Group Blog
 
All Blogs
 
งานชิ้นโบว์ดำชิ้นต่อปายย(ของผม)

ต่อไปนี้คืองานชิ้นโบว์ดำของผมอีกสองชิ้น
ชิ้นแรกวิจารณ์บทความทางวิชาการในงานประชุมประจำปี(ครั้งที่เท่าไหร่ไม่รู้..)ของศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ว่าด้วยเรื่องการแกะสลักสล่า

ชิ้นที่สองเป็นการวิจารณ์หนังสือนวนิยายเรื่อง "จดมหายจากเมืองไทย" ของ "โบตั๋น"


ทั้งสองชิ้นเป็นการวิจารณ์โดยใช้ความรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงทางสังคมและวัฒนธรรมมาจับ มาต้อง มาลูบ มาคลำ..

ทำเสร็จแล้ว รู้สึกว่าวิจารณ์นวนิยายยากกว่าวิจารณ์บทความทางวิชาการแฮะ เพราะต้องคัดสรร ว่าจะเอาอะไรมาวิจารณ์ดีหรือไม่ดี

เชิญติดตามชมได้แล้วครับ

เรื่องการปรับตัวของสล่าพื้นบ้านในบริบทของการท่องเที่ยว กรณีศึกษาชาวบ้านบ้านหลุก อ.แม่ทะ จ.ลำปาง ของ โขมสี แสนจิตต์


บทความชิ้นนี้ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรม ของการแกะสลักสล่า ของชาวบ้านหลุก ที่เปลี่ยนไป จากแต่ก่อนเป็นการแกะสลักสัตว์ป่า สิ่งที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน หรือแกะสลักเพื่อเป็นเครื่องใช้ไม้สอย เครื่องอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน คือพื้นฐานของการแกะสลัก มาจากบริบททางสังคม สภาวะแวดล้อมของชุมชนนั้นๆ เป็นการแกะสลัก “ตามออเดอร์” ตามความต้องการของผู้บริโภค คือนักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติ ตามความต้องการของกระแสภายนอกชุมชนแทน สิ่งของที่แกะสลัก เริ่มมีลักษณะแปลกแยก ไม่เคยมีมาก่อนในสังคมบ้านหลุก เช่นอินเดียนแดง ดอกทิวลิป ช้างแอฟริกัน เป็นต้น


จากที่กล่าวมา พบว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ เป็นการเปลี่ยนแปลงของสังคม คือ การเปลี่ยนแปลงนั้น เกิดกับวัตถุในสังคม เป็นการเปลี่ยนในองค์ประกอบ รูปแบบ วิธีใช้สอย และคุณค่าของวัตถุนั้น องค์ประกอบของวัตถุนั้น มีการเปลี่ยนไป จากแต่เดิมใช้ไม้สัก แต่ปัจจุบันไม้สักมีราคาแพง และเป็นไม้สงวน ชาวบ้านจึงหันไปใช้ไม้ชนิดอื่นที่มีคุณภาพไม่สูงนักแต่ราคาถูกลง รูปแบบการสลักที่เปลี่ยนไป จากเดิมเป็นการสลักตามสิ่งแวดล้มที่พบเห็นในชีวิตประจำวัน ตามสิ่งแวดล้อม(environment) ของสังคมบ้านหลุก เป็นการสลักสิ่งอื่น ที่ไม่เคยพบ เคยเห็น เคยมีมาก่อน ในสังคมชนบทจังหวัดลำปาง เช่น ช้างแอฟริกัน ดอกทิวลิป อินเดียนแดง เปลี่ยนวิธีใช้สอยของวัตถุ ที่จากเดิมเป็นของที่ใช้ ใช้งานจริงๆ แต่เวลานี้ มีค่าเป็นเพียงของประดับ ตบแต่งบ้านเรือน และสุดท้าย เปลี่ยนในคุณค่าของวัตถุ คือ คุณค่าทางวัฒนธรรมหายไป แต่คุณค่าทางการพาณิชย์ เข้ามาแทนที่


