Group Blog
 
All blogs
 
Team Medical Dragon ( IRYU 3) "อาซาดะ ริวทาโร่" กลับมาเท่แนวใหม่ด้วยคำว่า "ทีม"



จะทำยังไงดีนะ ให้เขียนบล็อกนี้ให้เสร็จภายใน 2 ชั่วโมง ลองจับเวลาณ จุดสตาร์ท มือวางบนแป้นคีย์บอร์ดเคาะไปเคาะมาอยู่ชั่วครู่ ก็ยังนึกไม่ออกว่าจะเขียนถึงอย่างไร และจะเริ่มจับต้นชนปลายจากตรงไหนดี นี่ต้องเป็นเพราะใจพะวักพะวนอยากจะรีบเร่งไปดูรายการ Running Man ที่โปรดปรานแน่เลย แต่ดูซีรีย์เรื่องนี้แล้ว จะทิ้งไปเฉยๆ ก็ยังนึกเสียดายอยู่ เขียนเถอะเขียน

....
....
....

"อาซาดะ ริวทาโร่"

ต้องใช้ชื่อนี้เรียกความฮึกเหิม



"อาซะดะ ริวทาโร่"

เมื่อไหร่ก็ตามที่มีการเอ่ยนามนี้ออกมาเต็มๆ ทั้งชื่อทั้งสกุล โดยตัวละครตัวใดตัวหนึ่ง มักจะได้อารมณ์บางอย่างที่อธิบายเป็นคำพูดไม่ถูก และตัวละครที่สามารถเอ่ยนามนี้ออกมาอย่างได้อารมณ์ที่ว่านั้นมากที่สุด ต้องเป็น คุณหมอคิโต้ค่ะ อย่าสับสนกับคุณหมอคาโต้นะคะ เพราะชื่อคล้ายๆ กัน คุณหมอคิโต้ คือคุณป้าแก่ๆ หน้าแหลมๆ ตาหรี่เฉียงๆ ดูไม่น่าคบน่ะค่ะ เวลาที่ป้าแกเอ่ยปาก "อาซาดะ ริวทาโร่" โดยที่ไม่มีคำพูดอื่นใดตามมาน่ะ จะสื่อความเข้าใจได้ทันทีว่าป้ากำลังรู้สึกอย่างไร อยู่ไหนอารมณ์ไหน จะลองบรรยายดูนะคะ ก็คงจะเป็นการผสมปนเประหว่างความทึ่ง ความยอมรับนับถือ ความอิดหนาระอาใจ และบางครั้งก็มีความฉุนเฉียวด้วย ถ้าเป็นตาหมอตัวร้ายโนงุจิเอ่ย "อาซาดะ ริวทาโร่" จะออกแนวขุ่นมัวนิดๆ และหมายมาดอะไรบางอย่าง ส่วนถ้าเป็นคนอื่นๆ เอ่ย "อาซาดะ ริวทาโร่" จะไม่ค่อยแตกต่างกันนัก นั่นคือมีความยอมรับนับถือในความสามารถล้นเหลือ ที่ฉายา "หัตถ์เทวดา" ไม่ได้เว่อร์ไปเลยสักนิดถ้าเทียบกับฝีมือขั้นเทพอันไร้เทียมทานของคุณหมอท่าน



และทั้งหลายทั้งปวงที่มีตัวละครใดเอ่ยนาม "อาซาดะ ริวทาโร่" ลอดริมฝีปากออกมา นั่นมันก็ช่างตอกย้ำความเท่ของพระเอกได้ดีจริงๆ ความเท่อันไม่เกี่ยวกับหน้าตา แต่ท่านได้มาเพราะความเก่งเกินคนล้วนๆ

ความจริงแล้ว ไม่คิดว่าจะมีการทำภาค 3 ขึ้นมาอีก แม้ว่าภาค 2 จะยังสนุกอยู่ก็ตาม เพราะไม่คิดจะยังมีมุขไหนให้เล่นอีก ต้องขอกลับไปเช็คผู้เขียนบทและผู้กำกับสักเล็กน้อย (ซึ่งไม่ใช่ปกติวิสัยที่จะทำบ่อยนัก)

Season 1


Directors: Kubota Satoshu, Mizuta Narihide
Screenwriter: Hayashi Hiroshi

Season 2


Director :Mizuta Narihide (ep1-3,6,8,11), Hayama Hiroki (ep4-5,7,10), Hoshino Kazunari (ep9)
Screenwriter: Hayashi Koji

Season 3


Director: Naruhide Mizuta (ep.1,3,7,10), Hiroki Hayama (ep.2,4,6,9), Hiroyuki Sawano
Writer: Koji Hayashi

**Original writing (manga): Iryu by Nogizaka Taro ***

ถึงใช้ผู้กำกับหลายคน แต่ในเมื่อเป็นคนเขียนบทคนเดียวกันก็ไม่่น่าจะมีปัญหานะคะ แต่ทำไมรู้สึกการเชื่อมต่อเนื้อหาไม่ค่อยรื่นไหลก็ไม่รู้สิ ใน Season 2 ก็ใช้ผู้กำกับหลายคนเหมือนกัน แต่ไม่ยักรู้สึกว่าไม่รื่นเหมือนครั้งนี้ หรือจะเป็นเพราะเนื้อหาที่ค่อนข้างกระจัดกระจาย อยากจะคว้าเอาไว้หลายประเด็น ก็เลยไม่โดดเด้งโดนใจเท่าที่ควร



ภาคแรกนั้นสนุกมากกกกก ยิ่งดู ยิ่งสนุก ลุ้นไปกับเนื้อหาทุกตอน ไม่ว่าจะเป็นการก่อตั้งทีมดรากอน ที่กว่าจะดึงเอาแพทย์ที่มีนิสัย 'สุดโต่ง' ไปคนละทางแต่ละคนมารวมตัวกันได้ การวินิจฉัย การวิจัย และการรักษาที่เต็มไปด้วยปัญหาอุปสรรค ถูกขัดแข้งขัดขาเพราะไปขัดผลประโยชน์ ถูกหมายมั่นคิดทำลายเพราะดันไปขวางทางสู่การมีอำนาจและความเป็นหนึ่งในทางวิชาการ

พอมาต่อกันที่ภาคสอง โดยส่วนตัวคิดว่าเรื่องสนุกมากกว่าภาคแรกเสียอีก เพราะปัญหาที่ใหญ่ขึ้น ภาคแรกนั้นเป็นขั้นของการแสดงความสามารถ และสร้างความยอมรับทั้งในตัวของหมออาซาดะ และทีมแพทย์ดรากอน ในแง่ของโรงพยาบาลก็ยังเป็นเพียงการแย่งตำแหน่งชิงอำนาจกันเองเป็นการภายในโดยต่อสู้กับจรรยาบรรณของการเป็นแพทย์ แต่เมื่อเข้าสู่ภาคสอง ปมขัดแย้งได้ขยายใหญ่ขึ้น คือนอกจากจะแย่งชิงอำนาจทางการบริหารกันเองภายใน ยังมีการแก่งแย่งส่วนแบ่งทางการตลาดของธุรกิจโรงพยาบาล การพยายามยกฐานะของโรงพยาบาลให้ก้าวไปสู่สากลระดับโลก (ซึ่งก็เว่อร์เหลือคณา แต่ว่าสนุกดี) เคสรักษาก็ยากเย็นเข็ญใจท้าทายฝีมือท่านเทพอาซาดะแบบไม่ให้ได้พักเหนื่อย ยิ่งบรรดาหมอๆ ที่ว่าภาคแรกก็สุดโต่งแล้ว ภาคสองนี่หนักยิ่งกว่า เพราะมันไม่ใช่การเปิดโอกาสของการแสดงฝีมือ เรียนรู้ทำงานร่วมกันและยอมรับในฝีมือกันและกันเหมือนในภาคแรก แต่หมอแต่ละคนในภาคสองนั้น ฝีมือเฉียบขาดเพียงแต่มีปมปัญหาให้เล่นตัวกันมากสักหน่อย กว่าจะมารวมเป็นทีมได้ ฝีมือขั้นเทพอันร่ำลือของหมออาซาดะไม่ได้สร้างความกระตือรือร้นต่อหมอเหล่านั้นนัก ก็จะสักแค่ไหนกันเชียว ในเมื่อหมอแต่ละคนที่อาซาดะพยายามจะรวมทีมก็ไม่ใช่ระดับอึๆ ขั้นเทพเหมือนกั๊นนน ก็แค่เป็น 'หมอมีปัญหา' ที่ไร้อารมณ์และต่อต้านตัวเองไม่ให้แสดงฝีมือ



