Group Blog
 
All Blogs
 
เปิดใจนักเขียนชรา

บันทึกของผู้เฒ่า

เปิดใจนักเขียนชรา

เมื่อผมต้องลาออกจากโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส ตั้งแต่ พ.ศ.๒๔๘๙ เพราะสอบตกชั้น ม.๖ และไม่มีค่าเทอมจะเรียนซ้ำชั้น ซึ่งขณะนั้นถือว่าชีวิตของผมอยู่ในขั้นต่ำสุด ต้องเลี้ยงชีวิตและครอบครัว ซึ่งมีแม่คนเดียว เพราะท่านผู้มีพระคุณได้เอาน้องหญิงไปอุปการะแล้ว ผมอดทนที่จะทำงานด้วยการทำขนมถ้วยตะไลขาย แทนการเรียนหนังสือ ได้กำไรจากการขายขนมวันหนึ่งเพียงพอแค่ค่าข้าวปลาอาหารในวันหนึ่งเท่านั้น ผมก็อดทนทำไปโดยไม่รู้ว่าวันข้างหน้าจะเป็นอย่างไร

จนกระทั่งญาติอีกคนหนึ่งเป็นทหารขนส่งยศ ร้อยโท ทราบข่าว จึงมาพาไปสมัครเข้าทำงานเป็นลูกจ้างใช้แรงงาน ของกรมพาหนะทหารบก ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น กรมการขนส่งทหารบก และทำงานระดับชุดดินดายหญ้า ขนย้ายอุปกรณ์อะไหล่รถยนตร์ จากที่หลบภัยทางอากาศ ต่างจังหวัดมาเก็บไว้ในคลัง พน.๓ ตรงข้ามวัดแก้วฟ้าจุฬามณี เกียกกาย บางซื่อ ริมแม่น้ำเจ้าพระยา

งานนั้นหนักมากแต่ยังไม่เกินกำลังของเด็กหนุ่มอายุเข้า ๑๕ ปีจะทำได้ แต่เจ้านายเวทนา เพราะตัวเล็กนิดเดียว น้ำหนักเพียง ๕๐ ก.ก. จึงเรียกไปทำงานเป็นภารโรงและเดินรับส่งหนังสือในปีต่อมา จนได้เปลี่ยนสภาพจากลูกจ้าง เป็นข้าราชการวิสามัญ ชั้นจัตวา ติดขีดเดียวขมวดเหลี่ยมที่อินทธนูบนบ่า ท่านร้อยโทผู้นั้นก็กรุณาให้เงินมาตัดเครื่องแบบแต่งไปทำงานหนึ่งชุด จึงได้เปลี่ยนสภาพเป็นเสมียนเต็มตัว

เป็นเสมียนของ กองคลัง อยู่ได้สองสามปี ก็เปลี่ยนเป็นเสมียนร้านสหกรณ์กรมพาหนะทหารบกอีกสองสามปี ก็มีอายุ ๒๑ ปีบริบูรณ์ ครบกำหนดต้องไปรับการตรวจคัดเลือกเพื่อเข้ากองประจำการ หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าเกณฑ์ทหาร

ขณะนั้นแม่ป่วยเป็นวัณโรคอาการหนักมาก จึงขอผ่อนผันในฐานะลูกชายคนเดียวที่ดูแลแม่ เมื่อได้รับอนุมัติก็ได้บวชหนึ่งพรรษา ตั้งแต่ ก.ค.-ต.ค.๒๔๙๕ ลาสิกขาสึกออกมาได้สามเดือน ถึงธันวาคม แม่ก็ตายอย่างว้าเหว่กับผมสองคนแม่ลูก.