บทความชิ้นนี้ได้กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมอย่างทุกแง่ทุกมุม รอบด้าน(holistic) ทำให้ได้ภาพที่ชัดเจนแบบคนใน (emic) มากกว่าคนนอก (etic) โดยผู้เขียนได้ใช้เทคนิควิจัยอันเป็นเอกลักษณ์ของวิชามานุษยวิทยา ได้แก่การสังเกตอย่างมีส่วนร่วม(participant observation)และการสัมภาษณ์แบบเจาะลึก(In-depth Interview)เป็นหลัก การเปลี่ยนแปลงที่กล่าวถึง มีทั้งการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการผลิต จุดประสงค์การผลิต จากแต่เดิมที่ผลิตเฉพาะใช้สอยในครัวเรือน ก็เปลี่ยนเป็นการผลิตเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยว การแกะสลักสล่า กลายเป็นส่วนหนึ่งของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวไป นำเครื่องทุ่นแรงมาใช้ ความปราณีต ละเอียดอ่อน และคุณภาพของชิ้นงานลดต่ำลง กลายเป็นการผลิตแบบครั้งละจำนวนมาก(mass production)ยังผลให้เกิดการจำกัดในความคิดสร้างสรรค์ ทุกอย่างที่ผลิต ต้องเป็นไปตามความต้องการของตลาดท่องเที่ยวเป็นสำคัญ


บทความชิ้นนี้ มีความขัดแย้งในตัวเอง มีหลายส่วน หลายตอนในบทความ ที่มีความขัดแย้งในเรื่องเดียวกัน ตอนหนึ่ง ผู้เขียนมีความเห็นว่า กระบวนการผลิตที่มีการเลียนแบบนั้น เราอาจมองเป็นภูมิปัญญาได้หรือไม่ เพราะภูมิปัญญาในความหมายของผู้เขียนคือ


“การสืบทอด การสั่งสมประสบการณ์ ความคิดสร้างสรรค์ค์ผลงาน คัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดและสืบทอดกันมารุ่นต่อรุ่น แต่การลอกเลียนแบบไม่ได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ค์ ไม่ต้องสะสมประสบการณ์ในการทำ แต่เป็นการรับเอามาโดยการคัดลอก”


เช่นนี้แล้ว ก็เป็นอันชัดเจนว่า ผู้เขียนกำลังจะบอกว่า การทำแกะสลักสล่าของชาวบ้านหลุก ไม่ใช่วัฒนธรรม ไม่ใช่ภูมิปัญญา


แต่ในอีกตอนหนึ่ง ผู้เขียนกล่าวด้วยน้ำเสียงชื่นชมการแกะสลักว่า “การปรับตัวของสล่าพื้นบ้านภายใต้บริบทใหม่ ผสมผสานกับจินตนาการและการสร้างสรรค์ที่แสดงถึงความสามารถของสล่าพื้นบ้าน ก็ทำให้พวกเขาสามารถรังสรรค์ ผลงานออกมาได้อย่างไม่ผิดเพี้ยน ความงามทางศิลปะและความงามในอุดมคติ”


จากที่ยกมา จะพบว่าตอนหนึ่งของบทความ ผู้เขียนกล่าวว่าการทำงานตามความต้องการของโลกภายนอกนั้นไม่ใช่วัฒนธรรม แต่อีกตอนหนึ่ง ผู้เขียนกลับพูดว่า การปรับตัวของสล่าพื้นบ้านในการรับวัฒนธรรมใหม่จากโลกภายนอก เป็น “ความงามทางศิลปะและความงามในอุดมคติ” ซึ่งการทำงานศิลปะเพื่อความงามในอุดมคตินั้น น่าจะหมายถึงการแกะสลักของสล่าพื้นบ้าน ในอดีต ก่อนที่จะได้รับอิทธิพลจากโลกภายนอกมากกว่า


อีกตอนหนึ่ง ที่ข้าพเจ้าไม่เห็นด้วย คือ “งานแกะสลักบ้านหลุก จึงเป็นศิลปวัฒนธรรมที่กลายเป็นสินค้าซึ่งสามารถขายได้ ประกอบไปด้วยคุณค่าทั้งในด้านวัฒนธรรม(cultural value)และคุณค่าเชิงพาณิชย์(commercial value)”