แต่ครั้งนี้ ภาคสาม เขามามุขใหม่ ด้วยการสรรหาอุปสรรคมาคอยขัดที่ตัวบุคคลของหมอแต่ละคน ซึ่งหลังจากเคยมีปัญหาผ่านพ้นกันมาแล้ว พอกลับมาทำตัวมีปัญหาอีก เลยรู้สึกว่า เอ่อ .. ค่อนข้างจะแป๊ก! ไม่ว่าจะเป็นหมออาราเสะ ที่มีแผลในใจกับคนไข้รายหนึ่ง แล้วก็ยังป่วยอีกด้วย หมอคาโต้ก็มีอดีตที่ย้อนกลับมาเป็นตัววัดใจ หมออินจูอินนี่ไม่รู้ยังไงอยู่ๆ ก็กลายเป็นเด็กโหยหาความสำคัญในตัวเองสักงั้น หรือแม้แต่ตัวหมออาซาดะเองก็มีปมในใจที่เกิดความกระทบกระเทือนให้จับมีดหมอไม่ได้ซะอีก แต่ประเด็นหนึ่งที่ซีรีย์พยายามนำเสนอให้โดดเด่นขึ้นมา นั่นคือ เรื่องของ 'การทำงานเป็นทีม'

"ถึงใครจะไป เราก็สามารถเดินต่อไปได้ นั่นแหละ คือทีมที่แท้จริง"

มีทีมแพทย์ ควบคู่ไปกับจรรยาบรรณทางการแพทย์ ที่ประเด็น 'คุณภาพชีวิต' ของผู้ป่วย เป็นปัจจัยสำคัญที่หมอต้องเลือกวิธีการรักษาที่ดีที่สุด ซึ่งอาจหมายถึงการใช้วิธีที่ยากที่สุดด้วย ก็เลยอดสงสัยไม่ได้ว่า ดีที่สุดแต่ยากที่สุดและต้องเสี่ยงที่สุดนี่มันดีจริงเหรอ แต่บังเอิญหมอในเรื่องนี้คือ "อาซาดะ ริวทาโร่" มันก็เลยคุ้มที่จะเสี่ยงกว่าปกติ ( ล่ะมั้ง)

ซึ่งก็ต้องยอมรับ..ในแง่ประเด็นทางจรรยาบรรณ เขาก็นำเสนอได้เท่ดีอยู่หรอกค่ะ

"สิ่งที่ผูกพันหมอกับคนไข้ไว้ด้วยกัน
ไม่ใช่ใบยินยอมพวกนั้น แต่เป็นความเชื่อใจ"


แต่ประเด็นนี้จะไปปรองดองกับคุณหมอฝึกหัดใน Code Blue ไม่ได้หรอกนะคะ เพราะประเด็นความเชื่อใจทีใจ ไม่ใช่ที่ใบยินยอมนี่น่ะ ทำเอาคุณหมอคนหนึ่งเกือบสิ้นอาชีพกันเลยทีเดียว

"ไม่มีความมั่นใจร้อยเปอร์เซ็นต์ในการแพทย์
มีความเป็นไปได้ที่จะล้มเหลว เพราะสิ่งที่ไม่คาดคิดเกิดขึ้น
การแบ่งบันความเสี่ยง ค่อการแบ่งปันความรับผิดชอบ
ซึ่งเป็นเรื่องของหมอ ไม่ใช่ของคนไข้"


นั่นมันก็จริงของหมอล่ะนะ



และทั้งเรื่องผู้โดดเด่นก็เช่นเดิม มงกุฏแมนออฟเดอะสตอร์รี่ จะเป็นของใครไปได้ล่ะ ถ้าไม่ใช่ "อาซาดะ ริวทาโร่" ซึ่งเป็นบทบาทของคุณหมอสุภาพบุรุษที่สุดแสนจะมาดแมนเป็นลูกผู้ชายเกินร้อย ผู้เอ่ยประโยค

"งานของหมอคือการช่วยชีวิตคนไข้ นั่นคือทุกสิ่งทุกอย่าง" (ใครบอกล่ะ มันคือเงินเดือนค่าจ้างด้วยต่างหากล่ะคะ คุณหมอ)

"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คนไข้ก็คือคนไข้ การรักษาคนไข้ คือหน้าที่ของหมอ"

ทั้งที่หน้าตาอย่างโหด ดูเย็นชา ตายด้าน ไร้อารมณ์ ปากที่แทบไม่พูดอะไร แต่สายตาของหมออาซาดะจะมองไปที่คนไข้เสมอ ใจที่เปี่ยมเมตตาและสั่งการสมองให้ครุ่นคิดหาวิธีการรักษาที่ดีที่สุดให้คนไข้รอดชีวิต เคสที่ชอบที่สุดคงหนีไม่พ้นเคสของเด็กชายโทรุผู้สิ้นหวังในการมีชีวิตอยู่ และหมอต้องซื่อสัตย์ต่อคนไข้ อาซาดะก็เช่นกัน แต่จุดประสงค์นั้นต่างกัน หมอบางคนซื่อสัตย์เพราะไม่อยากให้คนไข้ตั้งความหวังไว้สูง แต่อาซาดะนั้นตรงกันข้าม

"ไม่ว่าหมอจะพยายามแค่ไหน ก็ยังมีคนไข้ที่ไม่สามารถช่วยชีวิตไว้ได้"

"เหมือนอย่างผมหรือฮะ" เด็กชายโทรุถามหมอด้วยน้ำเสียงที่ยอมรับสภาพตัวเองดี

"ใช่แล้วล่ะ...คนไข้ที่ไม่อยากต่อสู้กับโรคของพวกเขา เหมือนกับเธอ
ถ้าเธอไม่มีความตั้งใจ ที่จะต่อสู้กับโรคของเธอเองแล้ว
ไม่ว่าหมอจะทำอะไร ก็ไม่มีความหวัง สิ่งที่หมอทำได้
มีเพียงการยื่นมือออกไปหาคนไข้ที่ต้องการสู้
ความต้องการสู้ ที่มาจากตัวของคนไข้เอง"


นี่คือความเท่ของ "อาซาดะ ริวทาโร่" คุณหมอหัวใจแกร่งที่มีความศรัทธาในพลังใจ

"ถ้าเธอเชื่อมั่น ย่อมต้องมีความหวังอย่างแน่นอน"

(และนี่คงเป็นบทพูดที่ยาวที่สุดของอาซาดะ ริวทาโร่ ในซ๊รีย์เรื่องนี้)

ตัวละคร





อาซาดะ ริวทาโร่ อยากจะโกนเคราตรงปลายคางของคุณหมอออกเสียจริง เห็นแล้วขัดหูขัดตา สไตลิสท์ก็คิดได้นะ รูปลักษณ์นี้ คิดว่าอาซาดะเป็นผู้เฒ่าเต่าผู้วิเศษหรือยังไงกัน เคนจิที่รับบทนี้ก็ไม่ค่อยหล่อเหมือนเดิมล่ะค่ะ แต่ด้วยบทบาทนั้นส่งเสริมจึงออกมาเท่เช่นเดิม มิเปลี่ยนแปลง

ยังคงเป็นคุณหมอที่เก่งกาจ พูดน้อย และไม่สนใจอะไรเลย นอกจากคนไข้และจรรยาบรรณของการเป็นแพทย์ การที่หมออาซาดะไม่สนใจใครจะคิดอย่างไร ไม่สนใจใครจะเก่งเลิศเลอมาจากไหน (ซึ่งอาจจะทำให้ตำแหน่งหัตถ์เทวดาของหมออาซาดะถูกแย่งชิงไปได้ ) จะเป็นวิธีรักษาแบบไหนก็ช่างเถอะ ขอแค่รักษาคนไข้ได้ก็พอ นั่นแหละทำให้หมออาซาดะดูดี มีความเท่เกินหน้าเกินตาชาวบ้านเขา

