Group Blog
 
All Blogs
 
กำเนิดและวิวัฒนาการของ ททบ.๕

ความหลังโคนต้นไทร

กำเนิดและ วิวัฒนาการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

"วชิรพักตร์"

โทรทัศน์ในประเทศไทย

กิจการโทรทัศน์ในประเทศไทย ได้เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.๒๔๙๔ โดยที่คณะรัฐมนตรี ได้อนุสัติให้ กรมประชาสัมพันธ์ ดำเนินการจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ที่จะใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์ของรัฐบาล แต่การจัดตั้งสถานีวิทยุโทรทัศน์ในครั้งนั้นได้ระงับไป เนื่องจากปัญหางบประมาณ

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๕ บริษัทเอกชนได้นำอุปกรณ์การส่งโทรทัศน์ เข้ามาแสดงให้ประชาชนชม ที่กรมประชาสัมพันธ์ โดยทดลองออกอากาศเมื่อ ๑ กรกฎาคม ๒๔๙๕ เป็นการถ่ายทอดสดการแสดงดนตรี ของวงดนตรีกรมประชาสัมพันธ์ จากห้องส่งวิทยุกระจายเสียงกรมประชาสัมพันธ์ ส่งภาพไปยังทำเนียบรัฐบาล และตั้งเครื่องรับให้ประชาชนชมในบริเวณใกล้เคียงด้วย

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๔๙๖ กรมประชาสัมพันธ์ ได้จัดซื้อเครื่องส่งโทรทัศน์ มาออกอากาศสาธิตให้ประชาชนชม โดยการถ่ายทอดมวยจากเวทีมวยราชดำเนินในการชกระหว่าง จำเริญ ทรงกิตติรัตน์ กับ จิมมี เปียต รองแชมเปี้ยนโลกรุ่นแบนตัมเวท กับถ่ายทอดในงานวชิราวุธานุสรณ์ งานฉลองรัฐธรรมนูญ และงานปีใหม่ ทั้งได้นำไปแสดงให้ประชาชน จังหวัดพิษณุโลกได้ชม ในงานประจำปีของโรงพยาบาลพิษณุโลก ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗ อีกด้วย

จนถึง พ.ศ.๒๔๙๘ ได้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์ในรูปของบริษัท ชื่อว่า บริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด ได้จดทะเบียนตามกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มีส่วนราชการและ องค์การรัฐวิสาหกิจต่าง ๆ ของรัฐบาล เป็นผู้ถือหุ้น โดยได้ดำเนินการจัดสร้างอาคารที่ทำการ และสถานีส่งโทรทัศน์ขึ้นที่บริเวณวังบางขุนพรหม ได้ติดตั้งอุปกรณ์การส่งโทรทัศน์ แล้วเสร็จเมื่อ ๒๐ มิถุนายน ๒๔๙๘ การดำเนินงานในครั้งนั้น ใช้เจ้าหน้าที่ของกรมประชาสัมพันธ์ทั้งสิ้น

วันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๔๙๘ จอมพล แปลก พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธี เปิดสำนักงานและที่ทำการสถานีวิทยุโทรทัศน์ ไทย ที วี ช่อง ๔ อันเป็นสถานีโทรทัศน์แห่งแรกของประเทศไทย และเป็นสถานีแรกของผืนแผ่นดินใหญ่ในเอเซีย ด้วยเครื่องส่งโทรทัศน์ที่มีกำลังส่งออกอากาศ ๑๐ กิโลวัตต์ ขาวดำ ระบบ ๕๒๕ เส้น มีชื่อย่อว่า ท.ท.ท. และได้ดำเนินกิจการมาจนถึง พ.ศ.๒๕๒๐ จึงได้ยุบเลิกบริษัทไทยโทรทัศน์ จำกัด และจัดตั้งองค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า อสมท.

