Each time history repeats itself, the price goes up. ~Author Unknown
Group Blog
 
All Blogs
 

เดอะเกรทอีสเทิร์น ราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก– ตอนที่สี่ (จบ)

พิรัส จันทรเวคิน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงให้กำเนิดกองทัพเรือไทยสมัยใหม่


หลังจากที่ปล่อยลงน้ำได้ไม่นาน งานสร้างตัวเรือส่วนบน (superstructure) และงานติดตั้งเครื่องจักรตลอดจนอุปกรณ์สำคัญในการเดินเรือก็เริ่มขึ้น ซึ่งต้องใช้เวลานานกว่าสิบแปดเดือนจึงแล้วเสร็จ ด้วยงบประมาณที่บานปลายจากที่เคยคาดการณ์ไว้แต่แรกถึงสี่เท่า ทำให้ทั้งตัวบรูเนลและอีสเทิร์นนาวิเกชั่นมีภาระที่หนักอึ้งรออยู่เบื้องหน้า นั่นก็คือการถอนทุนคืนจากเจ้าเรือยักษ์ลำนี้

6 กันยายน ปี 1859 และแล้วก็ถึงวันที่เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นจะได้ฤกษ์ออกทะเลเป็นครั้งแรก บรูเนลในฐานะที่เป็นเจ้าของโปรเจคเดินทางมาถึงที่เรือและเข้าเลือกห้องพักที่ใต้ดาดฟ้า สุขภาพของเขาในตอนนี้ทรุดโทรมลงจากเดิมเป็นอย่างมาก อันเป็นผลมาจากการตรากตรำงานหนักตลอดระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา และในระหว่างที่เขากำลังยืนเป็นแบบให้ช่างภาพหนังสือพิมพ์ถ่ายภาพอยู่ที่บนดาดฟ้าเรือนั้นก็ได้เกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันขึ้น บรูเนลมีอาการโรคหัวใจกำเริบจนต้องหามส่งโรงพยาบาล ทำให้สก๊อตต์ รัสเซลต้องเข้ามารับหน้าที่เป็นหัวหน้างานแทนในการนำเรือออกทะเล

เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นแล่นตัดคลื่นในมหาสมุทรมุ่งหน้าสู่เมืองโฮลี่เฮดด์ทางตอนเหนือของแคว้นเวลส์ เมืองนี้จะเป็นบ้านแห่งใหม่ของมันในการขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อไปยังทวีปอเมริกา กัปตันคนแรกของเรือมีชื่อว่าวิลเลียม แฮริสัน กัปตันแฮริสันเคยทำงานให้กับสายการเดินเรือคูนาร์ดมาก่อนและเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในเส้นทางเดินเรือระหว่างยุโรปกับอเมริกา ในวันที่ 9 กันยายน ขณะที่เรือกำลังแล่นผ่านเมืองเฮสติ้งในช่องแคบอังกฤษ หม้อน้ำของเรือก็ได้เกิดระเบิดขึ้นเสียงดังสนั่นหวั่นไหว คร่าชีวิตคนงานไปห้าคนและทำให้อีกหลายสิบคนต้องได้รับบาดเจ็บ แรงระเบิดทำให้พื้นดาดฟ้าเรือส่วนหน้าฉีกขาดและส่งให้ปล่องควัน (Funnel) หมายเลข 1 กระเด็นสูงขึ้นไปในอากาศ ระเบิดที่มีความรุนแรงในระดับนี้สามารถที่จะฉีกลำตัวเรือออกเป็นชิ้นๆและทำให้เรือลำอื่นจมลงสู่ท้องมหาสมุทร แต่ไม่ใช่กับเรือเดอะเกรทอีสเทิร์นของบรูเนลที่ได้รับการออกแบบมาเป็นอย่างดี ให้มีผนังลำตัวเรือสองชั้นและจัดแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นห้าสิบส่วนแยกออกจากกันด้วยผนังกั้นน้ำ (Bulkhead) เมื่อข่าวการระเบิดแพร่สะพัดออกไปตามหน้าหนังสือพิมพ์ สังคมก็เริ่มตั้งคำถามและเรียกร้องหาตัวคนที่รับผิดชอบกับโศกนาฎกรรม รัสเซลในฐานะที่เป็นหัวหน้าวิศวกรและสถาปนิกผู้ออกแบบจึงเลี่ยงไม่ได้ที่จะตกเป็นเป้าของข้อกล่าวหาและเป็นจำเลยของสังคม เขารอดจากตะรางมาได้อย่างหวุดหวิด แต่ก็ไม่ได้รับการว่าจ้างให้ทำการสร้างเรือใดๆอีกเลยไปจนตลอดชีวิต



แรกเริ่มเดิมทีนั้นเรือเดอะเกรทอีสเทิร์นถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ขนส่งผู้โดยสารในเส้นทางเดินเรือระยะไกลระหว่างยุโรปกับออสเตรเลีย แต่ด้วยงบประมาณการสร้างที่บานปลายทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นไม่สามารถวิ่งเรือในเส้นทางสายนี้ได้ ด้วยเหตุนี้เรือจึงถูกใช้วิ่งในเส้นทางสายข้ามแอตแลนติก (transatlantic route) สำหรับการเดินทางระหว่างยุโรปกับอเมริกา แต่ก็ต้องประสพกับปัญหาตามมาอีก เนื่องจากว่าเรือไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อใช้วิ่งในเส้นทางเดินเรือสายนี้ ความเร็วสูงสุดที่ 14 นอตของมันยังต่ำเกินไปเมื่อเทียบกับเรือเดินสมุทรลำอื่นที่สามารถทำความเร็วได้สูงกว่า ในส่วนของเส้นทางสายยุโรปกับออสเตรเลียนั้น เมื่อมีการเปิดใช้คลองสุเอซในปี 1869 เป็นผลให้สามารถร่นระยะทางเดินเรือระหว่างยุโรปกับเอเชียลงไปได้เกือบครึ่ง ซึ่งเมื่อมองโดยผิวเผินแล้วก็น่าจะเป็นผลดีกับเรือเดอะเกรทอีสเทิร์น เพราะว่าเรือสามารถจะบรรทุกผู้โดยสารได้มากขึ้นเนื่องจากใช้ถ่านหินน้อยลงในการเดินทาง ทว่าโชคร้ายที่ด้วยขนาดความกว้างของลำตัวเรือทำให้เจ้ายักษ์ใหญ่ลำนี้ไม่สามารถแล่นผ่านคลองสุเอซที่แคบกว่าได้ ซึ่งนั่นก็หมายความว่าความได้เปรียบทางด้านความเร็วของมันถูกทำให้หมดค่าไปในทันทีที่มีการเปิดใช้คลอง

ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะไม่เข้าข้างเรือที่ถือได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกลำนี้เอาเสียเลย เพราะหลังจากที่เปิดสายการเดินเรือข้ามแอตแลนติกได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามกลางเมืองอเมริกาขึ้น ทำให้จำนวนผู้โดยสารหดหายลงจนไม่อาจที่จะทำกำไรได้ ซ้ำร้ายยังเกิดอุบัติเหตุเรือชนกับหินโสโครกที่นอกฝั่งลองไอส์แลนด์ เป็นผลให้ตัวเรือเกิดรอยฉีกขาดเป็นทางยาว 85 ฟุต ซึ่งเมื่อเทียบกับอุบัติเหตุที่เรือไตตานิคชนกับภูเขาน้ำแข็งในอีกห้าสิบกว่าปีให้หลังแล้ว ถือได้ว่ารุนแรงกว่าหลายสิบเท่า แต่เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็สามารถเอาตัวรอดมาได้อย่างง่ายดาย เป็นเพราะผลของการออกแบบชั้นยอดของบรูเนลผู้ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรมือหนึ่งแห่งยุค ทว่าด้วยค่าใช้จ่ายในการซ่อมแซมที่สูงถึง 70,000 ปอนด์สเตอริงประกอบกับสงครามตัดราคาค่าโดยสารของบรรดาเหล่าสายการเดินเรือยักษ์ใหญ่ ทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นจำต้องถอนตัวออกจากการแข่งขันและประกาศขายเรือลำนี้ทิ้งในปี 1864

ดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลกกับเรือยักษ์ลำนี้เข้าให้แล้ว หลังจากที่ประสพความล้มเหลวกับบทบาทของเรือขนส่งผู้โดยสารข้ามมหาสมุทร เดอะเกรทอีสเทิร์นกำลังจะได้พบกับบทบาทใหม่ของมัน บทบาทซึ่งเหมาะสมและคู่ควรกับศักดิ์ศรี และจะทำให้มันกลายเป็นที่จดจำของคนรุ่นหลังสืบมาจนกระทั่งถึงยุคปัจจุบัน โลกในยุคแห่งการปฏิวัติอุตสาหกรรมล้วนเต็มไปด้วยนวัตกรรมแปลกใหม่ที่สร้างความสะดวกสบายให้กับชีวิต หนึ่งในนั้นก็คือระบบสื่อสารทางโทรเลข เป็นครั้งแรกที่มนุษย์สามารถติดต่อสื่อสารกันในรูปแบบที่เรียกว่าเกือบจะโดยทันทีทันใดโดยปราศจากข้อจำกัดทางด้านระยะทาง ทว่าการใช้โทรเลขในยุคนั้นยังคงมีจำกัดอยู่เฉพาะบนผืนแผ่นดินใหญ่ ด้วยความกว้างของท้องมหาสมุทรทำให้การติดต่อสื่อสารระหว่างทวีปยุโรปกับอเมริกายังคงต้องพึ่งพาระบบไปรษณีย์เป็นหลัก ซึ่งต้องใช้เวลาเป็นแรมอาทิตย์ในการรับส่งข้อความ ทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเมื่อบริษัททรานส์แอตแลนติกเคเบิ้ลมีโครงการที่จะวางสายโทรเลขใต้ทะเลเพื่อเชื่อมระหว่างทั้งสองทวีป ด้วยลำตัวเรือที่ได้รับการออกแบบมาให้มีความคงทนต่อสภาพคลื่นลมในทะเลเป็นเยี่ยม ผนวกกับระบบขับเคลื่อนทั้งแบบกังหันข้างและแบบใบจักรท้ายของมัน ทำให้เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการรับภาระหน้าที่ที่มีความสำคัญยิ่งต่อมนุษยชาตินี้



หลังจากที่ถูกขายให้กับเจ้าของใหม่ได้ไม่นาน เรือก็ถูกเช่าโดยบริษัททรานส์แอตแลนติกเคเบิ้ลสำหรับภาระกิจวางสายโทรเลขข้ามแอตแลนติก (transatlantic telegraph cable) เส้นที่สอง จากไอร์แลนด์ถึงริมฝั่งนิวฟันด์แลนด์ในแคนาดา เรือได้รับการดัดแปลงโดยนำห้องพักผู้โดยสารบางส่วนออกเพื่อให้เหลือพื้นที่ว่างสำหรับม้วนเคเบิ้ลที่มีความยาวนับพันไมล์ และแล้วในวันที่ 24 มิถุนายน ปี 1865 เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็ออกทะเลอีกครั้ง ภายใต้การบังคับการของกัปตันเรือคนใหม่ - เซอร์เจมส์ แอนเดอร์สัน ภายในระวางบรรทุกของมันเต็มไปด้วยม้วนเคเบิ้ลที่มีน้ำหนักร่วม 7,000 ตัน ภาระกิจที่มีความยากลำบากครั้งนี้ต้องใช้เวลายาวนานถึงสองปีจึงแล้วเสร็จ โดยเรือได้วางสายเคเบิ้ลไปเป็นระยะทางทั้งสิ้น 2,700 ไมล์ แม้ว่าจะไม่ใช่สายโทรเลขข้ามแอตแลนติกเส้นแรกของโลก แต่ก็เป็นสายที่มีกำลังส่งสูงกว่าเส้นแรกถึง 50 เท่า สามารถส่งข้อความเข้าระหัสได้เป็นจำนวน 8 คำภายในเวลาหนึ่งนาที เมื่อเทียบกับสายโทรเลขเส้นแรกที่ต้องใช้เวลาในการส่งสัญญาณที่ยาวนานถึงหนึ่งชั่วโมงครึ่ง หลังจากความสำเร็จครั้งนี้ เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็ได้ออกปฏิบัติภารกิจวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลเพื่อเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆของโลกเข้าด้วยกัน เรือได้ออกปฏิบัติการทางทะเลอย่างต่อเนื่องในช่วงระหว่างปี 1866 - 1878 โดยรวมแล้วมันได้วางสายเคเบิ้ลไปทั้งสิ้นเป็นระยะทางกว่า 26,000 ไมล์ ทว่าวันชื่นคืนสุขของเจ้าเรือยักษ์ลำนี้กำลังจะหมดลงเมื่อเซอร์วิลเลียม ซีเมนส์ ได้สร้างเรือวางสายเคเบิ้ลใต้ทะเลลำแรกของโลกขึ้น ชื่อ ซีเอส ฟาราเดย์

เมื่อมีเรือรุ่นใหม่ที่ถูกออกแบบมาโดยเฉพาะเข้ามาแทนที่ ยุคทองของเรือเดอะเกรทอีสเทิร์นก็เป็นอันต้องสิ้นสุดลง มีความพยายามที่จะนำมันกลับมาใช้ขนส่งผู้โดยสารข้ามแอตแลนติกอีกครั้ง แต่ก็ไม่เป็นผล เพราะไม่สามารถจะแข่งขันกับเรือลำอื่นได้ ด้วยเหตุนี้เรือจึงถูกจอดทิ้งไว้เฉยๆอยู่เป็นเวลาถึงสิบสองปี จนกระทั่งถูกขายต่อให้กับเจ้าของห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งในเมืองลิเวอร์พูล เพื่อนำไปใช้เป็นป้ายโฆษณาลอยน้ำขนาดใหญ่ ต่อมาเรือได้ถูกขายทิ้งในปี 1888 เพื่อนำไปรื้อซากเป็นเศษเหล็ก การรื้อซากเรือเป็นไปด้วยความยากลำบากและต้องใช้เวลาอยู่ถึงสองปี เนื่องจากเรือมีผนังลำตัวสองชั้นและมีการจัดแบ่งพื้นที่ภายในออกเป็นหลายส่วน และแล้วในที่สุดชะตาชีวิตของเรือที่ถือได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกลำนี้ก็มีอันต้องปิดฉากลง เนื่องจากมันไม่ได้เป็นที่ต้องการของใครอีกต่อไป เหลือทิ้งไว้ก็เพียงตำนานให้เป็นที่เล่าขานจดจำของคนรุ่นหลัง ทั้งในเรื่องของเทคโนโลยี่การสร้างและการออกแบบที่ล้ำหน้าเกินยุคสมัย ตลอดจนถึงเรื่องอาถรรพ์ของเรือที่ทำให้ผู้ที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับมันต้องประสพกับเคราะห์กรรมต่างๆนาๆ ไม่เว้นแม้กระทั่งตัวผู้ที่สร้างมันขึ้นมาอย่างมิสเตอร์บรูเนลเอง เพราะว่าเขาได้เสียชีวิตลงในเวลาต่อมา จากอาการของโรคหัวใจกำเริบบนเรือในครั้งนั้น



