Group Blog
 
All Blogs
 
นิทานในสามก๊ก

เสี้ยวสามก๊ก

นิทานในสามก๊ก

“ เล่าเซี่ยงชุน “

วรรณคดีเรื่องสามก๊กนั้น ท่านว่ามีเนื้อหาในประวัติศาสตร์อยู่ ประมาณ ๓๐ เปอร์เซ็นต์ นอกนั้นเป็นเรื่องที่ผู้เขียนแต่งเติมเสริมต่อ ให้สนุกสนานแบบนิทาน อย่างวรรณคดีไทยเรื่อง ขุนช้างขุนแผน ในยุคก่อน หรือ ผู้ชนะสิบทิศ ในยุคหลัง นั่นเอง

แต่ในสามก๊กนั้นบางครั้ง ตัวละครก็ได้ยกเอานิทานของเก่า มาเป็นคติสอนใจอีกทอดหนึ่งก็มี ถ้าจะเรียกว่าเป็นนิทานที่อยู่ในสามก๊ก แต่ไม่ใช่เรื่องสามก๊ก ก็ว่าได้

อย่างเมื่อครั้งที่กองทัพของโจโฉ ยึดเมืองแห้ฝือซึ่งเป็นที่อยู่ของครอบครัวเล่าปี่ไว้ได้ โดยกวนอูซึ่งมีหน้าที่รักษาเมืองนี้ ได้ถูกแฮหัวตุ้นทหารเอกของโจโฉ หลอกให้ไปถูกล้อมติดกับ อยู่บนเขาแห่งหนึ่งห่างจากเมืองประมาณสองร้อยเส้น เตียวเลี้ยวทหารเอกของโจโฉอีกคนหนึ่ง ก็อาสาไปเกลี้ยกล่อมให้กวนอูยอมจำนน แล้วก็กลับมารายงานโจโฉว่า กวนอูมีข้อเรียกร้องสามประการ คือ หนึ่งจะขอเป็นข้าพระเจ้าเหี้ยนเต้ มิใช่ข้าของโจโฉ

สองจะขอปฏิบัติพี่สะใภ้ทั้งสอง มิให้ผู้ใดกล้ำกรายเข้าถึงประตูที่อยู่ และจะเอาเบี้ยหวัดของเล่าปี่ที่ได้รับพระราชทานนั้น ให้แก่พี่สะใภ้ทั้งสอง

สามถ้ารู้ว่าเล่าปี่อยู่แห่งหนตำบลใด ก็จะไปหาเล่าปี่ให้จงได้ แม้มหาอุปราชห้ามก็จะมิฟัง

โจโฉก็ว่าสองข้อแรกนั้นพอจะรับได้ แต่ข้อที่ว่าเมื่อกวนอูรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ใด ก็จะไปหานั้น โจโฉสั่นศีรษะไม่ยอม แล้วว่าเมื่อกวนอูเอาสัญญาฉะนี้ เราจะเอามาเลี้ยงไว้ให้มีกำลัง จะได้ประโยชน์สิ่งใดเล่า เตียวเลี้ยวก็ยกนิทานขึ้นมาเปรียบเทียบให้โจโฉฟัง มีใจความว่า เดิม อิเยียง มีตำแหน่งเป็นทนายรับใช้อยู่กับ ต๋งหาง ซึ่งเป็นเจ้าเมืองหนึ่ง ต่อมา คิเป๊ก เจ้าเมืองอีกเมืองหนึ่งยกกองทัพมาตี และฆ่าต๋งหางตาย คิเป๊กจึงเอาอิเยียงไปเลี้ยงไว้ และตั้งให้เป็นขุนนางที่ปรึกษา อิเยียงก็มีความสุขมาช้านาน จนกระทั่ง เซียงจู เจ้าเมืองหั้นก๊กยกทัพมารบ และฆ่าคิเป๊กตาย อิเยียงนั้นมีใจเจ็บแค้นเซียงจูเป็นอันมาก จึงเดินทางไปยังเมืองหั้นก๊กและแอบซ่อนตัวอยู่ในที่ลับหูลับตา คอยดักทำร้ายเซียงจูแต่ถูกจับได้ถึงสองครั้ง เซียงจูก็มิได้เอาโทษ ปล่อยตัวไปทั้งสองครั้ง

