ความรู้ในโลกนี้เรียนรู้ได้ไม่สิ้นสุด
Group Blog
 
All blogs
 

ชวนชม " ขวดยานัตถุ์ "







วันนี้ไม่มีอะไรมาให้อ่านค่ะ
นอกจากนำ " ขวดยานัตถุ์ " สวยๆ ที่ถูกสร้างสรรค์จากช่างวาดฝีมือดีที่บรรจงวาด
วาดอย่างปราณีต สวยงาม มาให้ชมกัน สวยซะจนอยากจะได้ไว้ชื่นชมสักขวด
คิดเหมือนกันมั๊ยคะ













































*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของภาพประกอบ
- //www.e-yaji.com
- //www.ax-snuffbottle.com
- //www.antiquehelper.com
- //www.chinatoday.com.cn
- //www.luckywonders.com
- //www.alibaba.com
- //thai.cri.cn
- //www.manager.co.th




 

Create Date : 01 ตุลาคม 2550    
Last Update : 1 ตุลาคม 2550 23:10:23 น.
Counter : 3261 Pageviews.  

" ขวดยานัตถุ์ " คุณค่าที่มากกว่าแค่การสูดดม









ขวดยานัตถุ์จีน ที่มีประวัติอันยาวยานกว่า 600 ปี
มิได้เป็นเพียงขวดที่ใช้บรรจุยานัตถุ์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นขวดที่บรรจุความงดงามอ่อนช้อยของ ศิลปะแขนงต่างๆ อาทิ การวาดภาพ การเขียนอักษรพู่กันจีน การทำกระเบื้องเคลือบ การเจียระไนหยก เป็นต้น คุณค่าแห่งงานศิลป์บนขวดยานัตถุ์ ทำให้ขวดยานัตถุ์กลายเป็นของสะสมอย่างหนึ่งของ
ชนชั้นสูงในสังคมจีน ถึงขนาดว่าการนัตถุ์ยากลายเป็นเรื่องรองลงไป


ประวัติความเป็นมาของขวดยานัตถุ์


วัฒนธรรมการใช้ยานัตถุ์ แต่เดิมเริ่มมาจากการค้นพบยาสูบของชาวอินเดียนแดง ต่อมา ในราวคริสตศตวรรษที่ 14 ชาวอิตาเลียนได้ทำการคัดพันธุ์ใบยาสูบชั้นดี นำมาเข้าสมุนไพรหลายชนิด อาทิ สะระแหน่ การบูร เป็นต้น จากนั้นบดให้ละเอียด ปิดผนึกเก็บบ่มไว้เป็นเวลาหลายปี จึงใช้เป็นยานัตถุ์ที่นำออกจำหน่ายได้

ชาวจีนเริ่มใช้ยานัตถุ์ในสมัยราชวงศ์หมิง หรือประมาณ 600 กว่าปีที่แล้ว โดยระยะแรก การนำเข้ายานัตถุ์ยังมีจำนวนน้อยมาก มีใช้กันในพื้นที่จำกัดเพียงทางตอนใต้ของจีนแถบมณฑลกว่างตง ( กวางตุ้ง ) เท่านั้น ต่อเมื่อกษัตริย์คังซีแห่งราชวงศ์ชิง ( ค.ศ.1662 - 1723 ) เปิดน่านน้ำให้มีการค้าขายทางทะเล บรรดาหมอสอนศาสนาจากตะวันตกต่างก็พกพายานัตถุ์ที่บรรจุอยู่ในขวดแก้วสวยงามเข้ามาเป็นจำนวนมาก การนัตถุ์ยาจึงกลายเป็นที่นิยมขึ้นมา

นอกจากนี้ ขบวนเรือจากประเทศตะวันตกต่างก็ใช้ยานัตถุ์และขวดแก้วเป็น
‘ จิ้มก้อง ’ ถวายเข้าในวังหลวง เริ่มจากโปรตุเกตุ จากนั้นเป็นอังกฤษ ฝรั่งเศส ฯลฯ เมื่อถึงรัชสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ ( ค.ศ.1736 –1796 ) พระองค์ก็มักจะพระราชทานยานัตถุ์เป็นรางวัลแก่บรรดาเชื้อพระวงศ์และเหล่าขุนนางน้อยใหญ่ ที่ประกอบความดีความชอบเรื่อยมา ทำให้การนัตถุ์ยาเป็นที่นิยมแพร่หลายในสังคมจีน ยุคของจักรพรรดิกวางซู่เป็นยุคที่ศิลปะขวดยานัตถุ์เจริญสูงสุด

ขวดที่ทำขึ้นเพื่อบรรจุยานัตถุ์โดยเฉพาะ มักมีขนาดราวซองบุหรี่ เพื่อความสะดวกในการพกพา และขวดยานัตถุ์ที่เก่าแก่ที่สุด ที่หลงเหลือมาจนถึงทุกวันนี้ ก็ได้แก่ขวดยานัตถุ์ที่ทำจากทองแดง สลักเป็นลวดลายมังกรดั้นเมฆ จำนวน 20 กว่าชิ้น ซึ่งจัดทำโดย เฉินหรงจาง ในรัชสมัยซุ่นจื้อแห่งราชวงศ์ชิง หรือราว 360 ปีที่แล้ว

ในสมัยคังซีฮ่องเต้ พระองค์ก็ทรงพอพระทัยในศิลปะจากตะวันตกอย่างมาก ได้ทรงชุบเลี้ยงช่างทำขวดแก้วยานัตถุ์และช่างเคลือบชาวตะวันตกจำนวนหนึ่ง เพื่อให้จัดทำขวดยานัตถุ์ไว้ใช้ในวังหลวงโดยเฉพาะ

