การถ่ายภาพแนว Low Key

เทคนิคการถ่ายภาพ Low Key

การถ่ายภาพในลักษณะ Low Key จะเป็นรูปแบบหนึ่งของการถ่ายภาพซึ่งพื้นที่ส่วนใหญ่ของภาพจะมีโทนมืดมากกว่าโทนสว่างโดยอาจจะมีส่วนของแสงเกิดขึ้นเฉพาะบางส่วนของภาพเท่านั้น โดยภาพ Low Key จะสื่อถึง ความลึกลับ มีพลัง และน่าค้นหา นักถ่ายภาพหลายท่านชื่นชอบการถ่ายภาพในลักษณะนี้อย่างมาก การถ่ายภาพ Low Key อาจจะไม่จำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติมมากเหมือนการถ่ายภาพ High Key และก็คงไม่เกินความสามารถของเราที่จะสามารถถ่ายภาพลักษณะนี้ให้สวยงาม เรามาดูเทคนิคในการถ่ายภาพกันดีกว่าครับ

 

มองหาแสงที่เหมาะสม

ภาพ Low Key ส่วนใหญ่จะมีส่วนของแสงเกิดขึ้นเฉพาะจุดซึ่งเป็นส่วนน้อยของภาพ ดังนั้นเราควรมองหาแสงที่ตกลงบนตัวแบบที่เราต้องการถ่าย โดยส่วนอื่นๆของภาพให้มีแสงตกในปริมาณน้อย เพื่อให้แสงเน้นเฉพาะส่วนที่เราต้องการสื่อในภาพเท่านั้น เช่น มองหาแสงที่ตกลงเฉพาะบนควันธูป เพื่อแสดงให้เห็นความพลิ้วไหวของควันธูป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องระวังคือ พยายามให้แสงตกลงบนส่วนที่เราต้องการสื่อในภาพเท่านั้น เพราะถ้าแสงตกลงบนส่วนอื่นๆของภาพ อาจจะแย่งความสนใจจากที่เราต้องการสื่อได้

 

การถ่ายภาพ Low Key อาจต้องมองหาสถานที่ที่มีแสงส่องลงมาเฉพาะจุด เช่นแสงที่ลอดมาจากรูของหลังคาและตกลงบนตัวแบบ (อาจจะเฉพาะบางส่วนของตัวแบบ) ซึ่งบางครั้งการมองหาแสงในลักษณะนี้อาจจะยากและไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยมากนัก บางครั้งเราอาจจำเป็นต้องใช้แฟลช หรืออุปกรณ์อื่นๆ เช่น ไฟฉายในการถ่ายภาพดังกล่าว โดยควรแยกแฟลชออกจากตัวกล้อง เนื่องจากการยิงแสงแฟลชเข้าตรงๆในตัวแบบ แสงอาจจะตกลงบนฉากหลังที่เราต้องการปิดให้อยู่ในโทนมืด และเพื่อให้แสงตกลงบนเฉพาะส่วนของแบบ (ไม่ใช่ทั้งหมดของตัวแบบ) การซูมแฟลช หรือการใช้อุปกรณ์ที่สามารถบีบแสงให้แคบลงจะทำให้ภาพของเราสวยงามมากขึ้นนะครับ ส่วนการใช้ไฟฉายส่องซึ่งเป็นแสงต่อเนื่องไปยังตัวแบบที่ต้องการถ่ายจะง่ายกว่าการใช้แฟลช เพราะเราสามารถมองเห็นภาพได้ก่อนถ่าย

 

ใช้ฉากหลังที่มีสีเข้ม

ส่วนใหญ่การถ่ายภาพ Low Key จะไม่เน้นการถ่ายฉากหลัง โดยจะให้ฉากหลังอยู่ในโทนมืด หรืออาจจะเปิดให้เห็นฉากหลังได้เล็กน้อยเมื่อต้องการสื่อให้เห็นถึงเรื่องราวของภาพ ดังนั้นเพื่อปิดฉากหลังหรือให้ฉากหลังอยู่ในโทนมืด ควรมองหาฉากหลังที่เป็นสีเข้ม หรือสีดำเลยก็ได้ครับ

 

คอนทราสต์ (Contrast) สูง

ภาพ Low Key เป็นภาพที่ต้องการคอนทราสต์ที่ค่อนข้างสูง เพื่อให้เราสามารถเห็นส่วนมืดและส่วนสว่างได้อย่างชัดเจน โดยคอนทราสต์ที่สูงจะทำให้มองเห็นขอบที่ชัดเจนระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่าง การปรับคอนคราสต์นั้นสามารถเข้าไปปรับได้ในเมนู Picture Style นะครับ (ใครลืมไปแล้วกลับไปอ่านเรื่อง “Picture Style” ได้นะครับ)

 

