โลกมีไว้เหยีบ ไม่ได้มีไว้แบก

นกเค้าแมว นักล่าผู้น่ารัก

ตอนที่เริ่มดูนกใหม่ Bird leader จะมีอุปกรณ์เป่าเสียงนกเค้าแมว(แต่เค้ามักไม่ค่อยใช้ถ้าไม่จำเป็น) ใช่เป่าเพื่อล่อนกเล็ก ๆ ออกมาช่วยกันไล่เจ้านักล่าผู้น่ารักตัวนี้

นกเค้าแมว นักล่าตัวจิ๋ว
คอลัมน์ ประสานักดูนก
โดย น.สพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว

วันนี้มารู้จักกับนักล่ายามค่ำคืนอีกชนิดครับ

*นกเค้าแมว* หรือ *นกเค้าโมง* (Asian Barred Owlet) เป็นนกประจำถิ่นที่พบได้บ่อยและทั่วไป ยกเว้นภาคใต้ อาศัยในถิ่นอาศัยหลากหลาย ขอให้มีต้นไม้สำหรับเกาะนอนพักผ่อนและโพรงทำรัง ดังนั้น จึงพบได้ทั้งในป่าดิบ ป่าละเมาะ สวนสาธารณะ

จัดเป็นนกเค้าขนาดเล็กมาก 20-23 เซนติเมตร ใหญ่กว่านกกระจอกไม่มากนัก แต่ใจเด็ดขาดสมกับนักล่า คือจะล่าในเวลากลางวันด้วย และอาจจะส่งเสียงร้องให้ได้ยินในเวลากลางวันเช่นกัน ซึ่งต่างจากนกเค้าแมวชนิดอื่นๆ ที่มีขนาดใหญ่กว่า

เป็นนกเค้าแมวที่มีรูปลักษณ์สันทัด คอสั้น หัวกลม นัยน์ตากลมโต ช่วยให้รับแสงน้อยในเวลากลางคืนได้ดี ชุดขนเหมือนกันระหว่างตัวผู้และตัวเมีย ส่วนหัวและลำตัวสีน้ำตาลประด้วยแถบเล็กๆ สีขาวหม่น ม่านตาสีเหลืองขับเน้นใบหน้าดูขึงขัง และมีขนเส้นยาวงอกออกมารอบจมูกยิ่งทำให้คล้ายแมว

ลูกนกในชุดขนวัยเด็ก คล้ายตัวเต็มวัยแต่มีลายสีน้ำตาลมากกว่า

ชื่อไทยบ่งบอกลักษณะของใบหน้าว่าคลับคล้ายคลับคลาหน้าของแมว ชื่ออังกฤษสื่อว่าเป็นนกเค้าแมวขนาดเล็กมาก (เล็กกว่านกเอี้ยงด้วยซ้ำ) มีลายบนลำตัว แพร่กระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียตั้งแต่อนุทวีปอินเดีย ประเทศจีน และอุษาคเนย์

ชื่อวิทยาศาสตร์ Glaucidium cuculoides แปลว่านกเค้าแมวตัวจิ๋วที่ (มีเสียงร้องคล้าย) นกคัคคู ทำให้ตำราปักษีวิทยาบางฉบับในอดีตเรียกนกเค้าโมงว่า Cuckoo Owlet

นกเค้าแมวเป็นนักล่าที่กินไม่เลือก ล่าทั้งนก หนู กิ้งก่า กบหรือแมลง บางครั้งบินจับเหยื่อกลางอากาศ มักเกาะตากแดดยามเช้า ในที่โล่ง โดยเฉพาะหลังฝนตก

