All Blog
นมพอหรือไม่?

ลูกกินนมได้มากเพียงพอหรือเปล่า

คุณแม่ที่ให้ลูกกินนมตัวเองมักจะมีคำถามอยู่บ่อยๆ ว่า เราจะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมได้มากเพียงพอ เนื่องจากเต้านมของคนเราไม่ใช่ขวดนม เราจึงไม่สามารถยกเต้านมขึ้นส่องกับไฟเพื่อดูว่าลูกกินนมไปได้กี่ออนซ์ ประกอบกับสังคมของเราก็เป็นสังคมที่หมกมุ่นอยู่กับตัวเลข มันจึงเป็นเรื่องยากที่จะให้บรรดาคุณแม่ทำใจรับได้กับการไม่สามารถวัดหรือระบุได้อย่างแม่นยำว่าลูกกินนมไปเท่าไร อย่างไรก็ตามเรามีวิธีการหลายวิธีที่จะช่วยให้รู้ว่าลูกกินนมได้มากพอหรือเปล่า ในระยะยาวการเพิ่มน้ำหนักตัวเป็นสิ่งที่ชี้วัดได้ดีที่สุด แต่อย่าลืมว่าเกณฑ์การเพิ่มน้ำหนักตัวที่เหมาะสมสำหรับทารกที่กินนมผสมอาจจะไม่ใช่เกณฑ์ที่เหมาะสมสำหรับทารกที่กินนมแม่

วิธีที่จะช่วยให้รู้ว่าลูกกินนมได้มากพอ

1. การดูดนมของทารกมีลักษณะเฉพาะ เด็กทารกที่กินนมได้มากพอ จะมีการดูดนมจากอกแม่ในลักษณะพิเศษเฉพาะ ในขณะที่เด็กทารกกินนมได้ (ไม่ใช่ แค่เพราะเขามีเต้านมอยู่ในปากและทำท่าดูด) คุณจะต้องเห็นว่าหลังจากที่เขาอ้าปากและดูดนมได้ปริมาณมากพอ จะต้องมีการหยุดเคลื่อนไหวตรงปลายคางก่อนที่เขาจะปิดปาก ดังนั้นการดูดนม 1 ครั้ง คือ อ้าปากกว้าง --> หยุด --> ปิดปาก

ถ้าคุณต้องการจะสาธิตการดูดแบบนี้ด้วยตัวเอง ให้ลองเอานิ้วชี้ใส่ปากตัวเอง และดูดนิ้วเหมือนกับดูดน้ำจากหลอดกาแฟ ขณะที่คุณดูดเข้าไป คางของคุณจะลดต่ำลงและค้างอยู่ในตำแหน่งนั้นไปเรื่อยๆ เมื่อคุณหยุดดูด คางของคุณจะกลับมาที่ตำแหน่งเดิม ถ้าคุณสังเกตเห็นการหยุดเคลื่อนไหวแบบนี้ที่บริเวณคางของลูก นั่นหมายความว่า ลูกของคุณดูดนมได้จนเต็มปากของเขาในการดูดแต่ละครั้ง ยิ่งมีการหยุดเคลื่อนไหวนานเท่าไร ทารกก็ยิ่งดูดนมได้มากเท่านั้น

เมื่อคุณเข้าใจการดูดนมที่มีการหยุดเคลื่อนไหวของคางแบบที่ว่านี้แล้ว คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่ใจกับคำแนะนำไร้สาระต่างๆ ที่บอกต่อๆ กันมาเกี่ยวกับการให้ลูกกินนมแม่ เช่น ต้องให้ลูกดูดนมจากเต้านมข้างละ 20 นาที ทารกที่ดูดนมในลักษณะนี้ (มีการหยุดเคลื่อนไหวคาง) อย่างต่อเนื่องเป็นเวลา 20 นาที อาจจะไม่ยอมดูดนมอีกข้างหนึ่งเลยด้วยซ้ำ ในขณะที่เด็กทารกที่อมหรือตอดหัวนมอยู่ 20 ชั่วโมง (โดยไม่ได้กินนม) ก็จะยังรู้สึกหิวอยู่หลังจากแม่ให้นมเสร็จแล้ว เว็บไซต์ Dr.Jack (เลือกหัวข้อ Pause in chin) มีวิดีโอแสดงการหยุดเคลื่อนไหวคางของทารกในระหว่างดูดนม

2. อุจจาระของทารก ช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด ทารกจะถ่ายอุจจาระเป็นสีเขียวเข้มหรือเกือบดำที่เรียกว่ามีโคเนียม (meconium) ทารกจะสะสมมีโคเนียมไว้ในช่องท้องในระหว่างที่อยู่ในครรภ์แม่และจะถ่ายมันออกมาในช่วง 1-2 วันแรก เมื่อถึงวันที่ 3 อุจจาระควรจะสีอ่อนลง หลังจากที่เด็กได้กินนมแม่เพิ่มขึ้น ตามปกติเมื่อถึงวันที่ 5 อุจจาระควรจะมีลักษณะเหมือนอุจจาระที่เกิดจากนมแม่แล้ว อุจจาระจากนมแม่จะค่อนข้างเหลวจนถึงเป็นน้ำ สีเหลืองมัสตาร์ด และมักจะมีกลิ่นเล็กน้อย อย่างไรก็ตามลักษณะของอุจจาระอาจแตกต่างไปจากนี้มากก็ได้ มันอาจจะเป็นสีเขียวหรือสีส้ม อาจมีคราบน้ำนมหรือเมือกปนอยู่ด้วย หรืออาจจะเป็นฟองคล้ายครีมโกนหนวด (เนื่องจากฟองอากาศ) ความแตกต่างของสีสันไม่ได้แสดงว่ามีสิ่งผิดปกติ สำหรับทารกที่กินนมแม่เพียงอย่างเดียวและเริ่มถ่ายอุจจาระที่มีสีอ่อนลงในวันที่ 3 นั่นหมายความว่าเขามีอาการปกติดี

การสังเกตความถี่และปริมาณการถ่ายอุจจาระของลูก (โดยไม่หมกมุ่นหรือวิตกกังวลกับมันมากเกินไป) เป็นหนึ่งในวิธีการที่ดีที่สุดในการดูว่าลูกกินนมได้มากพอหรือเปล่า (รองจากการสังเกตวิธีการดูดนมที่กล่าวไปแล้วข้างต้น) หลังจากผ่านไป 3-4 วัน ทารกควรจะถ่ายอุจจาระบ่อยขึ้น และเมื่อถึงหนึ่งสัปดาห์เขาควรจะถ่ายอุจจาระอย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน โดยอุจจาระควรจะเป็นสีเหลือง ยิ่งไปกว่านั้นทารกส่วนใหญ่มักจะอุจจาระใส่ผ้าอ้อมทุกครั้งที่แม่ให้กินนม ถ้าหากลูกยังคงถ่ายออกมาเป็นมีโคเนียมในวันที่ 4 หรือ 5 คุณแม่ควรจะพาไปหาหมอภายในวันเดียวกัน ทารกที่ถ่ายอุจจาระออกมาเป็นสีน้ำตาลอย่างเดียว อาจจะหมายความว่าเขากินนมไม่ได้มากพอ แต่นี่ก็ไม่ใช่ตัวชี้วัดที่เชื่อถือสักเท่าไร

ทารกที่กินนมแม่บางคน หลังจากผ่านไปประมาณ 3-4 สัปดาห์ จู่ๆ อาจจะเปลี่ยนเวลาการถ่ายอุจจาระจากวันละหลายๆ ครั้ง ไปเป็น 1 ครั้งทุกๆ 3 วันหรือห่างกว่านั้น ทารกบางคนอาจจะยืดเวลาไปถึง 15 วันหรือมากกว่าโดยไม่มีการถ่ายอุจจาระเลย ตราบเท่าที่ทารกยังมีอาการอื่นๆ เป็นปกติดี และอุจจาระที่ถ่ายออกมายังคงเป็นสีเหลืองและมีลักษณะเหลวนุ่ม ก็ไม่ถือว่าเขามีอาการท้องผูกและไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด ไม่จำเป็นต้องพาลูกไปพบแพทย์เพื่อบำบัดรักษา เพราะไม่มีความจำเป็นต้องบำบัดรักษาอาการที่เป็นปกติดี
สำหรับทารกอายุตั้งแต่ 5-21 วันที่ไม่ได้ถ่ายอุจจาระปริมาณมากๆ อย่างน้อย 1 ครั้งใน 24 ชั่วโมง ควรถูกพาไปพบผู้เชี่ยวชาญที่คลินิกนมแม่ในวันเดียวกัน โดยทั่วไปการถ่ายอุจจาระปริมาณน้อยๆ และไม่บ่อย ในช่วงอายุเท่านี้จะเป็นการแสดงว่าทารกกินนมได้ไม่เพียงพอ แน่นอนว่ามีข้อยกเว้นสำหรับข้อสังเกตนี้ บางทีทารกก็อาจจะปกติดี แต่จะเป็นการดีกว่าถ้าเขาได้รับการตรวจเช็คจากผู้เชี่ยวชาญ

