ployla มากะ เพลง
Group Blog
 
All blogs
 

เล่าประสบการณ์ พาลูกไปผ่าพังผืดใต้ลิ้น (Tongue Tie) ที่รพ.ศิริราช


ขอเล่าประสบการณ์ที่ลูกเป็นโรคนี้ให้ฟังกันนะคะ
เผื่อจะเป็นประโยชน์กับคุณแม่ท่านอื่นๆ ไม่มากก็น้อยค่ะ
(ยาวหน่อยนะคะSmiley)


จำไม่ได้จริงๆ ว่าทำไมถึงเอะใจคิดว่าน้องภัทร์จะเป็นtongue tie(พังผืดใต้ลิ้น)
แต่ทุกครั้งที่เห็นลูกหัวเราะทีไร เราจะรู้สึกว่า
ทำไมเส้นใต้ลิ้นลูกเรามันตื้นจังหว่า แถมเส้นหนาด้วย
ลองไป Search อากู๋ดู อาการลูกเราก็ไม่ค่อยจะตรงกับที่เค้าบอก
เพราะส่วนใหญ่เด็กที่เป็นจะน้ำหนักขึ้นน้อย บางคนแลบลิ้นไม่ได้
หรือถ้าแลบลิ้น ปลายลิ้นก็จะเป็นหยัก รูปหัวใจตรงกลางลิ้น
กินนมแม่ก็ไม่ได้ เพราะแม่จะเจ็บนมมาก ทำให้ให้นมแม่ไม่สำเร็จ
และบางรายอาจออกเสียงควบกล้ำ "ร", "ล" ไม่ได้ในตอนโต


แต่น้องภัทร์น้ำหนักขึ้นดี เดือนละประมาณ 1,200 - 1,300 กรัม
กินนมได้ และเราก็ไม่ได้รู้สึกเจ็บอะไร (หรือว่าเราด้านชา เลยไม่รู้จักเจ็บSmiley)
มีที่ใกล้เคียงก็คือ ดูดนมแล้วไม่ค่อยติด หลุดบ่อย เราก็เลยยิ่งสงสัย
แล้วเวลาเค้าดูดไม่ได้ดั่งใจก็จะหงุดหงิดๆๆๆ
แถม 2 - 3 วันมานี่ เริ่มเอาเหงือกงับนมแม่แล้ว ทำให้เรายิ่งกังวล


เคยโทรไปถามคลินิคนมแม่ที่ศิริราชเมื่อตอนได้เดือนกว่าๆ
เค้าบอกไปให้คุณพยาบาลที่ห้อง Nursery รพ.ที่เราคลอดตรวจดูก่อน
เราคลอดรพ.เปาโล พหลฯ คุณพยาบาลที่ศิริราชบอกว่า
รพ.เปาโลเคยมาเรียนไปแล้ว เค้าดูเป็น
แต่พาน้องภัทร์ไปฉีดวัคซีนทีไรก็ไม่ได้พาไปห้องNurseryซักที เพราะติดนู่นนี่นั่น
พอบอกสามี เค้าก็ถามว่า โรคอะไรไม่เคยได้ยิน
แต่เค้าก็กลับไปสังเกตเอง บอกว่า เออ เส้นใต้ลิ้นเค้ามันตื้นจริงๆ ด้วยเนาะ เกิดจากอะไร
พอเราบอกว่า ถ้าเป็นต้องผ่าตัด เค้าก็ตกใจว่าถึงขั้นตัดเส้นใต้ลิ้นเลยเหรอ
เพราะกลัวลูกเจ็บ สงสารลูก แล้วผ่าออกมาลูกจะเจ็บมากมั้ย บลาๆๆ


