งสองคนเปรียบเสมือนตัวแทนของกองทัพที่ต่างทำหน้าที่ของตนอย่างแข็งขัน ทหารที่ไม่ใช่ฮีโร่แข็งแกร่ง แต่เป็นทหารเข้มแข็งและเป็นสุภาพบุรุษผู้อ่อนน้อม

ฉากการพบกันครั้งแรกของผู้กองโอบะ และผู้กองหลุยซ์
ถือเป็นฉากสำคัญฉากหนึ่งของเรื่อง

และชอบผู้กองโอบะ ณ จุดนี้มาก

ภาพที่เขาเดินออกมาจากป่าตามลำพัง ในสภาพดำมอมแมมผอมโกร่ง
ยืนนิ่งอยู่ที่ชายป่าตรงนั้น กับสายลมโชยพัดชายหมวกปลิวเบาๆ
ดูสารรูปแล้วน่าสงสาร แต่ท่าทีสงบเงียบนั้นดูมีออร่าความน่านับถือ

ภาพผู้กองหลุยซ์ก้มหัวคำนับในระดับให้เกียรติพองาม
ภาพที่ผู้กองโอบะคำนับตอบในระดับเดียวกัน

ไม่รู้เป็นไรกับฉากนั้นนักนะ มันได้ใจแต่บรรยายไม่ถูก



* การนำเสนอ "ความเป็นคนญี่ปุ่น"

มันช่างเป็นดูเป็นความจงใจชวนให้สงสัยเหลือเกินว่าเนื้อหาในหนังสือของดอน โจนส์ เป็นอย่างไร ผู้กองหลุยซ์มีตัวตนและเคยได้เคยศึกษาอยู่ในประเทศญีปุ่น 2 ปี ก่อนเกิดสงครามด้วยไหม ? เขาจึงรู้ภาษาและเข้าใจในวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นเป็นอย่างดี และแง่มุมของ "ความเป็นคนญี่ปุ่น" ก็ถูกถ่ายทอดจากความเข้าใจของผู้กองหลุยซ์คนนี้นี่เอง



แต่ความจงใจนี้ก็เป็นส่วนที่ทำให้อารมณ์ของหนังเบาลง เพราะผู้กองหลุยซ์จะมีท่านผู้บัญชาการที่อารมณ์ไม่ค่อยจะดี ไม่ว่าจะพูดกันกี่ที ท่านผบ.ก็ยังเป็นคนประเภทที่ ..ตูไม่เข้าใจพวกไอ้ยุ่นมันเลย ลูกน้องผู้กองหลุยซ์ก็น่ารัก-กวนใช้ได้ (หล่อด้วย) มีทั้งเงี่ยหูฟังด้วยความสนใจ และมีที่หน้าเบ้เมื่อได้ฟังคารมผู้กองหลุยซ์พูดถึงคนญี่ปุ่นด้วยน้ำเสียงแฝงความนิยม



"ฉันต้องการความช่วยเหลือจากนาย หลุยซ์ ฉันไม่เข้าใจคนญี่ปุ่นจริงๆ
ทั้งเรื่องแนวคิดบูชิโดด้วย คนญี่ปุ่นมีแนวคิดที่ประหลาด"

"ปัญหาเรื่องของเกียรติยศน่ะครับ เป็นแนวคิดที่ปลูกฝังกันมานาน"

"ทั้งเรื่องฆ่าตัวตายด้วยเรอะ?"

คำ 'ฆ่าตัวตาย' ทำให้ผู้กองหลุยซ์หยิบหมากรุกญี่ปุ่นออกมาเพื่ออธิบายคำตอบ (ชอบฉากนี้)



* เนื้อเรื่อง .. ความดื้อด้านของทหารญี่ปุ่น และความยากลำบากของทหารอเมริกา
เมื่อปัญหาการเคลื่อนไหวของทหารญี่ปุ่นบนเกาะไซปันยังคงเรื้อรัง ผู้บัญชาการฐานทัพของอเมริกาย่อมอารมณ์เสียเพราะโดนกดดันจากเบื้องสูง แม้จะมีทหารเพียงแค่หยิบมือแต่ bullshit ไอ้ฟอกซ์นั่น (ผู้กองโอบะ) ก็ใช้ยุทธวิธีแบบกองโจรทำให้ทหารอเมริกาต้องเสียกำลังพลไปไม่น้อย เอาชนะไม่ได้ทั้งที่พวกทหารญี่ปุ่นมีชาวบ้านกว่าสองร้อยชีวิตเป็นตัวถ่วงอยู่ภายใต้การคุ้มครอง แค่จะกวาดต้อนชาวบ้านมายังค่ายเชลยยังทำไม่ได้ นับประสาอะไรกับการทำให้พวกทหารยอมแพ้ หายหัวกันไปหมดทั้งทหารและชาวบ้าน ด้วยภูมิประเทศเป็นป่าทึบเต็มไปด้วยหุบเขาที่ไม่อาจจะมองเห็นได้จากเครื่องบินลาดตระเวน ฝ่ายอเมริกาต้องใช้ความพยายามกระทั่งสั่งกำลังพลจำนวนมากเดินเท้าเรียงหน้ากระดานควานหาไปทั่วพื้นที่ป่า



บรรดาผู้นำเหล่าทหารของกองทัพญี่ปุ่นที่ถูกจับตัวได้ แทนที่จะทำตัวมีประโยชน์บ้างในฐานะเชลย ก็พากันฆ่าตัวตายไปซะหมด เล่ากันว่าที่หน้าผาแห่งหนึ่งบนเกาะไซปัน ชาวบ้านต่างพากันไปโดดหน้าผาตายเป็นจำนวนมาก เป็นสิ่งที่ผู้บัญชาการไม่อาจเข้าใจ ทำไมกระทั่งผู้หญิงและเด็กก็พากันฆ่าตัวตาย ซึ่งเรื่องนี้ผู้กองหลุยส์เขามีคำตอบ



รถทหารบรรทุกเครื่องขยายเสียงของทหารอเมริกา เป็นสิ่งหนึ่งที่ชอบมากในหนังเรื่องนี้ ถึงกับหัวเราะเลย เมื่อเห็นมันโผล่ออกมาพร้อมกับเสียงเพลงและคำป่าวประกาศ

"ทหารญี่ปุ่น ชาวญี่ปุ่นทุกคน ที่หลบซ่อนในภูเขาทะโพเจา
ได้ยินเพลงที่เปิดนี้แล้ว คงจะคิดถึงบ้านเกิดสินะ
ทหารอเมริกันไม่ฆ่าทุกคนหรอกครับ รีบๆ ยอมแพ้จะดีกว่า"


แต่มันก็ไม่ได้ผล ความยืดเยื้อของสงครามบนเกาะไซปันยังคงคาราคาซังต่อไป



* คำสนทนาโดน ๆ
ถ้าจะเข้าใจวิถีวัฒนธรรมของคนชาติอื่นมันต้องมีการเปิดใจ แต่ผู้บัญชาการทหารอเมริกาไม่อยากจะสนวัฒนธรรมห่-าเห-วอะไรนั่น เพราะสุดท้าย ..

"ฉันก็ยังไม่เข้าใจพวกไอ้ยุ่นอยู่ดี"

ถ้าอยากตายกันนักก็จัดไป ทำอย่างไรก็ได้ให้ทหารญี่ปุ่นยอมแพ้ลงมาจากภูเขา ให้สงครามจบสิ้นให้เร็วที่สุดแล้วพวกเราพากันกลับบ้าน จึงมีบทสนทนาหลายๆ สิ่ง ที่สื่อประเด็นของหนังได้ดี อย่างเช่นว่า ...

