มารู้จักทางเลือกในการลงทุน

 

รู้จักกับทางเลือกการลงทุน

 

 

ความเสี่ยงในการลงทุนมักจะเชื่อมโยงถึงผลตอบแทนที่ได้รับ ซึ่งเราสามารถแบ่งกลุ่มสินทรัพย์ และหลักทรัพย์ตามระดับความเสี่ยงได้เป็น 3 กลุ่มด้วยกันคือ

 

1. กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง (ผลตอบแทนสูง)

 

2.กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง (ผลตอบเทนปานกลาง)

 

3.กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ (ผลตอบแทนต่ำ)

 

 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ผลตอบแทนสูงได้แก่

 

-          หุ้น

 

-          ตราสารอนุพันธ์

 

 

หุ้น

 

มูลค่าของหุ้นจะผันผวนขึ้นลงตามสภาวะแวดล้อมที่มากระทบได้ตลอดเวลา  ผลตอบแทนการลงทุนในหุ้น  จะมาจากเงินปันผลและกำไรจากการซื้อขายโดยกำไรที่ได้รับไม่ต้องเสียภาษีเงินได้  ทั้งนี้หุ้นมีหลากหลายประเภท  หากผู้ลงทุนชอบผลตอบแทนที่มั่นคงในระยะยาว   ควรเลือกลงทุนในหุ้นที่มีโครงสร้างพื้นฐานดี  จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอ  ราคาขึ้นลงไม่หรือหวา  แต่หากยอมรับความเสี่ยงได้มากกว่า ก็อาจเลือกลงทุนในหุ้นที่มีความเคลื่อนไหวของราคาสูงต่ำหวือหวาเพื่อเก็งกำไรในระยะสั้น  แต่ไม่ว่าจะเลือกลงทุนแบบใด ผู้ลงทุนต้องหมั่นติดตามข่าวสารข้อมูลอยู่ตลอดเวลา  เพื่อป้องกันความเสี่ยง  หรือหากไม่มีเวลาก็อาจลงทุนผ่านกองทุนรวมหุ้นก็ได้  ซึ่งก็จะมีผู้เชี่ยวชาญทำหน้าที่บริหารจัดการแทน

 

 

ตราสารอนุพันธ์

 

เป็นสัญญาซื้อขายล่วงหน้าประเภทหนึ่ง  โดยมีมูลค่าผันแปรตามสินทรัพย์ที่อ้างอิง  ซึ่งอาจเป็นตราสารทางการเงิน  เช่น  อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ พันธบัตรตั๋วเงิน  หุ้นสามัญ ฯลฯ หรืออาจเป็นสินค้าหรือสินทรัพย์อื่นๆ เช่น ทองคำ น้ำมัน ข้าว ฯลฯ  โดยแบ่งเป็น 2 ประเภทหลัก คือ ฟิวเจอร์ และ ออปชั่น

 

การลงทุนในฟิวเจอร์   :  เป็นการทำสัญญาซื้อขายล่วงหน้าสินค้าที่อ้างอิงถึง ซึ่งทั้งผู้ซื้อและผู้ขายมีภาระผูกพันที่ต้องทำตามสัญญากันไว้  แต่ก็สามารถล้างภาระผู้พันได้โดยการทำธุรกรรมหักล้างก่อนสัญญาจะครบกำหนดอายุ  การลงทุนในรูปแบบนี้จะใช้เงินลงทุนน้อยกว่ามูลค่าที่แท้จริงของสินทรัพย์อ้างอิง   จึงมีโอกาสเสี่ยงสูงกว่าการลงทุนในสินทรัพย์โดยตรงหากคาดการณ์ผิดพลาด

 

การลงทุนในออปชั่น  :  เป้นการทำสัญญาระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขายเพื่อซื้อขายสิทธิที่จะซื้อหรือขายสินค้าอ้างอิงตามจำนวน  ราคา  และระยะเวลาที่กำหนดไว้ในสัญญา โดยผู้ซื้อสามารถเลือกใช้สิทธิในการซื้อหรือขาย  หรือไม่ใช้สิทธิก็ได้  แต่หากผู้ซื้อเลือกใช้สิทธิ  ผู้ขายก็มีภาระต้องทำตามสัญญาที่ให้กับผู้ซื้อ  โดยอนุพันธ์ทั้งสองประเภทสามารถซื้อไว้เพื่อเก็งกำไรระยะสั้น  หรือเพื่อบริหารความเสี่ยงให้กับสินทรัพย์หลักที่ซื้อไว้ก็ได้

 