ครั้นอยู่มาวันหนึ่งอิเยียงลอบเข้าไปซ่อนอยู่ในบ้านของเซียงจู หมายจะฆ่าเซียงจูเสีย แต่ก็ถูกจับได้อีก เซียงจูจึงถามว่า ตัวจะทำอันตรายเรา เราจับได้ถึงสองครั้งแล้วมิได้เอาโทษ เราให้ปล่อยตัวเสีย ตัวก็มิได้หลาบจำ จะมาทำร้ายเราอีกเราก็จับตัวได้ แลตัวผูกใจแค้นเรานั้นด้วยเหตุสิ่งใด

อิเยียงจึงบอกว่า เดิมตนเป็นทนายอยู่กับต๋งหางให้ใช้สอย ครั้นคิเป๊กยกไปฆ่าต๋งหางเสีย เอาตนไปตั้งให้เป็นขุนนางที่ปรึกษา ได้ความสุขเป็นอันมาก ครั้งนี้เซียงจูยกไปฆ่าคิเป๊กซึ่งเป็นนายผู้มีคุณเสีย ตนจึงมีใจเจ็บแค้นอยู่ คิดอ่านมาหวังจะทำอันตรายแก่เซียงจู แทนคุณคิเป๊ก แต่ถูกจับได้และปล่อยตัวไปสองครั้งก็ยังไม่หายแค้น ครั้งนี้โทษถึงตายก็ตามแต่จะโปรดเถิด

เซียงจูจึงว่าเราจะปล่อยตัวเสีย จะคิดทำร้ายเราอีกหรือไม่ อิเยียงก็ยืนยันว่า ถ้าปล่อยไปอีก ตนก็ยังจะคิดร้ายต่อไปจนกว่าจะสำเร็จ จึงจะหายแค้น ถ้าเซียงจูจะเอ็นดูตนจะขอเสื้อซึ่งเซียงจูใส่อยู่ ถ้าโปรดให้ก็จะได้สิ้นความพยาบาท เซียงจูได้ฟังดังนั้นก็คิดว่าอิเยียงนี้มีน้ำใจกตัญญู จะใคร่เอาใจไว้จึงถอดเสื้อส่งให้ อิเยียงคำนับรับเอาเสื้อมา แล้วก็ถอดกระบี่ออกฟันเสื้อสามที และบอกว่าตนได้แทนคุณคิเป๊กตามที่ตั้งใจไว้แล้ว ว่าดังนั้นแล้วอิเยียงก็เอากระบี่ในมือเชือดคอตนเอง ตายไปในบัดนั้นเอง

เตียวเลี้ยวเล่าจบแล้วก็บอกว่า

“…….อันน้ำใจกวนอูนั้น ถ้าผู้ใดมีคุณแล้วเห็นจะเป็นเหมือนอิเยียง อันเล่าปี่กับกวนอูนั้นมิได้เป็นพี่น้องกัน ซึ่งมีความรักกันนั้นเพราะได้สาบานต่อกัน เล่าปี่เป็นแต่ผู้น้อยเลี้ยงกวนอูไม่ถึงขนาด กวนอูยังมีน้ำใจกตัญญูต่อเล่าปี่ จึงคิดจะติดตามมิได้ทิ้งเสีย อันมหาอุปราชมีวาสนากว่าเล่าปี่เป็นอันมาก ถ้าท่านได้กวนอูมาไว้ทำนุบำรุงให้ถึงขนาด เห็นกวนอูจะมีกตัญญูต่อท่านยิ่งนัก………”

โจโฉได้ฟังดังนั้นจึงยอมรับสัญญากับกวนอู แต่เตียวเลี้ยวก็สำคัญน้ำใจกวนอูผิด ไปหน่อย เพราะเมื่อกวนอูรู้ว่าเล่าปี่อยู่ที่ไหน ก็พาภรรยาทั้งสองของกวนอูหนีไป โดยมิได้ลาโจโฉ และฆ่าผู้รักษาด่านรายทางเสียห้าหกคน แต่ในสุดท้ายกวนอูก็กลับมาแทนคุณโจโฉ ด้วยการปล่อยให้โจโฉผ่านกลับไปเมืองฮูโต๋ได้ ในคราวที่โจโฉแตกทัพมาจากศึกใหญ่ ที่อ่าวหน้าเมืองกังตั๋ง จนได้

