Group Blog
 
All Blogs
 
อะไรก็ได้ (๕๗) นิตยสารทหารสื่อสาร

อะไรก็ได้ (๕๗)

ในนิตยสารทหารสื่อสารฉบับเก่า ๆ นั้น มีเรื่องที่น่ารู้เกี่ยวกับทหารสื่อสาร ที่ไม่ใช่วิทยาการด้านอิเลคทรอนิค อยู่ไม่น้อย รวมทั้งความเป็นมาของตัวนิตยสารทหารสื่อสารเอง ก็เป็นเรื่องน่ารู้ที่ไม่มีใครค่อยรู้มากนัก นอกจากผู้ที่เคยร่วมคณะผู้จัดทำ ซึ่งส่วนมากเมื่อพ้นหน้าที่ไปแล้ว ก็ไม่ได้ใส่ใจจะจำ

แต่ก็มีอยู่คนหนึ่งที่ชอบเล่าเรื่องความหลัง ของนิตยสารฉบับนี้ โดยใช้นามปากกาว่า “วชิรพักตร์” ได้เขียนเรื่องที่ไม่มีใครสนใจ ของนิตยสารฉบับนี้ ลงพิมพ์ในฉบับเดือน มกราคม ๒๕๓๙ คอลัมน์ความหลังริมคลองเปรม เล่าถึงการดำเนินการของ หนังสือพิมพ์สื่อสาร ดังนี้

หนังสือพิมพ์ของเหล่าทหารสื่อสารนั้น ไม่ต้องบอกก็รู้กันมาตั้งแต่ในมุ้งแล้ว คือนิตยสารทหารสื่อสาร ที่ท่านกำลังพลิกอยู่นี่เอง ที่สันปกบอกไว้ว่าเป็นปีที่ ๔๘ ฉบับที่ ๓ ประจำเดือน มกราคม ๒๕๓๙ และในหน้าสุดท้ายได้แจ้งเอาไว้ว่า ออกปีละ ๓ ฉบับ คือเดือน พฤษภาคม กันยายน และ มกราคม รวมแล้วคงจะเป็นหนังสือที่จัดพิมพ์มาทั้งสิ้น ๑๔๔ ฉบับ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่

จริงอยู่นิตยสารทหารสื่อสารเริ่มดำเนินกิจการเมื่อ เดือน เมษายน ๒๔๙๑ ดังที่ได้ยืนยันไว้ในหน้าสุดท้ายเหมือนกัน เริ่มแรกออกเป็นรายสองเดือน แต่ก็ไม่สามารถจะออกได้ตรงตามกำหนดทุกปี มีขาดหายไปบ้าง ผลุบ ๆ โผล่ ๆ จนถึง พ.ศ.๒๕๓๐ จึงได้พลิกฟื้นคืนชีพมาจนถึงบัดนี้

ดังนั้นถ้าใครจะถามว่า ทหารสื่อสาร พิมพ์ออกมาแล้วกี่ฉบับ ก็ไม่มีใครสามารถจะตอบได้เลย และถึงจะค้นคว้าพยายามอย่างไรก็คงไม่สำเร็จ เพราะแม้แต่ในห้องสมุดทหารสื่อสารเอง ก็มีไม่ครบเหมือนกัน

ที่กล้ายืนยันดังนี้ ก็เพราะผมได้มีโอกาสเข้ามาเกี่ยวข้องกับ นิตยสารทหารสื่อสารอยู่นานพอสมควร และได้พยายามค้นหามาแล้วเพื่อจะบันทึกไว้เป็นประวัติศาสตร์ แต่จนกระทั่งพ้นหน้าที่ไป ก็ไม่สามารถตอบคำถามนี้ได้

ผมเข้ารับราชการเป็นนายทหารประทวน สังกัดกรมการทหารสื่อสาร ได้ไม่กี่ปี ก็เริ่มส่งข้อเขียนไปลงพิมพ์ใน นิตยสาร วปถ.ปริทรรศน์ ของสถานีวิทยุกระจายเสียง กองการสื่อสารประจำถิ่น ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๐๐ ต่อมาก็ส่งให้ แฟนสัมพันธ์ ของสถานีโทรทัศน์กองทัพบกช่อง ๗ ขาวดำ พอทั้งสองฉบับได้เลิกกิจการไปด้วยสาเหตุใดไม่ทราบ ผมชักจะมันมือก็เลยส่งมาให้ ทหารสื่อสาร ต่อไป ซึ่งก็ได้รับความกรุณาจากท่านบรรณาธิการ นำลงพิมพ์ให้ชื่นอกชื่นใจตลอดมา ทั้งเรื่องขำขัน เรื่องสั้น และสารคดี ซึ่งดูเหมือนจะได้ค่าน้ำหมึกหน้าละ ๑๐ บาทเสียด้วย