ต่อมากองทัพบกได้จัดตั้ง สถานีโทรทัศน์กองทัพบก ขึ้นเป็นแห่งที่ ๒ ในประเทศไทย ด้วยความดำริของ จอมพล สฤษดิ์ ธนะรัชต์ ผู้บัญชาการทหารบก โดยได้กำหนดให้มี แผนกวิทยุโทรทัศน์ ขึ้นใน กองการกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ กรมการทหารสื่อสาร ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๙๕ และได้มีคำสั่งแต่งตั้ง ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบกให้เป็น ประธานคณะกรรมการดำเนินกิจการวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบก เมื่อ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๐๐ มีหน้าที่วางโครงการจัดตั้งวิทยุโทรทัศน์ของกองทัพบก กับวางแผนอำนวยการและ ควบคุมการดำเนินงานทั้งปวง ให้ทันเปิดกิจการได้ ในวันกองทัพบก

คณะกรรมการจึงได้วางศิลาฤกษ์ อาคารที่ทำการและสถานีส่งโทรทัศน์ ณ บริเวณกองพลทหารม้า สนามเป้า ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เมื่อ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๐๐ และได้ดำเนินการจัดหาอุปกรณ์เครื่องส่งและเครื่องรับ ตั้งแต่เดือน สิงหาคม ๒๕๐๐ การก่อสร้างอาคารและติดตั้งอุปกรณ์ได้แล้วเสร็จ เมื่อเดือนมกราคม ปีถัดมา

สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เปิดออกอากาศเป็นปฐมฤกษ์ เมื่อ ๒๕ มกราคม ๒๕๐๑ ด้วยกำลังออกอากาศ ๕ กิโลวัตต์และเพิ่ม ๑๒ เท่าที่สายอากาศบนเสาสูง ๓๐๐ ฟุต ระบบ ๕๒๕ เส้น ขาวดำ ช่อง ๗ ชื่อสากล HS A TV ชื่อย่อ ททบ.

ต่อมาได้มีการก่อตั้ง สถานีวิทยุโทรทัศน์ เพิ่มขึ้นในประเทศไทย ตามลำดับ คือ

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ โดยบริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี เปิดสถานีเมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๐ เป็นเครือของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

สถานี ไทยทีวี สี ช่อง ๙ ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย ได้รับมอบกิจการโทรทัศน์ จากบริษัทไทยโทรทัศน์ มาดำเนินการต่อ ในระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี ตั้งแต่ ๙ เมษายน ๒๕๒๐

สถานีโทรทัศน์ อสมท.ช่อง ๓ โดยบริษัทบางกอกเอนเตอร์ เทนเมนท์ จำกัด ระบบ ๖๒๕ เส้น ภาพสี เปิดสถานีเมื่อ ๒๖ มีนาคม ๒๕๑๓ อยู่ในความควบคุม ขององค์การสื่อสารมวลชนแห่งประเทศไทย

วิวัฒนาการของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก

กิจการโทรทัศน์กองทัพบก ที่ได้เริ่มดำเนินการตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๑ นั้น ได้ก้าวหน้าต่อมาเป็นลำดับ ตามกำลังงบประมาณที่หาได้แต่ละปี ดังนี้

พ.ศ.๒๕๐๒ ได้เปลี่ยนจากสถานีทดลองซึ่งออกอากาศสัปดาห์ละ ๓ วัน เป็นสถานีถาวร ออกอากาศตลอดสัปดาห์ และปรับปรุงการบริหาร โดยแบ่งออกเป็น ๖ ฝ่ายคือ ฝ่ายธุรการ ฝ่ายตรวจรายการ ฝ่ายเทคนิค ฝ่ายจัดรายการ ฝ่ายข่าว และฝ่ายการเงิน มี ผู้อำนวยการสถานี เป็นผู้บริหาร

พ.ศ.๒๕๐๓ ห้องส่งเดิมมีขนาด ๑๕๐๐ ตารางฟุต ไม่เพียงพอแก่การแสดงที่เพิ่มขึ้นจึงสร้างห้องส่งที่ ๒ ขนาดพื้นที่ ๓๐๒๔ ตารางฟุต และปรับปรุงคุณภาพของ เครื่องส่งทั้งทางภาพและทางเสียง ให้มีมาตรฐานสูงขึ้น