หลังจากที่จดๆ จ้องๆ อยู่นาน ว่าน้องภัทร์เป็นtongue tieหรือไม่เป็น
และแล้วก็ถึงเวลาที่ทำให้มีเหตุการณ์ต้องตัดสินใจไปตรวจ
พอดีเมื่อวันพุธที่ผ่านมา คุณพยาบาลจากห้องNursery
โทรมาติดตามผลการเลี้ยงลูก และการให้นมแม่
หลังจากที่เราให้ข้อมูลไป ก็เลยถามว่าลูกเราจะเป็นtongue tieมั้ย
เค้าก็ถามอายุ เราก็บอกว่า 3 เดือนกับอีก 15 วัน แล้วเค้าก็ถามอาการต่างๆ
และก็มีอยู่คำถามนึงที่ทำให้เราตัดสินใจไป ก็คือ
"น้องเล่นน้ำลายมั้ยคะ น้ำลายยืดเยอะมั้ยคะ"
นี่แหละ ที่ตรงใจเรามาก เพราะเรายังบ่นกับแม่ และสามีเราอยู่เลย
ว่าทำไมน้องภัทร์เล่นน้ำลายไวจัง
เพราะตอนน้องเพลงเพิ่งจะมาเล่นน้ำลายตอน 6 - 7 เดือน
ซึ่งเป็นช่วงที่เค้าฟันใกล้ๆ จะขึ้น
(แอบเข้าข้างตัวเองว่า ลูกเราพัฒนาการดี 555Smiley)
แต่จริงๆ แล้ว หารู้ไม่ว่า ไอ้ที่น้ำลายยืดนั้น เกิดจากที่ลิ้นเค้าเคลื่อนไหวได้น้อย
เพราะมีพังผืดมันดึงอยู่ ทำให้ระบบการกลืนมันเลยลำบาก
น้ำลายเลยไหลย้อย หยาดเยิ้ม ยืดยาด


คุณพยาบาลก็เลยบอกว่า ถ้าคุณแม่มาฉีดวัคซีนคราวหน้า ให้พาน้องไปให้คุณหมอดู
เพราะถ้าเกิดเป็นจริงๆ จะได้ปรึกษากับคุณหมอศัลยกรรมเด็ก
ค่าใช้จ่ายเค้าบอกว่าประมาณ 5 - 6 พันบาท
แต่เราก็ตัดสินใจว่าคงจะไม่รอ
เพราะจากการที่หาข้อมูลใน Internet ก่อนหน้านี้อยู่นาน
ทำให้รู้ว่า โรงพยาบาลศิริราช เป็นโรงพยาลแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย
ที่ทำการผ่าตัดโดยใช้ยาชา กับเด็กแรกเกิด - เด็กที่ยังฟันไม่ขึ้น
โดยหลังจากทำการผ่าตัด เด็กสามารถดูดนมแม่ต่อได้เลย

แต่ที่อื่น ต้องรอเด็กโตเลย 1 ขวบขึ้น แล้วใช้ดมยาสลบ


แก้ไขข้อมูลเพิ่มเติมค่ะ


ที่ศิริราชใช้ยาชาชนิดป้ายค่ะ (ไม่ได้ใช้แบบฉีด)
และมีผู้ใหญ่เคยทดลองดูแล้ว ว่ายาจะออกฤทธิ์ชาประมาณ 30 นาทีค่ะ
(อันนี้ถามคุณพยาบาลมาค่ะ)


จากนั้นเราก็โทรไปสอบถามคลินิกพังผืดใต้ลิ้น โรงพยาบาลศิริราช เพิ่มเติมอีกครั้ง
ทางรพ.แนะนำว่าให้นำน้องไปตรวจเบื้องต้นดูก่อนที่คลินิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่
และกำชับว่า ควรจะต้องไปรับบัตรคิวก่อน 7 โมงเช้า
เพราะถ้าเกิดตรวจแล้วน้องเป็นจะได้ทำการผ่าวันนั้นเลย
เพราะถ้าไปหลังจากนั้น อาจจะไม่ได้ทำภายในวันนั้น
ทำให้ต้องเสียเวลาไปรพ.หลายรอบ


