All Blog
หลักการและวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
หลักการและวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
บทความจากโรงพยาบาลพระมงกุฏเกล้าฯ
บทความอธิบายถึงหลักการและวิธีการเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ โดยละเอียด เช่น ทางการนั่งและนอนให้นมลูก การดูแลหัวนม วิธีการอุ้มให้ลูกเรอ และวิธีการสังเกตว่าลูกได้รับนมเพียงพอหรือไม่
การเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เป็นวิธีการทางธรรมชาติ ซึ่งดูๆไปแล้ว ไม่น่าจะเป็นปัญหา แต่มีแม่จำนวนไม่น้อยที่ทำไม่สำเร็จ ลองมาดูกันซิว่า มีเคล็ดลับอะไรบ้าง
ขั้นแรกเรามารู้จักเต้านมกันก่อนดีกว่าค่ะ
เต้านมแม่นั้นจะขยายใหญ่ขึ้นเมื่อตั้งครรภ์ ภายในเต้านมมีเซลล์จำนวนมาก มีหน้าที่สำหรับหลั่งน้ำนม เซลล์ต่างๆเป็นกลุ่มคล้ายๆพวงองุ่น มีก้านมารวมกันเป็นช่อ คือท่อน้ำนม หลายๆพวงมารวมกันที่หัวนม ที่รอบหัวนมจะมีลานหัวนมเป็นวงรอบ ซึ่งขยายกว้างขึ้น และมีตุ่มโตขึ้น ตุ่มนี้เป็นต่อมสำหรับสร้างสารชนิดหนึ่ง ที่ทำให้ผิวหนังบริเวณนี้นิ่มลง และทำให้จุลินทรีบริเวณนี้เติบโตได้ช้าลง
การดูแลเต้านมของคุณแม่
คุณแม่ควรใส่เสื้อยกทรง ตลอดเวลา เพื่อประคองไม่ให้น้ำนมคั่งที่ส่วนใดส่วนหนึ่ง การที่น้ำนมคั่ง นอกจากจะทำให้เจ็บแล้ว ยังทำให้เป็นฝีที่เต้านมได้ ถ้าสามารถใส่ เสื้อยกทรง ชนิดเปิดให้ลูกดูดนมได้ทางด้านหน้า (Nursing Bra) ก็จะยิ่งดี เพราะสามารถเปิดให้ลูกดูดนมได้โดยสะดวก
หัวน้ำนม(Colostrum)
หัวน้ำนมเป็นน้ำนมที่ออกมาประมาณ 2 ออนซ์ ใน 1-3 วันแรก เป็นน้ำนมที่มีคุณประโยชน์มหาศาล มีสารภูมิคุ้มกันอยู่มาก และยังมีเม็ดเลือดขาว ที่ไปกระตุ้นให้ระบบสร้างภูมิคุ้มกันของลูก กระตุ้นให้ลูกสามารถสร้างได้เองด้วย และยังมีสารอาหารพวกโปรตีน และแร่ธาตุอยู่อย่างเข้มข้น หัวน้ำนมที่ออกมามีปริมาณน้อย ทำให้ทารกได้ฝึกหัดดูด กลืนและหายใจในเวลาเดียวกันอย่างได้จังหวะ ปกติแล้วทารกหลังคลอดจะต้องใช้เวลาประมาณ 1-2 วัน เพื่อที่จะฝึกดูดนม ในช่วง 1-2 วันหลังคลอดนั้น ทารกยังไม่ต้องการน้ำนมปริมาณมาก เพียงหัวน้ำนมก็จะเพียงพอต่อความต้องการ น้ำนมปกติ ที่มีสีขาวจะมาในวันที่ 3 หรือ 4 ซึ่งพอเหมาะกับเมื่อทารกสามารถดูดได้คล่อง
เริ่มต้นด้วยดี
เมื่อลูกเกิด 1-2 ชม. เขาจะตื่นดี ให้นำมาดูดนมแม่ บางคนอาจจะได้สัมผัสผิวแม่มาบ้างแล้ว เมื่อแก้มของลูกสัมผัสกับเต้านม ลูกจะหันปากมาอมหัวนมทันที เรียกว่า Rooting Reflex ซึ่งเป็นปฏิกิริยาเพื่อความอยู่รอดของมนุษย์นั่นเอง ดังนั้นหลังลูกเกิดเขาจะหันหน้าเข้าหาเต้านมและดูดกินได้เองทันที
ท่าในการให้นมลูก