เลือกวัดแสงเฉพาะจุด

เนื่องจากภาพ Low Key จะมีความแตกต่างระหว่างส่วนมืดและส่วนสว่างค่อนข้างมาก ดังนั้นควรการเลือกวิธีวัดแสงเฉพาะจุด โดยให้วัดแสงในส่วนสว่างของภาพหรือในจุดที่แสงตกเพื่อให้ส่วนสว่างของภาพมีแสงที่พอดี โดยระวังอย่างให้ส่วนที่มีแสงตกสว่างมากเกินไป และส่วนอื่นๆของภาพที่อยู่ในโทนมืดจะมีค่าแสง Under และตกอยู่ในโทนมืดโดยอัตโนมัติ

 

องค์ประกอบอื่นๆของภาพ

องค์ประกอบอื่นๆของภาพเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการถ่ายภาพ Low Key เช่นกัน โดยการถ่ายภาพควรหลีกเลี่ยงการถ่ายให้ติดสิ่งที่ค่อนข้างสว่างหรือมีโทนสว่าง (ที่ไม่ใช่ตัวแบบ) เช่น ถ่ายติดแสงที่ส่องมาจากหน้าต่าง หรือแสงสะท้อนต่างๆ ซึ่งจะดึงความน่าสนใจจากตัวแบบหรือสิ่งที่เราต้องการสื่อได้นะครับ

 

ในบางครั้งเราอาจลองถ่ายภาพ Low Key ด้วยโหมดขาวดำดูบ้างก็อาจจะทำให้ภาพดูน่าสนใจหรือแปลกตามากขึ้นนะครับ ภาพ Low Key เป็นภาพหนึ่งที่มีลักษณะเฉพาะตัว และค่อนข้างโดดเด่นสำหรับผู้พบเห็น และก็คงไม่ยากเกินไปสำหรับเราหรอกครับ ลองถ่ายภาพ Low Key ดู เราอาจได้ภาพสวยๆไว้ดูเล่นก็ได้นะครับ

 

 

เขียนโดย www.ideophoto.com

ตัวอย่างภาพ




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555   
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 19:10:46 น.   
Counter : 8148 Pageviews.  


การจัดองค์ประกอบภาพ

การจัดองค์ประกอบภาพ (Composition)

Composition สำหรับภาพถ่าย คือการจัดองค์ประกอบภาพ การวาง Composition ในภาพขึ้นอยู่กับความคิดสร้างสรรของแต่ละท่าน ซึ่งไม่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัว หรือไม่มีรูปแบบที่แน่นอน ใครวางองค์ประกอบภาพได้ดีกว่าก็จะได้เปรียบและอาจได้ภาพที่สวยกว่า แต่ทุกท่านไม่ต้องกังวลนะครับว่าเราจะถ่ายภาพไม่สวยเพราะจัด Composition ไม่ดี สิ่งเหล่านี้สามารถฝึกฝนกันได้ แล้วเราก็จะเป็นคนหนึ่งที่วาง Composition ได้ดีไม่แพ้ใครนะครับ เรามาเริ่มศึกษาด้วยกันนะครับ

Composition ในภาพจะเกิดขึ้นจากการรวมส่วนประกอบหลายๆ ส่วนเข้าด้วยกัน เช่น จุด เส้น รูปทรง พื้นที่ว่างในภาพ พื้นผิว หรือสี ซึ่งในแต่ละส่วนจะสื่อถึงอารมณ์ของภาพด้วยกันทั้งสิ้น ขึ้นอยู่กับว่าผู้ถ่ายภาพจะสื่อถึงอะไรและจะใช้องค์ประกอบใดบ้างเข้ามาอยู่ในภาพ อย่างที่กล่าวแล้วข้างต้นว่าการวาง Composition ไม่สามารถกำหนดได้อย่างตายตัว ดังนั้นผมอยากจะแนะนำแนวความคิด ก่อนที่เราจะวางองค์ประกอบภาพดังนี้ครับ

 

คิดถึงสิ่งที่ต้องการสื่อก่อน

ก่อนที่เราจะกดชัตเตอร์ถ่ายภาพ เราควรจะทราบก่อนว่าเราจะถ่ายภาพอะไร และต้องการสื่อถึงอะไร ผู้ที่เริ่มถ่ายภาพใหม่ๆหลายๆท่านจะเริ่มจากการกดชัตเตอร์ไปเรื่อยๆเมื่อพบเห็นสิ่งที่ตัวเองสนใจ ผมไม่ได้บอกว่าความคิดนี้จะผิดนะครับ แต่ถ้าเราจะเริ่มคิดว่าเราต้องการสื่ออะไร อย่างน้อยเมื่อเรามองภาพที่เราถ่าย ก็จะทราบว่าเราถ่ายเพราะอะไร เช่น ถ้าเราเห็นดอกไม้กำลังแย้มกลีบใหม่ๆ ถ้าผู้ถ่ายภาพไม่ได้คิดอะไรก็คงจะกดถ่ายได้ภาพดอกไม้มา 1 ดอกที่มีสีสรรสวยงาม แต่ถ้าเราเริ่มคิดอีกนิดดอกไม้นี้แสดงถึงความสดใส หรือสิ่งดีๆใหม่ๆที่กำลังจะเกิดขึ้น เราก็อาจจะถ่ายดอกไม้พร้อมหยาดน้ำค้างที่ส่องแสงสะท้อนให้เห็นถึงความสดใส ซึ่งก็ถือเป็นการพัฒนาไปอีกขั้นสำหรับการถ่ายภาพนะครับ