 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงปานกลาง  ผลตอบแทนปานกลาง ได้แก่

 

-          ตราสารหนี้

 

-          สินค้าโภคภัณฑ์

 

-          กองทุนรวม

 

 

ตราสารหนี้

 

เป็นตราสารที่หน่วยงานรัฐ  หรือบริษัทเอกชนออกเสนอขายเพื่อระดมเงินทุนกับประชาชนผู้สนใจ  ซึ่งมีมากมายหลายประเภท  อาทิ  พันธบัตรรัฐบาล  พันธบัตรรัฐวิสาหกิจ  หุ้นกู้  ฯลฯ  ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนในรูปของดอกเบี้ยเป็นงวดๆ  ตามอัตรา  และระยะเวลาที่ผู้ออกตราสารกำหนดเอาไว้แน่นอน  และได้รับเงินต้นคืนเมื่อครบกำหนดอายุ  เช่น 5 ปี 10 ปี ตราสารหนี้จึงเหมาะกับผู้ลงทุนที่ต้องการผลตอบแทนแบบสม่ำเสมอ  และเหาะกับเงินลงทุนระยะปานกลางถึงยาว  เนื่องจากตราสารหนี้มักมีสภาพคล่องต่ำ  หากอัตราดอกเบี้ยในท้องตลาดเพิ่มสูงขึ้นมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กำหนดไว้  จะเป้นผลให้ราคาตราสารหนี้นั้นลดลง  ซึ่งหากผู้ลงทุนมีความจำเป็นต้องขายตราสารหนี้ก่อนครบกำหนดอาจประสบผลขาดทุนได้

 

 

สินค้าโภคภัณฑ์

 

เป็นอีกหนึ่งทางเลือกการลงทุนที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากราคามีแนวโน้มสูงขึ้น  ดดยสินทรัพย์ในกลุ่มนี้จะแบ่งออกเป็น 2 ประเภท  คือ สินค้าโภคภัณฑ์ที่มีอยู่อย่างจำกัด  เช่น  ทองคำ  ทองแดง น้ำมัน  หรือก๊าซะรรมชาติ  ถ่านหิน  ฯลฯ  ทรัพยากรเหล่านี้เมื่อหมดไปแล้วต้องขุดเพิ่ม  ซึ่งมีต้นทุนสูง ใช้เวลานาน  และไม่เพียงพอกับความต้องการ  ราคาจึงปรับตัวสูงมากกว่าจะลดลง  อีกประเภทคือสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผลิตขึ้นใหม่ทดแทนได้  เช่น  ผลิตผลทางการเกษตร  เป็นสินทรัพย์ที่มีความต้องการใช้จริง  และมีปริมาณความต้องการสูงขึ้นเรื่อยๆ  เนื่องจากจำนวนประชากรโลกสูงขึ้นเรื่อยๆ  ทุกปี  แต่มีความเสี่ยงจากปัจจัยธรรมชาติ  การเมือง  แรงงาน  ราคาจึงมีความผันผวนมาก  โดยปกติแล้วการลงทุนในสินทรัพย์ประเภทนี้จะลงทุนผ่านกองทุนรวมเป็นส่วนใหญ่  ยกเว้นกรณีทองที่ผู้ลงทุนสามารถซื้อทองคำแท่งมาเก็บไว้เพื่อเก็งกำไรได้

 

 

กองทุนรวม

 

เป็นการลงทุนในหลักทรัพย์  หรือทรัพย์สินประเภทต่างๆ  ผ่านบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม  (บลจ.)   ซึ่งจะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการลงทุน  และบริหารกองทุนให้ได้ผลตอบแทน  จากนั้นจึงนำมาเฉลี่ยคืนให้กับผู้ลงทุนแต่ละรายตามสัดส่วนการลงทุนที่ระบุไว้ใน “ หน่วยลงทุน “ ซึ่งบริษัทฯ ได้ให้กับผู้ลงทุนเพื่อเป็นหลักฐาน  กองทุนรวมจะมีความเสี่ยงและผลตอบแทนตามแต่นโยบายการลงทุนของกองทุนนั้นๆ  ซึ่งโดยปกติแล้ว แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทหลัก คือ

 

กองทุนรวมหุ้น  :  จะเน้นลงทุนในหุ้นสัดส่วนตั้งแต่ร้อยละ 65 – 100 ความเสี่ยงเทียบเท่าได้กับการลงทุนในหุ้นตามสัดส่วนที่ลงทุน   แต่อาจมีข้อได้เปรียบกว่าในแง่ที่ว่าการลงทุนผ่านกองทุนรวม  จะมีผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนบริหารจัดการให้  ผู้ลงทุนใช้เงินลงทุนจำนวนไม่มากแต่เงินปันผลที่ได้รับจะต้องเสียภาษีด้วย