"There in the crowds stood I, and singled you out with attachment;
Nor forget I to sing of the wonder, the ship as she swam up my bay,
Well-shaped and stately the Great Eastern swam up my bay, she was 600 feet long,
Her moving swiftly surrounded by myriads of small craft I forget not to sing."
WALT WHITMAN's Year of Meteors


<จบบริบรูณ์>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 19 สิงหาคม 2553    
Last Update : 30 สิงหาคม 2553 9:48:54 น.
Counter : 2217 Pageviews.  

เดอะเกรทอีสเทิร์น ราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก– ตอนที่สาม

พิรัส จันทรเวคิน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงให้กำเนิดกองทัพเรือไทยสมัยใหม่


ก่อนที่จะเริ่มโครงการได้ไม่นานก็เกิดไฟไหม้ใหญ่ขึ้นที่อู่ต่อเรือของกัปตันรัสเซล เผาผลาญทำลายทุกสิ่งทุกอย่างย่อยยับลงไปกับกองเพลิง และที่ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือรัสเซลไม่ได้ทำประกันวินาศภัยอู่ต่อเรือของเขาไว้ จึงจำเป็นต้องกู้ยืมเงินมาเป็นจำนวนมหาศาลเพื่อทำการซ่อมแซม หนี้สินจำนวนมากเหล่านี้ทำให้ฐานะทางการเงินของเขาเริ่มมีปัญหาและอาจส่งผลให้โครงการต้องมีอันสะดุดลง แต่ทุกอย่างก็สามารถผ่านพ้นไปได้ด้วยดี ทว่าหลังจากที่เริ่มโครงการได้ไม่นานนักก็เกิดอีกปัญหาหนึ่งตามมา นั่นก็คือได้เกิดความขัดแย้งขึ้นระหว่างบรูเนลกับรัสเซล บรูเนลสงสัยว่ารัสเซลจะยักยอกเหล็กต่อเรือเพื่อนำไปขายใช้หนี้ ในขณะที่รัสเซลเองก็ไม่พอใจที่บรูเนลเข้ามาควบคุมโครงการอย่างใกล้ชิดในทุกด้าน รวมถึงเรื่องการเบิกจ่ายวัตถุดิบ ความขัดแย้งในครั้งนี้รุนแรงถึงขั้นที่บรูเนลนำเรื่องเข้าที่ประชุมของคณะกรรมการบริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่น เสนอให้ทางบริษัทฯระงับการเบิกจ่ายเงินล่วงหน้าของรัสเซล ทำให้รัสเซลตอบโต้ด้วยการสั่งปิดอู่ต่อเรือของเขา เป็นผลให้โครงการต้องเลื่อนออกไปโดยไม่มีกำหนด

การหยุดดำเนินโครงการทำให้ฐานะทางการเงินของรัสเซลเข้าขั้นวิกฤตเนื่องจากขาดเงินทุนหมุนเวียน รัสเซลอาจถึงขั้นที่จะต้องกลายเป็นบุคคลล้มละลาย และธนาคารในฐานะที่เป็นเจ้าหนี้ก็จะเข้ามายึดอู่ต่อเรือของเขารวมถึงเรือที่ยังต่อไม่เสร็จลำนี้ด้วย ซึ่งนั่นก็หมายความว่าอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นจะต้องสูญเงินไปเป็นจำนวนมหาศาล เพราะบริษัทฯได้ลงทุนไปกับโครงการนี้แล้วเป็นจำนวนถึงหนึ่งในสี่ของมูลค่าโครงการทั้งหมด นับว่าโชคยังเข้าข้างบรูเนลกับเรือยักษ์ลำนี้ของเขาอยู่บ้าง เพราะว่าเมื่อมีการประเมินมูลค่าทรัพย์สินของรัสเซลแล้ว พบว่ารัสเซลมีมูลค่าหนี้สินมากกว่าทรัพย์สิน ด้วยเหตุนี้ธนาคารจึงอนุญาตให้รัสเซลดำเนินโครงการต่อไปได้ โดยกำหนดให้เป็นโครงการสุดท้ายก่อนที่จะนำอู่ต่อเรือของเขาออกขายทอดตลาด ในขณะเดียวกันรัสเซลเองเมื่อรู้ตัวว่าฐานะทางการเงินของเขาไม่เอื้ออำนวยก็ได้ออกหนังสือส่งมอบเรือที่ยังต่อไม่เสร็จลำนี้ให้กับอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่น และได้ขอเปลี่ยนฐานะจากผู้รับเหมาโครงการไปเป็นลูกจ้างของบริษัทฯหลังจากที่ทางอิสเทิร์นสตีมฯได้ตกลงเจรจาขอเช่าอู่ต่อเรือที่เขาจดจำนองเอาไว้กับธนาคาร เพื่อให้สามารถดำเนินโครงการต่อไปได้ และด้วยเหตุนี้อำนาจสิทธิ์ขาดในการดำเนินโครงการทั้งหมดจึงตกอยู่กับบรูเนลไปโดยปริยาย