"ก่อนอื่นคำว่า 'ยอมแพ้' ก็ไม่ควรใช้ครับ
คนญี่ปุ่นเป็นชนชาติที่ภูมิใจในชาติตัวเองสูง
พวกเขาจะไม่มีวันยอมแพ้ง่ายๆ "

"ห้ามทำลายเกียรติยศของคนญี่ปุ่น
ไม่ควรประกาศว่าให้ยอมแพ้
แต่ควรใช้คำว่า 'เลิกต่อต้าน' จะดีกว่าครับ"

ชอบหน้าตาของคนฟัง ที่มีอาการเหมือนว่า ตูงง ...นั่นมันต่างกันตรงไหน ?

ญี่ปุ่นไม่มีทางจะชนะสงครามได้ ประเทศก็ถูกถล่มทำลายย่อยยับ แล้วพวกทหารจะยังดันทุรังกันไปถึงเมื่อไหร่ คำถามคือ

"บอกหน่อยสิ ทำไมคนญี่ปุ่นถึงปฏิเสธที่จะยอมแพ้"

และก็เป็นอีกครั้งที่ผู้กองหลุยซ์ หยิบตัวหมากรุกญี่ปุ่นออกมา ....






* ป๋ายูของเราเขาแก่แล้ว
มันคือสัจธรรม สังขารทั้งหลายทั้งปวงไม่เที่ยงเมื่อได้เห็น ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ ในหนังเรื่องนี้ (ตัวจริงอายุ 40 ปี) เขามีอายุการทำงานในวงการแสดงมาแล้ว 17 ปี แต่เพิ่งเคยแสดงหนังแค่ 3 เรื่องเท่านั้น แม้สายงานหลักจะไม่อยู่บนจอเงิน แต่ก็เข้าตาแคสติ้งให้มารับบทสำคัญนี้ ซึ่งถือว่ามีความเหมาะสมทั้งวัย ทั้งประสบการณ์คร่ำหวอด เพราะการจะถ่ายทอดเกร็ดชีวิตของบุคคลสำคัญในยุคสงครามที่มีเกียรติประวัตินายทหารส่วนตนอันส่งผลไปถึงเกียรติภูมิของชาติด้วยนั้น มันเป็นอะไรที่ต้องพึ่งระดับเก๋า-มากฝีมือ



หนังเรื่องนี้ทำให้เกิดความรู้สึกอย่างหนึ่งต่อยูทากะ ความที่เขาดูแก่มากในบทบาทนี้ มันเกิดความรู้สึกยอมรับขึ้นมาได้ว่า ยูทากะจะไม่ใช่นักแสดงหนุ่มหล่อที่อยู่ในบทบาทพระเอกหนุ่มหล่อมาดเท่อีกต่อไป

อธิบายความเวิ่นเว้อส่วนตน - บทนี้มันเหมือนกับว่าเขาได้ก้าวข้ามเส้นขีดคั่นระหว่างการเป็นพระเอกหนุ่มไปสู่การเป็นนักแสดงอีกกลุ่มที่เรามักเรียกว่า "นักแสดงอาวุโส" เหมือนเป็นจุดเปลี่ยนที่ส่งยูทากะไปยังฝั่งสูงวัยอย่างเต็มตัว และด้วยบทที่ดีอย่างนี้ คำว่าขาลงจากเหตุจากสังขารโรยจะฟังเป็นคำหยาบคายไปเลย เพราะถึงบทจะแก่ แต่ก็แก่อย่างน่าภาคภูมินะขอบอก



อยากติอะไรในหนังเรื่องนี้บัาง?

* บทของอิโนอุเอะ มาโอะ และ ยามาดะ ทากายูกิ
สาวชาวบ้านกับหน้าที่พยาบาลจำเป็น มาโอะเป็นตัวแทนของคนญี่ปุ่นผู้สูญเสียและโกรธแค้น ด้วยเหตุนี้เธอจึงฉุนเฉียวเจ้าอารมณ์ ซึ่ง..เยอะไป น่ารำคาญ โชคดีที่คู่เขม่นของเธอไม่ใช่นายทหารชั้นผู้นำอย่างยูทากะ เพราะนั่นอาจจะทำให้ภาพลักษณ์ของร้อยเอกโอบะเสื่อมความขลัง ดังนั้น..ผู้รับบทเขม่นตอบสาวมาโอะ ย่อมต้องเป็นนายทหารหนุ่มคนสำคัญคือยามาดะ ทากายูกิ ส่วนตัวเสียดายตรงนี้ เพราะอยากให้เป็นนักแสดงอื่นที่ชอบมากกว่า แต่ยามาดะก็เล่นได้เคร่งเครียดดี เพราะเขาเป็นตัวแทนของทหารรักชาติประเภท "สุดโต่ง"



* ทหารอเมริกันพุงพุ้ย
ไม่รู้ไปขุดเอาฝรั่งแก่ๆ ที่ไหนกันมา แก่ไม่ว่า ทหารมันก็ต้องมีแก่กันบ้างล่ะ แต่การที่มีทหารหลายๆ คนพากันยื่นพุงล้นหลามออกมามันก็ดูตลกไปหน่อย โดยเฉพาะตัวท่าน ผบ.ที่พุงใหญ่กว่าใครเขา ถ้าถ่ายแต่หน้าก็โอเคแต่ถ้าเห็นตัวมันดูไม่ดีเลย เหมือนเป็นตาแก่ขี้บ่นมากกว่าจะเป็นนายทหารระดับผู้บังคับบัญชา



* ค่ายเชลย-ลักลอบเข้าออกง่ายไปหน่อยมั้ย
ลวดหนามก็ปลดง๊ายง่าย ทหารก็ไม่รู้จักมีลาดตระเวน แต่ชอบฉากที่พระเอกล้มกลิ้งออกมาตรงรั้วลวดหนาม แล้วฝูงเครื่องบินบินผ่านเหนือหัว มุมภาพสวยมากได้อารมณ์ตอกย้ำถึงแสนยานุภาพของกองทัพอเมริกาใส่หัวพระเอกพอดีเลย



* ความเป็นปถุชนคนธรรมดา
หนังมุ่งไปในเรื่องทหารผู้พร้อมยอมพลีเพื่อชาติอย่างไม่ยอมแพ้ ดั่งคำผู้กองโอบะ "แม้จะเหลือแค่คนเดียวก็ต้องปกป้องคนหมู่มากเอาไว้ให้ได้" จึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับอารมณ์ส่วนตัวของทหารในแง่ครอบครัว คนที่รักและรออยู่ข้างหลัง ความโกรธแค้นและเจ็บปวดต่อสงครามก็เลยไม่พีคสักเท่าไร แม้แต่ตัวสำคัญอย่างยามาดะก็ไม่มีพื้นเพอะไรเพิ่มเติมนอกจากเขาเป็นนายทหารชื่อคิตานิ หรือแม้แต่ผู้กองโอบะเองก็รู้แค่ว่าเขามีลูกสอง



* ความมอมแมม
นี่ไม่ใช่ข้อติหรอกนะคะ แค่เป็นข้อขัดใจทำให้จำนักแสดงไม่ได้ ยิ่งฉากรบไม่รู้ใครเป็นใคร ผู้กองโอบะของชั้นอยู่ไหน ตรงไหน คนไหนล่ะ นายทหารหน้าเคร่งคิตานะก็ผ่านไปตั้งครึ่งเรื่องกว่าจะรู้ว่าเป็นยามาดะ เอโมโตะ โทคิโอะ นายทหารสติเฟื่อนหน้าตาเป็นเอกลักษณ์หาใครเหมือนได้ยากยังต้องใช้เวลาอึดใจถึงนึกออก นายทหารอาวุโสคนหนึ่งผ่านไปค่อนเรื่องถึงรู้ว่าเป็น มิตสุอิชิ เคน จะมีก็แต่ โอคาดะ โยชิโนริ ที่บทเด่นพอกันกับยามาดะแต่จำเขาได้ทันทีเพราะมีความคุ้นเคยกับผลงานในคาแร็คเตอร์ที่ชวนจำมากกว่า



