สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(ประเทศไทย) ตอนที่ 3




การเงิน - การลงทุน : ถนนนักลงทุน
วันที่ 18 ธันวาคม 2555
ทิ้งรายได้เดือนละ2แสนบาทสู่เส้นทาง'วีไอ'ภาสุชา อุตรวณิช

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



มีเงินสดไหลเข้าบริษัทเดือนละกว่า 200,000 บาท
แต่ 'ภาสุชา อุตรวณิช' ก็เลือกปิดธุรกิจขนส่งก้าวสู่เส้นทาง 'วีไอ'
รับเหมาดูแลพอร์ตของคนทั้ง


หนึ่งในเซียนหุ้นรุ่นใหม่ “ภา” ภาสุชา อุตรวณิช คุณแม่ยังสาววัย 34 ปี อดีตเจ้าของธุรกิจขนส่ง มีเงินสดไหลเข้าบริษัทเดือนละกว่า 200,000 บาท แต่ภา เลือกที่จะปิดธุรกิจส่วนตัว เพื่อออกมาลงทุนในตลาดหุ้นแนว Value Investor (วีไอ) ภายใต้พอร์ตของสามี ก่อนจะมาเปิดพอร์ตเป็นของตัวเอง และเธอยังรับหน้าที่ดูแลหุ้นค้าปลีกจำนวน 100 หุ้น ที่ลูกสาววัย 7 ขวบ ตัดสินใจทุบกระปุกออมสินนำเงินเก็บ 1,000 บาท บวกกับเงินเติมให้ของพ่อแม่มาลงทุน จนสามารถสร้างผลตอบแทน 100% ภายในระยะ 1 ปี ได้สำเร็จ

ภา ยึดแนวทางการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม หวังผลตอบแทนเฉลี่ยปีละ 15% ที่ผ่านมาพอร์ตการลงทุนเติบโตอย่างน่าพอใจ ขณะเดียวกัน เธอพยายามปลูกฝังลูกสาวให้รักการอ่านหนังสือ และออมเงิน ด้วยการหยอดกระปุกวันละ 1 บาท หรือมากกว่านั้น ทุกวันสาวน้อยของเธอจะเหลือเงินค่าขนมกลับบ้านวันละไม่ต่ำกว่า 10 บาท จากเงินค่าขนมวันละ 40 บาท ภาสอนลูกสาววัย 7 ขวบว่า หากเติมเงินลงไปในพอร์ตแล้วเลือกหุ้นดีๆ หนูจะสามารถซื้อตั๋วเครื่องบินไปญี่ปุ่นได้ทันที

"โตขึ้นหนูไม่จำเป็นต้องทำอาชีพนักลงทุนเหมือนแม่ แต่ขอให้รู้จักลงทุน เพราะการออมจะทำให้มีเงินเลี้ยงตัวเองได้ตลอด และหนูจะพบกับคำว่า..อิสระทางการเงิน"

เธอคัดหุ้นมาให้ลูกเลือกพร้อมเหตุผลและลูกสาวก็ตัดสินใจเลือกหุ้น "ค้าปลีก" ด้วยตัวเอง โดยให้เหตุผลว่าห้างสรรพสินค้ามีคนเข้าออกทุกวัน มากพอๆกับโรงพยาบาล ไม่เพียงออมเงินไว้ในตลาดหุ้นเท่านั้น เธอยังมีอีกกระปุกเก็บเงินไว้ซื้อสิ่งของที่อยากได้ โดยมีเหตุผลว่าการลงทุนต้องฝึกฝนกันตั้งแต่เด็กๆ เปรียบเสมือนภาษาอังกฤษที่ต้องบ่มกันตั้งแต่ยังเล็กโตขึ้นถึงจะสบาย

เจ้าของนามแฝง "KIRI" ในเวบไซต์ไทยวีไอ ย้อนประวัติส่วนตัวให้กรุงเทพธุรกิจ BizWeek ฟังว่า เรียนจบคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร เกียรตินิยมอันดับ 2 เมื่อเรียนจบก็ไปฝึกงานเกี่ยวกับการแปลใน บริษัท สยามมิชลิน จากนั้นก็ออกมาเรียนต่อปริญญาโทคณะอักษรศาสตร์ ด้านการแปลวรรณกรรม ระหว่างนั้นก็ไปทำงานในบริษัท อัลคาเทล ผู้รับเหมาติดตั้งระบบเทเลคอม และจำหน่ายโทรศัพท์มือถือ ในตำแหน่งโอเปอร์เรเตอร์ รีเซฟชั่น และแอดมิน ทำงานได้ 1 ปี ก็ตัดสินใจลาออก คู่หมั้นที่เจอกันตอนทำงานในสยามมิชลิน ต้องบินไปทำงานที่ประเทศฝรั่งเศสปีกว่า ภาจึงตัดสินใจแต่งงานตอนอายุ 24 ปี แล้วบินไปด้วยกัน

"ตอนนั้นเศร้ามากที่เรียนไม่จบปริญญาโท ทั้งๆ ที่อีกไม่กี่เดือนก็จะจบแล้ว ช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส ด้วยสถานะของวีซ่าไม่สามารถทำงานได้ แต่ไม่อยากอยู่เฉยๆ จึงไปลงเรียนหลักสูตรภาษาฝรั่งเศส สำหรับนักศึกษาต่างประเทศ 4-5 เดือน และกะว่าเมื่อเรียนจบจะไปท่องยุโรปก่อนกลับเมืองไทย สุดท้ายผ่านมา 11 เดือน สามีไม่ชอบใช้ชีวิตอยู่ในเมืองนอกจึงขอเร่งคอร์สการทำงานเพื่อกลับเมืองไทยเร็วขึ้น"

พอกลับมาเมืองไทย ภาไปทำธุรกิจเกี่ยวกับกาแฟโบราณ ภายใต้แบรนด์ "อาร์บีคอฟ" เป็นธุรกิจของครอบครัวสามี เขามีโรงงานกาแฟ แถวชลบุรี ทำได้ไม่นานก็เลิก เพราะอยากทำธุรกิจที่ใหญ่กว่านี้ บังเอิญมีโอกาสได้คุยกับคุณอาของสามี เขาทำธุรกิจขนส่งดูน่าสนใจจึงตัดสินใจขายบ้านย่านศรีราชาที่ไม่ได้อยู่อาศัยได้เงินมาล้านกว่าบาท แล้วไปยืมเงินพ่อแม่ของแฟนมาอีก 2 ล้านกว่าบาท เพื่อมาซื้อรถบรรทุก 2 คัน ทำธุรกิจขนส่งสินค้า มีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท ตอนนั้นมีพนักงาน 7 คน

"ธุรกิจประสบความสำเร็จมาก มีเงินสดเข้าบริษัททุกเดือน คิดเป็นรายได้ตก 200,000 กว่าบาทต่อเดือน ตอนนั้นอายุ 27-28 ปี ทำได้เกือบ 2 ปี ก็เลิก เริ่มทำงานยากขึ้นมีคนอยากทำธุรกิจนี้ค่อนข้างมาก บางคนไม่จ้างพนักงานทำเองทั้งหมดทำให้เขามีต้นทุนไม่สูง อีกอย่างเริ่มสนใจการลงทุนในตลาดหุ้นแล้ว"

เธอเล่าถึงจุดเริ่มต้นเข้าสู่ตลาดหุ้นว่า สามีและเพื่อนๆนักลงทุนชวนไปฟังงานสัมนา ตั้งแต่สมัยที่ มนตรี นิพิฐวิทยา (อดีตคอลัมนิสต์ Value Way) เป็นประธานเวบไซต์ไทยวีไอ ฟังเสร็จรู้สึกประดับใจ มีคนกลุ่มหนึ่งสนใจในสิ่งเดียวกันทั้งๆ ที่ไม่ได้รู้จักกัน ไม่ได้ทำงานหรือเรียนด้วยกัน แต่เขาเหล่านั้นสามารถนั่งคุยเรื่องเดียวกันได้อย่างออกรสชาติ