3. ปัสสาวะ หลังจากทารกอายุประมาณ 4-5 วัน ถ้าเขาฉี่จนผ้าอ้อมเปียกชุ่ม 6 ผืนใน 24 ชั่วโมง (เน้นว่าเปียกชุ่ม ไม่ใช่แค่เปียกๆ) คุณแม่สามารถจะแน่ใจได้ค่อนข้างมากว่าลูกกินนมได้มากเพียงพอ (ในกรณีที่ให้กินนมแม่เพียงอย่างเดียว) อย่างไรก็ตามผ้าอ้อมสมัยใหม่แบบใช้แล้วทิ้งที่โฆษณาว่าซูเปอร์ดรายมักจะให้สัมผัสที่ค่อนข้างแห้งถึงแม้ว่าจะกักเก็บปัสสาวะไว้จนเต็มแผ่น แต่ผ้าอ้อมที่เต็มไปด้วยปัสสาวะจะต้องหนัก แน่นอนว่าการสังเกตปริมาณปัสสาวะนี้ใช้ไม่ได้ในกรณีที่คุณแม่ให้ลูกกินน้ำเพิ่มเติมนอกเหนือจากการให้กินนมแม่ (ซึ่งการให้กินน้ำเพิ่มเติมไม่ใช่สิ่งจำเป็นสำหรับทารกที่กินนมแม่เลย ไม่ว่าในกรณีใดก็ตาม และยิ่งถ้าคุณแม่ให้ลูกกินน้ำโดยใช้ขวด มันก็อาจจะไปรบกวนหรือส่งผลกระทบกับการดูดนมแม่อีกด้วย) หลังจากผ่านไปสามสี่วัน ปัสสาวะของทารกควรจะจางลงจนแทบไม่มีสี แต่การมีปัสสาวะที่สีเข้มขึ้นเป็นครั้งคราวก็ไม่ใช่เรื่องต้องวิตกกังวลแต่อย่างใด

หลังจากมีอายุได้ 2-3 วัน ทารกบางคนอาจจะปัสสาวะเป็นสีชมพูหรือแดง นี่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องตื่นตระหนกและไม่ได้หมายความว่าทารกขาดน้ำ ยังไม่มีใครรู้สาเหตุว่าเกิดอะไรขึ้นหรือว่ากระทั่งว่ามันเป็นสิ่งผิดปกติหรือเปล่า แน่นอนว่ามันเกี่ยวข้องกับการกินนมปริมาณน้อยกว่าของเด็กกินนมแม่เปรียบเทียบกับเด็กที่กินนมผสม แต่เด็กที่กินนมผสมก็ไม่ใช่เกณฑ์มาตรฐานที่จะนำมาใช้ตัดสินเด็กที่กินนมแม่ อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดมีปัสสาวะที่มีสีเช่นนี้ขึ้น คุณแม่ควรจะใส่ใจกับการทำให้ลูกงับหัวนมได้ดีและทำให้เขาสามารถกินนมได้ในระหว่างที่ดูดนมจากเต้านม ช่วงวันแรกๆ ทารกต้องรู้จักที่จะงับหัวนมของแม่ได้ เขาจึงจะสามารถกินนมแม่ได้

การให้ทารกกินน้ำจากขวด, ถ้วย หรือจากปลายนิ้ว จะไม่ช่วยแก้ปัญหานี้ แต่จะแค่ช่วยให้ทารกออกจากโรงพยาบาลได้เพราะปัสสาวะของเขาไม่เป็นสีแดงแล้ว การแก้ไขวิธีการที่ทารกงับหัวนมและการบีบหน้าอก มักจะแก้ปัญหานี้ได้ (ดูแผ่นพับ B เรื่อง วิธีการเพิ่มปริมาณการกินนมแม่ให้กับทารก) แต่ถ้าหากว่าการแก้ไขวิธีการงับหัวนมและการบีบหน้าอกไม่ทำให้ทารกกินนมได้มากขึ้น ก็ยังมีวีธีอื่นๆ ที่จะทำได้ทารกได้รับของเหลวมากขึ้นโดยไม่ต้องใช้ขวดนม (ดูแผ่นพับที่ 5 เรื่องการใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมหรือ lactation aid) นอกจากนี้การจำกัดระยะเวลาหรือความถี่ในการให้นม ก็อาจเป็นสาเหตุที่ทารกกินนมได้น้อยลงด้วยเหมือนกัน

ข้อสังเกตเหล่านี้ไม่ใช่วิธีการที่ดีในการตัดสินว่าลูกกินนมได้มากพอหรือไม่

1. คุณแม่ไม่มีอาการคัดเต้านม เป็นเรื่องปกติสำหรับคุณแม่ส่วนใหญ่ที่จะไม่รู้สึกคัดเต้านมในระยะสองสามวันแรกหรือกระทั่งสัปดาห์แรกหลังคลอด ร่างกายของคุณแม่จะปรับตัวตามความต้องการของลูก การเปลี่ยนแปลงนี้อาจจะเกิดขึ้นอย่างค่อนข้างฉับพลัน คุณแม่ที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่บางคนสามารถให้นมลูกได้อย่างปกติดีไปตลอดโดยไม่เคยมีอาการคัดเต้านมเลย

2. ลูกนอนหลับได้ตลอดทั้งคืน อาจจะไม่ได้หมายความว่าทารกกินนมจนอิ่มพอเสมอไป ทารกอายุ 10 วันที่นอนหลับได้ตลอดทั้งคืน อาจจะไม่ได้รับนมมากเพียงพอ ทารกที่ง่วงนอนมากเกินไปจนต้องถูกปลุกให้ตื่นขึ้นมากินนม หรือทารกที่ “เลี้ยงง่าย” ไม่ร้องงอแงเลย ก็อาจจะไม่ได้รับนมมากเพียงพอ แน่นอนว่าอาจจะมีข้อยกเว้นในเรื่องนี้ แต่คุณแม่น่าจะขอคำแนะนำจากแพทย์โดยเร็ว

3. ลูกร้องไห้งอแงหลังจากให้นมเสร็จแล้ว แม้ว่าทารกอาจจะร้องไห้หลังจากกินนมเพราะยังไม่อิ่ม แต่ก็อาจจะมีสาเหตุอื่นที่ทำให้ทารกร้องไห้งอแงด้วย (เช่น อาการโคลิก ดูแผ่นพับที่ 2 เรื่องอาการโคลิกในทารกที่กินนมแม่) อย่าจำกัดระยะเวลาในการให้นม ควรให้ลูกกินนม “ให้หมด” ข้างแรกก่อน แล้วจึงเปลี่ยนให้เขาไปกินอีกข้างหนึ่ง

4. ลูกกินนมบ่อย หรือ กินนมเป็นระยะเวลานาน สำหรับคุณแม่คนหนึ่ง การให้ลูกกินนมทุกๆ 3 ชั่วโมงอาจจะเรียกว่าบ่อย แต่สำหรับคุณแม่อีกคนหนึ่งการให้นมทุก 3 ชั่วโมงอาจจะห่างเกินไป สำหรับคุณแม่คนหนึ่งการให้ลูกกินนมนาน 30 นาทีอาจจะถือว่านาน แต่กับคุณแม่อีกคนหนึ่งอาจจะถือว่าไม่นาน ไม่มีกฎเกณฑ์ตายตัวว่าควรจะให้นมลูกนานเท่าไรหรือบ่อยแค่ไหน มันไม่เป็นความจริงที่ว่าทารกจะกินนม 90% ของปริมาณที่กินได้ในแต่ละครั้งในช่วง 10 นาทีแรก ปล่อยให้ลูกเป็นคนกำหนดตารางการกินนมของเขาเอง ถ้าทารกสามารถดูดและกินนมจากเต้านมได้ และถ่ายอุจจาระเป็นสีเหลืองปริมาณมากๆ อย่างน้อย 2-3 ครั้งต่อวัน ก็แสดงว่าทุกสิ่งทุกอย่างราบรื่นดี อย่าลืมว่าคุณอาจจะให้นมลูกนาน 2 ชั่วโมง แต่ถ้าเขาได้กินนมหรือดูดนม (โดยมีการ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”) จริงๆ เพียงแค่ 2 นาที เขาก็จะยังรู้สึกหิวอยู่ดี ถ้าทารกผล็อยหลับไปอย่างรวดเร็วในระหว่างให้นม คุณแม่สามารถบีบหน้าอกเพื่อช่วยให้น้ำนมไหลอย่างต่อเนื่องได้ (ดูแผ่นพับ 15 เรื่องการบีบหน้าอก) ถ้าคุณแม่ยังมีความวิตกกังวล ก็อาจขอคำปรึกษาจากคลีนิกนมแม่ได้ แต่ยังไม่ควรเริ่มให้นมเสริมในทันที ถ้าหากว่าการให้นมเสริมเป็นสิ่งที่จำเป็นจริงๆ ก็ยังมีการให้อาหารเสริมวิธีอื่นๆ โดยไม่จำเป็นต้องใช้จุกนมยาง (ดูแผ่นพับที่ 5 เรื่องเรื่องการใช้อุปกรณ์เสริมการให้นมหรือ lactation aid)

5. “ฉันปั๊มนมได้แค่ครึ่งออนซ์” เรื่องนี้ไม่มีความหมายอะไรเลย และมันไม่ควรจะส่งผลกระทบอะไรกับคุณด้วย ดังนั้นคุณแม่ไม่ควรจะปั๊มนมเพียงเพราะต้องการจะรู้ว่าจะได้น้ำนมปริมาณเท่าไร คุณแม่ส่วนใหญ่มีน้ำนมมากมายเพียงพอ แต่ปัญหามักเกิดจากการที่ทารกไม่สามารถกินนมที่คุณแม่มีอยู่ได้ต่างหาก ซึ่งอาจเกิดจากเขาไม่สามารถงับหัวนมได้อย่างถูกต้อง หรือเขาไม่สามารถดูดนมได้อย่างมีประสิทธิภาพ หรือ ทั้งสองอย่าง ปัญหาเหล่านี้มักจะแก้ไขได้อย่างง่ายดาย

