All Blog
บูรพา by ว.วินิจฉัยกุล รักทรหดกว่าจะสมหวังได้



บูรพา
ผู้เขียน: ว.วินิจฉัยกุล
สนพ. เพื่อนดี

คำโปรย

แคธรีนไม่เคยตระหนักมาก่อนเลยว่าอารมณ์ล้ำลึกบางอย่างเปรียบได้กับน้ำที่ค่อยๆไหลซึมขึ้นมาจากใต้ดิน

กว่าจะรู้ น้ำใสก็เต็มแอ่งในหัวใจเสียแล้ว

เธอไม่เคยรู้มาก่อนเลยว่า จัสติน คือความอบอุ่นใจเมื่ออยู่ใกล้...คือความรื่นรมย์ที่จะได้พูดคุยด้วย ได้ฟังเขาเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับบูรพา และท้ายสุดคือการรับรู้จนไม่มีความรู้สึกแปลกแยกว่าเขาคือชายผู้ซึ่งแตกต่างทั้งเชื้อชาติและศาสนา

ความรู้สึกที่ได้อ่าน

แปลกใจมาก ที่จริงเรื่องนี้น่าจะเป็นหนังสือคนอ่านเยอะ แต่กลับหาคนรีวิวน้อยมาก แอบงง ไม่เข้าใจเหมือนกัน

เรื่องนี้ถูกห่อหุ้มไว้หลายชั้นมากมายจนไม่รู้ว่าจะเริ่มแกะเปลือกไหนออกมาพูดก่อนดีค่ะ ถ้ารีวิวแบบมึนๆหน่อยก็ขออภัยด้วยเพราะแต่ละกลีบที่กระเทาะออกมาเชื่อมโยงกันไปหมด ถ้าพูดเรื่องนี้ก็ต้องกระโดดไปเรื่องนั้นแล้วย้อนกลับมาอะไรแบบนี้

ขอในส่วนเปลือกนอกสุดในความคิดของตัวเองนะคะ

"บูรพา" เห็นชื่อกับหน้าปกก็พอจะรู้ว่าเป็นนิยายอิงประวัติศาสตร์ เป็นช่วงประมาณรัชกาลที่ 4 และตรงกับอังกฤษในช่วงยุควิคตอเรียน ซึ่งแค่นึกก็ทึ่งแล้วเพราะนั่นหมายความว่าต้องทำการบ้านทางด้านประวัติศาสตร์มากมายแล้วเปรียบเทียบปีพ.ศ. (หรือร.ศ.ก็ว่ากันไป) กับค.ศ. ทั้งของประเทศไทยและประเทศอังกฤษ

วัฒนธรรมในสมัยนั้นหาข้อมูลไม่ใช่ง่ายๆ พูดไงดี ในแง่ประวัติศาสตร์ไทยถือว่าค่อนข้างผิดเพี้ยนไปไม่น้อยเพราะไม่ได้ต้องการบันทึกข้อเท็จจริง (คนเรียนประวัติศาสตร์น่าจะรู้) แปลว่าเอกสารต่างๆอาจจะนำมาจากชาวต่างชาติ ผสานกับชีวิตความเป็นอยู่ ซึ่งไม่ได้มีบันทึกเป็นลายลักษณ์ขนาดนั้น ต้องอาศัยเก็บตกเอาจากวรรณคดีเพื่อบอกวัฒนธรรม นี่เฉพาะที่สยาม ไม่รวมกับที่อังกฤษในยุควิคตอเรียน ที่ต้องสืบค้นข้อมูลมากมาย แค่นี้ก็ทึ่งสุดๆแล้วค่ะ

แต่ความน่าทึ่งนั่นก็ยังเป็นฉาบนอกในความรู้สึก เพราะสิ่งที่ลึกลงมาก็เพื่อจะบอก Setting ของเรื่องนี้เท่านั้นเอง แต่เพราะ Setting ที่ว่าทำให้เกิดปมขัดแย้งของตัวละครขึ้นมา

อยากได้ความขัดแย้งแบบไหนเรื่องนี้มีให้อุดมสุดๆโดยเฉพาะความขัดแย้งระหว่างตัวละครและสิ่งแวดล้อมคือสิ่งที่เห็นได้ชัด และถัดมาเมื่อขัดกับสิ่งแวดล้อมก็เจอความขัดแย้งในใจของตัวละครนั้นๆเอง และสิ่งที่ตัวละครฟันฝ่าความขัดแย้งทั้งสองมานับครึ่งค่อนชีวิตกว่าจะได้ครองคู่กันคือผลึกล้ำค่าของความรักของตัวละครทั้งสองที่บ่มเพาะจนกลายเป็นที่ประทับใจของคนอ่าน