เราก็เลยปรึกษาสามีว่าจะยังไง เพราะลูกคนโต สามีก็ต้องไปส่งที่โรงเรียน
ซึ่งมันคนละทางกับที่ไปโรงพยาบาล ถ้ารอสามีคงจะไม่ไหวแน่ๆ
และถ้าทำช้าก็กลัวลูกจะโตเกิน แถมถ้าติดปีใหม่แล้วก็จะยาวไปปีหน้านู่น
เลยตัดสินใจเด็ดขาดว่าไปกับลูกเอง 2 คนละกัน
โดยที่เราจะนั่งTaxiไปโรงพยาบาลเองตอนเช้า
ให้สามีส่งลูกคนโตไปโรงเรียนเสร็จแล้วค่อยขับรถมารับเรา
สามีก็ยังถามว่าจะไหวเหรอ ไปยังไงกันสองคนแม่ลูก
แต่เราตัดสินใจแล้ว เค้าก็เลยตามใจ (ตัดสินใจได้ตอน 4 - 5 ทุ่ม)



Smileyแล้วก็เริ่มปฏิบัติการSmiley


คืนวันพฤหัสฯ 24 โทรจอง Unseen Taxi 1681 ล่วงหน้า
ให้มารับที่บ้านตอน 6 โมง 15 นาที
แล้วระบุด้วยว่า ขอคันที่คนขับไม่สูบและไม่มีกลิ่นบุหรี่
เพราะจะพาเด็กเล็กๆ ไปโรงพยาบาล
(เสียเพิ่มอีก 20 บ. แต่ปลอดภัยกว่า ถือว่าคุ้มค่ะ)
พนง.บอกว่า ตอน 6 โมงเช้า พนง.ขับTaxiจะโทรมาCFเส้นทาง


คืนนั้นนอนหลับไม่สนิท กลัวลูกโดนผ่าลิ้น สงสารลูก แต่ถ้าเป็นจริงๆ ก็ต้องทำ


6.00 น.  ตื่นนอน เช็คเอกสารและของใช้ที่จำเป็นอีกรอบ


6.30 น.  พี่คนขับไม่โทรมาค่ะ แต่กดกริ่งเลย ดังมาก เล่นเอาตกใจกันเลยทีเดียว


6.50 น.  ถึงโรงพยาบาล เราเดินลอดใต้ห้องฉุกเฉิน รู้สึกจะประตู4 (ถ้าจำไม่ผิด)
 แล้วเดินไปที่ตึกเจ้าฟ้าฯ ชั้น 1 เพื่อทำบัตรคนไข้ใหม่
 (ถามทางคนแถวนั้นดูนะคะ ไปไม่ยากค่ะ)
 กรอกประวัติ และยื่นเอกสารตามที่เจ้าหน้าที่แจ้ง
 ดีที่วันนั้นตอนกำลังรอคิว เจอคุณพยาบาลท่านนึง เดินมาทักลูกเรา
 ด้วยความเอ็นดูว่า "ตัวเล็กเป็นอะไรลูก"
 พอเราบอกอาการ พี่เค้าก็รีบกุลีกุจอ จัดการและจองคิว
 เพื่อไปคลินิคนมแม่ให้ทันที ทำให้ไม่ต้องตรวจร่างกายเบื้องต้นที่ชั้นล่าง
 แต่ก็ต้องรอรับบัตรคนไข้ และบัตรส่งตัวไปคลินิคนมแม่
 ซึ่งเจ้าหน้าที่จะขอถ่ายรูปน้องเก็บไว้ในฐานข้อมูลด้วยค่ะ


7.30 น. ไปคลินิกเลี้ยงลูกด้วยนมแม่ ตึก 100 ปี สมเด็จพระศรีนครินทร์ ชั้น 2
 ยื่นใบตรวจที่หน้าห้อง (คลินิกเปิดทำการ 8 โมงเช้า)
 ระหว่างนี้ลงไปซื้อขนมปัง+น้ำที่ร้านS&P ชั้นล่างมาตุนไว้กันหิว
 เพราะคุณพยาบาลบอกว่า ถ้าส่งตัวเข้าคลิกนิกพังผืดฯ แล้ว
 หลังจากนั้นจะไม่ได้ออกไปทำธุระส่วนตัวแล้วค่ะ ต้องอยู่รอจนผ่าเสร็จ