ปี 1857 การสร้างเรือดำเนินไปเป็นเวลาสามปี บรูเนลตรวจตราดูในรายละเอียดทุกอย่างไม่เว้นแม้แต่ในเรื่องปลีกย่อย ทั้งนี้เพราะเขาต้องการให้เรือที่เป็นผลงานชิ้นสุดท้ายในชีวิตลำนี้ออกมาดีที่สุด การหักโหมงานอย่างหนักเป็นผลให้สุขภาพของเขาทรุดโทรมลงอย่างรวดเร็ว และแล้วในที่สุดก็ใกล้ถึงการทำพิธีปล่อยเรือลงน้ำ ด้วยภาระค่าใช้จ่ายอันหนักอึ้งในการเช่าสถานที่ บรูเนลจึงจำเป็นต้องเลื่อนกำหนดการทำพิธีปล่อยเรือให้ใกล้เข้ามาเพื่อเป็นการตัดลดรายจ่าย เขาได้เลือกเอาวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่น้ำทะเลขึ้นสูงสุดเพื่อทำการปล่อยเรือ การปล่อยเรือยักษ์ลำนี้ลงน้ำเป็นงานที่มิอาจจะกระทำได้โดยง่าย ด้วยขนาดลำตัวอันมหึมาของมันทำให้ไม่สามารถที่จะหาอู่แห้งที่มีขนาดใหญ่พอเพื่อทำการต่อเรือได้ ด้วยเหตุนี้เรือเดอะเกรทอีสเทิร์นจึงถูกต่อขึ้นที่ริมฝั่งแม่น้ำเทมส์ห่างจากอู่ต่อเรือมิลวอลล์ของรัสเซลออกไปไม่ไกลนัก โดยวางลำตัวเรือขนานไปกับแนวแม่น้ำเพื่อให้สามารถเอาด้านข้างลำตัวลงในเวลาที่ทำการปล่อยลงน้ำ เพราะหากว่าเอาทางด้านท้ายเรือลงเหมือนเช่นการปล่อยเรือแบบทั่วไป ก็อาจทำให้เรือติดตื้นได้เนื่องจากว่าตัวเรือมีความยาวมาก วิธีการปล่อยเรือลงน้ำตามแบบของบรูเนลนั้นกระทำโดยการเลื่อนลำตัวเรือลงในรางปล่อยอย่างช้าๆด้วยการค่อยๆผ่อนสายโซ่สลิงที่ยึดติดกับตัวเรือ เรียกว่าวิธีการปล่อยแบบ “Controlled Launch” วิธีการนี้ได้รับการคัดค้านอย่างหนักจากรัสเซลผู้ซึ่งผ่านประสพการณ์การต่อเรือมาแล้วอย่างโชกโชน รัสเซลต้องการให้ใช้วิธีการปล่อยเรือลงน้ำแบบทั่วไปที่ได้รับการพิสูจน์มาแล้ว โดยปล่อยให้ลำตัวเรือเลื่อนลงในรางปล่อยอย่างอิสระ เรียกว่าวิธีการปล่อยแบบ “Free Launch” ทว่าบรูเนลเป็นผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในการตัดสินใจ และเขาก็ได้ตัดสินใจเลือกวิธีการปล่อยเรือลงน้ำตามแบบของเขา

และแล้ววันที่ชาวมหานครลอนดอนตั้งตารอคอยมาเป็นแรมปีก็มาถึง บรูเนลต้องการให้จัดพิธีปล่อยเรือลงน้ำแบบเรียบง่าย ไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากนัก ทว่าทางอีสเทิร์นสตีมฯซึ่งกำลังประสพปัญหาทางการเงินอย่างหนักได้ถือโอกาสนี้จำหน่ายตั๋วชม 3,000 ใบให้กับผู้สนใจทั่วไป ทันทีที่ข่าวการทำพิธีปล่อยเรือแพร่สะพัดออกไป ก็ได้มีผู้คนหลั่งไหลมาร่วมชมงานเป็นจำนวนเรือนหมื่น จนคราคร่ำพื้นที่อู่ต่อเรือไปหมด ฝูงชนจำนวนมากเหล่านี้สร้างความหงุดหงิดใจให้กับบรูเนลเป็นล้นพ้น ทุกสิ่งทุกอย่างดูเหมือนว่าจะผิดพลาดไปหมด รวมถึงวิธีการปล่อยเรือลงน้ำของเขาด้วย ด้วยน้ำหนักร่วมสองหมื่นกว่าตันของมัน ทำให้สายโซ่ที่ยึดกับลำตัวเรือไม่อาจที่จะทานน้ำหนักได้ ทันทีที่คนงานถอดสลักออกและปล่อยให้เรือไหลเลื่อนลงไปตามรางปล่อย สายโซ่ก็ขาดผึงออกจากกันและสะบัดไปโดนคนงานจนบาดเจ็บไปห้าคน โดยหนึ่งในนั้นมีอาการสาหัส บรูเนลจำเป็นต้องประกาศยกเลิกการทำพิธีปล่อยเรืออย่างกระทันหันท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวของฝูงชน ด้วยศักดิ์ศรีความเป็นวิศวกรมือหนึ่งแห่งยุคของบรูเนล ความผิดพลาดครั้งนี้นับเป็นการเสียหน้ายิ่งนัก



หนังสือพิมพ์ต่างพากันประโคมข่าวเรื่องของเรือที่ยังคงค้างเติ่งอยู่บนรางปล่อยเพราะผู้ที่สร้างมันไม่สามารถจะหาวิธีที่ได้ผลในการปล่อยลงน้ำ ทำให้บรูเนลต้องใช้ความพยายามอย่างหนักเพื่อคิดค้นวิธีนำเอาเจ้ายักษ์ใหญ่ลำนี้ลงน้ำ ได้มีความพยายามตามมาอีกสองครั้งในเวลาไล่เรี่ยกัน แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งอีกสองเดือนให้หลัง ด้วยการใช้กว้านไฮโดรลิคแรงสูงที่ต้องไปเช่ามาจากบริษัทอื่น บรูเนลถึงสามารถปล่อยเรือของเขาลงน้ำได้สำเร็จ แต่ก็หมดค่าใช้จ่ายไปในราว 170,000 ปอนด์ ทำให้บริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่นอยู่ในภาวะที่ใกล้ล้มละลาย

<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 10 สิงหาคม 2553    
Last Update : 14 สิงหาคม 2553 19:11:32 น.
Counter : 897 Pageviews.  

เดอะเกรทอีสเทิร์น ราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก– ตอนที่สอง

พิรัส จันทรเวคิน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงให้กำเนิดกองทัพเรือไทยสมัยใหม่


หลังจากที่มีการหารือกันอย่างเคร่งเครียด และแล้วในที่สุดคณะกรรมการผู้พิจารณาก็มีมติอนุมัติโครงการของบรูเนล อาจจะเป็นเพราะด้วยชื่อเสียงกับความสำเร็จที่ผ่านมาของเขา ที่ทำให้คณะกรรมการที่เหลืออยู่ในที่ประชุมยินยอมอนุมัติเงินงบประมาณก้อนโตสำหรับโครงการนี้ ขั้นตอนในลำดับถัดมาก็คือการเปิดซองประกวดราคา ซึ่งผู้เข้าร่วมประมูลที่เสนอราคามาต่ำที่สุดได้แก่อู่ต่อเรือของ กัปตันจอห์น สก๊อตต์ รัสเซล ซึ่งเสนอราคามาที่ 377,000 ปอนด์ กัปตันรัสเซลได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรต่อเรือที่มีความเชี่ยวชาญที่สุดในห้วงเวลานั้น ชื่อเสียงของเขามาจากการนำทฤษฏีในวิชากลศาสตร์ของไหล (Fluid Dynamics) เข้ามาประยุกต์ใช้กับวิธีการออกแบบลำตัวเรือ ทำให้เรือสามารถแล่นฝ่าคลื่นได้ดีขึ้นจึงทำความเร็วได้สูงและมีความคงทนต่อสภาพคลื่นลมในทะเล หากว่าจะมีบุคคลสองคนในโลกที่เหมาะสมกับโครงการที่มีความท้าทายในระดับนี้ สองคนที่ว่านั้นคงจะเป็นใครอื่นไปไม่ได้นอกจากรัสเซลกับบรูเนล