เพราะเก่งเกินไป จนผู้เขียนบทไม่รู้จะใส่อะไรเข้าไปขัดขวางความเก่งของท่านได้ การสร้างจุดบอดอันเป็นอุปสรรคของหมออาซาดะขึ้นมาสักอย่างหนึ่งจึงเป็นทางเลือกที่ผู้เขียนบทคงจำเป็นต้องทำ และทำแล้วก็ค่อนข้างจะออกมาเป็นมุขแป๊ก! เป็นความรู้สึกส่วนตัวนะคะ หรืออาจจะเป็นเพราะโดนซีรีย์เรื่อง Code Blue ใส่ความทรงจำลงไปมากแล้วในเรื่องอุปสรรคทางจิตใจของคนเป็นหมอ พอเจอ IRYU พยายามจะอัดซ้ำเข้าไป ใจก็เลยไม่ค่อยยอมรับสักเท่าไร



อินจูอิน โนบุรุ คุณหมอหนุ่มหน้าอ่อนที่แม้จะฝีมือดีขึ้นมากแค่ไหน ทำงานหนักเพียงไร เขาก็ยังเป็นแค่ "คุณหมอเด็กๆ" ในสายตาคนทั่วไป ส่วนคนที่รับรู้ในความสามารถก็ยังคงเห็นเขาเป็น "คุณหมอผู้ช่วย" ซึ่งระดับความยอมรับและความรู้สึกเชื่อมั่นมันต่างกันหากหมออินจูอินจะได้ยืนอยู่ในห้องผ่าตัด ในตำแหน่ง ศัลยแพทย์ที่ 1 แล้วลงมือผ่าตัดเคสยากๆ ด้วยตัวเอง ความไม่พอใจในจุดนี้สั่งสมเก็บไว้ในใจ และเมื่อหมออาซาดะกลับมาตายรังที่ ร.พ.เมชินอีกครั้ง ความรู้สึกนี้ก็ยิ่งอัดแน่นขึ้นเรื่อยๆ

แต่เดิมที่หมออินจูอินเป็นศัลย์แพทย์มือหนึ่งนั้น เป็นเพราะทางโรงพยาบาลไม่มีใครเป็นศัลยแพทย์หัวใจ อีกทั้งโรงพยาบาลก็อยู่ในภาวะซบเซา คนไข้ไม่ไว้วางใจเข้ามาเป็นลูกค้า จึงไม่ค่อยมีเคสยากๆ ให้รักษา แต่เมื่อหมออาซาดะ และหมอคาโต้ กลับมาพร้อมกับที่ผู้อำนวยการโรงพยาบาลอย่างหมอคิโต้มีแผนฟื้นฟูสมรรถภาพด้านการให้การรักษาพยาบาลขึ้นมาใหม่ สถานการณ์ของ ร.พ.เมชิน จึงค่อยกระเตื้องขึ้นตามลำดับและรุ่งเรืองขึ้น หมออินจูอิน ต้องตกลงมาอยู่ในสถานะผู้ช่วยแพทย์ดังเดิม

กรณีของหมออินจูอินจึงเป็นจุดที่น่าสนใจของภาคนี้ คุณหมอหนุ่มน้อยที่มีสายตาหลงไปมองเห็นและมีหูหลงไปรับรู้แค่ว่า ผลงานการผ่าตัดอันเลื่องชื่อจะกลายเป็นชื่อเสียงและความชื่นชมที่มีต่อศัลยแพทย์ที่ 1 ซึ่งเป็นหัวหน้าทีมผ่าตัดเท่านั้น ความรู้สึกที่เก็บเล็กผสมน้อยจึงก่อหวอดให้จิตใจที่เคยเคารพนับถือต่อหมออาซาดะ เริ่มมีอาการแปรพักต์ หมออินจูอินไม่ต้องการอีกแล้ว คำว่า "ทีมดรากอน" ทีมแพทย์ที่ได้รับยกย่องว่าเป็นทีมที่ดีที่สุด เพราะมันก็มีแต่ชื่อของหมออาซาดะเท่านั้น เขาต้องการแยกตัวออกไปจากทีม เพื่อฝึกหัดวิธีการรักษาแบบใหม่ ซึ่งจะเป็นผลงานการรักษาของเขาเองต่อไปในอนาคต

แล้วหมออินจูอินก็ได้เรียนรู้ว่า การจะเป็นอย่างอาซาดะ ริวทาโร่ได้นั้น ไม่ใช่ว่าจะเป็นกันได้ง่ายๆ หมออินจูอินที่ถูกส่งมาทำงานยังแผนกฉุกเฉินเพราะแผนกศัลยแพทย์กำลังซบเซา ปราศจากเคสใดให้ผ่าตัด เนื่องจากมีวิธีการรักษาแนวใหม่ที่กำลังเฟื่องฟูของแพทย์อีกคน (หมอคุโรกิที่ถูกหมอโนงุจิชักชวนมาเพื่อแผนการณ์สร้างชื่อแก่โรงพยาบาล และเพื่อเหตุผลที่ต้องการทำลายทีมดรากอนด้วย) หมออินจูอินไม่พอใจที่ศัลยแพทย์หัวใจอย่างเขา ต้องมาทำงานพื้นๆ แบบนี้ (เหมือนกับว่างานแผนกฉุกเฉินมันจะเป็นงานโลว์คลาสไปสักหน่อยสำหรับคนเป็นศัลยแพทย์น่ะค่ะ) นั่นเป็นทัศนคติที่แตกต่างกันกับหมออาซาดะ หากดูจากสมุดบันทึกส่วนตัวของเขาเองที่มอบให้แก่หมออินจูอินเพื่อให้ศึกษาและใช้เป็นประโยชน์ต่อการทำงานในแผนกฉุกเฉิน สมุดบันทึกที่อัดแน่นไปด้วยลายมือกับทุกสิ่งทุกอย่างที่หมออาซาดะได้พยายามเรียนรู้เมื่อครั้งยังหนุ่มและเคยทำงานอยู่ในแผนกฉุกเฉินด้วยเช่นกัน นั่นเป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่า ทั้งชีวิตของการเป็นแพทย์ หมออาซาดะได้ก้าวผ่านมาจากการฝึกหัดเรียนรู้งานการแพทย์ด้านพื้นฐานต่างๆ บ่มเพาะความรู้ได้มาแม้เพียงจากจุดเล็กๆ น้อยๆ ด้วยความใส่ใจจริงจังกับทุกรายละเอียดของอาการป่วยไข้และวิธีการรักษา เคี่ยวกรำกับการฝึกฝนอย่างที่ถือคติ "ยิ่งผ่ามากเท่าไร ก็ยิ่งรู้มากเท่านั้น" ทุ่มเททำงานผ่านสถานการณ์ที่ยากลำบาก ทั้งในสงครามที่เครื่องไม้เครื่องมือขาดแคลน ในสถานการณ์ฉุกเฉินที่ต้องลงมือผ่ามานับไม่ถ้วน รักษามาทุกกรณีไม่มีเฉพาะเจาะจงว่าต้องด้านหัวใจเท่านั้น

และทั้งหมดนั่นคือรากฐานอันมั่นคงแห่งความสามารถขั้นเทพ ณ จุดที่เขายือยู่ (เว่อร์เนาะ ละครก็เว่อร์ คนเขียนบล็อกก็เว่อร์ 555)

แม้การผ่าตัดเงียบๆ ก็ส่งเสียงดังได้ เพราะผลการผ่าตัดที่รักษาชีวิตคนไข้เอาไว้ได้นั้น บางครั้งก็ไม่จำเป็นจะต้องป่าวร้องเชิญชวนใครต่อใครให้มานั่งรับชมการถ่ายทอดสดเหมือนที่ทางโรงพยาบาลพยายามจะทำ ด้วยการนำเสนอการผ่าตัดของหมออาซาดะสู่สายตาสาธารณชนชาวแพทย์ทั่วโลก ( ท่านเทพอาซาดะไปถึงระดับโน้นกันแล้วง่ะ)

แต่นั่น แทนที่หมออินจูอินจะรับรู้และเข้าใจ กลับกลายเป็นว่า เขายิ่งรู้สึกตัวเองในฐานะผู้ช่วยฯ ช่างไร้ความหมายต่อการรักษาที่ประสบความสำเร็จอันงดงามเหล่านั้นจริงๆ ( โถ .. คุณหมอหนุ่มน้อยผู้หลงทาง)

หมออาซาดะ ไม่ได้เป็นกังวลกับทีมที่ขาดคนมากนัก เมื่อหมออินจูอินต้องการออกจากทีม แต่ที่ห่วงใยคือทัศนคติที่หมออินจูอินมีต่อการเป็นแพทย์ต่างหาก มันจะสำคัญนักหรือกับชื่อเสียงที่มีจากการรักษาคนไข้ให้หาย สำหรับคนเป็นแพทย์ แค่คนไข้ในมือยังมีชีวิตอยู่และหายดี นั่นมันก็เพียงพอแล้ว

