Group Blog
 
All Blogs
 

ดำจังแก~แดจังกึม ผมติดละครเรื่องนี้ครับ

ตอนเด็กๆผมเป็นคนที่ติดละครตัวยงคนนึง

แต่พอโตๆขึ้นมาเมื่อมีอะไรให้ทำมากกว่าดูละคร ก็ชักจะห่างหายไปจากหน้าจอทีวีบ้าง

แต่ก็ไม่ได้ทิ้งเสียทีเดียว ยังดูละครอยู่

และละครเรื่องล่าสุดที่ผม"ต้องดู" คือ แดจังกึม จอมนางแห่งวังหลวง นี่คือชื่อเต็ม

แต่ชื่อย่อๆที่ผมเรียกก็วันนี้จะดูจังกึมรึเปล่า

แน่นอนว่าคำตอบไม่ใช่การปฏิเสธ

ยิ่งเมื่อสองวันก่อนได้ดู น้ำตาไหลเป็นเผาเต่า ถ้าไม่ติดว่าอายน้องอายแม่ ป่านนี้คงเอาถังมารองน้ำได้แล้วมั้ง

ละครเค้าดีจริงๆ เกิดมาไม่เคยเจอละครโคตรพ่อโคตรแม่ดีอย่างนี้จากที่ไหนเลย

ผมเป็นไม่ค่อยชอบละครจีน หรือเกาหลีมากนัก
ช่วงที่ละครไต้หวัน เอฟโฟร์ กำลังขึ้นหม้อ(แปลว่าดังได้ที่) ผมไม่ดูเลย ไม่สนุก ปัญญาอ่อน ฯลฯ

ละครสัญชาติญี่ปุ่น ผมก็ไม่ดู สูตรรักข้าวห่อไข่ ผมไม่รู้จัก

แต่ในวันนี้เวลานี้ ใจทั้งดวงผมมอบให้จังกึมไปหมดแล้วครับ(อย่าเพิ่งอ้วกนะ)

ละครเรื่องนี้ทำให้ผมรู้ว่า-

-การคำนับมีหลายแบบ ตั้งแต่แค่ก้มหัวธรรมดา จนถึงยกมือประสานข้างหน้า แล้วค่อยๆทรุดตัวลงนั่ง แล้วลุกอีกที จึงค่อยนั่งลงอย่างเรียบร้อย(ผมว่าดูสวยงามดีนะ ชอบๆดูตอนที่กำลังทรุดตัวลงเวลาคำนับน่ะ)

-ทำให้ผมรู้ว่าผู้หญิงเกาหลีสามารถนั่งชันเข่าได้ โดยไม่มีใครว่าอะไร ถือเป็นเรื่องปกติ ลองถ้ามานั่งแบบนี้ในเมืองไทย คงโดนหยิกน่องเขียวแน่นอน

-ทำให้รู้ว่า ท่ายืนที่สุภาพที่สุด คือการเอามือประสานในผ้าข้างหน้าตัว มิดชิดดี(สำหรับผู้หญิง)

และฯลฯ(เยอะแยะตาแป๊ะไก่)

สรุปก็คือ ที่มาตั้งกระทู้แบบนี้ ก็จะบอกแค่ว่า
....ผมติดละครครับ เหอ เหอ เหอ




 

Create Date : 19 ธันวาคม 2548    
Last Update : 19 ธันวาคม 2548 15:33:59 น.
Counter : 461 Pageviews.  

พรุ่งนี้ความศิวิไลซ์จะมาเยือนหน้าปากซอยบ้านผมแร้วว

ช่วงหลังๆมานี้ไม่ค่อยได้อัพบลอกเท่าไหร่ไม่ใช่เพราะว่าขี้เกียจหรือหมดมุขจะเขียน แต่น่าจะเป็นเพราะว่าคีย์บอร์ดที่บ้านเสียมากกว่า เช่น สระอือ สระอิ การันต์ ตัวฝ.ฝา เสีย ทำให้ข้าพเจ้าไม่ค่อยอยากจะพิมพ์อะไรที่เป็นการเป็นงานมากนัก เพราะความหมายมันจะเพี้ยนเปลี่ยนเป็นตลกขบขันจนถึงอ่านไม่ออกไปเสียหมด

ช่วงนี้ความเป็นไปในกระทู้ที่ห้องสมุด เริ่มมีกระทู้เกี่ยวกับโบรารคดีและมานุษยวิทยาเพิ่มมากขึ้น(อันเป็นวิชาหากินของผม ที่ต้องเรียนและสอบให้ผ่าน) มีอยู่กระทู้นึงถามว่าสมัยประวัติศาสตร์กับสมัยก่อนประวัติศาสตร์ใช้อะไรเป็นตัวแบ่ง ก็ขอตอบว่าใช้ตัวอักษรเป็นตัวแบ่งนั่นเอง ซึ่งป่านนี้เจ้าของกระทู้นั้นก็คงได้คำตอบเป็นที่น่าพอใจไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

พอมาย้อนถามตัวเอง ว่าถ้าตัวเองไปเรียนโบราณคดีจริงๆอยากจะเน้นหนักไปทางสายไหนกันแน่ ก็คงลังเลนิดหน่อยและอ้อมๆแอ้มๆตอบไปว่า อยากไปทางสายประวัติศาสตร์มากกว่า นั่นเป็นเพราะว่าส่วนตัวผมเป็นคนรักสบายชอบอยู่ที่มันเจริญๆสวยๆงามๆ ดูตึกรามบ้านช่องปราสาทหิน ไอ้จะให้ไปปีนเขาเข้าถ้ำลำบากลำบนแบบนั้นคงไม่ใช่ตัวผม(บอกเป็นนัยๆว่าทำได้ แต่ทำได้ไม่ดี) และอีกอย่างตัวผมก็เรียนพวกภาษาโบราณและประวัติศาสตร์พุทธศาสนามาพอสมควร คาดว่าน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาโบราณคดีสมัยประวัติศาสตรฬนประเทศไทยมากกว่า และประการสำคัญก็คือตัวผมมาทางสายศิลป์มาตั้งแต่ม.ปลาย ไอ้จะให้ไปนั่งต่อกระโหลกแตก หม้อร้าว แล้วเอาไปวิเคราะห์ตามกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ในงานโบราณคดีก็เห็นจะไปไม่ค่อยไหว หัวมันไม่ให้ ยิ่งวันนี้ได้เรียนSPSSมาแล้วรู้สึกปวดหัวเป็นอย่างยิ่ง แม้ว่าอาจารย์หลายต่อหลายท่านจะบอกว่าง่ายๆก็ตามที ซึ่งจนบัดนี้ข้าพเจ้าก็เข้าใจแค่คอนเสปต์กว้างๆของการทำงานของโปรแกรมนี้เท่านั้น ว่ามันใช้ทำอะไรได้บ้าง

แต่เดิมทีโปรแกรมนี้ใช้ในการวิเคราะห์เชิงปริมาณหรือเชิงสถิติ (คือเอามาใช้กับแบบสอบถามนับเป็นพันๆชุด เพื่อวิเคราะห์ออกมาให้ได้ผลที่ตรงตามความต้องการ)ซึ่งก็สามารถเอามาใช้ประยุกต์กับงานโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน คือ ของแต่ละชิ้นก็เอามาชั่งน้ำหนัก เขียนสัญลักษณ์ จำแนกประเภท ฯลฯ ซึ่งเมื่อก่อนคงจะใช้มือทำ แต่เดี๋ยวนี้คงเปลี่ยนมาใช้SPSSทำแล้ว โดยติ๊ต่างว่าวัตถุหนึ่งชิ้นเท่ากับแบบสอบถาม 1 ฉบับ(เทียบกันง่ายๆอย่างนี้แหละ)


ที่พูดมาเป็นวรรคเป็นวรนี่ดูเหมือนว่าผมคงตัดสินใจได้แน่นอนว่าจะไปทางโบราณคดีสมัยประวัติศาสตร์ แต่ถ้าให้เอาเข้าจริงๆแล้ว ก็พบว่ายังตัดสินใจฟันธงให้แน่นอนยังไม่ได้หรอก งั้นเอาเป็นว่าเรื่องนี้พักไว้ก่อนแล้วกัน

