Group Blog
 
All Blogs
 
นิทานชีวิต

นิทานชาวสวน

ชีวิตที่ไม่ได้เลือก

วันก่อนจะถ่ายรูปหนังสือ ที่รวมเล่มเองด้วยกระดาษ เอ.๔ เจอเรื่องเก่าแก่ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๓๔ ชื่อ ชีวิตที่ไม่ได้เลือก ก็นึกขึ้นมาถึงชีวิตของตนเองอีกครั้งหนึ่ง เรามีชีวิตที่เป็นไปตามกรรมจริง ๆ

เราเกิดมาจากไหนก็ไม่รู้ ไม่ได้เลือกว่าจะมาเกิด เมื่อไร ไม่ได้เลือกว่าจะมาเกิดเป็นผู้ชาย ไม่ได้เลือกว่าจะมาเกิดเป็นลูกครูทั้งพ่อทั้งแม่ เกิดมาแล้วเขาก็บันทึกทะเบียนบ้านว่าเกิด วันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๗๔ แต่แม่บันทึกไว้ว่า เกิดวันขึ้น ๑ ค่ำ เดือน ๕ ปีมะแม เป็นวันพฤหัสบดี ตามปฏิทิน ๑๐๐ ปี ตรงกับวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๔๗๓

พอโตมาจะมีอายุครบสิบปี ในเดือน มีนาคม ๒๔๘๓ เขาดันยกเลิก การขึ้นปีใหม่จากเดือน เมษายน ให้ขึ้นปีใหม่เดือนมกราคม พ.ศ.๒๔๘๓ เป็น พ.ศ.๒๔๘๔ เดือน มกราคม มีนาคม เมษายน ๒๔๘๓ เลยหายไปจากปฏิทิน กลายเป็นสิบขวบ มีนาคม ๒๔๘๔ และครบเกษียณอายุราชการ พ.ศ.๒๔๓๔ ไปด้วย ช่างมันเถอะปล่อยผ่านไปเลย เพราะเหตุการณ์แบบนี้คงไม่เกิดขึ้นอีกแล้ว คนที่สูญเสียวันเกิดไปสามเดือนอย่างเราก็อาจเหลืออยู่ไม่กี่คนแล้ว




เมื่อเป็นเด็กเรียนหนังสืออยู่ที่ปากตรอกโรงเรียนนายร้อยทหารบก ก็ชอบเครื่องแบบทหาร อยากเป็นทหารบก แต่สุดท้ายเรียนไม่จบ ม.๖ เข้านายร้อยไม่ได้ หันไปหาโรงเรียนจ่าทหารเรือ เพราะบ้านตรงข้ามเป็นจ่าโทเรือดำน้ำ เคยพาไปลงดูในท้องเรือดำน้ำ แต่ก็ว่ายน้ำไม่เป็นอีก

ได้เข้ามาเป็นกรรมกรใช้แรงงานในกรมพาหนะทหารบก แต่ไม่ชอบเลย เพราะยังไม่รู้ว่ากองพาหนะทหารบก เคยไปรบในสงครามโลกครั้งที่ ๑ ถึงยุโรป ก็เลยอยากเป็นนักเขียน แต่เขียนอยู่เกือบสิบปี ก็ไม่พ้นน้องใหม่ เขียนฟรีสักที พอดีถึงคราวต้องเกณฑ์ทหาร แม่ป่วยหนักต่องขอผ่อนผันเพื่อดูแลหาเลี้ยงแม่ได้หนึ่งปี แม่ก็จากไป ปีถัดมาจึงเข้าไปรายงานตัว ขณะนั้นทหารไทยกำลังมีชื่อเสียงในสงครามเกาหลี ก็อยากเป็นทหารราบ จะได้อาสาไปสงครามเกาหลี

ก็ได้รับการคัดเลือกเป็นทหารราบจริง แต่เป็นหน่วยที่มีอยู่กองร้อยเดียว มีหน้าที่เป็นลูกมือทำงานโยธาให้กองบัญชาการ กองทัพภาคที่ ๑ อดไปเกาหลี เป็นทหารฝึกหนักอยู่หนึ่งปี เลยเป็นไส้เลื่อนอักเสบต้องผ่าตัดทำงานหนักไม่ได้อย่างน้อยหกเดือน พอดีเขารับนักเรียนนายสิบ ก็เลยรีบสมัครเพราะเมื่อสำเร็จแล้วมีงานทำ ดีกว่าปลดแล้วกลับไปเป็นลูกจางใช้แรงงานที่เก่า