จนถึงสมัยเฉียนหลงฮ่องเต้ ศิลปะการทำขวดยานัตถุ์ก็รุ่งเรืองถึงขีดสุด การสะสมขวดยานัตถุ์กลายเป็นแฟชั่นในสังคม ขณะที่การนัตถุ์ยากลายเป็นเรื่องรองลงไป จึงมีการนำศิลปวิทยาการทุกแขนงของจีนมาประยุกต์ใช้บนขวดยานัตถุ์ อาทิ การวาดภาพ การเขียนอักษรพู่กันจีน การทำกระเบื้องเคลือบ การเคลือบน้ำมันชักเงา การเจียระไนหยก การแกะสลักบนงาช้าง, นอแรด, ไม้ไผ่ การเลี่ยมเครื่องเงินเครื่องทอง การฝังมุก การปิดทอง เป็นต้น ในสมัยเฉียนหลง ขวดยานัตถุ์จึงกลายเป็นสิ่งบ่งบอกฐานะทางสังคมไป




ความพิเศษของงานฝีมือบนขวดยานัตถุ์จีน

แหล่งผลิตขวดยานัตถุ์ที่สำคัญของจีนอยู่ในเมืองจิ่งเต๋อเจิ้น มณฑลเจียงซี เมืองกว่างตง (กวางตุ้ง) ปักกิ่ง เขาป๋อซัน ในมณฑลซานตง เมืองหยังโจว และ เมืองซูโจว มณฑลเจียงซู เป็นต้น วัสดุที่นำมาใช้ทำขวดยานัตถุ์ ได้แก่ เครื่องกระเบื้อง, กระจกแก้ว, หยก, หินโมรา, คริสตัล, มรกต, อำพัน, เครื่องเคลือบสลัก, งาช้าง, ทองแดง เป็นต้น

นอกจากนี้ รูปลักษณ์ยังมีตั้งแต่ที่เป็นขวดแบนธรรมดา จนถึง รูปสัตว์ รูปคน รูปผักผลไม้ รูปดอกบัวตูม เป็นต้น ส่วนภาพที่ใช้ตกแต่งก็ได้แก่ ภาพทิวทัศน์,ธรรมชาติ, คน, สัตว์, อักษรลายพู่กัน, ดอกไม้, เรื่องราวทางประวัติศาสตร์, ตำนานเรื่องเล่า, ตลอดจนเรื่องราวจากอุปกรจีน เป็นต้น


จุดกำเนิดการวาดภาพในขวดยานัตถุ์

เดิมทีขวดยานัตถุ์จากยุโรปเป็นขวดแก้วธรรมดาๆ เล่ากันว่า วันหนึ่ง ขุนนางจีนคนหนึ่งเกิดอยากยานัตถุ์ขึ้นมา แต่ยาในขวดหมดพอดี เขาจึงเอาไม้เล็กๆ เข้าไปคุ้ยเขี่ยยาในขวด จนได้ยาจำนวนหนึ่งพอสูดแก้ขัดได้ แต่สิ่งที่ทำให้เขาทึ่งก็คือ เส้นสายที่เกิดจากการที่เขาใช้ไม้เข้าไปขูดเอายาในขวด ปรากฏเป็นลวดลายแปลกตามาก

กล่าวกันว่า นี่เป็นจุดเริ่มต้นของศิลปะการวาดภาพในขวดยานัดถุ์ ซึ่งเป็นศิลปะ
ของจีนเองไม่เกี่ยวกับฝรั่ง และความน่าทึ่งอยู่ตรงที่ว่า ขวดยานัตถุ์มีปากนิดเดียว พื้นที่ขวดก็ไม่เกิน 7X5 ซม. แต่ทำไมจึงสามารถเขียนภาพที่มีทั้งรายละเอียดและประณีตคมชัดได้ราวกับวาดบนกระดาษ

คำตอบก็คือ เขาจะเหลาไม้ไผ่ให้เรียวเล็กกว่าก้านไม้ขีด ดัดให้งอ ส่วนปลายทำให้เล็กและแหลมเป็นพิเศษคล้ายตะขอ ใช้จุ่มสี แล้วบรรจงสอดเข้าไปวาดที่ผิวด้านในของขวด

ศิลปินขวดยานัตถุ์ของจีนแบ่งออกได้เป็น 3 สำนัก แต่ละสำนักมีจุดเด่นของตัวเอง ตัวอย่างเช่น สำนักหลู่ นิยมวาดภาพตัวละครในนวนิยาย ในสำนักนี้มีผลงานชิ้นหนึ่งที่เลื่องลือมาก คนวาดสามารถเอาตัวละครทั้ง 108 คนในนวนิยายคลาสสิคเรื่อง "สุยหู่จ้วน" หรือ "ซ้องกั๋ง" บรรจุลงในขวดยานัตถุ์เล็กนิดเดียวได้อย่างไม่น่าเชื่อ

ปัจจุบัน ขวดยานัตถุ์ได้สูญเสียหน้าที่ดั้งเดิมของมันเสียแล้ว กลายเป็นงานศิลปะล้ำค่าที่นิยมสะสมกันในหมู่ผู้ดีชาวจีน แต่ใครไปเที่ยวเมืองจีนเวลานี้ จะยังเห็นขวดยานัตถุ์สวยๆ วางขายเต็มไปหมด สนนราคาก็ไม่แพง ความมหัศจรรย์ของมันทำให้นักท่องเที่ยวพากันซื้อไปเป็นที่ระลึก

คราวนี้จะพาไปดูวิธีการวาดภาพในขวดยานัตถุ์กันว่าเป็นอย่างไร



อุปกรณ์ที่ใช้วาดภาพ








*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ 27 พฤษภาคม 2547
- //thai.cri.cn/1/2007/01/10/21@89209.htm
- //www.ax-snuffbottle.com/dowork/dhdowork/dowork.htm




 

Create Date : 30 กันยายน 2550    
Last Update : 30 กันยายน 2550 23:57:28 น.
Counter : 4602 Pageviews.  