ผมหวนนึกไปถึงชีวิตของตนเอง ก่อนที่จะมาถึงวันนี้ ผมเคยนั่งอยู่คนเดียวมืด ๆ และรำพึงว่า ในอนาคตอีก ๓๐ ปีข้างหน้าผมจะเป็นอย่างไร จะมีอาชีพอะไรสำหรับทำมาหากินเลี้ยงชีวิต ในขณะที่คิดอย่างนั้น ผมบวชครบพรรษาสึกออกมารอเข้ารับราชการทหาร และแม่ได้ตายจนทำการฌาปนกิจเสร็จสิ้นไปแล้ว ผมมองไม่เห็นที่หมายในอนาคตจริง ๆ เพราะ ๓๐ ปีนั้นนานเหลือเกิน ขณะนั้นผมมีอายุ ๒๑ ปีใน พ.ศ.๒๔๙๕ ถูกเรียกเกณฑ์ ขอผ่อนผัน ๑ ปี พอถึง เม.ย.๙๖ ก็ไปรายงานตัวที่มณฑลทหารบกที่ ๑ ซึ่งอยู่รวมกับกองพลที่ ๑ ข้างวังสวนกุหลาบ ขณะนั้นงบประมาณขาดแคลน จึงชึ้นทะเบียนทหารไว้ก่อน แล้วปล่อยตัวให้ทหารกลับบ้านไป อีกสามเดือนจึงค่อยมารายงานตัวครั้งหนึ่ง ถ้ายังไม่ได้รับการคัดเลือก ก็กลับบ้าน

ผมไปรายงานตัวเป็นครั้งที่ ๒ เมื่อ ก.ค.๙๖ ครั้งที่ ๓ ต.ค.๙๖ ครั้งที่ ๔ ม.ค.๙๗ ครั้งที่ ๕ เม.ย.๙๗ จึงได้รับเลือกเข้ารับราชการเป็นพลทหารสังกัด กองร้อยกองบัญชาการ กองทัพที่ ๑ ซึ่งตั้งอยู่ตรงข้ามวังสวนกุหลาบ ปัจจุบันคือโรงเรียนราชวินิตนั้นเอง

ผมคิดไม่ออกว่า ๓๐ ปีหลังจากเป็นพลทหารและปลดออกจากประจำการแล้ว ผมจะไปทำมาหากินอย่างไร การเขียนหนังสือ ได้ค่าเรื่องบ้างไม่ได้บ้าง ที่ได้ก็ไม่เกิน ๑๐๐ บาท ซึ่งในระยะเวลา ๑๐ ปี ผมก็ได้รับเพียง ๓-๔ รายเท่านั้นเอง แล้วชีวิตของผมจะเป็นอย่างไร แต่ยังดีที่ผมเหลือตัวคนเดียวไม่มีห่วงใยอะไรอีกแล้ว แม่ก็ไปสู่สุคติแล้ว น้องก็ได้รับการศึกษา โรงเรียนฝึกหัดครูประถม จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งเมื่อต่อให้จบโรงเรียนฝึกหัดครูมัธยม ที่ตั้งอยู่ตรงข้ามวังแดงเทเวศร์ เป็นคุรุสภาในปัจจุบัน เขาก็จะได้เป็นข้าราชการครู มีเงินเดือนชั้นสัญญบัตร คือชั้นตรี มีเกียรติมีศักดิ์ศรี ในฐานะผู้สั่งสอนอบรมบ่มนิสัยเยาวชนของชาติ แล้วพลทหารกองหนุนอย่างผม ใครจะสามารถคาดเดาอนาคตได้ว่าจะเป็นอย่างไร

แต่ผมก็เดินหน้าต่อไปตามกรรมซึ่งกำหนดไว้โดยใครก็ไม่รู้ ด้วยความทรหดอดทน ไม่ย่อท้อ ด้วยความขยันหมั่นเพียรอย่างสม่ำเสมอ แม้จะไม่รู้ไม่เห็นว่าจะตลอดปลอดโปร่งหรือมีอุปสรรคประการใดบ้าง ย่ำเท้าก้าวเดินต่อไปข้างหน้า เช่นเดียวกับพระชนก ที่อุตสาหะว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรไป โดยไม่เห็นฝั่ง ฉันใดก็ฉันนั้น