ก็เรียนตามเพื่อน ๆ ที่มีอยู่ร้อยกว่าคน เวลาสอบดันได้ที่ ๘ คะแนน ๘๐ กว่าเปอร์เซ็นต์ เลยอดเป็นสิบตรี ได้ติดสิบโทแทน ตอนคัดเลือกหน่วยที่จะบรรจุ อยากอยู่ กองพันทหารสื่อสาร จะได้มีความรู้ทางวิทยุ โทรศัพท์ แต่ผู้มีพระคุณชวนให้ไปอยู่แผนกพลาธิการ ก็จำต้องรับปากโดยไม่ชอบเลย แต่พอบรรจุจริง มีคนวิ่งเต้นไปแทน ตัวเรากลับไปอยู่แผนกกำลังพล มีงานหลักคือการบรรจุบุคคลเข้ารับราชการ การเลื่อบำเหน็จ เลื่อนยศ การย้ายนายทหารนายสิบ การปลดทหารออกจากราชการ ซึ่งมันก็คืองานสารบรรณแขนงหนี่งนั่นเอง ตัวเราก็คือเสมียนพิมพ์ดีดในหน่วยนี้ ไม่เคยเรียนพิมพ์ดีดก็ พิมพ์ด้วยนิ้วกลางทั้งสองมือจนใช้งานได้

ความอยากที่จะเป็นนักเขียนนักประพันธ์ ก็ผุดขึ้นมาใหม่ คราวนี้เขียนให้นิตยสารของหน่วยเป็นงานราชการตลอดเวลาสามสิบกว่าปีจนชำนาญ และหน้าที่ราชการก็ก้าวหน้าไปพร้อม ๆ กัน

สมัยนั้นทหารปลดเกษียณยศจ่าสิบเอกก็อยู่ได้มีพอกินพอใช้ แต่พอรับราชการมาได้ ๑๕ ปี ก็เข้าสอบเพื่อเลื่อนเป็นนายทหารได้ จึงใช้ความรู้จากหลักสูตรนายสิบอาวุโส ที่เรียนมาหมาด ๆ เข้าแข่งขันอย่างไม่มีหวังสักเท่าไร เพราะมีผู้เข้าสอบ ๒๐๐ คน แต่จะได้เป็นนายทหาร ตั้งแต่ที่ ๑ ถึงที่ ๕ เท่านั้น แต่ก็ท่องตำราที่เป็นภาษาไทยอย่างหนัก ส่วนภาษาอังกฤษยังไงก็ตกแน่ เลขก็เรียนมาแค่ถอดกรณฑ์สองเท่านั้น และลืมไปหมดแล้วด้วย

ช่วงเวลา ๗ วันที่เข้าสอบ แต่ละวิชาเพื่อนที่เรียนเก่งก็ออกมาวิจารณ์กันที่หัวกองร้อย ว่าใครตอบอย่างไร เปิดตำราดูแล้วก็รู้ว่าใครถูใครผิด เราไม่เข้าไปร่วมวงด้วย เอาเวลาไปท่องวิชาต่อไปดีกว่า ผลปรากฏว่า เราได้คะแนนวิชา ทหารสื่อสาร แผนที่ ภาษาไทย แต่งไทย ย่อไทย เกือบเต็มทั้งหมด เลขกับภาษาอังกฤษก็ไม่ถึงกับตก กลุ่มที่นั่งวิจารณ์กัน ก็หันมามองว่าไอ้หมอนี่มันเส้นใครหว่า

ท่านที่เขาหาว่าเราเป็นเด็กของท่านนั้น ท่านสัมภาษณ์เราว่า

“ถ้าสมมติลื้อสอบได้ลื้ออยากจะเป็นนายทหารตำแหน่งอะไร”

เราตอบว่า “ ถ้าได้เป็นนายทหารกำลังพลก็จะเหมาะดีครับ “

ท่านก็ว่า “ ไอ้ลื้อมันก็เป็นได้แค่นั้นเอง “

ท่านยังไม่เชื่อเลยว่าเราสอบข้อเขียนได้ที่ ๑


เมื่อเราได้เป็นนายทหาร เงินเดือนของจ่าสิบเอกขั้นทะลุ ก็อยู่ในระดับร้อยโท จึงติดยศร้อยตรีเพียง ๖ เดือน แล้วก็เลื่อนเป็นร้อยโท ทั้งสิบโท และร้อยโท เราก็ไม่ได้นึกเลย มันเป็นชีวิตที่ไม่ได้เลือกทั้งคู่ ใครเป็นคนเลือกก็ตอบไม่ยาก