จนกระทั่งสถานการณ์จำเป็นบีบบังคับ ให้หมออินจูอินได้มีโอกาสกลับมายืนอยู่ในตำแหน่งศัลยแพทย์ที่ 1 ในเคสรักษาที่ยากยิ่งกว่ายาก ยากเต็มความสามารถที่ผู้เขียนบทเขาจะเค้นเอาสุดยอดมันสมองส่วนไหนก็ตามคิดออกมาได้ หมอหนุ่มน้อยอินจูอิน จึงเพิ่งเข้าใจจริงๆ ว่า ตำแหน่งที่หมออาซาดะยืนอยู่นั้นไม่ใช่ของง่าย ที่มันสำเร็จได้ทุกๆ ครั้งไม่ใช่เพราะมันง่าย ไม่ใช่เพราะมันยากไม่มากไปกว่าความสามารถของใครๆ ที่จะรักษาได้ แต่เพราะนั่นคือ "อาซาดะ ริวทาโร่" ต่างหากล่ะ เมื่อลงมือผ่าลงไปแล้ว ที่นั่นไม่มีคำว่าอาการของโรคหรือวิธีการรักษาที่ตรงเป๊ะตามตำรา แต่คือสถานการณ์เร่งด่วนเฉพาะหน้าที่ต้องแข่งกับเวลา คิด.. และตัดสินใจลงมือทำ นั่นก็สมควรแล้วที่หมออาซาดะจะได้รับการยกย่องทั่วทั้งวงการแพทย์ และต่อให้เป็นหมออาซาดะ มันก็สำเร็จไม่ได้หรอก ถ้าไม่มี "ทีม" คอยช่วยเหลือ หมออินจูอินเพิ่งเข้าใจจริงๆ ว่า เขามีความสำคัญต่อทีมดรากอนอย่างไร



คาโต้ อากิระ นี่ก็เป็นอีกคนที่หลงทาง หลังจากไปเคี่ยวกรำฝีมือด้านศัลยแพทย์หัวใจที่อเมริกากลับมา เธอมีตำแหน่งเป็นถึงหัวหน้าแผนก เมื่อมีการรักษาแนวใหม่ที่เฟื่องฟู ( การรักษาด้วยสายสวน) ทำให้งานของศัลยแพทย์ถูกลดความสำคัญลงไปมาก เพื่อคงความอยู่รอดของแผนก หมอคาโต้ที่เคยกลับตัวกลับใจได้แล้วจากภาคแรก ระหว่างการตัดสินใจเลือกไขว่คว้าอำนาจความสำเร็จหรือจะอุทิศตนเพื่อสิ่งที่กินไม่ได้แต่เท่ที่เรียกว่าจรรยาบรรณ ที่สุดก็ออกอาการไขว้เขวอีกครั้ง ใช้เล่ห์เหลี่ยมในการลวงคนไข้ให้เซ็นใบยินยอม แม้จะมีสายตาของหมออาซาดะมองมาอย่างสงสัย และรู้ทัน หมอคาโต้ก้ยังดึงดันจะทำในสิ่งที่เธอเชื่อว่าจำเป็นต้องทำ โดยลืมนึกถึงจิตใจของคนไข้ ถึงแม้ว่าการทำเท่โดยไม่อินังขังขอบกับกับอำนาจชื่อเสียงใดของหมออาซาดะจะดูเว่อร์ๆ อยู่ก็ตามที แต่ถ้าเทียบกันกับพฤติกรรมของหมอคาโต้ จะกลายเป็นสิ่งเปรียบเทียบได้ชัดเจนในความรู้สึกระหว่างความน่านับถือ กับความน่าละอาย



อาราเสะ มอนจิ ตอนแรกนั้น กะจะเลิกดูกันเลยทีเดียว เพราะพยาบาลมิกิก็ไม่มีในภาคนี้ไปแล้วคนนึง คุณหมอต่างๆ ในภาคที่ 2 ก็ไม่มีโผล่หน้ามาอีก ถ้าต้องเสียหมออาราเสะไปอีกคน คงเสียอรรถรสในการชมไปโขเลยทีเดียว ก็ตอนแรกหมออาราเสะตุปัดตุเป๋จะตายมิตายแหล่กับโรคร้ายที่เป็นอยู่

ย้อนกลับมาเล่นกับหมออาราเสะที่มุขเดิมของ IRYU เกี่ยวกับปมในใจของแพทย์ที่ต่อต้านการแสดงฝีมือและปฏิเสธการเข้าห้องผ่าตัด สงสัยจริงๆ เลยว่า ในชีวิตจริงๆ หมอ จะปฏิเสธงานได้อย่างนั้นจริงๆ เหรอ เมื่อฉันไม่ต้องการทำงานในห้องผ่าตัด ฉันก็จะไม่ทำ และนั่งแช่นอนแช่อยู่ในห้องพักส่วนตัว ในขณะที่ทีมแพทย์ในห้องผ่าตัด กำลังขาดวิสัญญีแพทย์ผู้เชี่ยวชาญคอยให้การช่วยเหลือ อย่างนั้นเหรอ ? เอ่อ .. มันออกจะไม่น่าเชื่อสักนิดเลยว่า หมอจริงๆ จะเลือกทำแบบนั้นได้



มาการะ ฟูยุมิ (Magara Fuyumi)
คุณหมออินเทิร์น (เข้าใจว่าเป็นหมอที่ยังเรียนไม่จบดี กำลังอยู่ในช่วงของการเป็นแพทย์ฝึกหัด) เป็นตัวละครน่ารักคนสำคัญที่เพิ่มเติมเข้ามาในภาคนี้ เพื่อเป็นอีกหนึ่งมุมทัศนคติของการเป็นแพทย์ ฟูยูมิที่ยังเป็นแค่แพทย์ฝึกหัด เธอมีความคิดเห็นว่า ทำไมหมอต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นๆ หมอก็คน หมอควรจะทำงานแปดชั่วโมงเท่าๆ กับอาชีพอื่น แล้วมีเวลาส่วนตัว ไปกินข้าวดูหนัง ไปออกเดทกับคนรัก ทำไมหมอต้องทำงานงกๆ อยู่กับคนไข้ที่น่าเบื่อ เธอแค่ต้องการจะเป็นหมอ มีงานทำ มีเงินใช้ นั่นมันก็พอแล้ว ไม่เห็นจำเป็นจะต้องเป็นหมอเก่งๆ ที่งานล้นมือ และเป็นหมออยู่ตลอดเวลา เป็นหมอบ้างานจนแทบไม่เหลือชีวิตส่วนตัว

แต่การได้คลุกคลีอยู่กับคนเก่งๆ ทำให้ทัศนคติของเธอเริ่มเปลี่ยนไป ไม่ใช่พวกเขาเหล่านั้นเป็นหมอที่จริงจังเกินไป แต่เพราะงานของหมอเป็นงานที่ต้องจริงจังและใส่ใจ ต่อให้พวกเขาเก่งกันแค่ไหน เป็นทีมผ่าตัดที่ดีที่สุดอย่างไร แต่แค่เพียงในห้องผ่าตัดมีหมอเห่ยๆ สักคน นั่นหมายถึงชีวิตคนไข้ที่อาจจากไปแบบไม่คาดคิด อย่างที่เธอได้ทำหน้าที่สังเกตการณ์และคอยช่วยเหลือเล็กๆ น้อยๆ อยู่ห่างๆ แล้วเกิดทำเรื่องผิดพลาดเกิดขึ้นเพียงเพราะความไม่ระมัดระวังอย่างไม่ได้ตั้งใจ นอกจากทำให้คนไข้ต้องตกอยู่ในอันตรายแล้ว ยังส่งผลให้ทีมแพทย์ผู้รักษาต้องทำงานหนักขึ้นด้วย ความรู้สึกผิดเกิดเป็นอาการกลัวห้องผ่าตัดขึ้นมา แต่สิ่งหนึ่งที่เธอได้รับการสั่งสอนจากหมอที่เธอเคยค่อนแคะว่า บ้างาน "ความผิดพลาดคือการเรียนรู้" ทำให้เธอเกิดความมุ่งมั่นที่จะเป็นหมอที่ดีและมีความสามารถ ครั้งหนึ่ง หมออินจูอินเคยได้ชื่อว่าเป็น "หมอขี้ขลาด" หากคนไม่เอาไหนอย่างอินจูอินในอดีตกลายเป็นผู้ช่วยแพทย์มือหนึ่งที่สำคัญต่อทีมได้ สักวันเธอก็ต้องเป็นอย่างนั้นให้ได้เหมือนกัน



