Group Blog
 
All Blogs
 

ไปแนวหน้า

เรื่องเล่าจากอดีต


ไปแนวหน้า

พญาเขินคำ

หลังจากค่ายจักรพงษ์ถูกทิ้งระเบิดแล้ว การรบในแนวหน้าเริ่มทวีความดุเดือดขึ้น ยิงกันราวกะประทัดตรุษจีน ดีอยู่อย่างหนึ่งที่ทหารไทยเราขวัญดีเหลือเกิน ไม่มีใครกลัวตาย ทุกคนแย่งกันจะขึ้นแนวหน้า ส่วนพวกที่อยู่แนวหน้าก็ค่อย ๆ รุกเข้าไปทีละน้อย การรบในคราวนั้นเราต้องเจอกับ “มือชั้นครู” แต่เราก็ไม่หวั่น เพราะฝรั่งเศสเองก้ถูกเยอรมันตีถอยร่นจาก หน้าด่านถึงโคนด่านล่องจุ๊นอยู่เกือบทุกวัน พลรบไม่ใช่ทหารฝรั่งเศสก็จริง แต่ “หัวเสธ.” เป็นชาวฝรั่งเศส ทั้งสองฝ่ายจึงต้องเปียกไปด้วยกันแบบสาดน้ำ

ตกมาถึงระยะนี้ กองทัพบูรพาได้จัดการโยกย้ายกองทัพ จากค่ายจักรพงษ์ไปตั้งที่โรงแรมรถไฟ หลังสถานีรถไฟอรัญประเทศ ซึ่งย่อมเป็นของแท้ ที่สถานีวิทยุอันเปรียบกับเส้นประสาทของกองทัพ ต้องเคลื่อนย้ายติดตามไปด้วย

ผมจึงได้รับคำสั่งให้เตรียมออกเดินทางในวันรุ่งขึ้น กองทัพเดินทางโดยรถยนต์บรรทุก แต่ผมกับลูกน้องและสถานีวิทยุถูกสั่งห้าม ม่ให้เดินทางโดยรถยนต์ กองทัพสั่งการมาว่า รถไฟก็ไม่ได้ ผมสดุ้งสามกลับ นี่จะให้ผมย่ำด้วยบาทาไปหรือไง กะว่าห้าวันห้าคืนคงถึงซีน่า

ผบ.กองสื่อสาร กองทัพบูรพา ท่านช่วยแกปัญหาให้ โดยท่านเขียนจดหมาย ขอยืมรถต๊อกของรถไฟมาเป็นพาหนะส่งผมกับลูกน้อง จึงไม่ต้องเสียเวลาเดิน และมีการผจญภัยเล็กน้อย พอปลุกประสาทให้ตื่นตัวได้เหมือนกัน ก่อนที่จะขยับถึงการเดินทาง ขอบ้าน้ำลายสักเล็กน้อย

อันว่าทหารสื่อสารในสมัยนั้น ๒๔๘๑ – ๒๔๘๒ โรงงานสื่อสารพึ่งสร้างเครื่องมือได้เอง คือเครื่องวิทยุ รงส.แบบ รส.๕ การสร้างของเราคงจะช้าเพราะยังไม่ชำนาญ ความต้องการเครื่องมีมาก เครื่องที่ผลิตใช้งานได้แล้ว จึงต้องประคับประคองและหวงแหน การใช้งานต้องใช้ให้สมกับที่เราผลิตได้ยากเย็น แม้ว่าการใช้เครื่องจะยุ่งยาก ไม่สบายแฮเหมือนที่ฝรั่งสร้างมาขายให้ก็ตาม

ทหารสื่อสารรุ่นนั้นต่างก็พากันภูมิใจที่ใช้เครื่องคนไทยประกอบได้เอง แม้ว่าจะไม่บริดวก โกง เก อย่างไรก็ทนเอา บางครั้งได้เวลาติดต่อ เครื่องรับ-เครื่องส่ง ขี้เกียจซะแล้วไม่เอาไหนเสียงั้นแหละ ผู้ใช้ก็อุตส่าห์ขยับโน่น ดึงนี่ เช่นขั้วหม้อไฟหลวม ปลั๊กหลวม ขาหลอดไม่เข้าที่ วุ่นวายพอใช้ สิ่งเหล่านี้เกิดจากความไม่คุ้นเคยกัน พอรู้ใจเจ้าแล้วทุกอย่างก็เรียบร้อย ตรงกับคำพูดพล่อย ๆ ของผู้เขียนที่ว่า “ เคยแล้วซำบาย “

คนที่ใช้เครื่องก็เช่นเดียวกัน ทหารสื่อสารรุ่นนั้นร้อยละร้อย รับ -ส่งเลขสัญญาณได้ขนาดใช้นิ้วเคาะโต๊ะกินข้าวล้อชื่อพ่อกันยังได้ แต่ตอนจะเข้าเครื่องซิ เกิดกลัวตัวเองว่าจะรับ –ส่งไม่ได้ ทั้งนี้มันก็ลำเดียวกับที่ว่ามาแล้ว “ เคยแล้วซำบาย “

ด้วยเหตุดังกล่าวมาแล้ว ทางราชการจึงหวง ทั้งคน ทั้งเครื่อง ผมจึงถูกห้ามม่ให้เดินทางด้วยพาหนะดังกล่าว ครั้นถึงวันเดินทางเราก็ช่วยกันขนเครื่องมือ (เครื่องรับ เครื่องส่ง เสาอากาศ ฯลฯ)มาวางรอที่ข้างทางรถไฟ ตรงที่ถนนตัดกับทางรถไฟ ข้างศาล “เจ้าพ่อปื๊ด” ซึ่งยังอยู่จนเดี๋ยวนี้ ศาลนั้นเป็นศาลเก่าแก่ ใครสร้างไว้ก็บ่ฮู้ ผุจวนจะพัง ถ้าจะถามว่าเจ้าพ่อคือใครผมก็ตอบไม่ได้เพราะไม่รู้ประวัติ

รถต๊อก ๆ (รถเล็ก ๆ ที่แล่นบนรางรถไฟใช้สำหรับตรวจเส้นทาง) วิ่งอู้มาจากสถานีปราจีน โดยเราต้องใช้คนไปตามสองครั้ง คราวแรกคนขับยังนอนไม่ตื่น ครั้งที่สองต้องตามที่ร้านเหล้า เพราะคนขับไป”ถอน” เมียแกเป็นผู้บอก เมื่อคืนคงจะถองมากไปหน่อย

ขนของขึ้นรถซึ่งพ่วงมาอีกคันหนึ่ง เอาสถานีวิทยุขึ้นวางทำท่าจะล้ม ต้องเอาเชือกหนวดพราหมณ์ (เชือกรั้งเสาอากาศ) มาผูไว้ แล้วให้ลูกน้องนั่งคุม ส่วนผม ผู้หมวด และคนขับนั่งเก้าอี้คันหน้าอย่างโก้ คิดเสียว่าวันนี้แอ็คเป็นสารวัตรตรวจทางสักทีเถอะ ของที่ขาดไม่ได้ของทางการรถไฟคือ ธงแดง ต้องมีปักไปบนรถด้วยซีน่า

๐๖.๓๐ น.อ้ายต๊อกออกเดินทางท่ามกลางสายตาคนสามล้อ ๔ – ๕ คน ที่มายืนประดับเกียรติ พอจวนจะลับสายตาคนสามล้อถอดหมวกใบลานโบกให้ แกจะไชโยให้หรือไงไม่ทราบเห็นปากพะงาบ ๆ “ กราบลาละคร้าบ เจ้าพ่อปื๊ด”

เนื่องจากใกล้เวลาที่รถเช้าจากอรัญประเทศจะเข้าเทียบสถานีปราจีน คนขับจึงเร่งเครื่องเต็มสตีม บอกว่า

“ เราไปหลีกรถไฟที่ประจันตะคาม “

ที่ไหนได้เรากะเวลาพลาดไปเพียงสามนาทีเท่านั้น จึงเกิดชุลมุนกันขึ้น เพราะเมื่อออกจากสถานีโคกมะกอก จะไปรอหลีกที่ประจันตะคาม แต่พอเลี้ยวโค้งสุดท้าย เราก็เห็นรถไฟกำลังแล่นมาใกล้ตรงเชิงสะพานยาวข้ามแม่น้ำพอดี เนื่องจากคนขับรถต๊อกยังสลึมสลืออยู่ ตะแกไม่รู้ตัวเสียด้วยซ้ำว่าเรากับลังจะสวนกับรถไฟ(ในรางเดียวกัน) พี่แกนั่งเหม่อตาลอย ผมเห็นแล้วว่าถ้าเราไม่หยุด รถไฟไม่หยุด มีหวังเป็นตอร์ปิโดบก ด้วยกันทั้งสองฝ่ายอย่างแน่แท้ ผมตะโกนบอกพี่แกว่า “ เฮ้ยรถไฟสวน “

คนขับสะดุ้งราวกับถูกจี้ด้วยก้นบุหรี่ แกก้มลงคว้าโน่นคว้านี้ทำท่าจะหยุดรถซึ่งขณะนั้นกำลังวิ่งมาเกือบถึงกลางสะพานแล้ว รถเริ่มชลอความเร็ว ผมตะโกนอีกว่า “ ฮิ้วอย่าหยุด เร่งเต็มที่ “ เพราะเห็นว่าถึงหยุดรถก็ไม่มีทางหลีกเพราะอยู่กลางสะพาน คนขับจึงเร่งเร็วปรู๊ดมาจนเลยคอสะพานเกือบสิบเมตรจึงหยุด

ก่อนอื่นผมกระชากคันธงแดงออกจากที่ปัก โดดห่างไปข้างหน้ารถต๊อก ๕-๖ เมตร ยืนขวางกลางราง มือทั้งสองโบกธงแกว่งไปมา ความตั้งใจจะเอาตัวขวางทางรถไฟ ไม่ให้วิ่งชนรถต๊อกของเราได้ตัวตายช่างมัน ขออย่างเดียววิทยุสนามแบบ รส.๕ อย่าพังก็แล้วกัน..........
(๒)
คนขับรถไฟหรือ พขร.แกคงตกใจเหมือนกัน อยู่ดี ๆ ไอ้บ้าที่ไหนก็ไม่รู้เอาธงแดงมาโบกเล่นบนทางรถไฟ แกชักหวูดปู๊น ๆ ๆ ๆ หลายครั้ง รถไฟชะลอความเร็วลงทันทีแต่ไม่ถึงกับหยุด ผมหันไปมองอ้ายต๊อก เพื่อนยาก เห็นพวกเราชุลมุนยก รส.๕ ออกจากรถพ่วง เหลือบเห็นลูกเสือและตำรวจวิ่งมาจากใต้สะพาน ผสมกับเด็กเลี้ยงควายอีก ๓-๔ คนวิ่งตรงมาที่รถเรา เลยร้องบอกว่า “ อย่าเอาของออก ยกทั้งคันรถเลย “

ด้วยความพร้อมอกพร้อมใจ ทั้งทหาร ตำรวจ ลูดเสือ เด็กเลี้ยงควาย คนขับรถ และผู้หมวด ร้องฮูเร แล้วยกรถพ่วงลอยละลิ่วจากทางรถไฟ ไปวางไว้บนไหล่ทาง แล้วหันกลับมายกหัวรถต๊อกอีกครั้ง เอาไปวางไว้ใกล้ ๆ กัน เสียงรถไฟเปิดหวูดปู๊น ๆ ๆ ผมโดดออกจากทางรถไฟ หัวรถจักรพ่นไอฟืดฟาดคลานผ่านผมไปอย่างสง่า พขร.ชะโงกหน้ามาร้องตะโกนว่า