เนื่องจากเป็นนักล่าเจ้าประจำในป่าของบรรดานกชนิดอื่นๆ เช่น นกปรอด นกติ๊ดหรือนกเขียวก้านตอง ซึ่งมักจะตกเป็นเหยื่อหากไม่ระวังตัว แต่เมื่อนกเหล่านี้พบนกเค้าแมวเกาะพักผ่อนในเวลากลางวันจะรวมหัวกันเข้าไปใกล้ ส่งเสียงร้องประสานกันดังลั่นเพื่อไล่นกล่าตัวจิ๋วให้รู้ตัวว่าไม่เป็นที่ต้องการ เรียกว่า mobbing จนนกเค้าแมวทนความรำคาญ (แต่ใช่ว่าจะกลัวนะ) ไม่ไหว จะบินหนีไปเอง วิธีการของบรรดานกตัวเล็กๆ แบบนี้นับเป็นวิธีการแก้เผ็ดนกเค้าแมว และขณะเดียวกันเป็นกลยุทธ์เพื่อลดความเสี่ยงที่นกแต่ละตัวจะตกเป็นเหยื่อของนักล่า เพราะเมื่อมีเสียงร้องไล่แล้ว นกในบริเวณใกล้เคียงจะตื่นตัวและรู้ว่ามีนักล่าอยู่ใกล้ๆ จะเพิ่มความระมัดระวังตัวมากขึ้น แม้จะไม่สามารถต่อกรหรือไล่ตีนกเค้าแมวได้ เหมือนกับที่อีกาหรือนกแซงแซวที่กล้าหาญชาญชัยไล่ตีเหยี่ยวหรือนกอินทรี แต่ก็ช่วยขับไล่อันตรายให้ผ่านไปได้ระยะหนึ่ง

นกเค้าแมวจับคู่ผสมพันธุ์ระหว่างเดือนเมษายนและพฤษภาคม แต่ในความเป็นจริงนกในแต่ละภูมิภาคอาจจะทำการผสมพันธุ์ในเวลาที่ต่างกัน ขึ้นอยู่กับปริมาณอาหารที่หาได้เป็นตัวกำหนด

วางไข่ 3-5 ใบในโพรงไม้ธรรมชาติ หรืออาจจะไปแย่งโพรงรังจากวิศวกรสร้างโพรง บ้าน ประจำป่า เช่น นกโพระดก หรือนกหัวขวาน ถึงขนาดจับเจ้าของบ้านกินเป็นอาหารแล้วยึดรังซะเลย

แต่นั่นเป็นวิถีธรรมชาติที่นกแต่ละชนิดมีปฏิสัมพันธ์ ใช่ว่าจะเป็นความผิดของนกเค้าแมวจริงไหมครับ เพราะมันทำตามสัญชาตญาณเพื่อให้ดำรงเผ่าพันธุ์เท่าที่จำเป็นต่อไป มิได้ทำไปด้วยความโลภไม่รู้จักพออย่างคนบางคน

ถ้าพบนกเค้าแมวลองสังเกตอย่างละเอียดนะครับว่า นกกลอกตาไม่ได้ ซึ่งต่างจากคนเรา แต่จะใช้วิธีหันหัวไปมาเพื่อสอดส่ายสายตาหาเหยื่อหรือระแวดระวังภัย ที่เป็นเช่นนี้เพราะลูกตาของนกเค้าแมวยึดติดกับกระดูกเบ้าตา เพื่อให้รูปทรงของลูกตากลมมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อรับแสงน้อยในยามค่ำคืน เพื่อล่าเหยื่อได้อย่างแม่นยำ

ขณะเดียวกันกระดูกคอของนกเหล่านี้มีมากชิ้นกว่าคนทั่วไป ทำให้การบิดของกระดูกคอเพื่อหันหัวไปมานั้น ทำได้ในมุมกว้างมากกว่า จนเกือบจะหมุนได้ครบวงด้วยซ้ำ ซึ่งช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการมองเห็นของนกเค้าแมว และระวังภัยจากข้างหลัง เพราะนกเค้าแมวด้วยกันก็ล่ากันกินเป็นเหยื่อเช่นกัน

หน้า 21




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 9:55:46 น.   
Counter : 452 Pageviews.  

