Each time history repeats itself, the price goes up. ~Author Unknown
Group Blog
 
All Blogs
 
สยามในอดีต ตอนที่สาม

พิรัส จันทรเวคิน

เนื้อหาของบทความนี้นำมาจากบทความเรื่อง "King Mongkut of Siam" ที่เขียนโดย Robert Bruce และลงพิมพ์ในวารสาร History Today ฉบับเดือนตุลาคม 1968 ซึ่งเป็นการนำเสนออีกมุมมองหนึ่งของสยามในสายตาของนักประวัติศาสตร์ตะวันตก


หลังจากที่ทรงผนวชมาได้ยี่สิบเจ็ดพรรษา เจ้าฟ้ามงกุฏฯก็ทรงได้ลาสิกขาบทจากความเป็นสมณะเพศ และเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สี่แห่งแผ่นดินสยามเมื่อเดือนเมษายน ปี 1851 ขณะที่กำลังทรงมีพระชนม์มายุได้สี่สิบเจ็ดพรรษา การเสด็จขึ้นเถลิงถวัลย์ราชสมบัติของพระองค์ถือเป็นการเปิดศักราชใหม่แห่งการค้าและพันธไมตรี จากประเทศที่เคยแยกตัวอยู่อย่างโดดเดี่ยวมาช้านาน บัดนี้สยามได้กลายเป็นประเทศที่เปิดกว้างและอ้าแขนต้อนรับคณะทูตานุทูตจากชาติตะวันตกที่ได้เดินทางหลั่งไหลกันเข้ามาเจริญสัมพันธ์ไมตรี โดยสยามได้หันมาให้ความร่วมมือเป็นอย่างดีในการเจรจาการค้าเสรี ทันทีที่เสด็จขึ้นครองราชย์ สมเด็จพระจอมเกล้าฯก็ได้ทรงสถาปนาสมเด็จพระปิ่นเกล้าฯ สมเด็จพระอนุชาธิราชของพระองค์ผู้ซึ่งมีความแตกฉานในภาษาอังกฤษและเชี่ยวชาญทางด้านเครื่องยนต์กลไกตลอดจนวิชาการต่อเรือสมัยใหม่จากตะวันตก ขึ้นพระเป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ที่สอง โดยให้ดำรงพระอิสริยยศเสมอด้วยพระองค์ เพราะฉนั้นในยุคนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าเป็นยุคทองของสยามโดยแท้ เพราะว่ามีพระเจ้าแผ่นดินที่ทรงพระปรีชาสามารถที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันอยู่ถึงสองพระองค์ คือสมเด็จพระองค์ใหญ่หรือ The First King ตามคำเรียกขานของชาวตะวันตกในสมัยนั้น และสมเด็จพระองค์รองหรือ The Second King หนทางสู่การปฏิรูปประเทศให้ทันสมัยได้เริ่มต้นเปิดฉากขึ้นแล้ว

เจ้าฟ้ามงกุฎฯทรงออกผนวชเมื่อปี 1824 ขณะทรงมีพระชมน์มายุได้ยี่สิบพรรษา ซึ่งก็เป็นไปตามประเพณีปฏิบัติของชายไทยทั่วไปที่เมื่อมีอายุครบกำหนด จะต้องเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุเป็นเวลาสามเดือน ซึ่งก็ควรจะเป็นกำหนดเวลาเช่นนั้นสำหรับการผนวชของเจ้าฟ้ามงกุฏฯ ทว่าการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะหลังจากที่เข้าสู่สมณะเพศได้ไม่นาน รัชกาลที่สองก็เสด็จสวรรคตและเจ้าฟ้าเจษฎาบดินทร์พระเชษฐาต่างพระมารดาเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่สาม แม้ว่าโดยลำดับการสืบสันตติวงศ์แล้ว เจ้าฟ้ามงกุฏฯจะอยู่ในลำดับชั้นที่สูงกว่าสมเด็จพระเชษฐาธิราช แต่เจ้าฟ้าเจษฎาบดินทร์ทรงมีบทบาทในการช่วยเหลือราชการแผ่นดินของสมเด็จพระราชบิดามากกว่า ด้วยเหตุนี้บรรดาเหล่าขุนนางและเจ้านายชั้นสูงจึงเลือกให้เจ้าฟ้าเจษฎาบดินทร์เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์องค์ต่อไป อาจจะเป็นด้วยความท้อพระราชหฤทัยหรือจะเป็นด้วยสาเหตุใดก็แล้วแต่ เจ้าฟ้ามงกุฏฯจึงตัดสินพระทัยที่จะอยู่ในร่มกาสาวภักดิ์ต่อไปโดยไม่มีกำหนด และในระหว่างที่ทรงผนวชอยู่นั้น พระองค์ก็ได้ทรงสถาปนา ธรรมยุติกนิกาย ขึ้นมา นิกายนี้เป็นนิกายใหม่ในพระพุทธศาสนาที่เน้นหนักไปในเรื่องของวินัยปฏิบัติ จะว่าไปแล้วก็เป็นเรื่องที่ผิดความคาดหมายอยู่บ้างสำหรับชาวตะวันตก ที่การอยู่ในสมณะเพศของเจ้าฟ้ามงกุฏฯจะเป็นการเตรียมพระองค์ที่ดีสำหรับการขึ้นเป็นพระมหากษัตริย์ เพราะพระองค์ทรงมีโอกาสได้พบปะกับผู้คนมากหน้าหลายตาในหลากหลายชนชั้น นอกจากนี้ยังทรงออกเดินทางธุดงค์ไปยังท้องที่ต่างๆ จึงทำให้ทรงรับรู้รับทราบถึงสารทุกข์สุขดิบของผู้คนตลอดจนถึงความเป็นมาเป็นไปของบ้านเมืองได้เป็นอย่างดี เรียกว่าอาจจะทรงทราบดีกว่าตัวสมเด็จพระเชษฐาเองด้วยซ้ำ



