Group Blog
 
All Blogs
 
พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ฯ

ความหลังริมคลองเปรม

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร
กับพระอนุสาวรีย์ พระบิดาเหล่าทหารสื่อสาร

พ.สมานคุรุกรรม

เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งเป็นปีที่เหล่าทหารสื่อสาร มีอายุครบ ๖๐ ปี ผู้ช่วยเจ้ากรมการทหารสื่อสาร อดีตผู้ฝึกนักเรียนนายสิบเหล่าทหารสื่อสาร พ.ศ.๒๔๙๗ รุ่นของผม ได้รับการแต่งตั้ง ให้เป็นประธานคณะกรรมการจัดงานฉลอง ๖๐ ปีเหล่าทหารสื่อสาร ในเวลาที่ผมเป็น พันตรี ประจำแผนกของกองกำลังพล ได้มีชื่อเป็น ผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการกลาง มีหน้าที่บันทึกการประชุม และอยู่ในคณะอนุกรรมการจัดทำหนังสือทีระลึกด้วย

ในงานนี้ได้มีคณะอนุกรรมการแผนกต่าง ๆ หลายแผนก ในการดำเนินงานตามวัตถุประสงค์ของงาน แต่ท่านได้เรียกผมไปใช้งานในเรื่องต่าง ๆ ที่ไม่ได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการใดทำ ตามบันทึกการประชุม หลายครั้งหลายหน และในที่ประชุมครั้งหนึ่ง ท่านประธานได้ปรารภว่า อยากจะสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบุรฉัตรไชยากร กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของเหล่าทหารสื่อสาร แต่มีเวลาเพียงหกเดือนไม่สามารถดำเนินการได้

จนถึง พ.ศ. ๒๕๒๙ เจ้ากรมการทหารสื่อสาร ท่านเดิม ได้ดำริที่จะสร้างพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน อีกครั้งหนึ่ง โดยได้แต่งตั้ง รองเจ้ากรมคนใหม่ เป็นประธานในการดำเนินการจัดสร้างและประดิษฐาน พระอนุสาวรีย์ ในกรมการทหารสื่อสาร และค่ายกำแพงเพชรอัครโยธินด้วย

คราวนี้ผมได้เลื่อนเป็น พันโท แล้วไปครองตำแหน่ง หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ โดยไม่ได้มีชื่อในคณะกรรมการใด ๆ ในงานนี้ แต่โดยตำแหน่งหลัก ได้กำหนดไว้ว่าให้เป็นนายทหารประวัติศาสตร์ของกรมการทหารสื่อสารด้วย จึงได้รับคำสั่งด้วยวาจา ให้ติดตามการก่อสร้างอย่างใกล้ชิด และถ่ายรูปเก็บเป็นประวัติศาสตร์ไว้ทุกขั้นตอน

ภาพ ๑



งานชิ้นแรกของผมก็คือการเปิดประวัติของพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน เพื่อหาว่าทายาทของพระองค์ท่านเป็นผู้ใด แล้วนำท่านประธานกรรมการ ไปกราบทูลของประทานอนุญาตสร้างและประดิษฐานอนุสาวรีย์

ท่านเจ้ากรมได้กราบทูลรายละเอียดต่อ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร และกราบเรียน ท่านผู้หญิง ฉัตรสุดา วงศ์ทองศรี (หม่อมเจ้าหญิง ฉัตรสุดา ฉัตรชัย) ตามที่ได้ส่งหนังสือขอประทานอนุญาตล่วงหน้ามาแล้วเมื่อ เดือนกันยายน ๒๕๒๙ ซึ่งได้ทรงประทานอนุญาตตามคำขอของ กรมการทหารสื่อสาร

วาระนั้นเป็นครั้งที่สาม ที่ผมนายทหารตัวเล็ก ๆ ที่ได้มีโอกาสเข้าเฝ้าพระราชวงศ์ชั้นสูง ซึ่งจะต้องไปเฝ้ากราบทูล เพื่อให้ทรงทราบรายละเอียดอื่น ๆ ในโอกาสต่อไปอีกหลายครั้ง โดยมีนายทหารชั้นประทวนที่ร่วมงานกันมาอย่างใกล้ชิด ไปเป็นเพื่อนแก้เขินทุกครั้ง เพราะไม่เคยเข้าเฝ้าเจ้านายพระองค์ใดมาก่อน นอกจาก พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าภานุพันธุ์ยุคล และ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ เนื่องในการที่ทรงจัดการแสดงโขนวันทหารสื่อสารครบรอบ ๖๐ ปี ตอนองคตสื่อสาร ซึ่งทั้งสองพระองค์ไม่ทรงถือสาในการพูดราชาศัพท์ไม่คล่องของผมเลย