“ ขอโทษ ผมหยุดไม่ได้เดี๋ยวถูกตัดเงินเดือน โชคดีนะพี่ทหาร “

ผมตะโกนตอบบ้างว่า

“ ไม่ตายก็ดีแล้ว โชคดีเพื่อน “

รถไฟแล่นผ่านผมช้า ๆ แล้วเร่งความเร็วทีละน้อย เสียงของมันฟังเป็นบทเพลงได้ว่า...... ถึงก็ช่าง ไม่ถึงก็ช่าง ถึงก็ชั่ง ไม่ถึงก็ชั่ง..........พอรถโบกี้ผ่านผม มีคนโดยสารโผล่หน้าต่างดูสลอน บางคนเอาขนมโยนลงมา บ้างก็โยนบุหรี่ให้ มีป้าคนหนึ่งแกยื่นไก่ย่างทั้งตัวจนสุดแขน ผมโดดคว้าไว้ได้ แกตะโกนว่า

“ ไปเอาพระตะบองคืนมา ทหารของชาติ “

แล้วรถไฟก็ผ่านผมไปทั้งขบวน ผมยืนตลึงตัวชาด้วยความคิดของตัวเองที่ว่า....คนไทยเรานี่ เวลาเกิดเรื่อง เขาสามัคคีกันดีแท่ ๆ ผ่าซี

เราหันกลับมายกรถต๊อกและรถพ่วง ขึ้นวางบนรางรถไฟตามเดิม แล้วการเดินทางของเราก็เริ่มขึ้นอีกครั้ง ผมยกไก่ย่างขึ้นมองดูแล้วฉีกแบ่งกันกิน กินไปก็คิดไป.......เอ...เรานี่กินไก่ หรือกินน้ำใจคนกันแน่

เราผ่านสถานีประจันตะคาม – กบินทร์เก่า – ศาลาลำดวน เรื่อยมาจนเย็นจึงถึงสถานีสระแก้ว ณ ที่นี้ ผบ.สื่อสาร กองทัพบูรพา ใช้สารวัตรสนามมาดักเราอยู่ จึงได้รับคำสั่งห้สถานีวิทยุตั้งที่โรงทหารชั่วคราว ผมกับลูกน้องจึงต้องไปตั้งสถานีอยู่กลางป่า ห่างจากสถานีรถไฟประมาณ ๗๐๐ เมตร

ในพื้นที่นี้ผมต้องผจญภัยกับแมลงวัน และการขาดแคลนน้ำอย่างหนัก ที่สระแก้วนี้เดิมเป็นป่า มาหักร้างถางพงแล้วปลูกโรงยาว ๆ มุงหลังคาจาก ใช้เป็นที่รวมพล คราวนี้คนน่ะอยู่รวมกันมาก ๆ ถ้าไม่มีระเบียบข้อบังคับแล้วมักจะเกิดเรื่อง ต่างคนต่างช่วยกันทำสกปรก สารพัดทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อไม่ต้องการก็ทิ้งขว้างตามใจชอบ โดยเฉพาะเวลาประกอบอาหารของสกปรกทั้งนั้น แมลงวันกี่ป่าไม่ทราบมาเกาะมาตอม ตอมของไม่พอเลยเกะกะมาถึงคน จะกินจะนอนจะทำงาน มือหนึ่งต้องคอยโบกไว้ ไม่งั้นมันเกาะปาก ไชจมูก ไชหู แคะคา เกาะหัว ว้าวุ่นวายสิ้นดี เวลาประกอบอาหารเสร็จต้องกางมุ้ง มิฉะนั้นมันเข้าแทรกจนกินไม่ได้ เวลากินข้าวก็ติ้งเข้ามุ้งเหมือนกัน ทุกคนจึงหงุดหงิดงุ่นง่านด้วยแมลงวัน

ขี้เกียจแมลงวัน ขยันแมลงผึ้ง

เห็นจะจริงอย่างหลวงพ่อเงินท่านว่าไว้

#################




 

Create Date : 02 พฤษภาคม 2559    
Last Update : 2 พฤษภาคม 2559 19:03:57 น.
Counter : 922 Pageviews.  

ถูกทิ้งระเบิด


เรื่องเล่าจากอดีต

ถูกทิ้งระเบิด

พญาเขินคำ

เมื่อกล่าวถึงนาม ค่ายจักรพงษ์ ทหารสื่อสารเก่าจำนวนมิใช่น้อย ต้องร้องอ่อ เพราะบางท่านเคยไป บางท่านเคยอยู่ เร็วบ้างช้าบ้างแล้วแต่กรรมที่ทำไว้ สมัยนั้นถือกันว่า ค่ายจักรพงษ์ เป็นแดน เนรเทศ แดนที่แห้งแล้ง อดอยาก เต็มไปด้วยภัยต่าง ๆ มีภัยจากโรคไข้ป่า ภัยจากยาพิษ โดยเฉพาะยาสั่ง ที่มีชื่อเสียงโด่งดังมาก ถึงกับทหารไปซ้อมรบไม่ยอมกินน้ำตามบ้าน เว้นแต่เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทหารไปยิงปืนสั่งซื้อน้ำขวด ยังไม่ยอมให้คนขายเปิดฝาจุก ต้องเอามาเปิดเอง

ค่ายจักรพงษ์ตั้งอยู่ที่ตำบลดงพระราม พอเอ่ยชื่อนี้ทุกคนก็รู้ว่าเป็นชื่อของตัวพระเอกในเรื่องรามกียรติ์ แล้วมาเกี่ยวข้องกับที่ตั้งค่ายอย่างไร ผมเองก็ไม่ทราบเหมือนกัน รู้แต่ว่าชื่อสำคัญ ๆ เขาเอามาเป็นชื่อถนนไว้เยอะแยะ เช่น ถนนพระราม ถนนพระลักษณ์ ถนนสุครีพ ถนนหนุมาน ถนนองคต ถนนมัจฉานุ ฯลฯ

ถนนเส้นหนึ่งตั้งอยู่ที่ทางเข้าสถานีวิทยุประจำถิ่น ที่เดิม ให้ชื่อว่าถนนกินอน อ่านชื่อถนนแล้วอยากจะกินเหล้าร้องเพลงที่มีชื่อว่า “เอาความทุกข์ไปทิ้งแม่โขง” ซะจริง ผ่าซี

เอ่ยชื่อ “ค่ายจักรพงษ์” ก็นึกได้ถึงของคู่กันคือ “เจ้าพ่อต้นกระบก” หรือจะเรียกให้ถูกต้อง คือ “เจ้าพ่อหมื่นวิเศษ” ที่ประตูทางเข้าหน้าค่ายทางขวามือมีศาลใหญ่ สร้างไว้อย่างสวยงาม เป็นตึกมีหน้ามุขสามมุข หลังคามุงกระเบื้องเคลืบสีอย่างสวยงาม บริเวณศาลตั้งอยู่ใต้ต้นไม้ใหญ่ กิ่งก้านสาขากว้างขวางมีชื่อเรียกว่าต้นกระบก ที่คนชอบเอาไปเผาถ่านนั่นแหละ

ที่ศาลนอกจากจะมีเจ้าพ่อแล้วยังมี “ลูกช้าง” เป็นทหารผลัดกันไปเฝ้าเป็ระจำ ทำหน้าที่เป็นคนทำความสอาด เป็นคนขายทองใบ ขายใบเสี่ยงทายของเจ้าพ่อ นอกจากทหารแล้ว ยังมีลูกศิษย์อีกฝูงหนึ่ง เป็นนกผู้มีบรรดาศักดิ์ บางคนเห็นเข้าเรียกว่า “พญาแร้ง” บางคนเรียก อีแร้ง ไม่เคยได้ยินใครเรียกว่า ไอ้แร้ง สักที นกฝูงนี้อาศัยอยู่ที่ต้นกระบกมานาน บางคนว่าอยู่มาก่อนตั้งศาลเสียอีก ขนาดออกลูกออกหลานโดยไม่มีใครทำร้าย เพราะเกรงใจเจ้าพ่อ

พญาแร้งหรืออีแร้งดังที่ว่ามา นับว่าเป็นสัตว์ที่ถือศีลเคร่งครัดในข้อ”ปานาติบาต” คือไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตผู้อื่นให้ตายตก จะกินแต่ซากศพเท่านั้น หลักฐานและพยานเหก็นจะต้องอ้างคำโคลงซะแล้ว ดังนี้

นกแร้งดูร่างร้าย รุงรัง
ภายนอกเพียงพึงชัง ชั่วช้า
เสพสัตว์มรณัง นฤโทษ
ดั่งจิตสาธุชนกล้า กลั่นสร้างทางผล

และตรงกันข้ามกับนกแร้ง ก็มีโคลงอีกบทหนึ่งเปรียบเทียบไว้ให้เห็น

ยางขาวขนเรียบร้อย ดูดี
ภายนอกสดใสสี เปรียบฝ้าย
เสพสัตว์เช่นปลามี ชีวิต
ดุจดังคนใจร้าย นอกนั้นดูงาม

ก่อนจะว่าถึงอีแร้งฝูงนี้ ขอว่าถึงเจ้าพ่อเสียก่อน เดี๋ยวจะปะปนกันยุ่งเหยิง เจ้าพ่อต้นกระบกนัยว่าเดิมเป็นนายทหารชั้นประทวน รุ่นก่นสร้างค่ายจักรพงษ์ ท่านผู้นี้มียศจ่าสิบเอก มีบรรดาศักดิ์เป็น หมื่นวิเศษ และเมื่อถึงแก่กรรมแล้ว ความที่ท่านผู้นี้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในการสร้างค่ายด้วยผู้หนึ่ง ท่านจึงกลายเป็นเจ้าที่สิงอยู่ ณ ต้นกระบกดังกล่าว ไม่ยอมไปเกิด ใครมีทุกข์มีร้อนประการใด จุดธูปบนบานท่าน ๆ ก็สามารถบันดาลให้ร้ายกลายเป็นดีได้ สินบนที่ท่านต้องการนั้น มีเพียงมะพร้าวอ่อนกับขนมเท่านั้น แต่มีคนสัปดนแกล้งทำเป็นเข้าทรงแล้วขอกัญชา กับน้ำตาลทรายเป็นเครื่องแก้บน สาเหตุเพราะคอกัญชาอยากได้กัญชามาสูบเท่านั้น พอถึงคราวเจ้าพอตัวจริงมาเข้าทรง ท่านจึงชี้แจงให้ฟัง ระยะนั้นเจ้าพ่อเสียชื่อไปพักใหญ่ เพราะคนที่นับถือพากันรังเกียจ

ถ้าผู้อ่านจะถามว่า เจ้าพ่อศักดิ์สิทธิ์หรือไม่ ผู้เขียนไม่รับรองแต่จะขอเล่าถึงผู้ที่เคยผจญอภินิหารของเจ้าพ่อมาแล้ว พอหอมปากหอมคอ

รายหนึ่ง เป็นทหารสื่อสารเรานี่แหละ สำเร็จจากโรงเรียนแล้วถูกบรรจุไปอยู่ค่ายจักรพงษ์ ท่านผู้นี้ยังหนุมเหน้า มีฝีมือในการใช้ปืนลูกกรด สามารถยิงรูสตางค์แดงถูกทุกนัดในระยะ ๑๐ ก้าว พอไปอยู่ค่ายจักรพงษ์เกิอดรำคาญ เพราะค่ายนี้สมัยก่อนลือกันว่าเป็น “ไซบีเรีย”ของค่ายทหาร เงียบเหงาเปล่าเปลี่ยวสิ้นดี พอถึงวันหยุดคิดว่าดงพระรามเป็นป่า จึงถือปืนเดินรอบ ๆ บริเวณค่ายจะหายิงนก ว่างั้นเถอะ เดินจนรอบค่ายก็ไม่มีนกซักตัว เดินมาถึงบริเวณต้นกระบก เห็นพญาแร้งเกาะกิ่งไม้ยั้วเยี้ย เลยทดลองทางปืนดู ระยะที่นกเกาะกับระยะที่ยิงคงไม่เกิน ๘-๑๐ เมตร ยิงเท่าไรก็ไม่ถูก จนเกิดโทษะ มีลูกปืนเท่าไรก็ยิงเสียเกลี้ยง นกตัวนั้นก็ยังเกาะเฉย ไม่หนีไม่ขยับเขยื้อน เกิดเอะใจขึ้นมาจึงกลับไปเล่าให้คนอื่นฟัง ผู้ที่ทราบดีจึงบอกว่า