8.00 น. คุณพยาบาลเรียกตามคิว ซักประวัติคุณพ่อ คุณแม่
 พร้อมขอสมุดสุขภาพของน้องเพื่อดูประวัติทางการแพทย์
 หลังจะนั้นจะให้คุณแม่พาน้องเข้าห้องเพื่อชั่งน้ำหนัก
 ที่นี่ดีมากค่ะ เค้าจะให้ลูกถอดเสื้อผ้าออกหมดแล้วค่อยขึ้นชั่ง
 ชั่งกันแบบเปลือยๆ และเราจะได้รู้น้ำหนักตัวจริงๆ ของลูก
 น้องภัทร์ 3 เดือน 16 วัน น้ำหนัก 6.77 กิโล ถือว่าไม่มากไม่น้อย
 หลังจากนั้นก็วัดขนาดหัวนมแม่ / สอน+ปรับท่าให้นม
 จากนั้น คุณพยาบาลก็เอาCotton Bud มาเปิดดูพังผืดใต้ลิ้น
 ว่าลูกเราเป็นมั้ย และเป็นมากหรือเป็นน้อย
 จำเป็นต้องส่งตัวไปที่คลินิกพังผืดฯ อีกหรือไม่
 
 คุณพยาบาลบอกว่า "น้องภัทร์เป็นระดับกลางแต่เส้นพังผืดหนามาก"
 ตัดเถอะค่ะคุณแม่ เราก็อืม สงสารลูก ได้เจ็บตัวจริงๆ ด้วย
 แต่เค้าก็ไม่ได้บังคับให้ผ่านะคะ จะทำหรือไม่ทำก็ได้
 จากนั้น คุณพยาบาลก็จะตรวจเด็กที่เป็นพังผืดจนครบทุกคน
 แล้วส่งตัวไปที่คลินิคคลินิกพังผืดใต้ลิ้นพร้อมๆ กัน
 เพื่อให้คุณหมอดูอีกครั้ง


9.00 น. ไปห้องคลินิกรักษาพังผืดใต้ลิ้น ตึกสยามินทร์ ชั้น 5
 (ห้องเล็กกว่าที่คิดไว้เยอะมากๆ)
 ห้องนี้คุณพยาบาลดุหน่อยค่ะ ตอนซักประวัติโดนดุไปหลายคน
 
 และแล้วก็โดนJackpot คือ ปรกติการผ่าตัดจะมี 2 รอบ
 แต่วันนี้ทางแพทย์ที่ผ่าติดธุระ เลยยุบมาเหลือรอบเดียว
 วันนั้นมีคนไข้ทั้งหมด 13 คน ทำให้รอนานมากกกกก
 เพราะเค้าจะนั่งซักประวัติทีละคน และรอคุณหมอมาตรวจทีละคน
 คุณพยาบาลจะเอาStickerที่มีชื่อของลูกมาปิดที่เสื้อเด็กแต่ละคน
 พร้อมเขียนเลขให้ตรวจตามคิวค่ะ
 น้องภัทร์เป็นคนที่ 6 ของวันนั้น


 พอจัดคิวเสร็จ คุณพยาบาลก็จะสอบประวัติคุณแม่อีกครั้ง
 ว่าน้องกินนมแล้วรู้สึกว่าใช้เหงือกงับ หรือใช้ลิ้นงับ
 ให้บอกระดับความเจ็บเวลาน้องกินนม แล้วก็ดูหัวนมแม่
 จากนั้นคุณพยาบาลก็จะเอาCotton Bud มาเปิดดูใต้ลิ้นลูกอีกครั้ง
 คุณพยาบาลบอกว่า "น้องภัทร์เป็นระดับมากค่ะ"
 แม่ก็ทำใจแล้วค่ะ ว่าโดนแน่ๆ ลูกเอ๊ย