พ.ศ.๒๕๐๖ ได้ขยายรัศมีการส่งออกไป โดยตั้งเครื่องทรานเลเตอร์ เริ่มที่จังหวัดลพบุรี เพื่อสนับสนุนการฝึกธนะรัชต์ และเริ่มจัดรายการภาคกลางวันตั้งแต่ มิถุนายน ๒๕๐๖

พ.ศ.๒๕๐๘ ก่อสร้างอาคารสำนักงานของส่วนอำนวยการ เมื่อ ๒๙ กรกฎาคม ๒๕๐๘ และจัดตั้งสถานีวิทยุกระเสียง F.M.ความถี่ ๙๔ เมกกะเฮิร์ซ เพื่อถ่ายทอดเสียงภาษาอังกฤษ จากฟิล์มภาพยนต์ที่ฉายทาง ททบ.

๓๑ สิงหาคม ๒๕๐๘ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินีนาถ พร้อมด้วยสมเด็จพระเจ้าลูกเธอทุกพระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินเยือนสถานีเป็นการส่วนพระองค์ เพื่อทอดพระเนตรกิจการของสถานี

พ.ศ.๒๕๐๙ จัดหารถบันทึกเทปโทรทัศน์ เป็นรถถ่ายทอดนอกสถานที่ คันที่ ๒ ติดตั้งอุปกรณ์บันทึกภาพเพื่อถ่ายทอดการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ ครั้งที่ ๕ ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพ ครั้งแรก เมื่อ ธันวาคม ๒๕๐๙ โดยร่วมมือกับบริษัทไทยโทรทัศน์ ช่อง ๔ เป็นการเริ่มต้นทำงานร่วมกันของสถานีโทรทัศน์ในประเทศไทย

พ.ศ.๒๕๑๐ ได้ก่อสร้างห้องส่งที่ ๓ ขนาดพื้นที่ ๔๐๐ ตารางเมตร ให้ติดต่อกับห้องส่งที่ ๒ และได้ก่อสร้างอาคารจำหน่ายเครื่องรับโทรทัศน์ กับ อาคารห้องสมุดและห้องอาหาร ในบริเวณสถานีโทรทัศน์สนามเป้า กับได้สร้างสถานีถ่ายทอดสัญญาณ ในส่วนภูมิภาค เพิ่มขึ้นอีกที่จังหวัดพิจิตร ชลบุรี และนครราชสีมา

บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ได้ร่วมกับสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ทดลองส่งโทรทัศน์สี ระบบ ๖๒๕ เส้น ในช่อง ๗ เมื่อ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๑๐ โดยถ่ายทอดการประกวดนางสาวไทย จากเวทีบริเวณงานวชิราวุธานุสรณ์ ซึ่งสามารถรับภาพขาวดำในระบบ ๖๒๕ เส้นทางช่อง ๙ และได้เปิดเป็นสถานีโททัศน์สีกองทัพบก เมื่อ ๑ ธันวาคม ๒๕๑๐

พ.ศ.๒๕๑๑ ก่อสร้างอาคารการกำลังของฝ่ายเทคนิค ในบริเวณสถานีที่สนามเป้า

บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุ จำกัด ได้ทำสัญญายกเครื่องส่งโทรทัศน์สีกำลังออกอากาศ ๕๐๐ วัตต์ ให้แก่กองทัพบก และทำสัญญาเช่าเพื่อดำเนินการบริหาร สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก เป็นเวลา ๑๐ ปี

ได้ก่อตั้ง โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ เพื่ออำนวยการปฏิบัติงานของสถานีโทรทัศน์ทุกช่องในประเทศไทย โดยใช้ชื่อว่า โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย มีชื่อย่อว่า ทรท.เมื่อ ๒๐ ธันวาคม ๒๕๑๑

