blog pompitrk
Group Blog
 
All blogs
 

ศิลปะคืออะไร



ศิลปะคืออะไร

ผู้ศึกษาวิชาองค์ประกอบศิลป์จะต้องมีความรู้เกี่ยวกับศิลปะโดยทั่วไปเป็นพื้นฐานเสียก่อน เพราะถ้าไม่รู้ว่าศิลปะคืออะไร มีความหมายอย่างไรเสียแล้ว การทำความเข้าใจกับองค์ประกอบของศิลปะหรือการฝึกสร้างสรรค์งานศิลปะก็จะเป็นไปอย่างไม่สมบูรณ์นัก ดังนั้น ในบทแรกนี้จึงจะขอกล่าวถึงเรื่องของศิลปะไว้สักเล็กน้อยพอเป็นแนวทาง

การจะจำกัดความให้แน่นอนลงไปว่าศิลปคืออะไรนั้น เป็นเรื่องยากที่สุดและเกือบจะเป็นไปไม่ได้ เพราะศิลปะเป็นงานสร้างสรรค์ ศิลปินมีหน้าที่สร้างานที่มีแนวความคิดและรูปแบบแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา ทฤษฎีศิลปะในสมัยหนึ่งอาจขัดแย้งกับของอีกสมัยหนึ่งอย่างตรงกันข้าม และทฤษฎีเหล่านั้นก็ล้วนเกิดขึ้นภายหลังผลงานสร้างสรรค์ที่เปลี่ยนแปลงและก้าวล้ำหน้าไปก่อนแล้วทั้งสิ้น อย่างไรก็ตาม เพื่อความสะดวกในการศึกษาวิชาองค์ประกอบศิลป์ ในตอนท้ายของบทนี้จะพยายามสรุปความหมายของศิลปะจากทัศนะของผู้รู้ทั้งหลายตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน ในวงที่คิดว่ากว้างพอที่จะครอบคลุมการสร้างสรรค์แนวต่าง ๆ ของศิลปะร่วมสมัยได้ครบถ้วน



ความหมายของศิลปะ

ศิลปะเป็นคำที่มีความหมายทั้งกว้างและจำเพาะเจาะจง ทั้งนี้ย่อมแล้วแต่ทัศนะของนักปราชญ์แต่ละคน แต่ละสมัยที่จะกำหนดแนวความคิดของศิลปะให้แตกต่างกันออกไป หรือแล้วแต่ว่าจะมีใครนำคำว่าศิลปะนี้ไปใช้ในแวดวงที่กว้างหรือจำกัดอย่างไร

ศิลปะในความหมายกว้าง ๆ

ในสมัยโบราณ นักปราชญ์ได้ให้ความหมายของศิลปะ (Art) ไว้ว่า ศิลป คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น (Artifact) เป็นสิ่งที่มิได้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ ดังนั้น ตามความหมายนี้ ตะวันตกดินที่เราว่างดงามจึงไม่ใช่ศิลปะ ก้อนหินที่กุฏน้ำชัดจนมีรูปร่างต่าง ๆ และอาจมีคุณค่าทางความงามก็ไม่ใช่ศิลปะ เพราะเป็นปรากฎการณ์ตามธรรมชาติ แต่ม้านั่งบ้านเรือน เขื่อนกั้นน้ำ ภาพเขียน หรือหินที่สลักขึ้น ถึงจะมีรูปร่าง “น่าเกลียด” เพียงไร ก็นับเป็นศิลปะ เพราะเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น ถ้าถือตามเกณฑ์นี้ ศิลปะก็มีความหมายกว้างมาก ครอบคลุมตั้งแต่ จิตรกรรม ประติมากรรม เครื่องเรือน เครื่องจักรกล บ้านเมือง ไปจนถึงอาวุธที่ใช้ประหัตประหารกัน มนุษย์ทำอะไรขึ้นมาก็เป็นศิลปะทั้งสิ้น ไม่ว่าจะดีหรือชั่ว สวยงามหรือน่าเกลียด สร้างสรรค์หรือทำลาย

ศิลปะยังมีอีกความหมายหนึ่งที่ใช้ตรงข้ามกับคำว่า ศาสตร์ หมายถึง การเรียนรู้และการกระทำที่ต้องใช้การเห็นแจ้ง (Intuition) ความชำนาญ หรือฝีมือ นอกเหนือไปจากเหตุหรือกฎเกณฑ์ทั่วไป เช่น ศิลปะการครองเรื่อง ศิลปะการสงคราม ศิลปะมวยไทย เป็นต้น