ในขณะที่เคว้งคว้าง ท่ามกลางโลกอันกว้างขวาง ของกรุงเทพมหานครในฐานะพลทหารเกณฑ์ เงินเดือน ๔ บาท เบี้ยเลี้ยงวันละดูเหมือนสองบาท รู้สึกลาง ๆ ว่าเมื่อหักค่าข้าวสามมื้อแล้วเหลืออีกห้าสลึง ให้ซื้อกับข้าวแม่ค้ามากินสามมื้อ เพราะเป็นหน่วยเล็กนิดเดียว จึงจ่ายแต่ข้าวเปล่า จำได้ว่าครั้งหนึ่งเคยซื้อปลาทูทอดตัวละ ๕๐ สตางค์ ขอน้ำปลาของหมวด สูทกรรมราดให้นอง แล้วแกะกินมื้อกลางวันกับมือเย็น มื้อละซีก เงินที่เหลือก็เก็บสะสมไว้ เวลาได้ลาเสาร์อาทิตย์ จะได้ซื้อบุหรี่ตราพระจันทร์มาสูบ

เคราะห์ยังดีที่ท่านผู้มีพระคุณเวทนาให้เบี้ยเลี้ยงพิเศษวันเสาร์อาทิตย์ สัปดาห์ละ๑๐ บาท ก็พอจะแบ่งปันไปดูหนังได้ที่ต่ำสุด ๔.๕๐ บาท เบี้ยเลี้ยงพิเศษนี้จะได้รับทุกสัปดาห์ตลอดเวลา ๒ ปีกว่าจะปลดเป็นกองหนุน กลับไปเป็นข้าราชการวิสามัญ เงินเดือนประมาณ ๔๕๐ บาท ที่กรมพาหนะทหารบกตามเดิม

ในเวลาที่เป็นพลทหารนี้ ผมก็ยังเขียนหนังสือ ส่งสำนักพิมพ์เก่าที่เคยคุ้นชื่อกันอยู่ตามเดิม แต่เปิดสมุดบันทึกทบทวนดูแล้ว ระหว่าง พ.ศ.๒๔๙๗ เขียนหนังสือได้ลงพิมพ์ เพียงเรื่องเดียวโดย หนังสือพิมพ์เมืองหลวงฉบับวันอาทิตย์ ได้ค่าเรื่องดูเหมือน ๑๒๐ บาท

เมื่อเลื่อนขึ้นเป็นพลทหารปี ๒ ในเดือน ธ.ค.๙๗ ทางการประกาศรับสมัครพลทหารกองประจำการปีที่ ๒ เข้าเป็นนักเรียนนายสิบ จึงขออนุญาตผู้บังคับกองร้อยไปสมัครทันที ท่านก็อนุญาต และลงชื่อในใบรับรองความประพฤติให้ พร้อมกำชับว่าสมัครเหล่าทหารราบนะ ผมก็รับคำแต่เวลาสมัครเขามีแค่สามเหล่า คือแพทย์ สื่อสาร และปืนใหญ่ ผมเลือกสื่อสาร เพราะคิดว่าคงจะเบากว่าปืนใหญ่ และไม่น่าเสียวไส้เท่าแพทย์ แม้ไม่ได้กลับมาบอกผู้บังคับกองร้อย แต่ก็จะระลึกถึงพระคุณของท่านจนวันตาย