ภาพการไหว้พระจันทร์ในวันวาน







15 ค่ำ เดือน 8 ตามปฏิทินจันทรคติ เป็นเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ตามประเพณีของชาวจีน ซึ่งเรียกว่า " จงชิวเจี๋ย " แปลว่า " กลางเดือนแปด " ดังนั้น บ้างก็เรียกเทศกาลนี้ว่า เทศกาลกลางเดือนแปด บ้างเรียกว่า เทศกาลเดือนแปด

สำหรับปีนี้ ตรงกับวันที่ 25 กันยายน ด้วยเหตุจันทร์เพ็ญกลางฤดูใบไม้ผลิ จะเป็นดวงจันทร์สว่างและกลมมาก ผู้คนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ความกลมเกลียว ดังนั้น บางทีก็เรียกเทศกาลนี้ ว่า " เทศกาลแห่งความกลมเกลียว " หรือ เทศกาลรวมญาติของชาวจีนด้วย

ในคืนวันไหว้พระจันทร์ตามประเพณีนั้น ทุกคนในครอบครัวจะมาอยู่ร่วมกันเพื่อชมความงามของดวงจันทร์และกินขนมไหว้พระจันทร์ด้วยกัน ซึ่งยังคงมีการปฏิบัติสืบทอดมาจนถึงทุกวันนี้ นับตั้งแต่มีการสถาปนาจีนใหม่โดยพรรคคอมมิวนิสต์เมื่อปี ค.ศ. 1949 รูปแบบการฉลองวันไหว้พระจันทร์ก็เปลี่ยนแปลงไปอย่างมากมาย แต่กระนั้นสิ่งหนึ่งของเทศกาลไหว้พระจันทร์ที่ไม่เคยเปลี่ยน นั่นก็คือ ความรู้สึกกลมเกลียวกันของคนในครอบครัว

วันนี้จะพาทุกคนย้อนกลับไปดูบรรยากาศการไหว้พระจันทร์ของประเทศจีนในอดีตว่าเป็นอย่างไร ไปดูกันเลย



การฉลองเทศกาลวันไหว้พระจันทร์ ของครอบครัว กัวหยู่ ชาวประมงอายุ 81 ปี พร้อมกับลูกหลาน 4 รุ่น จำนวน 55 คน ในทศวรรษที่ 1950





ภาพก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์เดือนกันยายน ปี 1961 พนักงานร้านทำขนมไหว้พระจันทร์ในเหวินซี มณฑลซานซี กำลังช่วยกันบรรจุหีบห่อขนมไหว้พระจันทร์ เพื่อเตรียมจำหน่าย




บรรยากาศเทศกาลไหว้พระจันทร์ในปี 1963 มณฑลซานซี อำเภอยหยุนเฉิงพนักงานขายขนมไหว้พระจันทร์ให้กับประชาชนจำนวนมากในหมู่บ้าน




บรรยากาศก่อนวันไหว้พระจันทร์ ในเซี่ยงไฮ้ ปี 1963




โฉมหน้าขนมไหว้พระจันทร์ "ปาจิ่ง" 《八景》ของปักกิ่ง เมื่อปี 1985 บนขนมไหว้พระจันทร์แต่ละชิ้นมีคำว่า "Beijing" (ปักกิ่ง) และรูปทิวทัศน์




บรรยากาศก่อนวันไหว้พระจันทร์ ที่ร้านแห่งหนึ่งในมณฑลกวางตุ้ง ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 พนักงานกำลังเตรียมการจัดส่งขนมไหว้พระจันทร์ทางไปรษณีย์ให้กับลูกค้าชาวจีนโพ้นทะเลที่อยู่ไกลบ้านเกิด ในภาพชายแซ่จางกำลังส่งขนมไหว้พระจันทร์สูตรท้องถิ่นกวางตุ้งให้แก่ญาติในไทเป


*** ขอขอบคุณที่มาของข้อมูล, บทความ และ ภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์ วันที่ 25 กันยายน 2550




 

Create Date : 26 กันยายน 2550    
Last Update : 26 กันยายน 2550 23:00:47 น.
Counter : 964 Pageviews.  