6. ทารกยังจะกินนมขวดต่อหลังจากกินนมแม่แล้ว ก็ไม่ได้หมายความว่าเขายังหิวอยู่เสมอไป และไม่ใช่วิธีการทดสอบที่ดีด้วย เนื่องจากการให้กินนมขวดอาจจะไปรบกวนการกินนมจากอกแม่

7. จู่ๆ ทารกวัย 5 สัปดาห์ก็ดึงตัวเองออกจากเต้านมแม่ แต่ก็ยังมีทีท่าว่าหิวอยู่ นี่ไม่ได้หมายความว่า น้ำนมของคุณแม่กำลังจะแห้ง หรือมีปริมาณลดลงแต่อย่างใด ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ระหว่างที่คุณแม่ให้นม ทารกมักจะผล็อยหลับไปเวลาที่น้ำนมไหลช้าลงถึงแม้ว่าเขาจะยังกินไม่อิ่ม แต่เมื่อเขาโตขึ้น (ประมาณ 4-6 สัปดาห์) เขาจะไม่ผล็อยหลับในระหว่างกินนมเหมือนเดิมแล้ว แต่จะดึงตัวเองออกจากเต้านมหรือแสดงอาการหงุดหงิดแทน ปริมาณน้ำนมของคุณแม่ไม่ได้เปลี่ยนแปลง แต่พฤติกรรมของลูกต่างหากที่เปลี่ยน คุณแม่สามารถแก้ไขปัญหานี้ได้โดยการบีบหน้าอกเพื่อช่วยเพิ่มการไหลของน้ำนม (ดูแผ่นพับที่ 15 เรื่องการบีบหน้าอก)

หมายเหตุเกี่ยวกับตาชั่งและน้ำหนัก

1. ตาชั่งแต่ละเครื่องมีความแตกต่างกัน เรามีหลักฐานมากมายที่แสดงว่าตาชั่งแต่ละเครื่องแตกต่างกันอย่างมาก บ่อยครั้งที่มีการจดน้ำหนักผิดพลาดคลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริง นอกจากนี้ผ้าอ้อมที่เปียกชุ่มอาจจะหนัก 250 กรัม (หรือ 1/2 ปอนด์) หรือมากกว่า ดังนั้นควรชั่งน้ำหนักทารกโดยไม่ใส่ผ้าอ้อม หรือเปลี่ยนผ้าอ้อมผืนใหม่ก่อนชั่งน้ำหนัก

2. กฎเกณฑ์เกี่ยวกับการเพิ่มน้ำหนักตัวส่วนใหญ่นำมาจากการสังเกตการเจริญเติบโตของเด็กที่กินนมผสม กฎเกณฑ์เหล่านี้อาจจะใช้ไม่ได้ในเด็กที่กินนมแม่ แม้ว่าทารกที่กินนมแม่จะมีการเพิ่มน้ำหนักอย่างช้าๆ ในช่วงแรก แต่เราสามารถชดเชยในภายหลังได้ โดยการแก้ไขวิธีการให้ลูกกินนมแม่ให้ถูกต้องขึ้น ตารางแสดงพัฒนาการของการเจริญเติบโตควรใช้เป็นเพื่อเป็นแนวทางเท่านั้น


แผ่นพับที่ 4 - ลูกกินนมได้มากเพียงพอหรือเปล่า (สิงหาคม 2549)
แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์

จาก Handout #4.Is My Baby Getting Enough? Revised January 2005
Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005

แผ่นพับนี้สามารถคัดลอกและนำไปแจกจ่ายได้โดยไม่จำเป็นต้องขออนุญาตจากผู้เขียน/ผู้แปล

บทความนี้แปลโดยคุณนิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์ ซึ่งสละเวลาส่วนตัวทำให้โดยมิได้รับค่าตอบแทนใดๆ หากคุณผู้อ่านทุกท่านอ่านบทความนี้แล้วรู้สึกว่าได้ประโยชน์ ขอความกรุณาส่งคำขอบคุณสั้นๆ ให้ผู้แปลบ้าง เราเชื่อว่าน่าจะเป็นการตอบแทนซึ่งทำให้ผู้รับอิ่มใจไม่น้อยค่ะ















Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:32:32 น.
Counter : 456 Pageviews.

0 comment
นมแม่ ทำไมต้อง 6 เดือน

จากการที่องค์การอนามัยโลก ได้แนะนำให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนเต็ม จากเดิม 4 เดือน ทำให้คุณแม่หลายท่านอาจมีข้อกังขาว่า ระยะที่ลูกได้กินนมแม่อย่างเดียวในทั้งสองช่วงเวลามีความแตกต่างกันอย่างไรนั้น พญ.ศิราภรณ์ สวัสดิวร ศูนย์นมแม่แห่งประเทศไทย สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ได้ให้คำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายค่ะ
หากย้อนกลับไปดูที่องค์กรอนามัยโลกประกาศ คำแนะนำเกี่ยวกับการให้ลูกได้กินนมแม่ คือ
พ.ศ. 2522 แนะนำให้ลูกได้กินนมแม่ 4-6 เดือน ยังไม่มีการยืนยันระยะเวลาที่แน่นอน แต่คนส่วนใหญ่จะให้เพียง 4 เดือนเท่านั้น รวมทั้งประเทศไทยก็แนะนำให้กินนมแม่อย่างเดียวเพียง 4 เดือนแรก
พ.ศ. 2543 องค์การยูนิเซฟให้คำแนะนำว่า ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวประมาณ 6 เดือน
พ.ศ. 2544 องค์การอนามัยโลก รวมทั้งสมาคมกุมารแพทย์สหรัฐอเมริกา ได้ให้คำแนะนำทั่วโลกว่า ควรให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวนานถึง 6 เดือนเต็ม

และกว่าที่องค์การอนามัยโลกจะออกมาประกาศเปลี่ยนคำแนะนำให้ชัดเจน ก็ใช้เวลานานกว่า 20 ปีทีเดียวค่ะ เพราะต้องรวบรวมและทบทวนรายงานการศึกษาจากทั่วโลก และคัดกรองการศึกษาดังกล่าวแล้วจนมั่นใจ จึงให้คำแนะนำดังกล่าวออกมา
สำหรับประเทศไทยเริ่มใช้เมื่อ พ.ศ. 2546 ซึ่งตอนที่องค์การอนามัยโลกประกาศมาครั้งแรก หลายคนตกใจและรับไม่ได้ แต่หลังจากศึกษาก็พบว่าดีกับเด็กและแม่จริงๆ ค่ะ
6 เดือนแรก ทำไมต้อง “นมแม่” อย่างเดียว
เพราะในช่วง 6 เดือนแรก เป็นระยะสำคัญในการสร้างรากฐานการเจริญเติบโตของสมองลูก และร่างกายของลูกเองก็ยังมีข้อจำกัด คือ
• ความจุของกระเพาะอาหารน้อย
• ระบบภูมิคุ้มกันยังไม่แข็งแรง
• ระบบการย่อยและการดูดซึมยังพัฒนาไม่เต็มที่
• สมรรถภาพตับ ไต ยังไม่แข็งแรงพอในการรับอาหารอื่น
• หากได้รับอาหารอื่น อาหารเหล่านั้นจะไปแย่งพื้นที่ในกระเพาะเล็กๆ ของลูก ทำให้ได้รับนมแม่น้อยลง
• การเคี้ยว กลืนยังพัฒนาไม่เต็มที่ เพราะฟันยังไม่ขึ้น

นอกจากนั้นเมื่อคุณแม่ให้อาหารอื่นแก่ลูกในระยะนี้ จะเหมือนการนำสิ่งของแปลกปลอมผ่านเข้าไปในร่างกายลูก ซึ่งก่อให้เกิดการติดเชื้อ เช่น โรคท้องเสีย และการแพ้ เช่น แพ้โปรตีนนมวัว
6 เดือน ดีกว่า 4 เดือนอย่างไร
หากคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนเต็ม จะมีผลดีกับลูกและแม่มากกว่าให้กินแค่ 4 เดือน ดังนี้
1. ลูกได้อาหารไปเลี้ยงสมองที่เหมาะสมและนานขึ้น เพราะถ้าเทียบระหว่างนมแม่ ข้าว และกล้วย นมแม่จะมีคุณภาพดีกว่า
2. ลูกจะมีอาการท้องเสีย และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจน้อยกว่า มีข้อมูลเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนมีโอกาสท้องเสียและปอดบวมน้อยกว่าประมาณ 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้นมแม่อย่างเดียว
3. ช่วยทำให้คุณแม่ไม่ขาดธาตุเหล็กเพราะมีระยะปลอดประจำเดือนนานขึ้น แต่ก็มีคุณแม่หลายท่านกังวลว่า ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจะทำให้ลูกขาดธาตุเหล็กหรือไม่ จากการศึกษาพบว่าหากคุณแม่มีสุขภาพดี น้ำนมแม่ก็มีธาตุเหล็กที่เพียงพอ โดยร่างกายของลูกจะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่ได้ถึง 50% แต่ถ้ากินอาหารเสริม เช่น ข้าวและกล้วยด้วย จะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กในนมแม่ลดลงเหลือ 10% เท่านั้น
4. ทำให้คุณแม่มีน้ำหนักลดลงหลังคลอดได้เร็วกว่า
5. ในขณะที่ลูกกินนมแม่จะได้รับอ้อมกอดคุณภาพวันละ 8-10 ครั้ง ลูกน้อยจะได้ยิน ได้กลิ่น ได้รับรู้รส ได้รู้การเคลื่อนไหวช่วยกระตุ้นโครงข่ายเส้นใยประสาท ถ้าไม่มีสัมผัสคุณภาพสมองจะเสียการโยงใยระหว่างเซลล์สมองต่อกัน และฝ่อไป
6. เด็กที่กินแม่ป่วยน้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม 2-7 เท่า ทำให้เด็กพัฒนาการและการเติบโตได้ดี โดยพบว่าเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีกราฟการเติบโตเต็มที่และอยู่ในเกณฑ์ปกติ