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ

ผมจำได้แม่นเลยว่าวันที่เห็นเจ้าเหยี่ยวกิ่งก่าสีดำครั้งแรก ตื่นเต้นมาก เพราะเป็นช่วงแรก ๆ ของการหัดดูนกด้วย เห็นปั๊ปก็นึกรักเจ้าเหยี่ยวหงอนดำทันที ผมยังนึกตำหนิคนตั้งชื่อเหยี่ยวสุดเทห์ของผมว่าเหยี่ยวกิ่งก่า :( มันน่าจะชื่อเหยี่ยวอินเดียนดำ หรือเหยี่ยวหงอนดำซะน่าจะหล่อกว่า :D
----------------------------------------
เรื่องราวของนักล่า (5) เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ
คอลัมน์ ประสานักดูนก
โดย น.สพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ภาพ : พิชิต ภูมะธน

วันนี้มารู้จักบรรดาเหยี่ยวอพยพ 5 ชนิดหลักในบ้านเราครับ

"เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ" (Black Baza) หรือเจ้ากะปอมน้อย (ชื่อเล่นที่นักดูนกเรียกตามประสาครื้นเครง เพราะเหยี่ยวกินกิ้งก่าด้วย และชื่อเดิมของเจ้ากะปอม คือ Lizard Hawk หรือเหยี่ยวกิ้งก่านั่นเอง) เป็นเหยี่ยวอพยพผ่านประเทศไทย ที่มีจำนวนมากที่สุด

หากนับตัวกันแล้ว ประเทศไทยเป็นทางผ่านของเหยี่ยวกิ้งก่าสีดำจำนวนมากที่สุดในโลกด้วยซ้ำ ตลอดฤดูกาลอพยพต้นหนาว เจ้ากะปอมน้อยบินผ่านบ้านเราไม่น้อยกว่า 70,000 ตัวทุกปี

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำเป็นเหยี่ยวไคท์ขนาดเล็ก ยาว 31-33 ซม. รูปลักษณ์แปลกแยกจากเหยี่ยวไคท์อีก 6 ชนิดในบ้านเรา ด้วยลักษณะเด่น คือ ชุดขนดำสลับขาว มีหงอนยาวชูเด่นบนกระหม่อม จะเห็นได้ชัดเมื่อพบเหยี่ยวเกาะคอนแต่จะหดราบระนาบไปกับส่วนหัวจนมองไม่เห็นยามบินร่อน

ส่วนหัว บนหาง และลำตัวดำ อกขาว ท้องลายสีน้ำตาลแดง บนปีกมีแต้มขาวสลับน้ำตาลแดง ชุดขนคล้ายกันระหว่างตัวผู้และตัวเมีย แต่ตัวเมียท้องลายกว่าตัวผู้ วัยเด็กที่มีลายขีดดำบนอกขาว

ในประเทศไทยพบ 2 พันธุ์ ทั้งที่อาศัยประจำถิ่นตลอดปี และที่อพยพผ่าน ย้ายถิ่นจากภาคใต้ของประเทศจีนไปอาศัยในฤดูหนาวที่ภาคใต้และประเทศมาเลเซีย

พันธุ์ประจำถิ่นพบจำนวนน้อยกว่าพันธุ์อพยพมาก และทำรังวางไข่ในภาคเหนือ ภาคตะวันตก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ในอดีตเมื่อหลายสิบปีก่อน เจ้ากิ้งก่าดำพันธุ์ประจำถิ่นอาศัยในป่าโปร่งและป่าดิบชื้น แต่ปัจจุบันมักพบเฉพาะในป่าโปร่ง เช่น ป่าเต็งรัง หรือป่าเบญจพรรณที่มีต้นไม้ยืนต้นสูงโด่งไว้สำหรับทำรัง