และเป็นที่มาที่ยกความรักอมตะสุดคลาสสิคของเรื่องนี้ขึ้นมารีวิวค่ะ

หนิงชอบงานของ ว.วินิจฉัยกุลอยู่อย่างหนึ่ง คือ พล็อตและปมขัดแย้งนั้นไม่เคยถนอมน้ำใจตัวละครเลยสักนิด (ยกเว้นนิยายนิรภัย อันนั้นเจาะจง) และไอ้การไม่ถนอมที่ว่า คนอ่านรู้สึกจะขาดใจตายไปกับเรื่อง แต่พออ่านจบก็ประทับใจสุดๆเหมือนกัน

ต่อไปเป็นสปอยล์ ใครที่ยังไม่ได้อ่านก็ข้ามๆไปก็ได้นะคะ แต่ถึงจะรู้สปอยล์แต่ก็ไม่สู้ไปอ่านของจริงหรอกค่ะ (คือเตือนตามมารยาทน่ะ ^^")

ความรักของแคธรีนกับหม่อมเจ้าวิชชุประภาเป็นความรักต้องห้าม อลังการพอๆกับโรมิโอและจูเลียต หรือเผลอๆอาจจะยิ่งกว่าเพราะคู่นั้นแค่วงศ์ตระกูล แต่ของคู่นี้มีสยามและอังกฤษเป็นเดิมพัน ถ้าพลาดพลั้งนั่นแปลว่าน้ำผึ้งหยดเดียวแท้ๆ

ความลุ่มหลงในวัยเยาว์ร้อนแรง และต้องห้ามทั้งจารีตของไทยและของอังกฤษ นั่นคือการแย่งหญิงที่เป็นภรรยาจากสามี แต่ยิ่งถูกกีดกันเท่าไรก็ยิ่งโหยหาเท่านั้น จนสุดท้ายก็ได้ครองคู่กัน

ทั้งที่มันควรจะจบลงเหมือนซินเดอเรลล่า แต่มันเป็นแค่จุดเริ่มต้นของเหตุการณ์ทั้งหมด เรื่องดำเนินผ่านมุมมองของแคธรีน จากปมขัดแย้งต่อสิ่งแวดล้อม ต่อมาก็เริ่มขัดแย้งกับสามีจนกระทั่งเกิดขัดแย้งในตัวเองจนกระทั่งตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้เห็นความคิดที่ไปด้วยกันไม่ได้ของสิ่งที่หลอมรวมตัวละครขึ้นมาอย่างเห็นได้ชัด บอกไม่ได้ว่าใครผิดใครถูก แต่มันไปด้วยกันไม่ได้เพียงเพราะคำว่า "แหม่มเป็นแหม่ม" เท่านั้นเอง

เพราะฉะนั้นก็เลยเกิดประโยคแสดงความรู้สึกของนางเอกที่มีต่อเหตุการณ์ทั้งหมดเอาไว้

"ขอให้ฉันจากคุณไปในขณะที่ความรักยังดำรงอยู่เต็มหัวใจ อย่าให้ฉันต้องอยู่กับคุณจนความรักแปรเป็นความชิงชังเพียงด้านเดียว อย่างที่มันจะต้องเกิดขึ้นในอนาคต หากว่าคุณยังฉุดรั้งฉันเอาไว้ บังคับให้ฉันอยู่ในสภาพหญิงเดียวในหัวใจของคุณ แต่เป็นคนนอกครอบครัวของคุณตลอดกาล"

จนกระทั่งเข้าสู่ช่วงปลายของชีวิต เชื่อได้เลยว่าไม่มีวันที่นักเขียนในขณะนี้จะเขียนได้ เป็นเรื่องที่ต้องผ่านประสบการณ์ชีวิตมาจนเข้าใจโลกทีเดียว (เหมือนคนเขียนอายุ 35 ไปเขียนเรื่องคนความ 50 กว่ามันย่อมยากอยู่แล้ว ดังนั้นก็ต้อง ว.วินิจฉัยกุลหรือนักเขียนเก๋าๆนี่แหละ ถึงจะทำให้เราได้มีโอกาสอ่านงานแบบนี้)