คุโรกิ เคอิจิโร่
การรักษาด้วยสายสวนมันมีจริงๆ เหรอคะ ถ้ามันมีจริง มันเจ๋งขนาดนั้นจริงๆ ล่ะหรือ เป็นข้อสงสัยที่คาใจมากๆ กับความสามารถทางการแพทย์ของหมอคุโรกิ ที่จะมาช่วงชิงความเป็นหนึ่งกับหมออาซาดะ บทนี้โดดเด่นและสำคัญประหนึ่งพระเอกอีกคนของเรื่อง และรับบทโดยนักแสดงที่คงจะโดดเด่นในวงการอยู่ไม่น้อยในอดีตตอนยังหนุ่มๆ และในปัจจุบันที่ถือเป็นนักแสดง 'รุ่นใหญ่' เพียงแต่ว่าผู้เขียนไม่รู้จักเขา นอกจากเรื่อง Shiroi Haru ที่รับบทเป็นคุณพ่อแสนดีของเด็กหญิงซาจิเท่านั้นเอง

เขาคือ เอนโด้ เคนนิจิ ที่รับบท หมอคุโรกิ เป็นหมอสุดยอดขั้นเทพอีกราย ที่มีจุดมุ่งหมายสำคัญในการมาทำงานให้กับ ร.พ. เมชิน สถานที่..ที่ได้ยินกิตติศัพท์ว่ามีทีมแพทย์ที่ดีที่สุด หมอคุโรกิผู้มีอดีตอันขมขื่น เกี่ยวกับคำว่า "ทีม" ... คำว่าทีมไม่มีในโลก มีแต่คำว่าตัวใครตัวมัน เมื่อมีทีมที่ได้รับกล่าวขวัญว่ายอดเยี่ยมอยู่ที่เมชิน หมอคุโรกิจะขอพิสูจน์ให้เห็นเป็นบุญตา และเพื่อให้แน่ใจตามศรัทธา "ไม่มีคำว่าทีมที่แท้จริง" ก็ต้องลงมือทดสอบกันหน่อย เมื่อไม่มีปัญหาก็จะยังมีความเหนี่ยวแน่น แต่หากมีอะไรบางอย่างมาสั่นคลอนความเชื่อมั่นของทีมล่ะ ทีมดรากอนมันจะมั่นคงสักแค่ไหนกันเชียว

ถ้าหมออาซาดะคือความสว่าง หมอคุโรกิก็คือความมืด เป็นสุดยอดขั้นเทพเหมือนกัน คำนึงถึงความสำเร็จ .. ผลการรักษาที่ดีที่สุดเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันคนละขั้วนั้นคือ จุดมุ่งหมายเพื่ออะไร

เพื่อคนไข้ หรือเพื่อตัวเอง

หมออาซาดะเป็นเทพด้านการผ่าตัด หมอคุโรกิเป็นเทพด้านสายสวน ( แล้วตกลง มันมีอยู่จริงๆ มั้ย วิธีการรักษาแบบนี้น่ะ ใครรู้ช่วยบอกที) ข้อดีของสายสวนคือคนไข้มีแผลเล็กจิ๊ดเดียว และแทบไม่ต้องนอนพักรักษาตัวที่โรงพยาบาลนานๆ พักฟื้นไม่เท่าไหร่ ก็เดินปร๋อออกจากโรงพยาบาลได้แล้ว ที่สำคัญคือสายสวนนี้ ใช้รักษาแทนวิธีการผ่าตัดของหมออาซาดะได้ ทำให้หมอแผนกศัลยกรรมด้านหัวใจ ..ว่างงาน... ทำให้ตำแหน่งหัตถ์เทวดาของหมออาซาดะถูกท้าทาย

แล้วไงล่ะ หมออาซาดะสนใจเรื่องพวกนี้ซะทีไหนกัน เมื่อไม่มีเคสให้ผ่าตัดก็นอนเอกขเนกทำเท่อยู่ในห้องพัก หรือไม่ก็สะพายเป้ทำทีเดินออกไปจากโรงพยาบาล ชวนให้ใจหายโหม๊ด หลงคิดว่าน้อยเนื้อต่ำใจไม่มีใครต้องการ ไม่มีใครให้ต้องผ่าตัดอีกแล้ว ที่แท้ ...ท่านก็แค่ .. ออกเวร แล้วสะพายเป้กลับบ้าน (ปัดโธ่ ..)




ฟูจิโยชิ เคย์สุเกะ
อายุรกรรมแพทย์ที่แม้ไม่ได้อยู่ในห้องผ่าตัด แต่ก็ถือเป็นหนึ่งในทีมดรากอนผู้ทำหน้าที่เตรียมความพร้อมก่อนผ่าตัดและคอยฟื้นฟูสภาพหลังผ่าตัดของคนไข้แต่ละราย นี่ก็เป็นอีกคนที่มีปมในใจ กับลูกสาวที่เสียชีวิตเพราะทางการแพทย์ยังไม่มีวิธีการรักษา ทำให้หมอฟูจิโยชิเริ่มจะหมดไฟ แต่การกลับมาของทีมดรากอนทำให้ไฟแห่งความหวังจุดประกายขึ้นมาอีกครั้ง งานวิจัย คือกำลังสำคัญของการแพทย์ในอนาคตที่หมอฟูจิโยชิหวังจะช่วยเด็กคนอื่นๆ ที่เป็นโรคเดียวกันกับลูกสาวของตนได้ หนึ่งในนั้นคือ เด็กชายโทรุ เคสคนไข้ของหมออาซาดะ ที่กำลังรอคอยความหวังอยู่เช่นกัน



คิฮาระ ทาเคฮิโกะ
ไม่มีการพัฒนาอะไรในตัวละครตัวนี้ บทบาทเดิม หน้าที่เดิม คอยเดินไปเดินมา วิพากษ์ วิจารณ์ คนโน้นที คนนี้ที เหมือนเดิม แต่ความฮาน้อยลงกว่าภาคสองเยอะนะคะ จะว่าไปแล้วหน้าที่หลักๆ ก็คือมีไว้เพื่อแสดงความชื่นชมในฝีมือของทีมแพทย์ดรากอนนั่นเอง เพราะหมอคิฮาระ จะทำหน้าที่เป็นตัวลุ้นการผ่าตัดอยู่หน้าจออยู่บ่อยๆ และในตอนสุดท้ายหมอคิฮาระถึงกับทำหน้าแทบจะร้องไห้เพราะความประทับใจในฝีมือการผ่าตัดของเหล่าเทพ



คิโต้ โชโกะ สีหน้าแววตาของป้าคิโต้ ที่ทิ้งมีดหมอ ไปรับบทบาทผู้อำนวยการโรงพยาบาลยังคงเจ๋งและเฉียบขาดเหมือนเดิม แต่บทบาทของเธอไม่น่าสนใจเหมือนเดิม มันออกจะไร้ความหมายไปสักหน่อยเพราะประเด็นด้านธุรกิจของโรงพยาบาล แม้จะยังมีอยู่แต่ก็ไม่ได้โดดเด่นหรือน่าสนใจแต่ประการใด



โนงุจิ เคโนะ พอๆ กันเลย กับบทบาทของหมอคิโต้ คือพยายามจะทำให้ดูน่าสนใจมากๆ แต่จริงๆ แล้วก็ไม่มีอะไรมากนัก คนสองคนที่พยายามต่อสู้ชิงอำนาจกัน โดยใช้คณะแพทย์เป็นเครื่องมือ แต่จุดมุ่งหมายมันไม่ได้ดูยิ่งใหญ่ (ก็แค่ตำแหน่ง ผอ.โรงพยาบาล) เหมือนที่พยายามแสดงความโรคจิตขั้นก้นบึ้งของทั้งสองคนออกมาให้ดูน่าสนใจมั่กๆ แต่ทำไปทำมาก็ไม่มีอะไรสำคัญจริงจังในกอไผ่