“นกนั้นไม่มีใครกล้ายิงหรอก มีคุณนี่แหละกล้าหาญแท้ ๆ “

ท่านผู้นั้นอ้างว่าไม่รู้จึงยิง ต่อมาก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้น เจ้าพ่อคงไม่ถือโกรธคนที่ไม่รู้

ต่อมาเมื่อประมาณไม่เกินสิบปีนี่เอง ผบ.มณฑลทหารบกที่ ๒ ท่านหนึ่ง จะพบอภินิหารของเจ้าพ่อหรืออย่างไรไม่ทราบ ท่านจึงได้ศาลาขึ้นเสียใหญ่โตสวยงาม ดังที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ การสร้างศาลเมื่อเสร็จแล้วมีการเชิญ องบ๋าวเอิง เจ้าอาวาสวัดญวน สะพานขาว ไปทำพิธีอัญเชิญเจ้าพ่อขึ้นสู่ศาล พิธีนั้นทำกันใหญ่โตจนเรียบร้อย

คราวนี้หวนกลับไปเมื่อคราวไทยเกิดกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศสอีกครั้ง ในขณะที่แนวหน้าเริ่มปะทะกันนั้น ผมยังอยู่ที่ค่ายจักรพงษ์ ทำหน้าที่นายสถานีวิทยุให้กองทัพบูรพา ตั้งสถานีอยู่ขิดกับ บก.มทบ.๒ พอสถานีวิทยุไปตั้งได้สองวัน เจ้าหน้าที่โรงไฟฟ้าต่อสายพิเศษมาว่า เป็นสัญญาณดับเครื่องเวลาเครื่องบินโจมตี (โรงไฟฟ้าอยู่ห่างสถานีประมาณ ๕๐๐ เมตร) เพราะขณะนั้นนายนกกระจอกกับนายน้ำมันก๊าดของวิทยุไซ่ง่อนพูดว่า จะส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดกองทหารไทย นอกจากสัญญาณดับไฟแล้ว ยังเอาโทรศัพท์มาตั้งเป็นยามอากาศไว้ด้วย สามารถรู้ดีว่า ฝ่ายข้าศึกบินมาถึงไหนแล้ว จะได้หนีได้ทัน

ตอมาอีกสองวันก็ได้เรื่อง ฝรั่งเศสส่งเครื่องบินสองเครื่องยนต์มาโจมตีค่ายจักรพงษ์จริง ๆ คืนนั้นผมจำไดเว่าเป็นคืนเดือนหงาย เวลาม่เกิน๒๑.๐๐ น.แนวหน้าโทรมาบอกว่า

“ได้ยินเสียงเครื่องบินในแนวหน้า” และ “ผ่านกระบินทร์บุรีแล้ว”

ผมหันกลับไปสับสวิทช์ไฟพิเศษทันที ครั้นแล้วค่ายจักรพงษ์ทั้งต่ายก็ตกอยู่ในความมืด เพราะโรงไฟฟ้าดับเครื่อง ตัวผมเองถือโทรศัพท์แนบหู คงได้ยินเสียงบอกมาว่า

“ถึงประจันตคามแล้ว” ผมจึงออกจากสถานีวิทยุเข้าไปอยู่ใต้ต้นก้ามปู หูได้ยินเสียงเครื่องบินดังอืด ๆใกล้เข้ามา ใกล้เข้ามาทุกที ทันใดนั้นเสียง ปตอ.ของเราซึ่งตั้งคุ้มครองบริเวณค่ายอยู่ที่ ชายดง บ้านตาแทน วัดโยธา วัดบ้านพระ ยิงสนั่นหวั่นไหว กระสุนส่องวิถีสว่างวาบเป็นคราว ๆ

เสียงทหารตามกองร้อยร้องตะโกนบอกต่อ ๆกันเป็นทอด

“เครื่องบิน บินไปทางแม่น้ำ”

“หันหัวกลับมาแล้วโว้ย”

“มันยินผ่านหัวไปแล้ว มุ่งไปเขาอีโต้”

“อ้าว....กลับมาทางแม่น้ำอีกแล้ว”

“เฮ้ย........ระเบิดลงแล้วโว้ย...หมอบ.....พวกเราหมอบ.........”

เสียงระเบิดแหวกอากาศดัง แซ็ด ๆ ๆ ๆ ๆ ๆ ดังขึ้นทุกที ทุกที ระเบิดยิ่งใกล้พื้นดินยิ่งดังแซ็ด ๆ ขู่ขวัญยิ่งขึ้น ทหารบางคนถึงกับออกวิ่ง เพราะระงับสติอารมณ์ไม่อยู่ เสียงมันข่มขวัญชะมัด

ผมเองรู้สึกหนาวมีอาการสั่นไปทั้งตัวเพราะความตื่นเต้น ระเบิดทำลายลูกแรกตกข้างทางรถไฟ ใกล้ ๆ โรงกุลี ลูกที่สองตกที่ชายสนามบิน ลูกที่สามลงระหว่างหัวกองพันปืนใหญ่ที่ ๕ กับกองสื่อสาร เครื่องบินบินเลยไปทางเขาอีโต้แล้วก็ตีวงกลับ ยึดเอาลำน้ำปราจีนกับเขาอีโต้เป็นจุดสกัด บ๊ะ....มันฉลาดแท้ ๆ บักผีเปรต

เครื่องบินจากลำน้ำผ่านค่ายจักรพงษ์อีกครั้ง ทหารคงร้องบอกกันตามเคย คราวนี้มันทิ้งใกล้จุดหมายเข้าไปมาก ลูกที่หนึ่งลงห่างโรงไฟฟ้าไม่เกิน ๒๐๐ มตร ลูกที่สองลงชายคาโรงม้าของสื่อสาร ลูกที่สามตกข้างกระสุนระหว่างหัวห้องแถวกับตัวคลัง ลูกนี้มันทิ้งแม่นจริง ผะผ่าลงในส้วมพอดี (ไม่ใช่แกล้งเขียนลงส้วมจริง ๆ ถามคนเก่า ๆ ที่เคยอยู่ค่ายจักรพงษ์ดูก็ได้) แต่จะเป็นเพราะอะไรก็เหลือเดา คืนนั้นเครื่องบินทิ้งระเบิดจนหมดระวางที่บรรทุกมาแล้วก็หันหัวกลับไปไซ่ง่อน

(๒) รุ่งเช้ามีการสำรวจตรวจผลของการทิ้งระเบิด แล้วรายงานเข้า บก.ทหารสูงสุด รายงานผ่านผมซึ่งเป็นนายสถานีวิทยุตามเคย ยังจำข้อความได้ดังนี้

ระเบิดลูกที่ ๑ ระเบิดสังหาร ตกบริเวณท้ายบ้านแจ้ง ทิศตะวันออกเฉียงใต้ของค่าย ลงในป่าไผ่ดง ผลเสียหายคือ ต้นไผ่ดงขาดกลาง ๓ ต้น นกสาลิกาที่ทำรังอยู่บนกิ่งไผ่ตาย ๕ ตัว เป็นนกใหญ่ ๒ ตัว นกเล็ก ๆ ๓ ตัว สันนิษฐานว่าเป็นครอบครัวของนก ทรัพย์สินและชีวิตคนไม่เป็นอันตราย สันนิษฐานอีกครั้งว่านักบินคงมุ่งจะหย่อนระเบิดใส่ ปตอ.เพราะบริเวณห่างจากระเบิดลูกนี้ตก มีปตอ.ตั้งยิงเห็นแสงไฟจากปากกระบอกปืนได้ถนัด นักบินคงบอกคนทิ้งระเบิดให้ทราบ จึงหวังจะทำลายเสีย แต่โชคไม่ดีกลับไปฆ่านกซึ่งไม่รู้เรื่องตายไป ๕ ตัว

ระเบิดลูกที่ ๒ ลูกนี้ใคร ๆ ไปดูแล้วพากันประหลาดใจ บางคนพูดว่าเจ้าพ่อช่วยผลัก เพราะมันตกลงบนหลังคาโรงสำหรับเก็บเครื่องบินรบ “ฮ็อคพับฐาน” ซึ่งเป็นเครื่องบินรบที่ทันสมัยที่สุดที่กองทัพอากาศมีอยู่ในขณะนั้น ระเบิดลูกนี้เลือกตกลงในช่องว่างพอดี เพราะนักบินเขาเก็บเครื่องบินหนึ่งช่อง แล้วเว้นช่องว่างไว้หนึ่งช่อง จำเพาะระเบิดลงตรงช่องว่างจึงไม่ถูกเครื่องบิน ที่แสนจะแปลกใจคือระเบิดลูกนั้นด้าน ตกตุ้บแล้วมุดดินลึกลงไปประมาณสองเมตร แล้วกบดานเงียบไม่แสดงอิทธิฤทธิ์เหมือนระเบิดทั่ว ไป เนื่องจากรัเบิดแทรกตัวลงไปในพื้นติน จึงทำให้ผิวดินอืดเป็นเนินสูงเหมือนกับเนินดินในสนามกอล์ฟ ทำให้เครื่องบินที่จอดอยู่สองช่องข้าง ๆ เอียงกระเท่เล่ ทำท่าจะคว่ำแต่ไม่ถึงคว่ำ ระเบิดลูกนั้นทราบภายหลังว่าเป็นระเบิดทำลาย

ก่อนจะว่าถึงระเบิดลูกที่ ๓ ต้องขยับเรื่องระเบิดลูกนี้ซะก่อนให้หายข้องใจ ทำไมระเบิดลูกนั้นจึงลงตรงช่องว่าง ทำไมไม่ตกลงในช่องที่มีเครื่องบินอยู่ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ผมเองก็ตอบไม่ได้ ถ้าจะว่าไปเห็นจะเป็นเหตุบังเอิญ ก็ทำไมบังเอิญอย่างนั้น ทำไมไม่บังเอิญเป็นอย่างอื่นเล่า พิลึกจริง

และถ้านักบินปลดช้าอีกนี้ด หรือเร็วอีกนี้ดเดียวอะไรจะเกิดขึ้น คุณลองหลับตานึกดูก็แล้วกัน เพราะช่องกว้างไม่เกินแปดเมตรเท่านั้น และถ้าระเบิดตกแล้วไม่ด้าน ระเบิดตูมออกไป อะไรจะเกิดขึ้น เพราะโรงเก็บสร้างเป็นโรงยาวหลังคามุงจาก เครื่องบินทั้งหมดประมาณ ๑๒ เครื่องเก็บอยู่ในโรงเดียวกันไม่ได้เก็บแยกกัน สมมุติว่าเกิดไฟไหม้ ใครจะเอาเครื่องบินหนีไฟ ว้า...ยิ่งคิดยิ่งมีปัญหามากขอผ่านไปดีกว่า

ระเบิดลูกที่ ๓ ลูกนี้ก็อีกนั่นแหละมันตกลงตรงช่องว่าง ระหว่าง กอง ส.และ ป.พัน.๕ ซึ่งมีช่องว่างอยู่ประมาณ ๒๐๐ เมตร มันเลือกตกลงโคนต้นก้ามปู เลยหัว กอง ส.ไม่เกิน ๑๐ เมตร แรงระเบิดทำให้กระเบื้องบนหลังคา กอง ส.บินหนีไปหลายร้อยแผ่น ต้นก้ามปูทำท่าเซถลาไปนิดหน่อย