น้ำนมแม่จะพอให้ลูกกินถึง 6 เดือนหรือไม่
จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ. 2518 พบว่าปริมาณน้ำนมของแม่ไทยน้อยกว่า เมื่อเทียบกับรายงานของแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นผลมาจากแม่ไทยระยะนั้น ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว คือให้อาหารอื่นร่วมด้วยย่อมมีผลให้การสร้างน้ำนมน้อยลง
ซึ่งจากข้อมูลต่างประเทศพบว่า ในระยะ 6 เดือนแรกถ้าให้นมแม่อย่างถูกต้อง คือ ให้ลูกได้แต่นมแม่อย่างเดียวจริงๆ แม่จะสร้างน้ำนมปริมาณมาก เพียงพอสำหรับลูกถึงอายุ 6 เดือน โดยพบว่าสามารถสร้างได้ถึงประมาณ 800-850 ซีซี ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้วและประเทศที่กำลังพัฒนา
ดังนั้นหากคุณแม่จัดอาหารอื่นให้ลูกกินด้วย เขาก็จะดูดนมน้อยลง ซึ่งจะทำให้น้ำนมของคุณแม่น้อยลงด้วยเช่นกันค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ให้ลูกกินนมอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ ระบบการสร้างน้ำนมก็จะยังทำงานอยู่ และคุณแม่ก็จะมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกตลอด 6 เดือนแน่นอนค่ะ
ได้ทราบความแตกต่างและข้อดีที่ลูกได้กินนมแม่นาน 6 เดือนไปแล้ว ก็ต้องกลับมาเพิ่มกำลังใจให้ตัวเอง และให้กำลังใจไปยังบรรดาคุณแม่ที่ให้นมลูกอย่างเดียวไปถึง 6 เดือนให้ได้ค่ะ
กินนมแม่ IQ ดี
• เด็กที่กินนมแม่ จะมีสมองที่ไวสามารถเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว จะมีพัฒนาการทางสมองดีกว่าทารกที่กินนมผสม แตกต่างกันตั้งแต่ 2-10 จุด
• ผลจากการติดตามเด็กตั้งแต่แรกเกิดจนถึงอายุ 5 ปี จำนวน 3,880 คน พบว่าเด็กที่กินนมแม่นาน 6 เดือน มีระดับพัฒนาการดีกว่าเด็กที่ไม่ได้กินนมแม่เลย 5.8-8.2 จุด
• ผลจากการติดตามพัฒนาการของเด็กน้ำหนักตัวน้อยตั้งแต่แรกเกิด จำนวน 220 คน เด็กที่กินนมแม่นาน 6 เดือน เมื่ออายุ 5 ปี จะมี IQ เบื้องต้นดีกว่าเด็กที่ได้กินนมแม่เพียง 3 เดือนถึง 11 จุด
• ผลจากการติดตามเด็กประมาณ 3,000 คน ที่เกิดเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้ว พบว่ากลุ่มที่มีประวัติกินนมแม่นานกว่า 9 เดือน มีระดับเชาว์ปัญญาเฉลี่ย 104 จุด ถ้ากินนมแม่น้อยกว่า 1 เดือนอยู่ที่ 99.4 จุด

(update 18 สิงหาคม 2006)
[ ที่มา..นิตยสารรักลูก ปีที่ 24 ฉบับที่ 281 มิถุนายน 2549 ]


"นมแม่" อย่างเดียว !! ทำไมต้อง 6 เดือน ???(ภาค2) [ พิมพ์ ]

เมื่อคราวที่แล้วคอลัมภ์ ทำไม๊ ทำไม!! ต้องนมแม่อย่างเด๊ว 6 เดือน ได้นำข้อมูลขององค์กร และภาคีในการรณรงค์ส่งเสริมการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ รวมทั้งข้อจำกัดที่สำคัญของร่างกายลูกในระยะ 6 เดือนแรก มาบอกกล่าวในภาค 1 คราวนี้เลยขอถือโอกาสมาเล่าต่อในภาค 2 ว่า "นมแม่" อย่างเดียว !! ทำไมต้อง 6 เดือน ???
6 เดือน ดีกว่า 4 เดือนอย่างไร
หากคุณแม่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียวนาน 6 เดือนเต็ม จะมีผลดีกับลูกและแม่มากกว่าให้กินแค่ 4 เดือน ดังนี้
1. ลูกได้อาหารไปเลี้ยงสมองที่เหมาะสมและนานขึ้น เพราะถ้าเทียบระหว่างนมแม่ ข้าวและกล้วย นมแม่จะมีคุณภาพดีกว่า
2. ลูกจะมีอาการท้องเสีย และมีการติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจน้อยกว่า มีข้อมูล เด็กที่กินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน มีโอกาสท้องเสียและปอดบวม น้อยกว่า เด็กที่ได้นมแม่อย่างเดียว 4 เดือน ประมาณ 2-3 เท่า เมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ได้นมแม่อย่างเดียว ที่ รพ. สวรรค์ประชารักษ์ ศึกษาพบว่า แม้ให้นมแม่อย่างเดียวเพียง 4 เดือน ทารกมีท้องเสียเพียง 1% แต่ถ้ากินข้าวหรือนมผสมด้วย ท้องจะเสียเพิ่มขึ้นเป็น 15% การให้กินนมแม่อย่างเดียวนานถึง 6 เดือน ก็เหมือนเป็นการเลื่อนโอกาสเกิดท้องเสียออกไป
3. ทำให้คุณแม่ไม่ขาดธาตุเหล็ก เพราะมีระยะปลอดประจำเดือนนานขึ้น แต่ก็มีคุณแม่หลายท่านกังวลว่า ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนจะทำให้ลูกขาดธาตุเหล็กหรือไม่ จากการศึกษาพบว่าหากคุณแม่มีสุขภาพดี น้ำนมแม่ก็จะมีธาตุเหล็กที่เพียงพอ โดยร่างกายของลูกจะสามารถดูดซึมธาตุเหล็กจากน้ำนมแม่ได้ถึง 50% แต่ถ้ากินอาหารเสริม เช่น ข้าวและกล้วยด้วย จะทำให้การดูดซึมธาตุเหล็กในนมแม่ลดลงเหลือเพียง 10% เท่านั้น
4. ทำให้คุณแม่มีน้ำหนักลดลงหลังคลอดได้เร็วกว่า
5. ในขณะที่ลูกกินนมแม่ จะได้รับอ้อมกอดคุณภาพวันละ 8-10 ครั้ง ลูกน้อยจะได้เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น ได้รับรส ได้รู้การเคลื่อนไหว ช่วยกระตุ้นโครงข่ายเส้นใยประสาท เชื่อมต่อระหว่างเซลล์สมอง ถ้าไม่มีสัมผัสคุณภาพสมองจะเสียการโยงใยระหว่างเซลล์สมองต่อกัน และฝ่อไปอย่างน่าเสียดาย
6. เด็กที่กินนมแม่ป่วยด้วยโรคทั่วไป น้อยกว่าเด็กที่กินนมผสม 2 ถึง 7 เท่า ทำให้เด็กมีพัฒนาการและการเจริญเติบโตได้ดี โดยพบว่าเด็กที่กินนมแม่อย่างเดียวอย่างเต็มที่ นาน 6 เดือน มีกราฟการเจริญเติบโตเต็มที่และอยู่ในเกณฑ์ปกติค่ะ

น้ำนมแม่จะพอให้ลูกกินถึง 6 เดือนหรือไม่
จากการศึกษาเมื่อปี พ.ศ.2518 พบว่าปริมาณน้ำนมของแม่ไทยมีน้อยกว่า เมื่อเทียบกับรายงานของแม่ที่ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว 6 เดือนของต่างประเทศ ซึ่งน่าจะเป็นผลจาก แม่ไทยระยะนั้น ไม่ได้ให้ลูกกินนมแม่อย่างเดียว คือให้อาหารอื่นร่วมด้วย ย่อมมีผลให้การสร้างน้ำนมของแม่น้อยลง
ซึ่งจากข้อมูลของต่างประเทศพบว่า ในระยะ 6 เดือนแรกถ้าให้นมแม่อย่างถูกต้อง คือให้ลูกได้แต่นมแม่อย่างเดียวจริงๆ แม่จะสร้างน้ำนมปริมาณมาก เพียงพอสำหรับลูกถึงอายุ 6 เดือน โดยพบว่าสามารถสร้างได้ถึง ประมาณ 800-850 ซีซี ทั้งในประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศที่กำลังพัฒนา

ดังนั้นหากคุณแม่จัดอาหารอื่นให้ลูกกินด้วย เขาก็จะดูดนมน้อยลง ซึ่งจะทำให้น้ำนมของคุณแม่น้อยลงด้วยเช่นกันค่ะ แต่ถ้าคุณแม่ให้ลูกกินนมอย่างเต็มที่และสม่ำเสมอ ระบบการสร้างน้ำนมก็จะยังทำงานอยู่ และคุณแม่ก็จะมีน้ำนมเพียงพอต่อความต้องการของลูกตลอด 6 เดือนแน่นอนค่ะ

ก็มีข้อยกเว้นเหมือนกันนะคะ ถ้าคุณแม่ให้นมแม่แก่ลูกอย่างเดียว สังเกตว่าลูกเติบโตไม่ดีเท่าที่ควร ที่เป็นผลจากน้ำนมแม่ไม่พอ มีเหมือนกันค่ะ ที่ทำอย่างไร อย่างไร น้ำนมแม่ก็ไม่พอ กรณีพิเศษแบบนี้ ขอให้ปรึกษาแพทย์ พยาบาลคลินิกนมแม่ใกล้บ้านก่อนนะคะ อย่าเพิ่งรีบร้อนให้นมผสม หรืออาหารอื่นไปก่อน
________________________________________

________________________________________
ได้ทราบความแตกต่างและข้อดีของการที่ลูกได้กินนมแม่แล้ว ลองมาช่วยกันดูนะคะว่าลูกเราได้รับนมแม่อย่างถูกต้องหรือเปล่า คือในระยะ 6 เดือนแรกให้นมแม่อย่างเดียว หลังจากนั้นจึงเริ่มให้อาหารอื่น ควบคู่กับนมแม่ จนลุกอายุ 1-2 ปี ไม่ได้หยุดให้นมแม่แค่ 6 เดือนแรกนะคะ





Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:32:01 น.
Counter : 556 Pageviews.

