Group Blog
 
All Blogs
 

เป็นทนายให้ปลา



เรื่องของมหาเศรษฐี ที่หยามหน้าลูกหลาน โดยทำพินัยกรรม ยกทรัพย์สมบัติมหาศาลให้แก่สัตว์เลี้ยงนั้น มีทั้งที่เป็นเรื่องจริง และมีทั้งที่เป็นเรื่องอิงนิยาย ที่เราต่างได้ยินกันอยู่บ่อย ๆ

เรื่องของกลุ่มบุคคลที่รณรงค์ให้มีกฏหมายห้ามการทำทารุณต่อสัตว์ชนิดต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องที่อยู่ในกระแสข่าวเป็นประจำ

แต่ข่าวเรื่องรัฐบาลสวิตเซอร์แลนด์ ให้ประชาชนทั้งประเทศ ลงคะแนนเสียงเลือกว่า จะให้สิทธิทางกฏหมายแก่สัตว์เดียรัจฉาน ที่ถูกข่มเหง โดยรัฐฯจ่ายค่าทนาย ในกรณีฟ้องร้องกันนี่สิ เป็นข่าวใหม่สำหรับดิฉัน และบางทีอาจจะใหม่สำหรับคุณด้วย กรณีตัวอย่างเกิดขึ้นที่เมืองซูริค เมื่อนักตกปลาคนหนึ่ง ถูกฟ้องร้องถึงกับขึ้นศาล ด้วยข้อหาว่าทารุณต่อปลากระสวย ตัวที่เขาตกได้จากทะเลสาปซูริค ทนายของปลา (ซึ่งแคว้นซูริคเป็นผู้จ้างและจ่าย) ถามลูกขุนว่า จะรู้สึกอย่างไร ถ้าเห็นลูกสุนัข ถูกตะขอเกี่ยวปาก ดิ้นกระแด่ว ๆ อย่างเจ็บปวด ท้ายที่สุด นายนักตกปลาหลุดพ้นจากข้อหา และประชากรสวิสก็ลงคะแนนปฏิเสธข้อเสนอด้วย

การที่เรื่องของสวัสดิการสัตว์ ได้รับความสำคัญถึงขั้นนี้ นี่สิ เป็นเรื่องน่าคิด เพราะมันไม่ได้หมายความแต่เพียงว่า มีจำนวนคนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรมของสัตว์มากขึ้นเท่านั้น แต่หมายความว่า มนุษยชาติ ยังตัดสินใจไม่ได้ว่า จะต้องปฏิบัติต่อสัตว์อย่างไรจึงจะถูกต้อง ทั้งทางโลกทางธรรม

วิคตอเรีย เบรธเวท ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “ปลารู้จักความเจ็บปวดไหม?” [Do Fish Feel Pain? สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยอ็อกซฟอร์ด ยาว 194 หน้า ราคาประมาณ 750 บาท] ชี้แจงว่า ในบรรดาสัตว์เดียรัจฉานด้วยกัน ปลาอาจจะถูกทอดทิ้งหลงลืมกันเป็นประจำ เปรียบเทียบกับว่า ถ้าลูกลิงตาย เราก็เห็นกันชัด ๆ ว่าแม่ลิงโศกเศร้า ถ้าช้างบาดเจ็บ เราก็เป็นสักขีพยานว่าเพื่อนช้างด้วยกันกลุ้มรุมเข้ามาช่วยเหลือ แต่ปลากับสัตว์น้ำอื่น ๆ อาศัยอยู่ในความเปียกและความลึกที่พ้นหูพ้นตามนุษย์ นักวิทยาศาสตร์ส่วนมาก ก็ยังตอบไม่ได้แน่ชัดว่า ปลารู้จักความเจ็บปวดไหม?

ข้อมูลที่วิคตอเรีย เบรธเวท นำมาเสนอในหนังสือของเธอ ประกอบไปด้วยหลักวิชาการและหลักฐาน ที่ได้มาจากการทดลอง และทดสอบด้วยวิธีต่าง ๆ ว่า ปลาและสัตว์น้ำอื่น ๆ รู้จักความเจ็บปวดไหม การตรวจพบประสาทรับความปวด การวัดปฏิกิริยาตอบโต้ เมื่อมีสิ่งก่อเกิดความปวด และการศึกษาพฤติกรรมของสัตว์น้ำ หลังจากที่มันได้เคยประสบกับสิ่งที่ก่อเกิดความปวดมาแล้ว รวมผลมายืนยันว่า ปลา ปลาหมึก กุ้ง และปู ล้วนรู้จักความเจ็บปวดทั้งสิ้น และรู้จักหลีกเลี่ยงสถานะการณ์ที่อาจก่อเกิดความเจ็บปวด