ในระหว่างเป็นนักเรียนนายสิบ ได้รับเงินเดือน ๑๒ บาท เบี้ยเลี้ยงเท่าพลทหาร แต่หักร่วมหมด เพราะเลี้ยงอาหารทั้งสามมื้อ ผมก็ได้เบี้ยเลี้ยงพืเศษ อาทิตย์ละ ๑๐ บาทนั้นยาไส้ไปได้ตลอดหลักสูตร ๑ ปี แต่ฝึกแบบพลทหาร ๖ เดือน อีก ๖ เดือนส่งไปฝึกงานที่หน่วยซึ่งจะบรรจุ ผมอยู่ กองกำลังพล กอง บัญชาการ กรมการทหารสื่อสาร ทำหน้าที่เหมือนภารโรงที่ กรมพาหนะทหารบกไม่มีผิด คือมาเปิดสำนักงานแต่เช้า ช่วยภารโรงทำความสะอาด แล้วไปเข้าแถวกินข้าวที่โรงเลี้ยง ๐๙.๐๐ น. ไปประจำที่กอง ทำหน้าที่เสมียน กลางวันกลับไปกินข้าวที่โรงเลี้ยง แต่เย็นเลิกงานแล้วไม่ได้กลับบ้าน ต้องกลับกองร้อย เข้าแถวไปกินข้าวโรงเลี้ยง อบรมและนอนบนกองร้อยเหมือนนักเรียนนายสิบตามเดิม

ระหว่างนี้ผมก็หาเวลาเขียนหนังสือส่ง หนังสือพิมพ์เท่าที่จะมีเวลาว่างบ้าง
ส่งเรื่องขำขันไปให้สถานีวิทยุ ท.ท.ท.บ้างตามที่บันทึกไว้เห็นว่าได้รับการตอบรับถึง ๕ เรื่อง

เมื่อครบกำหนด ๑ ปี ธ.ค.๙๘ ก็ได้รับการบรรจุเป็นนายสิบ ผมสอบได้ ๘๐ % ได้รับยศสิบโท และมีสิทธิ์ไปเรียนหลักสูตรนายร้อยสำรองด้วย แต่เผอิญไม่สำเร็จชั้น ม.๖ จึงมีคุณสมบัติไม่ครบต้องเป็น เสมียน กองกำลังพล ตามที่ได้รับการบรรจุแต่แรก

จึงเป็นการเริ่มต้นรับราชการใหม่อีกครั้ง จากครั้งก่อนที่เป็น ลูกจ้าง และข้าราชการวิสามัญ คราวนี้เป็นข้าราชการประจำ ซึ่งดีกว่าข้าราชการสามัญชั้นต่ำกว่าสัญญาบัตร ที่เพื่อน ๆ ซึ่งอยากเป็นนักเขียนในกรมพาหนะทหารบกเป็นเสียอีก เพราะได้รับจ่ายเครื่องแบบปีละ ๒ ชุด ตั้งแต่หมวกถึงรองเท้าอีกด้วย

และพอจะเห็นอนาคตราง ๆ ว่าถ้ารับราชการต่อไปอีก ๔๐ ปีโดยไม่มีด่างพร้อย ก็น่าจะเกษียณอายุราชการในยศ จ่าสิบเอก รับเงินเดือนร่วม ๆ ร้อยโท.

แต่ จ่าสิบเอก รุ่นพ่อรุ่นลุง ที่เกษียณอายุในยศ ร้อยเอก พันตรี และพันโท ก็พอมีให้เห็น

เป้าหมายแรกที่จะต้องคว้าไว้ให้ได้ก็คือรับราชการให้ครับ ๑๕ ปี มียศ จ่าสิบเอกมาแล้ว ๕ ปี ก็จะมีสิทธิ์เข้าสอบ เพื่อเลื่อนฐานะเป็นนายทหารสัญญาบัตร แต่ถ้าภายหน้าเขาออกกฎระเบียบว่าผู้เป็นนายทหารสัญญาบัตรจะต้องจบ ม.๖ เราก็อดอีกตามเคย ดังนั้นเมื่อถึง พ.ศ.๒๕๐๐ กึ่งพุทธกาล เป็นสิบเอก จึงได้สมัครเข้าเรียน โรงเรียนผู้ใหญ่ที่ ร.ร.แม้นศรีพิทยาลงกรณ์ สี่แยกสะพานดำ เรียนได้ ๘ เดือน ก็สอบรวมทั่วประเทศ ผ่าน ๕๐ % จบประโยคมัธยมต้นในลำดับที่ไม่ถึง ๑๐๐