 

สร้างเอกภาพให้ภาพถ่าย

ในการถ่ายภาพ เราควรมีจุดสนใจในภาพไม่มากนัก โดยถ้ามีจุดสนใจในภาพเพียงที่เดียวก็จะเป็นการดีมาก เนื่องจากผู้มองภาพจะได้ไม่สับสนว่าภาพที่เราถ่ายต้องการสื่ออะไรในภาพ คำว่าจุดสนใจในภาพผมไม่ได้หมายความว่าเป็นจุดเพียงจุดเดียวนะครับ (อย่าเพิ่ง งง นะครับ) ผมขอยกตัวอย่างเช่น เราต้องการถ่ายภาพนกที่เกาะอยู่บนเสาที่เรียงยาวเป็นสิบๆ ต้น ก็ถือว่าเราสร้างภาพที่มีจุดสนใจเพียงจุดเดียว คือภาพที่เหมือนๆกันของนกที่เกาะเรียงกันไป

 

สร้างความโดดเด่นให้กับสิ่งที่เราสื่อ

หลังจากที่เราทราบสิ่งที่เราต้องการสื่อและภาพที่เราต้องการถ่ายมีจุดเด่นเพียงจุดเดียวในภาพแล้ว เราก็สร้างความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายของเรา โดยอาจใช้สีที่แตกต่างกัน เช่นดอกกุหลาบสีแดงบนฉากหลังที่เป็นท้องฟ้าสีฟ้าเข้ม หรืออาจใช้แสงไฟที่สว่างสร้างจุดเด่นให้กับภาพ รวมถึงทฤษฏีต่างๆเช่น กฏสามส่วน (การแบ่งภาพถ่ายออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆกันและวางสิ่งที่เราต้องการถ่ายไว้บนเส้นใดเส้นหนึ่ง) จุดตัดเก้าช่อง (การแบ่งภาพถ่ายออกเป็น 3 ส่วนเท่าๆกันทั้งแกนตั้งและแกนนอน และจะเกิดช่อง 9 ช่องในภาพนอกจากนั้นจะเกิดจุดตัดขึ้น 4 จุดในภาพให้วางสิ่งที่เราต้องการเน้นไว้ตรงจุดใดจุดหนึ่ง) การสร้างความโดดเด่นให้กับภาพถ่ายมีอีกหลายวิธี เช่นการเน้นด้วยกรอบของภาพ หรือการเบลอส่วนที่เราไม่ต้องการทำให้สิ่งที่เราต้องการเน้นเด่นชัดขึ้นมาเป็นต้น

 

เรียบง่ายไว้ก่อนดีกว่า

หลายๆภาพที่คนชื่นชอบเป็นเพียงภาพที่เรียบง่ายไม่ได้มีส่วนประกอบอะไรมากในภาพ เพราะภาพที่เรียบง่ายจะเป็นภาพที่สามารถสื่อสิ่งที่เราต้องการได้ดีกว่าภาพที่มีส่วนประกอบหลายๆส่วนเข้ามาด้วยกัน ดังนั้นถ้าเป็นไปได้พยายามถ่ายภาพที่เรียบง่ายเอาไว้ก่อนดีกว่าครับ

 

มองหามุมมองใหม่ๆ

หลายๆท่านเมื่อเดินทางออกไปถ่ายภาพ อาจจะไม่รู้ว่าจะต้องเริ่มมองหาอะไรในการถ่ายภาพและจะวางองค์ประกอบภาพอย่างๆร  จริงๆแล้วเมื่อเราออกไปถ่ายภาพเราอาจพบเจอภาพหลายๆภาพ แต่เราอาจมองข้ามไป สำหรับท่านที่ไม่ทราบว่าจะถ่ายอะไร ท่านลองมองหา พื้นผิวของวัตถุที่แปลกตา (เช่น พื้นผิวหาดทราย) ลวดลายที่แปลกๆ (เช่นลวดลายของต้นไม้) จังหวะที่ซ้ำๆกัน (เช่น นกที่บินมา 3 ตัวเรียงกัน) ภาพสะท้อน (เช่น เงาของตึกที่อยู่ในน้ำ) สีที่ขัดแย้งกัน (เช่นดอกไม้สีเหลืองตัดกับท้องฟ้าสีน้ำเงิน) เส้นนำสายตา (เช่น ขอบรั้วที่พุ่งตรงไปยังบุคคลที่เราต้องการถ่าย) นอกจากนี้ ยังมีอะไรอีกหลายอย่างที่เราสามารถหาได้เมื่อออกไปถ่ายภาพนะครับ

