Group Blog
 
All Blogs
 
ชีวิตระหว่างสงคราม (๓)

ย้อนอดีต

ชีวิตระหว่างสงคราม

พ.สมานคุรุกรรม

ตอนที่ ๓

ขอย้อนกลับมาเล่าเรื่องของตนเองบ้าง เมื่อต้น พ.ศ.๒๔๘๔ ผมสอบไล่ชั้นมัธยมปีที่ ๑ ได้จากโรงเรียนดำเนินศึกษา ที่ตั้งอยู่ในถนนวิสุทธิกษัตริย์ ใกล้สี่แยกโรงเรียนนายร้อย แล้วลาออกมาเข้าโรงเรียนมัธยมวัดราชาธิวาส เพราะย้ายบ้านมาอยู่สวนอ้อย เรียนชั้น ม.๒ อยู่จนเกิดสงครามญี่ปุ่นชวนประเทศไทยเป็นมหามิตร พอกระทรวงศึกษาธิการ ประกาศให้งดการสอบไล่ ชั้น ม.๒ ก็เลื่อนยกชั้นไปเรียนชั้น ม.๓ ใน พ.ศ.๒๔๘๕ เราเรียกการเลื่อนชั้นครั้นนั้นว่า โตโจสงเคราะห์ ตามชื่อนายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่น แต่โรงเรียนก็ยังไม่ปิด คงเปิดเรียนต่อไป จนถึงเดือน กันยายน ปลายฤดูฝน

ผมซึ่งไปเรียนและกลับจากโรงเรียนด้วยการเดิน จากสวนอ้อยไปวัดราชาธิวาส เพียงสองป้ายรถราง แต่ไม่ยอมขึ้นเพราะเสียดายเงิน นอกจากจะเกาะไป พอถึงรางหลีกที่บ้านญวน แถวโรงเรียนเซ็นต์คาเบรียล ก็โดดลงหนีคนเก็บค่าโดยสาร ที่เดินจากหัวรถมาเก็บสตางค์ท้ายรถ ทุ่นค่ารถได้สองสตางค์ รถรางสายนี้เป็นรถพ่วงสองคันต่อกัน มีกระเป๋าคนเดียว แกเดินเก็บสตางค์ทั้งสองคัน เวลาจะมาเก็บสตางค์คันหลัง แกก็ต้องโหนระหว่างหัวรถคันหน้ามาคันที่พ่วงเหมือนกัน

เมื่อเกิดสงครามตอนแรก ๆ ยังไม่มีภัยทางอากาศ ก็เรียนไปตามปกติ พอเริ่มมีภัยทางอากาศ ส่วนใหญ่ก็จะเป็นเวลากลางคืนอยู่บ้าน ตอนกลางวันถึงจะมีหวอ แต่ก็ไม่มีเครื่องบินเข้ามาใน พระนคร โรงเรียนของเราไม่ได้ขุดหลุมหลบภัย แต่อาศัยว่ามีคูเล็ก ๆ กั้นทั้งด้านตะวันตก ติดกับอาณาเขตวัดราชาธิวาส และด้านใต้เป็นคลองกั้นระหว่างโรงเรียนกับท่าวาสุกรี สมัยนั้นน้ำลึกขนาดสอบว่ายน้ำลูกเสือสำรอง ไม่ต้องไปไกล เมื่อมีหวอนักเรียนก็ลงจากตึกเรียนไปนั่งอยู่ริมคูและคลองดังกล่าว คงกะว่าถ้ามีเหตุระเบิดใกล้โรงเรียน ก็ให้กระโดดลงน้ำข้ามหนีไปได้ แต่ก็ไม่มีภัยอะไรมาใกล้กราย พอหวอปลอดภัยก็ต้องขึ้นตึกไปเรียนต่อทุกที