กุมภาพันธ์ ปี 1854 งานสร้างเรือเริ่มต้นขึ้นที่อู่ต่อเรือของกัปตันรัสเซลที่มิลวอลล์ในย่านอีสต์เอนด์ รัสเซลรับหน้าที่เป็นสถาปนิกผู้ออกแบบ ในขณะที่บรูเนลเป็นผู้ดูแลรับผิดชอบโครงการทั้งหมด ข่าวคราวที่คึกโครมตามหน้าหนังสือพิมพ์ทำให้มีประชาชนหลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศเพื่อมาชมการสร้างเรือ จนทำให้ย่านที่เงียบสงบแถบนั้นครึกครื้นขึ้นมาราวกับว่ามีงานเทศกาลประจำปี แรกเริ่มเดิมทีนั้นบรูเนลตั้งใจจะตั้งชื่อเรือของเขาว่า “ลาวิตัน” อันมีความหมายว่าจ้าวสมุทร แต่มหาชนชาวอังกฤษได้พากันเรียกขานเรือที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในโลกลำนี้จนติดปากกันทั่วไปว่า “เดอะเกรทอีสเทิร์น” ด้วยเหตุนี้เรือยักษ์ของบรูเนลจึงจำต้องรับชื่อนี้ไปใช้โดยปริยาย



เดอะเกรทอีสเทิร์นจัดได้ว่าเป็นเรือที่รวบรวมความเป็นที่สุดแห่งยุคสมัยเข้าไว้ด้วยกัน ลำตัวเรือมีความยาวทั้งสิ้น 692 ฟุต ยาวกว่าเรือที่ใหญ่ที่สุดในยุคนั้นถึงสองเท่า สร้างขึ้นจากเหล็กน้ำหนักรวม 8,600 ตันที่ถูกนำมารีดและตัดออกเป็นแผ่นที่ความหนา 7/8 นิ้วจำนวนกว่า 30,000 แผ่น นำมาประกอบเข้าด้วยกันเป็นลำตัวเรือโดยใช้หมุดยึดทั้งสิ้นกว่าสามล้านตัว และเพื่อความคงทนต่อสภาพคลื่นลมในทะเล ลำตัวเรือจึงถูกออกแบบให้มีสองชั้น โดยมีความกว้างระหว่างชั้นสามฟุต หากว่าเรือชนกับหินโสโครกจนผนังลำตัวเรือชั้นที่หนึ่งฉีกขาด ก็ยังคงมีผนังชั้นที่สองคอยกั้นน้ำทะเลเอาไว้ ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเรือยักษ์ลำนี้เป็นเรือที่ไม่มีวันจม การออกแบบของบรูเนลให้เรือมีผนังลำตัวเรือแบบสองชั้นหรือ Double Hull Design นี้ถือได้ว่าไปไกลเกินยุคสมัยถึงหนึ่งร้อยปี เพราะเพิ่งจะมีการนำมาใช้อีกครั้งก็ในช่วงกลางศตวรรษที่ยี่สิบด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

นอกเหนือจากการออกแบบลำตัวเรือที่มีความล้ำสมัยแล้ว ทางด้านระบบขับเคลื่อนก็มีความก้าวหน้าล้ำสมัยไม่แพ้กัน เรือยักษ์ลำนี้ขับเคลื่อนด้วยพลังจากเครื่องจักรไอน้ำซึ่งเป็นเทคโนโลยี่ที่เพิ่งถูกคิดค้นขึ้นมาได้ไม่นานนัก โดยไอน้ำที่ได้จากหม้อต้มน้ำจะส่งกำลังให้เพลาขับซึ่งจะไปหมุนใบจักรท้าย (Propeller) ทำให้เรือเคลื่อนที่ไปข้างหน้าที่ความเร็ว 14 นอต นอกจากใบจักรท้ายขนาดยักษ์จำนวนหนึ่งใบจักรแล้ว เรือลำนี้ยังมีระบบขับเคลื่อนสำรองเป็นกังหัน (Paddles) พลังไอน้ำที่กราบเรือทั้งสองข้าง และในกรณีที่ไม่สามารถหาถ่านหินมาเป็นเชื้อเพลิง เรือก็ยังคงสามารถขับเคลื่อนต่อไปได้โดยอาศัยแรงลมในทะเล เนื่องจากมีการติดตั้งเสากระโดงเรือ (Mast) จำนวนหกเสาสำหรับใช้ในการขึงใบเรือ ระบบขับเคลื่อนที่แยกต่างหากจากกันทั้งสามระบบนี้ทำให้เรือสามารถเดินทางระยะไกลไปยังสถานที่ต่างๆทั่วโลก โดยที่ไม่ต้องกังวลว่าจะเกิดปัญหาจนต้องลอยลำจอดนิ่งอยู่กลางท้องมหาสมุทร



คนงานกว่า 12,000 คนถูกว่าจ้างมาเพื่อทำการสร้างเรือยักษ์ที่มีขนาดมหึมาลำนี้ นอกจากทีมคนงานที่มีหน้าที่ตัดเหล็กแล้ว ยังมีทีมคนงานตอกหมุดอีกกว่า 200 ทีม แบ่งกันทำหน้าที่ตอกหมุดร้อนๆที่มีอุณหภูมิร่วมพันองศาเข้ากับแผ่นเหล็กเพื่อประกอบขึ้นเป็นลำตัวเรือ สำหรับภายในช่องลำตัวเรือที่มีขนาดคับแคบ ก็มีการใช้แรงงานเด็กนับพันมุดเข้าไปเพื่อทำการตอกหมุดจากด้านใน สภาพความเป็นอยู่ในการทำงานเรียกได้ว่าย่ำแย่เป็นที่สุด มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นอยู่บ่อยครั้ง กล่าวกันว่าเมื่อมีการรื้อซากเรือเพื่อนำไปทำเศษเหล็กในปี 1889 นั้น คนงานที่รื้อซากเรือได้ค้นพบซากโครงกระดูกของมนุษย์สองร่างติดอยู่ภายในช่องว่างระหว่างผนังลำตัวเรือทั้งสองชั้น โดยที่หนึ่งในนั้นเป็นโครงกระดูกร่างเล็กของเด็กผู้ชายที่ถูกขังทั้งเป็นในระหว่างที่กำลังสร้างเรือ และสำหรับคนที่เชื่อในเรื่องราวเหนือธรรมชาติแล้ว อาจกล่าวได้ว่านี่เป็นเรือที่ต้องคำสาป เพราะดูเหมือนว่าโชคชะตาจะเล่นตลกกับเรือที่ถือได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลกลำนี้นับตั้งแต่วันที่ยังทำการสร้างอยู่ในอู่เลยเสียด้วยซ้ำ

<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 28 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 10 สิงหาคม 2553 18:50:45 น.
Counter : 1080 Pageviews.  