ก่อนจะมาฟังงานสัมมนามีโอกาสได้อ่านหนัง “ตีแตก” ของ ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร อ่านจบรู้สึก..เฮ้ย!! การลงทุนมันเป็นวิธีทำงานอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ขึ้นอยู่กับการเก็งกำไร อาจารย์จะสอนวิธีการเลือกหุ้นว่า ต้องเลือกธุรกิจที่มีความแข็งแกร่ง และต้องมีความเป็นไปได้จริงๆ ว่าธุรกิจของเขาจะสร้างกำไร ดร.นิเวศน์ ยังสอนให้รู้จักคำว่า Margin of Safety (ส่วนเผื่อความปลอดภัย) สอนวิธีประเมินมูลค่าแบบง่ายๆ ด็อกเตอร์ทำให้ภารู้ว่า..ถึงเราไม่ได้เก่งเลข แต่ถ้าเข้าใจธุรกิจ ก็สามารถพัฒนาตัวเองด้านการลงทุนได้เหมือนกัน

เมื่อเริ่มคุ้นเคยกับการลงทุนมากขึ้น ด้วยการเดินสายไปฟังงานสัมมนาต่างๆ รวมถึงอ่านกระทู้ในห้อง "ร้อยคนร้อยหุ้น" ในเวบไซต์ ไทยวีไอ เรียกว่าหาความรู้ให้มากที่สุด หลังจากนั้น 6 เดือน สามีก็ตัดสินใจลงทุน น่าจะเป็นช่วงสิ้นปี 2549 ซึ่งภาก็ลงทุนร่วมด้วย โดยไปเปิดพอร์ตกับ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) วงเงิน 200,000 บาท นำเงินที่ได้จากการทำธุรกิจขนส่งมาลงทุน

เธอเล่าว่า ช่วงแรกๆ มีหุ้นในพอร์ต 2-3 ตัว ภาเลือกเองจริงๆ หุ้นถ่านหินไซด์เล็ก เพราะเห็นว่าหุ้นพลังงานช่วงนั้นขึ้นมาเยอะมาก หุ้น ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) เป็นตัวแรกที่สามีภรรยาช่วยกันเลือก เรียกได้ว่าประสบความสำเร็จมาก มูลค่าพอร์ตเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนปี 2551 นอนกินเงินปันผลอย่างเดียวก็สามารถเลี้ยงคนทั้งครอบครัวได้แล้ว

กลยุทธ์หลักๆ เน้นซื้อหุ้นที่มีผลประกอบการเติบโตปีละ 20% เช่น กลุ่มพร็อพเพอร์ตี้ และอุตสาหกรรมต่างๆ ฯลฯ ที่เหลือจะดูคุณภาพของหุ้น เช่น ความสามารถในการดำเนินกิจการ รวมถึงดูมาร์จิ้น (กำไรขั้นต้น) ด้วย แต่ไม่ได้กำหนดว่าต้องมีระดับเท่าไร โดยจะนำมาร์จิ้นของบริษัทที่สนใจไปเทียบกับคู่แข่งว่าทำดีกว่าหรือเปล่า! จากนั้นจะดูพวกค่าใช้จ่ายว่าทำได้ดีหรือไม่ และดูว่าธุรกิจใหม่ๆ สาขาใหม่ โปรโมชั่น หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่เขาทำจะสามารถทำให้บริษัทเติบโตอย่างยั่งยืนได้หรือไม่

ในระหว่างที่ลงทุน Full Time เธอมีอะไรให้ทำอีกอย่าง คือสละเวลา 5-6 เดือน ไปสอนหนังสือในโรงเรียนเทศบาล 2 วัดเสนานฤมิตร อำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี แต่ก็ยังดูแลพอร์ตเหมือนเดิม นอกจากนั้นมีโอกาสไปทำงานเป็นเลขาใน “สยามมิชลิน” ปีกว่า แต่ก็ลาออกตอนปี 2554 เพราะพอร์ตเริ่มใหญ่ขึ้นต้องมีคนดูแล

"ภาเริ่มเปิดพอร์ตชื่อตัวเองตอนปี 2552 ไม่ได้ดังแล้วแยกวงนะ! พอร์ตของครอบครัวก็ยังดูแลอยู่เหมือนเดิม ตอนนั้นเปิดพอร์ตกับ บล.ภัทร กลยุทธ์เน้นกระจายการลงทุนแบบอนุรักษ์นิยม วิธีการลงทุนส่วนใหญ่ยังเหมือนเดิม เปลี่ยนแปลงตรงที่ไม่เน้นบริษัทที่เติบโตปีละ 20% แล้ว แต่จะชอบบริษัทที่มีผลประกอบการขยายตัวสม่ำเสมอ และรายได้ไม่ผันผวน ภาจะทำตารางประมาณการผลประกอบการล่วงหน้า 1-2 ปี ถ้าข้อมูลมากจะทำยาวกว่านั้น เมื่อเรามีข้อมูลจะทำให้การลงทุนมีประสิทธิภาพมากขึ้น"

คุณแม่วัย 34 ปี บอกว่า ตอนนี้มีหุ้นกลุ่มค้าปลีก หุ้นโรงพยาบาล และหุ้นพร็อพเพอร์ตี้ ที่เหลือเป็นหุ้นที่กำลังเติบโต ถามว่า “รัก” กลุ่มไหนมากสุด เวลานี้ต้องยกให้ "หุ้นค้าปลีก" แม้ค่า P/E จะสูงมาก แต่ถ้าถือยาวผลตอบแทนโอเคเลย เพราะความเสี่ยงต่ำ แถมผลประกอบการยังเติบโตสม่ำเสมอ

ที่สำคัญนักลงทุนสามารถติดตามความ “ฮอต” ของบริษัทได้จากการเดินไปตามสาขาต่างๆ ถ้าคนเข้ามาซื้อของเยอะ ขายดีแน่นอน เมื่อก่อนเคยเห็นหุ้นค้าปลีกบางตัวมีผลประกอบการขยายตัวสูงถึง 50% ฉะนั้นการที่ ดร.นิเวศน์ เคยบอกว่า หุ้นกล่มุนี้ยังคงน่าลงทุนมันถูกต้องแล้ว "หุ้นค้าปลีกเปรียบเป็นหุ้นสามัญประจำบ้านที่ทุกครอบครัวต้องมี” (หัวเราะ)

หุ้นกลุ่มโรงพยาบาล เป็นอีกตัวที่ “หลงรัก” ธุรกิจที่อยู่กับความจำเป็นของคน เราป่วยรักษาตัวเองไม่ได้อยู่แล้ว รพ.เอกชนในเมืองไทยมีอนาคตมากๆ คนมีรายได้สูงขึ้นเขาอยากซื้อความสะดวกสบาย อยากซื้อเวลา จะให้ไปนั่งรอคิวโรงพยาบาลของรัฐบาลคงไม่ไหว ปกติธุรกิจโรงพยาบาลขนาดใหญ่จะมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 11% ต่อปี

เธอยังชอบหุ้นพร็อพเพอร์ตี้ บริษัทขนาดใหญ่มีแนวโน้มจะกินมาร์เก็ตแชร์รายเล็กๆอีกมาก แต่ละเจ้าเขาเก่งเรื่องการตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค อีกอย่างธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ไม่เกี่ยวข้องกับเศรษฐกิจโลก แต่จะเกี่ยวข้องกับการบริโภคภายในประเทศ ทำให้ค่อนข้างปลอดภัย ถ้าจำเป็นต้องซื้อบ้าน ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ต้องซื้อ