เรื่องเล่าวันไหว้พระจันทร์









เพิ่งจะผ่านวันไหว้พระจันทร์กันไปเมื่อคืนวานนี้เอง หลายคนยังไม่รู้ว่า
การไหว้พระจันทร์มีความเป็นมาอย่างไร คืนนี้เลยจะขอนำเสนอที่มาของ
วันไหว้พระจันทร์ตามที่ไปค้นมาได้ให้ทราบกันพอสังเขปนะคะ

เทศกาลไหว้พระจันทร์เป็นเทศกาลที่มีความสำคัญเป็นอันดับสอง รองจากเทศกาลตรุษจีน มีความเกี่ยวข้องกับตำนานเรื่องดวงจันทร์ของชาวจีนอย่างแนบแน่น โดยเฉพาะเรื่อง “ ฉังเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์ ” ถือว่าเป็นเรื่องที่มีชื่อเสียงรู้จักกันมาก

ตำนาน “ฉังเอ๋อเหินสู่ดวงจันทร์” ปรากฏเป็นครั้งแรก ในยุคต้นของสมัยจั้นกว๋อ ( ยุคสงคราม 475 – 221 ก่อนคริสต์ศักราช) เป็นเรื่องราวของฉังเอ๋อที่กินยาอายุวัฒนะของเจ้าแม่ซีหวังหมู่ แล้วกลายเป็นเทพธิดาอมตะแห่งดวงจันทร์ เรื่องราวเกี่ยวกับฉังเอ๋อผู้นี้ ได้ถูกแต่งเติมรายละเอียดออกไปอีกในราชวงศ์ต่อมา

ตำนานเรื่อง “ เทพธิดาแห่งดวงจันทร์ ” มีว่า เมื่อครั้งโบราณกาล โลกเรามีดวงอาทิตย์อยู่ถึง 10 ดวง นำมาซึ่งภัยพิบัติแก่โลกมนุษย์ ทุกหย่อมหญ้าร้อนระอุเป็นแผ่นดินเพลิง ส่วนที่เป็นน้ำก็เหือดแห้ง ส่วนที่เป็นภูเขาก็ถล่มแผ่นดินแยก ต้นไม้ใบหญ้าแห้งกรอบ ผู้คนไม่มีที่หลบซ่อนอาศัย

ในครั้งนั้น ได้ปรากฏวีรบุรุษนามว่า “ โฮ่วอี้ ” เป็นผู้ที่มีฝีมือในการยิงธนูได้แม่นยำอย่างอัศจรรย์ เขายิงธนูขึ้นสู่ฟ้าเพียงดอกเดียวก็ยิงถูกดวงอาทิตย์ถึง 9 ดวง ทำให้เหลืออยู่เพียงดวงเดียว ถือเป็นการขจัดทุกเข็ญให้กับบรรดาประชาราษฎร์ ผู้คนจึงพากันยกย่องให้เขาเป็นกษัตริย์

ทว่า พอเขาได้ขึ้นเป็นกษัตริย์ กลับลุ่มหลงในสุราและนารี ฆ่าฟันผู้คนตามอำเภอใจกลายเป็นทรราชย์ ราษฎรล้วนแต่โกรธแค้นและชิงชังเขาเป็นที่สุด โฮ่วอี้รู้ตัวว่าคงจะอยู่เป็นสุขเช่นนี้ไปได้อีกไม่นาน จึงเดินทางไปที่ภูเขาคุนหลุน ( คุนลุ้น ) เพื่อขอยาอายุวัฒนะจากเจ้าแม่หวังหมู่มากิน

แต่ฉังเอ๋อ ภรรยาของเขากลัวว่า ถ้าสามีของเธอมีอายุยืนนานโดยไม่มีวันตายเช่นนี้ อาจจะนำความเดือดร้อนมาสู่ราษฎรเป็นแน่ คิดดังนี้แล้วเธอจึงตัดสินใจแอบนำยาอายุวัฒนะนั้นมากินเสียเอง แต่พอกินเข้าไป ร่างของเธอก็เบาหวิว แล้วก็ลอยขึ้นไปสู่ดวงจันทร์ นับแต่นั้นมาบนดวงจันทร์ก็ปรากฏภาพเทพธิดาที่เชื่อกันว่าเป็นฉังเอ๋อ นี้เอง




จากหนังสือบันทึกโบราณ " โจวหลี่ " ระบุว่า พิธีเซ่นไหว้พระจันทร์ทั่วทั้งประเทศนั้น เริ่มขึ้นในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งที่มาของพิธีในเทศกาลนี้มีส่วนเกี่ยวเนื่องกับตำนานความฝันของกษัตริย์ " ถังหมิงหวง " เสด็จประพาสพระราชวังบนดวงจันทร์ เรื่องเล่ามีอยู่ว่า

ในกลางดึกของคืนเดือนเพ็ญ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 กษัตริย์ถังหมิงหวงทรงพระสุบินว่า พระองค์ได้ลอยขึ้นไปเที่ยวชมพระราชวังบนดวงจันทร์ และได้พบเทพธิดาบนดวงจันทร์กำลังร่ายรำอยู่อย่างงดงาม ในฝันนั้น พระองค์ทรงเพลิดเพลินและเกษมสำราญเป็นอย่างยิ่ง กระทั่งเมื่อตื่นพระบรรทมและทรงโปรดให้ฝันนั้นเป็นความจริง จึงมีรับสั่งให้นางสนมแต่งตัวและร่ายรำเลียนแบบเทพธิดาในฝัน

ตั้งแต่นั้นมาทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 พระองค์ก็รับสั่งให้จัดเครื่องเซ่นไหว้พระจันทร์ และทอดพระเนตรความงามของพระจันทร์ไปพร้อมกับการร่ายรำของนางสนม

ประเพณีปฏิบัติเช่นนี้ ภายหลังได้แพร่หลายไปทั่วประเทศ และเป็นเทศกาลที่มีความสำคัญเทียบเท่ากับ เทศกาลตรุษจีน และเทศกาลไหว้ขนมจ้าง ( ขนมบ๊ะจ่าง )