มาต่อกันที่เรื่องการเริ่มเรียนภาษาญี่ปุ่นเป็นครั้งแรกของผม

ถึงแม้ว่าโรงเรียนทวีธาภิเศก อันเป็นโรงเรียนที่กระผมเคารพรักมาตลอด จะเปิดสายภาษาญี่ปุ่นเป็นโรงเรียนแรกของกรมสามัญศึกษา(ท้าวความเล็กน้อยว่า เมื่อก่อนนี้ ตามโรงเรียนทั่วๆไป จะมีสายภาษาแค่สองสายหลักๆ คือฝรั่งเศส กับเยอรมัน ถ้าเป็นโรงเรียนเล็กๆก็จะมีแต่สายฝรั่งเศส ถ้าใหญ่ขึ้นมาหน่อย และมีชื่อเสียงก็จะเพิ่มสายเยอรมันเข้าไป แต่ภาษาญี่ปุ่นที่สอนในโรงเรียนมัธยมนั้นส่วนมากจะเป็นแค่วิชาเลือกเสรี เล็กๆน้อยๆเท่านั้น ไม่ได้ถึงขั้นเปิดเป็นสายการเรียนแบบฝรั่งเศส กับเยอรมัน แต่ที่ทวีธาฯในช่วงของผู้อำนวยการคนหนึ่ง ได้มีความคิดจะตั้งสายภาษาญี่ปุ่นขึ้นมา ดังนั้น ทวีธาฯจึงเป็นโรงเรียนแรกของกรมสามัญศึกษาที่เปิดสายญี่ปุ่น เป็นความภาคภูมิใจของโรงเรียนเราจนถึงบัดนี้)

ท้าวความข้างต้นผมคงท้าวความเพลิดเพลินไปหน่อย เลยท้าวไปซะหลายตารางกิโลเมตร เอาเป็นว่าทวีธาเรามีความภูมิใจในสายญี่ปุ่นเป็นอย่างมากมายก็แล้วกัน ซึ่งก็เป็นต้นแบบให้ โรงเรียนต่างๆมาขอดูงานเพื่อเอาไปเปิดสายญี่ปุ่นเป็นของตนบ้าง...

ตอนที่อยู่ม.3กำลังจะเลือกสายการเรียน ข้าพเจ้าเองก็ตั้งใจไว้ว่าจะเลือกสายญี่ปุ่น ด้วยเหตุผลว่ามันแปลกดีและช่วงนั้นติดการ์ตูนมารุโกะกะชินจัง เลยเกิดความรู้สึกอยากแปลได้ อ่านได้ เขียนออก พุดคล่องขึ้นมา...

แต่แล้วก็ต้องเปลี่ยนใจแทบไม่ทัน เมื่อรู้จากครูแนะแนวว่า จุฬาฯ(ในตอนปี2543นั้น)ไม่เปิดให้มีการใช้ภาษาญี่ปุ่นในการสอบเอนทรานส์ ให้ได้แต่เยอรมันกับฝรั่งเศสเท่านั้นข้าพเจ้าเลยยอมหักใจ ไม่เรียนญี่ปุ่น แต่ไปเรียนฝรั่งเศสหรือเยอรมันแทน และข้าพเจ้าก็เลือกเรียนเยอรมัน แทนที่จะเป็นฝรั่งเศส ก้ด้วยเหตุผลว่ามันแปลกดี เท่านั้นเอง

สมัยที่ผมเรียนนั้น ทั่วทั้งกรุงเทพมหานครมีโรงเรียนแค่ 14 โรงเท่านั้น ที่เปิดสอนภาษาเยอรมัน ก็จะเป็นโรงเรียนใหญ่ มีชื่อเสียง เช่นเตรียมอุดม สตรีวิทย์ และฝั่งธนมีแค่สองโรงเรียน คือทวีธาภิเศก กับศึกษานารี(แต่ในเวลานี้ เหลือทวีธาโรงเดียวที่สอนเยอรมัน เพราะว่าศึกษานารีเพิ่งปิดสายเยอรมันไปเนื่องจากหาคนสอนไม่ได้)

ฉะนั้น เมื่อทวีธาเป็นโรงเรียนที่เปิดสอนสายภาษาครบทั้งสามภาษา(ในเวลานั้น เดี๋ยวนี้เพิ่มจีนเข้าไปอีกอย่างแล้วเป็นสี่)ก็คงไม่ต้องบอกอะไรมากถึงความยิ่งใหญ่และมีชื่อเสียงเพียงไรของทวีธาฯ...

...โอย นี่กระผมหลงเข้ารกเข้าพงไปหลายกิโลเมตรแล้ว ก็ขอวกกลับมาที่เรื่องของผมอีกครั้งนึง นั่นคือข้าพเจ้าได้เรียนเยอรมันมาอย่างมีความสุขกับเพื่อนร่วมชั้นอีก 14 คนจนกระทั่งตอน ม.5 ที่จุฬาฯประกาศว่าใช้ญี่ปุ่นกะจีนสอบเอนท์ได้....ซึ่งมันเป็นอารมณ์ที่อธิบายไม่ถูก แต่ข้ากระผมก็เรียนมาครึ่งทางเข้านี่แล้ว ก็ต้องทนทู่ซี้เรียนต่อไป ถอยกลับไม่ได้แล้ว

ซึ่งภาษาเยอรมันก็ไม่ได้ทำให้ข้าพเจ้าผิดหวังอะไรนัก เพราะมันทำให้ข้าพเจ้าสอบเข้ามายืนตรงจุดนี้ได้อย่างสง่างาม (แม้ว่าคะแนนอังกฤษจะห่วยไปหน่อยก็ตามที)

ดังนั้น เมื่ออะไรต่อมิอะไรเข้าที่เข้าทาง ข้าพเจ้าเลยตัดสินใจมาเรียนภาษาญี่ปุ่นอีกที เหมือนกับที่เคยอยากเรียนมาแล้ว

แต่ภาษานี้มันยากจริงๆ ให้ตายเหอะ ยากมาก

ส่วนเรื่องสุดท้าย อันเป็นที่มาของหัวบลอกก็คือ หน้าปากซอยบ้านผมกำลังจะมีเซเว่นเปิดใหม่ ที่จะเปิดอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ ยังความยินดีให้แก่ตัวข้าพเจ้าตลอดจนถึง แม่ ตา ยาย น้า พี่ ป้า น้าอาอีกบานตะเกียง เพราะซอยบ้านผม มีความเป็นบ้านนอกสูง บ้านผมอยู่ในซอยลึกที่อุดมไปด้วยต้นไม้และสัตว์เลื้อยคลาน ครึ่งบกครึ่งน้ำ เช่น กบ เขียด คางคก ตลอดจนถึงงูเขียวหางไหม้และงูเห่า ดึกๆเวลาฝนตกพรำๆกบเขียดมาร้องหาคู่กันให้ลั่นบ้าน ไม่บอกไม่รู้ว่ากรุงเทพฯ

และด้วยความที่บ้านผมเป็นสวนเก่า ทางเดินจึงคดเคี้ยว ตัดไปตามสวนต่างๆ และย่อมต้องมีคลองส่งน้ำ บรรดาต้นมะพร้าวที่เวลาฝนตกฟ้าร้องต้องดูดีๆและหลบให้ทัน เพราะเคยมีคนตายเพราะถูกลูกมะพร้าวหล่นใส่หัวมาแล้ว

เมื่อมีคลองก็แสดงว่าต้องมีเรือ เรือที่ชอบแล่นผ่านบ้านคือ เรือหางยาวเสียงดัง และชอบแล่นเป็นประจำเวลาผมกำลังคุยโทรศัพท์ ทำให้ต้องเงียบ และรอให้เรือแล่นผ่านไปก่อน จึงจะคุยกันใหม่ได้

ฉะนั้น ด้วยความเป็นบ้านนอกดังที่เล่ามาให้ฟังนี้ การมีเซเว่นมาตั้งหน้าบ้าน จึงเท่ากับความเป็นเมืองได้คืบคลานเข้ามาหาเรา ข้าพเจ้ารับรองได้ว่าต่อจากนี้ไปชีวิตเราจะเปลี่ยนไป ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป (ถ้าเซเว่นเปิดทำการ)

อ่า จบดีกว่าครับ เขียนเพลินเสียยาวยืดเลย เหอ เหอ




 

Create Date : 01 ธันวาคม 2548    
Last Update : 1 ธันวาคม 2548 16:43:43 น.
Counter : 438 Pageviews.  

งานชิ้นโบว์ดำชิ้นต่อปายย(ของผม)

ต่อไปนี้คืองานชิ้นโบว์ดำของผมอีกสองชิ้น
ชิ้นแรกวิจารณ์บทความทางวิชาการในงานประชุมประจำปี(ครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้..)ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ว่าด้วยเรื่องการแกะสลักสล่า

ชิ้นที่สองเป็นการวิจารณ์หนังสือนวนิยายเรื่อง "จดมหายจากเมืองไทย" ของ "โบตั๋น"


ทั้งสองชิ้นเป็นการวิจารณ์โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมาจับ มาต้อง มาลูบ มาคลำ..