วันหนึ่งตอนปลายเดือนกันยายน ผมเดินกลับจากโรงเรียนตอนบ่ายสามโมง ตามทางเท้าซึ่งสมัยนั้นปูอิฐสีแดง ต่ำกว่าระดับถนน เห็นมีน้ำเอ่อขึ้นมาจากท่อระบายน้ำ พอจะท่วมหลังเท้า ต้องคอยหลบหลีกไส้เดือน ที่ลอยขึ้นมาจากรอยห่างระหว่างแผ่นอิฐ ยั้วเยี้ยไปหมด จนกว่าจะถึงบ้านน้ำท่วมตลอดทาง และสูงขึ้นจนถึงขอบถนน ด้านที่มีรางรถราง และวันต่อมาน้ำก็ค่อย ๆ ท่วมถนนรวมทั้งรางรถราง และมีน้ำขึ้นน้ำลงตามแม่น้ำด้วย แต่ระดับน้ำวันต่อ ๆ มา จะสูงกว่าวันแรก ๆ

ในทีสุดก็ท่วมถนน และน้ำสูงขึ้นจนรถยนต์ต้องลุยครึ่งคัน และรถรางก็วิ่งไม่ได้ ไม่ทราบว่ากลัวไฟฟ้าจะรั่วหรือไม่ สุดท้ายก็ไม่มีรถยนต์แล่นบนถนนที่เจิ่งนองไปด้วยน้ำที่ขึ้นมาจากแม่น้ำเจ้าพระยา และขึ้นมากกว่าลง ทำให้สามารถใช้เรือพายบนถนนได้ และเรือก็ใหญ่ขึ้นจนเป็นเรือแจว ที่เคยรับส่งข้ามฟากแม่น้ำ เข้ามาแทนที่รถโดยสารประจำทาง รับส่งคนระหว่างพื้นที่ซึ่งสูงพ้นน้ำท่วม

คือสะพานต่าง ๆ ตั้งแต่บางกระบือ สะพานอนุวัฒวโรดม ถึงสะพายกิมเซ่งหลีหรือสะพานโสภณ ศรีย่าน สะพานเทเวศร์นฤมิตร ที่เทเวศร์ และสะพานนรรัตน์สถาน บางลำพู เพราะบนสะพานนั้นได้เปิดขายของแทนตลาดซึ่งจมอยู่ในน้ำทั้งสี่ตำบล

นอกจากเรือแจวรับส่ง แทนรถโดยสารประจำทาง และรถรางแล้ว ก็มีเรือสำปั้นพายรับจ้างไปส่งที่ต่าง ๆ แทนรถสามล้อด้วยราคาที่ตกลงกันได้ ถ้าเรือไปถึงสะพาน ก็อ้อมหลีกไปได้ทุกหนทุกแห่ง ไม่ว่าใกล้หรือไกล

ความลำบากจากการวิ่งหลบภัยเวลามีหวอ ก็เปลี่ยนเป็นการผจญกับน้ำท่วมใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม บ้านของเราเป็นบ้านชั้นเดียวใต้ถุนสูง น้ำท่วมจนสูงสุดแล้ว ก็ยังไม่ถึงพื้นเรือน จึงไม่เสียหายอะไร เพราะขนย้ายสัมภาระไม่มากชิ้นขึ้นไปไว้บนบ้านแล้ว ก็อยู่ได้สบาย เพียงแต่ต้องระวังสัตว์เลื้อยคลานที่หนีน้ำ จะมาอาศัยอยู่ด้วยเท่านั้น

ขณะที่น้ำท่วมสูงสุดนั้น น้ำสูงถึงใบหูของเด็กชายอายุ ๑๑ ขวบ เวลาเดินในน้ำต้องเขย่งเท้า น้ำจึงจะไม่เข้าหู ทุกบ้านจึงมีเรือบตอย่างน้อย ๑ ลำ ของบ้านเราเป็นเรือที่ทำด้วยสังกะสี ถ้าคว่ำแล้วก็จมลงถึงพื้นเลย แต่น้ำระดับนั้น บนถนนท่วมเพียงแค่อก ผมซึ่งยังว่ายน้ำไม่เป็นจึงไม่ต้องกลัวจมน้ำ เราใช้เรือได้สารพัดประโยชน์ ผมไม่เคยพายเรือก็หัดจนพายเป็น ถึงกับพายไปดูน้ำท่วมที่พระบรมรูปทรงม้าก็ได้ เพราะพายไปบนถนน เว้นแต่ตอนที่เจอสะพานข้ามคลอง ก็ต้องหลีกไปข้าง ๆ และระวังตัวให้มากอย่ามาล่มตรงนี้เชียว

