Group Blog
 
All Blogs
 

ตอนที่ ๒๐ กังฉินกำเริบ

ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

ตอนที่ ๒๐ กังฉินกำเริบ

“ เล่าเซียงชุน “

เมื่อ เงียมซง ฟ้องร้องเอา เต้งซินอ๋อง พระเจ้าอาของ พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ เข้าคุกไปได้แล้ว ก็มีใจกำเริบขึ้นเพราะไม่มี ไฮ้สุย เป็นก้างขวางคอ จึงทำอุบายให้ ตันชุน บ่าวของ เตียบุนหอ ปลอมตัวเป็นบ่าวของตน ตามเข้าไปในพระราชวัง ด้วยหลังจากเงียมซงหายป่วยจากที่ถูกไฮ้สุยเฆี่ยนคราวก่อนนั้นแล้ว ก็ไม่แข็งแรงฮ่องเต้จึงทรงอนุญาตให้เอาบ่าวไปช่วยพยุงเวลาเข้าเฝ้า ทั้งข้างนอกและข้างในได้

เงียมซงเข้าไปเฝ้า พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ ข้างใน และชวนเล่นหมากรุกอยู่ตั้งแต่บ่ายจนพลบค่ำ ตันชุนก็เลี่ยงไปแอบซุ่มอยู่ที่ต้นทาง ซึ่งฮ่องเต้จะต้องเสด็จผ่านไป พอได้เวลาเสด็จออกขุนนางฮ่องเต้ก็เลิกหมากรุก พนักงานก็เตรียมโคมนำเสด็จตามเคย ฮ่องเต้เสด็จมาถึงที่ทางเลี้ยว ตันชุนก็ชักอาวุธที่ซ่อนออกมา และวิ่งเข้าไปจะทำร้าย พวกทหารรักษาพระองค์ก็ตรูกันเข้าจับตัวตันชุนไว้ได้ ตันชุนก็ร้องให้ นางเตียฮองเฮา กับ ไทจือ ช่วยด้วย ฮ่องเต้ทรงได้ยินก็สงสัยในพระทัย จึงรับสั่งให้เตียบุนหอ เตียกือเจี้ย และ โอเจงติด เป็นตุลาการชำระ กับให้ เงียมซงเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ

ตุลาการทั้งสามก็เอาตัวตันชุนไปชำระ และซักถามว่าชื่อไรแซ่ไร เป็นชาวเมืองไหน เหตุใดจึงมาทำร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ตัวมีความโกรธแค้นด้วยข้อไร หรือใครบนบานใช้สอยให้มาทำร้าย จงให้การไปตามจริง

ตันชุนก็ให้การตามที่เงียมซงสอนไว้ว่า ข้าพเจ้าแซ่ตันชื่อชุน เป็นชาวเมืองซัวตังเข้ามาค้าขายในเมืองหลวง พบผู้ร้ายที่กลางทางปล้นเอาสินค้าและทรัพย์สิ่งของทองเงินไปมาก ครั้นจะกลับไปเมืองซัวตังก็ไม่มีเงินทอง กลัวเจ้าหนี้เขาจะทวงจึงไม่กล้าไป เงินที่ติดตัวมาเล็กน้อยก็ซื้อกินเสียจนสิ้น วันหนึ่งเดินทางมาพบ พั่งเปา เข้ากลางทาง พังเปาถามว่ามาแต่ไหนธุระอะไร ก็เล่าความทุกข์ยากให้ฟังทุกประการ พั่งเปามีความเอ็นดูจึงให้เงินทองทำทุนได้หากินเลี้ยงชีวิตมา วันหนึ่งพั่งเปาก็พาไปเฝ้าฮองเฮาและไทจือ ก็ได้เงินทองเป็นอันมาก และให้ปลอมตัวเข้ามา ทำร้ายพระเจ้าแผ่นดิน เป็นความสัตย์จริงดังนี้

เงียมซงและเตียบุนหอได้ฟังก็ทำเป็นโกรธ จึงแกล้งขู่ถามว่าเอาที่ไหนมากล่าว ความนี้ไม่จริงใครเขาจะเห็นด้วย นางเตียฮองเฮาและไทจือหรือจะคิดทำร้ายพระเจ้าแผ่นดิน ใครใช้สอยให้ว่ามาตามตรง ตันชุนก็ยืนคำอยู่เช่นเดิม เงียมซงก็ให้เสมียนเขียนคำให้การของตันชุนไว้ และให้เอาตัวไปขังคุกไว้ก่อน ด้วยเป็นเวลาดึกมาก แล้วเงียมซงก็นำคำให้การนั้นขึ้นถวายให้ฮ่องเต้ทอดพระเนตร และกราบทูลว่าที่ผู้ร้ายซัดทอดถึงนางเตียฮองเฮาและไทจือนั้น ตนไม่เห็นด้วย พรุ่งนี้ต้องผูกชำระใหม่ให้ได้ความจริง

ในคืนนั้นฮ่องเต้ก็ไม่สบายพระทัย ทรงดำริว่านางเตียฮองเฮานี้ตัวคนเดียว ญาติพี่น้องก็ไม่มี ฝ่ายไทจือเล่าก็เป็นลูกคนเดียว ลูกอื่นก็ไม่มีจะเป็นขบถก็ผิดไป คำที่เงียมซงว่าไม่น่าเชื่อนั้นเป็นการจริง ต้องชำระใหม่ คนข้างในคงจะรู้เห็นเป็นใจด้วย ผู้ร้ายจึงเข้ามาซุ่มแอบอยู่ในนี้ได้ ทรงตรึกตรองจนบรรทมหลับไป

ฝ่ายพั่งเปาขันทีคนสนิทของฮองเฮา ครั้นรู้ความแล้วก็ตกใจ รุ่งขึ้นก็เข้าเฝ้านางเตียฮองเฮากับไทจือ กราบทูลความเรื่องตันชุนนั้นให้ทรงทราบทุกประการ ฮองเฮากับไทจือได้ฟังเรื่องราวแล้วก็ตกใจ ไทจือจึงทูลแก่พระราชมารดาว่า ความเรื่องนี้เห็นทีพวกกังฉินจะคิดป้ายให้เราตายเป็นมั่นคง ฮองเฮาจึงปรึกษากับพั่งเปาว่าจะทำอย่างไรดี พั่งเปาก็ว่าการเกิดขึ้นดังนี้ จงเสด็จไปกราบทูลว่า มิได้คิดร้ายต่อฮ่องเต้แล้วแต่จะโปรด

ฮองเฮากับไทจือก็รีบไปเฝ้าฮ่องเต้ และพั่งเปาก็ตามไปด้วย พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้กำลังทรงเศร้าหมอง ฮองเฮากับไทจือก็ถวายบังคมแล้วทรงพระกันแสง ฮ่องเต้ตรัสว่าเจ้าตกใจด้วยเรื่องตันชุนหรือ มันซัดเอาเจ้าสองคนว่าใช้ให้มันทำร้ายเรา พั่งเปาเป็นต้นเหตุข้าก็ไม่เชื่อ ถึงตุลาการผู้ชำระเขาก็ไม่เห็นจริง ความเรื่องนี้เป็นการใหญ่ อาวุธเขาจับได้ ใครรับตันชุนไว้ให้พำนักอาสัยต้องสืบเอาตัวให้ได้

ฮองเฮากับไทจือกราบทูลว่า ข้าพเจ้าทั้งสองยังไม่รู้จักว่าตันชุนรูปร่างอย่างไร ถามพั่งเปาก็ว่าไม่รู้จัก แต่ตันชุนซัดเอาอย่างนี้ก็เป็นการจนใจ ขอพระองค์จงเป็นที่พึ่งของข้าพเจ้าด้วย ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าเจ้าอย่าพูดให้มาก จงพากันกลับไปเถิด ความเรื่องนี้เป็นการของเรา เราจะตรึกตรองเอง นางเตียฮองเฮากับไทจือก็อิดเอื้อนไม่ใคร่จะไป ฮ่องเต้จึงกริ้วตรัสว่าให้กลับไปแล้วยังขืนร่ำไร ทั้งสองจึงถวายบังคมลากลับมาพระตำหนัก นั่งปรับทุกข์กันอยู่สามคนทั้งพั่งเปา

รุ่งขึ้นตุลาการทั้งสามคนก็มาประชุมพร้อมกัน ณ โรงชำระ เงียมซงก็มานั่งเป็นประธานด้วย ครั้นให้เอาตัวตันชุนมาซักถามอีกครั้ง ตันชุนก็ยังยืนคำเดิม ตุลาการจึงให้ผูกตีสี่สิบทีถึงแตกโลหิตไหล ตันชุนก็ยังยืนคำอยู่อย่างนั้น เงียมซงจึงทำเป็นถามขึ้นว่าใครเห็นอย่างไร เตียบุนหอกับเตียกือเจี้ยว่าเฆี่ยนตีก็มากอยู่แล้ว ผู้ร้ายยืนคำอยู่อย่างนี้ก็สุดแล้วแต่ท่าน โอเจงติดว่าความเรื่องนี้จะชำระให้แล้วในเร็ว ๆ เห็นจะไม่ได้ ต้องสืบสวนให้ละเอียดจึงจะได้ความจริง

เงียมซงจึงทำเป็นพูดว่าซึ่งตันชุนให้การดังนี้ไม่เห็นสม นึกสงสัยอยู่ การจะซักต่อไปในเวลานี้ ก็เฆี่ยนตีมากแล้ว จะให้การเลอะเทอะไป ต้องหยุดไว้ก่อน ตันชุนได้ยินก็ทำเป็นสลบ เงียมซงก็ให้คนเข้าแก้ไขฟื้นขึ้นแล้ว จึงให้เอาตัวไปขังคุกไว้ตามเดิม เงียมซงกับเตียบุนหอและ เตียกือเจี้ย ก็ทำเป็นพูดกันว่าความที่ตันชุนให้การว่านางเตียฮองเฮากับไทจือ ใช้ให้มาทำร้าย พระเจ้าแผ่นดินนั้นไม่เห็นจริง ด้วยฮองเฮาก็เป็นใหญ่กว่าหญิงทั้งปวง ไทจือเล่าเป็นพระราชบุตรของฮ่องเต้องค์เดียวเท่านี้ สมบัติจะไปไหนคงจะได้แก่ไทจือ แต่ซึ่งตันชุนให้การซัดถึงนั้น ความมัวหมองย่อมมีอยู่

โอเจงติดก็ว่าท่านพูดนี้ถูก ช่วยกันตรึกตรองเอาความจริง สนองพระเดชพระคุณให้จงได้ พวกเราเป็นขุนนางผู้ใหญ่ พระเจ้าแผ่นดินเชื่อถือ จึงโปรดชุบเลี้ยงตั้งแต่งไว้ต่างพระเนตรพระกรรณ ถ้าชำระความเรื่องนี้ไม่ได้ความจริงแล้ว ก็เสียเบี้ยหวัดเงินเดือนเปล่า เงียมซงกับพวกอีกสองคนได้ฟังโอเจงติดว่าดังนั้นก็นิ่งอยู่ ครั้นได้เวลาต่างคนก็กลับไปบ้าน

เมื่อมาถึงบ้านเงียมซงมีความร้อนใจ จึงได้เชิญเตียบุนหอกับเตียกือเจี้ยมาปรึกษาในเวลาค่ำ และว่าความเรื่องนี้แม้นฮ่องเต้เปลี่ยนให้คนอื่นเป็นตุลาการ กลัวตันชุนจะยืนคำไปไม่ได้ ถ้าบอกความตามจริง พวกเราคงพากันผิดแทบถึงแก่ชีวิตเป็นแท้ เตียกือเจี้ยก็ว่า ซึ่งท่านคิดเกรงข้อนี้ก็ถูก สำคัญที่คนกลาง ถ้าตัดเสียแล้วจะเอาอะไรมาชำระ

เงียมซงถามว่าท่านจะตัดคนกลางอย่างไร เตียกิอเจี้ยก็ว่าเวลาพรุ่งนี้ ข้าพเจ้าจะเข้าไปในคุก ทำเป็นไปพูดจาไต่ถาม ถ้าเป็นทีแล้วก็เอาของกินซึ่งใส่ยาพิษ ให้กินเข้าไปก็จะตาย ถ้าคนกลางตายแล้วความก็เป็นอันเลิกกันเพียงเท่านี้ เงียมซงก็เห็นด้วย ครั้นปรึกษาตกลงกันแล้ว ก็แยกย้ายกันกลับบ้าน

พอวันรุ่งขึ้นเตียกือเจี้ยก็เอายาพิษแทรกใส่ในของกิน ให้คนถือตามไปถึงคุก บอกแก่ผู้คุมว่าจะเข้าไปปลอบถามตันชุนให้ได้ความจริง ผู้คุมก็ให้เตียกือเจี้ยเข้าไป และซักถามว่าความที่ได้ให้การไว้นั้นเป็นความจริงแล้วหรือ ตันชุนก็ยืนยันเช่นเดิม เตียกือเจี้ยก็ทำเป็นพูดจาเรื่องอื่น ๆ แล้วก็เอาข้าวปลาอาหารให้ตันชุนกิน ตันชุดอดอาหารมาสองสามวันแล้วก็ดีใจ สำคัญว่าเตียบุนหอให้มาเยี่ยม ก็กินอาหารเข้าไป เตียกือเจี้ยก็รีบออกมาจากคุกโดยเร็ว ไปหาเงียมซง และเตียบุนหอ เล่าความให้ฟังทุกประการ