กรรมนั่นเอง ที่เป็นผู้กำหนด เราจึงอยากจะเรียกว่า”ชีวิตที่ถูกกำหนด” มากกว่า “ชีวิตที่ไม่ได้เลือก”






เมื่อเป็นนายทหารกำลังพลแล้ว ก็ทำงานอยู่ที่เดียว นั่งโต๊ะตัวเดียว เป็นเวลา ๓๐ ปี ตั้งแต่เป็นสิบโท จนถึงพันตรี ก็ได้รับงานใหญเป็นผู้ช่วยเลขานุการ คณะกรรมการจัดงานวันทหารสื่อสาร ครบ ๖๐ ปี ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๒๗ ชื่อในคำสั่งนั้นอยู่ท้ายสุด แต่ท่านรองเจ้ากรม ซึ่งเป็นประธานคณะนี้ เคยเป็นผู้ฝึกสมัยที่เราเป็นนักเรียนนายสิบ ท่านเรียกใช้ส่วนตัวเกือบทุกอย่างที่ท่านคิด และเราก็เป็นผู้จดบันทึกประชุมทุกครั้ง ก็ช่วยท่านกำหนดหัวข้อที่ท่านจะปรึกษาหรือสั่งการในที่ประชุม โดยไม่ได้ใช้ตัวเลขานุการของคณะกรรมการเลย





เราเป็น ผู้ช่วยเลขานุการ แต่เวลาทำงานจริง ได้กลายเป็นนายทหารคนสนิทของท่านประธาน หรือเรียกว่าเบ๊ หรือม้าใช้ของท่านนั้น เราไม่ได้เลือก ท่านสั่งให้ทำทั้งสิ้น

เช่นการติดต่อประสานงานกับกรมศิลปากร และอาจารย์ เสรี หวังในธรรม
ไปเฝ้า พระองค์ชายใหญ่ หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าภารุพันธ์ยุตล และ พระองค์ชายเล็ก หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอนุสรณมงคลการ เป็นต้น

แล้วท่านก็ให้พระองค์ชายกลาง หรือ พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเฉลิมพลฑิคัมพร ทรงแสดงโขน เป็น องคตสื่อสาร ด้วย

ภาพการแสดงโทรทัศน์วันทหารสื่อสาร








ท่านเจ้ากรมท่านใหม่ เป็นเจ้ากรมการทหารสื่อสาร ลำดับที่ ๑๗ ท่านออกคำสั่งให้เราพ้นจากช่วยราชการกองกำลังพล ไปปฏิบัติหน้าที่ หัวหน้าแผนกห้องสมุดและพิพิธภัณฑ์ เต็มตัว แล้วก็ได้รับคำสั่งด้วยวาจา ให้ทำหน้าที่นายทหารประวัติศาสตร์ ตามภารกิจแฝงในอัตราการจัดหน่วย คือการก่อสร้างพระอนุสาวรีย์ พระบิดาของทหารสื่อสาร ดังรายละเอียดที่ได้เคยเล่ามาแล้ว

เราจึงมีโอกาสได้ทำงาน ที่ไม่ได้เขียนไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งดูเหมือนจะใหญ่โตกว่าครั้งที่แล้วเสียด้วยซ้ำไป



ผ่านงานปั้นหล่อพระอนุสาวรีย์ พลเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระกำแพงเพชรอัครโยธิน จนยกขึ้นประดิษฐานที่ กรมการทหารสื่อสาร สะพานแดงเรียบร้อยแล้ว ก็เปลี่ยนเจ้ากรมอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่รองเจ้ากรมที่เคยเป็นผู้ฝึก ที่เล่าข้างต้น

คราวนี้ท่านเคยเป็นนายทหารฝ่ายเท็คนิค สถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ ยศร้อยโท ขณะที่เราเป็นสิบเอก พนักงานกล้องโทรทัศน์ เมื่อท่านเข้ามาเป็นเสนาธิการกรมการทหารสื่อสาร ตอนที่ท่านรองผู้ฝึกของเรายังอยู่ ท่านก็จำเราได้และเรียกใช้ราชการเป็นพิเศษบ้างเป็นครั้งคราว