ขนมไหว้พระจันทร์



เทศกาลไหว้พระจันทร์ มีเครื่องเซ่นไหว้เป็นขนมเปี๊ยะ เช่นเดียวกับเทศกาลอื่นๆที่มีสัญลักษณ์ต่างๆ กันไป เช่น เทศกาลไหว้ขนมจ้าง ก็มีขนมบ๊ะจ่าง, เทศกาลหยวนเซียว (เทศกาลโคมไฟ) ก็มีขนมสาคูต้ม (ทางหยวน)

ขนมไหว้พระจันทร์ เรียกในภาษาจีนว่า “ เย่ว์ปิ่ง ” “ เย่ว์ ” แปลว่า พระจันทร์ “ ปิ่ง ” แปลว่า ขนมเปี๊ยะ เป็นสัญลักษณ์แห่งความเป็นศิริมงคล ความปรารถนาดีต่อกัน และความสมัครสมานสามัคคี เพราะในเทศกาลนี้คนในครอบครัวจะมาอยู่พร้อมหน้ากัน กินขนมไปพลาง ชมพระจันทร์ไปพลาง

เดิมทีนั้น เย่ว์ปิ่ง เรียกว่า “ หูปิ่ง ” ซึ่งแปลว่า ขนมเปี๊ยะวอลนัท ซึ่งเป็นขนมแป้งอบของจีนทำมาจากงาและวอลนัท ชื่อ “ หูปิ่ง ” ภายหลังเปลี่ยนมาเป็น“ เย่ว์ปิ่ง ” ก็มีเรื่องเล่าเช่นกันว่า

ในคืนวันไหว้พระจันทร์ปีหนึ่ง พระเจ้าถังเสวียนจงปรารภขึ้นว่า ชื่อ “หูปิ่ง” ไม่ไพเราะ ขณะนั้นหยางกุ้ยเฟยสนมเอกของพระองค์ ซึ่งนั่งชมจันทร์อย่างเพลิดเพลินอยู่ข้างๆ ก็เปรยขึ้นมาว่า “เย่ว์ปิ่ง” ที่แปลว่า ขนมเปี๊ยะพระจันทร์ ตั้งแต่นั้นมาจึงใช้ชื่อนี้เรียกแทน“หูปิ่ง” เรื่อยมา




ตำนานของขนมไหว้พระจันทร์ ก็มีเรื่องเล่าที่เกี่ยวโยงกับพงศาวดารจีนอยู่ด้วย กล่าวคือ เมื่อประมาณ 600 ปีก่อน เล่ากันว่า เจงกิสข่านแห่งมองโกลเข้ายึดครองแผ่นดินใหญ่และปกครองชาวจีนอย่างเข้มงวด ชาวจีนกลุ่มหนึ่งจึงรวมตัวกันก่อตั้งขบวนการใต้ดินเพื่อทำการก่อกบฏ

พวกเขาคิดอุบายโดยอาศัยงานวันไหว้พระจันทร์ ซึ่งจะมีการทำขนมเปี๊ยะขนาดใหญ่มีไส้หนา ภายในขนมได้ซ่อนจดหมายนัดแนะกันกำจัดพวกมองโกล กำหนดเวลาเที่ยงคืนของวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 เป็นคืนก่อการ แล้วแจกจ่ายไปในหมู่ผู้ก่อการกบฏ ทำทีว่าเป็นการนำขนมไปแจกในหมู่ญาติสนิทมิตรสหาย เมื่อถึงเวลาก็ตีเกราะเคาะร้องบอกกัน ให้ลงมือสังหารชาวมองโกลทันที

ภายหลังเมื่อชาวจีนได้เอกราชคืน ได้ถือเอา วันเพ็ญเดือนแปด เป็นวันไหว้พระจันทร์เรื่อยมา และนำขนมเปี๊ยะนี้มาไหว้พระจันทร์อีกด้วย เพราะถือเป็นสัญลักษณ์แห่งมิตรภาพและความสามัคคีร่วมกัน



ขนมไหว้พระจันทร์มีลวดลายหลายรูปทรง รวมถึงไส้ขนมที่แตกต่างกันไป


ขนมไหว้พระจันทร์รสเลิศของประเพณีจีน ซึ่งในยุคหลังๆ มานี้ ชาวจีนนิยมให้เป็นของขวัญระหว่างครอบครัวและเพื่อนฝูงในเทศกาลไหว้พระจันทร์ จนมีบทบาทสำคัญในการรักษาความสัมพันธ์ทางธุรกิจและที่ทำงานในสังคมจีนยุคใหม่ไปแล้ว

ก่อนเทศกาลไหว้พระจันทร์ หรือที่ชาวจีนเรียกว่า เทศกาลใบไม้ร่วง(中秋节)ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 8 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันนี้ (25 ก.ย.) พื้นที่เคานท์เตอร์ต้อนรับในอาคารสำนักงานเกือบทุกแห่งของจีน เต็มไปด้วยกล่องขนมไหว้พระจันทร์

เทศกาลตามประเพณีเก่าแก่นี้ ดูจะกลายเป็น “เทศกาลคริสต์มาส”ของชาวจีน ด้วยจำนวนการให้และรับของขวัญสูงกว่าเทศกาลอื่นๆ บางบริษัทในปักกิ่ง มีการส่งของขวัญให้ลูกค้าในช่วงเทศกาลไหว้พระจันทร์มากกว่าที่ส่งให้ในช่วงเทศกาลตรุษจีนด้วยซ้ำ