ทั้งหมดข้างต้นอาจจะไม่ตรงกับทฤษฏีที่มีอยู่ ซึ่งท่านอาจจะสามารถศึกษาได้เพิ่มเติมเพิ่มฝีกฝนต่อไป ผมคิดว่าสิ่งที่เขียนมาข้างต้นอาจจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เริ่มต้นถ่ายภาพหลายๆคนนะครับ และเมื่อท่านได้ฝึกฝนผมคิดว่าท่านก็จะเป็นคนที่จัดองค์ประกอบภาพได้ดีคนหนึ่งที่เดียว

 

เขียนโดย //www.ideophoto.com




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555   
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 19:05:40 น.   
Counter : 1637 Pageviews.  


High Dynamic Range(HDR)

HDR (High Dynamic Range)

หลายๆ ท่านคงเคยได้ยินคำว่า “HDR” กันมาบ้าง และหลายท่านก็คงสงสัยว่า HDR คืออะไรและเกี่ยวอะไรกับการถ่ายภาพ ก่อนอื่นเรามาเข้าใจความหมายของ HDR กันก่อนนะครับ HDR ย่อมาจากคำว่า High Dynamic Range ซึ่งในการถ่ายภาพหมายถึงความสามารถในการรับแสงช่วงที่สว่างที่สุดจนถึงมืดสุดได้ในช่วงที่กว้าง ผมขอยกตัวอย่างดังนี้นะครับ เช่นเวลาเรามองภาพคนที่หันหลังให้พระอาทิตย์เวลาใกล้ตกดิน เราจะสามารถมองเห็นรายละเอียดของท้องฟ้าที่อยู่ในโซนที่ค่อนข้างสว่าง และมองเห็นรายละเอียดของใบหน้าคนที่อยู่ในโซนของเงามืดได้ชัดเจน ดังนั้นตาของมนุษย์จะมี Dynamic Range ที่สามารถมองเห็นส่วนสว่างของท้องฟ้า และส่วนมืดในหน้าของคนที่ยืนอยู่ได้ แต่ถ้าเรามองภาพคนหันหลังให้พระอาทิตย์แต่เป็นช่วงยังไม่เย็นมาก เราจะเริ่มไม่เห็นรายละเอียดของท้องฟ้ามากนักจะเห็นเป็นสีขาวสว่างๆ และหน้าคนก็จะเห็นมืดลง นี่ก็แสดงว่าตาของมนุษย์มี Dynamic Range ไม่กว้างพอที่จะเห็นส่วนสว่างและส่วนมืดได้พร้อมกัน

หลายท่านคงสงสัยว่าแล้ว HDR เกี่ยวอะไรกับการถ่ายภาพ ก็เนื่องจากกล้องถ่ายภาพของเรามี Dynamic Range ที่แคบกว่าตามนุษย์ค่อนข้างมาก เราจะสังเกตได้จากเวลาเราถ่ายภาพ เช่น ถ่ายภาพคนยืนหันหลังให้พระอาทิตย์ ทั้งๆที่ตาเรามองเห็นใบหน้าของคนที่เราต้องการถ่ายและภาพท้องฟ้าได้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเราวัดแสงที่ท้องฟ้า เรากลับได้ท้องฟ้าที่มีแสงพอดีแต่หน้าของคนที่เราถ่ายกลับมืดจนมองไม่เห็น หรือถ้าเราวัดแสงที่ใบหน้า ก็จะได้ภาพของใบหน้าที่ชัดเจนแต่ ท้องฟ้าสว่างจนมองไม่เห็นอะไร นักถ่ายภาพหลายๆท่านแก้ไขด้วยการใช้แฟลช การใช้รีเฟล็กซ์ หรืออุปกรณ์ต่างๆที่เข้ามาช่วยให้ภาพบุคคลได้รับแสงที่พอดีและได้ท้องฟ้าที่สวยงามในเวลาเดียวกัน การใช้เทคนิค HDR ก็เป็นวิธีหนึ่งที่ทำให้เราสามารถเก็บภาพที่มีค่าแสงที่ต่างกันมากได้อย่างสวยงาม

 