แต่วิคตอเรีย เบรธเวท ก็สรุปด้วยว่า มันไม่ง่ายเสมอไป ที่จะขึ้นตาชั่งเปรียบเทียบ หรือชี้ขาดว่า การตกปลาเพียงสนุก ๆ เป็นสันทนาการ หรือแม้กระทั่งเป็นกีฬาอย่างหนึ่งนั้น เป็นสิ่งชั่วร้ายขนาดไหน การที่สามารถสรุปยืนยันว่า ปลารู้จักความเจ็บปวดเช่นเดียวกับมนุษย์และสัตว์โลกอื่น ๆ ก็ต้องถือเป็นข้อมูลสมทบ ที่จะทำให้การถกปัญหาสวัสดิการสัตว์ มีหลักความจริงสนับสนุนมากขึ้น




 

Create Date : 24 มิถุนายน 2553    
Last Update : 24 มิถุนายน 2553 16:43:01 น.
Counter : 491 Pageviews.  

คำสั่งเสีย ของนักโทษประหาร

ด้วยเหตุที่มีหนังสือมากมายเต็มบ้านไปหมด ดิฉันต้องมีระบบจัดเก็บ จัดแยก ที่จะช่วยให้หาหนังสือที่ต้องการได้อย่างรวดเร็ว หนังสือประเภทหนึ่ง จะมีที่อยู่เป็นประจำในห้องน้ำ เป็นหนังสือประเภทสัพเพเหระ ให้อ่านง่าย ๆเพลิน ๆ ไม่ต้องจดจำว่าอ่านถึงไหนแล้ว เพราะเปิดตรงไหนก็อ่านไปได้เรื่อย ๆ มีเล่มหนึ่งหนาปึก เป็นเล่มรวบรวมจากคอลัมน์ข่าวมรณกรรมของหนังสือพิมพ์ Times ของประเทศอังกฤษ การเขียนข่าวมรณกรรมของคนสำคัญ ๆ ของโลกนั้น ไม่ใช่สิ่งที่คอยให้คนนั้นตาย แล้วจึงมาเขียน แต่เป็นสิ่งที่หนังสือพิมพ์แต่ละฉบับต้องมีกรุข้อมูลเตรียมอยู่แล้ว และคนที่จะรับหน้าที่เขียน ก็แทบจะหมายตัวไว้แล้ว เพราะไม่ใช่เป็นการแจ้งข่าวว่าตายเมื่อไร ตายด้วยเหตุใด ตายอายุเท่าไร เท่านั้น แต่เป็นการเขียนประวัติและผลงานโดยย่อของบุคคลนั้น ๆ เมื่อรวบรวมเป็นเล่ม จึงเหมือนกับมีประวัติชีวิตโดยย่อ ของบุคคลดัง ๆ ของโลกเป็นร้อย ๆ คน อยู่เพียงแค่เอื้อม

หนังสือในห้องน้ำของดิฉัน ยังมีประเภทความรู้รอบตัวแบบประหลาด ๆ เช่น หนังสือที่ชื่อว่า "ปลากินน้ำไหม?" หรือ "ทำไมวัวจึงลงบันไดไม่ได้?" หรือ "ประวัติศาสตร์โลกเสี้ยวเล็ก ๆ ที่มักถูกลืม" เป็นต้น

เร็ว ๆ นี้ อ่านบทวิจารณ์สั้น ๆ ในนิตยสาร TLS [The Times Literary Supplement] ของหนังสือที่อยากเอามาไว้ในห้องน้ำอีกเล่มหนึ่ง ชื่อว่า Last Words of the Executed (สำนักพิมพ์แห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก) เป็นคำสั่งเสียสุดท้ายของนักโทษประหาร ก่อนที่จะถูกแขวนคอโตงเตง หรือก่อนที่จะถูกส่งกระแสไฟเข้าเผาไหม้ หรือถูกส่งแกสพิษเข้าปลิดชีพ รวบรวมโดย รอเบิร์ต เค เอลเดอร์

ลองฟังที่คนวิจารณ์เขายกตัวอย่างมาสิ:
๐ เจเรอไมอาร์ เครน ถูกประหารโดยแขวนคอ ในแคลิฟอร์เนีย เมื่อ 1855 "ซูซานจ๋า คอยอีกอึดใจเดียวนะ เดี๋ยวเราก็จะได้อยู่ด้วยกันแล้ว" ซึ่งแสดงว่าเครนแน่ใจว่าซูซานคอยเขาอยู่บนสวรรค์แล้ว จะไม่แน่ใจได้อย่างไร ในเมื่อเขาเป็นคนส่งเธอสู่สวรรค์ด้วยมือตัวเอง