แม่ควรนั่งในท่าที่สบาย จับตัวลูกให้หันเข้าหาเต้านม โดยให้ไหล่เป็นเส้นตรงดิ่งจากหู ค่อยๆพยุงเต้านมขึ้น โดยใช้ฝ่ามือสอดใต้ลานหัวนม ให้หัวนมสัมผัสกับริมฝีปากล่างเบาๆ 2-3 ครั้ง ดูซิว่าทารกจะอ้าปากไหม ถ้ายังไม่อ้าปาก ให้ทำต่อไปจนกว่าลูกจะอ้าปาก ขยับหัวของลูกเข้าชิดเต้านม จนกระทั่งจมูก แก้มและคางสัมผัสกับเต้านม ซึ่งหัวนมของแม่จะเข้าไปในปากของลูกทันที ลูกจะเริ่มดูดและกลืน ถ้าจมูกของลูกกดจมลงไปในเต้านมมากเกินไป ให้ดันก้นลูกให้สูงขึ้น และให้เข้ามาใกล้คุณแม่อีกนิด มีช่องให้ลูกหายใจได้สะดวก
เมื่อเต้านมทำงานเต็มที่ ลูกเพียงดูดหัวนม 2-3 ครั้งก็จะมีน้ำนมหลั่งพุ่งออกจากเต้านม ไม่ใช่แต่ข้างที่ลูกดูดเท่านั้น แต่น้ำนมจะออกมาจากทั้ง 2 ข้าง ทารกจึงทำหน้าที่เพียงกลืนให้ทันเท่านั้น บางคนอาจกลืนไม่ทัน ทำให้สำลัก ต้องค่อยๆหันหน้าลูกออกห่างจากเต้านม ปล่อยเต้านม ให้ลูกพักหายใจ แล้วจึงค่อยหันไปอมหัวนมแม่อีกครั้ง ค่อยๆดูดนมจนกว่าจะอิ่มแล้วหลับไป
การให้นมลูกมีหลายท่า ซึ่งแล้วแต่คุณแม่จะถนัดในการให้นมท่าใด มีดังต่อไปนี้ค่ะ
1.การให้นมลูกท่า madonna หรือ cradle แม่นั่งในท่าสบาย มีหมอนหนุนหลัง อุ้มลูกเข้าหาตัว โดยให้ท้องของลูก พาดอยู่ที่หน้าท้องของแม่ ให้แขนข้างที่ติดกับแม่ พาดโอบไปด้านข้างตัวแม่
2. ถ้าทารกตัวเล็ก แม่ต้องใช้มือที่พยุงเต้านมมาประคองศีรษะ โดยใช้มือซ้ายพยุงก้นลูกขึ้น ให้ตัวลูกสูงขึ้น อยู่ในระดับเดียวกับเต้านมแม่ เรียกว่าท่า cross - cradle
3. การให้นมลูกท่าอุ้มลูกฟุตบอล แม่นั่งในท่าสบาย กอดลูกไว้ในอ้อมแขนข้างเดียวกับเต้านมที่ลูกดูด ท่านี้จะทำให้แม่เห็นหน้าลูกได้ชัดขณะดูดนม และเป็นวิธีเดียวที่ลูกแฝด จะสามารถดูดนมแม่ได้พร้อมกัน โดยมีแม่อุ้มกอดเหมือนอุ้มลูกฟุตบอลพร้อมกัน 2 ลูก
4. การให้นมท่านอน ท่านี้เป็นท่าที่สบาย โดยเฉพาะการให้นมในตอนกลางคืน โดยให้แม่นอนตะแคงข้าง โดยมีหมอนหนุนหลัง และศีรษะเอาไว้ ให้ลูกนอนตะแคง หันหน้าเข้าหาหน้าอกแม่ ให้ได้ระดับปากตรง กับหัวนมแม่ เมื่อลูกอ้าปาก จะได้ดูดหัวนมแม่ได้พอดี
ข้อควรระวัง การให้นมท่านี้สำหรับแม่ที่มีเต้านมใหญ่มาก อย่าเผลอหลับขณะให้นมลูก เพราะเต้านมแม่อาจจะปิดทับจมูกลูก จนหายใจไม่ออก ถึงขั้นเสียชีวิตได้
รู้ได้อย่างไรว่าลูกได้รับนมแม่เพียงพอหรือไม่
ทารกที่กินนมแม่นั้น ไม่ต้องกลัวว่าจะได้รับนมไม่เพียงพอ ถ้าเขาหิวเขาจะดูดแรง การดูดของลูกจะกระตุ้นให้แม่หลั่งน้ำนมมาก แม่ควรทำใจให้สบาย ดื่มน้ำให้มากและทานอาหารที่มีโปรตีนสูง ถ้าลูกมีผิวหนังอักเสบจากการดูดนม เช่น เป็นขี้กลากน้ำนม แพทย์บางท่านอาจแนะนำให้แม่ งดดื่มนมวัว เพราะโปรตีนจากนมวัวที่แม่ดื่ม ผ่านไปยังลูกซึ่งทำให้ลูกเกิดผื่นแพ้ได้
วิธีดูง่ายๆว่าลูกได้รับน้ำนมแม่เพียงพอก็คือ
- ลูกตื่นขึ้นมากินนม 8 มื้อขึ้นไป ใน 24 ชม.