โดยรวมแล้วชอบหนังเรื่องนี้ มีหลายฉากหลายตอนที่ส่งความหมายได้ถึงความรู้สึก อย่างตอนผู้กองโทบะ แกล้งตายในสนามรบ ถูกทหารปลายแถวเย้ยหยันว่ากลัวตาย แต่มันเป็นจุดที่หนังได้บอกว่า เขาไม่ใช่ฮีโร่ และไม่ใช่รักตัวกลัวตาย ถึงมันจะดูน่าอับอาย แต่การรักษาชีวิตรอดมันมีค่ากว่าความกล้าหาญโง่ๆ แน่นอน



เด็กทารกคนเดียว สื่อความหมายหลายอย่าง เด็กผู้บริสุทธิ์ และเป็นประกายแห่งความหวังให้คนรู้สึกมีพลัง แต่มีความคาใจอย่างหนึ่งคือ เพื่อเด็กคนนี้ ผู้กองโอบะได้ตัดสินใจผูกผ้าแดงเอาไว้ที่หน้าบ้าน ทหารอื่นไม่ชอบใจ บอกว่าอย่าทำตัวเป็นพ่อพระ อย่าผูกผ้าผืนนั้น เพราะทหารอเมริกันจะรู้ว่าพวกเราอยู่แถวนี้ แต่พอได้ฟัง ผู้กองโอบะกลับขยับปมผ้าให้แน่นยิ่งกว่าเดิม เมื่อทหารอเมริกันผ่านมาเห็นผ้าแดง ใครคนหนึ่งพูดว่า มันอาจเป็นกลลวง

การผูกผ้าแดงหมายถึงอะไร ? หรือมันจะหมายถึง "สันติ" ?
ถ้าใครดูฉากนี้แล้วเข้าใจช่วยบอกที



การตัดสินใจของผู้กองโอบะในเรื่องนี้ เป็นที่ยอมรับในทุกกรณี บางอย่างมันอาจไม่เท่ แต่มันเป็นสิ่งจำเป็นต้องกระทำ เพราะถ้าไม่ทำก็ไม่ใช่ผู้นำที่ดีน่ะสิ




อีกฉากหนึ่งที่ชอบคือตอนผู้กองหลุยซ์บอกให้ผู้กองโอบะได้รู้ เหล่าทหารอเมริกันเรียกเขาว่า "ฟอกซ์" ชอบใบหน้าของผู้กองโอบะตอนที่ปฏิเสธอย่างซื่อตรง

"ผมไม่ใช่คนแบบนั้น ผมแค่อยากจะสู้อย่างทุ่มเท"

(คิดว่าเป็นฉากเท่ที่สุดของผู้กองโอบะในเรื่องนี้)

ชอบตอนจบมาก

แม้ความรู้สึกดีต่อหนังอาจยังไม่สุดถึงขั้นจะเรียกว่าประทับใจ
แต่หนังก็คงบรรลุวัตถุประสงค์ที่ทำให้รู้สึกได้ว่า
นี่สินะ คือสิ่งที่หนังอยากจะแสดงออกมาให้เห็น

.. ความสง่างามของผู้แพ้...









ขอบคุณ Asian Wiki




 

Create Date : 21 สิงหาคม 2555    
Last Update : 22 สิงหาคม 2555 23:50:49 น.
Counter : 11279 Pageviews.  

Hanamizuki บางคำรัก ลึกซึ้งเกินกว่าจะกล้าพูดออกมา





Hanamizuki คำโปรยอย่างเป็นทางการของหนังเรื่องนี้
ทั้งบนโปสเตอร์และหลังปก DVD มันช่างเรียกร้องความสนใจได้มากจริงๆ

...บางคำรัก ลึกซึ้งเกินกว่าจะกล้าพูดออกมา
ผลงานรัก ที่จะทำให้หัวใจคุณอุ่นกว่าทุกวัน โดยผู้กำกับ Be with you ...



"....ผลงานกำกับของผู้กำกับ โนบุฮิโร่ โดอิ หลังจากเคยฝากความประทับใจจาก Be With You และ Nada Sou Sou มาแล้ว เขาจะกลับมาทำให้หัวใจแฟนชาวไทยประทับใจกันอีกครั้งกับ Hanamizuki (ฮานะมิซึกิ) เรื่องรักระหว่าง ซาเอะ (อารางากิ ยูอิ จาก Sky of Love) เด็กสาวมัธยมปลายจากฮอกไกโด ผู้กำลังเตรียมสอบเข้ามหาวิทยาลัย โดยหวังจะไปใช้ชีวิตในเมืองเกิดที่พ่อกับแม่ของเธอรักกันในแคนาดา กับ โคเฮ (อิคุตะ โทมะ จากซีรี่ส์ Hana-Kimi) เด็กหนุ่มธรรมดา ๆ ผู้มุ่งมั่นที่จะทำตามความฝันของตัวเองอย่างแรงกล้า ทั้งคู่พบและรักกัน ก่อนที่เส้นทางชีวิตที่แต่ละคนเลือกและความห่างไกลจะเกิดขึ้น จนเกิดเป็นเรื่องราวความรักแท้ที่กินเวลานานกว่า 10 ปี จนทำให้คนดูต้องหันกลับมาถามตัวเองว่า เคยลืมกันไปบ้างไหมว่า ความรู้สึกของการได้รักใครบางคนนั้นเป็นอย่างไร

หนังถ่ายทำในฮอกไกโด นิวยอร์ค โตเกียว และแคนาดา ที่เมื่อภาพยนตร์เข้าฉาย เรื่องรักจับหัวใจเรื่องนี้ได้สร้างปรากฏการณ์น้ำตาซึม จนทำให้หนังขึ้นอันดับ 1 ติดต่อกันถึง 2 สัปดาห์ในญี่ปุ่นได้อย่างไม่ยากเย็น...."


//www.Nugdee.com ก็โปรยย้ำเอาไว้อย่างเรียกร้องความสนใจเหมือนกันว่า

"....หนังถ่ายทำใน 4 เมือง ฮอกไกโด –นิวยอร์ก – โตเกียว – แคนาดา เมืองที่ได้ชื่อว่าโรแมนติกที่สุดแห่งหนึ่งในโลก สะท้อนความรักที่ยั่งยืนและถึงจะเดินทางผ่านฤดูกาล ร้อน – หนาว – ฝน หรือ ใบไม้ผลิ ขอบตาคุณก็จะยังอุ่นได้ทุกครั้งที่รู้สึกถึง...."