 

กองทุนรวมตราสารหนี้  :  ความเสี่ยงขึ้นอยู่กับประเภทตราสารหนี้ที่กองทุนไปลงทุน  หากเน้นพันธบัตรรัฐบาล เงินต้นจะไม่สูญ  แต่ก็จะได้ผลตอบแทนน้อยกว่ากองทุนที่เน้นลงทุนในหุ้นกู้บริษัทเอกชน

 

กองทุนรวมผสม  :  มีสัดส่วนการลงทุนในหุ้นอยู่ในช่วงร้อยละ  35 – 65 ของมูลค่าทรัพย์สินสุทธิของกองทุนรวม  ส่วนที่เหลือจะลงทุนในหลักทรัพย์อื่นร่วมด้วย  จึงทำให้ได้รับผลตอบแทนและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับกึ่งกลางระหว่างการลงทุนในกองทุนรวมหุ้น  และกองทุนรวมตราสารหนี้

 

 

 

 

กองทุนรวมเพื่อประโยชน์ในการลดภาษี

 

 

                มีลักษณะเช่นเดียวกับกองทุนรวมทั่วไป  แต่จะแตกต่างพิเศษตรงที่ผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการนำไปใช้ลดหย่อนภาษีหากปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนด  กระนั้นหน่วยลงทุนที่ได้รับก็จะไม่สามารถโอน  จำนำ  หรือนำไปใช้เป็นหลักประกันใดๆ ได้  กองทุนรวมนี้แบ่งออกเป็นสองประเภทคือ

 

กองทุนรวมหุ้นระยะยาว (Long Term Equity Fund : LTF )

 

                มีนโยบายลงทุนในหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ  ไม่น้อยกว่าร้อยละ 65  โดยผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการลดหย่อนภาษีหากถือหน่วยลงทุนไว้ไม่น้อยกว่า 5 ปี (นับตามปีปฏิทิน  โดยจะนับแยกในแต่ละช่วงปี  เช่น การลงทุนตลอดช่วงปี 2547  จะครบ 5 ปีในเดือนมกราคม 2551  ลงทุนตลอดช่วงปี 2548 จะครบ 5 ปี  ในเดือนมกราคา 2552  เป็นต้น) และจะสามารถขายคืนหน่วยลงทุนได้ไม่เกินปีละ 2 ครั้ง

 

กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ ( Retirement Mutual Fund : RMF )

 

นโยบายการลงทุนหลากหลาย  มีตั้งแต่กองทุนที่มีระดับความเสี่ยงต่ำเน้นลงทุนในตราสารหนี้ ไปจนถึงกองทุนที่มีระดับความเสี่ยงสูงเน้นลงทุนในตราสารทุน  ซึ่งผู้ลงทุนจะได้รับสิทธิในการนำไปลดหย่อนภาษีได้  ก็ต่อเมื่อมีการสะสมเงินอย่างต่อเนื่อง  โดยซื้อหน่วยลงทุน RMF ไม่น้อยกว่าปีละครั้งลงทุนขั้นต่ำ 3 % ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่ต่ำกว่า 5,000 บาท แต่จะลงทุนได้สูงสุดไม่เกิน 15 % ของเงินได้ในแต่ละปี หรือไม่เกิน 500,000 บาท และจะต้องไม่ระงับการซื้อหน่วยลงทุนเกินกว่า 1 ปีติดต่อกัน เว้นแต่ในปีนั้นจะไม่มีเงินได้ การขายคืนหน่วยลงทุน ทำได้เมื่อผู้ลงทุนอายุไม่ต่ำกว่า 55 ปี และลงทุนมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี

 

                อย่างไรก็ตาม  หากผู้ลงทุนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข  ก็จะไม่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางด้านภาษี  และยังต้องคืนเงินภาษีที่ได้รับการยกเว้นไปด้วย  โดยหากเป้น LTF  ต้องคืนเงินภาษีย้อนหลัง 5 ปี  แต่หากเป้น RMF  ต้องคืนเงินภาษีพร้อมเงินเพิ่มในอัตรา 1.5  ต่อเดือน  โดยนับตั้งแต่เดือนเมษายนของปีที่ผ็ลงทุนยื่นขอยกเว้นภาษี  จนถึงเดือนที่มีการยื่นคืนเงินภาษี  นอกจากนี้เงินที่ได้จากการขายคืนหน่วยลงทุนก็ต้องจ่ายภาษีของกไรส่วนเกินทุน (Capital Gain)  โดยนำกำไรที่ได้รับจากการขายคืนไปรวมเป็นเงินได้ของปีที่ขายคืนเพื่อเสียภาษีเงินได้  ด้วยเหตุนี้ก่อนตัดสินใจลงทุนกองทุนรวมประเภทนี้  ผู้ลงทุนควรพิจารณาให้ดีก่อนว่าสามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขได้หรือไม่