ระเบิดลูกนี้เป็นผลให้ทหารเก่าคนหนึ่งหงายท้องล้มทั้งยืน เพราะพี่แกเฝ้าคลังอยู่ชั้นล่าง พอได้ยินเสียงเครื่องบินพี่แกเปิดหน้าต่างออกมาดู แรงผลักทำให้หงายท้อง พูดภาษาคนไม่รู้เรื่องไปสามวันเจ็ดวัน ทหารคนนั้นยังอยู่หรือตายแล้วก็ไม่รู้ ชื่อ พลทหาร กอบ พ่อตาชื่อ โกย เป็นทหารเฝ้าคลังและเลี้ยงนกนำสาร พวกเพื่อนรู้เรื่องเข้าก็พากันแช่งส่ง เพราะกรรมที่อ้ายกอบชอบเบียดบัง เอาถั่วเขียวของนกไปต้มน้ำตาลกินบ่อย ๆ แล้วไม่แบ่งคนอื่นมั่ง สมน้ำหน้า (นกที่ว่าคือนกพิลาปนำสาร) ระเบิดลูกนี้ถ้าลงช้ากองทหาร ป.พัน.๕ แหลก ถ้าลงเร็ว กอง ส.เละ ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

ระเบิดลูกที่ ๔ เลือกลงอย่างเหมาะเหม็ง กล่าวคือมันตกลงตรงชายคาโรงม้าของ กอง ส. ทะลุสังกะสีแผ่นต่ำสุด มุดดินแล้วระเบิดตูม ฝาคอกม้าถูฉีกขาดด้วยแรงระเบิดหลายแผ่น สังกะสีเด้งตัวหนีก็หลายแผ่น นกกระจอกซึ่งอาศัยกินนอนอยู่กะม้า ตายไปหลายร้อยตัวเพราะแรงระเบิด ส่วนม้าเคราะห์ดีมันพังคอกออกไปตั้งแต่ระเบิดลูกที่สามดังขึ้น คนเลี้ยงม้าที่วิ่งเตลิดไปตามม้า หรือวิ่งเพราะต๊กกะใจก็ไม่รู้ เลยพ้นเคราะห์ไม่เป็นอันตรายร่วมกับนก

รุ่งเช้าเด็ก ๆ พากันเก็บศพนกกระจอกได้คนละหลายสิบตัว เอาไปให้แม่ทอดให้พ่อแกล้มเหล้าสบายแฮ เด็ก ๆ บางคนตะโกน

“คืนนี้มาทิ้งใหม่โว้ย อั๊วจะเก็บนกให้แม่แกงอีก”

ลูกนี้ก็เหมือนกัน ทำไมเป็นเช่นนั้น ทำไมไม่ไปตกที่อื่น ลูกที่สำคัญที่สุดคือลูกที่ ๕ ระเบิดลูกนี้ใฝ่ต่ำมาก ที่ ๆ จะลงไม่ลง เสือกไปลงในส้วม และลงได้อย่างงดงามตรงเป้าหมายพอดี อาหารเก่าของคน อาหารใหม่ของหนอน ถูกแรงผลักดันสลายตัวกลิ่นตลบ ระเบิดลูกนี้ความตั้งใจฝ่ายข้าศึกคงตั้งใจจะพังคลังกระสุนมากกว่า หากผิดคลังกระสุนก็คงจะเล่นงานห้องเก็บยาของพยาบาลเป็นแน่ เพราะอยู่ห่างกันไม่เกิน ๑๐๐ เมตร แต่เจ้ากรรมลงเร็วไปนิด เลยลงไปเจอของเหม็น

สะเก็ดระเบิดชิ้นหนึ่งอาละวาดหนัก ปลิวไปถูกครัวไฟ แล้วทะลุผ่านฝาครัวตรงเข้าตัดคอรถจักรยานที่เจ้าของเก็บไว้ในครัวขาด แล้วเลยไปค้นตู้กับข้าวชั้นล่าง ชามแกงจานข้าวแตกไปหลายใบ หมดฤทธิ์เอาที่ฝาอีกข้างหนึ่ง

พอเขียนมาถึงแค่นี้ท่านผู้อ่านคงสงสัยว่า ฝ่ายเราเป็นอะไรไปจึงไม่สู้ ปล่อยให้มันมาบินข้ามหัว ข้ามไปข้ามมาแล้วปล่อยไข่เหล็กเอาตามชอบใจ ข้อนี้ผมเองตอนนั้นคุยกับเพื่อน ๆ เราก็พากันด่าทหารอากาศเสียอักโข แต่พอทราบความจริงภายหลังจึงเข้าใจ และอยากขอโทษที่เราด่าเขา แต่ไม่ทราบจะไปขอโทษใครจึงเฉยเสีย เราพากันด่าว่า

“ทำไมไม่ส่งเครื่องบินไปสู้กับมัน”

ขอเรียนว่าสมัยนั้นเครื่องบินของเราบินกลางคืนน่ะบินได้ แต่พอขึ้นบินที่ปลายท่อไอเสียจะมีเปลวไฟพุ่งออกมาแดงโร่ทีเดียว ราวกับปล่องโรงงานกลั่นน้ำมันที่บางจาก ขืนบินขึ้นไปสู้เขาตอนกลางคืน ก็เท่ากับขึ้นไปเป็นเป้าให้ฝ่ายตรงข้ามเลือกยิงตามสบายใจ จึงไม่ขึ้นสู้ อาศัยกำลังภายในคอยผลักลูกระเบิดไปตกตามช่องว่างดังกล่าวมาแล้ว

พอรุ่งขึ้นตอนสาย ฝูงบินของเราก็ส่งเครื่องบินมาตินไปแก้มือ โดยบินไปบอมบ์ที่สถานีรถไฟพระตะบอง เรื่องนี้เป็นเรื่องจริง เพราะเมื่อคราวเข้าไปยึดดินแดน ผมเห็นหลุมระเบิดข้างสถานีรถไฟหนึ่งหลุม ข้าง ๆ อีกหนึ่งหลุม ถามพวกเขมรดู เขาบอกว่า

“ก็เครื่องบินไทยน่ะซี มาทิ้งระเบิดเมื่อคราวรบกัน”

ผมฟังเขมรคนนั้นบอกด้วยภาษาไทยชัดเจน เลยทำท่าสงสัย เขมรคนนั้นบอกต่อไปว่า

“อย่าสงสัยเลยคุณผมเป็นคนไทยน่ะ มาค้าขายได้เดือนกว่าแล้ว”

นั่นซีผมตกใจเพราะเขมรอะไร พูดไทยชัดยิ่งกว่าคนไทยซะอีก

การปะทะครั้งนั้น ต่อมาญี่ปุ่นเข้ามาไกล่เกลี่ยให้หยุดรบกัน มีการพักรบเพื่อนเจรจากันพักหนึ่ง ญี่ปุ่นก็ตัดสินให้ไทยได้ดินแดนสี่จังหวัดคืนมา

หลังจากไทยชนะ สวนสนามปูนบำเหน็จรางวัลกันแล้ว วันหนึ่งผมเดินไปเที่ยวที่บ้านแจ้ง บังเอิญเจ้าพ่อท่านกำลังเข้าทรง คนมุงกันเต็ม ผมแวะเข้าไปดู พอดีมีจ่านายสิบคนหนึ่งท่าทางจะเมาอ่อน ๆ ถามเจ้าพ่อว่า

“ ทำไมเจ้าพ่อไม่หักคออ้ายพวกที่ขี่เครื่องบินมาทิ้งระเบิดเราซะ ปล่อยให้มันกลับไปไซ่ง่อนทำไม” เจ้าพ่อตอบว่า

“กูจะหักคอเหมือนกัน แต่มัวพะวงลูกระเบิด กลัวจะถูกของสำคัญ ๆ เช่นเครื่องบินโรงทหาร พอมันปล่อยลงมา กูก็คอยเป่าให้มันเฉไปลงที่อื่น มึงไม่เห็นรึ มันจะถูกเครื่องบิน กูก็เหนี่ยวให้ลงตรงช่องว่าง มันจะปึงปังขึ้นมากูก็เป่าเสียแทบแย่ ม่ายงั้นเครื่องบินก็พังหมด”

“ ก็พอมันหมดลูกระเบิดแล้ว ทำไมเจ้าพ่อไม่จัดการล่ะ “

“ กูเหนื่อยว่ะ “ เจ้าพ่อตอบ “ อีกอย่างนึงกูพูดกะมันไม่รู้เรื่อง กลัวมันด่าแล้วฟังไม่ออก ชะตาของมันก็ยังไม่ขาดด้วย เลยปล่อยมันไป อ้ายหมอนั่นไปตายอีตอนปารีสแตก ถูกระเบิดตายเหมือนกัน “

จ่าทำท่าจะถามอีก แต่เจ้าพ่อบอกว่า

“ กูไปละ อ้ายนี่เมาแล้วพูดมาก “

ใครผ่านไปค่ายจักรพงษ์ ทางขวามือนั่นแหละครับ เจ้าพ่อท่านอยู่ที่นั่น แวะเข้าไปดูชมบ้างก็ดี หรือจะไปเที่ยวงานประจำปีของท่านก็ได้ กลางเดือนสาม มีงิ้วให้ดูทุกปี เปล่าครับ ทหารไม่ได้จัดหรอก พวกคนจีนเขาจัดมาให้เจ้าพ่อดูน่ะครับ ทหารเป็นฝ่ายอำนวยการเท่านั้น ต้นกระบกหรือครับ ยังอยู่ครับ พร้อมทั้งฝูงพญาแร้งก็ยังอยู่ครับ.

##########




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2559    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2559 12:03:01 น.
Counter : 1675 Pageviews.  

เลขสัญญาณทำเหตุ


เรื่องเล่าจากอดีต

เลขสัญญาณทำเหตุ

พญาเขินคำ (พ.ท.ชาญ กิตติกูล)

สมัยหนึ่งเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๓ ไทยเคยรบกับอินโดจีน-ฝรั่งเศส ประเทศดังกล่าวปัจจุบันคือ สาธารณรัฐเขมร นั่นเอง สมัยนั้นประเทศไทยตกอยู่ในสมัย “เชื่อผู้นำชาติพ้นภัย” และไทยเป็นชาติอารยะแล้ว ชาติไทยกำลังวิ่งรุดหน้า กิจการทหารกำลังรุ่งโรจน์ ทหารไทยกำลังถูกปรับปรุงให้พร้อมที่จะรักษาอาณาเขตและเอกราชของไทย

ระยะนั้นไทยทั้งประเทศ มีมติให้เรียกร้องดินแดน ๔ จังหวัด ซึ่งเป็นของไทยมาแต่ก่อน คืนมา อันได้แก่จังหวัด พระตพบอง เสียมราษฎร์ ศรีโสภณ และมงคลบุรี รวมทั้งดินแดนฝั่งขวาในแคว้นจำปาศักดิ์ ประชาชนชาวไทยพากันเดินขบวน แสดงประชามติใหอาดินแดนคืน

ฝรั่งเศสซึ่งเป็นนายเหนือหัวอินโดจีนได้แก่ เขมร ญวน ตอบปฏิเสธไม่นอมรับรู้ซ้ำกลับสั่งทหาร กองพันเดนตายที่ ๕ ของอินโดจีน เข้ามาปักหลักเตรียมพะบู๊เสียอีกด้วย ไทยเราก็ไม่ยอมน่ะซีครับ ส่งทหารไปบ้าง ส่วนใหญ่ไปชุมนุนอยู่ที่กิ่งอำเภอสระแก้ว บางส่วนเผ่นขึ้นไปอยู่ในป่าตามแนว คลองลึก ซึ่งเป็นเส้นเขตแดน

พอทหารทั้งสองฝ่ายประจันหน้ากันแล้ว สงครามประสาทก็เนิ่มขึ้นโดยอาศัยเครืท่องมือ คือการโฆษณาของกรมโฆษณาการ ซึ่งต่อมามีนักหนังสือพิมพ์ตั้งชื่อว่า “กรมกร๊วก” และได้เปลี่ยนชื่อเป็น “กรมประชาสัมพันธ์”มาจนปัจจุบันนี้