๐ วิลเลียม วาสโก ถูกประหารที่เพนซิลเวเนีย เมื่อ 1900 "ผมยินดีมอบชีวิตให้หวานใจของผม เพราะผมรักเธอ" และ "ผม" ก็ฆ่า "เธอ" ด้วย

๐ จอห์น โอเว่น ถูกประหารเมื่อ 1886 รีบร้อนอยากไปเร็ว ๆ เพราะ "รีบ ๆ หน่อยพ่อคุณ ข้าอยากไปถึงนรกให้ทันเวลาอาหารเย็น"

แต่ดูเหมือนคำสั่งเสียของนักโทษประหารหลัง ๆ นี้ ไม่สู้จะเข้าท่าเท่าไร อย่างคนหนึ่งที่บอกว่า "ผมรักแม่ครับ" เมื่อปี 1995 เป็นต้น แต่คนหนึ่ง ที่ถูกปล่อยกระแสไฟแล้ว ก็ยังลืมตาขึ้นมาบอกเพชรฆาตว่า "ผมยังไม่ตาย" อาจต้องจัดเข้าข่ายคลาสสิก

การประหารชีวิต เป็นสิ่งที่ถกเถียงกันมากว่า ถูกต้องทางศีลธรรมหรือไม่ มนุษย์มีสิทธิที่จะคร่าชีวิตมนุษย์ด้วยกันหรือไม่ วิธีประหารชีวิตแบบไหนที่ทรมานน้อยที่สุดหรือมากที่สุด และการประหารชีวิตมีประโยชน์ทางสร้างความหวั่นกลัว และลดอาชญากรรมหรือไม่ ซึ่งเป็นผลให้หลาย ๆ ประเทศยกเลิกการประหารชีวิตไปแล้ว หนังสือเล่มนี้ จึงอาจจะไม่มีการต่อภาคสองในเร็ววัน




 

Create Date : 09 พฤษภาคม 2553    
Last Update : 9 พฤษภาคม 2553 13:49:41 น.
Counter : 533 Pageviews.  

กลิ่นปาก จากปอมเปอี

สำหรับคนที่สนใจประวัติศาสตร์ ภูเขาไฟระเบิดที่ไอซ์แลนด์ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ย่อมทำให้อดไม่ได้ที่จะเปรียบเทียบกับการระเบิดของภูเขาไฟ ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในกาลโพ้น คือการระเบิดของภูเขาไฟเวสซูเวียสในอิตาลี ที่ถล่มกรุงปอมเปอี และเฮอคิวเลเนียม เมื่อปี 79 ก่อนคริสตกาล หรือเกือบ 2,100 ปีมาแล้ว จนบัดนี้ เรื่องของเวสซูเวียสกับปอมเปอี ก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะจบ ยังมีหนังสือใหม่ ๆ ที่ให้ข้อมูลใหม่ ๆ ที่ขุดค้นออกมาจากซากอันเป็นเถ้าถ่านของเมืองอมตะนี้อยู่เสมอ หนึ่งในเล่มล่าสุด ชื่อว่า Resurrecting Pompeii เขียนโดย Estelle Lazer (สำนักพิมพ์ Routledge 408 หน้า ราคาประมาณ 3,900 บาท) ซึ่งมีบทวิจารณ์อยู่ในนิตยสาร Times Literary Supplement

มีผู้อ่าน blog ให้ความเห็นมาว่าหนังสือที่ดิฉันบอกว่าอยากอ่านพวกนี้น่ะแพงโหด ก็น่าจะแพงอยู่หรอกนะ อย่างเล่ม "ปอมเปอีคืนชีพ" นี่ ผู้เขียนใช้เวลากว่า 7 ปี ในการเสาะหาข้อมูล ซึ่งไม่ได้ทำโดยนั่งสบาย ๆ อยู่หน้าคอมพิวเตอร์ แต่ต้องขออนุญาตพิเศษ เพื่อเข้าไปนั่งจมอยู่กับกองกระดูกจากสองพันปีก่อน ที่ทางปอมเปอีกวาดมาเก็บรักษารวม ๆ กันไว้เป็นกรุมหึมาสองแห่ง เป็นสถานที่อับทึบ มืดมิด ไม่มีไฟฟ้า ต้องพกพาเอาแสงสว่างชนิดต่าง ๆ ติดตัวเข้าไปด้วย และผู้เขียนอาจจะมีอารมณ์ขันพอที่จะเล่าว่า เวลาที่นั่งอยู่คนเดียวกับกองกระดูกนั้น ไม่เหงาเลย เพราะมีเพื่อนในรูปของสารพัดสัตว์เลื้อยคลาน และหนูเยอะแยะ ที่เข้าไปอาศัยกระโหลกศีรษะทำรัง ดิฉันก็คิดว่า คงไม่ใช่เรื่องน่าหัวเราะเท่าไรนัก