ประโยชน์แรกก็คือส่งผู้ที่จะออกจากบ้านไปธุระ ให้ไปต่อเรือจ้างที่ถนนใหญ่ ส่งน้าไปเฝ้าพี่สาวที่ป่วยอยู่วชิรพยาบาล แต่ถ้าจะกลับมาบ้านหลายวันครั้ง ก็ต้องนั่งเรือรับจ้างเข้าซอยมาเอง ประโยชน์อีกอย่างก็คือ การเอากระป๋องใส่เรือไปบรรทุกน้ำประปา จากก๊อกประปาสาธารณะ ที่หน้าสวนพุดตาน หรือพระที่นั่งวิมานเมฆในสมัยนี้

ก๊อกนี้เตี้ยกว่าตัวผม จึงจมอยู่ใต้น้ำ ในเวลาปกติ เขาจะมีสลักโผล่ด้ามอยู่ด้านบน มีน้ำหนักมากเหมือนกับกดทับท่อน้ำ ไม่ให้น้ำไหลออกมา พอยกขึ้นแล้วเอาไม้เสียบขัดไม่ให้เลื่อนลง น้ำก็จะพุ่งออกทางปากก๊อกซึ่งอยู่ต่ำลงไปนิดหน่อย ชาวบ้านที่อดอยากหิวโหย เวลาเดินผ่านก๊อกสาธารณะแบบนี้ ก็จะได้อาศัยกินน้ำประทังความหิว จนเรียกติดปากกันว่า โซดาดึง

เมื่อน้ำท่วมจนมิดก๊อก ก็ต้องเอื้อมมือลงไปดึงและเอาไม้เสียบขัดไว้โดยใช้สัมผัสด้วยมือ เพราะมองไม่เห็น และจับปลายปากก๊อกหมุนให้หงายขึ้นมาข้างบน น้ำก๊อกมีกำลังแรงมาก ก็พุ่งทะลุน้ำท่าที่ท่วมโด่งขึ้นมา ให้เข็นเรือเอาปี๊บหรือกระป๋องไปรองได้ ทำอย่างนั้นจนเต็มภาชนะทุกใบแล้ว ก็ถอดไม้สลักออกเดินเข็นเรือกลับบ้านซึ่งไม่ไกลนัก เพราะถ้าขืนขึ้นนั่งพายเรือที่มีน้ำหนักมาก และพายยังไม่แข็ง เกิดล่มน้ำประปาคว่ำลงไปปนกับน้ำท่า ก็จะต้องเสียเวลากลับไปรองใหม่เท่านั้น เข็นเรือไปจนถึงบันไดหลังบ้าน แล้วจึงขึ้นบันไดไปยกน้ำเทใส่ตุ่มไว้ใช้ต่อไป

ประโยชน์สุดท้ายก็คือทำให้พายเรือแข็งขึ้น และว่ายน้ำเป็น เพราะเมื่อไม่กลัวจมน้ำ ก็เกิดความกล้าที่จะว่ายดันเรือไปแทนที่จะเดินเข็น ไม่ช้าก็ปล่อยมือจากเรือว่ายด้วยตนเองได้