วิธีการถ่ายภาพเพื่อสร้างภาพ HDR

วิธีการสร้างภาพ HDR ไม่ได้มีอะไรซับซ้อนมาก หลักการคือการเก็บภาพที่ในส่วนมืดมีค่าแสงที่พอดี และภาพที่ส่วนสว่างมีแสงที่พอดี และนำภาพดังกล่าวมารวมกันในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อให้ได้ภาพที่สามารถมองเห็นได้ทั้งส่วนมืดและส่วนสว่าง เรามาดูเทคนิคการถ่ายภาพเพื่อทำ HDR กันดีกว่าครับ

 

ถ่ายภาพที่มีค่าแสงต่างกัน

ควรถ่ายภาพที่มีค่าแสงที่ต่างกันประมาณ 2 – 5 ภาพ โดยจำนวนภาพที่ถ่ายขึ้นกับค่าแสงในขณะนั้นว่ามีความแตกต่างกันระหว่างส่วนสว่างและส่วนมืดต่างกันแค่ไหน ถ้าแตกต่างกันมากก็ควรถ่ายจำนวนหลายภาพ เพื่อให้ได้ภาพที่สวยงามขึ้น ซึ่งการถ่ายภาพที่มีค่าแสงต่างกันเราอาจใช้วิธีถ่ายภาพคร่อม (อ่านคู่มือของกล้องในแต่ละยี่ห้อ) ซึ่งเมื่อเรากดถ่ายภาพจะได้ภาพที่มืด พอดี และสว่างได้ในครั้งเดียว

 

ตั้งค่ารูรับแสงไม่ให้เปลี่ยนแปลง

การถ่ายภาพเพื่อทำภาพ HDR ควรกำหนดค่ารูรับแสงตายตัวและใช้วิธีปรับความเร็วชัตเตอร์เป็นหลักเพื่อให้ได้ค่าแสงของภาพที่แตกต่างกัน เนื่องจากการปรับรูรับแสงจะมีผลกับความชัดลึกและชัดตื้นของภาพ ซึ่งถ้าภาพแต่ละภาพมีความชัดไม่เท่ากัน เมื่อนำภาพมารวมกันจะได้ภาพที่ไม่สวยงาม

 

ตั้งค่า White Balance คงที่

เช่นเดียวกับค่ารูรับแสง ถ้าค่า White Balance เปลี่ยนไปจะทำให้สีของภาพเปลี่ยนแปลงไปด้วย ดังนั้นควรใช้ค่า White Balance ที่คงที่ไว้ก่อน ดังนั้นเราไม่ควรตั้งค่า White Balance เป็น Auto ซึ่งกล้องอาจจะปรับค่า White Balance ให้โดยอัตโนมัติซึ่งเราอาจจะไม่ทราบ

 

ใช้ขาตั้งกล้องช่วย

การถ่ายภาพเพื่อทำ HDR ต้องการภาพตั้งแต่ 2 ภาพขึ้นไปเพื่อนำภาพมารวมกัน และใช้ความเร็วชัตเตอร์ที่ต่างกัน ดังนั้นการถือกล้องด้วยมือ อาจจะทำให้ได้ภาพสั่นไหว หรือเคลื่อนไปจากตำแหน่งเดิมได้ง่าย ดังนั้นการใช้ขาตั้งกล้องจะช่วยให้สามารถทำ HDR ได้ดียิ่งขึ้น

 

นำภาพมารวมกันในโปรแกรมคอมพิวเตอร์

หลังจากได้ภาพที่ค่าแสงแตกต่างกันแล้ว ก็นำมารวมกันในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ซึ่งมีหลายโปรแกรมให้เลือกใช้กันนะครับ ซึ่งขึ้นอยู่กับแต่ความชำนาญในการใช้โปรแกรมของแต่ละท่าน ซึ่งท่านสามารถศึกษาวิธีการรวมภาพในโปรแกรมได้จากหลายๆแหล่งนะครับ

 

การทำ HDR จะทำให้ได้ภาพที่สามารถเห็นส่วนมืดและส่วนสว่างได้มากยิ่งขึ้น และบางครั้งอาจได้ภาพที่มีเอกลักษณ์และสวยไปอีกแบบหนึ่ง ถ้าท่านมีโอกาสและเวลาก็ลองถ่ายภาพและนำมาทำ HDR ดูนะครับ เผื่อจะได้ภาพไว้ไปอวดเพื่อนๆ กันครับ

 

 

เขียนโดย //www.ideophoto.com




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555   
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 19:04:48 น.   
Counter : 915 Pageviews.  


