All Blog
โภชนาการในระยะให้นม
โภชนาการในระยะให้นม


เพื่อสร้างน้ำนมให้ทารกปริมาณและคุณภาพของอาหาร สำหรับคุณแม่ ในระยะนี้มีความสำคัญต่อทารกมากเพราะในระยะหลังคลอด - 4 เดือนแรก ทารกจะได้รับน้ำนมแม่เป็นอาหารหลัก ปริมาณน้ำนมในช่วง 6 เดือนแรกจะมีประมาณ 700-850 มิลลิลิตรต่อวัน
ซึ่งจะมีผลต่อสารอาหารในน้ำนมโดยเฉพาะวิตามินต่างๆ จะลดลงด้วย ดังนั้นคุณแม่จึงจำเป็นจะต้องได้รับสารอาหารต่างๆ เพื่อใช้ผลิตเป็นน้ำนมให้ลูกน้อย และเสริมสร้างซ่อมแซมสุขภาพของคุณแม่ให้สมบูรณ์ดังนี้

โปรตีน
คุณแม่ต้องการอาหารโปรตีนเพื่อใช้ผลิตน้ำนมและซ่อมแซมเนื้อเยื่อต่างๆ ที่สูญเสียไปในการคลอด หากคุณแม่ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ
จะมีการสลายเนื้อเยื่อโปรตีนและไขมันมากขึ้นเพื่อนำมาใช้ผลิตน้ำนม จึงเป็นสาเหตุให้แม่เป็นโรคขาดพลังงานและโปรตีนทำให้มีน้ำนมไม่เพียงพอสำหรับทารก ทำใ้ห้ทารกเติบโตช้า น้ำหนักน้อย
คุณแม่ที่มีภาวะโภชนาการดีจะผลิตน้ำนมที่มีคุณภาพดีวันละ 850 มิลลิลิตร และมีโปรตีน 10 กรัม คุณแม่จึงควรได้รับโปรตีนเพิ่มขึ้นจากปกติ 20 กรัมและต้องเป็นโปรตีนชั้นดีที่ได้จากสัตว์
แต่เนื่องจากหญิงไทยกินข้าวเป็นอาหารหลักจึงได้โปรตีนจากข้าวซึ่งเป็นโปรตีนชนิดไม่สมบูรณ์ ร่างกายไม่สามารถนำไปใช้ได้เต็มที่
คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ต่างๆ เช่น ไข่ นม ปลา และถั่วเม็ดแห้ง เพืื่อให้ได้รับโปรตีนเพิ่มจากปกติ 40 กรัม
แคลอรี
น้ำนมที่ผลิตเลี้ยงลูกประกอบด้วยอาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารหลายชนิด คุณแม่ต้องการอาหารเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากในระหว่างตั้งครรภ์ร่างกายได้สะสมพลังงานไว้ในรูปของไขมันแล้ว หากคุณแม่สะสมพลังงานไม่เพียงพอ อาจเป็นสาเหตุให้มีการสลายเนื้อเยื่อต่างๆมาใช้เป็นพลังงานชดเชย ทำให้คุณแม่มีร่างกายทรุดโทรม อ่อนแอ คุณแม่จึงควรรับประทานอาหารที่เพิ่มพลังงานขึ้นจากปกติอีก 1,000 กิโลแคลอรี
อาหารที่ให้พลังงานได้แก่ข้าว แป้ง ไขมัน เนื้อสัตว์ นม ไข่ แต่คุณแม่ควรงด ขนมหวาน น้ำหวาน น้ำอัดลม หรือของขบเคี้ยว ของทอด
เพราะอาจจำให้อ้วนได้
ปริมาณวิตามินสำคัญที่ควรได้รับในระยะช่วงให้นม
วิตามินที่ละลายในน้ำมัน
• วิตามินเอ
ในระยะให้นมคุณแม่ควรได้รับปริมาณวิตามินเออีกประมาณ 400 อาร์อี
และควรรรับประทานอาหารจำพวก ไข่แดง ตับ เนยเทียม นม น้ำมันตับปลา และจากพืช เบต้าแคโรทีนที่พบในผักใบเขียวจัดและเหลืองจัด เช่นคะน้า ผักขม ผักกาดขาวบร็อคโคลี่ แครอท มันเทศ ฟักทอง ผลไม้สีเหลือง แดง เช่น มะม่วงสุก มะละกอสุก
• วิตามินดี
คุณแม่ควรได้วิตามินดีเพิ่มจากอาหารประมาณ 200 หน่วยสากล
หากคุณแม่ไม่ได้รับแสงแดดเลย (คนปกติควรได้รับประมาณ 400 หน่วยสากล) นอกจากนี้ควรเลือกทานอาหารจำพวกไข่แดง น้ำมันตับปลา ตับสัตว์ ยีสต์ ปลาน้ำเค็มที่มีไขมันสูง นมสดที่มีส่วนผสมของวิตามินดี
• วิตามินอี
คุณแม่ควรได้เพิ่มจากปกติอีกวันละ 3 มิลลิกรัม
อาหารที่มีวิตามินอีมากได้แก่ น้ำมันพืช ไข่แดง ไขมัน นม เนย เนื้อสัตว์และตับ
วิตะมินที่ละลายในน้ำ
• วิตามินซี
คุณแม่ควรได้รับเพิ่มจากปกติ 40 มิลลิกรัมต่อวัน
ระดับวิตามิืนซีจะลดลงเมื่อแม่ให้นมบุตรนาน 7 เดือนอาหารที่มีวิตามินซีได้แก่ผลไม้สด เช่น มะขามป้อม ฝรั่ง มะขาม ส้ม และัผักสดทุกชนิด เช่นกะหล่ำปลี มะเขือเทศ พริก ผักบุ้ง บร็อคโคลี ผักใบเขียว-เหลือง
• โฟเลซิน
คุณแม่ควรได้รับเพิ่มจากเดิม 100 ไมโรคกรัมต่อวัน
ถ้ามีโปรตีนเพียงพอโฟเลซินก็จะไม่ลดลงด้วย โฟเลซินมีมากในตับ ผักใบเขียว หน่อไม้ฝรั่ง ผักขม บร็อคโคลี มันเทศ ขนมปังที่ทำจากข้าวรำ
• วิตะมีินบี 1
คุณแม่ควรได้เพิ่มจากปกติ 0.5 มิลลกรัมต่อวัน
อาหารที่มีวิตามินบี 1 ได้แก่ หมูเนื้อแดงเนื้อวัว ตับ ธัญพืชทั้งเมล็ด ถั่วเมล็ดแห้ง
• ไนอะซิน
คุณแม่ควรได้รับเพิ่มจากปกติ 5 มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่มีไนอะซินได้แก่ เนื้อสัตว์ที่มีไขมัน สัตว์ปีก ปลา ถั่วลิสง และเครื่องในสัตว์
• วิตามินบี 2
คุณแม่ควรได้รับเพิ่มอีก 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน
อาหารที่มีวิตามินบี 2 ได้แก่ ตับ ไต เนื้อสัตว์ที่ไม่มีไขมัน นมสด ไข่ปลา
• วิตามินบี 6
คุณแม่ที่ให้น้ำนมลูกน่้อยนานกว่า 7 เดือน วิตามินบี 6 จะลดลง ควรเสริมวิตามินบี 6 นี้ในระยะ 7-16 เดือน เพื่อที่คุณแม่ควรจะได้เพิ่มมากขึ้น 0.5 มิลลิกรัมต่อวัน วิตามินบี 6 มีมากในยีสต์ เนื้อหมู ตับ ธัญพืชทั้งเมล็ด ถั่วเมล็ดแห้ง มันฝรั่ง กล้วย และผลไม้แห้ง
• วิตามินบี 12
คุณแม่ควรได้รับเพิ่มอีก 1 ไมโครกรัมต่อวัน
พบมากในตับ เนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน นมสด ไข่ปลา
น้ำ
น้ำที่คุณแม่จำเป็นต้องดื่มวันละ 8-10 แก้ว
อาจอยู่ในรูปของของเหลวอื่นได้ไม่ว่าจะเป็นนม น้ำซุป หรือน้ำผลไม้
เหนือสิ่งอื่นใด อาหารหลัก 5 หมู่ในชีวิตประจำวันของคุณแม่
ในระยะให้นมควรได้รับในปริมาณสารอาหารต่อวันดังนี้
ประเภทอาหาร ปริมาณอาหาร คำแนะนำ
เนื้อสัตว์ 12-14 ช้อนโต๊ะ/วัน • รับประทานเนื้อสัตว์ให้หลากหลายประเภท
ในแต่ละวัน

• รับประทานเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
เพื่อหลีกเลี่ยงไขมันจากสัตว์

• พยายามรับประทานปลา
และอาหารทะเลสัปดาห์ละ 3- 4 ครั้ง
เพื่อได้รับกรดไขมัน DHA เพิ่มมากขึ้น
ไข่ 1 ฟอง/วัน • กินไข่ที่ปรุงสุก เพราะไข่ดิบย่อยยาก
และอาจมีการปนเปื้อนของเชื้อโรค

• ถ้ามีปริมาณไขมันในเลือดสูง
ควรลดปริมาณเหลือ 3 ฟองต่อสัปดาห์

• ไข่ 1 ฟอง ทดแทนเนื้อสัตว์ได้ 2 ช้อนโต๊ะ
เครื่องในสัตว์ 1-3 ครั้ง/สัปดาห์ • หากคุณแม่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง
ควรรับประทานให้น้อยลงสัปดาห์ละ
1 ครั้ง หรืองดชั่วคราว
น้ำนม 2 แก้ว/ วัน • หลีกเลี่ยงน้ำตาลด้วยการเลือกดื่มนมสดจืด
ดีกว่านมปรุงแต่งรส

• หากคุณแม่มีปัญหาไขมันในเลือดสูง
น้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน
ควรดื่มนมพร่องมันเนยหรือนมขาดมันเนย

• ถ้าคุณแม่ดื่มนมไม่ได้
ควรรับประทานปลาเล็กปลาน้อย
กุ้งแห้ง และปลาอื่นๆ
ที่รับประทานได้ทั้งกระดูก
รวมทั้งผักใบเขียวเพื่อได้รับแคลเซียมทดแทน
ถั่วเมล็ดแห้ง 3-4 ช้อนโต๊ะ สัปดาห์ละ 4-5 ครั้ง • เลือกรับประทานถั่วเขียว
ถั่วแดง ถั่วดำ ถั่วลิสง ถั่วเหลือง
หรือผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองเช่นเต้าหู้
เต้าฮวย นมถั่วเหลือง

• คุณแม่สามารถนำถั่วทั้งหลายไป
ประกอบเป็นอาหารหวานหรือคาวได้
แต่ควรระมัดระวังการเติมน้ำตาลด้วย
ข้าวและแป้งต่างๆ 9-12 ทัพพี/วัน • รับประทานข้าวสวยสลับกับผลิตภัณฑ์
จากแป้งเช่นก๋วยเตี๋ยว บะหมี่ ขนมจีน

• คุณแม่สามารถรับประทานเผือก
มันข้าวโพด แทนข้าวได้
ผัก 3-4 ทัพพี/วัน
รับประทานฟักทอง แครอท
สัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง • ควรรับประทานผักให้หลากหลายชนิดใน 1 วัน
และควรเป็นผลไม้สด

• รับประทานผักใบเขียว-ขาว
สลับกับผักสีเหลือง เช่นฟักทอง แครอท
ผลไม้ 3-5 ครั้ง/วัน • รับประทานผลไม้สดหลา่กหลายชนิดใน 1 วัน

• รับประทานผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง
น้ำมัน 3-4 ช้อนโต๊ะ/วัน • ควรเป็นน้ำมันจากพืช เช่นรำข้าว
ถั่วเหลือง งาน

• หลีกเลี่ยงน้ำมันจากสัตว์ กะทิ

• หากคุณแม่มีปัญหาเรื่องไขมัน
และคอเลสเตอรอลในเลือดสูง




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 14:03:23 น.
Counter : 656 Pageviews.

0 comment
มาทำ stock น้ำนม กันเถอะ
มาทำ stock น้ำนม กันเถอะ
สำหรับคุณแม่ที่ต้องกลับไปทำงานประจำ แต่ยังต้องการ เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ต่อไป เป็นเรื่องที่ทำได้ไม่ยากค่ะ แต่ต้องมีการเตรียมตัวล่วงหน้าเล็กน้อยค่ะ นั่นคือ การทำ stock น้ำนมเก็บไว้ให้ลูกในระหว่างวันที่คุณแม่ต้องไปทำงาน

การทำ stock น้ำนม ขอแนะนำให้เริ่มเก็บน้ำนมตั้งแต่สัปดาห์แรกหลังคลอดเลยนะคะ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราไม่ต้องกังวลในช่วงใกล้ๆ จะกลับไปทำงาน แล้วยังเป็นการช่วยเพิ่มปริมาณน้ำนมด้วยค่ะ

หลังจากสัปดาห์แรก เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง (เล็กน้อย) ขอให้คุณแม่เริ่มปั๊มนมเก็บไว้ได้เลยนะคะ โดยเลือกช่วงเวลาที่รู้สึกคัดเต้านมมากที่สุด (โดยปกติจะเป็นช่วงเช้าตอนตื่นนอนใหม่ๆ เพราะร่างกายจะได้พักผ่อนเต็มที่ เต้านมจะผลิตน้ำนมได้เต็มที่) ให้ลูกดูดก่อนข้างหนึ่ง ถ้าลูกอิ่มดีแล้วก็ปั๊มจากอีกข้างหนึ่งเก็บไว้ค่ะ วันแรกๆ อาจจะได้ติดก้นขวด ไม่ต้องกังวลนะคะ ปั๊มให้ได้อย่างน้อย 15 นาที ถึงไม่มีอะไรออกมา หรือแค่หยดเดียวติดปลายช้อน ก็ไม่เป็นไรค่ะ ถ้าน้อยมากๆ ก็ยังไม่ต้องแช่แข็ง เอาช้อนเล็กๆ แตะปลายช้อนทีละนิด แล้วก็ป้อนลูกค่ะ (น้อยแค่ไหน ก็มีภูมิคุ้มกันค่ะ ยิ่งวันแรกๆ น้ำนมยิ่งมีคุณค่ามากค่ะ)

ถ้าลูกดูดข้างเดียวแล้วไม่อิ่มก็ให้ดูดทั้งสองข้าง หลังจากนั้นก็ปั๊มต่อประมาณ 10-15 นาทีต่อข้าง เพื่อกระตุ้นเต้านม ในระหว่างวันก็เช่นกันค่ะ ถ้ามื้อไหนคุณแม่ไม่ขี้เกียจ เมื่อลูกดูดเสร็จแล้ว ก็ใช้ปั๊มกระตุ้นต่อสัก 10-15 นาที ทำเรื่อยๆ ทุกวัน ร่างกายก็จะรับรู้ว่าต้องผลิตน้ำนมเพิ่ม น้ำนมที่ปั๊มก็จะได้ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ 1 oz. -2 oz. -3 oz. ....ดู “วิธีเก็บรักษานมแม่”

พอครบเดือน ก็จะเริ่มมี stock ไว้พอสมควรแล้วค่ะ แต่ไม่ควรหยุดปั๊มนะคะ โดยเฉพาะเด็กที่นอนนานๆ ถ้าลูกไม่ดูดนมทุก 2-3 ชม. ก็ต้องปั๊มออกมาเก็บไว้เรื่อยๆ นะคะ สำหรับเด็กที่ดูดนมถี่มากๆ บางครั้งไม่ถึงช.ม. ก็มี ก็ไม่เป็นไรค่ะ ให้เค้าดูดตามต้องการ คุณแม่ก็พยายามดื่มน้ำมากๆ ทานอาหารให้ครบ และพักผ่อนให้เต็มที่ ร่างกายเราก็จะผลิตน้ำนมได้ตามความต้องการของลูกในที่สุดค่ะ

เมื่อลูกครบเดือน ก็หัดให้ลูกดื่มนมจากช้อน จากแก้ว หรือจากขวด เลือกเอาตามสะดวกค่ะ ไม่จำเป็นต้องกังวลมากว่า วิธีไหนดีที่สุด เลือกเอาที่คิดว่าเหมาะและง่ายกับคนป้อนค่ะ ถ้าเลือกป้อนด้วยช้อนหรือแก้ว ช่วงแรกที่ไม่ถนัดอาจจะหกเลอะเทอะไปบ้าง แต่ถ้าฝึกคล่องแล้วก็ไม่มีปัญหา สำหรับบ้านที่มีผู้ใหญ่หัวโบราณสักนิด ถ้าไม่อยากขัดแย้งกันก็ใช้ขวดก็ได้ค่ะ (ไม่ต้องกังวลมากค่ะ เพราะวิธีการไม่ใช่สาระสำคัญ ขอให้เป็นนมแม่ก็พอค่ะ ไม่จำเป็นต้องเอาเรื่องนี้มาทะเลาะกัน คุณแม่จะเครียดเปล่าๆ ลำพังต้องรับมือกับประเด็นที่ว่าทำไมไม่เลี้ยงนมผสมก็เครียดพอแล้วค่ะ) ดู “วิธีหัดให้ลูกดูดนมจากขวด”