ฝ่ายตันชุนเมื่อกินยาพิษเข้าไป พอถึงเวลาค่ำก็ตาย ความที่จะชำระก็ค้างอยู่ เงียมซงกับเตียบุนหอและเตียกือเจี้ยก็เข้าเฝ้าฮ่องเต้ กราบทูลว่าได้เอาตัวตันชุนมาผูกเฆี่ยนเจ็บปวดถึงสาหัส ก็ยังให้การยืนคำอยู่ ข้าพเจ้าทั้งหลายก็มีความสงสัย แต่บัดนี้ตันชุนตายเสียแล้ว ฮ่องเต้ก็มิได้ตรัสประการใด พวกตุลาการก็ถวายบังคมลากลับไปบ้าน ตั้งแต่นั้นมานางเตียฮองเฮากับไทจือก็มีความมัวหมองในใจ ได้ความทุกข์ร้อนอยู่ทุกวันทุกเวลา

ฝ่ายไฮ้สุยไปราชการทัพได้สองเดือน ก็ใช้สติปัญญาของตน ร่วมมือกับเจ้าเมือง จอไซแซ ซึ่งมีฝีมือรบพุ่งเข้มแข็ง
จนเอาชนะข้าศึกที่ยกมาจากเมืองเกาจือก๊กได้สำเร็จ แล้วจึงให้บอกข้อราชการมายังเมืองหลวง พระเจ้าเกียเจ๋งได้ทรงทราบก็มีความยินดี เมื่อไฮ้สุยยกกองทัพมาถึงเมืองหลวง ก็เข้าเฝ้าฮ่องเต้กราบทูลข้อราชการทัพซึ่งมีชัยชนะกลับมา ให้ทรงทราบความโดยละเอียด ไฮ้สุยก็มีความชอบมาก ครั้นขึ้นปีใหม่เมืองเกาจือก๊กก็แต่งทูตถือพระราชสาสน์มาอ่อนน้อมยอมถวายเครื่องบรรณาการ เหมือนอย่างประเทศราชอื่น ๆ เป็นปกติ

พวกขุนนางตงฉินก็มาเยี่ยมไฮ้สุย แล้วเล่าความเรื่องเต้งซินอ๋องต้องโทษจำคุก และนางเตียฮองเฮากับไทจือถูกคนร้ายซัดทอดให้มัวหมอง ให้ไฮ้สุยฟังทุกประการ ไฮ้สุยก็เสียใจเป็นอันมาก แล้วว่า

“……ท่านทั้งหลายเป็นขุนนางรับราชการในเมืองหลวง เมื่อมีเหตุเกิดขึ้นแล้ว เห็นว่าการสิ่งใดผิด จะควรมิควรก็ดี ต้องกราบทูลชี้แจงให้พระเจ้าแผ่นดินทรงทราบ จะให้แต่ข้าพเจ้ากราบทูลทัดทานแต่ผู้เดียว เห็นเหลือสติปัญญา ด้วยข้าพเจ้าอำนาจวาสนาก็น้อย แต่เห็นว่าเรื่องเต้งซินอ๋องนั้นไม่สู้กระไร เป็นแต่คนเลอะเทอะ ประพฤติการไม่สมที่เป็นเจ้าผู้ใหญ่ ความเรื่องนางเตียฮองเฮากับไทจือนั้นสำคัญมาก ท่านทั้งหลายทำไมจึงนิ่งไว้จนป่านนี้…….”

ขุนนางทั้งปวงก็ว่า

“………ท่านย่อมทราบว่า ข้าพเจ้าทั้งหลายจะกราบทูลให้ถูกพระทัยนั้นยาก ขณะนี้เงียมซงมีวาสนามาก ดูแต่เต้งซินอ๋องกระทบเข้าไปกับเงียมซือพวน ต้องเป็นโทษถึงคุก ขยับจะเลยเป็นขบถไปอีก นี่หากว่าไม่มีตัวโจทก์หาไม่ก็ตาย ข้าพเจ้าทั้งหลายที่ไม่กลัวตายก็มี แต่เห็นว่าจะกราบทูลทัดทานโต้แย้งกับเงียมซง ก็เห็นจะสู้ไม่ได้ ว่าไปไม่ตลอด ถึงจะตายไปชื่อเสียงก็ไม่ปรากฎ พวกข้าพเจ้าเห็นดังนี้ จึงนิ่งรักษาตัวอยู่ แต่เรื่องนางเตียฮองเฮากับไทจือ ยากที่จะชำระได้ความจริง ด้วยตัวผู้ร้ายที่ซัดนางเตียฮองเฮากับไทจือ ว่าใช้ให้มาทำร้ายพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ ก็ตายเสียแล้ว ความเรื่องนี้ถึงตุลาการผู้ชำระก็ไม่เห็นจริง……….”

ไฮ้สุยถามว่าใครเป็นตุลาการ พวกขุนนางบอกว่ารับสั่งให้ เตียบุนหอ เตียกือเจี้ย โอเจงติด เป็นตุลาการ เงียมซงเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบ ไฮ้สุยได้ฟังก็นิ่งนึกในใจว่า ความเรื่องนาง เตียฮองเฮากับไทจือ คงเกิดขึ้นด้วยความคิดเจ้าพวกกังฉินเป็นมั่นคง

แต่ไฮ้สุยจะจับให้มั่นคั้นให้ตายได้โดยวิธีใด.

##########




 

Create Date : 03 ตุลาคม 2551    
Last Update : 3 ตุลาคม 2551 9:26:20 น.
Counter : 409 Pageviews.  

ตอนที่ ๑๙ หนามบ่งหนาม

ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

ตอนที่ ๑๙ หนามบ่งหนาม

“ เล่าเซี่ยงชุน “

เมื่อ ไฮ้สุย พ้นโทษกลับมาอยู่บ้านแล้ว ก็คิดถึง หลีซุนเอี๋ยง ซึ่งต้องโทษประหาร ด้วยความเสียดายมิรู้หาย ครั้นเห็น หลีซิวอิ๋ม ผู้บุตรซึ่งมาเฝ้าศพบิดาอยู่ที่บ้าน ดูท่วงทีกิริยาเป็นคนซื่อตรงเหมือนบิดา ไฮ้สุยก็มีความเอ็นดูรักใคร่ จึงยก นางไฮ้กิมโก บุตรสาวของตนให้แต่งงานอยู่กินเป็นสามีภรรยาด้วยกันกับหลีซิวอิ๋ม

เมื่อแต่งงานบุตรแล้ว ไฮ้สุยก็คิดถึงความหลังที่ตัวอาสาแผ่นดิน โดยใจซื่อสัตย์กตัญญู ได้ทุกข์ยากลำบากแทบจะถึงแก่ชีวิตหลายครั้ง นึกสงสารตัวว่าเกิดมาเป็นคนอาภัพ บุญวาสนาน้อย ทรัพย์สินเงินทองก็ไม่บริบูรณ์เหมือนท่านแต่ก่อน ทำการโดยสุจริตเห็นแก่แผ่นดินแต่ละที แทบจะเอาชีวิตไม่รอด แต่เป็นความดีที่เทพยดาคุ้มครองรักษา บังเอิญให้รอดตัวมาได้ คิดจะแสวงหาความดีใส่ตัวไว้ให้มาก ไปเบื้องหน้าจะได้ไม่ลำบากเหมือนที่ผ่านมา คิดแล้วไฮ้สุยก็ ลงมือช่วยเหลือชาวบ้าน ถ้าเห็นว่าที่ใดตำบลใดหนทางที่คนเดินไปมายากลำบาก ก็ออกเงินจ้างทำถนนให้คนไปมาสบาย และให้สร้างศาลาเป็นที่หยุดพักแก่คนเดินทาง สร้างบ่อและสระน้ำไว้เป็นที่ให้คนไปมาอาศัยอาบกิน ทำอยู่เป็นเวลานานจนเงินทองหมดไปมากมาย รวมทั้งของ ไฮ้หยง ไฮ้อัน ที่ได้รับมาจากเจ้าเมืองเมื่อครั้งก่อนด้วย

ฝ่าย นางหลีฮูหยิน ภรรยาของหลีซุนเอี๋ยง อยู่มาวันหนึ่งก็บอกกับไฮ้สุย ว่าได้มาอาศัยบ้านท่านปรนนิบัติศพสามีอยู่ก็นาน คุณท่านมีอยู่เป็นอันมาก จะขอลานำศพไปฝังไว้ที่บ้านเก่า กับศพปู่และบิดาของตนให้อยู่ด้วยกัน แต่เงินซึ่งจะใช้ในการฝังศพนั้นยังมีไม่พอ จะขอพึ่งท่านยืมเงินไปใช้สักพันตำลึง

ไฮ้สุยก็ยินดีที่จะให้ เพราะหลีซุนเอี๋ยงเป็นคนซื่อตรงที่รักกันมาก และต้องตายไปก็เพราะตนเป็นต้นเหตุ ทั้งเดี๋ยวนี้ก็ได้เกี่ยวดองกันแล้ว อย่าว่าแต่พันหนึ่งเลยสักสองพันสามพันก็ไม่ขัดข้อง แต่ครั้นไปแจ้งแก่ นางเตียเกงฮวย ภรรยา นางก็บอกว่าเงินไม่มี ด้วยท่านเอาไปสร้างถนนทำสระศาลาเสียหมด ไฮ้สุยจึงเรียกไฮ้หยงไฮ้อันมาปรึกษาว่าจะทำอย่างไรดี ทั้งสองก็ว่าควรจะไปยืม นางเตียฮองเฮา มาให้เขาพอแก้หน้าไปครั้งหนึ่ง เห็นจะพอได้

แล้วไฮ้หยงไฮ้อันก็พากันไปหา พั่งเปา ขันทีคนสนิทของนางเตียฮองเฮา เล่าเรื่องที่นางหลีฮูหยินมายืมเงินไอ้สุย และไฮ้สุยก็รับปากว่าจะให้ แต่เงินของตนกลับไม่มี ขอให้ช่วยสงเคราะห์ไปกราบทูลฮองเฮาด้วยว่า ไฮ้สุยจะขอรับประทานยืมเงินสักพันตำลึง พั่งเปาก็บอกให้คอยอยู่ก่อนแล้วพั่งเปาก็เข้าไปข้างใน เข้าเฝ้าไทจือและกราบทูลเรื่องที่ไฮ้สุยให้คนสนิทมาขอยืมเงินให้ฟังโดยตลอด ไทจือก็เสด็จไปเฝ้าพระราชมารดา กราบทูลความตามที่พั่งเปาบอกให้ทราบ

นางเตียฮองเฮาจึงว่า

“……..ซึ่งไฮ้กึนกงจะต้องการเงินนั้น อย่าว่าแต่พันตำลึงเลย สักหมื่นสองหมื่นก็ขัดไม่ได้ ต้องให้ ด้วยท่านมีคุณต่อเรามาก แต่ในขณะนี้ก็ขัดสน ไม่มีจะทำอย่างไรดี เงินเดือนที่โปรดพระราชทานก็พอใช้ ไม่เหลือเลย จะเอาที่ไหนให้……..”

ไทจือก็ว่ายังไม่มีก็ยืมเอาเงินในพระคลังให้ไปก่อน เมื่อหาได้จึงค่อยผ่อนใช้ไป นางเตียฮองเฮาก็ว่า

“……..เจ้าคิดนี้ก็ดี แต่การที่จะยืมเงินหลวงใช้ จะไปเอามาได้ง่ายเมื่อไร ต้องกราบทูลเสียก่อน มารดาเกรงว่าจะมีความผิด เป็นคบคนข้างนอก เอาเงินออกจากท้องพระคลัง ทำอย่างไรดี จึงจะได้เงินให้ไฮ้กึนกง……”

พั่งเปาได้ฟังอยู่ ก็รู้ว่าเงินของนางเตียฮองเฮากับไทจือเห็นจะไม่มีแน่ ต้องแก้ไขหาเงินพันหนึ่งให้จงได้ จึงกราบทูลไทจือว่าพระองค์อย่าทรงพระวิตก มีทางที่จะหาเงินได้แล้ว ไทจือถามว่าคิดอย่างไร พั่งเปาก็กราบทูลความคิดของตนให้ทราบทุกประการ แล้วพั่งเปาก็ออกมาบอกไฮ้หยงไฮ้อันว่าขอผัดอีกสี่ห้าวัน จะให้คนไปบอกให้มาเอาเงิน ทั้งสองนายก็กลับมาบอกไฮ้สุยให้คลายวิตก

พั่งเปานั้นรู้ดีว่า แต่ก่อนเมื่อ เงียมซง ยังเป็นคนโปรดของฮ่องเต้อยู่นั้น ขุนนางผู้ใดมีธุระราชการสิ่งใดเกี่ยวข้อง จะเข้าไปหาเงียมซง จะต้องเสียเงินค่าผ่านประตูให้แก่ เงียมยี่บ่าวของเงียมซงทุกคน มากบ้างน้อยบ้างตามแต่ธุระ จึงจะเข้าไปหาเงียมซงได้ เงินนั้นเงียมยี่ก็เอาไปให้เงียมซง แล้วก็แบ่งกันเอง บัดนี้เงียมซงเพิ่งจะพ้นโทษ และไทจือกำลังเป็นที่โปรดปราน ผู้ใดสนิทสนมกับไทจือ ฮ่องเต้ก็พลอยโปรดปรานด้วย เงียมซงจึงต้องขอเข้าเฝ้าไทจือเพื่อฝากตัวไว้เมื่อถึงเวลานั้น เงียมยี่มาติดต่อกับพั่งเปาเพื่อให้เงียมซงเข้าเฝ้า พั่งเปาก็เรียกเอาเงินพันตำลึง เช่นเดียวกับที่เงียมยี่เคยเรียกจากขุนนางผู้อื่น เงียมซงก็ไม่อาจขัดได้ พั่งเปาจึงได้เงินพันตำลึงตามที่ต้องการ เมื่อกราบทูลให้ไทจือทราบพระองค์ก็ตรัสว่า อย่าให้มีความนินทามาถึงเรา พั่งเปาก็กราบทูลว่าเรียกเอาแต่เงียมซงคนเดียว พอให้รู้สำนึกตัวไว้