ถามว่าวันนี้มูลค่าพอร์ตหลักอะไร เธอหัวเราะก่อนบอกว่า ผลตอบแทนทุกวันนี้เป็นที่น่าพอใจมาก ทั้ง 2 พอร์ต (พอร์ตชื่อสามีและของตัวเอง) เติบโตทุกปีเฉลี่ย 15% ขึ้นไป พอร์ตหลักอะไรมันไม่สำคัญแล้วละ! ขอแค่สามารถเลี้ยงคนในครอบครัวได้ก็พอใจแล้ว ตอนนี้ทั้ง 2 พอร์ตมีหุ้นรวมกันจนจะกลายเป็น SET50 อยู่แล้ว เรามองพอร์ตของครอบครัวเป็นกองทุน ถ้ามั่นใจในการทำธุรกิจ และวิธีการทำรายได้ของบริษัทก็ลงทุนเลย แม้จะไม่รู้ว่าอีกนานแค่ไหนกว่าจะมีคนมาเห็นคุณค่าเหมือนที่เราเห็นก็ตาม

หุ้นทุกตัวเราคัดสรรมาดีแล้ว แต่ในพอร์ตจะมีหุ้น 2 เกรด คือ ประเภท "ดิวิชั่น 1" และ "ดิวิชั่น 2" พวกเกรด 2 จะเปลี่ยนเป็น 1 ได้หรือไม่ ก็เป็นไปได้ แต่คงไม่ใช่ซูปเปอร์สต็อก เราแบ่งหุ้น "ดิวิชั่น 1" และ "ดิวิชั่น 2" อย่างละครึ่ง แบบ 1 เรามองว่าธุรกิจมั่นคง รายได้ไม่ผันผวนมาก ทำธุรกิจอิงการเติบโตของเศรษฐกิจภายในประเทศ ผู้บริหารต้องเป๊ะ! (เก่ง) มาก ธรรมาภิบาลเป็นที่ยอมรับของคนในสังคม ส่วนดิวิชั่น 2 เป็นพวกหุ้น "เทิร์นอะราวด์" และหุ้น "อันเดอร์ แวลู" ธุรกิจงั้นๆ

เซียนหุ้นวีไอ ทิ้งท้ายว่า ตั้งแต่ลงทุนในตลาดหุ้น ได้บทเรียนการลงทุนหลายเรื่อง โดยเฉพาะในช่วงเกิดวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ มันสอนให้เรารู้จักรับมือ ช่วงนั้นทุกคนเป็นเหมือนกันหมด คือราคาหุ้นลงมาเยอะมาก สิ่งแรกที่ต้องทำคือ เราต้องคุมอารมณ์ให้อยู่ อย่าทำให้ข่าวร้ายมาทำให้เสียใจจนล้มเลิกการลงทุน ที่สำคัญเราต้องเก็บใจให้ปลอดภัยจากตลาดหุ้น

เมื่อหุ้นมันลงมาขนาดนั้น เวลาดัชนีและหุ้นกลับตัวมันจะขึ้นแรง ฉะนั้นเมื่อมีสมมติฐานว่าทุกอย่างจะดีขึ้น ก็ควรกลับไปดูว่า ธุรกิจอะไรไม่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติ ส่วนใหญ่ก็เป็นธุรกิจที่มีรายได้จากการบริโภคภายในประเทศ ตอนนั้นก็เจอบริษัทที่ยอดขายไม่ได้รับผลกระทบเลย เป็นกลุ่มอสังหาริมทรัพย์บางตัว และค้าปลีก

“อยากฝากบอกนักลงทุนว่า ให้มองการลงทุนเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจจริงๆ มองไปในรูปแบบระยะยาว เพราะเราจะได้เห็นว่า บริษัทนั้นมีการเติบโตแบบที่คาดการณ์หรือไม่...อย่าใจร้อนขายก่อน จงอย่ามองตลาดหุ้นเป็นเพียงหน่วยลงทุน ไม่เช่นนั้นจะหาความสุขไม่ได้เลย” เซียนหุ้นวัย 34 ปี กล่าวเตือน





____________________________________________________




วันที่ 9 ตุลาคม 2555

'ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ' นักถอดงบการเงิน 'ผู้ปราดเปรื่อง'

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์




เซียนหุ้นพอร์ตใหญ่ 'เลข 9 หลัก' ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ ชื่อชั้นระดับ 'ยอดฝีมือ' ในวงการตลาดหุ้น ใครๆ ก็ยกให้เขาเป็น 'หมองบการเงิน'...คนนี้แหละ!! ที่วงการ 'วีไอ' ยกให้เป็น 'นักถอดงบการเงิน' เก่งโครตๆ



ในวงการวีไอร่ำลือว่า “ฉัตร” ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอรายนี้พอร์ตลงทุนใหญ่ ตัวเลขน่าจะไม่ต่ำกว่า 500 ล้านบาท คำบอกเล่าของสาวกวีไอบางคนระบุว่า ฉัตรชัยชอบให้ความรู้ผู้อื่น ทำหนังสือสอนวิธีแกะงบการเงินแจกคนใกล้ชิด ใครอยากถอดงบการเงินคล่องๆ ต้องไปหาเขา

“ไก่” ธันวา เลาหศิริวงศ์ นายกสมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่าประเทศไทย คอนเฟิร์มว่า ฉัตรชัยเก่งเรื่องเจาะลึกงบการเงิน ที่ผ่านมาเขาเคยตั้งกระทู้เกี่ยวกับเรื่องนี้ มีคนเข้ามาดูเยอะมาก ทางสมาคมฯ จะเปิดให้เขามาสอนสมาชิกเร็วๆ นี้..ปัจจุบัน ฉัตรชัย เจ้าของนามแฝง CHATCHAI ในเว็บไซต์ "ไทยวีไอ" มีบทบาทเป็น เลขานุการสมาคมฯ นิสัยเป็นคนเที่ยงตรง จะคอยดูแลข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อนักลงทุน

ชายผิวขาววัย 44 ปีรายนี้ มีนัดหมายกับกรุงเทพธุรกิจ BizWeek เวลา 10 โมงตรง ณ ร้านกาแฟ เซ็ทเทรด ดอท คอม เขาส่งยิ้มทักทายอย่างเป็นมิตร พร้อมนั่งลงตอบคำถาม “พี่ฉัตรมีพอร์ตลงทุนใหญ่ 500 ล้านบาท อย่างเขาว่ากันรึเปล่า!!!” เจ้าตัวหัวเราะ ก่อนตอบว่า “ใครบอกไม่ถึง..มั่วล่ะ!! ผิดคนรึเปล่า! พอร์ตผมก็แค่เกือบแตะ 9 หลักเท่านั้น”

ฉัตรชัย ย้อนประวัติชีวิตวัยเด็กก่อนมาเป็น “เซียนหุ้นรายใหญ่” ให้ฟัง..ตั้งแต่จำความได้ก็วิ่งเล่นอยู่แถวย่านวรจักร ซึ่งเป็นทั้งที่อยู่อาศัยและแหล่งทำมาหากินของครอบครัว คุณพ่อท่านเป็นคนจีนโบราณ มักเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ ตามโอกาสและสถานการณ์ ท่านเคยทำร้านทอง ร้านตัดผม ปั๊มน้ำมัน ตอนนี้ไม่ได้อาศัยอยู่ที่นั่นแล้วย้ายออกมาอยู่กับภรรยาและลูกสาว 2 คน (คนโตอายุ 13 ปี คนเล็กอายุ 11 ปี) แถวนั้นน้ำท่วมถึงหน้าแข้ง (หัวเราะ) ต้องพากันอพยพมาอยู่คอนโดมิเนียมแถวพญาไท