ส่วนพันธุ์อพยพ จะพบเฉพาะในฤดูกาลอพยพต้นหนาว ระหว่างกลางเดือนตุลาคม เพียงสองสัปดาห์และเมื่อเหยี่ยวอพยพกลับถิ่นเกิดในฤดูกาลอพยพปลายหนาวระหว่างเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมเท่านั้น นับหมื่นตัวต่อวันที่จุดนับเหยี่ยวอพยพในภาคใต้ ด้วยสภาพภูมิประเทศบีบบังคับให้เหยี่ยวกิ้งก่าดำต้องรวมพลเป็นฝูงขนาดใหญ่ลัดเลาะตามด้ามขวาน เพราะตัวเล็ก ด้อยประสิทธิภาพในการบินข้ามทะเลระยะไกลจึงต้องบินร่อนมวลอากาศร้อนเหนือแผ่นดินในเวลากลางวัน

ชื่อไทยบ่งบอกประเภทของอาหารและสีสันโดดเด่นของชุดขน ชื่ออังกฤษแปลว่าเหยี่ยวสีดำ คำว่า Baza มีรากศัพท์มาจากคำในภาษาฮินดู ซึ่งแผลงมาจากภาษาอารบิคอีกทอดหนึ่ง ชื่อวิทยาศาสตร์ Aviceda leuphotes แปลว่านกนักล่าที่มีหงอนชูชันบนกระหม่อม พันธุ์ syama ซึ่งเป็นพันธุ์อพยพ เน้นย้ำว่าเจ้ากะปอมตัวดำจริงๆ เพราะมีรากศัพท์จากภาษาฮินดู แปลว่า "ดำ"

เจ้ากะปอมนับว่าเป็นตัวกำจัดศัตรูพืชตามธรรมชาติ แบบไม่ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อมด้วยสารเคมี เพราะอาหารหลัก คือ บรรดาแมลงศัตรูพืช เช่น ตั๊กแตน ตัวด้วง บุ้ง และสัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า น้อยครั้งจะจับนก กระจ้อน กระแต กระถิกหรือกระรอกได้ เพราะเหยี่ยวกิ้งก่าเป็นเหยี่ยวที่เชื่องช้า ไม่ฉับไวในการเคลื่อนไหวเหมือนนักล่าสกุลอื่นๆ เช่น เหยี่ยวปีกแหลม หรือนกอินทรี

ดังนั้น วิธีการจับเหยื่อของเจ้ากิ้งก่าจะไต่ไปตามกิ่งไม้ ที่ไม่ยากลำบากเพราะตัวเล็กและน้ำหนักตัวเบา ค้นหาเหยื่อที่หลบซ่อนตามใบไม้หรือเศษไม้แห้ง บางครั้งบินเหนือยอดไม้ต่ำๆ หรือบินโฉบออกไปจากคอนเกาะเพื่อจับแมลงที่บินผ่าน ขอบจะงอยปากของเจ้ากิ้งก่าดำมีรอยหยักคล้ายเงี่ยง ทำหน้าที่เสมือนฟันช่วยฉีกเปลือกหรือลำตัวแข็งของแมลงอย่างง่ายดาย

เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำพันธุ์ประจำถิ่นมักอาศัยรวมกันเป็นฝูงของครอบครัว 3-5 ตัว บินร่อนเหนือเรือนยอดป่า และส่งเสียงร้องแหลมเล็กดังไปไกลเพื่อสื่อสารระหว่างสมาชิกในฝูง ต่างกับพันธุ์อพยพที่จะตั้งหน้าตั้งตาบินอพยพเป็นฝูงจำนวนมาก โดยไม่ส่งเสียงร้องสักแอะ เพราะต้องประหยัดพลังงานไว้เดินทางไกล 2 ครั้งต่อปี

ปลายฝนต้นหนาวของปีหน้า หากสะดวก อย่าลืมชวนกันไปต้อนรับเจ้ากะปอมน้อย ณ จุดนับเหยี่ยวอพยพที่เขาเรดาร์ หรือ จ.ชุมพร นะครับ

หน้า 21




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 9:45:45 น.   
Counter : 468 Pageviews.  