- ดูดนมนานประมาณ 10 นาทีต่อมื้อ
- แม่ได้ยินเสียงลูกกลืนน้ำนมลงคอได้ชัดเจน
- หลังจากลูกดูดนมแล้วเขาไม่แสดงอาการหิว เช่น ดูดนิ้ว หันหน้าไซ้นมแม่
- เต้านมแม่ที่เคยคัดก่อนลูกดูดนม จะรู้สึกยุบลงและนิ่มขึ้น
- ลูกถ่ายปัสสาวะ วันแรก : 1-2 ครั้ง / วันที่ 3 : 2-3 ครั้ง และหลังจากวันที่ 6 : อย่างน้อย 6 ครั้ง ซึ่งทารกที่กินนมมากอาจจะถ่ายปัสสาวะทุก 1-2 ชม.
- ลูกถ่ายอุจจาระมีเม็ดสีเหลือง หลังจากถ่ายอุจจาระเขียวๆ เหนียว ( ขี้เทา ) ออกหมดแล้ว
- ลูกมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นวันละ 20-40 กรัม หรือ 600-1,200 กรัม เมื่อครบ 1 เดือน
ให้นมลูกเมื่อเขาแสดงอาการหิว ซึ่งที่สำคัญคือ เมื่อลูกร้องนั้น ไม่ได้หมายความว่าเขาจะหิวทุกครั้ง เขาอาจจะอ้อนให้อุ้ม ผ้าอ้อมเปียกหรือถูกมดกัดเป็นต้น ดังนั้นแม่ต้องค้นหาสาเหตุดูก่อน ถ้าเขาหิวจริงค่อยให้นม
เมื่อลูกโตขึ้น กระเพาะก็จะขยายใหญ่ขึ้น ต้องฝึกให้เขากินเป็นมื้อคือ 8-12 มื้อ/24 ชม.
จับให้ลูกเรอ
หลังลูกกินนมเสร็จ ให้อุ้มลูกพาดบ่าหรือจับนั่งขึ้น ลูบหลังหรือตบหลังเบาๆ ให้เรอลมออกมา ถึงแม้ว่าบางมื้อเขาจะไม่เรอก็ไม่เป็นไร บางครั้งเรอแรง อาจมีนมไหลตามออกมาได้ เรียกว่า "แหวะนม" แต่ก็เป็นปกติสำหรับทารก
ควรให้ลูกดูดนมจากเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยดูดข้างหนึ่งจนเกือบอิ่ม แล้วจึงเปลี่ยนให้ดูดอีกข้างหนึ่งต่อ การเปลี่ยนให้ลูกดูดเต้านมอีกข้าง จำเป็นต้องทำให้ถูกวิธี เพราะลูกกำลังดูดเพลินๆอยู่ อย่าดึงหัวนมออกอย่างฉับพลัน เพราะจะทำให้แม่เจ็บหัวนมหรือหัวนมแตกได้ ให้ใช้นิ้วสอดเข้าไปในปากระหว่างเหงือกของลูก และสอดให้ลึกพอที่ลูกจะหยุดดูด ปากลูกอ้าจึงค่อยเคลื่อนหัวนมออก
แม่ต้องดูแลตัวเอง
แม่ต้องดูแลตัวเองให้สมบูรณ์ด้วยค่ะ จึงจะให้นมลูกได้สำเร็จ ต้องพักผ่อนนอนหลับให้เพียงพอ ในช่วงลูกที่หลับ ให้หาคนมาคอยเฝ้าดูแลลูกไว้ การได้นอนหลับจะช่วยให้คุณรู้สึกดี แข็งแรง ซึ่งเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ให้ประสบความสำเร็จ "ลูกหลับแม่หลับด้วย"
สามีต้องสนับสนุน
คุณพ่อควรช่วยให้กำลังใจ และแบ่งเบาภาระการดูแลลูก ให้แม่ได้พักผ่อนให้เพียงพอ ช่วยดูแลทำอาหารให้รับประทาน ในช่วงหลังคลอดซึ่งยังไม่ฟื้นตัวจากการคลอดดีนัก แม่ต้องเจ็บหัวนม และอดนอนให้นมลูก ผู้เป็นแม่ต้องอดทนอย่างสูง จึงจะทำได้สำเร็จ ขอให้ภูมิใจที่คุณทั้งสองได้ทำหน้าที่พ่อและแม่สมบูรณ์ในอีกระดับหนึ่ง





Create Date : 21 กุมภาพันธ์ 2554
Last Update : 21 กุมภาพันธ์ 2554 13:57:55 น.
Counter : 607 Pageviews.

0 comments
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

มนแพรวา
Location :
กรุงเทพฯ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 5 คน [?]