หนิงไม่รู้ว่าวัยกลางคนเป็นยังไง แต่หนิงก็สังเกตเห็นเหมือนกัน น่าแปลกที่ว่าในวัยรุ่นเราแคร์สังคมน้อยเหลือเกิน อยากทำอะไรก็ได้ตามใจเมื่อโตขึ้นยิ่งผ่านประสบการณ์มากขึ้น เราก็เติบโตขึ้น แต่ก็เหมือนประชดที่ในบางเรื่องเรากลับถอยหลังเป็นเด็ก เกรงนั่นกลัวนี่ ห่วงสังคม ห่วงหน้าตา กลัวคำครหา ห่วงไปหมดจนไม่อาจเป็นตัวของตัวเองได้อีก หนิงในตอนนี้ไม่อาจเข้าใจได้ว่าทำไมผู้ใหญ่ถึงเป็นเช่นนั้น ในเรื่องนี้ไม่ได้บอกเหตุผลแต่ตัวละครเป็นอย่างนั้นจริงๆทั้งผู้ใหญ่ฝ่ายอังกฤษและฝ่ายสยาม

ดูจากเหตุผลการกระทำของตัวละคร ให้ตายยังไงหนิงก็นึกไม่ออกว่าทั้งคู่จะลงเอยกันที่ไหนได้ วัฒนธรรมที่แตกต่างเป็นเรื่องใหญ่ที่เป็นกำแพงกั้นขวางคนทั้งคู่อยู่ หนิงทึ่งตรงที่สุดท้ายว.วินิจฉัยกุลก็ทำให้มันกลายเป็นแฮปปี้เอ็นดิ้งจนได้

จริงๆมีจุดที่หนิงไม่ค่อยชอบนิดหน่อยของเรื่องนี้ นั่นคือ คนเขียนมีคำตอบให้กับความรักของคนทั้งคู่มากเกินไป (ซึ่งจริงๆมันอาจจะโอเคสำหรับบางคน แต่โดยส่วนตัวหนิงไม่ค่อยชอบ) เหตุผลเหล่านั้นจะออกมาในรูปแบบความคิดเห็นต่อความรักของคนคู่นี้ที่อยู่รอบๆตัว มันช่วยให้คนอ่านเข้าใจเนื้อเรื่องง่ายขึ้น ในขณะที่หนิงชอบที่จะรู้เหตุผลด้วยตัวเองมากกว่ามีใครบอกให้ฟังน่ะค่ะเพราะนั่นหมายความว่าคนอ่านจะถูกจำกัดทางความคิด เขาอาจจะมีมุมมองความรักของตัวละครในรูปแบบอื่น แต่พอบอกแล้วก็เลย อ้อ...โอเคแล้วก็ไม่คิดต่อเอาดื้อๆ

มาที่จุดเล็กๆแต่อยากจะยกขึ้นมาพูดบ้าง ชีวิตของตัวละครแต่ละคนในนี้มันช่วยให้ตั้งคำถามว่าแท้จริงแล้วแบบแผนประเพณีที่คอยจำกัดคนอยู่มันทำให้เรามีความสุขจริงๆหรือ

จริงๆประเด็นนี้มีตัวละครเปรียบเทียบให้เห็นหลายตัว แต่หนิงขอยกตัวอย่างที่ชัดๆก็แล้วกันค่ะ นั่นคือ ตัวละครหญิง ที่เปรียบเทียบกันได้ดีมากๆก็มีอยู่สามตัว คนหนึ่งแคธรีน คนที่สองคือแม่บัว และคนสุดท้ายชาร์ล็อต

แคธรีน...เธอเลือกหันหลังให้ประเพณีแล้วสุดท้ายก็ถูกมันลงโทษเสียจนแทบแย่ ไม่ว่าหันไปทางไหนก็เจอแต่ความทุกข์ คำครหา

แม่บัว...คนที่ทำตามประเพณีทุกอย่าง แต่ชีวิตนี้เธอไม่เคยมีความสุขเลยจนกระทั่งบั้นปลายชีวิต

ชาร์ล็อต...ผู้หญิงที่ฝ่าฝืนจารีตแทบทุกอย่าง ไม่ยอมให้ผู้ชายที่เป็นคนตั้งต้นวัฒนธรรมทั้งหลายยัดใส่หัวผู้หญิงมาเหนี่ยวรั้งความสุขของตัวเองเอาไว้ได้ ผู้หญิงคนเดียวในเรื่องที่ดูจะมีความสุขในชีวิตที่สุด