"ผมไม่ชอบท่องจำ แต่รักการคำนวณตัวเลขเป็นชีวิตจิตใจ จึงตัดสินใจปูพื้นฐานตัวเองด้วยการเลือกเรียนสายวิทย์-คณิต โรงเรียนเซนต์คาเบรียล ผมเรียนตั้งแต่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 จนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย จากนั้นก็เข้าเรียนคณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาวิศวกรรมอุตสาหการ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย อยู่รุ่น 70 มีเพื่อนร่วมรุ่นเป็น “เอ็มดี” คนปัจจุบันของ บมจ.เอ็ม เอฟ อี ซี (MFEC) เขาเรียนอยู่แผนกคอมพิวเตอร์ หลังเรียนจบไม่นานก็ไปศึกษาต่อปริญญาโท หลักสูตรบริหารธุรกิจ (MBA) ภาคค่ำ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เพราะเริ่มอยากรู้เรื่องเกี่ยวกับการเงิน ตอนนั้นผมเริ่มสนใจการลงทุนแล้ว แต่เดี๋ยวจะเล่าให้ฟัง ทำไมถึงสนใจตลาดหุ้น”

ในช่วงที่เรียนปริญญาตรีปี 2 ฉัตรชัย เริ่มรู้สึกตัวว่าแท้จริงแล้วไม่ได้อยากเรียนวิศวะ แต่รักที่จะเรียนเกี่ยวกับธรุกิจและบัญชีมากกว่า เพราะช่วงนั้นชอบอ่านหนังสือพิมพ์เกี่ยวกับธุรกิจ โดยเฉพาะหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ เคยคิดจะย้ายคณะแต่ด้วยความเสียดายเวลา ทำให้หันมาเลือกเรียนวิชาอุตสาหการ ซึ่งจะเรียนเกี่ยวกับการบริหารโรงงานแทน พอเรียนจบปริญญาตรีตอนปี 2533 ก็ไปทำงานเกี่ยวกับผู้เชี่ยวชาญระบบคอมพิวเตอร์ใน บมจ.เมโทรซิสเต็มส์คอร์ปอเรชั่น (MSC) อยู่ตึกไอบีเอ็ม เงินเดือน 7,000-8,000 บาท เขียนใบสมัครงานไว้ตั้งแต่เรียนอยู่ปี 4 เพราะคุณอารู้จักกับผู้บริหาร MSC เขาบอกว่า บริษัทกำลังรับสมัครฝ่ายวิศวกรรม ท่านก็มาชวนผม (เมื่อก่อนคุณอาทำงานอยู่ใน บมจ.ไทยเซ็นทรัลเคมี (TCCC) ซึ่งอยู่ตึกเดียวกับ MSC)

จุดเริ่มต้นที่ทำให้อยากลงทุนในตลาดหุ้นนั้น ย้อนกลับไปตอนปี 2533 เขาอ่านหนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ สมัยนั้นจะมีคอลัมน์ที่นำหนังสือของ “ปีเตอร์ ลินซ์” มาแปล (ฉบับแปลและเรียบเรียงโดยสุทธิชัย หยุ่น) ลงอาทิตย์ละตอน ซึ่งเขาติดตามอ่านตลอด รู้สึกว่ามีเหตุมีผล พอมีการรวมเป็นเล่มก็ไปซื้อ เมื่ออ่านไปเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้สึกว่า “เออ!..เรื่องนี้มันถูกกับเรา”

หลังจากศึกษาการลงทุนอยู่ไม่นาน ก็ตัดสินใจนำเงินเก็บประมาณ 20,000 บาท มาเล่นหุ้นในพอร์ตของคนรู้จัก ตอนนั้นยังไม่สามารถเปิดพอร์ตเป็นของตัวเองได้เพราะการเปิดบัญชียุ่งยาก เขาบอกว่า หุ้น ยูนิคอร์ด (UCT) ทำธุรกิจปลาทูน่ากระป๋องส่งออก เป็นหุ้นตัวแรกที่ตัดสินใจซื้อ ได้มาประมาณ 200 หุ้น ราคาหุ้นละ 118 บาท หุ้น UCT ล้มละลายไปแล้ว หลังเจ้าของบริษัท ดำริห์ ก่อนันทเกียรติ ยิงตัวตาย เมื่อปี 2538 เพราะเจอมรสุมหนี้ 7,000 ล้านบาท

"ถามว่าทำไมตอนนั้นเลือก “จิ้ม” หุ้น UCT เล่าไปแล้วก็ขำตัวเอง บังเอิญว่าเจ้าของเขาเป็นศิษย์เก่าวิศวะ ซึ่งผมไม่ได้รู้จักเขา แต่ตอนนั้นทางคณะพานักศึกษาไปเยี่ยมชมโรงงานของเขา ช่วงนั้น UCT เขาดังเป็นพุลแตก เพราะเป็นบริษัทไทยแห่งแรกที่เข้าไปเทคโอเวอร์บริษัทยักษ์ใหญ่ในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นเคสที่ดังมาก ทำให้ผมคิดว่าเจ้าของบริษัทนี้ท่าจะเก่ง ดูยิ่งใหญ่ อนาคตสงสัยจะดี (หัวเราะ)"

ฉัตรชัย บอกตรงๆ ตอนโน้นซื้อหุ้นไม่เคยดูงบการเงิน ยิ่ง P/E แทบไม่ได้สนใจ เพราะเมื่อก่อนตลาดหุ้นยังเป็นระบบเคาะกระดาน ระบบอินเตอร์เน็ตยังไม่มีใช้ ทำให้การหาข้อมูลทำได้ยากมาก ถ้านักลงทุนอยากได้ข้อมูลงบการเงินต้องไปเสียเงินขอก็อปข้อมูลใส่แผ่นดิกส์ที่ตลาดหลักทรัพย์ หรือหากอยากฟังราคาหุ้นต้องรอฟังในรายการวิทยุระบบ AM ซึ่งเขาจะรายงานราคาหุ้นทุกครึ่งชั่วโมง หากพลาดต้องรอฟังอีกครึ่งชั่วโมงต่อไป ยิ่งใครอยากได้หุ้นแล้วโทรไปสั่งซื้อกับมาร์เก็ตติ้ง ไม่ได้หมายความว่าคุณได้แล้วนะ ต้องรอตลาดหุ้นปิดแล้วเขาจะโทรมาบอกว่าที่สั่งไปเนี่ยได้รึเปล่า

"เล่นหุ้นสมัยก่อนเข้าถึงข้อมูลยากจริงๆ ขนาดเข้าสู่ยุคโทรศัพท์มือถือ และเพจเจอร์ ก็ใช่ว่าจะง่าย คุณต้องเสียค่าใช้จ่ายเดือนละ 1,500 บาท เพื่อให้เขารายงานหุ้นผ่านเพจเจอร์ ราคาเครื่องก็ปาเข้าไปเป็นหมื่นบาท ยิ่งใครอยากได้บทวิเคราะห์ยิ่งยากเข้าไปใหญ่ คุณต้องเป็นนักลงทุนรายใหญ่เท่านั้นถึงจะได้อ่าน"

เขายอมรับอย่าง “ไม่อาย” ว่า ผลการลงทุนในช่วง 2-3 เดือนแรกออกแนว “เจ๊ง” (หัวเราะ) เพราะเจอเหตุการณ์สงครามอ่าวเปอร์เซียเล่นงาน ดัชนีและราคาหุ้นล่วงกว่า 30% ยิ่งราคาหุ้น UCT ยิ่งแย่ “หล่นตุ๊บ” จาก 118 บาท เหลือเพียง 10 กว่าบาท ภายในระยะเวลาไม่นานมาก แต่เขาก็ไม่รู้สึก “เข็ด” เพราะยังลงทุนน้อย ตรงข้ามกลับมองว่าหุ้นมันตกทั้งตลาด ทุกคนก็โดนเหมือนกันหมด หุ้นตกเดี๋ยวมันก็ขึ้น