โปรยปรายกันขนาดนี้ แล้วใครจะไปอดใจไหว ก็จำเป็นต้องขวนขวายหามาดู





Be with you ที่อยู่ในความทรงจำอันลางเลือนเหมือนเคยดู
Noda Sou Sou ที่ไม่เคยดูมาก่อนไม่ว่าจะหนังหรือซีรีย์

แต่เชื่อว่าชื่อหนัง 2 เรื่องนี้คงเป็นชื่อที่ช่วยโหมกระพือและเป็นคำโฆษณาความซึ้งให้กับ Hanamizuki ได้เป็นอย่างดี ประกอบกับการใช้นักแสดงวัยรุ่นหน้าตาดีมีพาวเวอร์สูงอย่าง อารากากิ ยูอิ อิคุตะ โทมะ ร่วมด้วยนักแสดงสบทบที่คุ้นหน้าคุ้นตาอย่าง โอซามุ มิคาอิ และ มิซาโกะ เรนบุตสึ (Misako Renbutsu)

Hanzmizuki จึงเป็นหนังที่น่าดูมากอย่างไม่ต้องสงสัย





ซึ่งมันก็น่าดูจริงๆ กับภาพวิวทิวทัศน์อันสวยงามของเมืองสี่เมือง บวกกับนักแสดง 4 คนที่เอ่ยถึง พ่วงอีก 1 ด้วยคุณป้า ฮิโรโกะ ยาคุชิมารุ นักแสดงอาวุโสที่ชื่นชอบและเธอเหมาะกันเหลือเกินกับบทคุณแม่ของนางเอก

แต่มันก็มีอยู่แค่นั้นแหละที่ทำให้ Hanamizuki เป็นหนังดีน่าดู
และเพราะชอบอยู่แค่นั้น มันก็เลยกลายเป็นหนังดีที่ดูแล้วไม่ซึ้ง





ถามตัวเองว่า หนังหน้าตาคุณภาพน่าจะดีขนาดนี้ แต่กลับไม่ดีถึงใจมันขาดอะไร
นิ่งคิดอยู่อึดใจ แล้วได้คำตอบแรงๆ มาสองประการให้กับตนเองว่า


มันขาดความลึกซึ้ง และขาดความอบอุ่นอันเป็นคำโปรยหลักของหนังนั่นแหละ

กับสิ่งที่พระเอกนางเอกได้คิด ได้ทำ ได้ตัดสินใจ แล้วไม่อิน
ว่ากันซื่อๆ คือ ไม่เห็นด้วยนั่นแหละ ทำให้เป็นปัญหากับการดูหนังทันที
เพราะนั่นหมายถึงว่า ไม่ชอบในนิสัยของพระเอกนางเอกเข้าให้แล้ว

"ถึงเราจะอยู่ห่างกัน แต่เราจะยังเหมือนเดิมใช่มั้ย"

ตามธรรมดาเจอคำถาม ขอความมั่นใจในรักแท้ไม่แพ้ระยะทางอย่างนี้
ต้องมีซึ้งน้ำซึมขอบกันบ้างล่ะ แต่ทันทีที่ได้ยินคำถามนี้ มีคำถามสวนทันที
แล้วใครกันที่ไม่ช่วยย่นระยะห่าง เพลิดเพลินกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำ แม้ยามปิดเทอมก็ไม่คิดจะยอมกลับไปพบเจอกัน




"ฉันรู้ตั้งแต่เริ่มแล้ว ว่าฉันไม่ใช่ส่วนหนึ่ง ที่จะมีอยู่ในอนาคตของเธอ"

ส่วนตัวยกให้เป็นประโยคไคลแมกซ์ของเรื่อง ที่ควรจะน้ำตาไหลร่วงด้วยความกระเทือนใจในเส้นทางชีวิตที่เลือกเดินได้ด้อยกว่า ชาวประมงบ้านนอกที่ก็รู้ตัวอยู่แล้วว่าไม่คู่ควรกับสาวมหาลัยในโตเกียว อนาคตของเธอที่ฝันไกล ขณะที่ความฝันของเขาเหมือนฝันย่ำอยู่กับที่ ที่ท้องทะเลบ้านเกิด แต่ขนาดว่าฝันแค่นั้น ยังยากเย็นจะเห็นทางสำเร็จ

ขนาดพูดกันขนาดนี้แล้ว ก็ยัง ... ยังไม่มีทีท่าว่าต่อมน้ำตาจะก่อหวอดเพื่อไหลริน

มีหนังมีซีรีย์ญี่ปุ่นหลายเรื่อง ที่วัยรุ่นหนุ่มสาว เลือกจะทำตามความฝันของตนเอง โดยสละความรักไป




แต่ที่เห็นจากหนังเรื่องนี้ที่รู้สึกถึงคือความเห็นแก่ตัวและผูกมัดกันและกันทั้งสองฝ่าย เหมือนกับประโยคที่ว่า "ถึงเราจะอยู่ห่างกัน แต่เราจะยังเหมือนเดิมใช่มั้ย" เหมือนกับขอให้รักยังเหมือนเดิม แต่ไม่เคยคิดจะเสียอะไรไปสักอย่างจากความต้องการของตัวเอง รักนะ แต่ก็มุ่งจะก้าวไปข้างหน้าโดยไม่เหลียวแลคนที่รักและรออยู่ข้างหลัง ส่วนพระเอกเอาอย่างเท่ๆ ก็ควรจะบอกว่า "ไปดีเถิดนะ" และตัดใจแต่แรกแล้ว ก็อย่างที่พูดนั่นแหละ "ฉันรู้ตั้งแต่เริ่มแล้ว ว่าฉันไม่ใช่ส่วนหนึ่ง ที่จะมีอยู่ในอนาคตของเธอ" (ย้ำกันเข้าไป) แต่ก็ยังดึงดัน และเมื่อถึงเวลาปล่อยรักไป ก็เกือบจะเท่ละ หากว่าจะไม่ปล่อยเนื้อปล่อยตัวให้ผู้หญิงอีกคนง่ายเกินไป และความง่ายนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งความเห็นแก่ตัว ส่วนนางเอกไม่ต้องพูดถึง เธอก็ไม่เหนี่ยวรั้งสักคำกับการเลิกกัน ชวนให้คิดไปว่าเธอก็ลังเลอยู่แล้วกับการที่พระเอกจะเป็นตัวถ่วง เมื่อเขาบอกความตั้งใจที่คิดจะล้มเลิกความฝันชาวประมงและไปหางานทำอยู่ด้วยกันที่โตเกียว เธอก็ไม่ได้ให้คำตอบ



ในเกร็ดภาพยนต์บอกว่า Hanamizuki ในภาษาของดอกไม้ก็คือคำว่า "เฮนไร" หมายถึงการตอบแทนคำขอบคุณ และเป็นการสื่อถึง "การเสียสละเพื่อความรัก" ซึ่งก็ไม่ได้เข้ากันเลยกับความรักของพระเอกนางเอกที่นอกจากจะไม่เห็น ไม่รู้สึกถึงความเสียสละ ยังทำให้รู้สึกว่าค่อนข้างจะเห็นแก่ตัวด้วย แม้ตอนเลิกกันก็ไม่ดูเป็นการเสียสละ แต่มันเป็นข้อจำกัดที่ไม่อาจจะร่วมทางเดินไปด้วยกัน ความรักมันก็เลยดูฉาบฉวยไปนิดนึง ถึงจะเป็นรักแรก(ที่ลืมยาก)แต่ก็ดูขาดน้ำหนักของความผูกพันที่จะเป็นเครื่องเหนี่ยวรั้งความรู้สึกที่มีต่อกันไปถึง 10 ปี ต่อให้มีคืนสัมพันธ์ในวันคริสต์มาสก็เถอะ เมื่อไม่รู้สึกไปกับหนังในจุดนี้แล้ว ก็เป็นธรรมดาที่ยากจะอินกับหนังได้