พ.ศ.๒๕๐๑ ได้เงินเดือนชั้น ๖ (๖๕ บาท) ได้เลื่อนยศเป็น สิบเอก มีผลงานการเขียน เรื่องลงพิมพ์ในหนังสือพิมพ์หนังสือได้ ๑๕ ราย แม้ไม่มีค่าตอบแทนก็ไม่เป็นไร ส่วนใหญ่นิตยสารทหารสื่อสาร ไม่มีงบประมาณค่าเรื่อง เพราะเป็นข้าราชการในกรมด้วยกันทั้งนั้น

เป็นเรื่องบังเอิญที่ในกรมการทหารสื่อสาร มีการออกหนังสือพิมพ์ถึงสองฉบับคือ นิตยสารทหารสื่อสาร เป็นหนังสือพิมพ์ประจำเหล่าทหารสื่อสาร มีสมาชิกในหน่วยทหารสื่อสาร ทุกกองพล และ กองทัพอีกฉบับหนึ่งคือ วปถ.ปริทรรศน์ เป็นหนังสือของสถานีวิทยุกระจายเสียงประจำถิ่น มีสมาชิก เกือบทุกจังหวัดที่ตั้งสถานีทั่วประเทศ ผมจึงมีสนามที่จะลงเรื่องสั้นและบทความบทกลอนมากขึ้น และง่ายขึ้น เพราะเป็นพวกเดียวกันเอง แรก ๆ ก็ส่งให้ วปถ.ปริทรรศน์ ต่อมาถึง พ.ศ.๒๕๐๓ จึงส่งไปลง ที่นิตยสารทหารสื่อสาร และก็จะได้ลงพิมพ์ทุกเรื่อง การส่งให้หนังสือพิมพ์ภายนอกจึงลดลง ในระยะที่ครบรอบ ๑๐ ปีแห่งการเขียนหนังสือ จึงมีผลงานทั้งหมด ๖๙ ชิ้น และเริ่มทศวรรษที่ ๒ ตั้งแต่ ๒๕๐๒ – ๒๕๑๑ ซึ่งได้เข้าไปช่วยงานในกองบรรณาธิการ และมีเรื่องของตนเองลงพิมพ์ โดยไม่ต้องมีผู้อื่นมาพิจารณาอีก เพราะทำหน้าที่แทนผู้ช่วยบรรณาธิการทุกเรื่อง ในรอบ ๑๐ ปีที่ ๒ มีผลงาน ๑๒ ชิ้น

ในราชการทหารสื่อสาร ยังอยู่ในยศ สิบเอก เช่นเดิม แต่ได้ไปช่วยราชการ สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า ช่อง ๗ ขาวดำ ตั้งแต่ ก.ค.๒๕๐๒ ในตำแหน่ง พนักงานกล้องโทรทัศน์ ตั้งแต่บ่ายจนปิดสถานี

พ.ศ.๒๕๐๔ ได้รับเงินเดือนขึ้นประจำปีสองหน คือเดิมได้เดือน ม.ค.๐๔ แต่ทางราชการเปลี่ยนแปลงการขึ้นปีงบประมาณ เป็น ต.ค. จึงได้เลื่อนเงินเดือนอีกครั้งหนึ่ง เป็นชั้น ๑๑(๗๕๐ บาท เลื่อนยศเป็น จ่าสิบโท

พ.ศ.๒๕๐๕ ได้เงินเดือนชั้น ๑๒ (๘๐๐ บาท) ยศ จ่าสิบเอก ซึ่งจะต้องรับชั้นนี้ต่อไปจนครบ ๕ ปี พ.ศ.๒๕๑๐ จึงจะมีสิทธิ์ สอบคัดเลือกเพื่อนเลื่อนเป็นนายทหาร