จากนั้นก็ให้ดูVCDการผ่าตัดพังผืด
 
10.40 น. และก็โดน Double Jackpot ภายในวันเดียว
 เพราะวันนั้น มีทีมแพทย์จากรพ.อื่นๆ มาขอดูงานด้วย
 คุณหมอเลยเลยต้องตรวจไปด้วย
 และอธิบายขั้นตอนให้กับคุณหมอที่มาดูงานไปด้วย
 ทำให้กว่าจะได้เข้าห้องผ่าตัด ก์เกือบๆ เที่ยงค่ะ
 แต่เรายินดีรอ และเต็มใจรอนะคะ
  เพราะถือว่า คุณหมอที่มาดูงานในวันนี้ จะได้ไปช่วยเด็กๆ
 ที่เป็นโรคนี้ให้หาย เด็กๆ จะได้มีโอกาสกินนมแม่สำเร็จมากขึ้น
 การตรวจ คุณหมอจะตรวจคนไข้ที่ผ่าไปแล้ว และครบกำหนดนัด
 ให้เข้ามาตรวจแผลก่อน ว่าแผลดีมั้ย มีอะไรผิดปรกติหรือเปล่า
 ถึงจะถึงคิวคนไข้ที่จะทำการผ่าตัดของวันนั้นๆ


 คุณหมอบอกว่า "น้องเป็นเยอะนะคะคุณแม่"
 คุณหมอก็ให้ตัดสินใจว่าจะผ่าหรือเปล่า
 ถ้าผ่า คุณแม่ทุกคนต้องไปเซ็นต์ชื่อเพื่อยืนยันว่าอนุญาตให้ลูกผ่า
 แต่ถ้าใครเปลี่ยนใจไม่ผ่า ก็สามารถพาน้องกลับบ้านได้เลยค่ะ
 
 ขอชมคุณหมอที่ตรวจวันนั้นนะคะ คุณหมอน่ารักมากๆ
 สุภาพกับคนไข้มากๆ ใจดี และหน้าตาสวยมากๆ ด้วยค่ะ
 ยังเด็กๆ อยู่เลย แต่เก่งนะคะ เราจำชื่อจริงไม่ได้ จำได้แต่ชื่อเล่น
 เห็นคุณพยาบาลเรียกว่า "คุณหมอนิว"
 
 
11.45 น. เปลี่ยนชุดเด็กเตรียมเข้าห้องผ่าตัด เด็กแรกเกิดก็จะห่อตัว
 แต่เด็กโต (เรียกตามคุณหมอ) ก็ให้ใส่เสื้อผูกๆ ทับชุดที่ใส่มารพ.
 โดยคุณพยาบาลจะให้เด็กๆ งดนมตั้งแต่ช่วง 10 โมง
 เพราะกันการสำลักขณะทำการผ่าตัดค่ะ
 ซึ่งเด็กๆ ทุกคนจะต้องเข้าห้องผ่าตัดและออกมาพร้อมกัน
 แต่การผ่าจะผ่าตามเบอร์ที่ติดที่เสื้อ เรียงคิวไปค่ะ
 คุณพยาบาลก็จะอุ้มน้องใส่กะบะพลาสติกใส
 แล้วเข็นเข้าไปพร้อมกัน (ห้องผ่าตัดอยู่ฝั่งตรงข้ามกับคลินิคเลยค่ะ)
 วินาทีนั้น เราใจไม่ดีเลยค่ะ สงสารลูก กังวลไปหมด
 ยิ่งเห็นแววตาตอนคุณพยาบาลอุ้มไปวางในกะบะแล้วยิ่งใจเสียค่ะ
 สงสารลูกมากๆ แต่น้องภัทร์ก็ตาแป๋วแหวว ยังไม่รู้ตัวหรอกค่ะ
 ว่าอีกไม่กี่นาทีข้างหน้า ต้องเจ็บตัวโดยที่ไม่มีแม่คอยปลอบอยู่ข้างๆ
 แต่ก็คิดปลอบใจว่า ทำแล้วเค้าจะได้กินนมได้ถนัดขึ้น
 และมันก็เป็นผลดีกับเค้าเอง
 ระหว่างนี้ คุณพยาบาลให้คุณแม่รออยู่แต่ในห้อง
 เพราะเมื่อน้องออกจากห้องผ่าตัด เค้าจะให้น้องกินนมแม่ทันทีค่ะ
 คนที่หิวก็ให้ญาติไปซื้ออะไรให้ทาน แต่ห้ามไปไหนไกลเด็ดขาด
 สำหรับคนไข้ที่คลอดที่รพ.แล้วตรวจว่าเด็กเป็น
 เค้าก็จะมีคนเข็นอาหารมาให้ทานที่ห้องติดๆ กันค่ะ