ทำให้นึกถึงหนังฝรั่งเรื่อง One Day - วันเดียว...วันนั้น...วันของเรา ทั้งที่การจะอินกับหนังรักตะวันตกนั้นมันค่อนข้างจะยากกว่าถ้าเปรียบเทียบกับหนังเอเชีย ใน One day ยังยาวนานกว่าเพราะเป็น 20 ปีที่ไกลห่าง มันมีทั้งช่วงเวลาที่ดีที่ร้าย มีมิตรภาพ ทะเลาะเบาะแว้ง มีความหวังและโอกาสที่พลาดพลั้ง มันทำให้รู้สึกเชื่อในความผูกพันและทำให้ปวดใจกับความห่างเหิน หนังมีจุดกระชากใจ (อย่างแรงด้วย) มีจุดเปิดเผยความจริงในวันหนึ่งวันนั้น (วันแห่งรักแรก) มันจึงน่าเชื่อใน 20 ปีของเยื่อใยที่ทนทาน กับความรักที่เหมือนมีแค่จางๆ แต่แท้จริงมันหยั่งรากลึกและทรหด แม้แค่ความสุขในช่วงสั้นๆ ที่มีกัน มันจึงสำคัญและลึกซึ้ง แต่ Hanamizuki มันเหมือนเป็นความรักที่จะว่าสุขก็ไม่ถึงสุข จะว่าทุกข์ก็ไม่ถึงขั้น เรื่องก็ดำเนินไปได้เร็วจนทางฝ่ายนางเอกนั้นความคิดถึงห่วงใยแทบไม่มีแสดงให้เห็น ความลังเลระหว่างความรักที่โหยหา กับความฝันที่ต้องการก็ไม่ค่อยแสดงให้รู้สึก



ความฝันที่ก็กลายเป็นปัญหาขัดแย้งในใจอีกประการหนึ่ง
เพราะมันไม่ชัดเจนให้เข้าใจได้เลยว่า
แท้จริงแล้วนางเอกเธอต้องการอะไรในชีวิต

มันไม่มีน้ำหนักของความฝันอันแรงกล้า ประเภทปมในใจ หรืออะไรอื่น ที่ทำให้เชื่อได้ว่า เธอจำเป็นต้องดันทุรังก้าวไปข้างหน้าแบบไม่เหลียวหลังคนข้างหลัง อยากใช้ภาษาอังกฤษ อยากไปแคนาดาเมืองที่พ่อกับแม่เคยรักกัน ก็จะไปเมื่อไหร่ก็ได้ การจะใช้ชีวิตในต่างประเทศมันมีความหมายอะไรในเมื่อพ่อของเธอก็เสียไปแล้ว และแม่ผู้แก่ตัวลงทุกวันของเธอก็ใช้ชีวิตอยู่ที่ญี่ปุ่น .. เพราะมันขาดแรงบันดาลใจต่อความฝันที่หนักแน่นพอ นางเอกก็เลยไม่เหมือนคนที่ไล่คว้าฝัน ..ซึ่งส่วนใหญ่จะเท่ แต่เธอเหมือนคนที่ค้นหาตัวเองไม่เจอมากกว่า (ความเห็นส่วนตัวน่ะนะ)

แต่ยอมรับว่าหนังเรื่องนี้มีโปรดักชั่นที่ดี ถ้าคนญี่ปุ่นน้ำตาซึมมากมายขนาดขึ้นอับดับ 1 ถึง 2 สัปดาห์ กวาดรายได้กว่าพันล้านเยนก็ไม่น่าจะมีปัญหากับต่อมน้ำตาของคนไทยที่ชอบหนังประเภทรักโรแมนติก หรือถ้าใครจะเป็นคนส่วนน้อยที่ไม่อิน หรืออินแล้วแต่ยังไม่สุด ก็ถ้าไม่คาดหวังสูง ไม่คิดเอาอะไรมาก Hanamizuki ก็เป็นหนังรักที่มีพระเอกหล่อ นางเอกสวย ฉากงดงาม (มากด้วย) ดูแล้วเพลินเจริญตา แม้ไม่ซึ้ง ไม่เสียน้ำตา สองชั่วโมงของเวลาก็ยังคุ้ม

แล้วก็ชอบสโลแกนของหนังมากเลยล่ะ

"May your love bloom for a hundred years."
"ขอให้รักเบ่งบานเป็นร้อยปี"

ที่บางคนยังอุตส่าห์เลือกคำสื่อความหมายได้เพราะกว่านี้

"ขอให้รักเรานั้นนิรันดร"





ขอบคุณ Asian Wiki




 

Create Date : 20 สิงหาคม 2555    
Last Update : 20 สิงหาคม 2555 1:09:58 น.
Counter : 7493 Pageviews.  

Love Letter จดหมายรักจากความทรงจำ หนังสร้างชื่อของผู้กำกับ ชุนจิ อิวาอิ



Movie: Love Letter
Director & Writer : Shunji Iwai
Release Date: March 25, 1995 (Japan)
Runtime: 117 min.



17 ปี มันช้าไปมั้ย ที่จะดูหนังเรื่องนี้น่ะ ?

เพราะ Love Letter เป็นหนังที่ออกฉายปี 1995 ณ ปัจจุบันปี 2012

คำตอบคือ ไม่เลย มันไม่ช้าเกินไป และดีใจที่ได้หยิบขึ้นมาดูกับเขาสักที

มีหนังเรื่องนี้อยู่นานแล้ว ด้วยถือคติ

อย่าปล่อยให้หนังที่คนร่ำลือลอยนวล



แต่ที่ Love Letter ค้างอยู่ในกรุมานานมาก ต้องโทษ All about LiLy Chou Chou หนังด้านมืดที่ทำให้ประสาทเสียนิดหน่อยกับคำว่า "หนังของชุนจิ อิวาอิ" แม้จะเคยดู Rainbow Song กับ Bandage มาแล้ว และเริ่มจะคลายใจว่าหนังของชุนจิ อิวาอิ มันก็ไม่ได้มืดมนทุกเรื่องหรอกนะ แต่พอเจอ Shiki Jitsu โศลกแห่งดวงวิญญาณหลงทาง หนังอารมณ์วังเวงประหลาด ที่ดูแล้วสุดแสนจะอึดอัดไม่สบายใจ ชุนจิ อิวาอิ ไม่ได้เขียนบทก็จริง แต่แค่รับแสดงให้ ก็เป็นเหตุหนึ่งให้ชื่อของชุนจิ อิวาอิ เป็นชื่อที่น่าหวั่นระแวงมาถึง Love Letter ที่ฟังชื่อเรื่องและอ่านเรื่องย่อ ก็เข้าใจเอาเองว่ามันน่าจะเศร้า และถ้าเศร้าแบบชุนจิ อิวาอิ มันต้องเศร้าแบบวิสามัญที่ไม่ธรรมดา




เคยลองแง้มๆ เปิดดูอยู่ครั้งหนึ่ง แต่บรรกาศหิมะที่ชวนเหงาและเยียบเย็นกับงานครบรอบวันตายของชายคนรัก ก็ยิ่งทำให้กลัวเศร้าและปิดไป จนวันหนึ่งที่รู้สึกว่า ฉันพร้อมแล้วล่ะ ที่จะซาบซึ้งและร้องไห้กับผลงานสร้างชื่อของ ชุนจิ อิวาอิ เรื่องนี้ จึงเพิ่งจะค้นพบว่า มันใช่หนังเศร้าที่ไหนกันเล่า แถมไม่มีเสียน้ำตาสักหยด บรรยากาศของหนังอาจเงียบเหงาและหนาวเย็น แต่อารมณ์ของมันกลับกรุ่นไปด้วยหวังอันอบอุ่นกับเรื่องราวจากความทรงจำที่ดี





ฟูจิอิ อิซึกิ คู่หมั้นของ วาตานาเบะ ฮิโรโกะ เสียชีวิตจากอุบัติเหตุปีนเขาเมื่อสองปีก่อน เวลา 2 ปีผ่านไปที่ฮิโรโกะ ยังไม่อาจตัดใจจากความรักและปล่อยวางความตายของคนรักที่เกิดขึ้น