อีกเรื่องหนึ่งนั้นเมื่อครั้งที่ เล่ากี๋ บุตรชายคนโตของ เล่าเปียว เจ้าเมืองเกงจิ๋วญาติผู้พี่ของเล่าปี่ มาปรับทุกข์กับขงเบ้งถึงความอิจฉาริษยาของแม่เลี้ยง ที่คอยจ้องจะทำร้ายตนอยู่ ขงเบ้งก็ว่าเป็นความในครัวเรือนตนเป็นคนนอกไม่อาจจะเกี่ยวข้องได้ เล่ากี๋ก็น้อยใจจะเอากระบี่เชือดคอตาย ขงเบ้งก็ยึดมือไว้ และเล่านิทานให้ฟัง มีความว่า

เมื่อครั้งพระเจ้าจิ้นเฮียนก๋งได้ครองเมืองจิ้น พระมเหสีนั้นมีบุตรสององค์ ชื่อชินเสง กับตงยี่ และนางลิกี๋เป็นพระสนมก็มีบุตรสององค์ ชื่ออีเจ้ กับต๊กจู ครั้นอยู่มามเหสีถึงแก่ความตาย นางลิกี๋เป็นห่วงว่านานไปแม้ฮ่องเต้สวรรคต ราชสมบัติก็จะได้แก่ชินเสงกับเตงยี่ ลูกสองคนของตนก็จะอยู่ในเงื้อมมือเขา จึงคิดอุบายในคืนหนึ่งเวลาประมาณสามยามเศษ นางก็แสร้งร้องไห้ร่ำไรเป็นอันมาก ฮ่องเต้เห็นดังนั้นก็ตรัสถามว่าเหตุใดจึงร้องไห้ นางก็ตอบว่าตนฝันเห็นพระมเหสีที่ตายไปแล้ว เดินเข้ามาร้องขอข้าวปลาอาหาร เมื่อตื่นขึ้นมาจึงร้องไห้สงสารพระมเหสีที่ อดอยาก ฮ่องเต้ไม่รู้ในกลอุบาย จึงรับว่าจะจัดโต๊ะเซ่นไหว้ให้พระมเหสีได้กิน

ครั้นรุ่งเช้าฮ่องเต้ก็รับสั่งให้ชินเสงกับตงยี่ แต่งโต๊ะเซ่นศพมารดา พระโอรสทั้งสองก็จัดการตามรับสั่ง แล้วก็เอาของเครื่องเซ่นนั้นมาถวายให้พระบิดาเสวยตามธรรมเนียม นางลิกี๋ก็แอบเอายาพิษใส่ลงไปในอาหารทั้งปวง ครั้นฮ่องเต้จะเสวยนางก็ห้ามไว้แล้วว่า ของเหล่านี้ทำมาแต่ภายนอก อย่าไว้ใจเผื่อจะมีอันตราย ขอให้ชันสูตรก่อนจึงจะชอบ ฮ่องเต้เห็นชอบด้วยจึงมีรับสั่งให้นักโทษถึงตาย ที่จำไว้ในคุก มากินอาหารเครื่องเซ่นนั้นก่อน เมื่อนักโทษกินเข้าไปก็ถึงแก่ความตาย ฮ่องเต้ทรงพิโรธว่าพระราชบุตรทั้งสององค์ ตั้งใจปลงพระชนม์พระองค์เพื่อจะชิงเอาราชสมบัติ จึงรับสั่งให้นำตัวไปประหารเสียทั้งสององค์

ในขณะนั้นคนสนิทของพระโอรสทั้งสองก็นำความไปบอกแก่สองพี่น้อง ตงยี่ผู้น้องก็ว่าบัดนี้ภัยมาถึงตัวแล้ว เราควรจะหนีเอาตัวรอดก่อน แต่ชินเสงผู้พี่บอกว่าเราเป็นบุตรพระราชบิดาจะลงโทษถึงตาย ครั้นจะหนีไปนั้นก็เหมือนหนึ่งหากตัญญูต่อบิดาไม่ ประการหนึ่งเล่าธรรมดาผู้เป็นเสนาบดีซึ่งเป็นข้าราชการนั้น ทำความผิดสิ่งหนึ่งสิ่งใดก็ดี แม้พระมหากษัตริย์จะลงโทษ จะหนีซึ่งราชทัณฑ์นั้นไม่ควร เหมือนคนมิได้มีสัตย์ซื่อต่อพระมหากษัตริย์ ตนเองจะขอรับราชอาญากว่าจะสิ้นชีวิต ตงยี่ได้ฟังดังนั้นจึงหนีไปแต่ผู้เดียว