ศิลปะในความหมายเฉพาะ

วิจิตรศิลป์ (Fine Arts หรือ Beaux’ Art) เป็นคำที่บัญญัติกันขึ้นในคริศต์ศตวรรษที่ 18 เพื่อใช้เรียกงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประเทืองปัญญาและอารมณ์ แยกออกจากประยุกต์ศิลป์ (Applied Arts) ซึ่งเป็นศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอย และนับตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ก็เริ่มมีแนวโน้มที่จะไม่เรียกสิ่งที่สร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยเพียงอย่างเดียวว่าศิลปะอีกต่อไป จะใช้คำว่า อุตสาหกรรม วิศวกรรม เทคโนโลยี หรือวิทยาศาสตร์ประยุกต์แทนแต่คำว่า ประยุกต์ศิลป์ก็ยังคงใช้อยู่ตลอดมา เพื่อเรียกงานศิลปะที่ผสมประโยชน์ใช้สอยเข้าไปด้วย เช่น เครื่องตกแต่งบ้าน สิ่งทอ เครื่องเคลือบดินเผา เครื่องถนิมพิมพาภรณ์ เป็นต้น

ในปัจจุบันนี้ เมื่อเราพูดถึงศิลปะคำเดียวจะหมายถึง เฉพาะศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์เท่านั้น ส่วนงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นจะเรียกว่า ประยุกต์ศิลป์ หรือเรียกจำแนกออกไปตามสาขา เช่น อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial Art) นิเทศศิลป์ (Communication Art) มัณฑนศิลป์ (Decorative Art) เป็นต้น ซึ่งหมายความว่าได้ประยุกต์ศิลปะหรือสุนทรียภาพเข้าไปในงานอุตสาหกรรม งานสื่อสารมวลชน หรืองานตกแต่งบ้านเรื่องแล้ว

นอกจากนี้ คำว่าศิลปะยังมีความหมายในวงที่แคบเข้ามาอีก 2 ความหมาย คือ

1. ศิลปะ หมายถึง เฉพาะงานทัศนศิลป์ ซึ่งประกอบด้วยจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และงานสร้างสรรค์อื่นที่ใช้การเห็นเป็นปัจจัยในการรับรู้เท่านั้น ความหมายเฉพาะในข้อนี้จะเห็นได้จากนิทรรศการศิลปะที่จัดแสดงหรือประกวดกันทั่วไป หนังสือที่เขียนเกี่ยวกับศิลปะหรือสาขาวิชาในคณะที่เรียกเกี่ยวกับศิลปะตามวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ซึ่งส่วนมากจะเกี่ยวจข้องกับทัศนศิลป์เพียงกลุ่มเดียว



คำว่า ศิลปิน (Artist) ที่นิยมใช้กันอยู่โดยทั่วไปทุกวันนี้ ส่วนมากก็จะหมายถึงผู้สร้างงานทัศนศิลป์ เราไม่เรียกผู้ทำงานศิลปะในสาขาอื่นว่า ศิลปิน เราใช้คำว่า สถาปนิก นักประพันธ์ นักดนตรี นักแสดง แต่เราเรียกจิตรกร ประติมากร และศิลปินภาพพิมพ์ ว่า ศิลปิน

2. ศิลป หมายถึง ความมีคุณภาพ หรือคุณค่าทางศิลปะของผลงาน เช่น นักวิจารณ์บางคนจะแสดงความเห็นต่องานศิลปะชิ้นหนึ่งว่า “รูปนี้ไม่ใช่ศิลปะ” หรือ “ประติมากรรมชิ้นนี้เป็นศิลปะที่แท้จริง” เป็นต้น ซึ่งก็หมายความว่า “รูปนี้ไม่มีคุณค่าพอเพียงทางศิลปะ” หรือ “ประติมากรรมชิ้นนี้มีคุณค่าทางศิลปะสูง” นั่นเอง

ความหมายของทัศนศิลป์

ทัศนศิลป์ เป็นศัพท์ที่ได้รับการบัญญัติขึ้นไว้ในวงการศิลปะของประเทศไทยเมื่อประมาณ 20 ปี ที่ผ่านมา โดยแปลความหมายมาจากภาษาอังกฤษว่า Visual art จุดมุ่งหมาย สำคัญของการกำหนดความหมายก็คือ ต้องการจะแยกลักษณะการรับรู้ของมนุษย์เกี่ยวกับศิลปะให้ชัดเจน เพราะแต่เดิมเรื่องของศิลปะจะเกี่ยวข้องกับวิจิตรศิลป์ (Fine art) หรือศาสตร์ทางด้านความงามแทบทั้งสิ้น

ทัศนศิลป์เป็นคำที่ใช้กันอยู่ในแวดวงศิลปะ มีความหมายว่า ศิลปะที่สื่อความหมายและรับรู้ได้ด้วยการเห็น ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม สถาปัตยกรรม และภาพพิมพ์ แสดงด้วยความหมายหรือร่องรอยที่ปรากฎเห็นได้รอยเหล่านี้อาจทำด้วยเครื่องมือ วัสดุ หรือวิธีการใด ๆ ก็ได้ การกินระวางเนื้อที่ (Space art) โดยทางกายภาพ (ลักษณะทางภายนอกของสิ่งนั้น) จะเป็นคุณสมบัติเฉพาะของทัศนศิลป์ที่แตกต่างไปจากโสตศิลป์ (Audio art) และโสตทัศนศิลป์ (visual & audio art)