ฝ่ายไฮ้สุยเมื่อได้เงินจากพั่งเปาแล้ว ก็ให้แก่นางหลีฮูหยินไป ครั้นถึงวันกำหนดนางหลีฮูหยินกับหลีซิวอิ๋มผู้บุตร และนางไฮ้กิมโกบุตรสะใภ้ ก็คำนับลาไฮ้สุยพาศพหลีซิวเอี๋ยงไปจนถึงบ้านเดิมก็ทำการฝังศพและตั้งทำมาหากินอยู่ ณ ตำบลนั้น

อยู่มาวันหนึ่งเงียมซงก็เชิญ เตียจีเป๊ก เตียบุนหอ มาปรึกษากันว่า ไฮ้สุยผู้นี้ถึงจะเป็นขุนนางผู้น้อยก็จริง แต่กราบทูลข้อความสิ่งใดแล้ว พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ มักเชื่อฟัง ข้างในก็มีนางเตียฮองเฮาและไทจือเป็นกำลัง ต้องคิดอ่านหาราชการสิ่งใดในหัวเมืองไกล แล้วกราบทูลให้ไฮ้สุยออกไปจากเมืองหลวง จึงจะดีไม่เป็นที่กีดขวาง ถ้าไฮ้สุยอยู่เราจะทำอะไรก็ยาก ในทุกวันนี้ขันทีซึ่งเป็นที่โปรดปรานก็ตายไปสองคนแล้ว เหลืออยู่แต่ เฮงสุน อายุก็ไล่เรี่ยกับ เงียมซือพวน บุตรของเงียมซง ถ้าคิดอ่านให้ไปประจบประแจงรู้จักผูกไมตรีกันแล้วก็จะดี ด้วยเขาเป็นคนอยู่ข้างใน มีธุระสิ่งใดจะได้ให้เขาช่วยกราบทูล ตั้งแต่นั้นมาเงียมซือพวนมีข้าวของเงินทองก็เอาไปให้เฮงสุนเนือง ๆ จนรักใคร่นับถือกันเหมือนพี่น้อง วันหนึ่งเฮงสุนจึงว่าถ้ามีธุระสิ่งใดในพระราชวังข้างในแล้ว จงบอกเถิดอย่าได้เกรงใจ

ครั้นอยู่มาหัวเมืองที่เขตแดนใกล้เคียงกับเมืองเกาจือก๊ก มีหมายบอกเข้ามาว่าเมืองเกาจือก๊กเตรียมทหารจะยกมาตีหัวเมืองขึ้นปลายแดน เงียมซงก็ห้ามพนักงานรับใบบอกไม่ให้นำขึ้นกราบทูลฮ่องเต้ จนกระทั่งเจ้าเมืองเกาจือก๊กให้นายทหารคุมพลสิบหมื่น ยกเข้ามาตีเมืองน่ำจิวกุ๋น เจ้าเมืองน่ำจิวกุ๋นก็ขอกำลังจากเมืองจอไซแซมาช่วย เจ้าเมืองจอไซแซจัดทหาร ห้าพันไปช่วยเมืองน่ำจิวกุ่นแล้ว ก็มีใบบอกมายังเมืองหลวง

เงียมซงก็พาเจ้าพนักงานนำใบบอกเข้าไปกราบทูล พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ ก็ทรงพระวิตก จึงตรัสปรึกษาเงียมซงว่า กองทัพเมืองเกาจือก๊กเห็นทีจะหนักแน่นอยู่ จะให้ผู้ใดเป็น แม่ทัพยกออกไปดี เงียมซงเห็นได้ทีจึงกราบทูลว่า

“………การศึกครั้งนี้จะให้ผู้อื่นเป็นแม่ทัพออกไป กลัวจะไม่ได้ราชการ เห็นแต่ ไฮ้สุยคนเดียว ด้วยไฮ้สุยประกอบด้วยสติปัญญา ใจกล้าหาญมั่นคง เมื่อเป็นที่เอ๋ซุนอ้านออกไปครั้งนั้น เจ้าเมืองกรมการนิยมนับถือกลัวเกรงเป็นอันมาก ถ้าเป็นแม่ทัพออกไป จะบังคับการสิ่งใดก็คงสิทธิ์ขาด……..”

ฮ่องเต้ได้ฟังก็เห็นด้วย จึงรับสั่งให้หาไอ้สุยเข้ามาและตรัสว่า บัดนี้เมืองเกาจือก๊ก เป็นขบถ ยกกองทัพมาตีเมืองน่ำจิวกุ๋น จะให้ท่านเป็นแม่ทัพออกไปปราบข้าศึก และรับสั่งให้พนักงานเกณฑ์ทหารห้าหมื่น พร้อมด้วยเครื่องศัตราวุธเสบียงอาหาร กับพระราชทานกระบี่อาญาสิทธิ์ ให้ไปเกณฑ์ทหารหัวเมืองรายทางเข้าในกองทัพ ตามแต่จะเห็นควร

ไฮ้สุยก็รับกระบี่อาญาสิทธิ์ กราบถวายบังคมลาออกมาจัดการตามรับสั่ง ครั้นได้ฤกษ์ก็ยกกองทัพออกจากเมืองหลวง ถึงหัวเมืองรายทางน้อยใหญ่ก็เกณฑ์ทหาร ได้รวมกันเป็นยี่สิบหมื่น ยกไปเมืองน่ำจิวกุ๋น

เงียมซงเห็นไฮ้สุยยกไปแล้วก็ดีใจเป็นอันมาก ให้คนไปเชิญเตียจีเป๊กกับเตียบุนหอ มาเลี้ยงโต๊ะและสุรากันที่บ้านเป็นที่สบาย แล้วเงียมซงก็ว่า

“…….เรากราบทูลให้ไฮ้สุยเป็นแม่ทัพออกไปครั้งนี้ คงจะเอาตัวไม่รอด ที่ไหนจะรบต้านทานข้าศึกได้ ด้วยตัวถนัดข้างฝ่ายการบุ๋น การบู๊ไม่เข้าใจ เราอยู่ข้างนี้จะได้ช่วยกันคิดอ่านหาอุบายกำจัด นางเตียฮองเฮากับไทจือเสียให้จงได้ จึงจะนอนตาหลับ……..”

ต่อมาอีกไม่นานเงียมซือพวนก็ก่อเหตุ ไปหลอก ยิมควน เด็กหนุ่มที่เป็นคู่ขาของเต้งซินอ๋อง พระราชวงศ์ของฮ่องเต้ระดับพระเจ้าอา ซึ่งมีนิสัยชอบสะสมเด็กหนุ่มรูปงามไว้คอยปรนนิบัติในวังหลายคน เอาไปขืนใจตามความใคร่ของตน ยิมควนก็ไปฟ้องเต้งซินอ๋อง ทำให้เต้งซินอ๋องโกรธมาก จึงยกพวกไปจะทำร้ายเงียมซือพวน แต่เงียมซือพวนรู้ตัวก่อนจึงหลบหนีไปได้ เต้งซินอ๋องจึงทำลายข้าวของทุกสิ่งไม่เลือกว่าชั่วดีมีราคา ใครขัดขวางก็ตีดะไปไม่เลือกหน้า จนบ่าวไพร่เจ็บป่วยเป็นอันมาก เมื่อพอใจแล้วจึงพาพวกกลับไป

เงียมซงจึงนำความขึ้นกราบทูลฮ่องเต้ โดยไม่รู้ว่าบุตรของตนได้ก่อเหตุขึ้นก่อนและใส่ความว่า

“………เต้งซินอ๋องไม่ได้ออกไปเป็นใหญ่ ในหัวเมืองเหมือนเจ้าองค์อื่น มีความน้อยใจ ด้วยถือตัวว่าเป็นผู้ใหญ่กว่าเจ้าทั้งหลาย ทุกวันนี้เต้งซินอ่องถ้าเห็นผู้ใดมีฝีมือเข้มแข็ง ก้เกลี้ยกล่อมเอามาไว้ โปรดปรานรักใคร่ให้เงินทอง เห็นทีจะคิดเป็นขบถชิงเอาราชสมบัติ เห็นข้าพเจ้ากับเงียมซือพวนเป็นคนใกล้ชิดพระองค์ เป็นที่กีดขวาง หมายว่าจะทำร้ายเงียมซือพวนกับข้าพเจ้าเสียแล้ว ก็คงจะมาทำร้ายพระองค์………”

พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ยังไม่เชื่อคำพูดของเงียมซง แต่เฮงสุนก็ช่วยกราบทูลซ้ำเติมอีก จึงมีรับสั่งให้หา ทั่งเอง ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายกรมเมือง มาปรึกษาหารือจะลงโทษเต้งซินอ๋อง ทั่งเองก็กราบทูลว่า

“……..ขอพระองค์จงทรงตรึกตรองให้มาก แม้นพระองค์ทำกับเต้งซินอ๋องแล้ว อ๋องอื่น ๆ ก็จะพากันน้อยใจ ซึ่งพระองค์ทรงเห็นว่าเต้งซินอ๋องเป็นขบถนั้น คนทั้งปวงยังไม่เห็นสม เต้งซินอ่องประพฤติการผิดแต่เรื่องอื่น ๆ ที่ข้อขบถนั้นไม่เห็น ………”

ฮ่องเต้ก็มอบให้ตุลาการชำระเรื่อง เต้งซินอ๋องจะเป็นขบถอีก ตุลาการก็ยืนยันว่าไม่มีพิรุธและไม่มีโจทก์ที่จะกล่าวหา จึงชำระไม่ได้ ฮ่องเต้ก็หันกลับมาปรึกษาเงียมซงอีก เงียมซงก็กราบทูลให้จำขังไว้ก่อน ฮ่องเต้จึงมีรับสั่งว่าเต้งซินอ๋องมีใจกำเริบข่มเหงเงียมซือพวน มีความผิดเป็นข้อใหญ่ มิได้เกรงเราผู้เป็นเจ้าแผ่นดิน ให้เอาตัวไปจำไว้ ณ คุก แต่บุตรภรรยาทรัพย์สินเงินทองผู้คนบ่าวไพร่นั้น อย่าให้มีโทษให้คงอยู่ตามเดิม

##########




 

Create Date : 02 ตุลาคม 2551    
Last Update : 2 ตุลาคม 2551 6:38:23 น.
Counter : 471 Pageviews.  

ตอนที่ ๑๘ เกลือจิ้มเกลือ

ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

ตอนที่ ๑๘ เกลือจิ้มเกลือ

“ เล่าเซี่ยงชุน “

เมื่อ เงียมซง ได้รับโทษต้องถอดออกจากตำแหน่งใจเสี่ยง และต้องเนรเทศไปอยู่ที่เมืองฮุนหนำเป็นเวลาหกเดือนนั้น เจ้าพนักงานก็พาเงียมซงไปรับหนังสือจาก ไฮ้สุย เพราะเมืองฮุนหนำอยู่ในการปกครองของไฮ้สุย เงียมซงไม่อยากจะไปบ้านไฮ้สุยเลย เพราะมีความโกรธและอาฆาตแค้นไฮ้สุยเป็นอันมาก แต่จนใจด้วยเป็นการรับสั่งจึงต้องแข็งใจไป

เมื่อไปถึงบ้านไฮ้สุยเข้าไปถึงหอที่ใช้สำหรับออกนั่งชำระความราษฎร มีเง่หมึงตั้งอยู่ตรงกลาง ในห้องนั้นไม่มีเครื่องตั้งตกแต่งที่ดีมีราคาเลย เงียมซงเห็นว่าต่ำต้อยกว่าบ้านของตนนัก จึงทนงตัวคิดว่าตนยังมีตำแหน่งสูงกว่าไฮ้สุย ลืมไปว่าถูกถอดแล้ว เมื่อเห็น ไฮ้อัน ก็ถาม อย่างวางอำนาจว่าไฮ้สุยอยู่หรือไม่หรือไปไหน ไฮ้อันก็โกรธที่เงียมซงเรียกชื่อเดิม ไม่เรียกตามชื่อยศและตำแหน่ง แต่ก็บอกว่านายยังกินอาหารอยู่ เงียมซงก็เที่ยวเดินดูรอบห้องแล้วก็ขึ้นไปนั่งบนเง่หมึง ซึ่งเป็นธรรมเนียมว่าผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นขุนนางที่ต่ำกว่าหรือเสมอกัน และแม้แต่สูงกว่าเจ้าเรือนก็จะขึ้นไปนั่งไม่ได้ เพราะเป็นอาญาสิทธิ์ที่โปรดให้มีไว้ทุกเรือนหลวง ถึงขุนนางที่เป็นเจ้าของเรือน จะขึ้นไปนั่งเล่นก็ไม่ได้ นอกจากเวลาชำระความเท่านั้น