เดอะเกรทอีสเทิร์น ราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก– ตอนที่หนึ่ง

พิรัส จันทรเวคิน

บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อเป็นการน้อมถวายพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระผู้ทรงให้กำเนิดกองทัพเรือไทยสมัยใหม่


ห้าสิบกว่าปีก่อนที่จะมีเรือไตตานิค โลกก็ได้รู้จักกับปราการเหล็กลอยน้ำที่อาจถือได้ว่าเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมแห่งศตวรรษที่สิบเก้า นั่นก็คือเรือเดินสมุทรที่มีชื่อว่า “เดอะเกรทอีสเทิร์น” หรือราชันย์แห่งท้องทะเลตะวันออก ผลงานสร้างสรรอันสุดอลังการของ อิสซัมบาร์ด คิงดอม บรูเนล เจ้าพ่อแห่งวงการรถไฟในสมัยนั้น หากว่าเรือลำนี้ถูกสร้างขึ้นในศตวรรษที่ยี่สิบก็คงจะมิใช่ของแปลกอะไร แต่ทว่าในช่วงกลางศตวรรษที่สิบเก้า ในยุคที่เรือส่วนใหญ่ยังทำด้วยไม้และขับเคลื่อนด้วยแรงลมจากใบเรือ เรือยักษ์ที่ทำขึ้นมาจากเหล็กทั้งลำ มีระวางขับน้ำร่วมสองหมื่นตันและขับเคลื่อนด้วยพลังจากเครื่องจักรไอน้ำลำนี้ อาจถือได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของโลก และนี่ก็คือเรื่องราวของเรือธรรมดาที่ไม่ธรรมดาลำนี้

ลอนดอน ปี 1854 “ท่านสุภาพบรุษ ตอนนี้ผมมีความพร้อมแล้วที่จะลงมือสร้างเรือเดอะเกรทอีสเทิร์น ผมจะสร้างให้มันเป็นปราการเหล็กลอยน้ำที่โลกไม่เคยพบเห็นมาก่อน” ทันทีที่สิ้นสุดคำประกาศ บรรดาแขกผู้มีเกียรติที่มาร่วมเป็นสักขีพยานต่างก็ปรบมืออย่างกึกก้องให้กับบรุษวัยกลางคนเรือนร่างเตี้ยเล็กแต่มีแววตาที่เปี่ยมไปด้วยความเฉลียวฉลาดและท้าทาย ผู้ซึ่งกำลังจะกลายเป็นตำนานของวงการต่อเรือ – อิสซัมบาร์ด คิงดอม บรูเนล

บรูเนลนั้นได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรโยธาที่มีชื่อเสียงโด่งดังที่สุดในอังกฤษยุควิคตอเรียน เขาสร้างชื่อมาจากการสร้างสะพานและวางรางรถไฟ และเป็นผู้สร้างมาตรฐานการวางรางรถไฟแบบกว้าง ซึ่งให้ทั้งความปลอดภัยและความสะดวกสบายแก่ผู้โดยสาร และนอกจากนี้ยังสามารถรองรับความเร็วของรถไฟที่เพิ่มสูงขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีข้อเสียในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างที่สูงกว่ารางรถไฟที่มีความกว้างตามมาตรฐานทั่วไป และด้วยความเป็นคนที่คำนึงถึงแต่ผลงานทางวิศวกรรมโดยที่ไม่แยแสสนใจกับค่าใช้จ่ายในการก่อสร้างนี่เอง ที่ทำให้บรูเนลได้รับการเรียกขานเปรียบเปรยจากบรรดานักลงทุนในสมัยนั้นว่าเป็น “นโปเลียนแห่งวงการวิศวกรรม”



จักรวรรดิอังกฤษในรัชสมัยของสมเด็จพระราชินีวิคตอเรียมีอณาเขตที่แผ่ไพศาลครอบคลุมไปทั่วทั้งพื้นที่หนึ่งในสี่ของโลก จนได้รับฉายาว่าเป็นดินแดนที่พระอาทิตย์ไม่เคยตกดิน การเดินทางติดต่อค้าขายระหว่างประเทศแม่กับดินแดนอณานิคมโพ้นทะเลในสมัยนั้นกระทำโดยใช้การเดินเรือเป็นหลัก และเส้นทางเดินเรือที่สามารถทำกำไรได้มากที่สุดก็คือเส้นทางที่มุ่งสู่ทิศตะวันออกไปยังทวีปเอเชียและออสเตรเลีย การเดินทางในเส้นทางสายนี้ถูกครอบงำโดยเรือใบขนาดใหญ่ที่มีความเร็วสูงแบบคลิปเปอร์ที่เดินทางล่องลงใต้อ้อมแหลมกู๊ดโฮป ด้วยเหตุที่ว่ายังไม่มีเรือกลไฟลำใดที่สามารถจะบรรทุกถ่านหินได้ในปริมาณที่มากพอสำหรับการเดินทางในระยะทางที่ยาวไกลเช่นนั้นได้ ด้วยเหตุนี้บรูเนลจึงเกิดแนวความคิดที่จะสร้างเรือกลไฟขนาดยักษ์ที่สามารถจุถ่านหินได้มากพอสำหรับตลอดระยะการเดินทาง โดยที่ไม่ต้องเสียเวลาแวะพักเพื่อเติมถ่านหินตามเมืองท่าต่างๆ พร้อมกับทั้งสามารถขนผู้โดยสารได้เป็นจำนวนที่มากถึง 4,000 คนต่อเที่ยวสำหรับการเดินทางข้ามโลกแบบสุดหรู บรูเนลมีความมั่นใจว่าเรือกลไฟลำยักษ์ของเขาจะต้องแย่งชิงลูกค้ามาจากกองเรือคลิปเปอร์พวกนั้นและสามารถจะทำกำไรให้อย่างงดงาม ตามคอนเซปป์ที่ว่าผู้โดยสารย่อมต้องเลือกการเดินทางที่เร็วกว่าหรูกว่าและสะดวกสบายกว่า และด้วยความมั่นใจที่มีอย่างเปี่ยมล้น เขาจึงเดินหน้าแสวงหาผู้ที่จะเข้ามาลงทุนในอภิมหาโครงการต่อเรือของเขา

ลอนดอน ปี 1852 ในการนำเสนอโครงการต่อคณะกรรมการบริษัทอีสเทิร์นสตีมนาวิเกชั่น บรูเนลได้บรรยายถึงเรือที่เขาจะสร้างเอาไว้ว่า “เรือของผมจะเป็นยานพาหนะที่ใหญ่ที่สุดเท่าที่มนุษย์เคยสร้างขึ้น มันจะเป็นเหมือนกับนครลอยน้ำที่มีขนาดใหญ่กว่าเรือเดินสมุทรทั่วไปถึงห้าเท่า สามารถบรรทุกถ่านหินเป็นปริมาณที่มากถึง 15,000 ตัน ซึ่งจะต้องใช้คนงานกว่าสองร้อยคนทำงานตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมงเพื่อตักถ่านหินป้อนให้กับหม้อน้ำที่มีความสูงเท่าตึกสี่ชั้น และสามารถให้พลังงานไอน้ำเท่ากับม้าแปดพันตัว ผมได้ออกแบบให้มันเป็นคำตอบสุดท้ายของการเดินทางที่เลิศหรู ในขณะที่เรือเดินสมุทรทั่วไปสามารถขนผู้โดยสารได้แค่สี่ร้อยคน แต่เรือของผมสามารถที่จะขนผู้โดยสารได้มากถึงสี่พันคน ผมต้องการจะให้มันเป็นมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมของโลก เปรียบเสมือนดั่งปราสาทแก้วผลึกแห่งท้องมหาสมุทร และเป็นสัญลักษณ์ที่ควรคู่กับจักรวรรดิอันยิ่งใหญ่ของเรา..... แน่นอนว่าโครงการนี้ต้องใช้เม็ดเงินลงทุนเป็นจำนวนมหาศาล แต่ผมมีความมั่นใจว่าการวางแผนการณ์ที่รัดกุมโดยไม่เผื่อช่องให้สำหรับความผิดพลาดจะช่วยทำให้โครงการนี้สามารถเดินไปข้างหน้าได้”