 

 

กลุ่มที่มีความเสี่ยงต่ำ ผลตอบแทนต่ำ ได้แก่

 

-          เงินฝากธนาคาร

-          ประกันชีวิต

เงินฝากธนาคาร

                ปัจจุบันยังถือเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำสุด เพราะรัฐบาลให้การประกันเงินฝากไว้  ดังนั้นผู้ฝากเงินจึงไม่ต้องกังวลว่าเงินต้นที่ฝากไว้จะสูญหายไปเพียงแต่ว่าผลตอบแทนที่ได้รับก็จะต่ำมากด้วยเช่นกัน  และในบางภาวะจะต่ำติดดินจนอาจเสี่ยงต่อการที่ค่าเงินสูญไปกับตัวเลขเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น  อย่างไรก็ตาม  นับจากเดือนสิงหาคม 2555 เป็นต้นไป  รัฐบาลจะลดความคุ้มครองลงเหลือเพียงให้การประกันเงินฝากที่ไม่เกิน 1 ล้านบาทต่อรายผู้ฝากต่อสถาบันการเงินแต่ละแห่ง  นั่นหมายความว่าเงินฝากที่เกิน 1 ล้านบาท  เป็นต้นไปอาจเสี่ยงต่อการสูญเงินต้นได้  หากสถาบันการเงินนั้นมีการบริหารจัดการไม่ดี

                ด้วยเหตุนี้การฝากเงินกับธนาคารจึงไม่ใช่ตัวเลือกที่ดีที่สุดสำหรับการลงทุนในอนาคต  หากแต่เป็นแหล่งพักเงินที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักลงทุนหน้าใหม่  ที่ยังมีประสบการณ์ไม่มากพอสำหรับการโยกย้ายเงินไปไว้ในแหล่งลงทุน  ที่จะให้ผลตอบแทนคุ้มค่าที่สุดในแต่ละช่วงโอกาสที่เหมาะสม

 

 

ประกันชีวิต

 

                ถือเป็นอีกรูปแบบหนึ่งของการลงทุนที่แม้จะไม่ได้ให้ผลตอบแทนที่งดงาม  แต่ให้ประโยชน์ในเรื่องของการประกันความเสี่ยง  ซึ่งมีหลากหลายประเภท  ขึ้นอยู่กับการประเมินของผู้ลงทุนว่าตนเองอาจมีความเสี่ยวงอะไรบ้าง  ก็ให้ซื้อรูปแบบประกันที่ตรงกับความต้องการของตน  เช่น  ประกันโรคร้าย  ประกันสุขภาพ ฯลฯ  นอกจากนี้ยังมีประกันชีวิตในรูปแบบการออมที่ผู้ลงทุนจะได้รับผลตอบแทนกลับ  ตลอดระยะเวลาการคุ้มครอง  หรือประกันชีวิตที่พ่วงการลงทุน  ซึ่งจะให้ผลตอบแทนเทียบเท่าการลงทุนในตลาดทุน  แต่ก็จะทำให้มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นด้วย เช่นกัน

                อย่างไรก็ตาม  การจัดประเภทความเสี่ยงข้างต้นเป็นเพียงการจัดกลุ่มคร่าวๆเท่านั้น  ซึ่งความเสี่ยงและผลตอบแทนของสินทรัพย์  และหลักทรัพย์แต่ละตัว  ยังขึ้นอยู่กับช่วงจังหวะเวลา  และคุณลักษณะเฉพาะของแต่ละช่องทางด้วย

 

 

 




Create Date : 04 พฤศจิกายน 2556
Last Update : 4 พฤศจิกายน 2556 16:17:48 น. 0 comments
Counter : 859 Pageviews.  
 
Name
* blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Opinion
*ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet

ผู้ประสบภัยจากความรัก
 
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed
Smember
ผู้ติดตามบล็อก : 4 คน [?]




[Add ผู้ประสบภัยจากความรัก's blog to your web]

 
pantip.com pantipmarket.com pantown.com