ตลอดเวลาที่น้ำท่วมกรุงเทพอยู่ประมาณสองเดือน มีเรื่องที่จำได้เพียง ๒ เรื่อง เรื่องแรกคือชาวบ้านเขาหาปลาที่มันมาตามน้ำ พอกินเป็นอาหารได้ไม่ต้องซื้อ ผมก็หาไม้มาทำคันเบ็ด เสียบเหยื่ออะไรจำไม่ได้ ปักคันเบ็ดไว้ที่บันไดหลังบ้าน แล้วก็ลืมไปทั้งวัน พอมายกดูก็มีปลาช่อนน้อยตัวหนึ่งติดเบ็ดขึ้นมา เมื่อปลดเบ็ดออกจากปากปลาแล้วก็สงสาร ไม่รู้จะเอามาทำอะไรกิน จึงปล่อยลงน้ำไปไม่ทราบว่าเป็นหรือตาย ถ้าตายก็คงบาปแน่ จึงเลิกตกปลาตั้งแต่นั้น

อีกเรื่องหนึ่งก็คือหน้าบ้านข้างในที่ติดกับรั้วบ้าน มีต้นกล้วยน้ำว้าอยู่กอหนึ่ง ต้นหนึ่งในกอนั้นออกปลีแล้วก็ติดเป็นลูกใหญ่ เรียงกันหลายหวีงามมาก คิดว่าคงจะกินได้หลายวัน แต่พอโตเต็มที่ยังไม่ออกแววว่าจะสุก ตื่นขึ้นมามันก็หายไปแล้ว ไม่รู้ใครมาดอดตัดเอาไปตอนกลางคืน ไม่ได้ยินเสียงเลย ทั้ง ๆ ที่ต้นกล้วยหนีน้ำสูงขึ้นไปจนเอื้อมไม่ถึง พอเดินเข้าไปพิสูจน์ใต้ต้นก็พบว่า ผู้ที่เข้ามาตัดโดยไม่ได้ขออนุญาตนั้น ไปเอาตุ่มใบที่ลอบอยู่มาจมลงที่ใต้ต้นกล้วย จึงปีนขึ้นไปตัดได้โดยง่าย และเงียบกริบ เราก็เลยอดกินตามเคย

โชคดีที่ระหว่างน้ำท่วมตั้งแต่เดือน กันยายน ถึงเดือน ธันวาคม ไม่มีข้าศึกมาทิ้งระเบิดทางอากาศเลย ไม่ยังนั้นก็คงไม่รู้ว่าจะหลบไปไหนพ้น

เรื่องน้ำท่วมกรุงเทพนี้ แม่ได้บันทึกสรุปไว้ยาวพอควร ดังนี้

อุทกภัยครั้งใหญ่ในประเทศไทย น้ำท่วมมากและนานกว่า พ.ศ.๒๔๖๐

น้ำเริ่มท่วม แต่ปลายเดือนกันยายน

ท่วมมากที่สุดเมื่อ ๑๒ ตุลาคม

น้ำเริ่มลดเมื่อ ๑๘ ตุลาคม

กว่าจะแห้งเป็นปกติ ก็สิ้นเดือนพฤศจิกายน

ยานพาหนะ ใช้เรือทั่วทุกถนน อาหารและเครื่องใช้แพงขึ้นอีก ไข่เป็ดฟองละ ๑๐ สตางค์ มะเขือเปราะผลละ ๑ ส.ต. พลูกำละ ๕๐ ส.ต.ถึง ๑ บาท

โรงเรียนต่าง ๆ กระทรวงสั่งให้ปิด ๒ ตุลาคม ถึง ๑๖ พฤศจิกายน จึงเปิดเรียน แต่ยังไม่วายบุกน้ำตอนออกจากบ้านครั้งหนึ่ง ตอนเข้าเขตโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง ร.ร.ปัญญานิธิ (โรงเรียนราษฎร์ที่แม่เป็นครูชั้นประถมอยู่ ถนนพะเนียง นางเลิ้ง) ห้องเรียนชั้นเตรียมไม่รู้จักแห้ง ต้องมาเรียนรวมกันอัดแออยู่ในห้อง ป.๑ ป.๒