ผลงานการเขียนเรื่องที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ลงในนิตยสารทหารสื่อสาร เป็นเรื่องหลายประเภท และหลายนามปากกา เช่น เรื่องสั้น ใช้ “เพทาย” หรือ “เพทาย ทิพยสุนทร” เรื่องขำขัน “พัชรรัตต์” สารคดี “วรพจน์” เบ็ดเตล็ด “จ.จาน” เขียนเพื่อเป็นการฝึกฝนและพัฒนาฝีมือของตนเอง

จนถึง พ.ศ.๒๕๑๐ ได้เข้าศึกษาหลักสูตร นายสิบอาวุโส สอบได้ที่ ๑๑ และ พ.ศ.๒๕๑๑ ได้สอบคัดเลือกเพื่อเลื่อนเป็นนายทหารได้ที่ ๑ จากจำนวนผู้เข้าสอบทั้งหมด ๒๐๐ ราย และผู้ที่มีสิทธิ์จะได้เลื่อนยศเป็นนายทหารสัญญาบัตรนั้น ทางกองทัพบกบกกำหนดให้ทหารสื่อสี่เลื่อนได้ในปีนั้น เพียง ๕ คน ที่ ๑ ถึงที่ ๕ เท่านั้น

ผู้ที่ได้เลื่อนเป็นนายทหารนั้น จะรับเงินเดือนชั้นเดิม ซึ่งอยู่ในระดับร้อยตรีทั้งนั้น เว้นแต่ผมเองได้ปรับเงินเดือน เมื่อก่อนสอบอยู่ในระดับร้อยโท กองทัพบกจึงให้ติดยศร้อยตรีเพียง ๖ เดือน แล้วก็เลื่อนเป็น ร้อยโท ได้เลย

อนาคตที่ว่าเห็นอย่างเลือนรางนั้น จึงได้ค่อยแจ่มชัดขึ้น ว่าอย่างน้อยก็เกษียณอายุ ไม่ต่ำกว่า ร้อยเอก อย่างแน่นอน

ถึง พ.ศ.๒๕๑๒ ได้เงินเดือน ร.ท..อันดับ ๑ ชั้น ๖ (๑๑๕๐ บาท) และต่อไปก็ได้เลื่อนเงินเดือนปีละขั้น จนถึง พ.ศ.๒๕๑๖ ได้รับเงินเดือน ร.อ.อันดับ ๑ ชั้น ๑๐ (๑๕๘๐ บาท) ติดยศร้อยเอกเมื่อ อายุ ๔๒ ปี ยังมีเวลาราชการเหลืออยู่ ๑๘ ปี

ในด้านงานเขียนหนังสือ จาก พ.ศ.๒๕๑๑จนถึง พ.ศ.๒๕๒๑ มีผลงาน ๕๓ ชิ้น

แต่ร่างกายทรุดโทรม เพราะงานกล้องเป็นงานหนักมาก โรคเก่าคือไส้เลื่อนซึ่งเป็นมาแต่กำเนิด และได้รับการผ่าตัดข้างขวาครั้งแรก เมื่อ พ.ศ.๒๔๙๘ ก่อนที่จะเป็นนักเรียนนายสิบ ได้กำเริบจนทำงานไม่ไหว จึงขอลากลับมารับราชการทางกรมการทหารสื่อสาร เมื่อ พ.ศ.๒๕๑๕ เป็นประจำกองกำลังพลตามเดิม และได้รับการผ่าตัดข้างซ้ายเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๘ จนเป็นปกติ

พ.ศ.๒๕๑๙ ขณะที่เป็น ร้อยเอก รับเงินเดือนเต็มขั้น ก็ได้รับคำสั่งให้ไปช่วยราชการ สถานีโทรทัศน์กองทัพบก สนามเป้า ช่อง ๕ ในปัจจุบัน ในตำแหน่ง รองหัวหน้าฝ่ายกำลังพล ททบ. ซึ่งเป็นตำแหน่งผู้บริหารที่มีอาวุโสน้อยที่สุด แต่ในปี พ.ศ.๒๕๒๑ ก็ได้รับเงินเดือน พ.ต.อันดับ ๑ ชั้น ๑๕ (๒๖๘๐ บาท) และติดยศ พันตรี เมื่อ ๑ ต.ค.๒๑