เมื่อชินเสงถูกประหารชีวิตแล้วไม่นาน พระเจ้าจิ้นเฮียนก๋งก็สวรรคต อีเจ้ กับต๊กจู ได้เสวยราชสมบัติอยู่ถึงสิบเก้าปี ตงยี่ซึ่งหนีไปนอกเขตแดน ได้รวบรวมผู้คนเข้าเป็นทหารจำนวนมาก ก็ยกทัพเข้ามาตีเมืองจิ้น จับอีเจ้กับต๊กจูฆ่าเสีย แล้วขึ้นครองราชสมบัติเป็นฮ่องเต้ สืบไป

ขงเบ้งสรุปว่าซึ่งจะอยู่ในเมืองนั้นย่อมมีอันตราย แต่ไปอยู่นอกเมืองนั้นกลับได้ดี ในภายหลัง เล่ากี๋ก็เชื่อฟังจึงขอให้บิดาส่งไปรักษาเมืองกังแฮป้องกันชายแดนด้านใต้ หาโอกาสกลับมาเป็นใหญ่ต่อไป แต่เล่ากี๋บุญน้อยจึงป่วยตายไปเสีย ก่อนที่จะได้ครองเมืองเกงจิ๋ว และในที่สุดเมืองเกงจิ๋วก็ตกเป็นของเล่าปี่กับขงเบ้ง ผู้อกอุบายนั้นเอง

อีกเรื่องหนึ่งเมื่อ จิวยี่ แม่ทัพของเมืองกังตั๋ง คิดจะหลอกตีเมืองเกงจิ๋วที่เล่าปี่ยืมไว้แล้วไม่ยอมคืน จึงให้ โลซก เป็นทูตไปเจรจาว่าจะขอเดินทัพผ่านเมืองเกงจิ๋ว ไปตีเมืองเสฉวน ขอให้ทางเกงจิ๋วช่วยเหลือสนับสนุนที่พักอาศัยและเสบียงอาหารด้วย เล่าปี่ก็ถามขงเบ้งว่าจะเห็นเป็นประการใด ขงเบ้งก็เล่านิทานให้ฟังเป็นอุทาหรณ์ มีความว่า

เมื่อครั้งพระเจ้าจิ้นเฮียนก๋งฮ่องเต้เมืองจิ้นยังมีพระชนม์อยู่ จะยกทัพไปตีเมืองเค็ก แต่จะต้องผ่านเมืองหงี เพราะสามเมืองนี้อยู่ในเส้นทางเดียวกัน ฮ่องเต้ก็ทรงปรึกษาขุนนางข้าราชการว่า การจะยกไปตีเมืองเค็กนี้ ถ้าเมืองหงีจะยกทหารมาตีสกัดเราไว้ จะมิเสียการไปหรือ ชุนเชง ขุนนางผู้ใหญ่จึงทูลว่าเจ้าเมืองหงีเป็นคนโลภ ขอให้แต่งเครื่องบรรณาการแลแก้ววิเศษสำหรับเมืองจิ้น ไปให้เจ้าเมืองหงีขอผ่านทางไปตีเมืองเค็ก เห็นจะได้โดยง่าย ฮ่องเต้ก็ตรัสว่าแก้วสำหรับเมืองเรานี้เป็นของวิเศษมีราคาเป็นอันมาก ซึ่งว่าจะเอาไปให้เมืองหงีนั้น แม้ว่าจะได้เมืองเค็กมา ก็จะมีค่าพอกันแล้วหรือ

ชุนเชงก็ทูลว่าขอพระองค์อย่าได้วิตกเลย ซึ่งเราจะเอาแก้วไปให้เจ้าเมืองหงีไว้นั้น เหมือนหนึ่งของอยู่คลังใน แล้วย้ายไปไว้ที่คลังนอกเท่านั้น แม้นเราตีเมืองเค็กได้แล้ว ก็กลับมาตีเอาเมืองหงีก็จะได้โดยง่าย ทั้งแก้วแลเครื่องบรรณาการทั้งปวงนั้น ก็จะกลับมาเป็นของเราตามเดิม