แล้วผมก็ได้ทราบว่าพระองค์หญิงท่านนี้ก็เช่นเดียวกัน ท่านไม่ทรงถือพระองค์ ทรงมีพระดำรัสอย่างกันเอง จนทรงคุ้นเคยกับทหารสื่อสารผู้ประสานงานนอกตำแหน่ง ทั้งสองคนนี้เป็นอันดี อย่างที่ไม่มีวันจะลืมพระกรุณาของพระองค์ท่านเลย

การดำเนินงานสร้างและประดิษฐาน พระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน พระบิดาของทหารสื่อสาร จึงได้เริ่มขึ้นเมื่อเหล่าทหารสื่อสารมีอายุ ๖๒ ปี ตามลำดับ

โดยได้เริ่มการดำเนินงานตั้งแต่ ๑๖ เมษายน ๒๕๒๙ กรมการทหารสื่อสาร ขอความร่วมมือในการสร้างพระอนุสาวรีย์จากกรมศิลปากร ซึ่งได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี และมอบให้เจ้าหน้าที่ชั้นสูงมาเป็นผู้ให้คำแนะนำทุกขั้นตอน

ต่อมากรมการทหารสื่อสารได้รับคำแนะนำ จากกรมศิลปากร ให้แต่งตั้งประติมากร ผู้ปั้นหล่อพระรูป และผู้ควบคุมการก่อสร้าง กับเห็นชอบในแบของอนุสาวรีย์ และบริเวณแท่นฐานกับภูมิทัศน์โดยรอบ ซึ่งนายทหารสื่อสารเป็นผู้ออกแบบ

ประติมากรได้เริ่มดำเนินการปั้นพระรูปด้วยดินเหนียว และถอดแบบเป็นปูนปลาสเตอร์ แล้วจึงถ่ายแบบเป็นรูปขี้ผึ้ง หุ้มด้วยดินทรายก่อนที่จะเททอง

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ได้เสด็จไปทรงเยี่ยมกรมการทหารสื่อสารอีกหลายครั้ง คือ เมื่อ ๑๗ เมษายน ๒๕๓๐ ได้เสด็จไปยังโรงปั้นหล่อ และทอดพระเนตรรูปปั้นพระบิดาซึ่งยังเป็นดินเหนียวแล้ว ทรงพอพระทัยมาก

๓๐ ตุลาคม ๒๕๓๐ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินเป็นองค์ประธาน พิธีวางศิลาฤกษ์พระอนุสาวรีย์ และเททองหล่อพระรูป ณ กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดง พระวรวงศ์เธอ พระองคเจ้าวิมลฉัตร ก็ได้เสด็จไปในงานพิธีนี้ด้วย

๒๙ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๑ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนิน ทรงเปิดพระอนุสาวรีย์ พลเอก กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ณ ค่ายสะพานแดง พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ก็ได้เสด็จไปร่วมงานนี้อีกครั้งหนึ่ง

เวลา ๑๖.๐๙ น.สมเด็จพระเทพรัตน์ราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงกดปุ่มไฟฟ้าเปิดพระวิสูตรคลุมพระอนุสาวรีย์

เวลา ๑๖.๒๗ น. สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินกลับ

เวลา ๑๖.๔๐ น. พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร และ หม่อมเจ้า ทิพยฉัตร ฉัตรชัย ทรงวางพวงมาลา ถวายสักการะพระอนุสาวรีย์พระบิดา แล้วเสด็จกลับ

และหลังจากนั้น เมื่อถึงวันประสูติของ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ ฯ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน ๒๔ มกราคม และวันทหารสื่อสาร ๒๗ พฤษภาคม ตลอดเวลา ๔ ปีต่อมา ผมก็ได้เป็นผู้นำบัตรทูลเชิญเสด็จ
ในงานทั้งสองครั้งนั้นทุกปี จนกระทั่งผมได้เกษียณอายุราชการ ใน ตุลาคม ๒๕๓๕

บัดนี้ กาลเวลาได้ล่วงมาจากวันที่เริ่มดำเนินงานถึง ๒๔ ปีเศษแล้ว อีกไม่กี่เดือนก็จะครบเสี้ยวศตวรรษ ของการประดิษฐานพระอนุสาวรีย์พระองค์นี้

ในวันที่ผมมีอายุครบ ๖๐ ปี ได้จัดพิมพ์หนังสือ แจกเป็นของชำร่วยในงานทำบุญและอำลาชีวิตทหาร ผมก็นำไปถวายพระองค์หญิงที่พระตำหนักด้วย ท่านทรงทอดพระเนตรแล้วก็มีหนังสือชมเชยว่าเขียนได้ดี ในวาระขึ้นปีใหม่ผมก็ส่งหนังสือเป็น ส.ค.ส.ไปถวายพระองค์ท่านเสมอ และได้รับบัตร ส.ค.ส.จากพระองค์ท่านด้วย พระกรุณานี้ฝังใจผมให้จดจำมิรู้ลืม