พ.ศ.๒๕๑๒ บริษัทกรุงเทพโทรทัศน์และวิทยุจำกัด ได้สร้างเครื่องส่งโทรทัศน์สี กำลังออกอากาศ ๑๐ กิโลวัตต์ และเสาอากาศสูง ๕๗๐ ฟุต และเครื่องส่งวิทยุ F.M. ๑ กิโลวัตต์ มอบให้กองทัพบก เมื่อ ๕ มีนาคม ๒๕๑๒

โทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ ได้ถ่ายทอดการส่งมนุษย์ไปลงบนดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ด้วยยานอะพอลโล ของสหรัฐอเมริกา โดยการส่งสัญญาณผ่านดาวเทียม เมื่อ ๒๑ กรกฎาคม ๒๕๑๒

พ.ศ.๒๕๑๓ ก่อสร้างอาคารโรงฉากและพัสดุ เพื่อเก็บอุปกรณ์การจัดฉาก และคลังพัสดุ เมื่อ ธันวาคม ๒๕๑๒

สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗ ได้ย้ายไปตั้งอยู่ที่บริเวณหลังสถานีขนส่งสายเหนือ ถนนพหลโยธิน เพื่อดำเนินการเป็นเอกเทศ เมื่อ มิถุนายน ๒๕๑๓

พ.ศ.๒๕๑๖ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ปฏิบัติหน้าที่อันสำคัญยิ่ง ด้วยการถ่ายทอดโทรทัศน์ ในโอกาสที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงมีกระแสพระราชดำรัส เพื่อระงับเหตุการณ์จลาจลวุ่นวายอันร้ายแรงที่สุดในประเทศไทยเมื่อ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ เวลา ๑๙๓๐ ให้สงบลงได้โดยฉับพลัน

พ.ศ.๒๕๑๗ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ปรับปรุงอุปกรณ์เครื่องส่งโทรทัศน์ จากระบบ ๕๒๕ เส้น ขาวดำ ช่อง ๗ เป็นระบบ ๖๒๕ เส้น ช่อง ๕ โดยออกอากาศเป็นภาพขาวดำ ตั้งแต่ ๓ ตุลาคม ๒๕๑๗ และได้ออกอากาศเป็นภาพสี เมื่อ ๓ ธันวาคม ๒๕๑๗ ในการถ่ายทอดพิธีสวนสนามของหน่วยทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์

พ.ศ.๒๕๑๘ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้เพิ่มกำลังส่งออกอากาศของสถานีหลัก สนามเป้า จาก ๒๐๐ กิโลวัตต์ เป็น ๔๐๐ กิโลวัตต์

พ.ศ.๒๕๑๙ เปิดสถานีถ่ายทอดจังหวัดนครราชสีมา และจัดหารถถ่ายทอดนอกสถานที่ คันที่ ๓ และรถบันทึกเทปโทรทัศน์ เป็นคันที่ ๔

พ.ศ.๒๕๒๕ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ช่อง ๕ ได้ใช้ดาวเทียมถ่ายทอดสัญญาณร่วมกับ สถานีโทรทัศน์สีกองทัพบก ช่อง ๗

และได้ก่อสร้างสถานีถ่ายทอดออกไปในส่วนภูมิภาค จนถึง พ.ศ.๒๕๔๘ เป็นจำนวนทั้งสิ้น ๓๕ สถานี สามารถแพร่ภาพไปสู่ประชาชนทั่วทั้งสี่ภาค และกระจายออกไปสู่ต่างประเทศทั้งห้าทวีป มากกว่าร้อยประเทศทั่วโลก

พ.ศ.๒๕๓๙ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เริ่มออกอากาศตลอด ๒๔ ชั่วโมง เป็นสถานีแรก

พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบ ๔๐ ปี ของสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ได้ก่อสร้างอาคารที่ทำการ และสถานีส่งโทรทัศน์หลัก ในพื้นที่เดิม สนามเป้า ถนนพหลโยธิน เขตพญาไท กรุงเทพมหานคร เสร็จเรียบร้อย เป็นอาคารสูง ๑๐ ชั้น ซึ่งรวมเอาสำนักงาน ส่วนบริหาร ส่วนปฏิบัติการ และส่วนสนับสนุน รวมกันไว้ในอาคารเดียวกัน