เมื่อคุณแม่เริ่มไปทำงาน ก็ให้ลูกกินนมที่เราปั๊มเก็บไว้ ระหว่างที่อยู่ที่ทำงานก็ปั๊มนมทุก 3 ชม. พยายามกำหนดเวลาให้ตรงกันทุกวัน เช่นตอนเช้าให้ลูกดูดก่อนไปทำงาน พอถึงที่ทำงานก็ปั๊มตอน 10.00 -13.00-16.00 น. แช่ตู้เย็นหรือเตรียมกระติกใส่แล้วนำกลับมาให้ลูกกินในวันรุ่งขึ้น วันเสาร์-อาทิตย์ ก็ให้ลูกดูดนมแม่ทุกมื้อ เพื่อรักษาปริมาณน้ำนม เพราะไม่มีเครื่องปั๊มนมยี่ห้อไหนดีเท่าลูกดูดเองค่ะ


สต็อคเท่าไหร่ถึงจะพอ

ถ้าต้องการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ต้องใช้นมผสมนั้น ในช่วงที่ลาสามเดือนนั้น ต่อให้เร่งทำสต็อคได้เป็นพันออนซ์ก็จะไม่พอสำหรับลูก ถ้าคุณแม่ไปทำงานแล้วปั๊มได้แค่วันละครั้งหรือสองครั้ง

ในทางกลับกัน ถึงแม้จะมีสต็อคแค่สิบยี่สิบออนซ์ก่อนไปทำงาน แต่คุณแม่สามารถหาเวลาปั๊มหรือบีบนมให้ลูกได้เท่ากับจำนวนออนซ์และมื้อที่ลูกกินตอนที่แม่ไปทำงาน (ลูกกินที่บ้าน 3 มื้อ รวม 12 oz. แม่ก็ปั๊ม 3 มื้อ กลับมาส่งลูก 12 oz. ถ้าลูกกิน 4 มื้อ รวม 20 oz. แม่ก็ปั๊ม 4 มื้อ รวม 20 oz มาให้ลูก) ถ้าทำได้แบบนี้ จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้นานแค่ไหนก็ได้ค่ะ

ปัญหาหลักที่หลายคนทำผิดพลาดเมื่อกลับไปทำงานก็คือ

□ ไม่ได้ปั๊มเท่ากับจำนวนมื้อที่ลูกกิน วันแรกที่กลับไปทำงานใหม่ๆ แม้ว่าบางคนจะปั๊มแค่ครั้งเดียวตอนเที่ยง ก็อาจจะได้น้ำนมมากเป็นสิบออนซ์ เพราะนมสะสมมากจากที่เคยให้ลูกดูดตอนอยู่บ้าน3-4 ครั้ง แต่พอไม่กี่วัน ก็จะปั๊มนมได้น้อยลงจนตกใจ และถ้ายังคงปั๊มวันละครั้งไปเรื่อยๆ ไม่นานก็จะลดลงเรื่อยๆ จนไม่พอในที่สุด เพราะร่างกายจะตอบสนองกับความต้องการที่ลดลงนี้โดยอัตโนมัติ

□ บีบไม่เป็น หรือใช้เครื่องปั๊มนมที่ไม่ดีพอ ทำให้ไม่สามารถปั๊มนมออกมาได้เท่ากับที่ลูกเคยดูดในแต่ละมื้อ เมื่อเราเริ่มให้ลูกกินนมแม่ที่ปั๊ม ก็จะรู้เองว่าปริมาณน้ำนมที่ลูกต้องการแต่ละมื้อนั้นเท่าไหร่ (แตกต่างกันไปในเด็กแต่ละคน ไม่ต้องเมล์มาถามนะคะว่าลูกตัวเองต้องการนมเท่าไหร่ สังเกตเอาเองค่ะ) ถ้าลูกกิน 3 ครั้ง รวม 12 oz แล้วเราก็ปั๊มได้ 3 ครั้ง รวมแล้ว 12 oz หรือมากกว่า ก็ถือว่าเครื่องปั๊มนมนั้นใช้ได้ โดยปกติ ถ้าในช่วงลา 3 เดือน แม่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ล้วนๆ โดยไม่ใช้นมผสม เมื่อกลับไปทำงาน ถ้าบีบด้วยมือได้คล่องและชำนาญ หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี บีบหรือปั๊มเท่าจำนวนครั้งที่ลูกกินที่บ้าน ส่วนใหญ่จะปั๊มได้มากกว่าที่ลูกต้องการนิดหน่อยอยู่แล้ว

อย่างไรก็ตาม มีเคล็ดลับเล็กๆ น้อยๆ สำหรับคุณแม่ที่โชคร้าย ที่ทำงานไม่สะดวกให้ปั๊มนมได้วันละ 3-4 ครั้ง ขอบอกว่าถ้าวันละครั้งเดียวนี่ยากมาก แต่ถ้าได้อย่างน้อย 2 ครั้ง พอมีลุ้นค่ะ สมมติว่าลูกอยู่บ้านกินนมวันละ 4 มื้อ แม่ปั๊มได้แค่ 2 ครั้ง เที่ยงกับบ่ายสาม ก็ขอให้มาปั๊มชดเชยตอนตีห้า กับ ห้าทุ่มเที่ยงคืนเพิ่มค่ะ ในมื้อที่จะปั๊มชดเชยนี้ พยายามให้ลูกกินข้างเดียว แล้วปั๊มเก็บอีกข้าง ทำแบบนี้สักอาทิตย์ ร่างกายก็จะรับรู้ว่ามีความต้องการในเวลานั้นๆ มากกว่าเวลากลางวัน มันก็จะปรับการผลิตให้เองค่ะ แบบนี้แม้ว่าจะปั๊มได้แค่วันละสองครั้งที่ทำงาน ก็พอได้ค่ะ

จำนวนสต็อคน้ำนมที่น่าจะพอดีๆ ก่อนไปทำงาน โดยส่วนตัวคิดว่าสัก 30-50 ถุง (ถุงละ 2-4 oz) ก็น่าจะกำลังดี เพราะอาจจะมีบางวันเครียดๆ ปั๊มได้น้อยกว่าปกติ ก็ยังมีเผื่อเหลือเผื่อขาด วันไหนอารมณ์ดี เจ้านายชม ปั๊มได้เกินกว่าที่ลูกกินก็มาชดเชยวันที่ได้น้อยไป

สต็อคที่มากเกินไปสร้างความไม่สะดวก คือ ไม่มีที่เก็บ และยังทำให้นมที่ต้องนำมาใช้ต้องย้อนหลังไปเป็นเดือน ซึ่งไม่ตรงกับวัยของลูกอีกต่างหาก

ถ้าใครโชคดีไม่ต้องทำงานประจำ ให้ลูกดูดจากได้เต้าทุกมื้อ ทุกวันนี่ถือว่า สุดยอดแล้วค่ะ แบบนี้มีสต็อคไม่ถึง 10 ถุงก็พอ เผื่อเวลาแอบหนีลูกไปชอปปิ้งสัก 3-4 ชม. อย่างเก่งก็แค่มื้อเดียว กลับมาบ้านลูกกินนมไปแล้ว ก็มาปั๊มเก็บไว้แทนที่ใช้ไป 1 มื้อ

เป็นเรื่องธรรมดานะคะ ถ้าบางวันจะปั๊มได้มากบ้าง น้อยบ้าง สลับกันไป ปกติลูกกินวันละ 12 อาจจะมีบางวันได้ 10 บางวันได้ 14 การผลิตน้ำนมก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพร่างกายของเราล่ะค่ะ วันไหนอารมณดี กินอิ่ม นอนเยอะ ก็ปั๊มได้เยอะ วันไหนเครียด กินน้อย นอนไม่พอ ก็ปั๊มได้น้อยไปบ้าง ไม่ต้องตกอกตกใจ ยิ่งเครียด ยิ่งน้อยค่ะ ขอให้ยึดหลักความสม่ำเสมอ ทำให้ได้ทุกวัน ดูแลร่างกายให้ดี เดี๋ยวก็กลับมาเหมือนเดิมค่ะ




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 14:02:53 น.
Counter : 529 Pageviews.