ภาพ ๒



ตามพระประวัติของ พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ในหนังสือที่ระลึก งานพระราชทานเพลิงพระศพ ณ เมรุหน้าพลับพลาอิศริยาภรณ์ วัดเทพศิรินทราวาส เมื่อ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ได้บันทึกไว้ว่า

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร เป็นพระธิดาองค์สุดท้ายในพลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพ็ชรอัครโยธิน และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าประภาวสิทธิ์นฤมล (พระธิดาในสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ ชั้นสี่ เจ้าฟ้าฯ กรมพระจักรพรรดิพงศ์)

ภาพแทรก



ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๖๔ ทรงมีเจ้าพี่เจ้าน้อง ร่วมพระบิดาเดียวกัน รวม ๑๒ พระองค์ ทั้งหมดได้สิ้นพระชนม์ และสิ้นชีพิตักษัย ไปแล้วทุกพระองค์

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร นับว่าเป็นหนึ่งในเจ้านายชุดสุดท้ายที่ได้เข้าพระราชพิธีเกศากัณฑ์ตามโบราณราชประเพณีเมื่อเดือนมีนาคม พุทธศักราช ๒๔๗๓ ก่อนที่พระราชพิธีนี้จะถูกยกเลิกไป

ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนราชินี เมื่อพุทธศักราช ๒๔๘๑

ภาพ ๓




พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ทรงสมรสกับนาวาโทหม่อมเจ้าอุทัยเฉลิมลาภ วุฒิชัย ร.น. พระโอรสในพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงสิงหวิกรมเกรียงไกร และหม่อมเจ้าพร้อมเพราพรรณ (ดิสกุล) วุฒิชัย ทรงมีโอรส-ธิดา ๒ คน คือ หม่อมราชวงศ์เฉลิมฉัตร วุฒิชัย และหม่อมราชวงศ์พร้อมฉัตร (วุฒิชัย) สวัสดิวัตน์

ภาพ ๔




ได้เสด็จเข้ารักษาพระอาการประชวร ตั้งแต่วันที่ ๓ ธันวาคม ๒๕๕๒ และสิ้นพระชนม์ด้วยพระอาการสงบ เมื่อเวลา ๐๖.๔๔ น. วันที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๒ ณ โรงพยาบาลพระรามเก้า สิริรวมพระชันษา ๘๘ ปี

ทั้งนี้พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานน้ำสรงพระศพ และทรงรับไว้ในพระบรมราชานุเคราะห์ เป็นเวลา ๗ วัน ณ ศาลาภาณุรังษี วัดเทพศิรินทราวาส โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯสยามบรมราชกุมารี ได้เสด็จฯ สรงน้ำพระศพ ในวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๕๒ และพระราชทานเพลิง เมื่อวันอาทิตย์ที่ ๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๓ ณ วัดเทพศิรินทราวาส

ภาพ ๕



จึงขอบันทึกไว้ด้วยความเคารพเทิดทูนจากใจจริง ไว้ ณ โอกาสนี้.





Create Date : 17 มีนาคม 2554
Last Update : 17 มีนาคม 2554 5:49:00 น. 2 comments
Counter : 3897 Pageviews.

 
สายัณหสมัยภุมวารสวัสดิ์ค่ะ


ได้มาอ่านตรงนี้อีกเรื่อง

พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าวิมลฉัตร ทรงเป็นเจ้านายที่งดงามทั้งพระสิริโฉมและพระจริยวัตร ทรงน่ารักค่ะ

ท่านเจียวต้าย เอ๊ย ท่าน พ.สมานคุรุกรรมคะ
เกษียณมา ยี่สิเอะปีแล้วน่ะ
หนังสือแจกมีเหลือบ้างไหมคะ

ฮ่าๆๆๆ มาขอกันกลางอากาศเลยละค่ะ

หากยังพอมี อิฉัน นาง ว.สนิทลหุกรรม จะขอบ้างน่ะค่ะ
หากต้องไปสแกนให้ใหม่ ไม่รบกวนดอกนะคะ

อิฉันลา สวัสดีท่านค่ะ


โดย: นาถ (sirivinit ) วันที่: 17 มกราคม 2555 เวลา:19:08:48 น.  

 
หนังสือที่ระลึกงานประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ ยังมีครับ

หนังสือที่ระลึกงานพระราชทานเพลิงพระศพ พระองค์หญิง มีชุดเดียวครับ

หนังสืองานศพของ เจียวต้าย ยังมีเยอะครับ

ต้องการเล่มไหนบอกได้เลยครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 18 มกราคม 2555 เวลา:4:58:22 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.