ข้อมูลเกี่ยวกับปอมเปอีที่มีอยู่แล้วมากมาย มักจะทำให้เราเข้าใจว่า เมื่อเวสซูเวียสเริ่มฮึ่ม ๆ เตรียมระเบิด คนที่มีกำลังวังชาดี รีบโกยอ้าวหนีออกจากเมืองไปแล้ว เหลือไว้แต่คนป่วย คนพิการ คนชรา ซึ่งถ้าเป็นจริง ดิฉันก็คิดว่า ชาวปอมเปอีสมัยนั้น ไม่น่าคบเท่าไรนัก อะไรกัน เป็นเมืองเจริญขนาดนั้น แล้วปฏิบัติตนป่าเถื่อนแบบตัวใครตัวมันได้อย่างไร ไม่รู้จักวัฒนธรรม women and children first ช่วยคนอ่อนแอกว่าก่อนช่วยตัวเองบ้างเลยหรือ แต่ข้อมูลจากหนังสือเล่มนี้ คืนเกียรติยศให้แก่ชาวปอมเปอี เพราะ เอสเตลล์ เลเซอร์ ยืนยันว่า โครงกระดูกของประชากรที่ตกค้าง ตายอยู่ในเถ้าถ่านภูเขาไฟนั้น มีอัตราส่วนของอายุ ของเพศ ที่คละกันอย่างสม่ำเสมอ ตามอัตราส่วนปกติธรรมดา ที่เมืองในสมัยนั้นควรจะมี ฉะนั้น ในเรื่องใครจะอยู่ใครจะไป จึงไม่น่าจะผิดไปจากโลกของเราในปัจจุบันนัก การตัดสินใจว่าจะหนี หรือจะอยู่สู้ ไม่ว่าในกรณีไหน ก็ไม่ใช่สิ่งที่เกี่ยวข้องเฉพาะกับเพศ วัย หรือสุขภาพ ความห่วงใยผูกพันกับวัตถุ เช่นบ้าน และทรัพย์สมบัติ ความหวังว่าเรื่องจะอาจจะไม่ร้ายแรงเท่าที่ใครต่อใครคิด ล้วนมีส่วนทำให้เกิดความพะว้าพะวังลังเล ซึ่งอาจจะทำให้สายเกิน กลายเป็นโครงกระดูกให้คนรุ่นหลังศึกษาได้เสมอ

เมื่อเริ่มมีความสนใจที่จะศึกษาโครงกระดูกจากปอมเปอี เอสเตลล์ เลเซอร์ ชาวออสเตรเลีย เตรียมตัวด้วยการอาสาสมัครไปทำงานที่หน่วยชันสูตรศพของเมืองซิดนีย์ อยู่หลายปี และต่อด้วยการเข้าเรียนวิชาสรีรศาสตร์จนเจนจบ หนังสือของเธอ จึงผูกเรื่องราวชีวิตประจำวันของชาวปอมเปอีได้จากสิ่งที่อ่านจากโครงกระดูกเหมือนคนอื่นอ่านหนังสือ เช่น การศึกษาสภาพฟันของชาวปอมเปอี ทำให้แน่ใจว่า อาชีพหมอฟันยังไม่เกิด สุขภาพฟัน และการดูแลทำความสะอาดฟันของประชากรส่วนใหญ่แย่มาก กลิ่นปากของชาวปอมเปอี คงคลุ้งฟุ้งอยู่ในบรรยากาศทุกเมื่อเชื่อวัน

Mary Beard ผู้เขียนบทวิจารณ์หนังสือเล่มนี้ สรุปตบท้ายว่า เอสเตลล์ เลเซอร์ ใช้ความระมัดระวัง และตรวจเช็คความถูกต้องอย่างเข้มงวด ก่อนที่จะสรุปออกมาเป็นข้อมูลตีพิมพ์ ทำให้เป็นหนังสือที่น่าเชื่อถือ นอกจากนั้น เธอยังเขียนด้วยความเคารพต่อฐานข้อมูล หรือโครงกระดูกทั้งหลาย ไม่เคยลืมสักขณะจิตว่า เป็นซากหลงเหลือของเพื่อนมนุษย์ ที่ล้มตายเมื่อธรรมชาติพิโรธ แม้จะนานกว่าสองพันปีมาแล้ว






 

Create Date : 27 เมษายน 2553    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2553 10:41:13 น.
Counter : 398 Pageviews.  