มีสองแพทย์จาก IRYU 2 รับเชิญมาร่วมงานการผ่าตัดใน 3 เคสสุดท้ายของ IRYU 3

โทยามะ เซจิ (Takahashi Issei ) คุณหมอหนุ่มผู้ยโส และมั่นใจในตัวเองสุดๆ แต่ได้ลดความมั่นใจลงและศรัทธาในฝีมือของผู้อื่นและเชื่อมั่นในการทำงานเป็นทีมแล้วจาก IRYU 2 และอีกคนคือ โนมุระ ฮิโรฮิโตะ ( Nakamura Yasuhi ) นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ทำหน้าที่ควบคุมเครื่องไม้เครื่องมือในห้องผ่าตัด อดีตเคยขาดความมั่นใจในตัวเอง แต่ได้เปลี่ยนไปแล้วเมื่อได้ทำงานร่วมกับหมออาซาดะจาก IRYU 2 เช่นกัน



หมอโทยามะ ยังคงบุคลิกหยิ่งๆ กวนๆ และโอ้อวดเช่นเดิม

"นายไม่เป็นไรใช่ไหม" หมอโทยามะ ถามหมออาซาดะด้วยสรรพนามที่ไม่ได้แสดงความเคารพนับถือเหมือนความรู้สึกในใจสักเท่าไหร่ ใจนั้นห่วงใยแต่ปากบอก

"ถ้าเกิดอะไรขึ้น ฉันก็จะได้แทนที่นายไงล่ะ"

เขามาเพื่อทีม เขามาเพื่อช่วยเหลือ แต่ปากบอก

"ฉันไม่มีทางปล่อยให้นายได้หน้าไปคนเดียวหรอกนะ"

หมอโทยามะ กลับมาครั้งนี้ได้กลายเป็นเทพ ไปอีกคน กับการผ่าตัดที่มีความเร็วเป็นเลิศชวนระแวงใจหายสำหรับแพทย์ร่วมทีมผ่าตัดที่กลัวจะพลาด แต่จะพลาดได้ไงเมื่อมีความมั่นใจที่พกมาเกินร้อย ( เอากันเข้าไป )

นี่แหละค่ะที่กำลังจะกล่าวถึง ความเก่งเว่อร์ของหมอแต่ละคน ไม่ว่าจะเป็น อาซาดะ อินจูอิน คาโต้ คุโรกิ อาราเสะ โทยามะ (คนสุดท้ายนี้จะมีผลกระทบต่อความรู้สึกของหมออินจูอินอยู่เล็กน้อย เพราะยังเป็นหมอหนุ่มหน้าอ่อนเหมือนกัน แต่หมอโทยามะนั้นก้าวล้ำอินจูอินไปไกลโขตั้งแต่ IRYU 2แล้ว หมออินจูอินจึงเห็นเขาเป็นแบบอย่าง อยากจะพัฒนาตนเองให้ได้อย่างเขา อยากจะไล่ตามให้ทัน)

สงสัยอีกละ ... จริงๆ แล้ว มันมีเคสที่ยากอย่างนั้นแล้วรอดจริงๆ มั้ย เล่นกันถึงขั้นดัดแปลงเครื่องไม้เครื่องมือทางการแพทย์แบบปัจจุบันทันด่วนในท่ามกลางการผ่าตัดวิกฤตฉุกเฉิน หมอไม่พอ ห้องผ่าตัดไม่พอ เครื่องมือไม่พอ กับเคสที่เป็นสุดยอดอภิมหาอมตะแห่งความยากเย็น มันออกจะมากไปสักหน่อยมั้ย ช่วยเพลาๆ ลงบ้างก็ได้ ธีมอารมณ์เกือบๆ จะทำให้รู้สึกว่านี่คือความยิ่งใหญ่ประหนึ่งเป็นหนังซุปเปอร์ฮีโร่ผู้กอบกู้โลกเพื่อมวลมนุษยชาติ

ถ้าไม่เชื่อลองอินกับฉากการเปิดออกของประตูห้องผ่าตัด ที่แพทย์แต่ละคนจะก้าวเข้ามาเพื่อทำการรักษา และฉากหลังการผ่าตัดที่ประสบความสำเร็จ เมื่อทีมดรากอนก้าวออกมา ผู้คนในโรงพยาบาลยืนสองแถวรอรับและปรบมือให้ ดูแล้วราวกับฉากที่มนุษย์อวกาศก้าวลงจากยานหลังจากจัดการกับดาวหางยักษ์ก่อนเข้าพุ่งชน หรือหลังได้รับชัยชนะในการทำสงครามกับมนุษย์ต่างดาวบุกโลกยังไงยังงั้นเลย








ส่วนตัวนอกจากฉากเปิดประตูห้องผ่าตัดแล้ว ยังชอบอีกอย่างหนึ่งคือการเดินเพ่นพ่านของหมออาซาดะที่มือจะสอดไว้ในกระเป๋าเสื้อกาวน์ จากนั้นเมื่อหมออาซาดะเดินสวนกับหมอคนอื่น หมออาซาดะโดยปกติจะไม่สนใจเปิดปากพูดกับใคร แต่ทุกครั้งที่มีการเดินผ่านกับตัวละครอืน เช่น หมอคิโต้ หมอคาโต้ หมอโนงุจิ เขาจะถูกคนเหล่านั้นพูดด้วย ...ซึ่งจะไม่พูดตอนที่เจอหน้ากัน แต่จะพูดตอนเดินสวนไปแล้ว เมื่อหันมาพูดด้วย หมออาซาดะก็จะหยุดเดิน หลังยังตั้งตรงเช่นเดิม แล้วจะแค่หันคอมาเพื่อฟัง หรือหันมาเพื่อพูด ( ถ้ามีบทพูด) โดยที่ตัวจะไม่หันมาด้วย ฉากนี้ถือเป็นฉากเซ็ทอัพความเท่ของหมออาซาดะนะคะ เพราะมันจะเป็นอย่างนั้นทุกครั้งเลยค่ะ ไม่เชื่อลองสังเกตดู เขาจะแค่หยุด แล้วจะทำเท่ด้วยการแค่หันคอมา แบบในรูปนี้ไงคะ ผู้เขียนเรียกฉากนี้ว่า "อาการทำเท่" ค่ะ .. 555






ต้องขอชมเพลงและธีมดนตรีนะคะ ที่ยังใช้ของเดิม แต่ยิ่งใช้ ยิ่งได้อารมณ์ความยิ่งใหญ่ไปแบบอินๆ และส่วนที่เพิ่มเข้ามาในธีมดนตรีที่ใช้กับบทของหมอโนงุจิก็ค่อนข้างออกแนวทริลเลอร์ เข้ากับหน้าตาและอาการที่ก็ไม่เข้าใจว่าทำไมต้องทำออกมาแนวมืดๆ แบบจิตๆ ด้วย

นักแสดงรับเชิญที่รับบทผู้ป่วย ก็พอคุ้นหน้านะคะ ที่ชอบที่สุดคงเป็นนักแสดงเด็กที่รับบทเด็กชายโทรุ แต่ใน DramaWiki ไม่มีระบุชื่อไว้ ต้องออกตัวก่อนว่าถ้าไม่มี DramaWiki คอยให้ข้อมูลเกี่ยวกับผู้เขียนบทและรายชื่อนักแสดงผู้รับบทล่ะก็ ผู้เขียนบล็อกก็แทบจะไปไหนไม่เป็นกันเลยทีเดียว อ้อ! ยังมีอีกคนเกือบจะลืมพูดถึง คนที่มารับบทพยาบาลส่งเครื่องมือแทนพยาบาลมิกิค่ะ ไม่มี่ชื่อให้หาได้อีกเช่นกัน แต่เธอก็แทบไร้ความสำคัญไปเลยค่ะ บทพูดมีถึงห้าประโยคหรือเปล่าก็ไม่แน่ใจ แต่ก็หน้าคุ้นๆ อยู่ (คุ้นไปหมด)

นอกจากความเว่อร์เกินความเข้าใจแล้ว IRYU 3 อาจจะไม่สนุกเท่า IRYU 1 และ 2 แต่ก็ยังคงสนุกดี แม้ไม่เคยมีเคสใดของหมออาซาดะให้ลุ้นว่า "ไม่สำเร็จ" เแต่ไม่รู้ทำไม ยังรู้สึกลุ้นไปด้วยอยู่ดี (อันนี้ก็ไม่เข้าใจเหมือนกัน)


หมายเหตุ : 2 ชั่วโมง ไม่เสร็จจริงๆ ด้วย (ถ้าเสร็จก็อัจฉริยะแล้วล่ะค่ะ)

......

ภาพและข้อมูล :

//wiki.d-addicts.com/Iryu
hamsapsukebe.blogspot.com/
//www.fujitv.co.jp







Create Date : 30 สิงหาคม 2554
Last Update : 22 กุมภาพันธ์ 2558 8:54:28 น. 17 comments
Counter : 6628 Pageviews.