0 comment
ยาประสระน้ำนม
ยาประสระน้ำนม
มีมาเพิ่มอีกหนึ่งขนานแล้วค่ะ สำหรับวิธีเพิ่มน้ำนมที่ใครๆ ถามหา พอดีมีน้องคนนึงเล่าว่า ตอนคลอดน้ำนมมาช้า เลยไปซื้อยานี้มาทาน ก็ปรากฏว่านมมาทันที เลยบอกให้ส่งมาให้ดูว่าเป็นยังไง ปรากฎว่าเป็น “ยาประสระน้ำนม ตราพารา-แม่เลื่อน” ของบริษัท พาราวินเซอร์ จำกัด เลยทดลองทานดูด้วยตัวเองค่ะ จะได้มาเล่าให้ฟังได้ว่าเป็นยังไง วิธีใช้ในซองบอกให้ทานครั้งละ 5 เม็ด เช้า-เย็น ห้ามทานน้ำเย็น ก็สู้อุตส่าห์งดน้ำเย็นด้วย (ทั้งๆ ที่เลิกงดมาตั้งแต่ออกเดือนแล้ว-ตอนที่ลอง สิบเดือน ค่ะ) กลัวผิดสูตร ปรากฎว่าสองวันก็เห็นผลค่ะ รู้สึกหน้าอกตึงขึ้นมามากกว่าปกติ ก็เลยไปหาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับยาชนิดนี้

ได้ความรู้ใหม่ว่าคำว่า “ประสระ” แปลว่า ทำให้บริสุทธิ์ “ยาประสระน้ำนม” ก็หมายความว่า เป็นยาที่ทำให้น้ำนมบริสุทธิ์ ทำให้น้ำนมดีอะไรประมาณนั้น ฟังแล้วดีนะคะ แล้วก็เจอว่ายาประเภทนี้เป็นยาแผนโบราณขึ้น ทะเบียนกับ อย. ไว้หลายบริษัททีเดียว แต่ที่ยังหลงเหลือผลิตกันอยู่ในปัจจุบันนี่คงไม่เท่าไหร่แล้ว เพราะตอนไปหาซื้อ ร้านขายยาหลายๆ ร้านบอกว่าไม่มี เค้าเลิกผลิตกันไปแล้ว แต่ของพาราฯ ที่ซื้อมานี่ยังพอหาได้นะคะ ยาที่ได้มาก็ไม่เก่าด้วย ผลิตปี 48-49 นี้เอง ราคาก็ถูกมากเลย ซองละ 12 บาท เท่านั้นเองค่ะ

ตอนที่ค้นใน google ยังไปเจอว่าธุรกิจประเภทให้บริการอยู่ไฟตามบ้านบางเจ้า ก็มียาชนิดนี้ขายด้วย แต่ราคาแพงกว่ามาก แน่นอนค่ะ package ก็ดูดีกว่าตามราคาที่เพิ่มขึ้น แต่สรรพคุณคงไม่น่าจะต่างกันเท่าไร

เอามาแนะนำแบบนี้ เชื่อขนมกินได้เลยว่า FAQ ข้อแรกของยาประสระน้ำนมนี้คงต้องประมาณว่า กินได้จริงหรือเปล่า ปลอดภัยแน่หรือ มีผลข้างเคียงอะไรมั้ย จะมีผลอะไรกับลูกหรือเปล่า เพื่อไม่ให้ต้องอีเมล์มาถามกันให้วุ่นวาย ก็ขอตอบเสียเลยว่า ตั้งแต่คลอดลูกคนแรกใหม่ๆ เมื่อสี่ปีก่อน ด้วยความไม่รู้ ทำให้หลงคิดว่าตัวเองนมน้อย นมไม่พอ พยายามขวนขวายหายาโน่น ยานี่ว่ามีอะไรที่จะช่วยเพิ่มน้ำนมได้บ้าง โดยที่ไม่รู้เลยว่ายาเพิ่มน้ำนมขนานเอกนั้นมีอยู่กับตัวแม่ทุกคนอยู่แล้ว แต่ใช้กันไม่ถูกวิธีเพราะความไม่รู้นั่นเอง เรามัวแต่จะหายาสารพัดมากินเพื่อเพิ่มน้ำนม จะได้มีนมเยอะๆ ให้ลูกกิน ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว แค่ให้ลูกดูดอย่างมีประสิทธิภาพบ่อยๆ ในช่วงระยะเวลาที่นานพอ ร่างกายก็จะผลิตน้ำนมได้มากเพียงพอกับความต้องการของลูกเอง

แต่สำหรับคนที่ขาดความมั่นใจในช่วงแรก ไม่ว่าจะขาดเอง หรือคนรอบข้างช่วยกันซ้ำเติมให้ขาด การใช้ตัวช่วยบ้างนิดๆ หน่อยก็ช่วยสร้างความมั่นใจได้ดีทีเดียวค่ะ สำหรับยาเพิ่มน้ำนมนี้ นอกจากสมุนไพรสารพัดที่อยู่ในหน้า อาหารเพิ่มน้ำนม แล้ว หลายคนอาจจะได้อ่านในบทความหลายๆ เรื่องที่แปลมานั้น มีการพูดถึง Domperidone และ Fenugreek ด้วยว่ามีสรรพคุณในการเพิ่มน้ำนม

สำหรับ Domperidone นั้น คงจะรู้จักกันแล้ว เพราะมีงานวิจัยของการประชุมวิชาการนมแม่มาให้อ่านประกอบกันแล้ว ส่วน Fenugreek นั้น ถ้าใครไป search ต่อใน google คงจะหาข้อมูลได้ไม่ยาก เพราะเป็นอาหารเสริมที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในบรรดาแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในต่างประเทศ ส่วนอีกชนิดหนึ่งที่ฮิตฮอตกันพอสมควรในบ้านเรา ก็เห็นจะเป็น ชาเรียกน้ำนม นั่นเอง

คงต้องเล่าให้ฟังว่า จากการทดลองรับประทานด้วยตัวเองมาหมดแล้วหลายขนาน ไม่ว่าจะเป็น จินจีเหมาเยี่ย Fenugreek ชาเรียกน้ำนม จนมาถึงขนานสุดท้ายคือ ยาประสระน้ำนม นั้น เพิ่งจะมาเกิดปัญญาเอาตรง ยาประสระน้ำนม นี้เองว่า เรามัวแต่ถูกกระแสบริโภคนิยมชักนำ จนทำให้ลืมไปว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นั้น เป็นวิถีชีวิตปกติของคนทุกชนชาติ ตั้งแต่สมัยโบราณนานมา ดังนั้น ไม่ว่าชนเผ่าไหน ชาติไหน จะต้องมียาสำหรับช่วยเพิ่มน้ำนมแน่นอน ไม่ว่า จีน ไทย พม่า แขก ฝรั่ง คงต้องมียาประจำชาติของตน เพื่อช่วยในเรื่องนี้ ถ้าไปอ่านเรื่องของ Fenugreek ก็จะพบว่ามีต้นกำเนิดมาจากทางเอเชียเรานี่เอง

เห็นได้จากที่มี ยาประสระน้ำนม ขึ้น ทะเบียนกับ อย. ไว้นับสิบรายการ สมัยก่อนที่เรายังไม่ถูกครอบงำด้วย กระแสการตลาดของนมผสม แม่ๆ สมัยนั้น ใครน้ำนมมาช้า คงหาซื้อกินกันเป็นเรื่องปกติ แต่พอคนเริ่มไปนิยมการเลี้ยงลูกด้วยนมขวด ยาประสระน้ำนมก็เลยกลายเป็นของที่ไม่จำเป็น พอขายไม่ดีก็คงเลิกผลิตกันไปเกือบหมด น่าเสียดายจริงๆ ค่ะ

