การเตรียมลูกก่อนเข้าโรงเรียน

จาก นิตยสารรักลูก
เมื่อเจ้าตัวเล็กต้องไปเป็นนักเรียนตัวจ้อย ... ต้องมีการเตรียมตัวอย่างไรการไปโรงเรียนของลูกจึงจะราบรื่น มีเทคนิคมาฝากค่ะ
ก่อนลูกไปโรงเรียน ซึ่งเป็นรอยต่อที่สำคัญช่วงหนึ่งของชีวิตพ่อแม่ต้องช่วยลูกเตรียมตัวให้พร้อมที่สุด เพราะเมื่อพร้อมก็จะปรับตัวได้เร็วแล้วลูกจะมีความสุขได้เร็ว การเตรียมตัวนั้นต้องเตรียมในระยะยาวพอควร ไม่ใช่แค่ 2-3 วันเทคนิคการเตรียมลูกก่อนเข้าโรงเรียนมีดังนี้ค่ะ สร้างทัศนคติที่ดีของลูกต่อโรงเรียน ด้วยการพาลูกไปดูโรงเรียนเล่าเรื่องของโรงเรียนให้ฟังว่ามีเพื่อนและของเล่นมากมายแต่มีข้อควรระวังคืออย่าสร้างภาพให้เกินจริง เช่น ครูจะแจกของเล่นให้ทุกวันเพราะเมื่อไม่เป็นจริง ลูกอาจจะรู้สึกไม่ดี
ฝึกลูกช่วยตัวเองเพราะที่โรงเรียนจะมีครูและพี่เลี้ยงไม่เพียงพอที่จะคอยสนองความต้องการของลูกดังนั้นการฝึกลูกให้ช่วยตัวเองบ้างในสิ่งเล็กๆ น้อยๆจะช่วยลูกให้ปรับตัวได้เร็วขึ้น
ฝึกลูกให้บอกความต้องการของตัวเองให้ได้ เป็นสิ่งสำคัญเพราะถ้าเด็กบอกความต้องการของตัวเองไม่ได้ เขาก็จะอึดอัด ไม่มีความสุข
ฝึกลูกให้รู้จักรอคอย ไม่ใช่เมื่อต้องการสิ่งใดแล้วต้องได้ทันทีเพราะเขาต้องไปอยู่กับเพื่อนวัยเดียวกัน ที่ต่างยึดตัวเองเป็นศูนย์กลางหากลูกไม่รู้จักรอคอยเขาย่อมไม่มีความสุขแน่นอน
ฝึกให้ลูกรู้จักเล่นกับเพื่อนวัยเดียวกัน เพื่อเขาจะได้เรียนรู้การยอมการแบ่งปันกับผู้อื่น
ฝึกลูกให้ชินกับการต้องจากพ่อแม่อาจจะเริ่มด้วยการเอาลูกไปฝากกับญาติผู้ใหญ่บ้างเพื่อให้เขาเรียนรู้การห่างกับพ่อแม่บ้าง
ค่อยๆปรับเวลาในแต่ละวันของลูกให้ใกล้เคียงกับเวลาไปโรงเรียนเพราะเมื่อไปโรงเรียนลูกต้องตื่นเช้าขึ้น ต้องทานอาหารเป็นเวลาก
ฝึกให้ลูกชินกับเวลาที่ต้องกิจกรรมต่างๆ เช่น กินข้าว นอนกลางวัน ฯลฯจะทำให้ลูกปรับตัวกับเวลาที่โรงเรียนกำหนดได้เร็วขึ้น
ขอย้ำอีกครั้งว่า เมื่อปรับตัวได้เร็วลูกเราก็จะมีความสุขเร็วค่ะ เมื่อเจ้าตัวเล็กต้องเตรียมตัวเป็นนักเรียนคนใหม่คุณพ่อคุณแม่ช่วยลูกรักเตรียมพร้อมกับการเป็นนักเรียนคนใหม่อย่างไรเรามีเทคนิคมาแนะนำค่ะ
ฝึกให้ลูกช่วยเหลือตัวเอง
เวลาที่อยู่บ้านคุณแม่อาจจะดูแลประคบประหงม ลูกชนิดไข่ในหินหรือไม่ก็มีพี่เลี้ยงวิ่งตามดูแลแบบตัวต่อตัว ลูกไม่จำเป็นต้องช่วยตัวเองมากนักแต่ที่โรงเรียนจะไม่เป็นอย่างนั้นถ้าลูกได้รับการฝึกให้รู้จักดูแลตัวเองเป็นตั้งแต่เนิ่นจะช่วยให้ลูกสามารถปรับตัวในโรงเรียนได้เร็วเพราะฉะนั้นคุณพ่อคุณแม่ควรให้โอกาสลูกช่วยตัวเองในสิ่งที่สมควรปล่อยให้ลูกทำได้เช่น การสวมเสื้อผ้า การกินอาหาร การใช้ห้องน้ำการเล่นการทำกิจกรรมกับเด็กในวัยเดียวกันฯลฯ
ฝึกทักษะทางการสื่อสาร