 
สองชั่วโมง อัดได้ขนาดนี้ไม่ธรรมดาเลยนะครับ
iryu 3 ก็ดูมาได้สักพัก อย่างที่ท่านบอกนั้นแหละ
อาจจะสนุกสู้ภาคก่อนๆไมได้ แต่ก็ไม่ได้ทำลายความรู้สึกเดิมๆ
ที่เคยมีให้สำหรับ
ทีมเมดิคอลดราก้อน ถ้าจะให้สนุกสุดๆ
ความรู้สึก่สวนตัว
คงยกให้กับภาคสอง เพราะไหนๆทีมหมอก็เวอร์เทพเช่นนี้
ก็จัดเคสท์เวอร์โคตร จะได้สมน้ำสมเนื้อกัน
ประเภทเด็กฝาแฝดหัวใจออเตต้าสลับ
ต้องทำบายพาสต์บาติสต้า โดยที่แม่มีอาการ
ตกเลือด
เอออย่างนี้สิ ...จะสนุก
แต่ภาคสามการได้ตัวละคร อย่าง เคอิจิโร่
มือหนึ่งในการทำบายพาสต์ด้วยการสอดท่อ
ถือว่าน่าสนใจ เรียกความตื้นเต้นในช่วงแรกๆได้
แถมการแย่งสมาชิกในทีมเมดิคอลอย่าง
โนโบรุไม่ใช่เรื่อง
เกินคาดหมาย ซีรีย์พยายามชงมาตั้งแต่แรก
แต่ตัวละครอื่นๆ นิสิ ขาดพลังไปเยอะ
แถมสัดส่วนไม่เข้ากัน
หมอโนงุจิ ไม่ควรนำกลับมาใช้เสียเลยด้วยซ้ำ
เพราะภาคที่แล้ว เวรกรรมทำให้เป็นบ้าเป็นหนัง
กลับไปอยู่
ทีมเเพทย์ของปธน.โอบามาได้ไง
แถมไปทำเรือ่งยากอย่าง เมดิแคร์ สักอีกเป็นงง
ฟุยุมิ ก็ไม่เกิด เป็นส่วนเกินได้ชนิดทดแทนคาโอรุไม่ได้เลย
แต่เจ้าป้าคาเอฮิโกะ นี้ถืออยู่ในสัดส่วนกึ่งดีกึ่งร้าย
ที่เดาอารมณ์เจ๊ไม่ถูก รู้แต่ว่าภาคก่อนๆ
คอ่นข้างเป็นกลาง อันนี้ยกได้ว่า
อำนาจพาแกเปลี่ยนไป ของให้ดีต่อเมย์ชินเหอะ

และที่รับไม่ได้เหมือนกัน ก็ฉากเดียวกับท่านนั้นแหละ
ตบมือยังกะมนุษย์อวกาศกลับโลก
โหะๆ ทำไปได้ คนไข้หัวใจวายตายกันไปสักก่อน
อาซาดะถูกลดบทบาท เพื่อกระจายให้กับตัวละครอื่น
แต่ทว่า อัตราการเติบโตดูจะไม่ไปไหน
สรุปอะไรไม่ได้ เพราะยังดูไม่จบ และยังไม่้คิดออก
ว่าจะดูต่อไปให้จบดีไหม


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 1 กันยายน 2554 เวลา:17:06:21 น.  

 
ท่าน Chanpanakrit ใช้คำว่าสอดท่อ นั่นฟังดูดีกว่าสายสวนเยอะเลยนะคะ

"สายสวน" ดูไปอ่านซับไปก็รู้สึกแปร่งๆ ชอบกล

ส่วนเวลาในการเขียนบล็อกนี้ 2 ชั่วโมง ไม่ใช่ว่าเสร็จนะคะ นานกว่านั้นเยอะเลย



โดย: prysang วันที่: 1 กันยายน 2554 เวลา:18:53:56 น.  

 
เอ๊ แล้วลุงเคนนิโร่ที่มาร้บบทหมออิมพอร์ ต
สอดท่อมิใช่เหรอครับ (รึจำผิดอีกแล้ว)
ความจริงมุขนี้ดีนะครับ เปรียบเทียบกันให้เห็นเลยว่า
การผ่าตัดแบบหมออาซาดะ ทั้งสร้างแผลเป็น
เห็นผลนาน และเทคนิคการไม่ทันสมัย
สู้การสอดท่อ แล้วไปเป่าลูกโป่งในท่อหัวใจง่ายกว่า
แต่มานึกอีกที คุณสมบัติมันคนละอย่างกันเลยนะครับ
สอดท่อมันใช้กรณีลิ่มเลือดหัวใจอุดตัน
มันจะมาย้ายตัดเส้นเลือดหล่อเลี้ยงหัวใจ
สลับเส้นแบบหมออาซาดะกันไม่ได้เลย
พอมานั่งนึก ก็เออ...ซีรีย์เขากลบประเด็น
ให้นึกประมาณว่า จะมาแทนกันได้จริงๆแล้วไม่ใช่เลย
แต่โดยรวม ถ้าเป็นแฟนทั้งสองภาคแล้ว
ก็ไม่ควรพลาดในภาคที่สาม
คนเขียนบทก็เป็นคนเดียวกันกับภาคสอง
ซึ่งก็ทำการบ้านเรื่องการแพทย์แผนหัวใจมาดี
แต่ไม่รู้อย่างไร ไม่อยากจะดูต่อ ไม่แน่เบื่อซีรีย์เก่าๆ
อาจจะกลับมาดูอีกสักครั้ง

วกเข้าเรื่องที่ท่านฝากเมนต์เป็นกรุณาดีกว่า
ขอบคุณที่ช่วยแก้ข้อมูลเจ๊โค๊ยย์ในกู้ดลักนะครับ
สงสัยไปจำอายะจากแอดเทนชั่นพลีสแน่เลย
ก็ไม่แก้ละ ปล่อยให้ประจานตัวเองสักงั้น
ไอ้หมวดห้องดนตรีส่วนตัว ก็ไม่มีอะไรมากมาย
ใช้โซเชียลเน็ตเวิร์คให้เป็นปย.
หาเพลงมากล่อมนอนวันละเพลง จะใส่เฉยๆก็ใช่ที
เลยไปแปลข้อมูลในวิกิพีเดีย มาเติมให้
ทำให้ตัวเองก็ได้รู้ข้อมูลศิลปินด้วยเช่นกัน


โดย: Mr.Chanpanakrit วันที่: 3 กันยายน 2554 เวลา:8:42:25 น.  

 
ขนาดคุณprysang ออกตัวว่าใช้เวลา2 ชั่วโมง(แต่เกินใช่ไหมคะ)
ในการรีวิวซีรีส์เรื่องนี้ แต่ข้อมูลก็ยังเต็มเหยียดเหมือนเดิมเลยค่ะ
seasonนี้ฟังดูก็สนุกนะคะ ว่าเป็นการขับเคี่ยวของหมอเทพสองคน
แต่ละคนก็เทพกันคนละอย่าง โดยมีโจทย์ยากๆที่เป็นคนไข้ให้แก้สินะคะ
ว่าเทคนิคของใครจะเจ๋งและเป็นที่ยอมรับมากกว่ากัน
โดยมีน้ำจิ้มเป็นปมปัญหาของแพทย์ในทีมแต่ละคน
ตอนที่อ่านแรกๆเข้าใจว่าเนื้อเรื่องจะผ่องถ่ายน้ำหนักไปที่ปัญหาของหมออินจูอิน
เพราะปมปัญหาของหมออินจูอินดูโดดเด่นที่สุด
ประเภทให้ต้องกลายมาเป็นคนคิดเล็กคิดน้อย น้อยอกน้อยใจ
ขุ่นแค้นไปกับสถานภาพของตนที่ยังไงก็ไม่ใช่คนสำคัญจริง
แต่ในที่สุดบทก็ให้หมออินจูอินได้เรียนรู้ด้วยตัวเองอีกครั้ง
และยอมรับในตัวตนของตนเองและคนอื่นๆในทีมได้
แต่พออ่านไปเรื่อยๆปมปัญหาของหมอฟูยุมิก็น่าสนใจ
เพราะเป็นการเปลี่ยนแนวคิด เปลี่ยนทัศนคติ และก่อให้เกิดแรงบันดาลใจ
ในการที่จะเปลี่ยนตนเอง ซึ่งเป็นสไตล์ซีรีส์ญี่ปุ่นเป๊ะๆ
ซึ่งก็สามารถเอามาเล่นเป็นประเด็นหลักได้เช่นกันอีก
สงสัยถ้าเป็นแบบนี้ต้องหามาดูอย่างเดียวแล้วใช่ไหมคะ
และเมื่อได้อ่านไปๆเรื่อยๆปรากฏว่าทุกคนในทีมดราก้อนก็เป็นน้ำจิ้มได้หมดเลย
แล้วseasonนี้มิกิไม่ได้มาร่วมทีมด้วยเหรอคะ ติดภารกิจอยู่ที่ไหนคะ
แต่ยังโชคดีค่ะที่ยังมีขวัญใจมะนาวคือหมออาราเสะ ไม่ได้ถูกตัดบทไป
ไม่อย่างนั้นคงชีช้ำเป็นแน่เลย ถ้าต้องขาดน้ำจิ้มยียวนกวนประสาทถ้วยนี้ไป
ปกติเป็นคนที่ไม่ชอบซีรีส์ภาคต่อเลยล่ะค่ะ แต่เรื่องIryuนี้เป็นข้อยกเว้นอ่ะค่ะ
แต่รู้สึกภาคนี้คุณprysangจะขัดอกขัดใจหลายอย่างนะคะ
แต่ที่เหมือนกันเลยคือขัดใจกับเครากะหรอมกะแหรมของหมออาซาดะค่ะ
ขนาดภาพที่คุณprysangบอกว่าเอี้ยวคอมาอย่างเท่ ก็ยังรู้สึกขัดใจค่ะ