เมื่อตลาดหุ้นย่ำแย่ ก็เลยหันไปซื้อๆขายๆ หุ้นแบงก์ ไฟแนนซ์ เรียกว่าเล่นตามกระแสข่าวรายวัน ผลออกมา ก็มีทั้ง “ขาดทุน กำไร เสมอตัว” เล่นหุ้นแบบตามสตอรี่ได้ 3-4 ปี ก็เริ่มรู้สึกตัวว่า ไม่เห็นได้อะไรจากการเล่นหุ้นลักษณะนี้

"ผมจึงตัดสินใจลาออกจากงานใน MSC เพื่อมาเรียนต่อปริญญาโทตอนปี 2537 ด้วยความหวังว่า อยากรู้เรื่องเกี่ยวการเงิน บัญชี แบบให้ถูกสเตป เพราะซื้อหนังสือมาอ่านเองมันไม่เข้าใจ ปะติดปะต่อเรื่องราวไม่ได้ มันขาดความมั่นใจ เมื่อเรียนปริญญาโทปี 2 ก็มีโอกาสได้เรียนวิชาเศรษฐศาสตร์มหภาค ทำให้เข้าใจถึงปัญหาค่าเงินบาท ตอนนั้นเริ่มรู้แล้วว่า ประเทศกำลังจะเจอปัญหาหนัก จึงตัดสินใจล้างพอร์ตได้เงินกลับมาหลักแสนบาท"

หลายคนคงคิดว่า เงินก้อนนั้นเป็น “กำไร” ที่ได้จากการลงทุนล้วนๆ แต่เปล่าครับ!..เขาบอก มันเป็นเงินที่เติมไปเรื่อยๆ โชคดีมากที่ขายหุ้นออกหมด แม้จะไม่ได้กำไรมากมาย แต่ก็ได้ประสบการณ์กลับมาเพียบ!! ในระหว่างที่เรียนปริญญาโท ก็มีโอกาสใช้ช่วงเวลาสั้นๆประมาณ 1 ปีกว่า ไปทำงานในเครือของผู้จัดการเกี่ยวกับการขายระบบข้อมูล พอเขาเปลี่ยนผู้บริหารก็ลาออกไปทำงานตำแหน่งเจ้าหน้าที่สินเชื่อ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา สำนักงานใหญ่ เพราะหัวหน้าเก่าแนะนำ ทำงานแบงก์ได้ 4-5 ปี ก็ลาออกตอนปี 2544

เขาเล่าต่อว่า ก่อนจะลาออกจากแบงก์ตอนปี 2542 ก็หวนกลับมาลงทุนในตลาดหุ้นอีกครั้ง ตอนนั้นดัชนียืนแถวๆ 200 จุด โดยหอบเงินหลักแสนมาเปิดพอร์ตลงทุนกับ บงล.พูนพิพัฒน์ เพราะรู้มาว่า ภาวะเศรษฐกิจเมืองไทยกำลังจะผ่าน “จุดเลวร้าย” ตอนนั้นเลือกซื้อใบสำคัญแสดงสิทธิ บล.เอกธำรง (S-ONE-W3) ประมาณ 1 ล้านหน่วย ราคา 0.60 บาท เพราะเห็นว่าเขาไม่มีหนี้ ความเสียหายจากปี 2540 เคลียร์ไปหมดแล้ว เท่าที่ดูทุนบริษัทแล้วยังไงเขาก็อยู่ได้ สาเหตุที่เลือกซื้อวอร์แรนท์ เพราะราคาขึ้นเร็วมากเมื่อเทียบกับหุ้นแม่ และราคาตัวแม่แพงกว่าวอร์แรนท์ 1-2 บาท โชคดีที่ไม่ได้แปลงวอร์แรนท์ เพราะผ่านมา 3 เดือน ขายไป 3.60 บาท ได้กำไรมา 5 เท่า

เมื่อรู้สึกว่า เรามาถูกทาง ก็เริ่มไปไล่ซื้อหุ้นพื้นฐาน แต่เป็นบริษัทไม่ค่อยดังเท่าไร เช่น หุ้น โอเชียนกลาส (OGC) หุ้น ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) หุ้น แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) และหุ้น ไทยแลนด์ไอออนเวิคส์ (TIW) เป็นต้น ช่วงนั้นได้ผลตอบแทนจากการลงทุนดีมากเฉลี่ย 50% ผ่านมา 1-2 ปี พอร์ตการลงทุนเติบโตขึ้นจาก “หลักแสนบาท” เป็น “หลักล้านบาท”

"กลับมาครั้งนั้นผมตั้งใจจะลงทุนเพียง “หุ้นพื้นฐาน” อย่างเดียว ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าลงทุนแบบนี้ เขาเรียกว่าแนว VI รู้เพียงว่าต้องลงทุนหุ้นพื้นฐานเหมือน “ปีเตอร์ ลินซ์” เท่านั้น “ปีเตอร์ ลินซ์” เขาเป็นผู้บริหารกองทุนแม็คเจ็ลลันที่สามารถสร้างผลตอบแทนที่สูงถึง 29% แบบทบต้นในระยะเวลา 13 ปี ช่วงนั้นผมพยายามบอกคนรู้จักให้ลงทุนหุ้นพื้นฐาน แต่เขาไม่เชื่อ ทั้งๆ ที่เห็นว่าเราได้กำไร เพราะช่วงนั้นหลายคนยังมีความเชื่อว่าเล่นหุ้นต้องเล่นตัวที่มีเจ้ามือเท่านั้น ผมก็เลยต้องปล่อยเขาไป"

เซียนหุ้นพอร์ต 9 หลัก เล่าว่า เคยขาดทุนหุ้นตัวหนึ่ง ไม่ขอเอ่ยชื่อ หุ้นตัวนั้นพื้นฐานดี งบการเงินดี แต่เสียตรงที่ผู้บริหารไม่ซื่อตรง ตอนเข้าไปฟังข้อมูลบริษัทก็เริ่มรู้แล้วล่ะ! เพราะถามอะไรไปเข้าตอบไม่เต็มปาก สุดท้ายจึงต้องยอมขายขาดทุน 10-20% แรกๆ ที่หันมาลงทุนแนว VI พอร์ตยังมีแต่หุ้นไซด์เล็กที่ไม่ค่อยขยับเขยื้อนเท่าไร ตรงกันข้ามกับหุ้นกลุ่มแบงก์ที่วิ่งขึ้นทุกวัน ตัวเองยังเคยแอบเผลอใจอยากขายหุ้นตัวเองทิ้งแล้วไปเล่นหุ้นแบงก์ แต่วันหนึ่งก็คิดได้ว่าไม่เอาดีกว่า โชคดีช่วงนั้นทำงานแบงก์ทำให้รู้ว่า แท้จริงแล้วแบงก์ไม่ได้ดีมากขนาดนั้น ซึ่งการขึ้นของตลาดหุ้นในครั้งนั้นมันไม่ปกติ

"นักลงทุนสมัยใหม่อยาก “รวยเร็ว” ทำให้คนบางคนเข้าไปเสี่ยงเล่นหุ้นเก็งกำไร เชื่อผมสิ! มันไม่ได้อะไรนอกจากความสนุก ถ้าอยากรวยในตลาดหุ้นพวกคุณควร “อดทนรอ” อย่าเร่งรีบ..เดินไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ถึงเป้าหมาย" ฉัตรชัย กล่าวทิ้งท้าย ก่อนเริ่มต้นเล่ากลยุทธ์การลงทุนที่ BizWeek จะนำเสนอต่อในสัปดาห์หน้า
_________________________________________________