ส่วนในด้านงานเขียนก็ครบรอบ ๓๐ ปี มีผลงานสู่สาธารณชนอีก ๕๔ ชิ้น ขณะนี้ผลงานที่ได้รับการลงพิมพ์แล้วรวม ๑๓๕ ชิ้น

เมื่อได้รับตำแหน่งผู้บริหารงานก็เบาลง แต่ได้เบี้ยเลี้ยงมากขึ้น เทียบเท่าอัตราที่ได้รับทางกรมการทหารสื่อสาร แสงสว่างที่ว่าเรืองรองนั้นก็สว่างจ้าขึ้น ความขาดแคลนที่มีมาตลอดเวลา ๔๐-๕๐ ปี ก็หายไป มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย กับครอบครัว ซึ่งได้แต่งงานตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๗ เมื่อมียศ จ่าสิบเอก และภรรยาเป็น สิบเอกหญิง เสมียนในกองกำลังพลนั่นเอง มีลูกชาย ๓ คน แต่คนแรกเสียชีวิตตั้งแต่อายุได้ ๖ วัน คงเหลือ ๒ คน คนโตอายุ ๑๓ ปี คนหลังอายุ ๙ ปี และมีความหวังว่าคงจะไม่กลับไปมีชีวิตยากจนข้นแค้นเหมือนเมื่อ ๕๐ ปีก่อนอีกแล้ว

ก่อนจะครบรอบ ๑๐ ปีที่ ๔ ของการเขียนหนังสือ ถึง พ.ศ.๒๕๒๘ ได้รับเงินเดือน พ.ท.ระดับ น.๓ ชั้น ๗ (๙๓๘๕- ๗๑๐) และเลื่อนยศเป็น พันโท และเมื่อครบรอบ ๔๐ ปีของการเขียนหนังสือ พ.ศ. ๒๕๓๑ ก็มีผลงานอีก ๓๙ ชิ้น รวม ๑๗๓ ชิ้น

และเมื่อถึง พ.ศ.๒๕๓๓ สิ่งที่มหัศจรรย์ก็เกิดขึ้น โดยได้รับการส่งชื่อเข้าคัดเลือกเพื่อเลื่อนเป็น พันเอก และได้รับอนุมัติจาก กองทัพบก เป็นรุ่นแรกของนายทหารที่ไม่ได้มีปริญญา จึงได้รับเงินเดือน พ.อ.ระดับ น.๔ ชั้น ๑๓ (๑๘๑๐๐ – ๗๑๐) และเลื่อนยศเป็น พันเอก โดยได้แต่งเครื่องแบบสวมหมวกมีช่อชัยพฤกษ์ อยู่เพียง ๒ ปี พอถึง พ.ศ.๒๕๓๕ ก็ครบเกษียณอายุราชการ รับบำนาญสังกัด มณฑลหารบกที่ ๑
ตั้งแต่ ๑ ตุลาคม ๒๕๓๕ โดยมีอายุจริง ๖๑ ปีกับ ๖ เดือน และได้รับเงินเดือนแถมอีก ๑ ชั้น สำหรับคำนวนบำนาญด้วย

ในด้านงานเขียนขณะที่ออกจากราชการ มีเรื่องได้รับการพิมพ์ ถึงเดือน ตุลาคม ๒๕๓๕ ซึ่งครบรอบ ๔๔ ปี รวม ๒๔๐ ชิ้น

.ถ้าจะนับว่าการเกษียณอายุราชการในยศ พันเอก เป็นจุดสูงสุดของการรับราชการ ผมก็ได้มาถึงจุดสุดยอดของพลทหารกองประจำการที่สามารถจะขึ้นมาถึงได้แล้ว ส่วนงานเขียน คงยังมีต่อไปอีกจนกว่าจะหมดแรงหรือตายไหก่อน.