ข้าพเจ้าคิดว่า เป็นไปยากมากที่ทั้งสองสิ่ง ซึ่งตรงกันข้ามกันอย่างที่สุด จะมาอยู่ร่วมกัน เดินไปด้วยกันได้ การทำงานศิลปะเพื่อขายนั้น สิ่งแรกที่ควรคำนึงถึง ก็คือความต้องการของลูกค้าเป็นสำคัญ หาใช่ความต้องการของช่างผู้แกะสลักเป็นสำคัญไม่ อีกทั้งในบทความ ก็มีตอนที่กล่าวว่า การทำงานตามออเดอร์ ทำให้เกิดการจำกัดทางความคิดสร้างสรรค์


และจากบทความ ข้าพเจ้าว่า ชาวบ้านหลุกนั้น รับวัฒนธรรมจากภายนอกมาไว้ โดยไม่ “ปรับ” ให้เข้ากับวัฒนธรรมดั้งเดิมของตนเลย เช่น การแกะสลักสิ่งที่ชาวบ้านไม่เคยพบ เคยเห็นมาก่อน นอกจาสื่อภายนอกนำเข้ามา เช่น ดอกทิวลิป ช้างแอฟริกัน หรือ หัวอินเดียนแดง และแกะสลักสิ่งที่ไม่เคยเห็น แต่เป็นความต้องการของตลาด โดยไม่มีการปรับบางสิ่งบางอย่างใดๆ ทุกอย่างที่สลักขึ้น เป็นไปตามความต้องการของตลาด ชาวบ้านที่สลักไม่มีความคิด ความอ่าน หรือความเห็นในการประดิษฐ์งาน ประกอบกับมีการจัดการองค์กรแบบหลวมๆ เพื่อประโยชน์ในการค้าขายด้วยแล้ว ทำให้ข้าพเจ้าคิดไปว่า บ้านหลุกในเวลานี้นั้น ไม่ได้ต่างอะไร ไปจากโรงงานอุตสาหกรรมเลย


และถ้าจะเสนอหนทางใหม่ในการแก้ไขปัญหาของชาวบ้านที่กำลังจะถูกวัฒนธรรมภายนอกมาครอบงำและบงการ ก็คือการปรับตัวอย่างสมดุล โดยการแกะสลักส่วนหนึ่ง ให้เป็นไปตามความต้องการของลูกค้า เป็นการปรับตัว(adaptation)เพื่อความอยู่รอดของชาวบ้านหลุก แต่อีกด้านหนึ่ง ชาวบ้านหลุก ก็ต้องรักษาการแกะสลักในรูปแบบดั้งเดิมเอาไว้เหมือนที่เคยเป็นมาแต่อดีต เพื่อคงไว้ซึ่งวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวบ้าน



วิเคราะห์และวิจารณ์นวนิยายเรื่อง “จดหมายจากเมืองไทย” ของ โบตั๋น

โลกทัศน์ของตันส่วงอู๋

จดหมายจากเมืองไทยเป็นนวนิยายที่ได้รับรางวัล สปอ. แต่งโดยโบตั๋น หรือนามจริงคือ สุภา สิริสิงห์ และเป็นหนังสือนอกเวลาเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย แต่ข้าพเจ้าเพิ่งได้อ่านเมื่อเข้ามหาวิทยาลัยแล้ว ดังนั้น ข้าพเจ้าจึงตัดสินใจเลือกนวนิยายเรื่องนี้มาวิเคราะห์ เพราะความ “สด” ของนวนิยายเรื่องนี้ของข้าพเจ้า


นวนิยายเรื่องนี้ เป็นนวนิยายที่ค่อนข้างเป็นตัวอย่างที่ดี ในการอธิบายถึง ปัจจัยของการผสมผสานทางวัฒนธรรม เนื้อหา เป็นจดหมายร้อยฉบับถ้วน ที่ตันส่วงอู๋ ตัวเดินเรื่อง เขียนเล่าความเป็นไปในสังคมและวัฒนธรรมของคนไทย ผ่านสายตาของชาวต่างชาติ ที่มีความอคติทางชาติพันธุ์(ethnocentrics) มากคนหนึ่ง เนื้อหาของหนังสือ คล้ายคลึงกับหนังสือ Polish Peasant แต่งโดย นักวิชาการกลุ่ม Chicago School อันได้แก่ A.Small, W.I Thomasc และ F.Znaniecki