เมื่อได้เวลาไฮ้สุยก็แต่งตัวใส่เสื้อหมวกเต็มยศออกมาจากข้างใน เห็นเงียมซงนั่งอยู่บนเง่หมึง ก็ถามว่าทำไมจึงขึ้นไปนั่งบนเง่หมึง ตัวแต่ก่อนเป็นขุนนางผู้ใหญ่ไม่รู้ขนบธรรมเนียมหรือว่ามีความผิด พูดแล้วก็ให้บ่าวฉุดลากเงียมซงลงมาจากเง่หมึง แล้วตนเองก็ขึ้นไปนั่งแทน เงียมซงจึงถามเป็นทีท้าว่า เมื่อฉุดเราลงมาแล้วจะทำอะไรต่อไปอีกเล่า ไฮ้สุยก็ว่ายังจะทำอีกก็แต่เฆี่ยน พูดแล้วก็ให้บ่าวช่วยกันจับตัวเงียมซงคว่ำลง แล้วหยิบกระบอกติ้วบนโต๊ะสาดลงทั้งกระบอก และสั่งให้ตีติ้วละสิบที คนใช้นับไม้ติ้วทั้งหมดมีแปดอัน จึงเฆี่ยนเงียมซงถึงแปดสิบที เป็นรอยแตกทุกทีจนครบ เงียมซงได้รับความเจ็บปวดเหลือทนจนสลบไปหลายพัก ไฮ้สุยก็ให้เอาตัวไปขังไว้ในที่คุมขังหน้าบ้าน

เมื่อบุตรและญาติพี่น้องเงียมซง รู้ความก็พากันมาเยี่ยม เห็นเงียมซงบอบช้ำก็มีความสงสารกลั้นน้ำตาไว้มิได้ก็ร้องไห้ เงียมซงมีความโกรธแค้นไฮ้สุยหาที่เปรียบมิได้ คิดจะทำเรื่องราวกล่าวโทษไฮ้สุย แต่บอบช้ำเหลือกำลังเขียนหนังสือไม่ได้ จึงเรียก เงียมซือพวน บุตรชาย เข้าไปใกล้บอกว่าบิดาคราวนี้เจียนจะไม่รอด มือเท้าก็ไหวไม่ใคร่จะได้ระบมไปทั้งตัว เจ้าจงเขียนหนังสือเป็นเรื่องราวจะได้กราบทูลแล้วเงียมซงก็บอกข้อความให้เงียมซือพวนเขียน เป็นเรื่องราวว่า

………ด้วยตัวข้าพเจ้ามีความผิด พระองค์ไม่ทำโทษ โปรดแต่ถอดจากที่ขุนนาง แล้วเนรเทศให้ออกไปอยู่เมืองฮุนหนำหกเดือน ให้กลับเข้ามารับราชการดังเก่า พระเดชพระคุณ หาที่สุดมิได้ ข้าพเจ้ากับขุนนางเจ้าพนักงานไปที่บ้านไฮ้สุย จะรับหนังสือนามเมืองออกไปอยู่เมืองฮุนหนำตามรับสั่ง ไฮ้สุยมีความอาฆาตในข้าพเจ้ามิรู้หาย ครั้นข้าพเจ้าไปก็พาลหาความผิด ใช้ ให้บ่าวเข้ากลุ้มรุมจับข้าพเจ้าเฆี่ยนแปดสิบทีแทบจะถึงแก่ชีวิต ขอพระองค์ทรงทราบสุดแล้วแต่ จะโปรด……….

แล้วก็ให้เงียมซือพวนกลับไปบอกมารดา ให้เข้าไปหา นางเงียมเคงหลินกุยฮุย ในพระราชวัง เล่าเรื่องบิดาให้นำไปกราบทูลฮ่องเต้ให้ทรงทราบ เมื่อ พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ ได้ทรงฟังเรื่องราวจากกุยฮุยก็ขัดเคืองเป็นอันมาก เสด็จออกในทันใดและรับสั่งให้เงียมซงเข้ามาเฝ้า พวกบุตรหลานและญาติพี่น้องของเงียมซง ก็ตามเข้ามาจนถึงพระราชวัง เงียมซงก็ถวายหนังสือเรื่องราวที่แต่งไว้ ฮ่องเต้ทอดพระเนตรแล้วทรงพระพิโรธเป็นอันมาก รับสั่งให้หาไฮ้สุยเข้ามาเฝ้า แล้วตรัสถามว่าเหตุใดจึงตีเงียมซง

ไฮ้สุยก็กราบทูลว่าเงียมซงไปถึงบ้านแล้ว ทำบังอาจมิได้เกรงพระราชอาญา ขึ้นไปนั่งบนเง่หมึงซึ่งเป็นที่ห้ามมีความผิด ตนจึงทำโทษอย่าให้ใครทำเป็นตัวอย่างต่อไป ฮ่องเต้ตรัสว่าเงียมซงขึ้นไปนั่งบนเง่หมึงก็มีความผิดจริง ไฮ้สุยตีนั้นก็ถูกแต่ควรทำพอเข็ดหลาบ นี่ตีเหลือเกินนักจะให้ตายเสียทีเดียว

เงียมซงได้ฟังรับสั่งจึงกราบทูลขึ้นว่า ไฮ้สุยทำเหลือเกินนัก พระองค์กระทำโทษถอดข้าพเจ้าเพียงหกเดือน ก็ยังจะโปรดชุบเลี้ยงให้เข้ามารับราชการ สนองพระเดชพระคุณดังเก่า ไฮ้สุยเฆี่ยนข้าพเจ้าจะให้ตายดังนี้ มีความผิดด้วยล่วงพระราชอาญา ฮ่องเต้ได้ฟังก็เห็นจริงด้วยและกริ้วไฮ้สุยเป็นอันมาก จึงพลั้งพระโอษฐ์รับสั่งออกไปว่า ไฮ้สุยทำการเหลือเกินนักต้องเอาไปฆ่าเสีย เจ้าพนักงานได้ฟังรับสั่งก็จับไฮ้สุยในทันใดนั้น

เมื่อฮ่องเต้รับสั่งออกไปแล้วก็ทรงพระดำริว่า ซึ่งจะให้ฆ่าไฮ้สุยเสียนั้นเห็นเกินอยู่ แต่จะรับสั่งกลับคำก็ไม่ได้ ด้วยเป็นกษัตริย์ตรัสแล้วจะคืนคำไม่ได้ แต่ถ้าทอดเวลาให้ช้าไป คงจะมีคนมาขอพระราชอภัยโทษได้ทัน จึงรับสั่งว่าวันนี้ก็เย็นจวนค่ำอยู่แล้ว จงเอาตัวไฮ้สุยไปฆ่าเสียในวันพรุ่งนี้เวลาบ่ายสองโมง แล้วเราจะมีหนังสือให้คนถือออกไปพร้อมกระบี่อาญาสิทธิ์ รับสั่งแล้วก็เสด็จขึ้น เจ้าพนักงานก็พาตัวไฮ้สุยไปขังไว้ในคุก รอเวลาประหารชีวิตตามรับสั่ง

ฝ่าย ไฮ้หยง ไฮ้อัน รู้เรื่องแล้วก็ตกใจเป็นอันมาก รีบพากันเข้าไปในพระราชวัง เที่ยวหา พั่งเปา ขันทีคนสนิทของ นางเตียฮองเฮา เล่าเรื่องราวให้ฟังแล้ว พั่งเปาก็กลับไปแจ้งความตามเรื่องของไฮ้สุย ให้นางเตียฮองเฮาทราบเหตุทุกประการ นางเตียฮองเฮาก็ตกใจจึงให้ พั่งเปาไปตาม จูเอี๋ยวไทจือ มาหาโดยเร็ว เมื่อไทจือมาเฝ้าพระราชมารดา นางเตียฮองเฮาก็เล่าความให้ฟัง แล้วว่าไฮ้สุยมีคุณต่อเราเป็นอันมาก เจ้าจงไปเฝ้าบิดากราบทูลขอโทษไฮ้กึนกงไว้สักครั้ง อย่าให้ตายเสียเลย เมื่อไทจือกับพระราชมารดาพูดกันอยู่นั้นเวลาก็ดึกมากแล้ว ถ้าไทจือจะเข้าเฝ้า เห็นว่าพระราชบิดาคงเสด็จเข้าที่บรรทมเสียแล้วจึงงดอยู่ แต่ในคืนนั้นนางเตียฮองเฮากับ บุตรก็นอนไม่ใคร่จะหลับ ด้วยมีความวิตกทุกข์ร้อนถึงไฮ้สุยเป็นอันมาก

ครั้นเวลาเช้าไทจือก็บอกกับพระราชมารดาว่า

“………ข้าพเจ้ามีความวิตกด้วยไฮ้กึนกงมากนัก ครั้นข้าพเจ้าจะเข้าเฝ้ากราบทูลขอโทษไฮ้กึนกงก่อน ก็เกรงพวกเงียมซงรู้จะคบคิดกับพวกเจ้าพนักงาน ชิงฆ่าไฮ้กึนกงเสียก่อน การก็จะเสียที ข้าพเจ้าจะลาพระมารดาไปที่ฆ่าไฮ้กึนกง กำชับพวกพนักงานไว้ แล้วจึงกลับเข้ามาเฝ้าทูลขอโทษเห็นจะดี……..”

นางเตียฮองเฮาก็ว่าเจ้าคิดชอบแล้ว ไทจือก็ถวายบังคมลา สองคนกับพั่งเปาขึ้นม้ารีบไปจนถึงที่ฆ่า ลงจากม้าเดินตรงเข้าไป ทหารก็เข้าไปบอกแก่ เตียชอง นายใหญ่ว่ามีผู้เข้ามาในนี้สองคน เตียชองจึงสั่งให้ทหารจับตัวไว้ ทหารก็ออกมาจะจับ พั่งเปาก็ตวาดว่าพวกท่านทั้งหลายนี้แลไม่รู้จักตาย ที่มากับเราคือไทจือไม่ใช่หรือ พวกทหารได้ฟังก็ตกใจ ต่างคนคุกเข่าคำนับกราบทูลขอโทษว่าข้าพเจ้าไม่ทันสังเกตคิดว่าผู้อื่น ขอรับพระราชทานโทษเสียสักครั้งหนึ่ง

ไทจือว่าท่านมิได้รู้จักเราไม่ถือโทษดอก และถามว่าใครเป็นนายใหญ่ ไปบอกให้มาหาเราเดี๋ยวนี้ ทหารก็เข้าไปบอกเตียชองว่า ไทจือมากับพั่งเปามีรับสั่งให้หาท่าน เตียชองก็ออกมาคำนับไทจือแล้วจัดที่ให้นั่งตามสมควร ไทจือถามว่าพาตัวไฮ้สุยมาไว้ที่ไหน เตียชองว่าให้ทหารเอาตัวไปขังไว้ที่ขังคนโทษประหารชีวิต ไทจือจึงให้เอาตัวไฮ้สุยมาพบ เตียชองขัดไม่ได้จึงให้ทหารไปเอาตัวไฮ้สุยมา

ไทจือเห็นไฮ้สุยต้องเครื่องจองจำหนาแน่นมีความเวทนา จึงขอให้เตียชองลดหย่อนผ่อนเครื่องจองจำพอให้ได้ความสบาย ไว้เวลาฆ่าจึงจำให้ครบตามอาญา ไทจือให้ยกเก้าอี้มาให้ไฮ้สุยนั่ง ไฮ้สุย ก็มิได้นั่ง คำนับไทจือแล้วทูลว่า ข้าพเจ้าเป็นคนโทษถึงตายไม่ควรที่จะนั่งบนเก้าอี้ ไทจือจึงให้ทหารเอาข้าวมาให้ไฮ้สุยกิน แล้วบอกว่าท่านจงอุตส่าห์กินข้าว อย่าพึ่งเสียใจทอดอาลัยชีวิต ข้าพเจ้าจะเข้าไปเฝ้ากราบทูลขอโทษให้ ไฮ้สุยก็ค่อยคลายใจแต่มิได้ตอบประการใด

ขณะนั้นเป็นเวลาสี่โมงเช้า เงียมซือพวน ก็เชิญพระกระบี่อาญาสิทธิ์กับหนังสือรับสั่งมีทหารแห่เป็นขบวน เมื่อใกล้จะถึงที่ประหารทราบว่าไทจือมาอยู่ที่นั่น ก็สั่งให้หยุกพักขบวนไว้ก่อน รอให้ได้เวลาบ่ายสองโมงจึงจะเข้าไป ก็จะประหารชีวิตไฮ้สุยได้สำเร็จ เพราะไม่มีผู้ใดจะขัดขวางรับสั่งได้ แต่ก็มีทหารมาบอกว่าไทจือมีรับสั่งให้เงียมซือพวนไปหาสักหน่อย เงียมซือพวนขัดรับสั่งไม่ได้ จึงจำต้องไปเฝ้าคุกเข่าลงคำนับ ไทจือก็รับสั่งถามว่าออกมาด้วยธุระอะไร เงียมซือพวนกราบทูลว่าตนเป็นผู้เชิญกระบี่อาญาสิทธิ์และหนังสือรับสั่ง มาดูแลให้เจ้าพนักงานประหารชีวิตไฮ้สุย เวลาบ่ายสองโมง