ความสนพระทัยของเจ้าฟ้ามงกุฏฯนั้นมิได้จำกัดอยู่เฉพาะหลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา แต่หากยังรวมไปถึงคำสอนของศาสนาอื่นอีกด้วย เพราะในระหว่างที่ทรงจำพรรษาอยู่ที่วัดบวรนิเวศวิหารนั้น พระองค์ก็มักใช้เวลาว่างในการแลกเปลี่ยนสนทนาธรรมกับบาทหลวงโรมันแคททอลิกชาวฝรั่งเศสชื่อ บิชอป ปาเลอกัว แห่งโบสถ์อัสสัมชัญที่อยู่ใกล้เคียง จนมีความสนิทสนมคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีอยู่บ่อยครั้งที่พระองค์ทรงเชิญให้ท่านบิชอปมาเทศนาธรรมที่วัด ตามความเห็นของท่านบิชอป เจ้าฟ้ามงกุฏฯมีความชื่นชมในหลักศีลธรรมของคริสเตียน แต่ยังขาดความรู้และความเข้าใจในหลักธรรมคำสอน ในระหว่างการสนทนาธรรมครั้งหนึ่ง พระองค์ได้ตรัสวิพากษ์วิจารณ์ให้ท่านบิชอปฟังอย่างตรงไปตรงมาว่า “สิ่งที่ท่านสั่งสอนผู้คนให้ยึดถือปฏิบัตินั้นเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม แต่สิ่งที่ท่านสั่งสอนให้พวกเค้าเชื่อนั้นเป็นเรื่องที่ดูโง่เขลา” นอกเหนือจากการแลกเปลี่ยนหลักธรรมคำสอนทางศาสนาแล้ว ทั้งสองยังแลกเปลี่ยนความรู้กันทางด้านภาษาศาสตร์ตลอดจนความรู้แขนงอื่นๆอีกด้วย ท่านบิชอปเรียนรู้ภาษาบาลีจากเจ้าฟ้ามงกุฏฯ และในขณะเดียวกันเจ้าฟ้ามงกุฏฯเองก็เรียนรู้ภาษาฝรั่งเศสและภาษาละตินตลอดจนขนบธรรมเนียมประเพณีของยุโรปจากท่านบิชอป ดังนั้นจึงอาจกล่าวได้ว่านี่เองที่เป็นจุดเริ่มต้นของความสนพระราชหฤทัยในวัฒนธรรมตะวันตกของเจ้าฟ้ามงกุฏฯ

ในช่วงเวลานั้นนอกเหนือจากพวกแคททอลิกที่เข้ามาเผยแพร่ศาสนาในบางกอกแล้ว ยังมีพวกมิชชั่นนารีโปรเตสแตนท์นิกายเพรสไบทีเรียนจากอเมริกาเดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาอีกด้วย สิ่งที่พวกอเมริกันนำเข้ามานอกเหนือจากหลักธรรมคำสอนที่แตกต่างจากพวกแคททอลิกแล้ว ก็คือการพิมพ์ซึ่งถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ในยุคนั้น หัวหน้าคณะมิชชั่นนารีอเมริกันในเวลานั้นมีชื่อว่าสาธุคุณ แดน บีช แบรดลีย์ (หมอบรัดเลย์) ผู้ซึ่งต่อมาได้เป็นครูสอนภาษาอังกฤษให้กับเจ้าฟ้ามงกุฏฯ สำหรับเจ้าฟ้ามงกุฏฯแล้วภาษาอังกฤษถือได้ว่าเป็นกุญแจสำคัญที่จะไขเข้าไปสู่แหล่งความรู้สมัยใหม่ของพวกตะวันตก พระองค์ทรงศึกษาวิชาคณิตศาสตร์ เรขาคณิต และดาราศาสตร์ด้วยความเอาจริงเอาจังและสนพระราชหฤทัยเป็นอย่างยิ่ง และทรงมีพระดำริว่าวิทยาศาสตร์กับพุทธศาสนานั้นสามารถไปด้วยกันได้ และก็เช่นเดียวกับบิชอป ปาเลอกัว ท่านสาธุคุณเองก็ได้ถูกรับเชิญให้มาเทศนาธรรมที่วัดบวรนิเวศ์วิหารอยู่เนืองๆ ความไฝ่รู้ไฝ่ศึกษารวมถึงแนวคิดที่เปิดกว้างตามแบบเสรีนิยมของเจ้าฟ้ามงกุฏฯถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติที่หาได้ยากยิ่งสำหรับเหล่าเจ้านายชั้นสูงของเอเชีย