วันที่ 23 ตุลาคม 2555

'ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ' วิเคราะห์หุ้น 'รวย'! จากงบการเงิน

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์



อยากเล่นหุ้นได้กำไรต้องอ่านงบการเงินให้ 'ขาดกระจุย' ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้น VI เจ้าของพอร์ต 'เลข 9หลัก'



ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอ วัย 44 ปี เป็นที่ร่ำลือว่ามีความสามารถในการ "ถอดงบการเงิน" เป็นเลิศ เขามีข้อได้เปรียบตรงที่ว่าเคยผ่านงานธนาคารต้องวิเคราะห์สินเชื่อลูกค้าว่ามีกำลังผ่อนชำระคืนแบงก์ได้หรือไม่ เขานำประสบการณ์ตรงนั้นบวกกับความรู้ที่ร่ำเรียนมาวิเคราะห์งบการเงินของบริษัทในอนาคต 3-5 ปีข้างหน้า ความสามารถนี้เองที่ทำให้เขาสร้างผลตอบแทนในตลาดหุ้นได้อย่างงดงาม

เขาเล่าว่า หลังจากค้นพบแนวทางของตัวเอง การเล่นหุ้นก็เริ่มได้กำไรเป็นกอบเป็นกำ ในอดีตเคยมีประสบการณ์ "ถือหุ้นตัวเดียว" นานถึง 8 ปี คือ หุ้นไว้ท์กรุ๊ป (WG) โดยใช้ซื้อภรรยา (มยุรี วงแก้วเจริญ) ซื้อตอนปี 2544 เหตุผลที่ชอบหุ้นตัวนี้ เพราะมีกระแสเงินสดดี ซื้อหุ้น WG มาในราคา 13-14 บาท ขายไปตอนราคา 60 บาท (ปัจจุบันราคา 81-82 บาท) เพื่อไปซื้อหุ้นตัวอื่นที่คิดว่าดีกว่า เฉพาะเงินปันผลอย่างเดียวก็ "คืนทุน" หมดแล้ว ปีแรกๆ ซื้อราคา 13 บาท ปันผล 1 บาท ซึ่งปันผลของบริษัทปรับตัวเพิ่มขึ้นทุกปี จนปีหลังๆ จ่ายปันผลสูงถึงหุ้นละ 4 บาท

นอกจากกระแสเงินสดดีแล้วหุ้นตัวนี้ผลประกอบการเติบโตสม่ำเสมอ เนื่องจากไว้ท์กรุ๊ปมีสูตรเคมีภัณฑ์เฉพาะเป็นของตัวเอง ลูกค้าอยากได้แบบไหนบริษัททำได้หมด ทำให้มีความสามารถในการแข่งขันดีมากเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ที่สำคัญสมัยก่อนบริษัทนี้ ยังมีธุรกิจอื่นเสริมโดยเฉพาะธุรกิจโกดังให้ลูกค้าเช่าเป็นคลังสินค้า และมีสำนักงานให้เช่าแถวเอกมัย ทำให้เขามีกระแสเงินสด และมีมาร์จิ้นที่ดีขึ้น เพราะตึกมันลงทุนไปแล้วสามารถรับรู้รายได้ค่าเช่าอย่างต่อเนื่อง ซึ่งธุรกิจทั้งหมดทำให้ไว้ท์กรุ๊ป มีกำไรต่อหุ้นเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ช่วงที่เก็บหุ้น WG บริษัทนี้ยังไม่มีใครรู้จัก

ความแตกต่างจากเซียนหุ้นทั่วไป ฉัตรชัยจะทุ่มเงินลงทุนทั้งหมดในหุ้นที่เขามั่นใจเพียงไม่กี่ตัว เรียกว่า "จัดเต็ม" แบบไม่กลัวเสี่ยง..ถ้าเขามั่นใจ ปัจจุบันเขาถือหุ้นเพียงแค่ 2 ตัว โดยหุ้นตัวแรกถือ 90% ของพอร์ต อีกตัวถือ 10% ของพอร์ต

"ผมลงทุนไม่เหมือนคนอื่นเป็นคนซื้อหุ้นยากมาก ในรอบ 10 กว่าปีมานี้ถือหุ้นไม่กี่ตัว คนอื่นเขาเปลี่ยนไปเปลี่ยนมาแต่ผมจะถือหุ้นไปจนกว่าจะถึงเกณฑ์ที่ตั้งเอาไว้ ในอดีตเคยถือหุ้นมากที่สุดแค่ 4 หุ้น ผมมันพวก “สเปกเยอะ” ถ้ามั่นใจตัวไหนผม “จัดเต็ม” อย่างตอนนี้มีหุ้นอยู่ในมือแค่ 2 ตัว ใครเป็นมาร์เก็ตติ้งผมไม่ค่อยได้ค่าคอมมิชชั่นเท่าไร"

แม้ฉัตรชัยจะไม่ยอมเปิดเผยรายชื่อหุ้นที่ซื้อ แต่จากการตรวจสอบของกรุงเทพธุรกิจ BizWeek พบชื่อ มยุรี วงแก้วเจริญ ภรรยาของ ฉัตรชัย ถือหุ้น ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) 6,801,000 หุ้น สัดส่วน 2.52% และหุ้น แมนดารินโฮเต็ล (MANRIN) จำนวน 500,000 หุ้น สัดส่วน 1.86% ปัจจุบันมีมูลค่ารวมประมาณ 130 ล้านบาท

ทำไม! ถึงซื้อหุ้น 2 ตัวนี้ เซียนหุ้นร้อยล้าน บอกเพียงว่า ตัวที่โฟกัส 90% ของพอร์ตอยู่กลุ่ม Commerce บริษัทไม่มีคู่แข่ง ทำธุรกิจสบายๆ ผู้บริหารเก่ง (บุญยง ตันสกุล) ถือหุ้นตัวนี้มานาน 2-3 ปีแล้ว ตอนนี้เขาโตเร็วมาก และยังมีช่องจะเติบโตเพื่อกินมาร์เก็ตแชร์เจ้าอื่นด้วย สมัยก่อนบริษัทนี้เคยผิดพลาดทำให้เขาล้ม ตอนนี้กำลังจะกลับมาบุกตลาดอีกครั้ง จากการวิเคราะห์งบการเงินในช่วง 3 ปีข้างหน้า มั่นใจว่าบริษัทนี้จะขยายตัวสม่ำเสมอทุกปี

ส่วนหุ้นอีกตัวที่โฟกัส 10% อยู่ในกลุ่มโรงแรม ถือหุ้นมาแล้ว 2 ปี หุ้นตัวนี้ไม่ได้เข้าข่ายกลยุทธ์ไม่มีคู่แข่ง หรืองบการเงินดีเท่าไร จริงๆ ไม่ค่อยอยากจะพูดเท่าไร ตอนที่ซื้อหุ้นตัวนี้ เพราะเห็นว่าบริษัทสามารถต่อสัญญาเช่าที่ดินแถวสามย่าน ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงแรมกับเจ้าของที่ดินได้ เห็นว่าทำเลค่อนข้างดีก็เลยซื้อหุ้นเก็บไว้ ช่วงนั้นคิดว่าจะถือไว้สัก 3 ปี น่าจะได้กำไร ปัจจุบันบริษัทนี้มีโรงแรมในกรุงเทพ 1 แห่ง และที่เขาใหญ่ 1 แห่ง