พอท่านเป็นเจ้ากรมลำดับที่ ๑๘ ก็รับงานประดิษฐานพระอนุสาวรีย์ พระบิดาของทหารสื่อสาร ที่ค่ายกำแพงเพชรอัครโยธินต่อ เราก็ปฏิบัติหน้าที่นายทหารประวัติศาสตร์ตามเดิม คราวนี้ก็ได้รับใช้ท่านในงาน นอกหน้าที่ เช่นเดียวกับเมื่อครั้ง จัดงานวันทหารสื่อสารครบรอบ ๖๐ ปีอีกครั้งหนึ่ง

ภาพพระอนุสาวรีย์ ค่ายกำแพงเพชร



พอเสร็จงานนั้น ทางกรมศึกษาวิจัย ของ บก.ทหารสูงสุด เปิดหลักสูตร นายทหารประวัติศาสตร์และพิพิธภัณฑ์ทหาร หน่วยส่งชื่อเราเข้าเรียน เราก็ขอเข้าพบท่านแล้วรายงานว่า เราจะอยู่ทำงานอีกเพียงสองปี ก็จะเกษียณอายุแล้ว วิชาที่เรียนมาก็จะไม่ได้ใช้เต็มที่ น่าจะให้นายทหารรองของเรา ไปเรียนจะได้ประโยชน์มากกว่า ท่านก็บอกว่าไม่เป็นไรหรอก ไปเรียนเอาความรู้มาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ ให้ดีขึ้นปีต่อ ๆ ไปเขาก็คงเปิดหลักสูตรนี้อีก จึงค่อยให้คนอื่นไปเรียนบ้าง

ปีต่อมาเป็นปีสุดท้ายที่ทางกองทัพบกออกระเบียบใหม่ ว่านายทหารที่มาจากชั้นประทวน ถ้าไม่จบปริญญาตรี จะไม่มีสิทธิ์เลื่อนยศเป็นพันเอก และท่านเจ้ากรมก็ได้ให้ กองกำลังพล ส่งชื่อเราซึ่งเป็นพันโท อาวุโสลำดับแรก ขึ้นไปให้กองทัพบกพิจารณา ด้วยความเมตตาของท่านที่เป็นพระคุณอย่างล้นเหลือ



เราจึงได้แต่งเครื่องแบบทหารสื่อสาร ยศพันเอก อวดชาวบ้านได้ถึงสองปี ก่อนที่จะเกษียณอายุ



แล้วจะไม่ให้เรียกว่า ชีวิตที่มีกำไร ได้อย่างไร.






เมื่อบันทึกมาถึงตรงนี้ ก็เป็นเวลาที่ห่างจากเรื่องที่เล่ามาสามตอนนั้น กว่า ๒๐ ปีแล้ว ทุกท่านก็เกษียณอายุราชการหมดแล้ว เมื่อเราเกษียณอายุบ้าง เราก็ติดต่อกับท่านด้วย บัตร ส.ค.ส.ในวันปีใหม่ และส่งหนังสือทำเอง ให้เป็นของขวัญวันเกิดของท่านทุกปี โดยระลึกว่าท่านพ้นจากหน้าที่ราชการไปแล้ว ไม่มีโอกาสให้คุณให้โทษกับเราได้อีกแล้ว คงไม่มีใครติฉินนินทาได้

ท่านรองเจ้ากรมอดีตผู้ฝึกของเรานั้น เมื่อท่านไปเป็น หัวหน้าฝ่ายจัดรายการ ของสถานีวิทยโทรทัศน์กองทัพบก ขณะที่เราเป็นรองหัวหน้าฝ่ายกำลังพลของสถานี ท่านก็จะย้ายให้ไปเป็นผู้ช่วยท่าน เพราะท่านไม่อยากยุ่งกับเรื่องบันเทิง และเงิน ๆ ทอง ๆ ของคณะต่าง ๆ ที่มาเช่าเวลาออกอากาศ ซึ่งเราเองก็ยิ่งหนักใจพอ ๆ กับท่านในการที่จะให้ไปทำงานแบบนั้น จึงเรียนท่านไปว่า ในฝ่ายจัดรายการนั้นมีคนเก่าคนแก่ รู้งานหลายท่าน เขาคงช่วยท่านได้ ดีกว่าเราแน่ ๆ ซึ่งท่านก็รับฟังและไม่ขัดข้อง