ทำเสร็จแล้ว รู้สึกว่าวิจารณ์นวนิยายยากกว่าวิจารณ์บทความทางวิชาการแฮะ เพราะต้องคัดสรร ว่าจะเอาอะไรมาวิจารณ์ดีหรือไม่ดี

เชิญติดตามชมได้แล้วครับ

เรื่องการปรับตัวของสล่าพื้นบ้านในบริบทของการท่องเที่ยว กรณีศึกษาชาวบ้านบ้านหลุก อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ของ โขมสี แสนจิตต์


บทความชิ้นนี้ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ของการแกะสลักสล่า ของชาวบ้านหลุก ที่เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนเป็นการแกะสลักสัตว์ป่า สิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน หรือแกะสลักเพื่อเป็นเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน คือพื้นฐานของการแกะสลัก มาจากบริบททางสังคม สภาวะแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ เป็นการแกะสลัก “ตามออเดอร์” ตามความต้องการของผู้บริโภค คือนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ ตามความต้องการของกระแสภายนอกชุมชนแทน สิ่งของที่แกะสลัก เริ่มมีลักษณะแปลกแยก ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมบ้านหลุก เช่นอินเดียนแดง ดอกทิวลิป ช้างแอฟริกัน เป็นต้น


จากที่กล่าวมา พบว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม คือ การเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดกับวัตถุในสังคม เป็นการเปลี่ยนในองค์ประกอบ รูปแบบ วิธีใช้สอย และคุณค่าของวัตถุนั้น องค์ประกอบของวัตถุนั้น มีการเปลี่ยนไป จากแต่เดิมใช้ไม้สัก แต่ปัจจุบันไม้สักมีราคาแพง และเป็นไม้สงวน ชาวบ้านจึงหันไปใช้ไม้ชนิดอื่นที่มีคุณภาพไม่สูงนักแต่ราคาถูกลง รูปแบบการสลักที่เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นการสลักตามสิ่งแวดล้มที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ตามสิ่งแวดล้อม(environment) ของสังคมบ้านหลุก เป็นการสลักสิ่งอื่น ที่ไม่เคยพบ เคยเห็น เคยมีมาก่อน ในสังคมชนบทจังหวัดลำปาง เช่น ช้างแอฟริกัน ดอกทิวลิป อินเดียนแดง เปลี่ยนวิธีใช้สอยของวัตถุ ที่จากเดิมเป็นของที่ใช้ ใช้งานจริงๆ แต่เวลานี้ มีค่าเป็นเพียงของประดับ ตบแต่งบ้านเรือน และสุดท้าย เปลี่ยนในคุณค่าของวัตถุ คือ คุณค่าทางวัฒนธรรมหายไป แต่คุณค่าทางการพาณิชย์ เข้ามาแทนที่


บทความชิ้นนี้ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอย่างทุกแง่ทุกมุม รอบด้าน(holistic) ทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนแบบคนใน (emic) มากกว่าคนนอก (etic) โดยผู้เขียนได้ใช้เทคนิควิจัยอันเป็นเอกลักษณ์ของวิชามานุษยวิทยา ได้แก่การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม(participant observation)และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก(In-depth Interview)เป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวถึง มีทั้งการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการผลิต จุดประสงค์การผลิต จากแต่เดิมที่ผลิตเฉพาะใช้สอยในครัวเรือน ก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว การแกะสลักสล่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไป นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ ความปราณีต ละเอียดอ่อน และคุณภาพของชิ้นงานลดต่ำลง กลายเป็นการผลิตแบบครั้งละจำนวนมาก(mass production)ยังผลให้เกิดการจำกัดในความคิดสร้างสรรค์ ทุกอย่างที่ผลิต ต้องเป็นไปตามความต้องการของตลาดท่องเที่ยวเป็นสำคัญ


บทความชิ้นนี้ มีความขัดแย้งในตัวเอง มีหลายส่วน หลายตอนในบทความ ที่มีความขัดแย้งในเรื่องเดียวกัน ตอนหนึ่ง ผู้เขียนมีความเห็นว่า กระบวนการผลิตที่มีการเลียนแบบนั้น เราอาจมองเป็นภูมิปัญญาได้หรือไม่ เพราะภูมิปัญญาในความหมายของผู้เขียนคือ


“การสืบทอด การสั่งสมประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ค์ผลงาน คัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แต่การลอกเลียนแบบไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ค์ ไม่ต้องสะสมประสบการณ์ในการทำ แต่เป็นการรับเอามาโดยการคัดลอก”


เช่นนี้แล้ว ก็เป็นอันชัดเจนว่า ผู้เขียนกำลังจะบอกว่า การทำแกะสลักสล่าของชาวบ้านหลุก ไม่ใช่วัฒนธรรม ไม่ใช่ภูมิปัญญา


แต่ในอีกตอนหนึ่ง ผู้เขียนกล่าวด้วยน้ำเสียงชื่นชมการแกะสลักว่า “การปรับตัวของสล่าพื้นบ้านภายใต้บริบทใหม่ ผสมผสานกับจินตนาการและการสร้างสรรค์ที่แสดงถึงความสามารถของสล่าพื้นบ้าน ก็ทำให้พวกเขาสามารถรังสรรค์ ผลงานออกมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ความงามทางศิลปะและความงามในอุดมคติ”


จากที่ยกมา จะพบว่าตอนหนึ่งของบทความ ผู้เขียนกล่าวว่าการทำงานตามความต้องการของโลกภายนอกนั้นไม่ใช่วัฒนธรรม แต่อีกตอนหนึ่ง ผู้เขียนกลับพูดว่า การปรับตัวของสล่าพื้นบ้านในการรับวัฒนธรรมใหม่จากโลกภายนอก เป็น “ความงามทางศิลปะและความงามในอุดมคติ” ซึ่งการทำงานศิลปะเพื่อความงามในอุดมคตินั้น น่าจะหมายถึงการแกะสลักของสล่าพื้นบ้าน ในอดีต ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกมากกว่า


อีกตอนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย คือ “งานแกะสลักบ้านหลุก จึงเป็นศิลปวัฒนธรรมที่กลายเป็นสินค้าซึ่งสามารถขายได้ ประกอบไปด้วยคุณค่าทั้งในด้านวัฒนธรรม(cultural value)และคุณค่าเชิงพาณิชย์(commercial value)”


ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นไปยากมากที่ทั้งสองสิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกันอย่างที่สุด จะมาอยู่ร่วมกัน เดินไปด้วยกันได้ การทำงานศิลปะเพื่อขายนั้น สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง ก็คือความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ หาใช่ความต้องการของช่างผู้แกะสลักเป็นสำคัญไม่ อีกทั้งในบทความ ก็มีตอนที่กล่าวว่า การทำงานตามออเดอร์ ทำให้เกิดการจำกัดทางความคิดสร้างสรรค์


และจากบทความ ข้าพเจ้าว่า ชาวบ้านหลุกนั้น รับวัฒนธรรมจากภายนอกมาไว้ โดยไม่ “ปรับ” ให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเลย เช่น การแกะสลักสิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยพบ เคยเห็นมาก่อน นอกจาสื่อภายนอกนำเข้ามา เช่น ดอกทิวลิป ช้างแอฟริกัน หรือ หัวอินเดียนแดง และแกะสลักสิ่งที่ไม่เคยเห็น แต่เป็นความต้องการของตลาด โดยไม่มีการปรับบางสิ่งบางอย่างใดๆ ทุกอย่างที่สลักขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด ชาวบ้านที่สลักไม่มีความคิด ความอ่าน หรือความเห็นในการประดิษฐ์งาน ประกอบกับมีการจัดการองค์กรแบบหลวมๆ เพื่อประโยชน์ในการค้าขายด้วยแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าคิดไปว่า บ้านหลุกในเวลานี้นั้น ไม่ได้ต่างอะไร ไปจากโรงงานอุตสาหกรรมเลย


และถ้าจะเสนอหนทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่กำลังจะถูกวัฒนธรรมภายนอกมาครอบงำและบงการ ก็คือการปรับตัวอย่างสมดุล โดยการแกะสลักส่วนหนึ่ง ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า เป็นการปรับตัว(adaptation)เพื่อความอยู่รอดของชาวบ้านหลุก แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านหลุก ก็ต้องรักษาการแกะสลักในรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้เหมือนที่เคยเป็นมาแต่อดีต เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้าน



วิเคราะห์และวิจารณ์นวนิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ของ โบตั๋น