ต่อมาผมเขียนเรื่อง จุดดับของทหารสื่อสาร ซึ่งเป็นบทสรุปการดำเนินการของคณะ ผู้จัดทำที่ผ่านมา ลงในฉบับวันทหารสื่อสาร ๒๕๑๗ ไม่ทราบว่าเป็นที่ถูกอกถูกใจ ท่านบรรณาธิการอย่างไร ท่านจึงขอพบตัวแล้วชวนให้เข้าไปร่วมในคณะผู้จัดทำด้วย แต่ตอนนั้นเป็นเวลาที่ทหารสื่อสารพักฟื้น ถึงปีต่อมาผมจึงได้ร่วมงานในกองบรรณาธิการด้วย แต่คราวนี้ตัวบรรณาธิการได้เปลี่ยนเป็นท่านอื่นไปเสียแล้ว

ผมร่วมอยู่ในคณะผู้จัดทำต่อมาอีกหลายปี จนได้เข้าไปร่วมอยู่ในคณะผู้จัดทำ หนังสือที่ระลึกวันสถาปนาสถานีวิทยุโทรทัศน์กองทัพบก ด้วยอีกฉบับหนึ่ง

สำหรับการหาเรื่องที่จะนำมาลงพิมพ์ในนิตยสารทหารสื่อสารนี้ แม้จะเป็นงานที่ทหารทำเองแต่เป็นเรื่องที่ยุ่งยากพอใช้ ในยุคหนึ่ง ท่านได้กำหนดนโยบายหรือความมุ่งหมายไว้ว่า จะต้องให้มีสารคดีเชิงวิทยาการ ๓๕ เปอร์เซ็นต์ เป็นบันเทิง ๒๐ เปอร์เซ็นต์ ข่าวสารของเหล่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ กับโฆษณาอีก ๑๐ เปอร์เซ็นต์

โฆษณานั้นพอหาได้ ข่าวสารของเหล่ามีมากมาย ลงไม่หมดด้วยซ้ำ แต่สารคดีเชิงวิชาการ โดยเฉพาะท่านต้องการวิทยาการของทหารสื่อสารเสียด้วย จะหาผู้เขียนได้จากที่ไหน ท่านที่เขียนได้ก็เขียนเป็นตำราที่ใช้สอนในห้องเรียนเสียหมด หาชนิดที่อ่านสนุกด้วย ได้ความรู้ด้วยยากยิ่งนัก

ทำอย่างไรจึงจะได้เรื่องตามที่มุ่งหมาย แถมยังมีปัญหาที่ว่า ๓๕ เปอร์เซ็นต์ นั้นเปอร์เซ็นต์ของอะไร ถ้านับเป็นเรื่องฉบับนั้นมี ๑๕ เรื่อง ก็ต้องเป็นของ วิทยาการเสีย ๕ เรื่อง ถ้านับเป็นหน้า ฉบับนั้นมี ๑๒๐ หน้า ก็ต้องหาให้ได้ ๔๒ หน้า แค่นี้ก็จะแย่อยู่แล้ว ใครจะมานั่งเขียนให้หวัดไหว แล้วใครจะอ่าน

เรื่องบันเทิงก็ลำบากพอใช้ ในเล่มเดียวกันนั้นต้องมีถึง ๓ เรื่อง หรือ ๒๔ หน้า แล้วมองไปในวงการทหารสื่อสาร เคยเห็นผู้ที่เขียนเรื่องประเภทบันเทิง มีอยู่ไม่กี่คนเลย แต่ข้อนี้ผมพยามแก้ด้วยการเขียนเพิ่มขึ้นเองเมื่อมีผู้ส่งมาให้ไม่พอ ก็สามารถแก้ปัญหาไปได้เป็นครั้งคราว ส่วนจะบันเทิงหรือไม่นั้นไม่ทราบ แต่ไม่ใช่วิชาการและข่าวก็แล้วกัน เพราะเหตุนี้จึงทำให้ผมมีนามปากกามากมาย แทบจำไม่ได้

ในยุคหลังนี้ค่อยยังชั่วขึ้น เพราะท่านกำหนดแต่เพียงว่าให้มี วิทยาการเหล่าทหาร สื่อสาร วิทยาการทั่วไป สารคดี บันเทิง และข่าวสาร คละกันไปเป็นใช้ได้