ฝ่ายไทยมีนักพูดชั้นยอดสองคนคือ “นายมั่น กับ นายคง” ฝ่ายไซ่ง่อนมี “นายน้ำมันก๊าด กับ นายนกหระจอก” ทั้งสองฝ่ายเกทับกันอยู่ตลอดเวลา โดยมีชาวไทยและชาวเขมรเป็นลูกคู่ ด่ากันสบั้นหั่นแหลกจนปากแม่ค้าอาย การด่ากันทางสถานีวิทยุกระจายเสียงดำเนินต่อไปจนกระทั่งเกิดยิงกันขึ้น ก็ยังด่ากันอยู่

ในระยะนั้นกองทัพบกได้จัดตั้งกองบังคับการต่าง ๆ ขึ้น เช่น กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบูรพา และ ฯลฯ ผมเป็นทหารสื่อสาร สังกัดกองทหารสื่อสาร กองพลที่ ๒ หมวดวิทยุ พอกองทัพบูรพาตั้งขึ้นและถูกบรรจุเป็น นายสถานีวิทยุประจำกองทัพบูรพา มีหน้าที่รับส่งข่าวให้กับกองทัพและ บก.ทหารสูงสุด ชั่วคราว ตั้งที่มณฑลทหารบกที่ ๒ ค่ายจักรพงษ์ มี พันเอก หลวงพรหมโยธีเป็นแม่ทัพ

เมื่อเอ่ยชื่อ ค่ายจักรพงษ์ ท่านที่เป็นทหารคงรู้จักดี บางท่านเคยรับราชการอยู่ ณ ที่นั้นจนได้ดีมียศ (บางท่านก็มีบรรดาศักดิ์)มากมายนับไม่ถ้วน ค่ายนี้ได้นามตาม ทูลกระหม่อมจักรพงษ์ หรือ สมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนาถ ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ถ้าหากจะถามว่า ทูลกระหม่อมพระองค์นี้สำคัญอย่างไร เห็นจะต้องไปหาพระประวัติเอาเอง เพราะผู้เขียนก็ไม่ทราบเหมือนกัน

ค่ายจักรพงษ์นี้ ตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๔๕๖ ซึ่งขณะที่ตั้งค่ายนี้ผู้เขียนยังไม่เกิด แล้วจะอวดรู้ไปได้อย่างไร

ค่ายจักรพงษ์ตั้งอยู่ที่ ตำบลดงพระราม อำเภอเมือง จังหวัดปราจีนบุรี บริเวณที่ตั้งค่ายแต่เดิมเป็นดงช้างดงเสือ พอกองทหารเข้าไปตั้ง ช้างเสือต่างอพยพหนี เพราะขืนอยู่คงถูกปืนแน่ ๆ ยังมีอยู่บ้างจำพวกอีเก้ง กระต่าย เพราะทหารรุ่นเก่า ๆ เล่าว่า เคยมีอีเก้งวิ่งเข้าไปใต้ถุนกองร้อย ทหารไล่จับกันสนุกสนาน จับได้เอามาย่างกินอร่อยไปเลย

ปัจจุบันค่ายจักรพงษ์ยังตั้งอยู่ที่เดิม มีของที่ทูลกระหม่อมทรงทำไว้ พอจะดูได้คือต้นสักหนึ่งต้น ศิลาจารึกนามค่ายแผ่นหนึ่ง อยู่ที่วงเวียนติดกับที่ว่าการหลังเก่า ในขณะที่กองทัพบูรพาตั้งขึ้นนั้นผมถูกบรรจุเข้าเป็นนายสถานีวิทยุประจำกองทัพ มีหน้าที่รับส่งข่าวทางวิทยุ ระหว่างกองทัพกับ บก.ทหารสูงสุด (ในขณะนั้น)ซึ่งตั้งอยู่ในกรุงเทพฯ

การรับส่งข่าวสมัยนั้น ใช้เลขสัญญาณเป็นหลัก คำพูดไม่ค่อยได้ใช้ เพราะเครื่องยังมีสมรรถภาพไม่ดีพอเหมือนสมัยนี้ การใช้เลขสัญญาณเป็นหลัก ทำให้คนทำงานกับเครื่องวิทยุรับส่ง จำกัดจำนวน เพราะคนใช้เครื่องต้องเก่งเลขสัญญาณ ทั้งรับทั้งส่ง คนไม่เป็นเลขสัญญาณ อย่าหน้าแหลมโดดเข้าไปใช้ ถูกละอาจจะเคาะได้ ฟังได้ แต่ไม่รู้เรื่อง แม้แต่คนที่คิดว่าตัวเองเก่ง ก็ยังเกิดผลิตพลาดขึ้นได้ เพราะเสียงสัญญาณมันลอยมาในอากาศ พอเข้าหูคนรับ คนรับก็เขียนเป็นตัวหนังสือไทย บางทีเขียนเป็นตัวอังกฤษ ซึ่งแล้วแต่ฝ่ายส่งจะส่งมา อย่าได้อวดดีเขียนหนังสือเขมร หรือหนังสือฝรั่งเศสเข้าเป็นอันขาด

การฟังพร้อมกับเขียนนี้เอง ทำให้เกิดวุนวายกันขึ้น ถึงกับ ร.อ.เผ่า ศรยานนท์ ซึ่งสมัยนั้นทำหน้าที่เป็น นายทหารคนสนิท ของ ผบ.ทหารสูงสุด สั่งสอบแต่ไม่ได้สวน เพราะเอาผิดจริง ๆ ไม่ได้ ไม่รู้ว่าใครผิดกันแน่ ครั้นจะเอาผิดทั้งสองข้าง ก็เกรงจะขาดคนเก่งเลขสัญญาณ กับความผิดคราวนั้นไม่ร้ายแรง ถึงกับให้เสียผลในการดำเนินการรบ เรื่องจึงจางหาย เลือนไป หายไปเหมือนโฆษณายาสีฟันในสมัยหนึ่ง

ก่อนจะรบกันระหว่างไทยกับอินโดจีนฝรั่งเศส ทางไทยได้ส่งทหารไปประจำแนว ฝรั่งเศสก็ส่งมาเหมือนกัน แล้วต่างฝ่ายต่างก็ส่งหน่วยลาดตระเวน ออกตระเวนเขตแดนของตน วันหนึ่งผมได้รับข่าววิทยุมาเพื่อส่งรายงานเข้า บก.ทหารสูงสุด มีข้อความพอจำได้ว่า

“ ลาดตระเวนฝ่ายเราได้เกิดปะทะกับฝ่ายข้าศึกที่บริเวณ..................ฝ่ายข้าศึกมีกำลังหนึ่งหมวด ได้ล่าถอยไป ฝ่ายเราไม่มีใครเป็นอันตรายแต่อย่างไร “

ผมรับรายงานฉบับนี้แล้ว พอถึงเวลาที่ส่งต่อไปให้ฝ่ายรับทางวิทยุ โดยเคาะเลขสัญญาณ ส่งจบแล้วก็มีการตอบรับ แล้วก็หมดเรื่องไป

พอตกกลางคืน วิทยุแห่งประเทศไทยโดยกรมโฆษณาการ ได้นำข่าวชิ้นนี้มาให้ นายมั่นนายคงคุยกัน แต่ข้อความมันกลายเป็นว่า “ฝ่ายข้าศึกมีกำลังห้าหมวด” พอรุ่งขึ้นข่าวนี้ก็ถูกสอบว่าใครเป็นผู้ส่ง ข้อความที่แท้จริงนั้น ข้าศึกมีกำลังเท่าใดแน่

ผมรับข่าวแล้วก็หายใจไม่ทั่วท้อง เพราะขณะนั้นประกาศกฎอันการศึก ความผิดแต่ละกระทงต้องขึ้นศาลทหาร ผมวิ่งหน้าตั้งไปหา ผบ.สื่อสาร นำข่าวส่งให้แล้วยืนยันว่า

“ ผมไม่ได้ส่งคำว่า ห้าหมวด ผมส่ง หนึ่งหมวด เท่านั้น ใครไม่รู้ทำหน้าแหลมแก่มองไปตั้งห้าหมวด “

ผบ.ส.ท่านเอ็นดูผม ท่านบอกว่า

“ ไม่ต้องตกใจ อั๊วจะแก้ให้เอง “

แล้วท่านก็เขียนข่าวถึง ทส.ผบ.ทหารสูงสุดว่า

“ เลขสัญญาณคำว่า หนึ่ง กับ ห้า อาจสับสนกันได้เพราะขึ้นหน้าด้วยตัว ห.ด้วยกัน เพราะเคาะสี่สั้นเท่ากับตัว ห ถ้าเคาะเลยไปห้าสั้น หรือสั้นห้าที มันกลายเป็นเลขห้า ในทางตรงข้าม ถ้าฝ่ายรับหูระแวง อาจจะฟังสี่สั้นเป็นห้าสั้นก็ได้”

หนึ่งหมวดจึงกลายเป็นห้าหมวด ผู้กรองข่าวก็น่าจะคิดสักนิดว่า ลาดตระเวนประเทศไหนหนอ ออกลาดตระเวนครั้งละห้าหมวด มันเท่ากับหนึ่งกองร้อยเข้าไปแล้ว นายยกกระจอกกับนายน้ำมันก๊าดได้ยินเข้า คงหัวเราะกันสามวันสามคืน

กรมโฆษณาการนั้น เคยมีหนังสือพิมพ์เรียกว่า กรมกร๊วก ส่วนตัวผมน่ะไม่เคยว่า ไม่เคยคิดว่าเสียด้วย เพียงแต่คิดว่า เรากร๊วกหรือผู้รับข่าวกร๊วกก็ไม่ทราบ พอ ผบ.ส.ท่านแก้ไปแล้วเงียบหาย เป็นอันว่าเจ๊ากันไป ไม่กินไม่ใช้

ผมเขียนตอนต้น อ้างว่าตัวเองทำหน้าที่นายสถานีวิทยุให้กองทัพบูรพาจนเกิดเรื่อง แต่ยังไม่ได้เรียนให้ทราบว่า เครื่องมือที่ใช้รับส่งข่าว เป็นเครื่องมือยี่ห้ออะไร ทำที่ไหน ใครเป็นคนทำ สำคัญอย่างไร เห็นจะต้องเรียนให้ทราบจนได้ซีน่า

เครื่องรับส่งวิทยุชุดหรือแบบที่ผมใช้ ยี่ห้อ รส.ห้า (รส.๕) อดีตรองเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ท่านเปลี่ยนชื่อเมื่อวันเลี้ยงส่งท่านว่า รส.ห่า จะห้าหรือห่าเราลองมาคุยถึงวิทยุยี่ห้อนี้กันสักนี้ดเถอะ

วิทยุแบบนี้สร้างโดยโรงงานสร้างเครื่องมือสื่อสาร ซึ่งตั้งอยู่ในบริเวณกรมการทหารสื่อสาร ใกล้กับสะพานแดงซึ่งไม่แดงนี่เอง สมัยเมื่อผมเป็นสิบตรี ผมจำได้ว่า ผบ.ส.สั่งให้ผมไปช่วยนายสิบรุ่นพี่เขาทำการรับส่งวิทยุ ผมก็ได้รับความรู้จากนั้นมา ต่อมาพอรู้มากเข้าจึงได้รับการบรรจุเข้าเป็นนายสถานี ใช้เครื่อง รส.๕ อยู่นานเต็มที ตั้งแต่รบอินโดจีนไปจนสงครามเชียงตุงผมก็ยังใช้อยู่ เคยพาติดตัวไปจนถึงแม่น้ำสาละวิน พาไปจนชนแดนอยู่นานผมก็ยังใช้ติดต่อได้ เคยตั้งสถานีในหุบเขา บนยอดเขา ในถ้ำก็เคย เอ๊ะ ติดต่อได้ทุกที ทางด้านบูรพาคราวยึดดินแดนผมก็ใช้และได้ผล แต่ต้องสำรองไว้อย่างน้อยสองชุด เพราะเครื่องชำรุดบ่อย ๆ โดยเฉพาะเครื่องส่ง ต่อเมื่อเสร็จสงครามมีเครื่อง ปณ.(ของกรมไปรษณีย์โทรเลข)เข้ามาแทน พวกเราก็พากันลืมแฟนเก่าเสียแล้ว เพราะความสะดวกผิดกัน ต่อมาทางการเรียกเก็บ ผมเคยตามหาเครื่องหมายเลข ๒๕ ซึ่งเคยใช้เป็นคู่ขากันมา แต่ก็หาไม่พบ

ความสามารถของเครื่องส่ง ผมอยู่ที่แม่น้ำสาละวิน เคยติดต่อกับดอนเมือง วังปารุสก์ได้อย่างสบาย ส่วนเครื่องรับตกกลางคืนผมใช้ฟังข่าวจาก เดลฮี จากออสเตรเลียได้อย่างสบาย ปัจจุบันได้มีตั้งไว้ให้ชมในพิพิธภัณฑ์ทหารสื่อสาร ทหารสื่อสารรุ่นใหม่ ๆ จะไปคุยกันบ้างก็ได้

เรื่องที่เกี่ยวกับการรบคราวอินโดจีนฝนั่งเศส ยังมีอีกมาก ขอเวลาให้ผมทบทวนความทรงจำสักหน่อย แล้วจะขยับให้ทราบต่อไป.