ไทจือก็รับสั่งว่าเราจะเข้าไปเฝ้ากราบทูลขอโทษ จะโปรดประการใดคอยฟังดูให้รู้ก่อน อย่าได้ลงมือก่อนเวลาในรับสั่ง แล้วให้เงียมซือพวนกับเตียชองไปด้วยกันกับพระองค์ ทั้งสองคนก็อิดเอื้อนแต่ไม่อาจขัดได้จึงต้องไป ไทจือรับสั่งให้พั่งเปาอยู่เฝ้าไฮ้สุยและรับสั่งว่า แม้นยังไม่ถึงกำหนดเวลาตามรับสั่ง อย่ายอมให้ใครฆ่าไฮ้กึนกงเป็นอันขาด สั่งแล้วก็ขึ้นม้าพาเงียมซือพวนกับเตียชอง กลับไปที่พระราชวัง

เมื่อพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ตื่นจากที่บรรทม ทอดพระเนตรเห็นไทจือรอเฝ้าอยู่ จึงรับสั่งถามว่าทำไมมาอยู่ที่นี่ไม่ไปเรียนหนังสือ ไทจือก็กราบทูลว่าวันนี้ไม่ได้ไปเรียนหนังสือ เพราะร้อนใจด้วยไฮ้สุย จะขอรับพระราชทานชีวิตไว้ครั้งหนึ่ง ฮ่องเต้ได้ทรงฟังไทจือขอโทษไฮ้สุยก็มีพระทัยยินดี แต่ประสงค์จะลองปัญญาของไทจือ จึงตรัสว่าไฮ้สุยมีความผิดโทษถึงตาย จะมาขอได้อย่างไร ไทจือก็กราบทูลว่า

“………ถ้าจะว่าที่แท้แล้วก็ไม่ผิด ด้วยไฮ้สุยเป็นคนรักษาธรรมเนียมแข็งแรงยิ่งกว่าชีวิต คนเช่นนี้หายากนัก ไฮ้สุยก็ได้มีคุณต่อมารดาข้าพเจ้า และตัวข้าพเจ้าเป็นอันมาก ข้าพเจ้ากับมารดาได้พ้นโทษก็เพราะไฮ้สุย……….”

ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าเราได้ยินไฮ้สุยเขาว่าไม่เอาบุญเอาคุณอะไร ในมารดาเจ้าและตัวเจ้าดอก เขาว่าไปตามการ ไทจือก็กราบทูลว่า

“………การทั้งนี้ถ้าไฮ้สุยไม่ว่าขึ้นแล้ว ข้าพเจ้ากับมารดาไม่ทราบว่าจะพ้นจากโทษเมื่อไร ซึ่งข้าพเจ้ากราบทูลขอแก่พระองค์นี้ อย่าว่าแต่ไฮ้สุยมีคุณเกี่ยวข้องในพระมารดา และตัวข้าพเจ้าเลย โดยคนอื่นที่ไม่มีคุณต่อพระมารดาและตัวข้าพเจ้า แม้นเป็นโทษผิดถึงแก่ชีวิตเหมือนอย่างไฮ้สุย ตัวข้าพเจ้าก็ต้องกราบทูลขอพระราชทานโทษไว้สักครั้งหนึ่ง คนซึ่งซื่อตรงรักษาธรรมเนียมมั่นคงแข็งแรงเช่นนี้ต้องตายแล้ว ขุนนางที่เป็นตงฉินรับราชการจะพากันท้อถอยไป คนที่เป็นกังฉินก็จะมีใจกำเริบขึ้น ไฮ้สุยทำการแต่ละครั้งมิได้คิดแก่ชีวิต เปรียบเหมือนเข้าแย่งเนื้อออกจากปากเสือ คนเช่นนี้หาได้ที่ไหน………….”

ฮ่องเต้ได้ทรงฟังไทจือพูดเข้าแบบแผน ก็ชอบพระทัยทรงพระสรวล แล้วตรัสว่า ใครสั่งสอนให้เจ้ามาพูดจา ไทจือก็กราบทูลว่าจะได้มีใครสั่งสอนให้มากราบทูลนั้น หามิได้ ซึ่งกราบทูลทั้งนี้โดยทราบตามการ ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าเวลาก็จวนจะบ่ายอยู่แล้ว เจ้าจงไปเรียนหนังสือเถิด บิดาจะแต่งคำตัดสินออกไปใหม่ แต่จะให้ไฮ้สุยพ้นความผิดทีเดียวนั้นไม่ได้

ไทจือก็มีความยินดีถวายบังคมลามาหาพระมารดา แจ้งความเรื่องที่ได้กระทำมาแล้วทุกประการ แล้วไทจือก็พาเงียมซือพวนและเตียชอง ออกไปที่ลานประหาร ให้พั่งเปากลับมาคอยรับหนังสือรับสั่ง พั่งเปาก็เชิญพระอักษรไปให้ไทจือ พร้อมกับกับทหารรักษาพระองค์สองร้อย ที่ฮ่องเต้รับสั่งให้มารักษาไทจือด้วย

ในพระอักษรนั้นมีความว่า ซึ่งเงียมซงบังอาจขึ้นไปนั่งบนเง่หมึงมีความผิด ไฮ้สุยเฆี่ยนเงียมซงก็ถูกกฎหมาย แต่ไฮ้สุยตีเงียมซงมากเกินไปนักข้อนี้มีความผิด ซึ่งจะฆ่าเสียนั้นไม่ควร ชอบแต่ต้องทำโทษ ด้วยไฮ้สุยตีเงียมซงควรสี่สิบที อีกสี่สิบทีนั้นเป็นการเหลือเกิน ต้องตีไฮ้สุยสี่สิบที รับโทษกึ่งเงียมซง เงียมซงต้องเนรเทศไปอยู่เมืองฮุนหนำหกเดือน ให้ไฮ้สุย ไปอยู่คุกสามเดือน แล้วให้เข้ามารับราชการดังเก่าเหมือนกัน แต่เงียมซงนั้นบอบช้ำมาก ที่ไหนจะไปเมืองฮุนหนำได้ ต้องให้อยู่เพียงหน้าบ้านไฮ้สุย คนไปมาจะได้เห็นเป็นตัวอย่างไว้ ไปวันหน้าผู้ที่เป็นขุนนางผู้ใหญ่ จะได้ไม่ทำการเช่นเงียมซงต่อไป

เมื่อเจ้าพนักงานอ่านพระอักษรสิ้นข้อความแล้ว เตียชองก็จะเอาตัวไฮ้สุยไปลงพระราชอาญาตามรับสั่ง ไทจือก็ไม่ยอม ให้ลงโทษเฆี่ยนต่อหน้าพระองค์ พนักงานก็ตีไฮ้สุยสี่สิบทีตามรับสั่ง แต่ก็ไม่กล้าตีหนักด้วยเกรงพระทัยไทจือ แล้วก็เอาตัวไฮ้สุยไปส่งที่คุก ไทจือก็ขึ้นม้าเสด็จมาพร้อมกับทหาร และให้พั่งเปาเข้าไปอยู่ในคุก เป็นเพื่อนไฮ้สุยด้วย

เจ้าพนักงานก็พาตัวเงียมซงไปไว้หน้าประตูบ้านไฮ้สุย พวกบุตรภรรยาญาติพี่น้องก็ปลูกที่พักให้เงียมซงอยู่ และช่วยรักษาพยาบาลจนหาย แต่ก็ไม่ปกติเหมือนเก่า เป็นคนอ่อนแอไป ส่วนพวกพ้องของเงียมซงก็คิดอ่านเอาเงินทองไปติดสินบนผู้คุม ให้หาทางฆ่าไฮ้สุยเสีย แต่ผู้คุมไม่อาจทำได้ เพราะกีดที่พั่งเปาเข้าไปอยู่ด้วย ต่อมาไทจือได้เบิกตัวไฮ้สุยไปช่วยสอนหนังสือในวังทั้งวัน พอตกเย็นจึงส่งเข้าคุกดังเก่า ทำเช่นนี้อยู่จนครบสามเดือน ไฮ้สุยก็พ้นโทษกลับเข้ารับราชการตามเดิม

ส่วนเงียมซงเมื่ออยู่ที่หน้าบ้านไฮ้สุยครบหกเดือนแล้ว ก็กลับเข้ารับราชการในตำแหน่งใจเสี่ยงเช่นเดียวกัน ทั้งสองต่างก็สงบอยู่ บ้านเมืองก็เรียบร้อยเป็นปกติ เงียมซงก็ไม่อาจข่มเหงราษฎรเหมือนแต่ก่อน

##########




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2551    
Last Update : 1 ตุลาคม 2551 6:04:56 น.
Counter : 511 Pageviews.  

ตอนที่ ๑๗ คนไม่กลัวตาย

ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

ตอนที่ ๑๗ คนไม่กลัวตาย

“ เล่าเซี่ยงชุน “

ฝ่าย ไฮ้สุย ซึ่งถูกควบคุมตัวอยู่ เมื่อได้ทราบข่าวคำตัดสินให้ประหารชีวิต หลีซุนเอี๋ยง จาก ไฮ้หยง ไฮ้อัน ก็ตกใจ รีบหนีผู้คุมไปในเวลากลางคืน ถึงที่ประหารเห็นศพหลีซุนเอี๋ยงนอนกลิ้งอยู่ ก็เข้าไปกอดศพร้องไห้ร่ำไรรำพันว่า ท่านถึงแก่ความตายทั้งนี้เพราะข้าพเจ้า ไฮ้สุย ร้องไห้จนสลบไปหลายครั้ง คนสนิททั้งสองต้องเข้าประคองช่วยแก้ไขอยู่จนยามสามจึงค่อยฟื้นได้สติ ก็รีบออกจากที่นั้นจะไปเฝ้า พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ โดยไม่ฟังคำทัดทานของ ไฮ้อัน ไฮ้หยง ที่ว่าเป็นเวลาดึกแล้วจะมีความผิด

ไฮ้สุยไปถึงโรงกลองข้างพระราชวัง ซึ่งทำไว้สำหรับตีเมื่อมีเหตุใหญ่ ไฮ้สุยก็บอกกับเจ้าพนักงานผู้รักษากลอง ว่ามีการสำคัญเกิดขึ้นจะขอตีกลอง พูดแล้วก็ตีกลองขึ้นโดยเจ้าพนักงานห้ามไม่ทัน จึงถามว่ามีราชการสำคัญสิ่งใด ไฮ้สุยก็เล่าความที่ตนได้ลักจดหมายเหตุของหลีซุนเอี๋ยง จนเป็นเหตุให้ต้องพระราชอาญาถึงแก่ชีวิต แล้วว่าหลีซุนเอี๋ยงเป็นคนดีไม่ควรที่จะตาย ตนเองมาตีกลองทั้งนี้ปรารถนาจะให้เสด็จออก จะได้ถวายบังคมลาตายตามหลีซุนเอี๋ยงไป เจ้าพนักงานผู้รักษากลองว่าความแต่เพียงเท่านี้ จะรอให้ถึงพรุ่งนี้เช้าจึงกราบทูลไม่ได้หรือ มิใช่ความร้อนรนอะไรนัก ไม่ควรจะมาตีกลอง จะแกล้งให้ตนพลอยมีความผิดด้วย ว่าแล้วก็คุม ตัวไฮ้สุยไว้

ในขณะนั้นพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้จวนจะเสด็จเข้าที่บรรทม ได้ยินเสียงกลองก็ ตกพระทัยไม่ทราบว่ามีเหตุร้ายอะไร จึงรับสั่งให้ขันทีออกมาดู ขันทีก็กลับไปกราบทูลตามที่เจ้าพนักงาน เล่าเรื่องที่ไฮ้สุยได้แจ้งมาทุกประการ ฮ่องเต้ก็ขัดเคืองเป็นอันมาก ตรัสว่าไฮ้สุยกวนจู้จี้หาความไม่รู้แล้ว และพระองค์ก็เสด็จออกในทันใดนั้น กับรับสั่งให้เอาตัวไฮ้สุยเข้าไปเฝ้า

ฮ่องเต้ก็ทรงมีพระกระทู้ถามว่า เดิมตัวฟ้องกล่าวโทษใจเสี่ยงไม่มีพยาน โทษผิดเราก็ยกให้แล้ว เดี๋ยวนี้มาตีกลองด้วยเหตุอะไรอีก ไฮ้สุยก็กราบทูลว่า

“……..ความที่ข้าพเจ้าฟ้องกล่าวโทษใจเสี่ยงเป็นการจริง หลีซุนเอี๋ยงเป็นคนจดหมายเหตุ ต้องรับพระราชอาญาถึงประหารชีวิตทั้งนี้ เพราะมีความประมาท ข้าพเจ้าจึงลักเอาจดหมายเหตุมาได้ จะขอตายตามกัน ขอพระองค์จงโปรดอนุญาตให้ข้าพเจ้าตายด้วยเถิด…….”

ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าจะมาให้เราอนุญาตอย่างไร ชีวิตของตัวตามใจจะเห็นดี ไฮ้สุยก็กราบทูลอีกว่า

“……..ข้าพเจ้าเป็นข้าของพระองค์ ชีวิตของข้าพเจ้าเป็นของพระองค์ พระองค์ จะให้ตายเมื่อไรก็ได้ ไม่เลือกว่าเวลาใด ครั้นข้าพเจ้าจะตายเสียโดยลำพัง ความติเตียนก็จะมีในข้าพเจ้า ว่าคบคิดกับหลีซุนเอี๋ยงเอาความเท็จมิจริงมาฟ้องหากล่าวโทษใจเสี่ยง ครั้นหลีซุนเอี๋ยงตายร้อนตัวกลัวความผิด ฆ่าตัวตายตามกันไป ข้าพเจ้ากลัวความนินทาดังนี้ จึงได้กราบทูลให้พระองค์อนุญาต ถ้าพระองค์โปรดแล้วข้าพเจ้าจะถวายบังคมลาตายต่อหน้าพระที่นั่ง…….”