นึกแล้วก็ขำว่าของดีอยู่ตรงปลายจมูกนี่เอง แต่กลับมองไม่เห็น ตอนคลอดลูกคนแรก ไม่เคยหาความรู้ หลงคิดว่านมน้อย เที่ยวเสาะหาว่ามียาอะไรที่เพิ่มน้ำนมได้บ้าง แต่ไม่เคยไปถามที่ร้านขายยา ตอนนั้นถ้ารู้จักไปถาม คงรู้จักยาประสระน้ำนมไปนานแล้ว กลับไปได้รากไม้ 7 ท่อน ส่งตรงมาจากอุดร ญาติบอกว่าให้เอามาฝนน้ำกิน แถมยังขู่อีกด้วยว่า หมอยาคนที่หาให้นี่อายุเกือบร้อยแล้วนะ ถ้า 7 ท่อน (ท่อนเล็กๆ เท่าปลายนิ้วก้อย) นี้หมด คงไม่มีปัญญาหามาให้แล้วนะ

เชื่อว่าคงมีหลายคนที่อาจจะรู้จักหรือเคยได้ยินเรื่อง ยาประสระน้ำนม และมีคนแนะนำให้กินกันมาบ้าง แล้วก็คงจะมีหลายคนเช่นกัน ที่ไม่กล้ากิน ขอไปถามหมอก่อน แล้วก็คงไม่ได้กิน เพราะหมอไม่รู้จัก ในตำราหมอไม่มี หมอก็เลยไม่แนะนำ แม่ไม่มีน้ำนม ก็ให้ลูกกินนมชงแทนสิ ไม่เห็นยาก

น่าแปลกนะคะ เวลาแม่จะกินอะไรให้มีน้ำนมเพิ่มนี่ มีแต่คนทักท้วงให้ระวังโน่น ระวังนี่ แต่เวลาเอานมผงชงให้ลูกกินนี่ ทำได้ทันทีเลย ไม่ต้องถามใคร ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงแล้ว การที่แม่จะกินอะไรสักอย่างนั้น ร่างกายแม่จะเป็นตัวกรองชนิดสุดยอดแล้ว เพราะกว่าจะผ่านระบบการย่อยของร่างกายแม่ ผ่านเข้าสู่กระแสเลือด ไปสู่กระบวนการสร้างน้ำนมนั้น ธรรมชาติทำหน้าที่อย่างเต็มที่ เพื่อให้น้ำนมของแม่ เป็นอาหารที่เหมาะสำหรับลูกจริงๆ ทำให้ไม่มีลูกคนไหนมีปัญหากับการกินนมแม่ นี่เป็นเหตุผลที่ว่า ยาส่วนใหญ่ค่อนข้างปลอดภัยสำหรับแม่ที่ให้นมลูก ต่างจากตอนที่แม่ตั้งครรภ์นะคะ เพราะตอนนั้น ลูกอยู่ในท้องแม่ แม่กินอะไรก็ส่งตรงถึงลูกทันที

ในทางตรงกันข้าม สำหรับเด็กบางคนแล้ว นมผสมมีความเสี่ยงมากกว่ามาก หลายๆ คน ย่อยไม่ได้ ทำให้เกิดอาการแพ้ต่างๆ ท้องผูก ท้องเสีย รวมทั้งทำให้ป่วยบ่อย เพราะขาดภูมิคุ้มกัน อยากให้แม่ทุกคน ระวังและก็หาข้อมูลมากๆ เวลาจะตัดสินใจ ชงนมผสมให้ลูกกิน เหมือนเวลาที่กังวลว่าแม่กินอันนี้ อันนั้น ปลอดภัยสำหรับลูกหรือเปล่าจังเลยนะคะ

สรุปสุดท้ายนะคะ ไม่ว่าจะเป็นยาตัวไหน อาหารอะไรก็ตาม ที่ช่วยเพิ่มน้ำนม นั้น ทุกขนานเป็นการให้ผลชั่วครั้งคราวเท่านั้น ในระยะแรกๆ แต่ระยะยาวแล้ว การที่แม่จะมีน้ำนมให้เพียงพอสำหรับลูกนั้น แม่จะต้องนำน้ำนมออกจากร่างกาย อย่างสม่ำเสมอ โดยการดูดของลูก การบีบด้วยมือ หรือการปั๊มค่ะ ไม่เช่นนั้นแล้ว ต่อให้เป็นยาวิเศษขนานไหน ก็ไม่อาจช่วยได้ค่ะ




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 14:01:51 น.
Counter : 749 Pageviews.

0 comment
วิธีเก็บรักษานมแม่
วิธีเก็บรักษานมแม่
เก็บน้ำนมในภาชนะสำหรับใส่อาหารแบบไหนก็ได้ หรือจะใช้ ถุงเก็บน้ำนมแม่ ก็ได้ เขียนวันเวลาที่ได้ปั๊มนมไว้บนภาชนะ ควรแบ่งปริมาณน้ำนมให้พอดีกับมื้อหนึ่งที่ลูกกิน
สถานที่เก็บ อุณหภูมิ ระยะเวลาเก็บ
ตั้งทิ้งไว้ 25 ๐C 4-6 ช.ม.
ตั้งทิ้งไว้ 19-22 ๐C 10 ช.ม.
กระติกใส่น้ำแข็ง 15 ๐C 24 ช.ม.
ตู้เย็นช่องธรรมดา 0-4 ๐C 8 วัน
ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียว 2 สัปดาห์
ช่องแช่แข็งตู้เย็น 2 ประตู 4-6 เดือน
ช่องแช่แข็งเย็นจัด ตู้เย็นชนิดพิเศษ -19 ๐C 6 เดือน หรือมากกว่า

ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับทารกโดยประมาณ

อายุ ปริมาณต่อมื้อ (โดยเฉลี่ย)
แรกเกิด - 2 เดือน 2-5 oz.
2 - 4 เดือน 4-6 oz.
4 - 6 เดือน 5-7 oz.

• เมื่อต้องการนำนมที่แช่แข็งไว้มาใช้ ให้ละลาย นมแม่ ที่แช่แข็งด้วยการนำมาแช่ในตู้เย็นปกติก่อนล่วงหน้า 1 คืน (12 ช.ม.) ถ้าลูกชอบแบบเย็นๆ ก็เขย่าๆ ให้ไขมันที่แยกชั้นละลายเข้ากันแล้วป้อนได้เลย แต่ถ้าลูกไม่ชอบก็นำมาแช่ในน้ำอุ่นก่อนป้อน ห้ามใช้น้ำร้อนจัดหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำลายเซลล์มีชีวิตที่อยู่ใน นมแม่
• ไม่ควรปล่อยให้นมแช่แข็งละลายเองที่อุณหภูมิห้อง ถ้าลืมและต้องการให้ละลายเร็ว ให้แช่ในน้ำธรรมดาให้เป็นอุณหภูมิปกติ แล้วเปลี่ยนเป็นแช่น้ำอุ่น
• นมที่เก็บในถุงเก็บนมแม่จะละลายเร็วกว่าเก็บในขวดหรือภาชนะอื่นๆ
• น้ำนมที่ละลายแล้ว สามารถเก็บในตู้เย็นได้ 24 ช.ม. น้ำนมที่เหลือจากการป้อนนมในขวดหรือถ้วย สามารถเก็บได้ถึงมื้อต่อไปเท่านั้น
• ไม่ควรนำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งใหม่
• สามารถผสมน้ำนมแม่ที่บีบหรือปั๊มออกมาใหม่ใส่รวมกับน้ำนมแม่ที่แช่เย็นไว้ก่อนแล้วได้ภายใน 24 ช.ม.หลังจากการเก็บครั้งแรก
• ถ้าต้องการใช้นมภายใน 8 วันหลังจากปั๊ม ไม่ต้องแช่แข็ง ให้แช่ตู้เย็นช่องปกติ ถ้าต้องการแช่แข็ง ให้แช่แข็งภายใน 24-48 ช.ม. หลังจากปั๊มออกมา (ยิ่งแช่แข็งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น)
• น้ำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว อาจมีกลิ่นหืน แต่ไม่เสีย (นอกจากมีกลิ่นรุนแรงมากและมีรสเปรี้ยว จึงจะเสีย)
หมายเหตุ
คำแนะนำในการเก็บรักษาน้ำนมแม่ข้างต้น เป็นคำแนะนำทั่วๆ ไป ซึ่งสามารถใช้เป็นแนวทางในการปฏิบัติได้ สิ่งใดก็ตามที่แตกต่างไปจากคำแนะนำดังกล่าว ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแต่ละครอบครัว ถ้ากังวลมากก็ไม่ควรทำ แต่ถ้าคิดว่าน่าจะได้ ก็ทดลองทำดูได้ อาจจะใช้ได้หรือใช้ไม่ได้ ก็จำไว้เป็นประสบการณ์ของตนเองค่ะ ถ้าอยากทราบว่านมเสียหรือไม่ วิธีที่ง่ายที่สุดคือ ชิมค่ะ
ที่มา : //www.breastfeedingbasics.com/html/collecting_and_storing.shtml
การบีบหน้าอก ช่วยลูกดูดนม




Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 14:00:52 น.
Counter : 494 Pageviews.