ในงานครบรอบวันตายของอิซึกิ ฮิโรโกะได้เปิดดูหนังสือรุ่นวัยมัธยมของเขา เป็นความโหยหาในจิตใจที่ทำให้เธอเขียนจดหมายไปยังที่อยู่เดิมของอิซึกิด้วยความห่วงหาอาทรเหมือนว่าเขายังมีชีวิตอยู่ แม้จะรู้ดีอยู่แก่ใจกับความเป็นจริงที่ว่า ..เขาตายไปแล้ว




แม่ของอิซึกิบอกว่า บ้านเดิมหลังนั้นได้ถูกเวนคืนสร้างเป็นทางด่วนมานานมาก ฮิโรโกะเขียนจดหมายทั้งรู้ดีว่าจะส่งไปไม่ถึงและได้รับการตีกลับ แต่ด้วยความหวังอันเลื่อนลอยเผื่อว่าเขายังไม่จากไปไหน ก็ทำให้เธอลืมตั้งสติและเขียนจดหมายส่งออกไป

ทว่า ไม่ใช่จดหมายตีกลับที่เธอได้รับ แต่เป็นจดหมาย "ตอบกลับ" อย่างน่าอัศจรรย์ใจ เพราะมันถูกตอบกลับมาในทุกข้อความถามไถ่ พร้อมชื่อลงท้าย "ฟูจิอิ อิซึกิ"




มันไม่มีทางที่จดหมายจะถูกส่งไปถึงตามที่อยู่นั้น
หรือแท้ที่จริง ฟูจิอิ อิซึกิ เขายังมีชีวิตอยู่ที่นั่น
หรือเขาตายไปแล้ว แต่ยังคงตอบจดหมายมาได้จากสวรรค์

เป็นข้อกังขา สุดคาใจ ที่ฮิโรโกะต้องหาคำตอบ
แม้เป็นคำตอบที่ครึ่งหนึ่งภายในใจ เธอไม่ปรารถนาจะรู้นัก
เพราะการเขียนจดหมายส่งไป และได้รับตอบกลับมา
มันคือความสุขประการหนึ่งของหัวใจที่ยังคงคิดถึงคะนึงหา

จดหมายไปถึงได้อย่างไร และใครคือ ฟูจิอิ อิซึกิ ที่ตอบกลับมา




ความรักอยู่ในความทรงจำอันสวยงาม แต่มันยังไม่เพียงพอ
ฮิโรโกะ ยังคงปรารถนาจะได้รับรู้จากเรื่องราวของ ฟูจิอิ อิซึกิ
ให้มากกว่านี้ เธอต้องการมัน จากความทรงจำของใครอีกคน
แม้ว่านั่นอาจจะสั่นคลอนความรักในความทรงจำของเธอเอง

รัก...ที่อาจไม่ใช่ "รักแรก" และบางที รักนั้นอาจเป็นได้แค่ "ตัวแทน"




แต่ความทรงจำอุ่นๆ ที่บอกเล่าผ่านจดหมายตอบกลับมา
ก็ทำให้เธอยอมรับความจริง ปลดปล่อยเขาไปกับความตาย
และพร้อมจะก้าวต่อไป เพื่อเริ่มต้นใหม่กับใครสักคน
คนที่ยังเฝ้ารอคอยและพร้อมจะยืนอยู่เคียงข้าง




โดยเนื้อเรื่องเอง ก็ทำให้รู้สึกดีมากอยู่แล้วกับหนังเรื่องนี้
แต่ยังมีความรู้สึกดีๆ กับความบังเอิญบางประการ นั่นคือ

ความรู้สึกดีที่ได้เห็น โทโยกาวะ เอซึชิ ( Toyokawa Etsushi) คุณพ่อแสนดีจากซีรีย์ Beautiful Rain ปี 2012 กับมาดวัยหนุ่มใน Love Letter ปี 1995 (ดูจากลักษณะ ตอนเป็นนักแสดงหนุ่มๆ คงเท่น่าดู) เขารับบท อากิบะ ชิเงรุ เพื่อนของอิซึกิที่รักผู้หญิงคนเดียวกันคือ ฮิโรโกะ แต่เพราะความไม่กล้าทำให้เพื่อนมีโอกาสเหนือกว่าและคว้าหัวใจของเธอไปครอง 2 ปีผ่านไปหลังการเสียชีวิตของอิซึกิ อากิบะยังคงรอคอย แต่ฮิโรโกะ ก็ไม่มีทีท่าจะตัดใจจากอิซึกิที่ตายไปได้ง่ายๆ แต่เขาก็ยังรอ




ความรู้สึกดีที่ได้เห็น ซากาอิ มิกิ และ คาชิวาบาระ ทาเกชิ เป็นตัวแทนบอกเล่าความทรงจำเกี่ยวกับ ฟูจิอิ อิซึกิ ในวัยเยาว์ เพราะซากาอิ ยังอยู่ในความทรงจำเก่าเก็บกับ ซีรีย์เรื่อง Hakusen Nagashi อดีตฝันวันวาน (1997)ที่ยังคงค้างคาใจเพราะไม่ได้รับการสะสาง



วันก่อนยังพยายามเสิร์ชหาซื้อซีรีย์เรื่องนี้อยู่เลย แต่ยังหาไม่ได้ ที่มีก็ราคาแพงและเป็นประกาศเก่าๆ ที่อาจจะขายไปหมดแล้ว เห็นหน้าซากาอิแว่บแรกก็นึกถึงซีรีย์เรื่องนี้ทันทีเลย เห็นหน้าคาชิวาบาระ ก็รู้สึกคุ้นเคยด้วยเช่นกัน เพราะทั้งคู่ต่างก็เป็นหนุ่มสาวที่แสดงอยู่ในซีรีย์เรื่องนั้น โดยมีโทโมยะ นางาเสะ เป็นพระเอกของซากาอิ ช่วงเริ่มแรกเป็นพระเอกที่ยังเคร่งขรึมจริงจัง ก่อนจะค้นพบเส้นทางสายเพี้ยนให้หันไปเอาดีด้านบทบ้าบอจนกู่ไม่ค่อยจะกลับ





วาตานาเบะ ฮิโรโกะ รับบทโดย มิโฮ นากายามะ (Miho Nakayama) ผู้ได้รับเสียงชื่นชมว่าแสดงบทบาทได้เข้าถึงและดึงอารมณ์ได้เอาอยู่ แม้ส่วนตนได้เทใจให้คู่ความทรงจำมัธยมอย่าง ซากาอิ มิกิ และ คาชิวาบาระ ทาเกชิ ไปจนแทบไม่เหลือแล้ว ก็ยังเห็นด้วยเต็มที่ว่าเธอแสดงได้ดีอย่างเต็มทุกบทบาทในหนังเรื่องนี้

ใจจริงอยากเอ่ยถึงบทบาทของเธอมิโฮให้มากกว่านี้
แต่ด้วยความที่เป็นหนังดีจัด แม้เวลาจะผ่านไปกว่า 17 ปี
ก็ไม่กล้าจะสปอยล์มากนัก เพราะยังอยากให้ Love Letter
คงความเป็นจดหมายรักในตำนานของท่านชุนจิ อิวาอิต่อไป





จะว่าไปมันก็เป็นหนังที่อธิบายได้ไม่ค่อยจะชัดเจนนักหรอกว่ามันเป็นอย่างไร รู้แต่ว่าดูแล้วโคต-รรู้สึกดี
ถึงต้องยืมคำพูดดีๆ ที่เขาวิจารณ์กันมานมนานแล้วว่า
เป็นหนังที่ดูอบอุ่นและมีความหวัง