ขั้นตอนของการผสมผสานทางวัฒนธรรม การเปลี่ยนแปลงสู่วัฒนธรรมเจ้าถิ่น เกิดการผสมผสานพฤติกรรม(acculturation) เมื่อตันส่วงอู๋เดินทางสู่เมืองไทย ได้เข้าทำงานในบ้านญาติของพ่อบุญธรรม เริ่มต้นค้าขายทุกอย่าง ทั้งค้าขายกับคนจีนด้วยกัน และค้าขายกับคนไทย ซึ่งการค้าขายกับคนไทยนี้เอง ตันส่วงอู๋เกิดความรู้สึกว่าคนไทยนั้น ขี้เกียจ ซื้อของเชื่อไปแล้ว ไม่ยอมเอาเงินมาใช้ เวลาทวง ก็จะดูถูกดูแคลนว่า เป็นเจ๊ก มาอาศัยแผ่นดินไทยทำมาหากิน ยังไม่ยอมให้ความช่วยเหลือคนไทยที่เป็นเจ้าบ้าน แต่เวลาต่อมา ตันส่วงอู๋ ก็เลิกค้าขายกับคนไทย หันมาทำการค้ากับคนจีนเต็มตัว โดยในใจของตันส่วงอู๋ยังไม่ยอมรับคนไทย ซึ่งกว่าที่ตันส่วงอู๋จะยอมรับคนไทยได้ ก็เมื่อที่ลูกสาวคนหนึ่งของเขาไปแต่งงานกับคนไทยที่เห็นว่าเป็นคนดีคนหนึ่ง ทำให้เกิดการสมรสระหว่างกลุ่ม อันเป็นการผสมผสานด้านการสมรส(amalgamation) ที่ทำให้ตันส่วงอู๋ยอมรับคนไทยได้ในที่สุด


การพัฒนาความรู้สึกในด้านการเป็นประชากรนั้น ตันส่วงอู๋พยายามที่จะทำให้เกิดการยอมรับ เพื่อผลประโยชน์ทางการค้าขายและการถือครองที่ดินของเขา เป็นการผสมผสานด้านโครงสร้าง(amaigaimation) ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดถึงการผสมผสานด้านโครงสร้าง ด้านโครงสร้างที่ว่าเป็นโครงสร้างของการปกครอง คือ ตันส่วงอู๋ขึ้นอำเภอ เพื่อที่จะทำเรื่องต่ออายุใบเข้าเมืองบนที่ว่าการอำเภอ แต่ความพยายามของเขาออกจะล้มเหลว เพราะเจ้าหน้าที่บนที่ว่าการอำเภอ ยังมีการถือเขาถือเรา และอคติอยู่ โดยที่เรียกร้องค่า “น้ำร้อนน้ำชา” จากชาวต่างชาติผู้มาขอต่ออายุใบอนุญาตเข้าเมือง ตรงนี้พลอยทำให้เกิดการมีอคติซึ่งกันและกันระหว่างตัวแทนชาวจีนอย่างตัน


ส่วงอู๋และตัวแทนของอำนาจรัฐอย่างข้าราชการบนอำเภอ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือ ความขัดแย้งในค่านิยมและอำนาจ ที่ข้าราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐได้แสดงต่อชาวต่างชาติ ทำให้ช่วงเวลาในหนังสือนวนิยายนั้น ไม่อาจเกิดขั้นตอนของการ พัฒนาความรู้สึกในด้านการเป็นประชากร การปราศจากอคติ ปราศจากการถือเขาถือเรา และปราศจากความขัดแย้งในค่านิยมและอำนาจได้ ส่วนตัวตันส่วงอู๋เองนั้น ก็มิได้สมรสระหว่างกลุ่มชาวจีน ด้วยมีการถือเขาถือเราและอคติว่าคนไทยนั้นขี้เกียจ กลับไปแต่งงานกับลูกสาวนายจ้างแทน การสมรสระหว่างกลุ่ม จึงค่อยเกิดขึ้นในรุ่น(generation)ลูกแทน