White Balance

White Balance

หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่าสมดุลแสงสีขาว (White Balance) กันมาบ้าง และหลายท่านก็คงจะไม่อยากไปปรับแต่งอะไรกับฟังก์ชั่น White Balance ที่อยู่ในกล้อง ปล่อยเป็น Auto ไปดีกว่าเดี๋ยวภาพจะไม่สวย จริงๆแล้วฟังก์ชั่น White Balance สามารถทำให้ภาพถ่ายของเรามีความแตกต่างจากภาพถ่ายทั่วไปมากที่เดียวนะครับ ก่อนอื่นมาทำความเข้าใจกับ White Balance ก่อนดีกว่าครับ

 

ในแหล่งกำเนิดแสงต่างๆ รวมถึงแสงอาทิตย์จะมีสีที่แตกต่างกันออกไป หรือแสงอาทิตย์ในช่วงเวลาที่ต่างกันเช่น ช่วงกลางวัน กับช่วงเย็นก็จะมีสีที่แตกต่างกันเช่นกัน โดยจะใช้หน่วยวัดค่าสีของแสง เรียกว่าอุณหภูมิสี ซึ่งจะวัดกันเป็นองศาเควิน ดังนั้นการถ่ายภาพในสภาพแสงที่ต่างกัน ภาพที่ออกมาก็จะมีสีที่ต่างกันตามสภาพแสงที่เราถ่าย ผมขอยกตัวอย่างดังนี้ครับ

หลอดทังสเตน (Tungsten)                ให้แสงสีส้ม

ฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescence)          ให้แสงสีเขียว

มีแสงแดดตอนเที่ยง (Daylight)           ให้แสงสีฟ้าอ่อน

มีเมฆมาก (Cloudy)                          ให้แสงสีฟ้า

ใต้ร่มเงา (Shade)                             ให้แสงสีน้ำเงิน

ดังนั้นฟังก์ชั่น White Balance ในกล้องที่ให้มานั้นก็จะมาช่วยปรับอุณหภูมิสีดังกล่าวให้เป็นสมดุลแสงสีขาว โดยพยายามลบแสงสีนั้นให้จางลง โดยใช้วิธีการผสมแสงสีตรงกันข้ามซึ่งจะทำให้เกิดสมดุลแสงสีขาวขึ้น ยกตัวอย่างเช่น เราถ่ายกระดาษสีขาวภายใต้หลอดทังสเตน กระดาษสีขาวนั้นก็จะกลายเป็นสีส้ม ดังนั้นถ้าเราปรับ White Balance ไว้ที่ Tungsten กล้องก็จะไปเร่งสีน้ำเงินเพิ่มขึ้นเพื่อลบสีส้ม ซึ่งจะทำให้กระดาษกลับมาเป็นสีขาวเหมือนเดิม ผมขอยกตัวอย่างฟังก์ชั่น White Balance ที่อยู่ในกล้องเพื่อแก้สีต่างๆดังนี้นะครับ

 

แหล่งกำเนิดแสง

สีที่ได้

White Balance (แก้สี)

หลอดทังสเตน (Tungsten)

ให้แสงสีส้ม

เร่งสีน้ำเงิน

ฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescence)

ให้แสงสีเขียว

เร่งสีม่วง

มีแสงแดดตอนเที่ยง (Daylight)

ให้แสงสีฟ้าอ่อน

เร่งสีส้มอ่อน

มีเมฆมาก (Cloudy)

ให้แสงสีฟ้า

เร่งสีส้ม

ใต้ร่มเงา (Shade)

ให้แสงสีน้ำเงิน

เร่งสีเหลืองสีส้มเข้ม

 

ในกล้องบางรุ่นจะมีฟังก์ชั่นที่ปรับ White Balance ได้ละเอียดมาก โดยสามารถปรับเป็นองศาเควิน (K) ได้และสามารถกำหนดอุณหภูมิแสงได้มากยิ่งขึ้น

 

เปลี่ยนสีให้กับภาพถ่าย

หลังจากที่เราทราบวิธีการในการทำงานของกล้องแล้ว คราวนี้เรามาลองประยุกต์ใช้ White Balance ให้กับภาพถ่ายเราดีกว่า สมมุติเราเดินทางไปถ่ายภาพภูเขาตอนช่วงที่ไม่มีแสงแดด เราจะได้ภาพภูเขาที่เป็นสีฟ้ามา ถ้าตามทฤษฎีแล้วเราก็ต้องแก้ด้วยการเร่งสีส้ม โดยปรับฟังก์ชั่น White Balance เป็น Cloudy เพื่อลบสีฟ้าออก แต่ถ้าเราลองปรับ White Balance เป็น ทังสเตน (Tungsten) ดูก็ไม่น่าจะผิดอะไร เราก็จะเร่งสีน้ำเงินให้เพิ่มขึ้น ให้ภาพภูเขาของเราเป็นสีน้ำเงินเข้มไปเลย ภาพก็จะดูสวยไปอีกแบบนะครับ หรือบางครั้งถ้าเราถ่ายภาพแล้วต้องการให้ภาพของเราเป็นสีออกม่วงๆ เราก็ปรับ White Balance เป็น ฟลูออเรสเซนต์ (Fluorescence) ซึ่งกล้องก็จะไปเร่งสีม่วงให้เพิ่มขึ้น ก็จะทำให้ภาพของเรามีสีม่วงขึ้นมา หรือเราไปถ่ายภาพทะเลตอนพระอาทิตย์ตก เราก็อาจจะปรับ White Balance เป็น Cloudy หรือ Shade เพื่อให้ทะเลของเรามีสีเป็นสีส้ม หรือแดงมากๆ ภาพก็จะดูแตกต่างจากคนอื่นเหมือนกันนะครับ