ส่วนตัวคิดว่ามันควรค่าสมเป็นหนังสร้างชื่อของ ชุนจิ อิวาอิ และคู่ควรเป็นจุดขาย หากชุนจิ อิวาอิจะไปทำหนังเรื่องใด แล้วโปรยโฆษณาว่าเป็นหนังของ ชุนจิ อิวาอิ ผู้กำกับและเขียนบท Love Letter แม้ที่หนึ่งในใจในบรรดาหนังของชุนจิ อิวาอิ จะยังขอมอบให้ Bandage เหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง แต่นั่นมันเป็นเพราะองค์ประกอบของความใหม่ นักแสดงหนุ่มหล่อ และบทเพลงที่ได้ใจในแง่ของการนำเสนอ ซึ่งไม่ได้หมายความว่า Bandage จะสู้ Love Letter ได้ในความลุ่มลึกและงดงาม




Bandage ยังครองที่หนึ่งอยู่ได้นั้น มันเป็นเพราะบทเพลงที่เอ่ยถึง ความเศร้า ความเจ็บปวด ความรวดร้าว ที่เชื่อมโยงมาจากเนื้อเพลงเริ่มต้นที่ว่า "เธออาจจะไม่ยกโทษให้ฉัน" การสื่อด้วยภาพกับบทบาทการแสดงของ อาคานิชิ จิน มันมัดใจแน่นหนา และเหตุผลในการเทคะแนนให้หนุ่มหล่อ มันก็ไม่ได้ซับซ้อนจนยากจะเข้าใจว่าทำไมถึงได้เป็นที่หนึ่งน่ะนะ (คิคิคิ) RainBow song อาจมีการรวมพลังของอิชิฮาระ ฮายาโตะ กับอุเอโนะ จูริ ก็จริง แต่ถ้าวัดความชอบที่เนื้อเรื่องด้วย ยังสู้ Bandage ไม่ได้



Love Letter คือหัวใจที่เจ็บปวดจากการสูญเสียคนรักของคนๆ หนึ่ง
แต่ได้รับการเยียวยาด้วยความทรงจำของใครอีกคน
ความทรงจำที่ปรารถนาจะได้รับรู้ แต่ยิ่งรู้มากเท่าไร
ยิ่งตระหนักภายในใจแจ่มชัด

มันไม่ใช่ความทรงจำสำหรับฉัน
แต่มันคือความทรงจำสำหรับเธอ

เธอ..ที่เพิ่งรู้ตัวว่า ความทรงจำนั้นคือ "ความรัก"



ขอบคุณ Asian Wiki




 

Create Date : 19 สิงหาคม 2555    
Last Update : 19 สิงหาคม 2555 11:35:55 น.
Counter : 13517 Pageviews.  

Shindo ก้องเพลงรักเพื่อสองหัวใจเรา



Title : Shindo
Director: Koji Hagiuda
Writer: Kosuke Mukai
Cinematographer: Yoshihiro Ikeuchi
Release Date: April 21, 2007
Runtime: 120 Min.



อารมณ์อยากดูหนังรัก พักนี้ก็ดูอยู่หลายเรื่อง

ในที่สุดก็เจอแล้วสักเรื่อง กับหนังรักดีๆ ที่น่าจดจำ

แม้ไม่ใช่หนักรักเร้าอารมณ์ ไม่มีฉากรักบานฉ่ำ หรือรักหวานซึ้ง

แต่มันก็ซึ้งตรึงใจกับท่วงทำนองของความรักและดนตรี

จึงต้องขอชื่นชมไปยังผู้กำกับ Koji Hagiuda และผู้เขียนบท Kosuke Mukai ไปก่อนใครเพื่อนเลย




เรื่องย่อจาก //www.nungdee.com

“วาโอะ” คือเด็กหนุ่มวัย 19 ผู้มุ่งมั่นที่จะทำความฝันของตัวเองให้เป็นจริง ด้วยการสอบเข้าโรงเรียนดนตรีแห่งชาติให้ได้ แต่เสียงเปียโนจากปลายนิ้วของวาโอะกลับไม่สื่อไปถึงหัวใจของคำว่าดนตรีอย่างที่เขาหวัง…

วันหนึ่งกลางฤดูร้อนในขณะที่วาโอะนอนฟังเสียงน้ำอยู่บนเรือพาย เขาได้พบกับ “อูตะ” สาวน้อยวัยสิบสามผู้ออกตามหาตุ๊กตาหมีที่ถูกเด็กเกเรแกล้งเอามาโยนทิ้งที่ริมบึง

“อูตะ” เป็นสาวน้อยมหัศจรรย์ที่มากไปด้วยพรสวรรค์ด้านดนตรี แม่ของอูตะเคยเล่าให้เธอฟังว่าอูตะสามารถเล่นเปียโนได้ก่อนที่เธอจะพูดได้เสียงอีก แต่พรสวรรค์ของอูตะกลับเบ่งบานภายใต้ความทรงจำที่เจ็บปวดเกี่ยวกับพ่อของเธอ...

การที่วาโอะได้พบกับอูตะ ทำให้พวกเขากลายเป็นเพื่อนสนิทกัน อูตะเริ่มสอนให้วาโอะใช้หัวใจตัวเองเล่นเปียโน จนทำให้เขาสามารถสอบเข้าโรงเรียนดนตรีได้อย่างที่หวัง

เมื่อวาโอะเริ่มเรียนในโรงเรียนดนตรี ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับอูตะก็เริ่มห่างเหิน และอาการปวดหูของเธอก็เริ่มรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนเธอกลัวว่าสักวันหนึ่งเธออาจไม่ได้ยินเสียงเปียโนอีกต่อไป

และก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป อูตะก็ตัดสินใจที่จะออกตามหาเปียโนที่เธอเคยเล่นกับพ่อในวัยเด็ก ด้วยความหวังที่จะเล่นเพลงรักครั้งสุดท้ายที่เปียโนหลังนั้น



คนหนึ่งมีพรสวรรค์อันบรรเจิด ทุกปลายนิ้วสัมผัสได้บรรเลงบทเพลงอันไพเราะสะกดใครต่อใครที่ได้ฟัง แต่ยิ่งถูกผลักดันให้เล่นเปียโนมากเท่าไร ยิ่งต่อต้านและหนีห่าง ราวกับว่าการสัมผัสเปียโนคือความเจ็บปวด

ส่วนอีกคนแม้หน้าไม่ให้แต่หัวใจสุดรักในดนตรี ไอ้หนุ่มลูกชายร้านขายผักที่หากสอบเข้าโรงเรียนดนตรีไม่ได้ จะยอมหันมารับช่วงต่อร้านขายผักจากพ่อและแม่ เสียงเปียโนคือชีวิตจิตใจ ทว่าน่าเสียดายที่พรสวรรค์ดันหลบมุม เป็นอย่างที่ถูกเด็กหญิงวัย 13 ว่าเอาไว้

"นายเล่นห่วยแตก"

แต่เมื่อกลายเป็นเพื่อน คนหนึ่งที่พรสวรรค์ไม่เป็นใจและหัวใจก็ท้อแท้ เริ่มมีกำลังใจจะมุ่งมั่น มุมานะจะเอาดีด้วยเปียโนให้ได้ ส่วนอีกคนก็เริ่มจะรู้ตัวว่ายิ่งพยายามออกห่างจากเปียโนมากเท่าไร หัวใจลึกๆ กลับโหยหา เสียงเพลงที่บรรเลงจากปลายนิ้วของตนเอง คนที่บอกว่า "ฉันคือดนตรี"



วาโอะ (มัตสึยามะ เคนอิจิ) เขาเป็นหนุ่มโรงเรียนดนตรี ส่วนอูตะ (นารุมิ ริโกะ) ยังเป็นเด็กหญิงชั้น ม.ต้น อายุ 13 ความสัมพันธ์คล้ายจะเริ่มเหินห่างและน่าเป็นห่วงเมื่อวาโอะยังถูกอาจารย์ส่งตัวไปเล่นเปียโนประสานเสียงให้นักเรียนสาวสวยผู้ขับร้องโอเปร่า คาเนะ (คันจิยะ ชิโฮริ)