เมื่อหมดห่วงเรื่องราชการแล้ว ก็ตั้งหน้าตั้งตาเขียนหนังสือต่อไป เพราะได้วางแผนไว้ก่อนที่จะเกษียณ ว่าจะเอานิยายอิงพงศาวดารจีนเรื่องสามก๊ก ของท่าน เจ้าพระยาพระคลัง (หน) มาเรียบเรียงให้เป็นสามก๊ก ฉบับลิ่วล้อ ใช้นามปากกา “เล่าเซี่ยงชุน” ยัดเยียดเข้าไปแทรกในตลาดหนังสือให้ได้ และได้ลงมือตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ จนถึง พ.ศ.๒๕๔๑ ครบรอบการเขียนหนังสือ ๕๐ ปี อายุ ๖๗ ปี ได้รับการจัดพิมพ์สามก๊กฉบับลิ่วล้อ โดยสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น ได้ค่าตอบแทนมากที่สุดจนแทบไม่น่าเชื่อ เช่นเดียวกับการได้ยศพันเอกในทางทหาร

สามก๊ก ฉบับลิ่วล้อ เรียบเรียงใหม่จาก ฉบับ เจ้าพระยาพระคลัง (หน) โดย “เล่าเซี่ยงชุน” จำนวน ๓ เล่ม เล่มที่ ๑ จำนวน ๒๖ ชุด รวม ๔๐ ตอน เล่มที่ ๒ จำนวน ๒๓ ชุด รวม ๓๔ ตอน เล่มที่ ๓ จำนวน ๑๘ ชุด รวม ๓๖ ตอน รวมทั้งสิ้น ๖๗ ชุด ๑๑๐ ตอน

ชีวิตของผมทั้งทางราชการ และส่วนตัวได้มาถึงจุดสูงสุดแล้ว ทั้งสองด้าน เหมือนตัวทากจากพื้นดิน ที่ค่อย ๆ ไต่ขึ้นกำแพงอย่างช้า ๆ ไม่เคยหยุดพัก และไม่เคยถอยหลัง มีแต่คืบหน้าไปเรื่อย ๆ โดยไม่ย่อท้อ แม้จะไม่รู้เลยว่าข้างหน้าจะเป็นอย่างไร เมื่อถึงอายุ ๖๗ ปี ก็บรรลุถึงที่หมายปลายทาง เหมือนนิทานชาดกเรื่องพระชนก

ตามธรรมดาเมื่อถึงจุดสุดยอดแล้วก็จะต้องค่อย ๆ ลดต่ำลง แต่ในการเขียนหนังสือของผมแล้ว ยังคงเดินหน้าต่อไป เขียนโดยมิได้มุ่งหวังสิ่งอื่นใด นอกจากการได้ทำในสิ่งที่รักและหลงใหลมาแต่วัยเด็ก และจะทำไปจนกว่าจะสิ้นแรง หมดกำลัง และขาดลมหายใจ.

บันทึกนี้เขียนขึ้นเมื่อ พ.ศ.๒๕๕๖ พอถึง พ.ศ.๒๕๕๗ ก็ได้รับรางวัล นราธิป จาก สมาคมนักเขียนแห่งประเทศไทย ซึ่งนับเป็นเกียนติอันสูงสุด ในชีวิตของนักเขียนคนยาก ที่อุตสาหะบากบั่น ในการเขียนหนังสือมาตลอดเวลา กว่า ๖๐ ปี ดังได้เล่าไว้ในบันทึก เรื่อง หกสิบปีในถนนนักเขียน แล้ว.

##############

ถนนนักเขียน เวปพันทิป
กรกฎาคม ๒๕๕๖
อายุ ๘๒ ปี ๔ เดือน

เพิ่มเติมเมื่อ มีนาคม ๒๕๕๙
อายุ ๘๕ ปี บริบูรณ์



Create Date : 26 ธันวาคม 2558
Last Update : 26 ธันวาคม 2558 16:46:45 น. 0 comments
Counter : 466 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.