ฮ่องเต้ได้ทรงฟังไฮ้สุยพูดจาแข็งแรงไม่กลัวตาย จึงตรัสเอาใจว่าหลีซุนเอี๋ยงมีความผิด เพราะรักษาธรรมเนียมของตัวไว้ไม่ได้ต้องตาย ตัวท่านมีข้อผิดอะไรจะมาให้เราอนุญาตให้ตาย เราบังคับไม่ได้ ไฮ้สุยก็ยืนยันความเดิมว่า

“………..ข้าพเจ้าผิดเพราะลักจดหมายเหตุของเขามา เจ้าของจดหมายเหตุจึงได้ตาย ข้าพเจ้าประกอบด้วยบ้วนหงี อันเป็นคนประทุษร้ายต่อมิตร จะอยู่ไปในแผ่นดินก็เป็นที่ติเตียนแก่คนทั้งหลาย ความผิดของลิซุนเอี๋ยง ซึ่งรักษาธรรมเนียมของตัวไว้ไม่ได้ พระองค์ประหารชีวิตเสียก็ควร และซึ่งพระองค์ได้ทรงทราบเรื่องใจเสี่ยง ก็เพราะหลีซุนเอี๋ยงจดหมายไว้ ความดีมีอยู่ดังนี้…..”

พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ได้ทรงฟังก็ได้พระสติขึ้น จึงตรัสถามว่าท่านจะให้เราทำอย่างไร ไฮ้สุยกราบทูลว่า

“……….พระองค์เป็นฮ่องเต้เสียง คือแปลว่าเป็นที่ยิ่งแห่งมนุษย์ อาจจะทราบการดีและร้ายทุกประการ ขอพระองค์จงวางพระธรรมเนียมลงไว้ กษัตริย์และขุนนางภายหลังจะได้ถือเอาเป็นตัวอย่าง ข้าพเจ้าเป็นข้าของพระองค์ จะกราบทูลชี้แจงออกไปอย่างไรได้ แต่เพียงขอถวายบังคมลาตายเท่านั้น……….”

ฮ่องเต้จึงทรงพระดำริว่าไฮ้สุยเห็นจะยอมตายไม่เสียดายแก่ชีวิตจริง ถ้าไม่ตามใจก็เห็นจะตายแน่ เสียดายคนเช่นนี้หายากนัก ด้วยรักธรรมเนียมมากกว่าชีวิต จึงตรัสว่าซึ่งเราฆ่าหลีซุนเอี๋ยงนั้นก็ไม่ผิด ถูกต้องตามกฎหมาย แต่ลิซุนเอี๋ยงมีความดีในแผ่นดิน ต้องเลี้ยงบุตรภรรยา เมื่อยังมีชีวิตอยู่เคยได้เบี้ยหวัดเงินเดือนอย่างไร ต้องสงเคราะห์ให้แก่บุตรอย่างนั้น แล้วให้ทำการศพตามยศอย่างขุนนางผู้ใหญ่ ตรัสแล้วก็เสด็จขึ้น

ฝ่ายบุตรภรรยาและญาติพี่น้องของหลีซุนเอี๋ยง ครั้นรู้ว่าหลีซุนเอี๋ยงต้องพระราชอาญาถึงประหารชีวิต ก็พากันมาร้องไห้เศร้าโศกอยู่ที่ศพ แต่ก็ไม่กล้าจะเก็บศพไป ด้วยเป็นธรรมเนียมผู้มีความผิดต้องโทษถึงตายแล้ว แม้นไม่โปรดอนุญาตจะเก็บศพเอาไปไม่ได้ ต้องทิ้งประจานไว้

จนไฮ้สุยซึ่งได้รับสั่งให้เป็นผู้ดูแลกำกับการทำศพลิซุนเอี๋ยง นำเจ้าพนักงานจัดหีบศพและเครื่องแห่ตามตำแหน่งขุนนางผู้ใหญ่มาถึง แล้วเล่าเรื่องที่ตนได้ตีกลองร้องทุกข์ กับได้อ่านหนังสือข้อรับสั่งซึ่งโปรดในการศพ และพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือน แก่บุตรภรรยาผู้ตายให้ฟังจนสิ้น บุตรภรรยาของผู้ตายก็ผินหน้าจำเพาะพระราชวัง ถวายบังคมพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ด้วยความยินดี

ไฮ้สุยก็ไต่ถามว่าศพนี้จะทำการฝังที่นี่หรืออย่างไร บุตรภรรยาก็ว่าเดิมหลีซุนเอี๋ยงรับราชการก็ได้อยู่เรือนหลวง บัดนี้ถึงแก่กรรมแล้วครอบครัวก็ต้องกลับไปอยู่บ้านเดิม ครั้นจะฝังศพไว้ที่นี่ เมื่อถึงกำหนดเซ่นไหว้ศพ ทางไกลไปมาลำบาก จะขอรับศพไปฝังไว้ ณ ตำบลบ้านเก่าตามเดิม แต่จะขอฝากศพไว้ที่เรือนหลวง ต่อเตรียมการเสร็จแล้วจึงจะรับศพไป

ไฮ้สุยก็ว่าผู้อื่นที่เขาเข้ารับราชการแทน ในตำแหน่งของหลีซุนเอี๋ยงจะมาอยู่ต่อไป ถ้าบุตรได้ทำราชการจึงจะเอาไว้ได้ แต่ครั้นจะให้เข้ารับราชการขณะนี้ ก็ยังเป็นเด็กหนุ่มอ่อนแก่ความนัก จงเอาศพไปพักไว้ที่บ้านของตนก็ได้ จัดการเสร็จแล้วเมื่อไรจึงจะรับศพไป บุตรภรรยาก็มีความยินดี เอาศพหลีซุนเอี๋ยง ใส่หีบหลวงที่พระราชทาน แล้วก็แห่ไปไว้ ณ บ้านไฮ้สุย และบุตรภรรยาก็พากันไปอยู่ดูแลศพที่บ้านไฮ้สุยด้วย

ไฮ้สุยนั้นเมื่อจัดการศพหลีซุนเอี๋ยงเรียบร้อยแล้ว เห็น หลีซิวอิ๋ม บุตรชายซึ่งมาอยู่ที่บ้านปรนนิบัติศพบิดา ดูท่วงทีกิริยาน่ารัก อายุก็รุ่นราวคราวเดียวกันกับ นางไฮ้กิมโก บุตรสาวของตน จึงคิดจะยกให้เป็นสามีภรรยากัน ก็ปรึกษากับ นางเตียเกงฮวย ผู้ภรรยาว่าเราคิดจะแต่งบุตรหญิงของเราให้อยู่กินกับกับหลีซิวอิ๋ม เจ้าจะเห็นอย่างไร นางเตียเกงฮวยเสียเจียะ ฮูหยินตอบว่าดีแล้ว แต่ต้องดูไปก่อน คิดหาซินแสมาสอนหนังสือให้เรียนรู้ให้มากก่อนจึงจะดี ไฮ้สุย ว่าเขาก็รู้อยู่บ้างแล้ว ภรรยาก็นิ่งอยู่

เมื่อไฮ้สุยได้จัดการศพและครอบครัวของหลีซุนเอี๋ยงเรียบร้อยแล้ว ก็คิดถึงคดีความที่ตนฟ้องร้อง เงียมซง ซึ่งยังมิได้รับการชำระ จึงเข้าไปเฝ้าฮ่องเต้ กราบทูลขอให้ไต่สวนตัดสินความที่ปรากฎในจดหมายเหตุ ให้เป็นแบบอย่างสำหรับแผ่นดินต่อไป

พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้มิรู้ที่จะบ่ายเบี่ยงแก้ไข ให้ความเรื่องเงียมซงทำผิดเงียบไปได้ จึงตรัสว่าความเรื่องนี้ต้องชำระให้ได้ความจริง ถ้าจริงดังจดหมายเหตุ เงียมซงก็มีข้อผิด ถ้าไม่จริงตัวท่านก็ต้องเป็นโทษ ฟ้องหาเขาอย่างไรก็ต้องรับอาญาอย่างนั้น

ไฮ้สุยกราบทูลว่าเดิมความสองเรื่องคือ เล่าตังหยง และ ฮั่วจิ้น เศรษฐีนั้น เมื่อครั้งที่ตนเป็นที่เอ๋ซุนอ้านออกไป ก็ได้ของสำคัญไว้ คือหนังสือของเงียมซงมีไปถึงเล่าตังหยง ฮั่วจิ้นเศรษฐีเนือง ๆ แล้วก็กราบทูลความที่ได้จัดการไปแล้ว ถวายให้ทรงทราบทุกประการ

ฮ่องเต้จึงตรัสว่าเมื่อแรกกลับมาถึง ทำไมจึงไม่บอกให้รู้ ไฮ้สุยกราบทูลว่าตนเห็นทั้งสองคนนั้นเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินจึงกำจัดเสีย การเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ราษฎรในเมืองทั้งสองก็มิได้เดือดร้อนเหมือนแต่ก่อน จึงมิได้กราบทูลให้เป็นที่กวนพระทัย แล้วไฮ้สุยก็ถวายหนังสือของเงียมซงที่เก็บมาให้ฮ่องเต้ทอดพระเนตร กับได้ย้ำถึงเรื่องอีกสามเรื่องที่ปรากฎในจดหมายเหตุ และเรื่องที่เกิดขึ้นภายใหม่ในเร็ว ๆ นี้ แต่ยังมิได้ลงในจดหมายเหตุ คือเรื่อง เงียมซือพวน บุตรเงียมซง ตีภรรยาของผู้ขายสุราตาย ให้ทรงทราบทุกประการ

ฮ่องเต้จึงมีรับสั่งให้ขุนนางผู้หนึ่งซึ่งมิได้เป็นตุลาการ เป็นผู้สืบให้ได้ความจริง ถ้าเห็นแก่หน้ากันจะเป็นโทษ ไฮ้สุยก็ดีใจกราบทูลว่าความเรื่องนี้ถ้าชำระได้จริง เบี้ยหวัดเงินเดือนที่โปรดพระราชทานให้แก่บุตรภรรยาหลีซุนเอี๋ยง ก็ไม่เสียเปล่า

ฝ่าย นางเงียมเคงหลินกุยฮุย รู้ว่ามีรับสั่งให้สืบความเรื่องเงียมซง ก็มีความวิตกกลัวว่าถ้าได้ความจริงแล้วบิดาเลี้ยงของตนจะมีโทษ จึงเข้าไปเฝ้าฮ่องเต้กราบทูลขอให้ทรงพระเมตตาแก่บิดาของตน อย่าให้ได้ความอายแก่เขาเลย ฮ่องเต้ว่าไม่ได้ บิดาของเจ้าทำการขัดขวางแผ่นดิน นี่หากว่าไฮ้สุยเป็นคนไม่กลัวตายจึงได้รู้ หาไม่ความติเตียนนินทาและการเดือดร้อนก็จะมีในแผ่นดินของเรา นางเงียมเคงหลินกุยฮุยก็ไม่รู้จะทูลประการใด ถวายบังคมลากลับมาที่อยู่ แล้วมีหนังสือแจ้งเรื่องให้เงียมซงทราบ

ฝ่ายขุนนางที่ได้รับสั่งก็สืบได้ความจริงดังคำฟ้องทุกข้อ ก็เข้ามากราบทูลให้ทรงทราบทุกประการ พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ทรงขัดเคืองเป็นอันมาก จึงให้หาตัวเงียมซงเข้ามาแล้วว่า ตัวท่านเราเห็นว่าเป็นผู้ใหญ่ได้ใช้สอยรับราชการมาช้านาน สำคัญว่าเป็นคนดีมีความเมตตาแก่อาณาประขาราษฎร เราก็ได้ชุบเลี้ยงถึงขนาดยิ่งกว่าขุนนางทั้งปวง ไม่ควรเลยที่จะทำให้ราษฎรเดือดร้อน

เงียมซงก็กราบทูลรับสารภาพว่า ตนมีความผิดจริงสุดแล้วแต่จะโปรด ฮ่องเต้จึงให้ขุนนางเจ้าพนักงานปรึกษาโทษเงียมซง พวกขุนนางที่ปรึกษากฎหมายก็กราบทูลให้ถอดออกเสียจากที่ใจเสี่ยง แล้วเนรเทศให้ออกไปอยู่ต่างหัวเมืองหกเดือน พอเข็ดหลาบแล้วให้กลับเข้ามารับราชการ ในตำแหน่งที่ดังเก่าสนองพระเดชพระคุณต่อไป

ฮ่องเต้จึงมีรับสั่งลงโทษเงียมซงตามที่ขุนนางกราบทูล และให้เนรเทศไปอยู่ที่ เมืองฮุนหนำ กับพระราชทานรางวัลแก่ เล่าปึงหมง ตุลาการคนตรง และตรัสติเตียน ตั้นเท่งเง็ก กับ กวยซิวกี ตุลาการที่เอนเอียงเป็นอันมาก สุดท้ายได้พระราชทานฉลองพระองค์สีแดงลายมังกรใหญ่ ชื่อ ไต้อั้งเผ่า ให้เป็นรางวัลแก่ไฮ้สุยด้วย

ผลของการทำความดีและความชั่ว จึงปรากฎทันตาเห็น ดังนี้.