#############




 

Create Date : 01 พฤษภาคม 2559    
Last Update : 1 พฤษภาคม 2559 7:39:43 น.
Counter : 510 Pageviews.  

กรณีพิพาทอินโดจ่ีน (๔)

เรื่องเล่าจากอดีต

กรณีพิพาทอินโดจีน (๔)

พ.สมานคุรุกรรม

ทางด้านกองทัพอิสานซึ่งรับผิดชอบในการเข้าตี จากช่องจอมและช่องเสม็ด พุ่งเข้าสู่ดินแดนเขมรจากทางเหนือของกองทัพบูรพา ตั้งแต่วันที่ ๘ มกราคม ๒๔๘๓ กองพันทหารราบที่ ๗ กองพันทหารราบที่ ๒๘ และกองพันทหารราบที่ ๒๙ ได้ออกจากช่องจอม เข้ายึดบ้านโกนกั๊วะ บ้านโกนเกรียน และบ้านกาบเชิง มุ่งหน้าผ่านบ้านกระตูมเพื่อเข้าตีบ้านสำโรง ซึ่งเป็นที่มั่นหลักทางด้านนี้

ที่บ้านสำโรงมีป้อมขนาดใหญ่ กว้างยาวประมาณด้านละ ๔๐ เมตร ด้านเหนือของป้อมมีบึงใหญ่มากน้ำลึกประมาณหัวเข่าถึงราวนม กำแพงป้อมใช้เสาไม้ปักเป็นแนวสองแถวห่างกันประมาณหนึ่งเมตร แล้วใส่ดินในช่องว่างตรงกลาง ทำเป็นที่กำบังยืนยิง สูงประมาณสองเมตรครึ่ง หัวมุมป้อมสามมุมก่ออิฐถือปูน มีช่องยิงตามแนวกำแพงป้อมได้รอบตัว ประตูป้อมมีประตูเดียว ทางหลังป้อมปิดด้วยเครื่องกีดขวางลวดหนาม และมีสนามบินขนาดเล็กกับโรงเก็บเครื่องบินสองหลัง

หน้ากำแพงป้อมปลูกต้นกระบองเพชรเป็นแถวหนาประมาณสามเมตร และมีลวดหนามสามแนว ห่างกันประมาณ ๕๐ ซ.ม.มูลดินของป้อมใช้เป็นที่ตั้งปืนกล ซึ่งวางแผนประสานการยิงไว้ล่วงหน้า ป้อมนี้เป็นที่มั่นแข็งแรงเพื่อควบคุมเส้นทาง ที่จะเข้าสู่เมืองเสียมราฐและเมืองศรีโสภณ

ครั้งแรกผู้บัญชาการกองพลสุรินทร์ มีความมุ่งหมายจะล้อมป้อมสำโรง ให้ข้าศึกยอมจำนนเพื่อจับเป็นเชลย จึงให้กองพันทหารราบที่ ๗ เข้าตีจากบ้านกะตูม เดินทางไปประมาณ ๑๐ ก.ม. ถึงป้อมสำโรงในตอนเช้ามืด ขณะที่ผ่านบึงใหญ่ก็ถูกข้าศึกยิงขัดขวางจากตัวป้อมอย่างรุนแรง ฝ่ายเราได้ใช้อาวุธทั้งหนักเบายิงไปที่ตัวป้อม แต่เคลื่อนที่ไปไม่ได้เพราะข้าศึกอยู่ในชัยภูมิที่ดีกว่า จนถึงเวลากลางคืนจึงได้ถอนตัวมาข้างหลังประมาณ ๒ ก.ม.ให้พ้นระยะยิง แล้วพักแรมคืนหนึ่ง

พอรุ่งเช้าก็มีเครื่องบินข้าศึกสองเครื่อง มาบินวนเวียนยิงกราดและทิ้งระเบิดทหารไทยในระยะต่ำ แม้ฝ่ายเราจะใช้ปืนกลยิงต่อสู้ก็ไม่เป็นผล ทหารเริ่มจะเสียขวัญ เพราะมีผู้ถูกยิงตายไป ๒-๓ คน ผู้บังคับกองพันจึงสั่งถอนตัวอย่างเป็นระเบียบ กลับไปปรับกำลังใหม่ที่บ้านปะอง และขอให้ทหารอากาศฝ่ายเราทำการช่วยเหลือ

อีกด้านหนึ่งกองพันทหารม้าที่๑ รักษาพระองค์ ได้ออกจากช่องเสม็ด เข้าตีป้อมสำโรงด้านหลังพร้อมกับ กองพันทหารราบที่ ๗ และถูกข้าศึกต่อต้านอย่างเหนียวแน่น กับถูกเครื่องบินโจมตีเช่นเดียวกัน ผู้บังคับกองร้อยและพลทหารอีกหนึ่งคนเสียชีวิตเพราะลูกระเบิดข้าศึก จนถึงเวลาค่ำจึงถอนตัวกลับไปทางช่องเสม็ด และพักรวมกำลังอยู่ที่บ้านแดงมุด

หลังจากนั้นอีก ๒-๓ วันกองทัพอากาศไทยจึงส่งเครื่องบินไปโจมตีทิ้งระเบิด และยิงกราดป้อมสำโรงติดต่อกัน จนทหารข้าศึกต้องทิ้งป้อมถอยหนีไปหมด

เมื่อจัดกำลังใหม่แล้ว กองพลสุรินทร์ก็เคลื่อนขบวนเข้าตีป้อมสำโรงอีกครั้งหนึ่งในวันที่ ๙ มกราคม คราวนี้ไม่มีเหตุการณ์อย่างใดมาขัดขวาง คงเคลื่อนที่ได้ตลอดทางจนประชิดป้อม ก็ไม่มีข้าศึกยิงมาแม้แต่นัดเดียว เพราะข้าศึกถอยไปแล้ว กองพลสุรินทร์จึงยึดป้อมสำโรงได้โดยง่าย และส่งกำลังออกไปยึดพื้นที่ต่อไปโดยไม่มีข้าศึกเข้าตีโต้ตอบแต่อย่างใด

ทางด้านกองพลอุบล ได้เคลื่อนกำลังผ่านช่องเม็ก เมื่อวันที่ ๑๔ มกราคม ๒๔๘๔ ตั้งแต่เวลา ๐๓.๐๐ น. โดยให้กองพันทหารราบที่ ๒๑ เข้าตีบ้านดู่ แขวงเมืองโพนทอง ซึ่งมีป้อมเป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีกำแพงหนาประมาณหนึ่งเมตร กำแพงเป็นไม้ไผ้สับฟาก ตรงกลางอัดด้วยดินแน่น สันกำแพงทำเป็นเชิงเทินมีช่องยิง สามารถกันกระสุนปืนเล็กปืนกลได้ และมีกองพันทหารราบที่ ๒๐ เป็นกำลังหนุน สามารถยึดป้อมบ้านกู่ได้ในวันที่ ๑๕ มกราคม

ต่อมาวันที่ ๑๙ มกราคม กองพลอุบลได้ให้ กองพันทหารราบที่ ๑๙ และกองพันที่ ๒๑ เข้ายึดนครจำปาศักดิ์ และกองพันที่ ๒๐ เป็นกองหนุน ปรากฏว่าสามารถยึดได้ โดยข้าศึกไม่ได้ทำการต้านทานเลย

นครจำปาศักดิ์นี้มี เมืองที่เทียบเท่าอำเภอของไทย ๑๐ เมือง อยู่ทางฝั่งขวาของแม่น้ำโขงห้า เมืองคือ ดอนโขง โพนทอง จำปาศักดิ์ มูลป่าโมกข์ และเซลำเภา ฝั่งซ้ายสามเมือง คือ ปากเซ ปากสง และเพียะฝาย กับเกาะกลางแม่น้ำโขงสองเมืองคือ เมืองโขง และเมืองโขน ซึ่งเดิมชื่อเมืองศรีทันดอน หรือสี่พันดอน

สุดท้ายเมื่อ ๒๕ มกราคม กองพันทหารราบที่ ๒๑ ได้เคลื่อนที่ไปยึดบ้านมูลป่าโมกข์ ซึ่งเป็นแนวหน้าสุดของกองพลอุบล

ทางด้านกองพลอุดร ส่วนใหญ่ฝ่ายไทยยึดภูมิประเทศตรึงกำลังอยู่ตามลำแม่น้าโขง แต่ถูกข้าศึกทำการยิงด้วยอาวุธปืนใหญ่ และอาวุธยิงจากฝั่งด้านนครเวียงจันทน์ มายังบ้านพานพร้าว บ้านศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ และทางด้านจังหวัดนครพนม ฝ่ายข้าศึกได้ยิงปืนใหญ่ ปืนกล ข้ามแม่น้ำโขงมาที่บ้านหาดทรายมูล บ้านธาตุพนม อำเภอมุกดาหาร ตั้งแต่ ๖ มกราคม ฝ่ายเราได้ยิงตอบโต้ไปทุกแห่ง เป็นครั้งคราว จนถึงวันที่ ๑๒ มกราคม และวันที่ ๑๙ มกราคม กองทหารฝรั่งเศสจำนวนหนึ่งได้ยกกำลังทางเรือจากแม่น้ำโขงฝั่งตรงข้ามเพื่อยกพลขึ้นบกที่อำเภอท่าอุเทนจังหวัดนครพนม แต่ได้รับการต่อสู้จากฝ่ายเราไม่สามารถยกพลขึ้นบกได้สำเร็จ ต้องล่าถอยกลับไปโดยได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ทางกองพลอุดรนี้ ได้มีตำรวจสนามและยุวชนทหารหน่วยที่ ๕๗ เข้าร่วมรักษาชายฝั่งแม่น้ำโขงอย่างได้ผลดียิ่ง

และเมื่อวันที่ ๒๕ มกราคม กองพันทหารราบที่ ๑๗ ซึ่งประจำอยู่ที่จังหวัดหนองคาย ได้รับคำสั่งให้เคลื่อนที่เข้าไปในดินแดนข้าศึกเพื่อเข้ายึดเมืองปากลาย ได้เข้ายึดบ้านบ่อแตน และบ้านแก่นท้าวไว้ได้ ส่วนกองพันทหารราบที่ ๒๒ ได้เข้าไปถึงบ้านปากลาย จนบรรจบกับกองพันทหารราบที่ ๒๘ ของกองพลพายัพ