หันเหล่ง ที่ปรึกษาค้านว่า อย่าดูหมิ่นเจ้าเมืองหงี อันก๋งจี๋ซึ่งเป็นขุนนางผู้ใหญ่นั้น ก็มีสติปัญญาหลักแหลมอยู่ เห็นจะทัดทานเจ้าเมืองหงีมิให้รับเครื่องบรรณาการของเรา ชุนเชงก็แก้ว่า ถึงเกงจี๋จะมีสติปัญญาก็จริง แต่กลัวอาญาเจ้าเมืองอยู่ เพราะเจ้าเมืองหงีเป็นคนโลภ ไม่รู้จักผิดแลชอบ ฮ่องเต้ได้ฟังก็เห็นชอบด้วย จึงแต่งเครื่องบรรณาการแลแก้วให้เจ้าเมืองหงีตามคำของชุนเชง

เกงจี๋ที่ปรึกษาก็เตือนเจ้าเมืองหงีว่า ซึ่งท่านรับเครื่องบรรณาการไว้ แล้วให้เมืองจิ้นยกไปตีเมืองเค็กนั้นมิควร เพราะเมืองเค็กเป็นมิตรกับเมืองหงี เจ้าเมืองหงีก็ไม่เชื่อฟัง เมื่อกองทัพเมืองจิ้นตีเมืองเค็กได้แล้ว ก็ยกกลับมาตีเมืองหงีได้ในที่สุด

แล้วขงเบ้งก็ให้เล่าปี่ตอบตกลง เมื่อจิวยี่ยกกองทัพมาถึงเมืองเกงจิ๋ว จูล่งก็เตรียมพร้อมอยู่บนเชิงเทินแล้วร้องบอกว่า

“…….ท่านคิดอุบายอย่างพระเจ้าจิ้นเฮียนก๋ง ยืมทางเจ้าเมืองหงีไปตีเมืองเค็กนั้นหรือ ขงเบ้งก็แจ้งอยู่แล้ว จึงให้เราคุมทหารขึ้นรักษาเชิงเทินคอยท่าท่านอยู่ ซึ่งท่านจะไปตีเมืองเสฉวนนั้น ก็ให้รีบยกไปเถิด……..”

และย้ำกว่า แม้เมืองเสฉวนเป็นอันตรายแล้ว เล่าปี่นายเราก็จะไม่พ้นความอาย เพราะเล่าเจี้ยงเจ้าเมืองเสฉวนกับเล่าปี่ เป็นเชื้อสายติดพันกันอยู่ ถ้าจิวยี่ได้เมืองเสฉวนสมความคิดแล้ว เล่าปี่กับขงเบ้งก็จะคืนเมืองเกงจิ๋วให้ แล้วจะพาทหารอพยพไปอยู่ป่า ไม่คิดอ่านทำสงครามสืบไปเลย
จิวยี่ได้ฟังคำพูดของเยาะเย้ยของจูล่ง ซึ่งขงเบ้งเสี้ยมสอนไว้แล้ว ก็จนใจไม่รู้จะทำประการใด จะเข้าตีเมืองเกงจิ่วก็ไม่ได้เพราะฝ่ายเล่าปี่ตั้งรับไว้อย่างเข้มแข็ง จะเลยไปตีเมืองเสฉวนก็ยิ่งยาก เพราะห่างไกลและกันดารมาก การเสียรู้คราวนี้ทำให้จิวยี่ต้องอาเจียนเป็นโลหิต และถึงแก่ความตายในที่สุด

คติจากนิทานโบราณที่แทรกอยู่ในสามก๊ก ซึ่งได้เล่ามานี้ เป็นอุทาหรณ์ที่ตัวละครในสามก๊กใช้พิจารณาตัดสินใจ นอกเหนือไปจากกลยุทธกลศึก ที่มีอยู่มากมายในเนื้อเรื่อง แต่สมควรจะใช้เป็นอุทาหรณ์สำหรับท่านผู้อ่านหรือไม่ ก็แล้วแต่วิจารณญาณของท่านเทอญ.

#############

* นิตยสาร ต่วยตูน กันยายน ๒๕๔๕ ปักษ์แรก *



Create Date : 04 กรกฎาคม 2559
Last Update : 4 กรกฎาคม 2559 8:03:41 น. 0 comments
Counter : 5740 Pageviews.

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

เจียวต้าย
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]




เชิญหารายละเอียดได้ ที่หน้าบ้านชานเรือนครับ
Friends' blogs
[Add เจียวต้าย's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.