0 comment
นมแม่ คืออาหารธรรมชาติ
คำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ปัญหาที่พบบ่อยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
นมแม่เป็นอาหารธรรมชาติที่มีสารอาหารครบถ้วนเหมาะต่อการย่อยและการดูดซึมของร่างกายของลูก ทำให้การเจริญเติบโต
และพัฒนาการของลูกสมบูรณ์ ทั้งยังอุดมไปด้วยภูมิคุ้มกันโรค การที่แม่ให้ลูกดูดนมแม่เองลูกจะมีความสุขในการดูดนม ซึ่งเป็น
ความสุขที่ลูกต้องการตามธรรมชาติ ลูกจะดูดนมได้นานเท่าที่ลูกพอใจ และในระหว่างนี้เองสายใยผูกพันระหว่างแม่กับลูกเริ่มแน่นแฟ้นขึ้น การให้นมแม่แก่ลูกจึงมีผลดีทั้งต่อร่างกายและจิตใจของลูก
คำแนะนำในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
1. ควรให้ลูกดูดนมแม่ภายหลังคลอดให้เร็วที่สุด เพื่อกระตุ้นให้ร่างกายของแม่ผลิตนมได้มากเพียงพอ
2. ควรรักษาความสะอาดบริเวณหัวนมก่อนให้นมลูกทุกครั้ง โดยใช้สำลีชุบน้ำต้มเช็ดก่อนให้ลูกดุดนม เมื่อให้นมเสร็จแล้วเช็ดด้วยสำลีอีกครั้ง
3. ท่าที่ลูกจะดูดนมได้อย่างถูกต้องคือ ให้หัวนมแม่อยู่ที่แก้มใกล้มุมปากลูก โดยธรรมชาติเด็กจะหันปากไปมาจนพบหัวนมและอ้าปากพร้อมจะดูดทันที ไม่ควรจับศรีษะลูกและพยายามดันหัวนมเข้าปากทันที เพราะลูกอาจจะปฏิเสธการดูดนมได้
4. ควรให้ลูกอมหัวนมถึงส่วนคล้ำรอบหัวนมให้มากที่สุด ถ้าลูกอมตื้นเหงืองเด็กจะกดลงบนหัวนมแม่ทำให้หัวนมแม่เจ็บอาจทำให้เกิดแผลได้
5. ควรอุ้มลูกให้เรอทุกครั้งหลังการให้นม เพื่อระบายลมออกจากท้อง
ปัญหาที่พบบ่อยในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
ปัญหาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่มักเกิดจาก 2 ปัจจัยคือหัวนมหรือเต้านมแม่มีปัญหากับลักษณะลูกเจ้าปัญหาปัญหาที่เกิดจากแม่คือหัวนมตันเกิดจากมีก้อนไขมันเล็กๆอุดอยู่ทำให้น้ำนมไหลไม่สะดวกวิธีแก้ไขคือให้คุณแม่เอาสำลีชุบน้ำอุ่นๆเช็ดบริเวณหัวนมปัญหาอีกอย่างคือหัวนมบอดทำให้ลูกดูดนมไม่ได้ วิธีแก้ไขคือต้องเตรียมตัวตั้งแต่เวลาตั้งครรภ์ พยายามบีบหัวนมและดึงหัวนมทุกๆวันเวลาอาบน้ำลักษณะลูกเจ้าปัญหา เช่น หลับเก่งเมื่อดุดนมไปได้ 5 นาทีก็หลับแล้ว เด็กบางรายโมโหง่ายเวลาดูดนมเพราะน้ำนมไม่พอ ดูดไม่ออก จะร้องไห้คุณแม่ต้องใจเย็นๆอย่าคะยั้นคะยอหรือจับหัวลูกให้ดูดนมต่อ เพราะ ลูกอาจะปฏิเสธการดูดนมแม่ โตขึ้นเป็นเด็กกินยาก




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:31:23 น.
Counter : 453 Pageviews.

0 comment
"นมแม่" ถ้าเข้าใจ ยังไงก็พอ

เริ่มจากเราต้องเข้าใจกระบวนการผลิตน้ำนมกันก่อนว่ามันทำงานอย่างไร

Lactogenesis I & II น้ำนมแม่ ที่ผลิตจากการทำงานของฮอร์โมน

กระบวนการผลิตน้ำนมของร่างกายนั้น จะแบ่งเป็นสามช่วง เริ่ม ตั้งแต่ตอนตั้งครรภ์ได้สัก 16-22 สัปดาห์ ร่างกายจะเริ่มผลิต Colostrum หรือหัวน้ำนม ในปริมาณน้อยนิด ช่วงนี้เรียกว่า Lactogenesis I ต่อจากนั้นเมื่อคลอดได้ 30-40 ชม. ฮอร์โมนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องก็จะเริ่มทำงานกระตุ้นให้มีการสร้างน้ำนมในปริมาณที่เพิ่มขึ้น แต่ส่วนใหญ่แล้วคุณแม่ทั้งหลายจะเริ่มรู้สึกว่านม มาแล้ว หลังจากที่คลอดได้ประมาณ 50-73 ชม. (2-3 วันหลังคลอด) ช่วงที่สองนี้เรียกว่า Lactogenesis II ค่ะ

ทั้งสองช่วงแรกนี้ กระบวนการผลิตน้ำนมเกิดจากการทำงานของฮอร์โมน ไม่ว่าแม่จะให้ลูกดูดนมหรือไม่ก็ตาม ร่างกายก็จะทำการผลิตน้ำนมโดยธรรมชาติ



Lactogenesis III ถ้าไม่ให้ลูกดูด น้ำนมก็ไม่มี

ช่วงที่สามนี้เป็นช่วงที่สำคัญมาก เพราะการผลิตน้ำนมของคุณแม่จะไม่ได้ถูกควบคุมด้วยฮอร์โมนล้วนๆ อีกต่อไป น้ำนมแม่จะผลิตอย่างต่อเนื่องก็ต่อเมื่อมีการนำน้ำนมออกจากร่างกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะด้วยการดูดของลูก การบีบด้วยมือ หรือการปั๊มด้วยเครื่อง

ดังนั้นภายในสัปดาห์แรกหลังคลอด จึงเป็นช่วงเวลาที่สำคัญที่สุดที่จะช่วยให้การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ประสบความสำเร็จอย่างง่ายดาย หรือยากลำบาก ถ้าคุณแม่สามารถนำน้ำนมออกจากร่างกายได้มากเท่าใดในช่วงนี้ ก็จะยิ่งช่วยให้การผลิตน้ำนมมากขึ้นเท่านั้น ในทางกลับกันการให้นมผสมในช่วงสัปดาห์แรกนี้ เป็นการแทรกแซงกลไกของธรรมชาติ ที่เป็นการซ้ำเติมให้การผลิตน้ำนมของแม่ช้าลง

คุณแม่จำนวนมากได้รับความรู้ผิดๆ จากบุคลากรในโรงพยาบาลว่า น้ำนมน้อย ต้องเสริมนมผสมให้ลูกก่อน รอให้น้ำนมมาก่อน แล้วค่อยให้นมแม่ ซึ่งการทำเช่นนั้นยิ่งทำให้น้ำนมแม่มาช้ากว่าเดิม วิธีที่จะเร่งให้น้ำนมมาเร็วๆ คือ ต้องพยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้มากที่สุด ด้วยการให้ลูกดูดอย่างถูกวิธีบ่อยๆ ซึ่งในช่วงสองสามวันแรกนั้น ลูกจะหลับเป็นส่วนใหญ่ และดูดยังไม่ค่อยเก่ง แม่ก็อ่อนเพลียจากการคลอด การใช้มือบีบหรือเครื่องปั๊มคุณภาพดีจะช่วยให้สามารถนำน้ำนมออกมาจากร่างกายได้มากขึ้นกว่าการรอให้ลูกดูดอย่างเดียว และจะช่วยให้การผลิตน้ำนมเร็วและมากขึ้น