 

ถ้าทุกท่านเดินทางไปท่องเที่ยวในที่ต่างๆ และได้มีโอกาสถ่ายภาพ ลองปรับ White Balance เป็นแบบต่างๆดูนะครับ ภาพของเราอาจจะสวยกว่าที่เราคิดก็ได้นะครับ

 

เขียนโดย //www.ideophoto.com




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555   
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 19:03:42 น.   
Counter : 915 Pageviews.  


การวัดแสง

การวัดแสง

หลายท่านคงเคยมีปัญหาเกี่ยวกับการวัดแสงเวลาถ่ายภาพกันมาบ้าง ผมเองก็เคยมีปัญหากับเรื่องการวัดแสงมากทีเดียว ปัญหาหลักๆคือผมไม่ทราบว่าต้องวัดแสงตรงจุดไหนถึงให้ค่าแสงที่พอดี ถึงแม้ในระบบวัดแสงของกล้องจะแสดงว่าได้ค่าแสงที่พอดีแล้วแต่เมื่อผมลองดูภาพกลับได้ภาพที่สว่างไปบ้าง มืดไปบ้าง งั้นเรามาเริ่มศึกษาวิธีการวัดแสงไปพร้อมๆกันดีกว่าครับ


ก่อนอื่นคงต้องเข้าใจเกี่ยวกับระบบการวัดแสงของกล้องก่อน โดยกล้องแต่ละรุ่นแต่ละยี่ห้อจะมีระบบวัดแสงแตกต่างกันบ้าง แต่ก็คงจะอยู่ในหลักการที่ใกล้เคียงกัน โดยกล้องจะมีระบบวัดแสงให้เราได้เลือกใช้กันหลายแบบ ซึ่งในแต่ละแบบจะถูกนำมาใช้ตามสภาพแสงและขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ถ่ายภาพเป็นหลัก.....เรามาดูกันดีกว่าว่าระบบวัดแสงหลักๆ มีอะไรบ้าง

วัดแสงเฉลี่ยทั้งภาพ (Evaluative metering) เป็นการวัดค่าแสงในพื้นที่ทั้งหมดของภาพและนำค่าแสงในแต่ละจุดของภาพมาคำนวณเฉลี่ยเป็นค่าแสงที่เหมาะสม

วัดแสงเฉลี่ยหนักกลาง (Center-weighted average metering) เป็นการนำค่าแสงทุกส่วนของภาพมาแต่ให้ความสำคัญกับค่าแสงในส่วนตรงกลางมากกว่าในการคำนวณค่าแสง

วัดแสงเฉพาะส่วน (Partial metering) เป็นการนำค่าแสงเฉพาะบางส่วนของภาพ ส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางภาพ มาคำนวณค่าแสง

วัดแสงเฉพาะจุด (Spot metering) มีลักษณะคล้ายๆกับการวัดแสงเฉพาะส่วน โดยเป็นการนำค่าแสงเฉพาะบางจุด (เล็กกว่าเฉพาะส่วน) มาคำนวณค่าแสง


เมื่อทราบเกี่ยวกับระบบวัดแสงกันแล้ว มาเริ่มดูวิธีการวัดแสงกันเลยดีกว่าครับ ปกติกล้องที่เราใช้กันอยู่นั้นไม่สามารถมองเห็นอย่างที่มนุษย์เห็นได้ ดังนั้นกล้องจึงต้องใช้ค่ามาตรฐานค่าหนึ่งในการกำหนดว่าค่าดังกล่าวคือค่าแสงที่พอดี โดยค่าดังกล่าวคือสีเทากลาง 18% ตามที่เราเคยได้ยินกันมา ดังนั้นเมื่อเราวัดแสง ณ จุดไหนกล้องจะปรับให้จุดนั้นมองเห็นเป็นค่าเทากลาง 18%