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน

บล็อกนี้จะเป็นการเก็บรวมรวมความรู้เกี่ยวกับการดูนก จากแหล่งข้อมูลต่าง ๆ ผมมิได้เขียนขึ้นเองแต่อย่างใดครับ (ขอขอบคุณเจ้าของข้อมูลมา ณ ที่นี้ด้วยครับ)

วันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 11208 มติชนรายวัน

เรื่องราวของนักล่า (6) เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน
คอลัมน์ ประสานักดูนก
โดย นสพ.ไชยยันต์ เกษรดอกบัว ภาพ:ชัยวัฒน์ ชินอุปราวัฒน์

"เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีน" (Chinese Goshawk) เป็นเหยี่ยวอพยพผ่านประเทศไทย จำนวนมากเป็นอันดับสองรองลงมาจาก "เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ" ในฤดูกาลอพยพต้นหนาว มีรายงานว่าบินผ่านภาคใต้มากกว่า 50,000 ตัว

เจ้าพันธุ์จีนแม้จะเป็นเหยี่ยวนกเขาในสกุล accipiter ซึ่งหมายรวมถึง "เหยี่ยวนกกระจอก" (sparrowhawk) ด้วย แต่จัดเป็นเหยี่ยวนกเขาขนาดเล็ก เป็นเหยี่ยวอพยพผ่าน ไม่อาศัยในฤดูหนาวในประเทศไทย

ลำตัวยาวจากหัวจรดหาง 29-35 ซม. รูปลักษณ์ของเหยี่ยวนกเขา คือ ลำตัวเพรียว ปีกสั้นแต่หางยาว ท่อนขายาวและนิ้วตีนยาวเอื้อให้จับเหยื่อได้แม่นยำขณะไล่ล่าติดตามเหยื่อในพงรกชัฏ ชุดขนบนปีกสีเทา ส่วนล่างของลำตัวสีน้ำตาลไหม้ไม่มีลาย

ตัวผู้เล็กกว่าตัวเมียหากเกาะเคียงข้างกัน ม่านตาสีแดงเข้มในตัวผู้ แต่สีเหลืองอำพันในตัวเมีย ขณะบินจะเห็นปลายปีกแหลมสีดำเด่นชัดแตกต่างจากเหยี่ยวนกเขาและเหยี่ยวนกกระจอกทุกชนิดที่พบในบ้านเรา

นอกจากนั้นบริเวณหนังคลุมจมูกจะนูนเด่นสีส้มสดโดดเด่นเห็นได้ชัดเจนแม้ขณะบินก็ตาม วัยเด็กคล้ายตัวเต็มวัยแต่มีลายขีดบนอก ลายขวางที่สีข้างและลายจุดรูปหัวใจบนท้อง

ชื่อไทยบ่งบอกถิ่นอาศัยในฤดูผสมพันธุ์ เนื่องจากเหยี่ยวชนิดนี้จำนวนไม่น้อยทำรังวางไข่ในประเทศจีน ซึ่งตอกย้ำด้วยชื่ออังกฤษ และชื่อวิทยาศาสตร์ Accipiter soloensis แปลว่า เหยี่ยวนกเขาที่ถูกค้นพบและศึกษาเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านโซโลบนเกาะชวา ประเทศอินโดนีเซีย ถิ่นอาศัยในฤดูหนาวของเหยี่ยวที่บินผ่านบ้านเรา

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนอพยพหนีหนาวมาจากถิ่นไซบีเรีย ภาคตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศจีนและคาบสมุทรเกาหลี มีเส้นทางอพยพ 2 ทางหลัก ทางหนึ่งอพยพเหนือแผ่นดินเลาะเลียบชายฝั่งทะเลจีนใต้ลงมาภูมิภาคอุษาคเนย์เข้าสู่ประเทศไทยทางภาคอีสาน แล้วหักเลี้ยวสู่เทือกเขาภาคตะวันตกลงภาคใต้ ตลอดแนวด้ามขวาน ผ่านประเทศมาเลเซียไปเกาะสุมาตรา ชวาและบาหลีของอินโดนีเซีย