แต่การบีบหรือปั๊มในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ นี้ก็มีข้อควรระวังคือ ร่างกายที่ผ่านการคลอดมาใหม่ๆ นั้น มักจะอ่อนเพลียและ sensitive การบีบหรือปั๊ม หรือแม้แต่ลูกดูด ก็จะทำให้คุณแม่รู้สึกเจ็บมากๆ ได้ จนทำให้แม่หลายๆ ท่าน รู้สึกว่าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่นี้ช่างเจ็บปวด และทรมานเสียจริง ขอให้เข้าใจว่าความรู้สึกเจ็บปวดทรมานแบบนั้นจะคงอยู่ไม่นาน จะดีขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเวลาผ่านไป หลังจากนั้น ไม่ว่าลูกจะดูด ใช้มือบีบ หรือใช้เครื่องปั๊ม ก็จะไม่เจ็บอีกต่อไป ทั้งนี้ต้องอยู่บนเงื่อนไขที่ว่า ลูกดูดถูกวิธี บีบด้วยมืออย่างถูกวิธี หรือใช้เครื่องปั๊มนมคุณภาพดี




ในน้ำนมแม่ ประกอบด้วย โปรตีนเวย์ขนาดเล็ก ที่เรียกว่า Feedback Inhibitor of Lactation (FIL) เมื่อน้ำนมถูกผลิตสะสมจนเต็มเต้านม FIL จะมีมากและทำให้การผลิตน้ำนมเริ่มน้อยลงและช้าลง ในทางกลับกันเมื่อน้ำนมถูกนำออกไปจนเต้านมว่าง FIL จะน้อยลง กลไกการผลิตน้ำนมจะทำงานเร็วขึ้นและมากขึ้น

ฮอร์โมนโปรแล็คตินมีบทบาทสำคัญมากในกระบวนการผลิตน้ำนม กล่าวคือ ที่ผนังของเซลส์ผลิตน้ำนม (Lactocyte) นั้นจะมี ตัวรับฮอร์โมนโปรแล็คติน (Prolactin receptor sites) ซึ่งจะส่งผ่านโปรแล็คตินเข้าสู่กระแสเลือดไปยังเซลส์ผลิตน้ำนม และทำหน้าที่กระตุ้นการสร้างน้ำนม

เมื่อต่อมน้ำนมมีน้ำนมสะสมอยู่เต็ม ผนังของเซลส์ผลิตน้ำนมนี้จะขยายและทำให้ตัวรับฮอร์โมรโปรแล็คตินไม่สามารถส่งผ่านฮอร์โมนโปรแล็คตินได้ ซึ่งจะทำให้การผลิตน้ำนมลดลง เมื่อมีการนำน้ำนมที่สะสมมนี้ออกไป (โดยการดูด บีบ หรือปั๊ม) ตัวรับฮอร์โมนโปรแล็คตินก็จะกลับสู่สภาพเดิม ทำการส่งผ่านฮอร์โมนโปรแล็คตินได้ต่อไป กระบวนการผลิตน้ำนมก็กลับมาทำงานอีกครั้งหนึ่ง

ทฤษฎีการทำงานของตัวรับฮอร์โมนโปรแล็คตินนี้ ทำให้เรารู้ว่าเมื่อมีการนำน้ำนมออกจากร่างกายได้มากและบ่อยๆ ในช่วงสัปดาห์แรกๆ หลังคลอด จะช่วยเพิ่มปริมาณตัวรับฮอร์โมนโปรแล็คตินได้มากขึ้น และเมื่อมีตัวรับฮอร์โมนโปรแล็คตินมากขึ้น ก็หมายความว่าปริมาณโปรแล็คตินที่ผ่านเข้าสู่เซลส์ผลิตน้ำนมจะยิ่งมีมากขึ้น และทำให้สามารถผลิตน้ำนมได้มากขึ้นนั่นเอง

สรุปก็คือ



การผลิตน้ำนมในแต่ละวันเป็นอย่างไร

จากการวิจัยพบว่าปริมาณน้ำนมจะมีมากที่สุดในช่วงเช้า (เวลาดีที่สุดสำหรับการปั๊ม ถ้าต้องการทำสต็อค) และจะน้อยลงในช่วงบ่ายหรือเย็น ในขณะที่ปริมาณไขมันในน้ำนมกลับมีน้อยในช่วงแรก และมีมากขึ้นในช่วงหลังของวัน

ความสามารถในการเก็บน้ำนมของเต้านม

อีกปัจจัยหนึ่งซึ่งมีผลต่อการผลิตน้ำนม ก็คือ ความสามารถในการเก็บน้ำนมของเต้านมของแต่ละคน ความสามารถในการเก็บน้ำนมนี้ หมายถึงปริมาณน้ำนมที่เต้านมสามารถเก็บไว้ได้ในแต่ละมื้อ ซึ่งแม่แต่ละคนสามารถเก็บได้ไม่เท่ากัน และแต่ละข้างของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน

ความสามารถในการเก็บน้ำนมนี้ไม่ได้ถูกกำหนดด้วยขนาดของเต้านม แม้ว่าขนาดของเต้านมจะมีผลต่อปริมาณในการเก็บน้ำนมก็ตาม ไม่ว่าหน้าอกคุณแม่จะมีความสามารถในการเก็บน้ำนมได้มากหรือน้อย ก็สามารถผลิตน้ำนมได้มากมายเหลือเฟือสำหรับลูกของตัวเองเสมอ

แม่ที่สามารถเก็บน้ำนมได้มากในแต่ละมื้ออาจจะช่วยให้ระยะเวลาระหว่างมื้อนมของลูกแต่ละครั้งนานกว่าโดยที่ไม่มีผลต่อปริมาณการผลิตน้ำนมและความเจริญเติบโตของลูก ส่วนแม่ที่เก็บน้ำนมได้น้อย อาจจะต้องให้นมลูกในจำนวนครั้งที่ถี่กว่า เพื่อตอบสนองต่อความต้องการของลูก และสามารถคงปริมาณการผลิตน้ำนมไว้ได้ เนื่องจากหน้าอกจะเต็มเร็ว (เมื่อหน้าอกเต็ม ก็จะทำให้การผลิตน้ำนมช้าลง)

***ลองเปรียบเทียบความสามารถในการเก็บน้ำนมของเต้านมนี้กับขนาดของแก้วน้ำ เราจะดื่มน้ำในปริมาณมากๆ ด้วยแก้วน้ำขนาดใดก็ได้ เล็ก กลาง ใหญ่ แต่ถ้าเป็นแก้วขนาดเล็ก เราก็ต้องเติมบ่อยกว่า

หากต้องการเพิ่มปริมาณน้ำนม ต้องทำอย่างไร

น้ำนมจะถูกผลิตอยู่ตลอดเวลา ด้วยความเร็วที่ขึ้นอยู่กับว่าเต้านมนั้นว่างหรือเต็ม น้ำนมที่ถูกผลิตจะสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในช่วงเวลาระหว่างมื้อนมที่ให้ลูกดูดแต่ละครั้ง เมื่อน้ำนมสะสมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาที่เพิ่มขึ้นหลังจากที่ลูกดูดครั้งสุดท้าย เมื่อน้ำนมเริ่มเต็ม การผลิตน้ำนมก็จะช้าลง

ถ้าต้องการที่จะกระตุ้นให้ร่างกายผลิตน้ำนมเพิ่มขึ้นในแต่ละวัน สิ่งที่ต้องทำคือ พยายามนำน้ำนมออกจากร่างกายให้เร็วขึ้นและบ่อยขึ้น เพื่อให้มีน้ำนมสะสมในเต้าในระหว่างมื้อน้อยลง


นั่นก็หมายความว่า หากต้องการเพิ่มน้ำนม จะต้องทำให้เต้านมเกลี้ยงที่สุดเท่าที่จะทำได้ ตลอดทั้งวัน ด้วยวิธีต่อไปนี้

1. นำน้ำนมออกจากร่างกายให้บ่อยมากขึ้น (ด้วยการให้ลูกดูดบ่อยกว่าเดิม และ/หรือ เพิ่มการบีบหรือปั๊มในระหว่างมื้อที่ลูกดูด)
2. พยายามทำให้น้ำนมเกลี้ยงเต้ามากที่สุดเท่าที่จะทำได้ในการดูดหรือปั๊มแต่ละครั้ง


ทำอย่างไรให้เกลี้ยงเต้า

• ต้องให้ลูกดูดอย่างถูกวิธี (ดูดอย่างมีประสิทธิภาพ)
• ใช้การนวดเต้านมและบีบหน้าอกช่วย
• ให้ลูกดูดเต้านมทั้งสองข้างในแตะละมื้อ รอให้ลูกดูดข้างแรกนานจนพอใจ แล้วค่อยเปลี่ยนข้าง
• บีบหรือปั๊มนมออกอีก หลังจากลูกดูดเสร็จแล้วและรู้สึกว่าลูกยังดูดไม่หมด ถ้าลูกดูดได้เกลี้ยงเต้าดีแล้ว การบีบหรือปั๊มจะช่วยได้มากขึ้น ถ้าทำเพิ่มในระหว่างมื้อที่ลูกดูด (พยายามทำให้เต้าว่างให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้)

ถ้าน้ำนมมากไปจะทำอย่างไรดี

คุณแม่บางคนก็น้ำนมมากโดยธรรมชาติ บางคนก็กระตุ้นมากไปจนมากเกิน หากต้องการลดปริมาณการผลิตน้ำนมโดยไม่ให้มีผลกระทบกับจำนวนครั้งในการดูดของลูกหรือต้องหย่านมลูก สามารถทำได้โดยการจำกัดการดูดนมของลูก ให้ดูดเพียงข้างเดียวในแต่ละมื้อ (ระยะห่างระหว่างมื้อ 3-4 ช.ม.หรือนานกว่า) แล้วสลับข้างในมื้อถัดไป ด้วยวิธีนี้ น้ำนมจะสะสมอยู่ในเต้าเต็มที่ก่อนที่จะเปลี่ยนข้าง (น้ำนมสะสมมากๆ à การผลิตจะลดลง)