ระหว่างโรงเรียนปิด ครูทุกโรงเรียนได้เงินเดือนเต็ม กระทรวงสั่งไปทุก ร.ร.ให้จ่ายเต็ม ถ้าลดให้ร้องเรียนได้ แต่พวกครูไม่ได้เห็นคำสั่ง นอกจากคนที่อื่นเขาบอก เมื่อร.ร.ปิดคราวพระนครถูกบอมม์นั้น พวกครู ร.ร.ราษฎร์จนแย่ไปตามกัน เพราะเขาให้เดือนละครึ่งหนึ่งของเงินเดือน

อีกแห่งหนึ่งบันทึกไว้ว่า

วันอาทิตย์ที่ลานพระบรมรูปสนุกมาก เขาว่ามีเรือสวยไปกันเยอะแยะ พายแข่งกันด้วย แม่ค้าก็ไปกันมาก ฉันไม่เคยนึกสนุกกับเขาเลย มองเห็นน้ำแล้วใจเหี่ยวแห้ง เศร้าและกลุ้มอึดอัด ไม่อยากพูดจากับใคร นึกถึงคราวก่อนแล้วผิดกันราวกับคนละคน เห็นน้ำท่วมสนุกใจเต้น พอ ร.ร.เลิกก็เที่ยวบุกน้ำไปตามตลาดริมคลองจังหวัดตราด จนลืมกลัวจระเข้ ซึ่งชุกชุมที่สุดในคลองเมืองตราด (แม่เกิดประมาณ พ.ศ.๒๔๓๗ เมื่อน้ำท่วมใหญ่ พ.ศ.๒๔๖๐ อายุประมาณ ๒๓ ปี เป็นครูที่โรงเรียนตราดตระการคุณ)

ตุ่มซีเมนต์ใบใหญ่ในบ้านเรา จมอยู่ในน้ำทั้งหมด เว้นแต่ใบหนึ่งมีฝาปิดและมีขันวางอยู่ด้วย ลอยไปลอยมาอยู่ใต้ถุนบ้านไม่ยักจม เมื่อวานนี้ (๑๒ ต.ค.๘๕) มีนักเลงดีย่องเข้ามาเวลาไหนไม่ทราบ ดึงเอาตุ่มใบนี้ไปข้างกอกล้วย ซึ่งมีเครือใหญ่มาก และพึ่งจะแก่ ปีนตุ่มตัดกล้วยไปทั้งเครือ แล้วตุ่มก็จมอยู่ที่นั้นเอง

อาหารการกินต้องคอยซื้ออยู่หน้าบ้าน ทานแต่ปลาทูต้ม ปลาทูทอด น้ำพริก พริกกะเกลือ แทบทุกวัน แต่ก็อร่อยทุกวัน ไม่รู้จักเบื่อ

อีกตอนหนึ่งแม่บรรยายถึงสภาพของท้องถนนจากบ้านไปโรงเรียนที่นางเลิ้ง

ว่าจ้างเรือเขาไปส่ง พอออกจากบ้านก็ลืมทุกข์ ลืมจน ใจผ่องใสรื่นเริงขึ้น เพราะได้เห็นผู้คนพายเรือกันเต็มไปหมด แทบทุกถนนที่ผ่านไป เรือแม่ค้าก็เยอะแยะ บนสถานที่ซึ่งเป็นที่แห้ง มักจะเป็นตลาด ขายของแทบทุกสะพาน แม้แดดจะจัดก็นั่งทนร้อนกันได้ คนซื้อก็แน่น ไม่มีรถชนิดใดเลยสักคัน

เรือของเราแล่นไปทางสวนสุนันทา ผ่านโรงเรียนอนุบาล (ละอออุทิศ) ร.ร.การเรือน (มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต) เลี้ยวซ้าย ร.ร.ฝึกหัดครูมัธยม (คุรุสภา) เลี้ยวหน้ากระทนวงศึกษาธิการข้ามคลองข้างสะพานมัฆวาน (คลองผดุงกรุงเกษม)ผ่านโรงเรียนนายร้อย เลี้ยวไปถนนพะเนียงถึง ร.ร.ปัญญานิธิ สั่งให้คนพายเรือคอยอยู่ใต้ถุนโรงเรียน ขึ้นไปหาเจ้าของโรงเรียน แกนอนเจ็บและช่างพูดอยู่ตามเคย ขอเบิกเงินเดือนใช้ บอกว่าแกก็จน แบ่งให้ใช้ ๓ บาท (สามบาทถ้วน)