หลินเจียน นักเขียนรับเชิญของเว็บไซต์นิตยสารไฟแนนเชียล ไทมส์ ภาคภาษาจีน กล่าวว่า การส่งขนมไหว้ให้แก่กันเป็นเพียงการสื่อความต้องการรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ “จำนวนขนมไหว้พระจันทร์ที่บุคคลหนึ่งได้รับ จะเป็นตัววัดคุณค่าในตัวบุคคลนั้น” หลินระบุ

เมื่อปีที่แล้ว (2006) มีการผลิตขนมไหว้พระจันทร์ในจีนราว 25,000 ตัน ทำรายได้ทะลุ 11,000 ล้านหยวน(ราว 55,000 ล้านบาท)


*** ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาของข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์
วันที่ 17 กันยายน 2546 และ วันที่ 25 กันยายน 2550





 

Create Date : 26 กันยายน 2550    
Last Update : 26 กันยายน 2550 22:40:47 น.
Counter : 692 Pageviews.  

วันสารทจีน







วันนี้เป็นวันสารทจีนหรือเทศกาล ‘จงหยวนเจี๋ย’
ซึ่งตรงขึ้น 15 ค่ำเดือน 7 ตามปฏิทินจันทรคติหรือปฏิทินจีน
ถือเป็นเทศกาลใหญ่ที่สุดตามประเพณีจีน
ที่จัดขึ้นเพื่อเหล่าวิญญาณทั้งหลายเลยก็ว่าได้ !!

ตามประเพณีความเชื่อทางจันทรคติ เดือน 7 ถือเป็น ‘เดือนปล่อยผี’
หรือจะเรียกว่าเป็น วันฮาโลวีนของจีน ก็น่าจะได้ เป็นวันสำคัญที่ลูกหลาน
จะได้แสดงความกตัญญูต่อบรรพบุรุษด้วยการเซ่นไหว้
และยังถือว่าเป็นเดือนที่ประตูนรกเปิดออก
ให้เหล่าวิญญาณทั้งหลายมารับกุศลผลบุญได้
เพราะใน 1 ปี มีแค่เดือนนี้ที่ท่านพญายมใจดียอมเปิดประตูนรก
ให้เหล่าผีสางได้ออกมาเที่ยวยังโลกมนุษย์ได้

ดังนั้น ญาติพี่น้องลูกหลานที่ยังมีชีวิตอยู่บนโลกมนุษย์
จึงตระเตรียมอาหารนานาชนิดไว้เพื่อเลี้ยงต้อนรับ ‘วันหยุด’
ของเหล่าภูตผีทั้งหลายให้ได้สำเริงสำราญตลอด 1 เดือน

ไหว้สารทจีน

จึงเชื่อกันว่า วันนี้เป็นวันที่ประตูผีเปิดกว้างที่สุด
เพื่อเปิดโอกาสให้ดวงวิญญาณที่ล่องลอยในโลกอื่น
ได้กลับมาเยี่ยมบ้าน และรับประทานอาหารอร่อยๆ
โดยแต่ละบ้านจะเตรียมเครื่องเซ่นไหว้ไว้อย่างพร้อมสรรพ
ทั้งสำรับคาวหวาน ธูป เทียน กระดาษเงิน กระดาษทอง ฯลฯ
เพื่อกราบไหว้ญาติพี่น้องและบรรพบุรุษที่มาจากยมโลก
โดยเฉพาะถ้าเป็นบ้านที่เพิ่งมีผู้ล่วงลับ
จะมีธรรมเนียมไปทำพิธีบูชาที่หลุมฝังศพด้วย

ชาวจีนยังมีความเชื่อว่า หลังจากที่คนสิ้นลมแล้ว
ก็จะกลายเป็นวิญญาณ พเนจรล่องลอยไปทั้งนรกสวรรค์
จุดประสงค์หนึ่งของวันสารทจีนก็เพื่อเซ่นไหว้ ‘พวกผีไร้ญาติ’
ให้พวกเค้าได้รับรู้ถึงความอบอุ่นและมิตรไมตรีของเหล่ามนุษย์
ถือเป็นประเพณีที่สืบทอดกันมาหลายชั่วอายุคน

ของไหว้
เครื่องเซ่นไหว้

มีตำนานกล่าวถึงที่มาของการไหว้วันสารทจีนอยู่ 2 บทด้วยกัน คือ

ตำนานที่ 1
ตำนานนี้กล่าวไว้ว่าวันสารทจีนเป็นวันที่"เหงี่ยมหล่ออ๊วง (พญามัจจุราช)"
จะตรวจดูบัญชีวิญญาณคนตาย ส่งวิญญาณดีขึ้นสวรรค์
และส่งวิญญาณร้ายลงนรก
ชาวจีนทั้งหลายรู้สึกสงสารวิญญาณร้าย จึงทำบุญอุทิศส่วนกุศลให้
เพื่อที่ว่าจะได้ไม่ต้องทนทุกข์ทรมานเพราะหิวโหยอดอยาก
ดังนั้นเพื่อให้วิญญาณร้ายออกมารับกุศลผลบุญนี้
จึงต้องมีการเปิดประตูนรกนั่นเอง

ตำนานที่ 2
มีชายหนุ่มผู้หนึ่งมีนามว่า “มู่เหลียน”
เป็นคนเคร่งครัดในพุทธศาสนามาก ผิดกับมารดาของเขา
ที่เป็นคนใจบาปหยาบช้าไม่เคยเชื่อว่านรก-สวรรค์มีจริง