แต่ความรู้สึกที่วาโอะและอูตะมีให้กัน มันเป็นมากกว่าคำว่ารัก
เพราะมันคือสายใยความผูกพันที่ถักทอเอาไว้ด้วยดนตรี

เหมื่อนดั่งเนื้อเพลง ...A Ripple Song

"หัวใจหนึ่งดวง กับหัวใจอีกหนึ่งดวง สามารถสื่อโยงถึงกัน
ด้วยบทเพลงไพเราะบทเพลงหนึ่ง"


อูตะไม่เคยพูดอะไรเกี่ยวกับอาการปวดหูของเธอ
แต่วาโอะก็เริ่มรู้สึกถึงความผิดปกติ ที่ทำให้เขาห่วงกังวล
และนั่นก็เป็นความรู้สึกที่มีต่อ "คนสำคัญ"

"ทำไมอูตะ ถึงมีปัญหาที่จะเล่นเปียโน"

“ไม่ใช่ว่าเธอสมัครใจจะเล่น”

“แต่ออกมาดี”

"ไม่ได้หมายถึงเรื่องนั้น...
ตอนนี้พอเธอเข้าใกล้เปียโน มัน....มันไม่ปลอดภัย”




ซื้อแผ่นหนังเรื่องนี้มาเพราะ นารุมิ ริโกะ ที่จำได้เธอได้จากบทน้องสาวนางเอกเรื่อง One Litre of Tear บันทึกน้ำตา 1 ลิตรเห็นเธออีกครั้งกับซีรีย์ Ruri's Island เกาะของรูริ ที่แสดงประกบคู่กับนักแสดงรุ่นใหญ่ ทาเคโนะอุจิ ยูทากะ แต่ไม่ได้รู้ตัวเลยว่าเธอคือคนเดียวกันกับ "ซาจิโกะ" ในซีรีย์ Don Qixote เพราะมันเป็น 7 ปี และ 5 ปีผ่านที่ทำให้เธอเติบโตขึ้นเป็นสาวสวยจนจำไม่ได้ว่าเธอคือสาวน้อยคนเดียวกัน




ตอนดูหนังเรื่อง Nana จำไม่ได้แล้วว่าติดอกติดใจเพลงบ้างหรือเปล่า ส่วนเรื่อง Bandage ของ ชุนจิ อิวาอิ เนื้อเพลงกับเนื้อเรื่อง และจังหวะการปล่อยเนื้อเพลงเต็มๆ ของบทเพลงได้ทำความประทับใจมาแล้ว มาถึงหนังเรื่องนี้ Shindo เรื่องของบทเพลงก็ทำได้จับจิตเช่นเดียวกัน หลังจากที่ได้ยินแต่ท่วงทำนองเพลงจากเสียงเปียโน เมื่อเนื้อเพลงถูกขับร้องออกมาตอนท้ายเรื่องมันเป็นบทสรุปที่ทำให้รู้สึกดีจริงๆ ต้องขอบคุณการแปลซับที่แปลเนื้อเพลงออกมาให้ได้รู้ความหมายกันด้วย

ดูหนังเกี่ยวกับดนตรี บทเพลง ความรัก ถ้าทำเพลงออกมาได้ดีก็จะเป็นหนังที่ทำให้รู้สึกดีอย่างมาก ซึ่งก็ไม่ใช่ว่าหนังแนวนี้ทุกเรื่องจะทำได้ แม้จะว่าจะเป็นแนวที่โปรดปรานเป็นอย่างมากก็ตาม

Shindo ทำให้นึกขึ้นได้ว่า ยังมีหนังเกี่ยวกับดนตรีค้างสต๊อกอยู่อีก 1 เรื่อง BECK ของซาโต้ ทาเครุ ที่รอการพิสูจน์



หนังเกี่ยวกับดนตรี ย่อมต้องดนตรีไพเราะเสนาะใจ
เสียงเปียโนที่บรรเลงท่วงทำนองเพลงอ่อนหวาน
เสียงที่ก้องกังวานให้ได้ฟังเหมือนมีโน้ตพลิ้วระบำอยู่ในหู

ชอบฉากวาโอะเล่นเปียโนตอนสอบเข้ามากๆ

ชอบฉากการแสดงเปียโนของอูตะมากมาย

และประทับใจฉากที่วาโอะและอูตะเล่นเปียโนด้วยกัน

เสียงเปียโนของท่วงทำนองเพลงที่สองเราบรรเลง..ประสาน

ฉันรักเธอ เธอรักฉัน เรารัก เราผูกพัน เราเข้าใจกัน
และไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ฉันจะอยู่ตรงนี้เคียงข้างเธอ


ฉากนั้น มันเหมือนแทนความรู้สึกเหล่านี้โดยไม่ต้องเอ่ยถ้อยคำ
ภาษารักที่สื่อผ่านดนตรีและมีแค่เราสองคนเท่านั้นที่เข้าใจ

มันเป็นฉากที่ ...มีอานุภาพถึงขั้นทำให้
พระเอกหน้าตาธรรมดาคนนี้
ดูหล่อเหลาขึ้นมาอย่างมากมาย




ขอย้ำอีกที นางเอกเรื่องนี้อายุ 13 ในความสัมพันธ์ฉันท์เพื่อนระหว่างเด็กหญิงนักดนตรีพรสวรรค์กับหนุ่มนักเรียนดนตรีพรแสวง
ย่อมไม่มีอะไรจะหวานแหววแบบคนชอบพอหรือเป็นแฟนกัน

แต่มันก็คือความรัก

และความไม่หวานของมันนี่แหละ ที่ทำให้ภาษารักจากดนตรี
มีความลึกซึ้งมากกว่าฉากรักซึ้งๆ จะทำได้

ความจริงเนื้อหาของหนังก็ไม่เท่าไหร่หรอก
แต่ได้เพลงได้เสียงเปียโนมาช่วยบิ๊ว
จากหนังรักธรรมดาเลยกลายเป็นเป็นหนังรักตราตรึง














เพลง A Ripple Song
เนื้อร้อง : Mito
ขับร้อง : HARADA Ikuko


หัวใจหนึ่งดวง กับหัวใจอีกหนึ่งดวง สามารถสื่อโยงถึงกัน
ด้วยบทเพลงไพเราะบทเพลงหนึ่ง
เหมือนระลอกคลื่นที่สั่นกระเพื่อม
มันถ่ายทอดสำเนียง สะท้อนต่อกันเป็นวง
พลิ้วไหลเลื่อนไป

สีดำและสีขาวที่ตรงข้ามกัน ถูกรวมเข้ากันได้
ด้วยเสียงเพลงของเธอ
ช่างกระจ่างจัด เสียงเพลงของเธอ
ความรู้สึกที่แน่วแน่ไม่ไหวเอน
ความรู้สึกของผู้คนที่จับจ้องมาที่เธอ
จงแปรพวกมันให้เป็นความรัก
และส่งกังวานต่อไปมิคลาย
ด้วยมือของเธอ… สองข้างนั้น

หัวใจหนึ่งดวง กับหัวใจอีกหนึ่งดวง สามารถสื่อโยงถึงกัน
ด้วยบทเพลงหนึ่ง และนั่นคือ…
พลังที่เธอเท่านั้นที่มี เธอคนเดียวที่มี


ขอบคุณ ภาพและข้อมูล Nungdee.com , AsianWiki




 

Create Date : 18 สิงหาคม 2555    
Last Update : 12 กุมภาพันธ์ 2556 12:31:25 น.
Counter : 7612 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  8  9  

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.