0 comment
วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ
วิธีบีบน้ำนมด้วยมือ

การบีบน้ำนมด้วยมือนี้ แปลและเรียบเรียงมาจาก (Marmet Technique of Manual Expression) ซึ่งเค้าบอกว่าเทคนิคนี้มีประสิทธิภาพอย่างยิ่ง ขนาดคุณแม่ทั้งหลายที่เคยมีปัญหากับการบีบด้วยมือ คือ บีบไม่เป็น บีบแล้วแล้วเจ็บ บีบแล้วน้ำนมไม่ออก ยังประสบผลสำเร็จเป็นอย่างดี คือบีบได้มากขึ้น ไม่เจ็บ และช่วยให้มีน้ำนมมากขึ้นกว่าเดิมด้วยค่ะ ลองดูกันนะคะ
เริ่มจากมาทำความเข้าใจกับกลไกการผลิตน้ำนมของเต้านมกันก่อนนะคะ ดูรูปประกอบไปด้วยจะได้เข้าใจง่ายขึ้นค่ะ
น้ำนมจะถูกผลิตโดยเซลส์ผลิตน้ำนม (alveoli หรือจะเรียกว่าต่อมผลิตน้ำนมก็ได้ค่ะ) แล้วไหลผ่านท่อน้ำนมมาเก็บไว้ที่กระเปาะน้ำนม (Milk Resevoir) เมื่อเซลส์ผลิตน้ำนมได้รับการกระตุ้นก็จะส่งผลให้เกิดกลไกน้ำนมพุ่ง (Milk rejection reflex หรือ Let-down reflex) ถ้าใครเคยใช้เครื่องปั๊มนม จะเห็นได้ชัดว่าน้ำนมจะพุ่งปี๊ดออกมาเหมือนสเปรย์เลยค่ะ เวลาที่ลูกดูด เหงือก ลิ้นและการดูดกลืนของลูกก็จะทำหน้าที่กระตุ้นต่อมผลิตน้ำนมนี่ล่ะค่ะ ดังนั้นถ้าจะบีบน้ำนมออกให้เหมือนลูกดูด เราก็ต้องพยายามเลียนแบบการกระตุ้นของลูกค่ะ

วิธีการบีบน้ำนม
1. ใช้นิ้วหัวแม่มือวางด้านบน นิ้วชี้และนิ้วกลางวางด้านล่างทำมือเป็นรูปตัว C ตามรูป ซ้ายมือ จุดที่เราวางนิ้วนั้นให้ห่ า-งจากโคนหัวนม ประมาณ 2.5 -3.1 ซ.ม. (ไม่จำเป็นต้องอยู่นอกลานหัวนมนะคะ เพราะขนาดของลานหัวนมแต่ละคนไม่เท่ากันค่ะ)
- ตำแหน่งที่วางนิ้วหัวแม่มือ และนิ้วชี้กับนิ้วกลางนั้นต้องอยู่ตรงข้ามกันนะคะ (ฝรั่งเค้าจะเรียกตามตำแหน่งของเข็มนาฬิกา คือ 12.00 น.และ 6.00 น.) ไม่ใช่เอียงๆ แบบรูปขวามือ นะคะ
2. เมื่อวางนิ้วได้ตามตำแหน่งแล้วให้กดนิ้วเข้าหาตัวเองตามรูป A ถ้าหน้าอกใหญ่ก็ทำเหมือนยกหน้าอกขึ้นหน่อยแล้วค่อยกดเข้าหาตัวค่ะ ระวังอย่าให้นิ้วแยกจากกัน
3. แล้วก็ค่อยๆ กลิ้งนิ้วหัวแม่มือ (เหมือนกำลังพิมพ์นิ้วมือ) ลงมายังโคนหัวนม ระหว่างนั้นก็ผ่อนแรงกดด้านล่างจากนิ้วกลางมายังนิ้วชี้ (ดูตำแหน่งที่ลูกศรชี้ตามรูป B และ C )
-การเคลื่อนไหวของนิ้วทั้งสามจะช่วยรีดน้ำนมออกมาโดยไม่เจ็บ คล้ายๆ การดูดของทารก
4. ทำซ้ำเป็นจังหวะ ตามรูปเพื่อรีดน้ำนมออกมาให้หมดกระเปาะ
5. เปลี่ยนตำแหน่งการวางนิ้วมือเพื่อรีดน้ำนมในกระเปาะที่เหลือ โดยใช้ตำแหน่งของเข็มนาฬิกาเป็นหลักจากจุดเริ่มต้นที่ 12 และ 6 เป็น 11 และ 5 (ใช้มือขวา) 2 และ 8, 3 และ 9 (ใช้มือซ้าย) ตามรูปจะแสดงการบีบน้ำนมของหน้าอกข้างขวา
สิ่งทีไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง คือ บีบ ดึง หรือเค้นหน้าอก เพราะจะทำให้เจ็บ และน้ำนมก็ไม่ออกมาด้วยค่ะ (นี่เป็นข้อผิดพลาดที่ผ่านมาของตัวเองเลยค่ะ เมื่อก่อนจะบีบเค้นด้วยความรุนแรง คงจะนึกถึงการคั้นน้ำส้มมากไปหน่อย คิดว่ายิ่งบีบแรงก็น่าจะยิ่งออกมาก ที่ไหนได้ นอกจากนมไม่ออก แล้วยังเจ็บตัวอีกด้วยค่ะ เพราะฉะนั้นเวลาบีบน้ำนมตามขั้นตอนที่ว่ามา ก็ทำด้วยความนุ่มนวลนะคะ นึกถึงเวลาที่ลูกดูดน่ะค่ะ เค้าก็ดูดแผ่วๆ นมยังออกเลย)

วิธีช่วยกระตุ้นให้เกิด Milk Ejection Reflex
1. การนวดเต้านม โดยการใช้นิ้วมือนวดเบาๆ เป็นวงๆ ไปรอบๆ เต้านมเหมือนในรูป D
2. ลูบหน้าอกจากด้านบนลงมายังหัวนมเบาๆ ตามรูป E
3. ก้มตัวลงเล็กน้อยแล้วก็เขย่าๆ ค่ะ อาศัยแรงโน้มถ่วงของโลกเข้าช่วย ตามรูป F
ขั้นตอนทั้งหมดควรจะใช้เวลาประมาณ 20-30 นาที
- บีบน้ำนมแต่ละข้างออก 5-7 นาที (หรือน้ำนมไหลน้อยลง)
- กระตุ้นโดยการนวด ลูบ และเขย่า
- บีบน้ำนมออกอีกข้างละ 3-5 นาที
- กระตุ้นโดยการนวด ลูบ และเขย่า
- บีบน้ำนมออกอีกข้างละ 2-3 นาที
***ถ้าปริมาณน้ำนมมีมากพอแล้ว ก็ใช้เวลาดังกล่าวเป็นเพียงไกด์ไลน์ ถ้าน้ำนมไหลน้อยลงก็เปลี่ยนข้างได้ค่ะ แต่ถ้าน้ำนมยังมีน้อยอยู่ ให้ทำตามเวลาดังกล่าวอย่างเคร่งครัดนะคะ***

- เครื่องปั๊มนมบางอย่างก็ทำให้รู้สึกไม่สบาย และปั๊มไม่ค่อยออก
- การบีบด้วยมือเป็นธรรมชาติมากกว่า
- ความรู้สึกสัมผัสระหว่างมือกับผิวหนังช่วยกระตุ้นการสร้างน้ำนมได้ดีกว่าฝาครอบพลาสติกสัมผัสกับผิวหนัง
- พกพาสะดวก ทำงานได้ทันที ไม่มีการลืมชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์เหมือนเครื่อง (คงไม่มีแม่คนไหนลืมเอามือของตัวเองไปหรอกนะคะ)
- ดีที่สุดเลยก็คือ ไม่เสียเงินค่ะ