การสื่อสารในที่นี้หมายถึง การฟัง การพูดซึ่งลูกจำเป็นต้องใช้มากเมื่อเข้าสู่สังคมโรงเรียนเพื่อสื่อความต้องการของตัวเองให้คนอื่นรับรู้ เพราะถ้าลูกสามารถบอกถึงความต้องการความรู้สึกของตัวเองได้เหมาะสมกับวัย คุณครูและคนอื่นๆ ที่โรงเรียนสามารถตอบสนองได้และถ้าลูกสามารถฟังและรับรู้ได้ดี ลูกก็จะเข้าใจและเรียนรู้ได้รู้เรื่อง เกิดความรู้สึกที่ดีต่อการเรียนสืบเนื่องกันไป
คุณพ่อคุณแม่ช่วยพัฒนาภาษาให้ลูกได้ด้วยการใช้เวลาใกล้ชิดพูดคุยใช้ภาษาที่เหมาะสมกับลูก สุภาพ ชัดเจน ถูกต้องการเล่านิทานหรืออ่านหนังสือให้ลูกฟังก็เป็นกิจกรรมที่ดีในการฝึกการฟังและพัฒนาคำศัพท์ใหม่ๆ
เรียนรู้ที่จะรอคอย
เวลาที่ลูกไปโรงเรียน ลูกต้องอยู่กับเพื่อนๆ วัยเดียวกันมีพัฒนาการและความรู้สึกที่ใกล้เคียงกัน ทั้งยังยึดตัวเองเป็นใหญ่เหมือนๆ กันในขณะที่คุณครูไม่ได้มีจำนวนเท่ากับนักเรียน ของเล่นก็ไม่ได้มีเท่าจำนวนคนกินอาหารก็อาจจะต้องเข้าแถว เพราฉะนั้นลูกต้องรู้จักรอคอย รู้จักอดทนรู้จักแบ่งคุณครูให้เพื่อนคนอื่นบ้าง ไม่ใช่กอดเอาไว้คนเดียว ฯลฯ
คุณพ่อคุณแม่เริ่มฝึกลูกได้ตั้งแต่ยังไม่ถึงวัยอนุบาล ฝึกอย่างค่อยเป็นค่อยไปเริ่มจากการรอคอยแบบสั้นๆ ในสิ่งที่ลูกสนใจ เช่น "ลูกรอนิดหนึ่งแม่ล้างมือแล้วจะชงนมให้ลูกดื่มนะจ๊ะ" หรือ "ลูกนั่งรอก่อนให้แม่ตากผ้าเสร็จแล้วจะเล่านิทานให้ฟังจ้ะ"
การที่คุณพ่อคุณแม่แสดงบทบาทเป็นผู้รอที่ดีให้ลูกเห็นก่อนจะช่วยให้ลูกเข้าใจการรอคอยได้ดีขึ้น
ยอมรับการพลัดพราก
ข้อนี้ถ้าไม่มีการเตรียมพร้อมเลยอาจจะมีปัญหามากในช่วงเริ่มไปโรงเรียนได้ เพราะลูกวัยนี้กลัวถูกทิ้ง กลัวการแยกจากตั้งแต่ลูกยังอยู่บ้าน เวลาคุณพ่อคุณแม่จะออกไปทำงานไม่ควรใช้วิธีหลอกแล้วหนีลูกไปเพราะกลัวลูกร้องตาม แต่ควรบอกลูกตรงๆ ว่า "แม่ไปทำงานนะลูกตอนเย็นจะกลับมาหาลูกจ้ะ" ทั้งลูกและแม่อาจจะน้ำตาท่วมไปบ้างแต่ถ้าคุณแม่ทำสม่ำเสมอ ไม่มัวอาลัยอาวรณ์แล้วตอนเย็นก็กลับมาตามคำพูด ลูกจะค่อยๆรับรู้และเคยชินในที่สุด
อีกสิ่งหนึ่งที่สำคัญคืออย่าขู่ว่าจะทิ้งลูก ไม่ว่าลูกจะเกเรหรืองอแง เพราะจะทำให้ลูกกลัวการถูกทิ้งจริงๆและไม่ควรออกไปไหนด้วยวิธีหนีลูกทำทุกอย่างให้ปกติให้ลูกได้รู้ว่าคุณพ่อคุณแม่มีหน้าที่ต้องทำเมื่อเสร็จหน้าที่แล้วจะกลับ เมื่อลูกต้องเข้าโรงเรียนลูกก็จะค่อยๆ เรียนรู้เองว่าลูกก็มีหน้าที่ต้องไปโรงเรียน เย็นลงก็กลับมาพบกันพ่อแม่ลูกเหมือนเดิม
ข้อนี้ฟังดูง่ายแต่จริงๆ ไม่ง่ายหรอกค่ะ คุณพ่อคุณแม่ต้องใจเย็นๆใช้เวลาและความสม่ำเสมอเป็นหลัก ลูกจะค่อยๆเรียนรู้ไปเอง
สร้างทัศนคติที่ดีต่อโรงเรียน