โลกทัศน์ของตันส่วงอู๋

จดหมายจากเมืองไทยเป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัล สปอ. แต่งโดยโบตั๋น หรือนามจริงคือ สุภา สิริสิงห์ และเป็นหนังสือนอกเวลาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเลือกนวนิยายเรื่องนี้มาวิเคราะห์ เพราะความ “สด” ของนวนิยายเรื่องนี้ของข้าพเจ้า


นวนิยายเรื่องนี้ เป็นนวนิยายที่ค่อนข้างเป็นตัวอย่างที่ดี ในการอธิบายถึง ปัจจัยของการผสมผสานทางวัฒนธรรม เนื้อหา เป็นจดหมายร้อยฉบับถ้วน ที่ตันส่วงอู๋ ตัวเดินเรื่อง เขียนเล่าความเป็นไปในสังคมและวัฒนธรรมของคนไทย ผ่านสายตาของชาวต่างชาติ ที่มีความอคติทางชาติพันธุ์(ethnocentrics) มากคนหนึ่ง เนื้อหาของหนังสือ คล้ายคลึงกับหนังสือ Polish Peasant แต่งโดย นักวิชาการกลุ่ม Chicago School อันได้แก่ A.Small, W.I Thomasc และ F.Znaniecki


ขั้นตอนของการผสมผสานทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงสู่วัฒนธรรมเจ้าถิ่น เกิดการผสมผสานพฤติกรรม(acculturation) เมื่อตันส่วงอู๋เดินทางสู่เมืองไทย ได้เข้าทำงานในบ้านญาติของพ่อบุญธรรม เริ่มต้นค้าขายทุกอย่าง ทั้งค้าขายกับคนจีนด้วยกัน และค้าขายกับคนไทย ซึ่งการค้าขายกับคนไทยนี้เอง ตันส่วงอู๋เกิดความรู้สึกว่าคนไทยนั้น ขี้เกียจ ซื้อของเชื่อไปแล้ว ไม่ยอมเอาเงินมาใช้ เวลาทวง ก็จะดูถูกดูแคลนว่า เป็นเจ๊ก มาอาศัยแผ่นดินไทยทำมาหากิน ยังไม่ยอมให้ความช่วยเหลือคนไทยที่เป็นเจ้าบ้าน แต่เวลาต่อมา ตันส่วงอู๋ ก็เลิกค้าขายกับคนไทย หันมาทำการค้ากับคนจีนเต็มตัว โดยในใจของตันส่วงอู๋ยังไม่ยอมรับคนไทย ซึ่งกว่าที่ตันส่วงอู๋จะยอมรับคนไทยได้ ก็เมื่อที่ลูกสาวคนหนึ่งของเขาไปแต่งงานกับคนไทยที่เห็นว่าเป็นคนดีคนหนึ่ง ทำให้เกิดการสมรสระหว่างกลุ่ม อันเป็นการผสมผสานด้านการสมรส(amalgamation) ที่ทำให้ตันส่วงอู๋ยอมรับคนไทยได้ในที่สุด


การพัฒนาความรู้สึกในด้านการเป็นประชากรนั้น ตันส่วงอู๋พยายามที่จะทำให้เกิดการยอมรับ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าขายและการถือครองที่ดินของเขา เป็นการผสมผสานด้านโครงสร้าง(amaigaimation) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการผสมผสานด้านโครงสร้าง ด้านโครงสร้างที่ว่าเป็นโครงสร้างของการปกครอง คือ ตันส่วงอู๋ขึ้นอำเภอ เพื่อที่จะทำเรื่องต่ออายุใบเข้าเมืองบนที่ว่าการอำเภอ แต่ความพยายามของเขาออกจะล้มเหลว เพราะเจ้าหน้าที่บนที่ว่าการอำเภอ ยังมีการถือเขาถือเรา และอคติอยู่ โดยที่เรียกร้องค่า “น้ำร้อนน้ำชา” จากชาวต่างชาติผู้มาขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าเมือง ตรงนี้พลอยทำให้เกิดการมีอคติซึ่งกันและกันระหว่างตัวแทนชาวจีนอย่างตัน


ส่วงอู๋และตัวแทนของอำนาจรัฐอย่างข้าราชการบนอำเภอ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความขัดแย้งในค่านิยมและอำนาจ ที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้แสดงต่อชาวต่างชาติ ทำให้ช่วงเวลาในหนังสือนวนิยายนั้น ไม่อาจเกิดขั้นตอนของการ พัฒนาความรู้สึกในด้านการเป็นประชากร การปราศจากอคติ ปราศจากการถือเขาถือเรา และปราศจากความขัดแย้งในค่านิยมและอำนาจได้ ส่วนตัวตันส่วงอู๋เองนั้น ก็มิได้สมรสระหว่างกลุ่มชาวจีน ด้วยมีการถือเขาถือเราและอคติว่าคนไทยนั้นขี้เกียจ กลับไปแต่งงานกับลูกสาวนายจ้างแทน การสมรสระหว่างกลุ่ม จึงค่อยเกิดขึ้นในรุ่น(generation)ลูกแทน


นวนิยายเรื่องนี้ดีเด่นมากในเชิงการประพันธ์และจำลองสภาพชีวิตสังคม ผ่านสายตาของชายชาวจีน เราจะพบว่าสิ่งที่ตันส่วงอู๋เขียนจดหมายเล่าความเป็นไปในเมืองไทยนั้น มิได้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเลย ข้าราชการยังชอบรับสินบาทคาดสินบน หยอดน้ำมัน หรือค่าน้ำร้อนน้ำชาอยู่ คนไทยยังมีความขี้เกียจทำงาน เกลียดการค้าขาย แต่บางเรื่อง เราจะพบว่าตันส่วงอู๋ใช้อคติของชาวจีนแท้ๆมาตัดสินประเทศไทย ทำให้ไม่อาจมองภาพของความเป็นจริงได้ เช่น บอกว่าสามก๊กนั้นเขียนดีกว่า มีเล่ห์กลการศึกซับซ้อนกว่าราชาธิราช ของไทย ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ไม่มีหนังสือของชาติใดดีกว่าชาติใด


ฉะนั้น การวิเคราะห์นวนิยายเรื่องจดหมายจากเมืองไทย ต้องแยกให้ออกระหว่างความจริงที่เป็นไปในสังคมไทย กับอคติของชายชาวจีน หากแยกไม่ออกแล้ว ผู้อ่านจะเกิดการตีความผิด เข้าใจผิด(thin description)


การนำเสนอในนวนิยายเรื่องนี้ ค่อนข้างตรงกันข้ามกับทฤษฎีตัวแปรของการผสมผสานทางวัฒนธรรม เพราะทฤษฎีนี้ อธิบายเพียงด้านเดียว โดยยึด “เจ้าบ้าน” เป็นสำคัญ ว่าเจ้าบ้านจะยอมรับผู้อพยพหรือไม่ ยอมรับ ปราศจากอคติได้แค่ไหนโดยไม่ได้มองถึงด้านของผู้อพยพเลย ว่าจะยอมรับพฤติกรรมของ “เจ้าบ้าน” ได้แค่ไหน นวนิยายเรื่องนี้ ทำให้มองทฤษฎีการผสมผสานวัฒนธรรมได้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ทฤษฎีไม่แข็งจนเกินไป เกิดความละเอียดอ่อน และยืดหยุ่น(flexible) ตรงตามความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ว่า “เจ้าบ้าน” ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่าย แสดงบทยอมรับ “ผู้อพยพ” เท่านั้น แต่ “ผู้อพยพ”เอง ก็สามารถแสดงบทบาทความยอมรับหรือปฏิเสธ “เจ้าบ้าน” ได้เช่นเดียวกัน หรือ ทั้งสองฝ่าย อาจเกิดการยอมรับ และไม่ยอมรับ ซึ่งกันและกัน ก็ได้ ไม่จำเป็นที่ฝ่ายหนึ่งต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ “ยอมรับ” และอีกฝ่ายต้องแสดงบท “ผู้ถูกยอมรับ” ทั้งฝ่ายเจ้าบ้าน และฝ่ายผู้อพยพ ต่างมีความเท่าเทียมกันในการแสดงบทบาท


แต่ทว่านวนิยายเรื่องนี้ ก็มิได้สรุปให้ชัดเจนลงไปว่า ตันส่วงอู๋นั้น ยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรม ยังคงมีความคลุมเครือว่า ตันส่วงอู๋แท้ที่จริงนั้น ยอมรับการแต่งงานของลูกสาวกับชายหนุ่มชาวไทยได้แน่นอนหรือไม่ ถ้าจะให้ดูไปจริงๆ คิดว่าตันส่วงอู๋น่าจะยอมรับ เพราะน้องสาวของภรรยาก็ “ถือหาง” ฝ่ายลูกสาวและลูกเขยชาวไทย ภรรยาก็เสียไปแล้ว ลูกชายก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ตัน ส่วงอู๋ย่อมไม่มี “พวก” ที่จะอยู่ฝ่ายต่อต้านชาวไทย เวลาผ่านไปเขาก็ย่อมต้องยอมรับชาวไทย เพราะความเป็น “หัวเดียวกระเทียมลีบ” นั่นเอง