สำหรับส่วนปฏิบัติการนั้น มีห้องส่งโทรทัศน์ถึง ๔ ห้อง ขนาด ๑๔๐ ตารางเมตร ๒ ห้อง ขนาด ๔๐๐ ตารางเมตร ๑ ห้อง และ ขนาด ๕๒๐ ตารางเมตร อีก ๑ ห้อง พร้อมด้วยห้องควบคุมทางเทคนิค อย่างสมบูรณ์


เมื่อถึงวันที่ ๒๕ มกราคม ๒๕๕๑ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก หรือ ททบ.๕ ก็จะมีอายุครบ ๕๐ ปี เป็นสถานีวิทยุโทรทัศน์ที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศไทย ซึ่งยังคงดำรงความมุ่งหมายหลัก คือการประสานความสัมพันธ์อันดี ระหว่างทหารกับประชาชน และเสนอสิ่งที่มีคุณค่าแก่สังคมไทยตลอดไป.

##########


จาก หนังสือที่ระลึกวันสถาปนา สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก
ครบรอบ ๔๐ ปี
๒๕ มกราคม ๒๕๔๑

ข้อมูลจาก พันเอก ไพฑูรย์ นิมิปาล
นายทหารประวัติศาสตร์ กรมการทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๕๒๙ - ๒๕๓๓
รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก พ.ศ.๒๕๑๙ - ๒๕๓๓

กลุ่มประวัติศาสตร์ ห้องสมุด พันทิป
๑๑ มกราคม ๒๕๕๒



Create Date : 11 มกราคม 2552








Create Date : 28 พฤษภาคม 2553
Last Update : 2 มิถุนายน 2553 20:27:15 น. 4 comments
Counter : 904 Pageviews.

 
เพิ่งทราบครับว่าบ้านเราได้ดูโทรทัศน์สีครั้งแรก โดยการถ่ายทอดการประกวดนางสาวไทย...


โดย: วิรุฬห์ IP: 110.168.123.206 วันที่: 25 กรกฎาคม 2553 เวลา:21:05:01 น.  

 
ถูกต้องแล้วครับ โทรทัศน์สีเริ่มแรกที่ ช่อง ๗ สี
ยังอยู่บริเวณเดียวกับ ช่อง ๗ ขาวดำ
ใช้เจ้าหน้าที่ และห้องส่ง ของ ช่อง ๗ ขาวดำ ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 26 กรกฎาคม 2553 เวลา:13:58:48 น.  

 
เห็นด้วย ชอบปี พ.ศ. ๒๕๓๙ มากๆเลย ตอนนั้นมีข่าว ตี 3 สำหรับตอนนี้การมีข่าว ตี 3 ไม่ใช้เรื่องแปลก เพราะบ้านเมื่องทันสมัยขึ้นกว่าแต่ก่อน แต่ก่อนนั้น มี ททบ. 5 เพียงสถานีเดียวที่มีข่าว ตี 3 (ทั้งหนาว ทั้งเหงา กว่าตอนนี้มากเลย) แต่ตอนนี้เกือบจะไม่เหลือใครอีกแล้ววว


โดย: donatee123456 วันที่: 31 ตุลาคม 2554 เวลา:15:20:40 น.  

 
ดีใจที่เห็นชื่อคุณ donatee123456
ผมเคยมีเพื่อนในพันทิป เธอชื่อ โดนัตตี้
ไม่เห็นชื่อมานานแล้วครับ

ประวัติของช่อง ๕ หรือช่อง ๗ ขาวดำ ผมเป็นคนบันทึกไว้ครับ
แล้วมารวบรวมทั้งหมดใน ปี ๒๕๓๖ และ ๒๕๔๐ ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 1 พฤศจิกายน 2554 เวลา:6:06:16 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.