ปีหนึ่งในช่วงเทศกาลกินเจ
นางเกิดความหมั่นไส้คนที่นุ่งขาวห่มขาวถือศีลกินเจ
นางจึงให้มู่เหลียนไปเชิญผู้ถือศีลกินเจเหล่านั้น
มากินอาหารที่บ้านโดยนางจะทำอาหารเลี้ยงหนึ่งมื้อ
ผู้ถือศีลกินเจต่างพลอยยินดีที่ทราบข่าวว่า
มารดาของมู่เหลียนเกิดศรัทธาในบุญกุศลครั้งนี้
จึงพากันมากินอาหารที่บ้านของมู่เหลียน
แต่หารู้ไม่ว่าในน้ำแกงเจนั้น มีน้ำมันหมูเจือปนอยู่ด้วย

การกระทำของมารดามู่เหลียนนั้นถือว่าเป็นกรรมหนัก
เมื่อตายไปจึงตกนรกอเวจีมหานรกขุมที่ 8
ซึ่งเป็นนรกขุมลึกที่สุด ได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัส
เมื่อมู่เหลียนคิดถึงมารดาก็ได้ถอดกายทิพย์ลงไปในนรกภูมิ
จึงได้รู้ว่ามารดาของตนกำลังอดอยาก จึงป้อนอาหารแก่มารดา
แต่ได้ถูกบรรดาภูตผีที่อดอยากรุมแย่งไปกินหมด
และเม็ดข้าวสุกที่ป้อนนั้นกลับเป็นไฟเผาไหม้ริมฝีปากของมารดาจนพอง
ด้วยความกตัญญูและสงสารมารดาที่ได้รับความทุกข์ทรมานอย่างสาหัส
มู่เหลียนได้ทูลขอต่อ "เหงี่ยมหล่ออ๊วง (พญามัจจุราช)"
ว่า ตนนั้นขอเป็นผู้รับโทษแทนมารดาทั้งหมด

แต่ก่อนที่มู่เหลียนจะถูกลงโทษ ด้วยการนำร่างลงไปต้มในกระทะทองแดง
พระพุทธเจ้าได้เสด็จลงมาโปรดไว้ได้ทัน โดยกล่าวว่า
กรรมใดใครก่อก็ย่อมจะเป็นกรรมของผู้นั้น
และพระพุทธเจ้าได้มอบคัมภีร์ "อิ๋ว หลัน เผิน"
ให้มู่เหลียนท่องเพื่อเชิญเซียนทุกสารทิศมาช่วยมารดาให้หลุดพ้น
จากการอดอยากและทุกข์ทรมานต่างๆ ได้
โดยที่มู่เหลียนจะต้องสวดคัมภีร์อิ๋ว หลัน เผิน และถวายอาหารทุกปี
ในเดือนที่ประตูนรกเปิดจึงจะสามารถช่วยมารดาของเขาให้พ้นโทษได้

นับแต่นั้นเป็นต้นมา ชาวจีนจึงได้ถือเป็นประเพณีปฏิบัติ
สืบต่อมากันโดยตลอดด้วยการเซ่นไหว้ โดยจะนำอาหารทั้งคาวหวาน
และกระดาษเงินกระดาษทองไปวางไว้ที่หน้าบ้าน
หรือตามทางแยกที่ไม่ไกลนัก มีนัยว่าเป็นการเบี่ยงเบนความสนใจ
ของบรรดาวิญญาณเร่ร่อนที่กำลังจะผ่านมาใกล้ที่พักของตน


สำหรับในเมืองไทยที่มีลูกหลานเชื้อสายจีนอยู่จำนวนมาก
หลายบ้านยังคงไว้ซึ่งธรรมเนียมปฏิบัติที่ค่อนข้างเคร่งครัด
กล่าวคือ จะแบ่งการไหว้เป็น 3 เวลา ทั้งหมด 3 ชุด

ช่วงเช้า >> ไหว้เจ้าที่
มีทั้งอาหารคาวหวาน ขนมเข่ง ขนมเทียน ขนมถ้วยฟู
ขนมกุยช่าย ผลไม้ น้ำชา เหล้าจีน
กระดาษเงินกระดาษทอง และธูปเทียน

ช่วงสาย>> ไหว้บรรพบุรุษ
มีของไหว้คล้ายกับไหว้เจ้าที่ แต่จะมีลักษณะพิเศษคือ
สำรับอาหารที่เป็นสิ่งมีชีวิต 5 อย่าง (อู่เซิง/ภาษาแต้จิ๋วเรียก โหงวแซ)
นิยมใช้เนื้อหมู ไก่ เป็ด ปลา และไข่ไก่
หรือ 3 อย่าง เรียกว่า ซันเซิง (ภาษาแต้จิ๋ว เรียกว่า ซาแซ)
ถ้าตามประเพณีดั้งเดิมจะใช้เนื้อวัว เนื้อหมู และเนื้อแพะ
นอกนั้น จะมีข้าวสวย และมักมีน้ำแกงด้วย
ส่วน ขนมเข่ง ขนมเทียน ผลไม้ และกระดาษเงินกระดาษทอง
ก็ยังเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้ในการเซ่นไหว้