อีกประการหนึ่ง ช่วงที่บ้านของตันส่วงอู๋เกือบถูกไฟไหม้ ก็ได้ลูกเขยของเขา เป็นคนแรกที่มาช่วยเหลือ ประการต่อมา ในช่วงที่เว่งคิม ลูกชายคนโตของเขาไปติดผู้หญิงโสเภณี ซึ่งเป็นคนไม่ดี เป็นสายให้โจรยกเค้าบ้าน แต่ตันส่วงอู๋ก็ยังยอมรับให้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้าน ในฐานะ “ภรรยา” ออกหน้าออกตา ด้วยสาเหตุเพียงประการเดียวคือ โสเภณีผู้นั้น เป็นชาวจีน โดยยึดจากนิยายพื้นบ้านปรัมปราว่า ชายคนหนึ่งได้หญิงโสเภณีเป็นเมีย และหญิงนั้น ส่งเสริมเขาทุกวิถีทาง จนทำให้เขาสอบจอหงวนได้
จากที่กล่าวมานั้น ทำให้ตันส่วงอู๋พบว่า ความเป็นคนดี คนเลวนั้น ไม่ได้ขึ้นกับเชื้อชาติเป็น
สำคัญ ความดี ความเลว เป็นของสากล มีอยู่ในกลุ่มคน ทุกชาติทุกภาษา ไม่ได้ผูกขาดว่า คนจีนเท่านั้น ที่เป็นคนดี หรือคนไทยเท่านั้น ที่เป็นคนเลว


และถ้าหากนวนิยายเรื่องนี้นั้น จะให้ภาพที่ชัดเจนของการยอมรับอย่างเต็มตัวของตันส่วงอู๋ต่อลูกเขยชาวไทย ที่เป็นตัวแทนของคนไทย ที่เขาต่อต้าน “โบตั๋น” น่าจะเขียนต่อไปว่า ให้ลูกสาวของตันส่วงอู๋มีลูกกับลูกเขยชาวไทย เพื่อที่จะทดสอบว่า ตันส่วงอู๋นั้น ยอมรับหลานเลือดผสมของเขา อันมีเลือดครึ่งหนึ่ง เป็นเลือดของคนไทย ได้หรือไม่

-จบ-




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 12:14:49 น.
Counter : 795 Pageviews.  

ต่อไปนี้ผมจะหยุดหารับประทานกับคุณย่า.comเสียที

จากที่ตั้งช่อบล๊อกไว้แบบนี้อย่าเพ่งตกใจไปว่าผมเป็นอะไรไปรึเปล่า

บอกได้เลยว่าเปล่า...แค่เพียงเพราะว่าข้าพเจ้าได้หารับประทานกับนวนยายเร่องนี้ในระยะเวลาตลอดสามปีแห่งการเรียนที่คณะรัฐศาสตร..จุฬาฯมาแล้วหลายครั้งหลายหน..(จนข้าพเจ้ารู้สึกเบ่อ)ที่เวลาจนตรอกหาเร่องมาเขียนงานส่งครูไม่ได้ก็มาหาน้ำพรกถ้วยเก่าคอหนังสอเล่มนี้นั้นแล..

และทั้งๆที่ข้าพเจ้าก็เคยอ่านหนังสอมาแล้วหลายเล่ม..จะหมดภูมรู้แค่นวนยายเร่องนี้เท่านั้นเหรอ(เหอเหอเหอ)...

แต่ตอนนี้ข้าพเจ้ายอมรับอย่างหน้าช่นตาบานว่าหมดภูมรู้กับการเขียนบล๊อกเล่นๆนี่เสียแล้ว

จึงเกดความคดชั่วแล่นว่าจะลองเอางานเก่าๆที่เคยเขียนส่งครูมาลงบล๊อกมั่งดีกว่า

งานช้นแรกเร่มจากวจารณหนังสอเร่องคุณย่า.comที่ข้าพเจ้าเพ่งทำส่งไป

ซึ่งข้าพเจ้าจะเอามาลงแปะทั้งดุ้นโดยไม่ได้ตัดต่อรึลบอะไรไปแต่อย่างหนึ่งอย่างใด

และวชานี้ออกเกรดไปเรียบร้อยแล้วฉะนั้นถ้าจะเอามาเผยแพร่กันเล่นๆคงจะไม่เป็นอะไร(ทำยังกะข้อสอบเอนทแน่ะ..5555+)