เมื่อลูกรู้จักคำว่าโรงเรียน อย่าขู่ลูกโดยใช้โรงเรียนเป็นสัญลักษณ์ของการลงโทษเช่น "ดื้ออย่างนี้จะพาไปไว้ที่โรงเรียนให้ครูจัดการซะให้เข็ด" หรือ "ซนเหลือเกินปีหน้าจะเอาไปโรงเรียนให้ครูจัดการซะที"คำพูดเหล่านี้จะปลูกฝังความกลัวโรงเรียนให้ลูกเรียกว่าไม่อยากไปตั้งแต่ยังไม่ได้ไปเลยทีเดียว
เราควรช่วยให้ลูกมองเห็นโรงเรียนในด้านดีพูดคุยถึงความสนุกที่ลูกจะได้รับเมื่อไปโรงเรียนพูดถึงของเล่นและสื่อการเรียนอย่างที่บ้านไม่มี มีสนามกว้าง(กว่าที่บ้าน) มีชิงช้าแบบที่ลูกชอบไปเล่นที่สนามเด็กเล่น) มีนิทานมีเสื้อผ้าชุดใหม่และกระเป๋าใบใหม่ของหนูเองอาจเล่าถึงความสนุกที่คุณพ่อคุณแม่ได้รับจากโรงเรียนเมื่อวัยเด็กถ้ามีเวลาอาจพาลูกไปเที่ยวเล่นที่โรงเรียน ไปรู้จักคุณครู ฯลฯเมื่อลูกเริ่มรู้สึกดี รู้สึกสนุก ความกังวลใจจะลดลงไปครึ่งหนึ่งแล้วละค่ะ
และถ้าเป็นไปได้ก็อยากจะบอกคุณพ่อคุณแม่ว่าอย่าเลือกโรงเรียนที่ไกลบ้านมากนักเลยเพราะการเดินทางที่ใช้เวลานานเกินไปทั้งเช้าและเย็นก็เป็นสาเหตุของความเครียดเหนื่อย เพลีย ทำให้อารมณ์ไม่แจ่มใส (ทั้งแม่ทั้งลูก) บรรยากาศของกิจกรรมอื่นๆต่อจากนั้นจะสนุกสนานไปได้อย่างไร จริงไหมคะ
ฝึกให้ลูกอยู่ร่วมกับคนอื่นๆ
หาโอกาสพาลูกออกนอกบ้าน อาจไปสนามเด็กเล่นของหมู่บ้านไปเล่นกับเพื่อนบ้านหรือไปสวนสาธารณะ พิพิธภัณฑ์ ซึ่งลูกจะได้พบเห็นผู้คนมากมายได้ฝึกหัดการอยู่ร่วมกับคนอื่น พบกับกฎระเบียบที่แตกต่างกันไปในแต่ละที่เพื่อเตรียมตัวลูกก่อนเข้าไปสู่วินัยในโรงเรียน
บทบาทของคุณพ่อคุณแม่
บทบาทของคุณพ่อคุณแม่คือช่วยเตรียมตัวลูกให้พร้อมก่อนออกไปเผชิญโลกกว้างแต่ถ้าไม่มีการเตรียมตัวก่อน หรือเตรียมมาบ้างแล้วแต่ยังพบกับปัญหาที่ลูกตัวน้อยไม่ค่อยอยากจะไปโรงเรียนคุณพ่อคุณแม่คงต้องรีบบทบาทใหม่คือเป็นผู้ช่วยสร้างเสริมกำลังใจและช่วยแก้ไขปัญหาให้ลูกฝ่าข้ามช่วงวิกฤตนี้ไปได้อย่างสวยงาม
ปลอบใจให้ความอบอุ่น
ช่วงปรับตัวเป็นช่วงสำคัญของลูก แกอาจจะร้องไห้งอแง อ้อนมากกว่าปกติอย่าไปดุว่าหรือแสดงความหงุดหงิดหรือแม้กระทั้งแสดงความสงสารอาลัยอาวรณ์ลูกมากจนเกินไป ยิ่งจะทำให้ลูกกลัวและหมดกำลังใจในการไปโรงเรียนทางที่ดีควรมีท่าทีอบอุ่น เข้าอกเข้าใจ ปลอบใจและให้กำลังใจยิ้มแย้มแจ่มใสเพื่อสร้างบรรยากาศ ชื่นชมลูกในวันที่แกร้องไห้น้อยลงพูดคุยถึงเรื่องดีๆ ที่เกิดขึ้นในโรงเรียนในขณะเดียวกันคุณพ่อคุณแม่ต้องรักษาเวลาและรักษาคำพูดอย่างสม่ำเสมอ เช่นบอกว่าจะไปรับลูกกี่โมง ก็ต้องไปตามนั้นไม่เช่นนั้นลูกที่กลัวการถูกทอดทิ้งอยู่แล้วจะยิ่งใจเสียเกิดความลังเลกับคำสัญญาของเราในคราวต่อๆ ไป ส่งผลให้ไม่อยากไปโรงเรียนในที่สุด



Create Date : 27 มิถุนายน 2554
Last Update : 27 มิถุนายน 2554 13:14:43 น.
Counter : 516 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]