“ผมเชื่อว่าหุ้น 2 ตัวนี้ (SINGER, MANRIN) จะสร้างผลตอบแทนที่ดีในอนาคต แม้วันนี้หุ้นตัวหนึ่งจะปันผลน้อยเมื่อเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์ เขาต้องนำเงินไปลงทุนขยายกิจการหลังจากเพิ่งฟื้นตัว ส่วนอีกตัววันนี้ยังไม่มีเงินปันผล แต่ระยะยาวน่าจะดี..ผมอดทนรอได้”

เซียนหุ้นวีไอวัย 44 ปี กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ตอนนี้ อยู่ตรงที่ส่วนใหญ่ “แพงมาก" แล้ว ซึ่งตนเองชอบซื้อหุ้นตอนราคาต่ำกว่าพื้นฐาน 50% ปัจจุบันหาได้ยาก หุ้นค้าปลีก หุ้นโรงพยาบาล ไม่สนใจแม้ธุรกิจจะดีแต่ราคาก็แพง ถ้าวันหนึ่งราคาลงมาอาจจะซื้อ การลงทุนแบบวีไอสำคัญที่ต้องประเมินมูลค่าหุ้นให้เป็น ก็เหมือนการซื้อรถยนต์ ถึงรถจะดีแต่ถ้าราคาแพงเกินไปก็ไม่ซื้อ "ของดี" อาจไม่ใช่ของที่ "ดีที่สุด" ก็ได้

ส่วนพวกหุ้นสินค้าโภคภัณฑ์ เขายอมรับว่า "ไม่ชำนาญ" วงจรธุรกิจสวิงมากเหมาะกับการ "เก็งกำไร" มากกว่าโอกาสพลาดมีสูง ส่วนหุ้น IPO ไม่ชอบเลย ฐานข้อมูลต่างๆ ยังน้อย ชอบหุ้นที่เห็นกันมานาน 5-10 ปีดีกว่า ปัจจุบันฉัตรชัย จะลงทุนผ่าน บล.เคที ซีมิโก้ และ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง เขาชอบแชร์ข้อมูลดีๆ ผ่านเว็บไซต์และชวนกันไปฟังข้อมูลจากผู้บริหาร

ถามว่าการลงทุนตั้งเป้าหมายไว้อย่างไร..? เขากล่าวว่า บอกตรงๆ ไม่เคยคิดเลย ตอนเริ่มเล่นหุ้นครั้งแรกมีคนเคยบอกว่า คนเล่นหุ้น 10 คน เจ๊ง 8 คน เสมอ 1 คน ได้กำไร 1 คน ส่วนตัวขอเป็น 2 ใน 10 คนที่ไม่เจ๊งก็พอ ทุกวันนี้ยึดอาชีพนักลงทุนอย่างเดียว ภรรยาเป็นแม่บ้าน มีลูกสาว 2 คน หลายคนอยากออกมาทำธุรกิจเล็กๆ ของตัวเอง การลงทุนในหุ้นก็เป็นเจ้าของกิจการได้เหมือนกัน แถมมีข้อดีมากกว่าด้วยเพราะถ้ากิจการไม่ดีเราสามารถขายหุ้นไปลงทุนกิจการใหม่ได้

ฉัตรชัย บอกว่า รู้สึกตะขิดตะขวงใจทุกครั้งเวลาฟังรายการวิทยุมีนักลงทุนโทรไปถามนักวิเคราะห์ว่าติดหุ้นตัวนี้ควรซื้อหรือขายดี นักวิเคราะห์ก็จะถามกลับว่าต้นทุนเท่าไร อยากถามว่าต้นทุนมันเกี่ยวอะไรกัน เราซื้อหุ้นต้องดูที่อนาคตไม่ใช่ต้นทุน สมมติติดหุ้นราคา 20 บาท ราคาตลาด 15 บาท แต่หุ้นมีโอกาสวิ่งไป 30 บาท ฉะนั้นคำแนะนำแบบนั้นมันใช้ได้มั้ย!

เขาบอกว่า เท่าที่สัมผัสนักลงทุนส่วนมากชอบ "สูตรสำเร็จ" การลงทุนไม่มีสูตรสำเร็จ และสูตรสำเร็จของแต่ละคนและแต่ละสถานการณ์ก็ไม่เหมือนกัน อยากจะเล่าให้ฟังสมัยก่อนตอนเกิดวิกฤติแบล็คมันเดย์ คนที่ทน "ถือหุ้น" หรือ "ซื้อเพิ่ม" เขาได้กำไรกันถ้วนหน้า เพราะหุ้นตกไม่นานก็ขึ้น พอมาวิกฤติปี 2540 คนก็ยังคิดว่าตลาดหุ้นจะเป็นแบบนั้นอีก ก็พากันแห่ไปไล่ซื้อ สุดท้ายหุ้นตกจาก 1,700 จุด ตกเหลือ 200 จุด

"สุดท้ายเจ๊งกันหมด บางบริษัทปิดตัวไปเลย ฉะนั้นคุณต้องรู้จักประเมินมูลค่าธุรกิจ และวิเคราะห์สถานการณ์ให้ออก การลงทุนมันไม่สูตรสำเร็จว่าถ้าเกิดวิกฤตแล้วต้องซื้อหุ้นเท่านั้น ขายเท่านี้..มันไม่มี"

เซียนหุ้นวีไอร้อยล้าน กล่าวปิดท้ายว่า กลยุทธ์การลงทุนที่เน้นให้ซื้อหุ้นตอนวิกฤติ เพราะจะได้ของถูก คนพูดแบบนี้แปลว่าประสบการณ์เขายังน้อยคงยังไม่เคยโดนวิกฤติตอนปี 2540 (หัวเราะ) ถ้าผ่านมาแล้วจะไม่พูดแบบนี้ ส่วนตัวไม่เคยขายหุ้นตอนวิกฤติ หากมั่นใจหุ้นตัวนั้นพื้นฐานดีจริงๆ วันหนึ่งมันต้องกลับมา

'กำไรสุทธิ' สำคัญน้อยกว่า 'กระแสเงินสด'ฉัตรชัย วงแก้วเจริญ เซียนหุ้นวีไอ "ร้อยล้าน" จะให้น้ำหนักการวิเคราะห์ลักษณะกิจการที่น่าลงทุนโดยพิจารณา 3 ส่วนหลักๆ คือ หนึ่ง..กระแสเงินสดของกิจการ บริษัทที่ดีต้องมีกระแสเงินสดจากการดำเนินงานปกติเติบโตสม่ำเสมอ ไม่ใช่กระแสเงินสดจากรายการพิเศษที่รับครั้งเดียว สอง..อัตราการจ่ายเงินปันผล ต้องสมเหตุสมผล สาม..คุณภาพสินทรัพย์ "ต้องดี" ส่วนพวกค่า P/E ยิ่งต่ำๆ ยิ่งดี แต่ไม่ได้ยึดติดเท่าไร ส่วนค่า P/BV ไม่ได้ดูเลย

สำหรับวิธีการดูงบการเงินอย่างย่อ ขั้นตอนแรก..เราจะต้องอ่าน "งบดุล" ของบริษัทนั้นก่อน ในงบดุลจะแสดง "สินทรัพย์" และ "หนี้สิน" สิ่งที่จะต้องไล่ดูคือ บริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร สินทรัพย์สำคัญของบริษัทนั้นคืออะไรและมันสอดคล้องกับการทำธุรกิจนั้นหรือไม่ ยกตัวอย่าง บางบริษัทมีเงินลงทุนในพอร์ตหุ้นจำนวนมากถ้าเป็นแบบนั้นคงไม่ใช่หุ้นที่ดี เราต้องมองโครงสร้างธุรกิจให้ขาด