เมื่อเจ้าฟ้ามงกุฏฯเสด็จขึ้นครองราชย์เป็นรัชกาลที่สี่ในปี 1851 นั้น สยามยังมีสถานะเป็นเพียงแค่รัฐเล็กๆที่ปกครองด้วยระบอบศักดินาเต็มรูปแบบ ที่ซึ่งยังมีทาสอยู่ดาษดื่นและสามัญชนทั่วไปไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเงยหน้าขึ้นมองพระพักตร์ของพระเจ้าแผ่นดินของตนเอง ระบบเศรษฐกิจยังล้าหลัง ไม่มีโรงเรียนหรือว่าถนนหนทางใดๆทั้งสิ้น นอกเหนือจากคณะมิชชันนารีและพวกพ่อค้าชาวตะวันตกเพียงไม่กี่รายแล้ว สยามแทบจะไม่ได้มีการติดต่อใดๆกับซีกโลกตะวันตกเลย ด้วยความเป็นนักปฏิรูปของพระองค์ รัชกาลที่สี่ทรงตั้งพระทัยที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งต่างๆเหล่านี้ ทั้งๆที่ไม่ได้มีเสียงเรียกร้องจากราษฎรที่เคยชินกับระบบเก่ามาช้านาน และภายในระยะเวลาเพียงหนึ่งปีที่ทรงครองราชย์ ความเปลี่ยนแปลงที่เป็นรูปธรรมก็เริ่มขึ้น มีการยกเลิกการห้ามมองพระพักตร์ของพระมหากษัตริย์ เมื่อรัชกาลที่สี่เสด็จไปยังสถานที่ใด ราษฎรก็ไม่จำเป็นต้องปิดประตูหน้าต่างและเก็บตัวอยู่แต่ในบ้าน หรือว่าต้องหลีกหนีขบวนเสด็จเหมือนเช่นเมื่อกาลก่อนอีก นอกจากนี้ราษฎรยังสามารถยื่นถวายฏีกาเรื่องต่างๆถึงพระองค์ ซึ่งก็จะทรงลงมากำกับดูแลด้วยพระองค์เอง รัชกาลที่สี่ไม่ได้ทรงเลิกทาส แต่ว่าพระองค์ทรงออกคำสั่งให้มีการปฏิบัติที่ดีและเหมาะสมต่อทาส และด้วยความใส่พระทัยในทุกข์สุขของราษฎรในเรื่องโรคภัยไข้เจ็บ พระองค์ได้ทรงสั่งห้ามการโยนสัตว์ที่ตายแล้วลงไปในแม่น้ำลำคลอง ทั้งนี้เพื่อป้องกันโรคระบาดที่เคยเกิดขึ้นอยู่เนืองๆ ส่วนทางด้านของการเงินการคลังนั้น ก็ได้ทรงปฏิรูประบบเงินตรา โดยหันมาใช้เหรียญกษาปณ์แบบฝรั่งแทนที่เงินพดด้วงในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า ทว่าสิ่งต่างๆเหล่านี้ดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่เศษเสี้ยว เมื่อเทียบกับความเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่จะกำลังเกิดขึ้นตามมาอย่างต่อเนื่องในราชอณาจักรที่แทบจะไม่ได้พบกับความเปลี่ยนแปลงใดๆเลยมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ

<ยังมีต่อ>

สงวนลิขสิทธิ์ บทความนี้เขียนขึ้นเพื่อประโยชน์ทางการศึกษา ห้ามนำบทความหรือส่วนใดส่วนหนึ่งของบทความไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ เว้นแต่จะได้รับการอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษรจากเจ้าของบทความ มิฉนั้นจะถูกดำเนินการทางกฎหมาย


Create Date : 07 มิถุนายน 2553
Last Update : 10 มิถุนายน 2553 15:52:50 น. 0 comments
Counter : 1805 Pageviews.

ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
  *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

piras
Location :
กรุงเทพฯ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีความสวยงาม ไม่แพ้ภาษาของชนชาติใดในโลก

free counters
Friends' blogs
[Add piras's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.