ท่านเกษียณอายุก่อนเพื่อน และยังมีชีวิตอยู่ ปัจจุบันอายุประมาณ ๘๕ ปี

ส่วนท่านเจ้ากรมลำดับที่ ๑๗ นั้น ถึงท่านจะเป็นคนเจ้าระเบียบสักแค่ไหน เมื่อเราได้ปฏิบัติงานให้ท่านเห็น สุดท้ายท่านก็เชื่อถือ มีหลายเรื่องที่ท่านอนุมัติตามคำเสนอแนะของเรา ที่สำคัญที่สุดคือการอนุมัติให้นำพระรูปต้นแบบพระอนุสาวรีย์ ซึ่งเป็นปูนปลาสเตอร์ครึ่งพระองค์ ไปเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์

เมื่อท่านไปเป็นผู้อำนวยการสถานีโทรทัศน์กองทัพบก เป็นช่วงที่สถานีนี้ มีอายุครบ ๓๐ ปีพอดี ท่านจึงสั่งให้เรารวบรวมเรื่องราวที่สำคัญของสถานี ตั้งแต่ครั้งวางศิลาฤกษ์ และการพัฒนามาจนถึงปีนั้น ไว้เป็นประวัติศาสตร์ของสถานีในภายหน้า ซึ่งเราก็เรียบเรียงจากเอกสารเก่าที่ฝ่ายเลขานุการ จะเอาไปทำลาย เพราะเอกสารทั้งหมดมีอายุเกินระเบียบที่ให้เก็บรักษาไว้แล้ว

แต่โชคไม่ดี หลังเกษียณท่านก็อยู่ได้เพียงสามปี ก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคหัวใจวายเฉียบพลัน ซึ่งเราก็ได้แทนคุณท่าน ด้วยการช่วยทำหนังสือแจก ในงานพระราชทานเพลิงศพ เป็นครั้งสุดท้าย

ท่านเจ้ากรมลำดับที่ ๑๘ นั้น ท่านเกษียณอายุหลังเราสองสามปี เราก็ไปในงานฉลองอายุครบ ๖๐ ปีของท่าน ที่โรงแรมใหญ่ถนนลาดพร้าว แล้วก็ส่งหนังสือทำเองให้ท่านในวันเกิดติดต่อกันทุกปี จนท่านอายุประมาณ ๗๐ ปี ได้ปรารภว่าอยากจะให้เราจัดทำประวัติของท่าน เอาไว้พิมพ์แจกเมื่อถึงวันเกิดครบ ๖ รอบ หรือแจกงานศพท่าน

เราก็ไปค้นหาเรื่องและภาพของท่านในห้องสมุดทหารสื่อสาร และเขียนประวัติตั้งเป็นนักเรียนนายร้อย เป็นลำดับมาถ่ายทำเป็นภาพสี ด้วยกระดาษ A 4 สำเร็จเป็นเล่มพอเหมาะ สำหรับท่านจะไปเติมข้อเขียนอื่น ๆ ได้อีก ท่านก็ให้เงินค่าจัดทำ แม้เราจะขอทำเพื่อตอบแทนพระคุณท่าน ก็ไม่ยอม

จนถึงบัดนี้ท่านก็ยังมีชีวิตอยู่อย่างสุขสบายตามสมควร แม้จะมีโรคหัวใจอยู่บ้างก็ตาม ท่านเคยบอกว่า ขอบคุณในสิ่งที่ได้ทำเพื่อท่านตลอดมา แต่ตอนนี้พอได้แล้ว

ก็พอดีเรามีอายุครบ ๘๐ ปี จึงยุติการกระทำเพื่อแทนคุณ ต่ออดีตผู้บังคับบัญชา ในชีวิตราชการของเราทุกท่านลงโดยสิ้นเชิง

ทั้ง ๆ ที่ยังระลึกถึงความเมตตากรุณา ของท่านเหล่านั้นอยู่เสมอ มิรู้ลืม.




Create Date : 13 เมษายน 2558
Last Update : 13 เมษายน 2558 17:44:35 น. 0 comments
Counter : 3002 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.