อุปสรรคของการจัดทำหนังสือประเภทนี้ มีอยู่หลายอย่าง ไม่ทราบว่าจะเหมือนกับเหล่าอื่น ๆ บ้างหรือไม่ เช่นหาผู้เขียนเรื่องไม่ได้ ขอให้ใครเขียนก็ปฏิเสธว่าไม่ว่างงานยุ่ง หรือรับปากไว้แล้วพอถึงเวลาขอต้นฉบับก็ผัดไปเรื่อย จนแทบพิมพ์ไม่ทันตามกำหนดเวลา หรือบางท่านขยันมากเขียนมาให้หนาปึก ตัดก็ไม่ได้ แบ่งก็ไม่ได้ ถ้าจะลงต้องเอาทั้งหมด ไม่งั้นขอคืนแล้วก็ไม่มองหน้ากันอีกต่อไป และแต่ละท่านก็ใหญ่โตกว่าผู้จัดทำทั้งนั้น บางเล่มอัดเรื่องเข้าไปจนหนาปึก เปลืองงบประมาณจนนายบ่นก็มี

การเที่ยวหาเรื่องมาลงพิมพ์นี้ ฉบับครบ ๖๐ ปีทหารสื่อสาร มีความยุ่งยากมากที่สุด เพราะหนังสือหนาเกือบ ๕๐๐ หน้า มีทั้งเรื่องเชิงประวัติศาสตร์ ซึ่งต้องค้นคว้าจากเอกสารมากมาย ประวัติบุคคลสำคัญของสื่อสารในอดีต เรื่องที่อยู่ในประเภทความหลัง และการพัฒนาต่าง ๆ ตั้งแต่เริ่มก่อกำเนิดจนถึงปัจจุบัน คณะผู้จัดทำ ๔ - ๕ คนแยกย้ายกันไปคนละทิศละทาง ใช้เวลาเตรียมการร่วม ๖ เดือน แต่สุดท้ายก็เกือบจะเสร็จไม่ทันตามกำหนด และเมื่อเสร็จแล้วก็ตรวจพบว่ามีข้อผิดพลาดเหลืออยู่อีกหลายแห่ง

เรื่องความผิดพลาดนั้น บางทีก็เหลือเชื่อ อย่างเช่นเมื่อ พ.ศ.๒๕๑๙ ทำหนังสือช้าออกไม่ทันเวลาอยู่เรื่อย ต้องรวมทีเดียว ๒ ฉบับ จาก มกราคม -เมษายน แต่ก็ยังช้าไปอีกถึง ๖ เดือน ออกได้จริง ตุลาคม และหลังวันที่ ๖ ซึ่งเป็นวันปฏิรูปการการปกครองแผ่นดินเสียด้วย หนังสือเสร็จเรียบร้อยจากโรงพิมพ์รอแจกจ่ายแล้ว บังเอิญมีคำสั่งของคณะปฏิรูป ฯ ให้งดการออกหนังสือพิมพ์ จนกว่าจะได้รับอนุญาตจากเจ้าหน้าที่ก่อน และท่านผู้ช่วยผู้จัดการ เกิดไปสะดุดเรื่อง ทหารชอบปฏิวัติจริงหรือ เห็นว่ามีเนื้อความที่น่าจะขัดตาคณะปฏิรูป ฯ จึงนำเรียนท่านบรรณาธิการพิจารณา ท่านก็ให้ผมชี้แจง

ผมก็ว่าความจริงหนังสือฉบับนี้ มีกำหนดออกก่อนที่คณะปฏิรูปฯ จะมีคำสั่งห้าม แต่ชื่อเรื่องและเนื้อเรื่องที่ถูกทักท้วงนั้นหมิ่นเหม่เกินไป มีความเสี่ยงสูงมาก และถ้าจะแก้ไขก็ยาก เพราะเย็บเล่มปิดปกเรียบร้อยแล้ว ท่านบรรณาธิการก็เสนอต่อไปถึงท่านผู้อำนวยการ ว่าควรจะรอการแจกจ่ายไว้ก่อน หรือจะให้ตัดเรื่องที่เป็นปัญหานั้นออกเสีย

ผู้อำนวยการก็ขอให้ท่านรองช่วยอ่านเรื่องนี้ดูอีกครั้ง ท่านรองก็เสนอว่าไม่เหมาะกับสถานการณ์ในขณะนั้นเหมือนกัน ท่านผู้อำนวยการจึงสั่งให้ตัดเรื่องที่เป็นปัญหาออก ก็ตกมาเป็นเวรเป็นกรรมของผมอีกที่จะต้องตัดเนื้อเรื่องซึ่งมีความยาว ๔ หน้า ออกให้หมดทั้ง ๓๐๐๐ เล่ม ผมก็ต้องยกมือประนมไหว้ ขอร้องโรงพิมพ์ให้ช่วยตัดกระดาษทั้ง ๒ แผ่นนั้นออกดื้อ ๆ ถ้าใครดูสารบัญแล้วพลิกไปหาอ่าน ก็จะไม่มีวันหาเจอเพราะว่าหน้าหนังสือกระโดดหายไปถึง ๔ หน้า จะด่าว่าอย่างไรก็ต้องเฉย เพราะยังดีกว่าที่จะต้องเข้าไปกินข้าวแดงแกงชืดอยู่ในคุก