ขอเชญรับชมได้ณ.บัดนี้..เหอ..เหอ..เหอ



วิจารณ์นวนิยายเรื่อง //www.คุณย่า.com ของ ‘ดวงใจ’
เมื่อปี 2542 นวนิยายเรื่องนี้ได้ตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสารสกุลไทย ได้รับการต้อนรับจากผู้อ่านอย่างล้นหลาม จนกระทั่งรวมเล่มออกมา และได้เข้าร่วมประกวดในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ ได้รับรางวัลชนะเลิศประจำปี 2544 สะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพของงานเขียนชิ้นนี้ได้เป็นอย่างดี
//www.คุณย่า.com เป็นนวนิยายจากฝีมือการประพันธ์ของ ‘ดวงใจ’ หรือ นามจริง คือ รองศาสตราจารย์ ประทุมพร วัชรเสถียร อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้เคยมีผลงานที่ได้รับรางวัลมาแล้วหลายเรื่อง เช่น
บ่วงกรรม รัฐมนตรีหญิง หรือสารคดี เช่น ย่ำสนธยาโรมานอฟ ว่าด้วยปฐมบทของราชวงศ์โรมานอฟ ปัญหาและสาเหตุของการล่มสลายของราชวงศ์นี้ในรัสเซีย
นวนิยายเรื่องนี้ มีหลายประเด็นที่กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมในสมัยปัจจุบัน และจุดเด่นของเรื่องนี้ อยู่ที่ ผู้เขียนได้ดึงเอาประเด็นร่วมสมัยในสังคมไทยมาเขียนในหนังสือ คือ เรื่องผู้สูงอายุ และความสัมพันธ์ระหว่างคนต่างวัย ที่มีช่องว่างระหว่างวัย(generation gap)ค่อนข้างห่าง คือ ย่ากับหลาน
งานชิ้นนี้ของข้าพเจ้า มีจุดประสงค์ต้องการนำเสนอสาระของนวนิยายเรื่องนี้ คือประเด็นการยอมรับสิ่งใหม่ของคนในชุมชนหรือในนวนิยายเรื่องนี้ คือกลุ่มคน อันประกอบไปด้วยกลุ่มเพื่อนสนิทของคุณย่าวิทู ต่อสิ่งใหม่ คือเทคโนโลยีอินเตอร์เนทและคอมพิวเตอร์
ข้าพเจ้าอาจกล่าวได้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ ถ้าจะอ่านเล่น ก็อ่านได้สนุก หรือถ้าจะอ่านเอาจริงเอาจัง เพื่อหาแก่นสารทางวิชาการ ก็ย่อมได้ หากข้าพเจ้ามองในแง่ของนวนิยายเชิงวิชาการแล้ว นวนิยายเรื่องนี้ ทรงคุณค่าเท่าเทียมกับนวนิยายอเมริกันอิงวิชาการทางมานุษยวิทยา เรื่อง รูทส์(Roots) ของ อเล็กซ์ ฮาร์วีย์ แปลโดย ปรานี วงษ์เทศ เลยทีเดียว
ตัวละครต่างๆในเรื่องนี้ มิได้มีแต่คนแก่เท่านั้น ยังมีคนวัยหนุ่มสาวมาเกี่ยวข้อง อย่างมากมาย ก่อให้เกิดความคิด ความรู้สึกต่างๆ ซึ่งตรงนี้นั้น หากมองเข้าไปลึกๆแล้ว ก็เป็นปัญหาที่มีมาทุกยุคทุกสมัย ซึ่งผู้เขียนได้จำลองมาไว้ในรูปของนวนิยายที่อ่านง่าย สนุก โดยแต่ละตอนก็จะมีตัวละครต่างๆผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาเล่าเรื่องผ่านมุมมอง ความคิด ความเห็น ทัศนคติ อคติของตนเอง
คุณย่าวิทู ผู้นำสิ่งใหม่เข้าสู่ประชาคมผู้สูงอายุ
โดยทั่วๆไป เป็นที่ทราบกันดีว่า ผู้สูงอายุ ไม่ค่อยถูกกับเครื่องมืออุปกรณ์ไฮเทคเหล่านี้มากนัก เพราะระบบการทำงานต่างๆของคอมพิวเตอร์ที่ถูกออกแบบมาเพื่อสร้างความสะดวกสบายในการใช้งานนั้น กลับสร้างความยุ่งยาก สับสน ให้แก่พวกเขาเหล่านั้นเป็นอย่างยิ่ง ผู้สูงอายุบางส่วน จึงถือโอกาสไม่เรียนรู้เรื่องคอมพิวเตอร์ไว้เลย และที่สำคัญ พวกเขาเหล่านั้น สังคมไม่ได้คาดหวังว่าพวกเขาจะต้องใช้คอมพิวเตอร์เพื่อทำกิจการงานใดๆมากนัก (ไม่เหมือนกลุ่มคนหนุ่มสาวยุคปัจจุบันนี้ ที่ถูกบังคับกลายๆให้ใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นและให้ได้ เพราะไม่ว่าประกาศรับสมัครงานที่ใด ก็ต้องการคนที่ใช้คอมพิวเตอร์เป็น หรือแม้แต่การลงทะเบียนเรียน ก็ต้องทำผ่านคอมพิวเตอร์ คนรุ่นใหม่จึงหลีกเลี่ยงเทคโนโลยีไปไม่พ้น) ฉะนั้น ผู้สูงอายุ จึงมีทางเลือก ที่จะเลือกใช้ หรือไม่ใช้คอมพิวเตอร์ ตามความชอบ ความสนใจ และความต้องการของเขาเอง หาใช่ความต้องการคาดหวังของสังคมไม่ และทำให้ผู้สูงอายุที่พยายามจะใช้ประโยชน์จากคอมพิวเตอร์ให้มากที่สุด ถูกคนรุ่นหลังมองว่าแก่ไม่รู้จักแก่ ไม่อยู่เป็นที่เป็นทาง คอมพิวเตอร์เป็นเรื่องของคนรุ่นใหม่เท่านั้น ก่อให้เกิดช่องว่างระหว่างวัย(generations gap)และความไม่เข้าใจกัน เกิดเป็นวัฒนธรรมย่อย(subculture)ของคนต่างอายุกัน โดยในความเข้าใจของคนทั่วๆไปนั้น จะคิดว่าวัฒนธรรมย่อย ที่ก่อให้เกิดความแตกต่างขึ้นในสังคมนั้น จะเกิดแต่ในสังคมพหุวัฒนธรรมเท่านั้น(multiculturalism) แต่ในหนังสือเล่มนี้ ดูเหมือนจะบอกเรากลายๆว่า ความแตกต่างระหว่างอายุ ก็ก่อให้เกิด “วัฒนธรรมย่อย” ได้เช่นกัน สิ่งที่แสดงให้เห็นว่ามันได้เกิดวัฒนธรรมย่อยขึ้นมา ก็คือความไม่เข้าใจกันระหว่างช่วงอายุ เกิดเป็นวัฒนธรรมเด็ก วัฒนธรรมวัยรุ่น วัฒนธรรมคนทำงาน วัฒนธรรมผู้สูงอายุ และย่อยลงไปอีก ก็วัฒนธรรมของนักเรียนมหาวิทยาลัย
แต่คุณย่าวิทู ได้ท้าทายทั้งตัวเอง กลุ่มเพื่อน ผู้สูงอายุ รวมทั้งความคาดหวังของสังคมโดยดำเนินการนำสิ่งใหม่เข้าสู่สังคมและวัฒนธรรมของผู้สูงอายุทั้งมวล มีตัวแทนของคน 5 ประเภท ในกระบวนทัศน์การยอมรับสิ่งใหม่ เป็นเหล่าผองเพื่อนในกลุ่มของคุณย่าวิทูนั่นเอง
กระบวนทัศน์การยอมรับสิ่งใหม่ คือ การเกิดสิ่งใหม่ๆในสังคม บางครั้งไม่สอดคล้องกับการดำเนินชีวิตของคนในสังคม(ในนวนิยายเรื่องนี้ คือ ชีวิตของคนแก่ ผู้สูงอายุ ที่ห่างไกลจากอินเตอร์เนท คอมพิวเตอร์ และเทคโนโลยี) ก็จะทำให้เกิดการต่อต้านและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงในที่สุดได้
การต่อต้านมักเกิดจาก การสูญเสียประโยชน์ การเกิดความกลัว ในสิ่งที่ไม่รู้ที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลง การขาดความรู้ ภาวะความเครียดจากการปรับตัวและเกิดจากความไม่มั่นคงของบุคคล
วิทู และ อ.พรลาภ ในระยะต้น เป็นตัวแทนของคนประเภท เมื่อของใหม่เข้ามาก็ยอมรับเลย
(Transformer) เพราะวิทู ต้องการใช้คอมพิวเตอร์ เพราะความสนใจส่วนตัวของเธอเอง ที่อยากจะ
ลดช่องว่างระหว่างวัย คือเธอ กับกลุ่มเด็กวัยรุ่น และต้องการที่จะเติมเต็มสิ่งที่ขาดไปในชีวิต นั่นคือ
ช่วงที่เป็นวัยรุ่น ซึ่งเธอไม่มีโอกาสได้สัมผัส เพราะแต่งงานเสียตั้งแต่ยังเด็ก ส่วนอาจารย์พรลาภ มี
ความจำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์บ้าง เพราะเป็นอาจารย์สอนหนังสือในมหาวิทยาลัย ต้องใช้คอมฯ
เช็คข่าว ส่งอี-เมลล์ แต่ก็ไม่ได้ใช้ประโยชน์จากมันคุ้มค่ามากนัก เธอจึงอยากจะเรียนให้มากกว่านี้
และในเวลาต่อมา เธอทั้งสองคน ก็ได้กลายเป็นพวก รับสิ่งใหม่อย่างรวดเร็วและทำหน้าที่ชักชวน
ให้ผู้อื่นเปลี่ยนแปลงด้วย(Change Agent) ซึ่งก็พบว่าเป็นตัวดำเนินเรื่อง และมีบทบาทสำคัญ ที่ได้
เปลี่ยนให้เพื่อนของเธอหันมาใช้คอมพิวเตอร์กัน แม้ว่าบางคนจะมีจุดประสงค์แฝงในการนี้ ก็ตามที