ช่วงบ่าย >> ไหว้ผีไร้ญาติ หรือวิญญาณพเนจร /ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋
การไหว้วิญญาณเร่ร่อนหรือวิญญาณไม่มีญาติ
เรียกว่า ไป๊ฮ๊อเฮียตี๋ แปลว่า ไหว้พี่น้องที่ดี
เป็นการสะท้อนความสุภาพและให้เกียรติของคนจีน
ในการเรียกผีไม่มีญาติว่า พี่น้องที่ดีของเรา
การไหว้ในช่วงบ่ายนี้ จะไหว้นอกบ้านหรือตามศาลเจ้าต่างๆ
จะมีทั้งของคาวหวานและผลไม้ตามต้องการ
และที่พิเศษ คือ มีข้าวหอมแบบจีนโบราณ "คอปึ่ง"
เผือกนึ่งผ่าซีกเป็นเสี้ยวใส่ถาด เส้นหมี่ห่อใหญ่
เหล้า น้ำชา และกระดาษเงินกระดาษทอง
จัดทุกอย่างวางอยู่ด้วยกันสำหรับเซ่นไหว้

หลังจากทำบุญแล้ว บางคนก็ถือโอกาสทำทานด้วย
โดยการนำข้าวสารอาหารแห้งไปร่วมบริจาคแก่คนยากจน
ที่วัดจีนหรือศาลเจ้าที่จัดงาน "ทิ้งกระจาด"

ทิ้งกระจาด
งานทิ้งกระจาด

ขนมที่ใช้ไหว้
ในสมัยโบราณชาวจีนใช้ขนมไหว้ 5 อย่าง เรียกว่า โหงวเปี้ย
หรือเรียกชื่อเป็นชุดว่า " ปัง เปี้ย หมี่ มั่ว กี "
ปัง คือ ขนมทึงปัง เป็นขนมที่ทำมาจากน้ำตาล
เปี้ย คือ ขนมหนึงเปี้ย คล้ายขนมไข่
หมี่ คือ ขนมหมี่เท้า ทำมาจากแป้งข้าวเจ้าข้างในไส้เต้าซา
มั่ว คือ ขนมทึกกี่ เป็นขนมข้าวพองสีแดงตรงกลางมีไส้เป็นแผ่นบาง
กี คือ ขนมทึงกี ทำเป็นชิ้นใหญ่ยาวเวลาจะกินต้องตัดเป็นชิ้นเล็กๆ

แต่ชาวไทยเชื้อสายจีนนิยมใช้ขนมเทียน ขนมเข่งในการไหว้
โดยหลักของที่ไหว้ก็จะมีของคาว 3 หรือ 5 อย่าง
เช่น ไก่ หมู เป็ด ไข่ หมึก ปลา เป็นต้น
ของหวาน 3 หรือ 5 อย่าง เช่น ขนมเทียน ขนมมัดไต้
ขนมถ้วยฟู หรือขนมสาลี่ปุยฝ้าย ขนมเปี๊ยะ
ส้ม หรือผลไม้ตามใจชอบ

ขนม
ขนมเข่ง-ขนมเทียน

ในค่ำคืนของวันสารทกลางเดือน 7 ที่เมืองจีน
ผู้คนยังนิยมลอยโคมไฟในน้ำ เรียกว่า ‘เหอฮวาเติง (โคมดอกบัว)’
โดยจะมีการจุดเทียนไว้กลางดอกบัว (ซึ่งจะออกดอกมากในช่วงนี้)
แล้วปล่อยลอยไปตามสายน้ำ
ซึ่งเป็นขนมธรรมเนียมตามความเชื่อทั้งในศาสนาพุทธและลัทธิเต๋า
เพื่อเป็นการขอพร อวยพร และสร้างกุศล
ขณะเดียวกัน ยังมีผู้คนเชื่อว่า การลอยโคมไฟในน้ำ
ก็เพื่อนำทางให้กับเหล่าภูตผีวิญญาณไม่ให้หลงทางนั่นเอง

ทุกวันนี้ แม้ประเพณีจีนดั้งเดิมจะเลือนราง
จนแทบจะจางหายไปแล้วในเมืองจีนยุคใหม่
แต่ก็มีอีกหลายครอบครัวที่ยังคงปฏิบัติตามขนมธรรมเนียมประเพณีเดิม
เพียงแต่อาจย่นย่อพิธีลง หรือบางแห่งถึงกับบอกว่า
จัดของไหว้เพียงแค่ 1 ชุดใหญ่ก็พอ ของที่นำมาเซ่นไหว้ก็เป็นอาหารง่ายๆ
เช่น ซาลาเปา หม่านโถว เกี๊ยว
และผลไม้ เช่น แอบเปิล สาลี่ เป็นต้น
จากนั้นก็อันเชิญทั้งท่านเจ้าที่ บรรพบุรุษ และผีไร้ญาติ
มารับส่วนบุญพร้อมกันเลยทีเดียว!!!

***ขอขอบคุณ (Thank You) ที่มาข้อมูล, บทความและภาพประกอบ
- ผู้จัดการออนไลน์
//www.manager.co.th/China/ViewNews.aspx?NewsID=9470000045277
- วิกีพีเดีย
- คุณวัชนี พุ่มโมรี กลุ่มประชาสัมพันธ์
สำนักงานปลัดกระทรวงวัฒนธรรม




 

Create Date : 27 สิงหาคม 2550    
Last Update : 3 กันยายน 2550 11:50:13 น.
Counter : 1520 Pageviews.  

1  2  3  4  5  6  

peijing
Location :
กรุงเทพ Thailand

[Profile ทั้งหมด]

ฝากข้อความหลังไมค์
Rss Feed

ผู้ติดตามบล็อก : 2 คน [?]







More Cool Stuff At POQbum.com

Friends' blogs
[Add peijing's blog to your web]
Links
 

 Pantip.com | PantipMarket.com | Pantown.com | © 2004 BlogGang.com allrights reserved.