จากนั้นก็ดู "คุณภาพสินทรัพย์แต่ละรายการ" ว่ามีมูลค่าตามที่บันทึกในบัญชีหรือไม่ เพราะบางครั้งมีการแต่งตัวเลขได้ ให้ดูลูกหนี้การค้า "ผิดนัดชำระ" เยอะมั้ย! แล้วมีการ "ตั้งสำรอง" เพียงพอหรือไม่ จากนั้นก็มาดูว่าบริษัทดังกล่าวมีหนี้สินเทียบกับทุนจดทะเบียนเยอะขนาดไหน เมื่อตรวจสอบครบแล้วเราก็เอางบดุล 3 ปี มาเปรียบเทียบกันจะทำให้เรารู้ว่าที่ผ่านมางบการเงินของเขาเป็นอย่างไร

ขั้นตอนต่อไปให้ดู “งบกำไรขาดทุน” ให้เน้นที่ “กำไรขั้นต้น” บริษัทที่ดีควรมีกำไรขั้นต้นอยู่ในระดับสูงทั้งในปัจจุบัน และอนาคตอีก 3 ปีข้างหน้า จากนั้นจะดูว่าบริษัทมี "อัตรากำไรสุทธิ" เท่าไร ถ้าตัวเลขอยู่สูงๆ จะดีมาก เพราะจะบ่งบอกได้ว่า บริษัทมีความสามารถในการแข่งขันค่อนข้างดี ไม่ใช่มาร์จิ้นบางเฉียบแค่ 1% หรือครึ่งเปอร์เซ็นต์ แบบนี้ไม่เอาปล่อยผ่านไป

"ผมชอบบริษัทที่มีกำไรขั้นต้นประมาณ 20% มีรายได้และกำไรสุทธิเติบโตเฉลี่ยปีละ 15% ที่สำคัญบริษัทนั้นต้องมีต้นทุนขายลดลงหรือเสมอตัว ไม่เพิ่มเติมไปกว่าเดิม หากจะมีต้องมีเหตุผลที่สนับสนุนและต้องไม่ผันผวน"

ฉัตรชัย บอกว่า ส่วนตัวไม่ค่อยให้ความสำคัญกับ "กำไรสุทธิ" มากเท่าไร เคยมีคำพูดประโยคหนึ่ง “Profit is opinion cash is real” กำไรเป็นเพียงความคิดเห็น กระแสเงินสดคือของจริง เพราะในงบกำไรขาดทุนบางอย่างมันขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ทางบัญชี โดยเฉพาะการกำหนดระยะเวลาการตัดค่าเสื่อมราคา ซึ่งมันสามารถทำให้ตัวเลขกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ทั้งๆ ที่เราค้าขายเหมือนเดิม

เขาเล่าต่อว่า ขั้นตอนสุดท้าย จะดู “งบกระแสเงินสด” เพราะมันจะบ่งบอกถึง "วงจรธุรกิจ" บางบริษัทมีกำไรดีแต่ไม่มีเงินให้ผู้ถือหุ้นเลย ได้เงินมาเท่าไรต้องนำไปซื้อเครื่องจักรรุ่นใหม่ หรือลงทุนตลอดเวลา บริษัทที่ดีต้องมีกระแสเงินสดเติบโตทุกปีเฉลี่ย 10-15% กระแสเงินสดจะบอกอะไรได้เยอะมาก เพราะจะทำให้เรารู้ว่าเงินเข้ามาจากการขายของ หรือไปกู้แบงก์หรือได้มากจากรายการพิเศษ

งบกระแสเงินสด แบ่งออกเป็น 3 ส่วน คือ 1. จากการดำเนินงาน เงินรับเข้าและจ่ายออก 2. การลงทุน เช่น ซื้อเครื่องจักร ขายที่ดิน ขายเครื่องจักร ฯลฯ 3. กิจกรรมการจัดหาเงิน เช่น เพิ่มทุน กู้ยืมเงิน จ่ายเงินกู้ ซึ่งเงินสดจากการดำเนินงานสำคัญที่สุด เพราะมันจะบ่งบอกว่าบริษัทดำเนินธุรกิจแล้วมีเงินสดเหลือหรือไม่

สิ่งหนึ่งที่นักลงทุนไม่ควรลืมดู นั่นคือ หมายเหตุประกอบงบการเงิน เพราะจะบ่งบอกว่าวิธีการตั้งบัญชีมีหลักเกณฑ์อย่างไรบ้าง การรับรู้รายได้ขั้นตอนไหนถึงเรียกว่าเป็นรายได้ บางบริษัทบอกว่า “ฉันจะมีรายได้ตั้งแต่เอาหนังสือไปตั้งขาย แต่บางบริษัทบอกไม่ใช่ฉันจะมีรายได้เมื่อขายหนังสือได้แล้ว”

เขาระบายความในใจสั้นๆ ว่า นักลงทุนสมัยนี้เข้ามาลงทุนแล้วอยาก “รวยเร็ว” อยากได้สูตรสำเร็จให้คนเก่งช่วยกรองให้ว่า หุ้นที่ดีต้องมีค่า P/E เท่าไร ผลตอบแทนต้องเท่าไร ถ้าบริษัทไหนเข้าหลักเกณฑ์ฉันจะซื้อเลย ในความเป็นจริง “มันไม่ใช่” ถามว่าคุณเข้าใจหรือไม่ว่า การคำนวณราคาหุ้นด้วยค่า P/E คืออะไร..ผมเชื่อเลย “ไม่เข้าใจ”

สมมติหุ้นตัวนี้มีค่า P/E 10 เท่า หมายความว่า กำไร 1 บาท ราคาหุ้น 10 บาท นั่นแปลว่า ซื้อหุ้นแล้วอีก 10 ปีคืนทุน ตกกำไรปีละ 1 บาท แต่บางธุรกิจกำไรมันผันผวนจะให้มีกำไร 1 บาททุกปี มันเป็นไปไม่ได้ ฉะนั้นการใช้ค่า P/E คำนวณราคาหุ้นต้องใช้กับบริษัทที่เติบโตสม่ำเสมอ จริงอยู่การเล่นหุ้นด้วยการดูค่า P/E มันใช้ง่าย เพราะมันโชว์อยู่ในหนังสือพิมพ์ทุกวัน แต่มันไม่ใช่สูตรสำเร็จ ไม่อย่างนั้นนักลงทุนคงกำไรกันทั้งโลก

"ผมอยากให้นักลงทุนต้องศึกษารายละเอียดให้ลึก บางคนถามว่าบริษัทที่ดีควรมีอัตราหนิ้สินต่อทุนเท่าไร มันก็ไม่มีสูตรเหมือนกันขึ้นอยู่กับว่าบริษัทนั้นทำธุรกิจอะไร แต่ถ้าเป็นบริษัททำธุรกิจปกติทั่วไปหนี้สินต่อทุนควรอยู่ระดับ 2 ต่อ 1 ไม่ควรมากกว่านี้"





______________________________________________________

สมาคมนักลงทุนเน้นคุณค่า(แห่งประเทศไทย) ตอนที่ 4

//www.bloggang.com/mainblog.php?id=prachaya555&month=11-01-2013&group=63&gblog=4





Create Date : 06 มกราคม 2556
Last Update : 27 กันยายน 2556 22:24:06 น. 0 comments
Counter : 3276 Pageviews.  
 

P_ปรัชญา
 
Location :
ขอนแก่น Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 63 คน [?]




หยิ่ง
กับตัวเองบ้าง
ในบางครั้ง

เบื่อ
ชีวิตความผิดหวัง
ในบางหน

เกลียด
ความไม่จริงใจ
ในบางคน

ยอมทน
คนหยามเหยียดได้
ในบางที


[Add P_ปรัชญา's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com