แคลร่า รัตนา และ เสาวภาคย์ ในระยะแรก เป็นพวกต่อต้าน ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลง
เลย(Resistant) แคลร่า ไม่อาจใช้เวลาเข้าร่วมได้เต็มที่ เพราะต้องดุแลคุณบ๊อบ สามีของเธอที่เป็น
อัมพาต ไม่อาจช่วยเหลือตนเองได้ดีนัก และเธอเองต้องทำอาหารขายส่ง ฐานะไม่ได้ร่ำรวยนัก
สามารถมาร่วมสมาคมกับเพื่อนๆได้นานๆครั้ง แต่ข้อดีของเธอคือ เป็นคนมองโลกในแง่ดี ใครอยู่
ด้วย คบด้วยกับเธอ ก็มีความสุข คนต่อมาคือ รัตนา ผู้ซึ่งสามีทิ้ง ครอบครัวแตกแยกเป็นข้าราชการ
เกษียณแล้ว แต่ต้องรับภาระดูแลแม่อายุ 90 เมียของลูกชายที่ตั้งครรภ์แก่ใกล้คลอด และยังลูกชายคน
เดียวที่ไม่ค่อยเป็นโล้เป็นพายเท่าไหร่นัก มิหนำซ้ำเธอมองโลกด้วยสายตาหดหู่ แต่เดิมทีมาเธอก็เป็น
คนมองโลกในแง่ร้ายอยู่แล้ว เมื่อมาตกอยู่ในสภาพครอบครัว ที่มีเรื่องระหองระแหงเช่นนี้ จึงทำให้
เธอเป็นคนมองโลกในแง่ร้ายเข้าไปใหญ่ ทำให้ใครที่เข้ามาใกล้กับเธอ ต้องพลอยรับฟังเรื่องอันน่า
หดหู่ไปกับเธอด้วย
คนสุดท้าย คือเสาวภาคย์ เธอเป็นอดีตคุณหญิงทูตฯ มีชีวิตรักที่โลดโผน แอบเล่นชู้กับคน
อื่น สวมเขาให้สามี คือ ท่านทูตศักดา เดิมทีไม่เห็นด้วยเลยกับการจะลุกมาเล่นคอมพิวเตอร์ของคุณ
วิทูผู้เป็นหัวเรือใหญ่ ด้วยมีความคิดแบบเดิมๆ ว่าคนแก่ควรอยู่กับบ้าน เฉยๆ แต่ว่า ในเวลาต่อมา
มาแล้ว ทั้งสามคน ก็ได้เข้ามามีส่วนในเว็บคุณย่า.com ได้
พริ้มเพรา เป็นกลุ่มเพื่อนที่เข้ามาทีหลังสุด เข้าร่วมกับกลุ่มคุณวิทู เพราะว่าอยากยกระดับ
เดิมของตัวเอง ที่เป็นแค่ไฮซ้อ เมียพ่อค้า ทำโรงงานมันสำปะหลัง ร่ำรวยมาจากการทำธุรกิจ หาใช่
เป็นผู้ดีเก่าที่ร่ำรวยอย่างคุณวิทู พยายามหาเหตุที่จะมาเข้าร่วมกับกลุ่มคุณย่า เดิมทีเธอไม่ได้สนใจ
เลยเรื่องคอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์ก็คือมนุษย์ต่างดาวของเธอนั่นเอง แต่ที่เข้ามาร่วมนั้น เพราะเห็น
ข้อดีโดยใช้เรื่องคอมพิวเตอร์เป็นสะพานทอดเข้ามาเป็นเพื่อนกับกลุ่มย่าวิทู เพื่อผลประโยชน์
บางอย่างในการยกระดับทางสังคม เป็นพวกที่รอจังหวะที่จะเข้ามามีส่วนเสริมการเปลี่ยนแปลง
(Iconocal) เป็นพวกฉวยโอกาส ประเมินสถานการณ์ก่อน ว่าส่งผลดี ผลเสียมากน้อยแค่ไหน ซึ่งเธอ
พบว่าการเข้ากลุ่มนี้ เป็นผลดีกับเธอแน่นอน แม้ว่าผลดีนั้น จะไม่ได้มากจาการเล่นคอมพิวเตอร์และ
อินเตอร์เนท แต่กลับมาจากการได้เข้ากลุ่มเพื่อนมากกว่า ก็พอจะนับเข้าไปอยู่ในประเภทนี้ได้
ส่วนกลุ่ม ที่ไม่สนใจอะไร อยู่ไปวันๆ(Apathy)นั้นไม่ปรากฏในเรื่องคุณย่า.com
การเปลี่ยนแปลงอันเกิดมาจากการนำสิ่งใหม่ หรือเกิดสิ่งใหม่ขึ้นในสังคมนั้น บางทีก็ไม่ก่อให้เกิด
การต่อต้าน และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเสมอไป เพราะบางทีสิ่งใหม่ที่นำเข้ามา ก็จะทำให้เกิดการ
เปลี่ยนแปลงโดยตัวของมันเอง โดยไม่จำเป็นต้องมีการต่อต้าน สำหรับในนวนิยายเรื่องนี้ โชคดีที่
คุณย่าวิทูมีเพื่อนที่ค่อนข้างยอมรับสิ่งต่างๆได้ค่อนข้างง่าย มีศักยภาพในการปรับตัวสูง จึงไม่
เกิดปัญหาความล้าทางวัฒนธรรม(Culture Lag) และอีกประการ ในกลุ่มของย่าวิทู ไม่มี
สมาชิกในกลุ่มคนใดเลยที่เป็นพวกApathy เลย หากมีคนประเภทนี้เกิดขึ้น ร้านอินเตอร์เนทคาเฟ่
อาจไม่เกิดขึ้นมาก็ได้ และประการสุดท้าย คุณย่าวิทูร่ำรวย รวยพอที่จะส่งเสริมร้านอินเทอร์เนท
คาเฟ่ และมีกำลังใจ น้ำใจงดงามพอที่จะสนับสนุนให้เพื่อนๆทุกคนและผู้สูงอายุทุกคน ได้มีส่วน
ร่วมในอินเตอร์เนทและเวบไซต์ของเธอ ในนวนิยายเรื่องนี้ จึงไม่เกิดปัญหาการต่อต้าน อันเกิดจาก
การสูญเสียประโยชน์ เพราะไม่มีใครในเรื่องนี้ที่เสียประโยชน์เลย ทุกคนได้ประโยชน์จากเว็บ
คุณย่า.com ทุกคนรู้ว่าการเปลี่ยนแปลงอันจะเกิดจากอินเตอร์เนท ที่จะเกิดในอนาคตมีอะไรบ้าง ทุก
คนไม่ขาดความรู้ มีข้อมูลมากพอว่าอินเทอร์เนทคืออะไร ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง ไม่มีโทษถ้า
รู้จักใช้ มีธร ซึ่งเป็นหลานคอยให้คำแนะนำ มีวิชาญเป็นกัลญาณมิตรช่วยเหลือในการสร้างเวบคุณ
ย่า.คอม ความเครียดอันเกิดจากการปรับตัวหรือความไม่มั่นคงของจิตใจและร่างกายจึงไม่มี หรือมี
น้อยและก็ถูกกำจัดออกไปโดยเร็ว คอมพิวเตอร์และเทคโนโลยี หากรู้จักใช้แล้ว ก็จะไม่มีโทษใดๆ
ทั้งสิ้น ไม่ทำให้เสียประโยชน์ ไม่ทำให้เกิดความกลัว ไม่ก่อให้เกิดความเครียด
แต่ก็สมควรคิดต่อไปว่า ขาดคนที่คิดแบบ Apathy ทำให้นวนิยายเรื่องนี้ขาดความสมบูรณ์
ไปอย่างน่าเสียดาย เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่าในสังคมสังคมหนึ่ง จะมีคนที่คิดแบบใดแบบหนึ่ง หรือ
บางแบบไม่ได้ ย่อมต้องมีคนที่คิดครบทั้ง 5 ประเภท และนวนิยายเรื่องนี้ ก็ดุเหมือนกับจำลอง
ความคิดของคนทั้งสี่ประเภทมาได้อย่างครบถ้วน ขาดแต่ Apathy เท่านั้น แต่ถ้าคิดในมุมกลับกัน ถ้าหาก ดวงใจ สร้างตัวละครสักตัวที่เป็นประเภท Apathy ขึ้นมาแล้ว นวนิยายอาจไม่สนุก
อ่านเพลินเหมือนที่เป็นอยู่ก็ได้ และยังจะสร้างความหนักใจให้กับผู้ประพันธ์ ว่าทำอย่างไร
จึงจะเปลี่ยนใจตัวละครที่เป็นประเภท Apathy ให้ยอมรับสิ่งใหม่ได้ เพราะคนประเภทนี้ เปลี่ยนยาก
ที่สุด
และจากกรณีของคุณย่าวิทูและอ.พรลาภ ทำให้ทราบว่า ประเภทของคนในกระบวนทัศน์
การยอมรับสิ่งใหม่นั้น สามารถเลื่อนไหล(fluid)และ ยืดหยุ่น(flexible) ได้ เมื่อเวลาเปลี่ยนไป
ทัศนคติเปลี่ยนไป จากระยะแรกที่ทั้งสองคนเป็นคนแบบ Transform กลายเป็นคนแบบ Change
Agent ได้
นวนิยายเรื่องนี้ เป็นนวนิยายเรื่องยาว ถึง 71 ตอน ตีพิมพ์เป็นตอนๆในนิตยสารสกุลไทย ใช้
เวลานานถึง 3 ปี จึงจะจบ ได้ท้าทายและนำเสนอสิ่งใหม่แก่สังคมหลักๆคือ ผู้สูงอายุก็เล่นและใช้
เทคโนโลยีอย่างอินเทอร์เนทได้เหมือนๆกัน เปลี่ยนความเชื่อเดิมของสังคมและตัวผู้สูงอายุเองว่า
ผู้สูงอายุก็สามารถใช้เทคโนโลยีต่างๆได้พอๆกับคนหนุ่มสาว และมีประเด็นหลากหลายที่สามารถ
นำมาเขียนอธิบายประกอบทฤษฎีทางสังคมศาสตร์ได้เยอะ เช่น เรื่องสถาบันครอบครัว เรื่องสังคม
วิทยา มานุษยวิทยา เรื่องความด้อยโอกาสของกลุ่มคนชายขอบ หรือสตรีนิยม แต่ในความคิดของ
ข้าพเจ้าแล้ว ประเด็นหลักๆที่ทำให้เกิดนวนิยายเรื่องนี้ขึ้นมา น่าจะเป็นเรื่องของผู้สูงอายุ และเสียง
ของพวกเขาเหล่านั้นมากกว่า นวนิยายเรื่องนี้ เป็นกระบอกเสียงของผู้สูงอายุได้ดีอีกเล่มหนึ่ง ที่นัก
สังคมวิทยาโดยเฉพาะผู้ที่สนใจสังคมวิทยาผู้สูงอายุ(Sociology of Aging) ควรจะได้อ่านเป็นอย่างยิ่ง