##########








































 

Create Date : 28 กันยายน 2551    
Last Update : 28 กันยายน 2551 8:07:13 น.
Counter : 1349 Pageviews.  

ตอนที่ ๑๖ ทำดีจนเสียมิตร

ยอดคนแผ่นดินเหม็ง

ตอนที่ ๑๖ ทำดีจนเสียมิตร

" เล่าเซี่ยงชุน "

พระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ นั้น เมื่อได้รับเรื่องราวกล่าวโทษ เงียมซง ขุนนางผู้ใหญ่ จาก ไฮ้สุย แล้ว รุ่งขึ้นอีกวันหนึ่งเมื่อเสด็จออกว่าราชการ ก็มีรับสั่งแต่งตั้งให้ เล่าปึงหมง ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายกรมวัง กวยซิวกี ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายกรมเมือง กับ ตั้นเท่งเง็ก ขุนนางผู้ใหญ่ฝ่ายรักษาพระองค์ เป็นตุลาการชำระความที่ไฮ้สุยกล่าวโทษเงียมซง ให้ได้ความจริง แล้วมีรับสั่งให้ขันทีผู้ใหญ่ไปนำตัวเงียมซงกับไฮ้สุย มาส่งให้ตุลาการทั้งสามที่ศาลาว่าความใหญ่ในวันนั้น

กวยซิวกีนั้นมีจิตลำเอียงเข้าข้างเงียมซง คิดว่าถ้าไต่สวนในขณะนั้น เป็นการจวนตัวไม่ทันหาหนทางแก้ไข จะเสียเปรียบไฮ้สุยได้ จึงปรึกษาตุลาการอีกสองคนว่าเวลาวันนี้ก็ล่วงไปมากแล้ว จะไต่สวนไปได้ไม่เท่าไร ควรงดไว้ก่อนเวลาพรุ่งนี้จึงให้มาพร้อมกันแต่เช้า ตุลาการอีกสองคนก็ไม่ขัดข้อง จึงมอบตัวโจทก์จำเลยทั้งสองให้ผู้คุมควบคุมตัวไว้คนละแห่ง

นางเงียมเคงหลินกุยฮุย บุตรเลี้ยงของเงียมซงได้ทราบความ ก็จัดสิ่งของที่ดีมีราคาต่าง ๆ เป็นสามชุด มอบให้คนสนิทนำไปมอบให้แก่ตุลาการทั้งสาม พร้อมกับหนังสือคนละฉบับ มีข้อความเหมือนกันว่า

ข้าพเจ้านางเงียมเคงหลินกุยฮุย ขอคำนับมายังท่านที่ชำระความบิดาของข้าพเจ้า บัดนี้ข้าพเจ้าจัดสิ่งของใช้คนมาให้ ขอท่านจงเห็นแก่บิดาข้าพเจ้าและตัวข้าพเจ้า ช่วยสงเคราะห์ชำระให้บิดาข้าพเจ้าชนะไฮ้สุย อย่าให้ได้ความอายแก่คนทั้งปวง แม้นการสำเร็จแล้ว ข้าพเจ้าจะสนองคุณท่าน

ตุลาการทั้งสามได้แจ้งความในหนังสือแล้ว ก็ไม่กล้ารับเอาของกำนัลและหนังสือนั้นไว้ ให้ผู้ที่นำของนั้นเอากลับคืนไป และได้ฝากให้บอกแก่นางเงียมเคงหลินว่า ความเรื่องนี้สำคัญนัก รับสั่งให้ชำระเอาความจริง ซึ่งกุยฮุยจัดของมาให้นั้นขอบคุณแล้ว แต่จะรับของไว้ไม่ได้เกรงความผิด นางเงียมเคงหลินได้ทราบแล้วก็ไม่ว่าประการใด

แล้วกวยซิวกีก็ไปปรึกษากับตั้งเท่งเง็กว่า

“……..แต่ก่อนเราก็ได้พึ่งเงียมซง บัดนี้เงียมซงต้องคดี นางเงียมเคงหลินกุยฮุยได้มีหนังสือมาฝากฝัง จะพูดอ้อมค้อมทำไม ว่าแต่จะช่วยเขาหรือมิช่วยเท่านั้น ถ้าท่านกับข้าพเจ้าเป็นใจเดียวกันแล้ว ก็พอจะช่วยเงียมซงได้ แต่กีดด้วยเล่าปึงหมงเป็นตุลาการเข้ามาด้วยอีกคนหนึ่งสำคัญนัก ด้วยการแต่ก่อนข้าพเจ้าไม่เห็นเล่าปึงหมงไปมาหาสู่เงียมซงเลย…..”

ตั้งเท่งเง็กก็ว่าเงียมซงเป็นขุนนางผู้ใหญ่มีอำนาจมาช้านาน ซึ่งเล่าปึงหมงไม่ไปมาหาสู่นั้น เพราะเขาเห็นว่าเงียมซงประพฤติการไม่ชอบ กวยซิวกีก็ว่าตนเองจะคอยฟังความข้างในวัง ถ้าเห็นว่ากระแสพระราชดำรัสเอนไปข้างเงียมซง เราชำระคล้อยไปตามพระกระแสนั้น ก็จะสบายเหมือนพายเรือล่องน้ำ นึกว่าทนเสียชื่อเอาคราวหนึ่ง ที่เขาจะนินทาว่าเป็นตุลาการชำระความไม่เที่ยงธรรมเท่านั้น ถ้าพระกระแสเอียงไปข้างไฮ้สุย เราก็ชำระไปตามตรง แต่เรากับ เงียมซงและนางเงียมเคงหลินก็คงจะขาดไมตรีกัน

ตั้งเท่งเง็กได้ฟังก็รู้ในท่วงทีว่ากวยซิวกีก็จะเข้าข้างเงียมซง จึงว่าการที่จะช่วย เงียมซงหรือมิช่วยนั้น อย่าเพิ่งคาดเอาเป็นแน่ก่อน แต่เห็นว่า ถึงเล่าปึงหมงจะเดินทางตรงไม่เข้ากับผู้ใดก็คงสู้เราไม่ได้ ทางที่ดีควรจะไปหาเล่าปึงหมง ฟังแยบคายดูเขาจะว่าอย่างไร กวยซิวกีก็เห็นดัวย และยินดีที่ได้เพื่อนร่วมคิดไว้คนหนึ่งแล้ว จึงพากันไปหาเล่าปึงหมง ขอปรึกษาเรื่องคดีว่าจะทำอย่างไร

เล่าปึงหมงก็ว่าท่านทั้งสองเคยเป็นตุลาการได้ชำระความมามาก ฮ่องเต้คงจะเชื่อถือท่าน ตนเองเป็นคนใหม่ กวยซิวกีจึงว่าเมื่อข้าพเจ้าทั้งสองชำระไปเห็นข้อไหนไม่ถูกก็ทักท้วงว่ากล่าวได้ เมื่อเห็นควรแล้วก็ลงชื่อประทับตราด้วยกัน จะได้นำข้อความขึ้นกราบทูลให้ทรงทราบ เล่าปึงหมงก็รับคำ

ครั้นเวลาเช้าวันรุ่งขึ้น เมื่อไปถึงศาลาว่าความ กวยซิวกีก็ให้พาตัวเงียมซงออกมาก่อน ตุลาการทั้งสามต่างคนก็ยืนขึ้นประสานมือคำนับ แล้วเชิญให้ขึ้นนั่งบนเก้าอี้ เงียมซงก็ว่าตนเป็นลูกความไม่สมควรจะนั่งเสมอตุลาการ ทั้งสามจึงให้คนเอาพรมมาปูข้างล่างให้เงียมซงนั่ง แล้วจึงเริ่มไต่สวนว่า ไฮ้สุยทีจะมีข้อสาเหตุอะไรกันสักอย่างหนึ่ง จึงหาความมาฟ้องท่าน

เงียมซงก็ให้การว่าไฮ้สุยกับตนเองไม่มีสาเหตุพยาบาทอะไรกันด้วยข้อใด แต่ ไฮ้สุยจะมีความน้อยใจอยู่สักอย่างหนึ่ง ด้วยตัวไฮ้สุยตั้งแต่เข้ามารับราชการ ตนเองไม่ได้เคยกราบทูลยกย่องให้ อย่างอื่นไม่เห็นเลย กวยซิวกีก็ถามว่าความที่ฟ้องนี้จริงหรือไม่ เงียมซงก็ว่า เขาฟ้องกล่าวโทษเอาตามใจชอบ ถ้าจริงดังว่าก็ไม่มีพยานมายืนยัน ธรรมเนียมความต้องมีพยานเป็นที่อ้าง

กวยซิวกีก็คล้อยตามว่าพูดถูกต้อง แล้วให้เงียมซงไปพักก่อน ให้เอาตัวไฮ้สุยเข้ามาซักถามว่าความที่ฟ้องกล่าวโทษใจเสี่ยงนั้น มีใครรู้เห็นเป็นพยานบ้างหรือไม่ ไฮ้สุยก็ให้การว่า

“………ความที่ข้าพเจ้ากล่าวนี้ เล่าตังหยง และขุนนางรู้ทั้งนั้น แต่ใจเสี่ยงมีอำนาจวาสนามาก ก็ไม่มีใครจะกล้ามาว่ากล่าวเช่นข้าพเจ้า ซึ่งจะให้ผู้อื่นมาเป็นพยานนั้น เห็นจะไม่มี ท่านถือรับสั่งมาจะว่าให้ได้ความจริง ก็สุดแล้วแต่ปัญญาของท่าน ซึ่งข้าพเจ้าฟ้องกล่าวโทษใจเสี่ยงทั้งนี้ ใช่จะหาผลประโยชน์สิ่งใดหามิได้ ต่อเห็นเป็นเสี้ยนหนามแผ่นดินจึงว่าขึ้น ท่านก็เป็นขุนนางผู้ใหญ่ ทำราชการสนองพระคุณต่างพระเนตรพระกรรณ เมื่อเห็นควรประการใดก็สุดแล้วแต่ท่าน ซึ่งจะมาบังคับเร่งเอาพยานที่ข้าพเจ้าเห็นไม่ได้……..”

กวยซิวกีได้ฟังจึงตวาดว่า ถ้ากระนั้นท่านก็เอาความไม่จริงมากล่าวโทษท่าน เงียมซง ซึ่งนับเป็นเชื้อวงศ์เซียงด้วย ตัวเป็นขุนนางผู้น้อยไม่ควรจะมาเป็นความแก่ท่านผู้ใหญ่ ไฮ้สุยก็โกรธ จึงว่า

“………ข้าพเจ้าเป็นขุนนางผู้น้อยก็จริง แต่ได้รับพระราชทานเบี้ยหวัดเงินเดือนของพระเจ้าแผ่นดิน มีพระเดชพระคุณเป็นอันมาก เห็นการสิ่งใดเกิดขึ้นในแผ่นดินแล้วก็ต้องว่ากล่าว ที่จะให้ข้าพเจ้าไปเที่ยวประจบคนนั้นคนนี้ เห็นใครที่ไหนมีอำนาจมากเข้าฝากตัว ไม่รู้ว่าดีชั่วผิดชอบ ทำไปเหมือนเขาไม่ได้ ฝากชีวิตของตัวไว้แก่พระเจ้าแผ่นดิน และท่านที่ตั้งอยู่ในยุติธรรมเท่านั้น ข้าพเจ้าไม่มีอะไรมีแต่ชีวิตเท่านั้น เมื่อเห็นว่าควรจะเชื่อฟังได้ก็ให้เชื่อ เมื่อเห็นว่าเชื่อไม่ได้ก็ฆ่าเสีย………”

กวยซิวกีจึงว่าธรรมดาตุลาการชำระความยังไม่เห็นจริง ก็อาศัยแต่พยาน หรือ ว่าท่านนำสืบไม่ได้ ก็ให้รับชื่อพยานมาว่าชายหญิงชื่อนั้นอยู่ตำบลนั้น ใครรู้เห็น ตุลาการจะได้ใช้คนไปเอาตัวมาถาม ถ้าไม่มีพยานเป็นแต่ฟ้องหากล่าวโทษกันลอย ๆ ดังนี้ จะเป็นว่าหาความเขาไม่จริง

ไฮ้สุยได้ฟังจึงตรึกตรองว่าที่กวยซิวกีพูดนี้ก็ถูกต้อง ครั้นจะเอาหนังสือจดหมายเหตุออกเป็นตัวพยาน ก็เกรงจะร้อนถึงตัวเจ้าของอย่างหนึ่ง ถ้าหนังสือจดหมายเหตุตกไปถึงมือตุลาการ ก็เกรงว่าตุลาการทำลายเสีย จึงนิ่งอยู่ไม่รู้จะตอบโต้ประการใด

กวยซิวกีเห็นได้ทีก็ขู่ว่าถ้าความไม่จริงก็ให้สารภาพเสีย ไฮ้สุยก็ยืนยันว่าเป็นความจริง กวยซิวกีก็ว่ามาฟ้องหากล่าวโทษเขา พยานก็ไม่ชี้ให้ ยอมสารภาพก็ไม่ยอม ทำให้ยากแก่ตุลาการ จะต้องผูกเข้าเฆี่ยนเสียให้เป็นตัวอย่าง