อยากให้คุณแม่ทุกท่านหัดบีบด้วยมือให้เป็นค่ะ ถึงแม้ตัวเองจะเป็นคนขี้เมื่อย ขี้เกียจและรู้สึกสะดวกกว่ากับการใช้เครื่องปั๊ม ก็ยังเห็นว่าการบีบด้วยมือนี่เป็นประโยชน์มากๆ จากประสบการณ์ก็คือ ในบางสถานการณ์เราก็ไม่สะดวกที่จะใช้เครื่อง หรือไม่ได้เตรียมตัวไป อาจจะเผลอช็อปปิ้งนานไปหน่อย รู้สึกคัดขึ้นมา แค่พกถุงเก็บน้ำนมติดกระเป๋าไว้สักใบสองใบตลอดเวลา ฉุกเฉินเมื่อไหร่ก็แว่บเข้าห้องน้ำ บีบออกมาได้เลย ไม่ต้องปล่อยให้ไหลซึม หรือค้างไว้นานๆ (ซึ่งถ้าค้างบ่อยๆ ก็จะทำให้น้ำนมผลิตน้อยลงด้วยค่ะ)

เมื่อแม่ไปทำงาน ลูกกินนมแม่ได้
เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ช่วงระยะเวลาที่ลาพักหลังคลอด
ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวให้บ่อยครั้งที่สุดในช่วงระยะที่ลาพักหลังคลอด ซึ่งจะทำให้ทารกได้รับน้ำนมที่มีคุณค่า และทำให้แม่สร้างน้ำนมที่มีปริมาณมากพอ โดยเฉพาะช่วง3เดือนแรก
อย่าพะวงว่าต้องกลับไปทำงานเมื่อหมดวันลาจนถึงกับต้องให้นมผสมเพื่อให้เด็กมีความคุ้นเคยกับการดูดนมขวด ซึ่งจริงๆแล้วแม่อาจใช้เวลาเพียง 1-2วันก่อนเริ่มไปทำงาน เพื่อฝึกให้ลูกดื่มนมจากแก้ว และสอนผู้ที่จะเลี้ยงลูกให้ป้อนนมแม่จากแก้วได้ เมื่อแม่ไปทำงาน

ระยะเวลาพักหลังคลอด
แม่ที่เป็นข้าราชการมีสิทธิหยุดงานหลังคลอดได้โดยได้รับเงินเดือนเต็ม 90 วัน และยังมีสิทธิลาต่อโดยไม่รับเงินเดือนอีก 150 วัน รวมแล้วแม่มีสิทธิลาเพื่อให้สิ่งที่ดีกับลูกถึง 240 วันหรือ 8 เดือน
แม่ที่ทำงานเป็นลูกจ้างนั้น ตามกฏหมายแรงงานมีสิทธิหยุดงานลาคลอดโดยได้รับเงินเดือนเต็ม 3 เดือนโดยได้รับเงินจากนายจ้าง 45 วัน และจากสำนักงานประกันสังคม 45 วัน

การเตรียมตัวเพื่อเลี้ยงลูกด้วยนมแม่คู่ไปกับการทำงานนอกบ้าน
เรียนรู้เรื่อง การบีบน้ำนม การเก็บน้ำนม และการป้อนน้ำนมด้วยแก้ว คลิกดูรายละเอียด
การให้นมตอนแม่อยู่บ้าน ตอนเช้าให้ลูกดูดนม 2 มื้อ คือ
- เมื่อแม่ตื่นนอน
- ก่อนแม่ไปทำงาน

ตอนเย็นและกลางคืน ให้ลูกดูดนมแม่ทุกครั้ง
ที่ทำงานกลางวัน ให้ผู้ดูแลป้อนนมแม่ที่บีบไว้ด้วยถ้วย 2 - 3 มื้อ

ส่วนแม่ขณะที่ทำงาน ทุกครั้งที่รู้สึกว่าเต้านมตึงคัด ให้แม่บีบนมแม่ไว้ให้ลูก เพื่อป้องกันนมแม่ไหลย้อย เปรอะเปื้อนเส้ือผ้า และเป็นการกระตุ้นให้มีการสร้างนมแม่มากข้ึน อาจจะบีบนมแม่ตอนที่แม่ใกล้พักเที่ยงหรือบีบทุก 3 ชั่วโมง เช่นเวลา 11.00 น. และ 14.00 น. เป็นต้น

เลือกสถานที่ที่ปลอดภัย และมิดชิดและเป็นมุมสงบ
เก็บนมใส่ภาชนะ เช่น ขวดแก้วที่มีฝามิดชิด เก็บไว้ในตู้เย็นช่องธรรมดา ขณะเดินทางกลับบ้านใส่กระติกน้ำแข็งเพื่อเตรียมไว้ให้ลูกดื่มวันรุ่งขึ้น เมื่อแม่ไปทำงาน โดยแช่ไว้ในตู้เย็น ถ้าไม่มีตู้เย็นเก็บใส่ในกระติกน้ำแข็งจะเก็บได้นาน 24 ชั่วโมง
แม่กลับจากทำงานตอนเย็น และตอนกลางคืน ให้ลูกดูดนมแม่จากเต้าตามปกติ
ตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แม่ควรกะเวลาตื่นเพื่อให้ลูกดูดนม 1-2 มื้อ ก่อนไปทำงาน หลังจากลูกดูดอิ่มแล้ว แม่สามารถบีบนมส่วนที่เหลือ เก็บไว้ให้ลูกกินเมื่อแม่ไปทำงานได้

วิธีการนำนมที่บีบแช่ไว้ในตู้เย็นมาให้ลูกกิน
เอานมที่แช่ไว้ออกมาตั้งทิ้งไว้ให้ละลายและใช้ได้เลยโดยไม่ต้องอุ่น หรือถ้าต้องการอุ่น ให้วางขวดนมในหม้อหรืออ่างน้ำร้อนแทน ไม่นำไปเดือดในเตาร้อนหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำให้เสียคุณค่าภูมิต้านทานที่อยู่ในนมแม่
น้ำนมที่นำมาอุ่นแล้ว และกินไม่หมดให้ทิ้งไปไม่นำกลับมาแช่เย็นหรือไปใช้กินในมือต่อไป
ควรกะปริมาณนมที่นำมาอุ่นหรือละลายให้พอเหมาะในแต่ละมื้อ โดยกะปริมาณดังนี้
ปกติเด็กจะกินนม 150 ซีซี ต่อน้ำหนักตัว 1 กก. ต่อวัน
ถ้าเด็กหนัก 6 กก. กินนมทุก 2 -3 ชั่วโมง เท่ากับกินวันละ 10 มื้อ
ปริมาณน้ำนมทั้งหมด 150x6 = 900 ซีซี
กินนม 10 มื้อ มื้อละ 90 ซีซี
ฉะนั้นควรอุ่นนมป้อนให้เด็ก ประมาณ 90-100 ซีซี ในแต่ละมื้อเพื่อไม่เหลือนมทิ้งถ้าเด็กดื่มไม่หมด

วิธีป้องกันไม่ให้น้ำนมลดลง
ควรให้ลูกดูดนมบ่อยๆ ดูดอย่างถูกวิธี หรือบีบน้ำนมออกทุก 3 - 4 ชั่วโมง อย่าปล่อยให้น้ำนมค้างไว้ในเต้าเกิน 3 ชั่วโมง

วิธีเก็บรักษา น้ำนมแม่
เก็บน้ำนมในภาชนะสำหรับใส่อาหารแบบไหนก็ได้ หรือจะใช้ ถุงเก็บน้ำนมแม่ ก็ได้ เขียนวันเวลาที่ได้ปั๊มนมไว้บนภาชนะ ควรแบ่งปริมาณน้ำนมให้พอดีกับมื้อหนึ่งที่ลูกกิน

สถานที่เก็บ อุณหภูมิ ระยะเวลาเก็บ
ตั้งทิ้งไว้ 25 ๐C 4-6 ช.ม.
ตั้งทิ้งไว้ 19-22 ๐C 10 ช.ม.
กระติกใส่น้ำแข็ง 15 ๐C 24 ช.ม.
ตู้เย็นช่องธรรมดา 0-4 ๐C 8 วัน
ช่องแช่แข็งตู้เย็นประตูเดียว 2 สัปดาห์
ช่องแช่แข็งตู้เย็น 2 ประตู 4-6 เดือน
ช่องแช่แข็งเย็นจัด ตู้เย็นชนิดพิเศษ -19 ๐C 6 เดือน หรือมากกว่า

ปริมาณนมที่เหมาะสมสำหรับทารกโดยประมาณ
อายุ ปริมาณต่อมื้อ (โดยเฉลี่ย)
แรกเกิด - 2 เดือน 2-5 oz.
2 - 4 เดือน 4-6 oz.
4 - 6 เดือน 5-7 oz.