ทางด้านกองพลพายัพ ได้ปฏิบัติการรบทางภาคเหนือ โดยส่งกำลังออกไปยึดดินแดนข้าศึก ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม ๒๔๘๓ กองพันทหารราบที่ ๓๐ ได้ยึดบ้านห้วยทราย ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอำเภอเชียงของไว้ได้ กองพันทหารราบที่ ๓๑ ได้ออกจากจังหวัดน่านเข้ายึดเมืองสมาบุรี ห่างจากชายแดนไทยประมาณ ๔๐ ก.ม. และเคลื่อนที่ไปยึดบ้านท่าเดื่อ ห่างจากชายแดนไป ๖๐ ก.ม. แต่เมื่อได้รับคำสั่งให้หยุดยิง จึงกลับมาอยู่ที่บ้านนาแคม เมืองสมาบุรี แคว้นหลวงพระบาง

กองพันทหารราบที่ ๒๘ ได้เคลื่อนที่จากอำเภอท่าเสา อำเภอฟากท่า จังหวัดอุตรดิตถ์ ข้ามเขตแดนไทย-ลาวทางช่องมะม่วงเจ็ดต้น ไปยึดเมืองปากลาย แขวงไชยบุรี จนบรรจบกับกองพันทหารราบที่ ๒๒ ของกองพลอุดร

การปฏิบัติของกองพลพายัพ ถึงแม้จะไม่มีการปะทะกันอย่างรุนแรง เพราะข้าศึกได้ต้านทานไม่เหนียวแน่น และส่วนมากได้ชิงถอนตัวเสียก่อน แต่ผลที่ได้รับของกองพลนี้คือ สามารถยึดพื้นที่ของข้าศึกได้มากกว่ากองพลอื่น ๆ ทั้งหมด

การปฏิบัติการของกองพลจันทบุรี ซึ่งประกอบกำลังด้วย กองพันทหารนาวิกโยธินที่ ๑ กองพันนาวิกโยธินที่ ๒ ซึ่งเป็นทหารเรือ และ กองพันทหารม้าที่ ๔ ซึ่งเป็นทหารบก ได้เฝ้ารักษาเขตแดนด้านจังหวัดจันทบุรีและจังหวัดตราด ตามช่องทางต่าง ๆ คือ บ้านคลองใหญ่ บ้านคลี่ บ้านอุลำเจียก บ้านผักกาด โป่งสลา บ้านบึงชะนังล่าง บ้านบึงชะนังกลาง และกิ่งอำเภอโป่งน้ำร้อน ตั้งแต่วันที่ ๙ ธันวาคม ๒๔๘๓

ฝรั่งเศสได้ส่งกำลังเข้ามาลาดตระเวนเข้ามารบกวน ซึ่งได้รับการต่อต้านจากฝ่ายไทยจนต้องล่าถอยไปหลายครั้ง ตั้งแต่ ๑๒ ธันวาคม ๒๔๘๓ จนถึง ๕ มกราคม ๒๔๘๔ ฝรั่งเศสจึงเข้าตีครั้งใหญ่ โดยมีกำลังพลประมาณ ๖๐๐ คน บุกเข้ามาทางบ้านโป่งสลา จึงเกิดการปะทะกันอย่างดุเดือด เป็นเวลาประมาณ ๓๐ นาที ข้าศึกจึงถอยออกไป ผลปรากฏว่า ฝ่ายฝรั่งเศสมีนายทหารตาย ๑ นาย พลทหารญวนตาย ๘ นาย ถูกจับเป็นเชลย ๑ นาย ฝ่ายไทยเสียชีวิต ๔ นาย

กองพลจันทบุรีจึงเคลื่อนที่เข้าตีข้าศึกเมื่อ วันที่ ๒๗ ต่อกับวันที่ ๒๘ มกราคม เวลา ๒๔.๐๐ น. เป็นสองทาง คือ กองรบด้านเหนือ เคลื่อนที่ออกจากบ้านบึงชะนังกลางเข้าเขาตารางมุ่งไปสู่บ้านพุมเรียงล่าง และสามารถยึดได้ในเวลา ๑๘.๐๐ น.

กองรบด้านใต้ จัดขบวนรุกเข้าไปทางบ้านตาพรม บ้านบ่อตั้งสู้ และบ้านบ่อหญ้าคา บ้านสรอม เขตเมืองไพลิน จนถึงเวลาประมาณ ๑๕.๓๐ น. ก็มีคำสั่งให้พักรบ

ส่วนทางด้านกองทัพเรือโชคไม่ดีที่ถูกจู่โจมด้วยกำลังทางเรือของฝรั่งเศส จำนวน ๕ ลำ คือ เรือลาดตระเวน ลามอตต์ปิเกต์ ระวางขับน้ำ ๗,๘๘๐ ตัน เรือปืนดูมองด์ดูรวิลล์ ระวางขับน้ำ ๒,๑๕๖ ตัน , อามิราลชาร์แนร์ ระวางขับน้ำ๒,๑๕๖ ตัน ,ตาร์ฮูร์ ระวางขับน้ำ ๖๔๔ ตัน และ มาร์น ระวางขับน้ำ ๖๐๐ ตัน เข้าตีกองทัพเรือไทยที่บริเวณเกาะช้าง จังหวัดตราด เมื่อวันที่ ๑๗ มกราคม ๒๔๘๔

ฝ่ายไทยมีเรือรบรักษาการณ์อยู่ในบริเวณนั้น ๖ ลำ คือ ร.ล.ธนบุรี ระวางขับน้ำ ๒,๓๕๐ ตัน ร.ล.ชลบุรี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ระยอง ระวางขับน้ำลำละ ๔๖๐ ตัน ร.ล.หนองสาหร่าย ระวางขับน้ำ ๔๒๐ ตัน และ ร.ล.เทียวอุทก ระวางขับน้ำ ๕๐ ตัน

แสดงว่าเรือรบของไทย มีเพียงลำเดียวที่สามารถจะต่อสู้กับเรือรบข้าศึกได้ โดยมีระวางขับน้ำต่ำกว่าข้าศึก หลายเท่า ผลของการรบ ปรากฏว่า ร.ล.ธนบุรี ร.ล.สงขลา และ ร.ล.ชลบุรี ถูกข้าศึกยิงจม หลังจากที่ได้ต่อสู้อย่างทรหดแล้ว ตั้งแต่ เวลา ๐๖.๑๐ น. จนถึงเวลาประมาณ ๐๗.๔๐ น.

ทางกองทัพเรือได้มีแผนที่จะใช้เรือรบไปทำการต่อตีตอบแทนข้าศึก ในน่านน้ำของข้าศึกเหมือนกัน แต่ได้รับคำสั่งให้ยุติการรบเสียก่อน เมื่อวันที่ ๒๘ มกราคม ๒๔๘๔

เมื่อยุติการรบเพราะญี่ปุ่นได้ยื่นมือเข้ามาไกล่เกลี่ยแล้ว มีการเจรจาตกลงทำสัญญาสันติภาพ ผลของการเจรจาทำให้ฝรั่งเศสต้องคืนดินแดนที่เสียไป เมื่อ ร.ศ.๑๑๒ หรือ พ.ศ.๒๔๓๖ บางส่วนคือ พระตะบอง จำปาศักดิ์ กำปงธม และล้านช้าง

จนถึง พ.ศ.๒๔๘๘ สิ้นสงครามโลกครั้งที่ ๒ แล้ว ไทยก็ต้องคืนดินแดนเหล่านี้ กลับไปอยู่ในความปกครองของฝรั่งเศสอีกครั้ง แต่ในที่สุด ดินแดนอินโดจีนทั้งสามคือญวน ลาว และเขมร ก็ได้รับอิสสระภาพ เป็นประเทศสาธารณรัฐเวียตนาม ประเทศประชาธิปไตยประชาชนลาว และประเทศกัมพูชา อยู่ในปัจจุบัน

เรื่องราวเกี่ยวกับกรณีพิพาทอินโดจีน ซึ่งได้นำมาเล่าอย่างย่นย่อนี้ ได้ข้อมูลจากเรื่อง กรมรถไฟกับกรณีพิพาทอินโดจีนฝรั่งเศส ซึ่งมีความยาวถึง ๓๔๔ หน้า ของ พันเอก แสง จุละจาริต อดีตผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย


#########




 

Create Date : 30 เมษายน 2559    
Last Update : 30 เมษายน 2559 10:47:09 น.
Counter : 972 Pageviews.  

กรณีพิพาทอินโดจ่ีน (๓)


เรื่องเล่าจากอดีต

ย้อนอดีต

กรณีพิพาทอินโดจีน (๓)

พ.สมานคุรุกรรม

วันที่ ๕ มกราคม ๒๔๘๔ อันเป็นวัน ดี.เดย์ของกองทัพบกไทย กองทัพบูรพาก็ส่ง กองพลลพบุรีเคลื่อนที่ผ่านกองพลวัฒนาซึ่งวางกำลังรักษาชายแดนด้านอรัญประเทศ เข้าตีข้าศึกที่ด่านปอยเปตซึ่งเป็นแนวหน้าของข้าศึก กองพลนี้มีกำลังสามกองพัน ขั้นแรกให้กองพันทหารราบที่ ๖ รุกเข้าไปเป็นหน่วยแรก ฝ่าดงระเบิดและลวดหนามซึ่งเป็นเครื่องป้องกันหน้าจุดต้านทาน ด้วยความทรหดอดทน จนสามารถยึดด่านปอยเปตได้ในวันที่ ๗ มกราคม

ต่อจากนั้นได้ให้กองพันทหารราบที่ ๘ และกองพันทหารราบที่ ๔ รุกคืบหน้าต่อไปตามแนวถนนปอยเปตไปศรีโสภณ ประมาณ ๒๐ ก.ม. จนถึงแนวตั้งรับของข้าศึกที่พะเนียด จึงถูกข้าศึกระดมยิงอย่างหนัก พะเนียดนี้เป็นที่มั่นดัดแปลงที่แข็งแรงของข้าศึก สร้างไว้คล่อมถนนปอยเปต- ศรีโสภณ โดยใช้ขอนไม้ทั้งต้นมาวางซ้อนกันไว้เป็นชั้น ๆ คล้ายพะเนียด ด้านหน้าได้ขึงลวดหนามและแขวนกระป๋องไว้เป็นระยะ เพื่อให้เกิดเสียงดัง ภายในที่มั่นขุดคูสนามเพลาะติดต่อถึงกันโดยตลอด และมีคลังเก็บกระสุนวัตถุระเบิดจำนวนมากด้วย

ทหารราบกองพันที่ ๘ เคลื่อนที่ในเวลากลางคืน ด้วยการเดินเท้าประมาณสามชั่วโมง มาติดอยู่ที่ลวดหนามหน้าแนวตั้งรับของข้าศึก จึงถูกระดมยิงอย่างหนัก โดยไม่ได้คาดการณ์ไว้ก่อนทำให้เกิดการระส่ำระสาย และรายงานขอกำลังหนุน กองพันทหารราบที่ ๖ จึงเคลื่อนกำลังขึ้นมา กว่าจะถึงแนวรบก็เป็นเวลาสามชั่วโมงเช่นเดียวกัน แต่ก็ช่วยให้กองพันที่ ๘ มีกำลังใจยึดพื้นที่อยู่ได้โดยไม่ถอย กองพันที่ ๖ จึงเคลื่อนที่เข้าโอบปีกทางด้ายซ้ายจนสุดแนวป้องกัน แล้วเข้าตีด้านหลัง ข้าศึกจึงต้องถอยไป ทหารไทยสามารถยึดค่ายพะเนียดได้ในตอนเช้าวันรุ่งขึ้น แต่ก็เสียกำลังพลของกองพันที่ ๘ ไปเป็นอันมาก