การแบ่งประเภทและสาขาของศิลปะ

แบ่งตามจุดมุ่งหมายของการสร้าง

1.วิจิตรศิลป์ เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้สึกทางสุทนรียภาพ ให้อารมณ์สะเทือนใจ ปลุกความเห็นแจ้ง ให้ประสบการณ์ใหม่ หรือให้ความประเทืองปัญญาแก่ผู้ดู

2. ประยุกตศิลป์ เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่นนอกเหนือจากความชื่นชมในคุณค่าของศิลปะโดยตรง เช่น ภาพหรือลดลายที่ใช้ตกแต่งอาคาร หรือเครื่องเรือน รูปทรง สีสัน ของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ออกแบบให้เป็นที่พอใจของผู้บริโภค หรือเครื่องใช้ไม่สอยที่ทำขึ้นด้วยฝีมือประณีต ศิลปะที่ประยุกต์เข้าไปในสิ่งที่ใช้ประโยชน์เหล่านี้ จะให้ความพอใจอันเกิดจากความประณีตสวยงาม ความกลมกลืน แก่ประสาทสัมผัสควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย

ศิลปะแบ่งตามลักษณะของสื่อในการแสดงออก

สื่อในการแสดงออก หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า สื่อสุนทรียภาพ (ซึ่งได้แก่ เส้น สี ปริมาตร เสียง ภาษา ฯลฯ) ของงานศิลปะแต่ละสาขา ย่อมแตกต่างกันไปตามธรรมชาติของการแสดงออก ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 5 สาขา คือ

1. จิตรกรรม (Painting) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้สี แสง เงา และแผ่นภาพที่แบนราบเป็น 2 มิติ

2. ประติมากรรม (Sculpture) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้วัสดุ และปริมาตรของรูปทรง

3. สถาปัตยกรรม (Architecture) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้วัสดุ โครงสร้าง และปริมาตรของที่ว่างกับรูปทรง

4. วรรณกรรม (Literature) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษา

5. ดนตรีและนาฎกรรม (Music and Drama) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้เสียง (หรือภาษา) และความเคลื่อนไหวของร่างกาย

ศิลปะแบ่งตามลักษณะของการรับสัมผัส

ประสาทรับสัมผัสของมนุษย์นี้ประกอบด้วยประสาททาง ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่การรับสัมผัสที่ให้ความพอใจในสุนทรียภาพระดับสูงมี 2 ทาง คือ ทางตา และทางหู ส่วนทางจมูก ลิ้น และกาย เป็นทางรับที่ให้ความพอใจในสุนทรียภาพระดับรองลงไป ศิลปินอาจใช้กลิ่น รส และการสัมผัสเป็นสื่อของการแสดงออกทางศิลปะได้ แต่คงเป็นเพียงส่วนประกอบ เราจึงแบ่งศิลปะตามลักษณะของการรับสัมผัสออกได้เป็น 3 สาขา คือ



1. ทัศนศิลป์ (Visual Arts) เป็นศิลปะที่รับสัมผัสด้วยการเห็น ได้แก่ จิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสถาปัตยกรรม

2. โสตศิลป์ (Aural Arts) เป็นศิลปะที่รับสัมผัสด้วยการฟัง ได้แก่ ดนตรี และวรรณกรรม (ผ่านการอ่านหรือร้อง)

3. โสตทัศนศิลป์ (Audio Visual Arts) เป็นศิลปะที่รับสัมผัสด้วยการฟังและการเห็นพร้อมกัน ได้แก่ นาฎกรรม การแสดง ภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการผสมกันของวรรณกรรม ดนตรี และทัศนศิลป์ บางแห่งเรียกศิลปะสาขานี้ว่าศิลปะผสม (Mixed Art)

ความหมายของศิลปะตามทัศนะของนักปรัชญา

ศิลปะคือการเลียนแบบ ทัศนะของเพลโต

ศิลปะ คือ การเป็นตัวแทน(ของชีวิต) ทัศนะของอาริสโตเติล

ศิลปะคือการแสดงออก ทัศนะของอูยีน เวรอง

จอห์น ดิวอี รูดอล์ฟ อาร์นไฮม์

เลโอ ตอลสตอย โรเจอร์ ฟราย

ศิลปะไม่ใช่การเลียนแบบธรรมชาติ ทัศนะของเฮอร์เบิร์ตรีด

ธรรมชาติเลียนแบบศิลปะ ทัศนะของออสดาร์ไวลด์

ศิลปะคือรูปทรง ทัศนะของโรเจอร์ ฟราย

ศิลปะคือความสมปรารถนา ทัศนะของซิกมันด์ ฟรอยด์

ศิลปะคือประสบการณ์ ทัศนะของจอห์น ดิวอี

ศิลปะคือการเห็นแจ้ง ทัศนะของเบเนเดตโต โครเช

อองรี แบร์กซอง

จอยซ์ แครี



ศิลปะคือสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ความคิด หรือความงาม





 

Create Date : 11 ตุลาคม 2550    
Last Update : 11 ตุลาคม 2550 18:17:38 น.
Counter : 17057 Pageviews.  


pompitrk
Location :
สมุทรสงคราม Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ธีรพล พรหมพิทักษ์

Friends' blogs
[Add pompitrk's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.