ลาจากเจ้าของ ร.ร.ลงเรือพายไปตามถนนนครสวรรค์ ถึงสะพานผ่านฟ้า แวะซื้อกล้วยน้ำว้า กล้วยหอมที่เรือแม่ค้า ๕๐ ผลต่อ ๒๐ สตางค์ ถ้าซื้อร้านผลละ ๑ ส.ต. แล้วเลยไปทางถนนราชดำเนินกลาง ผ่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เลี้ยวถนนตะนาวข้างวัดมหรรณพ ที่ร้านแม่จินดา (ผู้มีพระคุณ) ที่ร้านเขาท่วมนิดหน่อย แต่ที่ถนนพายเรือได้ ถนนนี้มีจักรยานเดินบ้าง รถบรรทุกบ้าง นับว่าน้ำน้อยกว่าถนนอื่น

นั่งคุยกันสักครู่ก็ลา เขาให้เงินใช้ ๓ บาท ให้ส้มโอ ส้มเขียวหวาน ขากลับเลยไปทางบางลำพู เทเวศร์ แล้วกลับบ้าน

นั่งตากแดดตัวดำเกรียม ๔ ชั่วโมง ออกจากบ้าน ๑๐ น.ถึงบ้าน ๑๖ น. คือไปนั่งคุยกัน ๒ ชั่วโมง พายเรือไป ๔ ชั่วโมง ให้ค่าจ้างเขา ๕๐ ส.ต.

เมื่อปลายเดือนพฤศจิกายน หลังจากน้ำที่ท่วมลดลงแล้วรถก็ยังแล่นไม่ได้ เว้นแต่รถราง เพราะเมื่อน้ำลดใหม่ ๆ ถนนทุกสายมีตะไคร่จับ รถยนค์แล่นผ่านจะลื่นมาก เป็นอันตรายได้ง่าย จึงต้องรอให้ถนนแห้งสนิท ประเทศไทยก็กลับคืนสู่ภาวะปกติ สถานที่ราชการแห่งใดเสียหายก็ซ่อมแซมไป บ้านเรือนของประชาชนต่างก็ทำความสะอาด แล้วก็อยู่กันเป็นปกติ

เพราะเขาว่ากันว่า น้ำท่วมมากอย่างนี้ ๒๕ ปี จึงจะมีหนหนึ่ง จาก พ.ศ.๒๔๖๐ ถึง พ.ศ.๒๔๘๕ ยี่สิบห้าปีพอดี คนเริ่มพูดอาจจะตีขลุมเอาตรงนี้ก็ได้ เพราะอีก ๒๕ ปีต่อมา พ.ศ.๒๕๑๐ คนรุ่นผมก็ไม่เห็นมีน้ำท่วมใหญ่ จนมาถึง พ.ศ.๒๕๑๘ จึงได้เกิดอีกครั้งหนึ่ง แต่ก็น้อยกว่า
พ.ศ.๒๔๘๕ เพราะมีเขื่อนภูมิพลแล้ว

###########



Create Date : 18 พฤศจิกายน 2553
Last Update : 18 พฤศจิกายน 2553 12:41:20 น. 2 comments
Counter : 817 Pageviews.

 
เขื่อนช่วยชีวืต


โดย: J IP: 124.120.224.225 วันที่: 17 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:17:33:22 น.  

 
เขื่อนมีประโยชน์มหาศาลครับ
ปัจจุบันเรามีเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ ช่วยให้กรุงเทพรับน้ำเหนือได้ง่ายขึ้นครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 18 กุมภาพันธ์ 2554 เวลา:5:55:43 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.