-จบ-

ปล.ข้าพเจ้ามีงานทำนองนี้อีกหลายช้นพอจะแน่ใจได้ว่าจะหากนไปได้อีกหลายวัน

ปล.2วชานี้มีคนได้เอคนเดียวได้บีบวก7คน..ผมเป็นหนึ่งใน7คนนั้น(เจ็ดอรหันตมั้ง555+)

เสียดายพลาดไปตรงบทความภาษาอังกฤษ

จากการเรียนเทอม1ที่ผ่านมาทำให้ข้าพเจ้าค้นพบว่า
1.ฉันทะกับviriyaจำเป็นต้องไปด้วยกัน..ขาดอย่างหนึ่งอย่างใดไปก็ไม่ได้ขาดฉันทะมีแต่viriyaการเรียนจะไม่สนุก..แต่ถ้าขาดviriya(เช่นโดดกระจาย..หมักดองงาน..ชอบเผางานฯลฯแบบที่ข้าพเจ้าชอบทำอยู่เสมอๆ)มีแต่ฉันทะก็จะเรียนไม่ได้ตามเน้อหาไม่ทันเอา

แต่ถ้าขาดทั้งสองตัว..ฉันทะ+viriya=.."F"

2.ทักษะภาษาอังกฤษจำเป็นอย่างย่งยวดกับการเรียน...โดยเฉพาะอย่างย่งการวจารณบทความภาษาอังกฤษ

3.การมีอคต(โดยเฉพาะอย่างย่งอคตด้านลบ)กับอาจารยผู้สอนทำให้การเรียนไม่ประสบความสำเร็จเท่าที่ควรจะเป็น..ทางออกที่ดีที่สุดคอการหลีกเลี่ยงไม่เรียนหนังสอกับอาจารยที่เรามีอคตด้วย
(แต่วชานี้ผมชอบคนสอนนะ)

เอ่อ..พอแค่นี้ดีกว่าครับ

และถ้างานช้นนี้ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้างข้าพเจ้าขอโบ้ยความผดทั้งหลายทั้งมวลให้กับเวลาที่สั้นเกนไปจนข้าพเจ้าต้องใช้เวลาในการเผางานช้นนี้ในเวลาสั้นๆ(ช้นนี้ใช้เวลาเขียน1วันกับ1คน)

เร่องของเร่องก็คองานสั่งตั้งแต่กลางเทอมแต่ข้าพเจ้าหมักดองแช่ช่องfreezเอาไว้จนใกล้วันกำหนดส่งแล้วค่อยขยับลุกขึ้นมาทำนั่นเอง...มันไม่ใช่ความผดของผมนะ..ก็มันไม่อยากทำนี่..ไม่มีอารมณ(แต่อยากได้เออ่ะ..ใครจะทำไม)งานเลยสุกเอาเผากนเช่นนี้แลเพราะว่าใช้เวลาเขียนน้อยเกนไป

ฉะนั้นถ้าใครที่อ่านแล้วไม่รู้เร่องกรุณาไปโทษเวลาที่สั้นเกนไปเสียเถอะ




 

Create Date : 15 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 15 พฤศจิกายน 2548 13:49:08 น.
Counter : 729 Pageviews.  

ตึกมหิตลาธิเบศร ชั้น4...

สวัสดีครับ...ไม่ได้อัพบล๊อกเสียนานเพราะว่าคีย์บอร์ดที่บ้านเสีย เลยอัพไม่ได้หรือถึงอัพได้ก็อ่านไม่ออก คราวนี้อยู่มหาลัยว่างเลยใช้คอมคณะอัพได้

เมื่อวานนี้ผมมีคิวต้องไปเรียนที่ตึกมหิตลาธิเบศร แถมชั้น4เสียด้วย ใครที่อ่านข่าวเมื่อวันจันทร์ก็คงได้อ่านข่าวนิสิตจุฬาฯคณะบัญชีชั้นปีที่4โดดตึกตาย ตึกที่โดดก็ตึกที่ผมไปเรียนนี่แหละ

ไปเรียนตอนเช้าๆผ่านจุดเกิดเหตุก็มีคนหลายคนชี้ชวนแหงนหน้ากันมองขึ้นไปข้างบนกันใหญ่ ผมก็แหงนมองบ้างสิ ส่วนข้างล่างนั้นเก็บกวาดจนหมดมองไม่เห็นร่องรอยว่ามีเหตุร้ายอะไรเคยเกิดขึ้นมาบ้าง

ชั้นที่ผมไปเรียนก็เป็นชั้น4เสียด้วย เรียนเสร็จขากลับก็เดินผ่านตรงระเบียงจุดที่นิสิตคนนั้นกระโดดลงไป พบว่าเป็นระเบียง ตรงที่กั้นเป็นกระถางต้นไม้ปลูกไม้ประเภทไม้เลื้อยห้อยลงไปข้างล่าง

กระถางต้นไม้นั้นทั้งสูง ชันและกว้าง หาใช่ที่กั้นแคบๆไม่ คนที่จะโดดลงไปได้นั้นแสดงว่าเขาจะต้องปีนขึ้นไปบนกระถางแล้วจึงจะโดดลงไปได้ ไม่ใช่การพลัดตกลงมาอย่างอุบัติเหตุแน่นอน

ผมมองจุดเกิดเหตุทั้งข้างข้างบนข้างล่างแล้วก็ได้แต่ปลงในใจ ถึงแม้ว่าเราจะไม่รู้จักกันเลย แต่เขาก็เป็นเพื่อนร่วมอายุกันกับผมอายุ20ปีเท่ากัน เรียนปีสามเหมือนกัน มิหนำซ้ำเขายังจะหน้าตาดีกว่าผมเสียด้วย อดคิดเล่นๆในใจไม่ได้ ว่าถ้าเมื่อเขาจบการศึกษาไป ด้วยหน้าตาแบบนี้ การศึกษาระดับนี้ เขาต้องมีคนมาชอบมารักแน่นอน ไม่น่าเอาชีวิตทั้งชีวิตมาทิ้งให้กับผู้หญิงที่เพิ่งรู้จักกันแค่ 4 เดือนเลย

นึกถึงคนตายแล้ว ผมก็นึกถึงคนเป็นต่อ เมื่อตอนเย็นของวันนี้ผมไปเอาคีย์บอร์ดของเพื่อนรุ่นพี่ที่โรงเรียนเก่า(ทวีธาภิเศก) พี่แกว่าจะให้มาใช้เพราะอุบาทว์เต็มทน ต่อไปจะได้พิมพ์เป็นผู้เป็นคนเสียที รุ่นพี่คนนี้ผมรู้จักกับเขามาตั้งแต่ม.5 จนบัดนี้ก็ 4 ปีเข้าไปแล้ว ผมก็รู้จักเขาดีพอสมควร อายุห่างกัน 8 ปีพอดิบพอดี ผมไปรู้จักกะพี่แกตอนที่แกมาสอนที่ทวีธาช่วงที่ขาดครูสอนภาษาญี่ปุ่น

แกก็สอนดีพอใช้นะ แต่เหนือไปกว่านั้นคือผมทึ่งแกมากกว่าว่าทั้งเนื้อทั้งตัวแกจบแค่ม.6สายภาษาญี่ปุ่น แต่แกใช้วุฒิที่มีแค่นั้นทำมาหากินมีรายได้ใช้จ่าย ตั้งแต่ทำงานโรงพิมพ์ แปลการ์ตูนขาย ตอนนี้หันมาแปลการ์ตูนญี่ปุ่นที่เป็นภาพเคลื่อไหวในจอทีวีแล้ว(แต่หันไปลงแผ่นแทน)

ในโลกปัจจุบันที่วุฒิป.ตรีเกลื่อนกลาดไปทั่วบ้านทั่วเมือง ใครๆก็ต้องมีไม้กันหมาอย่างน้อยหนึ่งใบแสดงให้เห็นว่าจบป.ตรี แต่แกใช้แค่ม.6หางานทำ และก็ทำได้ดีเสียด้วย ทำให้ผมอดคิดไม่ได้ว่า แกเก่งกว่าคนจบปริญญาตรีปริญญาโทตั้งมากมาย จนแกไม่มีความจำเป็นต้องไปเรียนหนังสือต่อแล้ว




 

Create Date : 09 พฤศจิกายน 2548    
Last Update : 9 พฤศจิกายน 2548 12:19:36 น.
Counter : 1766 Pageviews.  

1  2  3  4  

แจ้น
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แจ้น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.