เม็ดเงินลงทุนที่บรูเนลเอ่ยถึงนั้นมีมูลค่าสูงถึงห้าแสนปอนด์สเตอริง นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องของความเป็นไปได้ทางวิศวกรรม เนื่องจากยังไม่เคยมีใครสร้างเรือที่มีขนาดใหญ่เท่านี้มาก่อน บรูเนลนั้นแม้จะได้ชื่อว่าเป็นวิศวกรที่เชี่ยวชาญที่สุดของยุค แต่ก็ผ่านประสพการณ์การต่อเรือมาเพียงแค่สองลำ จะให้มั่นใจได้อย่างไรว่าเรือเหล็กที่มีน้ำหนักขนาดนี้จะไม่จมลงสู่ก้นทะเลทันทีที่มีการปล่อยเรือลงน้ำ มีการถกเถียงอย่างเผ็ดร้อนและดุเดือดในหมู่คณะกรรมการผู้พิจารณา กรรมการหกคนถึงกับเดินออกจากที่ประชุม เพราะไม่ต้องการจะนำเงินลงทุนของตนมาเสี่ยงกับโครงการอันเพ้อฝันของบรูเนลผู้ซึ่งมีชื่อเสียงที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่นักในหมู่นักลงทุน

<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย




 

Create Date : 23 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 9 สิงหาคม 2553 22:03:05 น.
Counter : 859 Pageviews.  

สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯในสายตาของชาวต่างประเทศ

พิรัส จันทรเวคิน

บทความชุดนี้คัดลอกมาจากหนังสือ “เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว” จัดพิมพ์โดยกรมแพทย์ทหารเรือ พ.ศ.2547 และนำมาเผยแพร่ทางสื่ออินเตอร์เนตเพื่อเป็นการเทิดพระเกรียรติของพระองค์ในฐานะบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านการต่างประเทศและกิจการทหารเรือ


พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระทัยฝักไฝ่ในการศึกษาหาความรู้ และทรงเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องมีผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาช่วยในการพัฒนาบ้านเมืองให้ทัดเทียมกับนานาอารยะประเทศ ในส่วนของกิจการทหารเรือนั้น พระองค์ทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาวิชาการต่อเรือ ณ.ประเทศอังกฤษ ดังปรากฏหลักฐานในหนังสือ “พระเจ้ากรุงสยาม” ว่า “เมื่อครั้งรัชกาลที่ ๓ เสด็จขึ้นครองราชย์ใหม่ๆนั้น กรมขุนอิศเรศรังสรรค์ได้ถวายชีวิตเข้าทำราชการกับพระเชษฐาอย่างเต็มพระปรีชาสามารถ งานที่ทรงได้รับมอบหมายให้ทำคือ กิจการเกี่ยวกับกองทัพเรือ ทรงวางแผนการสร้างเรือรบแบบทันสมัย ถึงกับส่งนักเรียนนายเรือไทยไปศึกษาวิชาการต่อเรือ ณ.ประเทศอังกฤษ”

นอกจากนี้พระองค์ยังทรงใส่พระทัยในการศึกษาของบรรดาเหล่าข้าราชการในสังกัดของพระองค์ ทรงโปรดให้ข้าราชบริพารได้เล่าเรียนภาษาอังกฤษและศึกษาขนบธรรมเนียมประเพณีของพวกตะวันตก ดังปรากฏหลักฐานตามบันทึกของเซอร์จอห์น เบาวว์ริ่ง เมื่อครั้งเดินทางเข้ามาทำหนังสือสัญญาทางพระราชไมตรีเมื่อวันที่ ๒๘ มีนาคม พ.ศ.๒๓๙๘ เอาไว้ว่า “ในเรือลำที่สองนี้ได้มีคนไทยอย่างเฉียบแหลมมาด้วยคนหนึ่ง ซึ่งเรียกกันว่า กัปตันดิ๊ก (ดิศ – ขุนปรีชาชาญสมุทร) และว่ามาแต่วังหน้าซึ่งเป็นกัปตันบังคับการเรือลำหนึ่งของวังหน้า กัปตันดิ๊กผู้นี้ชอบซักถามถึงเรื่องการประดาน้ำ พวกขุนนางได้มาพักอยู่บนเรือและแสดงกริยาเป็นผู้ดีเรียบร้อย กัปตันดิ๊กบอกว่าขุนนางพวกนั้นมีบรรดาศักดิ์ชั้นที่สาม มีภาชนะเครื่องใช้ที่ถือตามมาด้วย และได้บอกว่าวังหน้าได้ทรงสอนให้พูดภาษาอังกฤษ”

ชาวต่างประเทศที่ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทยในสมัยรัชกาลที่ ๓ – ๔ ไม่ว่าจะเป็นพวกทูต มิชชันนารี พ่อค้า นักสำรวจ ครู หรือทหาร ต่างก็พากันชื่นชมในพระปรีชาสามารถและพระราชจริยาวัตรของพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว และเมื่อพวกเขาเหล่านั้นเดินทางกลับประเทศไปแล้ว ต่างก็ได้บันทึกเรื่องราวของพระองค์เอาไว้มากมาย ทำให้คนไทยรุ่นหลังได้ทราบพระราชประวัติของพระองค์จากบันทึกเหล่านั้น เพราะตามเอกสารทางประวัติศาสตร์ของไทยปรากฏเรื่องราวของพระองค์อยู่ไม่มากนัก บันทึกต่างๆเหล่านี้ได้สอดแทรกความรู้สึกความคิดเห็นที่ชาวต่างประเทศมีต่อพระองค์ ดังนี้

“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว วังหน้าพระองค์ปัจจุบันทรงเป็นพระอนุชาที่ถูกต้องตามกฏหมายของพระเจ้าอยู่หัวองค์ที่ ๑ และทรงอยู่ในฐานะรัชทายาทของราชบัลลังก์ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถเพียบพร้อมและทรงมีพระทัยไฝ่รู้ ทรงเขียนและตรัสภาษาอังกฤษได้ดี และเป็นผู้นำในการรับเอาวัฒนธรรมตามแบบของชาวยุโรปเข้ามาเผยแพร่ในพระราชวังของพระองค์ พระองค์ทรงรักการอ่านหนังสือและการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ และทรงคุ้นเคยกับการเปลี่ยนแปลงตามอารยะธรรมสมัยใหม่ พระองค์ทรงมีพระปรีชาสามารถในการบริหารบ้านเมือง และทรงมีความเป็นผู้นำในด้านการปกครองมากกว่าพระเชษฐา และเป็นผู้ที่เสียดายความเสื่อมโทรมของประเทศยิ่งกว่าผู้ใดในราชอณาจักร”