12.30 น. เด็กๆ ถูกเข็นออกมาจากห้องผ่าตัด
 เราเป็นคนแรกที่เห็น เพราะยืนรออยู่หน้าห้องผ่าตัด
 ใจก็ตุ๊มๆ ต่อมๆ ว่าเป็นยังไงบ้าง ตอนเข้าไปไม่ร้องไห้เลย
 ออกมาแล้วจะเจ็บมากมั้ย แล้วคุณพยาบาลก็คืนลูกตามคิวค่ะ
 สรุปว่า น้องภัทร์ร้องจ๊าก แบบน้ำหูน้ำตาไหล
 เราสงสารลูกมากๆ เพราะเค้าขวัญเสียสุดๆ
 ปรกติน้องภัทร์ร้องไห้ จะมีน้ำตาไหลอย่างเดียว
 นี่ร้องจนน้ำมูกไหล แสดงว่าร้องอยู่นานมาก เพราะพอผ่าเสร็จ
 ก็ต้องรอคิวเด็กคนต่อไปเข้าผ่าจนครบ เพื่อที่จะได้ออกมาพร้อมกัน
 แถมนมก็ยังไม่ได้กิน แม่ก็ไม่อยู่ คงจะใจเสียมากๆSmiley
 ตอนนั้นเห็นลูกแล้ว ยังคิดเลยว่าน่าจะมาตรวจตั้งแต่เค้าเล็กๆ
 เพราะเด็กแรกเกิดที่ทำแต่ละคน ออกมาหลับปุ๋ย มีอยู่คนเดียวที่ร้องไห้
 น้องภัทร์เริ่มรู้เรื่อง จำหน้าแม่ได้แล้ว ออกมาคงจะตกใจมากๆ


 คุณพยาบาลก็ให้เอาลูกมากินนมแม่ทันทีค่ะ
 น้องภัทร์ทั้งเหนื่อยทั้งง่วงทั้งหิว ร้องอ้าปากลั่นห้อง
 แต่ก็ยอมกินนมนะคะ กินจนหลับ แต่ก็มีผวาค่ะ
 ตอนก่อนกินนม เราเห็นเลือดออกในปากเยอะเหมือนกัน
 แต่ไม่ได้คิดอะไร
 คุณหมอถามว่าให้ดูว่าใครเลือดออกอยู่มั้ย เราบอกเมื่อกี๊ลูกเรามี
 คุณหมอเลยตกใจ พยาบาลรีบรับไปดูแผล ถามว่าทำไมเมื่อกี๊ไม่บอก
 เอ๊า ก็นึกว่ามันเป็นเรืองปรกติของคนที่โดนผ่าตัด ก็เลยไม่ได้ถาม
 แต่หลังลูกเรากินนมเสร็จ แล้วเปิดดู เลือดหายไปหมดแล้ว
 เลยโล่งอกกันไปเป็นแถบๆ ค่ะ สงสัยกลัวจะโดนเส้นเลือดใหญ่


 ระหว่างนั้นก็ให้คุณแม่ที่ไม่ได้คลอดที่รพ.ทยอยออกไปจ่ายเงิน
 ค่าใช้จ่ายทั้งหมด 555 บาท ถือว่าถูกและคุ้มค่ามากๆ ค่ะ


