All Blog
การบีบหน้าอก (Breast Compression)

จุดประสงค์ของการบีบหน้าอก คือ เพื่อให้น้ำนมยังคงไหลต่อไปเมื่อทารกหยุดดูดนมด้วยตัวเอง (ซึ่งจะดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”) และช่วยทำให้ทารกยังสามารถกินนมได้ต่อไป การบีบหน้าอกเป็นการเลียนแบบกลไกการหลั่งน้ำนม (letdown reflect) และช่วยกระตุ้นให้เกิดกลไกการหลั่งน้ำนมตามธรรมชาติ การบีบหน้าอกจะมีประโยชน์ในกรณีต่อไปนี้
1. ทารกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นน้อย
2. ทารกมีอาการโคลิก
3. ต้องให้นมถี่ๆ หรือใช้เวลาให้นมนาน
4. คุณแม่มีอาการเจ็บหัวนม
5. ท่อน้ำนมอุดตัน
6. กระตุ้นให้ทารกที่มักจะผล็อยหลับไปอย่างรวดเร็วได้กินนมต่อไปอย่างต่อเนื่อง แทนที่จะดูดนมเฉยๆ (โดยไม่ได้กินนม)
ถ้าการให้นมเป็นไปได้ด้วยดี คุณแม่ก็ไม่จำเป็นต้องใช้การบีบหน้าอกช่วย ในกรณีที่ทุกอย่างเป็นไปด้วยดี คุณแม่ควรจะให้ทารกกินนมจากเต้านมข้างแรก “ให้หมด” ก่อน และถ้าทารกยังต้องการกินนมต่อ จึงให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้างหนึ่ง
ทีนี้คุณแม่จะรู้ได้อย่างไรว่าลูกกินนมเสร็จแล้ว? ถ้าเมื่อไรที่เขาไม่ได้กินนมจากอกแม่ (คือไม่ได้ดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”) แสดงว่าลูกกินนมเสร็จแล้ว
การบีบหน้าอกจะให้ผลค่อนข้างดีในช่วงวันแรกๆ ในการช่วยทำให้ทารกได้รับนมน้ำเหลือง (colostrum) มากขึ้น ทารกไม่จำเป็นต้องได้รับนมน้ำเหลืองเยอะแยะมากมาย แต่ก็ควรจะต้องได้รับในปริมาณหนึ่ง การที่ลูกสามารถงับหัวนมได้ดีและการบีบหน้าอกจะช่วยให้เขาได้รับนมน้ำเหลือง
ต่อไปนี้เป็นสิ่งที่คุณแม่ควรรู้:
1. ทารกที่งับหัวนมแม่ได้สนิทดีจะกินนมได้ง่ายกว่าทารกที่ไม่สามารถงับหัวนมได้ดี ทารกที่ไม่สามารถงับหัวนมได้สนิทดีจะได้กินนมก็ต่อเมื่อน้ำนมไหลเร็ว ดังนั้นการที่การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ของคุณแม่และทารกส่วนใหญ่ยังไม่มีปัญหา ทั้งๆ ที่ ทารกไม่สามารถงับหัวนมได้สนิทดี เป็นเพราะคุณแม่ส่วนใหญ่สามารถผลิตน้ำนมได้เป็นจำนวนมาก
2. ในช่วงอายุ 3-6 สัปดาห์แรก ทารกจำนวนมากมักจะผล็อยหลับอยู่ที่อกแม่เมื่อน้ำนมไหลช้าลง ซึ่งไม่ได้หมายความว่าเขากินนมได้มากพอแล้วเสมอไป หลังจากช่วงอายุนี้ไปแล้ว บางคนอาจจะผละออกจากหน้าอกแม่เมื่อน้ำนมไหลช้าลง แต่ทารกบางคนก็ผละออกจากหน้าอกแม่ตั้งแต่อายุน้อยกว่านี้ บางคนผละออกตั้งแต่ช่วงวันแรกๆ
3. น่าเสียดายที่ทารกจำนวนมากงับหัวนมได้ไม่สนิทดี ถ้าปริมาณน้ำนมแม่มีมากมายอุดมสมบูรณ์ ทารกก็มักจะมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นได้ดี แต่คุณแม่ก็ต้องทนรับความลำบาก เช่น มีอาการเจ็บหัวนม การที่ลูกมีอาการโคลิก และ/หรือต้องให้ทารกจะอยู่ที่อกแม่ตลอดเวลา (แต่ได้กินนมแค่บางชั่วขณะของเวลาทั้งหมด)
การบีบหน้าอก จะทำให้น้ำนมไหลต่อไปเมื่อทารกไม่ได้กินนมจากอกแม่ (แต่แค่ดูดๆ ที่ปลายหัวนม) และยังทำให้ทารก
1. ได้กินนมมากขึ้น
2. ได้กินนมที่มีปริมาณไขมันสูงกว่ามากขึ้น
การบีบหน้าอก – วิธีปฏิบัติ
1. อุ้มทารกด้วยแขนข้างหนึ่ง
2. จับเต้านมด้วยมืออีกข้างหนึ่ง นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ด้านหนึ่งของเต้านม (นิ้วหัวแม่มืออยู่ที่ด้านบนของเต้านม จะง่ายที่สุด) และนิ้วอื่นๆ อยู่ที่ด้านตรงกันข้าม โดยให้นิ้วมืออยู่ค่อนข้างห่างจากหัวนม
3. สังเกตการกินนมของทารก (ดูวิดีโอที่ //www.thebirthden.com/Newman.html) แต่ไม่จำเป็นต้องหมกมุ่นที่จะสังเกตการดูดให้ได้ทุกครั้ง ทารกจะกินนมได้เยอะ เมื่อเขากินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”
4. เมื่อทารกเริ่มตอดหรืออมหัวนม และไม่ได้กินนมด้วยการดูดแบบ“อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก” อีกต่อไป ให้เริ่มบีบหน้าอก อย่าคลึงนิ้วตามเต้านมไปหาทารก แค่บีบเฉยๆ แต่อย่าบีบแรงจนรู้สึกเจ็บ และพยายามอย่าทำให้บริเวณ areola (เต้านมบริเวณที่ใกล้กับปากของทารก) เปลี่ยนรูปร่างไป การบีบหน้าอกควรจะทำให้ทารกเริ่มกินนมด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก” อีกครั้ง ใช้การบีบหน้าอกช่วยเวลาที่ทารกทำท่าดูดแต่ไม่ได้กินนม!