หนึ่งพันไมล์กับช้างสิบสี่เชือก

ช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์โลก ที่สร้างความกังขาให้ดิฉันเป็นอย่างมากก็คือ คนหยิบมือเดียวในประเทศอังกฤษ ปกครองประเทศที่ใหญ่เกือบเป็นทวีปอย่างอินเดียได้อย่างไรเป็นร้อย ๆ ปี จึงเป็นสาเหตุให้ดิฉันชอบอ่านเรื่อง - ทั้งสารคดีและนวนิยาย - ที่เกี่ยวกับคนอังกฤษในอินเดีย จำได้ว่า เมื่อนวนิยายเรื่อง The Far Pavilions ของ M.M. Kaye ออกมาเมื่อปี 1978 นั้น ดิฉันอ่านเช้ายันค่ำแบบวางไม่ลงทีเดียว และยังหลงรักเบน ครอส อยู่นาน เมื่อเขาแสดงเป็นพระเอก ในหนังโทรทัศน์ที่สร้างจากหนังสือเล่มนี้ เป็นแบบมินิซีรีส์ละเอียดละออ แต่นั่นเป็นนวนิยายรักเท่านั้น อีกเล่มหนึ่งที่อิงประวัติศาสตร์อินเดีย ตอนใกล้จะได้อิสรภาพ คือ Jewel in the Crown ของพอล สก็อตต์สิ ทำให้เห็นภาพของชาวอังกฤษในฐานะชนชั้นปกครองของอินเดียอย่างเจาะลึก

เร็ว ๆ นี้ Nancy K. Shields เขียนหนังสืออีกเล่มหนึ่งที่มีบทวิจารณ์อยู่ในนิตยสาร TLS คือเรื่อง Birds of Passage (328 หน้า สำนักพิมพ์ Eland ราคาประมาณ 1,000 บาท) เป็นเรื่องของ เลดี้ เฮนเรียตต้า คไลฟ ท่านผู้หญิงของลอร์ด คไลฟ ข้าหลวงของมาดราส เมื่อเธอเดินทางท่องเที่ยวประเทศอินเดียทางใต้ ระหว่างปี 1798-1801

ดิฉันเอง หย่าขาดกับการเดินทางไปต่างประเทศเสียแล้ว เพราะเดี๋ยวนี้ การเดินทางไปต่างประเทศ กลายเป็นสิ่งที่สร้างความทรมานมากกว่าความสุข เมื่อคนเดินทางทุกคน ถูกสงสัยไว้ก่อนว่าเป็นผู้ร้าย ถูกปฏิบัติเยี่ยงผู้ต้องสงสัยเป็นอาชญากร ตั้งแต่ค้นกระเป๋า ค้นตัว รวมถึงการต้องยืนเข้าคิวเป็นหลาย ๆ ชั่วโมงเพื่อผ่านด่านตรวจ ทำให้ดิฉันปลงตก บอกลาการเดินทาง และจนป่านนี้ก็ยังไม่เคยเห็นสนามบินสุวรรณภูมิสักครั้ง

รูปแบบการเดินทางของท่านผู้หญิงเฮนเรียตต้า อาจจะเนิบนาบน่าอิจฉา เมื่อเทียบกับการบินปรูดปราดลัดฟ้าของทุกวันนี้ แต่ดิฉันว่า มันสะท้อนสังคมของประเทศที่ตกอยู่ใต้ปกครองของชาติอื่น อ่านแล้วคิดหนักว่า เป็นเพราะความด้อยน้อยปัญญา หรือเป็นเพราะความยากจนค่นแค้น ที่ทำให้ชนชาติหนึ่ง ยอมลงให้กับชนอีกชาติหนึ่งถึงขั้นนี้