13.00 น. แล้วคุณพยาบาลก็ส่งกลับไปที่คลินิกนมแม่ เพื่อรับใบนัดดูแผล
 และให้น้องดูดนมและให้คุณพยาบาลที่คลินิคดูแผลอีกรอบ
 แล้วก็กลับบ้านได้ค่ะ



 
 การดูแลแผลหลังผ่าตัด
 1. ห้ามเอาอะไรไปเขี่ยลิ้นลูกเพื่อจะดูแผล
 เพราะจะทำให้เลือดออกและแผลอักเสบได้
 โดยปรกติแผลที่เริ่มแห้ง จะสีออกเหลืองๆ ให้ปล่อยไว้
 สะเก็ดแผลจะหลุดออกไปเองค่ะ
 2. ไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาฆ่าเชื้อเช็ดนมแม่ก่อนให้ลูกดูด
 แค่เอาน้ำอุ่นล้างก่อนให้ลูกกินก็ใช้ได้แล้วค่ะ
 3. ไม่ต้องให้เด็กกินยาแก้อักเสบ
 เพราะโดยปรกติเด็กจะกินนมแม่ได้เป็นปรกติ ไม่มีปัญหา
 4. ไม่ต้องให้กินยาลดไข้
 ถ้าน้องตัวไม่ร้อน ก็ไม่จำเป็นต้องให้ค่ะ แต่ถ้ามีไข้ก็ให้ได้
 ตามน้ำหนักตัว เช่น 1 กิโล ก็ให้ยา 1 cc. 2 กิโล 2 cc. เป็นต้น
 แต่เด็กที่ทำยังไม่เคยพบว่าแผลอักเสบและมีไข้เลยค่ะ



สรุป สิ่งที่ต้องเตรียมสำหรับการไปโรงพยาบาลอันนี้สำคัญมากค่ะ


1. เอกสารสำหรับทำบัตรคนไข้ใหม่
- สำเนาบัตรประชาชนแม่/พ่อ/ผู้ปกครองเด็ก + เซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง
- สำเนาสูติบัตรของน้อง + เซ็นต์รับรองสำเนาถูกต้อง
2. สมุดบันทึกสุขภาพของน้อง
3. ปากกา (เตรียมไปเองจะได้ไม่ต้องไปแย่งกันใช้กับคนอื่นค่ะ)
4. เงิน 555 บาท
5. ความอดทน สำคัญที่สุดของที่สุดค่ะอันนี้ เพราะรพ.รัฐก็ยังเป็นระบบเดิมๆอยู่



ข้อดีของการผ่าตัดพังผืดใต้ลิ้นโดยใช้ยาชา (เราขอสรุปจากปสก.ส่วนตัวนะคะ)


1. สามารถทำได้ตั้งแต่เด็กแรกเกิด - เด็กที่ยังฟันไม่ขึ้น เด็กจะเจ็บปวดน้อยกว่า
ลูกเราออกมาจากห้องผ่าตัดก็กินนมแม่ได้ทันที และไม่มีไข้ แผลไม่อักเสบ
และรู้สึกว่าลูกกินนมได้ดีขึ้น ไม่หลุดบ่อยเหมือนเมื่อก่อน น้ำลายไหลน้อยลง
2. ค่าใช้จ่ายถูกกว่า
3. เด็กเล็กๆ จะยังไม่ค่อยรู้เรื่อง ทำให้ไม่ต้องกลัวว่าน้องจะฝังใจกลัวรพ.ค่ะ



ดูรายละเอียดของโรคพังผืดใต้ลิ้น (Tongue Tie) ได้ที่นี่เลยค่ะ


//www.breastfeedingthai.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=345949







Free TextEditor




 

Create Date : 30 ธันวาคม 2552    
Last Update : 22 พฤศจิกายน 2553 10:03:09 น.
Counter : 20247 Pageviews.  


VOCALIST
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add VOCALIST's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.