ส่วนเส้นทางอพยพเส้นที่สอง เป็นเส้นทางที่เสี่ยงอันตรายกว่า เพราะเหยี่ยวจะต้องบินข้ามน้ำข้ามทะเลจากถิ่นผสมพันธุ์ในคาบสมุทรเกาหลี

"กระโดด" ไปประเทศญี่ปุ่นและเกาะไต้หวัน แล้วข้ามทะเลอีกครั้งเพื่อไปให้ถึงจุดหมายปลายทางที่ประเทศฟิลิปปินส์ ถิ่นอาศัยในฤดูหนาว

เหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนชอบกินกบ ชื่อเก่าๆ ในตำรารุ่นแรกๆ จึงเรียกว่า frog hawk แต่ตามประสาสัตว์โลกที่ต้องดิ้นรนเพื่อเอาชีวิตรอดและปรับตัวไปตามสภาพถิ่นอาศัยในเปลี่ยนแปลงไปในแต่ละฤดูกาล

เหยี่ยวชนิดนี้ล่าแมลง เช่น ตั๊กแตน แมลงปอ ด้วงหรือจิ้งหรีด และบางครั้งหากมันมีแรงและปราดเปรียวมากพอ อาจจับนกขนาดเล็กกินด้วย เมื่อถึงฤดูกาลอพยพปลายหนาวระหว่างเดือนมีนาคมและเมษายน เหยี่ยวจะอพยพกลับถิ่นผสมพันธุ์ ในเดือนพฤษภาคม จะเริ่มจับคู่ผสมพันธุ์และทำรังวางไข่ในป่าสน หรือป่าเลียบแม่น้ำ วางไข่ 2-5 ใบ ทั้งพ่อและแม่ช่วยกันฟักไข่และเลี้ยงลูกในรัง

ในฤดูกาลอพยพต้นหนาว จะพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนตั้งแต่กลางเดือนกันยายน ก่อนลมหนาวพัดโหมด้วยซ้ำ เรียกว่าเป็นทัพหน้าขนาดใหญ่ของเหยี่ยวอพยพก็ว่าได้

ในวันที่อากาศร้อนอบอ้าวมีมวลอากาศร้อนเกิดขึ้นต่อเนื่อง อาจพบเหยี่ยวอพยพผ่านนับหมื่นตัวทีเดียวและช่วงปลายเดือนกันยายนจะพบเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนอพยพมากที่สุดในประเทศไทย เมื่อได้ส่องเห็นฝูงเหยี่ยวนกเขาพันธุ์จีนนับร้อยตัวหลายสิบฝูงเคลื่อนตัวลงใต้ไปเรื่อยๆ นับเป็นย่ำกลองเปิดฤดูกาลดูเหยี่ยวอพยพที่น่าตื่นเต้นและย้ำเตือนว่า

"กองทัพใหญ่ของเจ้ากะปอมดำ คงจะมาเยือนในอีกไม่กี่สัปดาห์ครับ"

หมายเหตุ : สมาคมอนุรักษ์นกและธรรมชาติแห่งประเทศไทย ขอเชิญร่วมงานเทศกาลดูนกเมืองไทย ณ สวนรถไฟ วันที่ 22-23 พฤศจิกายน 2551 และเต๊นท์ของกลุ่มศึกษาเหยี่ยวและนกอินทรีเผยแพร่ความรู้เกี่ยวกับนกล่าเหยื่อทั่วไทย มีหนังสือคู่มือเหยี่ยวและนกอินทรี จำหน่ายในราคาพิเศษด้วย




 

Create Date : 16 พฤศจิกายน 2551   
Last Update : 16 พฤศจิกายน 2551 9:27:02 น.   
Counter : 479 Pageviews.  


ปลากัดหนุ่ม
Location :


[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 1 คน [?]




[Add ปลากัดหนุ่ม's blog to your web]