เล่าเรื่องการเดินทางอันน่าทึ่งนี้ก่อนดีกว่า เผื่อคุณจะช่วยคิดช่วยตัดสินด้วย คือเมื่อลอร์ดคไลฟเดินทางไปถึงมาดราสนั้น เขาพบว่า ตำแหน่งข้าหลวงที่ได้รับแต่งตั้งมานั้น เป็นเพียงตำแหน่งกลวง หามีอำนาจจริง ๆ จัง ๆ อย่างใดไม่ เพราะอำนาจจริงนั้น อยู่ในกำมือของทหาร ลอร์ดคไลฟก็เลยใช้เวลาห้าปีที่อินเดีย ทำ "งาน" อย่างขยายตึกราชการต่าง ๆ ให้โอ่โถงขึ้น ปรับปรุงสวนในบริเวณจวนข้าหลวงให้สวยงามขึ้น แต่เฮนเรียตต้าทนความเฉื่อยแฉะแบบนี้ไม่ได้ ก็เลยวางแผนท่องเที่ยวเยี่ยมดินแดนอินเดียภาคใต้ ระยะทางหนึ่งพันไมล์ (เกือบสองพันกิโลเมตร) เมื่อปี 1800 โดยพ่วงเอาลูกสาวสองคน กับครูของลูกสาวซึ่งเป็นจิตรกร ติดสอยห้อยตามไปด้วย

แนนซี ชิลด์ ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้ ได้ขุดค้นข้อมูลมาจากอนุทินของเฮนเรียตต้า ที่บันทึกไว้เกี่ยวกับการเดินทางครั้งนี้ ผนวกกับจดหมาย ที่เธอเขียนเล่าเรื่องไปยังญาติมิตรที่อังกฤษ โดยมีภาพประกอบเป็นภาพสีน้ำ วาดโดยครูจิตรกร

ขบวนเดินทางของเฮนเรียตต้า ประกอบด้วยผู้ติดตามกว่า 750 ชีวิต พร้อมกับช้าง 14 เชือก วัวลากจูง 100 ตัว อูฐส่งสารอีกหลายตัว ใน 750 ผู้ติดตามนั้น ประกอบด้วยทหาร พ่อครัวแม่ครัว สาวใช้ ผู้หามเกี้ยว ผู้ควบคุมเต๊นท์ และล่าม มีคนใช้ตามไปรับใช้เป็นกองทัพ คนใช่แต่ละคน ก็เอาเมียไปรับใช้ตัวเองด้วย และคนใช้ที่ตำแหน่งสูงหน่อย ก็มีคนใช้ส่วนตัวอีกกลุ่มหนึ่ง "การเดินทางในอินเดียน่ะ ไม่เหมือนกับการเดินทางในยุโรปนะ เราต้องขนทุกอย่าง รวมทั้งเครื่องครัวทุกชิ้นติดไปด้วย"

การเดินทางครั้งนี้ คงต้องวางแผนกันล่วงหน้าเป็นหลาย ๆ เดือนกว่าจะเคลื่อนขบวนกันได้ เฮนเรียตต้า ต้องการความพร้อมแบบว่า หยุดพักที่ไหน ก็จะต้องมีอาหารพร้อม ที่อยู่พร้อม และตลอดเจ็ดเดือนแห่งการเดินทาง เธอก็ได้ทุกอย่างดังประกาศิต ที่พักบางแห่งก็เป็นเต๊นท์แบบมิดชิด มีทหารอารักขารายล้อม บางแห่ง ถึงกับลงทุนสร้างเป็นบังกาโลไม้ชั่วคราว และบางแห่งก็เป็นที่พักคนเดินทาง ที่สร้างแบบกึ่งศาลาโล่ง เมื่อเดินทางไปถึงบังกาลอร์ เธอได้พักอยู่ถึงสองเดือน ในพระราชวังของสุลต่านที่เพิ่งถูกโค่นโดยทหารอังกฤษไปหมาด ๆ

หนังสือแบบนี้ เขียนขึ้นมาได้ ก็เพราะมีข้อมูลให้ขุดค้น และข้อมูลนั้นก็ได้มาจากการช่างสังเกต ช่างศึกษา ช่างจด ช่างเขียน ของคนสมัยนั้น และการที่คนรุ่นหลังหมั่นเก็บ และดูแลรักษาข้อมูลเหล่านี้ไว้ ไม่ให้สูญหายไป อ่านบทวิจารณ์แล้ว ทำให้ดิฉันนึกภาพท่านผู้หญิงเฮนเรียตต้าได้ ว่าเป็นผู้หญิงที่มีความอยากรู้อยากเห็น มีความต้องการที่จะศึกษาวัฒนธรรม ขนบธรรมเนียม และศาสนา ของประเทศที่เป็นบ้านชั่วคราวของเธอ โดยออกไปสัมผัสเอง และโดยไม่แบกเอาความลำเอียง หรือดูถูกอารยธรรมของคนอื่นติดไปด้วย นับเป็นผู้หญิงที่มองทะลุโลกคนหนึ่ง