มาลองดูตัวอย่างกันดีกว่าครับ ถ้าเราใช้วิธีวัดแสงแบบเฉพาะจุดและให้กล้องปรับค่ารูรับแสง หรือ ความเร็วชัตเตอร์อัตโนมัตินะครับ เมื่อเรานำจุดวัดแสงวัดวัตถุที่เป็นสีดำกล้องจะปรับ (เปลี่ยนค่ารูรับแสงหรือความเร็วชัตเตอร์) จุดนั้นให้มีค่าแสงพอดี คือปรับให้จุดดังกล่าวเป็นที่เทากลาง 18% ดังนั้นเมื่อเราถ่ายวัตถุที่เป็นสีดำ และวัดแสง ณ จุดนั้นวัตถุดังกล่าวจะไม่เป็นสีดำสนิท โดยจะเปลี่ยนเป็นสีเทากลาง 18% แทน ลองมาดูอีกตัวอย่างนะครับ ถ้าเราถ่ายวัตถุสีขาว และเราวัดแสงที่วัตถุสีขาวดังกล่าวโดยวิธีวัดแสงเฉพาะจุด กล้องจะปรับวัตถุสีขาวให้เป็นสีเทากลาง 18% เช่นกัน เพราะฉะนั้นสีขาวจะกลายเป็นสีเทากลาง 18%


หลายคนอาจมีคำถามว่า แล้วเราควรจะวัดแสงที่จุดไหน จริงๆแล้วเราสามารถวัดแสงที่จุดไหนก็ได้ แล้วแต่ความถนัด ให้เราลองจินตนาการว่าภาพของเราเป็นภาพขาวดำทั้งหมด สีที่เข้มๆ เมื่อเป็นภาพขาวดำก็จะเป็นสีเข้มๆ ซึ่งน่าจะเกินสีเทา 18% ส่วนสีที่เป็นสีอ่อนมากๆ เมื่อเป็นขาวดำก็จะเป็นสีเทาที่ต่ำว่า 18% ถ้าเกิดเราต้องการวัดแสงให้ตรงเลยก็ต้องมองหาวัตถุที่เมื่อแปลงเป็นสีขาวดำแล้ว จะให้ค่าที่เป็นสีเทา 18% นั่นเอง ซึ่งในความเป็นจริงแล้วตาเราคงไม่ได้วัดแสงได้เก่งขนาดนั้น ดังนั้นถ้าเราเลือกวัดแสงในวัตถุสีเข้มๆ เราก็ต้องปรับกล้องของเราเองให้ภาพมืดลง (ชดเชยแสงทางลบ) ก่อนที่จะถ่ายเพราะถ้าเราไม่ทำ วัตถุที่เป็นสีเข้มนั้นก็จะกลายเป็นสีเทากลาง 18% ในภาพขาวดำ ทำให้ทั้งภาพดูสว่างเกินกว่าความเป็นจริง หรือในทางกลับกันถ้าเราเลือกวัดแสงจากวัตถุที่เป็นสีขาว เราก็ต้องปรับกล้องของเราให้มีภาพสว่างขึ้น (ชดเชยแสงทางบวก) ก่อนที่จะถ่ายเพราะไม่อย่างนั้นภาพสีขาวก็จะกลายเป็นสีเทากลาง 18% และส่วนอื่นๆในภาพก็จะดูหม่นๆไป ดังนั้นบางท่านถึงเลือกวัดแสงในวัตถุที่เป็นสีเขียว เนื่องจากเมื่อแปลงเป็นภาพขาวดำแล้ว น่าจะมีสีใกล้เคียงกับสีเทา 18% ค่อนข้างมาก


ส่วนเราควรจะปรับค่าเท่าใดนั้นก็คงบอกไม่ได้เพราะขึ้นกับสภาพของแสงในขณะนั้น ลองนำไปปฏิบัติดูครับ ถ้าเราเข้ากันในหลักการนี้แล้วต่อไปการวัดแสงก็คงจะไม่ใช่อุปสรรคของเราอีกต่อไป ทดลองถ่ายภาพบ่อยๆ วัดแสงบ่อยๆ ต่อไปก็จะชำนาญเองครับ


เพิ่มเติม
การชดเชยแสงมีทั้งทางด้านลบและด้านบวกโดยมีวิธีใช้ที่ง่ายมากคือ ถ้าเราเลื่อนขีดในระบบชดเชยแสงไปด้านเครื่องหมายลบ (ชดเชยแสงทางลบ) ซึ่งจะทำให้ภาพมืดลง ในทางกลับกันถ้าเราเลื่อนขีดในระบบชดเชยแสงไปด้านเครื่องหมายบวก (ชดเชยแสงทางบวก) ซึ่งทำให้ภาพสว่างขึ้น ลองอ่านคู่มือเกี่ยวกับการวิธีการชดเชยแสงในกล้องแต่ละยี่ห้อดูนะครับ

 

เขียนโดย //www.ideophoto.com




 

Create Date : 19 กรกฎาคม 2555   
Last Update : 19 กรกฎาคม 2555 19:02:44 น.   
Counter : 1099 Pageviews.  


1  2  3  4  5  6  7  8  9  10  11  

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com