เมื่อต้องการนำนมที่แช่แข็งไว้มาใช้ ให้ละลาย นมแม่ ที่แช่แข็งด้วยการนำมาแช่ในตู้เย็นปกติก่อนล่วงหน้า 1 คืน (12 ช.ม.) ถ้าลูกชอบแบบเย็นๆ ก็เขย่าๆ ให้ไขมันที่แยกชั้นละลายเข้ากันแล้วป้อนได้เลย แต่ถ้าลูกไม่ชอบก็นำมาแช่ในน้ำอุ่นก่อนป้อน ห้ามใช้น้ำร้อนจัดหรือไมโครเวฟ เพราะจะทำลายเซลล์มีชีวิตที่อยู่ใน นมแม่

ไม่ควรปล่อยให้นมแช่แข็งละลายเองที่อุณหภูมิห้อง ถ้าลืมและต้องการให้ละลายเร็ว ให้แช่ในน้ำธรรมดาให้เป็นอุณหภูมิปกติ แล้วเปลี่ยนเป็นแช่น้ำอุ่น

นมที่เก็บในถุงเก็บนมแม่จะละลายเร็วกว่าเก็บในขวดหรือภาชนะอื่นๆ

น้ำนมที่ละลายแล้ว สามารถเก็บในตู้เย็นได้ 24 ช.ม. น้ำนมที่เหลือจากการป้อนนมในขวดหรือถ้วย สามารถเก็บได้ถึงมื้อต่อไปเท่านั้น

ไม่ควรนำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว กลับไปแช่แข็งใหม่

สามารถผสมน้ำนมแม่ที่บีบหรือปั๊มออกมาใหม่ใส่รวมกับน้ำนมแม่ที่แช่เย็นไว้ก่อนแล้วได้ภายใน 24 ช.ม.หลังจากการเก็บครั้งแรก

ถ้าต้องการใช้นมภายใน 8 วันหลังจากปั๊ม ไม่ต้องแช่แข็ง ถ้าต้องการแช่แข็ง ให้แช่แข็งภายใน 24-48 ช.ม. หลังจากปั๊มออกมา (ยิ่งแช่แข็งเร็วเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น)

น้ำนมแช่แข็งที่ละลายแล้ว อาจมีกลิ่นหืน แต่ไม่เสีย (นอกจากมีกลิ่นรุนแรงมากและมีรสเปรี้ยว จึงจะเสีย)

ข้อคิดก่อนซื้อ ที่ปั๊มนม
ถ้าคุณมั่นใจแล้วว่า “จะต้องเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ได้ ไม่ว่าจะยังไง ก็จะสู้ให้ถึงที่สุด เพื่อลูกจะได้กินนมเรา” ถ้าเป็นเช่นนี้ล่ะก็ คุณก็ควรจะมี เครื่องปั๊มนมดีๆ สักอัน เพราะมันสามารถช่วยคุณได้ในหลายๆ เรื่อง ทั้งการกระตุ้นเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำนม ช่วยรักษาปริมาณน้ำนมให้คงอยู่ในกรณีที่ลูกดูดไม่ได้ ช่วยทำ stock น้ำนม ถ้าต้องกลับไปทำงาน

แต่ถ้าคุณยังไม่มั่นใจว่า จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้หรือเปล่า (ซึ่งไม่ควรเกิดขึ้น ถ้าคุณได้ศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้มากพอ ทั้งจากการอ่านหนังสือ อินเตอร์เน็ต หรือปรึกษาผู้มีประสบการณ์) คุณก็อาจจะยังไม่ควรซื้อ ที่ปั๊มนม เพราะที่ปั๊มนมดีๆ ราคาค่อนข้างแพง มีแม่จำนวนมากที่ซื้อไปแล้วไม่ได้ใช้ ซึ่งเป็นการเสียเงินโดยใช่เหตุ
อย่างไรก็ตาม ก่อนจะตัดสินใจซื้อ ที่ปั๊มนม มีสิ่งที่ควรพิจารณาดังนี้
1.คุณจำเป็นต้องใช้มันหรือไม่
ถ้าคุณเป็นแม่ที่ไม่ได้ทำงานประจำ เลี้ยงลูกอยู่กับบ้านตลอดเวลา ลูกเป็นเด็กแข็งแรง ดูดนมบ่อยสม่ำเสมอทุก 1-3 ช.ม. กรณีนี้คุณก็อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้ ถ้าจะมีบางครั้งที่ต้องอยู่ห่างลูกบ้าง ก็สามารถบีบน้ำนมด้วยมือเก็บไว้ให้ลูกได้

2.ถ้าจำเป็นต้องใช้ สิ่งที่ต้องคำนึงถึงประการต่อมาก็คือ ต้องใช้บ่อยแค่ไหน
เพราะ เครื่องปั๊มนม แต่ละรุ่น ถูกออกแบบมาให้รองรับการใช้งานแตกต่างกัน ถ้าคุณไม่ได้ทำงานประจำ แต่มีช่วงเวลาที่ต้องห่-า-งจากลูกบ้างสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ครั้งละไม่กี่ช.ม. เครื่องปั๊มนมที่คุณจะเลือกใช้ได้ก็อาจจะเป็นแบบใช้มือ (manual) หรือแบบไฟฟ้ารุ่นเล็ก (mini electric)

แต่ถ้าคุณต้องทำงานประจำเต็มเวลา คุณจะต้องปั๊มนมวันละ 3 ครั้ง (เป็นอย่างน้อย) สัปดาห์ละ 5-6 วัน กรณีนี้ เครื่องปั๊มนมไฟฟ้ารุ่นใหญ่ หรือแบบเช่าใช้จะเหมาะกว่า เพราะสามารถเลือกใช้แบบปั๊มคู่ (double pu-m-p) ได้ ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาในการปั๊มแต่ละครั้ง นอกจากนี้ เครื่องรุ่นใหญ่จะมีประสิทธิภาพดีกว่ามาก จังหวะการปั๊มจะใกล้เคียงทารกดูด ช่วยกระตุ้นกระสร้างน้ำนม และรักษาปริมาณน้ำนมให้คงอยู่สม่ำเสมอ

อย่างไรก็ตามข้อเสียของเครื่องปั๊มนมรุ่นใหญ่ก็คือ ไม่สะดวกต่อการพกพา นอกจากนี้บางรุ่นก็ไม่สามารถใช้ถ่านได้ ต้องใช้ไฟอย่างเดียว คุณต้องพิจารณาด้วยว่า ในที่ทำงาน มีสถานที่ให้คุณทำการปั๊มนมได้อย่างสะดวกหรือไม่ ถ้าต้องปั๊มในห้องน้ำ อาจจำเป็นต้องใช้แบบมือ หรือมอเตอร์รุ่นเล็กแทน

3. เครื่องปั๊มนม แต่ละยี่ห้อ แต่ละรุ่น มีคุณภาพไม่เหมือนกัน
ที่ปั๊มนมดีๆ ช่วยให้คุณเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ได้ง่ายขึ้นที่ปั๊มนมแย่ๆ ทำให้คุณเจ็บและเสียเงินเปล่า อย่าซื้อโดยไม่หาข้อมูลสอบถามจากผู้ที่เคยใช้ แล้วพิจารณาให้ดีว่าแบบไหนเหมาะกับตัวเองมากที่สุด

ถ้าคิดว่าเครื่องปั๊มนมมีราคาแพง ให้เปรียบเทียบกับเงินที่คุณจะประหยัดได้จากการไม่ต้องซื้อนมผสม ขวดนมจำนวนมาก ที่นึ่งขวดนมและอุปกรณ์ต่างๆ รวมทั้งค่าใช้จ่าย ในการรักษาลูกที่ป่วยบ่อยจากการไม่ได้กินนมแม่

****มีคุณแม่หลายท่านฝึกการบีบด้วยมือจนชำนาญโดยไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องปั๊มนม สามารถขอคำปรึกษาได้ที่ คลีนิคนมแม่****



Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 14:00:22 น.
Counter : 2098 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]