จะเป็นความบังเอิญหรือไม่ ที่ชาร์ล็อตต์ ลูกสาวของเฮนเรียตต้า ที่ร่วมเดินทางไปกับแม่ด้วยครั้งนี้ ในกาลต่อไป ได้เป็นถึงครูของเจ้าหญิงวิคตอเรีย ซึ่งขึ้นครองราชย์เป็นวิคตอเรีย ราชินีแห่งจักรภพอังกฤษ ที่รวมประเทศอินเดียด้วย จะเป็นอิทธิพลจากชาร์ล็อตต์บ้างหรือไม่ ที่ทำให้วิคตอเรีย ทรงมีความผูกพันกับอินเดียอย่างแน่นแฟ้นเป็นพิเศษ




 

Create Date : 19 เมษายน 2553    
Last Update : 20 เมษายน 2553 18:03:22 น.
Counter : 396 Pageviews.  

เงินเป็นใหญ่ สำหรับพวกเคนเนดี้

หนังสือใหม่ ๆ ก็เหมือนกับ blog ใหม่ ๆ ผลิตกันออกมาทุกวันทุกเดือนทุกปี เป็นร้อย ๆ พัน ๆ หมื่น ๆ เล่ม อ่านไม่หมดน่ะแน่นอนละ แต่จะเลือกอ่านอย่างไร? วารสารรายสัปดาห์ Times Literary Supplement หรือเรียกสั้น ๆ ว่า TLS เป็นวารสารที่ทำอย่างเดียวคือ เลือกคัดหนังสือที่ออกใหม่ มาเขียนวิจารณ์ติชม โดยคนวิจารณ์แต่ละคน เป็นผู้แก่วิชาการ เป็นผู้รู้ลึก รู้จริง ในเรื่องที่เขียนวิจารณ์ บทวิจารณ์แต่ละบท จึงบางครั้งน่าอ่านกว่าหนังสือที่ถูกวิจารณ์เสียอีก

ดิฉันอ่านบทวิจารณ์เหล่านี้อย่างใจจดใจจ่อ และถ้าเจอเรื่องที่สนใจมาก ๆ ก็สั่งหนังสือผ่านอเมซอนดอทคอมมาอย่างว่องไว

เร็ว ๆ นี้ Paula Marantz Cohen วิจารณ์หนังสือเรื่อง Joseph P. Kennedy's Hollywood Years เขียนโดย Cari Beauchamp (ของสำนักพิมพ์ Faber ยาว 506 หน้า ราคาประมาณ 1,500 บาท) เป็นหนังสือที่เปิดตาดิฉันมากทีเดียว เพราะเมื่อเป็นสาววัยรุ่น ดิฉันเป็นหนึ่งในนักเรียนไทย 14 คนแรก ที่ได้ทุน เอ เอฟ เอส ไปศึกษาระดับไฮสกูลที่สหรัฐอเมริกาหนึ่งปี เป็นปีสุดท้ายที่ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เป็นประธานาธิบดี เพราะในปีต่อไป เขาก็ถูกลอบสังหาร คนสมัยนั้น มีน้อยคนนัก ที่จะไม่เทิดทูน จอห์น เอฟ เคนเนดี้ และครอบครัวของเขา รวมไปถึงพ่อแม่พี่น้องของเขาทุกคน เพราะทุกเรื่อง ทุกข่าว ล้วนเป็นเรื่องสรรเสริญกันทั้งสิ้น

แต่หนังสือเรื่องนี้ เปิดโปงว่า โจเซฟ พ่อของ จอห์น ไม่ได้ผิดไปจากเศรษฐีทั่วไป ที่มองเห็นการหาเงิน และการสร้างฐานอำนาจ เป็นจุดมุ่งหมายที่สำคัญที่สุด และพร้อมที่จะตลบตะแลงปลิ้นปล้อน แม้กระทั่งคดโกง เพื่อจะให้ได้เงิน และได้อำนาจ มากขึ้นและยิ่งมากขึ้น เริ่มตั้งแต่การโกหกว่า ตัวเองนั้นเป็นคนที่ตีนถีบปากกัดมาแต่เกิด ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้ว เกิดเป็นลูกเศรษฐี พ่อเป็นนายธนาคารใหญ่ ในรัฐแมสซาชูเซตต์ ซึ่งเมื่ออายุเพียง 25 พ่อก็แต่งตั้งให้เป็นประธานธนาคารแล้ว