จากบันทึกของ อเล็กซานเดอร์ อังรี มูโอต์ (Alexander Henri Mouhot ) นักธรรมชาติวิทยาชาวฝรั่งเศสที่เดินทางเข้ามาในประเทศแถบอินโดจีนเมื่อปี พ.ศ.๒๔o๑ ในหนังสือเรื่อง Travels in the Central Parts of Indo China, Cambodia and Laos



“จากทุกเรื่องที่เราอ่านพบ สมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ มีบุคลิกลักษณะอันงดงามยิ่งนัก พระวรกายสง่าผ่าเผยผิดบุคคลธรรมดา การพูดคุยตลอดจนพระราชจริยาวัตรดูเหมือนกับชนชาติที่มีอารยธธรรมทั้งหลาย พระองค์มีนิสัยเมตตากรุณาและอ่อนโยนต่ออิสสตรี และไม่เคยที่จะทรงแสดงความดุร้ายให้เห็นเป็นที่ปรากฏ เจ้าฟ้าพระองค์นี้มีความคิดเห็นในการการบริหารบ้านเมืองเป็นประชาธิปไตยอย่างเต็มที่ วีรบรุษในอุดมคติของพระองค์คือ ยอร์ช วอชิงตัน พระองค์มีพระทัยฝักไฝ่ในวีรบรุษผู้นี้อย่างแรงกล้า ถึงกับพระราชทานนามพระราชโอรสองค์ใหญ่ตามนามของ ยอร์ช วอชิงตัน”

จากบันทึกของ หมอสมิธ (Dr. Malcolm Smith) นายแพทย์ชาวอังกฤษ ในหนังสือเรื่อง A Physician at the Court of Siam

“พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ซึ่งชาวยุโรปพากันยกย่องนับถือว่าเป็นบุคคลที่มีความเจริญ มีความรู้มากที่สุดในราชตระกูลมาเป็นเวลา ๓o ปีนั้น แท้จริงนั้นเป็นนักโทษการเมืองมาถึงสองรัชกาล ชาวยุโรปซึ่งได้พบพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พากันยกย่องในความมีน้ำพระทัยของพระองค์ และพระปรีชาสามารถที่ทรงเข้าพระทัยล่วงรู้ในเหตุการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในโลก พระองค์เป็นผู้ที่รวมคุณสมบัติอันดีงาม ซึ่งจะนำไปสู่ความเจริญของประเทศชาติ นอกจากนี้พระองค์ยังทรงเป็นรัฐบรุษที่มีความสามารถ ทำให้บรรดาทูตต่างประเทศที่เข้ามาทำสัญญากับไทยในสมัยรัชกาลที่ ๔ พากันยกย่องนับถือ ยอร์ช เบคอน ชาวอเมริกันคนหนึ่งที่เดินทางเข้ามาแก้ไขสนธิสัญญาระหว่างไทย-สหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ.๒๔oo ได้บันทึกเอาไว้ว่า สมเด็จพระปิ่นเกล้าฯเป็นบุคคลที่น่าสนใจที่สุดคนหนึ่งของโลก”

จากบันทึกของ แอนนา ลีโอโนเวนส์ (Anna Leonowens) ในหนังสือเรื่อง Anna and the King of Siam ของ มาการ์เรต แลนดอน (Margaret Landon)

“พระองค์มักจะทรงเข้ามาทำความรู้จักกับชาวยุโรปทุกคน ทรงสนทนาปราศัยด้วยอัธยาศัยไมตรีอันดี และทรงมีความกระตือรือร้นที่จะศึกษาหาความรู้ในวิทยาการแขนงต่างๆเท่าที่พระองค์สามารถจะกระทำได้”

จากบันทึกของ หมอกุตต์สเลฟ (C. Gutzlaff) ในหนังสือเรื่อง Journal of a Residence in Siam and a Voyage along the Coast of China to the Manchu Territory



“พระอนุชาของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสนพระทัยในกิจการทหาร การแพทย์แผนตะวันตก และวิทยาศาสตร์ด้านเครื่องยนต์กลไกต่างๆ พระองค์ทรงขวนขวายศึกษาจนมีความรู้ในเรื่องต่างๆเหล่านี้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังทรงใช้ภาษาอังกฤษได้ดี เรียกว่าอาจจะดีกว่าพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเองด้วยซ้ำ”

จากบันทึกของ ด.ร.เอ.บี กริสโวลด์ (A.B. Griswold) ในหนังสือเรื่อง King Mongkut of Siam

“พระองค์ทรงมีความคิดที่เป็นเลิศและกว้างขวาง จากการที่ได้ติดต่อกับชาวต่างประเทศ นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยศึกษาด้านคณิตศาสตร์ตามหลักของยูคลิตและนิวตัน ทรงรู้จักใช้เครื่องวัดแดด เครื่องวัดมุมและเครื่องโครโนมิเตอร์ นอกจากนี้ยังทรงสนพระทัยในเรื่องของปฏิทินเดินเรือ (Nautical Almanac) ที่ข้าพเจ้าได้สัญญาว่าจะนำมาถวาย”

จากคำกล่าวของของ นายมัลคอมม์ มิชันนารีอเมริกัน ในหนังสือเรื่อง The Kingdom and People of Siam ที่เขียนโดยเซอร์จอห์น เบาว์ริ่ง

“ด้วยความที่ทรงไฝ่พระทัยในการเรียนรู้ จึงทำให้ทรงศึกษาเรื่องราวในหนังสือภาษาอังกฤษเหล่านั้นด้วยความขะมักเขม้นอย่างที่สุด และไม่ทรงหยุดอยู่ที่ความรู้ในเบื้องต้นเพียงแค่นั้น ต่อมาได้ทรงซื้อหนังสือเกี่ยวกับการคำนวณและการก่อสร้าง ทรงฝึกฝนสมองของพระองค์ด้วยเรื่องของวิธีการหล่อปืนใหญ่ ด้วยทรงอยากที่จะได้นายเรือที่มีความสามารถมาไว้สักคนหนึ่ง แต่ก็ช่างหายากเหลือประมาณ เพราะไม่มีใครที่จะยอมออกมาจากเปลือก ยอมมาให้ขัดเกลาเหมือนเช่นพระองค์ที่ในขณะนี้ได้กลายเป็นผู้คงแก่เรียน และมีความเป็นสุภาพบรุษเต็มตัว”

จากบันทึกของ นายเฟรดเดอริก อาเธอร์ นีล (Frederick Arthur Neale) ชาวอังกฤษที่เดินทางเข้ามาในปี พ.ศ.๒๓๘๓ ในหนังสือเรื่อง Narrative of a Residence in Siam

<ยังมีต่อ>




 

Create Date : 05 กรกฎาคม 2553    
Last Update : 5 กรกฎาคม 2553 11:49:14 น.
Counter : 1020 Pageviews.  

1  2  

piras
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสวยงาม ไม่แพ้ภาษาของชนชาติใดในโลก

free counters
Friends' blogs
[Add piras's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.