5. ใช้แรงบีบไปเรื่อยๆ จนกระทั่งทารกไม่ยอมกินนมอีกต่อไปถึงแม้คุณแม่จะบีบหน้าอกช่วยแล้ว จากนั้นจึงคลายแรงบีบ โดยมากทารกมักจะหยุดดูดอย่างสิ้นเชิงเมื่อคุณแม่คลายแรงบีบ แต่จะเริ่มดูดอีกหลังจากที่น้ำนมกลับมาไหลอีกครั้ง ถ้าทารกไม่หยุดดูดตอนที่คุณแม่คลายแรงบีบ ให้รอสักครู่ก่อนจะเริ่มบีบหน้าอกอีกครั้ง
6. เหตุผลที่ต้องคลายแรงบีบก็เพื่อให้คุณแม่ได้พักมือ และได้ปล่อยให้น้ำนมเริ่มไหลให้ทารกอีกครั้ง ถ้าหากทารกหยุดดูดตอนที่คุณแม่คลายแรงบีบ เขาจะเริ่มดูดอีกครั้งหลังจากได้ลิ้มรสน้ำนม
7. เมื่อทารกเริ่มดูดอีกครั้ง เขาอาจเริ่มกลับมากินนม (โดยดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”) ถ้าเขายังไม่กินนม ให้เริ่มบีบหน้าอกตามขั้นตอนข้างบนซ้ำอีก
8. ทำต่อเนื่องที่เต้านมข้างแรกต่อไป จนกระทั่งทารกไม่กินนมอีกแล้วแม้จะบีบหน้าอกช่วย คุณแม่ควรปล่อยให้ทารกอยู่ที่เต้านมข้างนั้นต่อไปอีกสักครู่หนึ่ง เพราะบางทีคุณแม่ก็อาจจะมีกลไกการหลังน้ำนมอีกครั้ง และทารกก็อาจจะกินนมโดยการดูดเองได้ แต่ถ้าทารกไม่กินนมอีกต่อไป คุณแม่ก็ควรยอมให้เขาผละออกจากหน้าอก หรือดึงเขาออกจากหน้าอก
9. ถ้าทารกยังต้องการกินนมอีก ให้เขากินนมจากเต้านมอีกข้างหนึ่ง และทำซ้ำตามขั้นตอนข้างบน
10. ถ้าคุณแม่ไม่มีอาการเจ็บหัวนม คุณแม่ก็อาจจะให้ทารกกินนมสลับกลับไปกลับมาในลักษณะเช่นนี้หลายๆ ครั้ง
11. พยายามปรับปรุงแก้ไขวิธีการงับหัวนมของทารกให้ดีขึ้น
12. จำไว้ว่า ใช้การบีบหน้าอกช่วย เมื่อทารกทำท่าดูด แต่ไม่ได้ กินนม
จากประสบการณ์ของเรา วิธีบีบหน้าอกข้างบนใช้การได้ค่อนข้างดี แต่ถ้าคุณแม่มีวิธีอื่นซึ่งทำให้ทารกดูดนมแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก” ต่อไปได้เรื่อยๆ ก็น่าจะใช้วิธีซึ่งเหมาะสมกับทั้งคุณแม่และทารกแทน ตราบใดที่คุณแม่ไม่ได้ทำให้หน้าอกเจ็บเพราะการบีบและทารกได้กินนม (ด้วยการดูดแบบ “อ้าปากกว้าง – หยุด – ปิดปาก”) การบีบหน้าอกแบบนั้นเป็นวิธีการก็ใช้ได้ดี
คุณแม่อาจจะไม่จำเป็นต้องบีบหน้าอกเช่นนี้เสมอไปหรือตลอดไป เมื่อการให้ลูกกินนมจากอกแม่เริ่มพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น คุณแม่ก็จะสามารถปล่อยไปตามธรรมชาติ ดูวิดีโอแสดงการงับหัวนมอย่างถูกวิธี วิธีดูว่าทารกได้กินนมหรือไม่ และวิธีการบีบหน้าอก ได้ที่ Video Clips
แผ่นพับที่ 15 – การบีบหน้าอก (ตุลาคม 2549)
แปลและเรียบเรียงโดย นิจวรรณ ตั้งวิรุฬห์
จาก Handout #15. Breast Compression. Revised January 2005
Written by Jack Newman, MD, FRCPC. © 2005



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:28:40 น.
Counter : 600 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]