เรื่องราวของหนังสือเล่มนี้ จำกัดเวลาอยู่ระหว่างปี 1926-1930 เมื่อโจเซฟ พี. เคนเนดี้ ไปใช้ชีวิตอยู่ที่ฮอลลีวูด ในยุคสมัยที่อุตสาหกรรมสร้างหนังยังเตาะแตะอยู่ นายโจเซฟลั่นวาจาไว้ว่า "ดูไอ้พวกเต้นกินรำกินที่ฮอลลีวูดมันร่ำรวยขึ้นทุกวันสิ ข้าทำให้มันล่มจมได้ไม่ยากเลย" แล้วนายโจเซฟก็เดินทางถึงฮอลลีวูดด้วยกระเป๋าที่หนักและลึกแทบจะไม่มีก้น กว้านซื้อบริษัทสร้างหนังเล็ก ๆ ที่กำลังจะเจ๊ง ใช้กลเม็ดทางบัญชี ซุกซ่อนตัวเลขขาดทุน กระพือตัวเลขกำไร ให้งบดุลแต่ละปี ออกมาสวยงามเสมอ เขาเซ็นสัญญาจ้างนักแสดง แต่พร้อมที่จะฉีกสัญญาทิ้งทันทีที่เจอดาราดีกว่า ดังกว่า ขนาด กลอเรีย สวอนสัน ดาราดังที่เขาสมสู่ด้วยอย่างใกล้ชิด ก็ยังถูกหักหลังโดยนายโจเซฟจนแทบจะหมดตัว มิน่า เธอจึงเคยพูดไว้ว่า "โจเซฟ เคนเนดี้ ไม่ได้แตกต่างกับโจเซฟ สตาลินนัก"

เรื่องปลิ้นปล้อนเพื่อสร้างภาพพจน์ที่ดีให้แก่ตัวเอง ก็ไม่มีใครใจกล้าหน้าด้านเท่าพ่อของ จอห์น เอฟ เคนเนดี้ เมื่อกลับมาทางแมสซาชูเซ็ทท์ เขาให้นิตยสารต่าง ๆ สัมภาษณ์ ถ่ายรูปร่วมกับภรรยาและลูกเก้าคน ตอกย้ำภาพของสามีที่รักภรรยา และพ่อที่รักลูก แล้วก็บินกลับฮอลลีวูด ไปร่วมเตียงเคียงหมอนกับกลอเรีย สวอนสัน อย่างเปิดเผยโจ่งแจ้ง

Cari Beauchamp ผู้วิจัยสืบค้นข้อมูล และเขียนหนังสือเล่มนี้ บอกว่า ยากนักที่จะเข้าใจว่า อะไรเป็นสิ่งผลักดันให้โจเซฟ เคนเนดี้ ประพฤติตนโหดเหี้ยมไม่ละลดแบบนี้ ทำไมคนที่ชีวิตร่ำรวยสุขสบาย มีครอบครัวที่อบอุ่น ตัวเองก็หน้าตาดี มีเสน่ห์ เป็นที่รักของคนกลุ่มใหญ่ จึงไม่รู้จักเพียงพอ กลับทุ่มเทสุดฤทธิ์ ที่จะให้มีเงินมากขึ้น มีชื่อเสียงโด่งดังขึ้น และมีอำนาจกว้างขวางขึ้น

ประธานาธิบดี จอห์น เคนเนดี้ อาจจะมีคำตอบที่ถูกต้องกระมัง เพระเมื่อถูกถามว่า อะไรเป็นสิ่งผลักดันพ่อ เขาตอบสั้น ๆ เพียงว่า "ขี้โอ่"

ผู้ประพันธ์หนังสือเล่มนี้ สรุปได้ลึกซึ้งมากว่า ถึงแม้จะข้องเกี่ยวอยู่กับฮอลลีวูดเพียง 5 ปี แต่โจ เคนเนดี้ ก็ประทับรอยเท้าไว้แนบแน่นลบไม่ออก เพราะเขาเป็นคนที่หันเข็มฮอลลีวูด จากสนามประลองความสร้างสรรค์ เป็นลูกข่างหมุนเงิน ที่งบดุลแต่ละไตรมาสต้องออกหัวให้ได้ มิน่าเล่า หนังฮอลลีวูดทุกวันนี้ จึงต้องยิงกันเลือดสาด หรือสร้างด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งเรื่อง เพื่อเอาเงินจากคนดูหนังส่วนมาก ที่ดูด้วยตาเท่านั้น ปิดบังความด้อยคุณภาพในด้านของเรื่องราว บทพูด และการแสดง ที่สำคัญสำหรับคนดูหนังกลุ่มน้อยกว่า ที่ดูทั้งด้วยตาและด้วยหัวคิด




 

Create Date : 12 เมษายน 2553    
Last Update : 14 เมษายน 2553 9:53:18 น.
Counter : 645 Pageviews.  


pris_bb
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 3 คน [?]




Friends' blogs
[Add pris_bb's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.