นวนิยายเรื่องนี้ดีเด่นมากในเชิงการประพันธ์และจำลองสภาพชีวิตสังคม ผ่านสายตาของชายชาวจีน เราจะพบว่าสิ่งที่ตันส่วงอู๋เขียนจดหมายเล่าความเป็นไปในเมืองไทยนั้น มิได้ผิดเพี้ยนไปจากความเป็นจริงเลย ข้าราชการยังชอบรับสินบาทคาดสินบน หยอดน้ำมัน หรือค่าน้ำร้อนน้ำชาอยู่ คนไทยยังมีความขี้เกียจทำงาน เกลียดการค้าขาย แต่บางเรื่อง เราจะพบว่าตันส่วงอู๋ใช้อคติของชาวจีนแท้ๆมาตัดสินประเทศไทย ทำให้ไม่อาจมองภาพของความเป็นจริงได้ เช่น บอกว่าสามก๊กนั้นเขียนดีกว่า มีเล่ห์กลการศึกซับซ้อนกว่าราชาธิราช ของไทย ซึ่งความเป็นจริงแล้ว ไม่มีหนังสือของชาติใดดีกว่าชาติใด


ฉะนั้น การวิเคราะห์นวนิยายเรื่องจดหมายจากเมืองไทย ต้องแยกให้ออกระหว่างความจริงที่เป็นไปในสังคมไทย กับอคติของชายชาวจีน หากแยกไม่ออกแล้ว ผู้อ่านจะเกิดการตีความผิด เข้าใจผิด(thin description)


การนำเสนอในนวนิยายเรื่องนี้ ค่อนข้างตรงกันข้ามกับทฤษฎีตัวแปรของการผสมผสานทางวัฒนธรรม เพราะทฤษฎีนี้ อธิบายเพียงด้านเดียว โดยยึด “เจ้าบ้าน” เป็นสำคัญ ว่าเจ้าบ้านจะยอมรับผู้อพยพหรือไม่ ยอมรับ ปราศจากอคติได้แค่ไหนโดยไม่ได้มองถึงด้านของผู้อพยพเลย ว่าจะยอมรับพฤติกรรมของ “เจ้าบ้าน” ได้แค่ไหน นวนิยายเรื่องนี้ ทำให้มองทฤษฎีการผสมผสานวัฒนธรรมได้ตรงกับความเป็นจริง ทำให้ทฤษฎีไม่แข็งจนเกินไป เกิดความละเอียดอ่อน และยืดหยุ่น(flexible) ตรงตามความเป็นจริง ที่เกิดขึ้นจริงในสังคม ว่า “เจ้าบ้าน” ไม่จำเป็นต้องเป็นฝ่าย แสดงบทยอมรับ “ผู้อพยพ” เท่านั้น แต่ “ผู้อพยพ”เอง ก็สามารถแสดงบทบาทความยอมรับหรือปฏิเสธ “เจ้าบ้าน” ได้เช่นเดียวกัน หรือ ทั้งสองฝ่าย อาจเกิดการยอมรับ และไม่ยอมรับ ซึ่งกันและกัน ก็ได้ ไม่จำเป็นที่ฝ่ายหนึ่งต้องแสดงบทบาทเป็นผู้ “ยอมรับ” และอีกฝ่ายต้องแสดงบท “ผู้ถูกยอมรับ” ทั้งฝ่ายเจ้าบ้าน และฝ่ายผู้อพยพ ต่างมีความเท่าเทียมกันในการแสดงบทบาท


แต่ทว่านวนิยายเรื่องนี้ ก็มิได้สรุปให้ชัดเจนลงไปว่า ตันส่วงอู๋นั้น ยอมรับความแตกต่างของวัฒนธรรม ยังคงมีความคลุมเครือว่า ตันส่วงอู๋แท้ที่จริงนั้น ยอมรับการแต่งงานของลูกสาวกับชายหนุ่มชาวไทยได้แน่นอนหรือไม่ ถ้าจะให้ดูไปจริงๆ คิดว่าตันส่วงอู๋น่าจะยอมรับ เพราะน้องสาวของภรรยาก็ “ถือหาง” ฝ่ายลูกสาวและลูกเขยชาวไทย ภรรยาก็เสียไปแล้ว ลูกชายก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ ตัน ส่วงอู๋ย่อมไม่มี “พวก” ที่จะอยู่ฝ่ายต่อต้านชาวไทย เวลาผ่านไปเขาก็ย่อมต้องยอมรับชาวไทย เพราะความเป็น “หัวเดียวกระเทียมลีบ” นั่นเอง