หลังจากวันที่ ๑๐ มกราคมไปแล้ว ทั้งสองฝ่ายต่างก็วางกำลังยันกันอยู่ โดยไม่มีการสู้รบ เว้นแต่มีการปะทะระหว่างหน่วยลาดตระเวนบ้างเล็กน้อย

ในขณะเดียวกัน กองพลพระนครซึ่งมีกำลังสามกองพัน และอยู่ทางด้านเหนือของกองพลวัฒนา ก็ได้เคลื่อนที่จากชายแดน เข้าไปในดินแดนข้าศึกตั้งแต่วันที่ ๕ มกราคม โดยให้กองพันทหารราบที่ ๑ ไปตามเส้นทางในภูมิประเทศลึกเข้าไปประมาณ ๓ ก.ม.ก็ได้รับการต้านทานที่บ้านยาง ได้ทำการสู้รบอยู่ไม่นานก็สามารถยึดได้

ส่วนกองพันทหารราบที่ ๓ อยู่ด้านขวาของกองพันที่ ๑ เคลื่อนที่เข้าไปตามถนนอีกเส้นหนึ่ง ที่อยู่ห่างจากถนนปอยเปต-ศรีโสภณไปทางเหนือประมาณ ๑๒ ก.ม. เมื่อเคลื่อนที่เข้าไปได้ประมาณ ๙ ก.ม.ก็ถึงบ้านพร้าวซึ่งข้าศึกได้วางกำลังตั้งรับไว้ กองพันที่ ๓ เข้าตีตั้งแต่วันที่ ๖ มกราคม ถึงวันที่ ๑๑ มกราคม ก็ยึดที่มั่นบ้านพร้าวไว้ได้ และพักกำลังพลอยู่ที่นั้น กับส่งกำลังออกลาดตระเวนต่อไปอีก ๑๐ ก.ม.ก็ไม่พบข้าศึก

ในวันที่ ๑๓ มกราคม ผู้บังคับกองพันที่ ๓ กับคณะได้ออกตรวจภูมิประเทศด้วยตนเองสังเกตเห็นว่าเส้นทางต่อไปในดินแดนข้าศึกนั้น มีการปรับผิวถนนราบเรียบ และมีเครื่องหมายสำหรับปรับการยิงปืนใหญ่ของข้าศึก จึงสันนิฐานว่าข้าศึกได้ยอมถอยออกจากบ้านพร้าว พร้อมกับวางแผนเตรียมการเข้าตีโต้ตอบภายหลังด้วย ถ้ากองพันตั้งอยู่ที่เดิมจะถูกโจมตีอย่างรุนแรง

และในเย็นวันนั้นหน่วยลาดตระเวนของข้าศึก ก็เข้ามาปะทะกับหน่วยคอยเหตุส่วนหน้าของกองพัน ซึ่งผู้บังคับกองพันได้สั่งการให้ตั้งรับและขับไล่ข้าศึกด้วยอาวุธปืนเล็กห้ามใช้อาวุธหนักและปืนกล เป็นการลวง

วันรุ่งขึ้น ๑๔ มกราคม ผู้บัญชาการกองพลพระนครก็มาตรวจภูมิประเทศ พร้อมกับผู้บังคับกองพันที่ ๓ ก็ขออนุมัติเคลื่อนกำลังพลออกไปข้างหน้าอีกประมาณ ๔ ก.ม. แต่เมื่อผู้บัญชาการกองพลรายงานขออนุมัติไปทางกองทัพบูรพา กลับถูกสั่งห้ามไม่ให้หน่วยนี้เคลื่อนที่ต่อไปโดยเด็ดขาด เพราะจะผิดแผนที่กองทัพวางไว้

แต่ผู้บังคับกองพันที่ ๓ ก็นำกำลังทั้งหมดออกจากที่ตั้งในตอนค่ำ ไปยึดที่หมายข้างหน้าห่างจากที่เดิมประมาณ ๔ ก.ม.และวางกำลังในห้วยแห้งที่ขนานกับถนนที่ข้าศึกได้กรุยทางไว้ทั้งสองข้าง และวางตัวอยู่ด้วยความสงบจนถึงวันที่ ๑๕ มกราคม

กองพันทหารราบที่ ๓ คงยึดอยู่ในลำห้วยแห้งอย่างสงบและมีวินัย มีการทบทวนอย่างกวดขัน ระหว่างเวลา ๑๘.๐๐ – ๒๒.๐๐ น. ได้มีเสียงอีเก้งร้องในทุ่งหญ้า แสดงว่าตกใจที่มีผู้คนเข้าไปในบริเวณหากิน ดึกขึ้นไปมีเสียงรถยนต์จำนวนมากไกล ๆ ทางทิศตะวันออกด้านศรีโสภณ แสดงว่ามีการเคลื่อนย้ายกำลังของฝ่ายข้าศึก

๑๖ มกราคม เวลา ๐๔.๐๐ น. ได้มีเสียงปืนยิงโต้ตอบกันดังมาจากบ้านยาง แม้จะไกลประมาณ ๔ ก.ม.เศษก็ตาม แสดงว่าข้าศึกกำลังเข้าตี กองพันทหารราบที่ ๑ ซึ่งตั้งรับอยู่ที่บ้านยาง ผู้บังคับกองพันจึงโทรศัพท์สั่งทุกหน่วยให้เตรียมตัวทำการยิงตามแผนที่สั่งการ โดยเคร่งครัดห้ามทำการยิงตามลำพังโดยเด็ดขาด

ผู้บังคับกองพันได้สั่งแก่พลยิงปืนกลนำว่า ให้ยิงต่อแถวทหารส่วนมาก ที่เข้ามาในเขตที่กำหนดไว้ สำหรับหน่วยลาดตระเวนของข้าศึกที่มีกำลังต่ำกว่า ๑๐ คนให้ปล่อยผ่านไป ระหว่างนั้นได้ยินเสียงข้าศึกปลุกกันจากการนอน ห่างจากแนวไปประมาณ ๒๐๐ เมตร และจากนั้นก็มีทหารข้าศึกสามคน กับสุนัขพื้นเมืองสองตัวมาลาดตระเวนหน้าแนว ห่างจากที่ทหารไทยซุ่มอยู่ประมาณ ๑๕ เมตร คืนนั้นเป็นคืนเดือนหงายค้างฟ้า แลเห็นได้ไกล ทหารลาดตระเวนของข้าศึกไม่ได้ออกจากแนวทางลำลองที่ไปห้วยยาง เป็นแต่เดินมอง ไปเรื่อย ๆ สุนัขสองตัวของข้าศึกได้วิ่งมาถึงแนวทหารไทย และวิ่งดมคนโน้นคนนี้บ้างแต่ไม่ได้เห่า ข้าศึกเข้ามาในแนวตั้งรับประมาณ ๑๕ นาทีก็กลับไป

เมื่อถึงเวลา ๐๕.๐๐ น.กองพันที่ ๓ ของกรมทหารราบต่างด้าวที่ ๕ ซึ่งเป็นหน่วยกล้าตายชั้นหนึ่ง มีกิตติศัพท์อันเกรียงไกรมาแล้ว ในหลายสมรภูมิอินโดจีนฝรั่งเศส ก็เคลื่อนขบวนเข้ามาในเขตแผนการยิงของไทย เป็นแถวตอนเรียงสามเดินตามสบาย เพราะยังอยู่ห่างจากบ้านพร้าวอีกตั้ง ๔ ก.ม. เสียงปืนกลนำสัญญาณก็ดังปะทุขึ้น และตลอดความยาวของแถวตอนเรียงสามทหารข้าศึกอยู่ในแผนการยิงอย่างถี่ยิบของทหารไทย ที่ส่งกระสุนปืนเล็กยาว ปืนกลเบา ปืนกลหนัก ที่สาดกระสุนเหล็กเข้าบดขยี้จนละลายไปหมดทั้งกองพัน มีการยิงต่อสู้ประปราย จนเวลา ๐๘.๐๐ น. ผู้บังคับกองร้อยได้เข้าไปเก็บเชลยที่หลงเหลืออยู่ในพื้นที่ของกองร้อยได้เชลยศึก ๗ คน ที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยลาดตระเวนข้างหน้าขบวนตอนเรียงสาม ทั้งหมดนี้ได้หลบอยู่หลังต้นไม้ที่ล้มกลางลำห้วยแห้ง กับทหารอีก ๕ คน รวมเป็น ๑๒ คน

และยึดได้ธงชัยเฉลิมพลที่มีเหรียญกล้าหาญดรัวซ์เดอแกรร์ติดอยู่ ได้ยุทโธปกรณ์หนักคือ ปืนกลหนัก ๑ กระบอก ปืนกลเบา ๕ กระบอก กระสุนและปืนเล็กประจำกายมาก แต่เครื่องยิงระเบิดไม่มี ผู้บังคับกองพันที่ ๓ กรมทหารราบต่างด้าวที่ ๕ คือ พันตรี เรเมอรี่ ตายในที่รบ ค้นได้บัตรประจำตัว นอกนั้นได้เอกสารเกี่ยวกับการรบอีกด้วย

การสูญเสียของทหารฝรั่งเศส นับศพในบริเวณสู้รบ ๕๐ ศพ ถูกจับเป็นเชลย ๒๐ คน ที่เหลือหลบหนีไปขณะยังไม่สว่าง ทั้งบาดเจ็บและไม่บาดเจ็บ หลักฐานทางฝ่ายฝรั่งเศส ตาย ๑๑๐ บาดเจ็บ ๒๕๐ สูญหาย ๕๘ ถูกจับ ๒๑ คน
ฝ่ายเราเสียชีวิตในที่รบ ๑ นาย บาดเจ็บสาหัส ๒ นาย
จากคำบอกเล่าของนายเนต เจ้าของนาที่ทหารฝรั่งเศสใช้เป็นที่รวมพล อยู่หลังบริเวณสมรภูมิรบ ไปทางศรีโสภณประมาณ ๒-๓ ก.ม. ได้ความว่า หลังจากสิ้นการรบแล้วมีรถยนต์บรรทุกทหารบาดเจ็บสาหัสและไม่สาหัส ไปรับการรักษาพยาบาลที่นั้นประมาณ ๑๐ คันรถ ทหารที่ตายก็ขนใส่รถไปด้วย ซึ่งทำให้กองรบอีกสามกองพันของฝรั่งเศสที่พักรอคำสั่งเข้าตีต่อเนื่องที่บ้านพร้าว ต่างใจเสียไปตาม ๆ กัน และแยกออกจากพวกเดินหนีไปทางศรีโสภณ นำอาวุธประจำตัวไปด้วย พวกที่เหลือส่วนมากเป็นทหารพื้นเมืองที่อยู่ใกล้ ๆ กัน ก็ร้องบอกกัน และทั้งสามกองพันก็พร้อมใจกันเดินมุ่งหน้าไปเมืองศรีโสภณ นายทหารและนายสิบผู้บังคับบัญชาของทหาร ก็เลยวิ่งตามไปอีกด้วย

การรบใหญ่ที่ได้ชัยชนะอย่างงดงามครั้งนี้ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ได้ส่งหนังสือชมเชยมายังแม่ทัพบูรพาว่า

“ปลาบปลื้มอย่างยิ่งที่ได้เห็นทหารปฏิบัติการอย่างมีสมรรถภาพ เข้มแข็งสมเป็นทหารของชาติอย่างแท้จริง”

และ กองพันทหารราบที่ ๓ นี้ ก็ได้รับเหรียญกล้าหาญ เนื่องจากทำการรบอย่างทรหดได้ผลต่อส่วนรวม มาประดับธงชัยเฉลิมพล เป็นเกียรติแกหน่วย ซึ่งในปัจจุบันคือ กองพันทหารราบที่ ๒ กรมทหารราบที่ ๑ รักษาพระองค์ นั่นเอง.

##########




 

Create Date : 30 เมษายน 2559    
Last Update : 30 เมษายน 2559 7:23:22 น.
Counter : 526 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.