เล่าปึงหมงก็ห้ามว่า ของดไว้ก่อนจะทำเหมือนราษฎรนั้นไม่ได้ ไฮ้สุยก็เป็นขุนนาง จะลองถามดูบ้าง แล้วก็เกลี้ยกล่อมไฮ้สุยว่า ตุลาการเขาถามก็ถูกต้องตามแบบอย่าง ซึ่งจะปฏิเสธเสียว่าไม่มีพยานไม่ได้ การที่ฟ้องนั้นแม้จะเป็นความจริง แต่ลักษณะความต้องมีหลักที่จะอ้างจึงจะเป็นกระบวนความ ซึ่งตุลาการผู้ชำระจะลงเนื้อเห็นด้วยตามคำกล่าวหานั้นก็ไม่ควร

ไฮ้สุยก็เห็นจริงจึงว่า ของสำคัญซึ่งจะเป็นองค์พยานนั้น เป็นลายมือผู้จดหมายเหตุไว้ ครั้นส่งเข้าไปกลัวตุลาการจะแก้ไขเสีย เล่าปึงหมงว่าอย่าวิตกจงเอามาเถิดจะรักษาไว้มิให้เป็นอันตราย แล้วถามต่อว่าท่านฟ้องกล่าวโทษเงียมซงมีเนื้อความห้าข้อ แต่ความสองข้อว่าด้วยเล่าตังหยง กับ ฮั่วจิ้น เศรษฐีสองคนนั้น ท่านก็ได้เป็นที่เอ๋ซุนอ้านออกไปตรวจตามหัวเมืองใหญ่น้อยไม่รู้ดอกหรือ ไฮ้สุยก็ว่าความสองรายนั้นรู้ แต่อีกสามข้อนั้นไม่รู้ เล่าปึงหมงก็ซักต่อว่าเมื่อรู้แล้วทำไมไม่กราบทูล

ไฮ้สุยก็ว่า

“………ข้าพเจ้าออกไปครั้งนั้น เห็นว่าเล่าตังหยงและฮั่วจิ้นเป็นเศรษฐีประพฤติไม่ดี ถืออำนาจเงียมซงข่มเหงราษฎรให้ได้ความเดือดร้อนมาก ข้าพเจ้าก็กำจัดตัวผู้ร้ายเสียแล้ว ครั้นข้าพเจ้ากลับมาจะกราบทูลให้ทรงทราบ ก็เหมือนหนึ่งจะอวดตัวว่ามีสติปัญญากำจัดคนร้ายได้ ถ้าพาดพิงมาถึงเงียมซงก็จะเป็นที่หมองใจ คนร้ายก็กำจัดตัดเสียแล้ว เมื่อกราบทูลให้ทรงทราบเงียมซงจะพลอยผิดอะไรด้วย จะออกตัวไปว่ามิใช่พวกพ้อง ข้าพเจ้าตรองเห็นดังนี้จึงมิได้กราบทูลให้ทรงทราบ ความเล่าตังหยงกับฮั่วจิ้นติดอยู่กับความสามข้อในจดหมายเหตุ ข้าพเจ้าจึงได้ยกขึ้นมาว่าด้วย………”

แล้วไฮ้สุยก็ส่งจดหมายเหตุให้เล่าปึงหมง เมื่อเล่าปึงหมงดูแล้วก็ส่งต่อไปให้ตุลาการอีกสองคน กวยซิวกีดูแล้วจึงว่าธรรมดาผู้จดหมายเหตุ ถ้าได้ความผิดและชอบของผู้ใดเป็นการจริงแล้วก็จดหมายไว้ ถึงกำหนดต้องกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินให้ทรงทราบ แล้วต้องเอาหนังสือจดหมายเหตุใส่ตู้เหล็กลั่นกุญแจไว้ การนี้ไม่จริงไฮ้สุยไปคบคิดกับผู้จดหมายเหตุ เอาลายมือผู้จดหมายเหตุมารับสมอ้างเป็นพยาน กล่าวโทษใจเสี่ยงเปล่า ๆ แล้วก็ให้เจ้าหน้าที่ถือหมายไปเอาตัว หลีซุนเอี๋ยง มาให้การที่ศาล

เมื่อหลีซุนเอี๋ยงทราบความจากผู้ถือหมาย ว่าไฮ้สุยอ้างเอาหนังสือจดหมายเหตุของตนไปเป็นพยานก็ตกใจ เมื่อเดินเข้าไปดูในห้องหนังสือเห็นจดหมายเหตุเรื่องเงียมซงหายไป ก็รู้ชัดว่าไฮ้สุยลักเอาไปเป็นแน่ จึงบอกแก่บุตรภรรยาว่าซึ่งตุลาการมีหมายมาหาตัวไปคราวนี้คงมีโทษเป็นแน่แท้ ภรรยาจึงว่าท่านรักใคร่กับไฮ้สุยมากนัก บัดนี้ไฮ้สุยมาลักเอาจดหมายเหตุไป การนี้จะมิรักคนผิดไปหรือ หลีซุนเอี๋ยงก็เห็นใจไฮ้สุยว่าเป็นคนใจร้อน เห็นแต่การแผ่นดิน ทั้งนี้ก็เพราะกรรมของเราถึงกำหนดจะต้องรับพระราชอาญา ภรรยาก็ถามว่าจะมีโทษสักเพียงใด หลีซุนเอี๋ยงว่าโทษก็ถึงตาย ภรรยาก็ว่าเราไม่รับว่าเป็นของเราไม่ได้หรือ หลีซุนเอี๋ยงก็ว่าไม่ได้ ถ้าเราไม่รับไฮ้สุยก็คงตาย และหนังสือนั้นก็เป็นลายมือเราจะไม่รับที่ไหนได้ และตัดใจว่า

“………ครั้งนี้โดยเราตายเพราะไฮ้สุย ชื่อเราก็ปรากฎไปเบื้องหน้า คงจะมีผู้สรรเสริญ ใช่ว่าไฮ้สุยจะแกล้งฆ่าเราเมื่อไร ด้วยนิสัยไฮ้สุยเป็นคนตรง สงสารแต่บุตรชายของเรา ยังอ่อนความคิดนัก ถ้าเราตายไปแล้วเจ้าสองคนกับบุตรจะเปลี่ยวใจนัก ด้วยไม่เห็นใครเป็นที่พึ่งแก่เจ้าได้ ตัวเราทำราชการโดยสุจริต หาได้คิดประโยชน์สิ่งใดไว้ให้แก่เจ้า อย่าหมายเลยว่าเราจะไม่ตาย ถ้าเอาตามพระราชกำหนดกฎหมายแล้ว โทษก็ถึงสิ้นชีวิต ด้วยเราทำการประมาท…….”

หลีซิวอิ๋ม ผู้บุตรได้ฟังบิดาพูดจึงว่า

“……….การครั้งนี้ถึงบิดาจะถึงแก่ชีวิต ก็เรียกว่าตายในที่ชอบ เป็นที่สรรเสริญแก่คนทั้งปวง บิดาอย่าได้ทุกข์ร้อนเป็นห่วงใยในข้าพเจ้าเลย อายุข้าพเจ้าก็ได้ถึงสิบหกปีเข้านี่แล้ว ข้าพเจ้าจะอุปถัมภ์มารดาไปกว่าจะหาชีวิตไม่ ตัวข้าพเจ้าจะเข้าทำราชการก็คงฝากตัวกับขุนนางที่เป็นตงฉิน โดยจะยากจนอดอยากลงไม่มีจะกิน ก็จะสู้อดทนไป………..”

หลีซุนเอี๋ยงก็มีความยินดีว่าเจ้านี้คิดชอบแล้วบิดาสิ้นความวิตก ชีวิตของเรานี้เป็นอันทอดอาลัย ตัวเราคงมิได้กลับมาเห็นหน้าเจ้าต่อไปอีกแล้ว ภรรยากับบุตรได้ฟังดังนั้นกลั้นน้ำตาไว้มิได้ก็ร้องไห้ หลีซุนเอี๋ยงก็มากับผู้ถือหมายให้ศาลชำระความ

เมื่อตุลาการไต่สวนหลีซุนเอี๋ยงก็สารภาพว่า จดหมายเหตุนี้เป็นลายมือของตนเอง เป็นความจริงทั้งนั้นใช่จะเอาความเท็จมากล่าวหามิได้ ตนมีความผิดอยู่ข้อเดียวที่รักษาจดหมายเหตุไว้ไม่ดี ให้ไฮ้สุยลักเอามาได้ ข้อที่ยังมิได้กราบทูลนั้นเพราะเก็บความยังไม่หมด

ตั้นเท่งเง็กเห็นว่าหลีซุนเอี๋ยงมีความผิด จึงให้ผู้คุมเอาตัวไปขังไว้ในคุก แล้วก็ปรึกษากับกวยซิวกี เรียบเรียงคำไต่สวนชำระความเรื่องนี้ ว่าหลีซุนเอี๋ยงมีความผิดฐานที่รักษาจดหมายเหตุไม่ดี ให้ไฮ้สุยเอามาเป็นพยานในการฟ้องเงียมซงได้ ไฮ้สุยมีความผิดฐานเอาจดหมายเหตุที่ยังไม่ได้กราบทูลมาฟ้องร้อง แต่ไม่กล่าวถึงความผิดของ เงียมซงในคำฟ้องเลย เล่าปึงหมงจึงไม่ยอมลงชื่อประทับตราร่วมด้วย และได้เรียบเรียงความคิดเห็นของตนเองไว้อีกฉบับหนึ่ง คัดค้านคำกราบทูลของกวยซิวกีกับตั้นเท่งเง็ก

เมื่อพระเจ้าเกียเจ๋งฮ่องเต้ ได้ทอดพระเนตรคำกราบทูลของตุลาการทั้งสองฉบับแล้ว ก็ทรงพระดำริว่า หลีซุนเอี๋ยงมิได้รู้เห็นเป็นใจด้วยไฮ้สุย และคบคิดกันฟ้องหากล่าวโทษ เงียมซง ด้วยไฮ้สุยลักเอาจดหมายเหตุของลิซุนเอี๋ยงมา ข้อนี้เป็นความจริง ความที่ไฮ้สุยได้กล่าวโทษเงียมซง ก็เป็นความจริง เงียมซงคงทำผิดเหมือนดังที่ไฮ้สุยฟ้อง จะว่าไม่มีความผิดไฮ้สุยผู้ฟ้องก็ต้องมีโทษ แต่ข้อผิดที่เงียมซงทำนี้มิใช่การขบถ ด้วยเงียมซงเป็นถึงที่ใจเสี่ยงขุนนางผู้ใหญ่ จะต้องทำโทษเงียมซงเสียบ้าง ถ้าทำโทษผู้ฟ้องก็จะเสียความยุติธรรมไป

ประการหนึ่งถ้าจะให้เงียมซงพ้นโทษ ด้วยเห็นแก่นางเงียมเคงหลินกุยฮุย ก็ต้องคัดไฮ้สุยออกเสียอย่าให้เกี่ยวข้องระคนปนในความเรื่องนี้ ว่าแต่เรื่องหลีซุนเอี๋ยงอย่างเดียว เมื่อทรงพระดำริดังนี้แล้ว จึงทรงพระอักษรตัดสินมีความว่า

ซึ่งจะยกโทษไฮ้สุยว่าฟ้องหากล่าวโทษใจเสี่ยงเป็นความไม่จริงนั้นไม่ถูก ด้วย ไฮ้สุยมีจดหมายเหตุเป็นสำคัญ ประการหนึ่งจะว่าเงียมซงมีความผิดก็ไม่ได้ด้วยคำที่ไฮ้สุยฟ้องนั้นไม่มีพยานอื่นเจือ แต่จะว่าคำในจดหมายเหตุไม่จริงก็ไม่ได้ ความจะแน่ใจอยู่เขาจึงจดหมายลงไว้ แม้นเงียมซงทำความผิดไว้ดังไฮ้สุยกล่าว ก็ให้ประพฤติกลับใจเสียใหม่ แม้นมิฟังยังทำความชั่วต่อไปภายหน้า ถ้ามีผู้มาฟ้องกล่าวหาขึ้นด้วยข้อความเรื่องนี้ต้องตัดสินเอาเป็นจริง แต่ครั้งนี้ยกภาคทัณฑ์ไว้ เงียมซงกับไฮ้สุยซึ่งเป็นความกันนั้นให้เลิกแล้วแก่กัน

แต่หลีซุนเอี๋ยงเป็นเจ้าพนักงานจดหมายเหตุ รักษาหนังสือเท่านี้ไว้ไม่ได้ให้ ไฮ้สุยลักเอาไปได้ มีความผิดต้องกฎว่าให้ประหารชีวิตเสีย

ครั้นเสด็จออกในที่ประชุมขุนนางผู้ใหญ่ผู้น้อย ณ หน้าพระที่นั่งแล้ว ก็พระราชทานพระอักษรให้ขุนนางดู แล้วรับสั่งให้เอาตัวหลีซุนเอี๋ยงไปประหารเสียตามคำตัดสิน

คดีเรื่องนี้จึงสิ้นสุดลงอย่างน่าเศร้าสลด เพราะความซื่อตรงของไฮ้สุย ได้ทำลายชีวิตของมิตรที่ดีไป อย่างน่าเสียดายยิ่ง.

##########




 

Create Date : 27 กันยายน 2551    
Last Update : 27 กันยายน 2551 6:13:39 น.
Counter : 405 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  7  

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.