อีกประการหนึ่ง ช่วงที่บ้านของตันส่วงอู๋เกือบถูกไฟไหม้ ก็ได้ลูกเขยของเขา เป็นคนแรกที่มาช่วยเหลือ ประการต่อมา ในช่วงที่เว่งคิม ลูกชายคนโตของเขาไปติดผู้หญิงโสเภณี ซึ่งเป็นคนไม่ดี เป็นสายให้โจรยกเค้าบ้าน แต่ตันส่วงอู๋ก็ยังยอมรับให้เข้ามาอยู่อาศัยในบ้าน ในฐานะ “ภรรยา” ออกหน้าออกตา ด้วยสาเหตุเพียงประการเดียวคือ โสเภณีผู้นั้น เป็นชาวจีน โดยยึดจากนิยายพื้นบ้านปรัมปราว่า ชายคนหนึ่งได้หญิงโสเภณีเป็นเมีย และหญิงนั้น ส่งเสริมเขาทุกวิถีทาง จนทำให้เขาสอบจอหงวนได้
จากที่กล่าวมานั้น ทำให้ตันส่วงอู๋พบว่า ความเป็นคนดี คนเลวนั้น ไม่ได้ขึ้นกับเชื้อชาติเป็น
สำคัญ ความดี ความเลว เป็นของสากล มีอยู่ในกลุ่มคน ทุกชาติทุกภาษา ไม่ได้ผูกขาดว่า คนจีนเท่านั้น ที่เป็นคนดี หรือคนไทยเท่านั้น ที่เป็นคนเลว


และถ้าหากนวนิยายเรื่องนี้นั้น จะให้ภาพที่ชัดเจนของการยอมรับอย่างเต็มตัวของตันส่วงอู๋ต่อลูกเขยชาวไทย ที่เป็นตัวแทนของคนไทย ที่เขาต่อต้าน “โบตั๋น” น่าจะเขียนต่อไปว่า ให้ลูกสาวของตันส่วงอู๋มีลูกกับลูกเขยชาวไทย เพื่อที่จะทดสอบว่า ตันส่วงอู๋นั้น ยอมรับหลานเลือดผสมของเขา อันมีเลือดครึ่งหนึ่ง เป็นเลือดของคนไทย ได้หรือไม่

-จบ-


Create Date : 16 พฤศจิกายน 2548
Last Update : 17 พฤศจิกายน 2548 12:14:49 น. 2 comments
Counter : 798 Pageviews.

 
อืมมม...

นักมานุษยวิทยา..น้อย


โดย: กุมภีน วันที่: 17 พฤศจิกายน 2548 เวลา:14:36:09 น.  

 
โฮ้ยยยย พ่อคู้ณณณ
ไปเขียนกระทู้อะไรไว้อย่างน้านนนน
ยี่สิบห้ากับวุฒิป.โท
โธ่ คุณล่ะก็ ไม่เห็นใจกันมั่งเลย
ไอ้ที่อยู่ๆ เนี่ย ก็ยี่สิบห้า ป.โท เหมือนกัน
คือมันก็ยังงี้แหละ คุณอ่ะ ยังดีสามปีจบ
สี่ปีไม่แย่กว่ารึ
เอาน่าๆ ตอนนี้หางานไปเรื่อยๆ ก่อน
งานก็พอมีมั่งแหละ
อย่างเป็นอาจารย์ ทำวิจัย เอ่อ ไม่งั้นก็อยู่บริษัท
อืมม มีงานอะไรอีกมั่งล่ะนี่
คือตอนนี้ก็กำลังกลุ้มได้ที่เลย
อยากมีงานมั่นคงๆ ทำจัง
อ๊ะ มาบ่นอะไรให้คุณฟัง
เอาเป็นว่า ตอนนี้เพื่อนเราก็ทำงานเป็นผู้ช่วยอาจารย์อยู่นะ
งานหาไม่ยากหรอก
ยังไง ก็สู้ต่อไป
ทางมันมีอยู่แล้วแหละ


โดย: m IP: 61.91.120.109 วันที่: 25 พฤศจิกายน 2548 เวลา:22:39:34 น.  

ชื่อ :
Comment :
  *ใช้ code html ตกแต่งข้อความได้เฉพาะสมาชิก
 

แจ้น
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




Friends' blogs
[Add แจ้น's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.