ประเด็นนี้ก็น่าสนใจเลยหยิบยกมาให้คิดดูเล่นๆ

สำหรับหนิง "บูรพา" มีประเด็นอะไรน่าเล่นเยอะมาก เป็นหนังสือที่แนะนำให้อ่านสุดๆเล่มหนึ่งเลยค่ะ เพราะถ้าเทียบกับนิยายก่อนเรื่องนี้ของว.วินิจฉัยกุล เรื่องนี้เห็นชัดว่าคนเขียนก็บ่มความคิดจนตกผลึกออกมาเป็นความรักอมตะของแคธรีนและจัสตินที่ใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตเพื่อกลับมาครองรับกันอีกครั้งหนึ่ง

เป็นนิยายไทยที่ไม่ค่อยได้เห็นที่พูดถึงความรักลึกซึ้งของตัวละครถึงเพียงนี้ คือหลายเรื่องบอกว่าฉันรักเธอจนแก่ก็ยังรักเธอ แต่มันไม่ทรหดเท่าคู่นี้ ดังนั้นอุปสรรคให้ฝ่าเยอะเท่าไร ก็น่าประทับใจมากเท่านั้น พออ่านจนจบแล้วรู้สึกเป็นหนังสือจรรโลงใจมากๆค่ะ

ขอบคุณสำหรับงานดีๆเช่นนี้นะคะ



Create Date : 04 กุมภาพันธ์ 2553
Last Update : 4 กุมภาพันธ์ 2553 23:40:31 น.
Counter : 16264 Pageviews.

2 comments
  
เป็นเรื่องที่ชอบมากกกกกแต่อ่านได้รอบเดียวค่ะ
คือว่าทรมานจนทนไม่ไหวจริง ๆ ค่ะ
ประทับใจในความรักมั่นคงของทั้งคู่
แต่ปวดใจกับอุปสรรคที่พรากให้จากกันตั้งแต่ลูกยังอยู่ในท้องจนโตเป็นหนุ่ม โอ๋ย อ่านแล้วอยากตาย
จุดที่ชอบเรื่องนี้มากเป็นพิเศษ(ซึ่งก็เหมือนกับทุกผลงานของอาจารย์) คืออ่านแล้วเชื่อ ทั้งที่รู้ว่าเป็นเรื่องราวสมมติโดยเฉพาะตัวละคร แต่กลับเพ้อไปว่ามีเจ้าสายฟ้าจริง ๆ
ถึงจะปวดใจยังไงก็ชอบค่ะ
คิดว่าหายปวดมากกว่านี้อีกหน่อยคงหยิบมาอ่านอีกสักรอบ
โดย: รุ้งล้อมดาว วันที่: 5 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:18:41:22 น.
  
ยังดองอยู่เคยค่ะ ...ช่วงนี้แ้พ้ความหนาของหนังสือ .เลยหยิบแต่เล่มบางๆ มาอ่าน
โดย: นัทธ์ วันที่: 7 กุมภาพันธ์ 2553 เวลา:12:21:32 น.
ชื่อ : * blog นี้ comment ได้เฉพาะสมาชิก
Comment :
 *ส่วน comment ไม่สามารถใช้ javascript และ style sheet
 

peiNing
Location :
กรุงเทพ  Thailand

[ดู Profile ทั้งหมด]
 ฝากข้อความหลังไมค์
 Rss Feed
 Smember
 ผู้ติดตามบล็อก : 45 คน [?]



เป็นเด็กกรุงเทพแท้ๆ แต่อยู่บ้านนอกของกรุงเทพน่ะนะ ไม่ได้ชอบอะไรเป็นพิเศษนอกจากแกล้งสัตว์เลี้ยงที่บ้าน นั่นคือนกฮู้ผู้มีอายุ 10 ปีได้ (นกแก่มีหนวด) (แต่ตอนนี้ในที่สุดนกฮู้ก็จากไปอย่างสงบ ไม่รู้อายุรวมเท่าไรแต่มาอยู่ที่บ้านได้ 11 ปี ขอไว้อาลัยปู่ฮู้ ขอให้ไปสู่สุขคตินะ T^T)

ขอชี้แจงอีกอย่าง ชื่อ peiNing นี้ เป็นชื่อที่พี่กะน้องใช้ร่วมกันสองคน ดังนั้นอย่างงว่าเดี๋ยวก็แทนตัวว่ารุ้งบ้างหนิงบ้าง ก็มันคนละคนนิ (รุ้งน่ะคนพี่ หนิงน่ะคนน้อง)

FB สำหรับคนชอบงานเขียน peiNing ค่ะ

FB สำหรับคนชอบบทความสอนห้องเรียนนิยายค่ะ

  •  Bloggang.com