โชคของผมยังดีที่รอดพ้นคดีความมาได้อย่างหวุดหวิด แล้วก็รอดต่อมาเรื่อยจนกระทั่ง นิตยสารทหารสื่อสาร มีอายุครบ ๔๓ ปี โดยไม่มีเรื่องอะไรที่ร้ายแรง เหมือนเมื่อครั้งนั้นอีกเลย จึงมีโอกาสได้มาฟื้นความหลัง ให้ท่านอ่านกันพอประดับสติปัญญา จึงขอภาวนาให้ท่านบรรณาธิการและผู้ช่วยคนปัจจุบัน จงโชคดีตลอดไป.

##########



Create Date : 10 ตุลาคม 2553
Last Update : 24 ธันวาคม 2553 5:54:53 น. 2 comments
Counter : 619 Pageviews.

 
คุณลุงเจียวต้าย สวัสดีวันปีใหม่ วันสงกรานต์ค่ะ
เอ๊ ลืมหลานคนนี้หรือยัง ?
...
นิตยสารทหารสื่อสาร ฯลฯ
ในทุกแขนงงานที่ก่อรายได้ หรือ งานอาสาสมัคร
ค่อนข้างยากนะคะที่จะมีความสม่ำเสมอต่อเนื่อง
เหตุผลนั้นพันหมื่น งานดีอาจไม่มีใครเห็นคุณค่า
หรืองานไม่ดีนัก กลับกลายเป็นที่แพร่หลายติด 1 ใน 5 ของสำนักพิมพ์ก็เห็นๆอยู่
สรุป คนเขียนถามตนเองดีที่สุด ถ้าเขียนด้วยใจได้สุขที่ใจแล้ว จบ นอกนั้นอย่างใส่ใจ เพราะอาจจะท้อถอดใจได้
ทุกยุคสมัย มีประวัติศาสตร์ มึความเป็นมาเป็นไปที่น่าสนใจในตัวเองเสมอ ขึ้นกับท่านใดจะเพ่งพิจารณาเลือกดู เวลาเดินทางไป ทุกๆสถานการณ์อาจไม่ทันสมัย แต่ในทุกความโบร่ำโบราณ อาทิ บุคคลท่านผู้อาวุโส ผู้ซึ่งผ่านร้อนผ่านหนาวมาก่อน ต่างได้รับประสบการณ์มาแล้ว ถูกหรือผิดไม่ใช่ปัญหา ชนรุ่นหลังน่าจะเรียนรู้แล้วนำมาปรับปรุงกับยุคสมัยของตน
อ้าว พาคุณลุง ปวดหัวอีกแล้วสิ
อย่าถือสานะคะ คนที่เพิ่งหัดเขียนแล้วทิ้งร้างลาไปเกือบครบปี ก็หมดสภาพแบบนี้แหละค่ะ
...
ยังจำได้ค่ะ ปีที่แล้ว คุณลุงยังแวะมาอ่านเรื่องเอกเขนก,ไม่มีตัวตน ฯลฯ โดยเฉพาะเรื่องปิดท้าย โอ้โฮ เชียร์หลานซะหลงลอยลืมตัว ขอบคุณมากๆนะคะกับคำชม จนเพื่อนๆๆเผลอชมด้วย เวลาผ่านไปรวดเร็วเนอะ ?
...
คุณลุง กราบสวัสดีปีใหม่นะคะ
ขอให้คุณลงมีสุขภาพแข็งแรงสม่ำเสมอ
มีความสุขกับลูกๆหลานๆมากๆนะคะ
...
คุณลุง ไม่ต้องตอบนะ ไม่ใช่ไม่สำคัญ แต่หลานไม่ได้แวะเข้ามาในพันทิป
ด้วยความเคารพค่ะ
PANPISA


โดย: PANPISA IP: 110.171.14.16 วันที่: 9 เมษายน 2554 เวลา:20:01:46 น.  

 
ไม่เคยลืมชื่อนี้เลย อยากเห็นผลงานการเขียนที่ก้าวหน้าต่อไปอีก

ไม่ทราบว่าเวลานี้ทำอะไรเป็นงานประจำ และทำอะไรเป็นงานอดิเรกครับ

ตอบไว้ตรงนี้ ตามที่ใจคิด จะมาอ่านเมื่อไรก็ได้ครับ.


โดย: เจียวต้าย วันที่: 10 เมษายน 2554 เวลา:9:00:30 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.