การเปลี่ยนแปลงของกระบวนการผลิตน้ำนมในแต่ละช่วงวัยของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่

ในช่วงสองสามวันแรกหลังคลอด ก่อนจะถึงจุดที่คุณแม่เริ่มรู้สึกว่า “นมมาแล้ว” นั้น กระบวนการผลิตน้ำนมเกิดจากการทำงานของฮอร์โมน ไม่ว่าจะอย่างไร ก็จะมีการผลิตน้ำนม (แต่ในปริมาณที่น้อย) ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการนำน้ำนมออกจากร่างกาย

แต่หลังจากสองสามวันแรกผ่านไป การผลิตน้ำนมจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ก็ต่อเมื่อ มีการนำน้ำนมออกมาจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ (โดยการดูด การบีบหรือการปั๊ม) เต้านมจะหยุดการผลิตน้ำนม ภายในไม่กี่วัน* ถ้าไม่มีการนำน้ำนมออกจากเต้าอย่างสม่ำเสมอ (*พอๆ กับระยะเวลาที่แม่ชงนมผสมที่แจกฟรีให้ลูกกินหมดกระป๋องแรก)

ในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก ถ้าการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ดำเนินไปด้วยดี แม่ส่วนใหญ่จะมีน้ำนม มากเกินกว่า ความต้องการของลูก สังเกตได้จากอาการคัดเต้านม น้ำนมไหลซึมเลอะเทอะ ลูกดูดข้างนึง อีกข้างก็ไหลพุ่งออกมาด้วย หรือน้ำนมไหลพุ่งก่อนที่จะถึงมื้อนม สิ่งเหล่านี้ ไม่ใช่ สิ่งปกติที่จะเกิดขึ้นตลอดการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่จะเกิดขึ้นในช่วงของการปรับตัวระหว่างปริมาณการผลิตน้ำนมของร่างกายแม่ ให้เข้ากับปริมาณความต้องการน้ำนมของร่างกายลูก ในระยะ 2-3 สัปดาห์แรก (สำหรับแม่บางคน อาจจะยาวนานกว่านี้ก็ได้)

สำหรับทารกที่ถูกเลี้ยงด้วยนมแม่ล้วนๆ จะมีความต้องการน้ำนมเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 2-3 สัปดาห์แรก หลังจากนั้นจะค่อนข้างคงที่ในช่วง 1-6 เดือน (แต่ก็อาจจะมีความต้องการเพิ่มขึ้นในช่วงสั้นๆ ของการเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า Growth Spurts)

งานวิจัยที่มีอยู่ทุกวันนี้ ไม่ได้พบว่าปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการจะมีการเปลี่ยนแปลงตามอายุ หรือน้ำหนักของทารกในช่วง 1-6 เดือนแรก ในบางกรณี ระหว่าง 6-12 เดือน (เมื่อเริ่มอาหารเสริมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ทีละน้อย) ปริมาณน้ำนมที่ทารกต้องการอาจจะเริ่มลดลงบ้าง แต่น้ำนมแม่ก็ยังเป็นอาหารหลักที่สำคัญสำหรับทารกในขวบปีแรก

หลังจาก 6 สัปดาห์ - 3 เดือนแรก (หรืออาจจะนานกว่านี้ สำหรับบางคน) ผ่านไป ปริมาณของฮอร์โมนโปรแล็คตินระดับสูงซึ่งเป็นเรื่องปกติสำหรับระยะแรกคลอด จะค่อยๆ เริ่มลดต่ำลงกลับสู่ระดับปกติของการผลิตน้ำนมสำหรับการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ในระยะหลัง เมื่อโปรแล็คตินกลับสู่ระดับปกติในช่วงนี้ คุณแม่จะไม่รู้สึกว่าหน้าอกคัดตึงเหมือนช่วงแรก น้ำนมที่เคยไหลซึมก็น้อยลง หรือหายไปเลย ไม่รู้สึกว่าน้ำนมไหลพุ่ง ไม่รู้สึกถึงกลไกการหลั่งน้ำนม (Let down reflex) และปริมาณน้ำนมที่ปั๊มได้ก็อาจจะลดลง ความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เป็น เรื่องปกติ ไม่ได้หมายความว่า ปริมาณการผลิตน้ำนมของคุณลดลงแต่อย่างใด

จงจำไว้ว่าในช่วงแรกนั้น ปริมาณน้ำนมทีผลิตนั้น มากเกินกว่า ความต้องการ ทำให้มีการคัดตึง และไหลซึมเลอะเทอะ เมื่อร่างกายปรับตัวได้แล้ว ปริมาณการผลิตน้ำนมจะพอดีกับความต้องการของลูก โดยไม่มีส่วนเกิน ไม่ใช่ผลิตน้อยลงจนไม่พอ อย่างที่ทุกคนกังวล ขอเพียงให้ลูกดูด และหรือ บีบหรือปั๊มออกอย่างสม่ำเสมอ โดยไม่ให้นมผสมเพิ่ม ร่างกายคุณแม่ก็จะผลิตน้ำนมได้เพียงพอกับความต้องการของลูกในแต่ละวัยไปตราบนานเท่าที่ต้องการ


รู้สึกว่าหน้าอกไม่คัดตึง นิ่ม เหมือนไม่มีน้ำนม น้ำนมแห้งแล้วหรือเปล่า?

เป็นเรื่องปกติที่จะรู้สึกว่าหน้าอกเริ่มจะไม่คัดตึง นิ่ม เหลว เหมือนไม่มีน้ำนม เมื่อเวลาผ่านไป 6-12 สัปดาห์หลังคลอด

หลังจากสัปดาห์แรกๆ (6-12 สัปดาห์ หรือนานกว่านี้ ขึ้นอยู่กับแต่ละคน) ผ่านพ้นไป คุณแม่จำนวนมากรู้สึกวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่งเกี่ยวกับปริมาณน้ำนมของตน เมื่อสังเกตเห็นว่า นมที่เคยปั๊มได้มีปริมาณลดลง หรือรู้สึกว่าหน้าอกนิ่ม เหลว ไม่คัดตึง สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติ แม้ว่าบางครั้งอาจจะรู้สึกคัดตึงบ้าง ถ้าเว้นช่วงการให้ลูกดูด หรือปั๊มนานกว่าปกติ

ความรู้สึกว่าหน้าอกคัดตึง เต็มไปด้วยน้ำนม ในช่วงสัปดาห์แรกๆ นั้นไม่ใช่เรื่องปกติ ตลอดช่วงระยะเวลาของการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงแรกที่ร่างกายของแม่ยังไม่สามารถปรับตัวให้รับรู้กับปริมาณความต้องการน้ำนมของลูกได้

ในช่วงเวลาหนึ่ง โดยปกติจะอยู่ระหว่าง 6-12 สัปดาห์ (อาจจะนานกว่านี้ สำหรับบางคนที่มีนมเยอะมากๆ)ปริมาณการผลิตน้ำนมจะปรับเข้าที่ จะรู้สึกว่าหน้าอกคัดน้อยลง นิ่มเหลว เหมือนไม่มีน้ำนม ไม่มีการไหลซึม ไม่รู้สึกถึง let-down และถ้าปั๊ม ก็จะได้ปริมาณน้อยลงกว่าเดิม

สิ่งเหล่านี้ไม่ได้หมายความว่าร่างกายผลิตน้ำนมน้อยลง แต่เป็นสิ่งที่บอกว่า ร่างกายสามารถรับรู้แล้วว่าปริมาณน้ำนมเท่าใดจึงจะพอดีกับความต้องการ ไม่จำเป็นต้องผลิตให้มากเกินไปอีกต่อไป

ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอาจจะเป็นแบบค่อยเป็นค่อยไป หรือเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใดก็ได้ แตกต่างกันไปในแต่ละคน มีคุณแม่จำนวนมากที่ไม่ค่อยรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงที่เป็นเรื่องปกตินี้ เพราะส่วนใหญ่มักจะหยุดเลี้ยงลูกด้วยนมตนเองไปก่อนหน้านี้แล้ว ทำให้ไม่เคยรับรู้ถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ (หรือบางทีก็เข้าใจผิดๆ ว่าความเปลี่ยนแปลงนี้เป็นสัญญาณบอกว่านมกำลังจะแห้ง ทำให้เลิกให้นมแม่ แล้วไปให้นมผสมแทน)

ทำไมถึงเกิดการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้

โดยปกติหลังจากที่เราเริ่มจะรู้สึกว่า “น้ำนมมาแล้ว” นั้น กระบวนการผลิตน้ำนมจะถูกควบคุมโดยการนำน้ำนมออกมาจากร่างกาย (ถ้ามีการดูดหรือปั๊มออกมา ก็จะมีการผลิตน้ำนมต่อไป ถ้าไม่มีการดูดหรือปั๊มออกมา ก็จะหยุดการผลิต) แต่กระนั้นก็ตาม ในช่วงสัปดาห์แรกๆ ฮอร์โมนซึ่งทำหน้าที่ในการผลิตน้ำนมในช่วงแรก (Lactogenesis I&II) นั้น ยังคงมีอยู่ในระดับสูง ซึ่งป็นสาเหตุหลักที่ทำให้ร่างกายผลิตน้ำนมได้เกินกว่าความต้องการ