โดย: มะนาวเพคะ IP: 118.174.54.227 วันที่: 3 กันยายน 2554 เวลา:15:51:41 น.  

 
ในซับของละคร เขาใช้เรียกการรักษาแบบนั้นว่าเป็นวิธี "สายสวน" น่ะค่ะ ซึ่ง prysang ก็คิดว่ามันแม่งๆ นะ แต่พอคุณ Chanpanakrit ใช้คำว่าสอดท่อ ก็คิดว่า อื้ม... เรียกแบบนี้น่าจะถูกต้องมากกว่านะ และฟังดูดีกว่ากันเยอะเลยด้วย ค่อยเริ่มรู้สึกว่ามันเป็นการรักษาที่มีอยู่จริงหน่อย 555


โดย: prysang วันที่: 4 กันยายน 2554 เวลา:11:44:25 น.  

 
สวัสดีค่ะ คุณมะนาว สบายดีนะคะ

IRYU 3 ดูแล้วไว้ไม่เสียหลายค่ะ เพราะก็ยังคงความเป็น IRYU อยู่ ภาษาไทยใช้ชื่อว่า ทีมแพทย์หัวใจแกร่งใช่ไหมคะ แต่ Prysang ชอบอีกชื่อหนึ่งมากกว่า ฟังแล้วรู้สึกแข็งกล้าดี "ทีมแพทย์หัวใจเพชร" ลองติดตามดูค่ะ


โดย: prysang วันที่: 4 กันยายน 2554 เวลา:11:46:30 น.  

 
ถ้าคนไม่เคยดูมาตั้งแต่ภาค 1 หากข้ามมาดูภาค 3 มันจะรู้เรื่องไหมล่ะเนี่ย หุหุ แต่อ่านจากที่คุณเขียนเล่าไว้ก็ดุสนุก น่าดู น่าติดตามมากค่ะ และรู้สึกว่าคุณใสาใจรายละเอียดของหนังมากขึ้นอย่างชัดเจนค่ะ หุหุ ^ ^


โดย: อาตี้เจ้าเก่ามาบุกแล้ว IP: 119.46.167.30 วันที่: 5 กันยายน 2554 เวลา:14:21:33 น.  

 
เป๊ะ**** โดนจาย ขอบอกเพื่อนๆที่ยังไม่เคยดู ว่าหนุกค่ะ ดูย้อนหลังกี่รอบก็ไม่เบื่อ ลองดูนะค่ะ (อิอิ) ขอบอก


โดย: puy IP: 110.171.148.184 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2554 เวลา:22:51:34 น.  

 
ดูแล้วได้ความรู้นะค่ะ เพื่อนๆ ว่าในตัวคนเรามันมีอะไรเยอะแยะมากมายที่เราควรดูแลอย่างดี ถ้าพลาดหรือมีเหตุการณ์ขึ้นจริงๆ คงไม่มีหมออาซาดะมาผ่าตัดให้เรานะค่ะ (การผ่าตัดสำเร็จ แต่คนไข้เสียชีวิตระหว่างผ่าตัด อิอิ น่าน เป็นซะงั้น)


โดย: puy IP: 110.171.148.184 วันที่: 7 พฤศจิกายน 2554 เวลา:22:57:12 น.  

 
ชอบมากค่าเรื่องนี้ถ้ามีหมอเก่งๆๆ มีจรรยาบรรณพร้อมเเบบนี้คนไข้มีกำลังใจเเต่ก็ไม่เข้าใจว่าโนงุจิจะมาอะไรนักหนา เดี๋ยวมาเดี๋ยวไปอยู่นั่นเเหละ
เรื่องนี้มีอะไรให้ติดตามมากๆๆเลยอะ ชอบบบ


โดย: Thatsnee IP: 182.232.8.216 วันที่: 7 เมษายน 2555 เวลา:23:32:03 น.  

 
เลิฟหมออาซาดะ
ชีวิตคนไข้ที่ไม่สำคัญน่ะ มันไม่มีอยู่บนโลกนี้หรอก


โดย: คาตาโอะ IP: 1.2.212.49 วันที่: 18 พฤษภาคม 2555 เวลา:22:51:53 น.  

 
สายสวนเป็นพวกที่เรียกว่า stent หรือ balloon ที่ใช้ถ่างขยายหลอดเลือดรึเปล่าค่ะ


โดย: OMG IP: 171.5.246.195 วันที่: 17 พฤษภาคม 2556 เวลา:22:02:50 น.  

 
การสวนหัวใจมีจริงค่ะ หมอจะกรีดเส้นเลือดดำใหญ่ตรงต้นขาซ้าย แล้วสอดเครื่องมือผ่านทางหลอดเลือดขึ้นไปที่หัวใจ ผู้ป่วยจะมีแผลเล็กๆตรงต้นขาซ้ายเท่านั้น แต่ไม่ได้ใช้รักษาได้ทุกกรณีนะคะ แต่เป็นวิธีที่กำลังได้รับความนิยมเพราะไม่ต้องผ่าเปิดหน้าอกคนไข้ ทำให้คนไข้เจ็บตัวน้อยฟื้นตัวเร็วค่ะ


โดย: mellon IP: 101.108.131.170 วันที่: 1 มิถุนายน 2556 เวลา:15:12:26 น.  

 
ขออภัยในความผิดพลาดค่ะ จริงๆแล้วรู้สึกว่าต้องกรีดที่ขาขวาค่ะ ไม่ใช่ขาซ้ายสับสนระหว่างซ้าย-ขวาเล็กน้อย


โดย: mellon IP: 101.108.131.170 วันที่: 1 มิถุนายน 2556 เวลา:15:16:56 น.  

 
รักทีมดรากอนตั้งแต่ภาคแรก
ติดตามตั้งแต่นั้นมาตลอดเลยค่ะ
เป็นซีรีย์ที่ดีมากเลยค่ะ


โดย: Ano IP: 110.49.232.12 วันที่: 15 มิถุนายน 2556 เวลา:0:34:15 น.  

 
เราชอบภาคแรกที่สุดเพราะ"มิกิ-ริวจัง"พอภาค3เราไม่อยากดูเลย'มิกิซ้ง'หายไปเรียนต่อเยอรมันซะงั้น!!!


โดย: เคโระ IP: 171.4.142.47 วันที่: 22 ตุลาคม 2557 เวลา:23:40:03 น.  

 
มีซีรีย์ญี่ปุ่นเรื่องไหนอีกบ้างไหม?ที่หมออาซาดะเล่นคู่กับคุณพยาบาลมิกิ!!ช่วยบอกหน่อยนะ


โดย: เคโระ IP: 171.4.142.47 วันที่: 22 ตุลาคม 2557 เวลา:23:48:37 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

prysang
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 98 คน [?]




จำนวนผู้ชม คน : Users Online
New Comments
Friends' blogs
[Add prysang's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.