การที่ฮอร์โมนในช่วงหลังคลอดใหม่ๆ มีระดับสูงเช่นนี้ ก็เพื่อช่วยในการผลิตน้ำนมให้ได้มากขึ้นถ้ามีความต้องการ (แม้ว่าจะมีลูกแฝดสอง หรือสาม แม่ก็จะสามารถผลิตน้ำนมได้พอสำหรับลูกทุกคน) หลังจาก 2-3 เดือนแรกผ่านไป ระดับของฮอร์โมนโปรแล็คตินซึ่งปกติจะสูงในช่วงสัปดาห์แรกๆ จะค่อยๆ ลดลงสู่ระดับปกติในที่สุด หลังจากนั้นการผลิตน้ำนมของแม่ก็จะปรับได้พอดีกับความต้องการของลูก (ไม่มีส่วนเกินอีกต่อไป)

ต้องใช้เวลาให้นมเต็มเต้าก่อนให้ลูกดูดหรือปั๊มหรือเปล่า

คนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจผิดๆ ว่า ต้องให้ลูกดูดให้เกลี้ยง แล้วก็ต้องรอให้เต็มใหม่เสียก่อน ซึ่งเป็นความเข้าใจที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง

ในความเป็นจริงแล้ว ร่างกายจะทำการผลิตน้ำนมอยู่ ตลอดเวลา ดังนั้นจริงๆ แล้ว เต้านมจะไม่เคยเกลี้ยงจริงๆ จากการวิจัยพบว่า ทารกไม่ได้ดูดนมจนหมดเต้า ปริมาณน้ำนมที่ทารกดูดออกไปนั้น จะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับความหิวของทารกในแต่ละครั้ง แตกต่างกันในแต่ละมื้อ โดยปกติจะประมาณ 75-80 % ของปริมาณน้ำนมที่มีในเต้านม

ความพยายามที่จะทำให้นมเกลี้ยงเต้า ก็เหมือนกับความพยายามที่จะทำให้แม่น้ำแห้ง ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะเมื่อน้ำนมถูกนำออกไป ก็จะมีการผลิตน้ำนมใหม่เข้ามาแทนที่

ยิ่งทำให้เต้านมมีน้ำนมน้อยลง (ดูดหรือปั๊มออกบ่อยๆ) เท่าใด เต้านมก็จะยิ่งผลิตน้ำนมเร็วขึ้นเท่านั้น ดังนั้น เมื่อลูกดูดนมไปได้เยอะแค่ไหน การผลิตนำนมก็จะมากขึ้นเท่านั้น

การกำหนดเวลาทุกกี่ช.ม. เพื่อให้ลูกดูดนมในแต่ละมื้อหรือปั๊มนั้น (เพราะเข้าใจผิดๆ ว่าต้องรอให้นมเต็มเต้าเสียก่อน) ไม่ได้ช่วยให้น้ำนมผลิตได้มากขึ้น ในทางตรงข้าม การทำเช่นนั้น (เว้นช่วงห่างระหว่างมื้อนม หรือการปั๊มนานๆ ) บ่อยๆ จะยิ่งทำให้การผลิตน้ำนมน้อยลงเรื่อยๆ เพราะการที่มีน้ำนมสะสมในเต้ามากๆ จะยิ่งทำให้การผลิตน้ำนมช้าลง

ข้อมูลอ้างอิง : How does milk production work? By Kelly Bonyata, BS, IBCLC




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:30:43 น.
Counter : 529 Pageviews.

0 comment
นมแม่...แม่นม

ในต่างประเทศมี ธนาคารน้ำนม (Milk Bank) อย่างเป็นเรื่องเป็นราว สำหรับรับบริจาคและขอบริจาคน้ำนมแม่ เนื่องจากน้ำนมแม่หรือน้ำนมคนนั้นมีคุณค่าและคุณประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับทารก โดยเฉพาะทารกคลอดก่อนกำหนด เจ็บป่วย หรือมีปัญหาทางสุขภาพตั้งแต่แรกคลอด น้ำนมแม่จะช่วยให้ทารกเหล่านั้นแข็งแรงและเจริญเติบโตได้ดีกว่าสารอาหารทดแทนนมแม่อื่นๆ ไม่เฉพาะทารกที่มีปัญหาทางสุขภาพเท่านั้น ยังมีทารกปกติทั่วๆ ไปอีกจำนวนไม่น้อยที่ร่างกายไม่สามารถย่อยนมผสมทั่วๆ ไปได้ ทำให้เกิดอาการแพ้ อาเจียน มีปัญหากับระบบขับถ่าย และปัญหาอื่นๆ แม้จะมีความพยายามคิดค้นนมผสมสูตรพิเศษเฉพาะขึ้นมา ก็ไม่สามารถทดแทนน้ำนมแม่ได้

บ้านเรายังไม่มีธนาคารน้ำนมค่ะ แต่ทุกคนคงคุ้นเคยกับคำว่า “แม่นม” กันเป็นอย่างดี ส่วนใหญ่น่าจะได้ยินได้รู้มาจากในหนังในละคร แต่มีใครเคยรู้จักคนที่เป็นแม่นมจริงๆ หรือรู้จักใครที่กินนมจาก “แม่นม” ที่ไม่ใช่แม่ตัว กันบ้างมั้ยคะ รุ่นๆ เราคงจะไม่มี แต่รุ่นแม่ๆ ของเรา อาจจะพอรู้จักบ้าง (หรือเปล่านะ ลองไปถามแม่ของทุกคนดูนะคะ) ไม่มีเวลาไปค้นคว้าจริงๆ จังๆ ว่า ที่ต้องมีแม่นมในบ้านเราสมัยก่อนน่ะ เป็นเพราะแม่จริงที่มีบรรดาศักดิ์เค้าไม่มีน้ำนม หรือเพราะขี้เกียจให้นมกันแน่ แต่เดาเอาว่าคงเป็นไปได้ทั้งสองอย่าง

ที่คิดว่าควรจะลองทำเรื่องนี้แบบจริงๆ จังๆ ดู ก็เพราะคิดว่าช่วงนี้มีคุณแม่จำนวนไม่น้อยที่ได้รับความรู้ในการเตรียมตัวเลี้ยงลูกด้วยนมแม่เป็นอย่างดี ทำให้มีน้ำนมสต็อคอยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งมักจะเกินความต้องการของลูกตัวเอง ในขณะเดียวกัน ในทางตรงกันข้ามก็มีคุณแม่จำนวนมากทีเดียว ซึ่งไม่มีความรู้และไม่ได้รับการช่วยเหลือในการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ที่ดีพอตั้งแต่แรกคลอด ทำให้ประสบปัญหานมแม่ไม่พอสำหรับลูกตัวเอง (ขอย้ำอีกครั้งนะคะ ว่าไม่ใช่แม่ไม่มีน้ำนม แต่ที่มีปัญหา เพราะความไม่รู้ต่างหากค่ะ)

ก่อนหน้านี้ กังวลว่าจะมีคนยอมให้ลูกกินนมคนอื่นหรือเปล่า เค้าจะคิดยังไงกัน แต่พอคิดว่า ในเมื่อคนยอมให้ลูกกินนมจากสัตว์ชนิดอื่นได้ ทำไมถึงจะไม่ให้ลูกกินนมคนด้วยกัน ด้านหนึ่งนมแม่เหลือจนต้องทิ้ง อีกด้านหนึ่ง คิด ว่านมแม่ไม่พอ จนต้องไปหานมผสม เราน่าจะลองทำให้มันสมดุลกันดีกว่า

ในต่างประเทศ ผู้ที่จะบริจาคนมแม่จะต้องตรวจเลือด ตรวจ DNA และมีวิธีการเก็บนมแม่อย่างระมัดระวัง แต่เราไม่มีความพร้อมแบบนั้นค่ะ เราแค่ เชื่อมั่น ว่าแม่ทุกคนรักลูก และพยายามทำทุกสิ่งทุกอย่างที่ดีที่สุดเพื่อลูกตัวเอง สำหรับแม่ที่มีการปั๊มเก็บน้ำนมมากพอที่จะบริจาคนั้น ยิ่งน่าจะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีการดูแลตัวเองเป็นอย่างดี มีความรู้และความใส่ใจมากพอที่จะดูแลตัวเองให้ทานอาหารที่ดีมีประโยชน์ สุขภาพแข็งแรง และเก็บน้ำนมอย่างถูกวิธี ดังนั้นการรับและการให้ขอให้เป็นไปโดยสมัครใจ ผู้ให้ให้ด้วยความปรารถนาดี ผู้รับก็ควรรับด้วยความยินดี เห็นด้วย หรือไม่เห็นด้วยก็แล้วแต่วิจารณญาณของแต่ละท่านนะคะ

ขอเชิญคุณแม่ทุกท่านที่ต้องการบริจาค หรือต้องการรับบริจาคนมแม่ ลงทะเบียนในแบบฟอร์มข้างล่างนี้เลยนะคะ จะได้เก็บไว้เป็นฐานข้อมูล ยิ่งมีมากก็จะจับคู่กันได้ง่ายขึ้น วัตถุประสงค์คือ ต้องการจับคู่ให้ได้บ้านใกล้กันจะได้ให้กันง่ายๆ หน่อยค่ะ ถ้าจับคู่ได้ จะแจ้งให้ทั้งสองฝ่ายทราบเพื่อติดต่อกันเองนะคะ




Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:30:08 น.
Counter : 710 Pageviews.

0 comment
1  2  3  4  5  6  7  

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]